The Shop Around the Corner

The Shop Around the Corner (1940) hollywood : Ernst Lubitsch ♥♥♥♥

Margaret Sullavan กับ James Stewart เป็นพนักงานร้านขายของที่ระลึก (Gift Shop) ไม่ค่อยถูกขี้หน้ากันสักเท่าไหร่ แต่เบื้องหลังพวกเขาเป็น Penfriend (เพื่อนทางจดหมาย) ราวกับเจ้าชาย-เจ้าหญิงในฝัน ยังไม่เคยพบเจอหน้า ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึงจากคู่กัดจะกลายเป็นคู่รักหรือไม่ต้องไปลุ้นกัน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่เหมาะกับช่วงคริสต์มาสขึ้นปีใหม่อย่างยิ่ง ไม่เพียงพื้นหลังดำเนินเรื่องในช่วงเทศกาลวันหยุด แต่ยังมีใจความสำคัญสอนคนคือ ‘การรู้หน้าไม่รู้ใจ’ คนที่เรารู้จักแต่เพียงภายนอกผิวเผิน ไม่แน่ว่าแท้จริงตัวตนภายในของเขาอาจเป็นมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม มิได้ตรงกับที่คาดคิดจินตนาการไว้

The Shop Around the Corner เป็นชื่อหนังที่มีสองนัยยะความหมาย
– ความหมายตรงๆคือ ร้านค้าแห่งหนึ่งตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนน
– อีกนัยยะหนึ่งมันจะคล้ายๆสำนวน ‘เส้นผมบังภูเขา’ ร้านค้าตั้งอยู่แค่หัวมุมเลยโค้งไปหน่อยแต่กลับมองข้ามไม่เห็น ตรงกับใจความสำคัญของหนังคือ ชายหนุ่มหญิงสาวรู้จักพบเจออยู่ใกล้ชิด แต่กลับไม่เคยมองเข้าไปเห็นภายในจิตใจของกันและกัน

Ernst Lubitsch (1892 – 1947) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin, German Empire เชื้อสาย Ashkenazi Jewish พ่อเป็นช่างตัดเสื้อ (Tailor) ได้รับการคาดหวังให้สานต่องาน แต่ทอดทิ้งครอบครัวแล้วเข้าสู่วงการละครเวที เป็นสมาชิกของ Deutsches Theater เริ่มจากเป็นนักแสดง ไม่นานผันตัวไปทำงานด้านหลัง กำกับภาพยนตร์ยุคหนังเงียบอยู่หลายเรื่องจนได้เดินทางสู่ Hollywood โดยคำชักชวนของ Mary Pickford และสามารถเอาตัวรอดในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดได้ไม่ยากนัก, ผลงานเด่นๆ อาทิ Rosita (1923) [แจ้งเกิดที่ Hollywood], The Patriot (1928), The Love Parade (1929), Trouble in Paradise (1932), Ninotchka (1939), The Shop Around the Corner (1940), To Be or Not to Be (1942), Heaven Can Wait (1943) ฯ เข้าชิง Oscar สามครั้งไม่เคยได้รางวัล ภายหลังรับมอบ Honorary Award เมื่อปี 1947 ก่อนเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือน

สไตล์ของ Lubitsch มีคำเรียกว่า ‘the Lubitsch touch’ ดำเนินเรื่องใน Lubitschland ไม่ใช่ในยุโรปหรืออเมริกา แต่คือสถานที่อุปมาอุปไมยในจินตนาการของผู้กำกับ ผู้คนเต็มไปด้วยรอยยิ้ม มีมิตรไมตรี พึ่งพากันและกันได้ ยึดมั่นในกรอบระเบียบ วิถีความเชื่อ พูดคุยกันแบบเร็วๆรัวๆ มีจังหวะชีวิตแตกต่างจากโลกปกติทั่วไปอย่างมาก

สำหรับ The Shop Around the Corner ดัดแปลงจากบทละครเรื่อง Parfumerie หรือ Illatszertár (1937) เขียนโดย Miklós László (1903 – 1973) สัญชาติ Hungarian ซึ่งมีการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 3 เรื่อง
– The Shop Around the Corner (1940)
– In the Good Old Summertime (1949) กำกับโดย Robert Z. Leonard นำแสดงโดย Judy Garland, Van Johnson
– You’ve Got Mail (1998) กำกับโดย Nora Ephron นำแสดงโดย Tom Hanks, Meg Ryan

ความสนใจในเรื่องราวนี้ของ Lubitsch เพราะตัวเขาเองเคยทำงานเป็นเด็็กส่งของ Errand Boy ในร้านของพ่อตนเอง พบเห็นว่าลูกจ้างแต่ละคนมักก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเอง ไม่ค่อยสนใจผู้อื่น เพราะความหวาดกลัวที่จะทำยอดขายไม่ได้ถูกไล่ออกจากงาน นำมาสร้างเป็นหนังคงมีความน่าขบขันไม่น้อยทีเดียว

“I have known just such a little shop in Budapest…The feeling between the boss and those who work for him is pretty much the same the world over, it seems to me. Everyone is afraid of losing his job and everyone knows how little human worries can affect his job. If the boss has a touch of dyspepsia, better be careful not to step on his toes; when things have gone well with him, the whole staff reflects his good humor.”

และความตั้งใจของเขาต่อหนังเล็กๆเรื่องนี้ หวังว่าผู้ชมจะพบเจอ ‘มนต์เสน่ห์’ ความน่าหลงใหล ที่สวยงามจับใจ,

“It’s not a big picture, just a quiet little story that seemed to have some charm. It didn’t cost very much, for such a cast, under $500,000. It was made in twenty-eight days. I hope it has some charm.”

โดยไม่รู้ตัว Lubitsch เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า นี่คือภาพยนตร์ที่ตัวเขาชื่นชอบ ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ‘the best picture I ever made in my life.’

เรื่องราวมีพื้นหลัง Budapest, Hungary ณ ร้านขายของที่ระลึก Matuschek and Company เจ้าของคือ  Mr. Hugo Matuschek (รับบทโดย Frank Morgan) มีลูกจ้างประกอบด้วย
– Alfred Kralik (รับบทโดย James Stewart) เซลล์แมนมากประสบการณ์ ทำงานมาหลายปีจนสามารถคิดเข้าใจ Mr. Matuschek แทบทุกสิ่งอย่าง ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจคาดหวังให้กลายเป็นผู้จัดการ แต่มีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นทำให้เขาอาจพลาดโอกาสนั้น
– Klara Novak (รับบทโดย Margaret Sullavan) หญิงสาวหน้าใหม่ที่กำลังหางานทำ ใช้คำพูดลีลาหลอกล่อ Mr. Matuschek ให้รับเข้าทำงาน แต่กลับไม่เป็นที่ชอบพอกับ Alfred นัก ทั้งสองมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่บ่อยครั้ง
– Pirovitch (รับบทโดย Felix Bressart) เพื่อนสนิทของ Alfred ที่คอยให้ความช่วยเหลือพร้อมคำแนะนำดีๆอยู่เสมอ แต่ถ้าพูดเสนออะไรต่อหน้า Mr. Matuschek มักถูกปฏิเสธโดยทันที
– Ferencz Vadas (รับบทโดย Joseph Schildkraut) หนุ่มหน้าหล่อ มาดเนี๊ยบ พูดจาดูดีมีชาติตระกูล แต่แท้จริงแล้วจิตใจกับชั่วช้าสามานย์ กลับกลอกปลิ้นปล้อน เสือผู้หญิง ทำทองไม่รู้ร้อนทั้งๆที่เป็นคนทำให้…
– Pepi Katona (รับบทโดย William Tracy) เด็กส่งของ Errand Boy ถึงอายุจะยังน้อย ไร้ซึ่งประสบการณ์ แต่มีความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ครั้งหนึ่งเมื่อได้ช่วยชีวิต Mr. Matuschek ก็ขอเลื่อนขั้นเป็นเสมียน (Clerk) เติบโตแบบก้าวกระโดดทีเดียว
ฯลฯ

James Maitland Stewart (1908 – 1997) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania พ่อเป็นเจ้าของร้าน Hardware Store คาดหวังให้เขาสืบต่อกิจการ ส่วนแม่เป็นนักเปียโน ทำให้ Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Princeton University โดดเด่นในวิชาสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องบินจนได้ทุนการศึกษา แต่กลับสนใจชมรมการแสดง สนิทสนามรู้จักกับ Henry Fonda, Margaret Sullavan กลายเป็นนักแสดง Broadways แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็ได้มีแมวมองของ MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938) ของผู้กำกับ Frank Capra, พลุแตกกับ Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Shop Around the Corner (1940), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The Philadelphia Story (1940) ฯ

รับบท Alfred Kralik ความเฉลียวฉลาดรอบรู้ เก่งเกินตัว ทำให้มองอีกมุมหนึ่งเหมือนเป็นคนเย่อหยิ่งทะนงตน เห็นแก่ตัว ไม่สนหัวอกจิตใจผู้อื่น แต่การได้พบเจอพูดคุยกับเพื่อนทางจดหมาย และรู้จักตัวตนแท้จริงของผู้ส่ง ทำให้เกิดความตระหนักเข้าใจ นี่ฉันมองข้ามสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตไปหรือเปล่า

คงเพราะมีพ่อเป็นเจ้าของกิจการ Hardware Store ทำให้ Jimmy รับบทนี้มีความเข้าใจแบบทะลุปรุโปร่งในธุรกิจ เทคนิคลีลาการขายคงทำให้เซลล์แมนสมัยนี้หลายคนยังอาย แม้จะเป็นในโลกของ Lubitschland ก็ไม่ทำให้เขาสูญเสียอัตลักษณ์ความโดดเด่นเป็นตัวของตนเองไปแม้แต่น้อย เรียกว่าเติมเต็มเข้ากันได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว น่าเสียดายเป็นครั้งแรกครั้งเดียวของทั้งสองที่ร่วมงานกัน

Margaret Brooke Sullavan (1909 – 1960) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Norfolk, Virginia พ่อเป็น Stockbroker ฐานะค่อนข้างร่ำรวยทีเดียว ตอนเด็กป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบ เดินไม่ได้จนอายุ 6 ขวบ พอเริ่มวิ่งเล่นก็ไร้เพื่อนถูกกีดกันจากฐานะร่ำรวย โตขึ้นเข้าเรียนเต้นที่ Boston Denishawn ทำงานเป็นเสมียนที่ Harvard Cooperative Bookstore ตามด้วยนักร้องคอรัสที่ Harvard Dramatic Society ตามด้วยมีผลงาน Broadway แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Only Yesterday (1933) โด่งดังจากการประกบ James Stewart ในภาพยนตร์ 4 เรื่อง Next Time We Love (1936), The Shopworn Angel (1968), The Mortal Storm (1940), The Shop Around the Corner (1940), เข้าชิง Oscar: Best Actress จากเรื่อง Three Comrades (1938)

รับบท Klara Novak หญิงสาวที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝันหวาน ตกหลุมรักเจ้าชายหนุ่มในจดหมาย แต่ชีวิตจริงกลับไม่ค่อยสวยงามนัก ชอบพูดจาดูถูกถากถาง วาจาร้ายกาจคมคาย มองคนในแง่ร้ายยิ่งนัก,

Klara เป็นหญิงสาวที่ไม่สามารถแบ่งแยกระหว่างความจริงกับเพ้อฝันออกจากกันได้ นั่นทำให้ครั้งแรกของการนัดพบ เมื่อพลาดนัดพบเจอความผิดหวังจึงเกิดอาการเศร้าเสียใจ แสดงทุกข์ทรมานออกมาทางร่างกาย กินไม่ได้นอนไม่หลับทำงานไม่ได้ แต่ความกระชุ่มกระชวยก็กลับคืนมาอีกครั้งเมื่อได้รับจดหมายฉบับต่อไป

การแสดงของ Sullavan มีความคมคายมากๆ ผมประทับใจคำพูดและสายตาอันจิกกัดของเธอ โดยเฉพาะในฉากร้านกาแฟ ขณะนั้นผู้ชมจะรับรู้แล้วว่าทั้งสองคือใครต่อกัน (บางคนคงคาดเดาได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง) เว้นเพียงหญิงสาวที่ยังคงมืดแปดด้าน คำพูดของเธอร้ายกาจแทงใจดำพระเอกอย่างยิ่ง แล้วพอถึงวินาทีช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ตอนรับรู้ความจริง ร่างกายสั่นเทิ้ม สีหน้าตกใจบอกไม่ถูก มันคือความอึ้งทึ่งประหลาดใจ ‘ฉันพูดแย่ๆแบบนั้นไป แล้วนายยังคงให้อภัย’ ถึงจุดนั้นเป็นใครก็คงรักตายเลยละ

Sullavan เป็นนักแสดงที่ขึ้นชื่อเรื่องอารมณ์ขึ้นๆลงๆ มีความหยิ่งยโสโอหังแรงกล้า ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากร่วมงานด้วยเท่าไหร่ แต่สำหรับ Jimmy ที่ร่วมงานกับเธอมากสุดถึง 4 ครั้ง กลับบอกว่าเป็นความสนุก พึงพอใจ ‘great joy’ ที่ได้ร่วมงานกัน นั่นเพราะเขาเข้าใจตัวตนนิสัยแท้จริงของเธอ … แบบหนังเรื่องนี้เลยนะเนี่ย!

ถ่ายภาพโดย William H. Daniels ตากล้องส่วนตัวของ Greta Garbo ขาประจำของผู้กำกับ Erich von Stroheim ผลงานเด่น อาทิ Foolish Wives (1922), Greed (1924), Anna Christie (1930), Mata Hari (1931), Ninotchka (1939), Cat on a Hot Tin Roof (1958), How the West Was Won (1962) ฯ คว้า Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง The Naked City (1948)

หนังทั้งเรื่อง สร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ MGM ที่ Culver City, California ไม่ได้เดินทางไปยังประเทศ Hungary ตามพื้นหลังของหนังนะครับ

แทบทั้งเรื่องเป็นการถ่าย Medium Shot ตั้งแต่ครึ่งตัวขึ้นไป (ไม่ค่อยมองเห็นถึงรองเท้าสักเท่าไหร่) เวลาตัวละครพูดคุยสนทนากัน มักมีทิศทางการเอียงตัวเป็นองศาเข้าหากล้องที่ต่างออกไป
– ถ้าเป็นการสนทนาที่ต้องเผชิญหน้าระหว่างสองคนอย่างรุนแรง มักที่จะหันหน้าเข้าหาประจันกันตรงๆ ยืนตั้งฉาก 90 องศากับทิศทางของกล้อง
– ฝั่งหนึ่งตั้งใจพูดบอกให้คำแนะนำ แต่อีกฝั่งหนึ่งทำหูทวนลมไม่สนใจ คนแรกจะยืนตั้งฉาก 90 องศา อีกคนจะหันหน้าเข้าหากล้อง
– การพูดคุยสนทนาเรื่อยเปื่อยไร้สาระ มักจะหันหน้าตรงๆ หรือไม่ก็เอียง 30-60 องศาเข้าหากล้อง

นี่น่าจะคือจุดเด่นของ ‘หนัง Lubitsch’ เลยนะ โดดเด่นในไดเรคชั่นกำกับการเคลื่อนไหว ทิศทาง มุมมองของนักแสดงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

(นี่ชวนให้ผมระลึกถึง Ingmar Bergman ที่ก็โดดเด่นในการกำกับทิศทางการเคลื่อนไหว ทิศทาง ตำแหน่งของนักแสดง แต่รายนั้นยิ่งใหญ่กว่าตรงที่ ชอบเอาใบหน้าตัวละครมาซ้อนทับ เน้นภาพระดับ Close-Up มากกว่า)

ตัดต่อโดย Gene Ruggiero ถูกไล่ออกจากการเป็นแคดดี้ ได้งานเป็นนักตัดต่อของสตูดิโอ MGM แต่ไม่ชอบงานใหม่สักเท่าไหร่ โดดงานไปตีกอล์ฟเลยถูกลดตำแหน่งกลายเป็นผู้ช่วย แต่หลังจากความสำเร็จของ Ninotchka (1939) ก็ไม่มีใครกล้าต่อว่าอะไรเขาอีก ผลงานเด่น อาทิ The Shop Around the Corner (1940), Oklahoma! (1955), คว้า Oscar: Best Edited เรื่อง Around the World in 80 Days (1956)

หนังทั้งเรื่อง นับดูแล้วมีเหตุการณ์ประมาณ 3-4 วันเท่านั้น แต่มิได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน
– แนะนำสมาชิกร้าน วันมาสมัครงานของ Klara Novak
– ประมาณหกเดือนผ่านไป วันที่สองหนุ่มสาว Penfriend จะพบเจอกันครั้งแรก แต่กลับถูกขอให้จัดหน้าร้าน และมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้น
– Alfred Kralik กลับเข้าทำงานเป็นผู้จัดการคนใหม่
– สุดท้ายวัน Christmas Eve

การดำเนินเรื่องจะมีลักษณะ เริ่มต้นสร้างเป้าหมายให้กับตัวละคร เช่นว่า คืนนี้มีนัดเดท แต่กลับทำให้เขาและเธอต้องพบเจอกับอุปสรรคที่คอยกีดกั้นขวางทาง ต่างพยายามดิ้นรนหาวิธีเอาตัวรอด จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาค่อยปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระ ตบท้ายด้วยการนำเสนอเรื่องราวของเป้าหมายนั้นเป็นอันจบสิ้นฉาก

จะถือว่าหนังไม่มีเพลงประกอบก็ยังได้ นอกจาก Opening/Ending Credit ประพันธ์โดย Werner R. Heymann สัญชาติ German ก็เพียง Ochi Chernye (แปลว่า Dark Eyes) บทเพลงพื้นบ้านรัสเซีย (Traditional Russian) ได้ยินจากเสียงกล่องซิการ์ และในร้านกาแฟ

ผมนั่งฟังเพลงนี้ไปเรื่อยๆระหว่างเขียนบทความนี้ มีฉบับหนึ่งชวนให้ขนลุกขนพองมากๆ เป็นเสียงขับร้องของ Ivan Rebroff (1931 – 2008) นักร้องโอเปร่าสัญชาติ German นำมาให้ฝากไว้ฟังกัน

The Shop Around the Corner คือเรื่องราวของความเข้าใจผิด มองคนอื่นที่รูปลักษณ์ภายนอกผิวเผิน ขณะที่ตัวจริงนั้นกลับแตกต่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่เห็น
– Klara Novak กับ Alfred Kralik ขณะทำงานที่ร้านขายของที่ระลึก พบเจอก็เกลียดขี้หน้ากัดกัน แต่พอเป็น Penfriend กลับหลงใหลคลั่งไคล้ปานจะกลืนกิน
– Mr. Matuschek มีความเข้าใจผิดคิดว่า Alfred Kralik คบชู้กับภรรยาตัวเอง แท้จริงแล้วกลับคือ … ที่ภายนอกดูดีมีชาติตระกูลอย่างยิ่ง
– เช่นกันกับเข้า Cigarette Box ภายนอกดูดี เปิดมามีเพลงคลาสสิกไพเราะจับใจ แต่เวลาใช้จริงกลับตรงกันข้าม คนสูบบุหรี่ที่ไหนจะซื้อมาเพื่อนทนฟังบทเพลงนี้ซ้ำๆซากๆจำเจ

ใจความของหนังมีเท่านี้เองนะครับ ที่เหลือคือความบันเทิง ตลกขบขัน สะท้อนเสียดสีพฤติกรรม นิสัยของผู้คนในโลกทุนนิยม ต่างเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่ค่อยที่จะให้ความช่วยเหลือ พูดคุย พึ่งพากันและกัน

ชะตากรรมของ Mr. Matuschek ในค่ำคืนวัน Christmas Eve เพราะความที่เคยเป็นคนเข้มงวดกวดขัน จริงจังกับชีวิตการงานเกินไป เมื่อภรรยาที่เคยรักยิ่งนอกใจไปกับชู้รักแล้ว มองไปรอบๆก็แทบไม่หลงเหลือใคร ยืนรออยู่หน้าร้านของตนเอง จะมีไหมใครสักคนช่วยให้ฉันผ่านค่ำคืนวันที่แสนอ้างว้างนี้ไปได้ แล้วก็พบเจอกับ Rudy เด็กใหม่ที่เพิ่งมาทำงานแสวงโชคห่างไกลครอบครัว เอาว่ะก็ยังดีจะได้ไม่ต้องอยู่คนเดียว อย่างน้อยชีวิตก็ยังไม่จบสิ้นหวังลงไป

สาระอีกอย่างของหนัง เสนอแนะนำให้ผู้ชมรู้จักปล่อยวางจากความ’มาก’เกินไปของชีวิต ก็ดูอย่าง Mr. Matuschek ทั้งคิดมาก หวาดระแวง พอจับได้ว่าภรรยามีชู้ก็เครียดหนักคิดฆ่าตัวตาย โชคดีจริงๆได้รับการช่วยเหลือไว้ได้ทัน เมื่อเริ่มสงบสติอารมณ์ลงได้จึงเริ่มเข้าใจอะไรๆ คลายความยึดติดของตัวเองลงสักที ชีวิตต่อจากนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ได้ว่าย่อมต้องดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

นักวิจารณ์ค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากทีเดียว แต่เพราะออกฉายผิดช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปี ทำให้หลุดกระแสล่ารางวัลปลายปีไปโดยปริยาย

ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ในความขบขันที่เกิดจากมุมมองสะท้อนสังคม การแสดงของ James Stewart กับ Margaret Sullavan คู่กัดที่เข้าขากันดี และใจความเกี่ยวกับ ‘รู้หน้าไม่รู้ใจ’ นำเสนออกมาได้อย่างมีมนต์เสน่ห์คลาสสิก

แนะนำกับคอหนังคลาสสิก โรแมนติก คอเมอดี้, เรื่องราวแฝงข้อคิดน่าสนใจ, แฟนๆผู้กำกับ Ernst Lubitsch และนักแสดง James Stewart, Margaret Sullavan ไม่ควรพลาด

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทั้งครอบครัวพร้อมหน้า

TAGLINE | “The Shop Around the Corner ร้านของผู้กำกับ Ernst Lubitsch ถึงจะหลบซ่อนอยู่ตรงหัวมุม แต่ James Stewart กับ Margaret Sullavan กลับไม่เคยเดินเข้าร้านผิด”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: