The Spirit of Beehive

The Spirit of the Beehive (1973) Spain : Víctor Erice ♥♥♥♥

ถ้าคุณเป็นเด็กหญิงอายุ 6 ขวบ ได้ยินเสียงโครมคราม เดินเข้าไปในห้องเห็นพี่สาวนอนแน่นิ่งอยู่กับพื้น เก้าอี้ล้ม กระถางต้นไม้ตกพื้นแตก เป็นคุณจะคิดอะไร ยืนมองด้วยความสงสัย เช็คดูลมหายใจ เขย่าปลุกให้ตื่น กับ Ana เด็กหญิงในหนัง เธอยังไม่รู้ว่าการตายคืออะไร ไม่รู้จะต้องรู้สึกอะไร ทำตัวยังไง ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสานี้คือความสวยงามที่เจ็บปวดที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

หนังสัญชาติสเปนเรื่องแรกที่ผมจะรีวิวนี้ เรียกได้ว่าเป็นระดับ Masterpiece ที่ดูยากเรื่องหนึ่ง แต่มีความงดงามในระดับที่ว่า Breathtaking ทำเอาผมหายใจไม่ออก ภาพติดตาหลอนไปเป็นวันเลย โดยปกติจะไม่ค่อยมีหนังเรื่องไหนที่กล้าเล่าเกี่ยวกับเด็กน้อยที่มีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แล้วเอามาปู้ยี้ปู้ยำเสียจน… ผมเคยเห็นอยู่เรื่องหนึ่ง Pan’s Labyrinth (2006) หนัง Dark Fantasy อิงเทพนิยาย Fairy Tale เป็นหนังภาษาสเปนโดยผู้กำกับ Guillermo del Toro (ชาว Mexico) ซึ่งเห็นว่าได้แรงบันดาลของหนังมาจาก The Spirit of the Beehive นี่เองนะครับ

Víctor Erice ผู้กำกับสัญชาติสเปน ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักเสียเท่าไหร่ เขากำกับหนังแค่ 3-4 เรื่องเท่านั้น Roger Ebert นักวิจารณ์หนังชื่อดังของอเมริกา เปรียบเทียบ Erice กับ Charles Laughton ผู้กำกับหนังเรื่อง The Night of the Hunter (1955) ทั้งชีวิตของ Laughton กำกับหนังแค่เรื่องเดียวเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นหนังระดับ Masterpiece ที่เยี่ยมยอดที่สุด (เป็นหนังเรื่องโปรดของ Ebert) ส่วนตัวคิดว่า Erice ยิ่งใหญ่กว่า Laughton อีกนะครับ ผมเปรียบเทียบความยอดเยี่ยมของ The Spirit of the Beehive ได้กับ The Rules of the Game ของ Jean Renoir โดยเฉพาะใจความแฝงที่ใช้ความไร้เดียงสาของอะไรบางอย่าง เทียบกับระดับที่สูงกว่า (อาทิ การเมืองและสงคราม) โดยเฉพาะสัมผัสที่ลึกซึ้ง มีความสวยงาม และต้องใช้การตีความอย่างมากเพื่อเข้าใจได้

ใจความหลักของหนังคือการเสียดสีผู้นำเผด็จการของสเปน Francisco Franco (เรียกตัวเองว่า El Coudillo – ท่านผู้นำ) ต่อการปกครองที่มีความเข้มงวด และใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมกับผู้ต่อต้าน จอมพล Franco ได้กลายเป็นผู้นำสเปนหลังเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะจากสงครามกลางเมืองของฝ่ายชาตินิยม ตั้งแต่ 30 มกราคมปี 1938 เขาวางรากฐานระบบการปกครองแบบเผด็จการ และไม่ยอมลงจากอำนาจ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 20 พฤศจิกายนปี 1975, ผู้กำกับ Erice เริ่มสร้างหนังในปี 1972 ขณะที่จอมพล Franco เริ่มล้มป่วยเพราะชราภาพ เมื่อสร้างเสร็จก็เก็บไว้ ยังไม่สามารถฉายในประเทศได้เพราะถูกมองว่าเป็นการเข้าข้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาล จึงได้แต่เอาไปฉายตามเทศกาลหนังซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก, ภายหลังได้ฉายในประเทศ เพราะกองเซ็นเซอร์มองหนังเรื่องนี้เป็นแนว Art-House คงไม่มีใครคิดจะดู ถึงดูก็อาจไม่เข้าใจ (อารมณ์ ดูถูกคนดูเหมือนกองเซ็นเซอร์บ้านเราเลย)

เกร็ดความรู้: หลังจากที่จอมพล Franco เสียชีวิตไปได้เพียง 2 ปี การปกครองของสเปนได้เปลี่ยนจากระบอบเผด็จการเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข จะเรียกได้ว่า ความเป็นเผด็จการของสเปนได้หมดสิ้นหายไปจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นอีกเลย

Beehive หรือรังผึ้ง มีลักษณะการปกครองที่เป็นระเบียบเคร่งครัด มีนางพญาที่คอยออกคำสั่งตัวเดียวเท่านั้น ผึ้งงานและผึ้งทหารจะต้องทำตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด นี่คือสเปนในยุคเผด็จการของจอมพล Franco, รังผึ้งสีเหลือง สีเดียวกับธงชาติของสเปน ดูเหมือนบังเอิญนะครับ, ในหนังเราจะเห็นหน้าต่าง ประตูบ้านถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายหกเหลี่ยม Hexagonal แบบเดียวกับรังผึ้ง กระจกสีเหลืองและโทนสีในบางฉาก(ก็สีเหลือง) นี่ก็ชัดเจนเลย คือ รังผึ้งที่เปรียบได้กับประเทศสเปน

กระนั้นเรื่องราวของหนัง เป็นเรื่องราวเกี่ยวของครอบครัวหนึ่ง ในหมู่บ้านที่ห่างไกล เราจะเห็นผืนดินที่แห้งแล้งและกว้างไกล ครอบครัว 4 คน ประกอบด้วยพ่อแม่ และลูกสาวสองคน ลูกคนเล็กชื่อ Ana อายุ 6 ขวบ, พี่สาวชื่อ Isabel ที่น่าจะแก่กว่า 1-2 ปี, พ่อเป็นคนเลี้ยงผึ้ง และแม่ที่ไม่รู้วันๆทำอะไร, ใจความของหนังคือ เรื่องราวการเติบโตของ Ana เพื่อค้นหาและเข้าใจความหมายของชีวิต การเกิด, การตาย, ตายแล้วไปไหน, วิญญาณคืออะไร มีจริงไหม, ความใคร่รู้ใคร่สงสัยนี้เป็นเหตุให้เธอได้ตัดสินใจทำอะไรหลายๆอย่าง และคำตอบที่ได้มันทำให้เธอเข้าใจชีวิตมากขึ้น

นำแสดงโดย Ana Torrent รับบท Ana ปัจจุบันเธอโตเป็นสาว(วัยกลางคนแล้ว) ในบรรดาหนังเกี่ยวกับเด็กที่ผมเคยดูมา Ana Torrent คือนักแสดงเด็กที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว อาจเพราะดวงตาอันไร้เดียงสาของเธอ มันมีเป็นประกายสว่างสดใสที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา วันก่อนได้ดูตัวอย่าง The BFG หนังปี 2016 ของ Steven Spielberg ผมเห็นนักแสดงเด็กหญิงแล้วนึกถึง Ana Torrent ขึ้นมาทันทีเลย โดยเฉพาะดวงตาอันใสซื่อบริสุทธิ์ ที่ไม่มีความคิดชั่วร้ายใดๆหลบซ่อนอยู่เลย, Torrent โตขึ้นมายังรับงานแสดงอยู่นะครับ เห็นว่าเธอเคยเล่นหนังเรื่อง The Other Boleyn Girl (2008) ประกบ Natalie Portman และ Scarlett Johansson ด้วย แต่ได้ยินว่าไม่มีหนังเรื่องไหนที่จะสมบทบาท ยอดเยี่ยมได้เท่ากับบท Ana ได้อีกแล้ว, ความใสซื่อไร้เดียงสาของ Ana เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในสเปน (ที่เกิดยุค 1940s) ที่เติบโตขึ้นภายใต้ยุคคอรัปชั่นของผู้นำเผด็จการ พวกเขาถูกปลูกฝังด้วยภาพลักษณ์ผิดๆ โดยหาได้รู้ความจริงที่เกิดขึ้นไม่

พี่สาว Ana นำแสดงโดย Isabel Telleria รับบท Isabel (ชื่อนักแสดงในหนังเรื่องนี้ คือชื่อจริงของผู้รับบทเลยนะครับ) พี่สาวที่ไม่รู้โตกว่า Ana เท่าไหร่ แต่โตพอที่จะสามารถเข้าใจอะไรหลายๆอย่างและเป็นที่พึ่งของน้องสาวได้ ตอนที่ Ana ถามคำถามพี่สาวเกี่ยวกับ Frankenstein เราจะรู้ได้เลยว่า Isabel โกหก นี่คือนิสัยของผู้นำสมัยนั้นนะครับ ตัวละครนี้ได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็น Nationalism (ชาตินิยม) ซึ่งขณะนั้นรัฐบาล ผู้นำคอรัปชั่น นักการเมืองต่างก็แสวงหาแต่ผลประโยชน์เข้าตนเอง บิดเบือนทุกสิ่งทุกอย่าง

พ่อ นำแสดงโดย Fernando Fernán Gómez หนึ่งในนักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบทคนสำคัญของสเปน ปู่แกเสียชีวิตไปเมื่อ 2007 ในหนังเรื่องนี้ พ่อเป็นคนเคร่งครึม จริงจัง แต่เขาไม่ค่อยพูดอะไร มีหน้าที่เป็นคนเลี้ยงผึ้ง มีชีวิตไปวันๆโดยไม่คาดหวังอะไร, สำหรับ แม่ นำแสดงโดย Teresa Gimpera ตัวละครนี้เหมือนว่าเธอจะจมอยู่กับอดีต เขียนจดหมายถึงคนรักเก่า ที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ด้วยความที่ว่า แม้จะไม่สามารถเอาความทรงจำเก่าๆกลับคืนมาได้ แต่ก็อยากเจอหน้าอีกสักครั้ง “Though nothing can bring back the happy moments we spent together, I pray that God grant me the joy of seeing you again.” การเปรียบเทียบก็ชัดเจนนะครับ พ่อคือผู้นำ ชื่อ Fernando ก็ตรงตัวเลยว่าสื่อถึงใคร, ส่วนแม่ที่จมอยู่กับอดีต ก็คือกลุ่มคนยุคก่อนที่ไม่สามารถทำอะไรได้แล้วโหยหาอิสระเสรี รู้ทั้งรู้ว่ามันคงเป็นไม่ได้ จึงได้แต่หวังว่ายุคเผด็จการจะยุติลงในไม่ช้า

นอกจากการแสดงของ Ana Torrent แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เด่นมากๆ คือการถ่ายภาพของ Luis Cuadrado การตั้งกล้องไว้เฉยๆ แล้วให้นักแสดงเดินหรือวิ่งไปจากด้านหนึ่งไปด้านหนึ่ง ไม่รู้นานแค่ไหนที่ตั้งทิ้งไว้แบบนั้น คนสมัยใหม่มักมีอคติต่อเทคนิคแบบนี้ เรียกว่า low-pace ช้าจนน่าหลับ ผมก็เกือบหลับครับ แต่พอถึงฉากหนึ่งก็หลับไม่ลงอีกเลย, การถ่ายภาพของ Cuadrado นักวิจารณ์ให้คำนิยามคล้ายๆกันว่า “bathes his frame in sun and earth tones” ผมไม่รู้จะแปลว่าอะไรดี ขอเปรียบเทียบแบบนี้แล้วกัน กับฉากที่ถ่ายภายนอก เห็นพื้นดินลูกรังที่กว้างขวาง (คล้ายๆกับ Yellow Earth) สภาพบ้านที่เป็นซากปรักหักพัก ให้ความรู้สึกที่ขลุขละ เหมือนจิตใจที่แข็งกระด้าง ไม่มีความอ่อนโยนอยู่เลย, ส่วนฉากภายใน บ้านที่กว้างใหญ่ ประตูที่มากมาย แต่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย เปรียบเหมือนจิตใจที่ว่างเปล่า การถ่ายภาพให้ความรู้สึกโหวงเวง วังเวง เปล่าเปลี่ยว, โทนสีของหนัง ฉากในบ้านหลายครั้งเราจะเห็นโทนสีเหลือง โดยเฉพาะฉากตอนเช้า เหมือนว่า Caudrado ถ่ายโดยใช้แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านกระจกหกเหลี่ยมสีเหลือง ทำให้เห็นภาพเป็นโทนสีเหลือง, นี่ถือว่าไม่ธรรมดามากๆนะครับ ระดับเดียวกับ Freddie Young เลย

การตัดต่อโดย Pablo G. del Amo ในบางครั้ง long-take ยาวเกินไป หนังใช้การเฟดเพื่อเร่งความเร็วหนังขึ้นนิดนึง, ในเวอร์ชั่นแรกๆของหนัง เห็นว่าจะมีบทบรรยายของ Ana ตอนโต เล่าจากความทรงจำเพื่ออธิบายเหตุการณ์หลายๆอย่าง แต่ผู้กำกับตัดส่วนนั้นออกไปหมดเลย ทำให้ครึ่งหลังเราแทบจะไม่ได้ยินเสียงตัวละครพูดคุยกัน นานมากๆไม่รู้กี่นาที ผมเชื่อว่าคนดูหลายๆคนคงอึดอัดมากๆ เพราะมันมีแต่การแสดงล้วนๆ จึงเริ่มเกิดความไม่เข้าใจ อีกทั้งเหตุการณ์บางอย่างก็เกิดขึ้นแบบปุปปับ อยู่ดีๆก็เกิด ไม่ทันให้เราตั้งตัวได้ การทำแบบนี้ผมรู้สึกว่าเป็นการยกระดับจากการเป็นหนังที่อาจดูธรรมดาๆ กลายเป็นระดับตำนานเลย ดูยากหน่อย แต่เชื่อว่าคนมีประสบการณ์ดูหนังสูงๆย่อมสามารถเข้าใจหนังได้แน่, มีหลายอย่างที่ดูเหมือนถูกตัดไป เช่น หลังจากที่ Ana เจอกับเห็ดพิษ เธอจ้องมอง แล้วหนังตัดไปฉากอื่น ไม่เฉลยว่าเธอทำอะไรกับมัน เมื่อตัดกลับมา เป็นตอนกลางคืน ราวกับเป็นฉากในฝัน Ana เจอกับ Monster ที่หน้าตาคล้ายๆกับสัตว์ประหลาดใน Frankenstein นี่มันตัวละครในหนังไม่ใช่เหรอ จะโผล่มามีตัวตนในโลกจริงๆได้อย่างไร (ฉากนี้ผมคิดว่า เธอกินเห็นพิษแล้วเห็นภาพหลอนนะครับ)

เกร็ดหนัง: มีคนนั่งนับนะครับ ว่าหนังเรื่องนี้มีทั้งหมด 1000 ช็อต เป็นถ่ายภายใน 500 ช็อต และภายนอก 500 ช็อต

เพลงประกอบโดย Luis de Pablo เห็นว่าเขาใช้เพลง traditional children’s song เป็นตีมหลัก ผสมกับเครื่องดนตรี เช่น ฟลุต ทำให้เกิดบรรยากาศหลอนๆ การเอา traditional song มาใช้ เหมือนการเอาหนังสือเทพนิยายเด็กอันสดใส มาใส่ภาพความจริงที่โหดร้าย, ผมอ่านเจอว่าหนังในสเปนสมัยก่อน มักจะไม่ใช้การอัดเสียงขณะถ่ายทำ แต่จะใช้การพากย์ทับภายหลัง เสียงเด็กๆที่ได้ยินในหนัง มักจะเป็นผู้ใหญ่พากย์ทับ นี่แสดงถึงความล้าหลังของวงการภาพยนตร์ของสเปน ที่มาจากการปกครองระบอบเผด็จการที่กีดกันความก้าวหน้าหลายๆอย่าง ปัญหานี้ทำให้ผู้กำกับ Erice แก้ปัญหาโดยให้หนังมีประโยคคำพูดน้อยที่สุด (เหตุนี้ครึ่งหลังของหนังจึงไม่ค่อยได้ยินเสียงพูดนะครับ)

นี่เป็นหนังครอบครัวที่น่าเศร้า คนดูเหมือนถูกหลอกด้วยภาพวาดของเด็กๆตอนต้นเรื่อง ว่าน่าจะมีเรื่องราวที่สวยสดงดงาม แต่จริงๆแล้วใจความของหนังมันช่างโหดร้ายและรุนแรง ในหนังพ่อ-แม่ และลูกสาวทั้ง 2 แทบจะไม่คุยกันเลย ไม่เคยอยู่ร่วมฉากกันด้วย เว้นเพียงฉากกินข้าวเท่านั้นที่ทั้ง 4 จะได้อยู่ร่วมฉากเดียวกัน แต่ละคนก็มีเรื่องราว มีปัญหาของตัวเอง ไม่พึ่งพาใคร จะมีก็แต่ Ana ช่วงแรกๆที่เธอยังไม่สามารถเข้าใจอะไรเองหลายๆอย่างได้ คนที่เธอเลือกพึ่งพาคือพี่สาว Isabel ที่ดูแล้วก็ไม่น่าพึ่งพาได้เลย ฉากที่ Isabel แกล้งตาย เป็นอะไรที่ช็อคโลกมากๆ ตอนนั้นผมกำลังง่วงๆใกล้หลับแล้ว พอเจอฉากนี้ตาลุกโพล่ง ตื่นขึ้นทันที เห้ย! หนังจะให้ตัวละครเด็กตายแบบนี้เลยเหรอ ใจผมหล่นวูบหายไปแล้ว แต่พอมาพบว่าเธอแกล้งตาย … เห้ย! (อีกรอบ) นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแกล้งกันนะ เด็กขนาดนั้นอาจจะไม่เข้าใจหรอกว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรแกล้งกัน ผมเห็นใจแทน Ana เลยที่ถูกแกล้งแบบนี้ เป็นผมคงเกลียด Isabel เลิกคบไปเลย (แต่เด็กๆเดี๋ยวก็ลืม) หลังจากนั้นก็จะเห็นว่า Ana ไม่เชื่อ Isabel อีกต่อไป, ไม่พึ่งพาอะไรเธออีก

มีฉากหนึ่งใน Frankenstein ที่ผมเขียนรีวิวไปเมื่อวันสองวันก่อน Monster พบกับเด็กหญิงคนหนึ่งที่สอนให้เขาเล่นโยนดอกไม้ลงน้ำ ด้วยความคิดว่าถ้าโยนเธอลงไป จะสามารถลอยได้เหมือนดอกไม้, ใจความของ Frankenstein คือ Horror และการกระทำของ Monster แสดงถึงความไร้เดียงสาต่อโลก นี่สะท้อนเข้ากับเรื่องราวของ The Spirit of the Beehive ได้อย่างลงตัว เป็นตัวเลือกที่เข้ากันสุดๆ เด็กหญิงผู้ไร้เดียงสา Ana เธอไม่รู้จักความตาย ไม่รู้จักวิญญาณ ไม่รู้จักสัตว์ประหลาด สักกลางเรื่องเธอได้เข้าใจคำว่า Horror ทำให้จิตใจของเธอโตขึ้น (แม้ตัวจะไม่โตขึ้นก็เถอะ) เริ่มเข้าใจอะไรๆมากขึ้น เหมือน Monster ใน Frankenstein ที่ค่อยๆมีพัฒนาการเข้าใจโลกมากขึ้น

ภาพลักษณ์ภายนอกของ Frankenstein คือความน่ากลัว แต่จิตใจของเขาเหมือนเด็ก นี่น่าจะเป็นภาพกลับกันที่ใช้เปรียบเทียบกับรัฐบาลของสเปน ที่ภายนอกกลับสร้างภาพให้สวยงาม แต่ข้างในชั่วช้า ร้ายกาจ ตอนผมดู The Spirit of the Beehive จำไม่ได้ว่า Frankenstein มีเรื่องราวอย่างไร จึงรีบไปหาดู และเขียนรีวิวก่อน เพื่อจะสามารถเปรียบเทียบและอธิบายใจความของหนังเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้น ผมแนะนำให้หา Frankenstein (1931) มาดูก่อนนะครับ จะเห็นอะไรที่มีความคล้ายกันอยู่ด้วย และเราสามารถเข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย

ข้อสังเกต: ฉากที่ Ana เจอกับ Monster จะเห็นว่าเป็นริมน้ำ คล้ายๆกับฉากนั้นในหนังเรื่อง Frankenstein

ในบริบททางการเมือง Ana เธอเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในสเปน ที่เกิดในยุคสมัยการปกครองของจอมพล Franco พวกเขาถูกรัฐบาลสร้างภาพความเข้าใจผิดๆถูกๆมากมาย การได้เข้าใจอะไรบางอย่างเปรียบกับการได้พบความจริงที่รัฐบาลซุกซ่อนเอาไว้ แม้มันจะเป็นแค่บางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด แต่มันก็ทำให้เกิดความบ้าคลั่ง เหมือนที่ Ana เป็น เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธอหนีออกจากบ้าน เพราะกลัวที่จะถูกทำโทษ ในความเป็นจริง คนที่กลายเป็นกบฎต่อจอมพล Franco โทษเมื่อถูกจับได้ คือ ประหารสถานเดียว มีตัวละครหนึ่งในหนังที่เป็นคนของคณะปฏิวัติที่หลบซ่อนในเพิ้งแห่งหนึ่ง เขาถูกยิงตายเหลือไว้แค่คราบเลือด, ในหนังยังโชคดีที่สุดท้ายพ่อยังตามหา Ana จนพบ และเธอยังไม่ตาย (อาจเพราะกินเห็ดพิษ ทำให้เกิดภาพหลอน) หมออธิบายกับแม่ว่า เด็กอายุน้อยขนาดนี้ สักวันเดี๋ยวก็ลืม (พูดกับแม่ที่วันๆไม่ยอมลืมอดีตคนรักเนี่ยนะ … มีฉากเธอเผาจดหมายตอนหลัง นั่นคือ ต้องลืมให้ได้เพื่อก้าวเดินต่อไป)

ตอนจบ Ana ออกเดินตามหา Monster ด้วยการพูด “It’s me, Ana” (แบบที่ Isabel เคยบอก เพื่อเป็นการเรียกสัตว์ประหลาด) ผมเปรียบเหมือนการทวงคืนความไร้เดียงสาของเธอ ที่ถูกขโมยไปโดย Monster (เหมือนว่าขณะนั้นเธอไม่ไร้เดียงสาแล้ว และต้องการกลับไปเหมือนเดิม) มองอีกแบบที่ตรงกันข้ามก็ได้นะครับ คือ Ana ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ออกตามหา Monster เพื่อกลายเป็นสัตว์ประหลาด, เชื่อว่าเหตุที่จบแบบนี้ เหมือนว่าเป็นการเปิดกว้างต่อยุคต่อไปของสเปน หลังจากจอมพล Franco เสียชีวิตไป ตอนหนังฉายจอมพลยังไม่ตายนะครับ จึงถือว่าหนังมีตอนจบที่เป็นการพยากรณ์อนาคต ว่าสเปนจะเปลี่ยนไป (แนวคิดแรก) หรือยังคงเป็นเผด็จการเหมือนเดิม (แนวคิดหลัง)

ความลึกซึ้งของหนังเรื่องนี้ คงต้องใช้การสังเกตุและความอดทนอย่างมาก ดูจบแล้วยังต้องนั่งคิดวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ ถ้าใครรู้ประวัติศาสตร์สเปนก็อาจจะเห็นใจความแฝงบางอย่างชัดเจนขึ้น ถ้าคุณดูแล้วไม่เข้าใจ ไม่ชอบ ไม่ถือว่าแปลกนะครับ ตอนหนังฉายครั้งแรกในเทศกาลหนัง รู้สึกจะได้เสียงโห่อย่างหนักเลย ไม่ถูกจริตคนดูอย่างมาก แต่พอนักวิจารณ์เห็น ความลึกซึ้งของหนังจึงเริ่มเปิดเผย นิตยสาร Sight & Sound ชาร์ทนักวิจารณ์จัดอันดับ 78, และนิตยสาร Empire จัดอันดับ 23 ในชาร์ท The 100 Best Films Of World Cinema นี่น่าจะการันตีความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ได้นะครับ

ผมไม่แนะนำหนังเรื่องนี้กับนักดูหนังทั่วๆไป เพราะเชื่อว่าคงไม่สามารถซึมซับความสวยงามของหนังเรื่องนี้ได้เต็มๆอยู่แล้ว ขั้นต่ำคือระดับ Professional แนะนำกับคอหนัง Art-House ชอบการคิดวิเคราะห์เยอะๆเพื่อให้เข้าใจหนัง, และคนที่ชอบ Dark-Fantasy เรื่องราวที่มีความมืดหม่น หลอนๆ ดูแล้วอึดอัด อาจจะเห็นประเด็นของหนังมีความน่าสนใจ จัดเรต PG-15 เป็นหนังเด็กที่ไม่เหมาะกับเด็ก

TAGLINE | “The Spirit of the Beehive คือ ประวัติศาสตร์โดยย่อยุคเผด็จการ Franco ของสเปน ในคราบการเติบโตของเด็กน้อยไร้เดียงสา ผลงาน Masterpiece ของ Víctor Erice และสุดยอดการแสดงของเด็กหญิง Ana Torrent”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: