Sound of Music

The Sound of Music (1965) : Robert Wise

ครั้งหนึ่งในชีวิต “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มนต์รักเพลงสวรรค์ไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบ แต่มีความสวยงามในบทเพลงสุดไพเราะ และการแสดงสุดตราตรึงของ Julie Andrews ที่มักจะทำให้ผู้ชมหลงใหลตกหลุมรัก แล้วมองข้ามข้อเสียเหล่านั้นไป, เข้าชิง Oscar 10 สาขา ได้มา 5 รางวัล รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี และครั้งหนึ่งหนังเคยทำเงินมากที่สุดในโลก

ตอนที่หนังฉาย ใช่ว่าจะได้รับคำชมที่ดีเสียเท่าไหร่ แต่เมื่อฮิตถล่มทลาย ทำให้ได้โอกาสเข้าชิง Oscar 10 สาขา คว้ามาได้ 5 รางวัลประกอบด้วย
– Best Picture ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actress (Julie Andrews)
– Best Supporting Actress (Peggy Wood)
– Best Cinematography – Color
– Best Edited ** ได้รางวัล
– Best Art Direction – Set Decoration – Color
– Best Costume Design – Color
– Best Sound Mixing ** ได้รางวัล
– Best Music Adaptation or Treatment ** ได้รางวัล

ทำเงินสูงสุดในปีที่ฉาย(เริ่มฉายมีนาคม 1965) เดือนพฤศจิกายนปีถัดมา ก็สามารถทำเงินทั่วโลกมากกว่า Gone With The Wind (1939) เจ้าของสถิติภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดเดิม เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำเงินเกิน 100 ล้านดอลลาร์ ยืนโรงฉายนาน 4 ปี จบโปรแกรมด้วยรายรับ 158 ล้านดอลลาร์ (สถิติถูกทำลายโดยการนำกลับมาฉายใหม่ของ Gone With The Wind และ The Godfather-1972) ในเว็บ boxofficemojo ได้ทำการ adjust ปรับค่าเงิน จะได้ว่า The Sound of Music ทำเงินสูงถึงอันดับ 3 แต่เป็นหนังเรื่องเดียวใน top 5 ที่ไม่มีรวมเงินจากการฉายซ้ำ (นี่น่าจะเป็นหนังที่มียอดจำหน่ายตั๋วในการฉายครั้งเดียวมากที่สุดในโลก) จากความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ทำให้สตูดิโอ Fox ไม่ต้องล้มละลาย หลังจากเพิ่งล้มเหลวไม่เป็นท่ากับ Cleopatra (1963)

ในบรรดาสถิติหนังทำเงินสูงที่สุดในโลก มีทั้งหมด 10 เรื่อง
– The Birth of Nation (1915)
– Gone With The Wind (1940)
– The Sound Of Music (1965)
– The Godfather (1972)
– Jaws (1976)
– Star Wars (1978)
– E.T. the Extra-Terrestrial (1983)
– Jurassic Park (1993)
– Titanic (1999)
– Avatar (2006)

ผมแนะนำให้หาทั้งหมด “ต้องหามาดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อศึกษา ทำความเข้าใจสมัยนิยมของวงการภาพยนตร์ ในช่วงเวลาเหล่านั้น หนังเหล่านี้คือพระราชา (King of the World) ผู้นำแห่งยุคสมัย, ปรากฎการณ์หนังทำเงินสูงสุด ในรอบร้อยปีเกิดขึ้นไม่กี่ครั้งเท่านั้น (เฉลี่ยทศวรรษละเรื่อง) ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่จริงๆ คงไม่มีทางเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นได้

แรงบันดาลใจที่เป็นจุดกำเนิดของ Sound of Music คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เขียนขึ้นจากความทรงจำของ Maria von Trapp ชื่อหนังสือ The Story of the Trapp Family Singers ตีพิมพ์เมื่อปี 1949 เพื่อโปรโมทวงดนตรีของครอบครัว von Trapp, หลังจาก Georg von Trapp สามีของผู้เขียนเสียชีวิตเมื่อปี 1947 และหนังสือวางจำหน่ายไม่นาน ก็มีผู้สร้างหนังจาก hollywood ให้ความสนใจ ติดต่อขอซื้อเฉพาะชื่อนิยายเพื่อมาสร้างเป็นหนัง แต่เธอไม่ยินยอม ถ้าจะซื้อลิขสิทธิ์ก็ต้องซื้อทั้งเรื่องมีอย่างที่ไหน, คนแรกที่ได้ลิขสิทธิ์ดัดแปลงไป เป็นโปรดิวเซอร์ชาวเยอรมัน Wolfgang Liebeneiner สร้างหนังถึง 2 เรื่อง คือ The Trapp Family (1956) และ The Trapp Family in America (1958) ทั้งสองเรื่องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในยุโรปและอเมริกา

ปี 1956 Paramount Picture ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือบ้าง เพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ Hollywood โดยมีความประสงค์ให้ Audrey Hepburn รับบทนำ แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นแนวคิดนี้จึงถูกล้มเลิกไป, เป็น Vincent J. Donehue ที่เสนอให้ดัดแปลงเรื่องราวนี้เป็นละครเวที โดยจ้าง Howard Lindsay และ Russel Crouse เจ้าของรางวัล Pulitzer Prize มาให้ดัดแปลงบท และ Richard Rodgers กับ Oscar Hammerstein II ประพันธ์เพลงประกอบ เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 1959 ที่ Lunt-Fontanne Theatre ใน New York รวมการฉาย 1,443 ครั้ง คว้า 6 รางวัล Tony Awards รวมถึง Best Musical

เมื่อปี 1960 จากความสำเร็จของละครเพลง ทำให้ Twentieth Century Fox ซื้อลิขสิทธิ์ในการดัดแปลงจากบทละครเวที ด้วยมูลค่า 1.25 ล้านดอลลาร์ (ราคาเกือบๆ 10 ล้านดอลลาร์เทียบกับปี 2016) ถือว่าสูงมากๆสมัยนั้น จากนั้นไปจ้างให้ Ernest Lehman มาเขียนบทดัดแปลงเป็นภาพยนตร์

Lehman เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากๆ คนหนึ่งแห่งยุค ก่อนหน้านี้เคยดัดแปลง Sabrina (1954), North by Northwest (1959), West Side Story (1961) ตลอดชีวิตเข้าชิง Oscar: Best Writing 4 ครั้งไม่เคยได้ ทำให้ Academy ต้องมอบ Honorary Award ในปี 2001, สำหรับการดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่องนี้ Lehman ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวพอสมควร ตัดออก 2 เพลงจากฉบับละครเวที มีการเรียงลำดับเพลงใหม่ และปรับวิธีการนำเสนอ ให้สามารถถ่ายทำจากสถานที่จริงได้

สำหรับผู้กำกับ บุคคลแรกที่โปรดิวเซอร์และ Lehman เล็งไว้คือ Robert Wise เพราะเขาเคยทำ West Side Story หนังเพลงสุดอมตะคว้า Oscar ถึง 9 สาขา แต่ขณะนั้น Wise ติดงานสร้าง The Sand Pebbles ทีมงานจึงต้องมองหาผู้กำกับคนอื่น, มีหลายคนที่ว่ากันว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับโปรเจคนี้ อาทิ Stanley Donen, Vincent J. Donehue, George Roy Hill และ Gene Kelly ส่วนคนที่ตบปากรับคำคนแรกคือ William Wyler, เห็นว่า Lehman พา Wyler ไปชมการแสดงสด The Sound Of Music ที่ New York หลังจากดูจบ Wyler บอกว่าเขาเกลียดเรื่องนี้มาก แต่ 2 สัปดาห์ต่อมาเปลี่ยนใจตอบตกลงที่จะกำกับหนังให้ (เอะ! ยังไง) พวกเขาบินไป Austria เพื่อค้นหาสถานที่ถ่ายทำแล้วด้วย แต่ไปๆมาๆ Wyler ขอโปรดิวเซอร์เพื่อจะเลื่อนการสร้าง เพราะเขาอยากกำกับหนังเรื่องอื่นก่อน ทำให้ Wyler เสียโอกาสที่จะได้กำกับไป, Robert Wise จึงได้กลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้ง เพราะ The Sand Pebbles ก็โดนโรคเลื่อนเหมือนกัน ซึ่งพอ Wise ได้อ่านบทหนังของ Lehman ก็ตอบตกลงในทันที

การคัดเลือกนักแสดง เห็นว่าตัวเลือกแรกของผู้กำกับคือ Julie Andrews แต่เพราะตอนนั้นเธอยังไม่เคยมีผลงานภาพยนตร์มาก่อน โปรดิวเซอร์เลยไม่แน่ใจว่าเธอจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะหรือไม่, ตัวเลือกอื่นอาทิ Grace Kelly, Shirley Jones ฯ แต่เมื่อ Lehman และ Wise เดินทางไปที่สตูดิโอของ Disney เห็นฟุจเทจกำลังตัดต่อของ Mary Poppins ที่ Andrews แสดงนำ ถึงกับเอ่ยปากพูดว่า ‘เราต้องรีบเซ็นต์สัญญากับเธอคนนี้ ก่อนจะมีคนอื่นมาเห็นแล้วจะแย่งไป’ (Wise: ‘Let’s go sign this girl before somebody else sees this film and grabs her!’)

ทุกวินาทีของ Julie Andrews ที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ทำให้คุณไม่สามารถละสายตาไปจากเธอได้เลย ใบหน้าที่อิ่มเอิบไปด้วยรอยยิ้ม สายตาที่เป็นประกายเรียกร้องความสนใจ ราวกับโลกทั้งใบหมุนรอบตัวเธอ ตอนเห็นเธอครั้งล่าสุดในงาน Oscar เมื่อปี 2015 เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของหนัง Andrews ยังคงสวยสง่าไม่เปลี่ยนเลย

สำหรับนำชาย มีหลายคนที่ผู้กำกับให้ความสนใจ อาทิ Bing Crosby, Yul Brynner, Sean Connery และ Richard Burton แต่คนที่ได้รับเลือกคือ Christopher Plummer เพราะ Wise มีโอกาสเห็นการแสดงของเขาที่ Broadway แล้วประทับใจมาก, ทีแรก Plummer ไม่สนใจรับบทนี้ แต่ผู้กำกับพูดคุย เกลี้ยกล่อมอยู่หลายครั้ง จนใจอ่อนยอมเซ็นสัญญา เห็นว่าภายหลัง Plummer ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลย ถึงขนาดเรียกมันว่า The Sound of Mucus เพราะหนังให้ความรู้สึกแย่มากๆ เขาทำงานอย่างหนัก แต่ผลลัพท์ที่ออกมามันดูน่าขันเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะเพลง Edelweiss ที่เกลียดมากๆ (นี่เพลงโปรดของผมเลยนะเนี่ย!) ถึงขนาดขอให้ผู้กำกับเปลี่ยนหรือตัดออกจากหนัง แน่นอนว่าไม่สำเร็จ และฉากที่เขาร้องเพลงในงานเทศกาลดนตรี เห็นว่ากำลังเมาได้ที่ แสดงทั้งๆที่กำลังมึนๆแบบนั้น

ถ่ายภาพโดย Ted D. McCord, นี่เป็นหนังที่มีการถ่ายภาพสวยมากๆเรื่องหนึ่ง ใช้ฟีล์ม 70 mm ถ่ายทำที่เมือง Salzburg, Austria แทบทุกฉากจะมีการเคลื่อนไหวกล้อง ถ่าย long-take ขณะตัวละครร้องเล่นเต้น ทำให้ภาพหนังดูมีชีวิตชีวา, ชอบสุดคือฉากเปิดเรื่องและฉากสุดท้าย ที่ถ่ายจากบนเฮลิคอปเตอร์ เห็นทิวทัศน์ ภูเขาที่ยอดปกคลุมด้วยหิมะ เป็น long-take ยาวไปถึงขณะที่นางเอกกำลังร้องและเต้นอยู่บนภูเขา เห็นว่าฉากนี้ถ่ายกันหลายเทค เพราะ Andrews ล้มทุกครั้งที่เฮลิคอปเตอร์บินเข้ามาใกล้ๆ ก็นะหญิงสาวตัวเล็กๆจะสู้แรงลมได้ยังไง

ตัดต่อโดย William H. Reynolds อีกหนึ่งนักตัดต่อคนสำคัญของโลก ผลงานเด่นๆอาทิ The Godfather (1972), The Sting (1973), The Turning Point (1977) ฯ เคยเข้าชิง Oscar 7 ครั้ง ได้มา 2 รางวัล จาก The Sound of Music และ The String, การตัดต่อใน The Sound of Music ผมไม่รู้สึกว่าโดดเด่นเท่าไหร่นะ แต่เพลง Do-Re-Mi มีการตัดต่อที่เนียนมากๆ มีลูกเล่น จังหวะล้อรับเข้ากับการถ่ายภาพมากๆ จนทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังดู long-take ยาวๆ มากกว่ามีการตัดต่อ

หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละคร Andrews ที่แบกหนังไว้ทั้งเรื่อง แม้จะมีหลายเพลงที่ขับร้องโดยใช้มุมมองของตัวละครอื่น แต่ก็เป็นการพูดถึงเธอทั้งนั้น ไม่ได้หลุดกรอบไปไหน

เพลงประกอบ นำบทเพลงทั้งหมดมาจากฉบับละครเพลงของ Richard Rodgers และ Oscar Hammerstein II บรรเลงเรียบเรียงใหม่โดย Irwin Kostal เพื่อเล่นกับวงออเครสต้า, ในตอนแรกที่เริ่มแต่งเพลงประกอบ Rodgers และ Hammerstein ต้องการใช้ tradition-Austrian folk song แบบที่เขียนไว้ในหนังสือ แต่เพราะเนื้อร้องที่แต่งขึ้นไม่เข้ากับเสียงดนตรีเท่าไหร่ จึงเปลี่ยนกลับมาใช้เพลงประกอบในรูปแบบทั่วๆไป

นี่ถือเป็นผลงานสุดท้ายของ Rodgers & Hammerstein เพราะ Hammerstein เสียชีวิตเมื่อปี 1960 ไม่นานนักหลังการแสดงรอบปฐมทัศน์ละครเพลง The Sound of Music เพลงสุดท้ายที่แต่งคือ Edelweiss

Edelweiss ขับร้องโดย Bill Lee (ไม่ใช่ Plummer เพราะเขาเกลียดการร้องเพลงอย่างมาก) นี่เป็นหนึ่งในเพลงโปรดของผม ชื่นชอบจดจำได้ยินจากอนิเมะ Nodame Cantabile ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้นกำเนิดมาจากไหน จนกระทั่งได้กลับมาดู The Sound Of Music เลยระลึกได้, นี่เป็นบทเพลงที่เสียงร้องนุ่มนวลแต่มีความโหยหวน กีตาร์ดีดคลอเบาๆฟังแล้วใจหวิวๆ เกิดอารมณ์หวนระลึก คิดถึงบ้าน คิดถึงคนที่เคยรัก เคยรู้จัก

Edelweiss เป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งขึ้นบนภูเขาในโซนยุโรป ไม่แน่ใจมีชื่อไทยหรือเปล่า, ในฉบับละครเวที เพลงนี้ถูกร้องขึ้นครั้งเดียวในเทศกาลดนตรี เป็นเพลงที่ Captain von Trapp ร้องเป็นเพลงสุดท้าย เพื่ออำลาอาลัยต่อ Austria ที่รักที่เขากำลังจากไป โดยเปรียบ Edelweiss เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ Austria, ว่ากันว่าเพลงนี้ต่อมาได้กลายเป็นเพลงร้องกล่อมเด็กเพลงเข้านอน

สำหรับบทเพลงที่ได้รับการกล่าวขานที่สุดของหนัง มีถึง 3 เพลงที่ติดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs
– The Sound of Music ติดอันดับ 10
– My Favorite Things ติดอันดับ 64
– Do-Re-Mi ติดอันดับ 88

ชื่อหนัง The Sound of Music ‘เสียงของดนตรี’ Rodgers และ Hammerstein แต่งเพลง Do-Re-Mi เพื่อให้เข้ากับชื่อและความหมายของหนัง จะว่านี่เป็นเพลงประวัติศาสตร์หนึ่งในโลกก็ว่าได้ คนที่ไม่เคยฟังเพลงมาก่อน พอได้ยินการเริ่มต้นของเพลง Do-Re-Mi เชื่อว่าทัศนคติต่อ ‘เพลง’ จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เริ่มจากการรู้จักโน๊ต วิธีการจดจำชื่อโน๊ต จากโน๊ตเป็นทำนอง และจากทำนองกลายเป็นเนื้อร้อง ใครฟังเพลงนี้แล้วไม่ฮัมตาม แสดงว่าคุณเป็นคนหูหนวกแน่ๆ

ด้วยความยาว 174 นาที หนังแบ่งออกเป็น 2 ช่วง แต่กว่าหนังจะเริ่มเข้าที่เข้าทางต้องใช้ความอดทนพอสมควร, ครึ่งแรกของหนังเป็นช่วงที่ผมคิดว่าสมบูรณ์แบบมากๆ ถ้ามันจบแค่นั้น นี่จะเป็นหนังที่สวยงามสุดๆเลย แต่เพราะมันมีครึ่งหลังที่บอกได้เลยว่าน่าผิดหวัง เราแทบจะไม่ได้ยินเพลงใหม่ในครึ่งหลังเลย เอาเพลงในครึ่งแรกมาร้องซ้ำทั้งหมด โทนหนังก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ครึ่งแรกจะสนุกสนานสดใส แต่ครึ่งหลังเอาการเมือง สงครามเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้โทนหนังออกไปทางหม่นๆ เครียดๆ เกร็งๆ เนื้อเรื่องก็ไม่สนุกแล้ว มีที่พอรับได้คือฉากตอนจบที่ครอบครัวนี้กำลังเดินข้ามเขา ฉากจบล้อกับฉากเปิดเรื่องได้สวยมากๆ

ครอบครัว von Trapp มีพ่อที่เคร่งครัด ใช้หลักการของทหารมาปกครองคนในบ้าน แต่เมื่อ Maria เข้ามา เธอเปลี่ยนบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นสถานที่แห่งความสุข ทุกวันเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและเสียงเพลง แม้แต่พ่อที่ดูไม่น่าจะร้องเพลงได้ แต่ขณะที่ขับร้อง Edelweiss ทัศนคติของผู้ชมที่มีต่อเขาจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นี่แสดงว่า ภายนอกของคนถึงจะดูโหดร้ายแค่ไหน แต่ข้างในก็ไม่ยังมีความอ่อนไหวอ่อนโยน ไม่ต่างจากเด็กๆ

ใจความของครึ่งแรก ‘บทเพลง เสียงดนตรี สามารถเปลี่ยนทัศนคติของมนุษย์ได้’

เกิดอะไรขึ้นกับครึ่งหลังของหนัง ทำออกมาได้ยังกะคนละเรื่อง, ผมเปรียบครึ่งแรกเปรียบเหมือนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฝัน โลกในจินตนาการมันช่างสวยสดงดงามมากๆ ส่วนครึ่งหลังคือโลกแห่งความจริง เพื่อให้ผู้ชมย้อนกลับมาคิดทบทวนถึงตัวเอง ที่ต่อให้บทเพลงจะมีความไพเราะขนาดไหน แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้สวยงามดั่งฝัน มีอะไรแย่ๆ เลวร้ายเกิดขึ้นมากมาย สิ่งที่หลงเหลืออยู่จากความฝัน จะมีก็แต่เสียงเพลงนี่แหละที่ทำให้โลกใบนี้ดูสดชื่น แจ่มใส มีชีวิตชีวา

ใจความของครึ่งหลัง ‘โลกความจริงมันไม่ได้สวยงาม แล้วทำยังไงให้ชีวิตมีความสุข? … ก็ด้วยเสียงดนตรีนี่แหละ’

มีหลายอย่างที่หนังเปลี่ยนไปจากเรื่องจริง อาทิ ในความจริงเด็กๆมี 10 คน แต่ในหนังมี 7 คน (จะเยอะไปไหน), เหตุที่ Maria มาทำงานที่บ้านของ von Trapp ไม่ใช่เป็นผู้ดูแลเด็ก (governor) แต่เป็นครูสอนพิเศษเท่านั้น, Maria กับ George แต่งงานกันไม่ใช่เพราะรัก Maria ตัวจริงบอกว่าเธอแค่ชอบ Georg และรักเด็กๆ แต่ไม่ได้ถึงขั้นหลงรัก, ส่วน Georg แต่งงานกับ Maria เพราะต้องการคนเลี้ยงดูลูกๆเท่านั้น, ฉากตอนจบ จริงๆแล้วครอบครัวนี้หนีไปทางรถไฟ ไม่ได้หนีโดยเดินข้าม Austrian Alps เหตุที่ถูกเปลี่ยนก็เพื่อล้อกับตอนต้นเรื่อง ที่หญิงสาวร้องเพลงบนเนินเขา

บทเพลงเปลี่ยนโลกได้อย่างไร? ผมไม่ขอตอบคำถามนี้นะครับ คำตอบอยู่ในหนังแล้ว ใบ้ให้ว่าค้นหาสิ่งที่บทเพลงมีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน จะพบว่ามีหลายระดับ เริ่มจากตัวเอง คนรอบข้าง ครอบครัว และจบที่สังคม, ถ้าคุณเข้าใจถึงระดับสุดท้าย ก็จะน่าจะรับรู้ได้แล้ว ว่าบทเพลงเปลี่ยนแปลงโลกได้ยังไง

The man that hath no music in himself,
Nor is not moved with concord of sweet sounds,
Is fit for treasons, stratagems and spoils;
The motions of his spirit are dull as night
And his affections dark as Erebus:
Let no such man be trusted. Mark the music.

ชนใดไม่มีดนตรีกาล
ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ
เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์
ฤๅอุบายเล่ห์ร้ายขมังนัก
มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
อีกดวงใจย่อมดำสกปรก
ราวนรกเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้
เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ

จัดเรตทั่วไป เด็กเล็กๆดูได้ และอาจได้ยินร้องเพลงตามด้วย

คำโปรย : “The Sound of Music คือหนังที่จะทำให้คุณเข้าใจว่า บทเพลงเปลี่ยนโลกได้อย่างไร”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: