The Story of Qiu Ju (1992) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♥

นโยบายลูกคนเดียวของเติ้งเสี่ยวผิง ไม่ต่างอะไรจากการเตะผ่าหมากสามีของชิวจู (นำแสดงโดย กงลี่ ในบทบาทเจิดจรัสที่สุด) เธอรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งไม่ถูกต้องจึงพยายามร้องเรียนหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ว่าองค์กรท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด กระทั่งขึ้นศาลยุติธรรม ล้วนได้รับคำตัดสินแบบเดียวกัน, คว้ารางวัล Golden Lion และ Volpi Cup for Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice

The Story of Qiu Ju (1992) เป็นภาพยนตร์ที่(เหมือนจะ)วิพากย์วิจารณ์การทำงานหน่วยงานรัฐ ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม การเลือกปฏิบัติต่อสมาชิกในองค์กร ปัญหาเดือดร้อนชาวบ้านที่มักไม่ค่อยได้รับการแก้ปัญหา แต่ทั้งหมดนั้นมีจุดเริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงนโยบายลูกคนเดียว มันใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมต่อสังคมจีนเสียที่ไหนกัน?

นโยบายลูกคนเดียว มีจุดเริ่มต้นจากการที่จำนวนประชากรชาวจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962-72 อัตราเฉลี่ยเกิดใหม่ 26.6 ล้านคนต่อปี ทำให้จำนวนประชากรจีนเมื่อปี 1970 มีมากกว่า 800 ล้านคน! (และเกือบๆพันล้านคนในปี 1980) นั่นทำให้ท่านประธานเติ้งเสี่ยวผิง ริเริ่มนโยบายควบคุมจำนวนประชากรตั้งแต่ปี 1979 โดยอนุญาตให้ทุกครอบครัวมีบุตรได้เพียงคนเดียว ยกเว้นถ้าอาศัยอยู่ชนบทแล้วลูกคนแรกเป็นผู้หญิง ถึงจะให้โอกาสมีเพิ่มได้อีกหนึ่งคน

มองจากมุมคนนอกชาวต่างชาติอย่างเราๆ นโยบายลูกคนเดียวดูแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศจีน เพราะประชากรยิ่งมาก การบริโภคทรัพยากรก็ยิ่งเยอะ ประเทศกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลเสียมากกว่าได้รับประโยชน์ แต่ถ้ามองมุมคนในประชาชนชาวจีน ส่วนใหญ่ย่อมส่ายหัวไม่เห็นด้วยเพราะขัดต่อขนบประเพณี วิถีทางสังคมเคยมีมา ถ้าไม่ได้ลูกชายแล้วใครจะสืบสายเลือดวงศ์ตระกูล เป็นที่พึ่งพาพ่อแม่ยามแก่เฒ่า? นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นติดตามมามากมาย อาทิ การทำแท้งเถื่อน ทารกถูกทอดทิ้ง หรือแม้แต่การเข่นฆาตกรรม ฯลฯ

เชื่อว่าหลายคนอาจสับสน มึนงง The Story of Qiu Ju (1992) มันเกี่ยวข้องกับนโยบายลูกคนเดียวยังไง? แค่มีการพูดเอ่ยถึงโดยเพียงครั้งเดียว เอามาตีความเป็นตุเป็นตะเช่นนั้นเลยหรือ? ผมแนะนำให้ทบทวนถึงที่มาที่ไป สาเหตุความขัดแย้งระหว่างคู่กรณีทั้งสองก่อนนะครับ ครอบครัวของชิวจูต้องการสร้างโรงเก็บพริกแต่หัวหน้าบอกทำไม่ได้ผิดกฎหมาย เลยพูดด่าทอว่าเป็นคนไม่มีน้ำยา (เพราะครอบครัวหัวหน้าไร้ซึ่งบุตรชาย มีเพียงบุตรสาวสี่คน แถมไม่สามารถมีบุตรได้อีกแล้วเพราะนโยบายลูกคนเดียว!) สร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เลยเตะผ่าหมากสามีของชิวจูจนเกือบใช้งานไม่ได้ … เอาคร่าวๆแค่นี้ก่อน น่าจะพอเห็นภาพแล้วกระมัง

ความน่าสนใจของ The Story of Qiu Ju (1992) ต้องยกให้ไดเรคชั่นผู้กำกับจางอี้โหมว ทำการเบี่ยงเบนข้อวิพากย์วิจารณ์นโยบายลูกคนเดียว สู่ประเด็นอื่นที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนย้อนกลับมาหาตนเอง (นั่นถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ พบเห็นตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆแล้วละ) นอกจากนี้ยังทำการทดลองแนวคิดใหม่ๆ บันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนด้วยกล้องแอบถ่ายตามท้องถนน รวมถึงให้กงลี่แต่งหน้าแต่งตัวเป็นชาวบ้านนอกคอกนา ออกเดินทางจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ ได้อย่างแนบเนียน กลมกลืน ดูธรรมชาติโคตรๆ ซึ่งนั่นทำให้เธอเจิดจรัสเปร่งประกายอย่างที่สุด


จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลฉ่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง

ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

หลังเสร็จจาก Raise the Red Lantern (1991) ผู้กำกับจางอี้โหมว มีแผนการดัดแปลงนวนิยาย Ground Covered with Chicken Feathers (1992) แต่งโดยหลิวเจินหยุน (ผลงานที่หลายคนอาจรู้จักคือ I Did Not Kill My Husband (2012) ได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์ I Am Not Madame Bovary (2016)) มีการส่งทีมงานไปสำรวจหาสถานที่ถ่ายทำ แต่ด้วยอารมณ์ศิลปินบอกไม่ใช่ เลยล้มเลิกความตั้งใจดังกล่าว

ทีมงานซึ่งกำลังเคว้งคว้างไม่รู้จะทำอะไร วันหนึ่งตัดสินใจเหมาซื้อหนังสือจากชั้นวาง หนึ่งในนั้นคือเรื่องสั้น 万家诉讼 (แปลว่า The Wan Family’s Lawsuit) แต่งโดยเฉินหยวนบิน สร้างความสนใจให้ผู้กำกับจางอี้โหมว ในเรื่องราวที่สามารถขยับขยายต่อยอดได้อีกไกล เลยรีบติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์โดยทันที!

ในส่วนของการดัดแปลงบทภาพยนตร์ ทำการติดต่อหาหลิวเฮ็ง, Liu Heng (เกิดปี 1954) นักเขียนนวนิยายชาวจีน ที่เคยร่วมงานเมื่อครั้น Ju Dou (1990) ใช้เวลาไม่นานพัฒนาบทร่างแรกโดยมีลักษณะตลกเบาสมอง (Light-Hearted Comedy) ทีมงานทุกคนที่อ่านต่างชื่นชอบยกเว้นผู้กำกับจางอี้โหมว บอกว่ามันน่าเบื่อ และดูดาษดื่นเหมือนหนังตลกทั่วๆไป

ซึ่งหลังจากผู้กำกับจางอี้โหมวเกิดแนวคิดการแอบถ่าย (Candid Photography) ใช้กล้อง Super 16mm นำเสนอในสไตล์สารคดี (Documentary Style) นำไปพูดคุยกับหลิวเฮ็ง ปรับปรุงบทร่างสองด้วยการตัดบทพูดสนทนาที่เยิ่นเย้อ แต่ยังคงเรื่องราวให้มีชีวิตชีวา และเปิดกว้างให้มีการปรับแก้ ดั้นสด ‘improvised’ ไปตามสถานการณ์

สามความแตกต่างหลักๆระหว่างเรื่องสั้นของเฉินหยวนบิน และบทภาพยนตร์ของหลิวเฮ็ง ประกอบด้วย

  • พื้นหลังเรื่องราวจากชนบทมณฑลอานฮุย สู่บ้านเกิดผู้กำกับจางอี้โหม่ว ณ มณฑลส่านซี (ให้ข้ออ้างว่าเพราะมีความคุ้นเคยกับสถานที่มากกว่า)
  • ชื่อตัวละครหญิงสาว He Biqui ไม่ได้ตั้งครรภ์ เปลี่ยนมาเป็นชิวจู, Qiu Ju ท้องแก่ใกล้คลอด
    • สามีชื่อ Wan Shanqing, กลางมาเป็น Wan Qinglai
    • หัวหน้าหมู่บ้านชื่อ Wang Changzhu กลายมาเป็น Wang Shantang
  • ความขัดแย้งเกิดจากหัวหน้าหมู่บ้านไม่พึงพอใจที่ครอบครัวของ He Biqui ปลูกต้นข้าว (Wheat) แทนที่จะเป็นผักกาดขาว (Rapeseed) เลยมีการโต้เถียงใช้กำลังกระทำร้าย (แต่ไม่ใช่เตะผ่าหมก), ขณะที่ชิวจูปลูกพริก ต้องการสร้างโรงเก็บสำหรับฤดูหนาว ส่วนความขัดแย้งจริงๆมาจากถ้อยคำด่าทอไร้น้ำยา (สื่อถึงการไม่มีบุตรชายสืบสกุล) สามีของเธอเลยโดนเตะเข้ากลางเป้ากางเกง

เรื่องราวของชิวจู สาวท้องแก่พร้อมน้องเขย Meizi ลากรถเข็นพาสามี Wan Qinglai ได้รับบาดเจ็บจากการถูกหัวหน้าหมู่บ้าน Wang Shantang เตะผ่าหมากเข้ากลางเป้า มาทำการรักษาในเมือง… เธอครุ่นคิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เลยยื่นข้อร้องเรียนต่อนายตำรวจท้องถิ่นให้ช่วยพิจารณา ตัดสินด้วยการให้ชดใช้ค่ารักษาพยาบาล 200 หยวน แต่เมื่อตอนจะเอาเงินเขากลับโปรยมันลงพื้น สร้างความไม่พอใจให้หญิงสาวอย่างรุนแรง เลยออกเดินทางไปยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ ซึ่งก็ตัดสินแบบเดียวกัน จากนั้นไปต่อเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ผลลัพท์ก็ไม่มีอะไรปรับเปลี่ยนแปลง

ต่อมาได้รับคำแนะนำให้ยื่นฟ้องศาลยุติธรรม คำตัดสินของศาลตั้งต้นก็ยังเดิมไปแปรเปลี่ยน แต่ระหว่างศาลชั้นกลางกำลังพิจารณาคดี ชิวจูมีอาการท้องเดิน กำลังจะคลอดบุตรชาย ได้รับความช่วยเหลือจากหัวหน้าหมู่บ้าน Wang Shantang จนซาบซึ้งน้ำใจ ครุ่นคิดจะยุติการดำเนินคดีความ แต่แล้วผลการตัดสิน(ของศาลชั้นกลาง)กลับบอกว่าเขามีความผิดข้อหาใช้กระทำร้ายร่างกาย ถูกจับคุมขังคุกระยะเวลา 15 วัน สร้างความกล้ำกลืนฝืนทน นี่ฉันทำบ้าบอคอแตกอะไรไป!


กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ

รับบทชิวจู, Qiu Ju สาวท้องแก่หกเดือน นิสัยดื้อรั้นหัวชนฝา ไม่พึงพอใจพฤติกรรมหัวหน้าหมู่บ้าน (ที่เตะผ่าหมากสามี) ต้องการเพียงคำขอโทษ แต่เขากลับปฏิเสธเสียหน้า แถมโปรยเงินค่าทำขวัญให้เธอต้องคุกเข่าก้มศีรษะ ด้วยเหตุนี้จึงนำความไปร้องเรียนต่อนายตำรวจท้องถิ่น ต่อด้วยเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ยื่นส่งฟ้องศาลตั้งตั้น ศาลชั้นกลาง ไม่ยินยอมความจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม

เกร็ด: 秋 (Qiū) แปลว่า Autumn ฤดูใบไม้ร่วง, 菊 (Jú) แปลว่า Chrysanthemum ดอกเบญจมาศ

ผู้กำกับจางอี้โหมวมีความกังวลอย่างมากว่า กงลี่อาจดูสวยเกินไปเมื่อต้องมารับบทหญิงสาวชนบท แต่เธอก็สามารถทำตนเองให้กลมกลืนกับชาวบ้านได้โดยง่าย (ทีมงานและนักแสดง จะปักหลักอาศัยอยู่กับชาวบ้านล่วงหน้า 1-2 เดือน เพื่อสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย และวางแผนตระเตรียมการถ่ายทำ) นอกจากนี้ยังอาบแดดย้อมสีผิว ฝึกฝนพูดสำเนียงท้องถิ่นฉ่านซี และครั้งหนึ่งระหว่างคุยเล่นสนุกสนาน ทำท่าเดินแสร้งว่าตั้งครรภ์ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครท้องแก่ใกล้คลอด ปรับเปลี่ยนเหตุการณ์ไคลน์แม็กซ์ไปโดยปริยาย

ในการถ่ายทำยังเมืองใหญ่ นักแสดงจะไม่รับรู้ว่ามีการซุกซ่อนกล้องอยู่แห่งตรงไหน ไม่มีผู้กำกับสั่งแอ๊คชั่น-คัท และเพื่อไม่ให้คนผ่านไปผ่านมาบังเกิดความสงสัย กงลี่และนักแสดงที่รับบทน้องเขย Meizi (เด็กสาวมัธยมจากหมู่บ้านที่ไปปักหลักถ่ายทำ) ต้องเล่นไปเรื่อยๆอย่างเป็นธรรมชาติ แต่มีอยู่ฉากหนึ่งที่ทั้งสองพลัดหลง เกือบหากันไม่เจอ เลยถูกตำหนิต่อว่าจนน้ำตาทั้งคู่หลั่งไหลออกมา มันช่างมีความสมจริงและทรงพลังมากๆ (เห็นว่าฉากนี้ถ่ายทำอยู่ 4-5 ครั้ง และทุกครั้งที่กงลี่แสดงอาการโกรธแล้วร่ำไห้ เด็กสาวคนนั้นก็หลั่งน้ำตาออกมา ทั้งสองสนิทสนมกันมากๆในกองถ่าย เลยได้รับการผลักดันให้มีบทบาทสำคัญ)

แม้ภาพลักษณ์ดูสกปรกมอมแมม แต่งหน้าแต่งตัวจนเหมือนสาวบ้านๆทั่วไป แต่ผมกลับรู้สึกว่ากงลี่มีความโดดเด่นเปร่งประกาย เป็นบทบาทเจิดจรัสจร้าที่สุดแล้วในชีวิต ไม่ใช่เพราะไปคว้ารางวัล Volpi Cup for Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice แต่เพราะเธอสวมบทบาทได้อย่างกลมกลืน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้านเหล่านั้น ไม่ได้เล่นท่ายากอะไร แต่มีความโคตรสมจริง โคตรตราตรึง โคตรน่าหลงใหล โคตรประทับใจ

แซว: ว่ากันว่าผู้ชมชาวจีนสมัยนั้น บางคนดูไม่ออกว่ากงลี่แสดงเป็นใคร สิบนาทีผ่านไปนึกว่ายังไม่ปรากฎตัวด้วยซ้ำ!


ถ่ายภาพโดย Chi Xiaoning, Lu Hongyi, Yu Xiaoquin

เมื่อผู้กำกับจางอี้โหมวตัดสินใจถ่ายทำในลักษณะแอบถ่าย (Candid Photography) ด้วยกล้อง Super 16mm (แล้วนำไปขยาย ‘blow up’ ให้กลายเป็น 35mm สำหรับฉายโรงภาพยนตร์) เลยจำต้องติดต่อช่างภาพมืออาชีพหลายคน เพื่อสามารถถ่ายทำจากหลากหลายมุมมองพร้อมๆกัน (แต่ก็มีกล้องแค่ 2 ตัวนะครับ) ด้วยเหตุนี้แทนที่จะประหยัดงบประมาณ(เพราะใช้ฟีล์มราคาถูก) กลับเพิ่มสูงขึ้น 2-3 เท่า เพราะรวมความยาวฟีล์มได้มากกว่า 100,000+ ฟุต (ถ่ายหนังทั่วๆไปได้ประมาณ 5 เรื่อง)

ความท้าทายในการถ่ายทำยังเมืองใหญ่ๆ นอกจากหามุมซ่อนกล้องให้แนบเนียน (แต่หลายครั้งก็ยังพบเห็นผู้คนหันมามองหน้ากล้องอย่างฉงนสงสัย) ยังต้องครุ่นคิดวิธีส่งสัญญาณกับนักแสดง ด้วยการใช้เครื่องสื่อสารไร้สายซ่อนอยู่ในเสื้อผ้า และความที่มีกล้องเพียงสองตัวเท่านั้น จึงต้องถ่ายทำซ้ำๆหลายสิบเทคจนกว่าผู้กำกับจะพึงพอใจ

ในหนังมีนักแสดงมืออาชีพเพียง 4 คน ที่เหลือทั้งหมดล้วนเป็นชาวบ้านพบเจอระหว่างเตรียมงานสร้างยังหมู่บ้าน Shiyaocun ตำบลหลงเซี่ยน มณฑลส่านซี, ซึ่งเหตุผลการเปลี่ยนชื่อตัวละคร เพราะนั่นคือชื่อจริงๆของพวกเขา อาศัยอยู่บ้านจริงๆ ครอบครัวจริงๆ เพื่อให้การแสดงออกมาเป็นธรรมชาติที่สุด

เกร็ด: ผมดูจากแผนที่ใน Google Map หมู่บ้าน Shiyaocun อยู่ห่างจากอำเภอ Baoji ประมาณ 60 กิโลเมตร และการเดินทางสู่เมืองใหญ่จังหวัดซีอาน อีกประมาณ 174 กิโลเมตร (รวมระยะทาง 224 กิโลเมตร)

ตั้งแต่วินาทีแรกของหนัง กงลี่ก็อยู่ในช็อตแล้วนะครับ ใครชอบเล่นเกม Where’s Waldo? ลองมองหาดูนะครับ ให้ข้อสังเกตนิดนึงว่า เธอเป็นคนเดียวที่สวมชุดสีแดง! เดินจากตำแหน่งไกลสุดที่กล้องสามารถจับภาพท่ามกลางฝูงชน

Sequence นี้ชวนให้ระลึกถึงตอนจบของ Yellow Earth (1984) มนุษย์แทบไม่ต่างจากฝูงปลากำลังแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย ต่อสู้ดิ้นรน นำเสนอความคลาคลั่งของผู้คนที่ใกล้ล้นประเทศจีน บางทีนโยบายลูกคนเดียวอาจช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้บ้าง กระมัง? ซึ่งการที่ตัวละครของกงลี่อยู่ท่ามกลางฝูงชนเหล่านี้ สื่อถึงความกระจิดริด กระจ้อยร่อย หนึ่งปัญหาของคนใครไหนจะไปใคร่สนใจ

รายละเอียดเล็กๆที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ชามอาหารของหัวหน้าหมู่บ้านมีขนาดใหญ่กว่าใครอื่นในครอบครัว นี่เป็นการสื่อนัยยะเชิงสัญลักษณ์ถึงความสำคัญของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงาน (ในพรรคคอมมิวนิสต์) ย่อมได้รับผลประโยชน์มากกว่าสามัญชนคนธรรมทั่วไป

ชิวจูนำใบรับรองแพทย์มาพูดคุยปรึกษาหาหนทางออกของปัญหา แต่หัวหน้าหมู่บ้านกลับหันหลังให้ แล้วเดินหนีไปนั่งตรงเตาผิง ปฏิเสธจะให้คำตอบใดๆ ตอบอย่างยียวนจะให้ตนยืนเฉยๆแล้วโดนเตะไข่ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ นั่นใช่สิ่งที่ใครไหนจะกล้าทำกัน?

จิวชูนำความดังกล่าวไปร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น/ตำบล แต่ในสถานที่แห่งนี้กลับคาคั่งไปด้วยผู้คน เสียงการสนทนารอบข้างแทบจะกลบเกลื่อนเสียงพูดของหญิงสาว แถมพฤติกรรมเจ้าหน้าที่หลี่ก็ดูไม่ได้ยี่หร่าต่อความขัดแย้งใดๆ ขอเวลาสองวันจะเดินทางไปไกล่เกลี่ย หาคำตัดสินให้

ไดเรคชั่นของฉากนี้แสดงให้เห็นถึงการจัดการที่ไม่เป็นระบบขององก์กรระดับรากหญ้า แม้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายสุด แต่เจ้าหน้าที่รัฐมีปริมาณจำกัด เงินเดือนก็น้อยนิด เลยมักแค่กระทำตามหน้าที่ ไม่ค่อยยี่หร่าต่อคำร้องเรียนสักเท่าไหร่

เจ้าหน้าที่หลี่กำลังอธิบายคำตัดสินของตนเองให้ชิวจู ภาพช็อตนี้ถ่ายออกมาจากในโรงนา พบเห็นพวกเขายืนอยู่ภายใต้กรอบของประตู แสดงถึงการยึดถือตามระเบียบ ข้อกฎหมาย ใครเป็นฝ่ายทำผิดก็รับโทษ ชดใช้สินไหม แค่นั้นก็ควรจบสิ้นไป

แต่ขณะที่หัวหน้าหมู่บ้านกำลังจะจ่ายเงินให้ชิวจู (ต่างยืนอยู่ตรงรั้วหน้าบ้าน) กลับโปรยธนบัตรทั้งยี่สิบใบ 200 หยวน (ใบละสิบหยวน) เรียกร้องให้เธอก้มลงเก็บจากพื้น เพื่อเป็นการโขกศีรษะขอบคุณตนเอง (ยินยอมรับว่าเธอเป็นฝ่ายผิด) นั่นสร้างความไม่พึงพอใจให้หญิงสาวอย่างรุนแรง (กำลังตั้งครรภ์อยู่ ก้มมากไม่ได้ด้วยละ) … พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกว่า ไม่เห็นด้วย ไม่ยินยอมรับ อวดอ้างว่าตนเองตำแหน่งสูงกว่า (เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน) มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี ปฏิเสธการสูญเสียหน้า

ความไม่พึงพอใจต่อหัวหน้าหมู่บ้าน ทำให้ชิวจูครุ่นคิดจะเข้าไปในเมือง Baoji เพื่อยื่นคำร้องเรียนต่อหน่วยงานระดับอำเภอ ภาพช็อตนี้บนเตียง สังเกตว่าแสงสว่างอาบฉาบเพียงบริเวณของหญิงสาว สื่อถึงแผนการดังกล่าวนี้เป็นความต้องการของเธอเองฝั่งฝ่ายเดียวขณะที่สามีหลับนอนอยู่ท่ามกลางความมืดมิด ไม่สามารถครุ่นคิดกระทำอะไรได้ทั้งนั้น (เพราะยังเจ็บไข่อยู่)

หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเกียรติ ศักดิ์ศรี นิสัยดื้อรั้นของชิวจู ที่ไม่ยินยอมความหัวหน้าหมู่บ้าน แต่ผมครุ่นคิดว่าคำตอบแทรกอยู่ในช็อตนี้ ระหว่างกำลังพูดบอกความตั้งใจต่อสามี สังเกตว่าเธอกำลังเย็บปักชุดทารกน้อย สื่อถึงผู้กำกับจางอี้โหมวพยายามวิพากย์วิจารณ์นโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาล อนาคตลูกหลานชาวจีนจะเป็นยังไงต่อไปละนี่?

ขณะที่ต้นฉบับเรื่องสั้นปลูกข้าวแทนผักกาด ในหนังเปลี่ยนมาเป็นปลูกพริก น่าจะคือผลผลิตของครอบครัวที่ไปปักหลักถ่ายทำยังหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งถ้าครุ่นคิดสักหน่อยก็น่าจะตระหนักถึงความเผ็ดแซบ นิสัยจัดจ้านของชิวจู ไม่ยินยอมความอะไรง่ายๆ (แถมชอบสวมใส่ชุดแดงคล้ายๆกันด้วยนะ) เป็นพืชพันธุ์ที่สื่อถึงตัวละครได้อย่างตรงเผง!

สถานที่รับเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานรัฐระดับอำเภอ มีห้องรับรองส่วนตัว เจ้าพนักงานทั้งอ่าน รับฟัง ให้คำแนะนำ แสดงถึงความใส่ใจในข้อเรียกร้องของประชาชนที่สูงกว่าหน่วยงานระดับตำบลอย่างเห็นได้ชัด!

แต่ผลการพิจารณาของหน่วยงานระดับอำเภอ ไม่ได้มีความแตกต่างจากคำตัดสินของเจ้าหน้าที่หลี่ก่อนหน้านั้น ซึ่งฉากนี้นำเสนอในลักษณะล้อกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานระดับตำบล น้องเขยของชิวจูกำลังแบกน้ำ แทรกระหว่างกลาง แล้วไปเทลงถัง สร้างความน่ารำคาญ ส่งเสียงดังกว่าการอ่านจดหมายของเจ้าหน้าที่หลี่เสียอีก! … สื่อถึงความไม่ยี่หร่าต่อคำตัดสิน หรือจะมองว่าผลการพิจารณานี้หาได้ใคร่สนใจปัญหาอย่างจริงจังก็ได้เช่นกัน

หลังจากอ่านจดหมายจบ ผมชอบความบ้านๆของคนชนบทมากๆ ชักชวนให้เจ้าหน้าที่หลี่รับประทานอาหารกลางวัน (แน่นอนว่าชามของเขาขนาดใหญ่สุด) แต่ของกินมื้อนี้กลับคือก๋วยเตี๋ยว ซึ่งสามารถสื่อถึงเส้นสาย พรรคพวกพ้อง สะท้อนถึงคำตัดสินดังกล่าว เหมือนจะเข้าข้างสมาชิกองค์กร/หัวหน้าหมู่บ้านมากกว่า

เหตุการณ์แรกที่ชิวจูและ Meizi ประสบพบเจอเมื่อมาถึงจังหวัดซีอาน คือการถูกหลอกให้โดยสารรถสามล้อ วิ่งวน เที่ยวชมรอบเมือง (อารมณ์ประมาณแท็กซี่บ้านเรา) หลังจากได้รับคำแนะนำจากผู้ปรารถนาดี พวกเธอจึงซื้อเสื้อคลุมแฟชั่นเพื่อปกปิดลวดลายความบ้านนอกคอกนาของตนเอง … ล้อถึงวิถีชีวิตของคนเมือง ล้วนสวมหน้ากาก ปกปิดธาตุแท้ตัวตน น้อยคนจะแสดงความจริงใจออกมา

แม้จะเป็นการใช้เส้นสาย แต่เราสามารถมองถึงความเอาใจใส่ของหน่วยงานระดับจังหวัด (ที่มากกว่าระดับตำบล, อำเภอ) ถึงขนาดผู้อำนวยการขับรถพาชิวจูกลับมาส่งถึงโรงแรมที่พัก แถมยังปฏิเสธรับของฝากทั้งหลาย (คงกลัวถูกมองว่าเป็นการรับสินบน) อาสาจัดการทุกสิ่งอย่างให้โดยเร็ว

  • สำหรับ Meizi ยืนกรานของฝากคือลูกอม สื่อถึงมุมมองของเธอยังสถานที่แห่งนี้คือการเที่ยวเล่นสนุกสนาน
  • ผลส้ม วัฒนธรรมจีนมีความเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล แห่งทองคำ และมีรูปทรงกลมเหมือนเงินทอง สัญลักษณ์แห่งความร่ำรวย เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน
  • ภาพวาดต้นไม้ใหญ่ นกกระเรียนโบยบิน สัญลักษณ์ของความมั่นคง ยั่งยืน มีอายุยาวนาน

คำตัดสินของหน่วยงานรัฐระดับจังหวัด ก็ไม่ได้แตกต่างจากก่อนหน้า เพียงเพิ่มค่าเดินทางเป็น 250 หยวน (แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจริงๆ ถือว่าขาดทุนย่อยยับแล้วละ) แต่ความที่จดหมายถูกส่งมาถึงหัวหน้าหมู่บ้าน สร้างความเคลือบแคลงใจให้ชิวจู ปฏิเสธรับเงิน โยนมันลงพื้น (ล้อกับตอนที่หัวหน้าหมู่บ้านโปรยเงินให้เธอเก็บ) และความขบขันของฉากนี้เกิดจากเจ้าสุนัขดันให้ความสนใจธนบัตร … เหมือนต้องการล้อเลียนความสำคัญของเงินๆทองๆ (ไม่ใช่กับชิวจู แต่หัวหน้าหมู่บ้านกลับต้องผลักไสเจ้าหมาให้ออกห่าง)

เงาที่ทอดยาวของเสาไม้ระหว่างที่ชิวจูเดินออกจากบ้านของหัวหน้าหมู่บ้าน มอบสัมผัสของความเยิ่นยาว ไม่สิ้นสุด เพราะเธอยังปฏิเสธยินยอมความเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เช่นนั้นแล้วเป้าหมายถัดไป พูดแซวกันเล่นๆกรุงปักกิ่งเลยหรือไร? (ถ้าไปจริงดูน่าจะหมดตัวเลยมั้งนะ 55+)

สามีของชิวจูพยายามพูดโน้มน้าวให้ภรรยาพอได้แล้วละ ย้ำเตือนว่าควรต้องรู้จักการให้อภัย เพราะเราจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย อยู่ร่วมกันในหมู่บ้านแห่งนี้ จะให้เรื่องราวบานปลายไปถึงไหน … แต่สำหรับชิวจู เหมือนว่าขึ้นขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ ภาพถ่ายผ่านบริเวณหน้าต่าง ราวกับกรงขังเธอไว้ภายใน ร่ำร้องไห้พร้อมสวมใส่ชุดคลุมที่ซื้อมา ตระเตรียมขนพริกออกเดินทางต่ออีกครั้ง

ล้อกับตอนเจ้าหน้าที่รับประทานก๋วยเตี๋ยวที่บ้านของชิวจู ครานี้ผู้อำนวยการหน่วยงานระดับจังหวัด พาพวกเธอมากินข้าวยังตลาด/โรงอาหาร (ไม่รู้ที่ไหนเหมือนกัน) ก่อนให้คำแนะนำส่งคำร้องฟ้องศาล ไม่จำเป็นต้องไปให้ถึงเมืองหลวงกรุงปักกิ่ง ก็สามารถพิจารณาคดี ให้ศาลยุติธรรมพิพากษาตัดสินได้เหมือนกัน

เอาจริงๆแล้วเวลามีข้อพิพาท ความขัดแย้ง เราสามารถส่งคำร้องฟ้องศาลได้ตั้งแต่แรก แต่ความไม่รู้หนังสือ ไม่มีใครอธิบายบอกกล่าว ทำให้ชิวจูเพิ่งมารับรู้จากคำเล่าครั้งนี้ นี่ถือเป็นอีกข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ยังเข้าไม่ถึงประชาชนทุกระดับ (แต่ก็ถือเป็นประเด็นด้านการศึกษาด้วยเหมือนกัน เพราะผู้คนชนบทห่างไกลยังขาดความรู้ ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ เลยมักถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่บ่อยครั้ง)

ในกระบวนการทำงานของระบบยุติธรรม มักไล่ระดับการดำเนินคดีจากบนลงล่าง เพื่อตรวจสอบว่ามีหน่วยงานไหนกระทำการหละหลวม ตัดสินผิดพลาด ถึงสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ถูกต้องเหมาะสม แต่นั่นเองสร้างความเข้าใจผิดต่อชิวจู เพราะไม่ต้องการฟ้องร้องผู้อำนวยการระดับจังหวัด (เพราะเขาไม่ได้กระทำความผิดใดๆ แถมยังเคยให้ความช่วยเหลือมามาก) ต้องใช้เวลาเกลี้ยกล่อมสักพักถึงยินยอมกลับเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาคดี

กระบวนการทำงานของศาลชั้นกลางจะมีความแตกต่างอย่างมากๆๆ เอาใจใส่การทำคดีความสุดๆ ถึงขนาดส่งเจ้าหน้าที่ลงสถานที่มาเก็บหลักฐานเพิ่มเติม ขอให้สามีชิวจูทำการ X-Ray เพื่อดูว่าได้รับบาดเจ็บมากน้อยเพียงไหน สามารถทำให้รูปคดีเปลี่ยนไปได้เลย … นี่ก็ชัดเจนว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว! องค์กรระดับบนจริงจังจริงใจในการปฏิบัติหน้าที่ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด (เพราะจ่ายเงินเยอะด้วยกระมัง เลยให้การดูแลโจกท์อย่างดีพิเศษ)

การมาถึงของคณะการแสดงงิ้ว เหมือนต้องการล้อเลียนการทำงานของหน่วยงานรัฐ ไม่ต่างจากการเสแสร้งสร้างภาพ เล่นละคอนตบตา ทำไมมีแต่องค์กรระดับสูงถึงทำเหมือนเอาจริงเอาจัง องค์กรระดับล่างกลับสนแค่เอาตัวรอดไปวันๆ

แล้วมันช่างพอดิบพอดีกับช่วงเวลาน้ำเดินของชิวจู ใครต่อใครต่างสนเพียงรับชมการแสดงงิ้วนี้ ทำให้สามี(ของชิวจู)ต้องเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าหมู่บ้าน ยินยอมละทิ้งความขัดแย้ง ออกติดตามหาหมอเพื่อมาช่วยทำคลอด … สื่อถึงช่วงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม ความเป็นความตาย ต่างฝ่าย(ทั้งหัวหน้าหมู่บ้าน และหน่วยงานรัฐ)ถึงยินยอมให้ความช่วยเหลือประชาชนใต้สังกัด

ภายหลังการคลอดบุตรชาย ชิวจูล้มเลิกความโกรธเกลียด อคติต่อหัวหน้าหมู่บ้าน รู้สึกสำนึกบุญคุณที่ให้ความช่วยเหลือ ชักชวนมาร่วมงานเลี้ยงฉลองครบรอบหนึ่งเดือนเกิด แต่โชคชะตากลับเล่นตลกเพราะศาลชั้นกลางตัดสินว่าเขามีความผิด โทษฐานทำร้ายร่างกาย ถูกควบคุมขังระยะเวลา 15 วัน นั่นหาใช่สิ่งที่ฉันต้องการตรงไหน?

ชิวจูวิ่งออกจากบ้าน ลัดเลาะพานผ่านทุ่งหิมะขาวโพลน ไล่ติดตามเสียงไซเร็นต้องการถอดถอนคดีความ แต่รถตำรวจก็ขับเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทอดทิ้งให้เธอยืนอย่างโดดเดี่ยว หนาวเหน็บ เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด นี่ฉันกระทำบ้าบอคอแตกอะไรลงไป!

ตัดต่อโดย ดูหยวน, Du Yuan ในสังกัด Xi’an Film Studio ขาประจำผู้กำกับจางอี้โหม่วในยุคแรกๆ ตั้งแต่ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Shanghai Triad (1995) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของชิวจู ตั้งแต่สามีถูกหัวหน้าหมู่บ้านเตะผ่าหมาก! ออกเดินทางร่วมกับน้องเขยเพื่อไปยื่นคำร้องต่อนายตำรวจระดับตำบล อำเภอ จังหวัด แล้วส่งเรื่องฟ้องร้องศาลชั้นต้น ขณะกำลังพิจารณาคดีของศาลชั้นกลาง เธอก็น้ำเดินกำลังจะคลอด พอบุตรชายอายุได้หนึ่งเดือน คำตัดสินของศาล(ชั้นกลาง)ก็ส่งมาถึง

ใครเคยรับชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานราชการ อาทิ Ikiru (1952) หรือ Brazil (1995) น่าจะตระหนักถึงลักษณะเป็นขั้นเป็นตอน ไล่ระดับจากล่างขึ้นบน (หรือบนลงล่าง) แต่ความที่ผลของการตัดสินมักมีลักษณะคล้ายๆกัน (เพื่อให้เรื่องราวสามารถดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนถึงจุดสูงสุด) ผู้ชมจึงมักคาดเดาเหตุการณ์บังเกิดขึ้นโดยง่าย ด้วยเหตุนี้การสร้างความแตกต่าง(ในแต่ละลำดับขั้น)จึงมีความจำเป็นมากๆ ซึ่งผมจะขอแบ่งองก์ของหนังด้วยวิธีการนี้แล้วกัน

  • อารัมบท, ชิวจูและน้องเขย ลากพาสามีเดินทางเข้ามาในเมืองให้หมอทำการรักษา
  • ระดับตำบล
    • ชิวจูมีความไม่พึงพอใจพฤติกรรมของหัวหน้าหมู่บ้าน เลยนำใบรับรองแพทย์มาปรึกษานายตำรวจระดับท้องถิ่น
    • ให้คำตัดสินจ่ายค่าสินไหม/รักษาพยาบาล 200 หยวน
    • แต่หัวหน้าหมู่บ้านกลับโปรยเงินหล่นพื้น สร้างความไม่พึงพอใจต่อชิวจูอย่างรุนแรง
  • ระดับอำเภอ
    • ชิวจูออกเดินทางเข้าเมือง (อำเภอ Baoji)
    • ได้รับคำแนะนำให้หาคนเขียนคำร้อง ค่าใช้จ่าย 20 หยวน
    • ได้รับคำตัดสินแบบเดียวกันเป๊ะ จ่ายเงินค่าสินไหม/รักษาพยาบาล 200 หยวน
  • ระดับจังหวัด
    • ชิวจูออกเดินทางเข้าเมือง (จังหวัดซีอาน) แล้วต่อรถไปจังหวัดซีอาน
    • ถูกหลอกค่าโดยสาร 30 หยวน แต่โชคดีได้รับคำแนะนำโรงแรมราคาถูก และให้ความช่วยเหลือลัดคิวกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐ
    • แต่ก็ยังได้รับคำตัดสินแบบเดียวกัน แค่จ่ายค่าสินไหม/รักษาพยาบาลเพิ่มเป็น 250 หยวน
    • สามีของชิวจูเรียกร้องให้พอได้แล้ว แต่เธอรู้สึกเอะใจเมื่อคำตัดสินถูกส่งให้หัวหน้าหมู่บ้านแทนที่จะเป็นตนเอง
  • ศาลชั้นต้น
    • ชิวจูได้รับคำแนะนำให้ส่งเรื่องฟ้องศาล จ่ายค่าทนาย … ไม่รู้เท่าไหร่
    • ขณะกำลังจะขึ้นศาลแสดงความยื้อยัก เพราะต้องไล่ฟ้องตั้งแต่หัวหน้าระดับจังหวัด (เพราะเขาเป็นคนมีบุญคุณต่อเธอ จึงไม่ต้องการให้อีกฝ่ายต้องเดือดร้อน)
    • แต่ผลลัพท์ยังคงได้รับการตัดสินแบบเดียวกัน
  • ศาลชั้นกลาง
    • เจ้าพนักงานศาลชั้นกลางมีความกระตือรือล้นในการหาทำคดีอย่างมาก ถึงขนาดเดินทางมายังหมู่บ้านเพื่อเก็บหลักฐานเพิ่มเติม
    • ค่ำคืนหนึ่งชิวจูน้ำเดินใกล้คลอด สามีจึงเข้าไปขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าหมู่บ้าน แม้ไม่เต็มใจนักแต่ก็ยินยอมติดตามหมอให้ สร้างความซาบซึ้ง ไม่ติดใจอะไรอีกแล้ว
    • แต่จู่ๆคำตัดสินของศาลชั้นกลางออกมาว่า หัวหน้าหมู่บ้านมีความผิดฐานกระทำร้ายร่างกาย ถูกจับกุมคุมขังระยะเวลา 15 วัน สร้างความขมขื่นในใจต่อชิวจูอย่างรุนแรง

สิ่งแรกที่ต้องชมคือการสร้างจังหวะเริ่มต้นให้ทุกๆการเดินทาง ตั้งแต่ขนพริกไปขาย บนท้องถนนหนทางเลี้ยวลด รวมถึงเพลงประกอบที่จะได้ยินจนมักคุ้นหู ซึ่งเป็นการสร้างความขบขันเล็กๆ และย้ำเตือนว่ากว่าตัวละครจะดำเนินไปถึงจุดๆนั้น ต้องพานผ่านความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก ไม่รู้จะดื้อดึงดันไปถึงไหนกัน

ช่วงที่ผมถือว่าคือไฮไลท์ของหนังคือระดับจังหวัด เดินทางสู่ซีอาน ‘บ้านนอกเข้ากรุง’ พบเจอเหตุการณ์วุ่นๆหลายอย่าง ทั้งถูกหลอก หลงทาง สองสาวเกือบต้องพลัดพรากจาก แต่ก็ได้รับประสบการณ์ดีๆ มีโอกาสรู้จักคนมีน้ำใจมากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไดเรคชั่นถ่ายทำ จะมีการร้อยเรียงวิถีชีวิตคนเมืองใหญ่ ตึกรามบ้านช่อง ผู้คนเดินทางไปมาขวักไขว่ ร้านค้ามากมายตามท้องถนน เรียกได้ว่าเป็นการจัดเก็บบรรยากาศทศวรรษ 90s ในลักษณะของ ‘city symphony’


เพลงประกอบโดย เจ้าจี้ผิง, Zhao Jiping (เกิดปี 1945) นักแต่งเพลงจากมณฑลฉ่านซี ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทั้งดนตรีคลาสสิกและพื้นบ้านจีน สำเร็จการศึกษาจาก Xi’an Music Conservatory เมื่อปี 1970 แล้วทำงานในสถาบันโอเปร่าท้องถิ่นจนถึงปี 1978 ก่อนตัดใจออกมาร่ำเรียนต่อด้านการประพันธ์เพลงที่ Central Conservatory of Music ณ กรุงปักกิ่ง เริ่มทำงานวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ Yellow Earth (1984) และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่นห้า ผลงานเด่นๆ อาทิ Red Sorghum (1988), Raise the Red Lantern (1991), Farewell, My Concubine (1993, To Live (1994), A Chinese Odyssey (1995) ฯ

หลังจากแต่งบทเพลงเครียดๆในการร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวมาหลายเรื่อง! The Story of Qiu Ju (1992) ผมรู้สึกว่าเป็นผลงานที่เจ้าจี้ผิง มีความเพลิดเพลินผ่อนคลาย บรรยากาศสบายๆ แม้เสียง Sound Effect จะดังกว่าปกติในหลายๆฉาก (โดยเฉพาะเสียงพูดคุย รถรา ผู้คนเดินทางไปมาขวักไขว่) แต่เมื่อไหร่เพลงประกอบดังขึ้น อะไรอย่างอื่นก็จะถูกลดความสำคัญลงโดยทันที

เกร็ด: เห็นว่าเจ้าจี้ผิงได้ทำอัลบัมรวมเพลงประกอบภาพยนตร์ The Story of Qiu Ju (1992) แต่ครึ่งหนึ่งมีการแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเครื่องดนตรีสากล (ไม่ได้นำมาใช้ในหนัง) สามารถค้นหารับฟังได้ที่เว็บ bilibili (ต้องค้นภาษาจีนด้วยนะครับถึงจะพบเจอ)

บทเพลงที่ผมถือเป็น Main Theme ได้ยินซ้ำๆบ่อยครั้งจนรู้สึกมักคุ้นหู ในช่วงเริ่มต้นการออกเดินทางของชิวจู (อารมณ์เดียวกับ Homeward Bound เรื่อง Monty Python and the Holy Grail (1975)) ตั้งแต่อารัมบทพาสามีมาหาหมอ, เดินทางสู่อำเภอ, จังหวัดซีอาน ฯลฯ ด้วยลักษณะของการแสดงอุปรากร/งิ้วจีน (ซึ่งจะมีทำการแสดงช่วงไคลน์แม็กซ์ของหนังด้วยนะ) ท่วงทำนองเน้นความสนุกสนาน ครื้นเครง อลเวง ยียวนกวนประสาทอยู่เล็กๆ สอดคล้องเข้ากับ Comedy ของหนังอยู่ไม่น้อย

แม้ไม่ใช่บทเพลงที่ถูกนำมาใช้ในหนัง 隨想音詩, Caprice Poems เป็นบทเพลงที่เจ้าจี้ผิง ใช้ดนตรีสากลตะวันตกพรรณาถึงภาพยนตร์ The Story of Qiu Ju (1992) หรือจะมองว่าเป็น Character Song ของชิวจู ก็ได้เช่นกัน! เริ่มต้นการเดินทางด้วยมุ่งมั่น คาดหวัง แม้ไม่อยากเดินทางจากบ้านไป แต่เพื่อเติมเต็มเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ (หรือจะเรียกว่าความดื้อรั้นของชิวจู) จึงไม่ยินยอมก้าวถอยหลัง ระหว่างการผจญภัยในเมืองใหญ่นั้น ก็ได้พบเจอเรื่องวุ่นๆ สร้างรอยยิ้มความประทับใจให้ผู้พบเห็น และเมื่อประสบความสำเร็จถึงเป้าหมายหมายทาง ก็ถึงเวลาหวนกลับบ้านสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

The Story of Qiu Ju (1992) มีหลากหลายมิติในการนำเสนอเรื่องราว เริ่มจากการผจญภัยของชิวจู ‘บ้านนอกเข้ากรุง’ ออกเดินทางจากชนบทสู่อำเภอ แล้วขึ้นรถมาถึงจังหวัดใหญ่ พบเห็นวิถีชีวิตชาวจีนช่วงทศวรรษ 90s ร้อยเรียงในลักษณะ ‘city symphony’ ที่มีความแตกต่างกันไป ไม่ง่ายจะปรับตัว มีอะไรให้ต้องเรียนรู้มากมาย ทั้งเรื่องดีๆร้ายๆ กลายเป็นประสบการณ์ ความทรงจำ นำกลับไปเล่าให้ลูกหลานฟังจนแก่เฒ่า

แต่ชิวจูไม่ได้มาเที่ยวเล่น เปิดหูเปิดตาโลกใบใหม่ จุดประสงค์ของเธอเพื่อยื่นคำร้องให้หน่วยงานรัฐพิจารณาความขัดแย้งระหว่างสามีกับหัวหน้าหมู่บ้าน จากหน่วยงานระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ก่อนได้รับคำแนะนำให้ยื่นฟ้องศาลชั้นต้น ศาลชั้นกลาง จุดประสงค์เพื่อนำเสนอระบบการทำงานขององค์กรยุติธรรม ที่ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน จากล่างขึ้นบน จนกว่าโจกท์จะรู้สึกพึงพอใจคำตัดสิน (หรือเมื่อไปถึงศาลสูงสุด) คดีความถึงสามารถสิ้นสุดลง

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีน 秋菊打官司 อ่านว่า Qiū Jú dǎ guānsi, แปลตรงตัวว่า Qiu Ju goes to court

แต่คำตัดสินของหน่วยงานรัฐ รวมถึงศาลชั้นต้น ต่างสร้างความไม่พึงพอใจต่อชิวจู สะท้อนถึงมุมมองต่อคดีที่แตกต่างกันไป

  • ในความคิดเห็นของชิวจู ไม่ได้สนเงินๆทองๆ แค่ต้องการให้หัวหน้าหมู่บ้านกล่าวคำขอโทษ แสดงออกอย่างจริงใจ
  • ในมุมของกฎหมาย/การตัดสินของหน่วยงานรัฐ มองเพียงเหตุและผลที่เป็นรูปธรรม จ่ายเงินทอง ค่าสินไหม รักษาพยาบาล แค่นั้นก็ปิดคดี

นั่นรวมไปถึงศาลชั้นกลาง ซึ่งทำการพิจารณาหลักฐานโดยละเอียด บีบบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งเมื่อผลการตรวจ X-Ray แสดงให้เห็นถึงอาการบาดเจ็บสาหัส ผลการตัดสินจึงมีความรุนแรงและโดยทันที! แต่นั่นก็หาใช่ความต้องการของชิวจูแม้แต่น้อย

การตัดสินของหน่วยงานรัฐ/ศาลยุติธรรม ที่ไม่สอดพ้องความต้องการของชิวจู สามารถสื่อถึงพฤติกรรมรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ที่นิยมชมชอบออกกฎระเบียบ พระราชบัญญัติโน่นนี่นั่น โดยไม่สนรับฟังความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่ ครุ่นคิดอะไรดีต่อประเทศชาติก็ทำเลยโดยทันที นี่ตั้งแต่การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (1958-62), การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-67), นโยบายลูกคนเดียว (1979) ฯลฯ ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว สามัญชนคนธรรมดาก็ต้องรับเวรรับกรรม ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นคดีความขัดแย้งระหว่างหัวหน้าหมู่บ้าน vs. สามีของชิวจู สามารถเปรียบเทียบเชิงมหภาคกับผู้นำประเทศ (เติ้งเสี่ยวผิง) vs. ประชาชน นโยบายลูกคนเดียวไม่ต่างจากการเตะผ่าหมากผู้คน ทำลายขนบวิถึ ธรรมเนียมประเพณี บรรพบุรุษชาวจีนต่างมีลูกมาก ต้องการบุตรชายสำหรับสืบสายเลือดวงศ์ตระกูล เมื่อถูกกฎหมายบีบบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนแปลง ก็เหมือนการทำหมัน ตัดตอน โยนเหรียญวัดดวงว่าครอบครัวจะมีทายาทสืบทอดต่อหรือไม่

ผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงทัศนะออกมาอย่างชัดเจนจากภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายลูกคนเดียว! แต่ก็ทำได้เพียงแค่เพ้อรำพัน เพราะไม่มีใครสามารถทำอะไรทั้งนั้น (ยื่นคำร้อง ฟ้องศาล ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำตัดสินใดๆ) ขณะเดียวกันการที่เขาอาศัยอยู่ในประเทศแห่งนี้ รักความเป็นจีน ปฏิเสธจะหลบหนีลี้ภัยไปอยู่แห่งหนไหน เลยทำได้เพียงประณีประณอม อ่อนนอบน้อม ยินยอมรับโชคชะตากรรม คาดหวังว่าสักวันหนึ่งนโยบายดังกล่าวจะสิ้นสุดลง

เกร็ด: แต่กว่านโยบายดังกล่าวจะเริ่มผ่อนปรน ก็เมื่อปี 2015 ปรับเปลี่ยนให้มีบุตรได้สองคน และเมื่อปี 2021 เพิ่มขึ้นอีกเป็นสามคน! สาเหตุเพราะอัตราการเกิดในประเทศจีนถดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย จนกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในอีกไม่ช้านาน

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวเมื่อหลายปีก่อน ‘ผู้กำกับดังซุกภรรยา และบุตรอีกสามคน’ ไม่ใช่ใครอื่น จางอี้โหมวนี่แหละ! หลังเลิกราจากกงลี่ มีความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับเฉินทง แต่ตัดสินใจปกปิดซ่อนเร้นไว้ ไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้จดจดทะเบียน ซื้อคฤหาสถ์หลังใหญ่ให้อยู่อาศัยทั้งครอบครัว กระทั่งเมื่อถูกนักข่าวขุดคุ้ยเปิดโปงความจริง จึงออกมาสารภาพผิด ยินยอมรับความสัมพันธ์ และเสียค่าปรับสูงถึง 7.5 ล้านหยวน!

ใครอยากรับรู้เรื่องราวชีวิตส่วนตัว ความรักความสัมพันธ์ของจางอี้โหมว ตามลิ้งค์ภาษาอังกฤษไปนะครับ: https://inf.news/en/entertainment/172ac379067b566ae08147ea8913ca53.html


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับถือว่าดีล้นหลาม สามารถคว้ามาถึง 5 รางวัล (แต่อาจเพราะเป็นปีที่แทบไม่มีหนังเด่นๆเข้าฉายสักเท่าไหร่)

  • Golden Lion
  • Volpi Cup for Best Actress (กงลี่)
  • Golden Ciak (กงลี่)
  • OCIC Award – Honorable Mention
  • UNICEF Award

กระแสตอบรับระดับนานาชาติที่ดีปานนี้ ทำให้หนังกลายเป็นตัวแทนประเทศจีนส่งเข้าลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่กลับไม่ผ่านเข้ารอบใดๆอย่างงงๆ ผู้ชนะปีนั้น Indochine (1992) สัญชาติฝรั่งเศส ก็ไม่ได้มีความน่าจดจำสักเท่าไหร่

ส่วนรางวัลในประเทศ Golden Rooster Awards ได้เข้าชิง 6 สาขา คว้ามาเพียง 2 รางวัล ประกอบด้วย

  • Best Film ** คว้ารางวัล
  • Best Director
  • Best Actress (กงลี่) ** คว้ารางวัล
  • Best Cinematography
  • Best Costume Design
  • Best Sound

หนังน่าจะยังไม่ได้รับการปรับปรุงบูรณะ ฉบับที่ผมรับชมแม้นำจาก Blu-Ray แต่คุณภาพแค่พอใช้ (คงเพราะหนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm ด้วยละ) คงต้องรอคิวอีกสักพักใหญ่ๆ (หนังของจางอี้โหมว กำลังทะยอยได้รับการบูรณะอยู่อีกหลายเรื่องนะครับ)

ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมากๆ ทั้งการทดลองปรับเปลี่ยนแนวทางตนเอง (ทำให้ได้พบเห็นอีกแง่มุม/อีกตัวตนของผู้กำกับจางอี้โหมว) เก็บบันทึกบรรยากาศประเทศจีนช่วงทศวรรษ 90s ได้อย่างทรงคุณค่ามากๆ และโดยเฉพาะกงลี่ ที่แม้สกปรกมอมแมม แต่งตัวบ้านนอกเข้ากรุง ออกเสียงสำเนียงเหน่อๆ กลับยิ่งโดดเด่นเปร่งประกาย เล่นฉากง่ายๆแต่กลับโคตรตราตรึง!

แนะนำคอหนังดราม่า กลิ่นอาย Neo-Realist ตั้งคำถามประเด็นสังคม ชวนขบขันเล็กๆ, นักสังคมสงเคราะห์ ข้าราชการทุกแขนง ทำงานกระบวนการยุติธรรม เจ้าพนักงานทำคดี ทนายความ ผู้พิพากษา, ใครต้องการพบเห็นวิถีชีวิตชาวจีน หรือเคยพานผ่านช่วงทศวรรษ 90s น่าจะสร้างความหวนระลึก Nostalgia ได้อย่างมากๆ, แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว และนักแสดงนำกงลี่ ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต pg กับความดื้อรั้น เอาแต่ใจ พะวงกับการตั้งครรภ์ของชิวจู

คำโปรย | The Story of Qiu Ju ทำการเตะผ่าหมากผู้ชม ให้ตระหนักถึงปัญหาสังคมสมัยนั้น และเก็บบันทึกฝังไว้ใน Time Capsule
คุณภาพ | ผ่
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: