The Umbrellas of Cherbourg (1964) French : Jacques Demy ♥♥♥♥♡

(28/1/2022) ร่ม คือสัญลักษณ์ของการปกป้อง ปกปิด คุ้มกันภัย ถุงยางอนามัยของ Jacques Demy ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตที่อยู่รอดปลอดภัย หลบซ่อนตัวตน/ความต้องการแท้จริงอยู่ภายใต้ ก็เหมือนตัวละครของ Catherine Deneuve ทอดทิ้งคนรักเก่า ยินยอมเป็นตุ๊กตาสวมชุดแต่งงาน ครองคู่กับคนที่ไม่ได้ตกหลุมรัก

ณ จุดสูงสุดของ Hollywood Musical ในช่วงทศวรรษ 50s มุ่งเน้นโปรดักชั่นให้มีความยิ่งใหญ่ เว่อวังอลังการ สร้างฉากขนาดใหญ่โต สูญเงินมากมายมหาศาล จากนั้นก็พบหนทางตัน เพราะไม่รู้จะวิวัฒนาการต่อไปทิศทางไหน … จนกระทั่งการมาถึงของ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ทำในสิ่งกลับตารปัตรตรงกันข้าม ด้วยทุนสร้างน้อยนิด ถ่ายทำยังสถานที่จริง (แค่ตกแต่งทาสีเสียใหม่) นักแสดงขับร้องเพลงแทนการพูดคุย และใช้ภาษาภาพยนตร์เคลื่อนเลื่อนกล้อง ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเริงระบำ

Les Parapluies de Cherbourg หรือ The Umbrellas of Cherbourg คือภาพยนตร์ที่ปฏิวัติวงการ Musical ทำในสิ่งแตกต่างจากขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีที่ Hollywood เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา เรียกว่าเป็นจุดพลิกผัน ซึ่งดันเกิดขึ้นในยุคสมัย French New Wave การเปลี่ยนแปลงที่นำพาวงการภาพยนตร์ก้าวสู่ ‘Modern Era’

ให้ตายเถอะ! นี่เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ใกล้ตัวใกล้หัวใจ Jacques Demy ในแบบที่คนส่วนใหญ่อาจครุ่นคิดคาดไม่ถึง ทำให้ผมรู้สึกห่อเหี่ยวและสงสาร Agnès Varda (แต่เหมือนเธอเคยบอกว่า ความรักที่มีให้กับ Demy มันมากกว่าแค่สามี-ภรรยา) พี่แกยินยอมแต่งงานมีบุตร (รับเลี้ยงลูกของ Varda จากสามีคนก่อนด้วยนะ) เพื่อปกปิดรสนิยมรักร่วมเพศ (Homo/Bisexual) แต่การเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 59 ปี กลับเพราะไม่สวมถุงยางอนามัย ติดเชื้อ HIV จากคู่ขา ซะงั้น!

ผมรู้สึกโคตรโชคดีที่เคยได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก่อนหน้าครุ่นคิดเข้าใจย่อหน้าที่ผ่านมา เพราะทำให้ไม่เกิดอคติต่อนัยยะซ่อนเร้น พบเห็นความบริสุทธิ์ สีสันสดใส ไดเรคชั่นที่ลื่นไหล (เหมือนการเริงระบำ) ทั้งยังปฏิวัติวงการเพลง และแนวหนัง Musical ด้วยเทคนิค ‘sung-through’ ไม่เคยพบเห็นจากแห่งหนใด งดงาม ทรงคุณค่า มาสเตอร์พีซ!

แซว: Hollywood มีภาพยนตร์ Singin’ in the Rain (1952), ส่วนยุโรป/ฝรั่งเศสก็มี The Umbrellas of Cherbourg (1964) เกี่ยวกับฝนตก กางร่ม แต่นำเสนออารมณ์ที่แตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง!


Jacques Demy (1931-90) ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pontchâteau, Loire-Atlantique เมืองท่าทางตะวันตกของฝรั่งเศส ครอบครัวเปิดกิจการร้านซ่อมรถ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ดินแดนแห่งนี้ถูกใช้เป็นจุดจอดท่าเรือรบ มีทหารพันธมิตรขึ้นฝั่งมากมาย ตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีทิ้งระเบิด แล้วทุกสิ่งอย่างก็ราบเรียบหน้ากลอง, ตั้งแต่เด็กๆ แม่ของ Demy มักพาลูกๆไปชมการแสดงโอเปร่า ทำให้เขามีความชื่นชอบในบทเพลง เสียงดนตรี, ช่วงหลังสงครามถูกส่งไปโรงเรียนมัธยมยังเมือง Nantes ค้นพบความหลงใหลในภาพยนตร์ (เพราะวันๆเอาแต่โดดเรียนไปดูหนัง) พออายุ 18 ออกเดินทางสู่กรุง Paris ได้เป็นลูกศิษย์ของ Georges Rouquier (ผู้กำกับสารคดี) และ Paul Grimault (นักทำอนิเมเตอร์ชื่อดัง), สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Dead Horizons (1951), ตามด้วยสารคดีขนาดสั้น The clog maker of the Loire Valley (1956)

เมื่อปี 1958, Demy แรกพบเจอ Agnès Varda ยังเทศกาลฉายหนังสั้นเมือง Tours ขณะนั้นเธอเพิ่งคลอดบุตรสาว Rosalie Varda (เกิดปี 1958) กับคนรักเก่า Antoine Bourseiller แล้วพวกเขาก็ตกลงปลงใจอาศัยอยู่ร่วมกันตั้งแต่ปี 1959 (ทั้งยังรับเลี้ยง Rosalie เป็นบุตรบุญธรรม) ทำพิธีแต่งงาน ค.ศ. 1962 และมีบุตรชายอีกคน Mathieu Demy (เกิดปี 1972)

ปล. แม้ว่าจะเลิกรากันไปหลายปี Agnès Varda ยังเคยขอให้อดีตคนรัก Antoine Bourseiller มาแสดงภาพยนตร์ Cléo from 5 to 7 (1962) หลังจากเขาเพิ่งแต่งงานใหม่กับ Chantal Darget และกำลังจะมีบุตรสาว Marie Bourseiller (เกิดปี 1964)

หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำสารคดี/หนังสั้นมาหลายปี ในที่สุด Demy ก็ตัดสินใจสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Lola (1961) แต่ความความชื่นชอบหลงใหลแท้จริงคือ Hollywood Musical หมายมั้นปั้นมือต้องการทำ The Umbrellas of Cherbourg (1964) เป็นโปรเจคถัดไป แต่เมื่อนำแนวคิด ‘sung-through’ เสนอต่อนายทุน โปรดิวเซอร์ กลับถูกบ่ายเบี่ยง ส่ายหัว ฟังดูเพ้อเจ้อไร้สาระ ไม่มีใครเชื่อว่าหนังลักษณะดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ!

I really like your story. But you should shoot it in black and white, since color’s too expensive. You should change the title, since it tells us nothing. And use normal dialogue, not people singing.

โปรดิวเซอร์ Carlo Ponti กล่าวกับ Jacques Demy

แซว: ก่อนหน้านี้ Carlo Ponti เคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้ Jean-Luc Godard สรรค์สร้างหนังเพลง A Woman is a Woman (1961) ด้วยการแหวกขนบ กฎเกณฑ์ต่างๆมากมาย แถมประสบความสำเร็จทำเงินไม่น้อย (ถีงอย่างนั้นภาพยนตร์แนวนี้ก็ยังคงไม่ค่อยได้รับความนิยมในฝรั่งเศสอยู่ดี)

หนี่งในนายทุนที่ Demy ยื่นข้อเสนอโปรเจคนี้ไปก็คือ Pierre Lazareff เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์รายวัน France-Soir ซี่งก็ได้แนะนำ(ชู้รัก) Mag Bodard ขณะนั้นเธอเพิ่งก่อตั้งสตูดิโอ Parc Films ให้มาเป็นโปรดิวเซอร์หนัง

ขอกล่าวถึงโปรดิวเซอร์หญิงแกร่ง คนนี้สักนิดนะครับ Mag Bodard (1916-2019) เกิดที่ Turin, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวให้นิตยสาร Elle หลังจากแต่งงานกับเพื่อน(ร่วมงาน) Lucien Bodard ย้ายมาปักหลักอาศัยอยู่กรุง Paris กลายเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ France-Soir แล้วลักลอบคบชู้กับเจ้าของ Pierre Lazareff ส่งท่อน้ำเลี้ยงจนได้ก่อตั้งสตูดิโอ Parc Films สรรหาทุนให้ภาพยนตร์เรื่องแรก The Dance (1962), ติดตามมาด้วย The Umbrellas of Cherbourg (1964), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Le Bonheur (1965), Au Hasard Balthazar (1966), Two or Three Things I Know About Her (1967), The Young Girls of Rochefort (1967), Mouchette (1967), La Chinoise (1967) ฯ

แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Bodard เป็นโปรดิวเซอร์ The Dance (1962) จะขาดทุนย่อยยับเยิน แต่เธอมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง อยากเป็นส่วนสำคัญในการสรรค์สร้างภาพยนตร์แนวคิดใหม่ๆ หลังจากอ่านบท สนทนาผู้กำกับ Demy ก็เชื่อสุดๆว่าโปรเจคนี้ต้องประสบความสำเร็จ สรรหางบประมาณเบื้องต้น 1.3 ล้านฟรังก์ ต่อรองจากสตูดิโอ Fox (แลกเปลี่ยนกับการที่ Lazareff ช่วยโปรโมทภาพยนตร์ The Longest Day (1962)) ส่วนที่เหลือมาจากการกู้ยืม จดจำนอง รอดไม่รอดก็วัดดวงกันเลย!


มีนักข่าวพยายามสอบถามแรงบันดาลใจของ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แต่ผู้กำกับ Demy สามารถให้คำตอบได้แค่

I want to make people cry.

Jacques Demy จากบทสัมภาษณ์ปี 1972

จากความตั้งใจนั้น Demy พัฒนาเรื่องราวโดยอ้างอิงประสบการณ์ชีวิตตนเอง ตั้งแต่ได้พบเจอ แต่งงานกับ Agnès Varda รวมถึงมองหาสิ่งสามารถสร้างอิทธิพล ส่งผลกระทบต่อวัยรุ่นหนุ่มสาว และความรักในยุคสมัยนั้น ประกอบด้วย

  • ครอบครัว (มารดามีอิทธิพลต่อ Demy มากๆ ผิดกับบิดาที่ต้องการให้บุตรคนโตสืบสานต่อกิจการร้านซ่อมรถ เลยค่อนข้างเหินห่างเพราะเขาตัดสินใจเลือกเป็นผู้กำกับภาพยนตร์)
  • วรรณะทางสังคม ระหว่างชนชั้นกลาง (Roland Cassard) กับคนใช้แรงงาน (Guy Foucher) ครอบครัวไหนที่มีลูกสาว ย่อมต้องการเลือกคู่ครองที่สมฐานะ อนาคตจักได้สุขสบาย
  • สภาพเศรษฐกิจถดถอยจากอิทธิพล Great Depression (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ทำให้ผู้ใหญ่มีความหวาดระแวง วิตกกังวล ส่วนเด็กรุ่น Baby Boomer ก็เร่งรีบร้อน อยากโตไวๆ จักได้ทำสิ่งสนองใจอยาก
  • Algerian War (1954-62) และ Vietnam War (1955-75) บีบบังคับให้คนหนุ่มต้องเกณฑ์ทหาร สูญเสียช่วงเวลาวัยรุ่น และมีอัตราการเสียชีวิตสูงพอสมควร (ช่วงที่ Demy ได้รับหมายเรียกถูกส่งไปหน่วยพลร่ม แต่เขาแสดงอาการกลัวเครื่องบินจนเสียสติแตก ทำให้ได้ปลดประจำการก่อนครบกำหนด)
  • และการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น (นี่คือสิ่งที่เกิดขี้นจริงๆกับ Varda) เพิ่งเริ่มต้นสร้างกระแสเมื่อปี 1960 รณรงค์ให้ใช้ยาคุมกำเนิด สำหรับเพศสัมพันธ์ที่ยังไม่พร้อมมีบุตร

ฉบับร่างแรกของหนังตั้งชื่อว่า La Belle Amour (แปลว่า The Beautiful Love) แม่-ลูกเปิดร้านขายถุงมือ แต่หลังจากออกสำรวจสถานที่ถ่ายทำยังเมือง Cherbourg บังเอิญพบเห็นร้านขายร่ม (จริงๆคือร้านขายอุปกรณ์ทั่วๆไป/Hardware Store แค่จัดแสดงร่มอยู่หน้าร้าน) ชวนให้ระลึกถึงภาพยนตร์ Singin’ in the Rain (1952) เลยปรับเปลี่ยนรายละเอียดส่วนดังกล่าวโดยทันที!

บทหนังที่พัฒนาขี้น มีบทพูดสนทนา รายละเอียด(เหมือนบทหนัง)ทั่วๆไป แต่หลังจากนำไปพูดคุยกับนักแต่งเพลงเพื่อนสนิท Michel Legrand โน้มน้าว หว่านล้อมให้ Demy นำเสนอภาพยนตร์ออกมาในลักษณะ Musical ด้วยบทเพลงคลอประกอบ และนักแสดงพูดคุยด้วยการขับร้อง ‘sung-through’ ตลอดทั้งเรื่อง

What bothers me about traditional musical comedy as in operetta is that you have the story, then a song, then story, then a dance number, then back to song. This succession of numbers tends to disrupt the overall unity of the piece. I dreamed of something seamless.

Jacques Demy

Demy และ Legrand สูญเวลาไปกว่า 6 เดือน (ช่วงปี 1961) กว่าจะค้นพบท่วงทำนองแรกที่สอดคล้องวิสัยทัศน์ ตรงตามความต้องการของพวกเขา นั่นคือฉากแม่-ลูก นำสร้อยมุกตั้งใจจะไปขายยังร้านเครื่องประดับ, หลังจากนั้นการทำงานก็ราบรื่น ใช้เวลาอีกเพียง 2 เดือนก็พร้อมบันทีกเสียง (pre-record) แต่ Demy หันไปทุ่มเวลาให้โปรเจค Bay of Angels (1963) เสร็จแล้วถึงค่อยกลับมาเริ่มต้นงานสร้าง The Umbrellas of Cherbourg (1964)


เรื่องราวถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน โดยมีพื้นหลังยังเมืองท่า Cherbourg ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส

The Departure (พฤศจิกายน 1957), นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่าง Geneviève และ Guy แต่กลับถูกขัดขวางโดย Madam Emery (มารดาของ Geneviève) เพราะอยากให้บุตรสาวหันมาสนใจพ่อค้าเครื่องประดับ Roland Cassard ถ้าแต่งงานแล้วจักมีชีวิตสุขสบาย ฐานะทางการเงินมั่นคงกว่า และอีกไม่นาน Guy ก็จะถูกเรียกตัวไปเข้าร่วม Algerian War ทำให้ต้องพลัดพรากจากอย่างน้อย 2 ปี ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสรอดกลับมาไหม

The Absence (มกราคม-เมษายน 1958), ความเหินห่างทำให้จิตใจของ Geneviève เกิดความเรรวนปรวนแปร สาเหตุผลหนึ่งเพราะเธอกำลังตั้งครรภ์ลูกของ Guy (ร่วมรักกันก่อนเขาจะจากไป) ขณะเดียวกัน Madam Emery ก็พยายามโน้มน้าวให้บุตรสาวตอบตกลงแต่งงานกับ Roland Cassard ที่พร้อมยินยอมรับ ไม่เกี่ยงบุตรในครรภ์ของเธอ

The Return (มีนาคม 1959 – ธันวาคม 1963), หลังจาก Guy ปลดประจำการเพราะได้รับบาดเจ็บขาพิการ แต่พอกลับมาถึง Cherbourg ก็พบว่า Geneviève แต่งงานแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น ในช่วงแรกๆเขาจึงยังไม่สามารถยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับสิ่งบังเกิดขึ้น จนกระทั่งพบรักครั้งใหม่กับ Madeleine แล้วเปิดกิจการปั๊มน้ำมัน หลายปีต่อมาบังเอิญพบเจอ Geneviève แล้วทั้งคู่ก็ได้มีโอกาสร่ำลาจากกันเสียที


Catherine Deneuve ชื่อจริง Catherine Fabienne Dorléac (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, เป็นบุตรของนักแสดงละครเวทีชื่อดัง Maurice Dorléac และ Renée Simonot เลยไม่แปลกที่เธอจะมีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เริ่มจากตัวประกอบเล็กๆ Les Collégiennes (1957), ซึ่งการแสดงของเธอใน L’Homme à femmes (1960) ไปเข้าตาผู้กำกับ Jacques Demy เรียกตัวมาทดสอบหน้ากล้อง เลือกให้รับบทนำ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แจ้งเกิดโด่งดังในทันที!

ผลงานเด่นๆ อาทิ Repulsion (1965), Belle de Jour (1967), The Young Girls of Rochefort (1967), Tristana (1970), The Last Metro (1980), Indochine (1992), Place Vendôme (1998) ฯ

รับบท Geneviève Emery หญิงสาววัย 17 ปี มีความน่ารักสดใส อาศัยอยู่กับมารดา Madame Emery เปิดกิจการร้านขายร่ม วันๆเฝ้ารอคอยแฟนหนุ่ม Guy นัดพบหลังเลิกงาน ต้องการครองคู่แต่งงาน แต่ถูกมารดา Madam Eme พยายามกีดกั้นขวาง ซึ่งหลังพลัดพรากจากชายคนรักที่ต้องเข้าร่วมสงคราม ความเหินห่างทำให้จิตใจแปรปรวน กอปรกับกำลังตั้งครรภ์ ต้องการใครบางคนสำหรับพึ่งพักพิง ในที่สุดเลยยินยอมตอบแต่งงานกับ Roland ทั้งๆจิตใจยังคงโหยหา ครุ่นคิดถึงรักครั้งแรก

คนที่เคยรับชมผลงานเรื่องอื่นๆของ Deneuve แล้วกลับมาดู The Umbrellas of Cherbourg (1964) จะสัมผัสถึงความบริสุทธิ์ใส ไร้เดียงสา เปราะบาง ไม่ได้มีความเข้มแข็งแกร่ง หยาบกระด้าง กร้านโลกเลยสักนิด! นั่นแสดงถึงวัยวุฒิ (ขณะนั้นเธออายุเพียง 19-20 ปี) ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ประสบการณ์ชีวิต เมื่อคนเราสูญเสียช่วงวัยแรกรุ่นไปแล้ว ก็มิอาจหวนย้อนกลับคืนมาได้อีก

แม้ว่า Deneuve ยังดูเด็ก อ่อนประสบการณ์ แต่ผมกลับลุ่มหลงใหลในความสดใส แสดงออกเรื่องรักๆใคร่ๆอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะขณะพลัดพรากจากคนรักไป ยังไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามามีอิทธิพล แปดเปื้อนมลทิน นั่นคือสิ่งที่ผู้ชมแทบจะไม่พบเห็นในบทบาทอื่นๆของเธอ … อาจไม่ใช่การแสดงยอดเยี่ยมที่สุด แต่คือภาพลักษณ์จักคงความสวยสาว อมตะ ชั่วนิรันดร์

เกร็ด: ก่อนเริ่มต้นถ่ายทำหนัง Deneuve เพิ่งคลอดลูกบุตรชายแรก Christian Vadim (เดือนมิถุนายน 1963) แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ(ผู้กำกับ) Roger Vadim เห็นว่ายังไม่ได้แต่งงาน แต่ก็ใกล้จะเลิกราเต็มทน (ชายคนนี้เจ้าชู้สุดๆเลยละ)

ความยังบริสุทธิ์ อ่อนเยาว์วัยของ Deneuve ก็แสดงออกในกองถ่ายเช่นกัน ตั้งแต่เด็กเธอเคยแต่ไว้ทรงผมปกปิดหน้าผาก พอผู้กำกับ Demy พบเห็นก็กระซิบกระซาบขอความช่วยเหลือ(ภรรยา) Agnès Varda ให้ช่วยทำอะไรบางอย่าง (ผู้หญิงด้วยกันน่าจะพูดคุยรู้เรื่อง แค่เพียงเธอจับมัด รวมผม เด็กหญิงก็งอแงจนร่ำร้องไห้ออกมา

Agnes suggested to Jacques we try a swept-back style, which for me, who had always had bangs, was just awful. When you’re used to bangs, it’s like being undressed. But I didn’t fight it for long, because I agreed that it worked. It was how Agnes pulled at my hair that shocked me.

Catherine Deneuve

Francesco ‘Nino’ Castelnuovo (1936-2021) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Lecco เมื่อเรียนจบมัธยมทำงานเป็นช่างซ่อมรถ ช่างทีสี พอย้ายมาอยู่ Milan เป็นนายหน้าขายของ (Salesman) ระหว่างนั้นร่ำเรียนการแสดงยัง Piccolo Teatro แล้วได้บทเล็กๆในภาพยนตร์ The Facts of Murder (1959), Rocco and His Brothers (1960) เรื่องหลังเข้าตาผู้กำกับ Jacques Demy ต้องการให้มารับบทนำ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันทีเช่นกัน!

รับบท Guy Foucher ช่างซ่อมรถ หนุ่มหล่อ เต็มไปด้วยกระตืนรือล้น ตั้งใจทำงาน ตกหลุมรัก Geneviève Emery ต้องการครองคู่แต่งงาน แต่หลังจากถูกเรียกตัวรับใช้ชาติ จำต้องเหินห่าง แทบไม่มีเวลาเขียนจดหมายสานสัมพันธ์ สองปีถัดมาได้กลับมาบ้าน หญิงคนรักกลับแต่งงาน ย้ายออกจากเมืองแห่งนี้ไป ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งแม่ทูนหัวตายจากไป หลงเหลือเพียง Madeleine เลยตัดสินใจสู่ขอแต่งงาน แล้วเปิดกิจการปั๊มน้ำมัน ราวกับได้เริ่มต้นชีวิตไหม่

ตัวละครเริ่มต้นด้วยความมุ่งมั่น เพ้อฝัน ทะเยอทะยาน เบิกบานด้วยรอยยิ้ม ไม่หวาดหวั่นกลัวเกรงอะไรตราบยังมีคนรักเคียงข้างกาย แต่สงครามทำให้เขาต้องพลัดพราก สูญเสียแทบทุกสิ่งอย่าง ไม่ใช่อาการ Shell Shock แค่มิอาจปรับตัว ยินยอมรับความจริง ต้องการบางสิ่งสามารถเป็นที่พักพิง … เช่นเดียวกับ Geneviève การแต่งงานของ Guy ไม่ใช่กับคนที่เขาตกหลุมรัก แต่สถานการณ์ชักนำพาและเลือกที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า โดยไม่หันแลเหลียวกลับมามองด้านหลัง

ภาพลักษณ์ของ Castelnuovo ดูเหมาะกับองก์สามหลังกลับจากสงคราม สภาพเหมือนคนหมดสิ้นหวัง ห่อละเหี่ยว ล่องลอยไปอย่างเวิ้งว่างเปล่า สูญสิ้นเป้าหมาย เหน็ดเหนื่อยหน่ายกับชีวิต ผู้ชมน่าจะสัมผัสได้ถึงความโล้เลลังเลใจ ขณะร่ำร้องขอ Madeleine ไม่ให้ลาจากไป (ก็ไม่ได้ตกหลุมรัก แต่ไม่อยากอยู่ตัวคนเดียว ต้องการใครสักคนเป็นที่พึ่งพักพิง) แต่หลังจากนั้นเขาก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตนเอง เริ่มต้นชีวิตใหม่ และขณะบังเอิญพบเจอ Geneviève ชัดเจนว่ายังคงรักมากๆอยู่ แต่ก็มิอาจพูดบอก แสดงความต้องการแท้จริงออกไป


Marc Michel (1932-2016) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Basse-Terre, Guadeloupe เริ่มมีชื่อเสียงจาก Le Trou (1960), เคยร่วมงานผู้กำกับ Jacques Demy เรื่อง Lola (1961) หวนกลับมารับบทเดิมใน The Umbrellas of Cherbourg (1964)

รับบท Roland Cassard พ่อค้าเครื่องประดับ ที่มักออกเดินทางไปยังเมืองต่างๆเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยน วันหนึ่งระหว่างกำลังต่อรองธุรกิจยังร้านใน Cherbourg แรกพบเจอตกหลุมรัก Geneviève Emery เลยยินยอมขอซื้อสร้อยคอมุก สร้างความประทับใจให้ Madame Emery พยายามจับคู่ให้บุตรสาว จนเขายื่นข้อเสนอการแต่งงาน ไม่รังเกียจบุตรในครรภ์ พร้อมรับเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรม

ใครเคยรับชม Lola (1961) น่าจะเข้าใจขณะที่ตัวละครพึมรำพันถึงอดีต เคยตกหลุมรักหญิงสาวชื่อ Lola (แล้วมีแทรกภาพห้างสรรพสินค้า Passage Pommeraye) แต่เธอเลือกไปอยู่กับอดีตสามี (พร้อมบุตรชาย) ทำให้เขาตัดสินใจออกเดินทาง ทำธุรกิจที่ไม่ต้องปักหลักอยู่สถานที่แห่งหนใด

เอาจริงๆผมแอบรำคาญสายตาหื่นกระหายของ Michel ดูจอมปลอม หลอกลวง จ้องแต่จะเอาเมีย ปากบอกยินยอมรับเด็กในครรภ์ แต่มันฟังเหมือนข้ออ้าง สนใจเพียงได้ครอบครอง ร่วมรักกับเธอเท่านั้น … ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น แต่การนำเสนอของหนังทำเหมือนชายคนนี้คือผู้ร้าย ให้พระเอกตัวจริงต้องสูญเสียคนรักไป


นักแสดงอีกคนที่ต้องพูดถึงเลยก็คือ Anne Vernon ชื่อจริง Edith Antoinette Alexandrine Vignaud (เกิดปี 1924) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Denis, หลังเรียนจบจาก Paris Ecole des Beaux Arts ทำงานเป็นโมเดลลิ่ง ฝึกงานบริษัทออกแบบโฆษณา จากนั้นค่อยเริ่มสนใจด้านแสดง เข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 1948 ผลงานเด่นๆ อาทิ Shakedown (1950), Edward and Caroline (1951), The Umbrellas of Cherbourg (1964) ฯ

รับบท Madame Emery เจ้าของกิจการร้านขายร่ม มารดาของ Geneviève เพราะเคยพานผ่านประสบการณ์ท้องก่อนแต่ง และเลิกราสามี จึงไม่อยากให้บุตรสาวต้องดำเนินรอยตาม ปฏิเสธไม่เสียงขันแข็งยินยอมให้คบหากับ Guy, ความบังเอิญเมื่อได้พบเจอ Roland ประทับใจในชนชั้น ฐานะ จึงพยายามพูดโน้มน้าว ชักจูงจมูก แม้หลังจาก Geneviève บอกว่าตั้งครรภ์กับ Guy ก็ยังเชื่อมั่นและเข้าใจสันชาตญาณความเป็นชาย (ของ Roland) ว่าต้องยินยอมรับเรื่องพรรค์นี้ได้อย่างแน่นอน

เกร็ด: ตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจากภาพยนตร์ The Ladies of the Bois de Boulogne (1945) ของผู้กำกับ Robert Bresson

พ่อ-แม่ มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นคนหนุ่มสาวเป็นอย่างมาก ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถต่อสู้ขัดขืน ตีตนออกห่าง หญิงสาวยุคสมัยนั้นยังคงน้อมนำ รับฟัง ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง เพราะถึงเป็นการบีบบังคับ แต่คือความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ เข้าใจความเป็นไปของโลกนี้ (อาบน้ำร้อนมาก่อน)

หลายคนอาจไม่ชื่นชอบตัวละครนี้ เพราะการแสดงของ Vernon ที่พยายามควบคุมครอบงำ พูดพร่ำไม่เคยหยุด บีบบังคับบุตรสาวให้แต่งงานกับชายที่ไม่ได้ตกหลุมรัก แต่เราต้องเข้าใจบริบททางสังคม สภาพแวดล้อมยุคสมัยนั้น เป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวย่อมมีอิทธิพลต่อลูกๆหลานๆ ต้องการให้ได้ดี ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ใช่ทุกข์ทรมาน พานผ่านเรื่องร้ายๆแบบตนเอง … ต้องชมสีหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์ของบทเพลงได้อย่างสมจริงจัง (แม้น้ำเสียงร้องจะไม่ใช่ของเธอเองก็ตามเถอะ)


ถ่ายภาพโดย Jean Rabier (1927-2016) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montfort-L’Amaury จากเป็นศิลปินวาดรูป ผันสู่ทำงานตากล้องภาพยนตร์ เริ่มจากควบคุมกล้อง (Camera Operator) ถ่ายทำหนังสั้นตั้งแต่ปี 1948, ผู้ช่วย Henri Decaë ถ่ายทำ Crèvecoeur (1955), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), The 400 Blows (1959), จากนั้นได้รับการผลักดันจาก Claude Chabrol เป็นตากล้องเต็มตัว/ขาประจำตั้งแต่ Wise Guys (1961), ผลงานโด่งดัง อาทิ Cléo from 5 to 7 (1962), Bay of Angels (1963), The Umbrellas of Cherbourg (1964), Le Bonheur (1965) ฯ

โดยปกติของหนังเพลงจะใช้การบันทีกเสียง (pre-record) เสร็จสิ้นตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่น แต่หนังเรื่องนี้มีความยุ่งยากกว่านั้น เพราะนักแสดงต้องลิปซิ้งค์ทั้งหมด (รวมไปถีงบทสนทนา) จีงต้องมีการพูดคุยรายละเอียดกันตั้งแต่ต้น ระหว่างนักแสดง-นักร้อง-ผู้ประพันธ์เพลง ว่าเมื่อพูด/ร้องจบประโยค จะเดินกี่ก้าว จะทำอะไร มีช่องว่างระหว่างนั้นนานสักแค่ไหน และต้องมีความเปะๆ เพราะมันปรับเปลี่ยนแปลงระหว่างถ่ายทำไม่ได้แล้ว

เมื่อเวลาเป็นข้อจำกัด งานภาพของหนังจีงต้องดำเนินไปตามท่วงทำนอง จังหวะดนตรี เคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครแบบ Long Take แทบไม่พบเห็นหยุดอยู่นิ่ง แล้วตัดสลับเมื่อมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง หรือบุคคลกำลังพูด/ขับร้อง อยู่ตำแหน่งทิศทางตรงกันข้าม (ไม่สามารถเคลื่อนเลื่อนกล้องไปหาตัวละครนั้นๆได้ทัน ถีงจะใช้การตัดต่อเปลี่ยนทิศทาง)

ลีลาการเคลื่อนเลื่อนกล้องของ Jean Rabier ผมรู้สีกว่ามีพัฒนาการใกล้เคียงกับ Raoul Coutard คือสามารถสร้างความลื่นไหล ไร้รอยต่อ ‘seamless’ แตกต่างตรงการเลือกสีสันที่ทำให้รู้สีกสดชื่น จัดจ้าน ดูแปลกตา ราวกับทำให้ผู้ชมหลุดล่องลอยเข้าไปยังโลกแฟนตาซี ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน


เมื่อพูดถึงการใช้สีของหนัง ผู้กำกับ Demy ให้คำนิยามภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ‘singing Matisse’ ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดงานศิลปะของจิตรกรเอก Henri Matisse (1869-1954) สัญชาติฝรั่งเศส จัดจ้านในสไตล์ Fauvism (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Wild Beasts) ที่มีการใช้สีสด รุนแรง เพื่อสื่อความหมายทางอารมณ์ และมักนำคู่สีตรงข้ามมาตัดกัน ความรู้สึกตื่นเต้นแปลกใหม่ให้แก่ผู้พบเห็น

I believe firmly in impulse. It’s true that each color express something, but that is unconscious. I know, for example, that for Les Parapluies I wanted the umbrella shop, which is run by a woman, to be in very tender colors, rather sexual, rose colored, purplish-blue, violet. I wanted to convey a particular universe, but I don’t think that’s really important.

Jacques Demy

เกร็ด: แม้ว่า Fauvism จะโดดเด่นในแนวคิดการใช้สี แต่ให้เขวี้ยงขว้างทฤษฎีสีทิ้งไปเลยนะครับ เพราะศิลปินสรรค์สร้างผลงานด้วยอารมณ์ของตนเองเป็นหลัก ไม่เน้นความกลมกลืน ชอบที่จะเอามาตัดกันให้บังเกิดความครึกครื้นบางอย่าง

Woman with a Hat (1905)
Portrait of Madame Matisse หรือ The Green Line (1905)
Les toits de Collioure (1905)
The Conversation (1911)

ผมพยายามค้นหาเหตุผลที่ทำไมผู้กำกับ Demy ถึงเลือกพื้นหลัง สถานที่ถ่ายทำยัง Cherbourg เมืองท่าทางตอนเหนือของฝรั่งเศส แต่ก็ไม่พบเจอบทสัมภาษณ์/คำอธิบายใดๆ ซึ่งถ้าอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ บริเวณแห่งนี้คือ ‘กุญแจ’ สำคัญในยุทธศาสตร์ Battle of Normandy (1944) ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วกลายเป็นท่าเรือยอดนิยมที่ถ้าเดินทางจากสหรัฐอเมริกา ก็มักมาจอดเทียบขึ้นฝั่งกันที่นี่ (Charlie Chaplin, Burt Lancaster ฯ ก็เคยขึ้นฝั่งเทียบท่ายังเมืองนี้)

เกร็ด: Cherbourg มีสภาพภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทร (Oceanic Climate) ความชื้นสูง ลมทะเลพัดแรง อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ปริมาณฝนตก 692.3 มิลลิเมตรต่อปี แต่ก็ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศฝรั่งเศสที่ 770 มิลลิเมตรต่อปี

เกร็ด2: ก่อนหน้านี้ Cherbourg ยังเคยเป็นสถานที่พื้นหลัง/ถ่ายทำภาพยนตร์ La Marie du port (1950) กำกับโดย Marcel Carné, นำแสดงโดย Jean Gabin, แต่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เมืองนี้ให้คุ้มค่าสักเท่าไหร่ (ซึ่งก็ไม่น่าเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่องนี้เช่นกัน)

เกร็ด3: ส่วนร้านขายร่ม ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ที่ 13 Rue De Port, Cherbourg อนุรักษ์ไว้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญประจำเมือง แต่กลายเป็นขายอุปกรณ์เครื่องเขียน (ก็ไม่รู้เปลี่ยนเจ้าของไปแล้วกี่รอบ)

ความน่ารักของชาวเมือง Cherbourg พวกเขายินยอมให้ทีมงานแต่งแต้มทาสีสันสถานที่ต่างๆ (บางครั้งก็มาร่วมด้วยช่วยกัน) ทั้งภายนอก-ใน ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจแม้แต่น้อย

การใช้สีของผู้กำกับ Demy นอกจากเพื่อสร้างโลกแฟนตาซี เหนือจินตนาการ ยังทดแทนในส่วนงานสร้างของ Hollywood Musical ที่สมัยนั้นมุ่งเน้นทำฉากให้ใหญ่โตอลังการ หมดสิ้นงบประมาณมากมายมหาศาล … ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำยังสถานที่จริง ทุนจำกัด แต่แค่แต่งแต้มทาสี ติดวอลเปเปอร์ให้ฉูดฉาด ก็สามารถมอบความน่าตื่นตาตื่นใจ สดใส แปลกใหม่

มันมีนัยยะของการใช้สีสันซ่อนอยู่หรือเปล่า? แน่นอนว่าต้องมีนะครับ จุดประสงค์หลักๆเพื่อสะท้อนห้วงอารมณ์ ความรู้สีกตัวละครขณะนั้นๆ แต่ผมจะขอยกตัวอย่างเพียงแค่ 1-2 ฉากที่น่าสนใจก็แล้วกัน

หนังเริ่มต้นด้วย Iris Shot (ถือเป็น ‘Signature Shot’ ของผู้กำกับ Demy) เพื่อเปิดโลกทัศน์ผู้ชมเข้าสู่ ‘จักรวาล Demy’ ดินแดนเหมือนฝัน แฟนตาซี เหนือจินตนาการ

หนี่งใน Opening Credit ที่มีความโคตรสร้างสรรค์ ต่อจากช็อตแรกที่พบเห็นทิวทัศน์เมือง Cherbourg กล้องค่อยๆแพนลงมา (Tilt Down) จนกลายเป็น Bird Eye View พบเห็นหยาดฝน ผู้คนเริ่มกางร่ม เดินสวนไปมา เต็มไปด้วยสีสันและความหลากหลาย ส่วนชื่อหนังใช้ตัวอักษรสีชมพู หวานแหววดีจัง!

ครอบครัวของ Demy เปิดกิจการร้านซ่อมรถ สำหรับเขาแล้วกลิ่นน้ำมัน ไม่ต่างจากน้ำหอม รู้สีกสดชื่นเมื่อได้สูดดม โดยเฉพาะขนมปังยามเช้า ถ้าได้คลุกแก๊สโซลีนสักหน่อย … นี่จากคำบอกเล่าของ Agnès Varda

บิดาของ Demy ต้องการให้เขาสืบกิจการร้านซ่อมรถต่อจากตนเอง แต่เจ้าตัวตอบปฏิเสธแล้วเลือกเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ พวกเขาจีงเกิดความขัดแย้ง มองหน้ากันไม่ค่อยติด … เรื่องราวคล้ายๆตอนองก์สาม จะมีฉากที่ Guy ขัดแย้งกับเจ้าของร้าน (เจ้าของร้านเปรียบสามารถได้กับบิดาของ Guy)

สำหรับคนที่ชอบสังเกต ลองมองหาป้าย Toilette มีพื้นหลังสีม่วง มันจะสื่อถึงอะไรหรือเปล่านะ?

นอกจากนี้สีสันและบทเพลงที่เต็มไปด้วยความฉูดฉาด จัดจ้านของหนัง ยังสามารถตีความถึงความหลากหลายทางเพศ ‘gay culture’ แนวคิดเดียวกับยุคสมัยนี้ที่ใช้รุ้งเจ็ดสี แทนสัญลักษณ์ของ LGBT+

ช็อตแรกของ Geneviève สังเกตว่าเธอยืนแฉ่งยิ้มอยู่ในร้าน รายล้อมรอบด้วยร่มหลากสีสัน สะท้อนถีงความเป็นสาวแรกรุ่น ยังจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ควบคุมดูแลจากครอบครัว (โดยเฉพาะการเลือกคู่ครอง)

ทรงผมของ Geneviève จะพบเห็นอยู่หลายทรง ปรับเปลี่ยนตามสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร แต่ที่โดดเด่นมีเพียงสามทรงนี้

  • ตอนแรกจะมัดรวบด้านบน เปิดหน้าผาก สะท้อนความร่าเริงสดใส ชีวิตไม่มีอะไรต้องปกปิดซุกซ่อนเร้น
  • ตอนสองมัดด้านล่าง/ท้ายทอย แล้วปล่อยด้านหน้า แหวกซ้ายขวา ปกปิดบังหน้าผากบางส่วน สะท้อนว่ามีบางสิ่งอย่างที่ต้องปกปิดซุกซ่อนเร้น (ว่าตนเองตั้งครรภ์กับ Guy)
  • ตอนสามช่างท้ายๆ ทำผมฟูๆ ใช้ผ้าคาด ปกปิดบังหน้าผากส่วนใหญ่ สะท้อนถีงชีวิตหลังแต่งงาน ที่ต้องเก็บฝังบางสิ่งอย่างไว้ภายใน (เป็นสิ่งไม่สามารถเปิดเผยออกมาได้อีกแล้ว)

อุปรากร Carmen (1875) ความยาว 4 องก์ ประพันธ์โดย Georges Bizet (1838-75) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายชื่อเดียวกัน Carmen (1845) แต่งโดย Prosper Mérimée (1803-70) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส

เรื่องราวของ Carmen เกิดขึ้นที่เมือง Seville ประเทศสเปน เมื่อราวค.ศ. 1830, เป็นโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับหญิงสาวยิปซี Carmen กับทหารหนุ่มชื่อ Don José ที่ตกหลุมรักจนยอมทิ้งคนรักเก่าไปมีความสัมพันธ์ แต่เธอกลับสลัดเขาทิ้งเพื่อไปมีความรักใหม่กับนักสู้กระทิง Escamillo ทำให้ชายหนุ่มครุ่นคิดวางแผนฆาตกรรมเพื่อยุติปัญหารักสามเส้านี้

Sex Scene ระหว่าง Guy กับ Geneviève เริ่มจากล่องลอยมาถีงอพาร์ทเม้นท์ หลบซ่อนตัวจากแม่ทูนหัว พอปิดประตูล็อคห้อง เพลิงราคะ (ตรงเตาผิง) ก็เริ่มคุกรุ่น โอบกอดรัด หมุนตัวสองรอบ 360 องศา พอทิ้งตัวลงบนเตียงก็ร้อยเรียง Montage ภาพท้องถนนที่ว่างเปล่ายามค่ำคืน

ไดเรคชั่นของฉากนี้มีความเรียบง่าย ไม่ได้แฝงนัยยะซับซ้อนอะไร แต่ผู้ชมสามารถรับรู้เข้าใจว่าพวกเขากำลังอะไร (มีทั้งหมดสามภาพ คงสามน้ำกระมัง) ถึงสามารถทำให้หญิงสาวตั้งครรภ์ –”

ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นๆ หรือแนวสงคราม การออกเดินทาง/พลัดพรากจากคนรักยังสถานีรถไฟ ย่อมต้องคาคลั่งไปด้วยฝูงชน ญาติมิตรสหาย ทหารใหม่เต็มตู้โดยสาร แต่ฉากนี้กลับมีเพียง Guy และ Geneviève เหมือนต้องการจะสร้างพื้นที่/โลกส่วนตัวให้พวกเขา … หรือเหตุผลจริงๆคือ ไม่มีงบจ้างตัวประกอบหรือเปล่า?

การมีเพียงเราสองในฉากนี้ สามารถสร้างผลลัพท์ที่ทรงพลังมากๆ เพราะทำให้ผู้ชมไม่วอกแวกไปกับรายละเอียดอื่นๆรอบข้าง จับจ้องมองเพียงตัวละคร ค่อยๆร่ำลา น้ำตาหลั่งไหลริน พอรถไฟกำลังเคลื่อนออก บทเพลงก็บดขยี้หัวใจแถมเข้าให้อีก!

แซว: สังเกตว่าทั้ง Sequence นี้ เหมือนจะไม่มีการ Close-Up ใบหน้าของ Geneviève นั่นเพราะ Catherine Deneuve ไม่สามารถหลั่งน้ำตาออกมาได้ … เธอให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ตอนนั้นยังตนเองยังอ่อนวัยอยู่มาก เลยขาดประสบการณ์สร้างอารมณ์ร่วม พยายามแล้วก็ไม่สำเร็จ กลายเป็นตราบาปเล็กๆในใจ

ระหว่างองก์หนี่ง-สอง ความสัมพันธ์ของ Geneviève กับ Guy vs. Roland ต่างถูกนำเสนอในลักษณะแตกต่างขั้วตรงข้าม กลางคืน-กลางวัน ทานข้าวนอกบ้าน-ในบ้าน พรอดรักดูดดื่ม-แสดงออกด้วยมารยาท

ความแตกต่างดังกล่าว ก็เพื่อสร้างตัวเลือกการต้องตัดสินใจของ Geneviève ระหว่างชีวิตที่สุขสบาย ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรน แต่ต้องแลกกับการสูญเสียอิสรภาพ มิอาจกระทำสิ่งสนองความพีงพอใจ … ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง

เมื่อ Geneviève ยินยอมตอบตกลงแต่งงานกับ Roland นี่เป็นฉากที่ถ้าใครสามารถครุ่นคิดเข้าใจได้โดยทันที จะรู้สีกจุกอก หายใจไม่ออก เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน … นั่นเพราะเป็นการแทนหญิงสาวด้วยตุ๊กตา (แนวคิดเดียวกับบทละคร A Doll’s House ของ Henrik Ibsen) สภาพของเธอราวกับบุคคลไร้จิตวิญญาณ มิอาจควบคุมโชคชะตาชีวิตของตนเอง กำลังจะแต่งงานกับคนที่ไม่ได้ตกหลุมรัก

แม้หญิงสาวจะสวมชุดที่มีลวดลายและสีสัน แต่รายล้อมรอบข้างด้วยสีขาวโพลน (นัยยะถึงความว่างเปล่า ไร้สีสัน) และผ้าขาวบางปกคลุมศีรษะ (ทั้งร่างกาย) ต่อจากนี้ความร่าเริงสดใสจะถูกเก็บซุกซ่อนไว้ภายใน

จากร้านขายร่ม แปรเปลี่ยนกลายมาเป็นร้านซักรีด พบเห็นเครื่องปั่น/ซักผ้า น่าจะสื่อถึงความปั่นป่วน/สับสน ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของ Guy เพราะสถานที่แห่งนี้เคยเป็นสีสัน จุดมุ่งหมาย ปัจจุบันพอเปลี่ยนเจ้าของใหม่ ถูกทาสีขาวโพลน (ว่างเปล่า ไร้สีสัน) มันคือการสูญเสียความตัวตน อนาคต ไม่รู้ชีวิตจะดำเนินต่อไปยังไง

หนังทั้งเรื่องมีเพียงฉากนี้ที่ใช้โทนสีส้ม ซี่งคือส่วนผสมของแดง+เหลือง สะท้อนความก้ำๆกี่งๆ ครี่งหนี่งของ Guy ไม่ได้ตกหลุมรัก Madeleine แต่อีกครี่งหนี่งเพราะไม่อาจสูญเสียเธอไป จีงจำต้องตัดสินใจแต่งงาน ครองคู่อยู่ร่วม แล้วปกปิดซ่อนเร้นรักครั้งแรก/ความต้องการแท้จริง ฝังลีกทรวงใน

ปั๊มน้ำมันของ Guy ปกคลุมด้วยหิมะสีขาวโพลน ดูราวกับชีวิตที่ว่างเปล่า ไร้สีสัน แถมยังหนาวเหน็บ เย็นยะเยือกถีงทรวงใน ซี่งการบังเอิญพบเจอ Geneviève ทั้งคู่ต่างสวมเสื้อคลุมสีเข้ม มีบางสิ่งอย่างที่พวกเขาต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น เพราะต่างตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินชีวิตใหม่ ไม่สามารถหวนย้อนถอยหลังกลับไป

ผมชอบความอ้ำๆอี้งๆ กระอักกระอ่วนของทั้งสอง ไม่รู้จะพูดคุยสื่อสารอะไร ต่างมีภาระ หน้าที่ เส้นทางชีวิตที่เลือกเดินต่างกันไป แม้ลีกๆยังคงโหยหาอาลัย เคยรักคลั่งไคล้ แต่ช่วงเวลานั้นได้พานผ่านไปแล้ว หลงเหลือเพียงความทรงจำที่ทั้งงดงามและขื่นขม และหลังจาก Geneviève ขับรถจากไป Guy หันกลับมาเล่นปาหิมะกับบุตรชาย ผ่อนคลายบรรยากาศตีงเครียด ชีวิตดำเนินไป ไม่มีเวลาเหลือให้จมปลักอยู่กับความทุกข์โศก

เกร็ด: นักแสดงเด็กทั้งสองคน ประกอบด้วย

  • Hervé Legrand (ลูกของ Michel Legrand) รับบทเด็กชาย François (ลูกของ Guy)
  • Rosalie Varda (ลูกของ Agnès Varda) รับบทเด็กหญิง Françoise (ลูกของ Geneviève)

ตัดต่อโดย Anne-Marie Cotret และ Monique Teisseire, หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็นสามตอน/สามองก์ (ปรากฎข้อความ Title Card แบ่งแยกอย่างชัดเจน) นำเสนอผ่านมุมมองตัวละครที่แตกต่างกันไป โดยมีจุดหมุนคือ(ร้านขายร่ม)เมือง Cherbourg

  • Part One: The Departure (พฤศจิกายน 1957) นำเสนอผ่านมุมมองของ Guy และ Geneviève ดำเนินเรื่องสลับไปมา
  • Part Two: The Absence (มกราคม-เมษายน 1958) นำเสนอเฉพาะมุมมองของ Geneviève เมื่อต้องเหินห่างชายคนรัก เวลาแต่ละเดือนเคลื่อนผ่านไป ทำให้จิตใจผันแปรเปลี่ยน พร้อมๆครรภ์ขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
  • Part Three: The Return (มีนาคม 1959 – ธันวาคม 1963) นำเสนอเฉพาะมุมมองของ Guy หลังกลับจากทำสงคราม เผชิญหน้าความผิดหวัง ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย จนกระทั่งเกือบสูญเสียทุกสิ่งอย่างไปถึงค่อยเริ่มยินยอมรับความจริง ปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่
    • ปัจฉิมบท, กระโดดไปเดือนธันวาคม 1963 หลังกาลเวลาพานผ่านมา 4 ปี Guy และ Geneviève หวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง

ในส่วนของการตัดต่อ จะกลับตารปัตรจากกระบวนการปกติ (ที่มักตัดต่อให้เกือบเสร็จ แล้วค่อยใส่เพลงประกอบ) เพราะบทเพลงมีการบันทึกไว้เรียบร้อยก่อนแล้ว (pre-record) เพียงนำฟุตเทจที่ถ่ายมาปะติดปะต่อ ให้พอดิบดีกับเสียงที่ได้ยิน … วิธีดังกล่าวมีข้อเสียอย่างรุนแรงคือ ไม่สามารถปรับแต่งแก้ไขอะไรได้เลยถ้ามีความผิดพลาดบังเกิดขึ้น (คือผู้สร้างต้องมีความเชื่อมั่นสุดๆ ตั้งแต่การบันทึกเสียงล่วงหน้า)


เพลงประกอบโดย Michel Jean Legrand (1932-2019) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของนักแต่งเพลง/วาทยากรชื่อดัง Raymond Legrand มีอัจฉริยภาพด้านเปียโนตั้งแต่เด็ก พออายุ 10-11 ขวบ เข้าศึกษา Conservatoire de Paris ค้นพบความสนใจดนตรีแจ๊สและการประพันธ์เพลง จบออกร่วมทัวร์การแสดงของ Maurice Chevalier (เป็นนักเปียโน) จากนั้นออกอัลบัมแรก I Love Paris (1954) ได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง, สำหรับภาพยนตร์เริ่มต้นจาก Les Amants Du Tage (1954), โด่งดังกับ L’Amérique insolite (1958), A Woman Is a Woman (1960), ร่วมงานกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Jacques Demy ตั้งแต่ Lola (1961), The Umbrellas of Cherbourg (1964), The Young Girls of Rochefort (1966), กระทั่งคว้า Oscar: Best Score จาก Summer of ’42 (1971), The Thomas Crown Affair (1968) และ Yentl (1983)

แนวคิด ‘sung-through’ ได้แรงบันดาลใจจากการแสดงอุปรากร (Opera) ที่แม้ขณะนักแสดงพูดคุยสนทนา (เมื่อไม่มีดนตรีบรรเลง) ก็ยังจะเปร่งน้ำเสียงเหมือนการร้องเพลง แต่แปลกที่แนวคิดดังกล่าวกลับไม่เคยถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ น่าจะเพราะความยุ่งยากในกระบวนการถ่ายทำ จำเป็นต้องมีการบันทึกเสียงล่วงหน้า (pre-record) แล้วให้นักแสดงลิปซิงค์ตาม

I think singing is a natural mode of expression.

Jacques Demy

ซึ่งปัญหาคือช่องว่าง ช่วงระหว่างคำร้อง/การสนทนา เพราะนักแสดงต้องขยับเคลื่อนไหว เดินไปเดินมา กระทำบางสิ่งอย่างอยู่ตลอดเวลา ในกรณีของโอเปร่า/ละครเวที มันสามารถ ‘Improvised’ ปรับเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ แต่ภาพยนตร์มันทำแบบนั้นได้เสียที่ไหนกัน!

วิธีการของ The Umbrellas of Cherbourg (1964) คือให้นักแสดง-นักร้อง-ผู้ประพันธ์เพลง (ที่โดยปกติจะไม่มีโอกาสได้พบเจอกันหรอก) เข้ามาร่วมพูดคุยรายละเอียด แยกย่อยทีละฉาก ละคำพูดสนทนา จะข้บร้องออกเสียงอย่างไร ถ่ายทอดอารมณ์แบบไหน พูดจบแล้วต้องเดินกี่ก้าว กระทำอะไรต่อไป ใช้เวลานานเท่าไหร่

ในส่วนของงานเพลง ความท้าทายของ Legrand คือสรรค์สร้างบทเพลงที่มีความสอดคล้องกับเรื่องราวฉากนั้นๆ สามารถชี้นำทางอารมณ์ผู้ชมได้ตลอดทั้ง Sequence ซึ่งเมื่อไหร่นักแสดงพูด/ขับร้อง เสียงดนตรีจะเบาลง และช่องว่างระหว่าง(การสนทนา)นั้นก็จะใส่ท่วงทำนองดนตรี ดังขึ้นเพื่อสร้างความต่อเนื่องลื่นไหลโดยทันที

ขอเริ่มต้นที่ Scène du garage จัดจ้านด้วยสีสันของ Jazz นี่เป็นบทเพลงสามารถสังเกตไดเรคชั่นของหนังได้อย่างชัดเจนมากๆ ช่วงขณะนักแสดงพูด/ขับร้อง เครื่องดนตรีจะเบาเสียงลง แทบจะไม่ได้ยินเครื่องเป่า ทรัมเป็ต แซกโซโฟน ฯ ซึ่งจะดังขึ้นระหว่างช่องว่างการสนทนาเท่านั้น

Chez Dubourg (แปลว่า At Dubourg) คือบทเพลงแรกที่ Legrand ประสบความสำเร็จในการแต่งขึ้นของหนัง ดังขึ้นเมื่อสองแม่-ลูก เดินทางไปร้านเครื่องประดับ ตั้งใจจะขายสร้อยคอมุก แล้วได้บังเอิญพบเจอกับ Roland อาสารับซื้อโดยทันที (ท่อนแรกที่คิดได้จริงๆคือระหว่าง Madame Emery พยายามต่อรองขายสร้อยไข่มุกกับเจ้าของร้าน)

จะว่าไปเพลงนี้ก็น่าสนใจอยู่นะ สามารถแบ่งแยกแยะออกเป็นสามช่วงอารมณ์

  • เริ่มต้น Chez Dubourg เจ้าของร้านกำลังแนะนำสินค้ากับ Roland และการมาถึงของสองแม่ลูก Emery
    • ท่วงทำนองค่อยๆสร้างความใคร่ฉงนสงสัย พวกเขาเหล่านี้มายังร้านเครื่องประดับเพื่ออะไร?
  • Madame Emery ต้องการขายสร้อยไข่มุก แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะสถานการณ์เงิน(ของร้าน)ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่
    • เสียงเปียโนจะค่อยๆไล่ระดับขึ้น (ตามความคาดหวังของ Madame Emery) แต่เมื่อได้รับคำตอบปฏิเสธ เสียงประสานไวโอลินดังขึ้นกระทันหันแล้วค่อยๆเงียบเสียงลง (ราวกับความฝันที่พังทลาย)
  • Roland เลยเสนอตัวเข้ามารับซื้อสร้อยมุกดังกล่าว
    • ท่วงทำนองแห่งความหวังค่อยๆหวนกลับมา เปร่งประกายและเจิดจรัสจร้าอีกครั้งก่อนเดินออกจากร้านไป

สำหรับบทเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง Je Ne Pourrai Jamais Vivre Sans Toi (แปลว่า I will wait for you) คือการรำพันคำสัญญาของหญิงสาวต่อแฟนหนุ่ม ฉันจะเฝ้ารอคอยเธอตราบชั่วกัลปาวสาน … แต่ไม่ทันผ่านพ้นหน้าร้อนแรก เธอก็ผันแปรเปลี่ยนใจเป็นอื่นไปเรียบร้อยแล้ว

ความนิยมอันล้นหลามของ I will wait for you สร้างความประหลาดให้ใครต่อใคร โดยเฉพาะ Legrand ที่มองว่าก็แค่เพลงหนึ่งของหนัง ผมรู้สึกว่ามันเป็นความบังเอิญพอสมควร เพราะบทเพลงอื่นๆ เนื้อคำร้องมันจะคือบทสนทนาเรื่อยเปื่อยทั่วๆไป แต่การรำพันคำสัญญาของหญิงสาวขณะนี้ กลับมีความซาบซึ้ง สอดคล้องจอง เป็นบทกวีอยู่เล็กๆ คลอประกอบท่วงทำนองที่ถือเป็น Variation ของ Main Theme ได้ยินซ้ำๆบ่อยครั้งจนมักคุ้นหู เลยสามารถฮัมตามได้โดยทันที

If it takes forever I will wait for you
For a thousand summers I will wait for you
Till you’re here beside me, till I’m touching you
And forevermore sharing your love

บทเพลงที่ได้รับความนิยมอันดับสองของหนังคือ Récit de Cassard (แปลว่า Cassard’s Story) คือการรำพันอดีตของ Roland Cassard เล่าถึงเมื่อหลายปีก่อนเคยตกหลุมรักหญิงสาวชื่อ Lola (จากภาพยนตร์เรื่อง Lola (1961)) แต่เธอกลับตัดสินใจครองรักกับคนอื่น ทำให้ตนเองต้องตัดสินใจออกเดินทางจาก Nantes เร่รอนไปเรื่อยๆ ไม่สามารถปักหลักอยู่สถานที่แห่งหนไหน จนกระทั่งได้มาพบเจอรักครั้งใหม่กับ Geneviève … แต่เธอก็ไม่ได้ตกหลุมรักเขาเช่นกัน เป็นผู้ชายที่อาภัพนัก

ขอข้ามมาที่ Finale เลยแล้วกัน เป็นบทเพลงที่ไม่ค่อยสนแล้วว่าตัวละครจะพูดอะไร ตอนไหน สำหรับ Guy และ Geneviève มันหลงเหลือเพียงช่องว่างแห่งความว่างเปล่า ดังหิมะขาวโพลนปกคลุม และเมื่อทั้งสองร่ำลาจากกัน เสียงคอรัสจะค่อยๆประสานเสียงดังขึ้น กระหึ่มพร้อมออเคสตร้า มันช่างเป็นช่วงเวลาหวานขม เจ็บปวดรวดร้าวถึงทรวงใน ยังรักมากอยู่แต่ไม่สามารถพูดบอก แสดงออก กระทำสิ่งใดๆ ต้องปล่อยให้ชีวิตดำเนินต่อไป เก็บฝั่งเรื่องราวเหล่านั้นไว้ในก้นเบื้องความทรงจำ

ขอทิ้งท้ายด้วย Main Theme ที่มีการเรียบเรียงใหม่ บันทึกเสียง Orchestra ร่วมกับ The Brussels Philharmonic รวบรวมอยู่ในอัลบัม Essential Michel Legrand Film Music Collection Soundtrack (2005) ฟังแล้วชวนให้ขนลุกขนพอง เอาจริงๆนี่น่าจะเป็นบทเพลงไพเราะสุดในอาชีพการงานของ Legrand แล้วละ

The Umbrellas of Cherbourg (1964) นำเสนอเรื่องราวของคู่รักหนุ่ม-สาว พลัดพรากจากกันเพราะสงคราม ความห่างไกลทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสาร จิตใจเลยเกิดการผันแปรเปลี่ยน จำต้องรีบเร่งตัดสินใจบางอย่างเพื่อความมั่นคง แม้หลังจากนั้นจักต้องขื่นขม ระทมทุกข์ทรมานตราบจนวันตาย

it was a matter of love and unfaithfulness and to make people aware of how serious that situation of such a love affair was in the context of the Algerian War, and this seemed essential to me.

Jacques Demy

ผู้กำกับ Demy แม้เป็นคนไม่ค่อยชอบพูดคุย แสดงออก ร่วมประท้วงเรื่องการเมือง (ผิดกับพวก Godard, Truffaut, Chabrol ฯ ที่ถือเป็นแกนนำหัวรุนแรงในการออกมาต่อต้านรัฐบาล) แต่ภาพยนตร์ของเขาต่างแสดงทัศนะ ความคิดเห็นเรื่องพรรค์นี้อย่างแจ่มแจ้ง เด่นชัดเจน ตรงไปตรงมา

เพราะก่อนหน้านี้ Demy เคยถูกเรียกตัวไปเป็นทหาร ถ้าไม่แสดงอาการหวาดกลัวที่สูงจนคลุ้มคลั่ง (เลยได้รับการปลดประจำการ) เพื่อนๆในกองร้อยต่างเชื่อมั่นว่า หมอนี่ไม่น่าจะเอาชีวิตรอดกลับมาแน่! … ฟังดูเหมือนสาปแช่ง แต่เจ้าตัวก็ยินยอมรับในความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลาของตนเอง ฉันไม่ได้เข้มแข็งแกร่งขนาดนั้น

จากร้านขายถุงมือสู่ขายร่ม ต่างคือสัญลักษณ์ของการปกป้อง ปกปิด คุ้มกันภัย ‘Safety First’

  • เกณฑ์ทหารไปทำสงคราม เพื่อรักษาเอกราชของประเทศชาติ
  • มารดาพยายามโน้มน้าวบุตรสาว ให้เลือกแต่งงานกับบุคคลที่สามารถเป็นที่พึ่งพา ฐานะการเงินมั่นคง และมีชนชั้นวรรณะระดับเดียวกัน(หรือสูงกว่า)
  • ชายหนุ่มหลังจากสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ซุกซ่อนเร้นความเจ็บปวดรวดร้าวไว้ภายใน พยายามทำตัวเข้มแข็งแล้วก้าวเดินต่อไป

การปลอดภัยไว้ก่อน ‘Safety First’ ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เราไม่ต้องเผชิญหน้าความเสี่ยง ต่อสู้ดิ้นรนทนทุกข์ยากลำบาก แต่มักต้องแลกมากับการสูญเสียอิสรภาพ บางสิ่งอย่างไม่สมประสงค์ดั่งใจคาดหวัง ถึงอย่างนั้นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ว่ามีความพึงพอใจกับชีวิตที่ได้รับมากน้อยเพียงไหน

ถ้าเราอยากได้ความสุขที่สามารถตอบสนองความต้องการ/พึงพอใจ บางครั้งก็จำต้องดื้อรั้น อดรนทน ยินยอมรับความเสี่ยง อาจถึงขั้นต้องไปตายเอาดาบหน้า แน่นอนว่ามันมีโอกาสล้มเหลว ผิดพลาดพลั่ง แต่ถ้าผลลัพท์ประสบความสำเร็จ นั่นคือสิ่งเพ้อฝันได้รับการเติบเต็ม กำไรย่อมมีมูลค่ามากมายมหาศาล

แซว: Bay of Angels (1963) ผลงานก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ Demy นำเสนอเรื่องราวของการท้าทายความเสี่ยง (จากการพนัน รูเล็ต) เดี๋ยวแพ้-เดี๋ยวชนะ เดี๋ยวรวย-เดี๋ยวจน หาความมั่นคงไม่ได้สักครั้ง ตารปัตรตรงกันข้ามกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ที่ทุกตัวละครต่างเลือกตัดสินใจ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’


ด้วยความที่เป็นหนังเฉพาะทางเกินไป เลยไม่มีใครไหนอยากนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ แต่เพราะการล็อบบี้ของ Pierre Lazareff บีบบังคับผู้จัดจำหน่ายรายหนึ่ง (ถ้าปฏิเสธนำ The Umbrellas of Cherbourg ออกฉาย ก็จะไม่ประชาสัมพันธ์หนังเรื่องอื่นๆในสื่อสิ่งพิมพ์ของตน)

การที่สงคราม Algerian War เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อปี 1962 ทำให้เมื่อตอนออกฉาย The Umbrellas of Cherbourg (1964) สามารถจี้แทงใจดำ ทั้งคนหนุ่ม-สาว ทหารผ่านศึก หลายๆคนประสบเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน (ความห่างไกลทำให้จิตใจผันแปรเปลี่ยนไป) นั่นทำให้หนังเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง กระแสปากต่อปาก ประสบความสำเร็จแบบไม่มีใครคาดคิดถึง

ดั้งเดิมวางโปรแกรมไว้เพียง 3 สัปดาห์ แต่เสียงตอบรับดีล้นหลามจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ เลยต้องขยับขยายระยะเวลาไปอีกกว่า 7 เดือน! จนได้รับโอกาสเข้าร่วมสายการประกวดหลัก เทศกาลหนังเมือง Cannes และคว้ามาถึง 3 รางวัล

  • Palme d’Or
  • OCIC Award เคียงคู่กับ Barren Lives (1963)
  • Technical Grand Prize

สำหรับการเข้าชิง Academy Award และ Golden Globe อาจชวนให้สับสนอยู่เล็กน้อย เริ่มจากเมื่อปี 1964 หนังได้เป็นตัวแทนประเทศฝรั่งเศส เข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้าย Oscar: Best Foreign Language Film ก่อนพ่ายแพ้ให้ Yesterday, Today and Tomorrow (1963) ของผู้กำกับ Vittorio De Sica

แต่เมื่อหนังได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาปีถัดมา 1965 ก็ยังได้รับโอกาสเข้าชิง Golden Globe และสาขาอื่นๆของ Oscar เพิ่มเติมอีก (เรียกว่าเข้าชิง Oscar สองปีซ้อน!) แต่ไม่สามารถคว้ารางวัลใดๆอยู่ดี

  • Academy Award
    • Best Writing, Story and Screenplay – Written Directly for the Screen
    • Best Music, Original Song บทเพลง Je Ne Pourrai Jamais Vivre Sans Toi
    • Best Music, Score – Substantially Original
    • Best Music, Scoring of Music, Adaptation or Treatment
  • Golden Globe Award
    • Best Foreign-Language Foreign Film พ่ายให้กับ Giulietta degli spiriti (1965) ของผู้กำกับ Federico Fellini

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกฎของ Oscar: Best Foreign Language Film เพียงแค่ในฉายประเทศนั้นๆในระยะเวลาที่กำหนด ก็ได้รับสิทธิ์ลุ้นชิงรางวัล แต่สาขาอื่นๆจำเป็นต้องเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาปีนั้นๆถึงมีสิทธิ์เข้าชิง (ถ้าเข้าฉายในประเทศคนละปีกับสหรัฐอเมริกา ก็จะมีโอกาสได้ลุ้นรางวัลสองปีซ้อน) … ในประวัติศาสตร์ก็มีหลายเรื่องที่เดียวได้เข้าชิง 2 ปีติด แต่ช่วงหลังๆก็ล้มเลิก/ปรับแก้กฎดังกล่าวเรียบร้อยแล้วนะ

What Demy delivers instead is the most affecting of movie musicals, and perhaps the fullest expression of a career-long fascination with the entwining of real life, chance, and the bewitching artifice of cinematic illusion.

นักวิจารณ์ Jim Ridley

เกร็ด: The Umbrellas of Cherbourg (1964) คือภาพยนตร์เรื่องโปรดของผู้กำกับ Damien Chazelle และนักแต่งเพลงคู่ใจ Justin Hurwitz เป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งสองสรรค์สร้าง La La Land (2016)

Eastmancolor เป็นที่โจษจันว่าทำให้คุณภาพฟีล์มสีเสื่อมถดถอยไปตามกาลเวลา แต่ผู้กำกับ Demy ก็ได้คาดการณ์สิ่งอาจเกิดขึ้นอนาคตไว้แล้ว จึงได้พิมพ์ฟีล์ม Negative แยกออกเป็นสามเฉด/ฟีล์มสามชุด เหลือง-แดง-น้ำเงิน (yellow, cyan, magenta) ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า ‘separation masters’ ซึ่งเชื่อว่าจะมีความยั่งยืนยาวนานกว่า ทำให้การบูรณะเมื่อช่วงทศวรรษ 90s (ควบคุมดูแลโดย Agnès Varda) ผลลัพท์ออกมาดูดี สีสันยังคงสดใส แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2004 กลายเป็น DVD โดย Koch-Lorber Films

ปัจจุบันหนังได้รับการสแกนดิจิตอล คุณภาพ 2K พร้อมได้รับการบูรณะเพิ่มเติม ลบริ้วรอย ปรับแต่งเฉดสีสันให้มีความเข้มชัดขึ้น และ Michel Legrand ยังช่วยปรับปรุงเสียงจาก Mono กลายเป็น 5.1ch Surround แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2013 (ครบรอบ 50 ปีของหนัง) จัดจำหน่าย Blu-Ray โดย Ciné Tamaris และหารับชมได้ทาง Criterion Channel

หวนกลับมารับชมครานี้ ผมยังคงชื่นชอบ หลงใหลคลั่งไคล้ และเมื่อครุ่นคิดได้ถึงนัยยะซุกซ่อนเร้น กลับยิ่งรู้สึกประทับใจ อึ้งทึ่งในความพยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นตัวตนของ Jaques Demy ได้อย่างมิดชิด สนิทมากๆ เอาจริงๆถ้า Agnès Varda ไม่เปิดเผยภายหลัง ว่าอดีตสามีเสียชีวิตเพราะ HIV (ก่อนหน้านั้น คนส่วนใหญ่ต่างเข้าใจว่า Demy จากไปเพราะโรคมะเร็ง) คงไม่มีใครมองเห็นถึงธาตุแท้ ข้อเท็จจริงอย่างแน่นอน

แนะนำคอหนังเพลง Musical แนวรักโรแมนติก หวาน-ขม ชวนฝัน, นักออกแบบ ตกแต่งภายใน ดีไซน์เนอร์ หลงใหล Vintage เต็มไปด้วยสีสันสดใส, แฟนๆนางแมว Catherine Deneuve คงความบริสุทธิ์ สวยสาว น่ารักสมวัย และนี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล ถ้าคุณเป็นคอหนังตัวจริง ไม่สมควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | The Umbrellas of Cherbourg ยังคงสวยสด งดงาม สีสันสดใส ถุงยางอนามัยของ Jacques Demy ปกปิดซ่อนเร้นตัวตนแท้จริงได้อย่างมิดชิด
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | หวานขม


The Umbrellas of Cherbourg

The Umbrellas of Cherbourg (1964) French : Jacques Demy ♥♥♥♥♡

(21/1/2017) ร้านขายร่มแห่งหนึ่งในเมือง Cherbourg หญิงสาวได้พบเจอกับความรัก แล้วแยกจาก จำต้องตัดสินใจบางอย่างเพื่อมีชีวิตต่อไป, หนังรางวัล Palme d’Or ของ Jacques Demy หนึ่งในผู้กำกับยุค French New Wave มีเรื่องราวแสนเรียบง่ายแต่ทรงพลังที่สุด ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงสุดประหลาด อันจะทำให้คุณประทับใจไม่รู้ลืม

French New Wave คนส่วนใหญ่คงรู้จัก Jean-Luc Godard กับ François Truffaut เป็นอย่างดี แต่ยังมีผู้กำกับอีกหลายคนที่เป็นตัวแทนของยุคสมัยนี้ หนึ่งในนั้นคือ Jacques Demy ด้วยความหลงใหลในหนังเพลง Hollywood, เรื่องราวเทพนิยาย (fairy tales), ดนตรีแจ๊สและโอเปร่า ทำให้เขาพัฒนาสไตล์การเล่าเรื่องที่มีความโดดเด่นเป็นของตนเอง ทดลองสร้างหนังเพลงในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

Les Parapluies de Cherbourg ถือเป็นผลงานประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงที่สุดของ Jacques Demy นักวิจารณ์หลายสำนักยกย่องให้เป็น หนังเพลงอันดับ 1 ของยุโรป เทียบเคียงได้กับ Singin’ in the Rain (1952) ของฝั่งอเมริกา [สงสัยเพราะเรื่องหนึ่งเป็นฝน อีกเรื่องเป็นร่ม] แต่เรื่องไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน นั่นผมก็ตอบไม่ได้ Singin’ in the Rain เป็นหนังที่ผู้ชมเข้าถึงได้ง่ายกว่า ส่วน The Umbrellas of Cherbourg เข้าถึงยาก แต่ทรงพลังกว่า

ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ Demy กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวมาแล้ว 2 เรื่อง Lola (1961) ถูกเรียกว่า ‘หนังเพลงที่ไม่มีเพลง’ (musical without music) นำแสดงโดย Anouk Aimée ถ่ายภาพโดย Raoul Coutard, อีกเรื่องคือ Bay of Angels (1963) นำแสดงโดย Jeanne Moreau

The Umbrellas of Cherbourg คือผลงานลำดับที่ 3 จุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1961 น่าจะหลังเสร็จจาก Lola ได้ร่างบทหนังที่มีชื่อว่า La Belle Amour มีพื้นหลังเป็นร้านขายแผ่นเสียงกับร้านขายถุงมือ ร่วมงานกับ Michael Legrand เพื่อเขียนบทสนทนาและแต่งเพลงประกอบไปพร้อมๆกัน, ในปีถัดมา นำโปรเจคไปหาทุนสร้างที่เทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ไม่สำเร็จ เขาจึงไปสร้างหนังเรื่อง Bay of Angels ขึ้นก่อน แล้วถึงได้หวนกลับมาพัฒนาหนังเรื่องนี้ต่อ

ในฝรั่งเศสยุคก่อนหน้านี้ หนังเพลงที่นำเข้าจากของ hollywood ถือว่าประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ไม่มีสตูดิโอไหนสนใจให้ทุนสนับสนุน นั่นทำให้ Demy ต้องมองหาที่พึ่งแหล่งอื่น, ได้พบกับ Pierre Lazareff เจ้าของหนังสือพิมพ์ France-Soir ที่แนะนำให้รู้จักกับ Mag Bodard โปรดิวเซอร์คนใหม่ที่มีความชื่นชอบแนวคิดในการทำอะไรที่แตกต่างไม่เหมือนใคร สามารถจัดหาทุนสร้างให้ได้ถึง 1.3 ล้านฟรังก์ (ไปขอจาก 20th Century Fox ได้ก้อนใหญ่เลย)

นำแสดงโดย Catherine Deneuve นักแสดงในตำนานของฝรั่งเศส ที่เข้าวงการมาตั้งแต่อายุ 13 แต่เพิ่งมาแจ้งเกิดเต็มตัวกับหนังเรื่องนี้, ผลงานดังของเธอ อาทิ Repulsion (1965) ของ Roman Polanski, Belle de Jour (1967) และ Tristana (1970) ของ Luis Buñuel, เข้าชิง Oscar: Best Actress กับหนังเรื่อง Indochine (1992) ฯ Deneuve ตบปากรับคำเล่นหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1961 แต่ความล่าช้าของโปรเจค และเธอท้องลูกคนแรก ทำให้กว่าจะได้เริ่มงานจริงๆก็ปี 1963

รับบท Geneviève Emery หญิงสาวแรกรุ่น ไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก อาศัยอยู่กับแม่สองคน มีร้านขายร่มอยู่ที่ Cherbourg, เธอตกหลุมรักครั้งแรกกับชายคนหนึ่ง แต่โชคชะตาทำให้ต้องพลัดพราก และเธอท้องกับเขา … ฉันจะทำยังไงดี? จะหาเงินที่ไหนมาดูแลเลี้ยงลูก? เมื่อคิดได้ เด็กสาวจึงเติบโตขึ้น เรียนรู้เข้าใจชีวิต โลกความจริงมันไม่ได้สวยงามดั่งใจฝัน

สิ่งที่ทำให้ Deneuve ได้รับการจดจำ ไม่ใช่การแสดงของเธอที่ถือว่ายังไม่ผลิดอกออกผลนัก แต่เป็นใบหน้าอันอ่อนหวาน ไร้เดียงสา ที่เป็นธรรมชาติของความเยาว์วัย เวลาเธอยิ้มโลกสดใส เวลาเศร้าโศกมันช่างเจ็บปวดรวดร้าว เป็นนักแสดงที่ผู้ชมเห็นแล้วจะรู้สึกหลงรักเอ็นดู สงสารเห็นใจเธอเป็นที่สุด

Nino Castelnuovo นักแสดงสัญชาติอิตาลี (มีผลงาน Rocco and His Brothers) รับบท Guy Foucher ชายหนุ่มทำงานเป็นช่างซ่อมรถ อาศัยอยู่ในห้องเช่า กับป้าสูงวัย Elise (นำแสดงโดย Mireille Perrey) ที่ช่วยเหลือตนเองแทบจะไม่ได้แล้ว โดยมี Madeleine (รับบทโดย Ellen Farner) หญิงสาวที่เป็นผู้อาศัยให้การช่วยเหลือ ดูแลป้าอย่างใกล้ชิด

Guy ตกหลุมรัก Geneviève ทุ่มเทกายใจ ต้องการแต่งงานกับเธอ แต่ขณะนั้นโชคชะตาเล่นตลก ถูกเรียกตัวไปเป็นทหาร เข้าร่วมสงคราม Algerian War, เวลาและระยะทางทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนไป กลับมาบ้าน Geneviève ได้จากไปแล้ว คำสัญญาที่ทั้งคู่เคยให้ไว้มันก็แค่ลมปาก ชายหนุ่มรู้สึกสิ้นหวัง แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป หลังจากล้มลงก็ต้องลุกขึ้นใหม่ ก้าวเดินต่อไป

Anne Vernon รับบท Ms. Emery แม่ของ Geneviève เป็นคนที่รักและหวงแหนลูกสาวอย่างมาก คงเพราะนี่เคยเป็นเหตุการณ์ที่ตนเคยประสบเจอเข้ากับตัวเอง (ดั่งสำนวน อาบน้ำร้อนมาก่อน) ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้วชีวิตเป็นอย่างไร ความรักมันก็แค่เรื่องเพ้อฝัน แม้จะมีครั้งหนึ่งที่ลูกสาวไม่เชื่อตนเอง แต่ภายหลังก็ยอมรับ เข้าใจในสิ่งที่แม่พยายามบอกกับเธอ

Marc Michel รับบท Roland Cassard ชายหนุ่มผู้มีการงานมั่นคง ร่ำรวยเงินทอง ตกหลุมรัก Geneviève ต้องการได้เธอมาครอบครอง โดยไม่สนว่าเบื้องหลังจะเคยเป็นยังไง, การที่ Geneviève ตัดสินใจเลือก Roland เหมือนเพราะว่าลูกในท้องที่เป็นภาระ ตัวเองคนเดียวไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ทั้งๆที่ในใจอาจมิได้รักเขา แต่ก็ไม่สามารถคิดทำสิ่งอื่นได้ นี่คือโลกความจริงอันโหดร้าย ไม่มีทางได้เป็นดั่งฝัน

สำหรับวิธีการถ่ายทำใช้การพากย์เสียงทับทั้งหมด นักแสดงแค่ขยับปากให้ตรงกับประโยคที่เตรียมไว้ถือว่าใช้ได้ งานที่เหลืออยู่ในห้องอัดเสียง จะให้ใครร้อง ทำนองดนตรีเป็นอย่างไร, เสียงที่ได้ยินในหนัง จึงไม่ใช่เสียงของนักแสดงเลยนะครับ เครดิตประกอบด้วย
– Danielle Licari พากย์เสียง Geneviève Emery
– José Bartel พากย์เสียง Guy Foucher
– Christiane Legrand พากย์เสียง Ms. Emery
– Claire Leclerc พากย์เสียง Aunt Elise
– Georges Blaness พากย์เสียง Roland Cassard

ถ่ายภาพโดย Jean Rabier, สิ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างยิ่งในหนังเรื่องนี้ คือความจัดจ้านของสีสันอันสวยสดงดงาม ที่มีความคมเข้ม ฉูดฉาด ทั้งจากเสื้อผ้าตัวละคร ฉากพื้นหลัง ที่เป็นลักษณะเทรนด์แฟชั่นของโลกยุค 50s-60s, หนังใช้ฟีล์ม Eastmancolor ที่กาลเวลาทำให้คุณภาพสีซีดลง แต่ถ้าคุณได้ดูฉบับ Restoration เมื่อปี 2013 จะเห็นภาพที่คมชัด ใหม่เอี่ยม สีสดหนังใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด (ควบคุมการบูรณะโดย Agnès Varda ภรรยาของ Demy)

การเคลื่อนกล้อง, Long-take และ Direction ของการกำกับ ถือว่าเป็นความท้าทายของตากล้องในยุค French New Wave ที่ถือว่าเป็นลายเซ็นต์ของยุคสมัยนี้ ที่ต้องลีลาการเคลื่อนไหวตามติดตัวละคร แล้วยังต้องลื่นไหล สวยงาม แฝงนัยยะที่ลงตัว, ผมชอบสุดคือฉากที่ Geneviève บอกกับแม่ว่าเธอท้อง กล้องมีการเคลื่อนไหวหมุนไปมาระหว่างทั้งสอง และกระจกที่เดี๋ยวก็เป็น Geneviève เดี๋ยวก็เป็นแม่ (กระจกสะท้อน สิ่งที่อยู่ในใจ อีกตัวตนของมนุษย์)

ฉากแรกของหนัง Opening Credit ถือว่ามีความคลาสสิกสวยงามมากๆ เริ่มจาก Iris Shot ลืมตาขึ้น เห็นภาพมุมกว้างของเมือง Cherbourg กล้องแพนลงแนวดิ่ง (Tilting) จนกล้องตั้งฉาก 90 องศากับพื้น (Bird Eye View) จากนั้นฝนตก ผู้คนกางร่มเดินผ่านไปมา พร้อมๆกับเครดิตหนังที่ปรากฎขึ้นต่อเนื่อง ตอนจบกล้องแพนกลับขึ้นไปเห็น Cherbourg เต็มตาอีกครั้ง แต่คราวนี้ขณะฝนตก, ผมถือว่านี่เป็น Opening Credit ที่ใช้มนุษย์แทน Special Effect ได้สร้างสรรค์ สวยงามมากๆ ที่สุดเรื่องหนึ่ง

ตัดต่อโดย Anne-Marie Cotret และ Monique Teisseire, หนังมีการแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วน/องก์ละประมาณครึ่งชั่วโมง เริ่มต้นคือแยกจาก, ช่วงกลางคือเว้นว่าง, และช่วงท้ายคือการกลับมา ซึ่งแต่ละช่วงจะมีเรื่องราว มุมมอง และไคลน์แม็กซ์ของตนเอง

– องก์แรก ใช้มุมมองของทั้ง Guy และ Geneviève สลับกัน, ทั้งสองรักกันปานจะกลืนกิน จบที่การพลัดพรากแยกจาก
– องก์สอง ใช้มุมมองของ Geneviève ล้วนๆ, ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และตัดสินใจทำในสิ่งที่ขัดกับความตั้งใจของตนเอง
– องก์สาม ใช้มุมมองของ Guy ล้วนๆ, กลับมาอย่างสิ้นหวัง หมดอาลัย สิ้นลม ทำใจ และเริ่มต้นลุกขึ้นใหม่

สำหรับ 5 นาทีสุดท้าย ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการหวนระลึกครั้งสุดท้ายของ Guy และ Geneviève การพบเจอโดยบังเอิญ รับรู้ว่าฝ่ายตรงข้ามก็มีวิถีทาง ชีวิต ครอบครัว และมีความสุขในสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับทั้งคู่แล้ว, สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันวาน มันคืออดีตที่หอมหวานปนขมขื่น ที่พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องหวนคืนกลับไป ไม่จำเป็นต้องมีคำขอโทษ ไม่ต้องขอร้องขออภัย เพราะทุกอย่างได้จบสิ้นสุดผ่านไป พูดคุยมองตารับรู้และเข้าใจ ต่อจากนี้ต่างคนจะสามารถก้าวเดินออกไป ตามเส้นทางของตนได้ โดยหมดห่วงเสียที

Demy ได้พบกับคอมโพเซอร์คู่ใจ Michel Legrand ครั้งแรกเมื่อปี 1960 จากการแนะนำของ Agnes Varda ที่ได้โน้นน้าวใจให้เขามีส่วนร่วมในโปรเจคหนังเพลง ไม่นานนักทั้งคู่ก็สนิทกันจนกลายเป็นพี่น้อง (the brother of creation),  Legrand ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Demy อาศัยอยู่ด้วยกัน ใช้เวลากว่า 8 เดือน เพื่อแปลงบทสนทนา ประโยคคำพูดธรรมดาให้กลายเป็นคำร้องมีสัมผัส สร้างเมโลดี้และทำนองเพลงประกอบ

จะเห็นว่าทุกฉากก่อนเริ่มต้น จะมีเสียงเพลงประกอบดังขึ้นเสมอ (เป็นเสียงกลองขึ้นก่อนตามสไตล์ Jazz) ระหว่างสนทนารูปแบบของเพลงจะไม่เปลี่ยนไป แต่ทำนองจะผันแปรตามอารมณ์ คำพูดของตัวละคร, ผมเชื่อว่าถ้าเราฟังเฉพาะทำนองประกอบอย่างเดียว โดยไม่ฟังคำที่ตัวละครพูดสนทนา ก็ยังสามารถเข้าใจอารมณ์ของฉาก/หนังได้เช่นกัน, นี่คือความมหัศจรรย์ของหนังเรื่องนี้เลยนะครับ ที่ทำนองเพลง มีลักษณะเหมือนกับเสียงพูด มีเนื้อเรื่องราว ได้ยินฟังอย่างเดียวก็สามารถเข้าใจหนังทั้งเรื่องได้

ไม่เชื่อลองฟังเพลงนี้ (ที่ได้เข้าชิง Oscar) ชื่อ I Will Wait for You แบบไม่มีคำร้อง มีแต่ทำนองเพลงและไวโอลิน ลองดูสิว่าคุณจะสามารถเข้าใจอารมณ์ได้ไหม เป็นภาษาสื่อได้ว่าอย่างไร

น่าเสียดาย ปีนั้นสาขาเพลงพ่ายให้กับ Doctor Zhivago, The Sound of Music (เจอแต่ของแข็งทั้งนั้นเลย!)

ใจความของหนังเรื่องนี้พบเจอ ตกหลุมรัก พลัดพราก สิ้นหวัง ทำใจได้ และเริ่มต้นใหม่ นี่คือวัฏจักรของชีวิต, เฉกเช่นเดียวกับฤดูกาลที่เคลื่อนผ่าน หนังจะมีการขึ้นชื่อเดือนและปี ซึ่งในช็อตที่มีตัวอักษรขึ้น ภาพจะแสดงถึงฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ทั้งฝนตก, หิมะตก, แดดออก ฯ ซึ่งไม่ว่าจะฤดูกาลไหนก็จำเป็นต้องใช้ ‘ร่ม’ ทั้งนั้น เพื่อกันแดด กันฝน กันหิมะตก ฯ หรือป้องกันตัวเองจากทุกอย่างรอบข้าง

จะมองว่าใจความอีกอย่างหนังคือการ ‘ป้องกัน’ บางสิ่งบางอย่างก็ได้ อาทิ
– แม่ทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกสาว
– หญิงสาวตัดสินใจบางอย่างเพื่อปกป้องลูก
– ชายหนุ่มไปเป็นทหารเพื่อปกป้องประเทศชาติ

แต่แท้จริงแล้วทุกสิ่งอย่าง ที่ทุกคนทำไปก็เพื่อ ‘ปกป้องตัวเอง’ ไม่ให้ทุกข์เศร้าทรมาน, เช่นกันกับ คนที่สามารถล้มแล้วลุกขึ้นได้ จะคือคนที่มีภูมิคุ้มกัน เสมือนเกราะปกป้องจิตใจ เพื่อไม่ให้ความผิดพลาด เจ็บปวดนั้น กลับมาเกิดขึ้นกับตนเองอีก

นอกจากคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes แล้วหนังเรื่องนี้ยังเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ติด 5 เรื่องสุดท้ายเมื่อปี 1964 และปีถัดมาเมื่อได้เข้าฉายในอเมริกา เข้าชิงอีก 4 สาขา แต่ไม่ได้สักรางวัล
[เข้าชิงปี 1964]
– Best Foreign Language Film
[เข้าชิงปี 1965]
– Best Original Screenplay
– Best Original Music เพลง I Will Wait for You
– Best Original Score (Substantially Original)
– Best Adaptation or Treatment Score

ผมก็ไม่เข้าใจ Oscar ปีนั้นเท่าไหร่ สาขาเพลงประกอบจะมี Best Original Score (เพลงดั้งเดิม) กับ Best Adaptation Score (เพลงดัดแปลง) แต่หนังเรื่องนี้ดันได้เข้าชิงทั้งสองสาขา เป็นไปได้ยังไง!

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่รับชม แต่ไม่กลายเป็นเรื่องโปรดแบบ Singin’ in the Rain เพราะความยากในการรับชม, กับผู้ชมหนังครั้งแรกจะรู้สึกว่าเสียงพูด/ร้องไม่ได้มีความไพเราะอะไรเลย นั่นเพราะคุณฟังภาษาฝรั่งเศสไม่ออก ไม่คุ้นเคยกับสำเนียง และมัวแต่อ่านซับตามให้ทัน เลยไม่ทันได้ยินสำเนียงที่มีความคล้องจองกันอย่างลงตัว ผมแนะนำให้ลองดูหนังรอบสองทันทีเลยนะครับ เพราะเมื่อคุณเข้าใจพล็อตหนังแล้ว ทีนี้จะเริ่มไม่สนใจคำแปล เข้าใจเนื้อเรื่องโดนทันที คราวนี้จะเอาเวลาไปซึมซับ ได้ยินสำเนียงทำนองที่คล้องจองลื่นหูขึ้น เมื่อนั้นคุณจะเริ่มตกหลุมหลงรักหนังเรื่องนี้โดยไม่รู้ตัว

ความสวยงามอีกอย่างหนึ่งของ The Umbrellas of Cherbourg คือเรื่องราวที่สุดแสนเรียบง่าย กินใจ แต่ทรงพลังยิ่งใหญ่, มันอาจเพราะวิธีการของหนังนี้ด้วย ที่ทำให้เกิดความทรงพลังอย่างประหลาด เพลงประกอบและคำร้องได้ควบคุมบรรยากาศ อารมณ์ของหนังไว้อยู่หมัด ซึ่งพอผู้ชมคุ้นเคยปรับตัวได้กับวิธีการเล่าเรื่อง เมื่อถึงจุดไคลน์แม็กซ์ในแต่ละองก์ จะสามารถรับรู้ สัมผัสถึงอารมณ์ของเรื่องราวขณะนั้นได้โดยทันที

มีหนังเรื่องหนึ่งที่ผมโคตรอยากแนะนำ ถ้าคุณชอบหนังเรื่องนี้ลองหา L’Atlante (1934) ของ Jean Vigo มารับชมดูนะครับ, นี่ไม่ใช่หนังเพลง แต่มีความธรรมดาเรียบง่ายไม่ต่างจากหนังเรื่องนี้ แล้วตอนจบลึกซึ้ง ทรงพลัง เป็นหนึ่งในหนังที่ผมยกย่องว่า มีความสวยงามที่สุดในโลก

แนะนำกับคอหนังเพลง ดูเรื่องนี้อาจจะแปลกๆหน่อย พยายามปรับตัวรับให้ได้ แล้วคุณจะเห็นความสวยงามโคตรๆ, ผู้ชื่นชอบแจ๊ส, French New Wave, และแฟนหนัง Catherine Deneuve สุดสวย ไม่ควรพลาด

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งบ้าน

TAGLINE | “Les Parapluies de Cherbourg เรียบง่าย กินใจ เป็นหนังเพลงที่ทรงพลังที่สุดในโลก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Teal70 Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Teal70
Guest
Teal70

ไม่ได้ดูหนังครับ แต่เพลงมันติดหูตั้งแต่เด็ก ได้ยินอีกทีก็แก่แล้ว ดีใจมากที่ได้รู้จักเพลงจริงๆจังๆก่อนแก่ตาย ไพเราะหวานเศร้าแบบฝรั่งเศสจริงๆครับ

%d bloggers like this: