The Virgin Spring

The Virgin Spring (1960) : Sweden – Ingmar Bergman

หนังรางวัล Best Foreign Language Film จากประเทศ Sweden โดยผู้กำกับ Ingmar Bergman นำแสดงโดย Max von Sydow และเป็นการร่วมงานครั้งแรกกับตากล้อง Sven Nykvist เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคกลาง (Middle Ages) ช่วงศตวรรษที่ 13 หนังตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา ศีลธรรม การแก้แค้น ความยุติธรรม และการสำนึกบาป อีกหนึ่ง masterpiece กับการค้นหาคำตอบของการมีชีวิตตามสไตล์ของ Ingmar Bergman ที่คุณจะทึ่งไปกับวิธีการและเทคนิคการเล่าเรื่องที่เหนือชั้น

ผมเคยดูหนังเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้ว พร้อมๆกับหนังเรื่องอื่นๆใน collection ของ Ingmar Bergman ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจวิถีหนังของ Bergman เท่าไหร่ เป็นคนดูหนังทั่วๆไป พบว่าหนังเรื่องนี้อืดอาดมาก ความยาว 89 นาทียังถือว่ายาวเกินไป เนื้อเรื่องผมว่า 30-40 นาทีก็จบได้แล้ว ประเด็นในหนังมันก็ธรรมดา ไม่มีอะไรน่าสนใจเลย ลูกสาวถูกฆ่าข่มขืน พ่อล้างแค้นแทนลูก ไฉนหนังกลับได้รับการยอมรับขนาดนั้น … กลับมาดูครั้งนี้ โอ้! นี่มันหนังไม่ธรรมดาเลย ข้อเสียทั้งหลายที่ผมเอ่ยมา มันสามารถมองเป็นศิลปะที่สวยงาม เต็มไปด้วยเทคนิค มีความประณีตละเอียดอ่อน ทำให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำ-เต็มอิ่มไปกับบรรยากาศ ความรู้สึกและประเด็นของหนังคือการตั้งคำถามที่เมื่อได้คิดต่อแล้วจะได้ข้อคิดดีๆในการใช้ชีวิตมากมาย

หนังได้แรงบันดาลใจมาจาก Swedish ballad (บทกวี) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เรื่อง Töres döttrar i Wänge (Töre’s daughters in Vänge) ดัดแปลงโดย Ulla Isaksson มีเรื่องราวเกี่ยวกับลูกสาว 3 คนของ Tore ที่อาศัยอยู่ใน Vange ถูกฆ่าโดยคนเลี้ยงแพะทั้งสาม (Herdsman) เมื่อ Tore รู้เข้าเลยฆ่าล้างแค้น 2 ใน 3 ของคนเลี้ยงแพะ … มีหลายสิ่งที่ Bergman เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลง เช่น จากที่มี Tore มีลูกสาว 3 คนเหลือเพียง Karin คนเดียว, ตัวละคร Ingeri ใส่เพิ่มเข้ามาเป็นตัวละครที่ตรงข้ามกับ Karin (มองโลกในแง่ร้าย, กร้านโลก, ใจไม่บริสุทธิ์), เด็กชายหนึ่งในคนเลี้ยงแพะ เดิมตัวละครนี้เป็นผู้ใหญ่และเป็นคนที่ไม่ถูก, Virgin Spring เกิดขึ้นทันทีที่เมื่อลูกสาวทั้งสามของ Tore ถูกฆ่า ไม่ใช่หลังจากที่ Tore พูดเพื่อขอล้างบาปจากจากพระเจ้า ฯ

นักแสดงนำขาประจำโดย Max von Sydow กับบท Tore นี่เป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆ ตอน The Seventh Seal ผมก็ว่าเยี่ยมแล้ว แต่กับบท Tore นี่ยอดเยี่ยมกว่าอีก โดยเฉพาะช่วงที่เขารู้ว่าลูกสาวถูกฆ่า ทั้งแววตา การแสดง ความรู้สึก มันเหมือนกับว่าเขาอยากจะร้องไห้ ตะโกน กรีดร้อง ดิ้นทุรนทุรายออกมา แต่ก็ฝืนทนอดกลั้นไว้ ไม่ให้ใครเห็น แต่ไปลงกับต้นไม้ (Birch) ผมละคลั่งไปกับพี่แกด้วย การระเบิดออกของความอัดอั้นคือการแก้แค้น และเมื่อทำสำเร็จเขา มือที่เปื้อนเลือดทำให้เขารู้สึกตัวและต้องการไถ่โทษในสิ่งที่ตัวเองทำ

Birgitta Pettersson เธอเล่นเป็น Karin ได้ใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสามาก แต่เหมือนเธอจะไม่ชอบงานแสดงเท่าไหร่ ในเครดิตเธอแสดงหนังไม่กี่เรื่องเท่านั้น คนที่แย่งซีนจริงๆคือ Ingeri นำแสดงโดย Gunnel Lindblom คนนี้เป็นหนึ่งในขาประจำของ Bergman นะครับ เริ่มตั้งแต่ The Seventh Seal มาเลย (ยายแกยังมีชีวิตอยู่นะครับ เห็นเล่นหนังเรื่อง The Girl with the Dragon Tattoo เวอร์ชั่นปี 2009 ด้วย) ตัวละคร Karin มีจิตใจที่มืดดำ ชั่วร้าย คิดแต่สิ่งไม่ดี คงเพราะวัยเด็กเธอเจออะไรที่แย่ๆมามาก ได้รับการอุปถัมถ์จากครอบครัว Tore ให้อาศัยอยู่ด้วยกัน เป็นเพื่อนวัยเดียวกับ Karin ในหนังเราจะเห็นชัดมากว่า Ingeri เป็นตัวละครที่ตรงกันข้ามกับ Karin โดยสิ้นเชิง คนหนึ่งใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา อีกคนหนึ่งกร้านโลก จิตใจชั่วร้าย ภายนอกถึงทั้งสองจะเป็นเพื่อนกันแต่ Ingeri กลับเกลียด Karin เข้าไส้คงด้วยความที่เธอดีมีพร้อมทุกอย่าง เลยเกิดความอิจฉาริษยา ตอนที่ Karin ตาย ดูเหมือน Ingeri จะสะใสสมน้ำหน้า ดีใจที่ส่ิงที่เธอคิดเป็นจริง แต่ผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Ingeri น่าจะสำนึกได้ ว่าเธอได้สูญเสียเพื่อนรักที่สุดของเธอไปแล้ว

3 Herdsman ประกอบด้วย Thin นำแสดงโดย Axel Düberg, Mute โดย Tor Isedal และเด็กชายโดย Ove Porath เราจะเห็นทั้ง 3 เป็นตัวละครเชิงสัญลักษณ์ ที่ชื่อ การกระทำ และผลลัพท์ส่งผลต่อพวกเขาอย่างชัดเจน Mute เป็นคนข่มขืน Karin เขาถูกแทงที่คอ ตายเหมือนถูกตรึงกางเขน ส่วน Thin พูดจาโน้มน้าว หลอกลวง Karin ให้หลงเชื่อ ชะตากรรมถูกรัดจนหายใจไม่ออกและไฟครอกตาย และเด็กชายเขาไม่ได้ทำอะไร แค่อยู่ในสถา่นที่เกิดเหตุเป็นคนเห็นเหตุการณ์เท่านั้น แต่เพราะความเป็นเด็กที่ใสซื่อบริสุทธิ์ เขารับไม่ได้กับความชั่วร้าย ท้องไส้ปั่นป่วน รู้สึกขยะแขยงต่อตนเอง ช่วงท้ายตายโดยถูกทุ่มลงพื้นช้ำในตาย

อะไรเป็นเหตุให้ Herdsman ทำในสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมนี้ ผมว่ามันเข้าใจได้ไม่ยากเลยนะครับ คนที่ไม่มีความเชื่อใดๆ ย่อมไม่มีสิ่งที่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจให้ยับยั้งความต้องการของตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่แบ่งเส้นบางๆระหว่างมนุษย์กับสัตว์ คือการที่มนุษย์มีสติปัญญาสามารถคิดไตร่ตรอง ยับยั้งชั่งใจให้ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ผิดกับสัตว์ที่ทำทุกอย่างโดยสัญชาติญาณ ไม่สามารถคิดอธิบายเหตุผลได้ คนที่เป็นแบบหลังก็คือสัตว์ในร่างมนุษย์ ไม่สามารถหักห้ามความต้องการของตัวเองได้ กระนั้นผมไม่คิดว่าการกระทำของพวกเขาเป็นสิ่งชั่วร้ายนะครับ เพราะการกระทำตามสัญชาติญาณ มันคือวิธีการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด (ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์) การกระทำที่เกิดจากการคิดอย่างรอบครอบ ไตร่ตรองอย่างดีต่างหาก ที่ผมเรียกว่าเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย การกระทำของ Tore ต่อ Herdsman ทั้ง 3 เป็นสิ่งที่ผิดแน่นอน มันมีทางออกมากมายแทนการ “ฆ่าล้างแค้น” แต่แววตาเขากลับมืดบอด ไม่สามารถคิดให้รอบครอบ หรือห้ามใจตัวเองได้ ทั้งๆที่รู้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่ดี จุดนี้ผมยกย่อง Bergman เลยว่านำเสนออกมาได้สวยงามมากๆ

ทำไมผมถึงมองว่า การกระทำที่ผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ต่อการกระทำในสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมเป็นสิ่งผิด นี่มันตรงๆเลยนะครับ เวลาเราทำความผิดอะไร ถ้าจิตใจเรามีความบริสุทธิ์ คือไม่คิดว่าเลว ไม่รู้ว่าเลว ทำออกมาเลว มันคือความไม่ตั้งใจ จะถือว่าผิดไปไม่ได้ กระนั้นผู้กระทำความผิดก็ต้องได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่เขาทำ เช่น ขโมยของโดยไม่คิดว่าคนอื่นเห็น สักวันเขาก็จะถูกขโมยของกลับคืนด้วยความที่คนขโมยไม่คิดว่าผิด แต่กับคนที่ทำการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ รู้ว่าการกระทำนั่นเป็นสิ่งผิด สิ่งไม่ดี แต่ยังกระทำ นี่แสดงถึงการยอมรับในการกระทำความผิดของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ความตั้งใจมันผิดรุนแรงกว่าความไม่ตั้งใจมากนะครับ เช่น ตั้งใจจะขโมยของ ในชั้นศาลผลการตัดสินว่าตั้งใจขโมยของมันหนักกว่าการไม่ตั้งใจมากๆเลยนะครับ

และเมื่อลากพระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง คำพูดของ Tore นั่นตรงสุดๆเลย “ท่านเห็นที่คนพวกนี้ฆ่าข่มขืนลูกสาวของฉัน ท่านเห็นฉันฆ่าพวกมันอย่างเลือดเย็น แต่ท่านเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย” นี่เป็นคำถามที่ผมเชื่อว่าชาวคริสต์และคนที่เชื่อในพระเจ้าแทบทุกคนต้องเคยถามตัวเอง เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ ฟังดูมันเหมือนการโทษพระเจ้า แต่คนที่เคร่งในศาสนามากๆ เขาจะรู้ว่าการโทษพระเจ้าเป็นสิ่งที่ผิด เพราะพระเจ้าท่านไม่ได้มีหน้าที่เพื่อจะตัดสินใคร อะไรจะเกิดก็เกิด ไม่ได้มีหน้าที่ไปขัดขวาง ช่วยเหลือ เป็นมนุษย์เท่านั้นแหละที่คิดเอง เออเอง คาดเดาไปเองต่างๆนานา ในมุมพุทธเราจะสอนว่า การไปโทษคนอื่นมันก็ผิดแล้วนะครับ เราต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและให้อภัย วางตัวเป็นกลาง ต่อให้เขาฆ่าลูกเรา ก็ใช่ว่าเราควรจะไปฆ่าลูกเค้า เพราะการทำแบบนั้นมันเป็นกงกรรมกงเกวียน กี่ชาติต่อๆไปก็จะเป็นแบบนี้อยู่เรื่อยไป เขาฆ่าลูกเรา เราฆ่าลูกเขา จนกว่าใครสักคนจะสามารถให้อภัยได้ วัฏจักรนี้ไม่มีทางจบสิ้น

มีวิธีการมากมายที่ Tore จะใช้แก้ปัญหาได้ เช่น พูดคุยสอบถามปรับความเข้าใจ, หรือปล่อยพวกเขาไปไม่ยึดติดกับการแก้แค้น, หรือเรียกรวมคนจากหมู่บ้านใกล้เคียง ตั้งลูกขุนให้ช่วยตัดสิน ใช้ประชามติลงความเห็น ฯลฯ มีวิธีมากมายที่สามารถทำได้ไม่ใช่แค่การฆ่าล้างแค้น ตาต่อตาฟันต่อฟัน มันไม่แน่ว่าถึงมีหลักฐานชัดเจนขนาดนั้น Herdsman อาจจะไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยก็ได้ เหมือนกับเด็กชายที่ไม่ถือว่ามีความผิดอะไรด้วยเลยแต่พลอยโดยลูกหลงไปด้วย ความหน้ามืดตามัว โกรธแค้น เกลียดชัง ณ เวลานั้น พระเจ้าของเขาก็ไม่ช่วยอะไรได้ นั่นเป็นเหตุให้เขารู้สึกสำนึกเมื่อสายไปเสียแล้ว ผมคิดว่า Tore คงคิดนะ ว่าถ้าตอนนั้นเขาไม่ฆ่า เลือกที่จะปล่อยไป อะไรมันจะเกิดขึ้นได้บ้าง มันยังมีโอกาสไหมที่ Herdsman จะสำนึก ถ้าพูดคุยกัน ไม่แน่พวกเขาอาจกลายเป็นคนดีต่อไปในอนาคตก็ได้ แต่เมื่อพวกเขาถูกฆ่า บาปตกลงมาที่มือของ Tore การตายมันช่างง่ายดาย เหมือนการหนีปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ พวกเราโชคดีที่เกิดในยุคสมัยนี้นะครับ สมัยนั้นทำผิดอาจจะตายสถานเดียว สมัยนี้ทำผิดนอนติดคุกสบาย ไม่นานก็ออกมา การตายถือเป็นเรื่องใหญ่นะครับ หนังของ Bergman ทุกเรื่องจะวนเวียนอยู่กับประเด็นการตาย death ในหนังเรื่องนี้ออกมาในรูปของการแก้แค้น ตายเพราะความบริสุทธิ์ กับตายเพราะความชั่วร้าย

ถ่ายภาพโดย Sven Nykvist นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่เขาได้ร่วมงานกับ Bergman ทั้งสองกลายเป็นผู้กำกับ-ตากล้องคู่บุญในเวลาต่อมา สำหรับ The Virgin Spring ความสวยงามของการถ่ายภาพคือการจัดแสง ช่วงแรกจะรู้สึกภาพสว่างมากแม้ฉากที่ถ่ายในบ้านยังดูสว่างสดใส แต่พอครึ่งหลังโทนภาพแสงจะออกหม่นๆ นอกจากนี้เรายังเห็นการถ่าย long-take ที่ให้นักแสดงสร้างสรรค์การแสดงออกมาอย่างเต็มที่ การจัดองค์ประกอบภาพ ตัวละครจะอยู่กลางเฟรมเสมอ ภาพที่ผมชอบที่สุดคือ Karen นั่งตรงกลางและมี 3 Herdsman ล้อมซ้ายขวา และภาพที่ Tore นั่งบนเก้าอี้ที่โต๊ะอาหารและมีผู้คนห้อมล้อม (ภาพนี้มันคล้ายๆ The Last Suppe)

ตัดต่อโดย Oscar Rosander เขาเป็นขาประจำของ Bergman มาตั้งแต่หนัง debut เรื่อง Crisis (1946) หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า เพราะใช้การตัดต่อนำเสนอภาพที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีรีบเร่ง ให้เวลาให้นักแสดงได้แสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่ก่อนจะตัดซีน เหตุผลของการให้หนังค่อยเป็นค่อยไปนั้นก็เพื่อให้เวลากับคนดูในการคิด และสะสมอารมณ์ความรู้สึกให้คุกกรุ่นไปกับตัวละคร ช่วงตั้งแต่ที่ Tore ตัดสินใจฆ่า Herdsman ทั้ง 3 หนังใช้เวลาเกือบ 10 นาที ในการเตรียมตัวทำโน่นทำนี่ ไม่ใช่ปุ๊ปปั๊ปเดินตรงเข้าไปฆ่าเลย นี่คือสิ่งที่คนดูทั่วไปมองว่าเป็นการถ่วงเวลา แต่กับนักดูหนัง นี่เป็นการเล่นกับอารมณ์ตัวละครและความรู้สึกของคนดู ที่ช่วยสะสมความอัดอั้นให้เต็มเปี่ยม ก่อนจะระเบิดออกมา เทคนิคนี้คล้ายๆกับ Dr.Strangelove เลย แต่คงไม่ถือว่าใครลอกใครนะครับ

เพลงประกอบ มีนิดหน่อย โดย Erik Nordgren หนังเรื่องนี้เพลงประกอบไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญ ระหว่างเรื่องแทบผมได้ยินเพลงดังขึ้นเลย มีแค่ช่วง Karen เริ่มออกเดินทาง เป็นเสียงเครื่องเป่า (คล้ายฟลุต/คาลิเน็ต) ที่ให้อารมณ์หวิวๆ เหมือนการลาจาก ฉากสู้กันไม่ใช้เพลงสร้างอารมณ์ จะมีอีกทีก็ตอนจบที่เป็นเหมือนเสียงสวดมนต์ หนังของ Bergman ถือว่าเพลงไม่เด่นอยู่แล้ว เขาให้ความสำคัญกับเนื้อเรื่อง การแสดงและการถ่ายภาพมากกว่า

เห็นว่าแรงบันดาลใจการสร้าง The Virgin Spring ของ Bergman มาจาก Rashomon ของ Akira Kurosawa ผมพยายามมองหาความสัมพันธ์ของหนังทั้งสองเรื่อง แต่ก็หาไม่เจอเลยนะครับ คิดว่าแรงบันดาลใจของ Bergman น่าจะมาจากแนวคิดจากความเชื่อของตัวละคร ใน Rashomon  หนังเล่นกับ Ego ของมนุษย์ คำสารภาพของแต่ละคน สะท้อนถึงความต้องการในใจของเขาเองออกมา ส่วน The Virgin Spring เล่นกับประเด็นศีลธรรม ความเชื่อ ตัวละครต้องทำอะไรบางอย่างที่เขาไม่อยากทำเพื่อทวงคืนความยุติธรรม

ฉากข่มขืน ผมไม่คิดว่ามันจะดูรุนแรงเท่าไหร่นะครับ ไม่มีภาพโป๊เปลือยแม้แต่น้อย แต่วิธีการนำเสนอทำให้เรารู้สึกว่ามันรุนแรงมากๆ จริงๆมันก็ควรรุนแรงแบบในหนังนะแหละถูกแล้ว เพราะถือว่ามันเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน รุนแรง มนุษย์ที่มีความคิดไม่ควรข่มขืนใคร มันเป็นการกระทำของสัตว์ร้าย แต่ที่ผมวิเคราะห์ให้ฟังไปด้านบน การกระทำของคนโดยสัญชาติญาณไม่ถือสิ่งที่ชั่วร้าย เราจะไปโทษหมาป่าก็ไม่ได้ เพราะมันหิว หรือโทษเด็กหญิงที่ไร้เดียงสา เธอไม่เคยเจอฝูงหมาป่าที่หิวโหยมาก่อนจะรู้ได้ยังไง การตายของเธอจึงถือเป็นธรรมชาติ

สำหรับ Virgin Spring ในบริบทของหนัง เราจะมองว่ามันเป็นปาฏิหารย์ก็ได้ เพราะมันเกิดขึ้นเมื่อ Tore พูดกับพระเจ้าถึงสิ่งที่เขาจะทำต่อไป คือการสร้างโบสถ์ มันเหมือนเป็นคำตอบจากพระเจ้าว่า “ใช่ จงทำในสิ่งที่พูดเถิด” ตอนผมเห็นฉากนี้ครั้งแรกเชื่อว่าไม่เข้าใจแน่ๆว่า Virgin Spring มันหลายถึงอะไร ดูครั้งนี้ร้องอ๋อเลย คำว่า Spring มันไม่ได้แปลว่าฤดูใบไม้ผลิอย่างเดียวนะครับ มันแปลว่า ตาน้ำ หรือบ่อน้ำพุก็ได้ ฉากตอนจบจังหวะที่ Tore อุ้ม Karen ขึ้นมา มีตาน้ำไหลมาจากบริเวณนั้นพอดี อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น บริบทของหนังให้ตีความไปเลยว่ามันคือปาฏิหารย์ และที่เรียก Virgin เพราะเปรียบคือตัวละคร Karen เธอคือหญิงสาวบริสุทธิ์ตอนต้นเรื่อง การตั้งชื่อสถานที่นี้ว่า Virgin Spring จึงเป็นการอุทิศให้แก่เธอ เป็นชื่อที่เหมาะสมอย่างยิ่งเลย

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับพ่อ-แม่ คนที่มีครอบครัว มีลูกสาวควรจะหามาดูอย่างยิ่ง เพื่อตรวจสอบความคิดของตนเอง ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบในหนัง คุณจะทำอย่างไร จะเป็นแบบ Tore หรือเปล่า (แนะนำว่าอย่าเป็นนะครับ) แฟนหนังของ Bergman คอหนังยุโรปไม่ควรพลาด คนดูหนังทั่วๆไป ถ้าไม่ได้สนใจแนวคิดเป็นพิเศษก็ข้ามไปเลยนะครับ หนังแนวนี้มันไม่สนุกถ้าดูแล้วไม่คิดตาม จัดเรต 13+ ผมว่าเด็กโตหน่อยดูได้ โดยเฉพาะผู้หญิง หนังสอนแนวคิดดีเลยละ

คำโปรย : “The Virgin Spring หนัง Oscar รางวัล Best Foreign Language Film โดย Ingmar Bergman พบกับสุดยอดการแสดงของ Max von Sydow ตั้งคำถามกับความเชื่อต่อศาสนา พระเจ้า ความยุติธรรม การล้างแค้น และการชดใช้บาป คนที่ชอบดูหนังแนวคิดไม่ควรพลาด”
คุณภาพ : RARE-GENDARY 
ความชอบ : LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: