The Seventh Seal (1957) : Ingmar Bergman ♥♥♥♥
(7/7/2017) ทั้งๆที่รู้ว่า ‘เกิด’แล้วก็ต้อง’ตาย’ แต่มนุษย์ทั้งหลายพยายามจะยืดยื้อ ต่อรองร้องขอชีวิตกับความตาย ทั้งๆที่ก็รู้เช่นกันว่า ไม่มีทางจะเอาชนะได้ แต่ถ้าระหว่างนั้นสามารถกระทำอะไรเสร็จสำเร็จสักอย่าง ก็ถือว่าคุ้มค่าเพียงพอแล้ว … หรือเปล่า?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
มันอะไรกับเลข 7 ก็ไม่รู้นะครับ, เป็นความบังเอิญล้วนๆหลังจากผมเขียนรวมหนังโปรดของผู้กำกับ Ingmar Bergman ไปเมื่อวันก่อน รู้สึกอยากกลับมา revisit หนังเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่ารับชมครั้งก่อนยังไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งเป็นแน่ ซึ่งวันที่ผมกลับมาเขียนบทความนี้ 7 กรกฎาคม 2017 กับหนังเรื่อง The Seventh Seal บางทีพระเจ้าคงเป็นผู้กำหนดโชคชะตาให้ผมต้องมาเขียนบทความนี้วันนี้ก็เป็นได้
ฉากแรกของหนังกับคนที่เพิ่งเคยรับชม คงขยี้ตาซ้ำสองสามครั้ง ชายผู้หนึ่งสวมผ้าคลุมสีดำ ทำหน้าเคร่งขรึม พูดว่า ‘ข้าคือความตาย’ (I am Death.) นั่นพูดจริงพูดเล่น หรืออะไรกัน? นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า metaphor อุปมาอุปไมย นัยยะ สิ่งสัญลักษณ์ อะไรแล้วแต่ที่คนเขาเรียกกัน เป็นตัวแทนของยมทูต บุคคลแห่งการตายจริงๆนั่นแหละ เรื่องราวเกิดขึ้น ณ ริมชายฝั่งทะเล สถานที่ระหว่างผืนแผ่นดินกับผืนน้ำ ความเป็นกับความตาย นี่แปลว่าชายผู้นั้น(และอีกคน) กำลังจะสูญสิ้นเสียชีวิต แต่เขาได้ร้องขอต่อรองกับยมทูต ‘เล่นหมากรุกกันไหม ถ้าชนะก็ปล่อยฉันไป’ เอาสิ! ข้าไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว
Ingmar Bergman (1918 – 2007) ปรมาจารย์ ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Swedish ได้รับการนับถือว่าเป็นเสาหลักแห่งวงการภาพยนตร์ ผู้ทรงอิทธิพลต่อผู้กำกับรุ่นหลังมากที่สุดคนหนึ่ง
เกิดที่เมือง Uppsala ประเทศสวีเดน ลูกชายของ Erik Bergman พระผู้สอนศาสนาในนิกาย Lutheran ของชาวเดนมาร์ก (ต่อมาได้กลายเป็น Chaplain/อนุศาสนาจารย์ของกษัตริย์สวีเดน) ส่วนแม่มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวย ทำให้ Bergman เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาตั้งแต่เด็กอย่างเข้มงวด เคยถูกพ่อคุมขังในตู้เสื้อผ้าที่มืดมิดหลายครั้ง ซึ่งส่งผลให้ผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องของเขา ตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับศาสนา-ความเชื่อ-ศรัทธา บทบาทของพ่อ และความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของลูกชาย (เคยบอกว่าตนเองสูญสิ้นศรัทธาตอนอายุ 8 ขวบ ก่อนจะกลับมาทำความเข้าใจมันอีกครั้งในการทำภาพยนตร์เรื่อง Winter Light)
ช่วงระหว่างปี 1953/1954 Bergman ได้เขียนบทละครเวทีเรื่อง Trämålning (Wood Painting) ให้กับนักเรียนการแสดงที่ Malmö City Theatre ออกแสดงครั้งแรกปี 1954 โดย Bergman เป็นผู้กำกับด้วยตนเอง ปีถัดมาเปิดการแสดงที่ Stockholm กำกับโดย Bengt Ekerot (ที่กลายมาเป็นผู้รับบท Death ในฉบับภาพยนตร์)
ในหนังสืออัตชีวประวัติของ Bergman เรื่อง The Magic Lantern เขียนบอกว่าบทละคร Wood Painting ได้พัฒนาต่อยอดกลายมาเป็น The Seventh Seal ภาพยนตร์เรื่องที่ใกล้ใจมากที่สุดแล้ว เพราะขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่จิตใจ ความคิด ความรู้สึกของเขา ยังมีความไม่แน่นอน คือขาดความศรัทธาความเชื่อในพระเจ้าอย่างรุนแรง
“Wood Painting gradually became The Seventh Seal, an uneven film which lies close to my heart, because it was made under difficult circumstances in a surge of vitality and delight.”
ตอนแรกที่ Bergman นำเสนอโปรเจคนี้เพื่อหาทุนสร้างกับ Svensk Filmindustri ได้รับการปฏิเสธ จนกระทั่งความสำเร็จของ Smiles of a Summer Night (1955) ทำให้สตูดิโอยินยอมทุกความสนใจของ Bergman (ตลอดชีวิตของเขา แทบไม่มีอุปสรรคในการขอทุนสร้างหนังอีกเลย) ใช้เวลาในโรงพยาบาล Karolinska Hospital ขณะรักษาตัวจากโรคกระเพาะ แก้ไขพัฒนาบทอยู่ถึง 5 รอบ ได้งบประมาณ $150,000 เหรียญ ระยะเวลาถ่ายทำ 35 วัน แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างหนังเรื่องหนึ่งในสมัยนั้น
เรื่องราวเป็นการเดินทางของอัศวิน Antonius Block (รับบทโดย Max von Sydow) กับคนรับใช้ Jöns (รับบทโดย Gunnar Björnstrand) ขณะกลับจากสงคราม Crusades ช่วงประมาณศตวรรษที่ 14 – 15 (Medieval Ages) พบว่าประเทศสวีเดนกำลังประสบโรคระบาดแพร่ขยายไปทั่ว ผู้คนมีทั้งเพิกเฉยไม่สนใจ บ้างคลั่งไคล้ศรัทธา(ในพระเจ้า) เห็นผิดเป็นชอบ ไร้ซึ่งศีลธรรมจรรยา ก็ไม่รู้พวกเขาเกิดมาบนโลกนี้เพื่ออะไรกัน
ตอนที่ Antonius Block ขึ้นบก ได้พบเจอกับ Death (รับบทโดย Bengt Ekerot) ที่กำลังจะมาเอาชีวิตเขาไป ขณะกำลังครุ่นคิดรำพันถึงชีวิตที่ผ่านมาก็ตระหนักขึ้นได้ ว่ายังไม่เคยทำอะไรที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ สร้างความสุขประทับใจให้กับตนเองแม้แต่น้อย จึงขอต่อรองด้วยเกมหมากรุกกับความตาย เพื่อยื้อเวลาออกไปสักนิด ระหว่างนี้จะได้ออกเดินทางค้นหาสิ่งนั้นที่ใจต้องการ จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมา
สรุปก็คือ เรื่องราวเป็นการออกเดินทางเพื่อค้นหา สิ่งที่จะทำให้ Antonius Block รู้สึกว่าชีวิตตนเองมีคุณค่า สร้างประโยชน์ ความสุข พึงพอใจแก่ตนเอง
Nils Bengt Folke Ekerot (1920 – 1971) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้มีผลงานประปราย เน้นกำกับ/แสดงในละครเวทีมากกว่า ซึ่งการรับบท Death ทำให้เขากลายเป็น typecast โดยสิ้นเชิง ไม่สามารถรับเล่นบทอื่นได้อีก แต่แค่บทเดียวก็คุ้มค่าเพียงพอ เพราะเป็นหนึ่งในตัวละคร iconic ได้รับการจดจำมากที่สุดในโลกภาพยนตร์, เห็นว่า Ekerot รับบท Death อีกนับครั้งไม่ถ้วน ในภาพยนตร์และสื่อต่างๆมากมาย (เพราะไม่มีใครสามารถลืมเลือนภาพลักษณ์นี้ของเขาได้ลง)
ภาพลักษณ์ของ Death สวมผ้าคลุมสีดำทั้งตัว (น่าจะผืนเดียว) เห็นเฉพาะใบหน้าที่มีความเคร่งขรึม ไม่เคยยิ้ม (การตายไม่ใช่เรื่องที่ใครจะยิ้มได้) ความเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ ปลิ้นปล้อน ไร้ความปราณี กับสิ่งที่ตนตั้งใจ ไม่ว่ายังไงต้องได้สมหวัง, จริงๆการวิเคราะห์ตีความ Death ลักษณะนี้ถือว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะเป็นการมองตัวละครที่รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ผมจะต่อยอดให้ว่า ความตาย เป็นสิ่งตรงไปตรงมา เรียบง่ายธรรมดา ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยง หลอกลวง ลีลาเล่นตัว ถึงคราวก็ต้องพบกับความตาย ช้าเร็วแค่ไหนขึ้นกับบุญบารมีของตนเองเท่านั้น
Max von Sydow หรือ Carl Adolf von Sydow (เกิดปี 1929) นักแสดงในตำนานสัญชาติ Swedish หนึ่งในขาประจำของ Bergman ที่มีผลงานภาพยนตร์หลายชาติหลายภาษา, เกิดที่ Lund ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย พ่อเป็นศาสตราจารย์ นักชาติพันธุ์วิทยา ประจำ University of Lund ส่วนแม่เป็นครูสอนหนังสือ สืบเชื้อสายมาจาก German, ตอนเด็กเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนา Lund Cathedral School โตขึ้นเลือกเรียนโรงเรียนสอนการแสดง Royal Dramatic Theatre ที่ Stockholm รุ่นเดียวกับ Lars Ekborg, Margaretha Krook, Ingrid Thulin ฯ มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ในหนังของ Alf Sjöberg เรื่อง Only a Mother (1949) และ Miss Julie (1951)
ปี 1955, Sydow ย้ายไปอยู่ที่เมือง Malmö ที่ซึ่งได้พบเจอกับ Ingmar Bergman ทั้งสองร่วมงานกันในละครเวทีเรื่อง Malmö Municipal Theatre และกลายมาเป็นขาประจำในภาพยนตร์ อาทิ The Seventh Seal (1957), Wild Strawberries (1957), The Virgin Spring (1960) ฯ ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ ทำให้เขากลายเป็นดาราดังที่รู้จักทั่วโลก
ผลงานดังของ Sydow มีเยอะมาก อาทิ The Greatest Story Ever Told (1965), Hawaii (1966), The Exorcist (1973), Flash Gordon (1980), Flight of the Eagle (1982), Never Say Never Again (1983), Minority Report (2002), Shutter Island (2010), Star Wars: The Force Awakens (2015) ฯ เข้าชิง Oscar 2 ครั้งจาก Pelle the Conqueror (1987) และ Extremely Loud & Incredibly Close (2011) ล่าสุดรับบท Three-eyed Raven ในซีรีย์ Game of Thrones
รับบท Antonius Block ผู้มีความอ่อนล้าทั้งกายใจจากการไปรบสงคราม แต่เมื่อกลับบ้านเกิดพบเจอกับความตายจึงเกิดความตระหนักขึ้นได้ ต้องการค้นหาคำตอบของสิ่งต่างๆ สายตาเหม่อมองหา(พระเจ้า)ที่พึ่งทางใจ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป(หลังความตาย) แต่นั่นใครที่ไหนก็ไม่สามารถให้คำตอบได้
มีบุคคล/กลุ่มคน มากมายที่ Block ได้พบเจอระหว่างการเดินทางครั้งนี้
เริ่มต้นจากคนรับใช้ใกล้ตัว Jöns (รับบทโดย Gunnar Björnstrand) แวบหนึ่งผมรู้สึกว่าตัวละครนี้คล้ายกับ Jean (รับบทโดย Jean Gabin) จากหนังเรื่อง Port of Shadows (1938), Björnstrand กับหนังเรื่องนี้ต้องถือว่าพลิกบทบาทอีกแล้ว (พี่แกแทบจะไม่เคยได้รับบทซ้ำเดิมในหนังของ Bergman) ตรงกันข้ามกับ Smiles of a Summer Night (1955) คราวนี้เป็นผู้ชายแมนๆ กร้านโลกผ่านอะไรมามาก ปากพูดตรงแม้หยาบคายแต่จริงใจ ซื่อสัตย์มั่นคง เรื่องคุณธรรมก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง
กลุ่มแรกที่เดินผ่านคือนักแสดง ประกอบด้วย Jof (รับบทโดย Nils Poppe) ภรรยา Mia (รับบทโดย Bibi Andersson) ทั้งสองมีทารกน้อย Mikael และผู้จัดการ/หัวหน้ากลุ่ม Skat (รับบทโดย Erik Strandmark)
Jof เป็นนักเล่นปาหี่ (juggler) แต่กลับเห็นนิมิตมองเห็นพระแม่มารีย์ และพระเยซู (ตอนเด็ก) ทำให้เขามีความเชื่อศรัทธาตั้งมั่นในพระศาสนา ซึ่งตอนท้ายเมื่อเขาเห็นยมทูต/ความตาย จึงมองว่าคือซาตานพยายามหลีกหนีไปให้ไกลที่สุด
Mia หญิงสาวอัธยาศัยดี มีน้ำใจไมตรี เป็นมิตรเข้ากับคนอื่นได้ง่าย รักและเอาใจใส่ดูแลสามี แม้จะไม่ค่อยเชื่อในนิมิตของเขานัก แต่ก็ยินยอมเชื่อมั่นในตัวเขาเป็นอย่างดี, ความน่ารักสดใสของ Andersson (ที่ตอนนั้นเป็นชู้อยู่กับ Bergman) สร้างความสุขสดชื่นเบิกบานให้กับหนัง ต้อนรับขับสู้ Block ด้วยสตอเบอรี่และนม (หนังเรื่อง Wild Strawberries ถ่ายทำปีเดียวกัน) เป็นความสุขเรียบง่าย ยากนักที่ใครจะหลงลืมลง
Skat ชายผู้มีความสนใจแต่ตนเอง หล่อเหลาก็ไม่ใช่ คารมก็หยาบคาย ไม่รู้ทำไมถึงมีหญิงสาวเกิดหลงเสน่ห์คารม ภาษากายสนทนาเข้าใจ พอได้เธอมาครอบครองก็ละทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง แล้วพยายามหลอกลวงผู้อื่นด้วยความตาย แต่เมื่อความตายจริงๆถามหา ต่อให้ปีนต้นไม้สูงแค่ไหนก็ไม่มีทางหนีพ้น
จิตรกร Albertus Pictor (รับบทโดย Gunnar Olsson) บุคคลนี้มีตัวตนในประวัติศาสตร์เป็นชาว Swedish นักวาดภาพฝาผนังในโบสถ์คริสต์ ซึ่งภาพวาดโด่งดังที่สุดของเขาคือ ‘Death playing chess’ ที่ผนังโบสถ์ Täby Church นอกกรุง Stockholm ประมาณการณ์ช่วงปี ค.ศ. 1480–1490
แต่ Albertus Pictor ไม่ใช่คนวาดภาพ Dance of Death นะครับ (เขาอาจจะเคยวาดก็ได้ แต่ไม่มีหลักฐานหลงเหลือ) เห็นว่าเป็นหนึ่งในแนวภาพ (Artistic Genre) ที่หลายโบสถ์ของยุโรปในยุคนั้นนิยมวาดกัน มักเป็นยมทูต(ความตาย)ที่กำลังเดิน/จับมือ/เต้นรำ กับบุคคลหลากหลายที่ลุกขึ้นจากหลุมฝันศพ อาทิ Pope, Emperor, กษัตริย์, เด็ก, คนทำงาน ฯ
ภาพตัวอย่างที่ผมเลือกมา เป็นผลงานของ Bernt Notke ชื่อว่า Surmatants (Totentanz) บนผนังของโบสถ์ St. Nicholas’ Church ตั้งอยู่ที่ Tallinn ประมาณการช่วงเวลาที่วาด ค.ศ. 1486 – 1493
คนถัดมาที่พบคือ แม่มด (รับบทโดย Maud Hansson) หญิงสาวที่ทางโบสถ์อ้างว่า เป็นผู้นำโรคระบาดเข้ามาแพร่สู่ผู้คน ซึ่งก่อนที่จะถูกเผาทั้งเป็น เธออ้างบอกกับ Block ว่ามองเห็นพระเจ้าอยู่รอบตัว แต่แท้จริงๆก็คือแค่ภาพหลอนลวงตา หลงมโนคิดไปเอง ไม่ได้รับรู้สัมผัสเห็นอะไรทั้งนั้น, ด้วยความที่ยึดมั่นศรัทธาในพระเจ้าอย่างยิ่ง แต่ดินแดนแห่งนี้กลับถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการเหลียวแล ด้วยความหวังตายแล้วจะได้สู่ดินแดนของพระองค์ จึงพูดโกหกหลอกตัวเองว่าได้พบเห็น ผลลัพท์จึงถูกเผาตายด้วยไฟ(ราคะ)ทั้งเป็น
หัวขโมยจากศพ Raval (รับบทโดย Bertil Anderberg) หากินด้วยการเดินทางไปยังหมู่บ้านต่างๆที่ติดโรคระบาด ลักขโมยของมีค่าของผู้เสียชีวิต นี่เรียกว่าการ ‘หากินกับคนตาย’, เหตุผลที่ไม่ชอบขี้หน้านักแสดง Jof คงประมาณว่าเป็นคนสายอาชีพคล้ายๆกัน ไก่เห็นตีนงู จึงพยายามยกตนข่มท่าน กดขี่ข่มเหง ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับ Jöns ที่บทบาทกลับตารปัตร เขากลายเป็นผู้ถูกรังแกเสียเอง, ชะตากรรมสุดท้ายของตัวละครนี้ถือว่ากรรมตามสนองโดยแท้ เพราะลักขโมยของคนตายเลยติดโรคมา ดิ้นทุรนทุรายจนขาดใจ
หญิงใบ้ (รับบทโดย Gunnel Lindblom) แต่เธอก็พูดประโยคหนึ่งในหนังนะ, สาเหตุที่ไม่พูดคงเพราะเป็น Trauma ที่เกิดจากครอบครัวทุกคนในหมู่บ้านที่ตนอาศัยอยู่ เสียชีวิตด้วยโรคระบาด (แต่ไม่รู้ทำไมเธอถึงไม่ติด) กำลังจะถูกข่มขืนโดย Ravel แต่ได้ Jöns ช่วยเหลือไว้ จึงยอมติดตามเขาไป, อีกครั้ง เมื่อพบเห็น Raval ทนทุกข์ทรมานจากกรรมเวรของตน เกิดความเวทนาอยากเข้าไปช่วย แต่ Jöns ก็เป็นผู้รั้งเธอไว้ บอกว่ามันสายเกินไปแล้ว เป็นตัวละครที่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใดๆทั้งนั้น
บาทหลวงและขบวนพาเรด (รับบทโดย Anders Ek) พวกเขามีความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้าในระดับคลั่ง ครุ่นคิดพิจารณาว่าเหตุการณ์โรคระบาดนี้ เป็นผลจากความชั่วร้ายต่างๆนานาของมนุษย์ พวกเขาทั้งหลายจึงลงโทษเฆี่ยนตีตนเอง เพื่อให้พระเจ้ารับรู้ว่าพวกเขารู้สึกสำนึกผิด, งมงาย คือมากเกินไป อ้างว่าคิดแต่ไร้สติ เกินพอดี กับสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น คงทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกอย่างรุนแรง จึงต้องการความรุนแรงในการแก้ปัญหา
ช่างตีเหล็ก Plog (รับบทโดย Åke Fridell) เป็นคนซื่อ ทึ่มทื่อ สติปัญญาต่ำต้อย เช่นกันกับคุณธรรม วันหนึ่งภรรยาทิ้งหนีออกจากบ้านไม่กลับมา จึงตัดสินใจออกมาแต่ไม่พบ เลยติดตาม Jöns ไปด้วย จนได้พบเธออยู่กับชู้ ถูกมารยาหญิงหลอกล่อก็หลงเชื่อใจ เช่นกันกับชู้ของเธอที่แกล้งตายก็ยินยอมให้อภัยไม่ถือสา
ภรรยาของช่างตีเหล็ก Lisa (รับบทโดย Inga Gill) มักมากในกาม ก็ไม่รู้หลงเสน่ห์อะไรใน Skat หน้าตาก็ไม่ได้หล่อเหลา คารมก็แทบไม่เคยเห็นสนทนากัน แค่มองตารู้ใจ เข้าใจความต้องการของทั้งสองฝ่าย, ตอนที่บังเอิญพบเจอ Plog ในป่า ด้วยความหวาดหวั่นกลัวจึงใช้มารยาเสแสร้งว่ากลับตัวกลับใจ โชคดีที่สามีโง่งมเลยยินยอมให้อภัย ตัวเธอคงยิ้มกระหยิ่มใจ
คนสุดท้ายที่มาพบเจอ คือภรรยาของ Block เอง Karin (รับบทโดย Inga Landgré) ที่บ้านของเขาเอง, Block ต้องจากบ้านไปสงครามตั้งแต่ทั้งคู่เพิ่งจะแต่งงานกัน ด้วยเหตุการณ์โรคระบาดทำให้คนใช้ต่างอพยพหนีหลาย เหลือแต่ภรรยาที่ยังคงจงรักภักดี แม้แทบจะจำหน้ากันไม่ได้ แต่รู้ว่าใช่ นี่แหละสามี-ภรรยาที่เคยรักจนได้แต่งงานกัน
ที่ผมต้องเสียเวลาสาธยายบุคคลต่างๆที่ได้พบเจอในหนังทั้งหมด เพราะอยากชี้ให้เห็นถึงลักษณะของเรื่องราว เกิดอะไรขึ้นบ้าง พบเจอกับใคร มีความหมายนัยยะอะไร?, บางคนถูกชะตาก็ชักชวนร่วมเดินทางไปด้วยกัน บ้างเกลียดขี้หน้าก็หาเรื่องสร้างความขัดแย้ง บางสิ่งอย่างช่วยเหลือได้-ไม่ได้ พบเจอ-แยกจาก นี่แหละคือชีวิตมนุษย์ ซึ่งสถานที่สุดท้าย ณ บ้านของ Block เปรียบได้กับปลายทางของชีวิต สถานที่ซึ่งความตายได้เข้ามาเยี่ยมเยียนพร้อมกันทุกคน
ในบรรดาบุคคล/เหตุการณ์ทั้งหลายที่ Block ได้พบเจอ มีเพียงครั้งหนึ่งเดียว ตอนได้พบกับ Jof, Mia และทารกน้อย Mikael บนเนินเขาลูกหนึ่ง พักกินสตอเบอรี่กับนม นี่ทำให้เขาเกิดช่วงเวลาแห่งความสุข ยินดีปรีดา อิ่มเอมหัวใจ ถึงขนาดพูดว่า ‘จะขอจดจำช่วงเวลาขณะนี้ไว้’
“I shall remember this moment: the silence, the twilight, the bowl of strawberries, the bowl of milk. Your faces in the evening light. Mikael asleep, Jof with his lyre. I shall try to remember our talk. I shall carry this memory carefully in my hands as if it were a bowl brimful of fresh milk. It will be a sign to me, and a great sufficiency. “
มันอาจเป็นความมิได้ตั้งใจ แต่ขณะหนึ่งที่กำลังเล่นหมากรุกดวลกับ Death เขาสังเกตเห็นทั้งสามกำลังขับเกวียนจากไป ด้วยความ’เชื่อ’ว่า จะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจ ให้พวกเขาหนีจาก Death ได้พ้น จึงแสร้งทำเป็นถ่วงเวลา ยกมือขึ้นปัดกระดาน, ผลลัพท์เป็นที่รู้แน่อยู่แล้วคือความพ่ายแพ้ ชีวิตกำลังถึงกาลจบสิ้น แต่การได้ปลดปล่อยให้พวกเขายังมีชีวิตอยู่ต่อ สร้างความพึงพอใจ เพียงพอกับชีวิตนี้แล้ว ตายไปตอนนี้ก็มิเกิดความเสียดายใดๆ
แต่จะว่าไปใช่ว่า Jof, Mia และทารกน้อย Mikael สามารถหลบลี้หนี Death พ้นนะครับ คงแค่ชะตากรรมของพวกเขายังไม่ขาดถึงคราตายก็เท่านั้น ซึ่งมีนัยยะสะท้อนตอนต้นเรื่องที่ Jof มองเห็นพระแม่มารีย์ นั่นคือความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า ตราบใดที่ยังคงยึดมั่น ความตายก็คงมิอาจทำอะไรพวกเขาได้
ถ่ายภาพโดย Gunnar Fischer หนึ่งในสองตากล้องขาประจำของ Bergman, หนังมี 2 ช็อตที่ได้รับการพูดถึงระดับตำนาน เชื่อว่าหลายคนคงคาดเดาได้อยู่แล้วว่าเป็นช็อตไหนบ้าง
1) พระเอกเล่นหมากรุกกับความตาย มีทั้งหมด 3 ฉาก,
ฉากแรก พื้นหลังคือท้องฟ้า/ผืนทะเล พระเอกได้หมากสีขาว ความตายได้หมากสีดำ, กลยุทธ์ที่วางแผนไว้คือ Bishop กับ Knight โจมตีคู่กันด้านข้าง นี่เป็นการเปรียบตัวเองดั่ง Knight และความเชื่อศรัทธาคือ Bishop โดยมี King คือพระเจ้า
ฉากที่สอง พื้นหลังคือรถคาราวาน ผืนแผ่นดินกับท้องฟ้า (แปลกที่ Jof ยังมองไม่เห็น Death ในฉากนี้), Death กิน Knight (คือการพยากรณ์ความตายแน่ๆของพระเอก) แทนที่เขาจะหวาดกลัวกลับหัวเราะยิ้มร่า ยินยอมให้โดยดี ขณะเดียวกันก็สามารถรุกคิงได้ครั้งหนึ่ง
สำหรับครั้งสุดท้าย จะไม่มีการถ่ายด้านช็อตด้านหน้าตรงแบบสองฉากด้านบน แต่จะเป็นด้านของ Death และพระเอกสลับกัน 2 ช็อต, เริ่มต้นจาก Death กิน Queen (แทนได้ด้วยความรัก หญิงสาว หรือมองเป็น Mia ภรรยาของ Jof ก็ได้) หลังจากนี้พระเอกจะแกล้งล้มกระดาน ไม่นานนักก็ถูกรุกฆาต
เกร็ด: มีคนพยายามสังเกตอ่านเกมในกระดานหมากรุกว่ามีนัยยะสำคัญอะไรแทรกอยู่หรือเปล่า ก็พบว่าไม่เลยมั่วมาก หาความต่อเนื่องไม่ได้ นี่คงเพราะ Bergman ไม่ต้องการให้ผู้ชมสนใจเกมหมากรุกมากกว่าเนื้อหาในหนัง (ให้มองเป็นแค่สิ่งสัญลักษณ์ประกอบเรื่องราวเท่านั้น)
2) การเต้นรำแห่งความตาย (ภาษาสวีดิช Danse Macabre), ช็อตนี้ล้อกับคำพูดสนทนากับจิตรกรชื่อดัง Albertus Pictor ตอนต้นเรื่อง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมที่พบเห็นเกิดความหวาดกลัวเกรงในความตาย ตระหนักรับรู้เตือนสติว่าสักวันนั้นย่อมต้องมาถึง จึงนำพาให้ยมทูตจับมือเดินนำพวกเขาไป นรกหรือสวรรค์ก็ไม่มีใครรับรู้ได้
ลำดับของตัวละคร เริ่มจาก Death, The Knight (Antonius Block), The Noble (หญิงใบ้), The Satirist (Jöns), The Smith (ช่างตีเหล็ก), The Mad (Lisa ภรรยาของช่างตีเหล็ก), The Peasant/The Fool (Skat นักแสดงถือ Lute)
ลำดับนี้เรียงตามวิทยฐานะทางสังคม แต่เพราะเมื่อทุกคนถูกนำทางด้วยความตาย จะตำแหน่งไหนมันก็เลยไม่มีความสำคัญ (ทุกคนตายได้หมด) ซึ่งการที่บางตัวละครขาดหายไป เช่น Karin (ภรรยาของพระเอก), แม่มด (ที่ถูกเผาทั้งเป็น) ฯ นี่ก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร เพราะสามารถจัดเข้าพวก 6+1 ได้อยู่แล้ว (คือถ้าจะใส่ทุกคน คงต้องเอาฝูงชนที่ตายด้วยโรคระบาดมาใส่ด้วยทั้งหมด นี่เอาแค่บุคคลที่เป็นตัวแทนสำคัญสื่อความหมายอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว), ส่วนนัยยะที่คนสุดท้ายถือเครื่องดนตรี เป็นการสื่อถึงตำแหน่งของสามัญชน สิ่งที่พวกเขาทำได้กับการรอคอยความตาย คือใช้ชีวิตสนุกสนานเต็มที่กับมัน ไม่สามารถคิดทำอะไรอื่นได้
เกร็ด: นี่เป็นภาพที่ล้างจาก Negative ต้นฉบับ เลยจะเห็นต่างจากในหนังและทิศทางตรงกันข้ามนะครับ
พื้นหลังของหนัง อยู่ในยุคสมัยปลาย Medieval Ages ช่วงเวลาของสงครามศาสนา (Crusade) เพื่อแย่งชิงนครเยรูซาเลม, อิสราเอล ดินแดนต้นกำเนิดของสามศาสนาสำคัญของโลกขณะนั้น (ยูดาย, คริสต์ และอิสลาม) มีความเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก, การเลือกช่วงเวลานี้ มีนัยยะถึงการต่อสู้ทางศรัทธา ความเชื่อ ศาสนาของมนุษย์ เพื่อค้นหาว่าพระเจ้ามีจริงไหม มองย้อนไปศตวรรษนี้ถือว่าคู่ควรเหมาะสมที่สุด เพราะคนสมัยนั้นย่อมต้องรับรู้ได้ว่า พระเจ้ามีจริง ไม่เช่นนั้นจะเกิดสงครามต่อสู้แย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้กันไปทำไม เพราะถ้าไม่มีจริง มันจะเป็นสงครามที่โง่งี่เง่า ไร้สาระบัดซบที่สุด ยิ่งเสียกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1, 2 หรือสงครามเวียดนามในทศวรรษที่ผ่านมาอีก
ตัดต่อโดย Lennart Wallén, จะถือว่าหนังใช้ Death นำทางก็ได้ แต่มุมมองส่วนใหญ่จะผ่านสายตาของ Antonius Block และหลายครั้งที่แอบเนียนเปลี่ยนไปเป็นมุมมองของ Jof และ Jöns สองบุคคลที่ใกล้ชิด สวนผ่านกับ Block บ่อยครั้งที่สุดแล้วในหนัง
ผมสังเกตหนังของ Bergman มาสักพักแล้วกับความต่อเนื่องในการตัดต่อเล่าเรื่องราว เช่นว่าหนังเริ่มจากเรื่องราวของ Antonius Block ขณะที่กำลังเดินเข้าเมือง ผ่านเกวียนคาราวานของกลุ่มนักแสดง แทนที่เรื่องราวจะไปต่อกับ Block กลับมาหยุดเล่าเรื่องเปลี่ยนมามุมมองของ Jof จนจบ แล้วค่อยตัดกลับไปต่อที่ Block ขณะถึงทางเข้าเมือง มีลักษณะคล้ายกันเช่นนี้เกิดขึ้นในหนังหลายครั้งมาก และไม่ใช่แค่กับหนังเรื่องนี้ด้วย ผมขอเรียกเทคนิคนี้ว่า ‘เปลี่ยนผลัด’ แบบกีฬาวิ่งแข่ง/ว่ายน้ำ ที่เมื่อการแข่งขัน/เรื่องราวหนึ่งจบสิ้นลงไปแล้ว ก็จะส่งไม้ต่อให้กับคน/เรื่องราวถัดไป
เพลงประกอบโดย Erik Nordgren, ช็อตแรกของหนังภาพท้องฟ้า จากนั้นมีนกตัวหนึ่งบิน เสียงเพลงอยู่ดีๆก็กระหึ่มขึ้นด้วยเสียงร้องคลอรัส ชวนให้ขนหัวลุกสั่นสะท้าน ราวกับความตายและขุมนรก
หนังของ Bergman มักใช้เพลงประกอบเพื่อปรุงแต่งขับเน้นอารมณ์ ณ วินาทีนั้นๆให้ทวีความรู้สึกเพิ่มขึ้น ว่าไปมีลักษณะเหมือน Sound Effect ที่ผมจะขอเรียกว่า ‘Soundtrack Effect’ มักเป็นบทเพลงขนาดสั้นไม่เกิน 1 นาที ดังขึ้นประกอบฉากนั้น จบแล้วก็เงียบหายไป
ความตาย เป็นสิ่งที่ไม่มีใครในวัฎสังสารหลบลี้หนีพ้น ไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์ แม้แต่เทวดาบนสรวงสวรรค์ก็ยังมีความต้องการยืดยื้อขอต่อเวลา, ดังเรื่องเล่าหนึ่งในสมัยพุทธกาล นำมาแบ่งปันกัน
พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่เหนือพระแท่นศิลาอาสน์ภายใต้ต้นปาริกชาติ ณ ดาวดึงสพิภพ ตรัสพระสัทธรรม เทศนาอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพุทธมารดา ในกาลครั้งหนึ่งนั้นมีเทพบุตรองค์หนึ่ง นามว่าสุปติฏฐิตา ได้เสวยทิพย์สมบัติอยู่ชั้นดาวดึงส์มาช้านาน ก็อีก 7 วัน จะสิ้นบุญจุติจากดาวดึงส์ ลงไปอุบัติในนรกเสวยทุขเวทนาอยู่ตลอดแสนปี ครั้นสิ้นกรรมในนรกนั้นแล้วก็จะไปบังเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน 7 จำพวก เสวย วิบากกรรมอยู่ 500 ชาติ ทุกๆ จำพวก
ยังมีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า อากาสจารินี ซึ่งเป็นผู้รู้ บุรพกรรมของสุปติฏฐิตาเทพบุตร อาศัยความคุ้นเคยสนิทสนมกลมเกลียวกันตั้งแต่ครั้งเป็นมนุษย์ เคยได้รักษาอุโบสถศีลด้วยกันในอดีตชาติล่วงมาแล้ว มองเห็นอกุศลกรรมตามทัน จะสนองผลแก่สหายของตนก็มีจิตปรานีใคร่จะอนุเคราะห์ จึงเข้าไปสู่สำนักของสุปติฏฐิตาเทพบุตร แล้วก็บอกเหตุที่จะสิ้นอายุภายในอันเร็ว ๆ นี้ ตลอดทั้งที่จะไปเกิดในนรก ครั้งพ้นจากนรกแล้ว จะต้องไปกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานให้ทราบสิ้นทุกประการ
ฝ่ายสุปติฏฐิตาเทพบุตร ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีความสะดุ้งตกใจกลัว ไม่นิ่งนอนใจใคร่จะหาเครื่องป้องกัน จึงเข้าไปสู่สำนักท้าวอเมรินทราธิราชเจ้า ถวายอภิวาทแล้วกราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ แล้วทูลอ้อนวอนขอชีวิตในสำนักอมรินทร์ โดยอเนกปริยายท้าวเธอตรัสตอบว่า ชื่อว่าความตายนี้เราเห็นผู้ใหญ่ในสรวงสวรรค์ ก็ไม่อาจห้ามบุพพกรรมอันมีกรรมแรงนี้ได้ เราเห็นอยู่แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั่ว 3 ภพ พระองค์เสด็จประทับอยู่ใต้ต้นปาริกชาติ มาเราจะพาเข้าเฝ้ากราบทูลอาราธนา ให้พระองค์ทรงช่วยเหลือ
เมื่อท้าวอมรินทร์ทรงทราบแล้ว ก็มีความเมตตาสงสารแก่สุปติฏฐิตาเทพบุตร ยิ่งนัก จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงแสดงพระสัจธรรมเทศนาอันจะเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลก ช่วยชีวิตเทพบุตรองค์นี้ไว้ไม่ให้ตายลงภายใน 7 วันนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเทศนาคาถาอุณหิสสวิชัย
เทวเต ดูกรเทวดาทั้งหลาย พระธรรมนี้ชื่อว่าอุณหิสสวิชัย เป็นยอดแห่งพระธรรมทั้งหลายเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งมวล ท่านจงเอาพระธรรมนี้เป็นที่พึ่ง อุตสาห์สวดบ่นสาธยายทุกเช้าค่ำ ย่อมห้ามเสียซึ่งภัยทั้งปวง อันจะเกิดขึ้นจากผีปิศาจหมู่พยัคฆะงูใหญ่น้อย และพญาเสนาอำมาตย์ทั้งหลายจะไม่ตาย ผู้ใดได้เขียนไว้ก็ดี ได้ฟังก็ดี ได้สวดมนต์ภาวนาอยู่ทุกวันก็ดี จะมีอายุยืน เทวเต ดูกรเทวดา ทั้งหลายท่านจงมีความสุขเถิด
ความหวาดกลัวในความตายของชาวพุทธ แตกต่างกับศาสนาอื่นฝั่งตะวันตกนั้นค่อนข้างมาก เพราะสิ่งที่ชาวเราหวาดผวาคือผลของการกระทำ อันก่อให้เกิดความทุกข์ยากลำบากทรมานในชาติภพหน้า, ส่วนศาสนาอื่น พวกเขาจะหวาดกลัวกับความไม่รู้ ตายแล้วไปไหน สิ้นสูญ-เกิดใหม่-ลงนรก-ขึ้นสวรรค์ ไม่มีหลักประกันคำแนะนำอะไรที่สามารถการันตีชี้ชักนำพวกเขาให้รู้สึกปลอดภัยต่ออนาคตได้เลย, ต้องถือว่าเป็นความหวาดหวั่นสั่นกลัวที่รุนแรงยิ่งกว่าชาวเราเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ ชาวตะวันตกที่เพิ่งเริ่มครุ่นคิดใคร่ครวญถึงความตาย ต่างมักมองหาเป้าหมายชีวิตของตนเองที่สามารถกระทำได้ในชาตินี้ เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการมีตัวตน (Existentialist) ให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดกับตนเอง ซึ่งเมื่อใดสามารถทำสำเร็จลุล่วงลงได้แล้ว บั้นปลายชีวิตก็จะเกิดความพอเพียง พักผ่อน นับวันรอความตายอย่างสงบ
อาจมีคนเถียงว่า ฝั่งเราก็ไม่มีหลักประกันตายแล้วชาติหน้าจะเกิดกลายเป็นอะไร ขึ้นสวรรค์ลงนรก?, จริงอยู่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าตายแล้วจะไปไหน แต่ความเข้าใจที่ว่าตายแล้วไม่สูญ จะทำให้เกิดความระแวดระวังภัย ระลึกรู้ตัวถึงผลการกระทำในชาตินี้ อย่างน้อยที่สุดตอนแก่วัยใกล้ตาย ก็จะไม่ล่องลอยเคว้งคว้างตั้งคำถาม ตายแล้วไปไหน ครุ่นคิดไปก็ปวดหัว
ชื่อของหนังมาจากหนังสือวิวรณ์ Book of Revelation (8:1)
“And when the Lamb had opened the seventh seal, there was silence in heaven for the space of half an hour.”
รู้สึกว่า Seal/ผนึกทั้งเจ็ดที่ตราประทับปิดไว้นี้ จะคือความชั่วร้ายมวลรวมของโลกที่ถูกกักเก็บปกปิดไว้ (ที่ไหนสักแห่ง) ซึ่งถ้าได้รับการเปิดผนึกออก ก็จะถึงกาลวันสิ้นโลกใน 7 วัน (Judgement Day) สวรรค์และทุกสรรพสิ่งจะเงียบสงัดเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง (คล้ายๆกับสำนวน ลมสงบก่อนพายุคลั่ง) ก่อนที่หายนะทั้ง 7 จะเริ่มต้นขึ้น
แล้วชื่อนี้มีนัยยะสื่ออะไรเกี่ยวกับหนัง?, ผมคิดว่าคงเป็นความรู้สึก สิ่งในจิตใจของผู้กำกับ Bergman ขณะนั้นกับความไร้ซึ่งศรัทธาในศาสนา/พระเจ้า เฝ้ารอคอยวันที่การตัดสินนั้นจะมาถึง เพื่อที่จะได้พิสูจน์ข้อกังขา คลายความสงสัยเสียทีว่าพระเจ้ามีจริงไหม … คือถ้าเลือกได้ เขาคงอยากเป็นคนที่เปิดผนึก The Seventh Seal นี้ออกมา ดูสิว่าเทวดาบนสวรรค์จะยังคงนิ่งเงียบเฉยอยู่ได้ไหม
ซึ่ง Bergman ก็ได้นำความนิ่งเงียบที่เขารับรู้สึกนี้ มาสร้างพัฒนาต่อเป็น ‘The Silence Trilogy’ ประกอบด้วย Through a Glass Darkly (1961), Winter Light (1963) และ The Silence (1963)
หนังออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Jury Special Prize ร่วมกับหนังเรื่อง Kanal (1957) สร้างชื่อให้กับ Ingmar Bergman, Max von Sydow และ Bibi Andersson เป็นที่รู้จักทั่วยุโรปและอเมริกา
ผมรับชมหนังเรื่องนี้มาก็หลายรอบ มีทั้งเคยชื่นชอบ หลงใหล ครั้งหนึ่งเฉยๆ ล่าสุดเบื่อเซ็ง แต่ละครั้งแทบไม่เหมือนกันเลย หลากหลายอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป นั่นเพราะช่วงเวลาของชีวิต ประสบการณ์ สิ่งรอบข้าง และอะไรต่างๆนานาที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยไม่หยุดนิ่ง, สำหรับการรับชมครั้งนี้ คงเพราะความที่สามารถคิดเข้าใจอะไรหลายๆอย่างของหนังได้มากขึ้น เก็บเกี่ยวประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ได้ค่อนข้างสูงแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกหลงใหล ประทับใจ ชื่นชอบขึ้นมา
ถึงนี่จะเป็นหนังท้าพิสูจน์ความเชื่อศรัทธาการมีตัวตนของพระเจ้า แต่ถือว่ามีความเป็นกลางอย่างยิ่ง เพราะตอนจบไม่ทิ้งคำตอบข้อสรุป ‘พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า?’ แต่สิ่งสัญลักษณ์ของความตายนั้นชัวร์แน่ร้อยเปอร์เซ็นต์ “มนุษย์ทุกคนเกิดมา สักวันต้องตายเป็นสัจธรรม” ผมเลยมองว่าหนังเรื่องนี้มีความสากลระดับโลก ไม่จำกัดว่านับถือศาสนาไหน พุทธก็ยังได้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” รับชมคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ จะทำให้ครุ่นคิดทบทวน มรณานุสติ -ระลึกถึงความตายเป็นนิจ- พร้อมกับใจความสำคัญของหนัง ‘ฉันทำอะไรที่มีคุณค่า ก่อนความตายจะมาเยี่ยมเยือนถามหาแล้วหรือยัง?’
แนะนำกับนักคิด นักปรัชญา นักศาสนาทั้งหลาย, คอหนัง Art-House หนังคุณภาพรางวัล ตากล้องช่างภาพขาว-ดำ สวยๆ, ชื่นชอบผู้กำกับ Ingmar Bergman แฟนๆของนักแสดง Max von Sydow, Gunnar Björnstrand, Bibi Andersson ฯ ห้ามพลาดเด็ดขาด
จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมแย่ๆของหลายตัวละคร และบรรยากาศความตาย
TAGLINE | “The Seventh Seal ของ Ingmar Bergman ได้ทำให้ความตายกลายเป็นอมตะ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE
The Seventh Seal (1957)
(23/12/2015) หนัง Swedish เรื่องแรกที่โด่งดังที่สุด กำกับโดย Ingmar Bergman หนึ่งในปรมาจารย์ชื่อดังของโลกคนหนึ่ง นำแสดงโดย Max von Sydow ที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักปู่แกดี ปีนี้มีบทตัวประกอบใน Star Wars และปีหน้าปู่แกจะเล่นเป็น Three-Eyed Raven ใน Games of Throne SS6 ด้วย ความสำเร็จสูงสุดของหนังเรื่องนี้คือได้รางวัล Special Jury Prize ของ Cannes แม้จะมีชื่อส่งเป็นหนังตัวแทนของประเทศ แต่ก็ไม่ติด Nominate ของ Academy Awards ในนิตยสาร Empire จัดให้ The Seventh Seal อยู่อันดับ 8 หนังยอดเยี่ยมที่สุดในโลก (จัดอันดับเมื่อปี 2010) ส่วนการจัดอันดับในนิตยสาร Sight & Sound ติดอันดับ 93
The Seventh Seal อาจจะไม่ใช่หนังที่ดีที่สุดของ Ingmar Bergman แต่เป็นหนังที่สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยความที่หนังได้รางวัล Special Jury Prize มาหนังเรื่องถัดๆมาของ Bergman จึงถูกจับตามองอย่างมาก หนังของเขาได้ Best Foreign Film ถึง 3 เรื่อง เข้าชิงอีกหลายครั้ง แต่ตัว Bergman ไม่เคยได้ Best Director จาก Academy Award เลย ผู้กำกับดังๆแห่งยุคหลายคนก็มี Ingmar Bergman เป็นต้นแบบ เช่น Woody Allen บอกว่าหนังของ Bergman เหมือนมีเวทย์มนต์ที่ไม่เหมือนใคร Francis Ford Coppola “หนังของ Bergman เต็มไปด้วย passion, emotion และ warmth” Stanley Kubrick บอกว่ามีผู้กำกับ 3 คนในโลกที่ใช้หนังเป็นสื่อทางศิลปะ แสดงความต้องการของตัวเอง 3 ผู้กำกับนั้นประกอบไปด้วย Vittorio De Sica, Federico Fellini และ Ingmar Bergman
Ingmar Bergman เป็นผู้กำกับคนหนึ่งที่คนรักหนังจำต้องรู้จักนะครับ ผมได้ดูหนังของ Bergman มา 2-3 เรื่องเมื่อนานมาแล้ว ก็ไม่ได้ชอบเท่าไหร่ แต่หนังแกก็มีเอกลักษณ์ แนวคิดที่ชัดเจนมาก และเหมือนๆกันแทบทุกเรื่อง สไตล์ของ Bergman คือ เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “พระเจ้ามีจริงไหม” หนังจึงวนเวียนอยู่กับแนวคิดนี้ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองและวิธีการเล่าเรื่องเท่านั้น ใน The Seventh Seal มีการเล่าผ่านแนวคิดอย่างหนึ่งคือ “ความตาย (Death)” โจทย์ของหนังคือ “เมื่อไม่มีใครในโลกหนีความตายได้ แล้วพระเจ้าอยู่ตรงไหนในความตาย” ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วค่อยข้างขัดใจมากๆ โดยเฉพาะตอนจบ ไม่ใช่ฉากเต้นรำแห่งความตายนะครับ หนังให้คน 3 คนรอดชีวิต ทั้งๆที่โจทย์ของหนังคือ “ไม่มีใครหนีความตายได้” แต่หนังได้นำพาตัวละครบางตัวรอดในหนังมันก็ตีความได้นะครับว่าทำไม 3 คนนั้นถึงรอด แสดงถึงแนวคิดของ Bergman ยังไปไม่ถึงสุดขอบของแนวคิดที่เขาใส่มาในเรื่อง ทั้งชีวิตของ Bergman คงเสียเวลาหาคำตอบกับโจทย์ “พระเจ้ามีจริงไม” น่าเสียดายที่ถ้าเขาได้เกิดในเมืองพุทธ เขาคงได้คำตอบนั้นไปแล้ว
พูดถึงหนังศาสนา เชื่อว่าคนไทยหลายคนขยาด หนังพุทธในเมืองไทยเรา ความตั้งใจคือทำมาเพื่อส่งเสริม แต่ถ้าทำแล้วมันห่วย แทนที่จะส่งเสริมกลับกลายเป็นส่งเสีย ผิดกับหนังศาสนาฝั่งยุโรป อเมริกา หนังแนวศาสนาไม่ว่าจะดีหรือแย่ ต่างมีเป้าหมายเพื่อสร้างแนวคิดให้กับคนดู The Seventh Seal มีส่วนผสมของความเป็นศาสนาอยู่ค่อนข้างมาก ชาวพุทธเราดูแล้วก็เข้าใจเขาไม่ยากหรอก แต่ก็คงขัดใจหลายๆอย่าง การที่หนังตั้งคำถามเชิงลบหลู่มากๆ แต่ผมดูแล้วตัว Bergman เองก็มีความชัดเจนที่จะไม่ขัดแย้งในความเชื่อของตน ความที่เพราะเขาไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า พระเจ้ามีจริงๆไหม จึงสร้างเงื่อนไขขึ้นมา ถ้าพระเจ้ามีจริง ถ้าพระเจ้าไม่มีจริง แล้วดูว่าสามารถนำพาเรื่องราวไปถึงจุดไหนได้ ในหนังก็มีคำตอบที่พูดออกมาชัดเจนนะครับ เช่นว่าถ้าพระเจ้าไม่มีจริง ชีวิตเราคงไร้ค่าสิ้นดี
กลุ่มทีมนักแสดง เป็นขาประจำของ Bergman ทั้งชุดเลย ทั้ง Max von Sydow ปู่แก 86 แล้วยังฟิตปั๋ง Bengt Ekerot ในบท Death ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความตายในหนังแทบทุกเรื่อง นอกจากนี้ยังมีตัวละครเด่นๆอยู่เกือบๆ 10 คน แต่ละตัวละครก็สื่อความหมายไปในแนวคิดที่ว่า “ไม่มีใครหนีความตายพ้น” ต่อให้นักแสดงจะหลอกคนอื่นว่าตนตายได้ แต่เมื่อถึงเวลาเขาก็หลอกความตายไม่ได้, หัวขโมยนี่ผมชอบสุดนะ ทำอะไรใครไว้ ก็ได้สิ่งนั้นตอบแทน ขโมยของจากศพคนตาย ก็ได้โรคระบาดติดกลับมา, ที่ผมคับข้องใจที่สุด มันมี 3 คนที่รอดจากความตาย ซึ่งเหตุผลที่เขารอดตายเพราะมีคนหนึ่งมองเห็น “ความตาย” ผมไม่เข้าใจนะครับ ทำไมคนที่เข้าใจว่าตัวเองต้องตายถึงสามารถเอาตัวรอดจากความตายได้ ในหนังมีอีกความหมายหนึ่ง ความตายเล่นหมากรุกกับพระเอก พระเอกเลือกที่จะแพ้เพื่อให้ทั้งสามหนีจากความตาย มีคนวิเคราะห์ว่าฉากนี้เป็นฉากที่มีความหมายมากๆสำหรับพระเอก ตั้งแต่เมื่อเขาเจอกับความตาย ทบทวนทั้งชีวิตพบว่า ชีวิตตัวเองไม่เคยทำอะไรที่มีค่าเลย เมื่อได้พบกับ 3 คนนี้เขาจึงรู้สึกอยากจดจำช่วงเวลานั้นไว้ การได้ช่วยให้ทั้ง 3 รอดพ้นจากความตายจึงเป็นความรู้สึกที่มีค่ามากๆ (ที่แลกมาด้วยความตาย) ฟังดูสมเหตุสมผลดีนะครับ แต่ผมกลับมองว่า Bergman ตอบโจทย์ของตัวเองไม่ครบถ้วน ถ้าเพียงแค่หนังขึ้นประโยคหรือมีบทพูดตอนจบอีกนิดว่า “แล้วทั้งสามก็มีชีวิตอยู่จนถึงชั่วอายุไขของตน” นี่ถึงจะสมบูรณ์แบบนะครับ
ผมชอบการถ่ายภาพช่วงเปิดหนังนะ ถ่ายหน้าผาติดทะเล หาดทรายที่พระเอกมาเกยตื้นและเจอกับความตาย ผมเห็นมาหลายเรื่องแล้วที่ใช้หาดทราย-ทะเล สื่อถึงอดีต-ปัจจุบัน เกิด-ตาย โลกเก่า-โลกใหม่ แต่หนังเรื่องนี้เพิ่มเสียงคลื่นซัดทรายที่ดังมากๆ เหมือนเพื่อต้องการตอกย้ำบางอย่าง ในหนัง ณ จุดนี้คือการพบกับความตาย ความหมายของฉากคลื่นซัดทรายเสียงดังมากๆ เพื่อเน้นว่า ความตายเป็นของจริง! Gunnar Fischer ในหนังของ Bergman เขาได้รับคำชมว่าเป็นตากล้องคนแรกที่สามารถถ่ายทอดความสวยงาม ความโหดร้าย ความอ่อนไหว เห็นแก่ตัว ทุกองค์ประกอบในซีนเดียวกัน “first cinematographer to capture with unparalleled beauty the cruelty, sensuality and selfishness that often collided in the same scene among Bergman’s anguished characters.” ฉากสำคัญตอนท้ายเรื่อง คน 6 คนพูดถึงความตายเมื่อความตายมาเยือน แต่ละคนก็มีความเชื่อในความตายแตกต่างกันออกไป ถ้าเป็นผมคงเอาทั้ง 6 คนใส่ในเฟรมเดียว แต่ในหนังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม 2 คนกับกลุ่ม 3 คน มีผู้หญิงยืนคั่นกลางระหว่าง 2 กลุ่ม ใช้การเคลื่อนไหวกล้องและโคลสอัพ การแบ่งกลุ่มก็ความหมายชัดเจนนะครับ ฉากจบที่จับมือกับเต้นตีความได้หลายอย่างทีเดียว และการถ่ายภาพ ใช้ภาพมุมกว้างเห็นหมดทั้ง 7 คน มันล้อกับฉากก่อนหน้านั้นที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มนะครับ เป็นการบอกว่า ถึงเราจะอยากตายหรือไม่ ยังไงก็ต้องตาย เป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดกับการถ่ายภาพได้งดงามมากๆ
การตัดต่อเป็นงานของ Lennart Wallén ผมเช็คในเครดิตเหมือนว่าพี่แกจะไม่ค่อยได้ร่วมงานกับ Bergman เท่าไหร่ สไตล์การตัดต่อใน The Seventh Seal ค่อนข้างจะแปลก เพราะไม่มีเส้นเรื่องที่ตรงเลย คือถ้ามีอะไรให้วอกแวก ก็เล่าเรื่องตามความวอกแวกนั้นไปจนจบแล้วค่อยกลับมาที่เส้นเรื่องเดิม ที่ผมรู้สึกแบบนี้เพราะหลายจังหวะเล่าเรื่องหลักค้างไว้ แล้วหนีไปเล่าเรื่อยอื่นก่อน (sub-plot) เช่นการเล่นหมากรุก เราจะเห็นฉากเล่นหมากรุกหลายรอบกว่าจะจบ ซึ่งเรื่องราวไม่ได้ติดอยู่ที่พระเอกเลย เดี๋ยวตัดไปที่เพื่อนร่วมเดินทาง, นักแสดง, ตัวตลก เกลี่ยๆบทไปให้ทั่วถึง ผมว่าเป็นวิธีการนำเสนอแนวคิดที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะมันเหมือน
ต้นเรื่อง: โจทย์
กลางเรื่อง: วิธีแก้ปัญหา
ท้ายเรื่อง: คำตอบ
ซึ่งคำตอบมันมีได้หลายอย่าง จึงได้มีการแยกตอบเป็นข้อๆ ซึ่งแต่ละข้อก็จะเป็น sub-plot หนึ่งๆเสมอ คนดูต้องวิเคราะห์ให้ออกเองว่าฉากนั้นเป็น โจทย์-หรือวิธีแก้ปัญหา-หรือเป็นคำตอบ
Erik Nordgren นักประพันธ์ชาว Swedish ขาประจำของ Bergman ใน The Seventh Seal จะใช้ดนตรีไม่เยอะเท่าไหร่ บางจังหวะก็เครื่องสาย (ที่ตัวตลกเล่น) ตัวเดียวดีดคลอเบาๆ บางจังหวะใช้ตีกลองและร้องเพลงประกอบเอา เป็นสองเครื่องดนตรีที่ให้เสียงแตกต่างกัน ทั้งอารมณ์และความหมาย แต่เมื่อบรรเลงคู่กันกลับเสริมอารมณ์ทั้งสองด้านให้สูงขึ้นไปอีก
ที่หนังเรื่องนี้โด่งดังมากๆ ผมคิดว่ามี 2 เหตุผล 1 คือ ฉากเล่นหมากรุกกับความตาย ผมเชื่อว่าหลายคนคงตีความว่า “พระเจ้ามองมนุษย์เป็นแค่เกมกระดานหนึ่ง” แต่ผมมองว่า การต่อสู้ในกระดานหมากรุก คือการใช้ชีวิตเพื่อเอาชนะ มีการเสียสละ มีการวางแผน ตัวหมากก็เหมือนกับสิ่งที่เรามี ความรู้ ครอบครัว เงินทอง ความสามารถ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ยังไงเกมก็ต้องจบ เหมือนกับคนยังไงก็ต้องตาย แต่จะจบแบบไหน จบแบบเราชนะ จบแบบเราแพ้ หรือจบแบบแพ้มีนัยยะ(แบบในหนัง) ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตยังไง
เหตุผล 2 คือฉากจบที่กล้าทำมากๆ ฉากเต้นรำกับความตาย ฉากนี้ผมตีความว่า ยังไงคนเราก็ต้องตาย ความตายเป็นความต่อเนื่อง (Series) หนึ่งที่ทุกชีวิตต้องเจอ ไม่(ควร)มีใครหนีพ้น มนุษย์ทุกคนมีความตายนำทาง
ดูจบแล้วผมเฉยๆมาก แอบผิดหวังนิดหน่อย แต่ก็ยอมรับว่านี่เป็นหนังที่ต้องใช้การวิเคราะห์พอสมควร แต่ไม่ถึงกับยากมากเท่าหนังของ Renoir หรือ Fellini ความเป็นศิลปะของหนังเรื่องนี้คือการใส่ตัวตนของผู้กำกับเข้าไปในหนังล้วนๆ จะว่านี่เป็นหนังที่โคตรเห็นแก่ตัวของ Ingmar Bergman เลยก็ได้ เพราะเขาทำหนังเพื่อค้นหาคำตอบให้กับตัวเอง ผมเชื่อว่าจนวันตาย Bergman ก็คงไม่พบคำตอบใดๆ น่าเสียดาย
คำโปรย : “Ingmar Bergman กับโจทย์ที่ว่า ‘ไม่มีใครหนีความตายพ้น’ The Seventh Seal เป็นหนังที่ทำให้ Bergman เป็นที่รู้จักระดับโลก นำแสดงโดย Max von Sydow และ Bengt Ekerot”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : SO-SO
[…] The Seventh Seal (1957) : Ingmar Bergman […]