The Servant

The Servant (1963) British : Joseph Losey ♥♥♥♥

เมื่อคนรับใช้กลายมาเป็นนาย หายนะจึงบังเกิดขึ้นในบ้านหลังนี้! หลอกหลอน สั่นสะท้าน หวาดเสียวประตูหลัง หนึ่งในเสาหลักไมล์ของวงการภาพยนตร์อังกฤษ บทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Dirk Bogarde และมีบางสิ่งอย่างพาดพิงถึง HCUA

ความสนใจของผกก. Losey ไม่ใช่แค่ต้องการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม(อังกฤษ)ยุคสมัยนั้น ระบอบทางชนชั้นที่กำลังค่อยๆเลือนลาง สลับสับเปลี่ยนขั้วตรงข้าม หรือความสัมพันธ์ชาย-ชายระหว่างนาย-บ่าว คละคลุ้งด้วยความล่อแหลมแทบจะทุกช็อตฉาก (ต้นฉบับนวนิยายจะมีความชัดเจนมากๆ แต่ภาพยนตร์ยุคสมัยนั้นยังต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น ไม่ผ่านกองเซนเซอร์)

Tony: Can you cook?
Hugo Barrett: Well, my soufflés have always received a great deal of praise in the past.

เกร็ด: soufflés (slang) a sex move performed by brisk and extensive thrusting after ejaculating into an orifice (ie. making a cream pie).

เป้าหมายแท้จริงของผกก. Losey ต้องการนำเสนอหนอนบ่อนไส้ พฤติกรรมคนรับใช้ที่แฝงตัวเข้ามา แสร้งว่าเป็นคนดี แท้จริงกลับโฉดชั่วร้ายยิ่งกว่าปรสิต คอยกัดกิน บ่อนทำลายภายใน สะท้อนประสบการณ์ตรงเมื่อครั้นถูกพวกพ้องชี้ตัว House Un-American Activities Committee (HCUA) ทำให้โดน Hollywood Blacklist ไร้งาน ไร้เงิน ต้องอพยพหลบหนีหัวซุกหัวซุนออกจากสหรัฐอเมริกา

The Servant (1963) ถือเป็นผลงานมาสเตอร์พีซเรื่องแรกของผู้กำกับ Losey ที่ได้ร่วมงานขาประจำนักเขียน Harold Pinter อีกสองเรื่องประกอบด้วย Accident (1967) และ The Go-Between (1971) [เรียกว่าไตรภาค Losey-Pinter เลยก็ยังได้] ซึ่งล้วนมีความลุ่มลึกล้ำ สลับซับซ้อน สะท้อนการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมยุคสมัยนั้น และต่างพาดพิงถึง HCUA อย่างที่ผู้ชมครุ่นคิดคาดไม่ถึง

สิ่งที่ผมชื่นชอบประทับใจ The Servant (1963) คือการแสดงของ Dirk Bogarde ในบทบาทคนรับใช้ (Manservant) ใครช่างสังเกตก็น่าจะพบเห็นความผิดปกติ ลับลมคมในตั้งแต่ฉากแรกๆ รวมถึงไดเรคชั่นของหนังที่สร้างความรู้สึกเหมือนหมอนี้แอบจับจ้องถ้ำมองอยู่ตลอดเวลา รู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดระแวง โคตรหวาดเสียวประตูหลัง และเมื่อความจริงปรากฎ ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตร คนรับใช้กลายเป็นนาย หายนะจึงบังเกิดขึ้นในบ้านหลังนี้!


ก่อนอื่นขอกล่าวถึงต้นฉบับนวนิยาย The Servant (1948) แต่งโดย Robert Cecil Romer Maugham, 2nd Viscount Maugham นามปากกา Robin Maugham (1916-81) นักเขียนนวนิยาย ผู้ดีชาวอังกฤษ บิดาเป็นผู้พิพากษา Lord Chancellor คาดหวังให้บุตรชายร่ำเรียนกฎหมาย สอบได้เนติบัณฑิต (Barrister) แต่กลับเปลี่ยนความสนใจมาเป็นนักเขียนตามลุง W. Somerset Maugham

Maugham ได้รับคำอธิบายว่า “unashamedly homosexual” มีข่าวลือ(ที่น่าจะจริง)ว่าเจ้าตัวมีรสนิยมชื่นชอบเด็กชายอายุ 14 ปี รู้เห็นอย่างดีกับคนรับใช้ที่เป็นคนคอยติดต่อประสานงานให้ แต่ภายหลังกลับถูก Blackmail (โดยคนรับใช้)เสียเอง! จนทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า ดื่มเหล้าเมามาย ภายหลังเขียนนวนิยาย The Servant แต่ต้องปรับแก้ไขรายละเอียดให้ตัวละครตกหลุมรักหญิงสาว (เพราะยุคสมัยนั้น รักร่วมเพศยังไม่ได้รับการยินยอมรับจากสังคม)

เมื่อนวนิยาย The Servant ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1948 ได้เสียงตอบรับอย่างดีจากนักวิจารณ์ กลายเป็นผลงานประสบความสำเร็จ โด่งดังที่สุดของ Maugham ถูกนำมาดัดแปลงทั้งภาพยนตร์ และละครเวที

Maugham’s psychological insight is profound, and his evocation of the dark, claustrophobic world of the master-servant relationship is masterful.

The Spectator

Maugham’s writing is both precise and evocative, and his exploration of the darker recesses of the human psyche is as relevant today as it was when ‘The Servant’ was first published.

The Financial Times

With its sharp social commentary, nuanced characterizations, and elegant prose, ‘The Servant’ is a masterpiece of mid-twentieth century British literature.

The Irish Times

Joseph Walton Losey III (1909-84) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ La Crosse, Wisconsin เป็นเพื่อนร่วมชั้นมัธยม Nicholas Ray, เข้าศึกษาต่อคณะแพทย์ Dartmount College ก่อนเปลี่ยนมาสาขาการละคอน จากนั้นเขียนบท/กำกับละครเวทีที่ New York City ตามด้วย Broadway เคยเดินทางสู่สหภาพโซเวียตช่วงปี ค.ศ. 1935 มีโอกาสร่ำเรียนภาพยนตร์จาก Sergei Eisenstein รวมถึงได้พบเจอ Bertolt Brecht และ Hanns Eisler, อาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, และกำกับหนังเรื่องแรก The Boy with Green Hair (1947)

ด้วยความสนิทสนมกับผู้คนฝั่งซ้าย เคยสมัครเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงร่วมงานสนิทสนม Bertolt Brecht และ Hanns Eisler ช่วงต้นทศวรรษ 50s จึงถูกแบน Blacklist จาก House Un-American Activities Committee (HUAC) ไม่มีเงิน ไม่งาน เลยต้องอพยพย้ายสู่กรุง London เมื่อปี ค.ศ. 1953 กำกับหนังอังกฤษเรื่องแรก The Sleeping Tiger (1954), สำหรับผลงานที่ทำให้กลายเป็นตำนานประกอบด้วย The Servant (1963), King and Country (1964), Accident (1967), The Go-Between (1971) และ Monsieur Klein (1976)

เกร็ด: มีภาพยนตร์เรื่อง Guilty by Suspicion (1991) กำกับโดย Irwin Winkler ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Hollywood Blacklist โดยมีตัวละครผู้กำกับชาวอเมริกันที่อพยพย้ายไปทำงานประเทศอังกฤษ รับบทโดย Martin Scorsese ชื่อว่า Joe Lesser (ซึ่งก็คือผกก. Joseph Losey)

ผกก. Losey มีโอกาสรับชมละครเวที The Caretaker (1960) ของ Harold Pinter เกิดความชื่นชอบหลงใหล ครุ่นคิดอยากหาโอกาสร่วมงานกัน เมื่อพบเจอพูดคุย Pinter แนะนำโปรเจคดัดแปลงนวนิยาย The Servant (1948) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ Michael Anderson แต่ภายหลัง(พัฒนาบทเสร็จ)กลับถอนตัวออกไป

แซว: ผกก. Losey พยายามเรียกร้องให้ Pinter ทำการแก้ไขบทหนังที่พัฒนาแล้วเสร็จ แต่อีกฝ่ายกลับบอกปฏิเสธ ยืนกรานว่าไม่มีอะไรให้ต้องปรับปรุง … ว่ากันว่านั่นคือความขัดแย้งหนึ่งเดียวของทั้งสองตลอดความสัมพันธ์ 20+ กว่าปี ซึ่งสุดท้ายแล้ว Pinter ก็ไม่ได้ปรับแก้ไขอะไรทั้งนั้น

I thought it was a brilliant story because it touched on class, it touched on the psychology of the English, it touched on the social values, and it had an inherent drama in it that I thought was extremely exciting.

Joseph Losey

Harold Pinter (1930-2008) นักเขียนบทละคร/ภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรมเมื่อปี ค.ศ. 2005, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Servant (1963), Accident (1967), The Go-Between (1971), The French Lieutenant’s Woman (1981), The Trial (1993), Sleuth (2007)

แม้การดัดแปลงบทภาพยนตร์ของ Pinter จะพยายามซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยาย แต่ก็มีหลากหลายรายละเอียดที่เพิ่มเติม-ตัดออก เพื่อสร้างความคลุมเคลือ สามารถอนุมัติผ่านกองเซนเซอร์ อาทิ

  • ตัดทิ้งเรื่องราวของ Peter เพื่อนของ Tony ซึ่งเป็นตัวละคร Homosexual
  • เพิ่มเติมเรื่องราวของสาวๆ Susan (คู่หมั้น Tony) และ Vera (คู่หมั้น Hugo) เพื่อสร้างอิทธิพลให้ตัวละคร (และเบี่ยงเบนประเด็น Homosexual … แต่ก็ทำให้ตัวละครกลายเป็น Heterosexual)
  • ตอนจบของนวนิยายจะเปิดกว้างให้ผู้อ่านครุ่นคิดตีความ แต่ภาพยนตร์จะมีบทสรุปอย่างชัดเจน
    • ในนวนิยาย, Tony กลับบ้านมาไม่พบเจอทั้ง Hugo และ Vera ทำให้เขาครุ่นคิดทบทวนความสัมพันธ์ แล้วเรื่องราวก็จบลงปลายเปิดแค่นั้น
    • ฉบับภาพยนตร์, นำเสนอความพ่ายแพ้อย่างสิ้นรูปของ Tony นอนศิโรราบ นาฬิกานับถอยหลัง นั่นคือการสูญสิ้นอำนาจปกครองในบ้านหลังนี้

The Servant is an extraordinary piece of writing, a very subtle and very powerful novella. Robin Maugham is a writer of great talent, and I think his work should be much more highly regarded than it is.

Harold Pinter

เกร็ด: นอกจากฉบับภาพยนตร์แล้ว The Servant ยังได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีโดย Robin Maugham (ร่วมกับ Harold Pinter) ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Theatre Royal ณ Brighton, England ช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1963 (ก่อนหน้าภาพยนตร์ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice เดือนกันยายน ค.ศ. 1963)


ผู้ดีหนุ่มผู้มั่งคั่ง Tony (รับบทโดย James Fox) กำลังเตรียมย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ในกรุง London ตัดสินใจว่าจ้างคนรับใช้ชาย Hugo Barrett (รับบทโดย Dirk Bogarde) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการทำงาน แต่แฟนสาว Susan (รับบทโดย Wendy Craig) กลับรู้สึกว่าชายคนนี้มีลับลมคมในบางอย่าง พยายามโน้มน้าวให้เขาล้มเลิกว่าจ้างงาน

เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Hugo ต้องการให้น้องสาว Vera (รับบทโดย Sarah Miles) มาทำงานเป็นสาวใช้ เพื่อช่วยเหลือกิจการงานบ้าน แต่เธอคนนี้กลับสวมใส่กระโปรงสั้นๆ แสดงท่าทางยั่วเย้ายวน จนกระทั่ง Tony มิอาจอดรนทนไหว กระทั่งวันหนึ่งความแตกค้นพบว่าแท้จริง Vera หาใช่น้องของ Hugo (แต่คือคู่หมั้นหมาย) จึงขับไล่ทั้งสองออกจากบ้าน

หลังจากไม่มีคนรับใช้ วิถีชีวิตของ Tony ก็เต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก (เสพติดความสบายที่เคยได้รับจาก Hugo) วันหนึ่งบังเอิญหวนกลับมาพบเจออีกฝั่งฝ่าย พยายามร้องขอโอกาสสอง แต่เมื่อเขาหวนกลับมาพักอาศัย ความเป็นนาย-บ่าว ก็กำลังสลับสับเปลี่ยน ผิดแผกแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง!


Sir Dirk Bogarde ชื่อจริง Derek Jules Gaspard Ulric Niven van den Bogaerde (1912-99) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ West Hampstead, London บิดามาเชื้อสาย Flemish ส่วนมารดาคือนักแสดงเชื้อสาย Scottish ส่งบุตรชายไปอาศัยอยู่ Glasgow ก่อนได้ทุนเข้าเรียนการแสดง Royal College of Arts แต่จบมาทำงานเป็นเด็กเสริฟชา ส่งของ สแตนอิน จนกระทั่งได้เป็นตัวประกอบสตูดิโอ Associated Talking Pictures, ช่วงหลังสงครามได้เซ็นสัญญา Rank Organisation โด่งดังกับ The Blue Lamp (1950), Doctor in the House (1954), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Joseph Losey ตั้งแต่ The Sleeping Tiger (1954), The Servant (1963), Modesty Blaise (1966), King and Country (1964), Accident (1967), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Song Without End (1960), Victim (1961), Darling (1965), The Damned (1969), Death in Venice (1971), A Bridge Too Far (1977) ฯลฯ

รับบท Hugo Barrett ชายรับใช้ของ Tony เป็นคนพูดน้อยแต่มากด้วยประสบการณ์ มีความสามารถในการจัดการ ดูแลกิจการงานบ้าน ทำให้ชีวิตนายจ้างอยู่สุขสบาย แต่ดวงตาท่าทางกลับเต็มไปด้วยลับเลศนัย เหมือนกำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่างชั่วร้าย ซึ่งเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย ทุกสิ่งอย่างจักพลิกกลับตารปัตรขั้วตรงข้าม

Bogarde คือตัวเลือกแรกของผกก. Losey ประทับใจจากการร่วมงานหลายครั้งก่อนหน้า แต่ในตอนแรกเจ้าตัวมีความโล้เล้ลังเลใจ เพราะไม่อยากรับบทตัวละครเป็นเกย์ แต่หลังจากพูดคุย รับฟังวิสัยทัศน์ ก็ยินยอมตอบตกลงด้วยค่าตัวเพียง £10,000 ปอนด์

ผมครุ่นคิดว่านี่น่าจะเป็นบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Bogarde ตัวละครมีความสุขุมเยือกเย็น ภายนอกพยายามสร้างภาพชายรับใช้ให้ดูดี แต่ผู้ชมสามารถสังเกตพฤติกรรมลับๆล่อๆ เต็มไปด้วยความคลุมเคลือ เลศนัย เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นไว้ แล้วเมื่อธาตุแท้ตัวตนค่อยๆเปิดเผยออกมา จักสร้างความหวาดหวั่น สั่นสะพรึง สัมผัสถึงอันตราย โฉดชั่วร้าย สายเกินแก้ไข

I think Barrett was one of the most interesting parts I’ve ever had. He was a complete original, a man who was always playing a part, even when he was supposedly himself. It was a very challenging and rewarding role to play.

Dirk Bogarde

แม้หนังพยายามลดทอนความเป็นเกย์ของตัวละครนี้ลง แต่ผู้ชมที่มีความละเอียดอ่อนไหว (Sensitive) ย่อมสัมผัสได้ถึงเคมีระหว่างนาย-บ่าว (Hugo ดูเหมือนขารุก, Tony คือฝ่ายรับ) คำสนทนาก็เต็มไปด้วยความสองแง่สองงาม ครึ่งแรกช่วงฮันนีมูนมีความหวานแหววโรแมนติก แต่หลังจากความจริงเปิดเผยก็เปลี่ยนมาเป็นพ่อแง่แม่งอน


James Fox ชื่อจริง William Fox (เกิดปี 1939) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London บิดาคือผู้จัดการนักแสดง (theatrical agent) พยายามใช้เส้นสายเรียกร้องให้ Tony Richardson คัดเลือกบุตรชายมีบทบาทภาพยนตร์ The Loneliness of the Long Distance Runner (1962) แต่กลับถูกอีกฝ่ายกล่าวอ้างว่าเด็กคนนี้ไม่มีพรสวรรค์ด้านการแสดง! ด้วยเหตุนี้ Fox จึงลาออกจากงานธนาคาร แสดงความมุ่งมั่นจนได้รับบทบาทดังกล่าว, จากนั้นแจ้งเกิดกับ The Servant (1963) **คว้ารางวัล BAFTA Award: Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ King Rat (1965), Thoroughly Modern Millie (1967), Performance (1970), A Passage to India (1984), The Remains of the Day (1993) ฯลฯ

รับบท Tony หนุ่มหล่อ ทายาทมหาเศรษฐี ผู้ดีอังกฤษ ไม่รู้ประกอบอาชีพอะไร วันๆเห็นแต่ความขี้เกียจสันหลังยาว ส่งเสียงเรียกคนรับใช้ให้บริการโน่นนี่นั่น เวลาอื่นๆก็เกี้ยวพาราสีแฟนสาว Susan พยายามชักชวนมาพักอาศัยร่วมกัน แต่เธอกลับไม่ชมชอบการมีบุคคลที่สามอยู่ในบ้าน และรับรู้สึกว่า Hugo Barrett มีลับลมคมในบางอย่าง

หลังจากความจริงได้รับการเปิดเผย Tony ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตที่ไร้คนรับใช้ หลังจาก Hugo ได้รับโอกาสครั้งใหม่ กลับกลายเป็นว่าเขาค่อยๆสูญเสียอำนาจในบ้าน โดยไม่รู้ตัวทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม จู่ๆกลายเป็นคนรับใช้ ออดอ้อนร้องขอไม่ให้เขาจากไปไหน ซึ่งเมื่อแฟนสาวหวนกลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง ทุกสิ่งอย่างมันก็สายเกินแก้ไข

ผกก. Losey มีนักแสดงที่อยู่ในใจอย่าง Laurence Harvey, Albert Finney แต่ทั้งคู่ต่างบอกปัดปฏิเสธ จนกระทั่งมีโอกาสรับชม The Loneliness of the Long Distance Runner (1962) เลยครุ่นคิดว่า Fox น่าจะเป็นนักแสดงที่เหมาะสม

I was struck by the tremendous energy of James Fox, his immense vitality and charm, as well as his freshness, his youth and innocence. He has an unusual quality, and I felt he was ideally suited to playing Tony, whom I wanted to be a young man of great charm and appeal, with a veneer of confidence that would mask a certain vulnerability, a certain sense of loss and insecurity.

Josep Losey

ด้วยรูปลักษณ์ผอมสูง (ตรงกันข้ามกับ Bogarde ป้อมเตี้ย) มาดผู้ดี/ชนชั้นสูง (Upper Class) ใบหน้าดูละอ่อน เปราะบาง ยังมีความใสซื่อไร้เดียงสา เลยไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของชายรับใช้ มัวแต่เพลิดเพลิน หลงระเริงกับความสุขสบาย โดยไม่รู้ตัวนั่นคือกัปดักที่ล่อหลอกให้เขาถลำลึก จนไม่สามารถตะเกียกตะกายกลับขึ้นจากขุมนรก ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง พ่ายแพ้อับจนหนทาง


ถ่ายภาพโดย Ralph Douglas Vladimir Slocombe (1913-2016) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Putney, London โตขึ้นตั้งใจทำงานช่างภาพข่าว (Photojournalist) เคยเดินทางไป Danzig, Warsaw ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พบเห็นความเลวร้าวของทหาร Nazi ปฏิบัติต่อชาว Jews โชคดีสามารหลบหนีเอาตัวรอดออกมาได้สำเร็จ, หลังจากนั้นทำงานให้กระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) ถ่ายทำฟุตเทจเครื่องบินรบ ภารกิจมหาสมุทรแอตแลนติก และมีโอกาสสนิทสนมกับ Alberto Cavalcanti ชักชวนมาร่วมงานในสังกัด Ealing Studios มีผลงาน Dead of Night (1945), Kind Hearts and Coronets (1949), The Man in the White Suit (1951), The Lavender Hill Mob (1951), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Italian Job (1969), The Lion in Winter (1969), Travels with My Aunt (1972), Jesus Christ Superstar (1973), Julia (1977), Raiders of the Lost Ark (1981) ฯลฯ

งานภาพของหนังเต็มไปด้วยรายละเอียด Mise-en-scène โดยเฉพาะการจัดวาง องค์ประกอบศิลป์ ทิศทางเคลื่อนเลื่อนกล้อง แสงสว่าง-เงามืด ฯ แต่ที่น่าสนใจสุดๆคือการสร้างบรรยากาศให้รับรู้สึกเหมือนมีใครบางคน(ชายรับใช้)แอบจับจ้อง(ถ้ำ)มองอยู่ตลอดเวลา (คล้ายๆภาพยนตร์ Peeping Tom (1960))

ความรู้สึกดังกล่าวจะทำให้ทั้งผู้ชมและตัวละคร (Tony) เกิดอาการเกร็งๆ วิตกจริต ครุ่นคิดมาก หวาดเสียวสันหลัง(และประตูหลัง) ไม่ปลอดภัย ไร้ความเป็นส่วนตัว … เอาจริงๆการมีคนรับใช้มันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นนะครับ จุดประสงค์ของหนังต้องการบ่อนทำลายความมั่นคง สภาพจิตใจตัวละคร เพื่อสื่อถึงหายนะจากปรสิต/หนอนบ่อนไส้ รวมถึงสะท้อนสภาพสังคม ระบอบชนชั้น(ของประเทศอังกฤษ) ที่กำลังค่อยๆถูกกัดกิน บ่อนทำลายจากภายใน

เกร็ด: ช่วงระหว่างโปรดักชั่นของหนัง ผกก. Losey มีอาการล้มป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่เป็นสัปดาห์ Dirk Bogarde และ Harold Pinter จึงช่วยกันดูแลงานสร้างด้วยคำแนะนำทางโทรศัพท์ ซึ่งเมื่อเขาหายป่วยกลับมาก็ไม่มีการถ่ายซ่อมแต่อย่างใด

ขณะที่ฉากภายในถ่ายทำยังสตูดิโอ Shepperton Studios, บ้านของ Tony ตั้งอยู่ยัง 30 Royal Avenue ณ Chelsea, London (ปัจจุบันก็ยังคงสภาพดีอยู่) นอกจากนี้ยังมีคฤหาสถ์ Chiswick House, Burlington Lane สถานีรถไฟ St Pancras International Railway Station และร้านอาหารตั้งอยู่ยัง Lowndes Street, Knightsbridge

เกร็ด: ฝั่งตรงกันข้ามของบ้าน 30 Royal Avenue เคยเป็นที่อยู่อาศัยของ W. Somerset Maugham ลุงของผู้แต่งนวนิยาย Robin Maugham ซึ่งเจ้าตัวก็น่าจะเคยแวะเวียนไปพักอาศัย

หนึ่งในลายเซ็นต์ผกก. Losey คือช็อตแรกของหนัง/Opening Credit นิยมถ่ายทำแบบ Long Take สำหรับ The Servant (1963) คือการเคลื่อนเลื่อนกล้อง ซูมมิ่ง แพนนิ่ง จากฟากฝั่งหนึ่ง (สวนสาธารณะ Royal Avenue) ข้ามถนน King’s Road สู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง (Thomas Crapper & Co ร้านขายสุขภัณฑ์ ชักโครก อ่างอาบน้ำ ฯ)

บอกใบ้ขนาดนี้หลายคนน่าจะตีความได้ไม่ยาก แถมตราสัญลักษณ์ “By Appointment to the Late King George V” ยังประดับอยู่กึ่งกลางระหว่างชื่อร้าน Thomas ® Crapper (ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1861, ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ แต่พื้นที่บริเวณนี้เปลี่ยนเจ้าของเป็นร้านอย่างอื่น) สามารถสื่อถึงยุคสมัยที่ขุนนาง ราชวงศ์ ชนชั้นสูง กำลังจะ ‘Flush Away’ เลือนหายตามกาลเวลา

เกร็ด: Royal Avenue ยังเป็นที่ตั้งบ้านสายลับ 007 James Bond ในนวนิยายของ Ian Fleming

ตั้งแต่เข้ามาในบ้าน สิ่งแรกที่ Hugo ให้ความสนใจก็คือบันได ครุ่นคิดต้องการขึ้นไปเบื้องบน แต่กลับหยุดยับยั้งชั่งใจแล้วเดินมายังห้องนั่งเล่น พบเห็น(ว่าที่)นายจ้าง Tony กำลังหลับนอน หยุดยืนตรงทางเข้า มุมกล้องถ่ายเงยขึ้นติดเพดาน … เหล่านี้เป็นการบอกใบ้ถึงเป้าหมายตัวละคร แม้ขณะนี้เขาจะเป็นแค่ชายรับใช้ (Manservant) แต่อนาคตต่อไปจักสามารถอยู่เบื้องบน ทำตัวหัวสูงส่ง กลายเป็นเจ้าคนนายคน

หนังเต็มไปด้วยรายละเอียด ‘Mise-en-scène’ แต่ผมจะเลือกมาอธิบายเฉพาะที่รู้สึกว่ามีความน่าสนใจ อย่างฉากการสัมภาษณ์งาน สังเกตว่า Tony (สวมสูทสีอ่อน) ระหว่างซักถามจะเดินวนไปรอบๆ 360 องศา ขณะที่ Hugo (สวมสูทสีเข้ม) ตอบคำถามอยู่กับที่ ไม่ได้ขยับย้าย หรือหันหน้าเคลื่อนตามอีกฝั่งฝ่าย

  • เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายนั่งลงเก้าอี้ Tony อารัมบทว่ากำลังจะย้ายเข้ามาบ้านหลังนี้ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
  • จากนั้น Tony ลุกขึ้นหลังพิงเตาผิง กล่าวถึงจุดประสงค์ ความต้องการแท้จริง ต้องการว่าจ้างคนรับใช้ มีมาสัมภาษณ์แล้ว 2-3 คน แต่ยังไม่เป็นที่ถูกใจ
  • จากนั้นเดินอ้อมหลังไปหยุดยังหน้าต่าง เหม่อมองออกไปภายนอก (ดูเหมือนกำลังจะหมดความสนใจ) จนกระทั่ง Hugo บอกว่าเคยทำงานรับใช้ Viscon Barr ซึ่งเป็นเพื่อนบิดาของ Tony จึงหันมาแสดงความสนใจอย่างจริงจัง
  • จากนั้นเดินเข้ามาพูดคุย จ้องหน้าสบตา สอบถามเรื่องการทำอาหาร
    • Tony: Can you cook?
    • Hugo: Well, my soufflés have always received a great deal of praise in the past.
  • จริงๆแล้ว Tony จะเดินไปตรงเตาผิงอีกครั้ง แต่ผมข้ามมาเมื่อเขามอบหมายให้ Hugo ดูแลกิจการงานอื่นๆภายในบ้านทั้งหมด พร้อมๆแผ่ผายมือออก เปิดสูทภายนอกที่ปกคลุมร่างกาย (มันดูเหมือนเป็นการปลดเปลื้อง แก้ผ้า คำพูด Everything! ก็ฟังดูลับๆล่อๆ หลายแง่หลายง่ามเหลือเกิ้น)

น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดภาพวาดพื้นหลังไม่ได้ แต่สังเกตว่าเต็มไปด้วยบุคคลสำคัญ ผู้นำทางประวัติศาสตร์ ขณะที่ภาพใหญ่คือรูปทวยเทพเจ้า (ศิลปะยุคสมัย Neoclassism) เหล่านี้ล้วนสะท้อนรสนิยม ตัวตน ความเป็นนายของ Tony มีอำนาจเหนือของบ่าว

นอกจากรูปภาพวาด ตำแหน่งของตัวละครพยายามถ่ายให้ติดทั้งสามร่วมเฟรมเดียวกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งลักษณะของ Three-Shot (ภาพถ่ายสามบุคคล) มันช่างขวางหูขวางตา ไร้ความเป็นส่วนตัว คนรับใช้(Hugo)ดูเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็น และเมื่อเขาสูญหายตัวไป ผู้ชม(และตัวละคร)จะยังรับรู้สึกถึงการมีตัวตน เหมือนถูกถ้ำแอบมองอยู่สักแห่งหนไหน

ระหว่างที่ Hugo โทรศัพท์หาน้องสาว/คู่หมั้น Vera ถูกวัยรุ่นสาวคนหนึ่งพยายามกลั่นแกล้ง เร่งรีบให้เขาคุยเสร็จโดยไว นั่นไม่ใช่พฤติกรรมเหมาะสมนัก แต่คำต่อว่าที่ออกมาจากปาก “Filthy bitch” มันก็รุนแรงเกินไปไหม?

พฤติกรรมของวัยรุ่นสาวสามารถสะท้อนค่านิยาม/บริบททางสังคมยุคสมัยนั้น (ทศวรรษ 60s) ที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป เราสามารถมองว่านี่คือการแสดงความคิดเห็น ‘social commentary’ ของผู้กำกับ Losey สะท้อนอคติตัวละครต่อหญิงสาวสมัยใหม่ (จะมองถึงความเป็น Homo/Heterosexual ของตัวละครก็ได้เช่นกัน)

ฉากในร้านอาหารถือว่ามีความมหัศจรรย์มากๆ (ให้ความรู้สึกคล้ายๆเมื่อตอน Tony เดินวนรอบ Hugo) คือจะมีการใช้ Tony กับ Susan เป็นจุดศูนย์กลาง จากนั้นมีการตัดสลับไปหาของลูกค้ารายอื่น (โดยยังติดภาพของ Tony กับ Susan) รับฟังคำพูดสนทนาที่เหมือนจะติดต่อเนื่อง ราวกับเป็นเรื่องเดียวกัน

บาทหลวง 1: I hear Father O’Flaherty won’t be at the Cork convocation.
บาทหลวง 2: Flaherty? Your man wouldn’t miss that trip. You can bet your last pound on that.
บาทหลวง 1: Didn’t they have to carry him out last time?
บาทหลวง 2: For God’s sake, who didn’t they have to carry out?

Susan: I just don’t like him.
Tony: You don’t know him. Surely you can take my word…
Susan: I don’t trust him.
Tony: Why?
Susan: I don’t know.

หญิงสาวด้านหลัง: It’s the snow. It’s the snow that I love.

Tony: Yes, he looks like a fish with red lips, I’ll admit. But apart from that, what’s the matter with him? Stop making him so bloody important. You’ve got the whole thing absurdly out of proportion.
Susan: Yes, perhaps.

บาทหลวงสองคนสนทนาพร่ำบ่นถึงหลวงพ่อ Flaherty → จากนั้นตัดมา Susan กับ Tony กำลังพูดคุยพาดถึง Hugo ซึ่งระหว่างที่ Tony สอบถามแฟนสาวว่าทำไม่ชอบหน้าชายรับใช้ → หญิงสาวด้านหลังกลับเหมือนพูดคำตอบดังกล่าวออกมาแทน Susan

แซว: Tony กล่าวถึงริมฝีปากคล้ายปลาของ Hugo นี่เป็นคำชมที่มีความล่อแหลม สองแง่สองง่ามยิ่งนัก

ณ คฤหาสถ์ของ Agatha & Willie Mountset (คาดว่าน่าจะเป็นญาติ หรือคนรู้จักของ Tony) มีความใหญ่โต หรูหรา เปิดประตูเข้ามาเห็นพวกเขาทั้งสี่ (ร่วมกับ Tony และ Susan) ต่างยืน-นั่ง เต๊ะท่า ทำราวกับว่าพวกเขาคือรูปปั้นแกะสลัก เทพเทวดา ผู้ยิ่งใหญ่ค้ำฟ้า สูงส่งเหนือกว่าปุถุชนธรรมดา … ก็แน่ละ นั่นคือคุณสมบัติของผู้ดีมีสกุล ชนชั้นสูงของอังกฤษ

ปล. ผมแอบรู้สึกว่าซีเควนซ์นี้มีกลิ่นอาย Last Year at Marienbad (1961) อยู่ไม่น้อยเลยนะ!

การมาถึงของ Vera ค่อยๆสร้างความตระหนักบางสิ่งอย่างให้กับ Tony สังเกตจากท่าทางลับๆล่อๆ ไม่รู้จักสำเหนียกเจียมตน แต่งกายล่อแหลม แถมจู่ๆเข้ามาในห้องอาบน้ำส่วนตัว นั่นเป็นสิ่งที่เขาครุ่นคิดว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง … แต่ ‘แมวไม่อยู่หนูร่าเริง’ มันผิดอะไรกัน?

ผมเพิ่งรับชม Black Narcissus (1947) เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ยังคงจดจำเรื่องเล่า The King and the Beggar-maid พระราชาตกหลุมรักหญิงสามัญชน ในบริบทนี้ก็คล้ายๆกันนายจ้างตกหลุมรักสาวรับใช้ ทั้งๆเธอก็ไม่ได้ดูสวย แต่เต็มไปด้วยมารยาหญิง สวมใส่กระโปรงสั้น แสดงท่าทางยั่วเย้ายวน ทำให้เขาหลงติดกับจนโงหัวไม่ขึ้น … หนังให้อิสระผู้ชมในการตีความว่า Hugo คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง Vera? หรือเขาเองก็ตกเป็นเหยื่อของเธอ?

Tony กับ Vera ต่างเป็นตัวแทนชนชั้นทางสังคมสูง-ต่ำ โดยปกติแล้วมักแยกกันอยู่ ทางใครก็ทางมัน แต่เมื่อทั้งสองร่วมเพศสัมพันธ์ นั่นคือสัญลักษณ์ของความเสมอภาค ชนชั้นสูงลดตัวลงต่ำ ชนชั้นล่างปีนป่ายขึ้นสูง ต่างมายืนอยู่ระดับเท่าเทียมกัน

ขณะที่ Tony-Vera แอบตกหลุมรัก ลักลอบคบชู้นอกใจคู่หมั้นของพวกเขา, ความสัมพันธ์ระหว่าง Hugo-Susan กลับเต็มไปด้วยอคติ โกรธรังเกียจ ไม่พึงพอใจกันและกัน มีความแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง!

ผมขี้เกียจอธิบาย ‘Mise-en-scène’ แต่ให้สังเกตเวลา Susan ออกคำสั่งใดๆ เธอมักอยู่ตำแหน่งใกล้หน้ากล้องเสมอๆ (ส่วน Hugo จะยืนอยู่ห่างไกลออกไปด้านหลัง) เพื่อสื่อถึงความมีอำนาจ สามารถควบคุมครอบงำ ทำเหมือนตนเองสูงส่งกว่า จนสร้างความอึดอัดคับข้องใจให้อีกฝั่งฝ่าย จำต้องอดกลั้นฝืนทนไม่สำแดงความรู้สึกใดๆออกมา ก้มหน้าก้มหัว ไม่สามารถโต้ตอบกระทำอะไร

Tony ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้ากับ Hugo ว่าค่ำคืนนี้จะหวนกลับมาบ้าน จึงพบเจอกับภาพบาดตาบาดใจ บาดลึกทรวงใน ถึงอย่างนั้นผู้ชมกลับได้พบเห็นเพียงเงาและเสียงสนทนา มอบอิสรภาพในการครุ่นคิดจินตนาการ ว่ามันบังเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้นบนชั้นสอง

หลังจากพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ สังเกตว่า Tony หันหน้าเข้าหากำแพง แล้วก้มหน้าลงบนหลังตู้วางของ นี่คือสัญลักษณ์ของการโหยหาสิ่งพึ่งพักพิง แต่กลับไม่ใช่แฟนสาว Susan แม้ยืนอยู่ข้างๆแทนที่จะเข้ามาโอบกอด พูดแสดงความห่วงใย กลับนิ่งเพิกเฉยเฉื่อยชา ดูเหมือนไม่ยี่หร่าอะไร แถมยังปฏิเสธอยู่เคียงข้างกับเขาค่ำคืนนี้ ทอดทิ้งกลับบ้านไปอย่างไร้เยื่อใย

(ช่วงท้ายของหนัง Susan วิ่งออกจากบ้านไปเกาะต้นไม้ ก็แฝงนัยยะถึงการแสวงหา ‘ที่พึ่งพักพิง’ เฉกเช่นเดียวกัน)

บ่อยครั้งที่หนังถ่ายภาพจากกระจกกลมบานนี้ ซึ่งมักสะท้อนภาพความจริง สิ่งที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายในของตัวละคร ขณะนี้คือ Hugo (และ Vera) กำลังพูดบอกความสัมพันธ์แท้จริงระหว่างพวกเขา ไม่ใช่พี่น้องแต่คือคู่หมั้น … แล้วหนังยังสร้างความคลุมเคลือว่า Susan สามารถตระหนักรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่าง Tony กับ Vera หรือไม่??

การจากไปของคนรับใช้ทั้งสอง (รวมถึงคู่หมั้น Susan) ทำให้ Tony กลายเป็นบุคคลสูญเสียความเชื่อมั่น (ไม่กล้าจีบสาวคนใหม่) ไร้ที่พึ่งพักพิง ต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง ปล่อยปละทุกสิ่งอย่างให้รกรุงรัง ครั้งนี้เดินขึ้นไปยังอดีตห้องนอนของ Vera ทิ้งตัวลงนอนบนเตียง ใคร่อยากได้เธอมาอยู่เคียงข้างกาย สังเกตว่ากล้องถ่ายผ่านรั้วบันได แล้วจบซีนนี้ด้วยการเคลื่อนเลื่อนไปยังหน้าต่าง โหยหาอิสรภาพไปจากสถานที่แห่งนี้

ณ บาร์แห่งหนึ่งที่ Tony บังเอิญพบเจอ Hugo แต่ช็อตแรก(ตอนที่ Tony เดินเข้ามาในบาร์)กลับคือภาพสะท้อนในกระจก นี่เป็นการล่อหลอกผู้ชมให้เกิดมุมมอง/ความเข้าใจผิดต่ออะไรบางอย่าง หรือก็คือครึ่งแรกของหนังที่ Hugo พยายามปกปิดบัง ซุกซ่อนเร้นทุกสิ่งอย่าง

จากนั้นกล้องขยับเคลื่อน แพนนิ่ง หันกลับมาถ่ายภาพแบบปกติ (ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้ามจากครึ่งแรกของหนัง) Hugo พยายามพูดอธิบาย ร่ายคำอ้อนวอน ร้องขอคืนดี (ราวกับการงอนง้อคนรัก) ดูเหมือนแสดงออกอย่างซื่อสัตย์ บริสุทธิ์ใจ ตรงไปตรงมา

แต่ไฉนฉากถัดมา Tony ที่ควรเป็นนาย หลังจากนี้กลับกลายเป็น Hugo มักยืนอยู่เบื้องหน้า ประชิดใกล้หน้ากล้อง (ล้อกับซีเควนซ์ที่ Susan ยืนอยู่ใกล้หน้ากล้อง แล้วคอยออกคำสั่งโน่นนี่นั่นกับชายรับใช้) นี่ยังไม่รวมถึงปฏิกิริยาอารมณ์ ถ้อยคำพูดที่ผิดแผกแตกต่าง ซึ่งแสดงถึงสันดานธาตุแท้ ไม่จำเป็นต้องปกปิดบังความรู้สึกนึกคิดอีกต่อไป

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่านี่คือภาพวาดของศิลปินใด แต่ด้วยลักษณะที่มีเพียงลายเส้นขาวและพื้นดำ ให้ความรู้สึกที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ใบหน้าดูเคร่งขรึม จริงจัง ไม่มีอะไรต้องปกปิดบัง สามารถสะท้อนความเป็นตัวตนเองของตัวละคร หรือก็คือ Hugo หลังกลับมาเป็นคนรับใช้ในบ้านหลังนี้ ก็แสดงออกโดยสันดานธาตุแท้จริง

แซว: ภาพวาดนี้ราวกับเป็นตัวตายตัวแทนของ Hugo ที่ไม่เพียงพบเห็นในห้องนอน ยังห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร แทบจะทุกห้องหับนับจากนี้ (ก็ไม่รู้ว่าใครขยับเคลื่อนย้าย หรือเพราะมันมีจำนวนหลายรูปก็ไม่รู้)

จิ๊กซอว์แผนที่(อังกฤษ)ที่ Hugo กำลังปะติดปะต่อบนโต๊ะนี้ เปรียบได้กับคำพยากรณ์การล่มสลายของประเทศอังกฤษ ภายหลังจากระบอบชนชั้น สถานะทางสังคมพลิกกลับตารปัตร เมื่อนายกลายเป็นบ่าว <> บ่าวกลายเป็นนาย สามัญชนได้รับความเสมอภาคเท่าเทียม เทียบเท่าเจ้าขุนมูลนาย/พระมหากษัตริย์

การละเล่นขว้างลูกบอลตรงบันไดระหว่าง Tony (เบื้องบน) vs. Hugo (เบื้องล่าง) นี่เป็นฉากที่ย่นย่อเรื่องราวของหนังในเชิงสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นความขัดแย้ง การต่อสู้ระหว่างชนชั้น ในตอนแรกพวกเขาจะอยู่บน-ล่าง จากนั้นจะค่อยๆย่นระยะห่าง จนกระทั่ง Tony เขวี้ยงโดนถ้วยกระเบื้องแตก (จุดเปลี่ยนของหนัง) Hugo จึงเดินแซงขึ้นไปด้านบน พร้อมพ่นคำบ่นเรียกร้องกรรมสิทธิ์จากการเป็นผู้ทำทุกสิ่งอย่างในบ้านหลังนี้

ปล. การเลือกมุมกล้องนี้มีความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง นั่นคือผู้ชมแทบไม่รับรู้สึกถึงระดับความสูง-ต่ำ แค่เพียงตระหนักว่าตำแหน่งไหนอยู่ชั้นบน-ล่าง จุดประสงค์คงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์ เพราะสุดท้ายแล้ว Tony == Hugo

นี่เป็นอีกซีนที่แสดงให้เห็นถึงความพลิกกลับตารปัตรระหว่างนาย-บ่าว เพราะโดยปกติแล้วคนรับใช้จะไม่มีสิทธิ์นั่งโต๊ะเดียวกับผู้ว่าจ้าง แต่ขณะนี้ Tony ยังทำอาหารพร้อมรินเหล้าให้ Hugo แสดงความเอาอกเอาใจ ไม่ต้องการให้อีกฝั่งฝ่ายทอดทิ้งตนเองให้อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย

ในต้นฉบับนวนิยาย ผมอ่านเจอว่าตัวละคร Hugo Barrett มีเชื้อสาย Jewish นั่นทำให้เรื่องราวที่นำเสนอความโฉดชั่วร้าย/พฤติกรรมทรยศหักหลังของตัวละคร(ชาวยิว) เคลือบแฝงนัยยะ Anti-Semitic, แต่ฉบับภาพยนตร์จะไม่มีการพาดพิงถึงประการใด ใกล้เคียงสุดเท่าที่ผมสังเกตได้ก็คือภาพเงาช็อตนี้ เพราะจมูกที่โด่งออกมา (จากผ้าม่านที่พริ้วไหว) นั่นคือหนึ่งในภาพลักษณ์ประจำตัวชาว Jews ก็ว่าได้!

แซว: ภาพเงาของ Hugo ตอนเปิดประตูกลางเรื่อง นั่นถือเป็นการเคารพคารวะ Alfred Hitchcock, ส่วนเงาช็อตนี้ที่กำลังคืบคลานเข้ามา ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Nosferatu (1922)

การหวนกลับมาสองสาว (ที่ต่างตัดสินใจทอดทิ้งคู่หมั้นของตนเอง) พวกเธอต่างมีปฏิกิริยาแสดงออกที่ผิดแผกแตกต่างกันไป

  • Vera มาในสภาพเปียกปอน ถูกทอดทิ้ง สูญเสียทุกสิ่งอย่าง
    • เมื่อพบเจอกับ Hugo พยายามขอความช่วยเหลือ แต่ถูกกีดกันผลักไส
    • สำหรับ Tony เต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว เกิดความโล้เล้ลังเลใจ (ตลอดทั้งซีเควนซ์ ใบหน้าตัวละครจะอาบฉาบด้วยแสงสะท้อนพื้นผิวน้ำที่มีความพริ้วไหว) โหยหาเธอคนนี้แต่กลับถูก Hugo ฉุดกระชากให้ออกห่าง
  • Susan สวมชุดขาว ดูเลิศหรู ไฮโซ ยังคงความเป็นผู้ดีมีสกุล
    • Tony เมื่อพบเจอนั่งลงตรงเก้าอี้ พยายามเบนหน้าหลบหนี ไม่ต้องการพูดคุยหรือสบตา ผลักไสอีกฝ่ายให้กลับบ้านไป (สังเกตว่า Susan ยืนค้ำหัวสูงกว่า Tony ระดับเดียวกับภาพวาดเทพเทวดาด้านหลัง)
    • สำหรับ Hugo แม้ยังเต็มไปด้วยอคติ แต่เธอกลับจุมพิต (และภายหลังตบหน้า) ท่ามกลางความมืดมิด

Hugo หยิบลูกแก้วขึ้นมามองผ่าน พบเห็นทุกสิ่งอย่างภายในนั้นพลิกกลับตารปัตร (นี่เป็นอีกสิ่งสัญลักษณ์ที่ใช้แทนความเปลี่ยนแปลง ครึ่งแรก-ครึ่งหลัง ได้อย่างชัดเจน) และสังเกตว่าในห้องนอน/งานเลี้ยงปาร์ตี้แห่งนี้ ช่างมีความทะมึน อึมครึม แทบทุกคนล้วนใส่ชุดสีเข้มๆ ยกเว้นแค่เพียง Susan สีขาวแทนความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา … ซึ่งก็มีเธอคนเดียวในสถานที่แห่งนี้ที่ไม่รับรู้ว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรสักสิ่งอย่าง

ทำไม Susan ถึงจุมพิตกับ Hugo? ทั้งๆที่ทั้งคู่ดูเหมือนน้ำกับไฟ ช่วงครึ่งแรกเต็มไปด้วยอคติ ความขัดแย้ง มองหน้ากันแทบไม่ติด แต่หลังจากทุกสิ่งอย่างพลิกกลับตารปัตร พบเห็นความไม่สนใจใยดีของคู่หมั้น สภาพความเป็นอยู่ในขณะนี้ที่เลวร้าย การกระทำของเธอจึงเหมือนก่อกบฎ (Rebellion) ใบเบิกทางสำหรับเลิกรา ตัดขาดความสัมพันธ์กับ Tony

บางคนอาจตีความว่า Susan คงแอบไปสานสัมพันธ์ลับๆกับ Hugo เพื่อสะท้อนเรื่องราวครึ่งแรกที่เขาเคยปกปิดความสัมพันธ์แท้จริง Vera มาเปิดเผยเอาตอนนี้เพื่ออวดอ้าง แสดงอำนาจ ทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง Tony กับ Susan (ตอนครึ่งแรกก็เป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง Tony กับ Vera) นี่เท่ากับเป็นความพ่ายแพ้(ของ Tony)แบบหมดสิ้นสภาพ ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง

หลังจากร่ำลาเพื่อนร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ Hugo เดินขึ้นบันได (สามารถสื่อถึงการไต่เต้าของคนชั้นล่าง จนขึ้นมาเทียบเท่าชนชั้นสูง) แต่ตรงกันข้ามกับ Tony ที่แม้ยังอยู่ชั้นบนกลับทิ้งตัวลงนอนกองกับพื้น (แสดงถึงความตกต่ำ/พ่ายแพ้ภัยตนเอง) จากนั้นกล้อง Tilt Down ลงมาเห็นนาฬิกาที่อยู่ชั้นล่าง (ผมชอบมองว่าคือการนับถอยหลังสู่จุดสิ้นสุด ประเทศชาติล่มสลาย การพังทลายของระบอบชนชั้น รวมถึงความตายในวันโลกาวินาศ)

สรุปก็คือคำพยากรณ์ของผู้กำกับ Losey ถึงความ(ใกล้)ล่มสลายของระบอบขุนนาง ชนชั้นทางสังคม เมื่อสามัญชนสามารถไต่เต้าขึ้นมา ยืนหยัดด้วยลำแข้ง ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียม ก็จักทำให้วิถีดั้งเดิม(เจ้าขุนมูลนาย)ถึงกาลล่มสลาย

ตัดต่อโดย Reginald Mills (1912-90) สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อของ David Lean หลังสงครามมีโอกาสร่วมงานกับ Powell & Pressburger เริ่มตั้งแต่ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), เข้าชิง Oscar: Best Edited เรื่อง The Red Shoes (1948), The Tales of Hoffmann (1951), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Servant (1963), Romeo and Juliet (1968), Jesus of Nazareth (1977) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้อพาร์ทเม้นท์ของ Tony คือจุดศูนย์กลางเรื่องราว, แต่บางคนอาจมองว่าใช้มุมมองสายตา(และการถ้ำมอง)ของ Hugo Barrett ก็ได้เช่นกัน เริ่มต้นตั้งแต่ได้รับการว่าจ้างเป็นชายรับใช้ ชักชวนน้องสาว/คู่หมั้นมาร่วมพักอาศัย Vera แล้วทุกสิ่งอย่างก็กลับตารปัตรตรงกันข้าม

เราสามารถแบ่งองก์ของหนังเป็นครึ่งแรก-หลัง โดยใช้ความสัมพันธ์ Tony-Hugo จากเคยเป็นนาย-บ่าว กลายมาเป็นบ่าว-นาย แต่ผมขอแบ่งออกเป็นสามองก์ตามพัฒนาการของเรื่องราวดีกว่า

  • การมาถึงของคนรับใช้ Hugo Barrett
    • Hugo เดินทางมาสัมภาษณ์งานกับ Tony
    • Susan คู่หมั้นของ Tony ดูไม่ค่อยประทับใจการมีตัวตนของ Hugo
    • การมาถึงของ Vera ทำให้ Tony เริ่มสังเกตเห็นลับลมคมใน
  • ข้อเท็จจริงที่ได้รับการเปิดเผย
    • Tony ถูกล่อลวงโดย Vera จนแอบนอกใจ Susan
    • Susan พยายามบงการ Hugo จนเกิดความเคียดแค้น
    • ค่ำคืนหนึ่งเมื่อ Tony กลับมาบ้านโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า พบเห็นภาพบาดตาบาดใจระหว่าง Hugo กับ Vera จึงขับไล่ทั้งสองออกจากบ้าน
    • Hugo พยายามอ้อนวอนร้องขอโอกาสสองจาก Tony
  • ทุกสิ่งอย่างพลิกกลับตารปัตร
    • แต่เมื่อ Hugo กลับมายังบ้านหลังนี้ กลับแสดงสันดานธาตุแท้ ทำตัวเหมือนนาย
    • Tony ไม่สามารถโต้ตอบทำอะไร ค่อยๆสูญเสียอำนาจในบ้านหลังนี้
    • และเมื่อ Susan แวะเวียนกลับมาเยี่ยมเยือน ได้พบเห็นภาพบาดตาบาดใจ

การดำเนินเรื่องในสไตล์ผกก. Losey จะมีความเอื่อยเฉื่อยเชื่องช้า แต่จักค่อยๆสร้างบรรยากาศ ความคลุมเคลือ ผู้ชมสัมผัสได้ถึงบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น ใคร่อยากติดตามค้นหาว่ามันคืออะไร เป็นไปอย่างที่ครุ่นคิดไว้ไหม

ไฮไลท์การตัดต่อคือฉากในร้านอาหารที่ Susan พยายามเกลี้ยกล่อม Tony ให้เลิกว่าจ้าง Hugo แต่ตลอดทั้งซีเควนซ์จะมีการตัดสลับ/ซ้อนทับ (Overlap) เสียงสนทนาของลูกค้าโต๊ะอื่นๆ (รวมถึงแทรกภาพ Hugo เดินทางไปรับน้องสาว/คู่หมั้น Vera ที่สถานีรถไฟ) นี่อาจเป็นฉากที่สร้างความสับสนมึนงง หลายคนไม่สามารถจับใจความ แต่ข้อความสนทนาโต๊ะอื่นๆ ล้วนมีความต่อเนื่องสัมพันธ์กับสิ่งที่ Susan/Tony กำลังพูดคุยกัน! … ถ้าคุณสามารถจับใจความฉากนี้ ก็อาจถึงขั้นขนลุกขนพองในอัจฉริยภาพของผู้กำกับและนักเขียนบท


เพลงประกอบโดย Sir John Phillip William Dankworth (1927-2010) นักดนตรีแซ็กโซโฟน คาริเน็ต แต่งเพลงแจ๊ส และประกอบภาพยนตร์ เกิดที่ Woodford, Essex ในครอบครัวนักดนตรี ร่ำเรียนเปียโน ไวโอลินตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งอายุ 16 มีโอกาสรับฟังผลงานของ Benny Goodman, Charlie Parker เลยเกิดความสนใจแซ็กโซโฟนและดนตรีแจ๊ส เข้าศึกษายัง Royal Academy of Music, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอาสาสมัคร Royal Air Force เข้าร่วม RAF Music Services, หลังจากนั้นร่วมกับผองเพื่อนก่อตั้งวงดนตรี Johnny Dankworth and His Orchestra, ส่วนเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Saturday Night and Sunday Morning (1960), The Servant (1963), Darling (1965), Accident (1967) ฯ

งานเพลงของหนัง คละคลุ้งด้วยกลิ่นอายสไตล์ (Slow) Jazz มีทั้งความโรแมนติก เซ็กซี่อีโรติก บรรยากาศลึกลับลมคมใน บางครั้งเต็มไปด้วยความหลอกหลอน ขนลุกขนพอง โดยทั้งหมดมักมีท่วงทำนองช้าเนิบ เพื่อให้สอดคล้องจังหวะการดำเนินเรื่อง (Pacing) อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผมรู้สึกว่าบทเพลงสะท้อนห้วงอารมณ์ของตัวละคร Tony ที่มีความโดดเดี่ยวเดียวดาย โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย การมีชายรับใช้สามารถสร้างความสะดวกสบาย แต่จิตใจกลับไม่เคยได้รับการเติมเต็มจากทั้งแฟนสาวและชู้รัก ต่างคิดคดทรยศหักหลัง ปฏิเสธอาศัยอยู่เคียงข้าง เรื่องมากเอาแต่ใจ จนตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง ไม่สามารถฉุดกระชากหวนกลับขึ้นมาจากขุมนรก … ถ้ามองจากแนวคิดนี้ ก็จะพบความ ‘เกย์’ ของหนังได้อย่างชัดเจน

สำหรับบทเพลงคำร้อง All Gone ทำนองโดย John Dankworth, คำร้องโดย Harold Pinter, ขับร้องโดย Cleo Laine (ภรรยาของ Dankworth) เห็นว่ามีทั้งหมดสามฉบับ สามอารมณ์ เพื่อนำไปใช้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เท่าที่ผมลองไล่ๆดูพบว่าได้ยินบทเพลงอย่างน้อยห้าครั้ง แต่ก็สามารถแบ่งออกเป็นสามห้วงอารมณ์

  • ท่วงทำนองหวาดแหววโรแมนติก จะได้ยินสองครั้ง
    • Tony กำลังเกี้ยวพาราสี Susan แต่ถูกขัดจังหวะโดย Hugo
    • และตอน Tony ขึ้นไปเคาะประตู ลากพา Vera มาร่วมเพศสัมพันธ์ (ไม่มีใครขัดจังหวะ)
  • ท่วงทำนองแห่งความเจ็บปวดรวดร้าว จากความโดดเดี่ยวเดียวดาย
    • ระหว่างที่ Tony ขับไล่ Hugo กับ Vera กำลังเก็บข้าวของเตรียมออกจากบ้าน เปิดบทเพลงนี้รับรู้สึกถึงความเจ็บปวด ถูกทรยศหักหลัง และแม้แต่แฟนสาว Susan ยังทอดทิ้งเขาไป
    • แม้ว่า Hugo จะหวนกลับมาอาศัยอยู่กับ Tony แต่ครั้งหนึ่งเปิดบทเพลงนี้เพราะรู้สึกเจ็บปวด ถูกทรยศหักหลัง ไม่มีอะไรหวนกลับมาเหมือนเดิมอีกสักครั้ง
  • ไคลน์แม็กซ์ ท่วงทำนองแห่งความหมดสิ้นหวัง และมีการใส่เอ็ฟเฟ็กกึกก้อง (Echo) เพื่อสร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง สั่นสะท้านทรวงใน

The Servant (1963) นำเสนอความสัมพันธ์นาย-บ่าว ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แทนชนชั้นทางสังคม Upper Class vs. Working Class ในประเทศที่มีการปกครองระบอบราชาธิปไตยอย่างอังกฤษ (รวมถึงประเทศสารขัณฑ์) สามารถสื่อถึงพระมหากษัตริย์และสามัญชน (ประชาชนคือทาสรับใช้ของกษัตริย์)

เรื่องราวของ The Servant (1963) พยายามสะท้อนช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง(ของอังกฤษ) ในอดีตพระมหากษัตริย์มีความสูงส่งดั่งสมมติเทพ เจ้าขุนมูลนายใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ภายใต้ความทุกข์ยากลำบากของประชาชน แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกสิ่งอย่างก็เริ่มพลิกกลับตารปัตร เมื่อผู้คนสามารถพึ่งพาตนเอง วัยรุ่นหนุ่ม-สาวโหยหาอิสรภาพ ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบเป็นทาสรับใช้ผู้ใด และยังรวมถึงความนิยม/บทบาทสถาบันกษัตริย์ค่อยๆลดน้อยถอยลง โลกสมัยใหม่กำลังก้าวสู่ยุคแห่งความเสมอภาคเท่าเทียม

ต้นฉบับนวนิยายของ Robin Maugham ไม่ได้ต้องการย่ำเหยียบ Tony = เจ้าขุนมูลนาย = ระบอบกษัตริย์ หรือก็คือตัวผู้เขียนเองนะแหละ (สืบเชื้อสายผู้ดีอังกฤษ) เพียงนำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนรับใช้ ระบอบชนชั้น หมดสูญสิ้นไปจากสังคม(ประเทศอังกฤษ)

แต่ภาพยนตร์ของผกก. Joseph Losey กลับทำให้ตัวละคร Tony นอนแผ่พังพาบ นั่นคืออาการหมดสิ้นสภาพ ซึ่งสะท้อนเข้ากับตนเองที่เคยถูกพรรคพวกพ้องทรยศหักหลัง รวมถึงองค์กร HCUA ขึ้นบัญชีดำ Hollywood Blacklist หลายปีที่ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เกือบเอาชีวิตไม่รอด แค่มุมมองการเมืองที่คิดเห็นต่าง ถึงขนาดต้องบดขยี้กันให้ป่นปี้เชียวหรือ??

สำหรับคนที่ไม่รับรู้จักเบื้องหลังของผกก. Losey อาจตีความตอนจบคือหายนะที่เมื่อกษัตริย์กลายเป็นคนรับใช้ประชาชน จักทำให้บ้านหลังนี้พังทลาย ประเทศอังกฤษถึงคราล่มสลาย (Anti-Equality, Pro-Monarchy) … ครุ่นคิดแบบนี้ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ แสดงให้เห็นถึงอิสรภาพในการตีความของหนัง ต่างมุมมองก็ต่างความคิดเห็นออกไป

บรรยากาศของหนังที่คละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Homo/Heterosexual รู้สึกเหมือนถูกถ้ำแอบมองอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความหวาดระแวง วิตกจริต สะท้อนสภาพจิตวิทยาของตัวละคร เพราะการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าชาย-หญิง หรือชาย-ชาย ล้วนมีลักษณะรุก-รับ หรือศัพท์แสลง King-Queen บุคคลหนึ่งเป็นผู้นำ อีกคนคอยรองรับ แต่โลกยุคสมัยใหม่มันสามารถสลับกัน Bi-Sexual โดยไม่จำกัดเพศสภาพ LGBTQIAN+ นั่นคือการสูญเสียสภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งสามารถสื่อถึงความเสมอภาคเท่าเทียม(ทางเพศ)ได้ด้วยกระมัง

จะว่าไปตัวละครหญิงทั้งสอง Susan และ Vera ต่างก็มีลักษณะข่มบุรุษ พยายามเกี้ยวพา ชักโยงใย ไม่ยินยอมศิโรราบแทบเท้า (แม้เวลามีเพศสัมพันธ์จะทำได้แค่ตั้งรับ แต่กิจกรรมอื่นๆล้วนพยายามเป็นฝ่ายรุกล้ำ) นี่สะท้อนความเป็นสตรีนิยมยุคสมัยใหม่ มีความเชื่อมั่นในตนเอง โหยหาอิสรภาพ ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบใดๆทางสังคม

  • Susan มีจิตใจหนักแน่น มั่นคง ไม่โอนอ่อนผ่อนปรน ปฏิเสธย้ายมาอยู่บ้านของ Tony, และยังเคยพูดออกคำสั่ง บีบบังคับให้ Hugo กระทำโน่นนี่นั่น
  • Vera ใช้เรือนร่าง ท่าทางอ่อยเหยื่อ เกี้ยวพาราสี Tony, รวมถึงหลบหนีตีจาก Hugo ไม่ต้องการแต่งงานกับอีกฝั่งฝ่าย

แซว: ลักษณะการข่มบุรุษของสตรีทั้งสอง ทำให้ Tony สูญเสียความเป็นชาย/สถานะผู้นำ จนจำต้องยินยอมศิโรราบต่อ Hugo ทั้งร่างกายและจิตใจ … เข้าใจความสองแง่สองง่ามที่อธิบายนี้ไหมเอ่ย?

ผกก. Losey ไม่ได้มีรสนิยมรักร่วมเพศ จึงพยายามลดรายละเอียดที่มีความโจ๋งครึ่มจากต้นฉบับนวนิยาย (ถ้าคุณไม่รู้จักศัพท์แสลง เข้าใจภาษากาย/ภาษาภาพยนตร์ หรือกลเกมบางอย่าง อาจไม่ตระหนักถึงประเด็นนี้เลยก็เป็นได้) แต่ความสัมพันธ์ที่กำลังสั่นคลอนกับภรรยาคนที่สาม Dorothy Bromiley แต่งงานเมื่อปี ค.ศ. 1956 และหย่าร้าง ค.ศ. 1963 นี่ก็น่าจะสะท้อนความสัมพันธ์ตัวละคร Tony-Susan รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง เมื่อต้องเลิกกันก็แทบทำให้ฉันหมดสิ้นสภาพ


ด้วยทุนสร้าง £135,000 ปอนด์ เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice แม้ไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา แต่เสียงตอบรับที่ดีเยี่ยม สามารถทำเงินในอังกฤษ £238,893 ปอนด์ ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร, ช่วงปลายปีได้ยังเข้าชิง BAFTA Award และคว้ามาถึงสามรางวัล

  • Best Film from any Source พ่ายให้กับ Tom Jones (1963)
  • Best British Film พ่ายให้กับ Tom Jones (1963)
  • Best British Actor (Dirk Bogarde) **คว้ารางวัล
  • Best British Actress (Sarah Miles)
  • Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (James Fox) **คว้ารางวัล
  • Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (Wendy Craig)
  • Best British Screenplay
  • Best British Cinematography, Black-and-White **คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 4K UHD เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2021 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Criterion, StudioCanal (ผมรู้สึกว่า StudioCanal มีของแถม/Special Feature เยอะกว่า Criterion)

ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังมากๆ ประทับใจการสร้างบรรยากาศที่โคตรหลอกหลอน หวาดเสียวประตูหลัง โดยเฉพาะการแสดงของ Dirk Bogarde ซุกซ่อนธาตุแท้ตัวตนได้อย่างมิดชิดแนบเนียน และเมื่อความจริงเปิดเผย ทุกสิ่งอย่างพลิกกลับตารปัตร ราวกับนรกแตก หายนะบังเกิดขึ้นในบ้านหลังนี้!

แซว: ระหว่างรับชม The Servant (1963) ชวนให้ผมนึกถึง The Housemaid (1960) ของ Kim Ki-young ครุ่นคิดเล่นๆว่าอาจเป็นหนังเรื่องโปรดผู้กำกับ Bong Joon-ho ลองค้นหาข้อมูลดูก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศอึมครึม ทรยศหักหลัง คบชู้นอกใจ ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรจากหน้าเป็นหลัง

คำโปรย | The Servant เมื่อคนรับใช้กลายมาเป็นนาย หายนะระดับมาสเตอร์พีซจึงบังเกิดขึ้นในบ้านหลังนี้
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: