The Squaw Man (1914)
: Oscar Apfel, Cecil B. DeMille ♥♥♡
ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก (Feature Length) ถ่ายทำยัง Hollywood และเป็นผลงานแจ้งเกิดผู้กำกับ Cecil B. DeMille เปิดประตู Los Angeles สู่เมืองหลวงแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์
แต่ The Squaw Man ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำยังเมือง Hollywood นะครับ! คือเรื่องอะไรโดยใครนั้น ก่อนอื่นขอเล่าถึงประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาสักหน่อยแล้วกัน
เริ่มต้นปี ค.ศ. 1886 เมื่อ Hobart Johnstone Whitley หรือ H.J. Whitley นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับภรรยา Margaret Virginia Whitley เดินทางมาฮันนีมูนยัง Los Angeles, California ขณะยืนอยู่บนเทือกเขาทิวทัศน์สวยงาม มองลงมาเห็นหมู่บ้านเล็กๆ ขณะนั้นมีชายชาวจีนกำลังลากเกวียนเดินผ่าน สอบถามว่าเขากำลังทำอะไร? ได้รับคำตอบ “I holly-wood” (เพี้ยนมาจาก hauling wood) เกิดความประทับใจในชื่อจึงตัดสินใจซื้อที่ดินกว่า 500 เอเคอร์ แล้วเรียกเมืองใหม่แห่งนี้ว่า Hollywood
เกร็ด: H.J. Whitley ต่อมาได้ฉายาเรียกว่า “Father of Hollywood”
Whitley ลงทุนสร้างโรงแรม Hollywood Hotel เปิดให้บริการปี ค.ศ. 1902 จนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ (ปัจจุบันถูกทุบทำลายไปแล้ว) ดึงดูดนักลงทุนมากมายให้เข้ามาจับจอง ขยับขยาย ทำธุรกิจใหม่ๆ
สำหรับธุรกิจภาพยนตร์ ช่วงต้นศตวรรษ 1900s เริ่มต้นจากบริษัท Thomas Edison’s Motion Picture Patents Company (ของ Thomas Edison) ตั้งอยู่ที่ New Jersey แต่มักสร้างความไม่พึงพอใจให้บรรดานายทุน/ผู้สร้างสักเท่าไหร่ เพราะมีการเรียกเก็บภาษีจากทางการ และค่าลิขสิทธิ์ยังต้องจ่ายให้กับ Edison จนใครๆเกิดความเอือมละอา เริ่มที่จะมองค้นหาสถานที่อยู่แห่งใหม่
ประมาณปี ค.ศ. 1910 ปฐมครูผู้กำกับ D. W. Griffith ได้รับมอบหมายจาก Biograph Company พร้อมคณะทัวร์การแสดง Blanche Sweet, Lillian Gish, Mary Pickford, Lionel Barrymore ฯ ออกเดินทางสู่ West Coast ครั้งหนึ่งพักอาศัยยัง Georgia Street, Los Angeles พบเห็นทิวทัศน์ภาพสวยๆ ชาวเมืองอัชฌาสัยดี มีมิตรไมตรี เลยเริ่มต้นถ่ายทำ In Old California (1910) ความยาว 17 นาที กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกถ่ายทำที่ Hollywood
เกร็ด: D. W. Griffith ปักหลังอาศัยอยู่เมือง Hollywood เป็นเดือนๆ เลยไม่ได้สร้างแค่ In Old California ประเมินกันว่าคงไม่ต่ำกว่า 4-5 เรื่อง แต่หลงเหลือเพียงฟีล์มเรื่องนี้เท่านั้น เพิ่งได้รับการค้นพบเมื่อปี 2004 เห็นว่ากำลังได้รับการบูรณะ ไม่รู้เหมือนกันจะเสร็จเมื่อไหร่
เมือง Hollywood ในผลงานของ D. W. Griffith สร้างความสนใจให้ใครหลายๆคน มาก่อนเลยคือ Nestor Motion Picture Company เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911 ตั้งสาขาอยู่ Sunset Boulevard (Nestor Company ภายหลังผนวกรวมเข้ากับ Universal Studios)
Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Ashfield, Massachusetts มารดาเชื้อสาย Jews อพยพจาก German ส่วนบิดาเป็นอดีตนักแสดง เสียชีวิตจากไปตอนเขาอายุ 12 ปี มุ่งมั่นเดินตามรอยเท้าพ่อก้าวสู่ Broadway แต่ไร้ความสามารถด้านการแสดงเลยผันตัวเบื้องหลัง กำกับละครเวที ประสบความสำเร็จบ้าง-ล้มเหลวบ้าง จนกระทั่งมีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่อง Les Amours de la reine Élisabeth (1912) อยากที่จะทดลองสร้าง Motion Picture ขึ้นเองบ้าง
ร่วมกับพรรคเพื่อน Jesse Lasky และ Sam Goldfish ก่อตั้งสตูดิโอ Jesse L. lasky Feature Play Company (ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Famous Players-Lasky Corporation) ซื้อลิขสิทธิ์บทละครเวที The Squaw Man (1905) สร้างโดย Edwin Milton Royle (1862 – 1942) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เปิดการแสดงยัง Wallack’s Theatre, Broadway จำนวน 222 รอบการแสดง ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย
ความตั้งใจแรกของ DeMille ต้องการถ่ายทำยัง Flagstaff, Arizona แต่พอออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ ยังไม่เป็นที่พึงพอใจสักเท่าไหร่ ประกอบเสียงลือเล่าขานถึงเมือง Hollywood, Los Angeles กำลังได้รับความนิยมจากผู้สร้างภาพยนตร์ จึงยกทีมงานทั้งหมดมุ่งสู่ East Coast
เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน DeMille ได้รับความช่วยเหลือจาก Oscar C. Apfel (1878 – 1938) นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน ผันจากละครเวทีสู่วงการภาพยนตร์ มีผลงานหนังสั้นแนวทดลอง The Passer-By (1912) และอีกหลายๆเรื่องในสังกัด Edison Manufacturing Company (ของ Thomas Edison อีกเช่นกัน) ถือว่ามีประสบการณ์พอสมควรทีเดียว
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Beulah Marie Dix (1876 – 1970) นักเขียนบทละคร นวนิยาย และภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน, ความที่มีผู้จัดการ Beatrice DeMille แม่ของผู้กำกับ DeMille เลยรู้จักสนิทสนมกันดี ซึ่งก็ได้รับคำชักชวนมุ่งสู่ Hollywood ทำให้เธอค้นพบที่ทางของตนเอง กลายเป็นนักเขียนขาประจำในยุคแรกๆของ Famous Players-Lasky
James Wynnegate (รับบทโดย Dustin Farnum) และลูกพี่ลูกน้อง Henry (รับบทโดย Monroe Salisbury) คือผู้ดีอังกฤษ ทั้งยังเป็นคณะกรรมาธิการกองทุนสำหรับเด็กกำพร้า แต่วันหนึ่ง Henry เล่นพนันหมดตัว ลักลอกปลอมแปลงลายเซ็นต์ของ James เพื่อจ่ายหนี้ ทำให้เขาถูกทางการไล่ล่าติดตามตัว เลยอพยพหลบหนีข้ามน้ำข้ามทะเลสู่สหรัฐอเมริกา
Wyoming ยุคสมัยนั้นยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ความเจริญยังเข้าไม่ถึงสักเท่าไหร่ วันหนึ่ง James ได้ให้ความช่วยเหลือ Nat-U-Ritch (Lillian St. Cyr) บุตรสาวลูกหัวหน้าชนเผ่าอินเดียแดง Utes ที่ถูกอาชญากรนอกกฎหมาย Cash Hawkins (รับบทโดย William Elmer) ไล่ล่าติดตามตัว -สงสัยต้องการลักมาทำเมีย- ขณะกำลังจะถูกล้างแค้น Cash ก็ถูกยิงเข้าข้างหลังเสียชีวิต
โดยไม่รู้ตัว James ค่อยๆตกหลุมรัก แต่งงาน และมีบุตรชายร่วมกับ Nat-U-Ritch ขณะที่ทางฝั่งอังกฤษ Henry ประสบอุบัติเหตุระหว่างปีนเขา Alps ตกลงมาเสียชีวิต ซึ่งได้ทิ้งจดหมายรับสารภาพว่าตนเองคือผู้ปลอมแปลงลายเซ็นต์ ทำให้ James พ้นผิดและได้รับจดหมายร้องขอให้เดินทางกลับ … แต่สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นบ้านหลังที่สองของเขาไปเรียบร้อยแล้ว
Dustin Lancy Farnum (1874 – 1929) นักร้อง นักเต้น นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hampton Beach, New Hampshire ความสำเร็จในวงการละครเวที ทำให้ Farnum ตัดสินใจก้าวสู่วงการภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Soldiers of Fortune (1914) ติดตามมาด้วย The Squaw Man (1914) แจ้งเกิดโด่งดังกับแนว Western โดยทันที
รับบท Captain James Wynnegate หรือ Jim Carston ผู้ดีอังกฤษที่ถูกลูกพี่ลูกน้องทรยศหักหลัง ทำให้ต้องซมซานขึ้นเรือข้ามสมุทรสู่สหรัฐอเมริกา แต่ชีวิตก็เกือบซ้ำรอยเดิมถูก Cash Hawkins ลักลอบมาเข้าข้างหลัง ความช่วยเหลือของ Nat-U-Ritch ครั้งนั้นและต่อมา ก่อเกิดความสัมพันธ์ต่างเชื้อชาติพันธุ์ แม้ไม่ผิดกฎหมาย*** แต่สังคมอเมริกันกลับไม่ยินยอมรับสักเท่าไหร่
เกร็ด: ในสหรัฐอเมริกาแม้กฎหมาย Anti-miscegenation แต่บังคับใช้เฉพาะกับคนขาว-ผิวสี ขณะที่คนขาว-ชาวพื้นเมือง/อินเดียแดง ถึงไม่ถูกกีดกัน(ด้วยกฎหมาย)แต่บุตรหลานไม่ค่อยได้รับการยอมรับในสังคมสักเท่าไหร่
การแสดงในหนังเงียบยุคแรกๆ เน้นเพียงภาพลักษณ์ที่เข้ากับตัวละคร แลดูน่าเชื่อถือ ซึ่งบทบาทคาวบอยจักต้องมีร่างกายบึกบึนกำยำ มาดแมน โคตรเท่ห์ประไร! ส่วนการแสดงแทบไม่มีอะไรให้น่าพูดถึง พยายามขยับเคลื่อนไหว ภาษากาย ให้สื่อความหมายทางอารมณ์ออกมาตรงๆ ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านั้น
Lillian Margaret St. Cyr หรือ Red Wing (1873 – 1974) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกันในยุคหนังเงียบ เชื้อสายอินเดียแดง เกิดที่ Winnebago Reservation, Nebraska โตขึ้นเดินทางสู่ Washington D.C. ทำงานเป็นคนรับใช้ส.ว. Chester I. Long หลังจากแต่งงาน James Young Deer ทั้งสองได้กลายเป็นนักแสดงดูโอ้ เวียนวนอยู่แถว New York และ Philadelphia จนกระทั่งเข้าตา D. W. Griffith ชักชวนมาเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ และโด่งดังสูงสุดกับ The Squaw Man (1914), Ramona (1916) ฯ
รับบท Nat-U-Ritch หญิงสาวชาวอินเดียแดง ก็ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรกับ Cash Hawkins จึงถูกไล่ล่าติดตามตัว แต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือจาก James Wynnegate ต้องการทดแทนบุญคุณเขา และมีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน
บทบาทนี้ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นนะครับ ที่อยากพูดถึงคือนักแสดงมากกว่า Red Wing ถือเป็นชาวพื้นเมืองคนแรกในวงการภาพยนตร์ แม้ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากนัก แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อินเดียแดง ไม่ใช่แค่คนบ้านป่าเมืองเถื่อน ใช้เพียงความรุนแรง มุมอ่อนไหว น่าสงสารเห็นใจก็พอมีบ้าง
ซึ่งบทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตอนจบเป็นอะไรที่ค่อนข้างคาดไม่ถึง ถือว่าคือการเสียสละตนเองเพื่อลูกและคนรัก จักมิต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับการกระทำอันเห็นแก่ตัวเมื่อคราครั้งก่อน
ถ่ายภาพโดย Alfred Gandolfi,
ตัดต่อโดย Mamie Wagner
แม้อยู่ในช่วงระหว่างทดลองผิดลองถูก แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ DeMille ตระหนึกถึง ‘แสงสว่าง’ มีความสำคัญอย่างมากในการถ่ายทำ ว่ากันว่าเหตุผลหนึ่งที่เปลี่ยนสถานที่จาก Arizona สู่ Los Angeles ก็เพราะแสงสว่างยามกลางวันที่ขมุกขมัว สร้างบรรยากาศอันอึมครึม ไม่เหมาะต่อการทำงานสักเท่าไหร่ ผิดกับเมือง Hollywood มีความสว่างสดใส ฟ้าโปร่งตลอดทั้งปี แถมทั้งภูเขาและท้องทะเลอยู่ไม่ห่างไกลชุมชนสักเท่าไหร่
เพราะความที่กล้องถ่ายวีดีโอสมัยนั้นมีขนาดใหญ่ เทอะทะ ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวไปมาโดยง่าย งานภาพส่วนใหญ่จึงแช่ค้างไว้อยู่กับที่ นักแสดงเดินเข้าออกในรัศมี มีการจัดวางตำแหน่ง องค์ประกอบ และการแสดง เพื่อให้สื่อความเข้าใจโดยง่ายที่สุด
ปัญหาของหนังคือภาษาดำเนินเรื่อง ยังไร้ซึ่งจังหวะ นำเข้า-ออก อยู่ดีๆพอจบฉากนั้นก็ขึ้นข้อความ Title Card นำเสนอเรื่องราวถัดไปโดยทันที ผู้ชมปรับตัวตามแทบไม่ทัน เรียกได้ว่าไร้ช่องว่างสำหรับการหายใจ
ถึงไม่ได้จำเป็นว่าต้องขึ้น Title Card บอกทุกคำพูดสนทนา อริยาบทการกระทำ แต่หลายๆครั้งนั้นตัวละครก็แสดงออกโน่นนี่นั่นเรื่อยเปื่อยเกินความจำเป็น แลดูคล้ายๆไดเรคชั่นของ Georges Méliès อะไรจะเกิดขึ้นไม่รู้ละ แค่ทำให้องค์ประกอบภาพมีการขยับเคลื่อนไหวเข้าไว้เป็นพอ
Squaw แปลว่า หญิงชาวอินเดียนแดง, ประหลาดแท้ตั้งชื่อหนังว่า The Squaw Man อาจเพราะต้องการเปรียบเทียบถึง Nat-u-Ritch แม้เป็นลูกผู้หญิง แต่หยิ่งในศักดิ์ศรี แสดงออกด้วยเกียรติ ราวกับผู้ชายก็ไม่ปาน!
แต่ชื่อดังกล่าวก็ไม่เห็นค่อยเกี่ยวข้อง/สอดคล้องกับภาพรวมของหนังสักเท่าไหร่, เรื่องราวของชายหนุ่มที่ถูกตีตราหน้าจากสังคมหนึ่ง อพยพหลบลี้หนีภัยมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ตกหลุมรัก แต่งงาน มีบุตรชาย สุดท้ายเมื่อข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผย ต้องเลือกระหว่างจะปักหลักอยู่บ้านใหม่นี้ หรือหวนคืนกลับไป
ซึ่งเรื่องราวดังกล่าว สะท้อนถึงผู้กำกับ Cecil B. DeMille (และทีมงานสร้างหนังได้ทั้งหมด) ถูกตีตราหน้าจากวงการละครเวที Broadway อพยพหลบหลี้หนีภัยมาตั้งถิ่นฐานใหม่กับวงการภาพยนตร์ Hollywood ตกหลุมรัก แต่งงาน คลอด The Squaw Man เรื่องนี้ออกมา ผลลัพท์เป็นอย่างไรตอนนั้นยังไม่รู้ แต่หลังจากเสร็จสรรพคงต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างจะปักหลักบ้านใหม่ หรือหวนคืนกลับไป
ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่กำไรสูงถึง $244,700 เหรียญ แม้เทียบไม่ได้กับความสำเร็จปีถัดมาของ The Birth of Nation (1915) แต่ถือเป็นภาพยนตร์จาก Hollywood เรื่องแรกทำกำไรมากมายขนาดนี้!
เกร็ด: The Squaw Man ได้รับการสร้างใหม่อีกสองครั้ง ล้วนโดยผู้กำกับ DeMille
– The Squaw Man (1918) ทุนสร้าง $40,000 เหรียญ ทำเงินได้ $350,000 เหรียญ แต่เห็นว่าฟีล์มสูญหายไปแล้ว
– เป็นความกระเหี้ยนกระหือรือที่ต้องการสร้างฉบับหนังพูด The Squaw Man (1931) ใช้ทุนสูงถึง $722,000 เหรียญ มีรายงานขาดทุนประมาณ $150,000 เหรียญ
ส่วนตัวแม้ไม่มีอะไรประทับใจในหนัง แต่พอครุ่นคิดได้ว่าเรื่องราวสะท้อนชีวิต/ความเป็นศิลปินของผู้กำกับ Cecil B. DeMille ก็แอบขนลุกอยู่เล็กๆ นั่นคือร่องรอย ก้าวแรก ของว่าที่ปรมาจารย์แห่ง Hollywood โดยแท้!
จัดเรต PG กับอาชญากรรม ฆ่าตัวตาย
Leave a Reply