The Stepford Wives

The Stepford Wives (1975) hollywood : Bryan Forbes ♥♥♡

ผู้ชายบางจำพวก เพ้อฝันอยากได้ภรรยาในอุดมคติ แม่บ้านแสนดี ปรนเปรอนิบัติ ทำทุกสิ่งอย่างตามคำสั่งราวกับหุ่นยนต์ เขาอาจสมหวังในหมู่บ้าน Stepford แต่เมื่อมองในมุมของผู้หญิง มันโคตร ‘Horror’ บัดซบประไร

The Stepford Wives คือภาพยนตร์ Sci-Fi Horror อันน่าขนลุกขนพองกับจินตนาการสุดแสนบ้าคลั่งของผู้แต่งนิยาย Ira Levin (เจ้าของผลงาน Rosemary’s Baby) ส่วนใหญ่มักมองว่านี่เป็นหนังแนว Sexist (รังเกียจต่อต้านสตรีเพศ) แต่ผมมองว่า เมื่อเล่าเรื่องในมุมของเหล่าภรรยา ‘Wives’ สามารถมองได้เป็น Feminist ที่ค่อนข้างถากถางบรรดาบุรุษเพศ คุณอยากได้ภรรยาเช่นนั้นจริงๆนะเหรอ?

นี่เป็นเรื่องราวที่มีพล็อตแนวคิดน่าสนใจ แต่ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับที่วิสัยทัศน์มิได้น่าหลงใหลสักเท่าไหร่ รับชมเพียงเพื่อความบันเทิง ถ้าหาดูต้นฉบับนี้ไม่ได้ The Stepford Wives (2004) นำแสดงโดย Nicole Kidman ก็คล้ายๆกัน ไม่ได้ดีเลิศประเสริฐกว่าสักเท่าไหร่ แนะนำหานิยายอ่านแล้วปลดปล่อยจินตนาการให้บรรเจิด ดูแล้วน่าจะเริดที่สุด

หลังจากนิยาย The Stepford Wives ของ Ira Levin วางขายเมื่อปี 1972 ก็มีหลายสตูดิโอแก่งแย่งชิงซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง (เพราะคาดหวังความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับ Rosemary’s Baby) ก่อนตกเป็นของ Edgar J. Scherick โปรดิวเซอร์สัญชาติอังกฤษ มอบหมายหน้าที่ดัดแปลงบทภาพยนตร์ให้ William Goldman ที่มีผลงานดัง อาทิ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), นิยาย The Princess Bride (1973), และว่าที่ All the President’s Men (1976)

มีผู้กำกับหลายคนที่ได้รับการติดต่อไป อาทิ Brian De Palma แต่ถูกล็อบบี้โดย Goldman ที่ไม่ชื่นชอบผลงานของเขาเอาเสียเลย กลายเป็นส้มหล่นใส่ Bryan Forbes อย่างงงๆ

Bryan Forbes ชื่อเดิม John Theobald Clarke (1926 – 2013) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Stratford, West Ham, เริ่มต้นจากเป็นนักแสดง เข้าเรียนที่ Royal Academy of Dramatic Art แต่ได้แค่ 3 เทอมลาออกมาเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลดประจำการออกมาแสดงละครเวทีหลายเรื่อง เขียนบทภาพยนตร์ อาทิ The League of Gentlemen (1959) ได้เข้าชิง BAFTA Award: Best British Screenplay, ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Whistle Down the Wind (1961) พอมีชื่อเสียงกับ The L-Shaped Room (1962), The Stepford Wives (1975) ฯ

เพราะความจุ้นจ้าน เรื่องมากเกินไปของ Goldman เมื่อ Forbes เข้ามาคุมบังเหียร์ผู้กำกับ ทำการปรับปรุงแก้ไขบทค่อนข้างเยอะทีเดียว แต่ที่สร้างความไม่พอใจขัดแย้งรุนแรงคือตอนจบ ฉบับของ Goldman หักมุมหลายตลบ โดยให้หุ่นของ Joanna ฆ่าตัวจริงของตนเอง, ผมว่าถ้าผู้กำกับเป็น de Palma มีแนวโน้มโอบรับเอาตอนจบบ้าๆนี้ใส่ลงในหนังแน่ แต่เพราะสุดท้ายมาลงเอยที่ Forbes ผู้กำกับวิสัยทัศน์ธรรมดาทั่วไป มองว่านี่ขัดแย้งกับ Feminist Theme เลยตัดทิ้งนำออกไปเอง … ทั้ง Goldman และ Forbes เหมือนว่าจะมองหน้าไม่ติดกันอีกเลย

เรื่องราวของ Joanna Eberhart (รับบทโดย Katharine Ross) ภรรยาสาว ยินยอมย้ายตามสามี Walter (รับบทโดย Peter Masterson) พร้อมลูกๆสองคนจากเมืองหลวง New York City สู่หมู่บ้านชนบท Stepford, สมมติว่าอยู่แถวๆ Connecticut แต่หลังจากอยู่ไปได้สักพัก Joanna ได้สังเกตเห็นบรรดาสาวๆแม่บ้านทั้งหลาย ต่างมีพฤติกรรมค่อนข้างผิดแผกแปลกประหลาด และสามีที่เข้าร่วมกับชมรม Men’s Association เหมือนวางแผนเข้าร่วมทำอะไรบางอย่าง แต่มันคืออะไรกันละ!

Katharine Juliet Ross (เกิดปี 1940) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ California ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบสนใจขี่ม้า เกิดความสนใจการแสดงจากละครเวที The King and I สมัครเข้าเรียน The Actors Workshop, บทบาทแจ้งเกิดของเธอคือ The Graduate (1967) ตามด้วย Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), Tell Them Willie Boy Is Here (1969), The Stepford Wives (1975) ฯ ผลงานภาพยนตร์ไม่เยอะนัก ชื่นชอบละครเวทีมากกว่า

รับบท Joanna ภรรยาที่ยังสาวสวยมีลูกติดสองคน นอกจากเป็นแม่บ้านแล้วยังชื่นชอบการถ่ายรูป ทำให้เป็นคนช่างสังเกต พบเห็นความผิดแผกแปลกจากปกติได้ง่าย ไหวพริบปณิธานเป็นเลิศ

แต่เสียอย่างเดียวกับฉากไคลน์แม็กซ์ เมื่อค้นพบเจอผู้ร้ายตัวจริง (Last Boss) กลับยืนอึ้งแข็งทื่อราวกับสากกะเบือ แถมปล่อยให้ถูกแย่งชิงอาวุธไปจากมือ เสร็จแล้วนึกได้ออกวิ่งหนี … อุ่วะ! มันจะโง่งี่เง่าเกินไปหน่อยหรือเปล่า

ก่อนหน้าที่บทนี้จะกลายเป็นของ Ross มีนักแสดงที่ได้รับการติดต่อ อาทิ Diane Keaton, Mia Farrow (อยากจะเลียนแบบความสำเร็จของ Rosemary’s Baby), Tuesday Weld ฯ

ภาพลักษณ์ของ Ross เหมือนยังอยู่ใน Time Capsule จากทั้ง The Graduate และ Butch Cassidy and the Sundance Kid มีความน่ารักไร้เดียงสาสดใส รอยยิ้มหวานทำให้โลกทั้งใบดูสวย เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ซึ่งเมื่อตอนจบเธอกลายเป็น … ราวกับหลุมดำที่ดูดกลืนทุกสิ่งอย่างออกจากแววตาที่เคยเป็นประกายแห่งชีวิต

ถ่ายภาพโดย Enrique Bravo และ Owen Roizman รายหลังคือตากล้องยอดฝีมือที่มีผลงานเด่น อาทิ The French Connection (1971), The Exorcist (1973), Network (1976), Tootsie (1982), Wyatt Earp (1994) ฯ

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ปักหลักอยู่ที่ Connecticut อาทิ Darien (Goodwives Shopping Center), Westport, Fairfield, ฉากไคลน์แม็กซ์ถ่ายทำยังคฤหาสถ์ Lockwood-Mathews Mansion, Norwalk (ถือเป็น U.S. National Historic Landmark ของ Connecticut เลยนะ)

แม้จะเป็นหนัง Horror แต่เกินกว่าครึ่งเรื่องถ่ายทำตอนกลางวัน โทนสีสว่างสดใส ด้วยการ Over-Saturated (เพิ่มแสงสว่างให้จ้ามากๆ) ผู้กำกับให้คำเรียกว่า ‘thriller in sunlight’ เว้นเพียงฉากไคลน์แม็กซ์ตอนจบกระมัง ถ่ายทำในค่ำคืนฝนตก มีการจัดแสงที่มืดมิดสนิททีเดียว

‘ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ’ นี่คงคือคำอธิบายตรงสุด ถึงเหตุผลที่หนังมักจับจ้องถ่ายภาพ Close-Up ดวงตา ภาพวาด และฉากไคลน์แม็กซ์ที่ทำให้ดวงตาของหุ่นยนต์สีดำขลับ ไร้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งชีวิต

เกร็ด: ผู้ทำ Effect ตาสีดำนี้คือ Dick Smith เจ้าของฉายา The Godfather of Make-Up ผู้เป็นตำนานกับผลงาน The Godfather Trilogy, The Exorcist (1973), Taxi Driver (1976), คว้า Oscar: Best Makeup เรื่อง Amadeus (1984) และได้ Honorary Award อีกครั้งเมื่อปี 2012

ผมเพิ่งมาสังเกตพบว่า ภาพวาดดวงตาในรูปนี้ เหมือนว่าจะสะท้อนเห็น ‘คน’ เลือนลางๆครึ่งท่อนบน (ตาจากภาพด้านขวา) ก็ไม่รู้นั่นคือภาพของสามี หรือแค่ต้องการสะท้อน’การมีชีวิต’ของตัวเธอเอง

เทคนิคที่พบเห็นบ่อยครั้งคือการ ซูมเข้า-ออก ส่วนมากเพื่อเข้าหาตัวละคร ให้ผู้ชมรับรู้ถึงตำแหน่ง/เรื่องราวที่หนังกำลังจะทำการโฟกัสเข้าไป บางครั้งแทนด้วยสายตาของตัวละครที่เต็มไปด้วยความสงสัย อยากสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน (ที่เรียกว่าเสือก)

สำหรับไฮไลท์อยู่ที่ช็อตสุดท้ายของหนัง เป็นการค่อยๆเบลอภาพของนางเอกจนพร่ามัว มีนัยยะถึงสิ่งที่เธอได้กลายเป็น จิตวิญญาณเลือนลางสูญสิ้นหายไป ไม่หลงเหลืออะไรนอกจากความไม่มี

ตัดต่อโดย Timothy Gee, หนังทั้งเรื่องใช้มุมมองของ Joanna Eberhart ทุกสิ่งอย่างในสายตาที่ได้พบเจอเข้ากับตนเอง อันก่อให้เกิดความใคร่อยากรู้สงสัย ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงความผิดปกติที่ค่อยๆคืนคลานเข้ามาหา เต็มไปด้วยบรรยากาศของความ ‘Horror’ หลอกหลอนขนหัวลุก น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง

เวลาอาจเป็นสิ่งที่หนังไม่ค่อยให้สำคัญสักเท่าไหร่ แต่มันชวนให้งุนงงสับสนอย่างยิ่งในช่วงท้าย หลังจากนัด Bobbie ว่าจะพบเจอกับอีกสัปดาห์/10 วันหลังจากนี้ แล้วอยู่ดีๆก็ตัดไปถึงจุดนั้นเลย อะไรว่ะ! นี่เวลาผ่านไปเร็วขนาดนั้นเลยหรือ น่าจะนำเสนออะไรบางอย่างบอกให้ผู้ชมรับรู้สึกว่า เวลาได้ผ่านไปแล้วจริงๆ นี่ยิ่งกว่าเซอร์ไพรส์เสียอีกนะ

แล้วลูกๆของเธอถูกลักพาตัวไป … หา? ตอนไหน! จากที่ควรหลอนกลายเป็นเริ่มสับสนสงสัย ต่อเนี่องจากสิบวันก่อน เหมือนหนังลืมใส่ฟุตเทจบางฉากเข้าไปหรือเปล่าเนี่ย

เพลงประกอบโดย Michael Small นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกา ผลงานดัง อาทิ The Parallax View (1974), The Stepford Wives (1975), Marathon Man (1976) ฯ

Opening Title ใช้เสียงกีตาร์ดีดคลอเป็นพื้นหลัง ผสมเข้ากับเครื่องเป่าและเครื่องสาย ให้สัมผัสถึงความฉาบหน้าที่มีความเคลือบแคลง หมู่บ้านแห่งหนึ่งอาศัยกันอย่างสงบสุขสันติ แต่เบื้องลึกแล้วมันต้องมีอะไรแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่แน่ๆ

ครึ่งหลังของ Soundtrack นี้ คือเสียงแห่ง Sci-Fi Horror สร้างความขนลุกขนพอง สั่นสยองเขย่าประสาท อันตรายกำลังย่างกรายเข้ามา แต่จักสามารถก้าวเท้าออกวิ่งหนีได้หรือเปล่า

เสียงเป่าขลุ่ยทุ่มต่ำนาทีสุดท้าย (คือฉาก Epilogue ของหนัง) นั่นคือโลกแห่งอุดมคติของบุรุษเพศ ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปอย่างสงบสุขสันติ หมดสิ้นทุกปัญหาความวุ่นวายใดๆในชีวิต

มนุษย์เพศชายหลายคน เพราะชีวิตการงานไม่ได้ประสบพบเจอความสำเร็จราบรื่น ดิ้นรนเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากลำบาก แต่งงานมีภรรยา กลับบ้านก็ขอสักที่ได้ไหมจะมี ‘อำนาจ’ ควบคุมบงการ ใช้ความเผด็จการรุนแรงในการปกครองครอบครัว

นี่ถือเป็นแนวคิดหนึ่งของระบอบครอบครัว ผมคงตัดสินไม่ได้ว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า เพราะในบางบริบท บางวงศ์ตระกูล มันก็มีความจำเป็นต้องใช้แนวคิดเผด็จการเบ็ดเสร็จนี้ในการปกครองดูแล

แต่ผมไม่ค่อยเชื่อว่า ความเผด็จการในครอบครัว จะสามารถปกครองหรือแก้ไขปัญหาบางอย่างได้จริง มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ความเย่อหยิ่ง ทะนงตน เห็นแก่ตัว ฯ ผู้หญิง/คนรัก ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มันจะมีปัญหาอะไรที่พูดคุยสื่อสารแก้ปัญหากันไม่ได้ด้วยสันติวิธี หรือความเสมอภาคเท่าเทียม

The Stepford Wives เป็นภาพยนตร์ที่ผมมองว่า ราวกับโลกในอุดมคติของผู้ชายกลุ่มนี้ เบื่อหน่ายภรรยาที่มีสมอง/สติปัญญา/ความเฉลียวฉลาด ฆ่าให้ตายหรือไม่ก็ทำให้กลายเป็นหุ่นยนต์ ใช้ชีวิตดั่งโปรแกรมที่กำหนดเขียนขึ้นไว้ เท่านี้พวกเขาก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยหน่าย วุ่นวายเป็นภาระให้มันมาก

ผมค่อนข้างสงสารเห็นใจคนที่ครุ่นคิดแบบนี้มากๆเลยนะ พวกเขาเหมือนคนโง่เขลาเบาปัญญาที่ใช้เพียงสายตามองเห็นแต่สิ่งสวยงามภายนอก หาได้รับรู้ว่าตนเองเป็นพวกมืดบอดสนิท เพชรแท้ล้ำค่าที่อยู่แค่เอื้อมภายในกลับไม่สนใจมองข้ามผ่านไป ไขว่คว้าหาเศษขยะก๊องแก๊งแล้วยกย่องเชิดชูว่ามีค่าเหนือสิ่งอื่นใด

คุณผู้หญิงที่รับชมหนังเรื่องนี้ น่าจะเกิดความ ‘Horror’ ในความโง่เขลาเบาปัญหาของตัวละครชายๆทั้งหลายในหนัง ผมเองเป็นผู้ชายไม่ใช่แค่หวาดสะพรึง แต่ถึงขั้นรังเกียจต่อต้านรับไม่ได้ เกิดอคติต่อคนที่มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งสวยงามใกล้ตัว นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสิ้นสุดของความเป็นมนุษย์ สู่โลกยุคสมัยทุนนิยมที่ ‘วัตถุ’ สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

เรื่องราวของ The Stepford Wives ยังมองได้คือการพยากรณ์จุดสูงสุด/ต่ำสุดของโลกยุคสมัยทุนนิยม เมื่อมนุษย์หมดสิ้นไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ มองเห็นยกย่อง’วัตถุ’ สิ่งของนอกกายคือพระเจ้าองค์ใหม่แห่งชีวิต ตอนจบทุกคนก็จะกลายเป็นเสมือนหุ่นยนต์ เดินไปมาล่องลอยในห้างสรรพสินค้า จับจ่ายใช้สอย ไร้ซึ่งจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ภาพค่อยๆเบลอจนพร่ามัวมองไม่เห็น เป็นอนาคตที่คือจุดจบสิ้นของทุกสิ่งอย่าง

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ในอเมริกา $4 ล้านเหรียญ ดูแล้วคงไม่น่าทำกำไรสักเท่าไหร่แน่ เสียงวิจารณ์ออกไปในทางผสม ไม่ค่อยดีมากนัก แต่กาลเวลาได้แปรสภาพกลายเป็นกระแส Cult มีการอ้างอิงถึง สร้างภาคต่อ ล้อเลียนแบบ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังเรื่อง Get Out (2017)

ส่วนตัวชอบพล็อตเรื่องราวของหนังมากๆ แต่ผิดหวังสุดๆกับวิสัยทัศน์และไดเรคชั่นของผู้กำกับ Bryan Forbes แต่เมื่อมองว่าคือ Cult Film ก็พอทนไหว และแอบเซอร์ไพรส์กับตอนจบเล็กๆ

แนะนำกับคอหนัง Sci-Fi แบบหลอนๆ Horror, ชื่นชอบหุ่นยนต์, แนวคิดเกี่ยวกับ Sexist หรือ Feminist (มันจะเป็นแบบไหนก็ไปตีความเอาเองนะครับ), และแฟนๆ Katharine Ross ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG มีแค่บรรยากาศหลอนๆ รุนแรงสุดแค่ตอนมีดเสียบ

TAGLINE | “The Stepford Wives มีพล็อตเรื่องราวที่น่าสนใจ แต่ขาดวิสัยทัศน์จากผู้กำกับ เว้นเพียงแต่ Katharine Ross น่ารักใจจะขาด”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: