The Thing

The Thing (1982) hollywood : John Carpenter ♥♥♥

มองหนังในมุมเอเลี่ยน ไอ้ตัวเขมือบโลกพยายามที่จะเลียนแบบกลายเป็นมนุษย์ จุดประสงค์เพื่อดิ้นรนเอาตัวรอด จนสามารถพูดคุยสื่อสาร แลกเปลี่ยนอารยธรรม แต่เหล่ามนุษย์ทั้งหลายกลับจับมาทดลองโน่นนี่นั่น ไม่พยายามทำความเข้าใจ คิดว่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวเหล่านี้ต้องมาร้ายแน่ จำเป็นต้องกำจัดให้สิ้นซาก

ในปีที่ The Thing ออกฉาย มีหนังเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวอีกเรื่องหนึ่งคือ E.T. the Extra-Terrestrial (1982) แค่เพียงสองสัปดาห์ก่อนหน้า กลับทำเงินถล่มทลายมหาศาล กลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาล นี่น่าจะชัดเจนนะครับว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงตรงกันข้าม Flop ขาดทุนย่อยยับโดยสิ้นเชิง เพราะเรื่องหนึ่งมองเอเลี่ยนน่ารักมว๊ากกก อีกเรื่องไม่ทันมองตาก็จะฆ่าแกงกันแบบไร้เหตุผลแล้ว ไม่ว่ายุคสมัยไหนผู้ชมย่อมสนใจแบบแรกมากกว่าอยู่แล้ว

ถ้าไม่ได้ E.T. ช่วยไว้ ชาวโลกคงมอง ‘เอเลี่ยน’ มนุษย์ต่างดาวเป็นภัยคุกคามอันตรายต่อชาวโลกโดยสิ้นเชิง นี่ต้องโทษวงการภาพยนตร์ที่สร้างภาพลักษณ์เสียๆหายให้ ไล่ถอยไปก็อาทิ The War of the Worlds (1953), Invasion of the Body Snatchers (1956) ฯ ไฮไลท์เลยคือ Alien (1979) ของผู้กำกับ Ridley Scott ถึงขนาดสร้างนิยาม ‘เอเลี่ยน’ ขึ้นใหม่ นับจากนั้นเมื่อเราคิดนึกถึงมนุษย์ต่างดาว แทบไม่เคยพบเจอเรื่องดีๆ

John Howard Carpenter (เกิดปี 1948) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Carthage, New York พ่อเป็นศาสตราจารย์ด้านดนตรี ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบภาพยนตร์แนว Western ของ Howard Hawks กับ John Ford และหนังไซไฟทุนต่ำแห่งยุค 50s อาทิ The Thing from Another World (1951), Forbidden Planet (1956) ฯ เข้าเรียนที่ Western Kentucky University (ที่พ่อตนเองสอนอยู่) ก่อนย้ายไป University of Southern California เพื่อเรียนสร้างภาพยนตร์ แต่ตัดสินใจลาออกกลางคันหลังสร้างหนังสั้นเรื่อง The Resurrection of Broncho Billy (1970) คว้ารางวัล Oscar: Best Live Action Short Film

ร่วมกับเพื่อนสนิท Dan O’Bannon เขียนบท กำกับ ตัดต่อ แต่งเพลง สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Dark Star (1974) ด้วยทุนสร้าง $60,000 เหรียญ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่กระแส Home Video ทำให้กลายเป็น Cult Classic น่าจะทำกำไรให้ทั้งสองได้แล้ว
– หลังจากหนังเรื่องนี้ O’Bannon ถูกจับจองโดย George Lucus ให้ไปช่วยทำ Special Effect กับ Star Wars (1977) ตามด้วยเป็นผู้เขียนบท Alien (1979)
– ส่วน Carpenter ได้รับทุนสร้างหนังเรื่องถัดไป Assault on Precinct 13 (1976) ตามด้วย Halloween (1978), The Fog (1980), Escape from New York (1981) ฯ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง

The Thing ได้แรงบันดาลใจจากนิยายขนาดสั้น (Novella) เรื่อง Who Goes There? (1938) เขียนโดย John W. Campbell เคยได้รับดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Thing from Another World (1951) โดยผู้กำกับ Christian Nyby ควบคุมงานสร้างโดย Howard Hawks แต่ Carpenter เลือกที่จะดัดแปลงให้ตรงตามเรื่องสั้นมากกว่า remake ฉบับภาพยนตร์ของ Nyby

ปี 1982 ทวีป Antarctica เฮลิคอปเตอร์สัญชาติ Norwegian กำลังไล่ยิงสุนัขพันธุ์ Alaskan Malamute อย่างบ้าคลั่งจนถึงสถานีวิจัยของอเมริกา ขณะลงจอดพลาดทำระเบิดหล่นทำให้เฮลิคอปเตอร์ระเบิดเป็นจุน ขณะยังพยายามไล่ยิงเจ้าหมาตัวนั้นต่อ ถูกหัวหน้าสถานี Garry (รับบทโดย Donald Moffat) ส่องหัวกระจุย เสียชีวิตคาที่

เรื่องราวต่อจากนั้น Garry ส่งนักขับเครื่องบิน R.J. MacReady (รับบทโดย Kurt Russell) พร้อมกับ Dr. Copper (รับบทโดย Richard Dysart) สู่แคมป์/สถานีของ Norwegian เพื่อค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฎพอไปถึงทุกคนถูกฆ่าเสียชีวิต มีการค้นพบร่างของเอเลี่ยน และภายหลังยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว เรื่องวุ่นๆจึงบังเกิดขึ้นเพราะแท้จริงแล้วเจ้าหมาพันธุ์ Alaskan Malamute ได้นำพามาไอ้สิ่งนั้น (The Thing) ติดมาด้วย ใครกันที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ ใครกันที่ถูกมนุษย์ต่างดาวเข้าไปฟักตัวอยู่ในร่างแล้ว

Kurt Vogel Russell (เกิดปี 1951) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Springfield, Massachusetts มีความชื่นชอบกีฬาเบสบอลตั้งแต่เด็ก เข้าร่วม Little League, High School ตั้งใจจะเป็นมืออาชีพ แต่ได้รับอุบัติเหตุเลยหันหน้าเข้าสู่วงการแสดง ผลงานช่วงแรกๆเป็นละครโทรทัศน์ เซ็นสัญญา 10 ปีกับ Walt Disney ในช่วงทศวรรษ 60s กลายเป็น ‘Top Star แห่งทศวรรษ 70s’

ช่วงทศวรรษ 80s เริ่มรับบทตัวละคร anti-heroes กับหนังของ Carpenter อย่าง Escape from New York (1981), The Thing (1982), Big Trouble in Little China (1986) ฯ ที่ต่อมาทำให้เป็นหนึ่งในขาประจำของ Quentin Tarantino อาทิ Death Proof (2007), The Hateful Eight (2015) ฯ เข้าชิง Golden Globe: Best Supporting Actor จากเรื่อง Silkwood (1983)

แรกๆ R.J. MacReady ไม่ใช่ผู้นำหรือหัวหน้าสถานี เป็นเพียงคนขับเฮลิคอปเตอร์กวนๆ ที่มีความกล้าบ้าบิ่นไม่ค่อยสนใจใคร แต่เพราะความไร้ประสิทธิภาพของผู้นำ Garry และคนอื่นๆในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เขาตัดสินใจรับหน้าที่นี้เองแบบไม่สนใจใคร ซึ่งก็ได้พิสูจน์ศักยภาพในการต่อกรกับเอเลี่ยนได้อย่างถึงพริกถึงขิง

ในบรรดานักแสดงทั้งหมดของ The Thing ผ่านมาหลายทศวรรษ ไม่มีใครอื่นให้น่าพูดถึงนอกจาก Russell ผู้ยังเป็นที่ต้องการตัวของ Hollywood และมีแฟนๆรุ่นใหญ่ตามติดมากมาย ด้วยความเคยหล่อเหลา ปัจจุบันยังเก๋า เท่ห์ ลายคราม, กับหนังเรื่องนี้รับบทที่ถ้าไม่แน่จริงไม่รอดถึงตอนจบแน่ แถมพี่แกยังไม่หลับไม่นอน (คงจะสื่อถึง เป็นตัวแทนของสติที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา) สามารถฆ่าเพื่อนร่วมงานได้อย่างเลือดเย็น แต่จะมองว่าคือความเด็ดเดี่ยว บ้าบิ่น คนจริง พูดคำไหนคำนั้นก็ได้

และหนังเรื่องนี้ไม่มีนักแสดงหญิงเลยนะครับ เว้นแต่เสียงจากคอมพิวเตอร์ขณะเล่นหมากรุก (เป็นเสียงของว่าที่ภรรยาผู้กำกับ Adrienne Barbeau) นี่ถือว่าตรงต่อนิยาย Who Goes There? ที่ก็ไม่มีตัวละครผู้หญิงเช่นกัน, เห็นว่าเดิมนั้นมีสมาชิกของสถานี 1 คนที่เป็นผู้หญิง แต่เพราะระหว่างถ่ายทำเธอท้องอยู่จำต้องออกจากกองถ่าย จึงถูกตัดบทออกไป

แซวเล่น: หนังมีตัวละครชื่อ Mac และ Windows ถือเป็นความบังเอิญล้วนๆ ไม่ได้อ้างอิงหรือพาดพึงสองบริษัท IT ใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

ถ่ายภาพโดย Dean Cundey ผู้มีความเชี่ยวชาญหนังแนว Horror ขาประจำของ Carpenter อาทิ Halloween (1978), The Fog (1980), Escape from New York (1981), The Thing (1982) ฯ เข้าชิง Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Who Framed Roger Rabbit (1988), หนังถ่ายทำด้วยระบบ Anamorphic Widescreen ให้ภาพกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา

ฉากแรกๆของหนังที่ถ่ายทำภายนอก เห็นทวีป Antarctica กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แต่ถ่ายทำจริงที่ British Columbia, ประเทศแคนาดา ส่วนฉากภายในถ่ายทำในสตูดิโอที่ Los Angeles ข้างนอกร้อน 100 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 35-40 องศาเซลเซียส) ส่วนข้างในต้องให้ได้ -40 องศาฟาเรนไฮต์/เซลเซียส (นี่เป็นอุณหภูมิตัวเลขที่เท่ากันพอดีเปะเลยนะครับ)

เกร็ด: แคมป์/สถานีของ Norwegian ที่เห็นในหนัง แท้จริงแล้วคือสภาพที่หลงเหลือของสถานีอเมริกันหลังจากถูกระเบิด เพื่อประหยัดงบประมาณ และถ่ายทำหลังสุด

สำหรับการเคลื่อนไหวของ The Thing เห็นว่าใช้เครื่องยนต์กลไก Special Effect ทั้งหมด ออกแบบโดย Rob Bottin (เจ้าของฉายา ‘special effects genius’) เว้นแต่ Dog-Thing เป็นผลงานของ Stan Winston (เจ้าของผลงาน Jurassic Park, The Terminator ฯ) เจ้าตัวไม่ขอรับเครดิต เพราะต้องการยกความดีความชอบให้ Bottin (ได้รับเครดิตเป็น Special Thank)

ตัดต่อโดย Todd Ramsay, หนังไม่ได้ใช้มุมมองของใครเป็นพิเศษในช่วงแรก กระจายๆบทไปทั่วๆเพื่อแนะนำตัวละครทั้งหลาย (แต่เป็นฝั่งมนุษย์ ชาวอเมริกันที่เป็นมุมมองหลักของหนัง) พอเมื่อ MacReady จับปืนขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว แทบจะเหมามุมมองครึ่งหลังทั้งหมดของเขาผู้เดียว

หนังชอบที่จะปล่อยให้ตัวละคร (ที่มีแนวโน้มจะตาย) เกิดความสนเท่ห์ใคร่สงสัย อยู่ตัวคนเดียว แสดงท่าทีน่าสงสัย แล้วตัดเปลี่ยนไปเพื่อให้ผู้ชมเกิดความพิศวงว่า หมอนี่ถูก The Thing ฝังตัวอยู่ข้างในหรือเปล่า ราวกับเกมซ่อนหาที่ชวนให้ผู้ชมหาคำตอบ แต่ก็มักเดากันไม่ถูกเสียเท่าไหร่

ตอนจบของหนังกับตัวละครที่รอดชีวิต กลายเป็นปมปลายเปิดที่ไม่มีภาคต่อหรือผู้กำกับให้คำตอบว่า พวกเขามีใครเป็น The Thing หรือเปล่า? สำหรับคนที่หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องนี้อย่างยิ่งจะไม่มีวันหาคำตอบเป็นที่พึงพอใจได้ ก็แล้วแต่ทฤษฎีไหนที่คุณอยากเชื่อก็ตามใจเลยนะครับ ผมมองว่าทั้งสองยังไงก็ไม่มีใครรอดอยู่แล้ว จะเป็น The Thing หรือไม่ ก็ช่างหัวพวกเขาเถอะ คิดทำไมให้ปวดหัว

ก่อนหน้านี้ Carpenter ตั้งใจจะทำเพลงประกอบหนังด้วยตนเอง แต่เพราะเขาเพิ่งแต่งงานเลยไม่มีเวลาว่างพอ เห็นว่าในงานมีการเอาเพลงของ Ennio Morricone ไปเปิดด้วย เลยเกิดความสนใจ

“Regarding The Thing, by John Carpenter, I’ve asked him, as he was preparing some electronic music with an assistant to edit on the film, ‘Why did you call me, if you want to do it on your own?’ He surprised me, he said – ‘I got married to your music. This is why I’ve called you.’

– Ennio Morricone

แต่การแต่งเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ Carpenter นำหนังฉบับที่ตัดต่อใกล้เสร็จแล้วเปิดให้ดู จากนั้นก็หนีไปเลยไม่เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิด ทำให้ Morricone ต้องแต่งเพลงเองทั้งๆแบบนั้น และหนึ่งในนั้นทดลองทำเป็นแนว Electronic แบบ Low-Key ตามที่ Carpenter ชื่นชอบ ปรากฎว่าเขาหยิบเพลงนั้นไปใช้โดยทันที

“Then when he showed me the film, later when I wrote the music, we didn’t exchange ideas. He ran away, nearly ashamed of showing it to me. I wrote the music on my own without his advice. Naturally, as I had become quite clever since 1982, I’ve written several scores relating to my life. And I had written one, which was electronic music. And [Carpenter] took the electronic score.”

กระนั้นเพลงประกอบของหนังเรื่องนี้ ได้เข้าชิง Razzie Awards: Worst Musical Score อีก 33 ปีถัดมา Quentin Tarantino ได้ทำการแทรกส่วนหนึ่งของเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ใน The Hateful Eight (2015) ที่ทำให้ Ennio Morricone คว้า Oscar: Best Original Score ได้เป็นครั้งแรก

สำหรับคนที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์สงครามเย็น ในช่วงปี 1985 ถือเป็นช่วงพีคของ Second Cold Wars ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา ในการข่มขวัญคู่ต่อสู้ว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองอาวุธยุโธปรณ์ทำลายล้างร้ายแรงที่สุดในโลก

เปรียบเทียบกับสถานการณ์ของหนังเรื่องนี้
– เรื่องราวของหนังดำเนินในทวีปที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งหนาวเหน็บ (Cold Wars)
– ตัวละครต่างพูดจาประชดแดกดัน กล่าวหาคนโน้นคนนี่ว่าถูก The Thing เข้าไปอยู่ในร่าง ทั้งๆที่ส่วนใหญ่คิดไปเองทั้งนั้น
– แพะรับบาป ถูกยิงเสียชีวิตทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้เป็น The Thing ไม่ทันได้พิสูจน์ แค่แสดงออกขัดแย้งต่อพี่เบิ้มใหญ่ (แทน MacReady ด้วยชาติอเมริกันได้เลย)
ฯลฯ

มันมาจากนอกโลก แพร่ผ่านสุนัข (สัตว์เดรัจฉาน) เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ต้องการเลียนแบบกลายเป็น แล้วแผ่ขยายสู่ดินแดนอารยธรรม, ไม่มีใครล่วงรู้วัตถุประสงค์ เป้าหมายการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาวครั้งนี้ แต่เพราะความอัปลักษณ์น่ารังเกียจ พลังทำลายล้างสูง จึงถูกเหล่ามนุษย์ทั้งหลายตัดสินว่าเป็นตัวอันตราย สิ่งชั่วร้ายจำต้องได้รับการกำจัดให้หมดสิ้นไป

มองในมุมของสัตว์ประหลาดก็น่าสงสารเสียเหลือเกิน เพราะมันพูดสื่อสารกับใครไม่ได้ พยายามที่จะกลายเป็นมนุษย์แต่ไม่ได้รับการยินยอมรับ จับได้เมื่อไร่ก็เผามอดไหม้ฆ่าตายให้สิ้น นี่เป็นผลพวงจากการดำเนินเรื่องของหนัง ที่ทำให้ผู้ชมมองโลกในแง่เดียว (ฝั่งชาติอเมริกาเท่านั้นที่ถูกต้อง) สิ่งมีชีวิต/ชนชาติ/ใครอื่น ล้วนถือเป็นศัตรูอันตราย จำเป็นต้องถูกกำจัดเสียให้สิ้นซาก ทั้งๆที่เขาอาจแค่ต้องการดิ้นรนเอาตัวรอด ไม่ได้หวังครอบครองเป็นเจ้าของโลกใบนี้แม้แต่น้อย

ใจความของหนัง มองได้ในลักษณะชวนเชื่อชาติอเมริกา เพราะความต้องการเป็นผู้นำโลกใบนี้ จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างไม่สนอะไรทั้งนั้น เพื่อไม่ให้เอเลี่ยน (ไม่จำเป็นต้องหมายถึงมนุษย์ต่างดาวอย่างเดียว เป็นสิ่งสัญลักษณ์ของ คนเชื้อชาติ/สัญชาติอื่น/คิดต่าง นอกศาสนา ฯ) มาครอบครองโลกนี้ของพวกเขา

แท้จริงแล้ว The Thing คืออะไร? คำตอบของคำถามนี้ ระดับครอบจักรวาลเลยนะครับ อาทิ ความชั่วร้ายที่แฝงอยู่ในตัวมนุษย์, อาวุธยุทโธปกรณ์(ระเบิดนิวเคลียร์)ของโซเวียต, แนวความคิดเห็นต่างจากผู้อื่น, เชื้อชาติสัญชาติ พื้นหลังของมนุษย์, โรคระบาด ความเจ็บป่วย ความตาย ฯ สรุปว่ามันคือสิ่งที่ แพร่/ระบาด/เข้ามาใน ตัวตน/จิตใจ ของมนุษย์ แล้วพยายาม ลอกเลียน/กลายเป็น/หรือทำลายล้าง ให้หมดสิ้นสภาพเดิม

กระนั้นมันไม่จำเป็นต้องรับรู้ความหมายแท้จริงของ The Thing ก็สามารถเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดของหนังได้นะครับ รับชมแบบไม่คิดอะไรอาจดูสนุกกว่าคนคิดมากอย่างเราๆก็ได้

ด้วยทุนสร้างประมาณ $15 ล้านเหรียญ (นี่เป็นหนังทุนสูงกับสตูดิโอเรื่องแรกของ Carpenter ที่ปกติหนังอย่าง Halloween ใช้งบเพียง 375,000 เหรียญเท่านั้น) หลัง E.T. สองสัปดาห์ แต่พร้อมกับ Blade Runner ที่ปรากฎว่าแย่งเงินกันเอง ทำรายรับรวมทั้งหมด $19.6 ล้านเหรียญ เสียงวิจารณ์ย่ำแย่ ขาดทุนย่อยยับ

“I take every failure hard. The one I took the hardest was The Thing. My career would have been different if that had been a big hit…The movie was hated. Even by science-fiction fans. They thought that I had betrayed some kind of trust, and the piling on was insane. Even the original movie’s director, Christian Nyby, was dissing me.”

– John Carpenter ต่อผลลัพท์ของ The Thing

กระแสความนิยม เสียงวิจารณ์ของหนังเรื่องนี้ถือว่าดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น Cult Classic นี่น่าจะทำให้จิตใจของ Carpenter ที่ได้รับผลกระทบทรุดหนักจนในหนังเรื่องต่อๆมา มีความกระชุ่มกระชวยขึ้นบ้างหลังผ่านมาหลายทศวรรษ ซึ่งตัวเขาเคยบอกว่า The Thing เป็นหนังสร้างเองเรื่องโปรดปรานที่สุด ต่อให้ใครสมัยนั้นเกลียดหนังเรื่องนี้มากเท่าไหร่ แต่นี่ถือได้ว่าอาจเป็น Masterpiece ของผู้กำกับเลยละ

ส่วนตัวบอกเลยว่าเฉยมาก ดูไปสัปหงกไป ทั้งๆที่หนังก็มีความน่าสนใจมากมาย ตื่นเต้นลุ้นระทึก ค้นหาใครกันที่เป็น The Thing แต่มันดูไร้สาระยังไงชอบกล, ผมมองว่าหนังมีความจงใจไม่ให้ผู้ชมค้นหาคำตอบได้เอง ต้องจากหนังเท่านั้นที่เป็นบทสรุป ซึ่งจะทำการสุ่มคนที่เหมือนปกติไม่มีอะไร แล้วพอเฉลยออกมากลายร่างก็จะไม่รู้คาดเดาไม่ถูก นี่เป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย ดูมั่วๆซั่วๆคิดตามไปก็ไร้ประโยชน์ แต่ถ้าคุณชื่นชอบหนังสไตล์นี้ ก็แล้วแต่รสนิยมส่วนตัวนะครับ

แนะนำกับคอหนังแนว Sci-Fi Horror ตื่นเต้น ลุ้นระทึก เอาตัวรอด สืบสวนสอบสวนค้นหา, ชื่นชอบสัตว์ประหลาด Special Effect คลาสสิกสมจริงเว่อ, แฟนๆผู้กำกับ John Carpenter นักแสดง Kurt Russell เพลงประกอบของ Ennio Morricone ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความตาย น่าขยะแขยง และใจความชวนเชื่อ

TAGLINE | “The Thing มันคืออะไรก็ไม่รู้ของ John Carpenter แต่คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: