The Treasure of the Sierra Madre

The Treasure of the Sierra Madre (1948) hollywood : John Huston ♥♥♥♥♡

ในบรรดาหนังเกี่ยวกับความโลภ เงินๆทองๆ ผมคิดว่า The Treasure of the Sierra Madre ของผู้กำกับ John Huston นำแสดงโดย Humphrey Bogart น่าจะเป็นหนังที่นำเสนอความบัดซบของจิตใจมนุษย์ต่อความโลภออกมาได้ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว, หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ว่าไปหนังเรื่องนี้ถือได้รับอิทธิพลมาจาก Greed (1924) พอสมควร มีแนวคิดที่คล้ายๆกัน เป้าหมายและจุดจบของหนังก็มีส่วนเหมือน แต่หนังเงียบกับหนังพูดเข้าถึงคนในระดับที่ต่างกัน แน่นอนว่าหนังพูดย่อมสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายกว่า มีความสมจริงจับต้องได้กว่า เหตุนี้กระมังที่ทำให้ผมรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้มากกว่า Greed หลายเท่านัก

ผมเคยได้ดูหนังเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว เป็นหนึ่งในหนัง AFI’s 100 Years… 100 Movies ที่เคยไล่ดูจนเกือบหมดสมัยเป็นวัยรุ่น, ณ ตอนนั้นคิดว่านี่คงเป็นหนังแนวผจญภัย หาขุมทรัพย์ ล่าสมบัติ (ตอนนั้นคงกำลังติดใจ Pirates of the Caribbean) ที่ไหนได้ นี่กลับเป็นหนังเกี่ยวกับการขุดทอง และพระเอก Humphrey Bogart จำติดตาได้เลยว่า หมอนี่มันเลวบัดซบสุดๆ, กลับมาดูรอบนี้เพราะผมจำความเลวร้ายของตัวละคร Bogart ได้อย่างดี เลยคิดว่าน่าจะเข้ากับช่วงนี้ที่ผมเขียนรีวิวหนังเกี่ยวกับ ‘ความโลภ’ และ ‘เงินๆทองๆ’

John Marcellus Huston (1906 – 1987) เป็นผู้กำกับ คนเขียนบทและนักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Nevada, Missouri พ่อของเขา Walter Huston เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงพอสมควร, เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นนักเขียน ต่อมาเป็นนักแสดง กำกับหนังเรื่องแรกคือ The Maltese Falcon (1941) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาสาเป็นทหาร ทำหนังชวนเชื่อให้กับ Army Signal Corps จบสงครามจบจึงได้เริ่มต้นทำหนังต่อ, กับหนังเรื่องนี้ทำให้เขาได้ Oscar สาขา Best Director และ Best Writing เป็นสองรางวัลเท่านั้นในชีวิตที่ John Huston ได้ และพ่อ Walter Huston ที่ร่วมแสดงสมทบได้ Oscar สาขา Best Supporting Actor เป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ พ่อ-ลูก แสดง-กำกับ แล้วได้ Oscar กันถ้วนหน้า

ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ B. Traven ตีพิมพ์เมื่อปี 1927, John Huston ได้อ่านนิยายครั้งแรกเมื่อปี 1935 มีความสนใจตั้งใจจะสร้างเป็นหนัง โดยหวังให้พ่อของเขารับบทนำ, หลังจากกำกับหนัง debut เรื่องแรก The Maltese Falcon ก็ตั้งใจว่าจะดัดแปลงนิยายเรื่องนี้เป็นหนังถัดไป แต่ขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาขัดเสียก่อน, ซึ่งทำให้สตูดิโอไปว่าจ้าง Robert Rossen ให้มาเขียนบทและวางแผนให้ Vincent Sherman เป็นผู้กำกับ แต่กลายเป็นว่าวิสัยทัศน์ของ Sherman อาจสร้างความร้าวฉานให้กับชาว Mexican จึงถูกยกเลิกแผนการไป หลังสงครามจบ Huston เลยเข้ามาสานงานต่อ

เรื่องราวของชาย 2 คน ที่ไปแสวงโชคที่ Tampico ประเทศ Mexico ในปี 1925 ได้พบกับนักสำรวจแร่ผู้ช่ำชอง ลงเอยด้วยการร่วมมือกับเขาในการออกสำรวจขุดทองที่เทือกเขา Sierra Madre, แต่ชีวิตไม่ได้ง่ายดั่งนิยาย พวกเขาต้องเจอกับโจร อินเดียแดง และหายนะต่างๆมากมาย พวกเขาจะหาทองพบ ขุดทองสำเร็จ กลายเป็นคนร่ำรวยหรือไม่…

ขณะนั้นดาราที่ดังที่สุดของ Warner Brothers ก็คือ Humphrey Bogart ซึ่งทำให้เขาสามารถเลือกโปรเจคของตัวเองได้, Bogart กับ Huston เคยทำงานร่วมกันมาแล้วหลายครั้ง รวมถึง The Maltese Falcon (1941) ซึ่งพอ Bogart ได้ยินว่า Huston กำลังจะทำหนังเรื่องถัดไป จึงเข้าไปรบเร้าแสดงความสนใจ จนได้บทนำ Fred C. Dobbs

ผมว่า John Huston กับ Humphrey Bogart สองคนนี้ก็ถือเป็น ผู้กำกับ-นักแสดง คู่หูกันด้วยนะครับ มีผลงานร่วมกันอยู่ถึง 6 เรื่อง และที่ดังๆระดับตำนานก็มี The Maltese Falcon (1941), The Treasure of the Sierra Madre (1948) และ The African Queen (1951)

ครั้งหนึ่งที่ Bogart ได้พบกับนักวิจารณ์ในไนท์คลับ เมือง New York เขาบอกว่า ‘รอดูหนังของฉันเรื่องถัดไป จะเล่นเป็นคนที่บัดซบที่สุดเท่าที่คุณเคยเจอ’ (Wait till you see me in my next picture, I play the worst shit you ever saw.) คำอธิบายของเขานี้ถือว่าจำกัดความตัวละครได้ตรงที่สุดแล้วนะครับ, ผมไม่รู้จะสรรหาคำอะไรมาบรรยายตัวละครนี้ดี กลับกลอก ปลิ้นปล้อน ดีแต่ปาก พูดอย่างทำอย่าง ได้หน้าลืมหลัง หน้าไหว้หลังหลอก ปากว่าตาขยิบ ? อะไรที่ตอนต้นเรื่องบอกว่า ฉันไม่มีวันเป็น/ทำแบบนั้นหรอก ตอนท้ายๆเขากลับเป็น/ทำเช่นนั้นทุกอย่าง คนแบบนี้จะให้เรียกว่าอะไรดีละครับ?

Walter Huston รับบท Howard ทีแรกผู้แต่งนิยาย B. Traven ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะอยากได้ Lewis Stone แต่ John ยืนยันว่าต้องให้พ่อของเขาเล่น, นี่เป็นตัวละครที่มีวุฒิภาวะ เป็นผู้ใหญ่ เข้าใจนิสัยธาตุแท้ของมนุษย์, Howard สามารถต่อกรกับ Dobbs คนที่ถูกความโลภเข้าครอบงำ ให้สามารถยับยั้งตัวเองได้ สงบลงอย่างมีชั้นเชิง, การแสดงของ Walter ผมเรียกเขาว่าเป็น Uncle Sam บทป๋าที่มีความเก๋า เจ๋งเป้ง เจ๋งจริง, Bogart หลังจากเห็นการแสดงของ Walter ก็พูดประชดแซวว่า มี Huston 1 คนในหนังก็แย่มากแล้ว นี่ 2 คนฆ่ากันให้ตายดีกว่า (One Huston is bad enough, but two are murder.)

สำหรับบท Bob Curtin รับบทโดย Tim Holt, ตัวละครนี้ช่วงแรกๆยังถือว่าสองจิตสองใจอยู่ ไม่รู้ว่าธาตุแท้เป็นคนเช่นไหร่ ตอนที่ Dobbs ประสบอุบัติเหตุ ดินถล่ม นี่เป็นวินาทีชี้เป็นชี้ตาย และตัวละครนี้เลือกที่จะไม่ทอดทิ้ง นั่นทำให้เขาสามารถเอาชนะคำสาปของความโลภได้

ถ้าคุณมีเงินจะเอาไปใช้ทำอะไร? นี่เป็นคำถามที่ผมรอมานาน ดูหนังแนวนี้มาหลายเรื่องไม่มีเปิดประเด็นนี้เลย ซึ่งคำตอบของ 3 ตัวละครนำนักขุดทองนี้ เรียกว่าชี้เป็นชี้ตาย ชี้ชะตากรรมของพวกเขา, Howard เนื่องจากมีอายุมากแล้ว นี่อาจเป็นการขุดทองครั้งสุดท้าย เขาก็หวังเอาเงินที่ได้ไปใช้บั้นปลาย อยู่ชนบทสุขสบายไม่หวังอะไรมาก, Curtin นั้นมีความฝัน กับช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่เคยมีความสุขในการใช้ชีวิต ตั้งใจจะเอาเงินไปเพื่อลงทุนทำไร่ มีสวนของตนเอง, ส่วน Dobbs หมอนี่ไม่สนใจอนาคตอะไรทั้งนั้น ความต้องการหลังจากได้เงินคือ อาบน้ำล้างตัวให้สะอาด มีเสื้อผ้าใหม่ๆ กินเหล้าเลี้ยงฉลอง Curtin ถาม หลังจากนั้นละ Dobbs พูดไม่ออก หมอนี่ไร้อนาคตตั้งแต่ตอนนี้เลยนะครับ

ถ่ายภาพโดย Ted D. McCord ตากล้องรางวัล Oscar 3 สมัย(Johnny Belinda-1948,Two for the Seesaw-1962 และ Sound of Music-1965) หนังเรื่องนี้ภาพหลังสวยมากๆ เป็นหนังเรื่องแรกของ hollywood ที่ยกกองไปถ่ายต่างประเทศ เทือกเขา Sierra Madre ที่เห็นเป็นฉากหลังนั้น คือเทือกเขา Sierra Madre จริงๆนะครับ ส่วนถนนหนทางในช่วงแรกๆของหนัง ไปถ่ายที่ Durango และ Tampico ประเทศ Mexico

เหตุที่ได้ไปถ่าย Mexico เพราะผู้บริหาร Jack L. Warner ถูก John Huston หลอก, นาย Warner ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านบทหนัง เขาคิดว่านี่เป็นหนัง Western เกรด B ถูกๆและ Huston ก็พูดในเชิงว่า เป็นหนังที่ง่ายๆ ใช้งบไม่เยอะ ถ่ายทำไม่กี่สัปดาห์ นาย Warner เลยปล่อยให้พวกเขาผลาญงบเต็มที่ ด้วยการไปถ่ายที่ Mexico แต่พองานสร้างเริ่มเลท และทุนที่ใช้บานไปถึง 3 ล้านดอลลาร์ นาย Warner ก็เริ่มหัวเสีย สั่งให้พวกเขายกกองกลับอเมริกา, ครั้งหนึ่งขณะ Huston พยายามยื้อยักขอต่อรองอยู่ Mexico ต่ออีกสองสามวัน ด้วยการเปิดฟุตเทจหนังให้ดู นาย Warner ขึ้นเสียงว่า ‘ใช่ฉันเห็นแล้ว พวกนายกำลังหาทอง แต่นั่นเงินของฉัน!’ (Yeah, they’re looking for gold all right – mine!)

หลังจากขุดทองเสร็จแล้ว ก่อนจะลงจากภูเขา Howard ขอให้ Dobbs และ Curtin ช่วยกันเก็บทุกอย่าง คืนสภาพสู่ธรรมชาติเดิม นี่เป็นจังหวะที่ผมเห็นแล้วชอบมากๆ แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาไม่กี่วินาที แต่ได้สะท้อนอะไรๆออกมาหลายอย่างมาก, มนุษย์เราส่วนใหญ่ เมื่อได้เอาอะไรมาจากธรรมชาติ ทำเสร็จแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น ราวกับข้าเป็นเจ้าของทุกอย่าง นี่เป็นพฤติกรรมที่แย่นะครับ เราควรปลูกจิตสำนึกที่ในการเก็บกวาดทุกสิ่งที่เราทำ ให้ทุกอย่างคืนสู่สภาพเดิม นี่เป็นเหมือนการแสดงความรักประเภทหนึ่ง ได้แล้วทิ้ง เอาแล้วทิ้ง ฟันแล้วทิ้ง ทำอะไรไว้รับผิดชอบด้วยนะครับ

ตัดต่อโดย Owen Marks ที่มีผลงานโด่งดังอย่าง Casablanca (1942) สำหรับหนังเรื่องนี้ไม่ถือว่าโดดเด่นเท่าไหร่ การเล่าเรื่องค่อนข้างเป็นเส้นตรง มีช่วงท้ายที่พอ Howard เริ่มแยกจาก Dobbs และ Curtin หนังดำเนินเรื่องแบบคู่ขนาน สองเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งเปรียบเหมือนทางแยกของทั้งสาม ซึ่ง Curtin กับ Howard ได้มาประจบกันอีกครั้ง เขาทั้งสองยังคงมีชีวิตรอด ส่วน Dobbs

ชะตากรรมของ Dobbs เห็นว่าในนิยายมีภาพวาดประกอบสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย แต่เมื่อเป็นหนัง จริงๆ Huston ได้ถ่ายทำฉากนี้ไว้ แต่กลับไม่สามารถใส่เข้าไปได้ เพราะขัดกับ Hays Code จึงถูกสั่งให้ตัดออก, Bogart รู้สึกผิดหวังและตอบโต้ว่า มันผิดตรงไหนกับการแสดงให้เห็นคนถูกตัดหัว (What’s wrong with showing a guy getting his head cut off?)

เพลงประกอบโดย Max Steiner กลิ่นอายของ Western และ Mexico จัดมาเต็มๆเลย มีเสียงเครื่องดนตรีของเม็กซิกันประกอบด้วย แต่ยังมีสัมผัสของความเป็นอเมริกันอยู่เยอะ, หนังใช้ Orchestra เต็มวงแบบจัดเต็ม ที่สร้างความยิ่งใหญ่อลังการ, เพลงตอนจบมีความโหยหวนดั่ง หวีดหวิวเหมือนสายลมที่กรีดร้อย และเสียงหัวเราะที่แสดงความผกผันของโชคชะตา, หนังเรื่องนี้ได้ไปฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice แล้ว Max Steiner ได้รางวัล Best Score ด้วยนะครับ น่าเสียดายที่หนังไม่ได้ Golden Lion แพ้ให้กับ Hamlet และสาขาเพลงถูก Oscar มองข้ามไปเลย

เมื่อโชคชะตาเล่นตลก เราจะเป็นคนยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น (หัวเราะร่าไปกับมัน) หรือปฏิเสธ ไม่ยอมรับ (เครียด คิดมาก เจ็บปวด) Howard นี่ชัดเลยครับ เขาเข้าใจชีวิตแทบจะทันทีและเปิดใจยอมรับหัวเราะไปกับมัน ส่วน Curtin ถ้าไม่ได้อิทธิพลจาก Howard เขาคงคิดมากและอาจกลายเป็นบ้า แต่พอมี Howard อยู่ใกล้ๆ ทำให้ Curtin ซึมซับ ยอมรับความจริงและหัวเราะร่าไปกับ Howard

อะไรกันที่ทำให้ Dobbs เปลี่ยนไปถึงขนาดนั้น? ความโลภเกิดจากความทะเยอทะยานอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจหิวโหยอยากได้ เกิดความดิ้นรน อยู่ไม่เป็นสุข พฤติกรรมของ Dobbs เข้าข่ายที่ว่า ลุ่มหลงยึดติดในความต้องการ ไม่สามารถแยกแยะ เข้าใจสิ่งถูกผิดได้, การมองคนในแง่ร้ายก็มีส่วน เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยเจอคนที่หลอกลวง จ้างไปทำงานแล้วเบี้ยวไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง ความศรัทธาในความซื่อสัตย์ของมนุษย์จึงลดลง ความหวาดระแวง วิตกกังวลเข้ามาครอบงำ กลายเป็นคิดเล็กคิดน้อย กลัวในสิ่งที่ไม่มีอยู่ กลายเป็นภาพหลอน สุดท้ายก็หลอกตัวเอง ชะตากรรมของ Dobbs เลยจบลงแบบ คิดมากไป ถ้าไม่มีหัวก็ไม่ต้องคิด

ผมไม่ค่อยรู้สึกสงสาร Dobbs เท่าไหร่ ออกจะสมเพชด้วยซ้ำ เพราะมันเหมือนเขาทำตัวเอง ถ้าไม่ปากกล้าทำตัวข้าเจ๋งตอนต้นเรื่อง ก็อาจจะทำให้พอมีความรู้สึกสงสารอยู่บ้าง, มันเริ่มต้นขณะที่เขาเริ่มพูดจาโทษคนอื่น เกิดความระแวง แสดงให้เห็นถึงการไม่ไว้วางใจ นี่คือจิตใจเริ่มไม่ปกติแล้ว, วิธีที่จะรักษาคนประเภทนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยง
1) วิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน (เช่นเอาทองมาเททิ้งต่อหน้า ให้มันถูกลมปลิวสูญสลายหายไป) ถ้าทำใจได้ก็อาจหายเป็นปกติ ถ้าไม่ก็อาจกลายเป็นบ้า หรือเกิดความเคียดแค้นสุดๆ
2) วิธีประณีประณอม ค่อยๆให้เรียนรู้เข้าใจ ทำความเข้าใจ วิธีการนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน  และมีความเสี่ยงที่เมื่อหายแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก

Roger Ebert บอกว่านี่ไม่ใช่หนังที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆ หรือการขุดทอง แต่เป็นหนังเกี่ยวกับตัวละคร ความน่าสงสารหรือน่าสมเพชในความมืดบอดของความโลภ, มีคำพูดของ Dobbs เกี่ยวกับ ‘สติ’ หลังจากที่คิดว่าตัวเองเป็นฆาตกรฆ่า Curtis ‘Conscience. What a thing! If you believe you got a conscience, it’ll pester you to death. But if you don’t believe you got one, what could it do to ya?’

มีคำพูดประโยคหนึ่งของหนังที่ได้รับความนิยมสูงมากๆ ติด AFI’s 100 Years… 100 Movie Quotes อันดับ 36 ขณะที่ Dobbs พูดกับหัวหน้าโจร ที่อ้างว่าเป็นตำรวจ เขาเลยขอดูตราตำรวจ (Badges) โจรเลยตอบว่า “Badges? We ain’t got no badges! We don’t need no badges! I don’t have to show you any stinking badges!” ประโยคนี้คนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าพูด “Badges? We don’t need no stinking badges!” Roger Ebert เรียกประโยคนี้ว่า ประโยคฮิตที่ไม่มีใครพูดกันในชีวิตจริง

ช่วงเทศกาลรางวัล หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นตัวเต็ง Oscar ปีนั้นเลย ได้เข้าชิง 4 สาขารวม Best Picture ได้มา 3 กลับพลาด Best Picture ให้กับหนังเรื่อง Hamlet อย่างน่าเสียดาย, เข้าชิง 3 Golden Globe กวาดเรียบ Best Picture, Best Director และ Best Supporting Actor

ตอนฉายสัปดาห์แรก หนังทำเงินได้พอสมควร เลยคิดกันว่าจะฮิต แต่กลับไม่ทำเงินมากเท่าไหร่ รายรับสัปดาห์แรกจึงถูกเปรียบเหมือนกับ fool’s gold ซึ่งพอหนังเริ่มกวาดรางวัล เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์ ทำให้ค่อยๆได้รับความสนใจจากผู้ชมมากขึ้น จบโปรแกรมทำเงินได้ $4.3 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง $3 ล้าน ถือว่ายังขาดทุนอยู่ดี

The Treasure of the Sierra Madre เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดของ Stanley Kubrick และ Sam Raimi, Paul Thomas Anderson ดูหนังเรื่องนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนบทหนังเรื่อง There will Be Blood (2007)

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความโลภทำให้คนเปลี่ยนไป ตัวละคร Dobbs เป็นแบบอย่างที่มีค่ามากๆ ไม่ใช่ให้เลียนแบบตามนะครับ แต่ให้ศึกษาทำความเข้าใจ เรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาถึงกลายเป็นเช่นนั้น จดจำไว้ใช้เป็นบทเรียนชีวิตได้เลย

แนะนำหนังกับทุกคน แม้จะเป็นภาพขาว-ดำ แต่ดูง่าย ไม่มีช่วงให้เบื่อเลย การแสดงของ Bogart นี่สุดยอดจริง (แต่ยังไม่ใช่ที่สุดของเขานะครับ), แนะนำอย่างยิ่งกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์มองหา อะไรที่เป็นผลกระทบในจิตใจของตัวละคร

จัดเรต 13+ เป็นช่วงอายุที่น่าจะโตพอ สามารถทำเข้าใจ ‘ความโลภ’ ของมนุษย์ได้

TAGLINE | “The Treasure of the Sierra Madre ของผู้กำกับ John Huston นำแสดงโดย Humphrey Bogart เป็นหนังที่มีความโลภ นำเสนอความโลภ ที่ได้มากทุกอย่างเลย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
4 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] 4. The Treasure of the Sierra Madre (1948)  : John Huston ♥♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: