The Third Man (1949)
หนังรางวัล Grand Prix จาก Cannes เรื่องนี้ ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นหนัง British ที่ดีที่สุด ติดอันดับ 1 BFI (British Film Institute) ชาร์ทของประเทศอังกฤษ คล้ายกับ AFI (American Film Institute) ซึ่งเป็นชาร์ทของอเมริกา ซึ่ง The Third Man ก็ติด AFI ด้วย จัดอันดับครั้งปัจจุบันอยู่ที่ 57 มีตัวร้ายติดอันดับ 37 และติดอันดับ 5 หนังแนว Mystery
หนังเรื่องนี้ถือว่าร่วมมือกันสร้างระหว่าง British-American แต่ผู้กำกับ Carol Reed เป็นชาวอังกฤษ จึงถือว่านี่เป็นหนังของ British นะครับ ถ่ายทำกันที่ London เป็นส่วนใหญ่ สำหรับคนไม่รู้ จริงๆแล้วหนังที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักจะแยกเป็น 2 สัญชาตินะครับ อยู่ที่สำเนียงที่ใช้ในหนัง, สัญชาติของผู้กำกับ, สตูดิโอที่ออกทุนสร้าง, และสถานที่ถ่ายทำ ถ้าอย่างน้อย 1-2 อย่างเป็นของอังกฤษ ก็จะถือว่าหนังมีสัญชาติ British ได้ เอาจริงๆนี่เป็นเส้นแบ่งที่บางมากๆนะครับ หลายครั้งทีเดียวที่เราแทบจะไม่รู้เลยว่านี่เป็นหนัง British คนส่วนมากจะเหมารวมไปหมดว่าหนังพูดภาษาอังกฤษเป็นหนัง hollywood
Carol Reed ผู้กำกับชาวอังกฤษคนนี้ได้ Oscar สาขา Best Director จากหนังเรื่อง Oliver! (1968) ถือว่าเป็นผู้กำกับที่เราควรจะรู้จักไว้นะครับ ช่วงพีคที่สุดในอาชีพของพี่แกอยู่ช่วงทศวรรษ 40-50 ตอนกำกับ The Third Man (1949) นั้นมีหนัง 2 เรื่องก่อนหน้านี้ที่ยอดเยี่ยมมากๆ คือ Odd Man Out (1947) และ The Fallen Idol (1948) ผมยังไม่ได้ดูทั้งสองเรื่องนะครับ ซึ่งเขาเป็นผู้กำกับคนแรกที่ได้ BAFTA Award รางวัล Best British Film 3 ปีซ้อน (1947-1949) หนังเรื่องที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับคนนี้ก็คือ The Third Man
Graham Greene เขียนบทเรื่องนี้ และเขียนเป็นนิยายด้วย นี่เป็นหนังที่เรียกว่า film-noir หนังมีโทนของความหม่น เคร่งเครียด อึมครึม หนังมีโทนสีไปทางเข้มๆ เรื่องนี้ใช้การถ่ายทำโดยฟีล์มขาวดำ เรื่องราวเกี่ยวกับนักเขียนที่ไปเจอเหตุการณ์ฆาตกรรมเข้ากับตัว ด้วยความใคร่อยากรู้ หาคำตอบ เขาจึงเริ่มทำการสืบสวนด้วยตนเอง เหตุผลก็พอคาดเดาได้ว่า นี่มันจะกลายเป็นพล็อตนิยายดีๆให้กับเขาเลย แต่การสืบสวนนั้นทำให้เขาได้ค้นพบความจริงบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ มีหักมุมครั้งใหญ่ที่เราคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว
นำแสดงโดย Joseph Cotten เล่นเป็นนักเขียนที่กำลังค้นหาความจริง นักแสดงคนนี้ดังมากๆนะครับ เขาแสดง Citizen Kane ด้วย ที่เล่นเป็นเพื่อนพระเอก ซึ่งถือเป็นเรื่องตลก เพราะหนังเรื่องนี้มีนักแสดงอีกคนหนึ่งที่ออกมาเป็นตัวขโมยซีนที่สุดๆเลยคือ Orson Welles ตัวละครที่ Welles เล่น เป็นอะไรที่ไม่มีใครคาดถึงเลย เพราะเรารู้ว่ามีเขาเป็นหนึ่งในนักแสดงด้วย เพราะความที่เขาดังมากๆ คนจึงมองหากันว่าเมื่อไหร่ที่หมอนี่จะโผล่ออกมา ซึ่งจังหวะที่โผล่ออกมา ถ้าดูในหนังคงมีเสียงปรบมือ กรีดกร๊าดกันเลยละ และวิธีที่ตัวละครนี้โผล่ออกมามันเจ๋งมากๆ
ถ่ายภาพโดย Robert Krasker ผมชอบเทคนิคการถ่ายของหนังเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะการเล่นแสงกับเงา แสงมีความคมชัดมากในทุกๆฉาก ผิดกับเนื้อเรื่องที่ดูมืดหม่นและคลุมเคลือ ซึ่งจุดนี้เองกลับเป็นจุดเด่น เพราะมันทำให้ฉากเปิดตัวของ Orson Welles นั้นออกมาเจ๋งมากๆ ทิศทางของภาพในหนังก็จะรู้สึกแปลกๆ เพราะมีการทดลองมากมาย เช่นถ่ายภาพเงยขึ้น เราจะเห็นภาพออกมาดูผิดแปลกและใหญ่กว่าปกติ มันให้อารมณ์ที่แปลกๆ แต่ความหมายมันใช่เลย เทคนิคนี้เรียกว่า “Dutch angle” สมแล้วกับรางวัล Academy Award สาขา Best Black and White Cinematography
การตัดต่อ ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน Oswald Hafenrichter ได้เข้าชิง Oscar ด้วยแต่ไม่ได้รางวัลไป หนังใช้การเล่าเรื่องผ่านตัวละครหนึ่ง ซึ่งเราจะเห็นมุมมองของตัวละครราวกับเป็นผู้สัมภาษณ์ การตัดต่อด้วยเทคนิคปล่อยให้ตัวละครพูดโดยไม่เห็นหน้า จังหวะของหนังเรื่องนี้ถือว่าเปะมากๆ ฉับไวสุดๆ (จะว่าไวเกินไปด้วยซ้ำ เพราะผมอ่านซับแทบจะไม่ทัน) พอเริ่มจับทิศทางหนังได้คราวนี้ก็จะไวแล้วละครับ ช่วงท้ายๆมีการตัดต่อที่สลับไปมาบ่อยมากๆ ผมมองว่านี่เป็นการทดลองนะครับ คือเราจะจับทิศทางของตัวละครไม่ได้เลยว่าเดินไปไหน เพราะการตัดต่อทำให้เรารู้สึกสับสน แสงไฟและเงาทำให้รู้สึกวุ่นวาย อลม่าน ซึ่งก็พอดีกับเนื้อเรื่องช่วงนั้นพอดีที่เป็นการหนีเอาตัวรอด
เพลงประกอบ นี่เป็นหนังที่ใช้เครื่องดนตรีสายชิ้นเดียวที่ชื่อ zither เล่นโดย Anton Karas นักเล่น zither ที่จากไม่ดังเท่าไหร่กลายเป็นดังระดับโลกเลย เป็นการทดลองที่เจ๋งมากนะครับ เพราะการที่ไม่ใช่เครื่องดนตรีอื่นประกอบเลยทำให้หนังเรื่องนี้อยู่ในระดับดิบ (raw) มากๆ โดยปกติ film noir จะใช้ดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศ แต่หนังเรื่องนี้ใช้องค์ประกอบอื่นๆ ภาพ แสง เงา การตัดต่อ และเนื้อเรื่องในการสร้างบรรยากาศ และเครื่องดนตรี zither นั้นสร้างอารมณ์รุกเร้า ตื่นเต้น ซึ่งเป็นการผสมผสานที่แปลกใหม่แต่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
ผมค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้นะครับ มันมีการเล่าที่น่าดึงดูดมากๆ คงเพราะส่วนผสมของหนังเรื่องนี้มาจาก Orson Welles ล้วนๆ ถ้าใครเคยได้ดูอย่าง Citizen Kane, The Stranger หรือ The Lady from Shanghai ซึ่งเป็นหนังที่ Welles สร้างในยุค 40s ทั้งนั้น และการได้ Welles มาแสดงด้วย มันหมายถึงอะไรที่ใช่เลย ถ้าไม่บอกว่านี่คือหนังของ Carol Reed อาจจะนึกว่านี่เป็นหนังของ Welles เลยก็ได้ ความชอบของผมเลยออกไปในแนวทางชื่นชมมากกว่า เพราะหนังไม่มีจุดที่ทำให้ผมหลงรักเลย มีแต่ เห้ยเจ๋ง เยี่ยม สุดยอด คงเพราะหนังแนวนี้มันไม่ใช่หนังโปรดของผมนะครับ
ผมแนะนำให้กับคนที่ต้องการดูหนังเก่าๆ หนังมีความ classic สูงมากๆ หรือคนชอบหนังแนว film noir ชอบอารมณ์หม่นๆ หนังแนวสืบสวนสอบสวน Mystery ชอบการแก้ปัญหา หาคำตอบ และชอบการหักมุม จริงๆตอนหักมุมถ้าคนดูหนังเก่าๆมาเยอะ และเห็นเครดิตนักแสดงก็อาจจะเดาได้ว่ามันจะหักมุมอะไร แต่ผมอยากให้สังเกตจังหวะที่เฉลยนั้นนะครับ มันเจ๋งมากๆ นั่นเป็นฉากที่ตราตรึงและน่าจดจำมากๆ ผมจัดเรตหนังเรื่องนี้ที่ 15+ นะครับ เพราะความ noir ของหนัง ดูแล้วคงจะมีความเครียดในระดับหนึ่ง จนกว่าจะถึงจุดที่หนังจะเฉลยออกมา หนังแฝงความรุนแรงในคำพูดที่ดูแล้วเห็นภาพตามพอสมควร
คำโปรย : “Carol Reed กำกับ The Third Man หนัง British ที่ยอดเยี่ยมที่สุด กับการแสดงของ Joseph Cotten และ Orson Welles เราจะได้เห็นงานภาพที่แปลกๆ เครื่องดนตรี zither การตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว เป็นส่วนผสมที่แปลกแต่ลงตัวแบบสุดๆ”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LIKE
Leave a Reply