The Thin Red Line

The Thin Red Line (1998) hollywood : Terrence Malick ♥♥♥♥

หนังปรัชญาสงครามเรื่องนี้ มีพื้นหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทหารอเมริกันถูกส่งไปยังเกาะ Guadalcanal ในหมู่เกาะ Solomon เพื่อทำการยึดและทำลายฐานทัพของญี่ปุ่น Henderson Field จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในเขตสงครามแปซิฟิก, กระนั้นใจความของหนังไม่ใช่ยกย่องเชิดชูหรือต่อต้านสงคราม แต่คือการตั้งคำถามต่อธรรมชาติ/พระเจ้า ทำไมถึงต้องสร้างให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย มีความขัดแย้ง การต่อสู้ และสงคราม

ถ้าคุณคาดหวังจะพบเห็นระเบิดตูมตาม Special Effect อลังการบ้าคลั่ง อะดรีนาลีนสูบฉีดไหลหลั่ง ให้ข้ามผ่านหนังเรื่องนี้ไปเลยนะครับ, ไม่ใช่ว่าหนังไม่มีอะไรแบบนั้นนะ แต่มันหาใช่สาระสำคัญของหนังไม่ (เป็นสิ่งที่ใช้ประกอบฉากให้มีความสมจริงเท่านั้น) นี่เป็นหนังที่ต้องใช้สมองครุ่นคิดค้นหา สังเกตตีความ วิเคราะห์ทำความเข้าใจ ถึงสามารถรับรู้ข้อคำถาม ความตั้งใจของผู้กำกับได้ ใช่ว่าทุกคนจะสามารถดูหนังเรื่องนี้รู้เรื่อง

Terrence Frederick Malick ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา, เกิดปี 1943 ที่ Ottawa, Illinois พ่อแม่เป็นนักธรณีวิทยา (geologist) สำรวจหาน้ำมัน ปู่ทวดเป็นชาว Lebanese/Assyrian อพยพจาก Urmia (ปัจจุบันคือ Iran) นับถือคริสเตียนเคร่งครัด โตขึ้นเข้าเรียนปริญญาตรี สาขาปรัชญา (philosophy) จากวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College), ทำงานและเรียนต่อโทที่ Magdalen College, Oxford แต่เพราะความขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ จึงลาออกกลับอเมริกา มาเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่ Massachusetts Institute of Technology รับงาน Freelance เป็นนักข่าว (journalist) เขียนบทความลงนิตยสารรายสัปดาห์ The New Yorker และ Life

ระหว่างนั้นก็เข้าเรียน Master of Fine Arts (MFA) ที่ AFI Conservatory, Los Angeles (ไม่แน่ใจว่ารุ่นแรกของสถาบันนี้เลยหรือเปล่า) ทำให้มีโอกาสกำกับหนังสั้นเรื่องแรก Lanton Mills (1969) รู้จักว่าที่นักแสดงดังอย่าง Jack Nicholson เพื่อนโปรดิวเซอร์ผู้ร่วมงาน Jack Fisk, Mike Medavoy ฯ เรียนจบเคยเป็น Ghost-Writing ไม่ได้เครดิตจากบทหนัง Dirty Harry (1971), Drive, He Said (1971) ส่วนที่ได้เครดิตอาทิ Pocket Money (1972), The Gravy Train (1974) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ขึ้นมากำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Badlands (1973) นำแสดงโดย Martin Sheen และ Sissy Spacek

ช่วงทศวรรษ 70s วงการภาพยนตร์ Hollywood ได้มีการเปลี่ยนโฉมครั้งใหม่ ด้วยการมาของ American New Wave หรือที่เรียกว่า New Hollywood อาทิ Steven Spielberg, Martin Scorsese, Francis Ford Coppola, Woody Allen, Ridley Scott ฯ ก็ถือว่า Malick เป็นหนึ่งในผู้กำกับคลื่นรุ่นใหม่ที่ได้รับการจับตามองอย่างสูง มีผลงานระดับ Masterpiece ถึงสองเรื่องคือ Badlands (1973) และ Days of Heaven (1978) จากนั้นก็หายหน้าหายตาไปจากวงการนานถึง 20 ปี

“Well, I, I, uh, I guess I don’t want to talk about it …”

– Terrence Malick

หลังเสร็จจาก Days of Heaven ผู้กำกับ Malick ขณะกำลังเตรียมงานสร้างโปรเจคใหม่อยู่ที่ Paris วางแผนทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน แต่อยู่มาวันหนึ่งก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา สองสัปดาห์ถัดมาโทรหาโปรดิวเซอร์บอกว่า ไม่คิดอยากสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ต้องการใช้ชีวิตอย่างสงบธรรมดาสามัญอยู่กับแฟนสาวคนใหม่ ทำอะไรไปเรื่อยเปื่อยไม่เป็นหลักเป็นฐาน

ถ้าใครอยากรับรู้ว่า Terrence Malick ใช้ชีวิต 20 ปีที่หายไปนี้ยังไง ยาวมากผมขึ้เกียจแปล : http://awareread.blogspot.co.uk/2011/06/runaway-genius.html

เท่าที่ผมจับใจความได้ คงเป็นความเบื่อหน่ายในความวุ่นวายของ Hollywood เพราะเขาเติบโตขึ้นในครอบครัวที่พบเจอโศกนาฎกรรม (แบบหนังเรื่อง The Tree of Life) ทำให้ไม่ต้องการชีวิตที่มีชื่อเสียงจอมปลอม เงินทองมากมาย พยายามแยกเรื่องงานกับชีวิตครอบครัวออกจากกัน ไม่เคยพูดเรื่องส่วนตัวในที่สาธารณะ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอะไร ก็มีแต่คนใกล้ตัวที่จะรับรู้เรื่องราวของเขาอย่างใกล้ชิด

(ถ้าคุณเคยรับชมหนังเรื่อง Paris, Texas จะพบว่า Malick มีความคล้ายกับ Travis อย่างมากเลยละ)

สำหรับสาเหตุที่หวนคืนกลับสู่วงการก็ไม่มีใครทราบแน่นอน เหตุเกิดช่วงประมาณปี 1988 เมื่อสองโปรดิวเซอร์คนสนิท Robert Michael Geisler และ John Roberdeau ชักชวนให้ดัดแปลงและกำกับภาพยนตร์จากนิยาย Erotic แนวจิตวิเคราะห์เรื่อง The White Hotel ของ D.M. Thomas ด้วยการเสนอเงินล่อใจถึง $2 ล้านเหรียญ แต่ได้รับการปฏิเสธ กระนั้น Marlick ก็แสดงความสนใจหวนคืนกลับสู่การสร้างภาพยนตร์ พร้อมเล่าถึงความสนใจในดัดแปลงสร้างจากนิยายชื่อดังสองเรื่อง
– Tartuffe (1664) [หรือ The Impostor หรือ The Hypocrite] บทละครตลกในตำนาน ของผู้แต่งชาวฝรั่งเศส Molière
– The Thin Red Line (1962) นิยายเล่ม 2 ของไตรภาค From Here to Eternity แต่งโดย James Jones ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงของตนเอง

สองโปรดิวเซอร์เห็นพ้องตรงกันตัดสินใจเลือกเรื่องหลัง พร้อมควักจ่ายเงินให้ Malick ไปใช้เล่นก่อน $250,000 เหรียญ เพื่อพัฒนาบทภาพยนตร์

เดือนพฤษภาคมปี 1988 บทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เริ่มกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ความยาวกว่า 300 หน้ากระดาษ ซึ่งโปรดิวเซอร์ทั้งสองหลังจากได้อ่านแล้ว เกิดประทับใจในผลลัพท์นี้เป็นอย่างมาก, Geisler เล่าให้ฟังว่า

“The notion that we discussed endlessly, was that Malick’s Guadalcanal would be a Paradise Lost, an Eden, raped by the green poison, as Terry used to call it, of war. Much of the violence was to be portrayed indirectly. A soldier is shot, but rather than showing a Spielbergian bloody face we see a tree explode, the shredded vegetation, and a gorgeous bird with a broken wing flying out of the tree.”

ในนิยายของ James Jones เห็นว่าได้ทำการถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เป็นหนึ่งในทหารเข้าร่วมรบสงครามนี้ บรรยายความโหดเหี้ยม ป่าเถื่อนรุนแรง ได้อย่างสมจริงจังที่สุด, แต่เนื่องจาก Malick เป็นคนไม่ชอบความรุนแรงอะไรพวกนี้เลย จึงทำการเบี่ยงเบนภาพความสยดสยอง เลือด และการตาย นำเสนอแบบผ่านๆ หรือในเชิงรูปแบบสัญลักษณ์ เช่น ต้นไม้ระเบิด, นกปีกหักตกลงจากต้นไม้, สายตาของมิตรสหายที่จับจ้อง ฯ (แต่ก็มีฉากหนึ่งนะ เป็นภาพร่างของคนพื้นเมืองที่แขนขาขาด ลำไส้ทะลัก น่าจะเป็นช็อตเดียวจังๆที่เราเห็นในหนัง แถมแช่ภาพทิ้งไว้อย่างนาน)

กระนั้นก็ใช่ว่าบทภาพยนตร์นี้จะเป็นที่พึงพอใจของ Malick ซึ่งทำการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมนี่โน่นนั่นอยู่เรื่อยๆ จนถึงจุดๆหนึ่ง โปรดิวเซอร์ทั้งสองตัดสินใจรอคอยให้เขาพร้อมเอ่ยปากกำกับหนังเรื่องนี้ด้วยตนเอง แต่แล้วจนกระทั่งปี 1995 เมื่อทั้งสองเข้าสู่สภาวะถังแตก จึงเริ่มกดดัน Malick ให้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้สักที และในที่สุดชายหัวโบราณผู้นี้ ก็ได้หวนกลับคืนสู่วงการภาพยนตร์เสียที

ด้วยสเกลของหนังที่มีขนาดใหญ่ Geisler และ Roberdeau รู้ตัวเองว่าประสบการณ์ยังไม่มากพอ จึงติดต่อขอความช่วยเหลือจาก Mike Medavoy อดีตผู้ก่อตั้ง Orion Picture และอดีตประธาน TriStar Picture ปัจจุบันมีสตูดิโอใหม่ของตัวเองชื่อ Phoenix Picture ให้ช่วยจัดหาประเมินทุนสร้าง, รวมแล้วได้ประมาณงบทั้งสิ้น $52 ล้านเหรียญ ขอได้จาก 20th Century Fox $39 ล้านเหรียญ, Phoniex Pictures $3 ล้านเหรียญ, และร่วมทุน Pioneer Films ของญี่ปุ่นที่ให้มาอีก $8 ล้านเหรียญ (ขาดอีก $2 ล้านเหรียญ เป็นค่าที่สองโปรดิวเซอร์จ่ายโน่นนี่ให้กับ Malick ไปก่อนหน้านี้)

 

เกิดเหตุการณ์จราจลขึ้นในหมู่นักแสดงทั้งหลาย เมื่อข่าวที่ว่า Terrence Malick กำลังหวนคืนกลับมาสร้างภาพยนตร์
– George Clooney ยินดีรับบทโดยไม่ขอรับค่าตัว
– Bruce Willis พร้อมออกค่าตั๋วเครื่องบิน First-Class ให้กับทีมงานทุกคนเพื่อเดินทางไปถ่ายทำ
– Matthew McConaughey (กำลังถ่ายทำ A Time to Kill), Leonardo DiCaprio (กำลังถ่ายทำ Romeo + Juliet ที่ Mexico) ฯ โดดงานจากหนังที่ถ่ายทำอยู่ เพื่อมาพบเจอกินข้าวกับ Malick
– Nicolas Cage ได้นัดทานข้าวกลางวันที่ Hollywood เมื่อกุมภาพันธ์ 1996
– Johnny Depp พบเจอพูดคุยกันที่ร้านหนังสือ
– Tom Sizemore ถ้าไม่ตัดสินใจรับบท Saving Private Ryan คงได้เล่นหนังเรื่องนี้
ฯลฯ

สำหรับผู้โชคดีประกอบด้วย

Jim Caviezel (เกิดปี 1968) นักแสดงหนุ่มสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Mount Vernon, Washington หลังจากมีผลงานมาหลายเรื่อง ได้แจ้งเกิดเต็มตัวเสียทีกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งบทบาทต่อมาโด่งดังที่สุดคือ Jesus Christ หนังเรื่อง The Passion of the Christ (2004),

รับบท Private Robert Witt นายทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ อาศัยอยู่กับชาวพื้นเมือง Melanesian ก่อนถูกพบเจอโดย Sergeant Edward Welsh โชคดีไม่ถูกขึ้นภาคทัณฑ์ แต่ต้องถอดยศกลายเป็นพลทหารชั้นต่ำ รับหน้าที่แบกคนเจ็บออกจากสนามรบ, Witt เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้า มีสติทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าบ้าคลั่ง พร้อมสละชีพด้วยอุดมการณ์สูงส่ง, ทั้งๆที่เหมือนจะไม่ชอบขี้หน้ากัน แต่กับ Welsh อาจเป็นคนเดียวที่เข้าใจตัวตนของชายคนนี้

Sean Justin Penn นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของ 2 รางวัล Oscar: Best Actor จากเรื่อง Mystic River (2003) และ Milk (2008), เกิดปี 1960 ที่ Los Angeles County, California ในครอบครัวที่ทั้งบ้านทำงานวงการบันเทิง พ่อเป็นนักแสดง/ผู้กำกัย แม่เป็นนักแสดง พี่เป็นนักดนตรี น้องเป็นนักแสดง (เสียชีวิตปี 2006) ปู่ทวดเป็นชาว Jews อพยพมาจาก Lithuania แม่เป็น Catholic ที่เคร่งครัด ส่ง Penn ไปเรียน Santa Monica High School ที่ก็เน้นสอนศาสนาเป็นสำคัญ

รับบท 1st Sergeant Edward Welsh หมอนี่ต้องถือว่ามีความบ้าบิ่นไม่แพ้ Robert Witt กล้าที่จะวิ่งฝ่าดงกระสุนไปช่วยลูกน้องที่ได้รับบาดเจ็บ แต่แค่ตัวเขาไม่มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระเจ้า ชอบพูดคุยสนทนากับ Witt ตั้งคำถามเกี่ยวต่อการมีตัวตน และมองโลกในแง่ร้ายเสมอ

Ben Chaplin (เกิดปี 1969) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Windsor, Berkshire มักได้รับบทเป็นตัวประกอบเสียส่วนใหญ่ แต่ยังได้ร่วมงานกับ Malick อีกครั้งกับเรื่อง The New World (2005)

รับบท Jack Bell ชายผู้มีความกล้าหาญเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น เป็นผู้ออกสอดแนมพบเจอบังเกอร์ของญี่ปุ่น แต่ภายหลังเมื่อภรรยาสาวเขียนจดหมายส่งมา กลับบอกว่าพบรักครั้งใหม่ แล้วที่ฉันทำทั้งหมดนี่มันมีประโยชน์อะไร!

Elias Koteas (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Montreal, Quebec เข้ามาเรียนการแสดงที่ New York มักได้รับบทเป็นตัวประกอบสมทบ อาทิ Teenage Mutant Ninja Turtles III (1993), Collateral Damage (2002), Shutter Island (2010), Let Me In (2010) ฯ

รับบท Captain James ‘Bugger’ Staros เดิมเป็นทนายความชอบช่วยเหลือผู้อื่น จิตใจเต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมสูงส่ง เมื่ออยู่ในสนามรบก็ไม่ยินยอมเสียสละผู้ใต้บังคับบัญชาต่อสถานการณ์เป็นตายที่ไร้สาระ จริงอยู่เขาอาจเป็นที่รักของเหล่าพลทหารแต่ไม่ใช่กับหัวหน้าผู้สั่งการลงมาอีกที

Nicholas King Nolte (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน และอดีตโมเดลลิ่ง, เกิดที่ Omaha, Nebraska มีความสนใจด้านกีฬาตั้งแต่เด็ก เป็นนักฟุตบอล บาสเกตบอล เบสบอล แต่เรียนเกรดไม่ค่อยดี ทำให้จุดหนึ่งในชีวิตตัดสินใจเป็นนักแสดงละครเวที จากนั้นมีผลงานมินิซีรีย์เรื่อง Rich Man, Poor Man (1970) เคยคว้า Golden Globe: Best Actor จากเรื่อง The Prince of Tides (1991) ผลงานอื่นๆอาทิ Cape Fear (1991), Affliction (1998), Hulk (2003), Hotel Rwanda (2004), Tropic Thunder (2008), Warrior (2011) ฯ

รับบท Colonel Gordon Tall ผู้พันสูงวัยที่โชคชะตาไม่ค่อยเข้าข้าง ถูกคนอายุน้อยกว่าข้ามหัวเป็น General (รับบทโดย John Travolta) ทำให้เป็นคนมีความเกรี้ยวกราด เบื่อโลก รังเกียจมันเสียทุกสิ่งอย่าง จึงได้กระทำการวางแผนยุทธวิธีโดยไม่สนหัวผู้อื่น พลทหารตายแล้วไง ที่นี่สนามรบยังไงต้องมีคนตายอยู่แล้ว

สำหรับนักแสดงอื่นๆ ถ้าให้ไล่ทั้งวันคงไม่หมดแน่ ขอแถม Woody Harrelson อีกสักคนแล้วกัน ผมชอบหมอนี่สุดแล้ว การตายของตัวละคร Sergeant William Keck ถือว่าบัดซบที่สุดแล้วในสามโลก ตั้งใจจะเขวี้ยงลูกระเบิดแต่กลับพลาดดึงออกได้แต่สลัก สุดท้ายระเบิดคาก้นตัวเอง … การตายในสนามรบเรียกว่าไร้ค่าแล้วนะ แต่เสียชีวิตแบบนี้เลวร้ายกว่าอีก

ถ่ายภาพโดย John Toll ตากล้องสัญชาติอเมริกายอดฝีมือ ที่คว้า Oscar: Best Cinematography 2 ปีติดจากเรื่อง Legends of the Fall (1994) และ Braveheart (1995) ผลงานอื่นที่เด่นๆอาทิ Vanilla Sky (2001), The Last Samurai (2003), Cloud Atlas (2012), Iron Man 3 (2013) ฯ

หนังใช้เวลาถ่ายทำใน Australia 100 วัน บริเวณ Daintree Rainforest, Bramston Beach (ทางตอนเหนือของ Queensland), ต่อมาเดินทางไป Solomon Island ใช้เวลาอีก 24 วัน ถ่ายทำบนเทือกเขา Dancer Mountain และกลับมาที่อเมริกาอีกสามวัน (คงถ่ายฉากย้อนอดีตกับแฟนสาวของ Bell ตัวละครหญิงหนึ่งเดียวของหนัง), หนังจะไม่มีการถ่ายทำตอนกลางคืนนะครับ เพราะทีมงานมีความหวั่นวิตกเรื่องยุง กลัวติดโรคมาลาเรีย

งานภาพของหนังให้สัมผัสราวกับเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ กล้องระดับสายตาเคลื่อนผ่านพุ่มกอหญ้า เห็นสายลมพัดพริ้วไหว สะท้อนแสงอาทิตย์ เช้า-กลางวัน-เย็น ล่องลอยราวกับอยู่ในความฝัน กอปรกับเสียงบรรยายของตัวละครที่เหมือนคนเมาเสพยา จิตใจของพวกเขาเดินไปมาซัดโซเซอย่างไร้สติ, มีหลายครั้งที่กล้องกำลังถ่ายนักแสดง แล้วอยู่ดีๆค่อยๆเคลื่อนไปถ่ายให้เห็นธรรมชาติอย่างอื่น ท้องฟ้า ต้นไม้ ฯ นี่เป็นการแทนสายตาของตัวละครนั้น ที่ครุ่นคิดเหม่อมองออกไป ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีตัวตน ธรรมชาติ และการเป็นส่วนหนึ่งของสงครามนี้

Special Effect ระเบิด มีระดับความรุนแรงและรัศมีที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหนังสงครามเรื่องอื่น ถ้าคุณเคยทำงานเบื้องหลังจะสังเกตพบว่า นี่มันคล้ายระเบิดควัน นักแสดงที่อยู่ใกล้ๆหรือวิ่งผ่าน แทบจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ แต่จะมีการออกลีลาของ Stuntman กระโดดหมุนตัวพลิกหลายตลบ ผมว่ามันขบขันสิ้นดี แต่ก็เพียงพอให้เกิดความสวยงาม และผู้ชมเกิดความสั่นสะเทือน สะดุ้งตกใจ คิดว่ามีความสมจริงเสียเหลือเกิน

ด้วยวิธีการถ่ายทำของ Malick ให้อิสระกับนักแสดง ตากล้อง และทีมงาน ในการที่จะคิดพูดทำอะไรก็ได้ตามใจ (แต่ผมคิดว่าหนังมีบทพูดของตัวละครอยู่นะครับ แต่คงให้ใช้เป็นไกด์ไลน์เฉยๆ นักแสดงจะดัดแปลงคำพูด แสดงความรู้สึกอะไรยังไงออกมา ก็ให้อิสรเสรีอย่างเต็มที่) นี่ทำให้นักแสดงที่แม้จะหมดคิวของตนเองไปแล้วอย่าง Woody Harrelson, John Savage ไม่ยอมกลับบ้าน อยู่เป็นผู้ช่วยคอยแอบสังเกตการณ์อยู่ไม่ห่าง

Leslie Jones เป็นนักตัดต่อคนแรกของหนัง ที่เดินทางไป Australia, Solomon Island ร่วมกับทีมงาน (แต่แทบไม่เคยพบเจอกับ Malick) หลังปิดกล้อง 7 เดือนถัดมา ก็ได้หนัง first-cut ฉบับ 5 ชั่วโมง และมีเสียงบรรยายของ Billy Bob Thornton ประกอบ 3 ชั่วโมง, เพื่อให้การตัดต่อรวดเร็วขึ้น Billy Weber และ Saar Klein จึงเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ใช้เวลารวมแล้ว 13 เดือนในการทำ Post-Production

Malick ได้ทำการตัดบทสนทนาของตัวละครออกให้เหลือน้อยที่สุด แทรกเสียงบรรยายเฉพาะจุดสำคัญๆเท่านั้น นี่ทำให้หนังฉบับสุดท้ายออกมามีผลลัพท์แตกต่างจากแนวคิดตั้งต้นอย่างมาก, ขนาดว่า Adrien Brody เมื่อได้รับชมฉบับทดลองฉาย เห็นเรื่องราวของตนเองหายไปเกินกว่าครึ่ง ออกอาการหัวเสียอย่างถึงที่สุด

“I was so focused and professional, I gave everything to it, and then to not receive everything … in terms of witnessing my own work. It was extremely unpleasant because I’d already begun the press for a film that I wasn’t really in. Terry obviously changed the entire concept of the film. I had never experienced anything like that… You know the expression ‘Don’t believe the hype’? Well, you shouldn’t.”

นี่ยังไม่รวมถึงนักแสดงเกรด A มากมายที่มารับเชิญแล้วถูกตัดออกโดยสิ้นเชิง อาทิ Bill Pullman, Lukas Haas, Mickey Rourke, Martin Sheen, Viggo Mortensen แต่พวกเขาก็ได้รับเครดิตในหนังนะครับ (จะมีใครนั่งดูจนจบไหมนิ)

ผมค่อนข้างชอบจังหวะลีลาการตัดต่อของหนัง ที่มีการสลับไปมาระหว่าง Long-take กับการตัดเร็วๆรัวๆ, คือถ้าเป็นขณะกำลังชิลๆ ระหว่างเดินทาง ก่อนการสู้รบ หนังจะไม่มีการตัดต่อที่รีบเร่งรวดเร็ว กล้องคล่อยๆเคลื่อนไป จนเมื่อไหร่เสียงปืนดังขึ้น ระเบิดลง นี่ต้องเล่นมุมกล้องกับนักแสดงและเพิ่มความเร็วกันเสียหน่อย ให้คนที่กำลังจะหลับได้สะดุ้งตื่นขึ้น

เพลงประกอบโดย Hans Zimmer มีทั้งที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ และใช้บทเพลงคลาสสิกมีชื่อ, เห็นว่า Zimmer เขียนเพลงให้อย่างเยอะ ตั้งแต่ก่อนที่ Malick จะเริ่มถ่ายทำหนังเสียอีก แม้จะใช้จริงไม่กี่เพลง แต่ก็ได้มีการนำเอาทเพลงเหล่านั้นมาเปิดในกองถ่าย เพื่อให้นักแสดงได้รับรู้ทำความเข้าใจอารมณ์ของหนังในวันนั้นๆ (นี่เป็นวิธีการถ่ายทำที่คล้ายๆกับ Federico Fellini แต่จะไม่มีเคลื่อนไหวเดินโยกเป็นจังหวะตามเสียงเพลง)

บทเพลงแรกของหนังชื่อ The Unanswered Question (1908) ประพันธ์โดยคีตกวีสัญชาติอเมริกัน Charles Ives (1874 – 1954), มี 3 สิ่งเกิดขึ้นพร้อมกันในบทเพลงนี้
– เสียงเครื่องสายที่ค่อยๆดังขึ้นคลอประกอบไปตลอดเพลง Ives ให้นิยามว่าคือ ‘silence of the Druids’ บุคคล/สิ่งมีชีวิต ที่รู้เห็นเข้าใจทุกสิ่งอย่างแต่ไม่พูดอะไร
– เสียงเป่า trumpet ที่โดดเด่นขึ้นมา แทนด้วยมนุษย์ผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีตัวตนและความนิรันดร์ ‘the perennial question of existence’
– เสียงฟลุต/เครื่องเป่าอื่น ที่อยู่ดีๆก็ดังแทรกขึ้นมา คือความพยายามแสวงหาตอบคำถาม แต่กลับมิได้รับความพึงพอใจ ทั้งหมดมีความไม่เข้ากัน แสดงถึงความขัดแย้งแตกต่าง เพราะแต่คนก็เหมือนจะมีคำตอบของตัวเองไม่เหมือนผู้อื่น, ช่วงท้ายของบทเพลง ความพยายามประสานเสียงที่ไร้ผล พวกเขาจึงยอมแพ้และเงียบหาย give up เลิกไปเอง

ใจความของบทเพลงนี้ มีลักษณะเพื่อตั้งคำถามชีวิตที่ว่า ‘เราเกิดมาทำไม?’, “Why am I here?”

สำหรับบทเพลงที่เป็นไฮไลท์ของหนัง In Paradisum (แปลว่า Into paradise) หนึ่งใน choral-orchestral (บทเพลงที่ขับร้องในโบสถ์) บทเพลง Requiem in D minor, Op. 48, (1887 – 1890) ประพันธ์โดยคีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส Gabriel Fauré (1845 – 1924) ที่มีผลงานอมตะอย่าง Après un rêve, Clair de lune ฯ

บทเพลงนี้มีทั้งหมด 7 movement ซึ่ง In Paradisum เป็นท่อนสุดท้าย คำร้องภาษาละติน

In paradisum deducant te Angeli; in tuo adventu suscipiant te martyres, et perducant te in civitatem sanctam Ierusalem. Chorus angelorum te suscipiat, et cum Lazaro quondam paupere æternam habeas requiem.

“May the angels lead you into paradise; may the martyrs receive you at your arrival and lead you to the holy city Jerusalem. May choirs of angels receive you and with Lazarus, once (a) poor (man), may you have eternal rest.”

บทเพลงนี้จะดังขึ้นตอนที่เหล่าพลทหารกำลังเดินเท้าจากหาดเพื่อตรงไปสู่สนามรบ, กอปรกับเสียงบรรยาย ประหนึ่งการออกเดินทางค้นหาดินแดนที่เรียก ‘paradise’

มาฟังอีกสักบทเพลงที่ Hanz Zimmer แต่งขึ้นเองบ้างดีกว่า มี 2 บทเพลงที่เป็นไฮไลท์

บทเพลง Journey to the line ขณะที่กองทัพอเมริกาบุกเข้ายึดหมู่บ้าน เริ่มต้นจากหมอกควัน จากนั้นเต็มไปด้วย long-take กล้องจะติดตามตัวละครด้านหลังมาติดๆ พบเห็นความพ่ายแพ้ของทหารญี่ปุ่นในรูปแบบต่างๆ บ้างเสียสติ สวดมนต์ภาวนา เสียงเพลงจะค่อยๆดังขึ้นเรื่อยๆ สร้างความหดหู่ขนหัวลุก (บทเพลงทำนองเดียวกับ Time-Inception และ Tennessee-Pearl Harbour)

บทเพลงเสียงขับร้องของชาวพื้นเมือง Honiara (เมืองหลวงของ Solomon Island) ที่ดังขึ้นตอน Ending Credit ชื่อเพลง God Yu Tekkem Laef Blong Mi เป็นภาษา Solomon Pidjin แปลว่า Take My Life And Let It Be

ได้ยินเพลงนี้ดังขึ้น ผมขนลุกซู่เลยละ ถ้าเป็นชาวคริสต์คงบอกว่ามองเห็นพระเจ้าลงมาจากสรวงสวรรค์,

ทำไมธรรมชาติ/พระเจ้า ถึงได้สร้างสิ่งมีชีวิตให้เกิดความแตกต่าง จนเกิดความขัดแย้ง ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน พาลให้เกิดการต่อสู้ และที่สุดคือสงคราม รวบรวมกำลังพลเข้าเข่นฆ่า ทำลายล้างศัตรูอีกฝ่ายหนึ่งให้ม้วยมอดหมดสิ้นไป? นี่เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบนะครับ คิคมากแค่ไหนก็ขบไม่แตก เพราะมันเป็นธรรมชาติ หรือพระเจ้าสร้างมาให้เป็นแบบนี้ตั้งแต่ต้น ต่อให้อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ข้างในจิตใจเรายังเกิดความขัดแย้งกันเองเลย

เมื่อมีความแตกต่างย่อมต้องเกิดความขัดแย้ง ในระดับสัตว์เดรัชฉาน การต่อสู้เกิดขึ้นโดยสันชาติญาณของสองสิ่งมีชีวิต โดยไม่รู้ตัว ไม่ชอบหน้า เป็นภัยศัตรู ผู้ล่าเหยื่อ พบเจอกันเมื่อไหร่เป็นเรื่องให้เกิดความขัดแย้งทุกที เราสามารถเรียกได้ว่า ‘ความขัดแย้งทางกายภาพ’

แต่สำหรับมนุษย์ มีความขัดแย้งในระดับที่ลึกไปกว่านั้น นั่นคือ ‘ความขัดแย้งทางจินตภาพ’ อันประกอบด้วยความคิด ทัศนคติ อุดมการณ์ ไม่ใช่แค่ไม่ชอบขี้หน้าแล้วเข่นฆ่าฟันกัน แต่ยังด้วยเหตุผลหลักการ คิดเไม่ตรงกัน ความเห็นต่าง ฯ ว่าไปเป็นความขัดแย้งลักษณะนี้ถือว่าเลวร้ายบัดซบ ยิ่งเสียกว่าสัตว์เดรัจฉานต่อสู้ฆ่าแกงกันกินอีกนะครับ

เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี ‘สติปัญญา’ ย่อมต้องสามารถครุ่นคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง ก่อนที่จะเริ่มทำอะไรย่อมต้องมีบางสิ่งไหลผ่านหัวสมอง บางครั้งอาจโดยสันชาติญาณ แต่ส่วนใหญ่แล้วคิดก่อนทำทั้งนั้น, แต่ละตัวละครในหนังเรื่องนี้ ถือเป็นตัวแทนทางความคิด ทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อสงคราม
– Robert Witt ศรัทธาเชื่อมั่นในพระเจ้า แม้แต่สงครามนี้ยังคิดว่า การตายของตัวเองมีเป้าหมายสูงสุด
– Edward Welsh ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง โลกขณะนี้ ช่วงเวลานี้ต่างหากของจริง การตายคือจุดจบของทุกสิ่ง
(Witt/Wit = ผู้มีสติปัญญา, Welsh นอกจากแปลว่าชาว Wales คำกิริยาแปลว่า ไร้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรี)

– James Staros ผู้บังคับบัญชาที่เชื่อมั่นในคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ความตายไม่ใช่เรื่องของการเสียสละล้อเล่นไร้สาระ
– Gordon Tall นายพลที่ไม่สนชีวิตของใคร มองมนุษย์ประหนึ่งตัวหมากในกระดาน การเสียสละความตายไม่สำคัญเท่าชัยชนะ
(Staros/Star = ดวงดาว, อุดมการณ์ สูงกว่า Tall แน่นอน)

– Jack Bell ถือเป็นตัวละครเดียวที่มี 2 โลก (มีภาพย้อนอดีตกับแฟนสาว) ตอนแรกมองเป้าหมายของสงครามนี้ จะต้องมีชีวิตกลับไปเพื่อคนรัก แต่เมื่อได้รับรู้ว่าเธอคบชู้มีผัวใหม่ นั่นทำให้ทุกสิ่งที่เขากระทำผ่านมานี้ กลับตารปัตรไร้ค่าโดยสิ้นเชิง รับรู้ความจริงแท้ของสงคราม
(Bell = กระดิ่ง, ตรัสรู้, เข้าใจ)

เป้าหมายของกองร้อย C Company (Charlie) คือการเข้ายึดครองภูเขาลูกหนึ่ง บนเนินสูงตั้งตระหง่าน บนยอดมีเหล่าทหารญี่ปุ่นสร้างบังเกอร์หลบซ่อนอยู่ภายในเนินดิน มองเห็นได้เกือบๆรอบทิศทาง, ถ้าเราเปรียบ ยอดเขาคือจุดหมาย/เป้าหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต นี่คือการต่อสู้เพื่อพาตัวเองไปสู่สรวงสวรรค์ Paradise ดินแดนแห่งนี้ไม่ยินยอมให้ใครไปถึงกันง่ายๆ นอกเสียจากการเสียสละหรือสติปัญญา ก็อยู่ที่ว่ามนุษย์จะเลือกอะไรระหว่าง
– ใช้กำลังเข้าห่ำหั่นเหมือนสัตว์เดรัชฉาน
– ใช้สติปัญญาเข้าแก้ปัญหาเหมือนกับมนุษย์/สัตว์ประเสริฐ

การยึดเนินเขานี้ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ Staros vs Tall หรือ การใช้สติปัญญา vs พละกำลัง ในการแก้ปัญหา, แปลกประหลาดที่การสงคราม ทั้งๆที่มนุษย์เป็นสัตว์มันสมองใหญ่โตกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ความคิดสติปัญญาเฉลียวฉลาดย่อมต้องสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้แทบทุกอย่าง แต่หลายครั้งกลับชอบทำตัวโง่งี่เง่าเหมือนสัตว์เดรัจฉาน เอาแต่ใช้กำลังแรงกายเข้าห่ำหั่นต่อสู้เพื่อชัยชนะ

แม้ยุทธการครั้งนี้ สติปัญญาจะเป็นผู้นำชัยชนะมาสู่ เข้ายึดครองสรวงสวรรค์ Paradise ได้สำเร็จ แต่กลับถูกขับไสไล่ส่งให้กลับบ้าน รับเหรียญเกียรติยศยิ่งใหญ่ภาคภูมิ นิสัยอย่างนายไม่สมควรมีตัวตนในดินแดนแห่งนี้ นี่มีนัยยะว่า สติปัญญา/จิตสำนึกของมนุษย์ กำลังค่อยๆเลือนลางจางหายไป สักวันหนึ่งย่อมถูกกลืนกินโดยสันชาติญาณ สันดานของมนุษย์, ในบริบทสงคราม นี่อาจเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่ถ้ามนุษย์โลกค่อยๆกลายเป็นแบบนี้ เห็นทีวันโลกาวินาศคงใกล้เข้ามาถึง

ผมสังเกตหนังของ Malick มาหลายเรื่อง การใช้เสียงบรรยายเพื่อประกอบเรื่องราว ให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมได้ดำดิ่ง เข้าไปในความคิด หัวสมองของตัวผู้กำกับเอง (มันไม่ค่อยเหมือนความคิดของตัวละครเสียเท่าไหร่), ถึงหนังเรื่องนี้จะมีหลายเสียงบรรยาย แต่ถือได้เป็นการเปรียบเทียบกับหลายอารมณ์ ทัศนคติ ความคิดของมนุษย์ เช่นว่า เกรี้ยวโกรธา, เป็นสุขอิ่มเอิบ, หัวเราะร่าครื้นเครง ฯ แทนแต่ละเสียงด้วยอารมณ์/ตัวตน เท่านี้ก็เหมือนว่ามีความแตกต่างออกไปแล้ว

ฉะนั้นเมื่อมองภาพรวมของ The Thin Red Line เส้นยาแดงผ่าแปด จึงได้ข้อสรุปใจความของหนังว่า คือการนำเสนอแนวคิด ทัศนคติ ความคิดเห็น ของผู้กำกับ Terrence Malick ต่อการเกิดสงคราม ความขัดแย้ง และการต่อสู้ของสิ่งมีชีวิต

สำหรับชื่อหนัง/นิยาย The Thin Red Line มาจากบทกวีเรื่อง Tommy ในคอลเลคชั่น Barrack-Room Ballads ประพันธ์โดย Rudyard Kipling (คนที่แต่ง The Jungle Book) ผมคัทลอกบทหนึ่งของกลอนนี้มาให้อ่านกัน

Then it’s Tommy this, an’ Tommy that, an’ “Tommy, ‘ow’s yer soul?”
But it’s “Thin red line of ‘eroes” when the drums begin to roll,
The drums begin to roll, my boys, the drums begin to roll,
O it’s “Thin red line of ‘eroes” when the drums begin to roll.

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับหนัง? คำว่า Thin red line of ‘eroes’ ในกลอนบทนี้ Kipling ให้ความหมายถึงพลทหารเดินเท้า (foot soldiers) … แบบนี้น่าจะพอเข้าใจกันได้ว่าหมายถึงอะไร

หนังออกฉายวันที่ 25 ธันวาคม 1998 หลัง Saving Private Ryan เพียงสองเดือน เนื่องจากเป็นหนังสงครามเหมือนกันทำให้ได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง ในอเมริกาทำเงินได้ $36.4 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $98.1 ล้านเหรียญ น่าจะไม่คุ้มทุนสร้าง

เข้าชิง Oscar 7 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Writing, Screenplay Based on Material Previously Produced or Published
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Music, Original Dramatic Score

ปีถัดมาได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin (เทศกาลนี้จัดช่วงกุมภาพันธ์ ก่อนประกาศผล Oscar ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์) คว้ามาได้ 3 รางวัล
– Golden Berlin Bear
– Honorable Mention (John Toll For his outstanding camera work)
– Reader Jury of the “Berliner Morgenpost” ได้รางวัลที่ 3

นี่เป็นหนังที่ผมชื่นชอบมากๆ ด้วยรสนิยมส่วนตัว โดยเฉพาะวิธีการนำเสนอ ภาพธรรมชาติที่ค่อยๆเคลื่อนเลื่อนไป แค่ได้สัมผัสบรรยากาศกลิ่นไอ ก็รู้สึกเต็มอิ่มคุ้มค่าแล้ว แต่ติดอย่างเดียวที่เป็นหนังเกี่ยวกับสงคราม จึงไม่สามารถหลงใหลคลั่งไคล้ตกหลุมรักได้มากกว่านี้

แนะนำกับนักปรัชญา ครุ่นคิดค้นหาคำตอบของชีวิต, ศึกษาประวัติศาสตร์ WW2 ในมหาสงครามแห่งแปซิฟิก, หลงใหลงานภาพ ตัดต่อ และเพลงประกอบ ตามสไตล์ของผู้กำกับ Terrence Malick, และแฟนๆนักแสดงอย่าง Sean Penn, Nick Nolte, Adrien Brody ฯ ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับสงครามและความตาย

TAGLINE | “The Thin Red Line ตั้งคำถามปรัชญาสงคราม ความขัดแย้ง และการต่อสู้ งดงามวิจิตรในสไตล์ของ Terrence Malick”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: