The Tale of the Fox (1937) : Irène Starevich, Ladislas Starevich ♥♥♥♥♡
Le Roman de Renard อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของฝรั่งเศส สร้างด้วยเทคนิค Puppet Animation (จริงๆเรื่องนี้สร้างก่อน The New Gulliver ด้วยซ้ำแต่ได้ฉายทีหลัง) ดัดแปลงจากนิทานพื้นบ้าน Renard the Fox เรื่องราวของจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ที่ชอบแกล้งคนอื่นไปทั่ว (คล้ายๆ Fantastic Mr. Fox-2009) มีแนวคิดสอนคนอย่างคาดไม่ถึง, หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ฝรั่งเศส เป็นประเทศที่มีจุดเริ่มต้นของ ‘อนิเมชั่น’ ยาวนานที่สุดในโลก นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 และเป็นประเทศของผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีสำหรับสร้าง Animation, ภาพเคลื่อนไหวแรกอัตโนมัติแรก สร้างขึ้นโดย Charles-Émile Reynaud ผู้ประดิษฐ์เครื่อง Praxinoscope (ได้แรงบันดาลใจจาก Zoetrope) ที่สามารถฉายภาพได้ 16 ภาพต่อเนื่องกัน จัดฉายครั้งแรกที่ Théâtre Optique อยู่แถว Musée Grévin ในกรุง Paris, France เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมปี 1892, สำหรับการ์ตูนแอนนิเมชั่นเรื่องแรก สร้างโดย Émile Cohl (1857–1938) ใช้การวาดบนกระดาษ (เป็น Traditional Animation) เรื่อง Fantasmagorie จัดฉายครั้งแรกเมื่อปี 1908
สำหรับ Fantasmagorie นักประวัติศาสตร์ถือเป็น cartoon animation เรื่องแรกของโลกนะครับ ใครยังไม่เคยเห็นก็คลิกดูได้เลย
หลังจากนั้นมา ก็มีคนทำอนิเมชั่นมากมายเกิดขึ้นในฝรั่งเศส ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น มีเป็นร้อยๆเรื่องในยุค 20s จนกระทั่งการมาของ Ladislas Starevich หรือ Vladislav Starevich ชาว Russian สัญชาติ Polish ที่อพยพหนี Red Army มาอาศัยยังประเทศฝรั่งเศสในปี 1917 (เขาเป็นพวกซ้ายจัด เชื่อมั่นในระบบ Tsar ซึ่งพอเกิด October Revolution ที่ Tsar Nicholas II ต้องสละบัลลังก์ และ Vladimir Leninได้ขึ้นมามีอำนาจ ก็กลัวจะถูกมองว่าเป็นกบฎ จึงอพยพหนีออกมาจากรัสเซีย) ชื่อเดิมจริงๆของ Starevich คือ Władysław Starewicz แต่พอมาอยู่ฝรั่งเศสแล้ว นี่เป็นคำที่อ่านยากเกินไปจึงเปลี่ยนเป็น Ladislas Starevich อ่านออกเสียงฝรั่งเศสง่ายกว่า, Starevich อยู่ฝรั่งเศสได้ไม่นาน เขาก็เริ่มต้นสร้างหนัง Puppet Animation ต่อร่วมกับลูกสาว Irina (ที่เปลี่ยนชื่อเป็น Irène Starevich) ที่เป็นผู้ช่วย, ภรรยา Anna Zimermann ที่ช่วยออกแบบ ตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับหุ่น และลูกชายที่มาช่วยพ่อบ้างเป็นครั้งคราว Jeane Starewitch (aka Nina Star) ผ่านมา 20 เรื่องในปี 1929 Ladislas Starevich ก็มีความต้องการทำอนิเมชั่นขนาดยาวสักเรื่อง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ The Tale of the Fox (ชื่อฝรั่งเศส Le Roman de Renard)
โปรดักชั่นใช้บ้านของพวกเขาที่ Fontenay-sous-Bois โดย Ladislas Starevich และลูกสาว Irène Starevich ใช้เวลา 18 เดือน (1929-1930) ก็สร้างเสร็จ ซึ่งขณะนั้นหนัง Talkie เริ่มได้รับความนิยม โปรดิวเซอร์ Louis Nalpas จึงตัดสินใจเพิ่มเสียงประกอบและเสียงพากย์เข้าไปในหนัง แต่เพราะความผิดพลาดอะไรสักอย่าง ทำให้หนังไม่สามารถออกฉายได้ ซึ่งรอบปฐมทัศน์ครั้งแรก ฉายในกรุง Berlin ปี 1937 (เป็นภาษา German) ก่อนที่ปี 1941 จะได้ฉายในฝรั่งเศส (พากย์ French) ซึ่งถ้านับจากเวลาการฉาย หนังเรื่องนี้ถือเป็นอนิเมชั่นเรื่องที่ 3 ที่มีเสียงประกอบ ถัดจาก Quirino Cristiani’s Peludópolis (1931) ที่เป็นเรื่องสั้นและ The New Gulliver (1935)
บอกตามตรงว่าน่าเสียดายเอามากๆเลยนะครับ กับอนิเมชั่นเรื่องนี้ จริงๆควรได้รับเครดิตว่าเป็น ‘อนิเมชั่นขนาดยาว มีเสียง ใช้เทคนิค Puppet Animation เรื่องแรกของโลก’ แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิค (น่าจะเกี่ยวกับข้อจำกัดในการบันทึกเสียงสมัยนั้น) ทำให้หนังเรื่องนี้ ได้ฉายช้าไปหลายมีปีมากๆ จนเหลือเครดิตแค่เป็น ‘หนังฝรั่งเศสขนาดยาวเรื่องแรก’ เท่านั้น
ดัดแปลงจากนิทานพื้นบ้าน (fable) เรื่อง Renard the Fox ที่ได้รับการแต่งบันทึกโดย Johann Wolfgang von Goethe, คนไทยอาจไม่คุ้นกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้สักเท่าไหร่ (ส่วนใหญ่คงรู้จักแต่อีสป) แต่เด็กๆในยุโรปน่าจะรู้จักกัน เพราะนี่เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านระดับคลาสสิก (European Folklore) ที่โด่งดังอย่างมากในประเทศ Netherland, England, France และ Germany
เรื่องราวของ Renard หมาจิ้งจอกสุดเจ้าเล่ห์ ที่ชอบกลั่นแกล้งคนอื่นไปทั่ว จนไปเข้าหูของพระราชา (ราชสีห์) จึงได้สั่งให้ทหารไปจับกุม Renard มาเพื่อรับโทษ แต่จนแล้วจนรอดไม่มีใครเอาชนะความเจ้าเล่ห์ของหมาจิ้งจอกได้ พระราชาจึงต้องลงมือด้วยตนเอง
การเล่าเรื่องถือว่ามีลูกเล่นพอสมควร ไม่ได้ดำเนินเป็นเส้นตรง หรือนำเสนอผ่านมุมมองใครคนหนึ่งโดยเฉพาะ ใช้การตัดสลับระหว่าง ในปราสาท, บ้านของสุนัขจิ้งจอก, ฉากย้อนอดีต (Flashback) และฉากในความฝัน, ถึงการดำเนินเรื่องจะเรียงลำดับไปตามเหยื่อของหมาจิ้งจอก แต่มีวิธีการเล่าเรื่องไม่ซ้ำกันเลย บางครั้งพูดถึงผลลัพท์ก่อนแล้วใช้ Flashback เล่าย้อนว่าเกิดอะไรขึ้น, บางครั้งย้อนแบบหลอกๆ (ตามคำโกหกของเหยื่อ) แล้วมีย้อนแบบจริงๆ (เป็นการแก้ต่างของหมาจิ้งจอก) ฯ เรียกว่ามีหลากหลายรูปแบบนำเสนอไม่ซ้ำกันเลย
เสียงพากย์และเพลงประกอบ (โดย Vincent Scotto) เป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาทีหลัง (ทีแรก สร้างด้วยความตั้งใจเป็นหนังเงียบ) กระนั้นต้องถือว่าทำออกมาใช้ได้ แม้การขยับปากจะไม่ตรงกับเสียงพูด (อนิเมชั่นสมัยนั้นไม่มีเรื่องไหนตรงหรอกนะครับ) ผมดูเวอร์ชั่นที่เป็นเสียงฝรั่งเศส นำเสียงตรงกับนิสัยตัวละคร และเพลงประกอบก็มีกลิ่นอายเหมือนอยู่ในคณะละครสัตว์ (ของฝรั่งเศส)
หนังเรื่องนี้สามารถตีความได้ 2 แง่มุม ในทางที่ทั้งดีมากๆ และแย่มากๆ, ผมขอพูดในทางที่ลบก่อนนะครับ นั่นคือนิสัยของหมาจิ้งจอก ที่ทั้งโกหก หลอกลวง ปลิ้นปล้อน แต่สุดท้ายกลับได้รับคำชื่นชม ยอมรับ กระทั่งผู้มีอำนาจยังต้องยอมสยบ นี่เป็นประเด็นกับคนที่ยังคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ไม่ละเอียด โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่อาจเกิดความเข้าใจผิด จดจำ ลอกเลียนเป็นแบบอย่าง นี่ต้องระวังให้มากๆเลย ผมจัดเรตอนิเมะเรื่องนี้ที่ 15+ เพราะต้องการย้ำเตือนจุดนี้
สำหรับทางบวก คือการคิดนอกกรอบ มองโลกในอีกมุมหนึ่ง กลับกัน แทนที่เราจะดันทุรังต่อสู้กับสิ่งที่ไม่มีทางชนะ ก็เปลี่ยนมายอมรับนับถือ จับมือชื่นชมในสติปัญญาความสามารถ และให้โอกาส แทนที่จะนำทักษะเหล่านี้ไปปลิ้นปล้อนหลอกลวงคนอื่น เปลี่ยนไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ ย่อมดีเสียกว่าไม่ใช่หรือ
สรรพสัตว์ชนิดต่างๆที่เราเห็นในหนัง สามารถเปรียบเทียบได้กับนิสัยมนุษย์ตรงๆ (คล้ายกับ Zootopia) อย่างจิ้งจอก คือคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย, ราชสีห์ คือผู้นำที่หยิ่งผยอง, หมี คือความเห็นแก่ตัว, แบดเจอร์ คือความปลิ้นปล้อน พลิกลิ้น, แมว คือหลงใหลและความขี้เกียจ ฯ หนัง/อนิเมะ เรื่องใดๆที่มีสิงห์สาราสัตว์ชนิดต่างๆ ล้วนสามารถวิเคราะห์ตีความได้ในบริบทพวกนี้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ตรงตามที่ผมบอก เห็นแล้วเข้าใจได้ทันทีเลยว่าตัวละครนั้นๆจะต้องมีนิสัยยังไง
ผมค่อนข้างมองหนังเรื่องนี้ในแง่บวกนะครับ แต่ก็ไม่ลืมอคติในแง่ลบที่บอกไป กับเหตุผลที่จัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะความคลาสสิกที่งดงาม ตราตรึงมากๆ มีส่วนผสมที่ลงตัวของจังหวะ การเคลื่อนไหว เทคนิค มุขตลก ที่ถือว่าเยี่ยมยอด เสียงพากย์และเพลงประกอบที่สร้างบรรยากาศสนุกสนาน ดูแล้วครึกครื้อเฮฮา ไม่มีช่วงเวลาน่าเบื่อเลย นี่จะไม่แนะนำบอกต่อได้ยังไง
กับคนที่เคยดู Fantastic Mr. Fox (2009) ต้องบอกว่า Wes Anderson ได้แรงบันดาลใจมาจากอนิเมชั่นเรื่องนี้เลยนะครับ แม้จะดัดแปลงมาจากนิยายอีกเรื่อง แต่อะไรๆคล้ายกันมาก (เปลี่ยนพื้นหลังนิดหน่อย) แถมใช้ Puppet Animation เหมือนกันด้วย จะว่า Fantastic Mr. Fox เป็น remake ที่เป็นภาพสีของ The Tale of the Fox ก็ยังได้เลย
วงการอนิเมชั่นฝรั่งเศสในยุคปัจจุบัน ยังถือว่าเฟื่องฟูอยู่นะครับ ปัจจุบันก็มีเฉลี่ยออกฉายปีละ 5-10 เรื่อง (คนไทยเราไม่ค่อยรู้จักเพราะไม่มีใครซื้อมาฉาย) ผมว่าความหลากหลายมีมากกว่าอนิเมะของญี่ปุ่นเยอะเลยนะครับ ทั้งสไตล์ งานภาพ เรื่องราวที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบใดๆ และกลิ่นอายที่มีความเฉพาะตัวมากๆ ไม่แน่ถ้าคุณเผลอได้ดูอนิเมะฝรั่งเศสสัก 1-2 เรื่อง อาจติดใจและเลิกติดอนิเมะญี่ปุ่นเลยก็เป็นได้
แนะนำกับคนชอบ Puppet Animation/ Stop Motion, ชอบอนิเมะฝรั่งเศส, นิทานพื้นบ้าน (Fables), และชอบฟังเพลงเพราะๆ เรื่องราวสนุกสนาน ขบขัน ตื่นเต้น
จัดเรต 13+ กับนิสัยของเจ้าหมาจิ้งจอก ที่เด็กๆอาจได้รับอิทธิพลผิดๆ
[…] The Tale of the Fox (1937) : Irène Starevich, Ladislas Starevich ♥♥♥♥♡ […]