The Turning Point

The Turning Point (1945) USSR : Fridrikh Ermler ♥♥♥

(mini Review) หนังรางวัล Grand Prix (Palme d’Or) ของสหภาพโซเวียตเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นบทสนทนาพูดคุยวางแผนของนายทหารระดับสูง ในการตัดสินใจปกป้องรักษาเมืองหนึ่งที่หลงเหลือเพียงแค่เศษซาก ได้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โซเวียตไม่พ่ายแพ้เยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2

เมืองแห่งนั้นคือ Stalingrad แต่หนังจะไม่มีการพูดชื่อนี้ออกมาเลยนะครับ ใช้คำเรียกแทนว่า ‘The Town’ ซึ่งมีครั้งหนึ่งที่ถ่ายให้เห็นแผนที่ของประเทศรัสเซีย และชื่อ Stalingrad ปรากฎขึ้นเด่นตรงกึ่งกลาง, นี่ไม่ใช่ MacGuffin นะครับ เพราะชาวรัสเซียทั้งหลายน่าจะสามารถรับรู้ได้เลยว่าหมายถึงเมืองอะไร ที่ไม่หนังไม่อยากพูดชื่อคงเพราะ นี่เป็นเมืองได้รับผลกระทบเสียหายร้ายรุนแรงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยนั้นเลี่ยงได้ก็ไม่มีใครอยากเอ่ยออกมาตรงๆเป็นแน่

ยุทธการสตาลินกราด (Battle of Stalingrad) เป็นยุทธการใหญ่ของสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเยอรมนีและพันธมิตร สู้รบกับสหภาพโซเวียต เพื่อแย่งชิงการควบคุมนครสตาลินกราด (ปัจจุบันคือ วอลโกกราด/Volgograd อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหพันธรัฐรัสเซีย) ยุทธการดำเนินไประหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 1942 ถึง 2 กุมภาพันธ์ 1943 ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น ‘ยุทธการนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์การสงคราม’
– สหภาพโซเวียตไม่ต้องการเสียฐานที่มั่น จุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะอาจทำให้นาซีเยอรมันสามารถยกทัพเข้าตีเมืองหลวงกรุงมอสโควได้
– ส่วนนาซีเยอรมัน เพราะต้องการกำชัยจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุด จึงทุ่มเทกำลังพลทุกสิ่งอย่างเข้าปะทะ

โดยประเมินความสูญเสียทั้งสองฝ่ายรวมกันไว้สูงเกือบสองล้านนาย ซึ่งความสูญเสียอย่างหนักของกองทัพเยอรมนี เป็น’จุดพลิกผันของสงคราม’ ไม่อาจฟื้นคืนยอดอย่างเมื่อก่อนได้อีก และไม่บรรลุชัยชนะทางยุทธศาสตร์ในทางตะวันออกอีกเลย

Fridrikh Markovich Ermler (1898 – 1967) นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์ในตำนานของสหภาพโซเวียต เจ้าของ 4 รางวัล Stalin Prize แม้ตอนแรกเลือกเรียนเภสัชศาสตร์ แต่เพราะปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง เข้าร่วมกองทัพ Cazrist ขับไล่พระเจ้าซาร์ออกนอกประเทศ, ช่วงสงครามกลางเมืองเข้าร่วมฝั่งบอลเชวิก ถูกกองกำลังฝ่ายขาว (White Army) จับกุมทรมาน, หลังสงครามเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เต็มตัว มีความเชื่อมั่นสนับสนุนอุดมการณ์แนวคิดของ Lenin/Stalin อย่างถึงที่สุด, ได้โอกาสเข้าเรียน Cinema Academy ที่ Moscow สร้างภาพยนตร์แนวชวนเชื่อหลายเรื่อง ตั้งแต่ปลายยุคหนังเงียบเข้าสู่ยุคหนังพูด หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลงานดังๆของ Ermler อาทิ The Parisian Cobbler (1927), Counterplan (1932), Peasants (1934), The Great Citizen (1939)*, No Greater Love (1943)*, The Turning Point (1945)*, The Great Force (1950)* ฯ [เรื่องที่ * คือได้ Stalin Prize]

พื้นหลังของหนังอ้างอิงจากยุทธการสตาลินกราดทั้งหมด แต่จะไม่เอ่ยถึงชื่อเมือง เปลี่ยนชื่อตัวละคร/นายพล/แม่ทัพทั้งหมด เพื่อเป็นการให้เกียรติกับผู้สูญเสีย, มีการนำภาพฟุตเทจจากสงครามมาใส่ ยิงปืน ระเบิด รถถัง ฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิด ฯ แต่จะไม่มีภาพคนตาย นองเลือด คนถูกระเบิด ฯ

ผมเพิ่งเคยดู The Turning Point ของผู้กำกับเป็นเรื่องแรก ต้องบอกว่า direction แนวทางกำกับมีความน่าสนใจทีเดียว คล้ายๆกับ Ingmar Bergman ที่นักแสดงมีการพูดถ้อยคำ สีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหวที่ชัดเจนลงตัว, และการลำดับถ่ายภาพแบบ 2 Shot คือเวลาที่ตัวละครจะแสดงความอารมณ์ความรู้สึกออกมา ภาพจะเป็น Medium Shot ให้เห็นภาพรวมภายนอกทางกายก่อน ตามด้วย Close-Up สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ (คือเห็นทั้งภาพนอกและภายในของตัวละคร)

แต่สิ่งโดดเด่นสุดของหนังคือ แนวคิดอุดมการณ์, ชาวรัสเซียสมัยนั้นเมื่อได้รับชม จะเกิดความฮึกเหิม ศรัทธา เชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศ แม้หนังจะสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อะไรๆล้วนสามารถเกิดขึ้นซ้ำรอยได้อีก นี่จึงเป็นหนังเพื่อเชิดชู ยกย่อง ส่งเสริม วีรบุรุษทุกระดับ ตั้งแต่แม่ทัพยันพลทหาร ต่อการเสียสละชีพเพื่ออุดมการณ์ ให้ประเทศชาติยังมั่นคงยืนยงสืบจนถึงปัจจุบัน

หนังออกฉายในรัสเซียตั้งแต่ต้นปี 1945 ประสบความสำเร็จอย่างสูง ก่อนได้รับเชิญให้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ครั้งที่ 1 เมื่อปี 1946 สามารถคว้า 2 รางวัลใหญ่
– Grand Prix เทียบเท่ากับ Palme d’Or ในสมัยปัจจุบัน
– Best Screenplay บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

นี่ทำให้กลับรัสเซียในปีนั้น หนังยังคว้ารางวัล Stalin Prize (ถือเป็นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของรัสเซียในสมัยนั้น) ตบท้ายสำหรับการที่ไปสร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติ

ส่วนตัวเฉยๆกับหนังเรื่องนี้ เหตุผลคือดูไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ (คงเพราะผมไม่ค่อยตั้งใจดูด้วยแหละ) รับรู้ว่ามีหลายๆอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอุดมการณ์ ความทะเยอทะยาน และการกล้าคิดนอกรอก แต่หนังออกไปทางชาตินิยมชวนเชื่อไปเสียนิด ถ้าไม่ใช่ชาวรัสเซียคงยากที่จะหลงรักหนังเรื่องนี้

จริงๆหนังก็ไม่ถืงระดับดูยากนะครับ แต่เพราะภาษาและวิธีการเล่าเรื่อง ที่ส่วนใหญ่มีแต่ฉากภายใน พูดง่ายๆคือดูไปก็ไม่ได้มีความสนุกแม้แต่น้อย, เว้นกับคอหนังสงคราม ไม่แน่คุณอาจได้แนวคิดอะไรลึกซึ้งกลับไป

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศ ความเครียด และสงคราม

TAGLINE | “The Turning Point จุดเปลี่ยนของสงครามไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นเข้าใจได้ ต้องมองจากภาพรวมลงมาด้วยวิสัยทัศน์อุดมการณ์ตั้งมั่น โอกาสสำเร็จคว้าชัยชนะถึงพอมี”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: