The Thin Blue Line

The Thin Blue Line (1988) hollywood : Errol Morris ♥♥♥♥

ชายคนหนึ่งถูกตัดสินโทษประหารชีวิต ทั้งๆไม่เคยกระทำความผิดใดๆ ค้นพบโดยผู้กำกับ Errol Morris ออกสืบสวนสอบสวนจนได้ข้อสรุปใหม่ ตีแผ่ออกมาในรูปแบบสารคดี พร้อมจำลองภาพเหตุการณ์คดีฆาตกรรม เพลงประกอบโดย Philip Glass สร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่นให้กับระบบยุติธรรม และกลายเป็นอิทธิพลทรงคุณค่ายิ่งต่อวงการภาพยนตร์

เพราะสร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน The Thin Blue Line เลยกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมเกิดความตื่นตระหนก อกสั่นขวัญหาย หวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวต่อการ ‘จับแพะชนแกะ’ โดยไม่รู้ตัวอาจถูกผู้มีอำนาจ ‘ใส่ร้ายป้ายสี’ เกินเลยเถิดถูกตัดสินโทษประหาร ทั้งๆที่อาจไม่ได้ล่วงรับรู้เห็นอะไรด้วยเลย

ความยุติธรรมมีเฉพาะกับกฎธรรมชาติเท่านั้น! ไม่ใช่ในสังคมที่มนุษย์เป็นผู้รังสรรค์ระบบขึ้นมา เพราะแทบทั้งนั้นล้วนคือข้ออ้าง สนองผลประโยชน์บางอย่าง เต็มไปด้วยความลำเอียงเข้าข้างฝั่งฝ่ายหนึ่งใด และยุคสมัยนี้เมื่อเงินสามารถซื้อใจคน การตัดสินจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับความถูก-ผิด ข้อเท็จจริงอีกต่อไป

มนุษย์สรรค์สร้างระบบยุติธรรม เพื่อเป็นการเล่นละครตบตา อ้างว่าจักสามารถยกระดับความถูก-ผิด ในการตีความหมายสิ่งต่างๆ โดยยึดข้อกฎหมายบันทึกไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร มีประธานศาล ลูกขุน ทนายความ เปรียบได้กับกรรมการตัดสิน แพ้-ชนะไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้อง แต่คือความสามารถในการสร้างภาพ อ้างหลักฐาน นำเสนอพยาน ยกแม่น้ำทุกสาย และลีลาโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเกลาให้ใครๆ ‘เชื่อ’ และตัดสินเลือกเข้าข้างฝั่งฝ่ายตนเอง

เหตุการณ์อย่าง The Thin Blue Line เป็นสิ่งที่พบเห็นบ่อยมากๆในสังคม(โดยเฉพาะประเทศไทย) จนทำให้ใครๆหมดความเชื่อถือในระบบไปมากแล้ว แต่มันคงไม่มีวิธีการไหนดีไปกว่านี้จริงๆ เพราะถ้ามัวรอกฎแห่งธรรมชาติ คนชั่วไม่จำเป็นว่าจักได้รับกรรมตามทันชาตินี้เสมอไป


Errol Mark Morris (เกิดปี 1948) ผู้กำกับสร้างสารคดี สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hewlett, New York ครอบครัวเชื้อสาย Jews วัยเด็กชื่นชอบเล่นเชลโล่ ได้เป็นนักเรียนร่วมชั้น Philip Glass โตขึ้นเข้าเรียนประวัติศาสตร์ University of Wisconsin–Madison กลับจบออกมาเป็นเซลล์แมน พยายามหาหนทางศึกษาต่อปริญญาโท แต่ไม่พบเจอคณะที่ถูกใจ กระทั่งมีโอกาสเป็นสมาชิก Pacific Film Archive คลั่่งไคล้หนังนัวร์ ได้แรงบันดาลใจ Psycho (1960) ติดต่อขอสัมภาษณ์ฆาตกรต่อเนื่อง Ed Gein แต่ไม่สามารถหาทุนสร้างได้ จนกระทั่งได้รับคำแนะนำรู้จักผู้กำกับ Werner Herzog อาสามอบเงินให้ $2,000 เหรียญ สร้างสารคดีเรื่องแรก Gates of Heaven (1978) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที

สำหรับ The Thin Blue Line แรกเริ่มผู้กำกับ Morris ต้องการทำสารคดีเกี่ยวกับนักจิตวิทยา Dr. James Grigson ผู้ได้รับฉายา Doctor Death ขึ้นให้การกว่าร้อยคดีความ นำไปสู่ตัดสินโทษประหารชีวิตทุกคนที่ได้รับการพิจารณา เพราะตามกฎหมายรัฐ Texas นักโทษความผิดร้ายแรงจักต้องถูกจิตแพทย์ตรวจสอบ และลงความเห็นว่าถ้าได้รับการปล่อยตัวจะมีแนวโน้มก่ออาชญากรรมซ้ำอีกหรือไม่ (ซึ่งเขาลงความเห็น ‘100% Certain!’)

ซึ่งระหว่างทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล Morris บังเอิญพบเจอคดีความของ Randall Dale Adams ได้รับโทษตัดสินประหารชีวิตจากการเข่นฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ Robert W. Wood เมื่อวันที่ 28 พฤจิกายน 1976 ทั้งๆไม่เคยมีคดีอื่นติดตัว หลักฐานไม่ชัดเจน พยานให้การกลับกลอกไปมา แถมศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกายังกลับคำตัดสินศาลชั้นต้น หลงเหลือลดโทษเพียงจำคุกตลอดชีวิต

หลังจาก Morris ได้มีโอกาสพูดคุยสนทนากับ Adams สังเกตเห็นความบริสุทธิ์ใจของเขา จึงตัดสินใจออกสืบสวนสอบสวน ขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆด้วยตนเองอยู่นานหลายเดือน จนกระทั่งได้ข้อสรุปส่วนตัว ซึ่งรวมไปถึงการพบเจอฆาตกรตัวจริง David Ray Harris แทบจะรับสารภาพออกมาตรงๆด้วยซ้ำ (ขณะนั้นถูกจับ กำลังได้รับโทษประหารในอีกคดีความหนึ่ง)


ถ่ายภาพโดย Robert Chappell และ Stefan Czapsky (Edward Scissorhands, Batman Returns, Ed Wood)

วิธีการที่ผู้กำกับ Morris ใช้นำเสนอเรื่องราวดังกล่าว เริ่มต้นคือสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด (ที่อนุญาตให้ถ่ายทำ) ประกอบด้วย Randall Adams, David Harris, ผู้พิพากษา, อัยการ, ทนายความ, พยาน, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, รวมไปถึงญาติๆ เพื่อนผู้ต้องหา/กล่าวหา ซึ่งการถ่ายทำมีลักษณะพูดคุยต่อหน้ากล้อง/สบตาผู้ชม (มีคำเรียกว่า ‘the Interrotron’) และถ้าสังเกตดีๆแต่ละคนจะมีเสื้อผ้า พื้นหลัง การจัดแสง โทนสีสันที่แตกต่างออกไป

Randall Adams ขณะนั้นอยู่จองจำในห้องขัง พื้นหลังรั้วรวดหนาม แสงสว่างเลือนลาง สวมใส่ชุดสีขาว สะท้อนถึงความบริสุทธิ์ไม่ได้เป็นผู้เข่นฆาตกรรมใคร

David Harris คือบุคคลที่ผู้กำกับ Morris เชื่อว่าคือฆาตกรตัวจริง สวมใส่ชุดสีส้ม (ชุดของนักโทษ/อาชญากร) พื้นหลังสาดแสงสีส้ม และลวดลายกระเบื้องแลดูเหมือนกรงขังคุกเช่นกัน

สารคดีโดยทั่วไป เวลาพูดคุยสนทนากับใครมักปรากฏขึ้นชื่อผู้ให้สัมภาษณ์นั้นอยู่เสมอๆ แต่เรื่องนี้สังเกตว่าจะไม่มีขึ้นสักครั้งเดียว กระนั้นผู้ชมสามารถทำความเข้าใจได้จากภาพลักษณ์ พื้นหลัง และที่สำคัญคือมักมีการพูดเอ่ยถึงชื่อบุคคลดังกล่าวในซีนก่อนหน้านั้นมาแล้ว

อย่างนายคนนี้ Gus Rose ถูกเอ่ยขึ้นระหว่างการสัมภาษณ์ของ Randall Adams ว่าคือตำรวจผู้พยายามบีบบังคับเขาให้เซ็นชื่อยินยอมรับสารภาพ สวมใส่สูทอย่างเท่ห์ พื้นหลังคือแผนที่เมือง Dallas สะท้อนถึงหน้าที่การงานของชายคนนี้ (ซึ่งก็จะมีอีกสองคน Jackie Johnson และ Marshall Touchton เป็นใครลองไปสังเกตกันเอาเอง)

เธอคนนี้แรกเริ่มจะไม่มีใครบอกว่าคือใคร แต่ฟังจากเรื่องราวเล่าออกมา จึงพอรับรู้ว่าคือทนายของ Adams ชื่อรู้ภายหลังว่าคือ Edith James ซึ่งจะมีการพูดถึงทนายอีกคน Dennis White ปรากฎในช็อตถัดไป

(อ้างว่า)ประจักษ์พยานมีอยู่ 3 คน เริ่มจากสองผัวเมียภรรยา Emily Miller, สามีผิวสี R.L. Miller และอีกคนหนึ่ง Michael Randell ขับรถสวนมาพอดี

สังเกตว่า Emily Miller สวมใส่ชุดสีแดงเข้ม แต่งหน้าจัดมากๆ เรียกได้ว่าสร้างภาพให้ออกมาดูดี ขึ้นกล้อง … สะท้อนถึงตัวตนแท้จริงของเธอ เป็นพวกจอมปลอม หลอกลวง เงินมาก็พร้อมทำได้ทุกอย่าง

ทิ้งท้ายกับเพื่อนของ David Harris มีอยู่สามคนไล่เรียงกันไป Hootie Nelson, Dennis Johnson และ Floyd Jackson การสัมภาษณ์จะสบายๆ พื้นหลังธรรมชาติ สวมเสื้อมีลวดลาย สะท้อนถึงความไม่เกี่ยวเนื่อง หรือได้รับผลกระทบใดๆต่อคดีความนี้

นอกเหนือจากการสัมภาษณ์ หนังยังพยายามปะติดปะต่อเรื่องราว นำเสนอภาพจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริง ผสมภาพข่าว รูปถ่าย หนังสือพิมพ์ เพื่อให้ผู้ชมสามารถจินตนาการสิ่งเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการจัดแสง-เงา สีสันฉูดฉาด เลือกทิศทาง ระยะภาพ มุมกล้อง เคลื่อนช้า-เร็ว ซูมเข้า-ออก ปรับโฟกัส เรียกได้ว่าสไตล์ลิสต์ กลิ่นอายนัวร์

เพราะผู้กำกับ Morris ไม่ต้องการให้ผู้ชมพบเห็นใบหน้านักแสดงในจำลองสถานการณ์ ทั้งตำรวจ/ฆาตกร ปรากฎเพียงเงา ภาพลางๆ หรือปกคลุมด้วยความมืดมิดเท่านั้น (คงเพื่อให้สามารถแยกแยะเหตุการณ์จริง-เรื่องแต่ง ออกจากกันได้)

ช็อตนี้เป็นการจำลองสถานที่สอบพยาน (ได้อย่างโคตรสไตล์ลิสต์) ใช้หน้าต่างแบ่งแยกผู้ต้องสงสัย-ตำรวจ แสงสีน้ำเงินสะท้อนความกดดัน หนาวเหน็บ เย็นยะเยือก และสังเกตปฏิทันตรงใต้นาฬิกา มีรูปตำรวจและเขียนว่า ‘PRIDE’ ชัดเจนเลยว่าเป็นความจงใจของผู้กำกับ ต้องการสื่อนัยยะอะไรในฉากนี้

ภาพยนตร์ที่ถูกอ้างอิงถึง
– ฟุตเทจ Dillinger (1945) ขณะ Don Metcalfe กล่าวถึงพ่อตนเองขณะทำงานที่ Biograph Theater, Chicago ระหว่างที่ John Dillinger ถูกยิงเสียชีวิต
– ซีรีย์ Boston Blackie (1951)
– หนังควบ The Swinging Cheerleaders (1974)
– หนังควบ The Student Body (1976)

เมื่อมีการอ้างอิงถึงสิ่งที่เกิดในศาล สังเกตว่าจะไม่ใช้การถ่ายทำ จำลองเหตุการณ์ แค่เพียงภาพวาดลักษณะคล้ายๆกันนี้ คงเพื่อเป็นการให้เกียรติสถานที่ ผู้ชมไม่เกิดอคติต่อผู้พิพากษา ลูกขุน … แต่ก็แค่(อ้างว่า)ประจักษ์พยานทั้งสามนี้เท่านั้น ทำให้คดีได้รับการตัดสินอย่างรวดเร็วไว

สิ่งที่ทำให้สารคดีเรื่องนี้กลายเป็นตำนานโดนทันที เกิดจากความผิดพลาดในการถ่ายทำ กล้องใช้งานไม่ได้ระหว่างสัมภาษณ์ David Harris ครั้งสุดท้าย จึงกลายมาเป็นถ่ายเทปบันทึกเสียง สลับสับเปลี่ยนมุมไปมา พร้อมขึ้นข้อความ Subtitle เพื่อผู้มีปัญหาทางการได้ยิน

คือพอเป็นเปลี่ยนมาใช้การรับฟังจากเครื่องเล่นเทป มันเสริมสร้างความลึกลับพิศวง ขนลุกขนพอง หลอกหลอนกับน้ำเสียง ลีลาการเล่นคำพูดของ Harris (ราวกับเสียงเพรียกจากขุมนรก) ซึ่งค่อนข้างชัดเจนมากๆว่า เขารู้ตัวดีว่าเกิดอะไรขึ้น อยากหัวเราะเยาะเย้ยสมน้ำหน้า นี่นะหรือมุมมองความยุติธรรมของโลกใบนี้

เพลงประกอบโดย Philip Glass นักแต่งเพลงแนว Minimalist สัญชาติอเมริกัน เคยเข้าชิง Oscar: Best Original Score ทั้งหมดสามครั้งจาก Kundun (1997), The Hours (2002), Notes on a Scandal (2006) ยังไม่เคยคว้าสักรางวัล

ถึงเคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่นี่คือผลงานเรื่องแรกที่ Morris ติดต่อให้ Glass มาทำเพลงประกอบให้ ซึ่งความเฉพาะตัวในสไตล์ (ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความระยิบระยับ ได้ยินเหมือนเสียงแก้วกระทบกัน) เลือกบรรเลงคีย์ต่ำ มอบสัมผัสแห่งความหนาวเหน็บเย็นยะเยือก บรรยากาศกลิ่นอายหนังนัวร์ เต็มไปความลึกลับ ปริศนายังไม่ได้รับการไขกระจ่าง

Thin Blue Line คือวลีที่สะท้อนสถานะของตำรวจอเมริกัน เปรียบเทียบกับเส้นบางๆของกลุ่มคนที่ช่วยเหลือปกป้องสังคมจากความชั่วร้าย หรือเส้นแบ่งระหว่างชีวิต-ความตาย ที่บรรดาเจ้าหน้าที่ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน, ได้แรงบันดาลใจจากบทกวี Tommy ในคอลเลคชั่น Barrack-Room Ballads ประพันธ์โดย Rudyard Kipling (คนที่แต่ง The Jungle Book)

Then it’s Tommy this, an’ Tommy that, an’ “Tommy, ‘ow’s yer soul?”
But it’s “Thin red line of ‘eroes” when the drums begin to roll,
The drums begin to roll, my boys, the drums begin to roll,
O it’s “Thin red line of ‘eroes” when the drums begin to roll.

Thin red line ในกลอนบทนี้หมายถึงพลทหารเดินเท้า (ทหารอังกฤษสวมชุดสีแดง), ส่วน Thin Blue Line ย่อมแทนได้ด้วยตำรวจอเมริกัน (สวมเครื่องแบบสีน้ำเงิน)

อัยการ Doug Mulder พูดอภิปรายปิดคำให้การในคดีของ Randall Adams โดยยกคำกล่าวอ้างตำรวจคือ ‘Thin Blue Line’ ผู้เสียสละตนเองเพื่อปกป้องสังคมจากระบอบอนาธิปไตย (Anarchy), นั่เป็นความพยายามอ้างอภิสิทธิ์ เรียกร้องความชอบธรรมให้กับตำรวจผู้เสียชีวิตและคนทำคดีนี้ พวกเราไม่มีทางจับกุมคนผิด จงเชื่อเถิดว่าหมอนี่คือฆาตกรแท้จริง

ก่อนที่ผมจะเข้าใจความหมายแท้จริงของ Thin Blue Line ครุ่นคิดว่าเส้นสีน้ำเงินที่ปรากฎพบเห็นตั้งแต่ Opening Credit แฝงนัยยะถึงเส้นบางๆระหว่างความถูก-ผิด ดี-ชั่ว การใช้อำนาจในทางมิชอบ คนผิดไม่ได้รับการลงโทษ ผู้บริสุทธิ์ถูกใส่ร้ายป้ายสี สะท้อนถึงโลกยุคสมัยนี้ที่ทุกสิ่งอย่างเลือนลาง เจือจาง สองขั้วด้านเบลอเข้าหากัน ยิ่งกว่าแมวของชเรอดิงเงอร์หรือกฎของเมอร์ฟี อะไรๆสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตนี้

หลังสารคดีเรื่องนี้ออกฉาย หน่วยงานตุลาการของ Dallas Country ถูกกดดันอย่างหนักจากกระแสสังคม ให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาเริ่มต้นพิจารณาใหม่ แต่อัยการปฏิเสธคำร้องขอดังกล่าว และคดีถูกล้มเลิกคำตัดสิน ทำให้ Randall Adams ได้รับการปล่อยตัวโดยไร้ความผิดเมื่อปี 1989 ติดคุกเสียค่าโง่อยู่หลายปี แถมเงินค่าเสียหายก็ไม่เคยได้รับตอบแทนจากรัฐสักแดงเดียว, ขณะที่ David Harris ได้รับการประหารชีวิตเมื่อปี 2004 แต่จากคดีความอื่น ไม่เคยขึ้นศาลเพราะความผิดจากคดีนี้สักครั้งเดียว!

ผู้กำกับ Errol Morris สร้างสารคดีเรื่องนี้ด้วยความตั้งใจที่จะให้ช่วยเหลือ Randall Adams เปิดโปงเบื้องหลัง นำเสนอข้อเท็จจริง ความบิดเบือนที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม แต่หลังจากพี่แกออกมาจากคุกแล้ว กลับยื่นฟ้อง Morris เรียกร้องสิทธิ์ในเรื่องราวของตนเอง

“Mr. Morris felt he had the exclusive rights to my life story. I did not sue Errol Morris for any money or any percentages of The Thin Blue Line, though the media portrayed it that way”.

– Randall Adams

แม้ว่าคดีความสามารถไกล่เกลี่ยได้ข้อสรุปนอกชั้นศาล Morris คืนลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้ Adams แตมันก็เป็นเรื่องน่าผิดหวังมากทีเดียว

“When [Adams] got out, he became very angry at the fact that he had signed a release giving me rights to his life story. And he felt as though I had stolen something from him. Maybe I had, maybe I just don’t understand what it’s like to be in prison for that long, for a crime you hadn’t committed”.

– Errol Morris


หนังได้รับการจัดจำหน่ายโดย Miramax ขณะนั้นเจ้าของคือ Harvey Weinstein ซึ่งได้ใส่ข้อความโปรโมทบทใบปิด

“A softcore movie, Dr. Death, a chocolate milkshake, a nosy blonde and The Carol Burnett Show. Solving this mystery is going to be murder.”

เป็นการตลาดที่พยายามลบล้างภาพสารคดีของหนัง ให้เปลี่ยนมาแนว Mystery Thriller สืบสวนสอบสวนประเภท whodunit? ผสม Horror อยู่นิดๆ ผลลัพท์สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $1.2 ล้านเหรียญ ดูแล้วไม่น่าจะทุนคืนสักเท่าไหร่

และด้วยเหตุผลนั้นเอง Academy ได้ตัดสิทธิ์ The Thin Blue Line จากการเข้าชิง Oscar: Best Documentary Feature (ทั้งๆเป็นตัวเต็งหนึ่ง) เพราะการตลาดที่ดูเหมือนเรื่องแต่ง ‘nonfiction’ มากกว่าเหตุการณ์จริง

ทศวรรษถัดมา The Thin Blue Line ได้รับการยกย่อง
– ติดอันดับ 5 ชาร์ท Greatest Documentaries of All Time ของนิตยสาร Sight & Sound เมื่อปี 2014
– ติดอันดับ 3 ชาร์ท 51 Best Documentaries Of All Time ของนิตยสาร TIMEOUT

ส่วนตัวแทบไม่ได้มอง The Thin Blue Line เป็นสารคดีเลยนะ คือภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่โคตรสไตล์ลิสต์ จัดจ้านแสง สีสัน กลิ่นอายนัวร์ โดยเฉพาะเพลงประกอบโคตรหลอกหลอนของ Philip Glass ทำให้ใคร่อยากรับชมผลงานอื่นๆของผู้กำกับ Errol Morris ขึ้นมาทันที (ไว้มีโอกาสก่อนนะครับ)

แนะนำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้กับทุกๆคนที่ทำงานอยู่ระบบยุติธรรม ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ลูกขุน รวมไปถึงตำรวจ ข้าราชการ ขออย่าให้เหตุการณ์ลักษณะนี้บังเกิดขึ้นในชีวิตจริงเลยนะครับ

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศนัวร์ๆ ความสั่นคลอนของระบบยุติธรรม

คำโปรย | The Thin Blue Line ของผู้กำกับ Errol Morris ได้ทำการเบลอเส้นแบ่งระหว่างภาพยนตร์-สารคดี เรื่องแต่ง-เหตุการณ์จริง ได้อย่างมีสีสันสไตล์ลิสต์ 
คุณภาพ | ล์ลิต์
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: