The Spy Who Came in from the Cold (1965) : Martin Ritt ♥♥♥♥
เพื่อตอบโต้กับความเพ้อเจ้อของสายลับมาดเท่ห์ James Bond ในโลกความจริง Richard Burton -กับบทบาทเข้าชิง Oscar: Best Actor- เป็นสปายที่ต้องทำตัวกะล่อนปลิ้นปล้อน โกหกหลอกลวง นกสองหัวเพื่อตลบหลังศัตรูและพวกพ้อง แค่หมากตัวหนึ่งในกระดาน ไร้ซึ่งสามัญสำนึกมโนธรรม ทำตามคำสั่งหน้าที่จากผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ความเป็นตายก็เช่นกัน
“What the hell do you think spies are?”
John le Carré ชื่อจริง David John Moore Cornwell (เกิดปี 1931) สัญชาติอังกฤษ เจ้าของนิยายต้นฉบับ The Spy Who Came in from the Cold (1963) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง/ระหว่างสงครามเย็น เข้าร่วมหน่วยข่าวกรอง (Intelligence Corps) ทำงานให้กับ MI5 และ MI6 เคยประจำการอยู่ West Berlin พบเห็นขณะสองประเทศกำลังสร้างกำแพงแบ่งแยกระหว่างตะวันออก-ตะวันตก (Berlin Wall) ชีวิตสายลับเต็มไปด้วยความเครียด อัดอั้น ทุกข์ทรมานแสนสาหัส ถ้าไม่เพราะได้เขียนนิยายระบายความรู้สึกออกมา คงอาจกลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติแตกแน่แท้ และเพราะเหตุนั้นทำให้เขาต้องออกจากหน่วยข่าวกรอง ซึ่งพอดีกับถูกเปิดโปงรายชื่อจากสายลับสองหน้า KGB ของรัสเซีย [นั่นกลายเป็นแรงบันดาลใจเขียน Tinker Tailor Soldier Spy (1974)]
หลายผลงานทีเดียวของ Carré ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์/ซีรีย์ อาทิ
– The Spy Who Came in from the Cold (1965)
– The Deadly Affair (1966) กำกับโดย Sidney Lumet นำแสดงโดย James Mason
– The Constant Gardener (2005) นำแสดงโดย Ralph Fiennes, Rachel Weisz (คว้า Oscar: Best Supporting Actress)
– Tinker Tailor Soldier Spy (2011) ทำให้ Gary Oldman เข้าชิง Oscar: Best Actor ครั้งแรก
ฯลฯ
ผมเกือบที่จะหลับปุ๋ย ไม่ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เสียแล้วในครึ่งชั่วโมงแรก ช่างมีความอืดอาดยืดยาด เชื่องช้าแสนสาหัส หาวแล้วหาวอีกสัปหงกด้วย! แต่พอหลังจากผ่าน ‘introduction’ จบลงไป เมื่อบางสิ่งอย่างได้รับการเปิดเผย ก็ทำให้ตื่นตาสว่าง ขนลุกสยิวกาย หัวใจเต้นระริกรัวขึ้นมาทันที แบบเดียวกับ The Sting (1973) ความเจ๋งเป้งของหนังคือการหลอกลวงตัวละครและผู้ชม นำไปอีกทิศทางหนึ่งให้หลงเชื่อสนิทใจ จากนั้นพอเฉลยข้อเท็จจริง หักมุมตลบหลังแบบคาดไม่ถึง, ผมจะพยายามอย่างเต็มที่ไม่สปอยจุดหักมุมนี้นะครับ
สองสิ่งน่าทึ่งสุดๆของ The Spy Who Came in from the Cold คือการนำเสนอข้อเท็จจริงของการเป็นสายลับ ที่ถือว่าสั่นสะเทือนความเพ้อฝันหวานโลกสวยของผู้ชมสมัยนั้น (ที่จดจำจากสายลับ James Bond) และการแสดงอันโคตรสมจริงของ Richard Burton นักวิจารณ์หลายสำนักยกให้คือผลงานยอดเยี่ยมที่สุด
Martin Ritt (1914 – 1990) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ครอบครัวเชื้อสาย Jews สมัยเด็กชอบเล่นฟุตบอลตั้งใจจะเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่เพราะการมาถึงของยุคสมัย Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชีวิตยากเข็นเหนื่อยหน่ายใจ โรงละครภาพยนตร์เท่านั้นคือสิ่งผ่อนคลาย เลยตัดสินใจมาด้านการแสดง เข้าร่วมกลุ่มละครเวที Group Theater เคยร่วมงานผู้กำกับ Elia Kazan เรียนรู้จักเทคนิค Method Acting (ที่กำลังได้รับการพัฒนา) รวมถึงอิทธิพลการเมืองจากกลุ่มซ้ายจัดและคอมมิวนิสต์, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสมัครเป็นทหารอากาศ นำการแสดง Broadway สู่กองทัพ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ทหารหาญ, ต่อมากลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โทรทัศน์ ลี้ภัยสู่อังกฤษตอน Hollywood Blacklist ทศวรรษถัดมาสร้างหนังเรื่องแรก Edge of the City (1957), โด่งดังกับ The Long, Hot Summer (1958), Hemingway’s Adventures of a Young Man (1962), Hud (1963) ** เข้าชิง Oscar: Best Director, The Spy Who Came in from the Cold (1965), Norma Rae (1979) ฯ
ขอพูดถึงนิยาย The Spy Who Came in from the Cold ต่ออีกสักนิด ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน’ปฏิวัติ’ของแนว Spy/Espionage เพราะการนำเสนอความสมจริงที่แตกต่าง มุมมองของสายลับยังไม่เคยถูกนำเสนอจากไหน ด้วยเหตุนี้เลยได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม กลายเป็น Best-Selling คว้ารางวัล Best Crime Novel จาก Crime Writers’ Association ตามด้วย Edgar Allen Poe Award จาก Mystery Writers of American และติดอันดับ All-Time 100 Novels ของนิตยสาร TIME
ด้วยความสำเร็จอันล้นหลามของนิยาย มีหรือโปรดิวเซอร์สร้างภาพยนตร์จะรีรอช้า ทั้งยังแฟนไชร์ James Bond ตั้งแต่ Dr. No (1962) ตามมาด้วย From Russia With Love (1963), Goldfinger (1964) สร้างความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ว่าหนังแนวสายลับกำลังมีอนาคตสดใส, ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Guy Trosper และ Paul Dehn รายหลังคือผู้พัฒนาบท Seven Days to Noon (1950), Goldfinger (1964), Murder on the Orient Express (1974) ฯ ถือว่ามีความเชี่ยวชำนาญแนวสายลับเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับการดัดแปลงมีความซื่อตรงต่อนิยายมากๆ ผู้เขียน John le Carré ยังได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย แต่มีสิ่งหนึ่งต้องเปลี่ยนไปคือชื่อของนางเอก Liz Gold เพราะอาจทำให้ผู้ชมเข้าใจผิดคิดว่า Burton แสดงประกบภรรยา Elizabeth Taylor (ใครๆมักเรียกเธอว่า Liz) เลยกลายมาเป็น Nan Perry
เรื่องราวเกิดขึ้นปี 1962 หลังกำแพงเบอร์ลินสร้างเสร็จปีกว่าๆ, Alec Leamas (รับบทโดย Richard Burton) เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองประจำ West Berlin ถูกเรียกตัวกลับ London เพื่อเลื่อนขั้นลดงาน ให้นั่งเก้าอี้เซ็นเอกสารในแต่เจ้าตัวขอปฏิเสธยืนกรานว่ายังทำงานภาคสนามได้อยู่ ทำให้ถูกขับไล่ออกตกงาน สภาพจิตใจหดหู่ตกต่ำ หันพึ่งสุราติดแอลกอฮอล์อย่างหนัก ได้งานใหม่เป็นคนจัดเรียงหนังสือ ค่าจ้างไม่กี่สิบเหรียญต่อสัปดาห์ วันหนึ่งเมามายอาละวาดทำร้ายร่างกายผู้อื่น โดนจับติดคุกไม่ขอทนายหรือยื่นประกันตัว ออกมาไปเข้าตาหน่วยข่าวกรองของ East German พร้อมจ่ายเงินแลกข้อมูลบางอย่าง เนื่องจากไม่มีอะไรจะเสียแล้วกลายเป็นคนทรยศขายชาติคงไม่ผิดอะไร!
Richard Burton ชื่อจริง Richard Walter Jenkins Jr. (1925 – 1984) นักแสดงสัญชาติ Welsh เกิดที่ Pontrhydyfen, Neath Port Talbot ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการขับร้องเพลง เคยชนะเลิศการประกวดของโรงเรียน นอกจากนี้ยังหลงใหลในบทกวี วรรณกรรม ได้ทุนการศึกษา แต่จำต้องลาออกในช่วงสงครามเพราะครอบครัวแทบจะไม่มีอันจะกินอยู่แล้ว พออายุถึงสมัครทหารอากาศ แทนที่จะได้ขับเครื่องบินกลับเป็นนักแสดงละครเวที เริ่มมีชื่อเสียงจากบทละคร Shakespeare หลังสงครามไปเข้าตาผู้กำกับ Emlyn Williams ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Last Days of Dolwyn (1949) แม้ไม่ประสบความสำเร็จทำเงิน แต่ก็ถูกจับตามองอย่างสูง ค่อยๆสะสมชื่อเสียงจนมุ่งสู่ Hollywood กับ My Cousin Rachel (1952), The Robe (1953), ระหว่างนั้นก็ไม่ทิ้งละครเวที โด่งดังจนกลายเป็นตำนานของ Broadway, เข้าชิง Oscar: Best Actor ทั้งหมด 7 ครั้ง ไม่เคยคว้ารางวัล Becket (1964), The Spy Who Came in from the Cold (1965), Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966), Anne of the Thousand Days (1969), Equus (1977) ฯ
รับบท Alec Leamas อายุประมาณ 39-40 ปี (ในนิยายอายุ 50 แต่ปรับลดเพื่อให้เข้ากับอายุจริงของ Burton) สังเกตจากสีหน้าท่าทางเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยหน่ายอ่อนล้า เลยไม่แปลกจะถูกเรียกตัวกลับสำนักงานใหญ่ของหน่วยข่าวกรอง เพื่อยื่นตำแหน่งงานบนโต๊ะให้พักผ่อน แต่เจ้าตัวปฏิเสธเสียงขันแข็ง กลับกลายเป็นว่าหลังจากนั้นยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม กลายเป็นคนติดเหล้า อารมณ์ฉุนเฉียว พยายามปฏิเสธไม่รับรักสาวแรกรุ่น Nan Perry (รับบทโดย Claire Bloom) เพราะแท้จริงแล้วมีบางสิ่งอย่างที่เขาต้องทำให้สำเร็จลุล่วงลงก่อน
ใบหน้าอันเเหน็ดหนื่อยหน่ายเบื่อโลกของ Burton มันคือภาพลักษณ์ติดตัวเขาเลยนะ ทั้งๆพลังในการแสดงของพี่แกมากล้นเต็มเปี่ยม สะสมประสบการณ์จากการแสดงละครเวทีจนกลายเป็นยอดฝีมือ ก็ยังสามารถหลบซ่อนเร้น ทำให้ผู้ชมหลงเชื่อได้อย่างสนิทใจ จนวินาทีที่ความจริงได้รับการเปิดเผย น้อยคนจะคาดเดาได้ว่านั่นคือการเล่นละครตบตา ช่างมีความสมจริงแนบเนียนเป็นธรรมชาติเสียกระไร!
เพื่อเพิ่มความสมจริงในการแสดงยิ่งๆขึ้นไปอีก Burton ไม่สุงสิงเล่นหัวกับเพื่อนนักแสดง หาเรื่องทะเลาะขัดแย้งกับผู้กำกับ Ritt หลายครั้ง เพื่อสร้างบรรยากาศอันตึงเครียดหนักอึ้งในกองถ่าย และโดยเฉพาะกับนางเอก Claire Bloom อดีตคนรักเก่า ปัจจุบันเจ้าตัวแต่งงานอยู่กินกับ Elizabeth Taylor พยายามอย่างสุดๆในการรักษาระยะห่าง กอดจูบเข้าฉากในหนังเสร็จรีบหนีเข้า Trailer แอบน่าสงสารเห็นใจแทน
Patricia Claire Blume (เกิดปี 1931) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Finchley, Middlesex ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจากรัสเซีย โตขึ้นเข้าเรียน Badminton School ก่อนเปลี่ยนมาการแสดงที่ Guildhall School of Music & Drama ตามด้วย Central School of Speech and Drama หลังสงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้นไม่นานนักก็ได้เป็นนักแสดงนำ ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงพอสมควร ขณะที่ภาพยนตร์เริ่มต้นกับ The Blind Goddess (1948), พลุแตกจากการประกบ Charlie Chaplin เรื่อง Limelight (1952), มุ่งสู่ Hollywood อาทิ Richard III (1955), Alexander the Great (1956), The Brother Karamazov (1958), The Buccaneer (1958), The Haunting (1963), The Outrage (1964), A Doll’s House (1973), Crimes and Misdemeanors (1989) ฯ
รับบท Nan Perry บรรณารักษ์สาวผู้โดดเดี่ยว พบเห็น Alec Leamas แม้จะสูงวัยแต่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเหมือนกัน เลยเอ่ยปากชักชวน อ่อยเหยื่อจนเขาเริ่มใจอ่อน แม้ตัวเธอมีอุดมการณ์ยึดมั่นในความเสมอภาคเท่าเทียมของคอมมิวนิสต์ แต่ก็กำลังจะได้รับการพิสูจน์เมื่อความจริงเกี่ยวกับตัวเขาถูกเปิดเผยออก จะยังสามารถรักต่อไปได้หรือไม่
เป็นการแสดงที่จัดจ้าน เร่าร้อน รุนแรงสุดๆของ Bloom โดยเฉพาะทรงผมบ๊อบหน้าม้า สะท้อนถึงความเฟี้ยว แก่นแก้วเด็ดเดี่ยว หนักแน่นในอุดมการณ์ความต้องการของตนเอง แต่แปลกที่กลับเลือกทำงานจมกองหนังสือ (คงต้องการสื่อถึงลักษณะ ‘เสือกระดาษ’ หนักแน่นปากจัดในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายแล้วในทางปฏิบัติก็มิสามารถทำได้เกิดประโยชน์จริง) ลีลาการอ่อยเหยื่อของเธอคงแบบว่า นำจากประสบการณ์ครั้งเก่าก่อน นี่ทำเอาผมทรมานใจแทน Burton จะหักห้ามตนเองไม่ตกหลุมอดีตคนรักได้อย่างไร!
เห็นว่าที่ Bloom กล้าแสดงออกอย่างจัดจ้าน เร่าร้อนรุนแรงเว่อเช่นนี้ เพราะเธอรู้ตัวว่า Burton ไม่สามารถหวนกลับคืนสู่ความสัมพันธ์นั้นกับตนได้ เลยเสมือนการกลั่นแกล้งเอาคืน ให้สาสมกับที่เคยรักกับตนแบบไม่หวาดหวั่นเกรงกลัวอะไร (เห็นว่า Elizabeth Taylor ก็มานั่งเฝ้ารอในกองถ่ายอยู่เรื่อยๆ)
Oskar Josef Bschließmayer (1922 – 1984) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna เติบโตขึ้นในการเลี้ยงดูของย่าทวดที่ชอบเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Burgtheater โรงละครเวทีที่เคยทำงานเมื่อครั้นยังสาว ตัวเขาเลยเกิดความใฝ่ฝัน พออายุครบ 18 ปี ได้กลายเป็นนักแสดงสมใจ, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองถูกจับฉลากให้กลายเป็นทหาร Deutsche Wehrmacht แต่ตัดสินใจหลบซ่อนตัวกับภรรยาอยู่ที่ Wienerwald จนจบสงคราม หวนกลับมาเป็นนักแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Der Engel mit der Posaune (1948), มักได้รับบทสมทบ อาทิ Decision Before Dawn (1951), Jules and Jim (1962), Fahrenheit 451 (1966), The Shoes of the Fisherman (1968), Voyage of the Damned (1976) ฯ โด่งดังสุดคือ The Spy Who Came in from the Cold (1965) และ Ship of Fools (1965) เรื่องหลังได้เข้าชิง Oscar: Best Actor
รับบท Fiedler สายลับชาว Jews ตัวตั้งตัวตีในการซักทอดปากคำของ Alec Leamas เพื่อหาหนทางเอาผิด Hans-Dieter Mundt หัวหน้าหน่วยข่าวกรองลับของ East German (East German Secret Service) โดยอ้างว่าชายคนนี้คือสายลับที่หน่วยข่าวกรองอังกฤษส่งมาเป็นนกสองหัว
หนวดเคราของ Werner ทำเอาจดจำใบหน้าแทบไม่ได้ แต่ก็ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับตัวละครได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะการสนทนาเพื่อโน้มน้าว Alec Leamas ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงบางอย่างออกมา โดยประโยคเด็ดคือ
“Just who the hell do you think you are? How dare you come sniffing in here like Napoleon ordering me about? You are a traitor! Does it occur to you? A wanted, spent, dishonest man, the lowest currency of the Cold War? We buy you – we sell you – we lose you – we even can shoot you! Not a bird would stir in the trees outside. Not even a single pheasant would turn his head to see what fell”.
นี่ถ้าไม่เพราะ Alec Leamas มีเหตุผลของการต้องมาตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ คงได้มีการสวนแลกหมัดกันบ้าง แต่โดยไม่รู้ตัวของทั้งคู่ ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาเป็นหมากตัวหนึ่งในกระดาน หลงคิดว่าตัวเองกำลังเป็นผู้ชนะ ซึ่งเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย …
ถ่ายภาพโดย Oswald Morris ตากล้องยอดฝีมือชาวอังกฤษผู้มีผลงานดังอย่าง Moulin Rouge (1952), Moby Dick (1956), Lolita (1962), Oliver! (1968), Fiddler on the Roof (1971), The Man with the Golden Gun (1974) ฯ
หนังมีการใช้โทนสีขาว-ดำ ที่มีความเข้มกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อสะท้อนลักษณะของสายลับนกสองหัว การกระทำอันไร้ซึ่งดี-ชั่ว ถูก-ผิด มีเพียงภาระหน้าที่ เพื่อประเทศชาติหรือสนองความต้องการของตนเอง
ไดเรคชั่นการถ่ายภาพของหนัง มีลีลาเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆแทบทุกช็อตฉาก แต่มีความเชื่องช้าเอื่อยเฉื่อยกว่าผลงานของผู้กำกับ Max Ophüls มุ่งเน้นถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมามากกว่า
เริ่มต้น Opening Credit ด้วยการถ่ายภาพ Long-Take (ชวนให้นึกถึงหนังเรื่อง Touch of Evil) กล้องเคลื่อนไหลอย่างเชื่องช้าเอื่อยเฉื่อย สร้างบรรยากาศของหนังที่เต็มไปด้วยความอึมครึม ตึงเครียด ผ่านรอยต่อระหว่างกำแพงเบอร์ลิน รับรู้ได้ทันทีว่านี่คือช่วงขณะสงครามเย็น
หลังถูกขับออกจากหน่วยข่าวกรอง Alec Leamas ทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดเล็กๆแห่งหนึ่ง สถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลหนังสือ/นิยาย จริงบ้างเท็จบ้าง ได้รับสาระความรู้/บันเทิงเริงรมย์ และรู้จักหญิงสาวกลายเป็นที่รัก Nan Perry
มีขณะหนึ่งที่ Alec Leamas พูดถามถึงหนังสือ Werewolf แล้วมีการพูดแซวถึงคืนพระจันทร์เต็มดวงจะกลายร่างเป็นหมาป่า นี่สะท้อนเข้ากับสายลับสองหน้า ที่ต้องหลบซ่อนตัวตนแท้จริงภายใต้หน้ากากของคนธรรมดาทั่วไป
(ถ้าใครชอบสังเกตหลอดไฟกลมๆที่ห้อยอยู่เหนือศีรษะ ยามค่ำคืนถ้ามันสว่างจ้า ก็ราวกับจะสื่อได้ถึงพระจันทร์)
หลังจาก Alec Leamas ออกจากคุกเพราะกระทำร้ายร่างกายผู้อื่น เขาได้รับการติดต่อจากองค์กรอะไรสักอย่างพาไปเลี้ยงอาหารกลางวัน ในสถานที่ที่พื้นหลังเต็มไปด้วยภาพวาดนู้ด
ภาพนู้ดก็คือเปลือยเปล่า ไม่ปกปิดภายในของลับของสงวนด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ นี่ก็สื่อถึงความต้องการขององค์กรนี้ที่ติดต่อมา ต้องการให้ Alec Leamas คายความลับ เปิดเผยตัวตนแท้จริงของเขาที่เคยทำงานกับหน่วยข่าวกรองของอังกฤษ
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่ว่า เวทีนี้มันมีลักษณะเหมือนอะไร หอยไข่มุก? ปะการัง? แต่เอาเป็นว่าการเต้นอันยั่วเย้ายวนของหญิงสาวคนนี้ ปลดเปลื้องเสื้อผ้าของตนเองออกทีละชิ้น ก็สื่อถึงความต้องการขององค์กรลึกลับที่ติดต่อหา Alec Leamas เลือกสถานที่นี้เพื่อเป็นการสะท้อนความต้องการ ให้เขาค่อยๆคายความลับของอดีตองค์กรของตนเองออกมา
มันอาจจะคือไข่มุก ที่เปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่าหลบซ่อนอยู่ใต้พื้นท้องทะเล เฉกเช่นเดียวกับความลับบางอย่างของหน่วยข่าวกรองอังกฤษ มีความล้ำค่ายิ่งต่อองค์กรนี้
ช็อตสุดท้ายของฉากนี้ อดไม่ได้ที่ต้องนำมาแนะนำให้สังเกตกัน ภาพสะท้อนของหญิงสาวเห็นซ้อนกันหลายชั้น นี่ก็สื่อถึงลักษณะของสายลับ ผู้มีหลายหน้ากาก หลากใบหน้า และตัวตน แท้จริงแล้วเป็นใครเขาเองอาจเริ่มไม่รับรู้แล้วด้วยซ้ำ
การคุมขังหมาป่า/นักโทษในห้องอันคับแคบ รังแต่จะสร้างความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด พาออกไปเดินเล่นสัมผัสธรรมชาติภายนอกเสียบ้าง อารมณ์เครียดก็จัดผ่อนคลายเบาบางลง (นี่เป็นจิตวิทยาของการพูดคุยสนทนาเลยนะ)
สถานที่ถ่ายทำหลักของหนัง
– ฉากภายในยัง Shepperton Studios, London และ Ardmore Studios, Ireland
– กำแพงเบอร์ลิน สร้างฉากถ่ายทำที่ Dublin, Ireland ไม่สามารถใช้สถานที่จริงได้เลยนะครับ (สถานการณ์ขณะนั้นกำลังตึงเครียดอย่างหนักหน่วยทีเดียว)
– ส่วนทิวทัศน์ภายนอกบินไปที่ประเทศ Netherlands
พื้นหลังที่คือทะเลสาป เทือกเขาสูงใหญ่ ทิวทัศน์สุดลูกหูตา สะท้อนถึงการต่อสู้ของสายลับ ดิ้นรนเอาตัวรอดในธรรมชาติกว้างใหญ่ ศัตรูก็เหมือนสัตว์ป่าจ้องเข้ามาทำร้ายเอาชีวิต ถ้าสามารถเอาชนะได้ก็จักทำให้เกิดความสงบสุขในอาณาบริเวณนั้น
สิ่งน่าสนใจสุดของช็อตในชั้นศาลนี้ ไม่ใช่ตัวละครทั้งหลาย แต่คือมุมกล้องที่หลายครั้งถ่ายติดหลอดไฟห้อยอยู่กลางห้อง แม้จะไม่ค่อยดูเหมือนพระจันทร์สักเท่าไหร่ แต่นั่นมันโครงกระดูก/เขากวาง (Werewolf?) หรืออะไร? อาจสื่อถึงธรรมชาติ/ป่าเถื่อนที่อยู่เหนือความยุติธรรม
ช็อตรองสุดท้ายของ Alec Leamas ภาพพื้นหลังเห็นแสงกลมๆนั่นคือสป็อตไลท์ แต่สามารถตีความได้คือพระจันทร์เต็มดวง วินาทีนี้เขากำลังจะกลายร่างเป็นหมาป่า (Werewolf) ตัวตนแท้จริงได้รับการเปิดเผย ว่าสุดท้ายแล้วจะเลือกฝั่งไหนของกำแพงเบอร์ลิน
สองฝากฝั่งของกำแพงเบอร์ลิน มองในเชิงสัญลักษณ์ก็คือ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด, การเลือกช็อตจบที่ภาพนี้ สะท้อนความหมายของการเป็นสายลับ พวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือกแสดงออกว่าอยู่ฝั่งฝ่ายไหน แต่คือตำแหน่งตรงกึ่งกลางระหว่างสองโลก
ฉากนี้ยังเป็นการพยากรณ์ถึงโลกอนาคตต่อไป จะไม่มีอีกแล้วฝั่งซ้าย-ขวา พระเอก-ผู้ร้าย คนดี-ชั่ว เพราะสงครามเย็นคือชนวนเหตุให้ทุกสิ่งอย่างเบลอเข้าหาจนกลายเป็นสิ่งเดียวกัน ผลประโยชน์เท่านั้นคือสิ่งถูกต้องที่สุด
ตัดต่อโดย Anthony Harvey นักแสดง/ผู้กำกับ/นักตัดต่อ สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่น อาทิ Lolita (1962), Dr. Strangelove (1964), The Spy Who Came in from the Cold (1965), กำกับ The Lion in Winter (1968) ฯ
หนังใช้มุมมองของ Alec Leamas ในการดำเนินเรื่องเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการกระโดดข้ามในบางช่วงขณะสำคัญ เพื่อสร้างความฉงนสงสัยให้กับผู้ชม เกิดเป็นปริศนาค้างคาว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ซึ่งการเฉยก็จะใช้การเผชิญหน้าคำพูดสนทนา ไม่มีย้อนกลับหรือ Flashback
ช่วงขณะของหนังที่ทำการตัดข้ามให้เป็นปริศนา สามารถสังเกตจากเทคนิคเปลี่ยนภาพคือ Fade into Black แต่ถ้าต้องการแค่นำเสนอเวลาเคลื่อนเลยผ่าน จะใช้วิธี Cross-Cutting
ช่วงของการตัดต่อที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง คือตอน Alec Leamas พบปะกับองค์กรลึกลับในผับบาร์แห่งหนึ่ง นั่นมีการสะท้อนนัยยะบางอย่างที่ผมได้อธิบายไปแล้ว แต่ไดเรคชั่นการนำเสนอถือว่ามีลูกเล่นลีลาโดดเด่นไม่น้อย เริ่มต้น-จบฉากด้วยภาพของหญิงสาวกำลังเต้นระบำ กล้องเคลื่อนเข้าหรือออกมุ่งสู่ตัวละครหลักที่เดิน-ออกภายในร้าน ระหว่างพูดคุยก็มีหลายครั้งตัดไปให้เห็นบนเวที และขณะไฮไลท์กำลังเปลื้องผ้า การสนทนาก็ออกรสเข้มข้นทีเดียว
เพลงประกอบโดย Sol Kaplan สัญชาติอเมริกัน หนึ่งใน Hollywood Blacklist ที่แม้ยังทำงานอยู่ในอเมริกา แต่มิได้รับเครดิตประกอบใดๆอยู่เป็นทศวรรษ ผลงานเด่น อาทิ Titanic (1953), Niagara (1953), The Spy Who Came in from the Cold (1965) ฯ
Main Theme ของหนังใช้เพียงเปียโน บรรเลงโดย Sol Kaplan สร้างบรรยากาศอึมครึม ตึงเครียด เต็มไปด้วยเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ซึมเศร้าระทมทุกข์ ยะเยือกเย็นชา หนาวเหน็บไปถึงขั้วของหัวใจ สื่อแทนอารมณ์ความรู้สึกภายในของสายลับ ต้องแบกรักภาระหน้าที่อันหนักอึ้งอยู่ตลอดเวลา เพื่ออะไรกันแน่?
สำหรับ Orchestra พัฒนาไปจาก Main Theme ค่อนข้างมาก แต่ก็ยังให้สัมผัสอันยะเยือกเย็นชา รวดร้าวหนาวเหน็บไปถึงขั้วของหัวใจ ไร้ซึ่งความอบอุ่นสว่างสดใสใดๆพบเจอในหนังเรื่องนี้
การเกิดขึ้นของสงครามเย็น เป็นผลพลอยจากจุดสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะสหรัฐอเมริกาได้สร้างอาวุธสุดร้ายแรง ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ คร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นแสนในช่วงกระพริบตา จริงอยู่มันคือความชัยชนะสุดยิ่งใหญ่เกรียงไกรของมหาอำนาจ แต่ขณะเดียวกันชาติอื่นๆที่วิทยาการต่ำต้อยล้าหลังย่อมไร้ทางสู้ นี่ฉันจะเอาอะไรมาโต้ต่อกรหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนั้นขึ้นกับประเทศของเรา
ในยุคสมัยนั้นเห็นจะมีแต่อเมริกากับสหภาพโซเวียต สองชาติเท่านั้นที่สามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์อันทรงพลานุภาพนี้ จากนั้นทำการเล่นไพ่โป๊กเกอร์ แข่งขันกันอ้างอวดดี ลวงล่อหลอก ขู่ข่มไปมา อาวุธของข้าเจ๋งกว่า เดินทางขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ก่อน ถึงดวงจันทร์แล้วนะ! … เหล่านี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่มีใครรับรู้ได้ มันเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสายลับสองหน้า ถูกส่งตัวเข้าไปสืบค้นหา ล้วงข้อมูลศัตรูฝ่ายตรงข้าม ช่วงชิงความได้เปรียบ เผื่อว่าสงครามโลกครั้งที่สามปะทุขึ้น ย่อมสามารถการันตีชัยชนะ ปกป้องผืนแผ่นดินบ้านเกิดให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์
The Spy Who Came in from the Cold คือภาพยนตร์ที่ทำการตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ‘สายลับ’ บุคคลผู้ปิดทองหลังพระ อาศัยอยู่ในเงามืด บางครั้งถูกจับทรมาน ทำร้ายร่างกายเค้นเอาข้อมูลความลับให้รั่วไหลคายออก หรือต้องทำตัวกะล่อนปลิ้นปล้อน โกหกหลอกลวง นกสองหัวตลบหลังศัตรูและพรรคพวกเดียวกันเอง ทั้งนี้เพื่อความผาสุข สงบเรียบร้อย ประเทศชาติมีความปลอดภัย ประชาชนคนทั่วไปนอนหลับสบาย ไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวต่อภยันตรายจากศัตรูใดๆ
มองมุมหนึ่ง สายลับ คืออาชีพอันทรงเกียรติ กระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อประเทศชาติ เสียสละตนเองให้ผืนแผ่นดินเกิด และประชาชนทั่วไปได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย แต่ขณะเดียวกันการกระทำของพวกเขากลับไร้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่สนถูกผิดศีลธรรม ฆ่าคนตาย โกหกหลอกลวง ทำตัวเป็นนกสองหัว ทรยศหักหลังพวกพ้อง ฯ กระนั้นทุกสิ่งอย่างที่กล่าวนี้ ล้วนเป็นไปตามหน้าที่คำสั่งเบื้องบน เสมือนหุ่นยนต์มีเนื้อหนังมังสาคือมนุษย์ แต่ไร้ซึ่งความคิดจิตใจแสดงออก
เช่นนั้นแล้วเมื่อพูดถึงการเป็นสายลับ เราควรจะยกย่องสรรเสริญหรือปฏิเสธต่อต้านกันแน่? นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถให้คำตอบได้ เฉกเช่นเดียวกับผู้แต่ง John le Carré และผู้กำกับ Martin Ritt พยายามไม่นำเสนอทัศนคติของตนเองออกมา แต่การจบแบบนั้นย่อมสื่อถึงทางเลือกของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
กำแพงเบอร์ลินเกิดขึ้นจากแนวคิดทัศนคติที่แตกต่างสองฝั่งของชาวเยอรมัน หนึ่งคือประชาธิปไตยเข้าข้างพันธมิตรอเมริกา (West) อีกฝั่งฝ่ายคอมมิวนิสต์ถือหางสหภาพโซเวียต (East) วินาทีแห่งการตัดสินใจของ Alec Leamas สิ่งที่เขาเลือกไม่ใช่ซ้ายหรือขวา แต่คือหยุดอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่าง ตำแหน่งที่เสียงเพรียกของหัวใจร้องเรียกหา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้น ก็ถือว่าฉันได้เลือกคำตอบของตนเองแล้ว … แล้วคุณละ?
กว่าที่กำแพงเบอร์ลินจะพังทลายก็อีกหลายทศวรรษถัดมา (สร้างขึ้น 1961, ถูกทำลาย 1989) แต่สิ่งที่นิยาย/ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำนายสร้างขึ้น ถือเป็นการพยากรณ์อนาคตด้วยความเชื่อมั่นว่า สักวันสิ่งแบ่งกั้นขวางระหว่างสองฝากฝั่งมนุษย์จักสูญสิ้นลง เพราะมันคือวิวัฒนาการของโลก สัจธรรมของสองสิ่งเคยแยกจาก-ย่อมต้องหวนคืนกลับมาครองคู่ แต่ถึงกำแพงภายนอกได้พังทลายไป เส้นแบ่งบางๆที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ ใช่ว่าจะเลือนลางหายไปโดยง่าย
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ทำเงินได้ในอเมริกา $7.6 ล้านเหรียญ คงไม่ถือว่าประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับ Goldfinger ทำเงินไปกว่า $51 ล้านเหรียญ), เข้าชิง Oscar 2 สาขา
– Best Actor (Richard Burton) พ่ายให้กับ Lee Marvin เรื่อง Cat Ballou (1965)
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White พ่ายให้กับ Ship of Fools (1965)
ถือว่าถูก SNUB หลายสาขาทีเดียว อาทิ
– Best Supporting Actor (Oskar Werner) ทั้งๆเป็นตัวเต็งหนึ่งเพิ่งคว้า Golden Globe: Best Supporting Actor แต่กลับถูกมองข้ามเพราะเจ้าตัวได้เข้าชิงอีกสาขา Oscar: Best Actor จาก Ship of Fools (1965) แต่ก็ไม่ได้ลุ้นอยู่ดี
– Best Cinematography, Black and White ที่กวาดมาทั้ง BAFTA Award, British Society of Cinematographers
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium
– ส่วน Best Picture กับ Best Director เหมือนจะไม่ค่อยเข้าตา Academy เพราะถือว่านี่เป็นหนังสัญชาติอังกฤษ (ถึงผู้กำกับเป็นอเมริกัน แต่เคยติด Hollywood Blacklist)
ผมชื่นชอบการหักมุมมากๆเลยนะ โดยเฉพาะถ้ามันสมเหตุสมผลฟังขึ้น และมีการล่อหลอกมาตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว แถมยังสะท้อนเข้ากับใจความหนังที่เกี่ยวกับความกะล่อนปลิ้นปล้อนสองหน้าของสายลับ ช่วงไคลน์แม็กซ์นี่ตบโต๊ะฉาด พลิกล็อกแบบคาดไม่ถึง … แต่จบแบบนั้นตรงกำแพง Berlin ความพึงพอใจทั้งหมดที่มีมาเหี่ยวแห้งสิ้นหวังลงทันที (นี่คืออารมณ์นะครับไม่ใช่ความรู้สึก)
แนะนำคอหนังแนวสายลับ Spy/Espionage, หลงใหลในบรรยากาศอันตึงเครียดของสงความเย็น, รู้จักผู้กำกับ Martin Ritt และแฟนๆนักแสดง Richard Burton, Claire Bloom ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศอันตึงเครียด ความกะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวงของสายลับสองหน้า และตอนจบที่…
Leave a Reply