The Terminal

The Terminal (2004) hollywood : Steven Spielberg ♥♥♥

ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ หรือคนสองสามคน แก้ปัญหาออกง่ายนิดเดียว แค่ทุกฝ่ายต่างเปิดใจ ยินยอมรับฟังซึ่งกันและกัน แต่ชีวิตจริงกลับไม่เคยง่ายขนาดนั้น อันเป็นเหตุทำให้ Tom Hank ต้องตกค้างคาอยู่ในสนามบิน ทางออกสู่ New York City ใกล้แค่เอื้อม แต่จิตสำนึกและมโนธรรมทำให้ไม่สามารถย่างเท้าออกไปได้

คุ้นๆว่าผมได้รับชมหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ ด้วยความที่สมัยนั้นเป็นแฟนตัวยงของทั้ง Steven Spielberg และ Tom Hank การได้มาร่วมงานกันทั้งทีมีหรือจะพลาดได้, จดจำได้แม่นยำ ดูจบกลับออกมาด้วยความรู้สึกมึนๆ หนังก็มีแนวคิดเจ๋งดีนะ แต่รู้สึกมันช้าๆอืดอาดน่าเบื่อไปเกินเสียหน่อย

ทีแรกผมไม่ได้มีความตั้งใจจะกลับมารับชม/เขียนถึง The Terminal แม้แต่น้อย แต่หลังจากได้ดูหนังเรื่อง Playtime (1967) ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Jacques Tati และรับรู้ว่า Spielberg มีแรงบันดาลใจสร้างฉากสนามบินขนาดใหญ่จากหนังเรื่องนั้น ก็เกิดความสนใจยิ่งยวด มันจะเทียบชั้นกันได้หรือเปล่านะ อยากรู้จริงๆ

แล้วผมก็กุมขมับในความผิดหวัง ไม่ใช่ว่า The Terminal เป็นหนังห่วยหรือกระไร แต่มิอาจเทียบชั้นใกล้เคียงกับ Playtime แม้แต่น้อย เรียกว่าคนละระดับจักรวาล, หนังเรื่องนี้มีความยึดติดเป็น Hollywood มากเกินไป ถ้าเพียง Spielberg กล้าๆที่จะนำเอาจิตวิญญาณของ Playtime มาใส่สักนิดนึงนะ มันจะดีขึ้นกว่านี้อีกมากๆเลย แต่เมื่อเลือกนำเสนอแบบนี้ก็ได้แค่ทอดถอนหายใจ

หนังได้แรงบันดาลใจจาก Mehran Karimi Nasseri ผู้ลี้ภัยสัญชาติ Iranian ที่อาศัยอยู่บริเวณ Terminal One ในสนามบิน Charles de Gaulle, France ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 1988 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2006 ด้วยสาเหตุที่ว่าเอกสารลี้ภัยเข้าเมืองสูญหาย ทำให้กลายเป็นคนไม่มีสัญชาติ (Stateless) ไปไหนไม่ได้ก็เลยอาศัยตกค้างอยู่ในสนามบิน

ข่าวของ Nasseri เห็นว่าก็ดังอยู่ในฝรั่งเศส ซึ่งระหว่างนั้นประเทศ Belgium เคยยื่นข้อเสนอมอบสัญชาติ/ที่พักอาศัยให้ แต่เจ้าตัวกลับไม่เอา ไม่ยอมเซ็นเอกสารใดๆทั้งนั้น (จริงๆคือเรื่องมาก เพราะต้องการอยากได้สัญชาติอังกฤษมากกว่า)

ปี 2003, สตูดิโอ DreamWorks ของ Spielberg เห็นว่าจ่ายเงิน $250,000 เพื่อเป็นค่าขนมลิขสิทธิ์ให้กับ Nasseri แต่กลับไม่ได้ให้เครดิตเขาแม้แต่น้อย ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ได้ออกมาโวยวายอะไร (คงเป็นในข้อสัญญาพอดี) ซึ่งตอนปี 2004 ขณะที่หนังออกฉาย เขาก็ได้ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ The Terminal Man วางขายพร้อมๆกัน

การอาศัยอยู่ใน Terminal One ของ Nasseri ได้สิ้นสุดลงจากการต้องเข้าโรงพยาบาล (ไม่มีระบุโรคที่เจ็บป่วย) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2006 ซึ่งพี่แกก็พยายามหาทางหนีกลับไปสนามบินแต่ไร้ผล ปัจจุบันอาศัยอยู่ Emmaus Charity สถานที่พักพิงของคนจนและไร้บ้านในกรุง Paris น่าจะอยู่อย่างสบายเลยทีเดียว

หลังเสร็จจาก Catch Me If You Can (2002) ผู้กำกับ Steven Spielberg มอบหมายหน้าที่พัฒนาบทภาพยนตร์ให้ Sacha Gervasi กับ Jeff Nathanson คนหลังเพิ่งร่วมงานกันจาก Catch Me If You Can (2002), โดยได้สร้างประเทศสมมติ Krakozhia ไม่มีการระบุตำแหน่งในแผนที่แน่นอน แต่รู้ว่าแตกออกมาจากสหภาพโซเวียต (จึงพูดรัสเซียได้) ซึ่งขณะนั้นกำลังเกิดสงครามจราจลยึดอำนาจภายใน (แต่ภาพเหตุการณ์จราจลในโทรทัศน์ มาจาก Republic of Macedonia) เป็นเหตุให้ Passport ของพลเมือง Krakozhian ถูกระงับห้ามเข้าในหลายๆประเทศ

เกร็ด: John Williams ได้ประพันธ์เพลงชาติ Krakozhia ให้ด้วยนะครับ

Viktor Navorski นักท่องเที่ยวสัญชาติ Krakozhia เดินทางถึงสนามบินนานาชาติ New York’s John F. Kennedy International Airport แต่ขณะนั้นสงครามกลางเมืองในประเทศบ้านเกิดได้ปะทุขึ้น เป็นเหตุให้หลายประเทศออกคำสั่งไม่อนุญาติให้ผู้มีสัญชาติ Krakozhia เข้าประเทศ ทำให้ Navorski ต้องตกอยู่ในสถานการณ์กล้ำกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เดินทางกลับประเทศไม่ได้ และถูกยึด Passport เข้าประเทศอเมริกาไม่ได้เช่นกัน แต่ยังได้อนุญาติให้อาศัยอยู่ในขอบเขตของสนามบิน

รับบทโดย Tom Hank ป๊ะป๋าร่างใหญ่ใจดี นักวิจารณ์หลายคนเรียกเขาว่า Mr. America, ก่อนหน้านี้ร่วมงานกับ Spielberg มาแล้ว 2 ครั้งจาก Saving Private Ryan (1998) และ Catch Me If You Can (2002) หลังจากเรื่องนี้ก็ Bridge of Spies (2015), The Papers (2017) น่าจะเป็นนักแสดงขาประจำที่สุดแล้วของ Spielberg

ความดื้อด้านของ Navorsky ที่ต้องเข้าอเมริกาให้ได้ ผมคงไม่เฉลยว่าเพราะอะไร แต่มันคือความฝัน ไม่เชิงเป็นเป้าหมายแต่มีความสำคัญที่สุดชีวิต ภารกิจที่รอนานแค่ไหนก็รอได้ ต้องทำสำเร็จเท่านั้น, มองได้คือความซื่อและตรง เป้าหมายปลายทางมองเห็นอยู่ข้างหน้าแล้ว เลือกที่จะเดินตรงดิ่งเข้าไปหาเท่านั้น ไม่มีซิกแซกคดโค้งหลบหลีก ต่อให้ใครพยายามเกลี้ยกล่อมชักจูงชี้นำให้เลี้ยวไปทางอื่น ก็ไม่หันเหเบี่ยงเบนใดๆทั้งนั้น กระนั้นใช่ว่า Navorsky จะไม่มีจุดอ่อน เขาเลือกที่จะไม่ย่ำเดินเหยียบข้ามผู้อื่นเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง (นั่นทำให้ Navorsky ยินยอมยอมเสียสละเพื่อเพื่อนๆพวกพ้อง อย่างน้อยที่สุดให้พวกเขาที่ยังคงต้องรอคอยได้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้)

อาชีพความถนัดของ Navorsky เป็นช่างไม้ ก่อสร้าง เทปูน ฉาบผนัง ซ่อมแซม ก่อร่าง น่าจะคือสถาปนิกนักออกแบบตกแต่ง ฝีมือจัดจ้านไม่ธรรมดาเสียเลย, นี่แสดงถึงอุปนิสัยของการชอบสร้างความสัมพันธ์ ช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำอกน้ำใจ ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นที่รักของใครๆ

Hanks สร้างตัวละคร Viktor Navorsky ได้แรงบันดาลใจจากพ่อตา Allan Wilson ที่เป็นผู้อพยพสัญชาติ Bulgarian สามารถพูดได้หลายภาษา อาทิ Russian, Turkish, Polish, Greek, Italian นิดหน่อย, French ก็นิดหน่อยเช่นกัน, ความป่ำๆเป๋อๆของตัวละคร ไม่ต่างจาก Forrest Gump (1994) มากนัก ส่วนเวลาอยู่ตัวคนเดียว ก็เหมือน Cast Away (2000) และเวลาดีใจเว่อๆ You’ve Got Mail (1998) ฯ ถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ Tom Hanks เคยเรียงดูหนังของเขาไล่มา ก็จะพบเห็นความคล้ายอยู่ในแทบจะทุกหนแห่ง

Catherine Zeta-Jones (เกิดปี 1969) นักแสดงสัญชาติ Welsh ไม่รู้เพราะ Chicago (2002) ผลงานที่ทำให้เธอได้ Oscar: Best Supporting Actress หรือเปล่า ที่ทำให้ Spielberg สนใจร่วมงานกับเธอ (น่าจะเป็นไปได้ เพราะเรื่องนั้นตัวละครของเธอก็ผจญกับรักสามเศร้า ไม่ต่างกับเรื่องนี้)

Amelia Warren หญิงสาวพนักงานต้อนรับบทเครื่องบิน หรือที่เรียกว่า แอร์โฮสเตส (air hostess) ความสวยของเธอมาพร้อมกับความความเย่อหยิ่งทะนงตน เร่งรีบรวดเร็ว (อ่านหนังสือเน้นปริมาณไม่เน้นคุณภาพ) และมีความต้องการทางเพศสูงสืบเนื่องจากความเครียดในการทำงาน, การได้พบกับ Navorsky ทำให้เธอเรียนรู้ที่จะช้าลง หยุดที่จะครุ่นคิดพิจารณาสำรวจความต้องการของตนเอง

เกร็ด: Cannelloni อาหารโปรดของ Warren คือ อาหารประเภทพาสต้าชนิดหนึ่งที่ยัดไส้พาสต้าด้วยชีสหรือเนื้อ ราดซอสข้างบนแล้วนำไปอบ

แอร์โฮสเตส เป็นอาชีพที่ต้องเดินทางไปเรื่อยๆ ไม่ที่จะปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งหนใดกับใคร นี่ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้ชายมักเป็นในแนว one-night/มือที่สาม/ถือปิ่นโตแต่ไม่ผูกมัด ไม่สามารถยุติลงเอยกับใครได้ (มันไม่ใช่ค่านิยมนะครับที่ว่า คนเป็นแอร์มักต้องเป็นชู้/จีบกัปตัน/มีแฟนหัวเมืองละคน อะไรแบบนั้น หนังเรื่องนี้เป็นการเปรียบเทียบเปรย แต่ก็ไม่รู้ไฉนมักกลับเป็นเช่นนี้จริงได้ตลอด)

การแสดงของ Zeta-Jones ไม่ได้มีอะไรให้น่าพูดถึงมากนัก เธอดูไม่สวยเท่าไหร่กับหนังเรื่องนี้ แต่หุ่นบั้นท้ายหนามันคงเร้ารันจวลใจ เหมาะกับตัวละครของ Hanks เข้าไซส์กันได้พอดีกระมัง (ก็เลยชอบคอกันได้)

Stanley Tucci (เกิดปี 1960) นักแสดงสุดแต๋วสัญชาติอเมริกา ที่ต้องเรียกแบบนี้เพราะภาพลักษณ์ภายนอกของพี่แกมาดนิ่งเนี๋ยบ แต่ลึกๆในจิตใจสามารถรับบทร้ายลึกโหดเหี้ยม หรือแจ๋วสะดิ้งพริ้ง โดยเฉพาะกับเรื่อง The Devil Wears Prada (2006) สาวแตกแบบไม่มีใครคาดถึง

รับบท Frank Dixon ผู้อำนวยการศุลกากรของสนามบินแห่งนี้ มีความเข้มงวดสัตย์จริง ต้องถือว่าเป็นผู้เล่นตามเกมได้อย่างมีสไตล์ คือยึดถือหลักความถูกต้องตามกฎหมาย ไม่พยายามเล่นนอกเกมตุกติก (จริงๆคือโคตรตุกติก แต่เป็นในกรอบที่ดิ้นได้) ถือเป็นตัวละครที่เข้าคู่ตรงกันข้ามกับ Navorsky และด้วยความเจ็บแค้นที่ถูกทำให้ขายหน้า ถ้าฉันตายนายก็ต้องถูกลากลงนรกไปด้วย

ระหว่าง Navorsky กับ Dixon ทั้งคู่เป็นคนซื่อสัตย์เล่นตามเกมเหมือนกัน มีอะไรหลายๆเหมือนกันเช่น ชอบตกปลา ฯ แต่ที่แตกต่างก็คือการดิ้นได้มุมมองต่อโลก, Navorsky เป็นคนโอนเอนผ่อนตาม สนุกสนานไม่เคร่งเครียด ทำให้สามารถเข้ากับคนอื่นได้ง่าย ผิดกับ Dixon ที่เคร่งเครียดจริงจังอยู่ในกรอบมากเกินไป ทำให้ไม่ค่อยยืดหยุ่น อยู่ด้วยแล้วไม่สนุก ลูกน้องจะไม่ชอบคุยเล่นนอกงานเป็นมิตรด้วยเท่าไหร่

Dixon เคยถูกหัวหน้าสอนให้ดู Navorsky เป็นบทเรียนในความโอนอ่อนผ่อนตาม ประณีประณอม ยินยอมช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง แต่ผมเชื่อว่าเขาคงไม่จดจำนำไปปรับปรุงตัวแน่นอน แม้ฉากสุดท้ายจะเรียกได้ว่าถูกหักหลังทรยศจากลูกน้องทุกคน แต่บทบาทหน้าที่ของหัวหน้า ก็จำต้องเข้มเครียดจริงจังแบบนี้ ในสนามบินตรวจคนเข้าประเทศ จะไปโอนอ่อนผ่อนให้อภัยใครง่ายๆได้อย่างไร

ถ่ายภาพโดย Janusz Kamiński ช่างภาพ/ผู้กำกับสัญชาติ Polish ขาประจำที่ได้ร่วมงานกับ Spielberg มาตั้งแต่ Schindler’s List (1993), Saving Private Ryan (1998), Catch Me If You Can (2002) จนถึงปัจจุบันล่าสุดก็ The BFG (2016), Ready Player One (2018)

ด้วยความที่หนังทั้งเรื่องดำเนินไปในสนามบิน Spielberg ออกตระเวนไปทั่วอเมริกา เพื่อค้นหาสนามบินที่จะอนุญาตให้เขาใช้ถ่ายทำได้จริง ปรากฎว่าเพราะความยุ่งยากวุ่นวายเกินไปจึงไม่มีที่ไหนยินยอมตอบรับ จนสุดท้ายตัดสินใจสร้างขึ้นเองเลยดีกว่า ได้ที่โรงเก็บเครื่องบิน LA/Palmdale Regional Airport ส่วนหนึ่งของ U.S. Air Force Plant 42, ทุกสิ่งอย่างที่เราเห็นในหนังคือของจริงทั้งหมด อาหาร พนักงาน ร้าค้า หรือแม้แต่ลิฟท์/บันไดเลื่อน (ขอซื้อต่อจากห้างสรรพสินค้าที่เพิ่งล้มละลาย) ซึ่งบริษัททั้งหลายเหล่านั้นก็ยินดีเป็นสปอนเซอร์ให้กับหนัง อาทิ Brookstone (ร้านที่ Viktor ไปสมัครงาน), La Perla, Discovery Channel, Hudson News, Burger King, Starbucks, ร้านขายหนังสือ Borders, ร้านขายเสื้อผ้า Hugo Boss, Enrique ขอ Dolores แต่งงานที่ Sbarro ฯ

ท้าให้ลองกับคนยังไม่เคยรับชมหนัง จะสามารถดูรู้ได้หรือเปล่า ว่าสนามบินแห่งนี้คือฉากที่สร้างขึ้นมา ไม่ได้สถานที่จริง!

กับฉากที่มีความใหญ่อลังการเช่นนี้ ผมจินตนาการแบบ Playtime (1967) คือถ้าหนังไม่โฟกัสที่เรื่องราวใดหนึ่งโดยเฉพาะ ปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินไป มีหลากหลายเรื่องราวเกิดขึ้นคู่ขนานพร้อมเพียง ผู้ชมอยากจะมองสังเกตตรงไหนอะไรก็ตามสะดวก แบบนั้นหนังเรื่องนี้จะมีความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบมาก … แต่นะ ก็นี่หนังของ Spielberg ผู้บุกเบิกการเล่าเรื่องสไตล์ New Hollywood เลยไม่แปลกที่จะต้องโฟกัสเรื่องราวอะไรทีละหนึ่ง เพื่อให้ผู้ชมติดตามรับรู้เข้าใจอะไรง่าย

ตัดต่อโดย Michael Kahn ขาประจำที่ร่วมงานกันมากว่า 30-40 ปี มองหน้าแทบรู้ใจ, กับหนังที่ไม่มีพล็อตหลักดำเนินไป เต็มไปด้วยพล็อตรองที่มีมากมาย Kahn กลับเลือกที่จะเล่าทีละเรื่องจนถึงจุดๆหนึ่งค่อยเปลี่ยนไปเล่าเรื่องอื่น (แล้วไปรวบบทสรุปของพล็อตรอง สุมๆรวมช่วงท้ายต่อเนื่องทีเดียว) นี่ทำให้ภาพรวมของหนังแทบจะย่ำอยู่กับที่ตลอดเวลา, จริงอยู่ The Terminal เป็นหนังเกี่ยวกับการรอคอย เป้าหมายที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ ทำให้เกิดอารมณ์เคว้งคว้าล่องลอยไร้จุดหมาย หรือน่าเบื่อหน่ายนั้นถูกต้องแล้ว แต่มันก็เหลืออดเกินกว่าผู้ชมส่วนใหญ่จะทนได้

คือหนังมันไม่มีเรื่องราวอย่างอื่นนอกจากกรอบที่นำเสนอมาให้ดูน่าสนใจเลยนะครับ, ผมพยายามมองหา (ด้วยความเพ้อ) กับช็อตมุมกว้างแบบรูปที่แคปมาด้านบน เผื่อจะมีเรื่องราวอะไรของตัวประกอบอื่นที่แอบซ่อนอยู่ น่าสนใจให้ติดตามแบบ Playtime ไหม … ปรากฎว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น แค่ผู้คนสัญจรเดินมาผ่านให้เกิดความวุ่นวาย เท่านั้นเอง มันน่าผิดหวังจริงๆนะ

เพลงประกอบโดย John Williams นี่คือสิ่งชะโลมใจให้ผมได้เยอะเลย กับบทเพลง The Tale of Viktor Navorski เสียง Clarinet ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังยืนอยู่เฉยๆ ท่ามกลางฝูงชนที่เดินเคลื่อนผ่านไป (เหมือน Tom Hanks ที่ยืนนิ่งอยู่ในภาพ)/ หรือกำลังเหม่อมองก้อนเมฆาล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าอย่างเรื่อยเปื่อย วันนี้อากาศดีจังจนไม่อยากทำอะไรเลย, บทเพลงนี้ถือว่าแทนชีวิตของตัวละคร Viktor Navorski ได้ลงตัวสมบูรณ์แบบมากๆ

บทเพลง Killer Joe ประพันธ์และขับร้องโดย Benny Golson นี่คือบทเพลงที่ Navorski เฝ้ารอคอยเลยละครับ คือเป้าหมายปลายทางสุดท้าย เหตุผลที่เขาต้องเข้าอเมริกาให้ได้ เมื่อมาถึงจุดนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรต้องรีบร้อน ฟังบทเพลง Jazz นี้ เหมือนการได้ยกภูเขาทั้งลูกออกจากอก ความสุขที่อิ่มเอิบล้น มันช่างคุ้มค่ากับการรอคอยที่แสนนาน ต่อจากนี้ก็ถึงเวลากลับบ้านเสียที

 

แถมให้กับเพลงชาติ Krakozhia (แค่นาทีแรกของเพลงนะครับ) ต้องเป็นคีตกวีระดับตำนานเท่านั้นถึงได้รับโอกาสประพันธ์ทำนองเพลงชาติ John Williams ก็คนหนึ่งละ

Amelia: I’ve been waiting my whole life, I just don’t know what the hell for.

ใจความของหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์, การรอคอย, เผชิญหน้า และเป้าหมาย/ความฝัน ทุกตัวละครในหนังต่างมีความต้องการอะไรบางอย่าง แต่ยังคงต้องรอเพราะวันที่สำเร็จ/สิ่งที่ต้องการ ยังมาไม่ถึง
– Viktor Navorski รอคอยที่จะออกสู่ผืนแผ่นดินอเมริกา ทำตามความฝัน/เป้าหมายที่ต้องการ
– Amelia Warren รอคอยที่จะพบผู้ชายดีๆ ไม่ต้องเสียใจกับการเป็นมือที่สาม
– Frank Dixon รอคอยให้ Navorski ทำผิดกฎ, รอคอยวันที่ตนเองจะได้ตำแหน่งผู้อำนวยการสนามบิน

นี่รวมถึงตัวละครอื่น พล็อตรองของหนังด้วยนะครับ อาทิ
– Enrique Cruz ที่นับวันรอขอ Dolores Torres แต่งงาน
– Dolores Torres แทบทุกวันจะรอข่าวดีจาก Viktor Navorski อยากรู้ใจจะขาดว่าหนุ่มคนนั้นคือใคร
– Gupta Rajan ที่ทิ้งบ้านทิ้งครอบครัว มีชีวิตไปวันๆรอความตายให้มาถึง, ปู่แกยังชอบนั่งรอให้คนเดินผ่านทางเปียกลื่นล้ม สมน้ำหน้า
ฯลฯ

เกร็ด: การยกมือ Vulcan Salute ของ Zoë Saldana สงสัยทำให้เธอได้เล่น Star Trek (2009), ส่วน Diego Luna ก็ได้เล่น Rouge One (2016) สมใจ

The Terminal ก็คือสถานที่ ศูนย์รวมแห่งการรอคอย พบเจอและพรัดพรากจาก สมหวังและเศร้าเสียใจ สุขและทุกข์ ก็เหมือนกับชีวิตมนุษย์ที่เกิดขึ้น ดำเนินไป และรอวันดับสูญ, แต่การมีชีวิตที่เอาแต่เฝ้ารอคอย อยู่เฉยๆล่องลอย มันจะไปมีประโยชน์อะไร สองเท้ามีให้ก้าวเดิน สองมือมีให้กระทำ และสมองมีไว้ให้ครุ่นคิด เราควรทำอะไรสักอย่างในชีวิตนะ ที่ไม่ใช่แค่การนั่งเฝ้ารอความตายอยู่เฉยๆ นั่นมันเรียกว่าเสียชาติเกิดแล้ว

เช่นกันกับความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ หรือคนสองสามคน เพราะการเลือกที่จะไม่เผชิญหน้า เอาแต่รอคอย ต่อสู้ลับหลังหรือเก็บมาคิดแต่ฝ่ายเดียว นี่ไม่ทำให้ใครเป็นสุขเลยนะครับ, วิธีการแก้ปัญหานั้นแสนง่ายคือหันหน้าคุยกัน ปรับความเข้าใจ ผ่อนปรนยอมรับข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย แต่ในความจริงมันยากมากๆ ก็ดูอย่าง Navorski กับ Dixon ที่ไม่มีใครยอมใคร ในบางสถานการณ์คนกลาง (อย่าง Navorski ต่อ Enrique Cruz กับ Dolores Torres) ก็มีประโยชน์ หรือบางครั้งการแก้ปัญหาแบบ Gupta Rajan คือยินยอมรับความพ่ายแพ้ของตนเอง มันอาจคือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ใช่ว่าจะใช้ได้ทุกกรณี

เรื่องราวของ Viktor Navorski ได้กลายเป็นตำนาน วีรบุรุษของแทบทุกคนในสนามบิน (ยกเว้น Dixon) เพราะการที่เขามีความฝัน/เป้าหมาย อีกทั้งกล้าลุกขึ้นต่อสู้ อดทนต่อการกดขี่ข่มเหง รอคอยวันเวลาเพื่อให้ความต้องการได้ลุสมดั่งใจ, มันอาจไม่ได้มีอะไรมากกว่าแค่การย่างเท้าเดินออกนอกสนามบิน แต่ทุกคนพร้อมใจส่งเสียงเชียร์ นี่คือการแสดงความยินดีต่อบุคคลที่สามารถบรรลุ กระทำตามอุดมการณ์ความฝันความตั้งใจสำเร็จได้ มีคนไม่มากนักที่ทำได้ มันเลยเป็นความยิ่งใหญ่ที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเหนือสิ่งอื่นใด

ภาพรวมของหนังไม่ได้รับเสียงตอบรับดีเท่าไหร่จากผู้ชมและนักวิจารณ์ ด้วยทุนสร้าง $60 ล้านเหรียญ ยังถือว่าชื่อของ Spielberg และ Hanks ยังทำเงินได้คุ้มทุน ในอเมริการายรับ $77.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $219.4 ล้านเหรียญ

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้นะ แม้จะมีเพียงบทเพลงของ John Williams เท่านั้นที่ประทับใจ แต่ต้องบอกว่าเกินพอที่จะทำให้ผมฟิน เต็มอิ่ม ล่องลอยไปกับหนัง

แนะนำกับคอหนังดราม่า แฝงข้อคิดการใช้ชีวิต ฝันเป็นแอร์โฮสเตส หรือทำงานในสนามบิน, แฟนหนัง Steven Spielberg นักแสดง Tom Hanks และต้องการฟังเพลงเพราะๆของ John Williams ไม่ควรพลาด

ถ้าคุณชอบหนังแนวคล้ายๆกันนี้ แนะนำ Up in the Air (2009) รู้สึกว่าทำได้ดีกว่าเรื่องนี้เยอะเลย

จัดเรต pg กับความหมิ่นเหม่ มักมาก และเห็นแก่ตัวของบางตัวละคร

TAGLINE | “The Terminal ของ Steven Spielberg ทำให้ Tom Hanks รอคอยจนเมื่อย แต่ยังมีเพลงของ John Williams พักใจไว้”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: