The Surrogate Woman

The Surrogate Woman (1987) Korean : Im Kwon-taek ♥♥♡

(mini Review) คนชนชั้นสูงสมัยก่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีลูกชายสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่ถ้าภรรยา/แม่ ไม่สามารถมีบุตรชายได้ หนึ่งในวิธีที่ทำกันคือ การอุ้มบุญ (Surrogacy) แต่นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมหรือเปล่า?, หนังเกาหลีโดยผู้กำกับ Im Kwon-taek (Painted Fire-2002) และนางเอก Kang Soo-yeon ที่คว้ารางวัล Volpi Cup for Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice

ในยุคสมัย Joseon Dynasty (กรกฎาคม 1392 ถึง ตุลาคม 1897) ขุนนางที่มียศฐา ตำแหน่งชั้นสูง จำเป็นต้องมีลูกชายสืบทอดวงศ์ตระกูล เรื่องราวลักษณะนี้พบเจอได้แทบทุกประเทศในแถบเอเชีย ทั้ง จีน ญี่ปุ่น ไทย อินเดีย ฯ นี่ก็เพื่อธำรงไว้ซึ่งความต่อเนื่อง สิทธิในพลเมือง ความมั่งคั่ง เชิดหน้าชูตา ฯ บรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้า ได้ก่อร่่างสร้างฐานไว้ให้กว่าจะมาจนถึงปัจจุบัน รุ่นลูกหลานจำต้องสืบทอดต่อวงศ์ตระกูล ไม่ถูกทำลาย หรือล่มสลาย, นี่เป็นความเชื่อของคนสมัยก่อนนะครับ ว่าถ้าใครสักคนทำให้ตระกูลล่มสลาย จะคือลูกอกตัญญูต่อวงศ์ตระกูล นี่คือเหตุผลที่ทำให้ ไม่ว่ายังไงก็ตาม จักต้องมีลูกชายสืบทอดสายเลือดต่อไป

แต่เมื่อภรรยาไม่สามารถมีบุตรได้ มันก็มี 2-3 วิธีที่ทำได้
1. รับเลี้ยงบุตรบุญธรรม แต่นี่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ
2. มีภรรยาน้อย (Concubine) แต่ถ้ามีก็จะทำให้วงศ์ตระกูลด่างพร้อย มีข้อครหาต่อสังคม
3. การอุ้มบุญ (Surrogate) ว่าไปวิธีนี้เลวร้ายกว่า 1 และ 2 อีก คือฝ่ายชายต้องทำให้หญิงอุ้มบุญท้อง พอคลอดลูกสำเร็จ ก็จะขับไสไล่ส่งแม่อุ้มบุญ ราวกับคนไม่มีตัวตน และถ้าสังคมรู้เข้า ก็จะเป็นข้อครหาหนักยิ่งกว่ามีภรรยาน้อยอีก

สำหรับหนังเรื่องนี้ พ่อ-แม่ และภรรยาของพระเอก ตัดสินใจที่จะเลือกการอุ้มบุญ แทนข้อ 1 และ 2 แล้วใช้การกักขัง หลบซ่อนหญิงอุ้มบุญไว้ ไม่ให้ใครข้างนอกได้รู้จักพบเห็น ซึ่งหญิงอุ้มบุญที่เลือกมา เป็นหญิงสาวจนๆอายุ 17 ที่มีความเชื่อว่า เงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่ง

Kang Soo-yeon รับบท Ok-nyo หญิงสาววัยแรกรุ่น มีนิสัยแก่นแก้ว เหมือนนกน้อยที่ชอบโบยบินอย่างอิสระ เติบโตขึ้นจากชนบน เลี้ยงหมู ปลูกข้าว ใช้ชีวิตไปวันๆ ไร้เป้าหมาย มาวันหนึ่งได้รับการติดต่อให้เป็นหญิงอุ้มบุญ แม้แม่ของเธอจะคัดค้าน แต่เพื่อเงินทองและความสะดวกสบาย เธอจึงตัดสินใจรับ

เรื่องราวของหนัง จะนำเสนอความยากลำบากของการเป็นหญิงอุ้มบุญ มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่อาจมีการปฏิสนธิในหลอดแก้ว แล้วไปปล่อยให้ไข่เกาะที่ผนังมดลูกของผู้หญิง หญิงอุ้มบุญสมัยก่อน ต้องมี Sex กับเจ้านาย ไม่รู้นานเท่าไหร่ บ่อยครั้งเท่าไหร่จนกว่าจะท้อง, นี่ผมก็เพิ่งรู้นะครับว่า หน้า 7 หลัง 7 นี่เป็นภูมิปัญญาของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่ใช้การนับวันนับรอบประจำเดือน รู้ว่ามี Sex กันช่วงไหนจะมีโอกาสท้องมากที่สุด ขนาดว่าเจาะจงเวลาเป็นชั่วโมงได้เลย (น่าอัศจรรย์จริง!)

นอกจากนี้ กับความเชื่อของคนสมัยก่อน วิธีที่ทำให้ผู้หญิงท้องได้ลูกผู้ชาย หนังนำเสนอได้น่าสนใจทีเดียว อาทิ จ้องมองดวงจันทร์ ซึมซับเอาพลังจันทราเข้ามา (ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำแล้วจะได้ลูกเพศชายยังไง!), เอาถ่านร้อนวางบนขี้เถ้าบนท้องของผู้หญิง, หรือพอท้องแล้วก็ต้องให้เขียนหนังสือ วาดรูป ลูกในท้องจะได้ความรู้ด้วย ฯ ความเชื่อโบราณพวกนี้อาจดูไม่มีประโยชน์อะไรแล้วในสมัยนี้ เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้สร้างความเชื่อมั่น ปลอดภัย หมดกังวล ไม่ต้องทำอะไรเสี่ยงๆ หรือทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่รู้ไว้ก็ไม่เสียหายนะครับ ผมรู้สึกทึ่งเสียอีกที่คนสมัยก่อนเชื่อวิธีการพวกนี้ไปได้ยังไง

กับประเด็นผู้ชายที่ตกหลุมรักกับหญิงอุ้มบุญ ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องพรรค์นี้เสียเท่าไหร่ เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ใจความอะไรของหนังเลย, แต่เป็นเรื่องเยื่อใย สายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกมากกว่า ผู้หญิงเมื่อมีลูกแล้ว เธอก็มักจะไม่สนใจผู้ชายเท่าไหร่แล้วนะครับ คือความรักของเธอมักจะโอนถ่าย เปลี่ยนมาให้กับลูกน้อยของตน(เสมอ) เพราะฉันเป็นคนอุ้มท้อง ลูกอยู่ในท้องฉันกว่า 9 เดือน เขาเป็นของฉัน! ผู้ชายอย่างผมคงไม่มีสิทธิ์ไปเถียงอะไร แต่อยากจะยก ปรัชญาชีวิตของ Kahlil Gibran เรื่อง บุตร มาให้อ่านกันนะครับ

“บุตรของเธอ…ไม่ใช่บุตรของเธอ
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ
และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ
เธออาจจะให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้
เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้ แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน
…เธอนั้นเป็นเสมือนคันธนู และบุตรหลานเหมือนลูกธนูอันมีชีวิต ผู้เล็งเห็นที่หมายบนหนทางอันมิรู้สุดสิ้น”

นี่เป็นประเด็นจริยธรรม ศีลธรรมของมนุษย์ ที่โดยสันชาติญาณเพศแม่ จะต้องอ้างสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของลูกเสมอ คนที่มีมนุษยธรรมเห็นแล้วคงรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเห็นการพลัดพรากแยกจาก นี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแน่ๆ, แต่ถ้ามองย้อนไปตอนต้น การตบปากรับคำเป็น แม่อุ้มบุญ เพื่อเงินนั้น นี่ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรอกหรือ? แล้วจะมาอ้างว่าตอนนั้นฉันถูกเอาเปรียบ ยังโง่งม ไร้เดียงสา นี่ฟังดูน่าสมเพศมากๆ เพราะมันสายเกินไปแล้วนะสิ! ถ้าตามกฎหมายสมัยนี้ หญิงสาวที่เป็นแม่ของลูก ยังไงก็มีสิทธิ์ในตัวลูกมากกว่า (มากกว่าพ่อเสียอีก) เพราะกฎหมายสร้างขึ้นโดยมนุษย์ ตัดสินโดยมนุษยธรรม การถกเถียงประเด็นพวกนี้เลยหมดความสำคัญลงไป

กระนั้นก็ยังมีเหตุการณ์แม่อุ้มบุญที่เรายังคงได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ ในหนังแค่คนเมือง/ขุนนางกับชนบท แต่ปัจจุบันมันเล่นข้ามประเทศกันเลย แบบว่าถ้าคลอดลูกออกมาแล้วส่งมอบ ก็คือหมดสิทธิ์เจอหน้าแม่แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่ถ้าเมื่อไหร่เด็กหลอดแก้วแบบไม่ต้องพึ่งครรภ์แม่ได้สำเร็จน่ะ ปัญหาพวกนี้จบสิ้นแน่นอน

ส่วนตัวผมไม่ถึงกับชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ เหตุผลคือ ไม่ชอบที่จะต้องเห็นใครแสดงสีหน้าเจ็บปวด ดิ้นรนทนทุกข์ทรมาน, กับหนังเรื่องนี้ผมรู้สึกเวลามองหน้ากัน มัน fake อ่ะครับ คือ Kang Soo-yeon เธอแบบว่า Overacting แบบสุดๆเลย (ผมก็ไม่เคยเห็นสีหน้าผู้หญิงเวลาคลอดลูกหรอก เลยจินตนาการตามความเจ็บปวดได้ไม่ถึงขนาดนั้น) คือผมเข้าใจนะ ว่าทำไมถึงเลือกนำเสนอออกมาแบบนี้ ก็เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้จริงๆว่า ผู้หญิงรู้สึกอย่างไรเวลาคลอด เวลาต้องเสียลูก แต่ผมคิดว่ามันจะยอดเยี่ยมยิ่งกว่า ถ้าฉากนี้ทำแบบมีสไตล์ ลุ่มลึก ไม่จำเป็นต้องให้เห็นสีหน้าของเธอขณะดิ้นทุกข์ทรมาน แค่อาจได้ยินเสียง เห็นแค่ท่าทาง แล้วตัดไปใบหน้าของคนอื่นที่มองเห็นเธอทุกข์ทรมาน (แบบ Tokyo Tower-2007) มันจะมี Impact กว่ามากๆ (คือฉากนี้ผมทนมองไม่ได้ จนต้องเบือนหน้าหนี และสัญชาติญาณบอกเลย ว่าไม่โอเค)

แนะนำกับนักสังคมสงเคราะห์ นักเคลื่อนไหว สิทธิสตรีทั้งหลาย, คนชอบหนังดราม่าน้ำดีเข้มข้นจากประเทศเกาหลี, แฟนหนังของผู้กำกับ Im Kwon-taek และนักแสดง Kang Soo-yeon ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัว พ่อแม่ที่ยังไม่มีลูกแล้วอยากมี กำลังตัดสินใจเรื่องการอุ้มบุญ นี่เป็นหนังตั้งคำถามจริยธรรมได้อย่างดี พวกคุณควรอย่างยิ่งที่จะต้องดู ก่อนตัดสินใจ

จัดเรต 13+ กับ Love Scene ความขัดแย้งทางจริยธรรมและสีหน้าที่แสดงความเจ็บปวด

TAGLINE | “The Sorrogate Woman ของผู้กำกับ Im Kwon-taek คือหนังที่ตั้งคำถามจริยธรรมของการอุ้มบุญ ที่ถึง Kang Soo-yeon จะคว้ารางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมมา แต่มันก็ดูมากเกินไปเสียหน่อย”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: