The Taking of Power by Louis XIV (1966)
: Roberto Rossellini ♥♥♡
(mini Review) เมื่อปี 1962 ผู้กำกับ Roberto Rossellini ได้ประกาศเลิกสร้างภาพยนตร์ด้วยการบอกว่า ‘Cinema is dead!’ จากนั้นผันตัวสู่วงการโทรทัศน์ มุ่งทำแต่ซีรีย์/สารคดีให้ความรู้ สอนประวัติศาสตร์ นำเสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งในบรรดาผลงานยุคหลังๆ การขึ้นมามีอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส หรือหลุยส์มหาราช ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 72 ปี (ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป) ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึงที่สุดแล้ว
“There’s a crisis not just in film but culture as a whole. I intend to retire from film and dedicate myself to television, in order to be able to reexamine everything from the beginning in full liberty, in order to rerun mankind’s path in search of truth”.
แทบจะทันทีที่คำสัมภาษณ์นี้เดินทางถึงอเมริกา Alfred Hitchcock ผู้มีความคับข้องแค้นกับ Rossellini เป็นการส่วนตั้ง ตั้งแต่ขโมยนักแสดงสุดสวย Ingrid Bergman ไปเป็นหวานใจอยู่ชั่วครู่หนึ่ง
“It wasn’t cinema but Rossellini who was dead!”
Roberto Gastone Zeffiro Rossellini (1906 – 1977) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน หนึ่งในผู้บุกเบิกยุคสมัย Italian Noerealist หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แบกกล้องออกถ่ายทำสถานที่จริง ตามท้องถนน พบเห็นสภาพปรักหักพังของเมือง เรื่องราวเกี่ยวกับคนชนชั้นล่าง/แรงงาน ผลกระทบจากสงคราม ต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอดอย่างเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากลำบาก เริ่มนับที่ผลงาน Rome, Open City (1945), Paisà (1946), Germany, Year Zero (1948) สามเรื่องนี้รวมเรียกว่า Neorealist Trilogy
การเที่ยวแวะอเมริกาของ Rossellini ตกหลุมรักและเหน็บเอา Ingrid Bergman ขณะนั้นกำลังเป็นดาราจรัสแสง มุ่งสู่ความมืดมิดชั่วขณะหนึ่ง (แต่ถ้าตั้งใจมองอย่างลึกซึ้ง จะรู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของดาวค้างฟ้า) Stromboli (1950), Europe ’51 (1952), Journey to Italy (1954) ต่างยังคงมีส่วนผสมของ Neorealism แต่มุ่งเน้นเล่าเรื่องราวส่วนตัว ความสัมพันธ์ชาย-หญิง สอดแทรกประเด็นขัดแย้งต่อขนบวิถีสังคมเข้ามา แม้ทั้งหมดจะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ก็ได้สร้างอิทธิพลแรงบันดาลใจอย่างมากให้กับผู้กำกับแห่งยุคสมัย French New Wave
“Rossellini was the model director and Voyage in Italy is the template for modern cinema”.
ยุคสุดท้ายของ Rossellini (1962 – 1977) เมื่อผันตัวสู่วงการโทรทัศน์ ก็แทบเลือนลางจางหายไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ชมอีกต่อไป ยกไว้ก็แต่เพียง The Taking of Power by Louis XIV ที่เหมือนว่า Rossellini มิใช่ตัวตั้งตัวตีตั้งแต่แรก เขาเข้ามาคุมบังเหียนหลังจากพล็อตเรื่องราวได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นแล้ว เลยมีหน้าที่เพียงกำกับการแสดง ไม่ใช่ควบคุมงานสร้างทั้งหมด
ซึ่งสิ่งที่ Rossellini ได้แสดงออกถึงศักยภาพความเป็นผู้กำกับชั้นแนวหน้าของโลก คือสามารถทำให้พล็อตหนังความยาวแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง ยืดเยื้อได้ถึง 100 นาทีได้ ผมคนหนึ่งที่เกือบฟุบหลับคาที่ แต่ก็ต้องชมว่าลีลามาเหนือเมฆจริงๆ
เรื่องราวเริ่มต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1661 ช่วงวันสุดท้ายในชีวิตของ Cardinal Mazarin (1602 – 1661) ผู้เป็นหัวหน้ารัฐมนตรี (First Minister of State) ของฝรั่งเศสมายาวนานกว่า 20 ปี ให้ความช่วยเหลือค้ำจุนปกป้องบัลลังก์ของ King Louis XIV (1638 – 1715) ที่ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 5 ชันษา ปี 1643 ยังไม่รู้ประสีประสาอีโน่อีเหน่อะไรทั้งสิ้น ทั้งยังวางรากฐานการปกครองไว้อย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่น จนเมื่อถึงวันสิ้นอายุขัย ทำให้ยุวกษัตริย์เกิดความตระหนักรับรู้ตัว กาลบัดนี้เราไม่ใช่เด็กน้อยอีกต่อไปแล้ว ถึงเวลาต้องจริงจังกับการบริหารประเทศด้วยตนเองเสียที
รัชสมัยของหลุยส์มหาราช (Louis le Grand) หรือสุริยกษัตริยาธิราช (Le Roi Soleil) ทรงโดดเด่นในเรื่องโครงสร้างของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (สิทธิกษัตริย์ = เทพที่มาจากสวรรค์) ประโยชน์ของพระราชอำนาจอันเด็ดขาดทำให้ความวุ่นวายต่างๆหมดสิ้นไป อาทิ เรื่องขุนนางก่อกบฏ (รัชสมัยนี้ไม่มีขุนนางผู้ไหนกล้าก่อกบฏ เพราะพระองค์มีพระราชอำนาจเด็ดขาด), ไม่อนุญาตให้พระชนนีมีอำนาจในการตัดสินใจเหนือตนเอง, ทรงลดทอนอำนาจของชนชั้นสูงที่เชี่ยวชาญการรบ ด้วยมีรับสั่งให้พวกเขาเหล่านั้นรับใช้พระองค์เฉกเช่นเดียวกับเหล่าสมาชิกในราชสำนัก อันเป็นการถ่ายโอนอำนาจมายังระบบธุรการแบบรวมศูนย์ และทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นชนชั้นสูงที่ใช้สติปัญญา ฯ
หนังไม่ได้ไปไกลถึงขนาดพระเจ้าหลุยส์กลายเป็นมหาราช จบแค่หลังจาก Cardinal Mazarin สิ้นอายุขัยได้ไม่นาน ใช้อำนาจต่อรองพระมารดา ขจัดรัฐมนตรีคอรัปชั่นไปให้พ้นทาง และครึ่งชั่วโมงสุดท้ายนำเสนอการก่อสร้างพระราชวังพระราชวังแวร์ซายส์ (Palace of Versailles) นำเทรนด์แฟชั่นยุคใหม่ เสื้อผ้า/ดนตรี และทรงพระกระยาหารอย่างเกษมสำราญ
นักแสดงทั้งหมดในหนังคือมือสมัครเล่น อย่าง Jean-Marie Patte ผู้รับบท King Louis VIX อาชีพเสมียรงานธุรการ ไม่เคยผ่านการแสดงใดๆมาก่อน สีหน้าท่าทางของเขาเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน ขาดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ Rossellini เชื่อว่าสะท้อนคือความสมจริงเข้ากับช่วงขณะนั้นของพระเจ้าหลุยส์ ทำตัวไม่ถูกเมื่อต้องสูญเสียอาจารย์ผู้เป็นหลักพึ่งพิงในการบริหารประเทศ
แซว: เห็นว่า Patte มีปัญหามากในการท่องจำบทพูด ซึ่งผู้กำกับก็ใช้การเขียนใส่กระดาษแล้วให้เขาอ่านตาม (นี่คงเป็นหนึ่งในข้อเสียของการเลือกใช้มือสมัครเล่นไร้ประสบการแสดงสินะ)
ไดเรคชั่นการถ่ายภาพของหนังด้วยฟีล์ม 16mm เน้นเคลื่อนแพนกล้อง ซูมเข้า-ออกไปพร้อมๆกัน เพื่อค่อยๆให้ผู้ชมค่อยๆเปิดโลกทัศน์รายละเอียด (Zoom Out) หรือค่อยๆโฟกัสสู่จุดน่าสนใจของฉากนั้นๆ (Zoom In) ถึงเทคนิคจะมีความหวือหวาโฉบเฉี่ยว แต่สังเกตว่าจะไม่มีการใช้เครน หรือภาพจากมุมสูง เพราะในทัศนะของ Rossellini มองว่ามันขาดความสมจริง ‘vulgar and stupid’
วิธีการที่ทำให้หนังสามารถยืดยาวได้กว่า 2-3 เท่า คือไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวดำเนินไปข้างหน้า แต่เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ท่าทางเคลื่อนไหว เดินเข้า-ออกฉาก พระเจ้าหลุยส์ทรงตื่นบรรทม ฉลองพระองค์ เสวยพระกระยาหาร เสด็จพระราชดำเนินเที่ยวเล่น ฯ นี่ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าผู้กำกับคือ Rossellini อาจคิดว่าคือผลงานของ Robert Bresson ด้วยซ้ำนะ!
สำหรับเพลงประกอบไม่มีขึ้นเครดิต ทำนองไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่ด้วยสัมผัสของแนวดนตรี Baroque กลิ่นอายคล้ายๆ Vivaldi, Handel สอดคล้องเข้ากับยุคสมัยของหนังอย่างพอดิบพอดี
รวมๆแล้วหนังเรื่องนี้เป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงเจริญพระชันษาเพียงพอ ตระหนักเข้าใจถึงภาระหน้าที่ ทำการรวบอำนาจเพื่อเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยพระองค์เอง อันถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งรัชสมัยยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส (ไม่นับนโปเลียนอย่างแน่นอน) และทรงพระดำริก่อสร้างพระราชวังแวร์ซาย มรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่และสวยงามแห่งหนึ่งของโลก
สิ่งที่โดยส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงคือครึ่งชั่วโมงสุดท้าย มันมีความจำเป็นอะไรต้องนำเสนอภาพพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงเสวยพระกระยาหารต่อหน้าเหล่าขุนนางทั้งหลายจับจ้องมอง (นี่รวมถึงตอนเช้าปลุกจากบรรทม, ทรงฉลองพระองค์ ฯ ต้องมีคนรับใช้ปรนนิบัติอยู่ไม่ห่าง) นี่ราวกับเป็นการชี้ชักนำของผู้กำกับ Rossellini แสดงให้เห็นถึงความอภิสิทธิ์ชนของพระมหากษัตริย์ ดุจดั่งเทวสิทธิราชย์ บางสิ่งอย่างอยู่เหนือความสามัญเข้าใจ แต่เมื่อมองในมุมของคนยุคสมัยปัจจุบันนี้ แทบดูไม่ต่างอะไรกับตัวตลก!
แนะนำคอหนังประวัติศาสตร์ Historical Drama, ในลักษณะ Costume Period ช่วงเวลาศตวรรษที่ 17 ยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส, แฟนๆผู้กำกับ Roberto Rossellini ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับความคอรัปชั่นของบางตัวละคร
Leave a Reply