The Story of Ruth

The Story of Ruth (1960) hollywood : Henry Koster ♥♥♥

ดัดแปลงเรื่องราวจากคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม Book of Ruth จากหญิงสาวนอกรีต เรียนรู้จักความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า ตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองสู่ศาสนาใหม่ แม้ตอนแรกๆจะไม่มีใครยินยอมรับ แต่กาลเวลาจะเป็นสิ่งพิสูจน์จิตใจของเธอเอง

เพราะการได้รับชม The Shape of Water (2017) ทำให้ผมมีโอกาสรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้คาดหวังอะไรมากเพราะเห็นคะแนนใน IMDB ต่ำกว่า 7.0 แต่ระหว่างรับชมก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ทีเดียว ดูสนุก เพลิดเพลิน ได้ความรู้ และเปิดโลกทัศน์หลายๆอย่าง แต่สำหรับชาวคริสต์ที่ศึกษาอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ล คงไม่ประทับใจหนังสักเท่าไหร่ เพราะกว่า 50% ที่เนื้อเรื่องเสริมเติมแต่งเพิ่มเข้าไป แม้เป็นองค์ประกอบที่ลงตัวในสายตาของผม แต่บิดเบือนเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ไปมากทีเดียว

ช่วงทศวรรษ 50s นับตั้งแต่ความสำเร็จอันล้นหลามของ Samson and Delilah (1949) ได้เปิดประตูหนังแนว Biblical Epic ตามมาด้วย Quo Vadis (1951), David and Bathsheba (1951), The Robe (1953) [เรื่องแรกที่ถ่ายด้วย CinemaScope], The Ten Commandments (1956), Ben-Hur (1959) [คว้า Oscar: Best Picture], King of Kings (1961) ก่อนถึงจุดสิ้นสุดที่ The Greatest Story Ever Told (1965)

The Story of Ruth ก็เช่นกัน อยู่ในความสนใจของสตูดิโอ Fox มาตั้งแต่ปี 1957 แรกสุดเลยติดต่อว่าจ้าง Simon Windelburg ให้มาเขียนบท ตามด้วย Michael Kanin และภรรยา Fay Kanin ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ Frank G. Slaughter ดัดแปลงเรื่องราวจากนิยายของตนเอง The Song of Ruth: A Love Story From the Old Testament (1954) แต่สุดท้ายสตูดิโอกลับเลือกบทของ Norman Corwin นักเขียนบทละครวิทยุ ที่พัฒนาเรื่องราวขึ้นใหม่หมด น่าจะครึ่ง-ครึ่ง อ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิลและแต่งเติมเสริมเข้าไป

Henry Koster (1905 – 1988) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin เชื้อสาย Jews ลุงเป็นเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์แห่งแรกๆของประเทศ โดยแม่ของเขาเป็นนักเปียโนเล่นประกอบหนังเงียบ กลับจากโรงเรียนไม่ได้ทำอะไรก็ดูหนัง เขียนเรื่องสั้น กลายเป็นผู้ช่วย กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Thea Roland (1932) ตามด้วย Das häßliche Mädchen (1933) ไม่เป็นที่ถูกใจ Nazi นัก ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสตามด้วย Budapest มีโอกาสเซ็นสัญญากับ Universal Pictures เดินทางสู่อเมริกา ทั้งๆที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่สร้าง Three Smart Girls (1936) ประสบความสำเร็จทำให้สตูดิโอรอดพ้นการล้มละลาย, One Hundred Men and a Girl (1937) เข้าชิง Oscar 5 สาขา รวมถึง Best Picture, มีลุ้น Oscar: Best Director จากเรื่อง The Bishop’s Wife (1947), ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ Harvey (1950), The Robe (1953), Flower Drum Song (1961), The Singing Nun (1966) ฯ

ในตอนแรก Fox อยากให้ Cecil B. De Mille กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ปู่แกพลันด่วนเสียชีวิตไปก่อน เลยมาลงเอยที่ Koster เพราะเคยสร้าง The Robe (1953) ให้กับสตูดิโอ เริ่มโปรดักชั่น พฤศจิกายน 1959 ถ่ายทำเสร็จสิ้นกลางกุมภาพันธ์ 1960

ขอไม่นำเสนอเรื่องย่อของหนังนะครับ แต่จะเล่าถึงสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ให้เปรียบเทียบกันเองว่าแตกต่างกันอย่าง

หนังสือนางรูธ (Book of Ruth) เป็นหนังสือเล่มสั้นที่สุดในคัมภีร์ไบเบิล มีเพียง 4 บทเท่านั้น ไม่ระบุผู้เขียนที่ชัดเจน แต่นักเทววิทยาบางกลุ่มเชื่อว่า Samuel เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น แต่เป็นที่ถกเถียงกันเพราะนักประวัติศาสตร์พบว่า เนื้อหาบางส่วนในหนังสือนางรูธได้ระบุช่วงเวลาซึ่งเชื่อได้ว่า น่าจะเกิดขึ้นภายหลังจาก Samuel ได้เสียชีวิตไปแล้ว

ในช่วงเวลาของ Judges (ผู้วินิจฉัย) ที่ประเทศอิสราเอลเต็มไปด้วยความอดอยากยากแค้น ครอบครัว Elimelech พร้อมด้วยภรรยา Naomi และลูกชายสองคน Mahlon, Chilion อพยพเดินทางจาก Bethlehem สู่ Kingdom of Moab (ประเทศที่ไม่นับถือ Yahweh แต่เคารพยกย่องรูปปั้นพระเจ้าของ Chemosh) เมื่อเวลาผ่านไป Elimelech เสียชีวิต, Mahlon แต่งงานกับ Ruth และ Chilion แต่งงานกับ Orpah

สิบปีถัดมา Mahlon กับ Chilion เสียชีวิตจากไป (ไม่ได้มีการระบุสาเหตุ) Naomi เลยตัดสินใจเดินทางกลับ Bethlehem กับลูกสะใภ้ทั้งสองเธอขอให้พวกเขากลับสู่อ้อมอกครอบครัวเดิมแล้วแต่งงานใหม่ ขณะที่ Orpah จากไปอย่างลังเลใจ Ruth กลับพูดว่า

“Intreat me not to leave thee, [or] to return from following after thee: for whither thou goest, I will go; and where thou lodgest, I will lodge: thy people [shall be] my people, and thy God my God: Where thou diest, will I die, and there will I be buried: the LORD do so to me, and more also, [if aught] but death part thee and me.”

(Ruth 1:16–17 KJV)

ถึง Ruth จะเคยนับถือพระเจ้า Chemosh แต่เมื่อสามีนับถือ Yahweh จึงเปลี่ยนตาม และขอติดตามแม่สามีกลับสู่ Bethlehem แต่เพราะการจากไปนาน บ้านเก่าทรุดโทรมพังทลาย เธอจึงต้องทำงานเก็บเกี่ยวข้าวในไร่ของชายชื่อ Boaz ที่พอรับรู้เรื่องราวของหญิงสาว แสดงความมีน้ำใจให้การช่วยเหลือแทบจะทุกสิ่งอย่าง แม้ทั้งสองจะตกลงปลงใจแต่งงาน แต่มีธรรมเนียมยึดถือปฏิบัติ Levirate Law (Yibbum) สำหรับหญิงหม้ายจะแต่งงานใหม่ได้ก็เฉพาะกับญาติคนถัดไปของสามี ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิ้ลมิได้มีระบุชื่อเสียงเรียงนามไว้ แต่ก็ได้ยอมความเพราะไม่ต้องการให้หญิงสาวไร้หัวนอนปลายเท้ามาอยู่กินร่วมด้วย

Boaz และ Ruth แต่งงานมีลูกชายคนหนึ่งชื่อ Obed บิดาของ Jesse ปู่ทวดของ King David บรรพบุรุษของ Jesus of Nazareth

สำหรับนักแสดงนำรับบท Ruth ใช้การคัดเลือก Audition ประกอบด้วย Susan Strasberg, Susan Kohner, Tina Louise, Diane Baker, Millie Perkins, Ulla Jacobsson, Myrna Fahey ก่อนลงเอยที่นักแสดงหน้าใหม่สัญชาติ Israeli เชื้อสาย Jews ชื่อ Elana Cooper

Elana Cooper (เกิดปี 1940) เป็นนักแสดงละครเวทีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศบ้านเกิด Israel ของตนเอง แสวงหาบทบาทที่ต้องการให้ได้รับการจดจำระดับ เคยมาคัดเลือกบท The Diary of Anne Frank (1957) เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ก่อนเป็น Millie Perkins คว้าบทเด่นไป กลับมาครั้งนี้ต้องถือว่าบุญญาบารมีล้วนๆ ยินยอมเปลี่ยนชื่อเป็น Elana Eden เพื่อให้ดูเหมือนมีเชื้อสาย Jews (แต่เธอก็มีเชื้อสาย Jews อยู่แล้วนะ)

การแสดงของ Elana เปร่งประกาย เจิดจรัสจ้า ครึ่งแรกเต็มไปด้วยความคับข้องโลเล แต่เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา แสดงออกด้วยความเด็ดเดี่ยว ตั้งมั่นคง อหังการ ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองกลายเป็น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่เสียใจในการกระทำของตนเอง ทั้งจากอดีตและปัจจุบัน

มีนักวิจารณ์กล่าวอย่างน่าเสียดาย การแสดงของ Elana สมควรได้รับการยกย่องในช่วงประกาศรางวัลปลายปีบ้าง แต่ไม่ใช่แค่เธอ หนังทั้งเรื่องก็ถูกมองข้ามจากทุกๆสถาบัน

Mary Margaret ‘Peggy’ Wood (1892 – 1978) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York, ไปๆมาๆวนเวียนอยู่กับ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และการแสดง Broadway โด่งดังกับ The Story of Ruth (1960) และเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress จากเรื่อง The Sound of Music (1965)

รับบท Naomi แม่สามีของ Ruth ที่ครึ่งแรกมิได้ยอมรับหญิงสาวเท่าไหร่ แต่เมื่อรับรู้ว่าแต่งงานกับลูกชาย Mahlon ก็ยินยอมรับในฐานะสะใภ้ ออกเดินทางกลับสู่ Bethlehem ร่วมกัน ให้การช่วยเหลือผลักดัน และชี้ชักนำวิธีการให้เธอได้พบเจอ ครองคู่ในรักสมควรกับตนเอง

นี่เป็นบทบาทโดดเด่นไม่น้อยกว่านางเอก ครึ่งแรกจะไม่เห็นชัดเท่าไหร่นึกว่าแค่ตัวประกอบ แต่ครึ่งหลังเพราะหลงเหลือเพียงผู้หญิงสองคนต้องใช้ชีวิตต่อสู้ดิ้นรนร่วมกัน สุขทุกข์ร่วมเสพ ราวกับทั้งสองเป็นแม่ลูกกันจริงๆ

สำหรับบท Boaz เดิมนั้น Stephen Boyd ตบปากรับคำไว้แล้ว แต่ภายหลังกลับเปลี่ยนใจ คงมีเรื่องขัดแย้งกันภายใน ‘I think the picture would be much better without me.’ เลยมาลงเอยที่ Stuart Whitman (เกิดปี 1928) สัญชาติอเมริกัน ที่พอมีผลงานดังอย่าง The Mask (1961), The Comancheros (1961), Those Magnificent Men in their Flying Machines (1965) ฯ

Boaz ในหนังเรื่องนี้แตกต่างจากภาพลักษณ์ในไบเบิลพอสมควร โชคชะตาคอยเล่นตลกอยู่เรื่อยให้เขาต้องมีเรื่องคับข้องขุ่นเคืองกับ Ruth อยู่เรื่อยไป แล้วใช้ความขัดแย้งนี้เป็นอุปสรรค ก่อนสนองให้พวกเขาตกหลุมรัก ลงเอยแต่งงานกันตอนจบ ต้องถือว่าสร้างสีสันให้กับเรื่องราวของหนังได้มากทีเดียว

การแสดงของ Whitman เต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเอง เพราะตัวละครเป็นผู้ยึดถือปฏิบัติในกฎหมายของประเทศ แต่จิตใจของเขาค่อยๆเห็นชัดว่าตกหลุมรัก Ruth พยายามให้การช่วยเหลือ แต่ก็พลอยให้เกิดเรื่องขัดแย้งอยู่ร่ำไป ซึ่งวินาทีที่รู้ตัวว่าจักต้องสูญเสีย ก็หมดสิ้นหวังอาลัย และเมื่อโอกาสมาถึงก็โอบคว้าไว้ไม่มีวันปล่อยไปอีก

ถ่ายภาพโดย Arthur Arling เจ้าของรางวัล Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง The Yearling (1946), หนังถ่ายทำด้วยระบบ CinemaScope (2.35:1) ล้างแลปสี DeLuxe

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำในสตูดิโอ สร้างฉากขึ้นมาใหญ่โตอลังการ ไม่ค่อยได้เน้นทิวทัศน์กว้างใหญ่นัก (นอกจากฉากระหว่างเดินทางกลับสู่ Bethlehem) โดยรวมถือว่าภาพสีสันยังสวยสด ไม่ดูซีดตกเก่ามากนักตามกาลเวลา นี่ถือว่าทำให้หนังมีความคลาสสิกพอสมควร

ตัดต่อโดย Jack W. Holmes เล่าเรื่องผ่านสายตาของ Ruth ทั้งหมด แบ่งออกเป็นสององก์ใหญ่ๆ
– ศรัทธาใน Chemosh จากที่เคยเชื่อแบบไม่เคยครุ่นคิดใตร่ตรอง รับรู้เรื่องราวของพระเจ้า Yahweh เกิดความโลเล จบครึ่งแรกที่เปลี่ยนความเชื่อศรัทธา
– ศรัทธาใน Yahweh เดินทางสู่ Bethlehem ในตอนแรกไม่ได้รับการยอมรับ ต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของตนเองต่อชาวเมือง จบที่ลงเอยได้แต่งงานกับ Boaz

เพลงประกอบโดย Franz Waxman นักแต่งเพลงสัญชาติ German ยอดฝีมือ ผลงานเด่น อาทิ Bride of Frankenstein (1935), Rebecca (1940), Suspicion (1941) ฯ คว้า Oscar จากเรื่อง Sunset Boulevard (1950) และ A Place in the Sun (1951)

จัดเต็มด้วย Orchestra เต็มวงอลังการ โดดเด่นกับเครื่องเป่า สร้างสัมผัสของยุคสมัยเก่าก่อนโบราณกาล (แต่ก็จินตนาการไม่ออกเสียทีเดียว ว่าสมัยนั้นดนตรีควรมีลักษณะอย่างไร) พยายามเลียนแบบสไตล์ดนตรีของ Ben-Hur แต่ยังห่างชั้นอยู่มาก

 

เรื่องราวของหนังเริ่มจากการตั้งคำถามเชิงศรัทธา พระเจ้าคือใคร? มีตัวตนอยู่แห่งหนไหน? นำเสนอลัทธินอกรีตที่บูชารูปปั้น ยึดถือปฏิบัติด้วยพิธีกรรมฆ่าคนสังเวยเป็นเครื่องบูชา ในวิถีของชาวคริสต์ถือเป็นสิ่งป่าเถื่อนรุนแรงยอมรับไม่ได้ แต่ถ้ามีใครสามารถกลับตัวกลับใจ เปลี่ยนมานับถือศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกับพวกตน นั่นจะเป็นสิ่งยินยอมรับให้อภัยอดีตกันได้หรือเปล่า?

มันคือสองเรื่องราวในหนังเรื่องเดียว ครึ่งแรกคือการค้นหาพบศรัทธาความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า ครึ่งหลังคือการพิสูจน์ตนเองว่าควรคู่กับการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือเปล่า ซึ่งถ้าสามารถทำสำเร็จก็จักได้ครองคู่รักแต่งงาน ตามวิถีประเพณีปฏิบัติ ธรรมเนียมดั้งเดิมที่เคยมีมา

ศรัทธาคือเรื่องของความเชื่อ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่มักถูกเสี้ยมสอน ครอบงำ ชี้ชักนำกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เพราะนั่นคือสัจธรรมความจริง, ก็เอาเถอะ มนุษย์บนโลกส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการที่จะค้นหาคำตอบของทุกอย่าง แค่มีความยึดถือธำรงมั่นในบางสิ่ง ก็เพียงพอให้สามารถมีชีวิตดำเนินอยู่ต่อไปได้จนแก่เฒ่า จนกว่าจะตระหนักรับรู้และครุ่นคิดได้ด้วยตนเอง ว่าศรัทธาความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอถูกต้องแท้จริง มันก็มีอยู่เพียงศาสนาเดียวในโลกเท่านั้นที่ท้าให้ลอง พิสูจน์จับต้องได้ นั่นฟังดูวิทยาศาสตร์กว่ามากเลยทีเดียว

ด้วยทุนสร้าง $2.93 ล้านเหรียญ ในอเมริกาทำเงินได้ประมาณ $3 ล้านเหรียญ นี่ถือเป็นจุดเสื่อมถอยของภาพยนตร์แนว Biblical Epic แต่ถือว่ายังไม่ถึงขั้นเลวร้ายหายนะเท่า The Greatest Story Ever Told (1965)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้นะ แม้มันจะไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่ตราตรึง แต่หลงใหลกับการแสดง เรื่องราว และแนวคิดที่ใช้ได้ทีเดียว ไม่ได้ทำให้ผมอยากเปลี่ยนศาสนา แต่พบเห็นว่าคนที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อศรัทธา ต้องพบเจอความท้าทายอะไรบ้างในชีวิต … ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นพบหาคำตอบของชีวิต

แนะนำกับผู้มีความสนใจ ต้องการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเก่า หนังสือนางรูธ (Book of Ruth), หลงใหลในความ Epic อลังการของภาพและเพลงประกอบ, รู้จักผู้กำกับ Henry Koster ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg เพราะเป็นหนังแห่งศรัทธาความเชื่อ และศาสนา

TAGLINE | “The Story of Ruth แม้เรื่องราวจะคือจุดเปลี่ยนของความเชื่อศรัทธา แต่หนังคือจุดเสื่อมถอยของแนว Biblical Epic”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: