
The Sugarland Express (1974)
: Steven Spielberg ♥♥♥
สองสามีภรรยาหลบหนีออกจากเรือนจำ ปล้นรถตำรวจ ลักพาตัวสายตรวจ มุ่งหน้าสู่ Sugar Land เพื่อทวงคืนสิทธิ์การเลี้ยงดูบุตรชาย แต่ความเพ้อฝันของพวกเขาไม่ได้เคลือบด้วยน้ำตาล มันคือหนทางด่วนมุ่งสู่หายนะต่างหาก!
The Sugarland Express (1974) ถือเป็นผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับ Steven Spielberg ที่สร้างขึ้นเพื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์โดยตรง! (ก่อนหน้านี้ Duel (1971) สร้างขึ้นเพื่อสื่อโทรทัศน์ แล้วถึงได้รับโอกาสออกฉายในโรงภาพยนตร์) เอาจริงๆถ้าไม่คิดอะไรมากคือหนังที่เน้นขายความบันเทิง ชวนขำกลิ้ง “Ace in the Hole (1951) บนทางด่วน” เพลิดเพลินงานภาพสวยๆของ Vilmos Zsigmond และการร่วมงานครั้งแรกกับ John Williams แค่นั้นแหละ!
ปัญหาของ The Sugarland Express (1974) ผมมองว่าคือบทหนัง (แต่ดันไปคว้ารางวัล Best Screenplay จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ซะงั้น!) เหมือนต้องการเสียดสีอะไรสักอย่างเกี่ยวกับสังคมอเมริกัน แต่ผู้ชมกลับไม่สามารถจับต้องประเด็นนั้น พยายามจะสื่อถึงอะไรกันแน่? ตำรวจแห่ติดตามกันมานับร้อยคันเพื่ออะไร? หลายๆเหตุการณ์ราวกับเพียงความบันเทิงของผู้สร้าง แค่นั้นเองหรือ?
และผมยังรู้สึกว่า Spielberg แทบไม่มีความเป็นตัวของตนเองในการสรรค์สร้างผลงานเรื่องนี้ พยายามอ้างอิงแนวคิด/คัทลอกเทคนิคจากภาพยนตร์หลายๆเรื่อง อาทิ Ace in the Hole (1951), Bonnie and Clyde (1967), Vanishing Point (1971), The Getaway (1972), รวมถึงอิทธิพลจาก Hitchcockian, Altmanesque ฯลฯ เอาจริงๆมันไม่ผิดอะไรนะครับ แต่พอนำมาผสมผสานคลุกเคล้า ผลลัพท์กลับยังไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่
Spielberg is admittedly a skillful (if vulgar) technician, and he understands how to engineer car chases and crashes; but he doesn’t have an original idea or the slightest feeling for people. A good way to test a young director is to look at his handling of actors; Spielberg fails that test miserably. Under his direction even the nonprofessionals act like Hollywood hams, and Goldie Hawn pulls all the stops out in some hysterical screaming scenes that are embarrassingly amateurish.
นักวิจารณ์ Stephen Farber จาก The New York Times
Steven Allan Spielberg (เกิดปี 1946) เจ้าของฉายา ‘พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์’ เกิดที่ Cincinnati, Ohio ในครอบครัว Orthodox Jewish ปู่ทวดอพยพจากประเทศ Ukrane ชอบเล่าอดีตถึงญาติพี่น้องที่ต้องสูญเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี, ตั้งแต่เด็กค้นพบความสนใจในสื่อภาพยนตร์ Captains Courageous (1937), Pinocchio (1940), Godzilla, King of the Monsters (1956), Lawrence of Arabia (1962), รวมถึงหลายๆผลงานของผู้กำกับ Akira Kurosawa, กำกับเขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรก Firelight (1963) โดยได้ทุนจากครอบครัว $500 เหรียญ
หลังเรียนจบมัธยมปลายมุ่งสู่ Los Angeles เข้าศึกษาต่อ California State University, Long Beach ระหว่างนั้นเป็นเด็กฝึกงานยัง Universal Studios มีโอกาสถ่ายทำหนังสั้น Amblin’ (1968) คว้ารางวัลมากมายจนไปเข้าตารองประธานสตูดิโอขณะนั้น Sidney Sheinberg จับเซ็นสัญญา 7 ปี ดรอปเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มทำงานเป็นผู้กำกับซีรีย์โทรทัศน์ Night Gallery (1969) ตอน Eyes นำแสดงโดย Joan Crawford แม้เสียงตอบรับจะไม่ค่อยดีนัก แต่ได้รับคำชื่นชมจาก Crawford เชื่อเลยว่าไอ้เด็กคนนี้อนาคตไกลแน่ๆ
หลังจากกำกับซีรีย์/ภาพยนตร์โทรทัศน์ให้ Universal Television มาหลายเรื่อง Spielberg ก็พยายามโน้มน้าวโปรดิวเซอร์ Richard Zanuck และ David Brown ขอโอกาสในการสรรค์สร้างภาพยนตร์
นำเสนอโปรเจคดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง! เรื่องราวของสองสามีภรรยา Robert ‘Bobby’ Dent (1946-69) และ Ila Fae Holiday/Dent (1947-89) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 ทำการปล้นรถตำรวจ ลักพาตัวสายตรวจ J. Kenneth Crone เดินทางมุ่งสู่ Wheelock, Texas เพื่อเยี่ยมเยียนบุตรชายที่อาศัยอยู่กับมารดา (ของ Ila Fae Holiday)
ร่วมพัฒนาบทกับ Hal Barwood และ Matthew Robbins ซึ่งทำการปรับเปลี่ยนหลายๆสิ่งอย่างจากเหตุการณ์จริงให้เหมาะสมกับสื่อภาพยนตร์ โดยเฉพาะจุดประสงค์การปล้นรถตำรวจ ลักพาตัวสายตรวจ และสถานที่ปลายทางจาก Wheelock มาเป็น Sugar Land, Texas
- อารัมบทแหกคุกหลบหนี แต่จริงๆแล้ว Bobby ไม่ได้หลบหนีออกจากคุก เขาได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่เดือนปลายเมษายน สองสัปดาห์ก่อนก่อเหตุดังกล่าว
- จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์จริงเกิดจาก Bobby และ Fae ถูกตำรวจจราจรเรียกตรวจ แต่เขาเกิดอาการตื่นตระหนกเลยขับรถหลบหนี
- จากนั้นทั้งสองทิ้งรถในพงไม้ วิ่งหลบหนีมายังบ้านไร่ โทรแจ้งตำรวจแสร้งว่าโดนปล้น ถูกทำร้ายร่างกาย จากนั้นดักทำร้ายสายตรวจ J. Kenneth Crone แล้วบังคับให้ช่วยขับรถพาหลบหนี
- จริงๆแล้วทั้งสองไม่ได้มีเป้าหมายอะไรจริงจังในการก่ออาชญากรรมดังกล่าว ระหว่างทางเพียงครุ่นคิดอยากไปเยี่ยมบุตรชายที่บ้านของมารดา Wheelock, Texas แต่กลับมีรถตำรวจนับร้อยคันออกไล่ล่าติดตาม
- เหตุการณ์จริงเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงหกชั่วโมง ระยะทาง 300+ ไมล์ และเมื่อพวกเขามาถึงบ้านของมารดา ขณะที่ Bobby กำลังเปิดประตูบ้าน ถูกยิงด้วยปืนลูกซองตายคาที!
LINK: เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นโดยละเอียด [คลิก]



เรื่องราวของ Lou Jean Poplin (รับบทโดย Goldie Hawn) เดินทางไปยังเรือนจำแห่งหนึ่ง พบเจอสามี Clovis Michael Poplin (รับบทโดย Ben Johnson) โน้มน้าวบีบบังคับให้แหกคุกหลบหนีออกมา แล้วมุ่งหน้าสู่ Sugar Land, Texas เพื่อเรียกร้องขอสิทธิรับเลี้ยงดูแลบุตรชาย ที่ถูกทางการฝากไว้กับครอบครัวบุญธรรม
แต่ระหว่างทางพวกเขาตัดสินใจปล้นรถ หลบหนีร้อยตำรวจ Captain Harlin Tanner (รับบทโดย Ben Johnson) และลักพาตัวสายตรวจ Maxwell Slide (รับบทโดย Michael Sacks) บังคับให้ขับรถออกเดินทางมุ่งสู่ Sugar Land, Texas สุดท้ายแล้วจะสามารถไปถึงเป้าหมายปลายทาง พบเจอบุตรชาย ได้รับสิทธิ์การรับเลี้ยงดูกลับคืนมาหรือไม่?
Goldie Jeanne Hawn (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Washington, D.C. มารดาเป็นชาว Jewish อพยพมาจาก Hungary เปิดกิจการร้านขายเครื่องประดับและโรงเรียนสอนเต้นรำ, ตั้งแต่สามขวบฝึกฝนบัลเล่ต์และ Tab Dance มีโอกาสขึ้นแสดงบนเวทีเมื่อตอนอายุ 10 ขวบ, พอโตขึ้นมีแมวมองชักชวนเล่นซิทคอม Good Morning World (1967-68), แจ้งเกิดกับ Sketch Comedy ในรายการ Rowan & Martin’s Laugh-In (1968–1970), ผลงานภาพยนตร์ อาทิ Cactus Flower (1969)**คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress, The Sugarland Express (1974), Shampoo (1975), Private Benjamin (1980) ฯลฯ
รับบท Lou Jean Poplin พนักงานร้านเสริมสวย ขโมยเงิน $65 ดอลลาร์ สำหรับออกเดินทางมาเยี่ยมเยือนสามีในเรือนจำ แล้วทำการโน้มน้าว/บีบบังคับให้เขาแหกคุก เพื่อไปยื่นคำร้องขอสิทธิ์เลี้ยงดูบุตรชายที่ Sugar Land, Texas แต่กลับเกิดเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ สุดท้ายก็ไม่สามารถหนีพ้นโชคชะตากรรม
ช่วงทศวรรษนั้น Hawn เป็นนักแสดงระดับ ‘top star’ ฝีไม้ลายมือถือว่าไม่ธรรมดา (เพราะเคยคว้า Oscar มาก่อนหน้านี้แล้ว) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับทำให้เธอดูบ้าๆบอๆ ‘dumb blone’ เหมือนคนเสียสติ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ แถมเป็นจอมบงการสามี เรียกร้องโน่นนี่นั่น แม้จะบอกว่าต้องการให้ดูขบขัน ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะรู้สึกสมเพศเวทนามากกว่า
ปัญหาของ Hawn เกิดจากความแตกต่างในวิธีการแสดงกับ Atherton
- Hawn เป็นนักแสดงเล่นดีมากๆใน 1-2 เทคแรก แต่ถ้าต้องถ่ายหลายๆครั้ง เหมือนเธอเกิดอาการเบื่อหน่าย ขาดความกระตือรือล้น สูญเสียความสนใจ
- ตรงกันข้ามกับ Atherton มาจากสายละครเวที มักเล่นเทคแรกไม่ค่อยดี แต่จะค่อยปรับปรุงพัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆ ถ่ายซ้ำหลายๆครั้งถึงได้รับความพึงพอใจ (บางครั้งเป็นสิบๆเทคเลยก็มี!)
วิธีการของผู้กำกับ Spielberg ก็คือเทคแรกๆจับจ้องใบหน้าของ Hawn ระยะใกล้ (Close-Ups) จนเมื่อเธอเริ่มหมดพลังการแสดงถึงค่อยถอยออกมาถ่ายคู่ (Two Shot) กับ Atherton แม้ผลลัพท์เหมือนจะออกมาดูดี แต่ผู้ชมมักสังเกตเห็นความเหนื่อยหน่ายของฝ่ายหญิง (ปรากฎค่อนข้างชัดเวลา Hawn อยู่ร่วมเฟรมกับ Atherton)
William Atherton Knight (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Orange, Connecticut โตขึ้นเข้าเรียนการละคอน Carnegie Mellon University, จากนั้นเข้าสู่วงการละครเวที Broadway, มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ The Sugarland Express (1974), Ghostbusters (1984), Die Hard (1988) ฯลฯ
รับบท Clovis Michael Poplin นักโทษข้อหา … เหลือเวลาชดใช้ความผิดอีก 4 เดือน แต่กลับถูกภรรยาบีบบังคับให้แหกคุกออกมา ไม่เช่นนั้นจะเซ็นใบหย่าร้าง จำยินยอมต้องทำตาม พอสามารถหลบหนีก็ลักขโมยรถ หยิบปืนขึ้นมาจี้ตำรวจ สุดท้ายก็ไม่อาจหนีพ้นโชคชะตากรรม
ผมรู้สึกว่าการแสดงของ Atherton ดูเคอะๆเขินๆ เหมือนคนขาดความมั่นใจในตนเอง แม้พอมีสติปัญญาบางครั้งครา (โดยเฉพาะตอนครุ่นคิดว่ามีตำรวจหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องสุขา) แต่เพราะลุ่มหลงงมงายความรักต่อภรรยา จึงยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่หยุดยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักพูดเตือนสติอีกฝั่งฝ่าย
เพราะหนังนำเสนอตัวละคร Clovis ในภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนแอ ขลาดเขลา ยินยอมทำตามคำสั่งภรรยา (Beta Male) ผู้ชมจึงมักรู้สึกสงสารเห็นใจในโชคชะตามากกว่า Lou Jean ที่ดูบ้าๆบอๆ จอมบงการ ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น (Alpha Female) และการใช้ข้ออ้างสันชาติญาณเพศแม่ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เลี้ยงดูแลบุตร วิธีการของเธอไม่ถูกต้องเลยนะครับ กระทำสิ่งผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ถ้าไม่บีบบังคับให้เขาแหกคุกตั้งแต่ตอนแรก ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมนี้ขึ้น!
ถ่ายภาพโดย Vilmos Zsigmond (1930-2016) สัญชาติ Hungarian, เมื่ออายุ 17 ได้รับของขวัญจากคุณลุงคือหนังสือ The Art of Light รวบรวมภาพถ่ายขาว-ดำของ Eugene Dulovits เลยตัดสินใจทำงานโรงงาน เก็บเงินซื้อกล้อง ทดลองผิดลองถูก จนได้รับการสนับสนุนให้เข้าเรียน Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) สนิทสนิมกับ László Kovács ร่วมกันแอบถ่ายเหตุการณ์ 1956 Hungarian Revolution แล้วอพยพหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา ขายฟุตเทจดังกล่าวให้สถานีโทรทัศน์ CBS แล้วปักหลักอาศัยอยู่ Los Angeles เริ่มจากถ่ายทำหนัง Horror เกรดบี, กระทั่งมีโอกาสเป็นตากล้อง The Hired Hand (1971) ฝีมือเข้าตาผกก. Robert Altman ชักชวนมาร่วมงาน McCabe & Mrs. Miller (1971) จากนั้นกลายเป็นขาประจำกลาย American New Wave, เคยร่วมงานผู้กำกับ Steven Spielberg สองครั้ง The Sugarland Express (1974) และ Close Encounters of the Third Kind (1977)
ก่อนหน้านี้ผกก. Spielberg เคยมีประสบการณ์ถ่ายทำบนท้องถนนมาแล้วกับ Duel (1971) แต่การได้ยอดฝีมืออย่าง Zsigmond ผู้ช่ำชองการใช้แสงธรรมชาติ รวมถึงเคยร่วมงานผกก. Atlman เข้าใจศาสตร์แห่งการเคลื่อนเลื่อนกล้องสไตล์ Altmanesque ยิ่งทำให้งานภาพของ The Sugarland Express (1974) แทบจะติดปีกโบยบิน เต็มไปด้วยมุมกล้องสวยๆ (โดยเฉพาะขบวนรถตำรวจติดตามตูด) กลายเป็นส่วนน่าจดจำที่สุดของหนังก็ว่าได้!
The Sugarland Express (1974) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำโดยกล้อง Panaflex 35mm ประดิษฐ์โดยบริษัท Panavision ซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา (27 กิโลกรัม) และระบบบันทึกเสียงในตัว ทำให้สามารถนำกล้องเข้าไปในรถตำรวจ แพนนิ่งจากเบาะหน้าไป-กลับเบาะหลัง รวมถึงหมุนรอบ 360 องศา … ครั้งแรกในวงการภาพยนตร์ก็ว่าได้!



เกร็ด: ภาพยนตร์ก่อนหน้านี้เวลาจะถ่ายนักแสดงภายในรถยนต์ มักใช้ Rear Projection (ยุคคลาสสิก) หรือต่อเติมฐานเหล็กออกมาภายนอกรถสำหรับตั้งกล้องถ่ายทำ (ภาพที่นำมาประกอบ จากภาพยนตร์เรื่อง Bullitt (1968)) การมาถึงของกล้อง Panaflex ถือเป็นหนึ่งในการปฏิวัติวงการภาพยนตร์ครั้งสำคัญเลยก็ว่าได้!



หนังใช้เวลาโปรดักชั่นประมาณ 3 เดือน ระหว่างธันวาคม 1972 ถึงมีนาคม 1973, ถ่ายทำแบบไล่เลียงลำดับ (Chronological Order) เริ่มจากเรือนจำ Jester State Prison Farm (ในหนังอ้างว่าอยู่ Houston แต่จริงๆแล้วคือ Fort Bend County) พานผ่าน San Antonio, Live Oak, Floresville, Pleasanton, Converse, Del Rio ส่วนเป้าหมายปลายทางบ้านครอบครัวบุญธรรมที่ Sugar Land (แต่สถานที่ถ่ายทำคือ Floresville, Texas)
ตัวประกอบส่วนใหญ่ก็คือตำรวจ ชาวบ้าน ผู้คนอาศัยอยู่ในบริเวณที่ถ่ายทำ รวมถึงสายตรวจที่ถูกจับเป็นตัวประกัน James Kenneth Crone ก็มาเป็นที่ปรึกษา (Technical Advisor) และรับบทสมทบเล็กๆด้วยเช่นกัน
ภาพแรกของหนังพบเห็นความเวิ้งว่างเปล่าของรัฐ Texas และรถเก๋งคันหนึ่งจอดทิ้งขว้าง เศษซากปรักหักพัง นี่สามารถสื่อถึงสภาวะจิตใจตัวละคร Lou Jean Poplin (ที่เพิ่งสูญเสียสิทธิ์ในการเลี้ยงดูแลบุตร) และสะท้อนถึงสภาพสังคมสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้น (บอบช้ำจากสงครามภายนอก และความคอรัปชั่นภายใน)

ช็อตที่ชื่อหนังปรากฎขึ้น THE SUGARLAND EXPRESS จะพบเห็นป้ายสีแดง STOP เหมือนต้องการบอกใบ้ให้หยุดการเดินทาง หรือสิ่งที่ Lou Jean Poplin กำลังจะกระทำ (ซึ่งก็คือการบังคับให้สามีแหกคุกหลบหนี) และสังเกตว่าตัวละครสวมใส่เสื้อผ้าหลายชั้น ปกปิดบังความต้องการ/ตัวตนแท้จริงไว้ภายใน (จุดประสงค์แท้จริงคือนำไปให้สามีสวมใส่ระหว่างหลบหนีออกจากเรือนจำ)
ผมชอบการตีความ Sugarland (ที่ถูกตามชื่อเมืองต้องมีเว้นวรรค Sugar Land) ดินแดนขนมหวาน/น้ำตาล คือสิ่งที่เคลือบอยู่ภายนอก สำหรับปกปิดรสชาติขื่นขมภายใน เปรียบเทียบกับการเดินทางครั้งนี้ Lou Jean ต้องการได้รับสิทธิ์เลี้ยงดูแลบุตรชาย แต่ความจริงกลับไม่มีทางเป็นไปได้!

เรื่องราวของคุณปู่ขับรถด้วยความเร็ว 25 ไมล์ต่อชั่วโมง (ช้าเกินไป) ทำให้รถติดยาวเป็นขบวน รอคิวแซงนับสิบคัน นี่คือการอารัมบทก่อนนำเข้าเหตุการณ์หลัก สะท้อนปัญหาเกิดจากผู้นำที่มีทัศนคติเพี้ยนๆ (คุณปู่ขับรถช้าๆ, หรือคู่สามี-ภรรยาก่ออาชญากรรม) แล้วมีผู้ติดตามหลังมากมาย (ที่ก็ไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้นนอกจากหลับหูหลับตาติดตาม)
แซว: การต่อขบวนรถเป็นแถวยาวๆ ไม่รู้ทำไมชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Sanjuro (1962) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa

สำหรับหนังที่ฉายในโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อิน (Drive In Movie Theater) ประกอบด้วย
- Sssssss (1973) หนังแนวสยองขวัญ (Horror) เกี่ยวกับอสรพิษ สร้างโดยโปรดิวเซอร์ Richard Zanuck และ David Brown (ผู้อนุมัติโปรเจค The Sugarland Express (1974))
- และการ์ตูนสั้น Whoa, Be-Gone! (1958) ความยาว 6 นาที 14 วินาที เรื่องราวของ Wile E. Coyote กำลังไล่ล่าจับกุม Road Runner ยังบริเวณท้องทะเลทราย ซึ่งล้อกับเหตุการณ์ของหนังได้อย่างตรงๆเลยละ
การที่ Goldie Hawn พูดย้ำๆซ้ำๆจนรู้สึกผิดสังเกต “He’s peeing on me!” นั่นเพราะเจ้าหมูมันฉี่ใส่เธอจริงๆ แต่เอาจริงๆผมไม่รู้สึกว่าน่าขบขันเลยนะ เพราะผู้คนในเมืองแห่งนี้มีแต่พวกหลอกตนเอง เกาะกระแสสังคม ใช้เพียงอารมณ์/ความรู้สึกตนเองเป็นที่ตั้ง … ก็เหมือนเจ้าหมูตัวนี้นี่แหละ ปัสสาวะออกมาโดยสันชาติญาณ!

ผมอดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง ‘Vertigo Zoom’ ภาพช็อตนี้ขณะตำรวจหลบซ่อนตัวในบ้านครอบครัวบุญธรรม กำลังจับจ้องมองรถที่แล่นเข้ามาผ่านกระบอกปืนไรเฟิล กล้องจะมีการเคลื่อนถอยหลังพร้อมๆกับซูมไปข้างหน้า เพื่อสร้างสัมผัสอันตราย ความตายกำลังใกล้เข้ามาเยือน ผู้ชมรู้สึกหวาดวิตกกังวล จุดจบการเดินทางกำลังใกล้เข้ามาถึง

หลังถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส Clovis พยายามดื้นรนเฮือกสุดท้าย เหมือนต้องการพา Lou Jean ข้ามชายแดนสู่ Mexico แต่เส้นทางกลับค่อยๆไล่ระดับลงจากเนินเขา มาสิ้นสุดยังแม่น้ำ Rio Grande ซึ่งสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ของความตาย และฟากฝั่งตรงกันข้ามคือหน้าผาสูงชัญ หมายถึงไม่ทางที่พวกเขาจะสามารถหลบหนีจากอาชญากรรมที่เคยกระทำ

ภาพยนตร์ยุคแรกๆของผู้กำกับ Spielberg ช็อตสุดท้ายต้องมีความงดงาม ระยิบระยับ แต่ภาพนี้ผมกลับรู้สึกห่อเหี่ยว ท้อแท้สิ้นหวัง เพราะแสงสีทองมันคือช่วงเวลา Golden Hour พระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า ค่ำคืนมืดมิดกำลังคืบคลานเข้ามา สื่อถึงจุดจบของการเดินทาง รวมถึงอะไรๆหลายสิ่งอย่าง
ปล. The Sugarland Express (1974) เป็นภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องของผู้กำกับ Spielberg ที่จบลงอย่างเศร้าสลดเช่นนี้

ตัดต่อโดย Edward M. Abroms (Blue Thunder) และ Verna Fields (What’s Up, Doc?, American Graffiti, Paper Moon, Jaws)
เริ่มต้นจาก Lou Jean ลงรถโดยสาร เดินทางมาเยี่ยมเยือนสามี Clovis ในเรือนจำแห่งหนึ่งที่ Houston, Texas จากนั้นร่วมกันแหกคุก ปล้นรถ หลบหนีร้อยตำรวจ Captain Tanner และลักพาตัวสายตรวจ Slide บังคับให้ขับรถมุ่งสู่ Sugar Land, Texas
- อารัมบท
- Lou Jean เดินทางมาเยี่ยมเยือนสามี Clovis ยังเรือนจำที่ Houston
- ร่วมกันแหกคุก ปล้นรถ หลบหนีตำรวจจราจร
- วันแรกของการเดินทาง
- ก่อนตัดสินใจปล้นรถตำรวจ ลักพาตัวสายตรวจ Slide
- แวะจอดปั๊มน้ำมัน เข้าห้องน้ำ รับประทานอาหาร
- ค่ำคืนพักผ่อน
- พอฟ้ามืดเดินทางมาถึง San Antonio แล้วถูกรถตำรวจพุ่งชน (เลยสามารถหลบหนีได้ชั่วคราว)
- หลบซ่อนตัวในโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อิน (Drive In Movie Theater) หลับนอนบนรถ RV (Recreational Vehicle)
- เช้าตื่นขึ้นมาถูกพวกหัวรุนแรงซ้ายจัดกราดยิง แต่สามารถเอาตัวรอดออกเดินทางต่อ
- มุ่งสู่เป้าหมายปลายทาง
- พานผ่านเมือง Rodrigo มีผู้คนมารอให้กำลังใจมากมาย
- ในที่สุดก็มาถึงบ้านของครอบครัวบุญธรรมที่ Sugar Land
- แต่หลังจาก Clovis ถูกยิง ขับรถต่อไปจนถึงริมแม่น้ำ Rio Grande ติดกับชายแดน Mexico
ตั้งแต่การลักพาตัวสายตรวจ จะมีการดำเนินเรื่องในลักษณะคู่ขนาน ตัดสลับไปมาระหว่างรถคันหน้า (Lou Jean, Clovis Michael และสายตรวจ Maxwell) กับฝูงรถตำรวจที่ค่อยๆเพิ่มปริมาณ ไล่ล่าติดตามขบวนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งนำโดยร้อยตำรวจ Captain Tanner พยายามครุ่นคิดค้นหาสารพัดวิธีการช่วยเหลือตัวประกัน จับกุมคนร้ายด้วยสันติวิธี ไม่ต้องการให้มีใครตาย/บังเกิดเหตุโศกนาฎกรรมขึ้น
แต่หนังเสียเวลาไปกับเรื่องวุ่นๆวายๆของตำรวจ แวะจอดระหว่างทาง รวมถึงหลับนอนยามค่ำคืน (ผมมองว่าฉากค้างคืนโคตรจะไม่จำเป็น!) เหล่านี้เมื่อมีปริมาณเยอะมากๆจนทำให้เรื่องราวขาดความต่อเนื่อง และกลบเกลื่อนวัตถุประสงค์แท้จริงของการเดินทาง
Spielberg has paid too much attention to all those police cars (and all the crashes they get into), and not enough to the personalities of his characters. We get to know these three people just enough to want to know them better.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 2.5/4
เพลงประกอบโดย John Towner Williams (เกิดปี 1935) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Flushing, New York City บิดาเป็นนักดนตรีแจ๊ส เคยเล่นให้กับวง Raymond Scott Quintet, เมื่อครอบครัวอพยพสู่ Los Angeles สามารถสอบเข้า University of California, Los Angeles (UCLA) ร่ำเรียนการแต่งเพลงกับ Mario Castelnuovo-Tedesco, จากนั้นอาสาสมัครทหารอากาศ แผนกดนตรี เล่นเปียโน กำกับวง U.S. Air Force Band, เมื่อปี 1955 หวนกลับมา New York City เพื่อร่ำเรียน Juilliard School ทีแรกตั้งจะเป็นนักเปียโนคอนเสิร์ต (Concert Pianist) แต่พอมีโอกาสรับชมการแสดงของ John Browing และ Van Cliburn เลยตัดสันใจเปลี่ยนมาเอาจริงเอาจังด้านการแต่งเพลง
หลังสำเร็จการศึกษาจาก Juilliard หวนกลับ Los Angeles ได้ทำงานเป็นนัก Orchestrator ให้นักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง Franz Waxman, Bernard Herrmann, Alfred Newman, แล้วมีโอกาสเล่นเปียโนผลงาน South Pacific (1958), Some Like It Hot (1959), The Apartment (1960), Charade (1963) ฯลฯ ส่วนเครดิตเพลงประกอบเริ่มจาก Daddy-O (1958), Valley of the Dolls (1967), Goodbye, Mr. Chips (1969), Fiddler on the Roof (1971), The Poseidon Adventure (1972) ฯลฯ
ผู้กำกับ Spielberg มีความประทับใจ Williams จากผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ The Reivers (1969) และ The Cowboys (1972) เลยติดต่อขอร่วมงาน The Sugarland Express (1974) โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นเพื่อนสนิท ขาประจำ ร่วมงานกันแทบทุกครั้งตลอดระยะเวลากว่า 50+ ปี
ในตอนแรกผกก. Spielberg อยากได้บทเพลงคลาสสิกในสไตล์คีตกวี Aaron Copland แต่ความคิดเห็นของ Williams มองว่าหนังควรมีบรรยากาศเวิ้งว้าง เบาบาง เลือกใช้ Harmonica และเครื่องสายไม่กี่ชิ้น เพื่อสื่อถึงการเดินทางที่มุ่งหน้าสู่หายนะ เป้าหมายปลายทางมีเพียงความหมดสิ้นหวัง!
The Sugarland Express (1974) นำเสนอการเดินทางมุ่งสู่หายนะของคู่สามี-ภรรยา แม้ไม่ได้ครุ่นคิดจะกระทำสิ่งเลวร้าย แต่ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย แหกคุก จี้ปล้น ลักพาตัว ฯ เหล่านี้ถือเป็นอาชญากรรม จึงถูกไล่ล่าหมายหัว ตำรวจรวมตัวกว่าร้อยนาย วางแผนแก้ปัญหาด้วยความสุดโต่ง รุนแรงเกินกว่าเหตุ จนก่อเกิดโศกนาฎกรรม
ผมมองเนื้อหาสาระของหนัง คือการเสียดสีวิถีอเมริกัน ‘เล็กๆไม่ใหญ่ๆทำ’ เจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งรัฐ Texas ไม่ต้องการสูญเสียชื่อเสียง ความนับหน้าถือตา พวกเขาเลยแห่กันออกมาร่วมขบวนไล่ล่า ต่อแถวยาวเป็นหางว่าว เอาจริงๆไม่ได้ช่วยห่าเหวอะไร คนร้ายก็หาใช่อาชญากรอันตราย ถึงขนาดต้องเข่นฆ่าให้ตกตาย … นี่มันคือการ ‘ขี่ช้างจับตั๊กแตน’ ทำในสิ่งเว่อวังอลังการ เกินความจำเป็น สิ้นเปลืองกว่าเหตุ
ถ้ามองในมุมของคู่สามี-ภรรยา พวกเขาก็ดูหลงตนเอง เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าฉันสมควรได้รับสิทธิ์เลี้ยงดูแลบุตร แต่แท้จริงแล้วนั่นการคือจมปลักอยู่ในจินตนาการ ดินแดนขนมหวาน (Sugar Land) เพราะสารพัดการกระทำ แหกคุก จี้ปล้น ลักพาตัว ล้วนคือสิ่งผิดกฎหมาย สังคมไม่ให้การยินยอมรับ ชัดเจนว่าไม่มีศักยภาพในความเป็นบิดา-มารดา คำกล่าวอ้าง “แม่ต้องมีสิทธิ์เลี้ยงลูก” จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลยสักนิด!
สิ่งน่าวิตกกังวลมากๆก็คือพลเมือง Rodrigo เต็มไปด้วยผู้คนแห่มาให้กำลังใจ ส่วนหนึ่งคงเป็นพวกเกาะกระแสสังคม แต่หลายคนกลับแสดงความคิดเห็นสนับสนุนอย่างออกนอกหน้า สนใจแค่ว่า “มารดาต้องมีสิทธิ์เลี้ยงดูแลบุตร” โดยไม่พิจารณาบริบทรอบข้าง ใช้เพียงความรู้สึกตนเองเป็นที่ตั้ง
โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับอาชญากรทั้งสอง สามารถสะท้อนสภาพสังคมอเมริกันยุคสมัยนั้น ภายนอกดูไม่ต่างจากดินแดนขนมหวาน โลกแห่งจินตนาการเพ้อฝัน แต่แท้จริงแล้วประเทศชาติกำลังมุ่งสู่หายนะ
- พวกผู้มีอำนาจ/ชนชั้นผู้นำ สนเพียงการสร้างภาพให้ดูดี แก้ปัญหาด้วยความรุนแรงสุดโต่ง ไร้ซึ่งมนุษยธรรม
- ขณะที่ประชาชนก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่ให้ความสำคัญต่อกฎหมายบ้านเมือง สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงใจ ด้วยข้ออ้างเสรีภาพและความเป็นปัจเจกชน
ผิดกับ Duel (1971) ที่เปิดกว้างให้ผู้ชมสามารถขบครุ่นคิดตีความ, The Sugarland Express (1974) แม้ก็นำเสนอเรื่องราวของการถูกไล่ล่า (เปลี่ยนจากรถบรรทุก มาเป็นฝูงตำรวจ) แต่จำเพาะเจาะจงถึงวิถีอเมริกันชน ในยุคสมัยแห่งความหวาดระแวง (สงครามเย็น), ก่อการร้าย (ทศวรรษแห่งการลอบสังหาร John F. Kennedy, Malcolm X, Martin Luther King Jr. ฯลฯ) และคอรัปชั่นภายใน (ปธน. Richard Nixon)
ผมยังไม่เคยรับชม The Fablemans (2022) แต่ได้ยินว่าจะทำให้ผู้ชมตระหนักความสัมพันธ์ระหว่างผกก. Spielberg กับมารดา ที่มีความละม้ายคล้ายตัวละคร Lou Jean Poplin ใน The Sugarland Express (1974) เป็นยังไงก็ลองหาดูเอาเองนะครับ
ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $7.5 ล้านเหรียญ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ที่ถือเป็นกำไรคือการคว้ารางวัล Best Screenplay จากเทศกาลหนังเมือง Cannes อย่างโคตรๆเซอร์ไพรส์ ประธานกรรมการปีนั้นคือ René Clair มอบรางวัล Palme d’Or ให้กับ The Conversation (1974)
ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ สามารถหารับชมออนไลน์ได้ตาม Streaming ทั่วๆไป หรือใครงบเยอะแนะนำให้ลองหาซื้อ Steven Spielberg Director’s Collection Blu-ray รวบรวมภาพยนตร์ 8 เรื่องที่ผกก. Spielberg เคยร่วมงานกับ Universal Studios ทั้งหมดได้รับการสแกนใหม่ คุณภาพ 2K ถือว่าสวยสดงดงาม
ผมคุ้นๆว่าน่าจะเคยรับชม The Sugarland Express (1974) แต่บอกเลยว่าจดจำอะไรไม่ได้เลยสักสิ่งอย่าง (แสดงว่ามันไม่มีอะไรให้น่าจดจำ!) หวนกลับมาคราวนี้สัมผัสได้เพียงความบันเทิง ตลกขบขัน เหมือนจะเสียดสีสังคมอเมริกันอะไรสักอย่าง ดูจบประเดี๋ยวคงหลงลืม ถ้าไม่เพราะหอภาพยนตร์ชอบนำมาฉายก็คงไม่เขียนถึง
สิ่งที่สร้างความหงุดหงิดให้ผมอย่างมากๆ ก็คือการพยายามปลูกสร้างแนวคิด “สันชาตญาณแม่” ผ่านตัวละครของ Goldie Hawn (ซึ่งล้อกับมารดาผู้กำกับ Spielberg) ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสิทธิ์ในการเลี้ยงดูแลบุตร แต่วิธีการอย่างแหกคุก จี้ปล้น ลักพาตัว ฯ ควรทำในเชิงตั้งคำถามถึงความถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่ ‘romanticize’ ให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ (เพราะจะทำให้ผู้ชมเข้าใจว่าการกระทำของตัวละครนั้นถูกต้อง!)
จัดเรต 13+ กับความบ้าๆบอๆ ก่ออาชญากรรม ความรุนแรง และโศกนาฎกรรม
Leave a Reply