The Silence of the Lambs (1991) : Jonathan Demme ♥♥♥♥
หญิงสาวตัวเล็กๆ Clarice Starling (รับบทโดย Jodie Foster) ท่ามกลางฝูงหมาป่าล่าเนื้อที่หิวกระหาย ได้พบจ่าฝูงผู้กินเนื้อมนุษย์ Hannibal Lecter (รับบทโดย Anthony Hopkins) แต่แทนที่จะกลายเป็นอาหารรสโอชา กลับได้รับความเอ็นดูทะนุถนอมช่วยเหลือแนะนำปกปักษ์ เพื่อไม่ให้ชายอื่นใดที่ไม่ควรค่าได้ครอบครองเธอ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เราสามารถเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า Clarice Starling คือลูกแกะน้อยตัวหนึ่ง ที่ห้อมล้อมด้วยฝูงหมาป่า เหล่าผู้ชายที่จับจ้องมองด้วยสายตาหิวกระหาย มีประมาณ 2-3 ครั้งที่มีคนพูดชักชวนเธอ ไปหาอะไรกิน/เดทกันไหม (ดูสภาพแล้ว ไม่มีใครต้องการแค่กินข้าวแน่ๆ), ในห้องชันสูตรศพ มีนายตำรวจประมาณ 10-20 คน ยืนยัดอัดแน่นอยู่เต็มห้อง ล้อมรอบหญิงสาวตัวเล็กๆคนเดียว, ผมเป็นผู้ชายที่พอรับชมหนังเรื่องนี้แล้วยังรู้สึกหวาดหวั่นกลัวแทนลูกแกะน้อย (ยิ่งกว่ากลัว Hannibal Lecter เสียอีก) ให้ตายเถอะ! ทำไมโลกมันถึงได้น่ากลัวขนาดนี้
แต่ท่ามกลางดงดินแดนอันตรายนั้น มีเจ้าป่าจ่าฝูงหมาล่าเนื้อ ผู้ได้รับฉายาว่ามนุษย์กินคน (Cannibal) บุคคลที่ใครๆในโลกหล้ามองว่าคือตัวอันตรายสัตว์ประหลาด เมื่อได้พบกับลูกแกะน้อยตนนี้ กลับเกิดความรักเอ็นดูทะนุถนอม ส่งเสริมช่วยเหลือแนะนำให้หญิงสาวสามารถเอาตัวรอดจากอันตราย ยืนขึ้นโดดเด่นเป็นประจักษ์ ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมกันของโลก
เกร็ด: ภาษาอังกฤษ lamb มีความหมายทั้ง ลูกแกะ, เนื้อแกะ, คนไร้เดียงสา, หนูน้อย
ผมรับชม The Silence of the Lambs น่าจะไม่ต่ำกว่า 10 รอบแล้วกระมัง มีหลายคำถามที่โคตรค้างคาใจและไม่เคยค้นพบคำตอบจากหนังเรื่องนี้ Hannibal Lecter คือใคร? ทำไมถึงติดคุก กลายมาเป็นแบบนี้?
เบื้องต้นที่หนังเล่ามา Doctor Lecter เป็นจิตแพทย์อัจฉริยะ ชื่นชอบการกินเนื้อมนุษย์ สำเร็จความใคร่จากการเห็นผู้อื่นทุกข์ทรมาน ฯ แต่ก็เท่านั้นแหละครับ หนังไม่มีการเกริ่นเท้าความใดๆมากนัก ราวกับเป็นบุคคล Idol ยกไว้ในการสมควร, ความพิศวงเหล่านี้จำเป็นต้องหาภาคต่อของหนังมารับชม ถึงจะพอเข้าใจอะไรบางอย่างได้ แต่ก็อาจไม่ทั้งหมดอยู่ดี
– Manhunter (1986) กำกับโดย Michael Mann นำแสดงโดย Brian Cox รับบท Hannibal Lecktor
– Hannibal (2001) กำกับโดย Ridley Scott เปลี่ยนนักแสดงนำหญิงจาก Jodie Foster เป็น Julianne Moore
– Red Dragon (2002) กำกับโดย Brett Ratner สมทบด้วย Edward Norton และ Ralph Fiennes
– Hannibal Rising (2007) จุดเริ่มต้นก่อนกลายมาเป็น Hannibal Lecter กำกับโดย Peter Webber นำแสดงโดย Gaspard Ulliel รับบท Lecter วัยหนุ่ม
ไว้ถ้ามีโอกาสผมอาจจะเขียนเรื่องอื่นให้ด้วยนะครับ
หยิบหนังเรื่องนี้มารับชม ในวันที่ผู้กำกับ Jonathan Demme เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 26 เมษายน 2017 (สิริอายุ 73 ปี) ทำให้ผมได้เห็นวิสัยทัศน์ ความคิด ความเฉลียวฉลาดของผู้กำกับในการเล่าเรื่อง ท้าทายที่จะเสี่ยง กล้าเปิดเผยสิ่งลึกลับ ความต้องการด้านมืดของจิตใจมนุษย์ บุคคลที่เหนือกว่า Hannibal Lecter ก็ Jonathan Demme นี่แหละ
ดัดแปลงจากนิยาย The Silence of the Lambs เขียนโดย Thomas Harris ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1988 ถือเป็นเล่มที่ 2 ต่อจาก Red Dragon (1981) จากนั้นตามด้วย Hannibal (1999) และปิดท้าย Hannibal Rising (2006), จตุภาคมีเรื่องราววนเวียนอยู่กับตัวละครชื่อ Dr. Hannibal Lecter ฆาตกรต่อเนื่องที่กินเนื้อมนุษย์ (cannibalistic serial killer) โดยแต่ละเล่มจะมีพล็อตหลัก ตัวละครนำที่ต่างกันไป
Thomas Harris เกิดที่ Jackson, Tennessee เติบโตที่ Rich, Mississippi ชื่นชอบการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เรียนจบ Baylor University ที่ Waco, Texas สาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ เคยทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ Waco Tribune-Herald ต่อมาย้ายไป New York เริ่มเขียนนิยายเล่มแรก Black Sunday เมื่อปี 1974 ได้ตีพิมพ์ปี 1975, Harris ตั้งแต่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จก็ไม่เคยออกสื่อให้สัมภาษณ์อีกเลย มีเพื่อนนักเขียนหลายคนที่พูดถึงเขา บอกว่านายคนนี้ชอบทำอาหารมาก (ถึงขนาดสอบ Le Cordon Bleu ผ่าน) [ด้วยเหตุนี้สินะ Lecter จึงมีรสนิยมการกินเลิศหรูมาก]
“He’s one of the good guys. He is big, bearded and wonderfully jovial. If you met him, you would think he was a choirmaster. He loves cooking—he’s done the Le Cordon Bleu exams—and it’s great fun to sit with him in the kitchen while he prepares a meal and see that he’s as happy as a clam. He has these old-fashioned manners, a courtliness you associate with the South.”
The Silence of the Lambs ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง ของศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยา มหาวิทยาลัย Washington ชื่อ Robert Keppel กับฆาตกรต่อเนื่อง Ted Bundy, ซึ่ง Bundy ได้ช่วย Keppel ในการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง Green River ที่ Washington DC แต่เนื่องจากไล่ล่าจับฆาตกรไม่สำเร็จ Bundy ถูกประหารชีวิตก่อนเมื่อเดือนมกราคม 1989 ส่วนคดีที่สืบสวนปิดได้เมื่อปี 2001
Red Dragon เป็นนิยายจากจตุภาค Hannibal Lecter เรื่องแรกที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ใช้ชื่อ Manhunter (1986) กำกับโดย Michael Mann ตอนออกฉายได้คำวิจารณ์กลางๆ ทำเงินไม่ได้ขาดทุนย่อยยับ ถูกบ่นเรื่องความ stylish ที่โดดเด่นมากเกินไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลายเป็นอิทธิพลต่อซีรีย์ดังอย่าง CSI, The X-Files ฯ หนังจึงค่อยๆได้รับเสียงตอบรับกระแส Cult ดีขึ้นเรื่อยๆ
คงเพราะความล้มเหลวไม่ทำเงินของ Manhunter (1986) ทำให้ทีมงาน โปรดิวเซอร์ นักแสดงชุดเก่า ไม่มีใครกลับมาสานงานทำภาคต่อ, เป็น Orion Pictures ร่วมกับ Gene Hackman ได้ติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงนิยายตัดหน้าทันทีเมื่อรู้ว่าผู้สร้างเดิมไม่คิดทำต่อ เห็นว่า Hackman ตั้งใจกำกับและนำแสดงเองด้วย ติดต่อมอบหมายให้ Ted Tally ดัดแปลงเขียนบทภาพยนตร์, เห็นว่า Tally กับ Harris เป็นเพื่อนรู้จักกันมานาน ขนาดว่าผู้แต่งส่งนิยายให้อ่านก่อนจะวางแผงขายเสียอีก
ประมาณครึ่งทางระหว่างพัฒนาบทที่ Hackman ถอนตัวออกไป เพราะเห็นคลิปของตัวเองจากหนังเรื่อง Mississippi Burning (1988) ในงานประกาศรางวัล Oscar ปีนั้น ทำให้เกิดความหวาดหวั่นใจ เริ่มไม่อยากรับบทตัวละครที่ใช้ความรุนแรงสักเท่าไหร่ (แต่พี่แกก็เล่น Unforgiven อีกหลายปีถัดมา) ทำให้ Orion ต้องสรรหาผู้กำกับคนใหม่ ก่อนจะได้ Jonathan Demme ที่เซ็นสัญญาหลังจากอ่านนิยายจบทันที
นักแสดงคนแรกที่อยู่ในความสนใจของผู้กำกับ บท Dr. Hannibal Lecter คือ Sean Connery ที่ก็ปฏิเสธทันควัน นักแสดงอื่น อาทิ Derek Jacobi, Daniel Day-Lewis ก่อนตัดสินใจเลือก Anthony Hopkins จากผลงานการแสดงเรื่อง The Elephant Man (1980)
Sir Philip Anthony Hopkins (เกิดปี 1937) สัญชาติ Welsh เป็นนักแสดงภาพยนตร์/โทรทัศน์/ละครเวที เรียนจบจาก Royal Welsh College of Music & Drama เมื่อปี 1957 ได้ฝึกงานที่โรงละคร Royal Academy of Dramatic Art in London ถูกค้นพบโดย Laurence Olivier ชักชวนให้เข้าร่วม Royal National Theatre แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Lion in Winter (1968) รับบทเป็น Richard the Lionheart
ได้รับการยกย่องว่าคือ หนึ่งในสุดยอดนักแสดงที่ยังมีชีวิตอยู่ กับบทบาทที่ทำให้ได้ Oscar: Best Actor ก็คือ Hannibal Lecter เรื่องนี้แหละ, ผลงานภาพยนตร์อื่นที่ดังๆ อาทิ The Mask of Zorro (1998), Meet Joe Black (1998), The Elephant Man (1980), Thor (2011) รับบท Odin ฯ
เทคนิคของ Hopkins ที่ใช้ในการแสดง จะมีการซักซ้อมบทพูดให้บ่อยมากครั้งที่สุด (เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า สูงสุดน่าจะเกิน 200 รอบ) จนกว่าประโยคจะมีความลื่นไหลออกจากปากอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับไม่ได้ครุ่นคิดอะไร ‘do it without thinking’
เปรียบเทียบใกล้เคียงที่สุดกับตัวละคร Dr. Hannibal Lecter คือ HAL หุ่นปัญญาประดิษฐ์ในหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ที่มีความซับซ้อน เฉลียวฉลาด ตรรกะลึกล้ำ สงบนิ่ง และเหมือนจะรอบรู้ทุกสิ่งอย่าง,
ภาพลักษณ์ภายนอกของ Lecter ยืนสงบนิ่ง มือแนบข้างลำดัวไม่ไหวติง ศีรษะก้มต่ำเล็กน้อย ดวงตาจ้องมองไม่เคยเห็นกระพริบ การพูดกดเสียงต่ำลุ่มลึก ไม่มีพูดเพ้อเจ้อ ทุกคำตรงไปตรงมา, แค่ภายนอกของตัวละครนี้ ก็ทำให้ใครๆเกิดความหลอนหวาดกลัว เพราะไม่มีมนุษย์ทั่วไปที่ไหนสามารถ’นิ่ง’ ได้ขนาดนี้ ทุกคำพูดสายตาราวกับมองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในของคู่สนทนา ราวกับกำลังโป๊เปลือยกาย คนที่เต็มไปด้วยลับลมคมในจะรู้สึกอับอายรับไม่ได้ แต่ถ้าไม่ก็คงไม่มีอะไรให้ต้องเกรงกลัว
สำหรับผม ความน่าสนใจของตัวละครนี้คือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ/ความคิดของตัวละคร เป้าหมายของเขาคืออะไร? ทำไมถึงให้ความสนใจ Clarice Starling เธอต่างจากคนอื่นอย่างไร? สังเกตว่าเวลา Lecter ฟังเรื่องเล่าของ Starling จะเบือนหน้าหนี ไม่หันมองจ้องหน้าตรงๆ ทั้งๆที่สนทนาปกติจะมองตาไม่กระพริบ นี่เหมือนเป็นความส่วนตัวที่ไม่อยากให้เธอรับรู้มองเห็นเข้าใจเหตุผลที่ตนสนใจเรื่องพรรค์นี้, กับฉากที่ผมชอบที่สุดของหนัง ขณะ Lecter รับรู้ตัวตนของ Starling ทั้งหมด ‘เมื่อใดที่แกะในฝันของเธอหยุดส่งเสียงร้อง บอกให้ฉันรับรู้ด้วย’ สังเกตว่าวินาทีต่อจากนี้เหมือน Lecter สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเรียบร้อย
ปัญหาในจิตใจของตัวละครนี้ ผมคิดว่าเกิดจากความเบื่อหน่ายในพฤติกรรมอันเลวทรามของมนุษย์, คุ้นๆว่าในจตุภาคหนัง Lecter แทบไม่เคยเจอคนดีแท้สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ต้องมีความชั่ว คอรัปชั่นบางอย่างในจิตใจ ผู้ชมจะรู้สึกสะใจเมื่อได้เห็นการกระทำตอบโต้ ด้วยวิธีไม่มีใครคาดคิดมาก่อน, คือถ้าเป็นคนดีแท้อย่าง Starling จะเห็นว่า Lecter ไม่พยายามแตะต้องทำอะไรเธอเลยนะครับ ถือเป็นอุดมการณ์ความตั้งใจที่สูงส่งมาก ใครดีมาข้าดีตอบ ใครชั่วมาข้าชั่วตอบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
ผมเปรียบ Hannibal Lecter ว่าคือ Superhero ผู้ปกป้องธรรมะ ขจัดอธรรม (แค่ด้วยวิธีที่คนดีไม่ทำกัน)
สิ่งที่ท่านเซอร์ Hopkins ได้สร้างขึ้นนี้ ดูแล้วยืนยงคงกระพันเป็นอมตะตลอดกาลอย่างแน่นอน ไม่น่าจะมีใครสามารถสร้างฮีโร่สัตว์ประหลาดจากความสุดโต่งของมนุษย์ได้ถึงระดับนี้อีกแล้ว
ความน่ารักบริสุทธิ์ของ Clarice Starling รับบทโดย Jodie Foster … เดี๋ยวนะ ตอนเธอรับเล่นหนังเรื่องนี้ อายุก็เกือบจะ 30 แล้ว แต่ยังดูเด็กวัยรุ่นมากๆ… เจ้าหน้าที่ฝึกหัด FBI ที่ยังไม่รู้ประสีประสา อ่อนประสบการณ์ ไม่เคยพบเจอความชั่วร้ายทั้งหลายเกิดขึ้นบนโลก ราวกับผ้าขาวที่ไม่มีรอยเปื้อนใดๆ สัมผัสจับต้องเจือปนมาก่อน
Alicia Christian ‘Jodie’ Foster (เกิดปี 1962) นักแสดงสองรางวัล Oscar: Best Actress จากหนังเรื่อง The Accused (1988) กับ The Silence of the Lambs (1991) เริ่มเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 3 ขวบ มีผลงานทั้งภาพยนตร์, รายการโทรทัศน์, ซิทคอม ฯ มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Taxi Driver (1976) ของผู้กำกับ Martin Scorsese, ผลงานเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ อาทิ Contact (1997), Anna and the King (1999), Panic Room (2003), The Brave One (2007) ฯ ช่วงหลังๆไม่ค่อยเห็นมีผลงานการแสดงเท่าไหร่ เพราะเธอเลือกรับงานมากขึ้น และผันตัวเองไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ (แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่
ฉากเปิดเรื่อง Starling วิ่งออกกำลังกายยามเช้าขึ้นภูเขา เปรียบได้กับชีวิตที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนตะเกียกตะกาย เพื่อเป้าหมายที่ยังไปไม่ถึง นั่นคือเป็นเจ้าหน้าที่ FBI การถูกเรียกตัวขัดจังหวะ มองได้เหมือนทางลัด โอกาสที่เข้ามาในความทะเยอทะยานของเธอ การได้พบ Hannibal Lecter ทำให้ได้เรียนรู้จักอะไรหลายๆอย่าง คล้ายๆอาจารย์ (Mentor) บางมุมมองได้ดั่งคนรัก (Lover)
ภาพลักษณ์ภายนอกของตัวละคร: ผมรู้สึกว่าเธอตัวเล็กมาก เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ห้อมล้อมเธอ (ทำให้ดูเหมือนเด็กไปเลย) น้ำเสียงสำเนียงดัดพอสมควร ให้รู้ว่าเป็นความพยายามเพื่อกลบเลือนลบเลือนแก้ไขอดีตพื้นหลังของตนเอง, แววตาของเธอสดใส แต่เบื้องลึกมีบางสิ่งอย่างที่หวาดหวั่นกลัววิตกกลัวแอบซ่อนอยู่ ซึ่งนี่เป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้เธอมีภายนอกที่เข้มแข็งแกร่ง ไม่โอนเอนอ่อนผ่อนตัวเองให้กับอะไร
แม้แต่ Hannibal Lecter ใครๆจะมองว่าโหดเหี้ยม ชั่วช้า ร้ายกาจที่สุด ก็มิอาจกล้าเอื้อมแตะต้องสัมผัสผ้าขาวความบริสุทธิ์ใจของ Starling เพราะรู้ว่าถ้าเผลอเพียงแค่ปลายขี้เล็บ ก็อาจทำให้ผ้าผืนนี้โสโครกสกปรกจนดูไม่ได้, วินาทีที่ผู้ต้องหาห้องขังข้างๆ โยนน้ำกามใส่หน้า Starling ทำให้เธอแปดเปื้อนสกปรก Lecter แสดงความเกรี้ยวกราดออกมาครั้งแรกและครั้งเดียวในหนัง นี่เป็นสิ่งที่ให้อภัยยอมไม่ได้ ความบริสุทธิ์นี้ต้องไม่ถูกสัมผัสแปดเปื้อนโดยผู้มิคู่ควร … เกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ยากจะจินตนาการจริงๆ (คือผมโคตรอยากรู้เลยละครับว่า Lecter พูดยังไงให้คนฆ่าตัวตายได้)
การแสดงของ Foster เต็มไปด้วย passion ความทะเยอทะยาน สมบูรณ์แบบด้วยตำหนิความบกพร่องของตัวละคร จนรู้สึกเหมือนจะจับต้องได้, ความหวาดกลัวขณะเผชิญหน้ากับ Buffalo Bill ไม่ได้สั่นสะเทือนแค่ภายนอกทางกายเท่านั้น แต่ยังสั่นระริกรัวไปถึงขั้วของภายในจิตใจ ถ้าเอาชนะตัวเองได้ในครานี้ ก็แทบไม่มีอะไรหลงเหลือให้ต้องหวาดหวั่นกลัวอีกต่อไป
ถ่ายภาพโดย Tak Fujimoto ชาวอเมริกันเกิดที่ San Diego, California แค่มีเชื้อสายพ่อแม่เป็นคนญี่ปุ่น, แม้จะไม่เคยมีผลงานเข้าชิง Oscar แต่ก็มีเรื่องดังๆที่น่าสนใจทีเดียว อาทิ Philadelphia (1993), The Sixth Sense (1999), The Manchurian Candidate (2004) ฯ
งานภาพของหนังโดดเด่นเรื่อง Close-Up เป็นอย่างมาก คงจากสำนวนที่ว่า ‘ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ’ ใบหน้า/สีหน้า ของตัวละคร สามารถแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก บางครั้งความคิดที่อยู่ในจิตใจออกมาได้, ทุกขณะที่ Lecter สนทนากับ Starling สายตาพวกเขาจ้องมองกล้อง เป็นความตั้งใจให้ผู้ชมแทนตัวเองเข้ากับอีกตัวละครคู่สนทนา รับรู้มองเห็น ท้าทายว่าจะเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในของพวกเขาหรือเปล่า
Close-Up Shot โดยเฉพาะถ่ายใบหน้า นักแสดงต้องสุดยอดฝีมือจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะถ่ายทอดแสดงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร ออกมาทางสีหน้าอย่างเดียวได้อย่างไร (ปกตินักแสดงจะมีตัวช่วยเยอะนะครับกับ Medium-Shot, Medium-Long Shot เช่น การเคลื่อนไหว, ภาษากาย, ภาษามีอ ฯ แต่เมื่อเหลือเพียงแค่ใบหน้าของ Close-Up Shot มันจะมีตา หู จมูก ปาก คิ้ว นี่ควบคุมบังคับยากกว่าแขน ขา มือ ไหล่ เป็นไหนๆ
มีหลายฉากที่ล่อแหลมเกินไป เช่น ศพของหญิงสาวที่จมน้ำตาย กล้องจะถ่ายมุมเงยจากด้านข้างของศพแบบหลุดโฟกัสไว้ เห็นใบหน้าของตัวละครที่มองลงมา (คือจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ชมเห็นร่างศพของหญิงสาวตรงๆ ซึ่งคงรับกันไม่ได้วิ่งไปอ๊วกแน่), หรือครั้งหนึ่งตอน Buffalo Bill เต้นเปลือยโชว์ หนังใช้ Extreme Close-Up ในตำแหน่งที่ล่อแหลมมาก หัวนม สะดือ … แต่ที่อึ้งสุดก็ตอนแต๊บสาว เห็นขนแพรมๆ ผู้กำกับกล้ามากๆที่ใส่ช็อตนี้เข้ามา ผมคิดว่าต้องมีคนสงสัยแน่ว่าหมอนี่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
ตัดต่อโดย Craig McKay ขาประจำของผู้กำกับ มีผลงานอย่าง Reds (1981), Philadelphia (1993), The Manchurian Candidate (2004) ฯ
หนังใช้มุมมองของ Starling เล่าเรื่องเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งมีการตัดภาพย้อนอดีต (Flashback) ใส่เข้ามา [ว่ากันตามตรง เห็นแค่นั้นดูไม่จำเป็นสักเท่าไหร่] แต่จะมีครั้งหนึ่งที่หนังใช้มุมมองของ Lecter ขณะที่เขาหนีออกจากห้องขัง (แต่นั่นก็กล้องก็ไม่ได้ตาม Lecter นะครับ เป็นกลุ่ม FBI ที่ปฏิบัติการตามล่ามากกว่า)
ไฮไลท์อยู่ช่วงท้าย เป็นการตัดสลับสองสถานที่ไปพร้อมๆกัน อย่างเนียนมากว่า หนึ่งคือบ้านปลอม กับอีกหนึ่งคือบ้านจริง หลอกให้ผู้ชมสับสนลุ้นระทึกลังเลสงสัย ใครกันจะเป็นผู้พบ Buffalo Bill แต่เชื่อว่าหลายคนคงเดาได้อยู่แล้ว
การเข้าไปในบ้านของ Buffalo Bill ทำให้ผมหวนนึกถึงซีรีย์ True Detective SS1 ตอนที่พระเอก ตัวละครของ Matthew McConaughey ค้นพบและรับรู้ว่า นี่แหละสถานที่ที่ตนค้นหา รังของฆาตกรโรคจิต, ตอนเห็นภาพผีเสื้อที่แขวนอยู่ มันชวนขนลุกขนพองอย่างยิ่ง วินาทีที่เธอรู้ตัวก็ดันทุลักทุเล ตื่นตระหนก อกสั่นขวัญหาย ทำให้ผู้ชมลุ้นระทึกไปด้วย ว่าเธอจะเอาตัวรอดได้ไหม พอไฟดับใช้ภาพอินฟราเรด ฉากนี้หลอนยิ่งกว่าหนังผีเสียอีก ต้องใช้สันชาติญาณและโชคเท่านั้นที่จะช่วยเอาตัวรอดได้
วินาทีที่ Buffalo Bill สิ้นใจ กระสุนบังเอิญกระดอนไปถูกหน้าต่าง แสงสว่างสาดส่องลงมาพอดี นั่นคงคือทางออกของความมืดในจิตใจของ Starling สินะ
เพลงประกอบโดย Howard Shore หลอนลุ่มลึก สั่นสะท้าน อกสั่นขวัญหาย, ถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจฟังบอกเลยว่าอาจจะไม่ได้ยินแน่ เพราะบทเพลงมีความกลมกลืน ผสมผสานเข้าไปพร้อมๆกับทุกสิ่งอย่างในหนัง
“I tried to make the music just fit in. When you watch the movie you are not aware of the music. You get your feelings from all elements simultaneously, lighting, cinematography, costumes, acting, music. Jonathan Demme was very specific about the music.”
บทเพลงไม่ได้มีลักษณะลุ้นระทึกแบบที่เคยเป็นกับหนังแนวจิตวิทยาในอดีต อาทิ Psycho (1960) ฯ แต่มีลักษณะคล้าย The Exorcist (1973), The Shining (1980) ที่สร้างบรรยากาศหลอนๆ ทะมึนๆ ค่อยๆสะสมความหวาดหวั่น กลัวสั่นสะท้าน เป็นความรู้สึกที่จะมีไปพร้อมๆกับตัวละคร เห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็จะรับรู้สัมผัสได้ถึงอารมณ์นั้น
ผมติดใจบทเพลง Finale ในฉากสุดท้ายของหนัง เสียงนุ่มๆกริ้งๆของไซโลโฟน ราวกับเป็นเสียงของสัตว์ประหลาด/มวลรวมความชั่วร้าย ที่ได้หลุดออกจากกรงขัง (Pandora Box) ออกสู่โลกกว้าง เราไม่มีทางรับรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่โลกใบนั้นไม่น่าจะอยู่ได้เป็นสุขแน่
เสียงเงียบของลูกแกะเกิดขึ้นได้ 2 เหตุการณ์
1. เมื่อรู้สึกว่าตนเองปลอดภัยจากภยันตราย หรือได้ทำสำเร็จสมในสิ่งที่ตั้งหมาย
2. เมื่อถูกกระทำร้ายจนเสียชีวิต ไม่มีลม เรื่ยวแรงจะส่งเสียงร้องอีกต่อไป
ลูกแกะในเรื่องเล่าย้อนอดีตของ Starling ไม่ได้โชคดีขนาดนั้น โชคชะตาของมันได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรกเกิดแล้ว กระนั้นเสียงกรีดร้องอันโหยหวนได้ตราตรึงฝังใจเด็กหญิง ที่พอโตขึ้นเรื่องราวลักษณะเดียวกันได้หวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่คราวเธอกลับกลายเปรียบเสมือนเป็นลูกแกะเสียเองที่ต้องออกวิ่งหนีจากภยันตราย แต่มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือ อุดมการณ์ความตั้งใจ ‘ฉันจะไม่มีวันส่งเสียงร้องนั้นออกมา’ ไม่ว่าจะหวาดกลัวแค่ไหนก็ต้องอดกลั้นฝืนทนผ่านมันไปให้ได้ เพื่ออดีตที่หนวกหูน่ารำคาญ มันจะได้สงบจบสิ้นลงเสียที
The Silence of the Lambs เป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนแปรสภาพ, เริ่มต้นจากไม่รู้ ค่อยๆทำความเข้าใจ ยอมรับเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นสิ่งๆนั้น –> เปรียบกับวงจรชีวิตผีเสื้อ เริ่มต้นจากเป็นไข่ กลายเป็นหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย –> เปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่เด็ก เติบโตวัยรุ่น เด็กฝึกงาน และกลายเป็นผู้ใหญ่ –> สำหรับคนไข้จิตเวท/ฆาตกรโรคจิต ล้วนมีปมบางอย่างเกิดขึ้นในอดีต เกิดความไม่แน่ใจในชีวิต ลองผิดลองถูกค้นพบตัวเอง จนเชี่ยวชำนาญรู้เทคนิควิธีการ
เกร็ด: ภาพหลังผีเสื้อในโปสเตอร์ ไม่ใช่ลวดลายของ Death’s-Head Hawk Moth จริงๆนะครับ แต่เป็นภาพวาดของ Salvador Dalí ชื่อ In Voluptas Mors มีลักษณะหัวกระโหลกมนุษย์ ที่สร้างขึ้นจากผู้หญิงเปลือย 7 คน
เกร็ด2: การเอาผีเสื้อปิดปากหญิงสาวในโปสเตอร์ มีนัยยะถึงชื่อหนังตรงๆเลย คือไม่ให้พูด เงียบเสียง (Silence) ของหญิงสาว (=ลูกแกะ, Lambs)
มองในมุมของตัวละคร
– Clarice Starling จากเด็กหญิงไร้เดียงสา กลายเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกหัด FBI เรียนรู้เติบโตเข้าใจ จนในที่สุดได้งานสมความตั้งใจ
– Buffalo Bill ความผิดปกติเกิดขึ้นสะสมในจิตใจ เรียนรู้ยอมรับเข้าใจตนเอง ทดลองผิดลองถูกกับเหยื่อรายแรกๆ เชี่ยวชำนาญเต็มไปประสบกาณ์
มนุษย์ทุกคนต้องการเป็นอิสระเสรีในโลกใบนี้ มีปีกบินได้เหมือนดั่งผีเสื้อ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นต้องเติบโต เรียนรู้ สะสมประสบการณ์ กระทั่งเมื่อเติบใหญ่ถึงได้โตเต็มไป พร้อมที่จะออกเป็นไท โบยบินสู่โลกกว้าง
ในมุมของ Hannibal Lecter สิ่งน่าสนใจที่สุดของมนุษย์ คือ การได้เรียนรู้จัก ทำความเข้าใจตัวตนของผู้อื่น อะไรคือจุดเริ่มต้น ความตั้งใจ เป้าหมาย อดีตคือสิ่งสร้างสะสมต่อเนื่องให้กลายเป็นคนในวันนี้ เมื่อได้เรียนรู้เข้าใจบุคคลผู้นั้นทุกสิ่งอย่าง ก็เหมือนการได้เข้าถึงโลก สัจธรรมของชีวิตมนุษย์
การกระทำของ Lecter ในมุมของเขาไม่มีความถูกผิด อย่างการฆ่าคน/กินเนื้อคน มันคือการกระทำ ไม่มีกฎของจักรวาลข้อไหนระบุบังคับไว้ว่าเป็นสิ่งถูกผิด มีเพียงจิตใจมนุษย์ที่เป็นผู้ตัดสิน อะไรดี อะไรถูก อะไรทำได้ มันเลยไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตระหนกกับทุกการกระทำของเขา เพราะมันมีแค่ ทำกับไม่ทำ ไม่ใช่ถูกกับผิด หรือควรไม่ควร
ตรรกะของ Lecter ไม่ถือว่าผิดเสียทีเดียว ความคิดของเขาเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ คล้ายๆกับพระเจ้า ผู้ไม่รับรู้สนใจอะไรกับโลกหรอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกผิด ควรไม่ควรในมุมมองความคิดของผู้อื่น สำหรับพระองค์มีแค่ทำกับไม่ทำ เกิดขึ้นไม่เกิดขึ้นก็เท่านั้น … แล้วกับ Starling ทำไมถึงได้เกิดข้อยกเว้น? นี่ก็คล้ายๆกับบุตรของพระเจ้า ผู้มาไถ่ ฯ ที่สามารถพูดคุยสื่อสาร ทำความเข้าใจ (ก็ไม่เชิงเข้าใจทุกอย่างสิ่งหรอก ต้องใช้การครุ่นคิดตีความถึงเข้าใจ) เป็นผู้มีความบริสุทธิ์กายใจ เหนือสิ่งอื่นใดคือรับรู้มองเห็นแล้วว่าเป็นคนจริงดีแท้ แบบนี้พระเจ้า Lecter ก็มิอาจแตะต้องลงโทษทัณฑ์ประการใดได้ จึงคอยปกปักษ์ป้องแนะนำช่วยเหลือ สัมผัสเบาๆเท่าที่ตนจะสามารถทำให้ได้
นี่เพ้อไปไกลแล้วสินะ แต่เดี๋ยวก่อนชื่อหนัง The Silence of the Lambs เสียงเงียบของแกะน้อย, มนุษย์/ผู้บริสุทธิ์, พระเจ้า นี่มีนัยยะแอบแฝงถึงศาสนาอยู่นะเนี่ย … แต่พอดีกว่าขี้เกียจคิดต่อแล้ว
วกกลับมาตอนจบสักนิดหนึ่ง สุดท้ายแล้วเสียงร้องของแกะในความฝันของ Starling จะเงียบลงไหม?, นี่ผมก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ คือมันคงแค่สงบลงแต่ไม่ถาวรแน่ๆ เพราะถึงเธอได้ทำตามเป้าหมายเบื้องตนของตนเองสำเร็จแล้ว แต่มันยังเหมือนการวิ่งหนีมากกว่ายอมรับเข้าใจตัวเอง จนกว่าที่เธอจะค้นพบ ‘ฆาตกรที่แท้จริง’ มันก็อาจยังมีบางสิ่งที่ ถ้าเกิดได้รับรู้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เสียงลูกแกะดังขึ้นอีกครั้งในความฝันก็เป็นได้
ด้วยทุนสร้าง $19 ล้านเหรียญ สัปดาห์แรกทำเงินเพียง $14 ล้านเหรียญ แต่ค่อยๆได้กระแสปากต่อปากจนกลายเป็น Sleeper Hit นอนมาทำเงินสิ้นสุดโปรแกรมในอเมริกา $131 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $272.7 ล้านเหรียญ
เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 5 รางวัล ถือเป็นหนังเรื่องที่ 3 ที่กวาด 5 สาขาหลัก (Big Five) ถัดจาก It Happened One Night (1934) และ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975)
– Best Picture ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor (Anthony Hopkins) ** ได้รางวัล
– Best Actress (Jodie Foster) ** ได้รางวัล
– Best Adapted Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Film Editing
– Best Sound Mixing
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ในคุณค่าและความเป็นศิลปะที่ลึกล้ำ ตีแผ่ด้านมืดที่อยู่ในจิตใจมนุษย์ออกมาได้อย่างสั่นสะเทือนโลกา, จุดที่ไม่ชอบคือความบ้าคลั่งรุนแรง มันไม่ง่ายเลยที่จะผมมองเรื่องพรรค์นี้ให้รู้สึกเป็นกลาง และความหวาดหวั่นสั่นกลัวระทึก นี่ก็ไม่ใช่อารมณ์ที่คนปกติทั่วไปจะหลงใหลกันง่ายๆ พบเจอเห็นนานๆครั้งก็เพียงพอแล้ว
แนะนำกับผู้ชื่นชอบความรุนแรงบ้าเลือด ระทึกอกสั่นขวัญหาย ของฆาตกรโรคจิต Hannibal Lecter, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักที่เกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ทั้งหลาย, นักเรียนนักศึกษา ศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจด้านมืดของมนุษย์, และผู้ชื่นชมหนังรางวัล ผลงาน Masterpiece ทางการแสดงของ Anthony Hopkins, Jodie Foster ไม่ควรพลาดเลย
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่ใช่ให้จดจำหลงใหลในความรุนแรง แต่สังเกต เรียนรู้ จดจำ เข้าใจอันตราย มองเห็นความชั่วร้ายที่แอบซ่อนอยู่ในมุมมืดของโลก, อยากเป็นฆาตกรโรคจิตต้องดูหนังเรื่องนี้ และถ้าอยากรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของฆาตกรโรคจิต ต้องดูหนังเรื่องนี้เช่นกัน
จัดเรต R กับความรุนแรง บ้าคลั่ง ฆาตกรโรคจิต
Leave a Reply