The Ten Commandments 1923

The Ten Commandments (1923) hollywood : Cecil B. DeMille ♥♥♡

คนที่เคยรับชม The Ten Commandments (1956) ของผู้กำกับ Cecil B. DeMille แล้วค้นหาต้นฉบับหนังเงียบปี 1923 คงรู้สึกเหมือนโดนหลอก เพราะมีเรื่องราวของ Moses แค่เพียง 45 นาทีแรกเท่านั้น ส่วนครึ่งหลังที่เหลือมันอะไรก็ไม่รู้ ราวกับหนังคนละเรื่อง

ผมทำใจอยู่ประมาณวันหนึ่งแล้วค่อยกลับมาดูต่อ สิ่งที่หนังนำเสนอก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร แค่ความผิดหวังที่เกิดขึ้นก่อนหน้าทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นโดยสิ้นเชิง ต่อให้เรื่องราวครึ่งหลังสะท้อนกับครึ่งแรกลงตัวมากมายเพียงใด แต่มีหรือจะสร้างเทียบเท่ายิ่งใหญ่กว่าได้

ก็เหมือนว่าถ้าคุณพบเจอไคลน์แม็กซ์น้ำแตกตั้งแต่ชั่วโมงแรก แล้วชั่วโมงถัดไปจะยังมีเรี่ยวแรงต่อรอบสองอยู่หรือเปล่า หรือถ้าทำได้จะยังรู้สึกพึงพอใจเทียบเท่ากว่าครั้งแรกไหม

แต่คิดว่าถ้าคุณรับรู้ไปก่อนรับชม ว่าหนังแบ่งออกเป็น 2 เรื่องราว มีความสัมพันธ์แต่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน ความคาดหวังแล้วผิดหวังจะลดลงมากๆ ไม่เกิดอคติต่อต้านรุนแรงแบบที่ผมรู้สึกแน่

Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Ashfield, Massachusetts แม่มีเชื้อสาว Jews อพยพจาก German ส่วนพ่อเป็นนักแสดงและ Lay Reader (นักเทศน์ฝั่งฆราวาส) ที่ Episcopal Church เสียชีวิตตอนเขาอายุ 12 ทำให้ตัดสินใจเดินตามรอยพ่อ เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway พอเอาตัวไม่รอด ร่วมกับ Jesse Lasky, Sam Goldfish เดินทางสู่ Los Angeles (ตามรอย D. W. Griffith) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก Hollywood ก่อตั้งสตูดิโอ Lasky Company สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Squaw Man (1914) บุกเบิกเทคนิคการจัดแสง (รับอิทธิพลจากละครเวที) มีชื่อเรียกว่า ‘motivated lighting’ ครั้งแรกเรื่อง The Warrens of Virginia (1915),

ความสนใจยุคแรกๆของ DeMille มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Sex สะท้อนเสียดสีสังคม มีลายเซ็นที่พบเจอบ่อยๆ อาทิ หญิงสาวอาบน้ำ, ฮาเร็ม, สิงโตกระโจนเข้าโจมตี ฯ อาทิ Old Wives for New (1918), Don’t Change Your Husband (1919),  Male and Female (1919), Why Change Your Wife? (1920) ฯ

ครั้งหนึ่งได้จัดการประกวด ค้นหาแนวคิดน่าสนใจ สำหรับนำไปสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป, ผู้ชนะคือ F.C. Nelson จาก Lansing, Michigan ที่มีแนวคิดสั้นๆแต่ได้ใจความว่า

“You cannot break the Ten Commandments—they will break you.”

ร่วมงานกับ Jeanie MacPherson (1886 – 1946) นักแสดง/นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ไม่แน่ใจว่าเธอเป็นผู้หญิงคนแรกของ Hollywood เลยหรือเปล่าที่กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Tarantula (1913) หลังจากเคยเป็นนักแสดงขาประจำของ D. W. Griffith ได้มีโอกาสพบเจอกับ DeMille บอกปัดที่จะเป็นนักแสดง ขอเป็นนักเขียนบท ร่วมงานกันถึง 30 เรื่อง จนสิ้นสุดทศวรรษ 30s

เกร็ด: MacPherson คือหนึ่งใน Mistress ของ DeMille แต่ก็ไม่เคยประเจิดประเจ้อจนสังคมเกิดข้อครหานินทา

ทั้ง MacPherson และ DeMille หลังจากเลือกแนวคิดนี้ ตัดสินใจแบ่งเรื่องราวออกเป็นสองส่วน คือ
– ครึ่งแรกนำเสนอเรื่องราวอิงตามคัมภีร์ไบเบิล
– และครึ่งหลังเหตุการณ์ในยุคสมัยปัจจุบัน จะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นกับคนที่หันหลังให้กับบัญญัติ 10 ประการ

จะว่าไปหนังเงียบก่อนหน้านี้ที่มีการนำเสนอ เรื่องราวคนละยุคสมัย มีความสัมพันธ์แต่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน คือ Masterpiece ที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเรื่อง Intolerance (1916) ของผู้กำกับ D. W. Griffith มีถึง 4 เรื่องราวซึ่งมากเกินไป

“He told four stories under the guise of one, and consequently all four failed. Because that is a formula that so far as I know has never been successful on the stage. One-act plays can be successful but not … the same theme running through four separate stories as one play.”

– DeMille แสดงทัศนะต่อความล้มเหลวของ Intolerance (1916)

DeMille ไม่เคยมีความพยายามสร้างภาพยนตร์ให้มีโครงสร้างสลับซับซ้อนเท่ากับหนังของ Griffith แต่กับ The Ten Commandments น่าจะถือว่ามีความใกล้เคียงที่สุดแล้ว ลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อเหลือเพียง 2 เรื่อง 2 ช่วงเวลา และไม่ตัดสลับไปมา ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงหนังได้มากกว่า

ครึ่งแรกนำเสนอความทุกข์ยากของชาวยิวในอิยิปต์ ปกครองโดย Ramesses II หรือ The Magnificent (รับบทโดย Charles De Roche) ได้รับการปลดแอกโดย Moses หรือ The Lawgiver (รับบทโดย Theodore Roberts) นำทางพาหลบหนีข้าม Red Sea และต่อมาได้รับบัญญัติ 10 ประการจากพระเจ้า สลักไว้บนแผ่นหิน 2 แผ่น ที่ภูเขาซีนาย เพื่อนำมาเผยแพร่ให้กับมนุษย์ทั้งหลาย

ครึ่งหลังนำเสนอเรื่องราวของสี่ตัวละครหลักในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการแสดงทัศนะแนวคิดของคนทั้ง 4 ต่อบัญญัติ 10 ประการ ประกอบด้วย
– แม่ Mrs. Martha McTavish (รับบทโดย Edythe Chapman) เป็นคนหัวโบราณคร่ำครึ ยึดมั่นในบัญญัติ 10 ประกาศแบบเคร่งครัด ไม่โอนอ่อนผ่อนปรน คาดหวังกึ่งบังคับให้ลูกๆประพฤติแสดงออกแบบตนเอง
– หญิงสาว Mary Leigh (รับบทโดย Leatrice Joy) เธอไม่เคยอ่านบัญญัติ 10 ประการ ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่เป็นคนมีจิตใจดีงาม เข้ากับคนอื่นได้ง่าย (และไม่เคยกระทำอะไรที่ขัดกับบัญญัติ 10 ประการ)
– Dan McTavish (รับบทโดย Rod La Rocque) รับรู้ถึงบัญญัติ 10 ประการอย่างถ่องแท้ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับการมีตัวตนของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง
– John McTavish (รับบทโดย Richard Dix) รับรู้ถึงบัญญัติ 10 ประการ มีความโอนอ่อนผ่อนปรน ยึดถือเชื่อมั่นปฏิบัติตาม แต่ไม่เคร่งครัดจริงจังมากแบบแม่

ความที่ผู้คนยุคสมัยใหม่ไม่ค่อยสนใจ พูดคุย เชื่อถือเรื่องศาสนากันแล้ว มองว่าเป็นสิ่งไกลตัว ไร้สาระ จับต้องไม่ได้ แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งพวกนี้ใกล้ตัวอย่างยิ่ง สำหรับบัญญัติ 10 ประการมีถึง 4 ข้อที่สอดคล้องกับศีล 5 ถืือเป็นหลักปฎิบัติในการใช้ชีวิต คำแนะนำสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สังคมใดยึดถือปฏิบัติย่อมเจริญรุ่งเรือง น่าอยู่อาศัย ผู้คนเปี่ยมด้วยมิตรไมตรี ตรงกันข้ามกับสังคมที่มีแต่ผู้แหกกฎ ย่อมมีแต่ทรุดโทรมเสื่อมลง เต็มด้วยภยันตราย และอาจถึงขั้นล่มสลายต่อไปในอนาคต

ด้วยสเกลขนาดใหญ่ และใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ค่อนข้างมาก จำต้องมีตากล้องถึง 4 คน ประกอบด้วย Bert Glennon, Peverel Marley, Archibald Stout, J.F. Westerberg

มีหลายช็อตในช่วงอพยพที่ใช้ two-strip Technicolor แต่อย่าไปคาดหวังจะได้เห็นภาพสีสันสวยสดใสอะไร เต็มที่ก็แค่รูปช็อตนี้แหละ และมีแค่บางฉบับเท่านั้นที่จะพบเจอเห็นสี

DiMille ได้สร้างฉากอิยิปต์โบราณ ตั้งชื่อให้ว่า City of the Pharaohs ขึ้นที่ Guadalupe Dunes, Santa Maria Valley ริมชายฝั่งทางตอนเหนือของ Los Angeles ประกอบด้วยรูปปั้น Pharaoh Ramses ความสูง 35 ฟุต (11 เมตร), Sphinxes หนัก 5 ตัน, กำแพงความสูง 120 ฟุต ยาว 750 ฟุต, ทีมงานก่อสร้าง 1,600 คน ประกอบด้วย ช่างไม้ ช่างทาสี พ่อครัว ฯ และนักแสดงตัวประกอบ ทหาร/ทาส รวมแล้วอีก 2,500 คน ตั้งแคมป์กว่า 1,000 หลัง และสัตว์อีก 5,000 ตัว (ลิง ม้า แกะ อูฐ ฯ) ใช้เวลาก่อสร้าง-ถ่ายทำ อาศัยอยู่ 3 เดือน หมดงบไปน่าจะน้อยกว่า $1 ล้านเหรียญ เสร็จสิ้นแล้วใช้ระเบิดทำลาย เศษซากทั้งหลายถูกลมทะเลทรายพัดกลบทับถม

เกร็ด: ว่ากันว่า City of the Pharaohs แห่งนี้ ขนาดใหญ่กว่ากรุง Babylon ของ Intolerance (1916) เสียอีกนะ ทุนสร้าง/ปริมาณนักแสดง ก็เยอะกว่ามากๆด้วย

แต่กาลเวลาก็ยังไม่นานพอให้สิ่งก่อสร้างทั้งหลายเหล่านี้ แหลกสลายกลายเป็นผุยผง เมื่อ 1983 ผู้กำกับสารคดี Peter Brosnan ได้ไปขุดสำรวจพบเจอซากปรักหักพังที่ยังคงหลงเหลืออยู่ พยายามระดมทุนทำให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ตั้งชื่อว่า Lost City of DeMille

“If 1,000 years from now, archaeologists happen to dig beneath the sands of Guadalupe, I hope that they will not rush into print with the amazing news that Egyptian civilization extended all the way to the Pacific Coast of North America.”

– Cecil B. DiMille

ไฮไลท์ของหนังช่วงเดินข้าม Red Sea ใช้การ Reverse Shot ถ่ายขณะปล่อยน้ำลงอ่าง แล้วฉายย้อนกลับ ซ้อนกับภาพถ่าย Long Shot ฝูงคนคนเดินบนหาด Seal Beach, California ส่วนสองฟากฝั่งน้ำ นั่นคือ Jell-O ขนมเยลลี่เจลาติน (ตอนแรกผมนึกว่า Cool Gel) ใช้ไฟรนให้เกิดการเคลื่อนไหวยุบยับ เหมือนเหมือนกระแสน้ำไหลวน

ผู้ชมสมัยนั้นเห็นแค่นี้ก็อึ้งทึ่ง ลุกขึ้นยืนปรบมือ ส่งเสียงเกรียวกราว ช่างมีความสวยงามสมจริงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกว่าจะมีหนังเรื่องต่อไปสามารถก้าวผ่านฉากข้าม Red Sea ก็โน่นเลย The Ten Commandments (1956) ของผู้กำกับ Cecil B. DeMille อีกนะแหละ

สำหรับฉากยุคสมัยปัจจุบัน ถ่ายทำที่ San Francisco และโบสถ์ Cathedral ถ่ายทำที่ Sts. Peter and Paul Church (ขณะนั้นกำลังสร้างอยู่) ตั้งอยู่ Filbert Street บริเวณใกล้ๆ Washington Square

ตัดต่อโดย Anne Bauchens นักตัดต่อหญิงคนแรกของอเมริกา และยังคว้า Oscar: Best Film Editing จากเรื่อง North West Mounted Police (1940) [เป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้ารางวัลสาขานี้ด้วย] เข้าชิงอีก 3 ครั้งเรื่อง Cleopatra (1934), The Greatest Show on Earth (1952), The Ten Commandments (1956)

DeMille เป็นนักตัดต่อที่แย่ แต่หลังจากได้รู้จักร่วมงานกับ Bauchens เรื่อง Carmen (1915) ผลงานของเขาก็ดีวันดีขึ้น จนเป็นนักตัดต่อคนเดียวที่ไว้ใจเชื่อมือ มีผลงานร่วมกันถึง 41 เรื่อง

เกร็ด: แน่นอนว่า Bauchens คืออีกหนึ่ง Mistress ของ DeMille

เราสามารถมองว่าครึ่งแรกของหนัง เรื่องราวของ Moses เป็นจากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลของแม่ Mrs. Martha McTavish ก็ยังได้ ส่วนครึ่งหลังก็ใช้มุมมองตัวละครทั้งสี่ แม่, Mary, John และ Dan ไม่เน้นเจาะจงใครเป็นพิเศษ

สำหรับ Title Card ครึ่งแรกเหมือนจะอ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิลมาเปะๆเลย (แถม reference ให้พร้อม) ขณะที่ครึ่งหลังจะลดคำบรรยายเรื่องราวลง เน้นบทสนทนาระหว่างตัวละครมากขึ้น

DeMille นำเงินมาจากไหนเยอะแยะ ทั้งๆที่ทุนสร้างออกโดย Paramount Pictures สูงถึง $1,000,000 เหรียญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ถ่ายทำไปสักพักเงินหมดคลัง โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท Amadeo Giannini หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bank of America สมทบทุนให้อีก $500,000 เหรียญ รวมแล้วเกือบๆ $1.5 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังทุนสร้างสูงสุดในโลกขณะนั้นโดยปริยาย [จริงๆถือว่าพอๆกับ When Knighthood Was in Flower (1922) ที่ก็ใช้ทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ เช่นกัน] ก่อนถูกแซงโดย Ben-Hur: A Tale of the Christ (1925) เจ้าของสถิติหนังเงียบทุนสร้างสูงสุดตลอดกาลที่ $4 ล้านเหรียญ

“This spectacle will show people that we have an obligation to the public and that motion pictures can be more than mere stories […] The reason for the spectacle in ‘The Ten Commandments’ is to bring force to the picture […] The idea of the spectacle as it is presented is worth a million.”

ความสำเร็จที่หนังเรื่องนี้ได้รับ $4.2 ล้านเหรียญ ได้สร้างค่านิยมความเชื่อที่ว่า ภาพยนตร์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิ้ล ยิ่งใหญ่ยิ่งดี ‘bigger is better, and no cost is too great.’

ส่วนตัวค่อนข้างชอบครึ่งแรกของหนังนะ แต่เพราะความผิดหวังที่มันจบเร็วเกินไป ทำให้ฝืนทนดูครึ่งหลังไม่สนุกเท่าไหร่ ทั้งๆที่ก็แฝงเนื้อหาสาระสะท้อนใจความสำคัญได้อย่างลงตัว แต่มันหมดใจไปแล้วจะให้ทำยังไงได้

ผมไม่ได้มีอคติอะไรกับบัญญัติ 10 ประการ ตรงกันข้ามมองว่าเป็นสิ่งคล้ายกับศีล 5 คือคำแนะนำ หลักปฏิบัติใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม อันจะก่อให้เกิดความร่มเย็นสงบสุข, ซึ่งใจความสำคัญจากครึ่งหลังของหนัง เป็นการชวนเชื่อให้ชาวคริสเตียนเกิดความตระหนัก รับรู้ถึงความเป็นไปได้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการแหกบัญญัตินี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว คนเราเมื่อคิดกระทำความชั่วไว้ สักวันมันต้องหวนกลับคืนสนอง

“You cannot break the Ten Commandments—they will break you.”

รู้สึกแนวคิดนี้ตรงกับคำสอนของชาวพุทธเรา “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง”

ในยุคหนังเงียบ ผู้กำกับได้สานต่อภาพยนตร์แนวศาสนาอีก 2 เรื่อง กลายเป็น DeMille’s Biblical Trilogy ประกอบด้วย The King of Kings (1927) และ The Sign of the Cross (1932)

และสำหรับเรื่องที่น่าจะเรียกได้ว่าคือ Swan Song ของ DeMille คือการสร้างใหม่ The Ten Commandments (1956) ภาพยนตร์ในกำกับเรื่องสุดท้ายในชีวิต และคือ Masterpiece

แนะนำกับชาวคริสต์ทั้งหลาย ที่ชื่นชอบแนว Biblical ในยุคสมัยหนังเงียบ ยิ่งใหญ่อลังการ และแฟนๆผู้กำกับ Cecil B. DeMille ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg กับความคอรัปชั่นเห็นแก่ตัวของตัวละคร

TAGLINE | “The Ten Commandments ฉบับหนังเงียบของ Cecil B. DeMille รับชมครึ่งแรกจบแล้วเลิกดูเลยก็ได้นะ”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: