The Third Murder (2017) : Hirokazu Kore-eda ♥♥♥♡
ความตายของคนหนึ่งสามารถมอบอิสรภาพให้กับอีกคนหนึ่ง แต่การจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้จำต้องมีบุคคลที่สามเป็นผู้ตัดสิน สมควรให้ได้รับการช่วยเหลือหรือปฏิเสธต่อต้าน, นี่ไม่ใช่แค่หนังอาชญากรรม Legal Thriller หรือ Courtroom Drama มองลึกลงไปจะพบเห็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Kore-eda มนุษย์เกิดมาทำไม? อะไรคือเป้าหมายปลายทาง? สิ่งสำคัญสุดอยู่ที่การกระทำหรือความตั้งใจ?
สำหรับผู้กำกับที่มีความเป็น ‘ศิลปิน’ มันจะไม่มีคำว่าแนวหนัง Genre จำกัดประเด็นความสนใจของตนเอง จริงอยู่แรงบันดาลใจเรื่องนี้มาจากการรับฟังเพื่อนทนายบ่นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในศาลประเทศญี่ปุ่น แต่เราสามารถมองการพิพากษาได้ในเชิงสัญลักษณ์ อะไรบ้างคือสิ่งที่ Hirokazu Kore-eda ทิ้งไว้ให้เราเป็นผู้ตัดสิน?
“The lawyer was saying, ‘yeah it’s kind of a problem that we are not pursuing to find out the truth of what’s happened.’ So, I asked him ‘what was it that he did?’ and he said, ‘we’re there to make adjustments to the conflict interest’.”
ให้คำนิยามเปรียบเทียบง่ายๆของหนังก็คือ Rashômon (1950) ไม่มีใครพูดเอ่ยความจริง ทุกคน(ยกเว้นผู้ต้องหา)มีสถานะเหมือน ‘ตาบอดคลำช้าง’ เป้าหมายปลายทางไม่ได้เพื่อแสวงหาความจริง แต่คือปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้เข้ากับความสนใจของตนเอง
ถึงกระนั้นสัจธรรมความจริงก็มีเพียงหนึ่งเดียว ใครคือฆาตกร? เป้าหมายเพื่ออะไร? อยู่ที่เราจะสามารถครุ่นคิดตีความเข้าใจ และ ‘ตัดสิน’ จากเนื้อหาหลักฐานข้อจำกัดทั้งหมดได้ใกล้เคียงมากน้อยแค่ไหน
Sandome no Satsujin หรือ The Third Murder ชื่อไทย กับดักฆาตกรรมครั้งที่ 3, คนส่วนใหญ่คงจะมองชื่อหนังแค่การฆาตกรรมครั้งที่สามของ Misumi (รับบทโดย Kōji Yakusho) แต่เราสามารถมองลึกเข้าไปได้อีกสองชั้น (รวมเป็นสูตรสามอีกเช่นกัน)
– Misumi ถือเป็นบุคคลที่สาม ไม่ได้เกี่ยวเนื่องอะไรกับครอบครัว Yamanaka แต่เมื่อมีโอกาสรู้จักเด็กหญิง Sakie (รับบทโดย Suzu Hirose) ที่ถูกพ่อกระทำชำเรา จึงมิอาจอดรนทนอีกต่อไปได้ เลยขอกลายเป็นผู้ตัดสินโชคชะตาของทั้งสอง เข่นฆ่าพ่อแล้วมอบอิสรภาพให้กับเธอ
– สามบุคคลที่ถือเป็นฆาตกรปลิดชีวิตพ่อของ Sakie, คนที่ลงมือกระทำคือ Misumi จากความตั้งใจของ Sakie และอีกคนที่เหมือนไม่ได้เกี่ยวเนื่องอะไรด้วย แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเกิดความเข้าใจเห็นพ้องยอมรับคือพระเอก Tomoaki Shigemori (รับบทโดย Masaharu Fukuyama)
บทความนี้จะเขียนในรูปแบบเล่าเรื่องเชิงวิเคราะห์ เกือบๆช็อตต่อช็อต อธิบายนัยยะความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ (คือผมแคปภาพเพลินไปหน่อย รู้ตัวอีกทีก็กว่า 40 รูปแล้ว เลยว่าเปลี่ยนวิธีการเขียนดีกว่าไม่งั้นจะไม่เสร็จเอา)
ใครเคยรับชม Thief (1981) หรือ Heat (1995) ของผู้กำกับ Michael Mann น่าจดจำช็อตลักษณะนี้ได้ เป็นการใช้แสงไฟจากเมืองเพื่อสื่อความหมายบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น, ช็อตนี้พื้นหลังฝั่งซ้ายคือสะพาน(เดี๋ยวจะมีรถไฟวิ่งผ่าน) ฝั่งขวาคือกรุง Tokyo การเลือกสถานที่แห่งนี้ถือว่าคือด้านมืดมิดของเมืองหลวง แสงสว่างความเจริญยังเข้าไม่ถึง
รถไฟวิ่งบนสะพาน ชีวิตดำเนินเคลื่อนไปท่ามกลางแสงสว่าง แต่กลับไม่มีใครรับล่วงรู้สนใจว่าบางสิ่งอย่างกำลังเกิดขึ้นในเงามืดมืด, ผมเคยไปอ่านเจอว่า สถานที่แห่งหนใดมีแสงสว่างจัดจ้ามากๆ ย่อมต้องค้นพบเจอบริเวณมุมมืดมิดสุดๆอยู่อีกฝั่งด้านหนึ่งตรงข้ามเสมอ
เผาไฟจริงๆมันไม่สว่างแบบนี้หรอกนะ นี่เป็นการเอาหลอดไฟสีแดงหลบซ่อนไว้ใต้พงหญ้าด้านข้าง เมื่อกองไฟลุกโชติช่วงขึ้นมาก็เปิดออกให้ความสว่าง ดูเหมือนเป็นเส้นตรง สื่อถึงความตายเป็นสิ่งคู่ขนานกับการมีชีวิต
เลือดเปื้อนใบหน้า สื่อถึงการกระทำฆ่าคนจะคือสิ่งติดตัว กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ใครๆเวลาพูดถึง ‘หมอนี่คือฆาตกร’ ถึงเอามือเช็ดก็ยังทิ้งคราบรอย มิสามารถชะล้างเลือนลางออกได้โดยง่าย
ผมยังคงจดจำภาพความป่ำๆเป๋อๆ หนุ่มหน้าเอ๋อเหรอของ Kōji Yakusho ได้อย่างดีจาก Shall We Dance? (1996), The Eel (1997) ฯ กับเรื่องนี้วัยเปลี่ยนแต่อะไรๆกลับไม่แตกต่าง ตีเซ่อแกล้งบ้า เปลี่ยนความตั้งใจไปมาเหมือนกิ้งก่าหลากสี จนหาตัวตนความตั้งใจจริงแท้ไม่พบเสียทีว่าคืออะไร
การพบเจอครั้งแรกของทนายสามคน vs. Misumi เราจะไม่เห็นภาพเงาสะท้อน หรือใบหน้าของใครซ้อนทับตำแหน่งวงกลมกึ่งกลาง นี่สื่อถึงความแปลกหน้า ยังไม่รู้จักสนิทสนมมักคุ้น (แต่ถ้าใครช่างสังเกตจะพบเห็นเงาลางๆจางมากๆของ Tomoaki หลบซ่อนอยู่ด้านหลังของ Misumi ตั้งแต่แรกๆเลยนะ)
ผู้กำกับ Kore-eda คงติดใจ Masaharu Fukuyama จากความดื้อรั้นในบทพ่อจากเรื่อง Like Father, Like Son (2013) ให้มาแสดงบทบาทนี้ที่ต้องใช้พลังสมองและความถึกสู้ในการครุ่นคิดโต้ตอบค้นหาข้อเท็จจริง ประติดประต่อเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนแปรผันการแสดงออก/ความรู้สึกไปตามเหตุการณ์เหล่านั้นที่ได้พบเจอ
ทำไมถึงเผาแล้วเศษเถ้าเป็นรูปกางเขน? คือมันขัดแย้งกันอยู่นะ ปกติแล้วศาสนาคริสต์จะใช้การฝังเพื่อให้ร่างกายหวนกลับคืนสู่ผืนแผ่นดินต้นกำเนิด ถ้านำไปเผาคือการทำลายล้างให้มอดไหม้ดับสิ้นสูญ ขณะที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นับถือพุทธชินโต ประเพณีเผาศพเพื่อไม่ให้เกิดการยึดติดในรูปกาย
ผมมองว่า Misumi คงนับถือศาสนาคริสต์ และนี่เป็นความจงใจแสดงออกถึงการพิพากษาตัดสินโทษ (สอดคล้องกับ Judgement Day ใครทำชั่วไว้มากจะถูกแผดเผามอดไหม้เป็นจุน)
การประชุมครั้งแรกของทีมทนาย ยังชิวๆล้อมวงกินหมูกระทะ ปิ้งไปคุยแผนไป เรื่องหมูๆไม่ยากหรอกที่จะช่วยเหลือ Misumi ให้รอดพ้นโทษประหาร, ความที่ Sound Effect เสียงหมูกระทะมันดังมากๆ นี่คงตั้งใจสื่อถึงความลวกๆผ่านไปที (เวลาปิ้งกินหมูกระทะ ก็มักจะแค่วางไว้แปปเดียวเดี๋ยวก็สุกคีบกินได้เลย ทิ้งไว้นานไม่ได้เดี๋ยวไหม้ แต่บางครั้งถ้าชิ้นใหญ่ๆไม่ทันสุกในภายนอกก็เกรียมเสียแล้ว)
‘เวลาลูกมีปัญหา พ่อสัญญาจะรีบตรงไปช่วย’ สาเหตุหนึ่งของปัญหาวัยรุ่น เพราะเมื่อครอบครัวยุ่งแต่งานเด็กๆก็เลยต้องหันเข้าหาเพื่อน ได้ดีก็ถือเป็นโชค คบเลวก็มีโอกาสสูงเสียคน, ความน่าสนใจของช็อตนี้คือรถไฟข้างหลัง แหม! ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Kore-eda ชีวิตที่เคลื่อนผ่านดำเนินไปข้างหน้า บางครั้งก็จำต้องหยุดนิ่งเพื่อครุ่นคิดหาข้อสรุปแก้ไขปัญหาร่วมกัน
น้ำตาเป็นสิ่งเสแสร้งตบตาหลอกลวง สะท้อนเข้ากับพฤติกรรมของ Misumi ปัญหาของเขาแทบไม่ต่างอะไรกับลูกสาวของ Tomoaki
การพบกันครั้งที่สอง, เหลือทนายสองคน vs. Misumi ผมขอเรียกว่าช็อตสามเส้า หนึ่งคือคนที่จับจ้องมองจากภายนอก ส่วนอีกสองกำลังหาข้อสรุปตกลงร่วมกันว่าจะเอายังไงกับแผนการขึ้นศาล
ในมุมกลับกันฝั่งสองรุมหนึ่ง คือความพยายามที่จะล้วงเอาข้อเท็จริงบางอย่างจาก Misumi ของสองทนาย แต่ก็เหมือนจะพบแต่ความกะล่อนปลิ้นปล้อน เชื่อถืออะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
การประชุมปรับเปลี่ยนแผนสองของทนาย ชีวิตเริ่มไม่หมูแล้ว ต้องนั่งล้อมวงโต๊ะทำงานหาข้อสรุปกันใหม่ จะใช้วิธีไหนช่วยเหลือ Misumi ให้รอดพ้นจากตัดสินโทษประหารชีวิตนี้ดี!
วางกล้องลงบนโต๊ะประชุม นี่เรียกว่าเปิดไพ่หน้าตัก ระหว่างผู้พิพากษา-โจทก์-จำเลย เพื่อหาข้อตกลงเริ่มต้นว่าจะให้รูปคดีความออกมาเช่นไรก่อนเปิดศาล
ผมเพิ่งสังเกตว่าฝั่งทนายสามคน สวมสูทในลักษณะต่างกัน นี่อาจสะท้อนความจริงจังในการทำคดีนี้ก็เป็นได้
– คนซ้ายปลดกระดุมออกเม็ดหนึ่ง, ไทด์ดวงกลมเล็กๆ (เหมือนยังใหม่อยู่ ทำหน้าที่จดบันทึก เลยยังวางตัวเป็นกลาง)
– คนกลางติดกระดุมสูง, ไทด์สี่เหลี่ยมใหญ่ (ยึดถือมั่นตามกฎข้อบังคับ ไม่ชอบการปรับเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ)
– คนขวาไม่ติดสักกระดุม, ไทด์ลายทาง (ทำอะไรแหวกแนว ขวางทาง ไม่จำกัดตนเองอยู่ในกฎกรอบ)
กรงนก คือสัญลักษณ์ของการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ไร้ซึ่งอิสรเสรีภาพ จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด อยู่ที่ผู้เลี้ยงจะ ‘ตัดสิน’ โชคชะตาชีวิตให้พวกมัน, จากห้ามีเพียงหนึ่งที่ปล่อยให้รอดชีวิต เราสามารถสื่อถึงเจ้านกขมิ้นตัวนั้นได้กับ Misumi เด็กหญิงที่ Misumi ทะนุถนอมรักเอ็นดู ต้องการช่วยเหลือปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระจากกรงขังของครอบครัวพ่อ-แม่
การพบกันครั้งที่สาม ถือเป็นครั้งแรกที่ Tomoaki เผชิญหน้าตัวต่อตัวกับ Misumi, การอ่านใจด้วยสัมมือ นี่ไม่ใช่พลังพิเศษอะไรแต่เกิดจากการสังเกต มือของพวกเขาขนาดเท่ากันพอดิบพอดีเปะ มันอาจสื่อถึงอะไรหลายๆอย่างที่มีความคล้ายคลึงกัน
ความน่าสนใจของ Sequence นี้ คือนกที่เป็นอากาศธาตุ/ละครใบ้ เมื่อ Misumi กำมือบีบแล้วปล่อยออกมาตัวหนึ่ง สายตาเคลื่อนไปตามทิศทางที่โผลบิน ก็ไม่น่าเชื่อว่า Tomoaki จะสามารถมองเห็นและขยับศีรษะตาม นั่นแปลว่าเขาใช้ใจมองมากกว่าค้นหาด้วยตา (นี่ถือเป็นอีกสิ่งที่ทำให้ Misumi สามารถอ่านใจ Tomoaki ออก)
คดีเก่าสองศพแรกของ Misumi มีผู้พิพากษาคือพ่อของ Tomoaki ซึ่งปัจจุบันเกษียนอายุกลายเป็นพ่อบ้านกำลังปรุงอาหารให้ลูกชายกิน ซึ่งทัศนคติของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลายุคสมัย มากด้วยอคติที่ว่า ‘คนจะเลวมักโดยสันดานตั้งแต่เกิด’
คำพูดลักษณะแบบนี้ทำให้ผมระลึกถึง Awaara (1951) โคตรหนัง Bollywood ของผู้กำกับ Raj Kapoor ซึ่งได้ทำการพิสูจน์แนวคิดนี้ว่าไม่ใช่เรื่องจริงเลยแม้แต่น้อย คนดีชั่วหาได้เกี่ยวข้องกับชาติกำเนิด อยู่ที่ตัวเขาเองจะเลือกปฏิบัติแสดงออก
ช็อตสวยสุดในหนัง ถ่ายโดย Mikiya Takimoto จากช่างภาพนิ่งในกองถ่ายของ Kore-eda เลื่อนขั้นมาเป็นผู้กำกับภาพ Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), The Third Murder (2017) ฯ สามเรื่องนี้สไตล์งานภาพจะแตกต่างผลงานอื่น กล้องมีการขยับเคลื่อนไหลแทบตลอดเวลา ค่อยๆดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้เข้าไปเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว
ในความฝันของ Tomoaki ระหว่างขึ้นรถไฟเดินทางไป Hokkaido, ใช้โดรนบินตรงเข้าหา Misumi กำลังเล่นปาหิมะอย่างสนุกสนานกับ Sakie สังเกตต้นไม้ด้านซ้าย (ฝั่งของ Sakie) ไร้ใบเหลือแต่กิ่งก้าน ขณะที่ฝั่งขวายังใบเต็มต้น (แต่ไกลๆจะเห็นต้นที่ไร้ใบ)
ต้นไม้ไร้ใบ-เต็มใบ มักจะสื่อถึงความสุขสดชื่นมีชีวิตชีวา
– Misumi แม้ตัวจะอยู่ในคุก แต่จิตใจของเขาเอ่อล้นไปด้วยความสุข (เพราะได้มอบอิสรภาพแก่ Sakie ด้วยการเข่นฆ่าพ่อชั่วๆของเธอ)
– สำหรับ Sakie ขณะนั้นยังจมอยู่ในความทุกข์หนัก แม้จะดีใจที่พ่อตาย แต่ทรมานจิตเพราะ Misumi อาจได้รับโทษประหาร
ภาพขอบเบลอๆคมชัดเฉพาะตำแหน่งกึ่งกลาง นี่เป็นการสร้างโลกแห่งความเพ้อฝัน รายละเอียดรอบข้างหาได้สลักสำคัญอะไรไม่ สิ่งอยู่กึ่งกลางด้านหน้าเท่านั้นมีความหมายสูงสุด
ถึงตอนนั้น Tomoaki ยังไม่รับรู้ความจริงเกี่ยวกับ Sakie แต่อ่านจากจดหมายแล้วจินตนาการถุงมือสีแดง มันราวกับเป็นการบอกใบ้กลายๆว่ามือของเธอเปื้อนเลือดอยู่นะ!
ไปๆมาๆ Tomoaki ก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งร่วมปาหิมะเล่นกัน Misumi และ Sakie, ภาพช็อตนี้ใช้โดรนค่อยๆบินขึ้นมุมสูง Bird Eye View ติดต้นไม้โกล๋นโดดเดี่ยวอยู่ต้นหนึ่ง สื่อความถึงชีวิตของพวกเขาจากไม่เคยรู้จัก กลายมามีความสัมพันธ์กัน และต่างมีความเดียวดายไร้ชีวิตชีวาที่พึ่งพิง
ช็อตนี้มีความพิศดารอีกอย่างคือรอยเท้า และมันจะมีเส้นอะไรก็ไม่รู้จางๆขีดลากไว้ ซึ่งจะแบ่งแยกระหว่าง Tomoaki กับ Sakie ขณะที่ Misumi อยู่นอกวง นี่ราวกับเป็นการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ [Tomoaki กับ Sakie จมปลักอยู่ความทุกข์ในกรงกรอบ ขณะที่ Misumi จิตวิญญาณของเขาเป็นอิสระในกรงขัง]
การติดตามหาลูกสาวของ Misumi ประสบความล้มเหลว เพราะเธอตัดสินใจหนีหน้าไม่อยากหวนกลับไปพบเจอพ่อที่ทอดทิ้งติดคุกกว่า 30 ปี (กลายเป็น MacGuffin ไปเสียงั้น) ซึ่งสถานที่สุดท้ายใน Hokkaido คือบาร์แห่งหนึ่งที่เจ้าของกิจการทั้งสองหันหลังให้แบบไม่ใคร่สนใจใยดี
การที่ลูกสาวของ Misumi มาปักหลักทำงานยังดินแดนไกลปืนเที่ยงเช่นนี้ บอกเป็นนัยถึงการหลบลี้หนีหน้าไม่ต้องการพบเจอพ่ออีกต่อไป แบบเดียวกับผลงานแจ้งเกิดของ Kore-eda เรื่อง Maboroshi no Hikari (1995)
การพบเจอครั้งที่สี่ ฝั่งทนายมาสองคนแต่จุดสังเกตคือใบหน้าของ Misumi วางอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางพอดิบพอดีกับวงกลมช่องสำหรับสนทนา, ทั้ง Sequence นี้จะเป็นช่วงเวลาปฏิเสธขัดขืน (ใบหน้าวางอยู่ตรงนั้นแต่ไม่ใคร่คิดรับฟัง) ทำไมไม่บอกก่อนไปหาลูกสาว จะแนะนำว่าอย่าเสียเวลา, ซักถามแนวคิดคนเราดีชั่วติดตัวมาตั้งแต่เกิดหรือเปล่า? ไม่พอใจลุกขึ้นเดินหนีไปด้านหลัง ฯ
“There’re nobody that should’t have been born”.
ฟังดูอาจเป็นคำพูดของคนโลกสวย แต่นี่คือทัศนคติที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยากยิ่งต้องมีบุญมาก อุปมาเหมือนเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำน้ำอยู่ในทะเล ทุกๆ 100 ปี เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่หัวขึ้นมาจากทะเลครั้งหนึ่ง ในทะเลมีห่วงเล็กๆขนาดใหญ่กว่าหัวเต่าหน่อยหนึ่งลอยอยู่ 1 ห่วง โอกาสที่เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่ขึ้นมาแล้วหัวสวมเข้ากับห่วงพอดียากเพียงใด โอกาสนั้นก็ยังมีมากกว่าการที่เหล่าสรรพสัตว์จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์”
Tomoaki แสร้งทำเป็นบังเอิญพบเจอกับ Sakie แล้วพวกเขาไปพูดคุยสนทนากันยังสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง, อดนำช็อตนี้มาแซวเล่นไม่ได้ คือ Establish Shot ก่อนทั้งสองจะเริ่มพูดคุยสนทนา แล้วมีป้าคนหนึ่งจูงหมาเดินนำ เป็นการสื่อถึงชีวิตของคนบางคนจำเป็นต้องมีใคร/อะไรสักอย่าง ชี้ชักนำทางถึงสามารถดำเนินไปในทิศที่ถูกต้อง (พาออกจากมุมมืดมิดของโลก)
ภาพจับจ้องการสนทนาของพวกเขาจะมีความคมชัดที่ใบหน้า ส่วนพื้นหลังเบลอหลุดโฟกัส ไร้ซึ่งความสลักสำคัญน่าสนใจใดๆ แต่ Sound Effect ของฉากนี้ สายลมถือว่าพัดดังกระหึ่ม ทีแรกเธอคงตั้งใจจะฟังหูซ้ายทะลุหูขวาไม่ใคร่สนใจเหมือนเสียงธรรมชาติ แต่ไปๆมาๆก็เกิดความซาบซึ้งเข้าใจที่ได้รับรู้เรื่องราวข้อเท็จจริงดังกล่าว
ผมไม่คิดว่าแม่จะมีความสัมพันธ์เกินเลย Lesbian-Incest กับ Sakie แต่เพราะรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างลูกสาวกับพ่อ ความขลาดเขลาจึงได้แค่หลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง ทำท่านี่สื่อถึงความต้องการให้ลูกสาวเป็นพึ่งพักพิงกายใจของตนเอง
ผมชื่นชอบวินาทีที่ Sakie ค่อยๆหันหน้ามาฉากนี้มากๆ ครึ่งหนึ่งของใบหน้าค่อยๆอาบฉาบด้วยเงาดำ นี่เป็นวินาทีที่สะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจเธอกำลังเข้าสู่ด้านมืดมิด รับไม่ได้กับแม่ที่อ่อนแอทางใจ (ทั้งๆที่ร่างกายแข็งแรงกว่า)
การที่ Sakie ขาเป๋ ไม่ว่าจะพิการแต่กำเนิดหรือข้ออ้างกระโดดตึกตกลงมาขาหัก เป็นการสื่อถึงความผิดปกติที่ทำให้มิอาจขัดขืนต่อสู้เอาชนะผู้ที่คอยแสวงหาผลประโยชน์ ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบ สนแต่ผลประโยชน์สุขสบายส่วนตน
บอกตามตรงผมไม่ค่อยชอบการแสดงสู่ด้านมืดของ Suzu Hirose สักเท่าไหร่ แววตาของเธอยังมีความสดใสซื่อบริสุทธิ์อยู่มาก หยาบกระด้างเกินไปที่จะถ่ายทอดโลกมืดภายในจิตใจตัวละคร แต่ที่ได้รับคำชมล้นหลามคงเป็นส่วนผสมของการเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่ขาพิการแต่ยังการขยับใบหน้าและสายตา ทรงพลังตามคำแนะนำของผู้กำกับ Kore-eda ล้วนๆเลย
ครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้การเผชิญหน้ากันของทั้งสอง แต่คราวนี้จะเห็นภาพเงาสะท้อนของ Misumi ปรากฎลางๆนำหน้า Tomoaki นี่คือขณะก่อนเริ่มเปิดศาล ราวกับเป็นการฝากความหวังเชื่อมั่นใจให้เขา สามารถช่วยเหลือตนให้รอดพ้นโทษประหารชีวิตได้
การเผชิญหน้าระหว่างสามทนายกับ Sakie ถ้าสังเกตไดเรคชั่นลำดับภาพกันดีๆจะพบว่าคล้ายคลึงกับที่พวกเขาพบเจอกับ Misumi ต่างแค่ไม่มีกระจกขั้นขวางระหว่างกลาง (ตำแหน่งนั่งยังเหมือนกันเปี๊ยบ)
เริ่มจากช็อตนี้ที่ สามรุมหนึ่ง เริ่มต้นจากการเปิดประเด็นสร้างสัมพันธ์
จากนั้นเมื่อพูดถึงข้อเท็จจริงบางอย่าง กล้องจะค่อยๆเคลื่อนเข้าใกล้จนกลายเป็นช็อตสามเส้า (สองรุมหนึ่ง) เหมือนภาพด้านบนที่ผมนำเสนอไปแล้ว มุมหนึ่งคือบุคคลภายนอกมองเข้ามา อีกด้านหนึ่งคือการเค้นเอาความจริงที่แสนเจ็บปวดรวดร้าวทรมาน กล้าหรือเปล่าจะต้องแบกรับความอับอายขายหน้าประชาชี ทัศนคติที่สังคมอาจไม่ยินยอมรับสถานะตัวตนของเธออีกต่อไป
จากดวงตาที่เคยมีประกายแสงเล็กๆ ค่อยก้มมองต่ำจนไร้แววใดๆ สะท้อนความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจกำลังตกต่ำลงสู่ความมืดมิดสนิท ปากละห้อยอาจเพราะเธอยังเตรียมใจมาไม่พร้อมพอ แต่ครานี้เมื่อได้ยินคำถามลองเชิงของ Tomoaki สร้างความเชื่อมั่นเล็กๆขึ้นมาว่าฉันต้องทำได้ มันคงไม่มีอะไรเลวร้ายแย่ไปกว่านี้ได้แน่!
ดวงตาของ Tomoaki มีสองดวงไฟประกายแสงแห่งความหวังและชัยชนะ ด้วยสายตามุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว พร้อมลุยเสี่ยงกับแผนการนี้ที่น่าจะการันตีผลลัพท์อย่างแน่นอน
นี่คือความฝันของ Tomoaki หลังจากรับรู้เรื่องราวข้อเท็จจริงจากปากของ Sakie เข้าใจเลยว่าเธอเสมือนฆาตกรคนที่สอง ถึงไม่ได้ลงมือทางกายแต่ครุ่นคิดกระทำด้วยใจ อยากให้พ่อของตนเองถูกเข่นฆ่าตาย เลือดเปื้อนหน้าเช็ดไม่ออก ตราติดตัวไปจนวันสิ้นลมของตนเองเช่นกัน
หลังจากที่ Misumi รับรู้ถึงความตั้งใจของ Sakie ก็เริ่มแสดงอาการไม่พึงพอใจ พูดจากลับกลอกปอกลอก ‘ฉันไม่ใช่ฆาตกร’ ภาพการเผชิญหน้าของพวกเขาช็อตนี้ราวกับว่ากำแพงกระจกกึ่งกลางถูกทำให้มีความเบลอๆ ในตอนแรก Tomoaki ไม่เข้าใจนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกความของเขา แต่สักพักเมื่อถูกตอกย้ำจึงเริ่มตระหนักถึงความตั้งใจขึ้นมาได้ เสียงสั่นๆเพราะเข้าใจได้ทันทีถึงความต้องการ
จับจ้องมองเข้าใกล้ระดับตาต่อตา เพื่อยืนกรานสิ่งที่ Misumi ต้องการจากการอยู่ดีๆเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคนเช่นนี้
แผนสุดท้ายนี้นำไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน แน่นอนว่าใครที่ไหนจะยินยอม สังเกตว่าช็อตนี้มีลักษณะสามเส้า และเบื้องหน้ามีกองหนังสือกฎหมาย หันหลังให้คือต้องทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับเหตุการณ์พิลึกพิลั่นนี้
วินาทีที่ Misumi พูดออกมากลางศาลว่า ‘ฉันไม่ใช่ฆาตกร’ กล้องจะค่อยๆเคลื่อนหมุนรอบตัวเขาดั่งจุดศูนย์กลาง (ความเห็นแก่ตัว) ขณะที่ภาพพื้นหลังผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ มีความเบลอหลุดโฟกัส ไม่ได้อยู่ในความสนใจใดๆ
ความกลับกลอกของ Misumi ทำให้ผู้พิพากษาจำต้องขอพูดคุยนอกรอบว่ามันเกิดบ้าอะไรขึ้น คดีกำลังจะจบแต่มาพลิกล้มกระดานอย่างนี้ เสียทั้งเวลาและอารมณ์ ไหนจะชื่อเสียงหน้าตาของตนเองย่อมสลักสำคัญกว่าชีวิตคำ ข้อสรุปสิ่งที่ได้ยินเมื่อสักครู่มันจึงกลายเป็นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา กลายเป็นการแสดงออกไม่รู้สำนึก การันตีโทษร้ายรุนแรงสุดอย่างแน่นอน
แสงเงาที่อาบใบหน้าของ Misumi มีลักษณะเหมือนซี่กรงที่ขังเขาไว้ภายใน(ห้องขัง) เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาเหมือนจะพบเห็นหรือได้ยินเสียงนก หยิบเอาอาหารยื่นมือออกทางหน้าต่าง น่าเสียดายขณะนั้นไม่มีตัวไหนบินเข้ามากิน
ช็อตที่ Misumi ลุกขึ้นรับฟังคำตัดสิน มุมกล้องเงยขึ้นถ่ายติดเพดานและหลอดไฟ นั่นราวกับว่าเป้าหมายการแสดงออกของเขาได้บรรลุประสงค์ดังใจ ความตายของตนได้ช่วยเหลือใครบางคนให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสไปชั่วชีวิต
หลังจากที่ Misumi พูดขอบคุณและจับมือเปื้อนอาหารนกส่งต่อให้กับ Tomoaki ฉากนี้เหมือนว่าเขาได้นำไปมอบให้กับ Sakie บริเวณมุมห้องนี้ ถือเป็นการปลดปล่อยเธอสู่อิสรภาพโบยบินออกนอกหน้าต่าง
ขณะเดินออกจากศาล พอดิบพอดีกับแสงอาทิตย์อัสดงยามเย็นสีแดงส้มสาดส่องลงบนใบหน้าของ Tomoaki นี่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกอันรวดร้าวใจ และสื่อความหมายถึงจุดจบของความหวังที่อุตส่าห์ตั้งใจมา
การเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายของ Tomoaki กับ Misumi พวกเขาจะค่อยๆเขยิบเข้าใกล้หากันจนกระทั่งช็อตนี้ เห็นภาพสะท้อนในกระจกเป็นเงาของ Tomoaki ซ้อนอยู่ด้านหลังของ Misumi นี่เป็นช่วงเวลาที่พวกเขามีความเข้าใจตรงกันหลายๆอย่าง (คือถ้าซ้อนทับกันพอดีจะสื่อถึงเข้าใจทุกอย่าง แต่เมื่อยังเหลื่อมล้ำคงมีบางอย่างยังไม่เข้าใจ)
และวินาทีสุดท้าย Tomoaki ถอยหลังออกห่างเพื่อเป็นการร่ำลาแยกจาก ขอให้โชคดีในโลกหน้า
เงยหน้ามองขึ้นท้องฟ้า สายไฟระโยงระยางเกาะเกี่ยวแก่งกันอย่างไร้ระเบียบแบบแผน นี่สะท้อนถึงชีวิตและเส้นทางเดินที่มีหลากหลายสาย อยู่ที่ว่าเราจะตัดสินใจไปทางไหนด้วยตนเอง
เช่นกันกับช็อตจบถ่ายมุมก้มจากท้องฟ้า Bird Eye View มองลงมา ยืนตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างสี่แยก เลือกไม่ถูกว่าชีวิตจะดำเนินต่อไปทางไหน มันช่างสับสนว้าวุ่นวาย แค่จะเดินกลับบ้านยังได้หลายทาง คำเข้าใจของผู้ชมต่อหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน
เพลงประกอบโดย Ludovico Einaudi สัญชาติอิตาเลี่ยน ถนัดใน Minimalist Music ผลงานเด่น อาทิ This Is England (2006), Insidous (2010), The Intouchables (2011), J. Edgar (2012) ฯ
ส่วนใหญ่จะเป็นความเงียบ ไม่ก็ Sound Effect เสียงธรรมชาติเสียมากกว่า (เตาปิ้งหมูกระทะ, สายลมพัด ฯ) แต่เมื่อใดบทเพลงประกอบดังขึ้น มักช่วยสร้างบรรยากาศที่สามารถเติมเต็มสัมผัสทางอารมณ์ของตัวละคร
เปียโนกับเชลโล่ เป็นสองเครื่องดนตรีที่ไม่ค่อยได้ยินคู่ดูโอ้กันบ่อยเท่าไหร่ (ส่วนใหญ่จะเปียโน+ไวโอลิน ไม่ก็ทรีโอ้ เปียโน+ไวโอลิน+เชลโล่) อาจสื่อนัยยะของภายนอก-ภายใน ร่างกาย-จิตใจ หนึ่งรัวโน๊ตคู่กลับกลอกไปมาสร้างความพิศวงสงสัย อะไรจริงอะไรเท็จ? สองเสียดสีเอื้อยยาวมอบสัมผัสอันรวดร้าวลุ่มลึกทรมาน
Misumi รับรู้ตัวเองว่าไม่สมควรมีชีวิตเกิดมาบนโลกใบนี้ เพราะกระทำสิ่งชั่วร้ายเข่นฆ่าคนตาย สร้างความผิดหวังให้ลูกสาวหลังติดคุกก็ไม่เคยพบเจอหน้ากันอีกเลย เมื่อได้รับการปลดปล่อยออกมาใช่ว่าชีวิตจะดีขึ้น ถูกหัวหน้าบีบบังคับให้ฉ้อฉลกลโกง ทนายแนะนำให้โกหกโป้ปดสารพัดเพ แต่ฉันยังไม่อยากถูกตัดสินโทษประหาร เลยยินยอมดิ้นรนทำตามหลายสิ่งอย่างเพื่อให้ตนเองเอาตัวรอดตาย
ถ้าเรามองแค่การกระทำของ Misumi จะพบเห็นความเหี้ยมโหดโฉดชั่วอันตราย ยิ่งเคยติดคุกไม่รู้สำนึกก็สมควรรับโทษถึงตาย อยู่ไปหนักแผ่นดินเสียเปล่าๆ ประหารชีวิตแล้วโลกของเราจะได้มีความสุขสงบขึ้นอีกครา
ผมมาครุ่นคิดว่า ถ้าเราตัดสินคนที่การกระทำเพียงอย่างเดียว โลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงแตกต่างเช่นไร? คงเต็มไปด้วยอันธพาลครองเมือง คิดอย่างแสดงออกอีกอย่าง (ปากไม่ตรงกับใจ) ปลิ้นปล้อนกะล่อนหลอกลวง ไว้เนื้อเชื่อวางใจอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ขณะที่คนคิดดีทำดีย่อมไม่สามารถดิ้นรนดำรงชีพมีที่อยู่อาศัย เวลาถูกใส่ร้ายป้ายสีก็มิอาจหาข้อต่างแก้ตัว โชคร้ายทำผิดพลาดไม่ได้ตั้งใจก็จักโดนลงโทษรุนแรงขั้นเด็ดขาด
ยังโชคดีที่ศตวรรษนี้ โลกของเรายังตัดสินคนที่ความตั้งใจเป็นหลัก ผู้ต้องหามีสิทธิ์นำเสนอหลักฐาน พยาน ข้อกล่าวอ้าง ทนายสร้างเรื่องแก้ต่าง จริงบ้างไม่จริงบ้างก็เพื่อโน้มน้าวลูกขุน/ผู้พิพากษา ให้เกิดความใจอ่อนข้อต่อเหตุผลการกระทำ ลดหลั่นโทษทัณฑ์ไม่ให้รับโทษประหารชีวิตเป็นพอ
ถ้า Misumi เลือกเล่นเกมตามที่ทนายวางไว้ตั้งแต่แรกๆหรือแผนสองสาม เชื่อว่าย่อมมีแนวโน้มรอดพ้นโทษประหารชีวิต แต่เพราะหลังจากรับรู้บางสิ่งอย่างจาก Tomoaki ทำให้เขาตัดสินใจเลิกล้มกระดาน รู้ทั้งรู้แสดงออกเช่นนั้นต่อหน้าศาล การันตีหายนะความตายอย่างแน่นอน แต่ใช่ว่าเขาจะรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ เพราะนั่นทำให้ได้เติมเต็มบางสิ่งอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต
ตัวแปรสำคัญของหนังคือ Sakie ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า ‘เธอถูกพ่อแท้ๆข่มขืนกระทำชำเรา’ นั่นเป็นสิ่งไม่ควรมีใครยินยอมรับได้ แต่แม่ผู้อ่อนแอกลับเพิกเฉยไม่สนใจ กลายเป็นบุคคลที่สามอย่าง Misumi ล่วงรู้แล้วยอมความไม่ได้ คนบางพวกเหมือนตนเองไม่สมควรเกิดมาบนโลกใบนี้ ตัดสินใจเข่นฆ่าให้ตาย แล้วยอมถูกจับกุมตัว ค่อยมาลุ้นว่าจะถูกสังคมตัดสินพิพากษาเช่นไร
การที่ Sakie พูดบอกข้อเท็จจริงดังกล่าวกับ Tomoaki ทำเอา Misumi เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจอย่างรุนแรง แปรสภาพกลายเป็นคนกลับกลอกปอกลอก พูดขึ้นว่าทันที ‘ฉันไม่ใช่ฆาตกร!’ เพราะนี่คือวิธีเดียวเท่านั้นที่ทำให้เด็กหญิงไม่จำเป็นต้องเสียสละตนเองพูดบอกสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว สร้างความอับอายขายหน้าต่อหน้าผู้คนมากมาย แลกอิสรภาพของเธอกับการรับโทษประหาร ถือเป็นสิ่งคุ้มค่ากับชีวิตอันไร้ค่าของฉันแล้ว
ความตั้งใจดังกล่าวนี้ของ Misumi ไม่มีใครเชื่อ (ผู้ชมส่วนใหญ่ก็คงไม่เชื่อ) แต่คนๆเดียวเท่านั้นที่รับรู้เข้าใจคือ Tomoaki เมื่อถึงจุดๆหนึ่งยินยอมทำตามคำขอของลูกความ แม้นั่นจะคือพ่ายแพ้และความตาย พบเจอกันครั้งสุดท้ายพบเห็นเงาที่สะท้อนทับกัน มองตาเข้าใจหัวอก พ่อที่ดีย่อมต้องสามารถเสียสละทำทุกอย่างเพื่อลูกรัก
สรุปง่ายๆในความเข้าใจของผมก็คือ
– Sakie ถูกพ่อแท้ๆข่มขืน แม่เพิกเฉยไม่สนใจ
– Misumi ออกจากคุกพบเจอ Sakie พบเห็นความคล้ายคลึงกับลูกสาว เลยเอ็นดูทะนุถนอมดั่งลูกในไส้
– Misumi คือฆาตกรตัวจริง ฆ่าพ่อของ Sakie เพราะรับไม่ได้หลังจากล่วงรู้ความชั่วร้ายดังกล่าว
– Sakie ต้องการช่วยเหลือ Misumi เล่าความจริงให้ Tomoaki
– พอ Tomoaki เล่าให้ Misumi แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างแรงกล้า แสร้งพูดบอก ‘ฉันไม่ใช่ฆาตกร!’ เพื่อให้คดีจบ และ Sakie ไม่ต้องพูดความจริงออกมา
– Tomoaki เข้าใจหัวอก Misumi เพราะตัวเขาก็เป็นพ่อคน พร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อช่วยเหลือลูกของตนเอง
มองในมุมของผมนี้จะรู้สึกได้ว่า Misumi คือโคตรของลูกผู้ชาย พ่อตัวจริงที่พร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างให้กับลูก รวมถึงชีวิตตนเอง (แม้ Sakie จะไม่ใช่ลูกแท้ๆ แต่ก็รักใคร่เอ็นดูเหมือนลูกในไส้จริงๆ) ใครหรือหน่วยงานไหนจะตัดสินประการใด ก็หาได้มีความถูกต้องต่อประสงค์ความตั้งใจของเขาไม่
การกระทำของ Tomoaki ก็ถือเป็นโคตรลูกผู้ชายเช่นกัน! กล้ายินยอมรับการตัดสินใจของลูกความ ทั้งๆรู้ว่าผลลัพท์ไม่รอดความตาย แต่เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน Sakie จะได้โบยบินเป็นอิสระจากกรงขังพันธการ ไม่ถูกสังคมรุมหยามเหยียดประณามถ้าปล่อยให้พูดความจริงนั้นออกมา นั่นเพราะว่าเขามองเธอไม่ต่างจากลูกสาวตนเอง (จะมองว่าคือลูกสาวอีกคนหนึ่งก็ได้นะ)
ผู้กำกับ Kore-eda มีลูกสาววัยกำลังน่ารัก คาดว่าคงเข้าโรงเรียนแล้วละ สร้างหนังเรื่องนี้ก็เพื่อสะท้อนความต้องการของตนเองเป็นนัยๆ ถึงไม่ค่อยมีว่างใช้เวลาร่วมด้วยแบบ Tomoaki แต่จะขอทำตัวเหมือน Misumi พ่อพร้อมเสียสละทำทุกสิ่งอย่างเพื่อลูก … แม้ต้องใช้ชีวิตเข้าแลกก็ตาม
หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice แม้เสียงตอบรับค่อนข้างดีแต่ไม่ได้ลุ้นรางวัลอะไร เพราะผู้ชมฝั่งตะวันตกมองว่ามีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเกินไป และผิดแผกแปลกต่างจากไดเรคชั่นปกติของผู้กำกับ Kore-eda จนยากจะค้นพบความตั้งใจจริงของเขา
ไม่มีรายงานทุนสร้าง ทำเงินในญี่ปุ่นได้ 1.3 พันล้านเยน (=$12.2 ล้านเหรียญ), เข้าชิง Japan Academy Prize ถึง 10 สาขา คว้ามา 6 รางวัล
– Best Film ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Kōji Yakusho) ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actress (Suzu Hirose) ** ได้รางวัล
– Best Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Film Editing ** ได้รางวัล
– Best Cinematography
– Best Lighting Direction
– Best Sound Recording
– Best Music
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง คือความงดงามสวยล้ำของการถ่ายภาพทั้งภายนอก-ใน ลุ่มลึกซึ้งแฝงความหมายทุกช็อตฉาก สะท้อนถึงไดเรคชั่นของผู้กำกับ Kore-eda สะสมประสบการณ์ก้าวมาเกือบถึงจุดสูงสุดในชีวิตแล้วกระมัง
แนะนำคอหนัง Courtroom Drama, ผู้พิพากษา ทนายความ ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย, นักคิด นักปรัชญา ครุ่นค้นหาความหมายชีวิต, แฟนๆผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda และนักแสดงนำ Masaharu Fukuyama, Kōji Yakusho, Suzu Hirose ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับการฆาตกรรม ความคอรัปชั่น และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
Leave a Reply