The Thief of Bagdad

The Thief of Bagdad (1924) hollywood : Raoul Walsh ♥♥♥♥

ดัดแปลงจากนิทานอาหรับราตรี สู่ภาพยนตร์แฟนตาซีสุดอลังการทุนสร้างสูงสุดแห่งปี นำแสดงโดย Douglas Fairbanks รับบท Ahmed หัวขโมยจอมเจ้าเล่ห์ ที่ตกหลุมรักแรกพบธิดาสุดสวยของเจ้าเมือง Bagdad ปลอมตัวเป็นเจ้าชายขอเธอแต่งงาน และพิสูจน์ตัวเองด้วยการนำสิ่งของมีค่าที่สุดในโลกมามอบให้

เกร็ด: โปสเตอร์ของหนังเรื่องนี้ ติดอันดับ 9 จากการจัดอันดับ The 25 Best Movie Posters Ever โดยนิตยสาร Premiere

ในยุคสมัยหนังเงียบ ลองจินตนาการตามนะครับ พรมบินได้, เชือกวิเศษ, ม้าบินได้, สู้สัตว์ประหลาดตัวขนาดใหญ่ ฯ สร้างขึ้น/ถ่ายทำได้ยังไง? ยิ่งคิดยิ่งฉงน เพราะสมัยนั้นมีข้อจำกัดมากมาย บางอย่างผมก็ไม่รู้ว่าทำได้ยังไง อาทิ เชือกวิเศษที่ตึง/หย่อน ได้ตามคำสั่งแม้ในแนวดิ่ง ลองพิจารณาภาพที่ผมแทรกมาให้ละเอียด จะเห็นว่ามันน่าทึ่งจริงๆ

Douglas Fairbanks (1883 – 1939) นักแสดง โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับชาวอเมริกา มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคหนังเงียบกับผลงานภาพยนตร์ Swashbuckler อาทิ The Mark of Zorro (1920), The Three Musketeers (1921), Robin Hood (1922), The Thief of Bagdad (1924)

เกร็ด: Swashbuckling คือ sub-genre ของ Action ที่ตัวร้ายมักเป็น anti-hero พวกทำนิสัยแย่ๆ พกดาบเป็นอาวุธ (มีการฟันดาบ) หนังดังแนวนี้ในสมัยปัจจุบัน อาทิ แฟนไชร์ Pirates of the Caribbean ฯ

Fairbanks คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอ United Artists, เป็นสมาชิกรุ่นแรกของ Academy of Motion Picture Arts and Sciences (AMPAS) และเป็นเจ้าภาพ (Host) การมอบรางวัล Oscars ครั้งแรกในปี 1929, นักแสดงชื่อดัง Clark Gable ตั้งสมญาณามชื่อเล่นให้ชายผู้นี้ว่า ‘The King of Hollywood’

นี่เป็นภาพประวัติศาสตร์ ด้านหน้า D.W. Griffith, Mary Pickford, Charlie Chaplin (นั่งอยู่), Douglas Fairbanks ขณะลงนามร่วมก่อตั้ง United Artists เมื่อปี 1919 ด้านหลังเป็นทนาย Lawyers Albert Banzhaf (ด้านซ้าย) กับ Dennis F. O’Brien (ด้านขวา)

แต่เพราะการมาของยุคหนังพูด ทำให้ชื่อเสียงความสำเร็จของ Fairbanks ค่อยๆเลือนหายไป ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเขาคือ The Private Life of Don Juan (1934) ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Attack) ตอนอายุ 56 ปี

The Thief of Bagdad เป็นความต้องการสร้างภาพยนตร์แนว Epic ครั้งแรกของ Fairbanks หลังจากประสบความสำเร็จมานับไม่ถ้วนกับหนังแนว Swashbuckler (เรื่องนี้ก็ถือว่ายังเป็น Swashbuckler อยู่นะครับ) ร่วมงานกับ Raoul Walsh ผู้กำกับ/นักแสดง ชาวอเมริกัน ที่รับบทเป็น John Wilkes Booth ใน The Birth of a Nation (1915) และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ D. W. Griffith ในด้วย, มีผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกคือ Regeneration (1915) ที่ถึงเป็นเรื่องราวชีวประวัติ แต่อาจเป็นหนังแนว Gangster เรื่องแรกของโลก

Walsh เป็นผู้กำกับที่มีผลงานตั้งแต่หนังเงียบยุคแรกๆ เปลี่ยนผ่านมายุคหนังพูดก็สามารถปรับตัวรอดได้ แม้ทั้งชีวิตจะไม่เคยได้รางวัลอะไร แต่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง AMPAS (Oscar) ผลงานที่คุณอาจรู้จัก อาทิ The Big Trail (1930) นำแสดงโดย John Wayne, The Roaring Twenties (1939)** นำแสดงโดย James Cagney กับ Humphrey Bogart, High Sierra (1941) นำแสดงโดย Ida Lupino กับ Humphrey Bogart, White Heat (1949) นำแสดงโดย James Cagney กับ Edmond O’Brien

** The Roaring Twenties (1939) เป็นหนังที่นิตยสาร Empire จัดอันดับ ’20 Greatest Gangster Movies You’ve Never Seen’ โดยเรื่องนี้ติดอันดับ 1 เลยนะครับ

Douglas Fairbanks รับบทเป็น Ahmed หัวขโมยแห่งแบกแดด (ปัจจุบันคือประเทศอิรัก) มีความคล่องแคล่วว่องไวปราดเปรียว ไหวพริบเฉลียวฉลาด แม้มีนิสัยกะล่อนปลิ้นปล้อนไม่ถือว่าเป็นคนดีนัก แต่จิตใจเต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมแสวงหาความถูกต้อง, ตอนที่ตกหลุมรักเจ้าหญิงแห่งกรุงแบกแดด เขาสามารถลักพาตัวเธอไปอยู่ด้วยกันเลยก็ได้แต่ไม่ทำ เลือกที่จะเดินทางยาก พิสูจน์ตัวเองว่าควรค่ากับหญิงงามในปฐพี

การเคลื่อนไหวของ Fairbanks ต้องยกย่องพี่แกเลยว่ามีความคล่องตัวสูงมากๆ ราวกับนักกายกรรม (กระโดดเด้งดึ๋งไปมาได้อย่างเหลือเชื่อ) การต่อสู้ ฉากแอ็คชั่นในสมัยนั้น สามารถมองเปรียบได้กับการเต้นที่ต้องมีการซักซ้อมเตรียมการมาเป็นอย่างดี, ใบหน้าของพี่แก ผมรู้สึกกวนประสาทดีแท้ แต่มีความน่ารักน่าชัง สาวๆสมัยนั้นคงหลงใหลคลั่งไคล้เป็นแน่

Julanne Johnston รับบทเจ้าหญิงไร้ชื่อแห่งกรุงแบกแดด เป็นคนเฉลียวฉลาด เพ้อฝัน เชื่อในโชคชะตาและยึดมั่นในความต้องการของตน, นางเอกสมัยหนังเงียบมักเป็นแบบนี้ ไม่ค่อยมีบทอะไร นอกจากรอให้พระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย (เรื่องนี้พระเอกขี่ทั้งม้าขาว และพรมบินได้) ตอนจบก็ …

ตัวร้าย Sojin Kamiyama (ชาวญี่ปุ่น) รับบท Cham Shang เจ้าชายแห่งมองโกล และ Snitz Edwards (ชาว Austria-Hungary) มือขวาผู้สมรู้ร่วมคิด, ภาพลักษณ์ของทั้งสองโฉดชั่ว ดูรู้ว่าเป็นผู้ร้ายตั้งแต่ปรากฏตัวครั้งแรก แผนการของเจ้าชายคือครอบครองกรุงแบกแดด ใช้การแต่งงานเป็นแค่ข้ออ้างลักลอบเอาทหารมองโกลเข้าเมืองเท่านั้น

สำหรับคนที่แย่งซีนเต็มๆคือ Anna May Wong รับบททาสชาวมองโกลที่ปลอมตัวเป็นคนรับใช้ขององค์หญิงกรุงแบกแดด, Wong คือนักแสดงลูกครึ่งสัญชาติจีนคนแรก ที่ได้กลายเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงในภาพยนตร์ Hollywood กับหนังเรื่องนี้ทำให้เธอมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ และกลายเป็นเจ้าแม่แฟชั่น ฉายาที่เธอได้รับจากนักข่าวสมัยนั้นคือ ‘Dragon Lady’, ผลงานภาพยนตร์ที่คุณอาจรู้จัก อาทิ The Toll of the Sea (1922), Daughter of the Dragon (1931), Daughter of Shanghai (1937), Shanghai Express (1932) ฯ

นักแสดงอีกคนที่แถมให้คือ Mathilde Comont (ชาวฝรั่งเศส) รับบทองค์ชายร่างใหญ่ของ Persia, จริงๆแล้ว Comont เป็นผู้หญิงนะครับ เหมือนผู้จัดการส่วนตัวจงใจปกปิดเพศของเธอไว้ (ในเครติดจะขึ้นแค่ M. Comont) เพื่อให้ได้รับบทในหนังเรื่องนี้ แม้จะเล่นเป็นผู้ชายก็เถอะ

ถ่ายภาพโดย Arthur Edeson หนึ่งในผู้ก่อตั้ง American Society of Cinematographers (ASC) ที่มีผลงานดัง อาทิ The Lost World (1925), In Old Arizona (1929) [หนังพูดเรื่องแรกที่ถ่ายนอกสตูดิโอ], All Quiet on the Western Front (1930), Casablanca (1943) ฯ

ฉากทั้งหมดในหนังออกแบบโดย William Cameron Menzies ผู้เป็น Art Direction คนแรกที่ได้ Oscar: Best Art Direction เมื่อปี 1929 และมีผลงานที่ได้รับการยกย่องสูงสุดคือ Gone with the Wind (1939), หนังมีความอลังการงานสร้างในระดับที่เรียกว่า Epic ได้เลย หมดงบประมาณไปกับค่าก่อสร้างเกิน $1 ล้านเหรียญ (ในสมัยนั้นเงินล้านถือว่าเยอะมากๆนะครับ)

พรมบินได้ จริงๆแล้วเป็นเหล็กแผ่นความหนา 3/4 นิ้ว (ปกคลุมด้วยพรม) ติดกับสายเปียโนเหล็ก 16 เส้น ห้อยลงมาจากเครน เคลื่อนผ่านฝูงชนจริงๆ, สมัยนั้นยังไม่มี Blue Screen หรือ Rear Projection นะครับ สิ่งที่เห็นในหนังคือภาพจริงๆ ลอยผ่านฝูงคน หรือสร้าง Special Effect ขึ้นมาให้ดูเสมือนจริง

สำหรับเชือกวิเศษ ผมคิดว่าคงคือเหล็กเส้นแบบแข็ง (พอเชือกตึงก็จะแข็งแบบไม่มีงอเลย) ใช้การตัดต่อแบบเนียนๆสลับระหว่างเชือกจริงๆกับเหล็ก อาจใช้เครนติดกับสายเปียโนช่วยด้วย (สายเปียโนมีขนาดเล็กเล็กมาก มองด้วยกล้องคงไม่เห็น)

สำหรับฉากใต้น้ำ กล้องสมัยก่อนมันกันน้ำไม่ได้นะครับ ดูน่าจะรู้ว่าถ่ายทำกันบนบกในสตูดิโอ กล้องถ่ายผ่านแก้ว/กระจก อะไรสักอย่างที่เห็นแล้วเบลอๆ และภาพโทนสีน้ำเงิน/เขียว ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ใต้น้ำ

เกร็ด: ฟังดูไม่น่าเชื่อ ถึงหนังจะมีความอลังการงานสร้าง แต่ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 35 วันเท่านั้น ส่วนเวลาเตรียมการ 28 สัปดาห์

ตัดต่อโดย William Nolan, หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ อย่างช่วงแรกแนะนำตัวละคร จะเน้นเล่าเรื่องของ Ahmed เป็นหลัก จากนั้นเปลี่ยนเป็นมุมมองขององค์หญิง และเมื่อเจ้าชายทุกคนรวมกันจะใช้การเกลี่ยเฉลี่ยเจ้าชายทั้งสาม (แต่จะเน้นตัวร้ายเจ้าชายมองโกลมากกว่า) และ Ahmed พอๆกัน

ช่วง 7 วันของการออกตามหาของวิเศษ มีการตัดต่อที่ชวนฉงนมาก เพราะใช้การตัดสลับระหว่าง Ahmed กับเจ้าชายทั้งสามทีละคน เหมือนมีความจงใจให้เห็นอะไรบางอย่าง

ของวิเศษ 3 ของเจ้าชายทั้งสามประกอบด้วย
– เจ้าชายเปอร์เซีย พรมวิเศษที่สามารถบินได้
– เจ้าชายอินเดีย แก้ววิเศษที่สามารถมองเห็นทุกสิ่งอย่าง
– เจ้าชายมองโกล แอปเปิ้ลวิเศษที่รักษาได้ทุกโรค

ขณะที่ Ahmed ได้สิ่งที่เหมือนกันทั้งหมดแต่วิเศษกว่า
– ม้าวิเศษที่บินได้
– ผ้าคลุมล่องหนที่ไม่มีใครมองเห็น
– กล่องเวทย์มนต์ ที่สามารถเสกทุกอย่างได้ดั่งใจ

“Without the crystal you could not have known, Without the carpet you could not have come. Without the apple you could have cured me. Apple-Crystal-Carpet. No one of them is rarest. Each had been useless without the other two.”

สิ่งของวิเศษที่สุดในโลก ไม่ใช่ม้า/พรมที่บินได้, แก้วิเศษ/ผ้าคลุมล่องเห็น ที่มองเห็นไม่เห็น, แอปเปิ้ลวิเศษ/กล่องเวทย์มนต์ ที่สามารถเสกรักษาได้ทุกอย่าง หรือที่มองเหมารวมว่าคือสิ่งของรูปธรรม แต่คือความกล้าหาญ พยายาม อดทนต่อสู้ เอาชนะอุปสรรค ที่คือสิ่งเรียกว่านามธรรม

“Happiness must be earned.”

เราจะได้รับความสุข เมื่อได้ทำสิ่งที่ควรค่ากับมัน นี่ถือเป็นใจความที่ปรากฎตั้งแต่ฉากแรกของหนัง ย้ำเตือนปรากฎให้ระลึกอีกครั้งตอนจบ ขึ้นเป็นตัวอักษรเหมือนดวงดาว (ความฝัน/ปลายทาง) และพรมที่กำลังบินผ่านดวงจันทร์ (ว่าพวกเขาไปถึงเป้าหมายแล้ว)

ของวิเศษเป็นแค่สิ่งลวงตา เหมือนที่ Ahmed เสกทหารเรือนหมื่นแสนขึ้นมา
ตัวตนแท้จริงใช่ว่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ใช้ผ้าคลุมล่องหนทำให้หายตัว)
สิ่งสำคัญที่สุดคือการออกเดินทาง เข้าใจตัวตน และค้นพบโลกใหม่ด้วยตนเอง (ตอนจบขึ้นพรมเหาะหายไป)

ความสุขเป็นสิ่งที่เราต้องแสวงหาเข้าใจด้วยตนเอง (เปรียบกับการเดินทาง) มันไม่มีทางลัดในเป้าหมายของความสุข ไม่สามารถอยู่ดีๆไปถึงหรือเสกขึ้นมาได้ บางครั้งมันหลบซ่อนอยู่ บางครั้งเห็นอยู่โต้งๆ อยู่ที่ตัวเราเองจะตั้งใจมองหาค้นพบได้หรือเปล่า, แต่ผมให้คำใบ้ว่า ความสุขมันอยู่รอบตัวเราเสมอ อยู่เฉยๆไม่ต้องทำอะไรก็มีความสุขได้ เพียงแต่คุณจะคิดเข้าใจว่า นั่นคือความสุขหรือเปล่าก็เท่านั้น

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ในความตื่นตาตื่นใจของหนัง มันอาจไม่มีอะไรแปลกใหม่ในมุมของผู้ชมสมัยใหม่ แต่มีความฉงนสงสัยเมื่อคิดย้อนไป สมัยหนังทำแบบนี้ได้อย่างไร แค่คิดก็ทึ่งแล้ว

แนะนำกับคอหนังเงียบ ชื่นชอบความอลังการงานสร้าง, เรื่องราวแนวผจญภัย แฟนตาซี พิสูจน์ตัวเอง แอ็คชั่น Swashbuckler, หลงใหลในเรื่องราวอาหรับราตรี/พันหนึ่งราตรี, และผู้ชื่นชอบ Douglas Fairbanks ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต PG กับความชั่วร้ายของเจ้าชายมองโกล

TAGLINE | “The Thief of Bagdad เป็นหนังเงียบที่มีความอลังการสุดยิ่งใหญ่ และคือ Masterpiece การแสดงของ Douglas Fairbanks”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: