The Shining

The Shining (1980) hollywood : Stanley Kubrick ♥♥♥♥

โรงแรม Overlook Hotel จะปิดให้บริการในช่วงฤดูหนาว จำเป็นต้องจ้างผู้ดูแลชั่วคราว รับบทโดย Jack Nicholson ที่สามารถอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตัดขาดจากโลกภายนอกได้โดยสิ้นเชิง, ดัดแปลงจากนิยายขายดีของ Stephen King โดยผู้กำกับ Stanley Kubrick ผู้ไม่แคร์ต้นฉบับอะไรทั้งนั้น ทำทุกสิ่งอย่างให้ดูบ้าคลั่ง เสียสิ้นสติสมประดี กลายเป็น Masterpiece ของหนังแนว Horror ไปโดยปริยาย

The Shining เป็นภาพยนตร์แนว Psychological Horror ที่ตอนออกฉายได้รับเสียงวิจารณ์ค่อนข้างย่ำแย่ เจ้าของนิยาย Stephen King แสดงความไม่ชอบอย่างออกนอกหน้า เข้าชิง Razzie Awards สองสาขา (Worst Director กับ Worst Actress) แต่เวลาผ่านเพียงไปไม่กี่ปี กลับได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในหนังแนว Horror ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก ขนาดผู้กำกับ Martin Scorsese เลือกให้ติดหนึ่งใน 11 Scariest Horror Movies of All Time

ผมเคยรับชมหนังเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่น Masterpiece ของผู้กำกับ Stanley Kubrick จดจำได้ว่าดูไม่รู้เรื่อง จะหลอนเพราะผีก็ไม่ใช่ เรื่องราวกระโดดไปมา อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-ความฝัน หรือจะเรียกว่านิมิต-ความทรงจำ ก็ไม่รู้บอกไม่ถูก แต่บรรยากาศของหนังและการแสดงของทั้ง Jack Nicholson, Shelley Duvall ตราตรึง เข้ากระดูกดำโดยแท้

รับชมครานี้พบเห็นความลึกล้ำสวยงาม ตีความสิ่งที่แอบแฝงซ่อนเร้นได้มากหลาย อาทิ Holocaust (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์), ต้นกำเนิดประเทศอเมริกากับอินเดียแดงและคนผิวสี, จิตวิทยาvsเรื่องเหนือธรรมชาติ ฯ  ในความเข้าใจของผมมองเห็นเป็นการเวียนว่ายตายเกิด โทรจิตสื่อสาร นิมิตเห็นสิ่งเกิดขึ้นในอดีต อะไรที่เคยเกิดขึ้นมักประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักเรียนรู้ ก้าวถอยกลับไปพิจารณาความผิดพลาดของบรรพบุรุษ รังแต่จมอยู่ในวัฏสังสารไม่มีโอกาสได้กลับออกมาจากเขาวงกต

“ํYou are the caretaker. You’ve always been the caretaker.”

หลังเสร็จจากสร้าง Barry Lyndon (1975) อีกหนึ่ง Masterpiece แนว Period Drama ของผู้กำกับ Stanley Kubrick แต่เพราะทุนสร้างมหาศาลกลับทำกำไรไม่ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องหาหนังทำเงินสักเรื่องเพื่อยืดอายุไขการทำงานของตนเอง, เห็นว่าเป็นเลขาส่วนตัวที่นำนิยาย Horror นับสิบนับร้อยเล่ม ยกมากองเรียงให้ Kubrick ค้นคว้าอ่านหาโปรเจคถัดไปที่น่าสนใจ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของ Stephen King) เธอเล่าว่าช่วงวันแรกๆจะได้ยินเสียงหนังสือกระแทกผนังกำแพงโครมคราม คงเพราะอ่านผ่านๆตาแค่หน้าแรกหรือบทนำแล้วไม่ถูกใจก็คงโยนเขวี้ยงทิ้งโดยพลัน จนกระทั่งผ่านไปหลายวันเมื่อเริ่มเงียบเสียงเดินเข้าไปดู พบว่าในมือถือนิยายเรื่อง The Shining กำลังอ่านอย่างเคลิบเคลิ้มสนใจ

“there’s something inherently wrong with the human personality. There’s an evil side to it. One of the things that horror stories can do is to show us the archetypes of the unconscious; we can see the dark side without having to confront it directly”

โดยไม่รู้ตัว Kubrick ถือว่าได้บัญญัตินิยามเพิ่มเติมของคำว่า Horror ไม่ใช่แค่ความน่ากลัวสยดสยอง เขย่าขวัญผวาสั่นประสาท แต่ยังเป็นการสะท้อนด้านมืด/ความชั่วร้ายในจิตใจของมนุษย์ ที่แสดงออกมาโดยสันชาติญาณไม่รู้ตัว (ผสมผสานจิตวิทยาเข้ากับเรื่องราวเหนือธรรมชาติได้อย่างลงตัว) กล่าวคือด้านมืดของมนุษย์นี่แหละที่สร้างความสะพรึงหวาดกลัวให้กับผู้ชมอย่างขนหัวลุกซู่ซ่า

เจ้าของผลงานต้นฉบับ Stephen King เขียนนิยาย The Shining ตีพิมพ์เมื่อปี 1977 เป็นเรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ ประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง จากการอาศัยอยู่โรงแรม Stanley Hotel ที่ Boulder, Colorado เมื่อปี 1974 ขณะกำลังพักรักษาตัวจากอาการติดสุรา (Alcoholism), เห็นว่าในค่ำคืนนั้น King และภรรยา เป็นผู้พักอาศัยหนึ่งเดียวของโรงแรม (เพราะกำลังจะปิดให้บริการช่วงฤดูหนาว) เช่าห้อง 217 ว่ากันว่าหลอนที่สุดในโรงแรม ทานอาหารค่ำในห้อง Gold Room ที่โอ่โถงใหญ่โต วงดนตรีบรรเลงเพลงกึกก้องกังวาน ก่อนเดินกลับห้องพักเดินวนไปรอบๆโรงแรม พบเจอบาร์เทนเดอร์ชื่อ Grady

“That night I dreamed of my three-year-old son running through the corridors, looking back over his shoulder, eyes wide, screaming. He was being chased by a fire-hose. I woke up with a tremendous jerk, sweating all over, within an inch of falling out of bed. I got up, lit a cigarette, sat in a chair looking out the window at the Rockies, and by the time the cigarette was done, I had the bones of the book firmly set in my mind.”

ชื่อนิยาย The Shining ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลง Instant Karma! หรือ We All Shine On ประพันธ์/ขับร้องโดย John Lennon เมื่อปี 1970 ลองฟังดูนะครับ จะพบความติสต์ๆที่คนเป็นล้านคลั่งไคล้หลงใหล คุณอาจกลายเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้

เกร็ด: นิยายเรื่องนี้มีภาคต่อ King เพิ่งเขียนเสร็จเมื่อปี 2013 ชื่อ Doctor Sleep (ที่มีได้เพราะตอนจบในนิยาย พระเอกไม่ตายนะครับ)

เรื่องราวของ Jack Torrance (รับบทโดย Jack Nicholson) นักเขียนผู้กำลังฟื้นตัวจากการติดสุรา รับตำแหน่งงานผู้ดูแลโรงแรม Overlook Hotel ที่ Colorado Rockies ในช่วงปิดฤดูท่องเที่ยว (Off-Season) เป็นเวลา 5 เดือน ร่วมกับภรรยา Wendy (รับบทโดย Shelley Duvall) และลูกชาย Danny (รับบทโดย Danny Lloyd) แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียงแค่เดือนกว่าๆ เรื่องราววุ่นๆจึงได้บังเกิดขึ้น

สำหรับคนที่เคยอ่านนิยายของ King จะพบว่า Kubrick และนักเขียน Diane Johnson เลือกดัดแปลงนำมาเฉพาะโครงสร้าง เรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจเท่านั้น ทิ้งใจความสำคัญ (ที่เป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้เขียนออกไป) แทรกใส่เรื่องราวสะท้อนความสนใจของตนเอง นี่เลยไม่แปลกถ้า King จะปฏิเสธหนังเรื่องนี้ เป็นการสร้างที่ไม่เคารพต้นฉบับอย่างยิ่ง แต่ภายหลังเขาก็กลับกลอกมายกย่อง บอกว่าเป็นหนัง Horror ที่มีความโดดเด่นเฉพาะในตัวเอง

จุดที่ภาพยนตร์ต่างจากนิยาย แค่บางส่วนสำคัญๆ อาทิ
– เลขห้องพัก ในนิยายคือ 217 (เลขห้องพักของ King) เปลี่ยนมาเป็น 237 เพราะหนังถ่ายทำฉากภายนอกที่ Timberline Lodge บริเวณ Mt. Hood, Oregon นี่เป็นเลขห้องที่ไม่มีในพิมพ์เขียวโรงแรม เพื่อป้องกันในอนาคตจะไม่มีใครกล้าเข้าพักห้องนี้
– ในนิยาย Jack เป็นคนนิสัยดี พึ่งพาได้ แค่เพียงติดเหล้าจนควบคุมสติตนเองไม่ค่อยอยู่ เมื่อเข้ามาอาศัยอยู่ในโรงแรมแห่งนี้ ถูกวิญญาณชั่วร้ายเข้าครอบงำ ช่วงท้ายสามารถเข้ายึดร่างได้สำเร็จ ทำลายทุกสิ่งอย่างที่หลงเหลืออยู่ในจิตใจของเขา
– แรงบันดาลใจของผี/ปีศาจจากอดีต เหมือนแค่ต้องการทวงคืนร่างของ Jack ที่เกิดจากการกลับชาติมาเกิดของ Grady
– Danny รู้ตัวเองว่ามีพลัง ‘shining’ ตั้งแต่แรก เปิดเผยพูดคุยกับนักจิตวิทยาของตนเอง และสามารถใช้พลังมากกว่าแค่การมองเห็นนิมิต อดีตและอนาคต
– Tony เพื่อนของ Danny ในนิยายเป็นเพียงแค่จินตนาการของเขา ไม่เหมือนในหนังที่ราวกับเป็นวิญญาณสื่อสารมีตัวตนจริงๆ
– Wendy เป็นผู้หญิงที่สามารถควบคุมตนเองได้มากกว่าในหนัง ไม่เคยสติแตก ร้องไห้ฟูมฟายถึงขั้นเป็นลมหมดสติ (เพราะ King แทนตัวละครนี้ด้วยภรรยาของเขา จึงค่อนข้างเคารพและให้เกียรติตัวละครนี้อย่างมาก)
– ตอนจบของนิยาย Jack จะสามารถหวนคืนกลับสู่ผู้มีสติ จากการเข้ามาต่อสู้ขัดขวางของ Danny ที่ใช้พลังโทรจิต สามารถขับไล่เอาชนะ Grady ได้สำเร็จ
ฯลฯ

นำแสดงโดย John Joseph Nicholson (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Neptune City, New Jersey แม่ของเขา June Frances Nicholson ตอนนั้นอายุ 18 เป็นสาว Showgirl ไม่ได้แต่งงาน ตัดสินใจเลี้ยงลูกโดยฝากให้กับพ่อ-แม่ของตน โดยไม่รู้ตัว Nicholson เรียกแม่ตัวเองว่าพี่สาว จนกระทั่งเธอเสียชีวิตจึงเพิ่งรู้ความจริง

“a pretty dramatic event, but it wasn’t what I’d call traumatizing…I was pretty well psychologically formed.”

– Jack Nicholson พูดกับนิตยสาร TIME เมื่อปี 1974 เกี่ยวกับความจริงเรื่องแม่ที่เพิ่งค้นพบ

เดินทางสู่ Hollywood เมื่อปี 1954 ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ออฟฟิศที่ MGM Cartoon Studio พวกเขาเสนองานนักวาด Animator แต่ปฏิเสธเพราะต้องการเป็นนักแสดง, มีโอกาสเรียนการแสดงที่ Players Ring Theater ผลงานเรื่องแรก The Cry Baby Killer (1958) ตัวประกอบสมทบใน The Little Shop of Horrors (1960) The Raven (1963), The St. Valentine’s Day Massacre (1967) ฯ เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Trip (1967), Easy Rider (1969) เรื่องหลังได้เข้าชิง Oscar ครั้งแรก และทำให้ Kubrick เลือกมารับบท Napoleon ในหนังที่เขาตั้งใจสร้าง แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกไป

ถึงปัจจุบันเข้าชิง Oscar ทั้งหมด 12 ครั้ง คว้ามา 3 รางวัล โดยเป็น Best Actor 2 ครั้ง จากเรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), As Good as It Gets (1997) และ Best Supporting Actor จาก Terms of Endearment (1983)

รับบท Jack Torrance ในหนังเรื่องนี้เป็นคนหลงตัวเอง พึ่งพาไม่ค่อยได้ เบื้องลึกเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ทุกข์ทรมาน เพราะบางสิ่งอย่างที่เคยทำในอดีตตามมาหลอกหลอน เก็บกดซ่อนเร้นไว้มิดชิด แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ไม่สามารถสกัดกั้นปกปิดมันไว้ได้อีกต่อไป, คนที่ไม่พึงพอใจในชีวิต มักหันหน้าเข้าพึ่งสุรา(และอาจจะนารี) เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง การได้เห็นนิมิต/ภาพจากอดีต/วิญญาณของผีปีศาจ ทำให้เขาถูกปลดปล่อยออกจากกรงขัง คิดตัดสินใจทำในสิ่งที่ไร้สติมโนธรรม จะมองว่าคืออาการ Cabin Fever สภาพกดดันทางจิตใจที่เกิดจากการอยู่โดดเดี่ยวก็ยังได้

คงตั้งแต่ Chinatown (1974) และ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ใครๆจึงเริ่มจดจำภาพลักษณ์ของ Jack Nicholson ว่าเป็นคนจิตไม่ปกติ หัวรุนแรง บ้าคลั่ง อีกทั้งการขยับใบหน้าของพี่แก คิ้ว สายตา รอยยิ้ม เหมือนคนโรคจิตไม่ปาน, ซึ่งหนังเรื่องนี้ แค่ภาพลักษณ์ของ Nicholson ก็ชวนให้ผู้ชมเกิดความหลอนๆสั่นประสาท กอปรเข้ากับการแสดงที่ขับเน้นเค้นอารมณ์ออกมาอย่างต่อเนื่องถึงที่สุด (หนังเน้น Long-Take เป็นอย่างมาก) มันจะยิ่งทำให้ผู้ชมเกือบจะเสียสติบ้าคลั่งตามไปด้วย

เพื่อที่จะสร้างความฉุนเฉียวรุนแรงให้กับนักแสดง ผู้กำกับ Kubrick สั่งแซนวิช อาหารเช้าที่ Nicholson ไม่โปรดปรานเสียเลย ให้กินทุกวี่ทุกวัน … ไม่โกรธคลั่งก็บ้าแล้ว

Shelley Alexis Duvall (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา ไม่ได้เป็นญาติอะไรกับนักแสดง Robert Duvall เกิดที่ Houston, Texas โตขึ้นเข้าเรียนที่ South Texas Junior College สาขา Nutrition and Diet Therapy วันหนึ่งมีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Robert Altman ที่กองถ่าย Brewster McCloud (1970) ยื่นข้อเสนอให้มาเป็นนักแสดง ถือว่าเป็นการจับพลัดจับพลู รู้ตัวอีกทีบินมาอยู่ Hollywood กลายเป็นนักแสดงไปแล้ว

ผลงานที่ร่วมกับผู้กำกับ Robert Altman อาทิ Brewster McCloud (1970), McCabe & Mrs. Miller (1971), Thieves Like Us (1974), Nashville (1975), 3 Women (1977) ซึ่งเรื่องหลังสุดทำให้เธอคว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

รับบท Wendy Torrance หญิงสาวผู้สามารถเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อลูกและสามี (Jack ไม่ยอมทำอะไรทั้งนั้นนอกจากเขียนหนังสือ เป็นเธอทั้งหมดที่ทำอาหาร ตรวจเช็คเครื่องปั่นไฟ สื่อสารกับโลกภายนอก ฯ) แต่ด้วยความที่เป็นคนจิตใจอารมณ์อ่อนไหว อ่อนแอ ทำให้คิดมาก เครียดง่าย (สูบบุหรี่หนัก) คงเพราะอดีตเคยถูกสามีต่อว่าทุบตี กับตนเองคงทนรับไหว แต่เมื่อลงกับลูกนั่นเป็นสิ่งยอมไม่ได้โดยสิ้นเชิง

สไตล์การทำงานของ Kubrick ด้วยความที่เป็นคน Perfectionism มักมีการถ่ายซ้ำๆหลายครั้ง ใช้เวลานาน และมีการเปลี่ยนแปลงบทภาพยนตร์ตลอดเวลา บทสนทนาที่เคยท่องจำไว้ล่วงหน้ากลับไม่ได้ใช้ นี่ยิ่งสร้างความฉุนเฉียวให้กับนักแสดงอย่างมาก กับ Nicholson ก็แค่ประชดประชัน แต่กับ Duvall เธอมีอาการเครียด ซึมเศร้า หนักมาก เพราะบางวันต้องร้องไห้อย่างเดียวกว่า 10 ชั่วโมง แต่กลับถูกนักวิจารณ์ส่วนใหญ่มองว่า เป็นความน่าขยะแขยงรับไม่ได้ ฝืนธรรมชาติเกินไป

ส่วนตัวผมกลับประทับใจความทุ่มเทมากๆของ Duvall แค่เพียงภาพลักษณ์ตาลึกโบ๋ของเธอ มันก็ดูหลอนสุดๆ ยิ่งเมื่อร้องไห้ฟูมฟายตาแดงกล่ำ ยิ่งเหมือนคนบ้าคลั่งเสียสติ ถึงภายในจะไม่ลึกล้ำระดับเท่า Nicholson แต่ก็การแสดงออกภายนอกถือว่าไม่ยิ่งหย่อนเลยละ

Danny Lloyd (เกิดปี 1973) นักแสดงเด็กวัย 6 ขวบ ที่ได้รับคัดเลือกจากกว่า 5,000 คน เพราะการที่มีสมาธิและความอดทนสูง โดยไม่รู้ว่าตัวเองด้วยซ้ำว่ากำลังเล่นหนัง Horror คิดว่าเป็นแนวดราม่าเกี่ยวกับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง จนกระทั่งโตถึงวัยจึงจะมีโอกาสรับชมหนังที่ตนเองรับบทจริงๆ, หลังจาก The Shining รับบทในภาพยนตร์โทรทัศน์ Will: G. Gordon Liddy (1982) แล้วรีไทร์ออกจากวงการไปเลย ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนชีววิทยาอยู่ที่ Elizabethtown, Kentucky

Danny Torrance เด็กชายผู้เฉลียวฉลาด และมีความสามารถพิเศษทางจิต (มีคำเรียกว่า The Shining) สื่อสารมองเห็นวิญญาณ/ผี รับรู้นิมิต สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต, ในหนังมักพบเห็นขับรถเล่นวนไปรอบๆล็อบบี้โรงแรม จนมาหยุดหน้าห้อง 237 ก็ไม่ได้คิดตั้งใจจะเข้าไป แต่เพราะประตูเปิดออก และความอยากรู้อยากเห็น ได้เผลอปลดปล่อยวิญญาณความชั่วร้ายที่สิงสถิตย์อยู่ออกมา

เด็กชายมีเพื่อนในจินตนาการชื่อ Tony แต่เหมือนว่าเขาจะเป็นวิญญาณหนึ่งที่เข้ามาสิงสถิตอยู่ในร่างของ Danny มากกว่า ทำให้กลายเป็นคนสองบุคลิก นี่สะท้อนกับพ่อ Jack ที่ก็เหมือนจะมี 2 ตัวตนเช่นกัน, ซึ่งช่วงท้ายพวกเขาทั้งสองต้องวิ่งไล่ล่าตามฆ่า เหตุผลเพราะทนรับกันต่อไปไม่ได้แล้ว ขณะที่เด็กชายสามารถหาทางออกจากเขาวงกตด้วยการสวมรอยย้อนกลับ แต่พ่อกลับติดกับอยู่ในนั้นไม่สามารถหาทางออกได้

ถ่ายภาพโดย John Alcott ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ที่ร่วมงานกับ Kubrick ตั้งแต่เป็นคนจัดแสงใน 2001: A Space Odyssey (1968) จนได้เครดิตถ่ายภาพกับ A Clockwork Orange (1971), Barry Lyndon (1975), หนังใช้เวลาการถ่ายทำอยู่เกือบปี เพราะความต้องการสมบูรณ์แบบในทุกช็อตของ Kubrick ทรมานทั้งนักแสดง ตากล้อง ตลอดถึงทีมงานทุกคน บางคนสาบานว่าชาตินี้จะไม่ขอร่วมงานกับ Kubrick อีกต่อไป

ช่วงแรกของหนังเป็นการถ่ายภาพทางอากาศ (Aerial Shots) บริเวณ Saint Mary Lake, Wild Goose Island ใน Glacier National Park, Montana เนื่องจากมีการบันทึกภาพไว้ปริมาณมาก หนังเรื่อง Blade Runner (1982) ของผู้กำกับ Ridley Scott จึงขอฟุตเทจนำไปใส่ลงในหนัง

The Timberline Lodge ตั้งอยู่บนเทือกเขา Mount Hood, Oregon ใช้ถ่ายทำภายนอกของ Overlook Hotel ส่วนภายในเป็นการสร้างฉากในสตูดิโอ EMI Elstree Studios ที่เมือง Borehamwood, Hertfordshire, ประเทศอังกฤษ โดยได้แรงบันดาลใจจาก Ahwahnee Hotel, Yosemite National Park, California

The Shining เป็นหนังเรื่องแรกๆที่มีการใช้ Steadicam ทำให้ตากล้องสามารถเคลื่อนไหว เดินตาม บันทึกภาพ Tracking Shot ตามติดตัวละครได้โดยไม่ต้องพึ่งรางเลื่อน Dolly หรือเครนอีกต่อไป (กล้อง Steadicam ช่วยทำให้การถ่ายภาพมีความสะดวกขึ้นมากทีเดียว)

ใครเคยรับชม Last Year at Marienbad (1961) คงจดจำลีลาการถ่ายภาพภายในที่ให้ความรู้สึกลื่นไหล ล่องลอย หนังเรื่องนี้ก็คล้ายๆกัน ตามติดการเดินของตัวละครจากห้องสู่ห้อง โถงสู่ทางเดิน และไถลตามรถเด็กเล่นของ Danny (ล้อกับหนังเรื่อง The Omen) ก่อนจะหยุดหันมาทำหน้าพิศวงหน้าห้อง 237

หนังยังมีการเล่น Sound Effect เสียงล้อรถเด็กเล่นของ Danny ขณะที่วิ่งผ่านพื้นพรมเสียงจะเบาลง ผ่านพื้นไม้เสียงจะดัง สลับกับไปมาอยู่สองสามรอบ นี่ย่อมมีนัยยะแฝงถึงอะไรบางอย่างแน่นอน

ฉากที่ Jack ใช้ขวานทุบประตูห้องน้ำ ทีแรกทีมงานใช้ประตูไม้อัดธรรมดา แต่เพราะ Nicholson เป็นอดีตอาสาสมัครนักดับเพลิง มีพละกำลังแรงมหาศาลทุบพังในไม่กี่วินาที จนทำให้ต้องสร้างประตูใหม่ที่แข็งแกร่งทนทานกว่าเดิม ประมาณ 60 บาน, ส่วนประโยค “Heeeere’s Johnny!” เป็นคำที่เลียนแบบมาจากพิธีกร Ed McMahon ในรายการ The Tonight Show Starring Johnny Carson (Kubrick เป็นคนอังกฤษเลยไม่รู้ว่า Nicholson เลียนแบบจาก McMahon แต่ก็มารู้ภายหลัง) ผมลองค้นดูใน Youtube พบเจอคลิป Intro นี้ด้วย

เกร็ด: ฉากเอาขวานจามประตู มีหนังเงียบ 2 เรื่องที่มีฉากคล้ายๆกันนี้คือ Broken Blossoms (1919) และ The Phantom Carriage (1921)

ช็อตพิศวงหนึ่งของหนัง เชื่อว่าสร้างความสับสนมึนงงให้กับผู้ชมส่วนใหญ่เป็นแน่, ในนิยายคือชุดหมา แต่หนังเหมือนจะเป็นชุดหมี ส่วนผู้ชายที่เห็นหน้ากำลังถูก Blowjob อยู่นั้นคือ Horace Derwent เจ้าของ Overlook Hotel คนแรก โดยในคืนงานเลี้ยงวันเปิดกิจการโรงแรม เขาต้องการให้เพื่อนๆ(ที่เป็นเกย์) แต่งตัว Cosplay เป็นสุนัขแล้วนัดมา Make Love พบกันที่ห้องนอนส่วนตัว, สิ่งที่ Wendy เห็นในฉากนี้ จะมองว่าคือภาพหลอน/นิมิต/หลงย้อนสู่อดีต ก็ยังได้

สำหรับผู้ชมทั่วไปที่ไม่เคยอ่านนิยาย ปฏิกิริยาแรกต่อช็อตนี้ย่อมต้องงงเป็นไก่ตาแตก ตามด้วยช็อคสั่นสะท้านหัวใจ ทั้งๆก็ไม่รู้หรอกว่าคืออะไร แค่เพียงความรู้สึกก็ถือว่าสำฤทธิ์ผลในความตั้งใจของผู้กำกับแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนชุดหมาเป็นชุดหมี ก็มิได้สร้างความแตกต่างอะไรแม้แต่น้อย (สงสัยคงหาชุดหมาไม่ได้ เลยให้ใส่ชุดหมี)

ความน่าพิศวงของเขาวงกต ไม่ใช่แค่ที่อยู่ด้านนอกโรงแรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงห้องโถงทางเดินภายในโรงแรม Outlook Hotel ที่มีขนาดใหญ่โต เวียนวนชวนให้สับสนหลงทางได้ง่าย (สังเกตพรมที่พื้น ก็มีลักษณะเป็น pattern คล้ายกับเขาวงกตเช่นกัน)

ช็อตนี้คงเป็นการถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ แล้วใช้การซูมเข้า (มองแบบนี้คล้ายกับโลโก้ Syscopy บริษัทสร้างหนังของ Christopher Nolan เลยนะครับ)

และสำหรับช็อตสุดท้ายของหนัง เป็นการซูมเข้าที่รูปภาพใบหนึ่ง เขียนว่า Overlook Hotel, July 4th Ball 1924 คือวันเปิดกิจการของโรงแรมแห่งนี้ และภาพวัยหนุ่ม บุคคลหน้าเหมือน Jack เป็นอย่ายิ่ง, จุดนี้ตีความได้คือ ชายในรูปชื่อ Grady ผู้เป็นคนฆ่าลูกสาวทั้งสองและภรรยา กลับมาเกิดชาตินี้กลายเป็น Jack Torrance

ตัดต่อโดย Ray Lovejoy จากเคยเป็นผู้ช่วยนักตัดต่อ Anthony Harvey เรื่อง Dr. Strangelove (1964) ได้เครดิตฉายเดี่ยวเรื่องแรก 2001: A Space Odyssey (1968) ผลงานเด่นอื่น อาทิ Aliens (1986), Batman (1989) ฯ อดีต/ปัจจุบัน ความจริง/ความเพ้อฝัน นิมิต/ความทรงจำ เป็นสิ่งที่ผสมผสานคลุกคละเคล้ากันอยู่ในหนัง ต้องใช้การสังเกตเล็กน้อยก็จะสามารถแยกออกระหว่างในหัวของตัวละครกับภาพความจริง

หนังใช้การแบ่งแยกเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วนๆ แล้วมีข้อความขึ้นคั่นประกอบด้วย
Part 1 : The Interview และ Closing Day
Part 2 : A Month Later, Tuesday, Thursday, Saturday, Monday, Wednesday
Part 3 : 8 am, 4pm

นัยยะการนำเสนอแบบนี้ เป็นการค่อยๆทำให้ระยะเวลาสั้นลง กระชั้นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงแรกอาจมีความห่างเป็นเดือนหรือระดับปียังได้ พอช่วงสองนับหน่วยเป็นวัน และช่วงสุดท้ายเหลือเพียงระดับชั่วโมง ซึ่งระยะห่างนี้สะท้อนความสัมพันธ์/จิตวิทยา/ความรู้สึกของตัวละคร จากห่างไกลไม่คิดอะไรมาก พอเวลาผ่านไปกับการอยู่คนเดียวมันจะเริ่มเชื่อช้าเนิ่นนาน จิตใจร้อนลุ่มกระวนกระวาย 1 นาทีในชีวิตจริง อาจยาวนานเท่ากับ 1 ชั่วโมงในจิตใจของพวกเขา

นิมิตของ Danny มี 2 ช็อตที่ชอบแทรกใส่เข้ามาบ่อยๆ
– เด็กหญิงสาวฝาแฝดสองคนจับมือกัน เห็นแล้วหลอนๆไงชอบกล พวกเธอคือฝาแฝดกันจริงๆนะครับ
– ภาพหน้าลิฟท์ ที่อยู่ดีๆก็มีน้ำสีแดง/เลือด ทะลักเข้ามา, ฉากนี้วิเคราะห์ได้หลายอย่างมาก อาทิ Holocaust, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, การตายของชนพื้นเมืองอเมริกา/อินเดียแดง/คนผิวสี ในช่วงสร้างประเทศอเมริกา, ความอัปลักษณ์ชั่วร้ายในใจของมนุษย์ ที่ดั่งทะเลเลือดไหลคลั่ง ฯ

ฉากที่ Wendy พบกับสิ่งที่ Jack พิมพ์ เห็นว่าในฉบับต่างประเทศจะมีการเปลี่ยนภาษาและข้อความแตกต่างกันไป เพื่อให้สอดคล้องกับสำนวนนี้
– ฉบับภาษาอังกฤษ: All work and no play makes Jack a dull boy.
– ฉบับภาษาเยอรมัน: Was du heute kannst besorgen, das verschiebe nicht auf morgen แปลว่า Never put off till tomorrow what may be done today.
– ฉบับภาษาอิตาเลี่ยน: Il mattino ha l’oro in bocca แปลว่า The morning has gold in its mouth.
– ภาษาฝรั่งเศส: Un «Tiens» vaut mieux que deux «Tu l’auras»  แปลว่า A ‘Hold this’ is better than two ‘You will have it’.
– ฉบับภาษาสเปน: No por mucho madrugar amanece más temprano แปลว่า No matter how early you get up, you can’t make the sun rise any sooner.
– ไม่มีฉบับภาษาไทยนะครับ แต่สำนวนใกล้เคียงที่สุด ‘หนักไม่เอา เบาไม่สู้’, ‘ขี้เกียจสันหลังยาว’

เกร็ด: จุดเริ่มต้นของสำนวน/สุภาษิตนี้ พบเจอหลักฐานเก่าแก่สุดในหนังสือรวมสุภาษิต Proverbs in English, Italian, French and Spanish (1659) ของ James Howell มาจากประโยคเต็มว่า

“All work and no play makes Jack a dull boy,
All play and no work makes Jack a mere toy.”

ฉากจบเดิมของหนัง ฉายในรอบปฐมทัศน์และสัปดาห์แรก ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง Wendy นอนป่วยอยู่บนเตียงพูดคุยกับ Mr. Ullman เจ้าของโรงแรมคนปัจจุบัน ที่เล่าให้ฟังว่าหาร่างของ Jack ไม่พบ และมอบลูกเทนนิสให้กับ Danny, Epilogue นี่ยิ่งสร้างความฉงนสับสนให้ผู้ชมอย่างยิ่ง เพราะมันหมายความว่า Jack อาจยังไม่ตาย หรือเกิดอะไรบางอย่างขึ้นกับร่างที่อยู่ในเขาวงกต, น่าเสียดายที่ฟุตเทจนั้น จนถึงปัจจุบันไม่ได้ถูกนำมาทำเป็นไฟล์ดิจิตอล ไม่รู้เพราะสูญหายไปแล้วหรือเปล่า

สำหรับเพลงประกอบ เป็นอีกครั้งที่ Kubrick ใช้การเลือกบทเพลงคลาสสิกมีชื่อ แบบเดียวกับที่ทำใน 2001: A Space Odyssey (1968) แต่คราวนี้เขาไม่ได้เลือกเอง โยนงานให้กับ Gordon Stainforth ผู้เป็น Music Editor เป็นผู้ตัดสินใจเลือก

Lontano (1967) ประพันธ์โดย György Ligeti สัญชาติฮังกาเรียน (Kubrick เคยนำเพลงของ Ligeti มาใช้ใน 2001: A Space Odyssey) บรรเลงโดย Ernest Bour ร่วมกับ Southwest German Radio Symphony Orchestra, เสียงวีดๆ แสบแก้วหู ทำให้เกิดสัมผัสที่เป็นอันตรายรอบทิศ ทำนองดนตรีทำให้จิตใจหวิวๆ ปั่นป่วนอลม่าน ลุกรี้ลุกรนนั่งไม่ติด ราวกับมีบางสิ่งอย่างลึกลับกำลังคืบคลานเข้ามา

Music for Strings, Percussion and Celesta (1936) ประพันธ์โดย Béla Bartók ชาวฮังกาเรียน บรรเลงโดย Herbert von Karajan ร่วมกับ Berlin Philharmonic Orchestra, การได้วาทยากร Karajan มาโบกไม้บาตอนกำกับเพลงนี้ สร้างสัมผัสที่กระชากอารมณ์ ความพิศวงสงสัย ปั่นป่วนเลือดพร่าน อะไรๆก็เกิดขึ้นได้, นี่เป็นฉากที่ Danny ปั่นรถเด็กเล่นวนไปรอบๆโรงแรมด้วยความเมามัน พลันให้เกิดความพิศวงในห้อง 237

Polymorphia (1961), De Natura Sonoris No. 1 (1966), De Natura Sonoris No. 2 (1971), Utrenja (1970), The Awakening of Jacob (1974) ประพันธ์โดย Krzysztof Penderecki คีตกวีสัญชาติ Polish บรรเลงโดย Andrzej Markowski ร่วมกับ Warsaw National Philharmonic Orchestra, เหมือนว่าการเลือกใช้บทเพลงของ Penderecki จะได้อิทธิพลจาก The Exorcist (1973) ล้วนๆเลยนะครับ

ผมเลือก Polymorphia ทำนองที่เหมือนจะมั่วทั่วเละเทะ แต่กลับมีระเบียบแบบแผน สร้างความสับสนอลม่าน พลุกพล่านวุ่นวายให้กับผู้ฟัง สะท้อนอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน และความบ้าคลั่งระดับเสียสติ

สังเกตว่าบทเพลงที่ใช้ส่วนใหญ่มักอยู่ยุคหลังทศวรรษ 50s ขึ้นไป ถือเป็นแนว Modernist Art-Music ไม่ได้ตรงกับยุคสมัยที่เป็นพื้นหลังของหนัง (ยุค 20s กับประมาณยุค 40s) เสียเท่าไหร่ เพราะกระแสความนิยมของหนังแนว Horror เพิ่งจะเริ่มมาฮิตกันที่ทศวรรษนี้ บทเพลงคลาสสิกในยุคก่อนหน้าจึงยังหาความบ้าคลั่งพิศดารเท่ากับบทเพลงนับตั้งแต่ยุคสมัยนี้

ส่วนเพลงประกอบที่แต่งเพิ่ม อาทิ Main Theme ประพันธ์โดย Wendy Carlos และ Rachel Elkind เห็นว่าทั้งคู่ทำงานอย่างหนัก เขียนขึ้นใหม่หลายสิบเพลงแต่ส่วนใหญ่แทบไม่ได้ใช้ เพราะฉากที่แต่งประกอบเพลงนั้นๆ มักถูก Kubrick ตัดออกไปจนเหลือไม่กี่เพลงเท่านั้น ทำให้ Carlos ปฏิญาณว่า ชาตินี้จะไม่ขอร่วมงานกับเขาอีก

Main Theme สร้างบรรยากาศให้เกิดสัมผัสของความลึกลับพิศวง ขนลุกขนพอง ราวกับจิตวิญญาณชั่วร้ายกำลังร่ายมนต์คาถา ชักจูงให้คนดีหลงเดินทางเข้าสู่กับดักมาร ราวกับแมงมุมชักใยหลอกให้แมงแมลงบินเข้ามาติดหยากใหย้ แค่เสียงทูบ้าอย่างเดียว ก็หลอนลึกเข้าไปถึงขั้วหัวใจแล้ว

เปรียบโรงแรม Overlook Hotel แห่งนี้เสมือนโลกใบหนึ่ง/ประเทศอเมริกา มีผู้นำปกครองคือพ่อ Jack, ผู้บริการจัดการ ทำให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปได้คือแม่ Wendy, ส่วนลูก Danny คือประชาชนผู้ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใดๆ ต้องทำตามสั่งทั้งพ่อและแม่โดยมิอาจขัดขืน

ความลึกล้ำของ The Shining คือการที่ Kubrick แทรกใส่พื้นหลังประวัติศาสตร์ของโรงแรม/ประเทศแห่งนี้ ด้วยวิธีการนำเสนอแทนที่จะเป็น Flashback ภาพย้อนอดีต แต่ให้ผู้ชมเกิดความคิดเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่านิมิต หรือจินตภาพของตัวละคร (นิมิตในสายตาของ Danny, ส่วน Jack เหมือนว่าจะมีทั้งที่จินตนาการขึ้นเอง และถูกวิญญาณในอดีตสร้างภาพหลอนขึ้นในหัว) หลายครั้งเหมือนว่าตัวละครทั้ง 3 เป็นผู้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ในอดีต นี่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ถ้าเรามองว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นปัจจุบัน คล้ายกับการกลับชาติมาเกิด สิ่งใดที่เขาเคยทำ มาชาตินี้ย่อมหวนคืนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมได้

ต้นกำเนิดของโรงแรมนี้ อธิบายโดยย่อจากคำบอกเล่าต้นเรื่องของ Stuart Ullman เจ้าของคนปัจจุบัน ว่าสร้างขึ้นจากการขับไล่ที่เข่นฆ่าชาวพื้นเมืองอินเดียแดง (นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Danny เห็นนิมิตเป็นทะเลเลือดไหลทะลักมาจากประตูลิฟท์) ชื่อโรงแรม Overlook ก็แปลว่ามองข้ามไม่ได้สนใจ นี่เป็นการพยายามกลบเกลื่อนปกปิดประวัติศาสตร์ความชั่วร้ายของชาติตัวเองในอดีต (ที่มาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์/Holocaust)

ใครสนอยากอ่านบทความวิเคราะห์หนังเรื่องนี้โดยละเอียด ในประเด็นอินเดียแดง/ประวัติศาสตร์อเมริกา และ White Man’s burden คลิกโลด LINK: http://oknation.nationtv.tv/blog/betweentheframes/2008/11/06/entry-1

ซึ่งเรื่องราวของหนังในอีก 2 ระดับ (อดีตและปัจจุบัน) ก็เกี่ยวกับการฆ่าล้างครอบครัว ภรรยาและลูก,
– ในอดีตชายที่ชื่อ Grady ได้เข่นฆ่าลูกเมียสำเร็จ เสร็จแล้วฆ่าตัวตายตาม นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนต้องการลืม พยายามไม่พูดถึงถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
– กับเรื่องราว ณ ปัจจุบัน ชายชื่อ Jack ก็เช่นกัน ได้รับอิทธิพลป้อยอจากวิญญาณร้าย Grady มีความคิดตั้งใจที่จะฆ่าล้างครอบครัวตนเอง แต่มันกลับมีปัจจัยบางสิ่งอย่างไม่คาดฝันเกิดขึ้น

Shining แปลว่า ส่องแสง เรืองรอง ระยิบระยับ มันคือความสามารถสื่อสาร รับรู้ มองเห็น โทรจิต ในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ (เร็วกว่าความเร็วแสง) มันจึงเป็นประกายที่สวยงามน่าหลงใหล ซึ่งการที่ Danny สามารถเรียนรู้อดีต ทำให้เขาเข้าใจ และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอาตัวรอด ไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

Jack ผู้เป็นตัวละครแห่งความบ้าคลั่ง ว่าไปก็น่าสงสารนะครับ เพราะเขายังคงว่ายเวียนวนอยู่ในวิถีชีวิต แนวคิดกรอบรูปแบบเดิมๆ ไม่สามารถเอาชนะ ก้าวผ่าน หลุดพ้นออกสู่การเป็นคนที่ดีกว่า เอาชนะใจตัวเอง ไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ขณะที่ Danny ถือว่าเป็นวีรบุรุษเลยละ บุคคลที่กล้าย่ำย้อนรอยเท้าของตัวเอง ไม่แสดงความหวาดหวั่นกลัวต่ออดีตความชั่วร้ายที่ผ่านมา, สำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต นี่เป็นคำแนะนำของหนัง บอกว่าเราควรก้าวถอยหลังออกมาก่อนที่จะเริ่มเดินหน้าต่อ เพื่อให้เห็นร่องรอยเท้าที่เดินผิดพลาด ถึงจะสามารถค้นหาเส้นทางใหม่ได้โดยไม่ซ้ำรอยเดิม

ด้วยทุนสร้าง $19 ล้านเหรียญ ทำเงินเฉพาะในอเมริกา $44.4 ล้านเหรียญ น่าจะพอทำกำไรได้บ้าง

Stephen King ด้วยความไม่พึงพอใจภาพยนตร์เรื่องนี้ พยายามสร้าง The Shining ขึ้นอีกฉบับ เป็น mini-Series ความยาว 3 ตอน กำกับโดย Mick Garris เมื่อปี 1997 นี่เป็นฉบับที่ดัดแปลงตรงต่อนิยายโดยแท้ (King ทำการดัดแปลงบทหนังเองเลย) เสียงตอบรับถือว่าใช้ได้ เข้าชิง Emmy Award หลายสาขา รวมทั้ง Outstanding Miniseries (แต่ไม่ได้รางวัล) แต่ความนิยมมีหรือจะสู้ฉบับภาพยนตร์นี้ได้

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ในความลึกลับซับซ้อน สัมผัสบรรยากาศที่ทั้งหลอกหลอน น่าสะพรึงกลัว และความบ้าคลั่งของ Stanley Kubrick ที่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเขามีอิทธิพลเหนือทุกสิ่งอย่างในโลกภาพยนตร์, การที่เขาได้รับคำชมพูดถึงมากสุดก็ถือว่าสมควรเป็นอย่างยิ่ง นิยายเรื่องนี้ไม่ว่าตกอยู่ในมือใคร ก็ไม่มีวันเทียบชั้น วิสัยทัศน์ ระดับของปราจารย์ผู้กำกับคนนี้ เรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน

กาลเวลาผ่านไปผู้คนจดจำหนังเรื่องนี้ว่า Jack Nicholson รับบทตัวละครที่เสียสติแตก แต่ผู้กำกับ Stanley Kubrick คือผู้บ้าคลั่งไร้สติสมประดี

แนะนำกับคอหนัง Horror แนวหลอนๆสะพรึง สะท้อนจิตวิทยาของมนุษย์ ผสมผสานเรื่องเหนือธรรมชาติ, ชื่นชอบนิยายของ Stephen King, แฟนๆผู้กำกับ Stanley Kubrick นักแสดง Jack Nicholson และ Shelley Duvall ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะจิตแพทย์ นักจิตวิทยา วิเคราะห์สภาพปัญหาจิตใจของตัวละคร เกิดอะไรขึ้น มีที่มาที่ไปเช่นไร

จัดเรต 18+ กับความบ้าคลั่งรุนแรงเสียสติ

TAGLINE | “The Shining คือความเสียสติแตกของ Jack Nicholson แต่ผู้กำกับ Stanley Kubrick ถือว่าบ้าคลั่งไร้สติสมประดี”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: