The Tales of Hoffmann (1951)
: Michael Powell, Emeric Pressburger ♥♥♥♥♡
จากคำแนะนำของวาทยากร Sir Thomas Beecham ชักชวนให้ Michael Powell สร้างภาพยนตร์ที่เป็นบันทึกการแสดง Ballet Opera ตัดสินใจเลือกผลงานแนว Fantastique ของคีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส Jacques Offenbach เรื่อง Les contes d’Hoffmann (1881) ดัดแปลงจากสามสั้นเรื่องของ E. T. A. Hoffmann และยังให้เขากลายเป็นตัวละครหลักของทั้งสามเรื่องราวอีกด้วย
ผมเคยรับชม Opera อยู่สองสามครั้งที่เคยมาเปิดการแสดงในเมืองไทย บอกตามตรงว่าไม่ใช่รสนิยมเท่าไหร่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวหรือโปรดักชั่นแต่คือภาษาความเข้าใจ เพราะส่วนใหญ่ที่นักแสดงขับร้องไม่อิตาลี ฝรั่งเศส ก็เยอรมัน รัสเซีย ฯ ประเด็นคือมันฟังไม่รู้เรื่องนะครับ ว่าที่พวกเขากรีดร้องออกมานั้นมีเนื้อหาข้อความอะไร ได้ยินแต่เสียงโหยหวนแสบแก้วหู เลยไม่สามารถเข้าถึงอรรถรสของอุปรากรได้อย่างแท้จริง
สำหรับ The Tales of Hoffmann ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาสักพักใหญ่แล้ว แต่ก็คิดไปว่ามันคงเป็นภาษาฝรั่งเศส/เยอรมัน ตามต้นฉบับของคีตกวี Offenbach แต่พอพบว่าใช้คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ นี่ทำให้ผมเกิดความสนใจอย่างยิ่งยวดขึ้นมาทันทีเลย อยากรู้เห็นว่ามันจะเป็นเช่นไร ดูสนุกรู้เรื่องขึ้นกว่าเดิมไหม? ก็พบว่าเป็นความเต็มอิ่มพึงพอใจสูงสุด ดั่งที่เคยครุ่นคิดจินตนาการไว้ไม่ผิดเลยว่า Opera คือการแสดงสุดยิ่งใหญ่อลังการ ที่ถ้าเราสามารถเข้าใจภาษาเนื้อเรื่องราว ก็จะมองเห็นความสวยงามระดับยิ่งๆสูงขึ้นไปได้อีก
อุปรากร (Opera) เป็นศิลปะการแสดงบนเวทีชนิดหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นแบบละครที่ดำเนินเรื่องโดยใช้ดนตรีเป็นหลักหรือทั้งหมด ถือเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีคลาสสิกตะวันตก มีความใกล้เคียงกับละครเวทีในเรื่องฉาก การแสดง และเครื่องแต่งกาย แต่สิ่งสำคัญที่แยกอุปรากรออกจากละครเวทีทั่วไป คือ ความสำคัญของบทเพลง ดนตรีที่ประกอบการร้อง ซึ่งจะมีเนื้อหาเรื่องราวสอดคล้องเข้ากับทำนองวงดนตรี ตั้งแต่ขนาดเล็กจนไปถึงวงออเคสตราขนาดใหญ่
นี่ถือเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์กับแนว Opera Film เท่าที่ผมลองหาดู พบว่ามีน้อยเรื่องมากๆ คงเพราะไม่ใช่แค่ผู้กำกับต้องมีความรู้เชี่ยวชาญการสร้างภาพยนตร์ แต่ยังต้องมีความสนใจ เคยกำกับอุปรากรมาก่อนด้วยเท่านั้น ถึงสามารถสร้างหนังลักษณะนี้ออกมาได้ เรื่องเท่าที่พอจะแนะนำได้ อาทิ
– La Bohème (1965) [ของ Puccini] กำกับโดย Franco Zeffirelli
– The Magic Flute (1975) [ของ Mozart] กำกับโดย Ingmar Bergman
– Le Nozze di Figaro (1975) [ของ Mozart] กำกับโดย Jean-Pierre Ponnelle
– La Traviata (1982) [ของ Verdi] กำกับโดย Franco Zeffirelli
– Carmen (1984) [ของ Bizet] กำกับโดย Francesco Rosi
ฯลฯ
Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา เรียนจบที่ Dulwich College ทำงานเป็นนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ตัวว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926) ของผู้กำกับ Rex Ingram ต้วมเตี้ยมเป็นตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)
Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวะที่ Universities of Prague and Stuttgart ไม่ทันจบต้องออกมาเพราะพ่อเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German จากนั้นกลายเป็นนักเขียน อพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ แอบขึ้นเกาะอังกฤษปี 1935 โดยไม่มี Passport ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric เมื่อตัดสินใจปักหลักอยู่ London
Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger เป็นผู้พัฒนาบทภาพยนตร์, ด้วยความที่ทั้งสองมีนิสัยพื้นฐานตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิทเพราะทัศนคติ แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ถึงขนาดมองตาก็รับรู้อีกฝ่ายครุ่นคิดอะไร ปี 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers มีผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางตัวใครตัวมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์
เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งเขียนบทและกำกับ
หลังเสร็จจาก The Red Shoes (1948) วาทยากร Sir Thomas Beecham (1879 – 1961) ที่กำกับออเครสต้าให้เฉพาะ Ballet of the Red Shoes เอ่ยปากชักชวนกึ่งท้าทาย Michael Powell ให้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นบันทึกการแสดง Opera ล้วนๆ ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับความสนใจของเขาพอดี ที่มีความต้องการทำ ‘a composed film’ ได้ข้อสรุปร่วมกันจะทำอุปรากรเรื่อง The Tales of Hoffmann เพราะมีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ และพื้นหลังเป็นแนวแฟนตาซีเหนือจินตนาการ สามารถใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ในการเติมเต็มเรื่องราวนี้ได้
Les contes d’Hoffmann เป็นอุปรากรภาษาฝรั่งเศส ความยาว 3 องก์ ประพันธ์ดนตรีและคำร้องโดยคีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส Jacques Offenbach (1819 – 1880) ดัดแปลงจากเรื่องสั้นโศกนาฎกรรมสามเรื่องของ E. T. A. Hoffmann (1776 – 1822) นักเขียนชาวเยอรมัน ที่มีอีกผลงานเขียนในตำนานคือ The Nutcracker and the Mouse King (1816) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ Pyotr Ilyich Tchaikovsky ประพันธ์บทเพลงบัลเล่ต์ The Nutcracker (1892)
อุปรากรเรื่องนี้เริ่มต้นจากการเป็นบทละครเวทีเรื่อง Les contes fantastiques d’Hoffmann เขียนโดยสองพี่น้อง Barbier Carré และ Michel Carré เปิดการแสดงที่ Odéon Theatre เมือง Paris เมื่อปี 1851 ซึ่ง Offenbach มีโอกาสได้รับชมและเกิดความชื่นชอบอย่างยิ่ง, ผ่านไปหลายปี 1876 ผู้เขียนทั้งสองเกิดความสนใจดัดแปลงสร้างเป็นละครเพลง/Opera ติดต่อคีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส Hector Salomon ให้ช่วยประพันธ์ทำนองคำร้องให้ แต่พอ Offenbach ทราบข่าวก็รีบแจ้นไปกดดันขันอาสาแสดงความสนใจ ทำให้ Salomon ยินยอมส่งมอบงานต่อให้ แต่การทำงานเป็นไปอย่างเชื่องช้าหลายปี มักถูกขัดจังหวะด้วยงานเข้าที่ไม่ค่อยมีคุณค่านัก
ราวกับจะรู้ตัวว่านี่กำลังเป็นผลงานสุดท้าย Offenbach มีความตั้งใจ ทุ่มเท พัฒนาอุปรากรเรื่องนี้อย่างมาก แต่สุดท้ายก็เสียชีวิตไปก่อน สิ้นลมขณะมือยังถือกระดาษเขียนโน๊ตเพลง แต่งองก์ 3 ยังไม่เสร็จ (เรื่องของโสเภณี Giulietta) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1880 โดยรอบปฐมทัศน์มีขึ้นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1881 ที่โรงละคร Opéra-Comique มีเพียง 2 องก์แรกเท่านั้น ซึ่งการแสดงรอบหลังๆเมื่ออุปรากรเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการประพันธ์ตีความเพิ่มเติม ตามแต่ผู้จัดจะสนใจ
สำหรับเรื่องสั้นของ E. T. A. Hoffmann ที่ Offenbach นำเรื่องราวไปใช้ ประกอบด้วย
– Der Sandmann, The Sandman (1816) ใช้เรื่อง Olympia
– Rath Krespel, Councillor Krespel หรือ The Cremona Violin (1818) ใช้เรื่อง Antonia
– Das verlorene Spiegelbild (The Lost Reflection) เรื่องสั้นจากหนังสือ Die Abenteuer der Sylvester-Nacht, The Adventures of New Year’s Eve (1814) ใช้เรื่อง Giulietta
เรื่องราวเล่าถึงความผิดหวังในรักของชายชื่อ Hoffmann (รับบทโดย Robert Rounseville) ที่มีกับตุ๊กตากลไกชื่อ Olympia, โสเภณีชื่อ Giulietta, หญิงสาวนักร้อง Soprano ชื่อ Antonia, และ Epilogue นักแสดงบัลเล่ต์สาวชื่อ Stella ที่ต่างล้วนถูกกีดกันขัดขวางจากใครบางคน
สำหรับฉบับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นี้ พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ตรงต่อ Opera ต้นฉบับ แต่ก็มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของผู้กำกับ อาทิ
– Prologue การแสดงของ Stella จะเปลี่ยนจากขับร้องอุปรากร Don Giovanni (ของ Mozart) เป็นเต้นบัลเล่ต์เพลง The Ballet of the Enchanted Dragonfly
– บทเพลงที่ขับร้องเล่นเต้นในบาร์ แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถเกริ่นเข้าสามเรื่องเล่าของ Hoffmann ได้
– มีการสลับองก์ 2 กับ 3 (เดิมนั้นองก์ 2 เป็นเรื่องราวของ Antonia และองก์ 3 คือโสเภณี Giulietta)
– เปลี่ยนพื้นหลังเรื่องราวของ Antonia จากเมือง Milan กลายเป็น Greek Island, ประเทศ Greece
สำหรับนักแสดงในหนัง ทุกคนล้วนเป็นนักเต้น บ้างบัลเล่ต์ บ้างนักร้อง Soprano และถ้าคุณเคยรับชม The Red Shoes (1948) ย่อมต้องคุ้นหน้านักแสดงบางคนอย่างแน่นอน
Robert Rounseville (1914 – 1974) นักแสดง นักร้อง Tenor สัญชาติอเมริกัน มีผลงานใน Opera, Broadway Musical ฯ รับบท Hoffmann ชายผู้อาภัพรักในทุกกรณี ถูกสะกัดกั้นกีดขวางจากศัตรูผู้กลับชาติมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อมันหลายครั้งเข้าจิตใจเลยเต็มไปด้วยความบอบช้ำทุกข์ทรมาน จมสุราให้เมามายกลายเป็นคนไร้สติสมประดี
Moira Shearer (1926 – 2006) นักแสดง นักเต้นบัลเล่ต์สัญชาติ British หญิงสาวที่รับบท Victoria Page ใน The Red Shoes (1948), รับบท Stella ควบ Olympia
– Stella คือนักเต้นบัลเล่ต์ ลีลาช่างพริ้วไหวอ่อนช้อย รับบทแมลงปอตัวเล็กๆ โบยบินกระโดดไปมาบนใบบัว หยอกล้อเล่นกับแมลงปอตัวผู้ สุดท้ายกระพือปีกบินตรงสู่แสงอาทิตย์นิรันดร์
– Olympia (ขับร้อง Opera โดย Dorothy Bond) คือหุ่นสาวที่เหมือนจะแข็งแกร่งแต่กลับเปราะบาง เมื่อถูกหมุนด้วยกลไกสามารถเคลื่อนไหว ร้องเล่นเต้นได้อย่างเหนือมนุษย์ แต่เพราะเธอเป็นเพียงหุ่น เมื่อถูกกระแทกกระทั้นจึงแตกหักเป็นเสี่ยงๆ แขน-ขา หัว-ลำตัว แม้จะแยกออกจากกันแล้ว กลับยังเคลื่อนไหวลืมตาอ้าปาก ขยับขา เห็นแล้วหลอนๆ สยองขวัญสิ้นดี
Ludmilla Tchérina (1924 – 2004) นักแสดง นักเต้นบัลเล่ต์ สัญชาติฝรั่งเศส เคยรับบท Irina Boronskaya ใน The Red Shoes (1948), รับบท Giulietta (ขับร้อง Opera โดย Margherita Grandi) หญิงสาวโสเภณีที่อ้างว่าเหมือนจะรัก Hoffmann แต่กลับทำทุกอย่างเพื่อให้เขาหลงรักตายใจเพื่อต้องการขโมยบางสิ่งอย่าง (เงาในกระจก) มอบให้ซาตาน แลกเปลี่ยนเพื่อจะได้อยู่ร่วมกับคนรักแท้จริงของเธอตราบชั่วนิรันดร์ ซึ่งสุดท้ายเหมือนจะกินยาฆ่าตัวตายตามแฟนหนุ่ม ที่พ่ายแพ้การดวลกับ Hoffmann
Ann Ayars (1918 – 1995) นักแสดง นักร้อง Soprano สัญชาติอเมริกา, รับบท Antonia หญิงสาวที่ป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่างห้ามใช้เสียงมากเกินไป ตกหลุมรักคลั่งไคล้กับ Hoffmann แต่ถูกพ่อกีดกันขัดขวาง ทั้งคู่ยังคงแอบพบพรอดรัก ให้การสนับสนุนเธอทำในสิ่งที่อยากเป็นตามหัวใจ สุดท้ายหญิงสาวเลยร้องเพลงทำตามหัวใจ ติดตามแม่ที่เป็นวิญญาณไปจนสิ้นลมตัวตาย
Sir Robert Helpmann (1909 – 1986) นักแสดง นักเต้น สัญชาติ Australian เป็นอีกคนที่มีผลงานใน The Red Shoes (1948), รับบท Lindorf/Dr. Miracle/Coppélius/Dapertutto/ ศัตรูตัวร้าย คู่ปรับตลอดกาลในเรื่องความรักกับ Hoffmann ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ก็สามารถทำให้เขาสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยากในความรัก จมอยู่กับความทุกข์โศกตลอดกาล
หนังไม่มีบทพูดสนทนาปกติทั่วไปนะครับ พวกเขาขยับปาก ร้องเล่นเต้น แสดงอารมณ์ไปตามทำนองเพลงที่บันทึกเสียงไว้ก่อนหน้า (pre-record) บางคนจะขับร้อง Soprano/Mezzo/Tenor ด้วยตนเองเอง แต่ส่วนใหญ่ใช้นักร้องตัวจริง ทับเสียงเอา (dubbing)
ถ่ายภาพโดย Christopher Challis หลังจากทำงานเป็น Camera Operator ในหนังหลายเรื่องของ The Archers เลื่อนขั้นมาเป็นตากล้องในยุคหลังๆ ผลงานเด่นๆอาทิ A Shot in the Dark (1964), Arabesque (1966), Chitty Chitty Bang Bang (1968), Top Secret! (1984) ฯ
ด้วยคอนเซ็ปการแสดง Opera จึงมีการสร้างฉากทั้งหมดขึ้นในสตูดิโอ ทำเป็นเหมือนละครเวที มีผ่านม่านปิดเปิด สามารถควบคุมการจัดแสงสี มุมกล้อง ทิศทางการเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำไม่มีผิดเพี้ยน ซึ่งแต่ละองก์ของหนังก็จะมีตีม โทนสีที่โดดเด่นของตนเอง
– Prologue ผมไม่ค่อยแน่ใจสีที่เห็นนัก (คุณภาพไฟล์หนังที่รับชมค่อนข้างแย่) เหมือนจะเป็นสีน้ำเงิน/เขียวเข้ม (ผืนน้ำและใบบัว), ลวดลายผนังในห้องอาหาร เต็มไปด้วยเส้นลายดอกไม้ที่มีความคดเคี้ยวเลี้ยวลดประหนึ่งจิตใจของมนุษย์
– องก์ 1 เรื่องราวของ Olympia จะเน้นโทนสีเหลืองเป็นหลัก สะท้อนความสดใสซื่อบริสุทธิ์, ฉากที่ถูก Dr. Miracle ล่อลวงจะมีพื้นหลังสีแดง และขณะถูกแยกชิ้นส่วนจะมีพื้นดำสนิท (โทนสีเปลี่ยนไปตามสิ่งที่หญิงสาวได้พบเจอ)
– องก์ 2 เรื่องราวของ Giulietta จะเน้นโทนสีแดงเป็นหลัก รองลงมาคือเขียว-ดำ สะท้อนถึงความชั่วร้ายที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจของเธอ และของเล่นประกอบฉากทั้งหลาย เทียนไข กระจก ฯ ล้วนเต็มไปด้วยสิ่งน่าสะพรึง หลอนๆ (มีลักษณะคล้าย German Expressionist พอสมควร)
– องก์ 3 เรื่องราวของ Antonia จะเน้นโทนสีฟ้า-น้ำเงินเป็นหลัก แสดงถึงความคาดหวังเพ้อฝัน ช่วงนี้จะมีการซ้อนภาพค่อนข้างเยอะ มีนัยยะถึงในจินตนาการความคิดของหญิงสาว ที่ต้องพบเจอกับ ซากปรักหักพัง, ต้นไม้รกชัน, เปลวเพลิงเผาผลาญ ฯ วาดภาพสิ่งที่อยากกลายเป็น
– Epilogue โทนสีดำคือความมืดมิดที่สะท้อนจิตใจของตัวละคร Hoffman รวดร้าวทุกข์ระทม
หนังมีช็อตซ้อนภาพสวยงามระดับวิจิตรตราตรึงมากมาย ที่ช่วยขับเน้นความแฟนตาซีของหนังให้มีความลึกล้ำเหนือจินตนาการ ผู้ชมสมัยนี้อาจไม่ค่อยดื่มด่ำกับมันเสียเท่าไหร่เพราะหลายภาพมีความ Abstract ค่อนข้างสูง หาได้สมจริงจับต้องได้เข้าใจยาก
ฉากนี้ราวกลับปลาที่กำลังทะยานขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่เพราะหญิงสาวรับบทเป็นแมลงปอ จึงควรมองว่าเป็นการบินลงมาโฉบเล่นผิวน้ำมากกว่า
ผมชอบการซ้อนภาพช็อตนี้ที่สุดแล้ว เมื่อ Olympia ถูกแยกชิ้นส่วนร่างกายออก แต่ขาและศีรษะกลับยังขยับเคลื่อนไหวได้อย่างเอกเทศน์ นี่ใช้การซ้อนภาพหลายๆชั้น กอปรเข้ากับสิ่งสัญลักษณ์ต่างๆมากมาย อาทิ เข็มนาฬิกา, ดอกทานตะวันรูปหน้าคน, หน้ากาก, สปริง (กลไก), เส้นสายใย (เหมือนเส้นเอ็น/เส้นเลือด) ฯ
กล่าวคือช็อตนี้ สิ่งสัญลักษณ์ต่างๆเปรียบได้กับองค์ประกอบ ชิ้นส่วน กลไกของหุ่นยนต์มนุษย์
การเดินทางขึ้นเรือของ Giulietta พื้นหลังจริงๆคือ Venice แต่เหมือนว่ากำลังข้ามแม่น้ำ Styx เสียมากกว่า (แม่น้ำในเทพปกรณัมกรีกซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างพิภพกับโลกบาดาล/นรก)
ท่าทางสายตาของหญิงสาว มุ่งมั่นไปข้างหน้าทิศทางเดียวไม่มีเปลี่ยนแปลงหรือเหลียวหลัง แสดงถึงความจริงใจรักแท้ต่อคนรัก ยินยอมเสียสละตนเอง ทำทุกสิ่งอย่างเพียงเพื่อเขาผู้เดียว
ความฝันของ Antonia คือการได้ขับร้องเพลงบนเวที ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง แต่เพราะสถานที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่เป็นเกาะห่างไกล และร่างกายของตนมีความอ่อนแอ นี่จึงคือจินตนาการเพ้อฝันของหญิงสาว กำลังขับร้อง Soprano อยู่บนเวที,
จริงๆถ้าไม่บอกว่านี่คือภาพของเวทีการแสดง อาจมีหลายคนมองไม่ออก คิดว่าเป็นภาพวาดดวงดาว ปราสาทผีสิง (เห็นจากเทียนไข) หรืออะไรสักอย่างเห็นเป็นจุดๆ ไม่รู้ว่าคืออะไร
มีช็อตพิศวงหนึ่ง จะมีภาพการเต้นบัลเล่ต์จากสี่ทิศทาง แบ่งเฟรมภาพสี่มุม (บน-ล่าง ซ้าย-ขาว) ความพร้อมเพียงที่เกิดขึ้นแสดงว่าต้องจากการถ่ายครั้งเดียวโดยใช้กล้อง 4 ตัวเป็นแน่,
ความน่าสงสัยอยู่ที่ ถ่ายทำอย่างไรไม่ให้ติดกล้องที่ถ่ายจากมุมตรงกันข้าม, ผมคิดว่าคงเพราะการใช้ฉากหลังสีดำเข้าช่วย ฉายแสงส่องเฉพาะตัวนักแสดง แล้วนำไปใส่ฟิลเลอร์เพิ่มความมืดตอนล้างฟีล์ม ก็น่าจะเพียงพอให้มองไม่เห็นกล้องที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้ แล้วค่อยนำมาตัดแต่งแปะฟีล์ม เห็นเป็นสี่มุมมองพร้อมกันในช็อตเดียว
Martin Scorsese เคยยกย่องถึงความสวยงามล้ำจินตนาการของหนังเรื่องนี้ว่า ‘unlike anything I’d ever seen before’
ตัดต่อโดย Reginald Mills ขาประจำของ Tha Archer ที่เริ่มมีผลงานตั้งแต่ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947) ไฮไลท์ในอาชีพคือ The Red Shoes (1948) ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Edited แต่ไม่ได้รางวัล
ถึงหนังจะเป็นเรื่องราวของตัวละคร Hoffmann แต่เหมือนว่ามุมมองหลักของหนังจะเป็นเจ้าปีศาจร้าย Lindorf ที่แอบเฝ้ามอง รับรู้ทุกความเคลื่อนไหวเป็นไปของพระเอก ซึ่งจะคอยขัดขวางไม่ให้เขาได้พบประสบความสำเร็จในรัก
ความ ‘composed’ ของหนังเรื่องนี้ คือการตัดต่อภาพให้เข้ากับจังหวะทำนองของเพลงประกอบ, โดยปกติทั่วไปสมัยก่อน Post-Production การตัดต่อกับเพลงประกอบมักจะแยกออกจากกัน คือตัดหนังให้เสร็จสิ้นเสียก่อนแล้วถึงใส่เพลงประกอบ (หรือทำงานไปพร้อมๆกัน แล้วรวมเข้าทีหลัง) ที่มักเขียนทำนองให้สอดคล้องเข้ากับจังหวะของหนัง แต่เพราะหนังเรื่องนี้อุปรากร The Tales of Hoffmann เกิดขึ้นมีมากว่าร้อยปีแล้ว ไม่สามารถจะไปทำการแก้ไขปรับเปลี่ยนยืดทำนองอะไรได้ทั้งนั้น วิธีการเดียวคือ pre-record บันทึกเสียงและออเครสต้าให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ก่อนเริ่ม ขณะถ่ายทำก็เปิดใช้เป็นทำนองประกอบนักแสดง และขณะ Post-Production ก็ยึดเป็นหลัก แล้วตัดต่อเลือกภาพหาจังหวะให้มีความเข้ากันลงตัว เป็นลักษณะที่ว่า ‘หนังประกอบเพลง/Opera’
เห็นว่าเดิมนั้น องก์ที่ 3 ของหนังมีความยาวมากกว่านี้ แต่โปรดิวเซอร์ Alexander Korda กลับมองว่าเป็นส่วนเกินยืดเยื้อยาวเกินไป มีความต้องการให้ตัดทิ้งออกไปทั้ง Sequence แต่ทั้ง Powell และ Pressburger ยืนกรานโต้เถียงว่าจำเป็นต้องคงไว้ แล้วทำการเล็มโน่นนี่ออกพอสมควร, นี่ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าหนังมีฉบับเต็มออกฉาย/หลงเหลืออยู่รึเปล่า เพราะเหมือนว่าผู้กำกับได้เคยเปรยๆตั้งแต่หนังฉาย ว่ามีความต้องการเก็บ ‘big cut’ นี้ไว้สำหรับผู้ที่สนใจในอนาคต
** หนังมีการ Restoration ระดับ 4K ออกฉายเดือนมีนาคม 2015 โดย Martin Scorsese ร่วมกับ Film Foundation, BFI และ Studio Canal, มีความยาว 136 นาที เห็นว่ารวมฟุตเทจที่ไม่เคยออกฉายมาก่อนเพิ่มเข้าไปด้วย ใครสนใจลองติดตามหาดูนะครับ Criterion น่าจะมีอยู่
เพลงประกอบ กำกับวงเรียบเรียงโดย Sir Thomas Beecham ร่วมกับ Royal Philharmonic Orchestra ถ้าหาหนังดูไม่ได้ รับฟังเต็มๆเพลงได้ใน Youtube นะครับ
มีบทเพลงท่อนแรกในองก์ที่ 2 พอได้ยินครั้งแรกหลายคนคงจะคุ้นหูมากๆ ระลึกได้จากหนังเรื่อง Life is Beautiful (1997) ของผู้กำกับ Roberto Benigni ชื่อเพลง Belle nuit, ô nuit d’amour (Beautiful night, Oh night of love) เรียกสั้นๆว่า Barcarolle มีลักษณะเป็นการขับร้อง Duet ประสานเสียงระหว่างนักร้อง Soprano และ Mezzo-Soprano
เสียงก๊าบ ก๊าบ แคว๊ก แคว๊ก ที่แท้มันคือการล้อทำนอง Duet ของนักร้องทั้งสองที่รำพันพรรณาถึงค่ำคืนแห่งความรัก ด้วยความที่มีทำนองเรียบง่ายจับใจ ฟังครั้งเดียวสามารถฮัมตามได้ทันที เลยกลายเป็นท่อนที่โด่งดังมีชื่อเสียงสุดของอุปรากรนี้
สัมผัสกลิ่นอายของบทเพลง มีความโหยหวนล่องลอย เพ้อฝันจินตนาการ เพราะเรื่องราวทั้งหมดมาจากการเล่าของ Hoffman (ราวกับจากประสบการณ์ตัวเอง) ความผิดหวัง โศกนาฎกรรมความรัก มันจึงเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของเขาออกมาเป็นท่วงทำนอง ขับกล่อมชวนให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวเดียวกัน เรียกว่าแทบไม่มีวินาทีไหนจะรู้สึกเป็นสุขสมหวัง ล้วนแต่โศกเศร้าหมอง เจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส
เรื่องราวใจความของอุปรากร/หนังเรื่องนี้ คือโศกนาฎกรรมของความรักที่ไม่สุขสมหวัง ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่ามีอะไรเคลือบแฝงหลบซ่อนในกอไผ่หรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่มีเราสามารถเรียกว่า pure-Tragedy ความบริสุทธิ์ของความโศกเศร้า, ไม่มีใครรู้เหตุผล ว่าทำไม Lindorf ถึงได้จองล้างจองผลาญรังควาญ Hoffman ถึงขนาดนี้ไม่มีที่สิ้นสุด แทนเชิงสัญลักษณ์คงหมายถึงศัตรูมารผจญ เหรียญอีกฝั่งด้าน ‘ที่ใดมีรักที่นั่นย่อมมีทุกข์’
ความเรียบง่ายบริสุทธิ์ของเรื่องราวที่ดูเหมือนจะธรรมดาไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่กลับเป็นโปรดักชั่นงานสร้าง ที่มีความสวยงามประณีตวิจิตร สุดบรรเจิดล้ำจินตนาการ, การแสดงร้องเล่นเต้นที่ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ และเพลงประกอบได้วาทยากรยอดฝีมือกำกับให้เกิดความเพ้อฝันล่อยลอยคล้อยตาม เหล่านี้ผสมผสานคลุกเคล้าเข้ากัน กลายเป็นความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบลงตัว นี่เป็นสิ่งไม่มีวันที่คุณจะได้พบเจอจากแห่งหนไหนมาก่อนอย่างแน่นอน
แม้หลังจากนี้ถึงจะมีหนังแนว Opera Film เกิดขึ้นตามมามากมาย แต่เชื่อว่าไม่มีเรื่องไหนสามารถนำเสนอความแฟนตาซีล้ำจินตนาการได้เหนือชั้นกว่าหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน, ขอยกคำกล่าวของนักวิจารณ์ Roger Ebert ที่ผมจดจำได้ตอนเขียนถึงหนังเรื่อง Playtime (1967) ‘มีภาพยนตร์สายพันธุ์หนึ่ง จะเรียกว่าผ่าเหล่า/กลายพันธุ์ก็ได้ คือเกิดขึ้นมาครั้งเดียวแล้วสิ้นสูญพันธุ์ไปเลย ไม่สามารถสืบสานลักษณะได้ต่อ หรือเกิดซ้ำขึ้นใหม่ได้’
“[There] is one of a kind, complete in itself, a species already extinct at the moment of its birth.”
สำหรับผู้ไม่เคยรับชม Opera มาก่อน ต้องถือว่ามีความยากยิ่งในการรับชมหนังเรื่องนี้ แต่ให้ลองมองพิจารณาเป็นลักษณะหนังเพลง Musical แค่เสียงร้องของนักแสดงจะเป็นระดับ Soprano, Mezzo, Tenor แตกต่างจากการร้องปกติทั่วไปพอสมควร, ส่วนลีลาท่าทางการเต้นเคลื่อนไหว มีความเป็นสากลมากๆอยู่แล้ว ถ้าสามารถอ่านออกแปลได้ ก็จะเข้าใจ ‘ภาษากาย’ ได้ไม่ยาก และสำคัญที่สุดคือ ทำความเข้าใจความหมายนัยยะของภาษาภาพยนตร์ ก็จะมองเห็นความสวยงามลึกซึ้งของหนังเรื่องนี้, จัดระดับความยากอยู่ที่ professional คนชอบความท้าทายไม่ควรพลาดเลย
ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำหนังเงินในอังกฤษ £105,035 ปอนด์ และอเมริกา $1.25 ล้านเหรียญ แนวโน้มน่าจะทำกำไรได้อยู่, เข้าชิง Oscar 2 สาขา (ไม่ได้สักรางวัล)
– Best Art Direction-Set Decoration, Color (พ่ายให้กับ An American in Paris)
– Best Costume Design, Color (พ่ายให้กับ An American in Paris)
- เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ารางวัล Silver Bear: Best Musical
- ตามด้วยเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Special Award: For the transposition of a musical work into a film.
ผู้กำกับดัง Cecil B. DeMille หลังจากได้รับชมหนังเรื่องนี้ ส่งจดหมายถึง Powell กับ Pressburger บอกว่า
“For the first time in my life, I was treated to Grand Opera where the beauty, power and scope of the music was equally matched by the visual presentation.”
ขณะที่ผู้กำกับ George A. Romero ยกให้คือหนังเรื่องโปรดตลอดกาล และคือเหตุผลที่ทำให้อยากเป็นผู้สร้างภาพยนตร์
“favourite film of all time; the movie that made me want to make movies”.
เกร็ดขำๆ: สมัยก่อน การจะหาเช่ายืมรับชมภาพยนตร์สักเรื่อง ต้องเช่าโปรเจคเตอร์และฟีล์ม 16mm แต่เพราะความยุ่งยากวุ่นวาย ฟีล์มหนังเรื่องหนึ่งๆจึงมีจำนวนจำกัด ซึ่ง The Tales of Hoffmann บริเวณร้านเช่าแถวๆที่ Romero อาศัยอยู่ มักจะวนเวียนเปลี่ยนมืออยู่เพียงเขากับอีกคนเท่านั้น ที่แทบจะผลัดกันเช่าชม ครั้งหนึ่งได้บังเอิญพบเจอรู้จัก ชายผู้นั้นชื่อ Martin Scorsese
วินาทีที่ผมหลงใหลคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้ เมื่อตอนที่เสียงก๊าบ ก๊าบ แคว๊ก แคว๊ก บทเพลง Barcarolle บรรเลงดังขึ้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ราวกับฟ้าผ่าลงมากลางใจ เห้ยชอบว่ะ! จนตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจตนเองเท่าไหร่ว่าเพราะอะไร
บรรดาภาพยนตร์ที่อยู่ในลิส Favorite ของผมนั้น ส่วนใหญ่จะมีแนวคิด ปรัชญา อุดมการณ์ใช้ชีวิตที่ลึกล้ำ ยิ่งใหญ่ระดับเปลี่ยนมุมมอง โลกทัศนคติส่วนตัว, แต่ช่วงหลังๆเท่าที่สังเกตการค้นพบหนังโปรดเรื่องใหม่ๆ อาทิ Playtime (1967), The Wind Will Carry Us (1999), Moonlight (2016) ฯ เริ่มมีลักษณะของกลิ่นอาย รสสัมผัส บรรยากาศ เกิดความประทับใจลึกซึ้ง Nostalgia รับรู้มองเห็นเข้าใจความสวยงามขณะรับชม … ขอเวลาอีกสักพัก มีแนวโน้มสูงมากๆที่หนังเรื่องนี้อาจแปรสภาพกลายเป็นหนังโปรดเรื่องถัดไป เพราะตอนนี้ยังไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้
เอาว่าเบื้องต้นนี่เป็นหนังที่มีความสวยงามประณีตวิจิตร สุดบรรเจิดล้ำจินตนาการ ในรูปแบบที่ไม่น่าจะเคยมีใครพบเห็นเจอมาก่อนอย่างแน่นอน
แนะนำกับคอการแสดง Opera, นักร้องเสียงสูง (Soprano, Mezzo, Tenor ฯ), นักเต้นบัลเล่ต์ทั้งหลาย, ชื่นชอบเรื่องราวรักโรแมนติก โศกนาฎกรรม แฟนตาซีเพ้อฝัน, งานภาพสวยๆ ตัดต่อเยี่ยม เพลงเพราะๆของ Jacques Offenbach การตีความล้ำๆของ Sir Thomas Beecham, แฟนๆ The Archers ของ Michael Powell และ Emeric Pressburger ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับโศกนาฎกรรม ความตาย
[…] The Tales of Hoffmann (1951) : Michael Powell, Emeric Pressburger ♥♥♥♥♡ […]
สวัสดีค่ะ หนูสนใจในหนังเรื่องนี้มากเลยค่ะ อยากทราบเกี่ยวกับ the tale of hoffman ให้ลึกลงไปกว่านี้
หนูสามารถคุยกับคุณผ่านอีเมลได้มั้ยคะ
ทักในเพจมาก็ได้นะครับ https://www.facebook.com/raremeatblog