The Sting

The Sting (1973) hollywood : George Roy Hill ♥♥♥♥♡

มาร่วมกันถูกต้มตุ๋นไปกับสองคู่หู Paul Newman & Robert Redford ในโคตรหนัง 7 รางวัล Oscar รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทำเงินสูงสุดแห่งปี พื้นหลังเมือง Chicago ทศวรรษ 30s เสื้อผ้าวินเทจย้อนยุค และเพลงประกอบ Ragtime สุดคลาสสิก, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ระหว่างอ่านบทความนี้ แนะนำให้เปิดรับฟังตามไปด้วยเพื่อสร้างบรรยากาศ, The Entertainer (1902) บทเพลงแนว Ragtime น่าจะถือว่าโด่งดังคลาสสิกที่สุดแล้วของ Scott Joplin ติดอันดับ 10 ชาร์ท Songs of the (20th) Century จัดโดย Recording Industry Association of America (RIAA) เมื่อปี 2001

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ The Sting กลายเป็นภาพยนตร์ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งปี 1973
– การกลับมาของคู่หูดูโอ้ Paul Newman & Robert Redford และผู้กำกับ George Roy Hill หลังความสำเร็จล้นหลามของ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969)
– ได้รับคำวิจารณ์เสียงตอบรับดีล้นหลาม เข้าชิง Oscar ถึง 10 สาขา คว้ามา 7 รางวัล ย่อมต้องเป็นหนึ่งในปัจจัยอยู่แล้ว
– การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ผู้คนรุ่นเก่าๆเริ่มโหยหาถึงอดีต ซึ่งหนังก็ได้สร้างบรรยากาศย้อนยุค สัมผัสกลิ่นอาย ‘Nostalgia’ ของประเทศอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษ 20th
– ความคลาสสิกของเทรนด์แฟชั่นในหนัง (เสื้อผ้าออกแบบโดย Edith Head) จุดกระแสนิยมเสื้อผ้า Vintage ให้เกิดขึ้น
– เช่นกันกับบทเพลง Ragtime ของ Scott Joplin กลับมาฮิตติดลม The Entertainer สามารถไต่ขึ้นสูงสุดถึงอันดับ 3 ชาร์ท Billboard Hot 100
ฯลฯ

ซึ่งความโคตรเจ๋งของหนังอยู่นอกเหนือจากด้านบนที่ว่ามา เป็นฝีมือการลวงล่อหลอกของนักเขียนบท และไดเรคชั่นผู้กำกับ George Roy Hill ไม่ใช่แค่ตัวละครที่ถูกต้ม ผู้ชมยังโดนตุ๋นจนเปื่อยสนิท เรื่องราวมีความซับซ้อนในระดับที่ก็ไม่เชิงเรียกว่าหักมุมตลบหลัง แต่จากความเข้าใจผิดๆทำให้อึ้งทึ่ง หัวเราะยิ้มร่า พึงพอใจอย่างยิ่งที่ถูกหนังลวงหลอกได้สำเร็จ … เอะ! นี่มันแปลกประหลาดแท้เลยนะ

เกร็ด: บทหนัง The Sting ได้รับการยกย่องติดอันดับ 39 ชาร์ท Greatest Film Screenplays of All Time จัดโดย Writer’s Guild of America

จุดเริ่มต้นของ The Sting เกิดจาก David S. Ward (เกิดปี 1945) นักเขียนสัญชาติอเมริกา ขณะกำลังพัฒนาบท Steelyard Blues (1973) ที่มีฉากการล้วงกระเป๋า ด้วยความใคร่สนใจเลยศึกษาหาข้อมูลจนล่วงรู้จักอาชีพนักต้มตุ๋น ‘Con Artist’ เลยร่างอีกบทนำเสนอต่อโปรดิวเซอร์ ซึ่งก็แสดงความประทับใจอย่างยิ่ง พร้อมที่จะเริ่มงานสร้างควบคู่กันไปโดยทันที

ในตอนแรก Ward ต้องการกำกับเองให้เป็นผลงาน Debut แต่ถูกทัดทานเพราะความซับซ้อนของเรื่องราว มือใหม่อย่างเขาคงต้องมีปัญหาแน่ พอดีขณะนั้น George Roy Hill กำลังมองหาโปรเจคถัดไป พบเห็นบทหนังเรื่องนี้โดยบังเอิญเกิดความใคร่สนใจ ยินดีรับอาสาเป็นผู้กำกับให้

George Roy Hill (1921 – 2002) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Minneapolis, Minnesota ตั้งแต่เด็กมีความสนใจการบิน ได้รับใบขับขี่ตั้งแต่อายุ 16 รับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2 และ Korean War ปลดประจำการออกมาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ Texas ไปๆมาๆเกิดความสนใจในการแสดงละครเวที โทรทัศน์ ต่อมาเขียนบท กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Period of Adjustment (1962), โด่งดังกับ Hawaii (1966), Thoroughly Modern Millie (1967), Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), คว้า Oscar: Best Director เรื่อง The Sting (1973)

ไดเรคชั่นของ Hill ให้คำอธิบายโดย Paul Newman เป็นผู้กำกับที่รับรู้ความต้องการของตนเองอย่างชัดเจน

“any hesitation or indecision; he knew precisely what he wanted in a scene, what he wanted from an actor.”

เรื่องราวพื้นหลังปี 1936 ทศวรรษแห่ง Great Depression, นักต้มตุ๋นหนุ่ม Johnny Hooker (รับบทโดย Robert Redford) ขณะกำลังหลงระเริงกับเงินที่หลอกมาได้ $11,000 เหรียญ (เทียบปัจจุบัน 2017 = $200,000 เหรียญ) แลกกับการสูญเสียคู่หู/อาจารย์ ทำให้ต้องออกเดินทางมุ่งสู่ Chicago พบเจอ Henry Gondorff (รับบทโดย Paul Newman) ยอดฝีมือผู้เคยโด่งดังจนถูก FBI ติดตามตัว ร่วมกันวางแผนหลอก/แก้แค้นเอาคืน Doyle Lonnegan (รับบทโดย Robert Shaw) ด้วยการสร้างบ่อนรับแทงม้า (Off-Track Betting) โกงผลการแข่งขัน ลวงเงินพนันกว่า $500,000 เหรียญ แต่ขณะเดียวกันกลิ่นตุๆนี้ก็โชยไปเข้าจมูก FBI สุดท้ายแล้วสองคู่หูจะสามารถทำสำเร็จ หนีเอาตัวรอดได้หรือไม่

เกร็ด: คงเป็นความไม่ได้ตั้งใจนักของ Ward ที่เรื่องราวของหนังบังเอิญตรงกับหนังสือ The Big Con: The Story of the Confidence Man (1940) แต่งโดย David Maurer เขียนขึ้นจากชีวิตจริงของสองพี่น้อง Fred กับ Charley Gondorff ทำให้ตอนออกฉายมีการยื่นฟ้องขึ้นโรงศาล แต่ Universal Pictures ก็รีบจ่ายค่าปิดปากทำขวัญสูงถึง $300,000 เหรียญ, คงประมาณว่า Ward ระหว่างศึกษาหาข้อมูลอ่านหนังสือหลายๆเล่ม ผ่านตาเรื่องราวนี้ซึมเข้าไปในความทรงจำ ระหว่างพัฒนาบทแม้ไม่ได้คัทลอกจากหนังสือตรงๆ แต่ก็กลายเป็นมีเนื้อหาใจความใกล้เคียง

นำแสดงโดย Charles Robert Redford Jr. (เกิดปี 1936) นักแสดง ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California สมัยเด็กชื่นชอบศิลปะและกีฬา โตขึ้นเข้าเรียน University of Colorado ไม่ทันจบหนีไปเที่ยวยุโรป ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี กลับมาเรียนวาดรูปที่ Pratt Institute, Brooklyn ตามด้วยการแสดงที่ American Academy of Dramatic Arts, New York City เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadways ตามด้วยแสดงซีรีย์โทรทัศน์ จนได้เข้าชิง Emmy Award: Best Supporting Actor, ภาพยนตร์เรื่องแรก Tall Story (1960) เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Chase (1966), Barefoot in the Park (1967), โด่งดังกับ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), Downhill Racer (1969), The Sting (1973), All the President’s Men (1976) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Ordinary People (1980) คว้า Oscar: Best Director

แม้ Redford จะคือภาพตัวละครที่อยู่ในใจของนักเขียน Ward แต่ตอนแรกบอกปัดปฏิเสธจนกระทั่งผู้กำกับ Hill และเพื่อนสนิท Newman เข้าร่วมโปรเจค เลยเปลี่ยนใจตอบรับโดยพลัน

รับบท Johnny ‘Kelly’ Hooker นักต้มตุ๋นหนุ่มผู้มีความกล้า เฉลียวฉลาด ไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง น่าจะเพราะความโชคดีล้วนๆเลยสามารถหลอกมาได้สูงถึง $11,000 เหรียญ แต่ก็เป็นคนไม่เห็นคุณค่าของเงินสักเท่าไหร่ หมดไปกับบ่อนพนันในเกมเดียวแบบไร้สไตล์ (แต่งชุดก็เชยๆตกยุค), หลังจากสูญเสียคู่หู/อาจารย์ หลบลี้หนีสู่ Chicago ร่ำเรียนรู้เทคนิควิชาจาก Henry Gondorff ต้องการล้างแค้นเอาคืน Doyle Lonnegan ต้มให้เปื่อยแล้วตุ๋นเอาเงินจำนวนมหาศาล แค่นี้ขนหน้าแข้งคงไม่ร่วง แต่คงคับข้องทรมานใจอย่างสุดๆ

ส่วนใหญ่ของ Redford ในบทบาทนี้ราวกับเด็กวิ่งโพยหวย เจอใครก็เอาแต่หนีหัวซุกหัวซุนเอาตัวรอดอย่างหวุดหวิดเฉียดตาย ขณะที่ไฮไลท์คือขณะปั้นหน้าหลอกลวง ต้องชมเลยว่าสามารถต้มตุ๋นให้ทั้งตัวละครและผู้ชม หลงเชื่อหัวปลักได้อย่างสนิทใจ คงด้วยเหตุนี้กระมังเลยมีชื่อเข้าชิง Oscar: Best Actor ทั้งๆที่ผมว่าก็ไม่ได้โดดเด่นสักเท่าไหร่ แต่แปลกยิ่งกว่านี่คือครั้งแรกครั้งเดียวของ Redford กับสาขาการแสดง (ส่วนใหญ่พี่แกจะเข้าชิง Best Picture และคว้ามาตัวหนึ่งจาก Best Director)

แซว: ผู้กำกับ Hill มอบของที่ระลึกหลังปิดกองให้กับ Redord คือรูปปั้นตัวการ์ตูน Road Runner เขียนข้อความสลักว่า “IF YOU CAN’T BE GOOD BE FAST.” นี่เป็นการแซวตัวละครที่เอาแต่วิ่งไปวิ่งมาตลอดเรื่อง

Paul Leonard Newman (1925 – 2008) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Shaker Heights, Ohio ในครอบครัว Jewish ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แสดงเป็นตัวตลกในละครเวทีของโรงเรียนเรื่อง Robin Hood สมัครเป็นทหารเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สังกัด Pacific Theater ไม่ได้ขับเรือรบเพราะตาบอดสี ปลดประจำการออกมาเข้าเรียน Kenyon College จบ Bachelor of Arts ต่อมากลายเป็นลูกศิษย์ของ Lee Stransberg ที่ Actors Studio, เริ่มทำงานเป็นนักแสดง Broadway สู่วงการภาพยนตร์ด้วยการแข่งขันกับ James Dean เรื่อง East of Eden (1955) แม้จะไม่ได้บทแต่  Somebody Up There Likes Me (1956) กับ The Left Handed Gun (1958) เป็นตัวแทนหลังจาก Dean ด่วนเสียชีวิตไปก่อนวัย, มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Cat on a Hot Tin Roof (1958), The Long, Hot Summer (1958), ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ Exodus (1960), The Hustler (1961), Cool Hand Luke (1967), Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), The Sting (1973), The Verdict (1982) ฯ คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The Color of Money (1986)

รับบท Henry ‘Shaw’ Gondorff นักต้มตุ๋นยอดฝีมือมากประสบการณ์ เคยทำงานใหญ่ถึงขนาดต้องหลบหนีซ่อนตัวจาก FBI สภาพตอนแรกเมาปลิ้นดูไม่ได้ ทำงานเป็นคนซ่อมรถม้าหมุน แต่เมื่อสวมสูทหรูอย่างเนี๊ยบ มีภาพลักษณ์ดั่งนักธุรกิจ ลีลาการเล่นหลอกไพ่โป๊กเกอร์จัดจ้านจับไม่ได้ หลังจากนั้นแทบไม่มีบทอะไรนอกจากเดินไปเดินมาเป็นตัวประกอบพื้นหลังเท่านั้น

ความเก๋าของ Newman มีส่วนเสริมสร้างมิติให้กับหนังพอสมควร แต่น่าเสียดายที่บทเทให้กับตัวละครของ Redford มากไปเสียหน่อย ช่วงหลังจากส่งต่องานให้ ก็แทบไม่มีบทบาทอะไรสำคัญ ราวกับเทวรูปปั้นให้จับจ้องยกย่องอ้างอิงถึงก็เท่านั้น

เกร็ด: Newman และ Redford ได้ค่าตัวเท่ากัน $500,000 เหรียญ ถือเป็นค่าตัวนักแสดงสูงสุดสมัยนั้น เทียบกับปัจจุบัน =$2.7 ล้านเหรียญ

เกร็ดไร้สาระ: ตอน Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969) คุ้นๆว่า Redford ไว้หนวดดก ขณะที่ Newman ใบหน้าเกลี้ยงเกลา ตรงกันข้ามกันเรื่องนี้ที่ Newman ไว้หนวด ขณะที่ Redford เป็นหนุ่มหน้าใสกิ๊ก

Robert Archibald Shaw (1927 – 1978) นักเขียน นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Westhoughton, Lancashire, โตขึ้นเคยเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่ Glenhow Preparatory School ก่อนหันเหความสนใจเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art กลับจากเป็นทหารอากาศมุ่งสู่ละครเวที West End ตามด้วยซีรีย์โทรทัศน์ โด่งดังกับ From Russian with Love (1963), Battle of the Bulge (1965), A Man for All Seasons (1966), Young Winston (1972), The Sting (1973), Jaws (1975) ฯ

รับบท Doyle Lonnegan ผู้นำเครือข่ายอาชญากรใต้ดิน เบื้องหน้าเป็นนักเล่นหุ้นสร้างภาพประสบความสำเร็จร่ำรวย หลงใหลการเล่นพนันโดยเฉพาะโป๊กเกอร์ ชื่นชอบชัยชนะแน่นอนเท่านั้นด้วยการโกง แต่เมื่อถูกตลบหลังโดย Henry Gondorff เลยต้องการเอาคืนอย่างสาสม

Newman เป็นคนแนะนำ Shaw ให้ผู้กำกับ Hill หลังอ่านบทหนังจบ ซึ่งพอเจ้าตัวได้รับข้อเสนอเอ่ยปากขอบคุณว่า

“Delicious. When do I start?”

Shaw ได้รับบาดเจ็บเข่าพลิกก่อนเริ่มต้นถ่ายทำไม่กี่สัปดาห์ นั่นทำให้เขาต้องสวมที่รั้งขาซ่อนไว้ใต้กางเกงตลอดการถ่ายทำ ซึ่งผู้กำกับก็ใช้การเดินกระเผกๆของเขาให้เป็นประโยชน์ในหลายๆฉากถ่ายทำ อาทิ เมื่อรับโทรศัพท์ก็ต้องเดินข้ามถนนอย่างเร่งรีบร้อนรน (เห็นแล้วทรมานแทน) ครั้งหนึ่งไปวางเงินพนันไม่ทัน สร้างความหงุดหงิดหัวเสียให้อย่างมาก

แซว: ฉากเล่นโป๊กเกอร์ในรถไฟ ตัวละครของ Newman จงใจที่จะเรียกชื่อตัวละครผิดๆ เป็น Mr. Shaw หลายครั้งทีเดียว และมีครั้งหนึ่งเรียกใครก็ไม่รู้ Longabaugh ชื่อจริงของ Butch Cassidy (ที่ตนเองเคยรับบท)

ถ่ายภาพโดย Robert L. Surtees ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติอเมริกัน ผู้คว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 3 ครั้งจาก King Solomon’s Mines (1950), The Bad and the Beautiful (1952), Ben-Hur (1959) นอกจากนี้ยังมีผลงานอย่าง Quo Vadis (1951), The Graduate (1967), The Last Picture Show (1971), The Sting (1973) ฯ

ผู้กำกับ Hill ต้องการให้หนังออกมามีบรรยากาศ ‘Nostalgia’ ใกล้เคียงช่วงเวลาทศวรรษ 30s หรือ ‘old Hollywood’ มากที่สุด เริ่มต้นตั้งแต่โลโก้รุ่นแรกของ Universal, ตามด้วยเลือกใช้โทนสีน้ำตาลอ่อน (Muted Browns) กับน้ำตาลอมแดง (Maroon), แบ่งหนังเป็นตอนๆด้วย Title Card, ภาษาภาพยนตร์แบบเก่า อาทิ การจัดแสง, เคลื่อนกล้อง, เปลี่ยนภาพ ฯ

ตอนแรกผู้กำกับออกสำรวจเมือง Chicago และ Los Angeles เพื่อค้นหาสถานที่ยังคงสภาพความเป็นทศวรรษ 30s แต่สมัยนั้นก็แทบไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้ว สุดท้ายเลยกลับมาสร้างฉากถ่ายทำยัง Universal Studios ซึ่งก็ต้องชมเลย อย่างช็อตนี้วาดพื้นหลังลงบน Glass Painting ออกมาได้งดงามมากๆ Art Direction โดย Henry Bumstead ผลงานเด่น อาทิ Vertigo (1958), To Kill a Mockingbird (1962), Unforgiven (1992) ฯ

ฉากที่ตัวละครของ Paul Newman สับไพ่โชว์ นั่นไม่ใช่ลูกเล่นที่ใครทั่วไปหัดสองสามครั้งแล้วสามารถทำได้ ซึ่งหนังใช้มือของผู้เชี่ยวชาญ Technical Advisor แล้วจะมีขณะหนึ่งช็อตนี้ที่หดมือเข้าไป แล้ววินาทีถัดมามือของ Newman จะปรากฎแทน จากนั้นกล้องจะเลื่อนขึ้น Tilt Up เห็นใบหน้าของเขาอย่างแนบเนียบ (ช็อตนี้ถ้าไม่ทันสังเกตจะหลงคิดว่า Newman สามารถสับไพ่โชว์ได้ แต่แท้จริงคือผู้ชมถูกต้มตุ๋นหลอกทั้งเพ)

Title Card วาดโดย Jaroslav Gebr ซึ่งตอนสุดท้าย ‘The String’ ม้าที่เป็นแบบคือ Secretariat (1970 – 1989) ชื่อเล่น Big Red สายพันธุ์ Thoroughbred ตอนอายุ 3 ขวบ (ก่อนหนังฉาย) เป็นตัวล่าสุดขณะนั้นที่สามารถคว้า Triple Crown of Thoroughbred Racing ชนะสามสนามใหญ่ของการแข่งม้าที่อเมริกา ในปีเดียวกันด้วยนะ

วาดสามตัว เพราะคือสามชุดลายที่ Secretariat ชนะในแต่ละสนามแข่ง ประกอบด้วย Kentucky Derby, Preakness Stakes, Belmont Stakes

ตัดต่อโดย William H. Reynolds สัญชาติอเมริกา ผลงานเด่นอาทิ The Sound of Music (1965), Hello, Dolly! (1969), The Godfather (1972), The Sting (1973) ฯ

หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ มี Title Card ขึ้นคั่น ประกอบด้วย
– The Players, แนะนำให้รู้จัก Johnny Hooker จุดเริ่มต้นที่มาที่ไป และเหตุผลของความต้องการล้างแค้น
– The Set-Up, วางแผนเตรียมการ พบเจอรู้จัก Henry Gondorff ตกลงร่วมกันต้มตุ๋น Doyle Lonnegan รวบรวมสมัครพรรคพวกแกนนำ
– The Hook, โน้มน้าวชักจูงเหยื่อให้มาติดกับ Gondorff โกงไพ่ Lonnegan บนรถไฟสาย New York -> Chicago ทำให้เกิดความเคียดแค้นอยากเอาคืน
– The Tale, สร้างเรื่องราวสถานการณ์ Lonnegan เข้ามาเล่นเสี่ยงพนันได้รับชัยชนะ ต้องการทดลองอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจ Hooker เลยต้องชักแม่น้ำทั้งหาแต่ก็ยังไม่ดีพอ
– The Wire, ทดสอบความมั่นใจ Lonnegan สั่งให้พาไปรู้จักเส้นสายที่ Western Union ขณะเดียวกัน FBI เรียกตัวนายตำรวจที่จับจ้องสนใจแต่ Hooker มาพูดคุย
– The Shut-Out, จี้จุดเพื่อเร่งให้เกิดความรุนแรง Lonnegan ทดลองเล่นอีกครั้งแต่ถูกขวางไม่ทันกาล หงุดหงิดหัวเสียบอกพรุ่งนี้จะลงเงินก้อนใหญ่ ขณะเดียวกัน Hooker ถูกจับกุมตัว โดน FBI โน้มน้ามให้ชี้ช่องจับ Gondorff ตัวเขาหมดหนทางออกแล้ว
– The Sting, ปฏิบัติการต้มตุ๋นหลอกลวง

หลายครั้งของหนังมีการเล่าเรื่องลักษณะ ‘ภาพประกอบเพลง’ เพื่อรวบเร่งรัดเหตุการณ์ให้เร็วขึ้น อาทิ ขณะรวบรวมสมัครพรรคพวก, เตรียมการโน่นนี่นั่น ฯ ซึ่งช่วงระหว่างนี้จะมักมีลีลาการเปลี่ยนภาพ อาทิ เลื่อนไปทางซ้าย-ขวา ทะแยงมุม หมุนกลิ้ง Iris Shot ฯ เหล่านี้เป็นเทคนิคพบเห็นได้บ่อยในยุคสมัยหนังเงียบ เพิ่มความ Stylish ให้กับหนัง

ช็อตจบด้วย Iris Shot เหมือนการขยับของรูม่านตาไปยังจุดโฟกัส (ซึ่งมักเป็นตัวละคร) นี่ก็เทคนิคพบได้บ่อยในยุคหนังเงียบ และอนิเมชั่น (โดยเฉพาะของ Disney) เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าถึงตอนจบแล้วนะ

เพลงประกอบโดย Marvin Hamlisch (1944 – 2012) ยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ผู้คว้ารางวัล EGOT (Emmy, Grammy, Oscar, Tony) +Pulizer Prize ผลงานเด่น อาทิ The Way We Were (1973), The Spy Who Loved Me (1977), Sophie’s Choice (1982), A Chorus Line (1985) ฯ

ตอนแรกที่ Hill ติดต่อหา Hamlisch อยากให้ดัดแปลงบทเพลงของ Scott Joplin เป็นแนวทางของหนัง เจ้าตัวมีความลังเลเพราะไม่ชอบดัดแปลงงานของผู้อื่น แต่ได้รับอนุญาตให้รับชมฉบับตัดต่อแรกของหนังก็ถึงกับอึ้งไปเลย

“I agreed to see a first cut in the screening room, then I quickly realized that this was one of the best pictures I had seen in years … One of the things that drew me to The Sting was that George had been shrewd enough to leave little oases without dialogue for the music. He built montages and sequences into the picture for this purpose. Whenever I see patches in a film that are talkless, I’m in heaven.”

Ragtime คือสไตล์เพลงประเภทหนึ่ง มักเล่นด้วยเปียโน (ไม่ก็แบนโจ) มีจังหวะสนุกสนานครื้นเครง โยกหัวไปมาเต้นตามได้ ได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงปี 1895 – 1918 เริ่มต้นบุกเบิกโดยชาวผิวสี Ernest Hogan (1865–1909) ตีพิมพ์บทเพลงแรก La Pas Ma La (1895), เหตุที่เรียกว่า Rags มาจากชื่อบ้านเกิดของ Hogan คือ Shake Rag ตั้งอยู่ที่ Bowling Green, Kentucky

สำหรับบุคคลที่ถือว่าเป็น ‘King of Ragtime’ คือ Scott Joplin (1868 – 1917) ชาว Texas เชื้อสาย African-American แจ้งเกิดกับบทเพลง Original Rags (1899), Maple Leaf Rag (1899), โด่งดังสุดคงคือ The Entertainer (1902)

การมาถึงของดนตรีสไตล์ Jazz ในช่วงต้นทศวรรษ 20s ทำให้ Ragtime ตกกระป๋องหมดกระแสนิยมไปอย่างรวดเร็วทันควัน หลายบทเพลงหายสาปสูญชั่วนิรันดร์ จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 40s หลายวงดนตรีเริ่มนำ Ragtime กลับมาเล่น พร้อมพัฒนาปรับเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ แม้ไม่ได้รับความนิยมเทียบเท่าแต่เก่าก่อน ก็ยังดีกว่าลบเลือนหมดสิ้นไป

แม้บทเพลงสไตล์ Ragtime ของ Scott Joplin จะโด่งดังได้รับความอย่างสูงในช่วงทศวรรษ 1900 – 10s แต่เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นปี 1936 กลับสอดคล้องสร้างบรรยากาศ รับกับแฟชั่นยุคสมัย และสไตล์ของหนังได้อย่างลงตัว เคลิบเคลิ้มราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์โลกอีกใบหนึ่ง

The Easy Winners (1901) อีกหนึ่งโคตรเพลงฮิต ที่ชื่อหมายถึงผู้ชนะการแข่งกีฬาอย่างง่ายดาย ไร้คู่แข่งสูสีให้ต้องแสดงความสามารถอย่างเต็มที่, บทเพลงนี้ดังขึ้นตอนแรกสุด The Players เมื่อ Johnny Hooker เปิดซองออกดู พบว่าต้มตุ๋นได้เงินกว่า $11,000 ดอลลาร์ เป็นชัยชนะที่ง่ายดายคาดไม่ถึงเลยสักนิด

บทเพลง Solace (1909) นำมาให้ฟังฉบับ Orchestra เรียบเรียงเพิ่มเติมโดย Hamlisch เสริมไวโอลินเข้าไป ทำให้ทำนองมีความโหยหวนรวดร้าวใจยิ่งกว่าเดิม, นี่เป็นช่วงขณะซึมเศร้าของ Hooker หลังจากสูญเสียเพื่อน/คู่หู/อาจารย์ ออกเดินทางมุ่งสู่ Chicago ขณะป้าย The Set-Up ปรากฎขึ้น

เพลงนี้จะวนเวียนดังขึ้นอีกหลายครั้งในหนัง เพื่อสะท้อนช่วงขณะที่ต้องการสิ่งปลอบประโลมจิตใจ บรรเทาทุกข์หนักกายให้เบาบางคลายความวิตกกังวลลง

บทเพลงนี้ Hamlisch เรียบเรียงขึ้นใหม่ ไม่ได้นำจากดนตรี Ragtime ของใครแต่รับอิทธิพลมาเต็มๆ ชื่อ Little Girl เดี่ยวไวโอลินโดย Robert Bruce Berg แต่น่าเสียดายดังขึ้นในหนังแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น

Ending Credit คงไม่มีเพลงไหนเหมาะสมไปกว่า The Ragtime Dance (1902) ด้วยจังหวะอันสนุกสนานเร้าใจ ชัยชนะที่ทำให้อยากกระโดดโลดเต้นรำวงไปรอบๆ

คำว่า Sting มีความหมายดังต่อไปนี้
– กริยา คือ อาการถูกกัด แทง ผึ้งต่อย
– คำนาม หมายถึง การวางแผนอย่างรัดกุมรอบคอบ มักเกี่ยวกับการหลอกลวง ต้มตุ๋นให้เหยื่อตายใจ

ซึ่งทั้งคำนาม/กริยา มีความหมายคล้ายๆกันคือ ทำให้ผู้ถูกกระทำมีอาการเจ็บปวดกาย-ใจ จากการถูกกัด แทง ผึ้งต่อย หรือโดนต้มตุ๋นหลอกลวงบางสิ่งอย่างให้ต้องสูญเสียไป

สำหรับคำนิยามของนักเขียน David S. Ward ให้ไว้ว่า

“The Sting is the moment a con man separates a mark from his money”.

ในบริบทของหนังก็คือวินาทีที่ Doyle Lonnegan ถูกต้มตุ๋นสูญเสียเงิน $500,000 เหรียญให้กับ Gondorff และ Hooker โดยแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น คือแทงม้าผิดก็เรื่องหนึ่ง แต่ความวุ่นวายต่อจากนั้นมัน … WTF! เสียค่าโง่ให้กับอะไร?

การหลอกลวงถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับเรื่องเล่า วรรณกรรม การแสดง หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ทำให้ผู้ชมพบเห็นเกิดความเข้าใจในบางสิ่งอย่าง ผิดๆถูกๆตามบริบทกฎกรอบที่ศิลปินสรรค์สร้างสวรรค์นั้นขึ้น ถ้าเรามิสามารถใช้วิจารณาณครุ่นคิด สติปัญญาทำความเข้าใจ หลงเชื่อไปแบบนั้นหมดใจ ก็อาจประสบพบเจอปัญหา คล้ายคลึงแบบ Doyle Lonnegan ยังดีแค่เสียเงิน เสียหน้า เสียศักดิ์ศรี ถ้ามันเลวร้ายถึงขั้นเสียชีวิตละก็ … นั่นถือว่าเป็นกลโกงสุดยิ่งใหญ่ แต่มีความบัดซบที่สุดเลยก็ว่าได้

มนุษย์เรานี่ก็แปลก มีความบันเทิงเริงรมณ์พึงพอใจกับการพบเห็นสิ่งหลอกลวง มองในมุมหนึ่งผลงานศิลปะมันก็ลักษณะคล้ายๆการต้มตุ๋นแบบนี้แหละ แต่ถ้านั่นไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อนทุกข์ยากลำบาก ผมว่าก็ยังพอยินยอมรับได้อยู่นะ เมื่อไหร่แลกมาด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ปฏิเสธขัดขืนของผู้สร้าง นั่นเราควรต้องปฏิเสธต่อต้านไม่ยินยอมรับโดยสิ้นเชิง

The Sting เป็นภาพยนตร์ที่ทั้งชี้ชักนำให้ผู้ชมเรียนรู้จักวิธีการต้มตุ๋นหลอกลวง ขณะเดียวกันก็เสี้ยมสอนป้องกันเอาตัวรอดจากเหตุการณ์/สถานการณ์ลักษณะนี้ ถึงมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถมองเห็น แต่ถ้าเราไม่นำเอาความโลภละโมบ โกรธเคืองแค้นเป็นที่ตั้งในการดำรงชีพ รู้จักความเพียงพอดีในชีวิต การสูญเสียครั้งหนึ่งในปริมาณมากมหาศาลคงไม่บังเกิดขึ้นแน่

จดจำความเง่าของ Johnny Hooker ตอนต้นเรื่องที่ลงพนันขัน Roulette ครั้งเดียว $3,000 เหรียญสูญหมดตัว อย่ามองในมุมแค่ชายคนนี้ไม่ยึดติดเรื่องเงิน แต่คือความหลงระเริงเพ้อคลั่ง ไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของอะไรที่ได้มาง่ายก็สูญไปง่าย สาวไหนก็ไม่เอาคนแบบนี้หรอก … แต่ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่เมื่อถึงตอนจบ Hooker จะเริ่มมีสติสตางค์ในการใช้ชีวิตบ้างหรือยัง? หวังว่าก็น่าจะอยู่นะ พบเห็นเฉียดตายอยู่หลายรอบ ร่วมรักกับสาวคนที่เช้าตื่นมาจะฆ่าเขา มันคงเป็นอะไรที่อึ้งทึ่งช็อคไปเลยละ คงต้องระแวดระวังตัวเองให้กว่านี้มากๆเลย

ด้วยทุนสร้าง $5.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $156 ล้านเหรียญ
– สูงสุดแห่งปี แม้จะมากกว่า The Exorcist (1973) ที่ออกฉายสัปดาห์เดียวกัน ทำเงินได้ $128 ล้านเหรียญ แต่เพราะโคตรหนัง Horror เรื่องนี้ออกฉายซ้ำ Re-Release อยู่เรื่อยๆ จนเมื่อถึงวันหนึ่งก็สามารถแซงหน้าได้
– ตอนที่ออกฉายถือว่าทำเงินสูงสุดตลอดกาลอันดับ 3 รองจาก Gone With The Wind (1939) และ The Sound of Music (1965)
– เทียบค่าเงินปี 2018 =$816.5 ล้านเหรียญ ติดอันดับ 20 ตลอดกาล

ทั้งๆได้รับความนิยมล้นหลามขนาดนี้ กลับไม่ถูกใจผู้สื่อข่าวต่างประเทศสักเท่าไหร่ เข้าชิง Golden Globes เพียงสาขา Best Screenplay – Motion Picture (พ่ายให้กับ The Exorcist), กระนั้นกับ Academy ถือว่าเข้าทางเลย ทั้งหมด 10 สาขา Oscar คว้ามา 7 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Robert Redford) **ตกเป็นของ Jack Lemmon เรื่อง Save the Tiger (1973)
– Best Writing, Story and Screenplay Based on Factual Material or Material Not Previously Published or Produced
– Best Cinematography **ตกเป็นของ Cries & Whispers (1972) แบบช่วยไม่ได้
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Costume Design
– Best Film Editing
– Best Music, Scoring Original Song Score and/or Adaptation
– Best Sound **ตกเป็นของ The Exorcist แบบช่วยไม่ได้เช่นกัน

ถือเป็นปีสายโหดของ Oscar เพราะมีทั้ง American Graffiti ของ George Lucas, The Exorcist ของ William Friedkin, แถมด้วย Cries & Whispers ของ Ingmar Bergman หลายคนบอกว่าชัยชนะของ The Sting ไม่สมศักดิ์ศรี Overrated เกินตัว แต่ถ้าให้ผมโหวตปีนั้นก็คงจะเลือกเรื่องนี้แหละ มองว่าเหมาะสมกับรางวัลสถาบันนี้ที่สุดแล้ว

เกร็ดรางวัล Oscar:
– Julia Phillips คือโปรดิวเซอร์หญิงคนแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คำกล่าวของเธอ “You can imagine what a trip this is for a Jewish girl from Great Neck – I get to win an Academy Award and meet Elizabeth Taylor at the same time.” [Taylor คือผู้ประกาศรางวัล Best Picture ปีนั้น]
– เพิ่งเป็นเรื่องที่ 2 ของ Universal Pictures คว้ารางวัล Best Picture โดยครั้งแรกก็เมื่อ All Quiet on the Western Front (1930)
– ครั้งแรกครั้งเดียวของ Robert Redford ที่ได้เข้าชิงสาขาการแสดง
– นี่เป็นรางวัลตัวที่ 8 ของ Edith Head สาขา Best Costume Design พร้อมคำสุนทรพจน์ว่า “Just imagine, Dressing the two handsomest men in the world and then getting this.”
– นักแต่งเพลง Marvin Hamlisch นอกจากคว้า Best Music, Scoring Original Song Score and/or Adaptation ยังกวาดอีกสองรางวัลในค่ำคืนเดียวกันนี้จากเรื่อง The Way We Were (1973) สาขา Best Music, Original Dramatic Score และ Best Music, Original Song บทเพลง The Way We Were เรียกว่ากวาดเรียบสาขาเพลงประกอบ

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆเลยนะ บทเพลงของ Scott Joplin มีอยู่หลายทีเดียวใน Playlist รู้จักชื่อคุ้นหูเพราะดูหนังเงียบมาเยอะ (หนังเงียบชอบนำ Ragtime มาใช้บรรเลงประกอบ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยทศวรรษนั้น) แต่สิ่งที่ทำให้ตกหลุมรักคลั่ง คือมันสามารถตุ๋นผมจนเปื่อยสนิท ถึงเคยรับชมมาหลายรอบดันจดจำความอะไรไม่ได้ หัวเราะกับตนเองถูกหลอกได้ยังไงเนี่ย!

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มองลึกเข้าไปในความบันเทิง สาระของหนังสอนว่า ‘อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน’ ยิ่งด้วยเรื่องเกี่ยวกับเงินๆทองๆ ไม่เข้าใครออกใครเสียทุกที

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักพนันทั้งหลาย คงเป็นบทเรียนสอนใจได้บ้าง, คอหนังอาชญากรรม โจรกรรม ต้มตุ๋นหลอกลวง, หลงใหลในประเทศอเมริกาทศวรรษ 30s, นักออกแบบเสื้อผ้า แฟชั่นดีไซเนอร์, คอเพลง Ragtime, รู้จักผู้กำกับ George Roy Hill และนักแสดง Paul Newman, Robert Redford ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับการหลอกลวง โจรกรรม

TAGLINE | “The Sting มิได้ต้มแค่ตัวละคร แต่จะตุ๋นผู้ชมให้เปื่อย จนกลายเป็น Rag ไปเลยละ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: