The Silences of the Palace

The Silences of the Palace (1994) tunisian : Moufida Tlatli ♥♥♥♥

หญิงสาวแวะเวียนกลับมาเยี่ยมเยียนสถานที่บ้านเกิด ณ พระราชวัง Bey’s Palace มารดาเคยทำงานสาวใช้ และชู้รักเจ้านาย, ใจจริงไม่อยากหวนกลับมาสักเท่าไหร่ เพราะทำให้ความทรงจำเลวร้ายวัยเด็กที่เก็บกดไว้ ค่อยๆตื่นขึ้นอย่างช้าๆ โดยเฉพาะบิดาแท้ๆ(ที่คาดเดาไม่ยากว่าคือใคร)ต้องการที่จะ !@#$%

ระหว่างที่ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกา ค้นพบว่าไม่ค่อยมีใครนับรวม Egypt และ Tunisia นั่นเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสองประเทศนี้ มีความเก่าแก่มาตั้งแต่ก่อนยุคหนังเงียบ และอีกเหตุผลจริงๆก็คือชาติพันธุ์ Egyptian & Tunisian มักถูกจัดรวมในกลุ่มอาหรับ ตะวันออกกลาง (Middle East) เลยไม่ค่อยสุงสิงกับชาวแอฟริกันผิวสีสักเท่าไหร่

ในขณะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของ Egypt มีความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง ถึงขนาดมีคำเรียก Hollywood on the Nile, แต่สำหรับ Tunisia กลับไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังขนาดนั้น ผมพยายามค้นหา “Greatest Tunisian Film of All-Time” ไม่พบเจอสำนักไหนทำการจัดอันดับ เพียงนิตยสาร Sight & Sound เขียนบทความแนะนำ “10 great Tunisian films

ลองพยายามค้นหาต่อไปก็ค้นพบเจอ The Silences of the Palace (1994) ติดอันดับ #5 ชาร์ท The 100 Greatest Arab Films จัดโดยเทศกาลหนัง Dubai International Film Festival (DIFF) เมื่อปี ค.ศ. 2013 … ตอนพบเจอชาร์ทนี้แอบคาดไม่ถึงว่าตนเองได้เขียนอันดับ 1-4 ไปเรียบร้อยแล้ว

แม้บรรยากาศจะดูเอื่อยๆ เฉื่อยๆ ตามชื่อหนัง The Silences of the Palace แต่ลีลาการดำเนินเรื่องชักชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ พยายามนำเสนอคู่ขนานระหว่างอดีต-ปัจจุบัน รื้อฟื้นความทรงจำ เผชิญหน้าปมปัญหาในอดีต เคลือบแฝงประเด็นสตรีเพศ ครอบครัว สังคม การเมือง และรวมถึงลัทธิอาณานิคม (ฝรั่งเศส) … สร้างโดยผู้กำกับหญิง Tlatli จึงมีความละมุ่น นุ่มนวล ประณีต วิจิตรศิลป์ อีกหนึ่งเพชรเม็ดงาม มาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์


مفيدة التلاتلي, Moufida Tlatli (1947-2021) นักตัดต่อ/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Tunisian เกิดที่ Sidi Bou Saïd, French Tunisia วัยเด็กค้นพบความสนใจด้านภาพยนตร์จากครูสอนปรัชญา โตขึ้นเดินทางสู่ Paris ร่ำเรียนตัดต่อ+เขียนบท Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) เมื่อเดินทางกลับ Tunisia ทำงานเป็นนักตัดต่อ ผลงานเด่นๆ อาทิ Fatma 75 (1975), Wanderers of The Desert (1984), The Trace (1988), Halfaouine Child of the Terraces (1990) ฯ

ช่วงระหว่างที่มารดาของ Tlatli ล้มป่วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ด้วยสถานะบุตรสาวคนโตจึงต้องอยู่บ้าน หยุดทำงานพักใหญ่ๆ เพื่อคอยดูแลเอาใจใส่ ใช้วันเวลาว่างๆจดบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับมารดา หลายๆเรื่องนึกไม่ออกก็สอบถามจากเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง รวบรวมเรื่องราวต่างๆได้ความยาวกว่า 90 หน้ากระดาษ

หลายปีถัดมาหลังจากมารดาเสียชีวิต Tlatli เกิดความครุ่นคิดเอาเรื่องราวเคยจดบันทึกไว้มาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ ยื่นข้อเสนอให้ผู้กำกับคนหนึ่ง (ไม่มีระบุชื่อ) เรียกร้องขอแค่ให้ขึ้นข้อความอุทิศแก่มารดาของตน แต่หลังจากเขาอ่านรายละเอียดทั้งหมด บอกว่าเรื่องราวมีความเป็นส่วนตัวเกินไป “too personal” แนะนำพร้อมผลักดันให้ก้าวขึ้นมากำกับภาพยนตร์ด้วยตนเอง

แม้ว่า Tlatli จะไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะไม่เคยกำกับภาพยนตร์มาก่อน แต่ก็ค่อยๆใช้เวลาพัฒนาบทหนัง صمت القصور อ่านว่า ṣamt al-quṣūr แปลตรงตัว The Silences of the Palace พร้อมๆกับสังเกตการทำงาน เรียนรู้งานในกองถ่าย พอได้พูดคุยโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศส อ่านบทแล้วพร้อมให้การสนับสนุนทุนสร้างโดยพลัน

เกร็ด: Tlatli เป็นคนที่ไม่มีความทะเยอทะยานในการกำกับภาพยนตร์ ตั้งใจว่าหลังเสร็จจาก The Silences of the Palace (1994) ก็จะหวนกลับมาทำงานตัดต่อ แต่พอขึ้นหลังเสือแล้วลงยาก เลยมีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์อีกสองเรื่อง The Season of Men (2000) และ Nadia and Sarra (2006)


เริ่มต้นช่วงกลางทศวรรษ 60s ณ Republic of Tunisia, เรื่องราวของ Alia (รับบทโดย Hend Sabri) นักร้องสาววัย 25 ปี ได้รับข่าวคราวว่าเจ้าชาย (Prince of Tunis) ซึ่งเคยเป็นเจ้านายเก่าของมารดา หรือก็คือบิดาแท้ๆของเธอได้เสียชีวิตลง จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปเยี่ยมเยียน เคารพศพ ณ พระราชวัง Bey’s Palace สถานที่ที่เคยอาศัยใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนเติบใหญ่

การหวนกลับมาพระราชวังแห่งนี้ทำให้เธอหวนระลึกความทรงจำ รื้อฟื้นความหลัง เมื่อครั้นสาวแรกรุ่น เพิ่งมีประจำเดือนครั้งแรก พบเห็นการแบ่งแยก ความแตกต่างทางชนชั้น มารดา Khedija (รับบทโดย Amel Hedhili) นอกจากทำงานรับใช้ ยังต้องคอยปรนเปรอนิบัติ ตกเป็นทาสกามของเจ้านาย วันหนึ่งพลั้งพลาดตั้งครรภ์ พยายามทำแท้งก่อนผิดสำแดงเสียชีวิต เลยทำให้ Alia ด้วยวัยเพียง 15 ปี ไม่อาจอดรนทนอาศัยอยู่พระราชวังแห่งนี้ได้อีกต่อไป


هند صبرى, Hend Sabry (เกิดปี 1979) นักแสดงสัญชาติ Tunisian เกิดที่ Kebili, Tunisia ระหว่างเรียนมัธยม Pierre-Mendès-France เข้ามาทดสอบหน้ากล้อง ได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์ The Silences of the Palace (1994) จากนั้นกลับไปเรียนต่อกฎหมาย University of Tunis ทำงานเป็นทนายอยู่สักพัก ก่อนหวนกลับสู่วงการตั้งแต่ภาพยนตร์ The Season of Men (2000), A Teenager’s Dairies (2001), จากนั้นไปๆกลับๆ Egypt-Tunisia กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงผู้ทรงอิทธิพลในอาหรับ

รับบท Alia เด็กหญิงมีความละอ่อนวัย ไร้เดียงสา ในช่วงแรกๆไม่เข้าใจว่าทำไมถึงโดนกีดกัน ผลักไส ไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นดนตรี Oud หรือขึ้นไปวิ่งเล่นชั้นบน ทำให้ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน กลายเป็นคนช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็น กระทั่งวันหนึ่งพบเห็นมารดาถูกข่มขืน กลายเป็นภาพติดตาฝังใจ ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่กว่าจะกลับมามีรอยยิ้ม

หลังจากนั้นเด็กหญิงต้องการพิสูจน์ตนเอง ฝึกฝนดนตรีและเสียงร้อง จนมีโอกาสทำการแสดงต่อหน้าแขกเหรื่อของเจ้าชาย โดยไม่รู้ตัวตกเป็นเป้าหมายบำเรอกาม แต่มารดาพยายามปกป้อง กีดกัน กักขัง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้เธอดำเนินรอยตาม จนระหว่างการทำแท้ง สูญเสียเลือดมาก ความตายของมารดาทำให้ Alia ไม่สามารถอาศัยอยู่พระราชวังแห่งนี้ได้อีกต่อไป

ปล. สำหรับ Alia เมื่อครั้นโตเป็นสาว รับบทโดย Ghalia Lacroix นักร้องเสียงดี ภรรยาผู้กำกับ Abdellatif Kechiche ต่อมาผันตัวเป็นนักเขียน & ตัดต่อ Blue Is the Warmest Colour (2013)

แม้ว่า Alia ตอนโตจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เจ็บปวดรวดร้าว จากภาพสะท้อนอดีต-ปัจจุบัน ฉันจะเก็บทารกนอกสมรสในครรภ์ไว้หรือไม่? แต่ไฮไลท์ต้องยกให้ตอนเป็นเด็กสาวแรกรุ่น ภาพลักษณ์ของ Sabry มีความบริสุทธิ์ ละอ่อนวัย ไร้เดียงสา ดวงตาเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ระริกระรี้เรื่องเพศ พอประจักษ์สิ่งเลวร้ายก็แทบตกตายทั้งเป็น เหม่อล่องลอย สูญเสียจิตวิญญาณ ยังดีได้เสียงดนตรีฟื้นฟูสภาพจิตใจ กลับมาสดใสร่าเริงได้อีกครั้ง

ต้องชมทั้ง Sabry และ Lacroix ต่างฉายแววเจิดจรัส อนาคตไกล พวกเธอเข้าใจตัวละคร สามารถส่งต่อเรื่องราวจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ รวมถึงต้องชมลีลาการขับร้อง ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงเพลง มีความไพเราะ ทรงพลัง ระบายความรู้สึกอัดอั้น ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ ไม่ต้องการให้ตกเป็นทาสบำเรอกาม ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง

แซว: ภาพช็อตนี้เป็นการบอกใบ้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่าใครคือบิดาแท้จริงของ Alia และประเด็นน่าสนใจคือเด็กๆทั้งสองเกิดวันเดียวกัน นั่นหมายความว่า !@#$%^

آمال الهذيلي, Amel Hedhili (เกิดปี 1953) นักแสดงสัญชาติ Tunisia แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ The Silences of the Palace (1994), ติดตามด้วย Honey and Ashes (1996), Bent Familia (1997), Ghodoua Nakrek (1998), Tunis by Night (2017) ฯ

รับบทมารดา Khedija ถูกขายตัวเข้ามาในพระราชวังตั้งแต่อายุ 10 ขวบ แต่นอกจากทำงานเป็นสาวรับใช้ ยังมีความสามารถด้านการเต้น สร้างความบันเทิงให้แขกเหรื่อในงานเลี้ยง และเมื่อถูกเรียกตัวเข้าห้องนอนก็จำต้องบำเรอกามคุณ ไม่เคยเปิดเผยว่าใครคือบิดา แต่เมื่อบุตรสาวเริ่มเติบใหญ่ ถูกหมายปองโดยเจ้าชาย (ซึ่งน่าจะคือบิดาแท้ๆ) พยายามปกป้อง กีดกัน กักขัง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้เธอดำเนินรอยตาม ประสบโชคชะตาชีวิตเหมือนตนเอง

ตัวละครของ Hedhili เต็มไปด้วยลับลมคมใน พยายามปกปิด ซ่อนเร้น ไม่ต้องการเปิดเผยให้บุตรสาว(และผู้ชม)รับรู้เห็น แต่ความช่างสังเกตของเด็กหญิง ทำให้เกิดความครุ่นคิด จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล มุ่งเน้นสื่อสารด้วยสีหน้า สายตา ภาษากาย เก็บกดความอัดอั้น ไม่สามารถระบายอารมณ์เกรี้ยวกราด แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง ทำได้เพียงสงบนิ่ง เงียบงัน

ฝึไม้ลายมือด้านการแสดงของ Hedhili สามารถเป็นตัวแม่วงการ มีความลุ่มลึก ซับซ้อน เอ่อล้นด้วยพลัง แต่ผมแอบแปลกใจที่ Wikipedia กลับแทบไม่มีรายละเอียดใดๆ เครดิตหนัง-ละครก็น้อยนิด ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม?


ถ่ายภาพโดย Youssef Ben Youssef ผลงานเด่นๆ อาทิ The Golden Horseshoes (1989), Al-lail (1992), The Silences of the Palace (1994), Ghodoua Nahrek (1998), The Season of Men (2000) ฯ

งานภาพของหนังแม้ไม่ได้มีลูกเล่นภาพยนตร์มากนัก แต่มีลีลาการขยับเคลื่อนไหว ใช้ประโยชน์จากสถานที่คับแคบ ห้อมล้อมรอบด้วยผนังกำแพง แสงสว่าง-เงามืด ระยะภาพกลาง-ใกล้ (Medium & Close-Up Shot) ให้ความรู้สึกอึดอัด ราวกับถูกกักขัง ไม่ต่างจากนกในกรง มิอาจดิ้นหลบหนี กางปีกโบยบิน

ในขณะที่ชั้นบนมีความไฮโซ หรูหรา โค้มระย้าราคาแพง ตกแต่งด้วยลวดลายพื้น ฝาผนังผนัง เสาแกะสลัก เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก รูปภาพ-กระจกบานใหญ่, ตรงกันข้ามกับชั้นของคนรับใช้ มีความเรียบง่าย ไร้การตกแต่ง ดูรกๆด้วยสิ่งข้าวของเครื่องใช้ และหลายๆครั้งยังปกคลุมด้วยความมืดมิด

ความโดดเด่นของการถ่ายภาพ เต็มไปด้วยการถ้ำแอบมอง (Voyeurism) ด้วยความฉงนสงสัย อยากรู้อยากเห็น ผ่านสายตาเด็กหญิงวัย 15 ปี ทำไมฉันถึงถูกกีดกัน แบ่งแยก มารดากำลังทำอะไร? บิดาของฉันอยู่แห่งหนไหน? และตอนสิบปีให้หลังเมื่อเธอหวนกลับมาเยี่ยมเยียน สายตาก็เหม่อมองไปโดยรอบ หวนระลึกความหลัง รื้อฟื้นความทรงจำ

แต่วิธีการนำเสนอของผกก. Tlatli ไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน แฝงภยันตรายคืบคลานเข้ามาเหมือนภาพยนตร์ Peeping Tom (1960) บางครั้งต้องคอยสังเกตความต่อเนื่องระหว่างช็อต ถึงค้นพบว่าเด็กหญิงกำลังแอบจับจ้องมอง รับรู้เห็นอะไรบางอย่าง … กล่าวคือ หนังแทบไม่มีช็อตที่ดูเหมือนเด็กสาวกำลังถ้ำมองตรงๆ แต่ผู้ชมสามารถรับรู้ ทำความเข้าใจได้ว่าเธอกำลังแอบมองอยู่

ในขณะที่การถ้ำมองของเด็กหญิงดูไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่สายตา/มุมกล้องขณะนี้ของเจ้าชาย ทำเอาผมรู้สึกหวาดกลัวอยู่ไม่น้อย มันคือ ‘male gaze’ จับจ้องมองเรียวขา แม้เขาเอากระโปรงมาปิดบัง แต่หลังอุ้มพาเธอกลับเข้าห้องนอน ก็ตรงเข้าข่มขืน ใช้ความรุนแรงกับมารดา … แม้งเอ้ย

จริงๆต้องอธิบายเหตุผลที่ Alia มาเป็นลมล้มพับกลางสนามขณะนี้ด้วย เกิดจากเธอแอบพบเห็นมารดากระทำสิ่งบาดตาบาดใจกับเจ้าชาย (ไม่แน่ใจว่าครั้งแรกที่พบเห็นเลยหรือเปล่า) เลยไม่สามารถยินยอมรับความจริง ออกมาวิ่งวนรอบสนามจนหมดเรี่ยวแรง เป็นลมล้มพับ แล้วเจ้าชายหลังเสร็จกามกิจก็ออกมาพบเห็นเข้า

หลังเจ้าชายอุ้มพามาส่งบนเตียง คงไม่สามารถกุมกำหนัดได้อีกต่อไป ใช้กำลังฉุดกระฉาก ข่มขืนกระทำชำเรา Khedija ไม่มีทางที่บุตรสาวในห้องจะไม่ได้ยืน เธอลืมตาขึ้น ยกมือปิดหู ลุกขึ้นวิ่งไปตรงรั้วหน้าต่าง พยายามกรีดร้องลั่น แต่หนังจงใจทำให้เงียบงัน ไม่ได้ยินเสียง ตะโกนไปก็ไม่มีใครสนใจรับฟัง … ดั่งชื่อหนัง The Silences of the Palace

อีกช็อตที่ผมอดพูดถึงไม่ได้ก็คือภาพสะท้อนมารดา-บุตรสาวในกระจกเงา จริงๆมันมีหลายช็อตที่พวกเธอทั้งสองอยู่ร่วมเฟรม แสดงปฏิกิริยาภาษากายโต้ตอบกันและกัน แต่ขณะนี้มันชัดเจนที่สุดถึงสำนวน “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” โดยไม่รู้ตัวบุตรสาวกำลังดำเนินรอยตามมารดา แต่นั่นหาใช่สิ่งที่คนเป็นแม่จะรู้สึกภาคภูมิใจแม้แต่น้อย

หนังระบุสถานที่ถ่ายทำคือ Bey’s Palace ซึ่งพอผมลองค้นใน Google พบเจอตั้งอยู่ยัง Oran, Algeria คิดว่าไม่น่าใช่แน่ๆ ลองค้นหาต่อไปถึงค่อยค้นพบว่าใน Tunisia ก็มีพระราชวังชื่อเดียวกันนี้อยู่หลากหลายแห่ง อาทิ Bardo, Mennuba, Marsa, Carthage รวมถึงเมืองหลวง Tunis สุดท้ายเลยไม่รู้ว่าเลือกใช้ปราสาทหลังไหน??

เกร็ด: คำว่า بيه, Bey หรือจะเขียนว่า Baig, Bayg, Beigh, Beig, Bek, Baeg, Beg คำขึ้นต้น นำหน้า (honorific) สำหรับให้เกียรติบุคคลผู้มีเชื้อสายราชวงศ์ Turkic ของจักรวรรดิ Ottoman Empire ซึ่งเคยยึดครอง Tunisia ระหว่าง ค.ศ. 1574-1881 ก่อนเปลี่ยนเป็นเมืองขึ้น/รัฐในอารักขาของฝรั่งเศส (French Protectorate) ตั้งแต่ ค.ศ. 1881-1956 แต่บรรดาเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ยังคงมีอำนาจเต็มในการปกครองชาว Tunisian


ตัดต่อโดย Camille Cotte, Karim Hammouda และ Moufida Tlatli

เรื่องราวเริ่มต้นกลางทศวรรษ 60s นำเสนอผ่านมุมมองหญิงสาว Alia หลังได้ข่าวคราวการเสียชีวิตของเจ้าชาย เดินทางกลับไปเยี่ยมเยียนพระราชวัง Bey’s Palace สถานที่เคยอาศัยใช้ชีวิตกับมารดา ทำให้ค่อยๆรื้อฟื้นความหลัง หวนระลึกความทรงจำ เล่าย้อนอดีต (Flaskback) ในช่วงกลางทศวรรษ 50s

  • อารัมบท
    • นักร้องสาว Alia ถูกแฟนหนุ่มขอให้ทำแท้ง
    • เดินทางไปยังพระราชวัง Bey’s Palace พบปะผู้คน รื้อฟื้นความหลัง หวนระลึกความทรงจำ
  • (Flashback) ความไร้เดียงสาของ Alia
    • เริ่มต้นมารดาคลอดบุตรสาว
    • Alia พยายามปกปิดการมีประจำเดือนครั้งแรก
    • Alia มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องของมารดา
    • Alia พบเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับเจ้าชาย
  • (Flashback) ความสนใจเรื่องเพศของ Alia
    • หลังจากพบเห็นมารดาถูกข่มขืน รู้สึกไร้เรี่ยวแรง ล้มป่วยนอนซมซานบนเตียง
    • แต่หลังจากได้รับของขวัญเป็นเครื่องดนตรี Oud ทำให้มีกำลังใจในชีวิตขึ้นมา
    • Alia ตกหลุมรักครูสอนหนังสือ
  • (Flashback) การตั้งครรภ์ของมารดา
    • มารดาพยายามปกป้อง กีดกัน กักขังไม่ให้ Alia อยู่ในความสนใจของเจ้าชาย
    • แต่ทว่า Alia ก็ได้รับโอกาสทำการแสดงให้แขกเหรื่อ
    • มารดาตัดสินใจทำแท้ง สูญเสียเลือดจำนวนมากจนเสียชีวิต

หนังมีการตัดสลับกลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบันอยู่บ่อยครั้ง เพื่อทำการเปรียบเทียบคู่ขนาน แสดงให้ความเปลี่ยนแปลง แม้หลายสิ่งแตกต่าง แต่บางสิ่งอย่างกลับเป็นภาพสะท้อน หวนกลับมาบังเกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นทำให้หญิงสาวรู้สึกขัดแย้งภายใน ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมสักเท่าไหร่


ในส่วนของเพลงประกอบจะมีทั้งบทเพลงพื้นบ้าน Tunisian (มักได้ยินบรรดาสาวรับใช้ขับร้อง ประสานเสียง มีความสนุกสนานครื้นเครง), ดนตรีป็อปร่วมสมัย (ขับร้องโดย Hend Sabry และ Ghalia Lacroix ทั้งสองคือตัวแทนคนรุ่นใหม่ แต่มักเต็มไปด้วยความรู้สึกอัดอั้น ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดโกรธ) และแต่งขึ้นใหม่ (Original Score) บรรเลง Oud โดย Anouar Brahem

أنور براهم أنور براهم, Anouar Brahem (เกิดปี 1957) นักแต่งเพลง สัญชาติ Tunisian เกิดที่ Halfaouine ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลเครื่องดนตรี Oud เข้าศึกษาต่อ Tunisian National Conservatory of Music แล้วกลายเป็นลูกศิษย์ของ Ali Sriti จากนั้นเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ มีโอกาสร่วมงานในฐานะดนตรีภาพยนตร์ Hanna K. (1983), พอกลับมา Tunisia ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ Ensemble musical de la ville de Tunis ออกอัลบัม ทัวร์ต่างประเทศ ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ The Silences of the Palace (1994)

งานเพลงถือเป็นส่วนสำคัญมากๆของหนัง นอกจาก(ประเภทของเพลง)เป็นตัวแทนแต่ละชนชั้น ยังถูกใช้สำแดงความรู้สึกอัดอั้น ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดโกรธ แม้ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเนื้อคำร้อง แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสจิตวิญญาณ รับรู้เข้าใจทุกสิ่งอย่าง

บทเพลงระหว่าง Opening Credit ชื่อว่า أمل حياتي อ่านว่า Amal Hayati แปลว่า The Hope of My Life แต่งโดย Mohamed Abdelwahab, เนื้อคำร้องโดย Ahmed Hassan Kamel, ขับร้องโดย Ghalia Lacroix (Alia ตอนโต) น่าเสียดายที่หนังไม่ได้แปลเนื้อคำร้อง แต่แค่ชื่อเพลง และอารมณ์ที่ศิลปินถ่ายทอดออกมา ฟังดูอัดอั้น ท้อแท้สิ้นหวัง อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตื่นขึ้นจากฝันร้าย

เครื่องดนตรี عود, Oud อ่านว่า อู๊ด เครื่องดนตรีพื้นบ้านตะวันออกกลาง (Middle East) ได้รับการจดบันทึกไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 มีลักษณะเครื่องสาย 11 เส้น (แต่เวลาเล่นมักดีดคู่กันจำนวน 6 คอร์ด 1+2+2+2+2+2) หน้าตาคล้าย Lute แต่มีคอสั้น ทำให้ดูเหมือนลูก Pear

ในบริบทของหนัง Oud ถือเป็นเครื่องดนตรีสำหรับชนชั้นสูง ราคาแพง แต่เพราะ Alia พบเห็นเพื่อนสาวถูกบังคับให้เรียนดนตรี จึงเกิดความชื่นชอบหลงใหล เพ้อใฝ่ฝันอยากได้อยากมี จนมารดาต้องเก็บเงินซื้อเป็นของขวัญ ใช้มันระบายความรู้สึกอัดอั้นออกมา

บทเพลง لسه فاكر อ่านว่า Lessa Faker (หรือจะสะกดว่า Lissah Fakir, Lessa Faker) แปลว่า Do You Still Remember? แต่งโดย Riad Al-Sonbati, เนื้อร้องโดย Abdel-Fattah Mostafa, ขับร้อง+บรรเลงโดย Hend Sabri (Alia วัยเด็ก) แต่กลับรำพันถึงอดีตที่ไม่วันหวนกลับคืนดี

Do you really think my heart can still trust you?
That a word can make me relive the past?
That a gaze can still make me believe in passion and tenderness?
Those were the good old days

Sing for me. Sing and I’ll give you my eyes.
I’ll sing tunes to inebriate my listeners.
To make the branches of the trees tremble.
The narcissus and the jasmine.
To attract the sailors from village to village.

I’ll sing again and again,
I’ll display the wonders of my art.
The men will explain it to the djinns.
Those who leave shall tell those who arrive.

Song is the life of the soul.
Listening, the diseased recovers.
Song can mend the broken hearts the doctors could not cure.
The darkness of the night becomes light in the eyes of lovers.

ผมขี้เกียจหาข้อมูลว่าสองบทเพลงนี้ชื่ออะไร แต่สังเกตจากเนื้อคำร้อง (ที่มีแปลซับอังกฤษในหนัง) บรรดาแขกเหรื่อต่างชื่นชอบหลงใหลบทเพลงแรก รำพันความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว ตรงกันข้ามกับเนื้อคำร้องเพลงหลัง บทเพลงชาติของกลุ่มต่อต้าน (Tunisian Resistance) เต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสีถากถาง ประชดประชันพวกชนชั้นสูงที่ทรยศหักหลังประเทศชาติ ไม่อาจอดรนทนฟัง ลุกหนี ตีจาก ปฏิเสธยินยอมรับความจริง

Green Tunisia seems in a daze.
Its sadness bursts out in flashes that shake the sky and extinguish the stars.
Cherish the suffering of those who have fallen so that illumination may spread.
After the torment a light appeared on their foreheads.
Yours bore the marks of shame and defeat.
You have surrendered Tunisia to its enemy.
Plunged in darkness for a long time, the despair of the doves obscures the domes.
But under the ashes there’s an ember burning for every loving heart.

หญิงสาว Alia มีปมจากอดีต (Trauma) ความทรงจำอันเลวร้าย เก็บกด อัดอั้น เคยเกือบจะคลุ้มบ้าคลั่ง พยายามหลบหนีออกมาเมื่อสิบปีก่อน แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน การตัดสินใจหวนกลับสู่พระราชวัง Bey’s Palace อาจช่วยทำให้เธอสามารถยินยอมรับ ปรับตัว เผชิญหน้าความขัดแย้ง ก่อนตัดสินใจทำแท้ง-ไม่ทำแท้ง ดำเนินรอยตามมารดา หรือเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง

เด็กหญิง Alia ตั้งแต่แรกมีประจำเดือน (ถือเป็นช่วงเวลาเติบโตเป็นสาว/ผู้ใหญ่แรกรุ่น) ค่อยๆเรียนรู้จักสถานะของตนเอง มารดาเป็นเพียงสาวรับใช้ มีหน้าที่คอยปรนเปรอนิบัติเจ้านาย กระทำตามคำสั่งได้รับมอบหมาย ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ไม่สามารถครุ่นคิด โต้ตอบ เพียงสงบนิ่ง เงียบงัน … แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้น สถานะทางสังคม เจ้านาย-บ่าวไพร่ ผู้นำ-ประชาชน ร่ำรวย-ยากจน อาศัยอยู่ชั้นบน-เบื้องล่าง

สำหรับมารดา Khedija ไม่ได้มีหน้าที่แค่รับใช้เจ้านาย แต่ยังต้องปรนเปรอนิบัติ ตกเป็นทาสกามของเจ้านาย นี่สะท้อนสถานะสตรีเพศในสังคม วิถีชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) บุรุษคือช้างเท้าหน้า ผู้มีอำนาจ กรรมสิทธิ์ในเรือนร่างหญิงสาว

พื้นหลังของหนังยังคาบเกี่ยวช่วงเวลาเรียกร้องอิสรภาพ Tunisian Independence (1952-56) ได้ยินเสียงซุบซิบ ข่าวคราวจากวิทยุ ทั้งยังเคยให้ที่หลบซ่อนตัวสมาชิกคณะปฏิบัติ (อ้างว่าเป็นครูสอนหนังสือ) และที่สุดก็คือ Alia ขับร้องเพลงในงานเลี้ยง … ผมเปรียบเทียบแรกมีประจำเดือนของ Alia = ตื่นรู้ทางการเมือง จากนั้นเริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมคอรัปชั่นของเจ้านาย/รัฐบาล/ชนชั้นผู้นำ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมิอาจอดรนทน สำแดงอารยะขัดขืน ไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบอีกต่อไป

เหตุการณ์ในปัจจุบันของหนัง สิบปีให้หลัง กลางทศวรรษ 1960s แม้สถานการณ์การเมืองของ Tunisian Republic ประธานาธิบดี Habib Bourguiba จะยึดครองอำนาจยาวนานกว่า 30 ปี (ตั้งแต่ ค.ศ. 1957-87) แต่ก็ได้สร้างรากฐานอันมั่นคง นำพาประเทศก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งสิ่งโด่งดังที่สุดคือการให้สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียมกับสตรี (เป็นประเทศแรกๆในกลุ่มอาหรับ/มุสลิม ที่สตรีมีบทบาทแทบจะเท่าเทียมบุรุษ) เปรียบเทียบตรงๆถึงอิสรภาพของ Alia สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ทำอะไรๆได้ด้วยตนเอง ประกอบอาชีพนักร้อง ครองรักกับแฟนหนุ่มยังไม่ได้แต่งงาน แค่กำลังชั่งใจระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ไม่อยากทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง

ชีวิตจริงของผกก. Tlatli ไม่ได้เกิดในพระราชวัง แต่เธอมองว่ามารดามีสถานะไม่แตกต่างจากคนรับใช้ที่บ้าน ทำงานทุกสิ่งอย่างเพื่อครอบครัว ทั้งสถานะภรรยาและมารดา โดยไม่เคยพร่ำบ่น ต่อต้านขัดขืน หรือแสดงความรู้สึกใดๆออกมา … นั่นคือสิ่งที่ผกก. Tlatli เต็มไปด้วยความวิตกกังวล คนรุ่นเก่าไม่เคยรับรู้/เข้าใจตัวตนเอง เพียงก้มหัวศิโรราบต่อวิถีทางได้รับการปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง สืบต่อกันมา

The aspect that hits me the hardest is silence, which is imposed on women in the Arab-Muslim world. They grow up doubting their own existence and their own past.

Moufida Tlatli

ผกก. Tlatli คือตัวแทนหญิงสาวรุ่นใหม่ เติบโตพานผ่านช่วงเวลาแห่งอิสรภาพ จึงมีทัศนคติเปิดกว้าง รับรู้ความต้องการ ไม่ปิดกั้นตัวตนเอง ใช้สื่อภาพยนตร์สำหรับค้นหารากเหง้า และระบายสิ่งอัดอั้นภายในออกมา


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ในสาย Directors’ Fortnight ได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี สามารถคว้ารางวัล Caméra d’Or – Special Mention (สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก) ทำให้มีโอกาสเดินทางไปฉายตามเทศกาลต่างๆทั่วโลก

ปัจจุบันยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ ฉบับที่ผมรับชมใน Youtube สังเกตจากคุณภาพคาดเดาว่าคงเป็น DVD แต่ก็หาข้อมูลไม่ได้ว่าเป็นของค่ายไหน มันเลยไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่จะยังไม่มีโอกาสรับรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้!

ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมากๆ ประทับใจวิธีการนำเสนอที่มีความละมุน นุ่มนวล นั่นคือสัมผัสอันอ่อนไหวของผู้กำกับหญิง มีความประณีต วิจิตรศิลป์ ความทรงจำอันเจ็บปวดรวดร้าว เคลือบแฝงประเด็นตั้งแต่ระดับบุคคล ตัวตน จนคลอบจักรวาล … หนึ่งในโคตรหนัง Feminist และสมควรค่าแก่การติดชาร์ทอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล!

จัดเรต 15+ กับความมักม่วนเรื่องเพศ

คำโปรย | The Silence of the Palace ภาพยนตร์แห่งความอัดอั้น เกรี้ยวกราดโกรธของผู้กำกับ Moufida Tlatli และ Amel Hedhili แต่กลับทำได้เพียงเก็บกดความรู้สึก จมปลักอยู่ในความสงบนิ่ง เงียบงัน
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | สงบนิ่ง เงียบงัน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: