The Tale of the Princess Kaguya

The Tale of the Princess Kaguya (2013) Japanese : Isao Takahata ♥♥♥♥♡

ผลงาน Swan Song ของผู้กำกับ Isao Takahata นำตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นเรื่องคนตัดไผ่ หรือเจ้าหญิง Kaguya ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นด้วยเทคนิคภาพสีน้ำ น่าจะสวยงามที่สุดในโลกแล้ว และเรื่องราวยังแฝงข้อคิดการใช้ชีวิต ความสุขใดๆบนโลกล้วนเกิดขึ้นจากใจเราเอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ประสบการณ์ทั้งชีวิตและการสร้างภาพยนตร์ของผู้กำกับ Isao Takahata ได้ถูกประมวลผลสรุปกลายมาเป็นผลงานอนิเมชั่น Masterpiece เรื่องสุดท้าย ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าตำนานแฟนตาซี แต่ยังสะท้อนถึงแนวคิด ปรัชญาชีวิต/พุทธศาสนา และความคาดหวังในโลกหลังความตาย คงไม่ผิดอะไรจะกล่าวว่าเรื่องราวของเจ้าหญิง Kaguya ก็คือชีวิต-ตัวตน-จิตวิญญาณของ Takahata เองนะแหละ

กับคนที่ยังไปไม่ถึงความเข้าใจนั้น ก็ลองค้นหาเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้กำกับ Takahata ถึงเลือกสร้าง The Tale of the Princess Kaguya เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายในชีวิต? เอาคำถามนี้ตั้งมั่นไว้ในใจ ระหว่างรับชมก็ครุ่นคิดตามไปเรื่อยๆ พอถึงตอนจบก็น่าจะมีโอกาสค้นพบคำตอบที่แอบซ่อนเร้นอยู่

ซึ่งวินาทีที่ผมเกิดความเข้าใจนั้นก็ทำให้ขนลุกซู่เลยละ เมื่อเจ้าหญิง Kaguya กำลังจะจากไปกับพระอมิตาภพุทธะ หันมาโอบกอดร่ำลากับพ่อ-แม่ครั้งสุดท้าย โหยหารำพันถึงชีวิต มันเป็นไปได้เช่นไรที่เราจะทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้ที่นี่ แต่เมื่อผ้าคลุมสวมลงก็ทำให้หยุดสงบนิ่งโดยทันที ปลดปล่อยวางจากทุกความยึดติด ระหว่างกำลังล่องลอยไปถึงจันทรประเทศหันกลับมามองโลกมนุษย์ครั้งสุดท้าย ทั้งๆที่ไม่ควรจดจำหรือรู้สึกอะไรอีกต่อไปแล้ว น้ำตากลับไหลรินเอ่อล้นออกมา

ความตายในมุมมองของผู้กำกับ Isao Takahata เคยถูกนำเสนอในลักษณะคล้ายๆกันนี้เรื่อง Pom Poko (1994) อัญเชิญพระอมิตาภพุทธะเสด็จมารับวิญญาณของพ่อเฒ่าทานูกิตนหนึ่งขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งกับอนิเมะเรื่องนี้ก็ยังคงยึดหลักอ้างอิงจากพุทธศาสนา นิกายมหายาน วชิรญาณ (หรือชินโต) มีความแตกต่างจากเถรวาทพอสมควร เมื่อมนุษย์หมดสิ้นลมหายใจก็จะสูญเสียความทรงจำทุกสิ่งอย่าง ซึ่งถ้าเคยกระทำความดีไว้มากก็จักมีโอกาสเดินทางสู่ดินแดนสุขาวดี ไม่ก็สรวงสวรรค์ชั้นหนึ่งใด แต่คนเลวชั่ว พระยายมบาลและนายนิรบาลก็รีบไล่ล่าพาตัวไปชดใช้กรรมในขุมนรก

แต่เอะ! ถ้าความตายทำให้เราต้องสูญเสียทุกอย่างรวมถึงความทรงจำ แล้วมันจะมีคุณค่าอะไรของการเกิดมามีชีวิตบนโลกใบนี้กันละ?

ระหว่าง 14 ปีที่ช่องว่างหลังเสร็จจาก My Neighbors the Yamadas (1999) ผู้กำกับ Takahata ก็มิได้หายไปไหนไกล ยังคงเวียนวนอยู่ในสตูดิโอ Ghibli คอยช่วยเหลือเพื่อนสนิท Miyazaki ทำงานโน่นนี่นั่นไปเรื่อยเปื่อย แค่ว่าอายุที่มากขึ้น 70+ ความกระตือรือล้นในการทำงานเลยลดลงเป็นธรรมดา จนกระทั่งปี 2008 ที่เจ้าตัวประกาศว่าผลงานเรื่องสุดท้ายถัดไป จะทำการดัดแปลงจากตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นเรื่อง The Tale of the Bamboo Cutter แต่กว่าจะหาทุนสร้างได้และเริ่มทำโปรดักชั่นคงประมาณช่วงปี 2012-13

ตำนานคนตัดไผ่ หรือเจ้าหญิง Kaguya เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านของญี่ปุ่น ประมาณมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 (ถือเป็นวรรณกรรมชิ้นเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น) เรื่องราวของเด็กหญิง Kaguya-hime ที่คนตัดไผ่ไปพบเจอเมื่อครั้นยังเป็นทารกน้อยขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ นอนหลับสนิทอยู่ในปล้องไผ่เรืองแสง เลยตัดสินใจนำกลับบ้านให้ภรรยาเลี้ยงดูแล และตั้งแต่วันนั้นเมื่อเดินทางเข้าป่าไปตัดไผ่ครั้งไร ก็จะพบทองก้อนเล็กๆอยู่เต็มไปหมด จึงนำไปเป็นทุนจัดซื้อคฤหาสถ์หรูหลังใหญ่ ยกระดับฐานะขึ้นมาร่ำรวยสุขสบาย

สำหรับ Kaguya เมื่อเติบโตขึ้นมีทรงผมเงาวาวเหมือนทอง ผิวขาวนวลดั่งแสงจันทร์ ความสวยงามของเธอเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนกระทั่งมีเจ้าชายห้าพระองค์เสด็จมาขอดูตัวแต่งงาน แต่ทั้งหมดถูกทดสอบให้ไปค้นหาสิ่งของมีค่าที่ต่างเปรียบเปรยพรรณาว่ามีคุณค่าเทียบเท่าเท่าตน แต่ก็มิมีใครค้นหาพบเจอสำเร็จได้สักคน เรื่องราวนี้ไปเข้าหูจักรพรรดิ Mikado เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง แล้วทรงตกหลุมรักขอเธอแต่งงาน แม้ว่าจะไม่ต้องทรงผ่านการทดสอบแต่ก็ยังได้รับคำปฏิเสธ โดยทูลว่าตนเป็นสตรีผู้มาจากแดนไกล ทำให้ไม่สามารถเข้าไปในพระราชฐานของพระองค์ได้

ครั้นฤดูร้อนปีนั้น เมื่อใดถึงค่ำคืนวันพระจันทร์เต็มดวง นัยน์ตาของ Kaguya จะเอ่อคลอด้วยน้ำตา พ่อ-แม่เลี้ยงสอบถามจึงรับรู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเดินทางกลับไปยังบ้านเมืองที่อยู่บนจันทรประเทศ บางตำนานก็กล่าวว่าเธอถูกส่งมายังมนุษยโลกชั่วคราวเพื่อเป็นการลงโทษเพราะไปกระทำความผิด แต่บางตำนานว่าถูกส่งตัวมาหลบซ่อนไว้บนโลกเพื่อความปลอดภัยระหว่างสงครามบนสรวงสวรรค์

ซึ่งเมื่อวันเดินทางกลับใกล้เข้ามา พระจักรพรรดิได้ทรงส่งทหารเป็นกองทัพมาล้อมรอบบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวจันทรประเทศมาพาตัว Kaguya กลับไปได้ แต่เมื่อทูตจากสรวงสวรรค์มาถึง ทำให้ทหารทั้งหลายต่างตาบอดมองไม่เห็นไปตามๆกัน ซึ่งเจ้าหญิงประกาศว่าแม้ว่าตนเองจะมีความรักเพื่อนหลายคนบนมนุษยโลกแต่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังจันทรประเทศบ้านเมืองแท้จริงของตนเอง ซึ่งก่อนจากได้เขียนจดหมายร่ำลาขออภัยต่อทุกคน มอบเสื้อคลุมให้บิดามารดาไว้เป็นที่ระลึก จากนั้นก็เอาผอบยาอายุวัฒนะ (Elixir of Life) แนบถวายพระจักรพรรดิ

สองตายายมิอาจทำใจที่ Kaguya จากไปไม่มีวันกลับ โศกเศร้าจนล้มป่วยหนักด้วยความทุกข์ระทมใจ ขณะที่พระจักรพรรดิเมื่อได้อ่านจดหมายจึงตรัสถามข้าราชบริพาร

“ภูเขาลูกใดสูงที่สุด ใกล้สรวงสวรรค์ที่สุด?”

ได้รับคำตอบว่า มหาภูเขาแห่งจังหวัด Suruga พระองค์จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้นำจดหมายฉบับนี้ไปยังยอดเขาและทำการเผาให้เป็นจุล ด้วยหวังว่าความคิดคำนึงถึงจะล่องลอยตามสายควันขึ้นไปถึงจันทรประเทศได้ และนอกจากนี้ยังสั่งให้เผาผอบยาอายุวัฒนะ เพราะไม่มีพระราชประสงค์จะดำรงชีวิตไปตลอดกาลโดยปราศจากเจ้าหญิง Kaguya

เกร็ด: ตำนานกล่าวต่อไปว่า ภูเขาเทือกนั้นต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Fuji (ภาษาญี่ปุ่น: 不死 อ่านว่า Fushi หรือ Fuji แปลว่า อมตะ) ซึ่งคำในอักษรคันจิคือ 富士山 แปลตรงตัวว่า ภูเขาที่เต็มไปด้วยนักรบ ก็คือบรรดากองทัพของพระจักรพรรดิที่เดินทางขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อทำการเผาเผาจดหมายและยาอายุวัฒนะ ซึ่งควันที่ลอยระล่องขึ้นไปบนสรวงสวรรค์ นั่นเพราะ Fuji เป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ (ปัจจุบันสงบลงมากแล้ว)

Kaguya-hime เป็นเด็กหญิงสาวที่มีความสดใสร่าเริง รักอิสระ ชอบอยู่กับธรรมชาติผืนป่าไม้ ความสุขของเธอคือการได้ทำอะไรตามใจ เหมือนนกโบยบินอยู่นอกกรงขัง แต่เมื่อพ่อ-แม่เลี้ยงของเธอ บีบบังคับให้ต้องกลายเป็นหญิงสาวผู้ดี ก็ยินยอมทำตามเพราะไม่ต้องการถูกตราหน้าว่าเป็นคนอกตัญญู เว้นเสียแต่เรื่องแต่งงานที่ตั้งข้อแม้ให้กับชายหนุ่มทั้งหลาย เพื่อพิสูจน์คุณค่าของตนเองในสายตาพวกเขา ซึ่งก็ไม่มีใครที่สามารถแสดงออกทำตามได้สักค้น และแม้พระจักรพรรดิจะมิมีใครกล้าขัดประสงค์คำสั่ง แต่เธอก็พูดบอกปัดปฏิเสธพระองค์ตรงๆ เพราะไม่ได้ต้องการอาศัยอยู่ในกรงขังของใครอื่นใดอีก

ถ้าตามตำนาน Kaguya-hime ไม่ได้โตไวเหมือนไม้ไผ่แบบในอนิเมะนะครับ ก็เหมือนมนุษย์ปกติทั่วไป ซึ่งเหตุผลที่ต้องเร่ง Growth Hormone ขนาดนั้น คงต้องการเปรียบเปรยถึง ‘เด็กสมัยนี้โตไวเหลือเกินนะ’ ขณะที่ความสามารถเรียนรู้เร็ว โดดเด่นเชี่ยวชาญทุกสิ่งอย่าง นี่คือพรสวรรค์/บุญบารมีที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่เกิด

สิ่งที่ผมชื่นชอบจับจ้องมองที่สุดของตัวละครนี้คือทรงผม ก็ฉงนเล็กๆกับที่ตำนานเขียนไว้ว่า ‘เงาวาวเหมือนทอง’ นี่คงเป็นสิ่งที่แม้แต่ผู้กำกับ Takahata จินตนาการไม่ออกสักเท่าไหร่ เลยให้ผมสีดำเหมือนคนปกติทั่วไป แล้วเพิ่มลวดลายเส้นที่เรียวงาม (ถ้าเป็นตอนเด็กๆจะกระเซอะกระเซิง เหมือนเด็กหญิงจอมแก่น) สะท้อนความเงาวาวในลักษณะของภาพสีน้ำออกมาได้อย่างรู้สึกว่าใช่เลย

ความเจ๋งมันอยู่ตอนทำอนิเมชั่น เมื่อ Kaguya-hime วิ่งเล่นโลดโผนไปมา จากทรงผมที่เคยเรียบเรียวเงาวาว เมื่อต้องโบกสะบัดพริ้วไหว ดูแล้วไม่น่าใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำออกมาให้สวยงามดูดี มีความเป็นศิลปะมากเพียงนี้

สำหรับ Sequence ที่คือ Masterpiece และผมคิดว่าสวยงามที่สุดในวงการอนิเมะเลย คือขณะที่ Kaguya-hime ออกวิ่งจากบ้านคฤหาสถ์ของตนเอง ปลดเปลื้องเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ปกคลุมร่างกายหลายสิบชั้นไว้เบื้องหลัง เลี้ยวลัดผ่านแมกไม้ป่าดงริมธาร ตั้งใจไปให้ถึงบ้านชนบทหลังเก่า แต่ก็พบว่าทุกสิ่งได้หมดสูญสิ้นไม่หลงเหลืออะไรทั้งนั้น

ใครก็ตามที่เป็นผู้คิดทำอนิเมชั่นฉากนี้ ต้องปรบมือพร้อมชูสองนิ้วโป้งขึ้นให้ มีวิสัยทัศน์ที่สุดล้ำจินตนาการ ผสมผสานลายเส้นร่างหยาบๆ (มีเพียงสีขาว-ดำ และกางเกงสีแดง) แต่พอจะดูรู้ว่าคืออะไร แล้วใช้ความเร็วเร่งการเคลื่อนไหว เกิดเป็นความเกรี้ยวกราดของงานศิลปะ จับต้องสัมผัสอารมณ์ของ Kaguya-hime ได้โดยทันที

สมบัติ 5 ชิ้นที่เจ้าชายแต่ละพระองค์เอ่ยถึงเปรียบเทียบกับ Kaguya-hime ประกอบด้วย
– Prince Kuramochi: กิ่งไม้ประดับอัญมณีจากเกาะ Horai ในประเทศจีน, ตัวแทนของสิ่งสวยงาม(น่าจะ)ที่สุดในโลก … กลับนำของปลอมที่ว่าจ้างคนอื่นสร้างขึ้นแต่ดันไม่มีเงินจ่าย
– Prince Ishitsukuri: บาตรหินของพระโคดมพุทธเจ้าจากอินเดีย, ตัวแทนของสิ่งที่น่าสักการะเทิดทูนที่สุดในโลก … หาไม่ได้เลยนำมาเพียงดอกไม้หนึ่ง แล้วพูดจาป้อยอโป้ปดหลอกลวง
– Lord Minister of the Right Abe: เสื้อคลุมของหนูไฟจากเมืองจีน, ตัวแทนของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ที่ต่อให้นำไปเผาไฟก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากส่องแสงเป็นประกายยิ่งขึ้นกว่าเดิม … นำของปลอมมาให้ พอทดลองนำไปเผาก็วอดวายสูญสิ้นค่า เสร็จแล้วบ่นขรมว่าสูญเงินไปมากมายมหาศาล หามีความบริสุทธิ์ใจจริงแท้ไม่ (แซว: ตัวละครนี้ออกแบบใบหน้าได้เหมือน หนู มากๆเลยนะ)
– Great Counselor Otomo: อัญมณีจากคอมังกร, ตัวแทนของความกล้าหาญ ชัยชนะที่ได้มาจากศัตรูอันตรายที่สุดในโลก … ผลลัพท์คือปอดแหก ไม่แน่จริงนี่หว่า
– Middle Counselor Isonokami หอยมีค่าของนกนกนางแอ่น, ตัวแทนของความโชคดีมีชัย … ผลลัพท์คือ โชคร้ายตกลงมาคอหักตาย

เกร็ด: บาตรหินของพระโคดมพุทธเจ้า อัฐบริขารที่เสมือน Holy Grail ปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าว่าประดิษฐานอยู่แห่งหนใด บ้างว่าสูญหายถูกมารศาสนาอื่นทำลายไปแล้ว แต่ในพระไตรปิฏกมีกล่าวเอ่ยถึงก่อนหน้าที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงประทับค่ำคืนสุดท้ายที่เมืองไพศาลี/ไวสาลี วันถัดมาขณะกำลังมุ่งหน้าสู่กรุงกุสินารา ชาวเมืองรวมตัวกันออกติดตามส่งปฏิเสธที่จะเดินทางกลับ พระองค์จึงประทานบาตรไว้เพื่อเป็นที่ระลึก ซึ่งหลังจากเสด็จดับขันธ์ลงเแล้ว เจ้าลิจฉวีแห่งไพศาลีได้สร้างสถูปขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน พร้อมกันนี้ได้ประดิษฐานบาตรที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้ด้วย ตั้งชื่อว่า เกสรียสถูป (Kesaris Stupa)

เรื่องราวหลังจากนี้ บ้างก็ว่าบาตรถูกขโมยไปประดิษฐานยังสถูปอื่น บ้างก็ว่าจริงๆแล้วพระอานนท์รับจากพระโมคคัลลานะสืบทอดต่อสู่นิกายเซ็น จนถึงปัจจุบันเลยไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าแท้จริงแล้วอยู่แห่งหนใด

LINK: http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/167173
LINK: http://www.khaodung.com/14008

สำหรับเพลงประกอบ แรกสุดติดต่อ Shinichirô Ikebe แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น Joe Hisaishi น่าจะตามคำแนะนำของ Hayao Miyazaki ซึ่งถือเป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ Hisaishi ได้ร่วมงานกับ Takahata

แม้ทำนองจะ(ยัง)ไม่ติดหูเท่าผลงานที่ร่วมกับ Miyazaki แต่ Hisaishi ก็ได้ยกระดับผลงานของตนเอง ให้สอดคล้องเข้ากับสไตล์ภาพวาดสีน้ำของอนิเมะ มีความนุ่มนวลกลมกล่อมลงตัว มอบสัมผัสที่ไม่ใช่แค่ไพเราะเสนาะหู แต่ยังสะท้อนจิตวิญญาณของ Kaguya-hime และเรื่องราวที่เธอพบเจอออกมาได้อย่างงดงามเลิศล้ำ, ส่วนผสมมีทั้งดนตรีคลาสสิก และเครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่น อาทิ Koto เครื่องสายโบราณมีลักษณะเหมือนพิณ ด้วยท่วงทำนองสุดแสนไพเราะ ราวกับบรรเลงมาจากคนธรรพ์จากสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

บทเพลงที่เป็นตัวแทนของ Li’l Bamboo ชื่อเรียกแรกของ Kaguya-hime ท่อนแรกของบทเพลงจะได้ยินซ้ำ Recurring อยู่เรื่อยๆ สะท้อนนิสัยใจคอ ความซุกซน แก่นแก้ว รักสนุก ของเจ้าหญิง กับชีวิตที่เต็มไปด้วยอิสระเสรี อยากทำอะไรก็ได้ดังใจ ช่วงเวลานี้ไม่มีใครบีบบังคับหักห้ามเธอได้ทั้งนั้น

บทเพลงที่บรรเลงโดย Koto มีหลายครั้งทีเดียว แต่ขอเลือกครั้งแรกสุดที่ Kaguya-hime บรรเลง มีความไพเราะจับใจผมที่สุดแล้ว เริ่มต้นมาด้วยทำนองเศร้าโศกลาจากเพื่อนเก่า/ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขสำราญ แต่เพราะชีวิตจำต้องก้าวเดินต่อไปเรื่อยๆ ยังมีอะไรอีกมากให้พบเจอความท้าทายใหม่ๆ

การมาถึงของพระอมิตาภพุทธะ ใช้ทำนองดนตรีที่เต็มไปด้วยความครึกครื้นรื่นเริงสนุกสนาน นี่เป็นสัมผัสที่แปลกประหลาด เหมือนมีนัยยะต้องการบอกว่า การตายหาใช่สิ่งน่ากลัว มันคือการเริ่มต้นออกเดินทางสู่โลกใหม่ มองในมุมนี้เราควรที่จะสุขหรรษาไปกับมันสิ

Tennyo no Uta (Song from Heaven) คือบทเพลงที่ Kaguya-hime ทั้งๆเพิ่งเคยได้ยินครั้งแรกบนโลกมนุษย์ก็สามารถขับร้องตามได้ แถมล่วงรู้ท่อนลับไม่เคยมีใครร้องมาก่อนอีก นี่ราวกับว่ามันคือสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณไม่รู้ ต่อให้ความทรงจำถูกลบเลือน แต่บทเพลงนี้กลับไม่จางหายไป

บทเพลง Ending Song ชื่อ Inochi No Kioku (แปลว่า When I Remember This Life) ขับร้องโดย Kazumi Nikaidō นี่คือใจความของอนิเมะเรื่องนี้ที่ต้องการสื่อถึงชีวิตหลังความตาย ถึงความเชื่อของคนญี่ปุ่นในพุทธศาสนาจะบอกว่า เมื่อถึงเวลาวิญญาณออกจากร่างจะมิอาจจดจำอะไรได้เลยขณะอยู่บนโลกใบนี้ แต่บางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นเราจะทิ้งมันไปได้จริงๆนะหรือ

ถึงจะพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่เมื่อแบ่งแยกเป็นนิการเถรวาท มหายาน ธรรมยุต ก็ได้มีการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าแตกต่างออกไป คงเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณี ผู้คนประเทศนั้นๆได้ยึดถือปฏิบัติตาม, ผมก็ไม่รู้นะว่าทำไมศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่นถึงแตกต่างจากเถรวาทบ้านเรามากเหลือเกิน อาทิ พระอมิตาภพุทธะ คือพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ประทับในดินแดนสุขาวดี [ไม่ใช่ดินแดนนิพพาน แต่เป็นภูมิที่ใช้ปฏิบัติธรรมต่อหลังจากสิ้นชีวิตบนโลกเพื่อบรรลุนิพพานต่อไป], ความเชื่อเรื่องพอเสียชีวิตสิ้นลมหายใจ ก็จะสูญความทรงจำชาตินี้ทุกสิ่งอย่าง ฯ

แม้ไม่มีกล่าวไว้ในตำนานแบบตรงๆ จันทรประเทศ ก็น่าจะคือดินแดนสุขาวดี สถานที่เมื่อมนุษย์ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์หรือทั้งชีวิตประพฤติปฏิบัติดีเพื่อชาวโลกเสียชีวิตสิ้นลมหายใจ ก็จักได้รับพาตัวส่งไปยังสถานที่แห่งนี้ เพื่อปฏิบัติธรรมต่อจนกว่าบรรลุหลุดพ้น ปล่อยวางจากทุกสรรพสิ่งอย่างได้

ผมค่อนข้างเชื่อว่า ผู้กำกับ Takahata มีความต้องการอย่างยิ่งหลังจากหมดสิ้นลมหายใจ ได้อาศัยอยู่ในดินแดนสุขาวดีแห่งนี้ แต่ก็มีข้อสงสัยค้างคาประการหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า ตายไปแล้วจะจำอะไรไม่ได้สักอย่างเลยนะเหรอ! คิดแล้วมันก็น่าเศร้าใจเล็กๆ เขาเลยพยายามหาวิธีที่จะทำอะไรสักอย่างให้มันตราตรึงฝังลงไปในวิญญาณ ถึงนึกอะไรไม่ออกแต่เมื่อหันกลับมามองโลกใบเก่าแล้วน้ำตาไหลพรากๆ คงจะรับรู้ได้ว่ามันต้องมีความหมายอะไรบางสิ่งอย่างหลบซ่อนอยู่

นี่นำเข้าสู่ปรัชญาชีวิตของผู้กำกับ Takahata ในเมื่อสักวันหนึ่งเราต้องหลงลืมเลือนอดีต เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันจะมีคุณค่าประโยชน์อะไร? เท่าที่ผมสังเกตทำความเข้าใจ เหมือนว่า Takahata จะค้นหาคำตอบนี้ไม่พบ แต่เขาก็ทิ้งแนวคิดแบบอ้อมๆว่า ‘อะไรที่ทำแล้วคือความสุข นั่นแหละคือคุณค่าของชีวิต’

ใจความของ The Tale of the Princess Kaguya คือการตั้งคำถามกับชีวิต อะไรคือความสุข? อะไรคือความทุกข์? และอะไรคือความสุขแท้นิรันดร์?

ความสุขในโลกมนุษย์นั้นมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มักคิดว่าต้องมาจากสิ่งเร้าวัตถุภายนอก อาทิ ร่ำรวยเงินทอง อำนาจบารมีล้นฟ้า ยศฐาบรรดาศักดิ์ชั้นสูง ฯ แถมหลายครั้งเกิดจากการปลูกฝังยัดเยียดโดยผู้อื่น ทำอย่างนี้สิแล้วจะดี นั่นห้ามเด็ดขาด บีบบังคับออกคำสั่งต้องเชื่อฟังโดยไม่เคยถามความต้องการกันเลย คิดเองเออเองห่อหมกเอง เช่นนั้นแล้วชีวิตจะพบเจอความสุขได้จริงๆนะหรือ?

ความสุขใดๆบนโลกล้วนเกิดขึ้นจากใจเราเอง ก็ไม่ได้จำเป็นต้องร่ำรวย อำนาจล้นฟ้า บรรดาศักดิ์สูงส่ง แต่คืออิสระในการครุ่นคิดกระทำ ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎกรอบ หรือมีใครบีบบังคับบงการ เป็นตัวของตนเองไม่ใช่สวมหน้ากากเครื่องสำอางค์ หรือปกคลุมด้วยเสื้อผ้าสวยๆหลายสิบชั้น แค่เสื้อกางเกงตัวเดียวก็มีชีวิตสุขสำราญได้แล้ว อิ่มบ้าง-หิวบ้าง เจ็บตัวบ้าง นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าสีสัน ทำแล้วรู้สึกว่าการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ครั้งนี้มีคุณค่าความหมายบางอย่าง

อนิเมะตบท้ายด้วยสิ่งที่คือความสุขแท้นิรันดร์ คือการปล่อยวางทุกสิ่งอย่างหลังความตาย มุ่งสู่วิถีทางสงบ ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน, น่าเสียดายที่ประเด็นนี้มันย้อนแย้งกันเองสักนิด เพราะ Kaguya-hime กึ่งๆถูกบังคับให้ต้องเดินทางกลับจันทรประเทศ โดยมิได้อยากไปเลยสักนิด แต่เมื่อผ้าคลุมสวมลงก็ไม่หลงเหลือความทรงจำใดๆอีก (แต่ถ้ามองว่าเรื่องของความตายมันคือวิถีธรรมชาติ สัจธรรมชีวิต บอกล่วงหน้ากันได้ทีไหน ประเด็นนี้ก็พอให้ยินยอมรับได้อยู่เล็กๆ)

มีความฝันหนึ่งของโปรเจคนี้ เคยถูกวางโปรแกรมไว้เป็น Double Feature ฉายควบร่วมกับ The Wind Rises (2013) ของผู้กำกับ Hayao Miyazaki ในช่วงฤดูร้อนปี 2013 คล้ายๆกับตอน My Neighbor Totoro และ Grave of the Fireflies ฉายร่วมกันเมื่อปี 1988 คือถ้าฝันนั่นเป็นจริงมันคงเป็นโปรแกรมควบโคตรคุ้มค่าราคาตั๋วอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายที่โอกาสนั้นมิได้เป็นจริง เพราะความล่าช้าในโปรดักชั่นของ Kaguya-hime เลยถูกเลื่อนวันฉายไปปลายปีแทน

ด้วยงบประมาณที่เห็นว่าบานปลายไปถึง ¥5 พันล้านเยน (=$49.3 ล้านเหรียญ) สูงที่สุดในโปรดักชั่นอนิเมชั่นสองมิติของประเทศญี่ปุ่นขณะนั้น ทำเงินจากทั่วโลกได้เพียงครึ่งหนึ่ง ¥2.5 พันล้านเยน (=$24.2 ล้านเหรียญ) ขาดทุนย่อยยับเยิน

จริงๆก็ไม่มีใครคิดว่าโปรเจคนี้จะทำเงินมหาศาลอยู่แล้ว (แต่ก็เอาเงินไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเสียเยอะเลย) กระนั้นต้องถือว่านี่คือ ‘passion project’ ของผู้กำกับ Takahata มันเลยเป็นการทิ้งท้ายทิ้งทวนที่ จะล้มละลายก็ช่างมัน แต่กระนั้นก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญแซ่ซ้อง ‘Universal Acclaim’ เข้าชิง Oscar: Best Animation Feature (เป็นครั้งที่ 4 ของอนิเมะจากญี่ปุ่นถัดจาก Spirited Away, Howl’s Moving Castle และ The Wind Rises) พ่ายให้กับ Big Hero 6 (2013) อย่างน่าอนาถใจ

สิ่งที่ทำให้ส่วนตัวหลงรักคลั่งไคล้อนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ความสวยงามระดับวิจิตรศิลป์ของภาพน้ำหมึกพู่กันและสีน้ำ แต่ยังคือเรื่องราวที่สอดแทรกแนวคิดของศาสนาพุทธ สะท้อนปรัชญาการใช้ชีวิตของผู้กำกับ Isao Takahata นี่ผมพอรับรู้ได้ตั้งแต่ Pom Poko จนถึงเรื่องนี้ก็ยืนยันความเข้าใจ ปู่แกคงเป็นคนธรรมะธรรมโม รักธรรมชาติ ชื่นชอบการศึกษาหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา สามารถนำมาปรับในชีวิตประจำวัน และด้วยความเป็นศิลปินผู้เข้าถึงศิลปะชั้นสูง จึงสามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณ ตัวตนของตนเองออกมาผ่านผลงานภาพยนตร์อนิเมชั่นได้อย่างทรงคุณค่า

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเราเอง ไม่มีอะไรภายนอกกาย เสื้อผ้าเครื่องประดับ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สมบัติ จะสามารถทดแทนแลกเปลี่ยนได้อย่างเท่าเทียม เบื้องต้นเกิดความเข้าใจตรงนี้ได้ ชีวิตก็จะพบเจอความสุขที่พอเพียง นั่นคือเป้าหมายสูงสุดแล้วของการเป็นมนุษย์

โดยเฉพาะแนะนำอย่างยิ่งกับคนเป็นพ่อ-แม่ เลี้ยงดูบุตรหลานด้วยแนวคิดเผด็จการ ดั่งนกในกรง ลูกไก่ในกำมือ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น เชื่อว่าความพึงพอใจของตนเองคือความสุขของลูก … คนแบบนี้สักวันหนึ่ง สิ่งที่เคยทำจักย้อนกลับคืนสนองตนเอง ก็เมื่อถึงจุดนั้นขอให้รู้ซึ้งถึงสัจธรรมชีวิตโดยไว จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานไปไกลเพราะความหลงผิดชอบชั่วดี

คออนิเมชั่นแฟนตาซี ชื่นชอบเรื่องเล่าตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่น รู้จักเจ้าหญิง Kaguya, จิตรกร นักวาดภาพพู่กันและสีน้ำ, แฟนๆสตูดิโอ Ghibli ผู้กำกับ Isao Takahata และเพลงประกอบสุดไพเราะของ Joe Hisaishi ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับพฤติกรรมของพ่อ ที่พยายามยัดเยียดความสุขให้กับลูกของตนเอง

TAGLINE | “The Tale of the Princess Kaguya มีความงดงามระดับวิจิตรศิลป์ สะท้อนจิตวิญญาณของผู้กำกับ Isao Takahata ที่คงได้ติดตามเจ้าหญิง Kaguya ขึ้นสู่สรวงสวรรค์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: