The Tenant

The Tenant (1976) French : Roman Polański ♥♥♥♥

รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมเกิดความหวาดหวั่นระแวงหอพักที่อาศัยอยู่ทันที ต้องระวังไม่ส่งเสียงดังมากไป หรือพาเพื่อนมาเฮฮาสังสรรค์ปาร์ตี้บ่อยๆ ไม่เช่นนั้นวันดีคืนดีห้องข้างๆ หรือเจ้าของหอ อาจหยิบปืนลูกซองมาส่องกระบาลโดยไม่รู้ตัว, หนังสัญชาติฝรั่งเศสพูดภาษาอังกฤษเรื่องนี้ Roman Polański เล่นเองกำกับเอง ผู้คนรอบข้าง/ทุกสิ่งอย่างเป็นศัตรูของเขา สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสียภรรยาท้องแก่จากเหตุการณ์ฆาตกรรมของ Manson Family

กับเหตุการณ์การสูญเสียครั้งรุนแรงในชีวิต อันกลายเป็นปม Trauma ฝังจิตฝังใจ สำหรับบุคคลที่เป็นระดับศิลปิน มักจะใช้ผลงานเพื่อบำบัดคลายความทุกข์โศกเศร้านั้นออกมา, ผู้กำกับ Roman Polański นับตั้งแต่ Macbeth (1971), Chinatown (1974) มาจนถึง The Tenant (1976) และปิดท้ายด้วย Tess (1979) เรียกได้ว่าทศวรรษแห่งการสูญเสียภรรยาสุดที่รัก Sharon Tate กับลูกน้อยที่ยังไม่ทันลืมตาดูโลก ถูกฆาตกรรมโหดโดย Manson Family เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1969 ผลงานของเขาล้วนสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว เจ็บปวดรวดร้าวออกมา

สำหรับ The Tenant ผมขอเรียกว่าช่วงเวลาแห่งความหวาดระแวง (Paranoid) ทั้งๆที่มันก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นหรอก แต่บรรยากาศ สถานที่ ผู้คนรอบข้าง ได้กระทำให้เหมือนมีบางสิ่งอย่างแอบแฝงซ่อนเร้นราวกับคลื่นใต้น้ำ สะสมมากเข้าจนปั่นป่วนล้นเอ่อ เริ่มเกิดภาพหลอน จินตนาการคิดไปเองว่ากำลังมีเรื่องราวเกิดขึ้นกับตัวเอง

ไม่แน่ใจว่า Polański เป็นผู้กล่าวไว้หรือเปล่า มีภาพยนตร์ 3 เรื่อง ‘Apartment Trilogy’ ดำเนินในอพาร์ทเมนต์/ห้องเช่าเป็นหลัก ตัวละครมีพฤติกรรมแปลกแยก ออกห่างจากสังคม พบเจอสิ่งหลอกหลอน เหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว จนสุดท้ายควบคุมตัวเองไม่ได้ แทบกลายเป็นบ้า สติแตก (Emotional Breakdown) ประกอบด้วย
– Repulsion (1965)
– Rosemary’s Baby (1968)
– The Tenant (1976)

Rajmund Roman Thierry Polański (เกิดปี 1933) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Polish-French เกิดที่กรุง Paris มีเชื้อสาย Jews ปี 1936 ครอบครัวเดินทางกลับกรุง Kraków ประเทศ Poland อาศัยอยู่ที่นั่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อถูก Nazi เข้ายึดครอง เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ Holocaust, หลังสงครามโลกผ่านพ้น สถานที่เดียวจะนำพาเขาหลีกหนีความทุกข์ทรมานเจ็บปวดรวดร้าวทางใจคือโรงภาพยนตร์

“Movies were becoming an absolute obsession with me. I was enthralled by everything connected with the cinema—not just the movies themselves but the aura that surrounded them.”

ก็อย่างที่บอกไป ภาพยนตร์คือสิ่งเดียวที่ทำให้ Polański ยังสามารถทนมีชีวิตอยู่ต่อได้ หลังจากพบเจอเหตุการณ์อันโหดร้ายเศร้าสลดในชีวิต

ช่วงทศวรรษ 50s เข้าเรียนที่ National Film School in Łódź เลือกสาขาการแสดง รุ่นเดียวกับผู้กำกับดัง Andrzej Wajda มีผลงานเรื่องแรกเป็นหนังสั้น Rower (1955) [น่าจะสูญหายไปแล้ว], หนังยาวเรื่องแรก Knife in the Water (1962), เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติกับ Repulsion (1965), ถูกชักชวนมาทำหนัง Hollywood ได้สองเรื่อง Rosemary’s Baby (1968) กับ Chinatown (1974) แล้วไม่ได้กลับไปอเมริกาอีกเลย เพราะคดีพรากผู้เยาว์

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Le Locataire chimérique (1964) ของนักเขียน/นักวาดการ์ตูน Roland Topor (1938-1997) สัญชาติ Polish-Jewish (ขณะนั้นอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส) ที่มีความชื่นชอบแนว Satire, Surrealism ในลัทธิ Panic Movement,

ครอบครัวของ Topor อพยพหนีจาก Poland มาอาศัยหลบซ่อนอยู่แถวๆเมือง Savoy ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงขณะ Nazi แผ่อิทธิพลไปทั่วยุโรป คงไม่แปลกอะไรกับนิยายชิ้นเอกเรื่องนี้ มีลักษณะเหมือนกึ่งๆอัตชีวประวัติของผู้เขียน ขณะอาศัยอยู่อย่างหวาดระแวงในอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง เพื่อนบ้านต่างมีความเห็นแก่ตัวสนแต่ตนเอง กลัวการจะถูกขับไล่ออกจากห้องเช่า และกลัวที่ความลับจะถูกเปิดเผย (ว่าเป็นชาวยิว)

เกร็ด: Roland Topor คือผู้รับบท Renfield ในหนังเรื่อง Nosferatu the Vampyre (1979) ของผู้กำกับ Werner Herzog

เมื่อปี 1965 โปรดิวเซอร์ David De Silva ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์จาก Topor มูลค่า $15,000 เหรียญ ตั้งใจให้ Polański เป็นผู้กำกับ แต่ดันโทรหาเขาตอนประมาณเที่ยงคืน คงกำลังง่วงงัวเงียเลยไม่ได้มีความใคร่สนใจนัก ภายหลังตอบปัดปฏิเสธไป, De Silva เลยขายลิขสิทธิ์ให้ Universal Pictures เพราะนักเขียน Edward Albee มีความสนใจต้องการดัดแปลงบท คาดหวังให้ Jack Clayton เป็นผู้กำกับ แต่ล่วงมานานหลายปียังไม่เป็นรูปเป็นร่าง Paramount Picture เลยขอซื้อลิขสิทธิ์ต่อ แล้วอยู่ดีๆก็ได้ Polański เกิดความสนใจในนิยายเรื่องนี้ (คาดว่าคงเพิ่งมีโอกาสได้อ่าน 10 ปีให้หลังแน่ๆ)

ร่วมงานกับ Gérard Brach (1927-2006) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส เพื่อนรักขาประจำของ Polański ตั้งแต่ Repulsion (1965) ร่วมกันดัดแปลงบทภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างตรงต่อนิยายค่อนข้างมาก แต่จะไม่เปะๆถึงรายละเอียดแบบเดียวกับ Rosemary’s Baby (1968)

หนุ่มขี้อาย Trelkovsky (รับบทโดย Roman Polański) ได้เช่าอพาร์ทเมนต์เก่าๆกลางกรุง Paris ที่เจ้าของห้องคนก่อน Simone Choule กระโดดตึกลงมาจากหน้าต่าง อาการโคม่าภายหลังเสียชีวิต, หลังจากได้พบเจอเพื่อนของเธอ Stella (รับบทโดย Isabelle Adjani) ชายหนุ่มเกิดความหมกมุ่นใคร่สงสัย ต้องการค้นหาเหตุผล ทำไมหญิงสาวถึงคิดฆ่าตัวตาย? ก่อนได้ข้อสรุปอันเกิดจากความหวาดระแวงว่า เจ้าของหอ Mr. Zy (รับบทโดย Melvyn Douglas), เพื่อนบ้าน Madame Dioz (รับบทโดย Jo Van Fleet), หรือแม้แต่ผู้เฝ้าประตู (รับบทโดย Shelley Winters) ต่างสมรู้ร่วมคิด วางแผนการณ์อะไรบางอย่างที่ชั่วร้ายกาจ

Polański ไม่ใช่นักแสดงที่มีความสามารถ ฝีมือเก่งกาจประการใด แต่เหตุผลที่ต้องเล่นรับบทเอง สามารถเข้าใจได้คือ ตัวตนสภาพจิตใจของเขา ณ ขณะนั้น มีสถานภาพทางอารมณ์ความรู้สึก เทียบเท่าเหมือนกับ Trelkovsky ไม่ผิดเพี้ยน

Trelkovsky เป็นผู้อพยพสัญชาติ Polish (Polish Immigrant) มีความสุภาพอ่อนโยน ขี้เกรงใจ ไม่ต้องการสร้างความวุ่นวายให้ผู้อื่น แต่กลับเป็นคนเริ่มต้นปัญหาเหล่านั้น คิดเล็กคิดน้อยจนกลายเป็นวิตกจริต หวาดระแวง และถึงขั้นเสียสติ

เห็นว่าหนังถ่ายทำ 2 ภาษาไปพร้อมๆกัน อังกฤษและฝรั่งเศส กล่าวคือขณะนั้นคล่องปากภาษาไหนก็พูดภาษานั้นแล้วใช้การพากย์เสียงอีกภาษาทับแก้เอาภายหลัง สังเกตสำเนียงของ Polański ดูก็ได้ เขาเป็นชาว Polish สำเนียงอังกฤษเลยแปร่งๆ ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่แต่ก็พอฟังรู้เรื่อง (เหมือนว่า Polański จะพูดฝรั่งเศสชัดกว่าอังกฤษนะครับ)

Isabelle Yasmina Adjani (เกิดปี 1955) นักแสดง/นักร้องสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris พูดได้ทั้งฝรั่งเศสและเยอรมัน เป็นนักแสดงสมัครเล่นตั้งแต่อายุ 12 เข้าเรียนการแสดงที่ University of Vincennes ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Le Petit Bougnat (1970)
– เข้าชิง Oscar: Best Actress 2 ครั้งจาก The Story of Adèle H. (1975), Camille Claudel (1988)
– คว้า Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่อง Possession (1981) กับ Quartet (1981) [ได้ปีเดียวกัน]
– คว้า Silver Bear for Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Berlin เรื่อง Camille Claudel (1988)
– เจ้าของสถิติคว้า César Award: Best Actress ถึง 5 เรื่อง จาก Possession (1981), One Deadly Summer (1983), Camille Claudel (1988), La Reine Margot (1994), Skirt Day (2009)

Stella ผู้หญิงเหงาๆ คาดว่าเป็นคู่ขากับ Simone Choule แต่ผู้ชายก็เอาได้ (Bisexual) เมื่อรับรู้ว่าคนรักฆ่าตัวตายก็เศร้าโศกเสียใจ หมดอาลัยต้องการที่พึ่งพิง บังเอิญได้พบกับ Trelkovsky หนุ่มหล่อสุภาพ ราวกับขั้วไฟฟ้าแค่จ้องหน้าก็สปาร์คกันติด แต่เหมือนว่า …

ผมจดจำ Adjani ได้จาก Nosferatu the Vampyre (1979) เรื่องนั้นเธอน่ารักมากเลย มาเป็นสาวแว่นเรื่องนี้ทำเอาใจละลาย เห็นภาพตอนสูงวัยแล้วทำใจไม่ได้เท่าไหร่, การแสดงโดดเด่นที่สายตา มีความยั่วเย้ายวน ลีลาท่าทางก็แบบว่ารันจวน หนุ่มๆเห็นคงหลั่งคลั่ง เว้นแต่ Trelkovsky ก็พอเข้าใจได้อยู่ว่าทำไม

แถมให้กับ Shelley Winters (1920 – 2006) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกาที่มีผลงานดังอย่าง A Double Life (1947), A Place in the Sun (1951), The Night of the Hunter (1955), The Diary of Anne Frank (1959), Lolita (1962) ฯ เอาจริงๆผมจดจำเธอไม่ได้ ภาพลักษณ์ตอนสูงวัยเปลี่ยนไปมาก อ้วนพุ้งลงพุง รับบท The Concierge คนเฝ้าประตู แต่กับการแสดงการันตีว่าแฟนๆน่าจะจดจำได้อย่างแน่นอน ปากร้าย ไม่แคร์สื่อ ถึงจะแก่แล้วแต่ยังเปรี้ยวแรงได้ใจ

ถ่ายภาพโดย Sven Nykvist ตากล้องสัญชาติ Swedish ขาประจำของ Ingmar Bergman, แค่ Opening Credit เคลื่อนกล้อง Long Take ถ่ายอพาร์ทเมนต์ด้านนอกโดยรอบ ก็มีความน่าตื่นตาตื่นใจมากๆแล้ว หวนนึกถึง Rear Window (1954) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ขึ้นมาโดยทันที ใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า Louma Crane เห็นว่าเป็น prototype ต้นแบบรุ่นแรกๆ ที่สามารถเคลื่อนไหววนรอบทิศ 360 องศาได้

ฉากที่ผมชอบมากๆอยู่ช่วงท้าย ขณะกล้องเคลื่อนไหลไปโดยรอบอพาร์ทเม้นท์เช่นกัน แต่คราวนี้ผู้เช่าห้องพักต่างๆ ออกมาปูเสื่อนั่งรอชม ราวกับโรงละครโอเปร่า ปรบมือเกรียวกราวต้อนรับนักแสดง Trelkovsky กำลังจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย, นี่เป็นฉากภาพหลอนที่เกิดขึ้นในหัวของตัวละครเท่านั้น ทำเอาผมขนหัวลุกเลยละ

จุดเด่นงานภาพของหนังคือการเล่นกับเงา แทบทุกฉากต้องมีความมืดมิด สิ่งที่มองไม่เห็นหลบซ่อนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในห้องของ Trelkovsky ที่จะค่อยๆมืดมิดขึ้นเรื่อยๆ นี่มีนัยยะถึงความลับต่างๆ เสียงกระซิบกระซาบ จากที่ตัวละครครุ่นคิด จินตนาการ หวาดระแวงถึง และยังสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก ภายในจิตใจของผู้กำกับ Polański ออกมาด้วย

มีช็อตพิศวงหนึ่ง ทีแรกนึกว่าตัวเองดูหนังดึกจนตาลาย แต่เมื่อย้อนกลับไปดูปรากฎว่าเป็นภาพซ้อนจริงๆ ไม่แน่ใจว่าจากการใช้เลนส์หรือ filler ซ้อนกัน เป็นการแสดงนัยยะถึงความผิดปกติของตัวละคร ที่มองเห็นอะไรผิดเพี้ยน ซ้อนทับกันไปหมด ชวนให้งุนงงสับสน เกิดเป็นความวิปริตในจิตใจ

ตัดต่อโดย Françoise Bonnot นักตัดต่อสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานดังๆอาทิ Z (1969), The Simple Past (1977), Missing (1982), Mad City (1997), Frida (2002), Across the Universe (2007)

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Trelkovsky จากสิ่งที่มองเห็นเป็นหลัก โดยหลายครั้งช่วงครึ่งหลัง จะแทรกใส่ภาพหลอน/ครุ่นคิดไปเองเข้ามา ซึ่งมักตัดสลับให้เห็นด้วยว่า ภาพจริงๆที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร นี่เป็นการชี้ชักนำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจว่า ปัญหาของตัวละครนี้เกิดจากความผิดปกติ หวาดระแวงของเขาเอง

นี่ถือเป็นเอกลักษณ์ สไตล์เด่นของผู้กำกับ Polański สังเกตพบใน Apartment Trilogy ที่สามารถชี้ชักนำผู้ชมให้เกิดความคิดคล้อยตาม เข้าใจในสิ่งที่ตัวละครพบเห็น อารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป ราวกับว่าผู้กำกับต้องการอธิบายอะไรบางอย่างให้กับผู้ชมได้รับทราบ แสดงสถานะของตัวเอง โลกเป็นอย่างไรในสายตาของฉันตอนนี้

เพลงประกอบโดย Philippe Sarde นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส ที่จะร่วมงานกับ Polański อีกสองเรื่องคือ Tess (1979) กับ Pirates (1986) ผลงานอื่นๆ อาทิ The Things of Life (1969), Barocco (1976), The Judge and the Assassin (1976), A Simple Story (1978) ฯ

Sarde ตัดสินใจเลือกเครื่องดนตรี Glass Harmonica หลังจากเห็น Polański ในร้านอาหาร พยายามใช้นิ้วแตะขอบแก้วแล้วหมุนไปมาให้เกิดเสียง

เกร็ด: Glass Harmonica/Glass Armonica เป็นเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วยแก้วขนาดต่างๆหมุนไปมา เอามือแตะแล้วเกิดเสียงหวิวๆ หลอนๆ คิดค้นสร้างขึ้นโดย Benjamin Franklin เมื่อปี 1761, นำคลิปบทเพลง Dance of the Sugar Plum Fairy หนึ่งใน The Nutcracker Suite (1892) ของคีตกวีสัญชาติรัสเซีย Pyotr Ilyich Tchaikovsky มาให้รับฟังกัน จำแนกแยกเสียง Glass Harmonica กันออกหรือเปล่าเอ่ย

บทเพลง Cour D’Immeuble (แปลว่า The Apartment) ในฉาก Opening Credit มานุ่มๆแต่ชวนให้ขนลุกขนพอง กล้องเคลื่อนไหวราวกับเพื่อค้นหาบางสิ่งอย่างที่แอบซ่อนเร้นอยู่ในอพาร์ทเมนต์แห่งนี้ เสียง Glass Harmonica สร้างสัมผัสที่วาบหวิว เหมือนอะไรบางอย่างที่แตกร้าว ตามด้วยเสียงคาลิเน็ตให้สัมผัสที่ลุ่มลึก ซับซ้อน ฉงนสงสัย

ขณะที่ Conspiration (Conspiracy, สมรู้ร่วมคิด) รับอิทธิพลจาก Krzysztof Penderecki คีตกวีสัญชาติ Polish มาเต็มๆเลยละ เสียงกรีดกรายของเครื่องสาย สร้างความปั่นป่วนคลุ้มคลั่งให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ เหมือนบางสิ่งอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา จ้องจะทำร้ายให้บาดเจ็บแสนสาหัส

จริงๆมีบทเพลงหนึ่งที่ใครๆต่างพยายามหา เป็น Jazz Variation บรรเลงวนซ้ำๆในฉาก Party Scene ใกล้เคียงสุดที่ผมหาได้คือ L’Origine Du Monde (แปลว่า The origin of the world) ขับร้องโดย Arnaud Fleurent-Didier ค่อนข้างเพราะอยู่เลยนำมาฝาก

ผมเพิ่งรู้จัก Philippe Sarde ก็จากหนังเรื่องนี้ ต้องบอกเลยว่าเป็นนักแต่งเพลงที่มีความน่าสนใจมากๆ แถมความคิดสร้างสรรค์ รสนิยม สไตล์ ถือว่าครบเครื่อง จัดจ้าน ในฝรั่งเศสน่าจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ Michel Legrand หรือ Georges Delerue เลยละ

The Tenant แปลว่า ผู้เช่า, ผู้อยู่อาศัย, ลูกบ้าน มักหมายถึงผู้เช่าห้องหอพัก บ้าน โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ คอนโด ฯ ทั้งรายวัน/รายเดือน เซ็นสัญญาจ่ายเงินก็พร้อมเข้าอยู่, เราสามารถเปรียบหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ได้เสมือนกับโลกใบหนึ่ง ผู้คนหลากหลายอาศัยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน บางครั้งพึ่งพา บางครั้งขัดแย้ง แต่ส่วนใหญ่ก็ตัวใครตัวมัน ไม่ค่อยได้สนใจอะไรกันอยู่แล้ว

ต้องถือเป็นความโชคร้ายของ Trelkovsky สังคมในหอพักที่เขาอาศัยอยู่นี้ เต็มไปด้วยผู้เช่าที่มีความเห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจ พบเจอสิ่งไม่ชอบพอก็แสดงความฉุนเฉียวก้าวร้าวออกมาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อใครสักคนทำตัวเหมือนแกะดำ จึงรวมหัวกันปฏิเสธไม่ยอมรับบุคคลที่ทำตามกฎกติกาของสังคมไม่ได้

อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ต้องถือว่ามีความเข้มงวดอย่างมาก กฎกติกาเคร่งครัด ถือปฏิบัติจริงจัง อาจเพราะผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย ทำให้มีความละเอียดอ่อนเรื่องมากในการใช้ชีวิตพอสมควร นี่เป็นสิ่งที่ผู้มาอยู่ใหม่ต้องพยายามศึกษาปรับตัว ถ้าต้องการอยู่ร่วมสังคมเดียวของพวกเขาได้ (ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องออกไปเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว)

เราอาจมองว่าเป็นความผิดของ Trelkovsky ที่ไม่เคารพกฎกติกาของสังคมก็ยังได้ แต่นั่นเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากกลายเป็น (การสวมใส่ชุดของ Simone Choule มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการแปรสภาพ จากชายเป็นหญิง, จาก Trelkovsky เป็น Choule, จากคนนอกกลายเป็นส่วนหนึ่ง ให้ได้รับการยอมรับจากผู้เช่าคนอื่น) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความเข้มงวดที่มีมากเกินไป ทำอะไรนิดหน่อยก็ถูกตำหนิติเตียนต่อว่า ครุ่นคิดมากพาลให้เครียดจนเสียสติ เกิดเป็นภาพหลอน หวาดระแวง ขั้นต่อไปจึงเกิดทฤษฎีสมคมคิด ปฏิเสธทุกสิ่งอย่างรอบข้าง และสุดท้ายอดรนทนต่อไปไม่ได้จึงต้องการกระโดดตึกฆ่าตัวตาย

โดยปกติทั่วไป มนุษย์เราไม่จิตหลุดง่ายขนาดนั้นนะครับ แต่ตัวละคร Trelkovsky หรือผู้กำกับ Polański ใช้การเปรียบเทียบเรื่องราว อพาร์ทเม้นต์ในหนังเรื่องนี้กับโลกทั้งใบ ที่ทำให้ตัวเขาเกิดความหวาดหวั่นระแวง วิตกจริตกลัว ราวกับว่าจะมีใครสักคนวางแผนมาทำร้ายตัวเอง, จริงอยู่ที่โลกใบนี้อะไรๆมันก็เกิดขึ้นได้ แต่เหตุการณ์อย่างฆาตกรรมโหด Manson Family ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับใครคนหนึ่งได้ทุกวัน กระนั้นคงไม่แปลกอะไรสำหรับคนที่ประสบพบเจอเรื่องราวนี้เข้ากับตัว ไม่ให้มันกลายเป็นปม Trauma เกิดความหวาดระแวงต่อโลกก็กระไรอยู่

สำหรับ Sexual Repression มันไม่ใช่ว่า Trelkovsky หรือ Polański เป็นเกย์นะครับ (Polański มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการลวนลามเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี หลังจากหนังเรื่องนี้ เมื่อปี 1977 เพราะผู้พิพากษาขู่ว่าจะจำคุก 50 ปี ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานความผิดใดๆยืนยันได้ เป็นเหตุให้เขาต้องหลบหนีออกจากอเมริกา ไม่เคยหวนกลับคืนไปอีก) แต่เป็นความเก็บกดอัดอั้นอันเกิดจากไม่ได้แสดงออก/ระบายออก ความต้องการทางเพศในทางที่เหมาะสม
– สำหรับ Trelkovsky เพราะความขี้อาย ดูแล้วคงทำให้ไม่ได้แอ้มสาวนัก ทำให้พออยู่สองต่อสองกับ Shelly ในห้องของเธอ ก็กินเหล้าซะจนสิ้นสติสมประดี นกเขาไม่ขัน,
– ส่วน Polański เพราะภรรยาท้องแก่ถูกฆาตกรรมเสียชีวิต นี่น่าจะเป็นปมใหญ่ๆเลยในชีวิตที่ทำให้เขาหวาดกลัวการมี Sex แต่งงาน และมีลูกกับใครอีก (แต่ Polański ก็ไม่สามารถหักห้ามใจความต้องการของตัวเองได้ แต่งงานครั้งใหม่กับ Emmanuelle Seigner เมื่อปี 1989 อายุห่างกัน 33 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน)

รับชมหนังของ Polański มาหลายเรื่อง ทำให้ผมเริ่มรู้สึก’เห็นใจ’เขาขึ้นเรื่อยๆ เพราะชีวิตพบเจอแต่เหตุการณ์ร้ายๆ แบบไม่มีใครคาดคิดถึง คงโทษได้แต่โชคชะตาฟ้าดินกำหนดมาให้ชดใช้กรรมแบบนั้น ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ก็ได้สะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจตัวเองออกมา ผู้ชมที่รับได้ก็พบว่ามันมีความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส ยากนักที่คนธรรมดาทั่วไปจะอดทนรับไหว แต่ Polański ทำได้ นั่นเป็นสิ่งน่าทึ่ง น่าประทับใจ น่ายกย่องไม่น้อย

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ทั่วโลก $5.1 ล้านเหรียญ เหมือนว่าจะไม่คืนทุน แถมคำวิจารณ์ในช่วงออกฉายค่อนข้างคละเคล้าทั้งดีเลว แต่หลังจากนั้นได้กระแส Cult ตามมา ยอดขาย VHS, CD, DVD เทน้ำเทท่า ได้รับคำวิจารณ์ย้อนหลังที่ค่อนข้างเยี่ยมเลยละ

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก คงเพราะตัวผมเองยังคงอาศัยอยู่หอพัก/อพาร์ทเมนต์ด้วยกระมัง มันเลยเป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่ หวนระลึกถึงสมัยเรียนที่ชอบชักชวนเพื่อนๆ มากินเหล้าเฮฮาสังสรรค์ปาร์ตี้ ไม่ค่อยเกรงใจห้องข้างๆเสียเท่าไหร่ พอช่วงวัยทำงานเลยถูกกรรมตามทันอยู่ช่วงหนึ่ง ห้องข้างๆมันชอบชวนเพื่อนมากินเหล้าดูบอลตอนตี 2 – ตี 3 เช่นกัน ตอนนั้นถึงค่อยมาสำนึก เลยรับรู้เข้าใจได้ว่าสังคมของหอพัก มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องรู้จักความเกรงอกเกรงใจ สมานฉันท์ คิดถึงเขาคิดถึงเรา ถึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขสันติ

เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องโปรดของนักแสดง Bruce Campbell บอกว่า ‘Scary Movie’

แนะนำกับคอหนัง Psychological Horror เสียสติ จิตหลุด, ชื่นชอบงานภาพสวยๆของ Sven Nykvist, เพลงประกอบเพราะๆหลอนๆของ Philippe Sarde, แฟนๆผู้กำกับ Roman Polański และนักแสดง Isabelle Adjani, Shelley Winters ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะกับวัยรุ่น นักศึกษา หรือคนที่อาศัยอยู่หอพัก/อพาร์ทเม้นท์/คอนโด/ห้องแถว ฯ รับชมหนังเรื่องนี้ให้เกิดสำนึกดี ความเกรงใจต่อห้องข้างๆบ้างนะครับ

จัดเรต 15+ กับความหวาดระแวง คิดเพ้อ และการฆ่าตัวตาย

TAGLINE | “Roman Polański อาศัยอยู่ตัวคนเดียวในห้องเช่า The Tenant แต่สามารถทำให้คนทั้งโลกเข้าใจเหตุผล ความรู้สึกของเขาได้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: