The Tin Drum (1979) German : Volker Schlöndorff 💔

(21/4/2022) การมาถึงของนาซี ทำให้วิถีชีวิตชาวเยอรมันราวกับหยุดนิ่ง แช่แข็ง เหมือนเด็กชายวัย 3 ขวบ ตัดสินใจสั่งร่างกายหยุดเจริญเติบโต! … แนวคิดดังกล่าวฟังเหมือนน่าสนใจ แต่แท้จริงแล้วมันคือความพยายามแก้ต่าง ลวงหลอกตนเองของผู้สร้าง (และชาวเยอรมัน) แถมยังไปคว้ารางวัล Palme d’Or และ Oscar: Best Foreign Language Film

ตั้งแต่เขียนบทความลง raremeat.blog มีภาพยนตร์เพียงสองเรื่องเท่านั้นที่ผมมอบคะแนนคุณภาพ: Worst คือ พระเจ้าช้างเผือก (พ.ศ.2483) และ The Tin Drum (1979) ต่างมีเรื่องราวความจอมปลอม หลอกลวงตนเองของผู้สร้าง แต่กลับได้รับยกย่องจากนักวิจารณ์กลุ่มหนึ่ง แถมพยายามชวนเชื่อให้คนรุ่นใหม่มองเห็นถึงคุณค่า มันใช่เรื่องเสียที่ไหน!

ผมตั้งใจหวนกลับมาดู The Tin Drum (1979) เพราะครุ่นคิดว่าเมื่อประสบการณ์รับชมภาพยนตร์มากขึ้น อาจทำให้มุมมอง ทัศนคติ อคติที่เคยมีปรับเปลี่ยนแปลงไป แต่ปรากฎว่ามันกลับยิ่งเลวร้ายลงไปกว่าเก่า เพราะนิสัยของไอ้เด็กเวรมันช่างบัดซบ จัญไร จนไม่สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ได้อีกต่อไป

I must confess that the symbolism of the drum failed to involve me.

And here we are at the central problem of the movie: Should I, as a member of the audience, decide to take the drum as, say, a child’s toy protest against the marching cadences of the German armies? Or should I allow myself to be annoyed by the child’s obnoxious habit of banging on it whenever something’s not to his liking? Even if I buy the wretched drum as a Moral Symbol, I’m still stuck with the kid as a pious little bastard.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 2/4

บรรดานักวิจารณ์ที่ชื่นชมยกย่องระดับ Masterpiece ล้วนมองหนังในลักษณะ dark comedy โดยเปรียบเทียบเรื่องราวเกิดขึ้นกับ ‘magical realist’ ใช้ภาพความรุนแรงประจักษ์ต่อเด็กชายที่ดูบริสุทธิ์เดียงสา เพื่อสร้างความรังเกียจ ขยะแขยง ต่อต้านนาซี ของผู้กำกับ Volker Schlöndorff ได้อย่างเจ็บแค้นฝังหุ่น

like few films since ‘Citizen Kane’—a combination of stunning logistics and technique and of humanistic content that is terrifically affecting.

Charles Champlin นักวิจารณ์จาก The Los Angeles Times

ก่อนอื่นเลยขอกล่าวถึง Günter Wilhelm Grass (1927-2015) นักเขียนนวนิยายชาว German เจ้าของรางวัล Nobel Prize in Literature เกิดที่ Danzig-Langfuhr, Free City of Danzig (ปัจจุบันคือ Gdańsk, Poland) ครอบครัวเปิดร้านขายของชำ ได้รับการเลี้ยงดูแบบ Catholic เคยเป็นเด็กแท่นบูชาในพิธีมิสซา, พออายุ 16 อาสาสมัครทหาร Waffen-SS ได้รับบาดเจ็บแล้วถูกจับเชลยสงคราม ใช้แรงงานเหมือง ฝึกฝนเป็นช่างแกะสลักหิน, ช่วงปี 1953 ย้ายสู่ West Berlin ร่ำเรียน Berlin University of the Arts จากนั้นเริ่มใช้เวลาว่างเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย นำประสบการณ์ส่วนตัวจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาพัฒนาเป็น Die Blechtrommel (1959) โฟกัสเรื่องราวการขึ้นมาเรืองอำนาจของนาซี ส่งผลกระทบต่อเมือง Danzig เช่นไร

Glass เป็นคนขวาจัด (left-wing) ให้การสนับสนุน Social Democratic Party of Germany (SPD) ต่อต้านพรรคนาซีหัวชนฝา ด้วยเหตุนี้นวนิยายของเขาจึงมักเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างเกรี้ยวกราด ในเชิงสัญลักษณ์ ทั้งยังบันทึกประวัติศาสตร์ของเมือง Danzig ซึ่งหลังจาก Die Blechtrommel (1959) ยังพัฒนาภาคต่อ Katz und Maus (1961) และ Hundejahre (1963) กลายมาเป็น Danziger Trilogie หรือ Danzig Trilogy

แม้นวนิยาย Die Blechtrommel (1959) จะมีลักษณะเป็น Political Novel แต่ส่วนผสมของการนำเสนอให้ความรู้สึกน่าอัศจรรย์ เหนือธรรมชาติ ‘magic realism’ โดยเฉพาะลีลาการเขียนของ Grass จงใจให้สร้างความไม่น่าเชื่อถือในการเล่าเรื่อง ‘unreliable narrator’ ประเดี๋ยวเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ประเดี๋ยวเปลี่ยนมุมมองบุคคลที่สาม เพื่อสื่อถึงความปกติ-ผิดปกติ ลักปิดลักเปิด พฤติกรรมตัวละคร รวมไปถึงการปกครองนาซี ที่หาความมั่นคง เอาแน่เอานอนไม่ได้

This is Günter Grass’s own childhood, except he grew. The parents, the whole relationship with the uncle, the neighbors, and the whole spirit of the period—that’s what he grew up in, and that’s how he ended up wanting to partake in the war.

Volker Schlöndorff

ด้วยเหตุนี้เมื่อตอนนวนิยายวางขาย เสียงตอบรับเลยค่อนข้างผสมๆ ได้รับการตีตราดูหมิ่นพระเจ้า (Blasphemous) ลามกจรกเปรต (Pornographic) แต่ยอดขายดีถล่มทลาย กระทั่งปี 1965 ค่อยเริ่มได้รับการยินยอมรับจากสาธารณะ ยกย่องเป็นหนึ่งในวรรณกรรม post-World War II ดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง!

เกร็ด: สำนวน ‘beat a tin drum’ สื่อถึงการกระทำบางอย่างเพื่อก่อกวน เรียกร้องความสนใจ ในความหมายของ The Tin Drum ทุกครั้งที่เด็กชาย Oskar ตีกลองแต๊ก (หรือส่งเสียงกรีดร้อง) จึงเป็นสัญลักษณ์ประท้วงต่อต้าน ไม่ยินยอมรับเหตุการณ์ที่เขา(หรือผู้แต่ง)ประจักษ์พบเห็น

Oskar’s beating of his titular tin drum symbolizes his protest against the middle-class mentality of his family and neighborhood.


Volker Schlöndorff (เกิดปี 1939) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Wiesbaden บิดาเป็นหมอหูตาจมูก ฐานะค่อนข้างมั่งมี แต่สงครามทำให้บ้านพังย่อยยับเยิน แถมมารดาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อปี 1944, ช่วงทศวรรษ 50s ถูกส่งไปศึกษาต่อยังฝรั่งเศส Institut des Hautes Etudes Cinematographiques ทีแรกร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์และการเมือง แต่สนิทสนมเพื่อนร่วมชั้น Bertrand Tavernier เลยได้รับแนะนำให้รู้จัก Louis Malle ชักชวนมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Zazie in the Metro (1960), จึงเกิดความสนใจด้านภาพยนตร์ สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Who Cares? (1960), ร่วมกำกับสารคดี Méditerranée (1963), ภาพยนตร์เรื่องแรก Young Törless (1966) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล FIPRESCI Prize, ผลงานเด่นๆของ Schlöndorff อาทิ Baal (1970), The Lost Honor of Katharina Blum (1975), Germany in Autumn (1978), The Tin Drum (1979) ฯ

แม้ว่า New German Cinema จะเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1962 การมาถึงของ Schlöndorff โดยเฉพาะผลงานแรกแจ้งเกิด Young Törless (1966) ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผลงานเรื่องสำคัญแห่งยุคสมัย และยังสามารถต่อยอดไปถึงจุดสูงสุดกับ The Tin Drum (1979) ฟื้นฟูวงการภาพยนตร์เยอรมัน ให้หวนกลับมาประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติอีกครั้ง!

Schlöndorff มีความสนใจนวนิยาย Die Blechtrommel (1959) ตั้งแต่เมื่อวางออกขาย อาจเพราะเรื่องราวสั่นพ้องชีวิตของตนเอง แต่ก็ตระหนักว่ายังไม่มีศักยภาพเพียงพอจะดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ จึงค่อยๆสะสมประสบการณ์จนกระทั่งความสำเร็จของ The Lost Honor of Katharina Blum (1975) จึงบังเกิดความเชื่อมั่น และสามารถติดต่อขอลิขสิทธิ์จากผู้แต่ง Günter Grass ที่ยื้อยักมานานหลายปีได้สำเร็จสักที

สำหรับการดัดแปลงบท Schlöndorff ติดต่อ Jean-Claude Carrière (ขาประจำผู้กำกับ Luis Buñuel) ที่รู้จักกันมาตั้งแต่สร้างภาพยนตร์อยู่ฝรั่งเศส เชื่อมั่นว่าจะสร้างความน่าสนใจในการนำเสนอมุมมองบุคคลที่สาม (ที่ไม่ใช่ชาวเยอรมัน) และให้ Franz Seitz Jr. (นักเขียน/ผู้กำกับชาวเยอรมัน) ร่วมด้วยช่วยอีกแรงผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง

เกร็ด: นวนิยาย Die Blechtrommel (1959) มีทั้งหมดสามเล่ม แต่ภาพยนตร์ดัดแปลงจากเล่ม 1-2 จบสิ้นแค่หลังจากร่างกายของ Oskar Matzerath หวนกลับมาเจริญเติบโตเป็นปกติอีกครั้ง ตัดทิ้งเรื่องราวหลังสงครามสิ้นสุด (Post-Wars)


เรื่องราวมีจุดศูนย์กลางที่เด็กชายวัยสามขวบ Oskar Matzerath (รับบทโดย David Bennent) เกิด-เติบโตขึ้นที่ Free City of Danzig เป็นบุตรของ Agnes Bronski (รับบทโดย Angela Winkler) แต่งงานกับทหารผ่านศึก Alfred Matzerath (รับบทโดย Mario Adorf) แล้วร่วมกันเปิดร้านขายของชำ แต่เธอนั้นแอบลักลอบคบชู้อยู่กับลูกพี่ลูกน้อง Jan (รับบทโดย Daniel Olbrychski) ที่มักแวะเวียนมาหาอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อปี 1927 วันเกิดสามขวบของ Oskar แม้ได้รับของขวัญกลองแต๊ก แต่ตนเองกลับไม่ได้รับความสนใจใดๆจากครอบครัว/คนรอบข้าง จึงแสร้งว่าตกบันได ทำให้ร่างกายหยุดการเจริญเติบโต ต่อจากนั้นทุกคนจึงต้องคอยดูแลเอาใจใส่ เอาอกตามใจ ยินยอมทำตามคำร้องขอของเด็กชายทุกสิ่งอย่าง


David Bennent (เกิดปี 1966) นักแสดงสัญชาติ Swiss เกิดที่ Lausanne, Switzerland บิดาคือนักแสดงชาวเยอรมัน Heinz Bennet แต่งงานกับมารดาชาวฝรั่งเศส, วัยเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าร่ายกายมีความผิดปกติทางการเจริญเติบโต ตอนอายุ 11 สูงเพียง 1.14 เมตร เลยได้รับเลือกให้มารับบทแสดงนำ The Tin Drum (1979)

รับบท Oskar Matzerath เด็กชายวัยสามขวบที่ตัดสินใจหยุดการเจริญเติบโตของร่างกาย มีความชื่นชอบหลงใหลกลองแต๊ก ไม่ยินยอมให้ใครมาพลัดพรากจาก ตีรัวพร้อมส่งเสียงกรีดร้องทุกครั้งเมื่อพบเห็นสิ่งไม่พึงพอใจ เรียกว่าเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ถูกตามใจจนเสียคน แม้วัยวุฒิเพิ่มสูงขึ้น ก็ไม่สามารถเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่

เมื่อพบเห็นตัวละครที่มีความผิดปกติลักษณะนี้ ผู้ชมส่วนใหญ่มักมองในเชิงสัญลักษณ์ไว้ก่อน ซึ่งความตั้งใจเบื้องต้นของผู้สร้างก็คือ ต้องการหยุดเวลา พัฒนาการ/เติบโตของประเทศเยอรมัน ช่วงระหว่างที่นาซีก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจ (เพราะนาซีได้ทำลายสามัญสำนึกความเป็นเยอรมันไปหมดสิ้น) จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกสิ่งอย่างถึงหวนกลับมาเป็นปกติ … แต่มันจะกลับมาเป็นปกติได้จริงๆนะหรือ?

ปัญหาคือเรื่องราวของ The Tin Drum ไม่ได้ทำให้เด็กชายวัยสามขวบ ดูมีความใสซื่อบริสุทธิ์ในเชิงสัญลักษณ์เลยสักนิด ตรงกันข้ามกลับมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น เมื่อใครทำอะไรไม่พอใจก็รัวกลอง ส่งเสียงกรีดร้อง เรียกว่า ไอ้เด็กเวรตะไล! ซึ่งการแสดงออกเหล่านั้นคือวิธีแสดงทัศนะ ความคิดเห็นของผู้สร้าง ต่อเหตุการณ์ที่ตัวละครพบเห็น ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยอคติ ความเกรี้ยวกราด ไม่อยากยินยอมรับสิ่งต่างๆที่เคยบังเกิดขึ้น

Oskar is not an innocent, and the book is not written by an innocent either.

Volker Schlöndorff

การนำเสนอผ่านมุมมองเด็กชายวัยสามขวบ นอกจากเป็นอะไรที่ดูเกินจริง ไร้สาระ ยังทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยเหมาะสมควรสักเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่(เด็กชาย)พบเห็น ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆ ความสัปดลของผู้ใหญ่ แถมความตายของทุกคนรอบข้าง ล้วนมีต้นสาเหตุมาจากไอ้เด็กเวรตะไลคนนี้ … มันจึงไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่จะสามารถยินยอมรับไหว

ผมค่อนข้างรับได้กับเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่หนังนำเสนอผ่านสายตาของเด็กชาย (เพราะสามารถทำความเข้าใจตัวละครในเชิงสัญลักษณ์) จนกระทั่งเมื่อไอ้เด็กเวรกลับกลายเป็นผู้กระทำสิ่งเหล่านั้นเสียเอง เริ่มจากลิ้นเลียผงฟู ออรัลเซ็กซ์ ร่วมรักกับแฟนสาว ฯ เหล่านี้มันหลุดจากนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ก้าวข้ามผ่านขอบเขตความเหมาะสมทางศีลธรรม อีกทั้งผู้กำกับให้นักแสดงเด็กเล่นฉากเหล่านี้ด้วยตนเอง … หนังโป๊ห่วยๆยังดูมีคุณค่าทางศิลปะกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เสียอีกนะ!

Bennent ไม่ใช่คนแคระนะครับ แค่ร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ แต่เขาก็ค่อยๆตัวสูงขึ้นเรื่อยๆจนมาหยุดอยู่ที่ 1.55 เมตร ตามมาตรฐานยุโรปถือว่าตัวเตี้ยพอสมควร (แต่ถือเป็นความสูงปกติเมื่อเทียบคนเอเชีย) เสียงชื่นชมของหนังเรื่องนี้ทำให้เขาเมื่อเติบโตขึ้น จึงตัดสินใจเป็นนักแสดงเต็มตัว มีผลงานทั้งละครเวที และภาพยนตร์ประปราย

ในเรื่องการแสดงต้องชมเลยว่า Bennent เล่นดีมากๆ สีหน้าสายตามีความโฉดชั่ว ไอ้เด็กเวรตะไล! เล่นได้สมจริงสุดๆ โดยเฉพาะน้ำเสียงบรรยายเต็มไปด้วยอารมณ์หลากหลาย เกรี้ยวกราด เสียดสีถากถาง ช่วงท้ายก็เหน็ดเหนื่อยหมดสิ้นหวังอาลัย เป็นนักแสดงเด็กที่ถือว่าอนาคตสดใส เห็นว่าพอโตขึ้นก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยในวงการละครเวที

Angela Winkler (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Templin โตขึ้นร่ำเรียนเทคนิคการแพทย์ ก่อนหันเหความสนใจสู่การแสดง ร่ำเรียนกับ Ernst Fritz Fürbringer จากนั้นเริ่มมีผลงานละครเวทีตั้งแต่ปี 1967, ภาพยนตร์เรื่องแรก Jagdszenen aus Niederbayern (1969), ก่อนมาโด่งดังกับผลงานที่สอง The Lost Honour of Katharina Blum (1975) กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Volker Schlöndorff และมีชื่อเสียงระดับนานาชาติเรื่อง Germany in Autumn (1978) และ The Tin Drum (1979)

รับบท Agnes Matzerath มารดาของ Oskar แม้ครองคู่แต่งงานกับสามี Alfred แต่กลับตกหลุมรักลูกพี่ลูกน้อง Jan Bronski แอบไปมาหาสู คบชู้ ร่วมรักหลับนอน เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนอยู่ในสายตาของเด็กชาย (มีแนวโน้มว่าบิดาแท้ๆอาจคือ Jan ก็เป็นได้) ครั้งหนึ่งเมื่อไปเที่ยวทะเล เกิดอาการขยะแขยงปลาไหล ท้องไส้ปั่นป่วน จนกระทั่งได้รับการปลอบประโลมโดย Jan ร่วมรักหลับนอนจนตั้งครรภ์ ยินยอมรับความจริงไม่ได้จึงตัดสินใจเข่นฆ่าตัวตาย

Agnes คือบุคคลที่มีความเป็นห่วงเป็นใย Oskar มากที่สุด (ก็มารดาอ่ะนะ!) ขณะเดียวกันก็พยายามแอบทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ ไม่ต้องการให้สามีหรือบุตรชายรับรู้เห็นสิ่งที่ตนเองปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ นั่นรวมถึงตอนพลาดพลั้งตั้งครรภ์ เพราะตระหนักว่าพ่อของเด็กคนนั้นคือ Jan จึงไม่อาจยินยอมรับอนาคต กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย (คือกลัวว่าบุตรคนนี้จะกลายเป็นแบบ Oskar)

บทบาทของ Winkler อาจไม่ได้มีความโดดเด่นในช่วงแรกๆ แต่ความลับๆล่อๆกลับสร้างความดึงดูด น่าหลงใหล จนกระทั่งเมื่อเธอแสดงอาการรังเกียจขยะแขยง แม้ดู OverActing อย่างรุนแรง ก็เชื่อว่าผู้ชมบางคนก็อาจเลิกกินปลาไหลไปเลย รับไม่ได้กับภาพพบเห็นแบบเดียวกับตัวละคร และจี๊ดไปกว่านั้นเมื่อตอนเธอตั้งครรภ์ รับประทานปลาดิบๆ มันราวกับกรรมสนองกรรมยังไงชอบกล (ดั่งสำนวน เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง)


Mario Adorf (เกิดปี 1930) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Zürich, Switzerland เป็นบุตรนอกสมรส บิดาคือศัลยแพทย์ มารดาทำงานแผนกรังสีการแพทย์, โตขึ้นเข้าเรียน Johannes Gutenberg-Universität Mainz ศึกษาปรัชญา จิตวิทยา อาชญากรศาสตร์ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ดนตรี และการละคอนเวที ใช้เวลาว่างฝึกต่อยมวย และเข้าร่วมชมรมการแสดง, หลังเรียนจบได้งานที่โรงละคร Zurich Schauspielhaus ติดตามด้วย Munich Kammerspiele, เริ่มมีชื่อเสียงจากบทฆาตกรโรคจิต The Devil Strikes at Night (1957), Ten Little Indians (1965), The Tin Drum (1979), Lola (1981) ฯลฯ

รับบท Alfred Matzerath แม้มีความรักต่อภรรยา Agnes แต่หลังจากเผลอเรอลืมปิดประตูห้องใต้ดิน ทำให้บุตรชาย Oskar พลัดตกบันได ร่างกายไม่สามารถเจริญเติบโต กลายเป็นปมขัดแย้งไม่ลงรอย ครั้งหนึ่งเมื่อซื้อปลาไหลมาทำอาหารเย็น ยิ่งสร้างความโกรธเกลียด อคติ มองหน้าไม่ติดอีกต่อไป

ภาพลักษณ์ของ Adorf ทำให้ตัวละครดูเข้มงวด เผด็จการ ความล้มเหลวในชีวิตคู่ (กับ Agnes) ทำให้เป็นคนเก็บกด อมทุกข์ทรมาน โหยหาใครบางคนสำหรับพึ่งพักพิง ช่วงแรกๆเลยฝักใฝ่ Adolf Hitler แต่หลังจากภรรยาเสียชีวิต ต้องออกจากราชการมาดูแลกิจการร้านขายของชำ แอบมีสัมพันธ์กับพนักงาน Maria พลาดพลั้งทำเธอตั้งครรภ์ สร้างอคติขัดแย้งต่อ Oskar (ที่ตกหลุมรัก Maria) … ทุกการกระทำของตัวละครนี้ล้วนเต็มไปด้วยความผิดพลาดทั้งนั้น

ในตอนแรกผมครุ่นคิดว่าตัวละครนี้อาจเป็นตัวตายตัวแทนของ Adolf Hitler แต่ไปๆมาๆเหมือนจะไม่ใช่ แล้วก็ออกทะเลไปไกลจนไม่หลงเหลือนัยยะแฝงอะไร แนวโน้มอาจแค่คือบิดาผู้แต่งนวนิยาย Günter Grass เท่านั้นเองแหละ … นี่ทำให้เรื่องราวขาดมิติที่ซับซ้อน เบื้องหลังตัวละครที่ว่างเปล่า ทำลายความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์กับตัวละครหลักเสียอย่างนั้น!


ถ่ายภาพโดย Igor Luther (1942-2020) ตากล้องสัญชาติ Slovak รับงานทั้งในประเทศ Czech Republic และ German ผลงานเด่นๆ อาทิ eins (1971), Der Fangschuß (1976), Die Eroberung der Zitadelle (1977), Die Blechtrommel (1979) ฯลฯ

งานภาพของหนังเต็มไปด้วยลีลาภาษาภาพยนตร์ ด้วยเทคนิคร่วมสมัย พร้อมรายละเอียดเชิงสัญลักษณ์มากมาย เพื่อสร้างสัมผัสสมจริง จับต้องได้ รู้สึกสะอิดสะเอียน น่าขยะแขยง ขนลุกขนพอง ผู้ชมรับไม่ได้กับความอัปลักษณ์พิศดาร ทั้งภาพพบเห็นและหลายๆเรื่องราวบังเกิดขึ้น

ขณะที่ฉากภายในถ่ายทำยัง Spandau Studios, West German ส่วนฉากภายนอกออกตระเวนไปตามประเทศต่างๆ อาทิ Gdańsk, Poland (ท้องถนนเมือง Danzig) Zagreb, Croatia (ไปรษณีย์ Polish Post Office) บางฉากก็ถ่ายทำที่ Calvados, Normandie, Paris ประเทศฝรั่งเศส ฯลฯ


ฉากแรกของหนัง Anna Bronski (ย่าของ Oskar) ระหว่างกำลังเผามัน พบเห็นโจรกระจอก Joseph Kolaizcek กำลังหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงถกกระโปรงให้หลบซ่อนอยู่ภายใต้ แต่เขากลับฉกฉวยโอกาสมีเพศสัมพันธ์ (ทำยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน) ตั้งครรภ์ Agnes (มารดาของ Oskar)

เมืองไทยเรามีสำนวน ‘เกาะชายประโปรง’ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากนัยยะซุกใต้กระโปรงนี้สักเท่าไหร่ สื่อถึงการต้องพึ่งพาผู้อื่นเอาตัวรอด (ในบริบทนี้ก็คือ บุรุษใช้อิสตรีหลบซ่อนตัว) ในแง่การตีความค่อนข้างเปิดกว้างพอสมควร

  • เด็กชาย Oskar ตัดสินใจสั่งให้ร่างกายหยุดการเจริญเติบโต ทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา (ตัวเขาก็เคยซ่อนใต้กระโปรงของย่า เหมือนต้องการหลบหนี หวนกลับสู่ครรภ์มารดา)
  • ชาว Polish และชาวยิว ที่ต้องซุกซ่อน ปกปิดตนเอง (หรือหลบหนีออกจากเยอรมัน) ในช่วงการเรืองอำนาจของนาซี
  • เป็นการด่าทอ Adolf Hitler ว่ามีพฤติกรรมไม่ต่างจากโจรกระจอก หลบซ่อนตัวอยู่ในกระโปรงผู้หญิง แล้วฉกฉวยโอกาสกระทำสิ่งชั่วร้าย/ขัดต่อความต้องการของคุณย่า (แต่เธอก็สมยอมไม่ใช่รึ?)
  • แทนด้วยผู้กำกับ Schlöndorff และผู้แต่งนวนิยาย Grass ซุกซ่อนตนเองอยู่ภายใต้สื่อภาพยนตร์/นวนิยาย นำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียดแค้นของตนเองต่อการขึ้นมาเรืองอำนาจของนาซี

การหลบหนีอีกครั้งของ Joseph Kolaizcek ใช้การวิ่งข้ามแพลอยน้ำ แทนสัญลักษณ์การข้ามน้ำข้ามทะเลสู่สหรัฐอเมริกา (ตามเสียงบอกเล่าของ Oskar) ดำผุดดำว่ายจนกลายเป็นนักธุรกิจ ประสบความสำเร็จ แต่ไม่เคยคิดหวนกลับมาช่วยเหลือคนเบื้องหลัง … จะว่าไปนี่คือวิถีของชาวเยอรมันที่สามารถอพยพ หลบหนีภัยไปต่างประเทศ แทบไม่มีใครหวนกลับมาในช่วงนาซีเรืองอำนาจ

ฉากการเกิดของ Oskar สร้างบรรยากาศอันหลอกหลอน ขนลุกขนพองราวกับ The Exorcist (1973) เริ่มจากนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ทารกน้อยค่อยๆเคลื่อนออกจากช่องคลอด โลกภายนอกเต็มไปด้วยหมอกควัน ความบิดเบี้ยว เอียงกะเทเร่ แสงสีน้ำเงินกระพริบ (เหมือนสายฟ้าฟาด) รอยยิ้มของบรรดาผู้ใหญ่ มันช่างจอมปลอม หลอกลวง แฝงด้วยเลศนัยบางอย่าง … ไดเรคชั่นดังกล่าวก็เพื่อเปรียบเปรย Oskar ไม่ต่างจากปีศาจ ซาตาน (ขณะเดียวกันยังเป็นเทวดาน้อยของครอบครัว)

นี่คือช็อตที่สื่อถึง Oskar ได้ตรงตัวสุดแล้ว เด็กชายวัยสามขวบทำได้เพียงจับจ้องมองดูความมึนเมา เน่าเฟะ เลอะเทอะของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ (ทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะ) ซึ่งเขาก็แสดงปฏิกิริยาส่ายหัว ไม่ชื่นชอบ ต้องการหลบซ่อนอยู่ใต้กระโปรงคุณย่า (หรือจะมองว่าหวนกลับเข้าไปอยู่ในครรภ์มารดาก็ได้เช่นกัน) แต่กลับถูกปฏิเสธ ผลักไส นั่นทำให้เขาครุ่นคิดตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

ฉากตกบันไดของ Oskar นำเสนอด้วยการตัดสลับไปมาระหว่าง

  • กล้องจับจ้องใบหน้าของ Oskar ขณะส่งเสียงกรีดร้อง และกำลังทิ้งตัวตกบันได
  • กลองวางอยู่ชั้นล่างบันได กล้องหมุนติ้ว 360 องศา

ไดเรคชั่นดังกล่าวชวนให้ระลึกถึง Vertigo (1959) แต่ในเมื่อเด็กชายไม่ได้เป็นโรคกลัวความสูง การหมุนกล้อง 360 องศา จึงราวกับเหตุการณ์ต่อจากนี้เป็นการนำเข้าสู่โลกแฟนตาซี (ห้องใต้บันได=โพรงกระต่าย) บังเกิดเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ (Oskar หยุดการเจริญเติบโตของร่างกาย)

Oskar มีความเพ้อฝันอยากเป็นอย่าง Grigory Rasputin ชื่อจริง Grigory Yefimovich Novykh (1869-1916) ‘จอมตัณหา’ ชาวรัสเซีย เข้าร่วมนิกาย Khlysty เชื่อว่าบุคคลจะเข้าใกล้ถึงพระเป็นเจ้ามากที่สุด จักต้องผ่านการร่วมเพศแบบมาราธอน สมสู่ไม่เลือกหน้า จนร่างกายหมดความกระหาย ปราศจากกิเลสตัณหาราคะ กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิพลต่อจักรวรรดิรัสเซีย … เลยถูกลอบสังหารเสียชีวิต

หลายคนน่าจะสังเกตได้ว่า ฉากนี้คือจินตนาการของ Oskar เพราะไม่มีทางที่ Rasputin พร้อมสาวๆเปลือยกายจะมาปรากฎตัวอยู่ในห้อง แต่ปัญหาคือ David Bennent ยืนจับจ้องมองอยู่ในฉากนี้จริงๆ นี่ชวนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมไม่น้อยเลยละ?

เกร็ด: พิณแก้ว (Glass Harp) เครื่องดนตรีที่ทำจากแก้วไวน์ มักเล่นโดยใช้นิ้วชุบน้ำหมุนวนรอบปากแก้ว โดยระดับเสียงที่แตกต่างขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ใส่

การแสดงพิณแก้วในหนัง คงต้องการล้อความสามารถพิเศษของ Oskar ที่ส่งเสียงกรีดร้องแล้วทำให้แก้วกระจกแตก และทำการแสดงโดยบุคคลที่มีความผิดปกติด้านการเจริญเติบโตของร่างกายเช่นเดียวกัน … น่าจะแค่นั้นกระมัง

ฉากที่ผมครุ่นคิดว่าเจ๋งสุดในหนัง! Oskar หลบซ่อนตัวอยู่ใต้แท่นปรัมพิธี กำลังตีรัวกลองแต๊ก สร้างความปั่นป่วนให้แก่วงดุริยางค์ เล่นถูก-เล่นผิด จากเพลงมาร์ชกลายเป็นจังหวะวอลซ์ จากเคร่งเครียดจริงจังกลายเป็นสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้ แถมฟ้าฝนยังเป็นใจ สาดเทลงมาถูกจังหวะถูกเวลา

ความน่าทึ่งของ Sequence นี้ ต้องยกให้การตัดต่อและบทเพลงประกอบ ทำได้เข้าจังหวะ พอดิบดีระหว่างภาพ-เสียง มีความยียวนกวนบาท เรียกเสียงหัวเราะ รอยยิ้มร่าให้ผู้ชมในลักษณะ Dark Comedy

ปลาไหล อาหารที่หลายๆคนชื่นชอบรับประทาน แต่เคยรู้รึเปล่าว่านี่เป็นสัตว์ไม่ต่างจากพวกอีแร้งกา ไฮยีน่า ฯ ชอบกินพวกของเน่าเปื่อย ซากพืชซากสัตว์ หรือถ้าขาดแคลนอาหาร ดินโคลนก็แดกได้เหมือนกัน! แต่ละประเทศในโลกก็คงมีวิธีเลี้ยงปลาไหลที่แตกต่างกันไป ในหนังคงเป็นเทคนิคทางฝั่งยุโรป/เยอรมัน ใช้ซากศพม้าเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย

ปฏิกิริยาของแม่ Agnes สามารถสะท้อนถึงความจริงที่ได้รับการเปิดเผย พฤติกรรมอันโฉดชั่วร้ายของนาซี (เหมือนปลาไหลในซากศพม้า) เมื่อประจักษ์ต่อคนทั่วไป หรือชาวเยอรมันแสร้งว่าไม่เคยรับรู้อะไร ย่อมอ๊วกแตกอ๊วกแตน ขยะแขยง หวาดกลัวตัวสั่น ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่

ขณะที่ Alfred ตรงเข้าไปขอซื้อปลาไหลมาทำอาหารเย็น, Jan ระหว่างลูบหลัง Agnes จับโน่นจับนี่ ประชิดตัว เข้าข้างหลัง เมื่ออยู่ในห้องก็เดินเข้ามา ร่วมรักหลับนอน (จนเธอตั้งครรภ์) … เรียกว่าทั้งสองฝ่ายต่างพยายามฉกฉวยโอกาส (ระหว่างที่ Agnes ตกอยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง) กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ/พึงพอใจของตนเอง

ส่วน Oskar ทำได้แค่ตีกลอง กรีดร้อง แล้วหลบซ่อนตัวในตู้เสื้อผ้า (นัยยะเดียวกับซุกใต้กระโปรงคุณย่า) ไม่สามารถพูดบอก แสดงออก กระทำอะไรได้ทั้งนั้น เพียงพบเห็นสิ่งเลวร้าย(ของนาซี)ดำเนินไป

ระหว่างที่แม่ Agnes มาสารภาพบาปกับบาทหลวง Oskar ปีนป่ายขึ้นไปเรียกร้องให้พระเยซูตีกลอง กรีดร้อง แสดงความไม่พึงพอใจ หรือกระทำอะไรบางอย่างต่อเยอรมันขณะนั้น แต่ผลลัพท์กลับไม่มีปฏิกิริยาใดๆเกิดขึ้นทั้งนั้น … นี่เป็นฉากแสดงอคติต่อศาสนาของผู้กำกับ Schlöndorff ทำไมพระเป็นเจ้าไม่ทำอะไรสักอย่างต่อนาซี มัวแต่เพิกเฉย ปล่อยคนตายนับแสนล้าน แบบนี้มันจะมีความน่าเชื่อถือศรัทธาตรงไหน?

แม้ก่อนหน้านี้ Agnes จะแสดงอาการรังเกียจขยะแขยงปลาไหล แต่มาตอนนี้รับประทานปลาดิบๆเพราะอาการแพ้ท้อง ราวกับกรรมสนองกรรมยังไงชอบกล! นัยยะฉากนี้ตรงสำนวน ‘เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง’ ไม่ชื่นชอบสิ่งนั้น แต่กลับยังแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งดังกล่าว สะท้อนถึงสภาพสังคมเยอรมันสมัยนั้น ปากบอกอคติต่อนาซี แต่กลับยินยอมให้เรืองอำนาจ ก้าวขึ้นมาปกครองบริหารประเทศชาติ

ในตอนแรก Agnes ยังครุ่นคิดไม่ได้ถึงสิ่งที่ตนเองหมกมุ่นกระทำ จนกระทั่งเมื่อคุณย่าบอกว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ เลยตรอมใจหรือฆ่าตัวตายก็ไม่รู้ละ สะท้อนถึงการไม่สามารถยินยอมรับนาซีได้อีกต่อไป (ขอยอมตาย ดีกว่าตกอยู่ภายใต้ความสิ้นหวัง)

ในไปรษณีย์ Polish Post Office จะมีฉากที่ Jan ต่อไพ่ทรงพีระมิด สามารถสื่อถึงการก่อร่างสร้างตัว วัวัฒนาการ/ความเจริญของประเทศชาติ แต่การมาถึงของพรรคนาซีได้ทำลายพิระมิดไพ่ และดินแดนแห่งนี้ให้มีสภาพราบเรียบเป็นหน้ากลอง!

ทีแรกผมนึกว่าหนังตัดต่อผิดพลาด ถึงได้ติดตากล้องกำลังถ่ายทำภาพยนตร์ แต่ก็มาเอะใจว่าอาจเป็นการกำลังบันทึกฟีล์มข่าว (Newsreel) สำหรับภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซี (Propaganda Film) ก็ได้เช่นกัน

แปลกที่หนังไม่ได้นำเสนอระหว่างพลเรือนชาว Polish ถูกกราดยิง ประหารชีวิต มีเพียงให้เห็นว่าพวกเขายืนหันหน้าเข้าหากำแพง นายทหารคนหนึ่งอุ้ม Oskar เดินจากไป แล้วภายหลังมีใครบางคนเล่าให้เด็กชายฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Jan แต่แค่นั้นก็เพียงพอให้ผู้ชมเข้าใจฉากนี้แล้วละ

อิทธิพลของนาซีถือว่ายิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามกาลเวลา จนกระทั่งความพยายามตีกลองของ Oskar เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้พิธีต้อนรับท่านผู้นำ ไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป (ล้อกับตอนครึ่งแรก ที่เหมือนว่าเขาสามารถทำให้พิธีสวนสนามของพรรคนาซี ล่มเละเทะไม่เป็นท่า)

การมาถึงของหญิงสาวแรกรุ่น Maria มือสองข้างโอบอุ้มผักกาดขนาดใหญ่ สร้างความสดใหม่ แจ่มใสซื่อบริสุทธิ์ ให้กับทั้งพ่อ-ลูก Alfred และ Oskar, แม้ว่า Katharina Thalbach (เกิดปี 1954) อายุย่างเข้า 24-25 แต่แค่เพียงถักเปีย ทำท่าทางระริกระรี้ ก็สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวละครดูอายุ 16-17 อย่างแนบเนียน

ไม่ว่าจะผงฟู, Oral Sex หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่าง Oskar กับ Maria แฝงนัยยะเดียวกับตอนที่มารดา Agnes แพ้ท้องตั้งครรภ์ ตรงสำนวน ‘เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง’ ก่อนหน้านี้เคยแสดงอาการไม่ชื่นชอบ เต็มไปด้วยอคติ (ต่อความร่านราคะของมารดา) แต่กลับยังแสวงหาต้องการ ตกหลุมรักแรกพบ ซึ่งหนังใช้ข้ออ้างวัยวุฒิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เด็กชายบังเกิดอารมณ์ทางเพศ (นี่ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้เลยนะ!) ถึงอย่างนั้นเชื่อเถอะว่าร่างกาย(ของเด็กสามขวบ)ย่อมไม่สามารถเติมเต็มตัณหาของหญิงสาวแรกรุ่นได้แน่ๆ

หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ครุ่นคิดไม่ถึงฉากนี้ เพื่อนบ้านชักชวน Oskar มาที่ห้องนอน เปิดผ้าห่ม พวกเขากำลังจะทำอะไรกัน? นี่เป็นอีกฉากที่ Oskar ควรจะตีกลอง กรีดร้อง แต่กลับถอดเสื้อคลุมแล้วซุกตัวในผ้าห่มเพื่อที่จะ …

ตัวละครนี้ชื่อว่า Lina Greff ภรรยาพ่อค้าขายผักผลไม้ และยังเป็น Scoutmaster สำหรับคัดเลือกวัยรุ่นหนุ่มเข้าร่วมกลุ่ม Hitler Youth ซึ่งเหมือนว่าเขาจะแอบ ‘เล่น’ มัดเชือกกับเด็กๆ พอถูกทางการจับได้เลยตัดสินใจแขวนคอฆ่าตัวตาย (ก่อนหน้านี้ทำการชักรอกกระสอบแล้วปล่อยทิ้งลงพื้น แลดูคล้ายๆการประหารชีวิตด้วย Guillotine)

พฤติกรรมของ Lina Greff ในฉากนี้แสดงถึงความหิวกระหาย ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย ไม่ได้รับการเติมเต็มทางเพศจากสามีมานาน เลยเรียกเด็กตัวกระเปี๊ยก ขอเพียงมีกระปู๋ก็ได้หมดถ้าสดชื่น OMG!!!

Oskar เข้าร่วมคณะการแสดงของ Bebra แล้วมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับ Roswitha (คนรักของ Bebra) นี่เป็นอีกเหตุการณ์ที่เด็กชายควรตีกลอง กรีดร้อง (แบบที่เคยไม่ยินยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับชู้รัก Jan) แต่เขากลับย้อนแย้ง แสดงออกพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาด้วยตัวเอง เพื่อตอบสนองตัณหา ความพึงพอใจส่วนตน ไม่สนความถูกต้องเหมาะสมอีกต่อไป

หนึ่งในสถานที่ที่พวกเขาเดินทางมาเปิดการแสดงคือ Normandy เมืองท่าทางตอนเหนือของฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบก เตรียมพร้อมโต้ตอบกลับฝ่ายอักษะ) แต่… พวกเขาแสดงให้ใครรับชมกัน เหมือนแค่มาท่องเที่ยว ปิคนิคเฉยๆเท่านั้นเอง

หลังสิ้นสุดทัวร์การแสดง Oskar เดินทางกลับบ้าน เด็กชายยืนในตำแหน่งอาบฉาบด้วยแสงสีน้ำเงิน สื่อถึงความรู้สึกภายในที่มีความอ้างว้าง หนาวเหน็บ โดดเดี่ยวลำพัง ขณะที่บิดา Alfred เปิดประตูเดินออกมาจากห้องที่ดูอบอุ่น สว่างไสว แม้พวกเขาจะเคยโกรธเกลียด เต็มไปด้วยอคติ แต่เมื่อบุตรชายเดินทางกลับบ้าน ก็บังเกิดรอยยิ้มที่มีชีวิตชีวา (แต่ก็ซ่อนเร้นความเศร้าโศกโศกาภายใน)

ความตายของ Alfred มาจากเข็มสัญลักษณ์ของนาซี ซึ่งหลังจากถูกกลั่นแกล้งโดย Oskar เลยตัดสินใจกินมันลงไป (สื่อถึงการสูญเสียเกียรติ/ศักดิ์ศรี เพื่อให้รอดชีวิตเลยกล้ำกลืนสิ่งเคยเชื่อมั่นศรัทธา) แต่มันใช่ของรับประทานได้เสียที่ไหน ขณะกำลังก้างติดคอ พยายามดิ้นรน แสดงอาการน่าสงสัย เลยถูกทหารพันธมิตรกราดยิง เข่นฆาตกรรม ตกตายอย่างน่าเศร้าสลดเสียใจ (หรือจะสมน้ำหน้าดีละ)

การมาถึงของ Mariusz Fajngold ผู้รอดชีวิตเชื้อสาย Jewish เป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาใน Director’s Cut เพื่อนำเสนอผลกระทบจากสงคราม อาการป่วย Shell Shock หรือภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) พบเห็นภาพหลอน ยังครุ่นคิดจินตนาการถึงภรรยาและลูกที่จากไปแล้ว ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะสามารถปรับตัว ยินยอมรับความจริง … เป็นฉากที่มีความหลอกหลอนอยู่ไม่น้อยเลยนะ และต้องชื่นชมนักแสดง Wojciech Pszoniak (1942-2020) สัญชาติ Polish เล่นดีมากๆเลยละ

การสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างของ Oskar (ไม่หลงเหลือใครให้ตามใจอีกต่อไป) ทำให้เขาตระหนักว่าตนเองไม่สามารถเป็นเด็กอีกต่อไป ตัดสินใจทอดทิ้งกลองแต๊ก แล้วจู่ๆถูกก้อนหินเขวี้ยงขว้างโดนศีรษะ ขณะกำลังตกลงในหลุมฝังศพบิดา ภาพหมุน 360 องศา ทำให้สามารถฟื้นตื่นขึ้นจากโลกแฟนตาซี ร่างกายหวนกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง

ต้นฉบับนวนิยาย Die Blechtrommel (1959) ยังมีเรื่องราวต่อจากนี้อีกพอสมควร แต่ความขัดแย้งระหว่างร่างกาย-จิตใจ ทำให้ Oskar ไม่สามารถเติบโตได้อย่างคนปกติ ถูกส่งเข้ารักษายังโรงพยาบาลจิตเวช … ก็แน่ละว่าวิถีชีวิตชาวเยอรมัน จะสามารถหวนกลับสู่สภาวะปกติหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้เช่นไร

ตัดต่อโดย Suzanne Baron (1927-95) สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำผู้กำกับ Louis Malle ผลงานเด่นๆ อาทิ Monsieur Hulot’s Holiday (1953), Mon Oncle (1958), The Fire Within (1963), The Tin Drum (1979) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา เสียงบรรยายของ Oskar Matzerath เริ่มตั้งแต่จินตนาการถึงคุณย่าตั้งครรภ์มารดา จากนั้นตนเองตัดสินใจหยุดการเจริญเติบโตของร่างกาย พานผ่านช่วงเวลาการขึ้นมาเรืองอำนาจของนาซี จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง เขาจึงตัดสินใจสั่งให้ร่างกายกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง

  • อารัมบท, คุณยายของ Oskar พบเจอคุณตาที่เป็นอาชญากรหลบหนี ให้ความช่วยเหลือ แล้วตั้งครรภ์มารดา
  • องก์หนึ่ง, Oskar วัยสามขวบ
    • วันเกิดครบรอบสามขวบของ Oskar ได้รับของขวัญกลองแต๊ก แล้วตัดสินใจหยุดการเจริญเติบโตของร่างกาย
    • สำรวจความสามารถพิเศษของตนเอง ส่งเสียงกรีดร้องเมื่อไม่สามารถยินยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับชู้รัก Jan
    • จุดเริ่มต้นของนาซี ขณะกำลังมีกิจกรรมเดินสวนสนาม Oskar แอบเข้าร่วมใต้เวที พยายามก่อกวนจนงานล่ม
    • พบเจอสหายคนแคระในการแสดงคณะละครสัตว์
  • องก์สอง, Oskar สูญเสียมารดา (ก่อนหน้าสงคราม)
    • ครั้งหนึ่งเมื่อครอบครัวพา Oskar มาท่องเที่ยวชายหาด พบเห็นปลาไหลจากศีรษะม้า ทำให้มารดาอาเจียนอย่างขยะแขยง แต่บิดากลับซื้อมันมาทำอาหารเย็น
    • เหมือนว่ามารดาท้องกับ Jan จึงมีความอยากรับประทานปลาดิบ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธอยินยอมรับความจริงไม่ได้เลยตัดสินใจฆ่าตัวตาย
    • หลังงานศพมารดา นาซีก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจในเยอรมัน กำจัดขับไล่ชาวยิวและ Polish
  • องก์สาม, Oskar กับ Maria & Roswitha (ช่วงระหว่างสงคราม) 
    • บิดาว่าจ้าง Maria ทำงานในร้านขายของ ด้วยความใคร่รู้ใคร่สนใจทางเพศของ Oskar จึงพยายามเกี้ยวพาราสี ต้องการมีเพศสัมพันธ์ แต่พอพบเห็นบิดาร่วมรักกับเธอ จึงยินยอมรับความจริงไม่ได้
    • หลังจาก Maria ตั้งครรภ์ Oskar พบเจอกับเพื่อนคนแคระ ตอบรับเข้าร่วมการแสดง แล้วมีสัมพันธ์กับ Roswitha แต่เธอก็เสียชีวิตระหว่างสงคราม
    • เมื่อกลับมาบ้าน Maria คลอดบุตรชาย และความพ่ายแพ้สงครามของเยอรมัน ทำให้บิดาถูกเข่นฆาตกรรม
  • ปัจฉิมบท, หลังสงคราม
    • ร้านของบิดาถูกส่งต่อให้ชายชาวยิว Mariusz Fajngold ที่ยังคงพบเห็นภาพหลอนของครอบครัว
    • Oskar ที่สูญเสียทุกสิ่งอย่าง ร่างกายจึงหวนกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง

เรื่องราวของหนังในมุมมองของเด็กชาย Oskar จะดำเนินเคียงคู่ขนานกับช่วงเวลาการขึ้นมาเรืองอำนาจของพรรคนาซี ตั้งแต่จุดเริ่มต้น -> ก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจ -> ก่อสงครามโลกครั้งที่สอง -> ความพ่ายแพ้และการล่มสลาย หลังจากนั้นเด็กชาย Oskar จึงตัดสินใจสั่งให้ร่างกายหวนกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง


Maurice-Alexis Jarre (1924 – 2009) นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Lyon บิดาทำงานฝ่ายเทคนิคสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ในตอนแรกเลยสมัครเรียนวิศวกรตามรอยเท้าพ่อ แต่ก็เปลี่ยนความสนใจไปร่ำเรียนดนตรี Conservatoire de Paris เลือกเครื่องกระทบ (percussion) เป็นสาขาหลัก, หลังเรียนจบทำงานยัง Théâtre National Populaire, เขียนเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Burning Fuse (1957), เริ่มมีชื่อเสียงในฝรั่งเศสจาก Eyes Without a Face (1959), โด่งดังกลายเป็นตำนานเมื่อร่วมงานผู้กำกับ David Lean เรื่อง Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), Ryan’s Daughter (1970) และ A Passage to India (1984)

เมื่อแรกพบเห็นเครดิต Maurice Jarre ใครๆย่อมคาดหวัง จะได้รับฟังโคตรเพลงโรแมนติก ระยิบระยับ จัดเต็มวงออเคสตร้า แต่ที่ไหนได้บรรยากาศของภาพยนตร์ The Tin Drum (1979) สภาพไม่แตกต่างจากขุมนรก รอบข้างเต็มไปด้วยหายนะ ภยันตราย ความตาย งานของ Jarre ช่วยมอบสัมผัสราวกับสรวงสวรรค์ ได้ยินแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย เบิกบานหฤทัย และเสียงรัวกลองแต๊ก มันช่างมีความยียวนกวนประสาท สร้างความขบขัน ‘dark humour’ ได้ตลอดเวลา

ถือว่าเป็นผลงานที่มีความเฉพาะเจาะจง แตกต่างจากสไตล์เพลงปกติของ Jarre อยู่พอสมควร ไม่ได้มีท่วงทำนองไพเราะเสนาะหู แต่การเลือกนำไปใช้ของผู้กำกับ Schlöndorff สามารถสร้างความมหัศจรรย์ เติมเต็มแนวความคิด ‘magical realism’ ได้อย่างลงตัว กลมกล่อม

นอกจากเสียงกลองแต๊กที่เป็นสัญลักษณ์แทนชื่อหนัง The Tin Drum ยังมีอีกเครื่องดนตรีหนึ่งที่หลายคนอาจไม่มักคุ้นหู เครื่องเป่ามีชื่อเรียกว่า Fujara ขลุ่ยพื้นบ้านขนาดใหญ่ ถิ่นกำเนิดจากตอนกลางของ Slovakia มีทั้งเสียงแหลมหวีดหวิว (ทีแรกผมครุ่นคิดว่า Jew’s Harp) และสัมผัสนุ่มๆ (เหมือนขลุ่ย) คลุกเคล้าเข้ากับเครื่องดนตรีคลาสสิก ทั้งสไตล์ March บางครั้งก็ Jazz แล้วแต่พื้นหลังประกอบเรื่องราวขณะนั้น

หนึ่งในบทเพลงที่มีการนำเสนอน่าสนใจมากๆ คือขณะ Oskar เข้าไปก่อก่วนพิธีเดินสวนสนาม เริ่มจากมีการให้นักดนตรีเล่นผิดคีย์ เสียงโดด เป่าดังเกินไป จากนั้นจู่ๆเปลี่ยนท่วงทำนองมาร์ช กลายเป็นวอลซ์ (Johann Strauss II: The Blue Danube) ไม่นานนักกิจกรรมนี้ก็เลยล่มลง เละเทะไม่เป็นสับปะรด

นี่เป็นฉากที่มีการลำดับภาพได้สอดคล้องจองกับบทเพลงประกอบ (เสียงเครื่องดนตรีอะไรที่เด่นขึ้นมา ก็จะตัดภาพให้เห็นบุคคลที่เล่นผิดเพี้ยนนั้น) สร้างความขบขัน เรียกเสียงหัวเราะ และทำให้ผู้ชมรู้สึกสาแก่ใจที่กิจกรรมของนาซีล้มครืนอย่างตุ้มเปะ

แถมให้อีกบทเพลงประจำตัวละคร Roswitha ที่พอได้ยินเสียงรัวแบนโจ (Banjo) มอบสัมผัสผ่อนคลาย เบิกบานหฤทัย เธอผู้นี้ราวกับแม่พระของ Oskar เมื่อได้ครองคู่อยู่ร่วมกัน ก็สามารถเติมเต็มความต้องการของหัวใจ (ร่างกายพวกเขาน่าจะยังไม่มีพัฒนาการทางเพศใดๆ) ถือเป็นบทเพลงแห่งความสุข สรวงสรรค์เล็กๆท่ามกลางขุมนรก ใกล้เคียงสไตล์ Jarre ที่สุดในอัลบัมนี้แล้วกระมัง

The Tin Drum นำเสนอความเกรี้ยวกราดของผู้สร้าง (ทั้งผู้กำกับ Volker Schlöndorff และผู้แต่งนวนิยาย Günter Grass) ต่อช่วงเวลาการก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจของนาซี ราวกับทำให้ประเทศเยอรมันหยุดการเจริญเติบโต สภาพเหมือนเด็กสามขวบ ภายนอกดูใส่ซื่อไร้เดียงสา แต่จิตใจเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ถูกคอรัปชั่นกลืนกิน กลายเป็นต้นสาเหตุแห่งการสูญเสีย และโศกนาฎกรรมสงครามโลกครั้งที่สอง

การรัวกลองและเสียงกรีดร้องของเด็กชาย Oskar จุดประสงค์เพื่อแสดงความไม่พึงพอใจ ไม่ยินยอมรับต่อเหตุการณ์ต่างๆที่ตัวละคร (ผู้กำกับ Schlöndorff และผู้แต่งนวนิยาย Grass) ประสบพบเห็น ในเรื่องขัดแย้งต่อหลักศีลธรรมจรรยา มารดาคบชู้ชายอื่น บิดาร่วมรักแฟนสาว หรือแม้แต่กิจกรรมสวนสนามของพรรคนาซี เข่นฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ชาวยิว/ชาว Polish ฯลฯ

ที่ผมกล่าวมานี้คือแนวคิดที่มันควรจะเป็นนะครับ แต่ในความเป็นจริงนั้นมีหลายเหตุการณ์ที่ Oskar กลับเพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่ยี่หร่ากับสิ่งชั่วร้ายที่บังเกิดขึ้น แถมบางครั้งเขาก็กระทำสิ่งชั่วร้ายด้วยตนเองเลยก็มี อาทิ แอบอยู่ในตู้เสื้อผ้าพบเห็นมารดาร่วมรักกับชู้, กลั่นแกล้งบิดาให้ถูกทหารพันธมิตรเข่นฆาตกรรม ฯลฯ นี่แสดงถึงการเลือกปฏิบัติของผู้สร้าง โดยใช้บรรทัดฐานตนเองตัดสินว่าอะไรรับได้ อะไรรับไม่ได้

นี่ก็ชัดเจนว่าทั้งผู้กำกับ Schlöndorff และผู้แต่งนวนิยาย Grass ต่างเป็นพวกขวาจัด เต็มไปด้วยอคติต่อนาซี ยึดถือเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง นิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่ต่างจากเด็กชาย Oskar ครุ่นคิดสรรค์สร้างนิยาย/ภาพยนตร์ The Tin Drum เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน/ผู้ชม โดยใช้ความโกรธเกลียด เกรี้ยวกราด เป็นเชื้อเพลิงให้บังเกิดอารมณ์ต่อความชั่วร้าย(ของนาซี) ไม่ยินยอมรับหายนะที่บังเกิดขึ้นจากบรรพบุรุษของตนเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปี่ยมด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราดของผู้สร้าง จะว่าไปเราสามารถเปรียบดั่งภาพวาดงานศิลปะ The Scream (1893) ของจิตรกรเอก Edvard Munch แทบจะไม่แตกต่างกัน


ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ รายงานรายรับใน West German สูงถึง DEM 25 ล้านมาร์ค (=$13 ล้านเหรียญ) เป็นหนังทำเงินสูงสุดใน(เยอรมัน)ช่วงทศวรรษ 70s และเมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกา สามารถกอบโกยได้อีก $4 ล้านเหรียญ ทำลายสถิติเดิมของ The Marriage of Maria Braun (1978) ที่เพิ่งเข้าฉาย(ในสหรัฐอเมริกา)ไม่กี่เดือนก่อนหน้า

เมื่อหนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สามารถคว้ารางวัล Palme d’Or (เป็นภาพยนตร์จากเยอรมันเรื่องแรกที่คว้ารางวัลนี้) เคียงคู่กับ Apocalypse Now (1979) นี่น่าจะคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลายเป็นตัวแทนเยอรมัน เข้าชิง Oscar และคว้ารางวัล Best Foreign Language Film (เรื่องแรกของเยอรมันอีกเช่นกัน)

หนังถูกแบนห้ามฉายในหลายๆประเทศ หรือไม่ก็หั่นฉากที่กองเซนเซอร์มองว่าเป็น ‘child pornography’ อาทิ หญิงสาวเลียผงฟู, เด็กชายกอดจูบ เพศสัมพันธ์ ฯลฯ

ผู้กำกับ Schlöndorff มีความไม่พึงพอใจหนังฉบับดั้งเดิม 142 นาที เพราะถูกโปรดิวเซอร์บีบบังคับให้ต้องตัดโน่นนี่นั่นภายใต้กรอบเวลา (140 นาที) ด้วยเหตุนี้จึงพยายามเรียกร้องขอ Director’s Cut ความยาว 162 นาทีอยู่นาน จนได้รับโอกาสเมื่อปี 2009 ปัจจุบันสามารถหารับชมฉบับบูรณะ High-Definition ได้ทาง Criterion Channel

สิ่งที่ผมไม่ชอบสุดของ The Tin Drum คือความเห็นแก่ตัว ไร้สามัญสำนึกของผู้กำกับ Schlöndorff ในการเลือกดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้ แล้วใส่อารมณ์รุนแรง ความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียด เค็มไปด้วยอคตินาซี พยายามแสดงให้ใครต่อใครเห็นว่า ฉันไม่ยินยอมรับทุกสิ่งที่เคยบังเกิดขึ้น! … เอิ่ม แล้วมันมีประโยชน์อะไรกัน?

ผมมองภาพยนตร์เรื่องนี้คือการแก้ต่าง ลวงหลอกตนเองของผู้สร้าง พยายามลบล้างอดีต ไม่ยินยอมรับสิ่งบังเกิดขึ้นในช่วงนาซีเรืองอำนาจ แต่ความเป็นจริงมันไม่มีใครที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา แม้แต่เด็กชายวัยสามขวบ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็กลายเป็นไอ้เด็กเวร แสดงความจัญไร แล้วชาวเยอรมันในช่วงนั้นจะแตกต่างอะไร

“คนที่ไม่ยินยอมรับอดีต ต่อให้มันเลวร้ายสักเพียงใด จะมีอนาคตสดใสได้อย่างไร”

นี่เป็นหนังที่ผมไม่ขอแนะนำถ้าคุณไม่อยากรู้สึกรังเกียจ ขยะแขยง ท้องไส้ปั่นป่วนระหว่างรับชม ยิ่งยุคสมัยนี้ที่คนส่วนใหญ่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กเล็ก (Pedophilia) ต่อให้เป็นงานศิลปะก็เถอะ ยังคงไม่ใช่สิ่งที่สามัญสำนึกของมนุษย์จะยินยอมรับไหว

จัดเรต NC-17 เพศสัมพันธ์กับเด็ก

คำโปรย | The Tin Drum คือความพยายามแก้ต่าง แต่กลับคือการลวงหลอกตัวเองของผู้สร้าง และชาวเยอรมันที่มีชีวิตภายใต้ระบอบนาซี
คุณภาพ | จอมปลอม
ส่วนตัว | ถ่มถุย

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: