Le salaire de la peur

Le Salaire de la peur (1953) French : Henri-Georges Clouzot ♥♥♥♥♡

(14/3/2019) สิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุดในชีวิตของผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot คือการสร้างภาพยนตร์ภายใต้ Continental Films (สตูดิโอของ Nazi, Germany) ช่วงเวลานั้นเป็นสิ่งมิอาจหลบหลีกเลี่ยง เพื่อให้ตนเองสามารถเอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง สี่ตัวละครขับรถบรรทุกไนโตรกลีเซอรีนของ The Wages of Fear ก็เฉกเช่นกัน!, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

The Wages of Fear คือผลงานชิ้นเอก Masterpiece ของผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot เรื่องแรกเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ คว้าสองรางวัลใหญ่จากสองเทศกาลหนัง
– Grand Prize (หรือ Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

นำเสนอสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัว พานผ่านอะไรๆมามากช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (และต่อจากนั้น) ถ่ายทอดสิ่งที่คืออารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศอันตึงเครียดเข้มข้น ลุ้นระทึกขี้เยี่ยวเร็ดราด ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยอาจได้ร่ำลาจากโลกนี้ไป, ถ้าใครมีโอกาสได้รับชมในโรงภาพยนตร์ เชื่อว่าอาจได้ขบจิกกัดเล็บ ลุกรี้ร้อนรน นั่งไม่สงบกับที่เลยทีเดียว

สำหรับคนยังไม่เคยรับชม The Wages of Fear อยากแนะนำให้ลองหาผลงานอื่นๆก่อนหน้า โดยเฉพาะที่ผู้กำกับ Clouzot สร้างขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้สังกัด Continental Films ทั้ง L’Assassin habite au 21 (1942) และ Le Corbeau (1943) เพื่อศึกษาทำความเข้าใจสาเหตุผล เพราะเหตุใด? ทำไม? ถึงยินยอมก้มหัวสร้างภาพยนตร์ให้นาซี?

ไม่ใช่เพราะ Clouzot เป็นคนทรยศต่อชาติบ้านเมือง หรือเข้าข้างฝักใฝ่นาซี แต่เพราะตัวเขามีฐานะยากจนข้นแค้น จะให้หลบลี้หนีไปไหนระหว่างกรุงปารีสถูกยึดครองโดยเยอรมัน (Occupation of France) วิธีการเดียวที่สามารถทำได้ คือเผชิญหน้าความกดดัน หวาดสะพรึงกลัว ทำงานสร้างภาพยนตร์ภายใต้ Continental Films


Henri-Georges Clouzot (1907 – 1977) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Niort โตขึ้นตั้งใจว่าจะเป็นทหารเรือ แต่ติดที่เป็นคนสายตาสั้นไม่ผ่านการคัดเลือก ตอนอายุ 18 เดินทางไป Paris เพื่อเรียนรัฐศาสตร์ ระหว่างนั้นได้ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ด้วยความสามารถด้านการเขียนทำให้กลายเป็นนักแปลภาษา นักเขียนบทละคร/ภาพยนตร์ จนกระทั่งได้รับชมหนังของ F. W. Murnau และ Fritz Lang เกิดความชื่นชอบหลงใหลในสไตล์ Expressionist จึงตัดสินใจสร้างหนังสั้นเรื่องแรก La Terreur des Batignolles (1931) ความยาว 15 นาที ใช้นักแสดงเพียง 3 คน ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม

เมื่อปี 1935, Clouzot ตรวจพบว่าเป็นวัณโรค ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล เป็นเวลากว่า 5 ปี ถือได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก เรียนรู้เข้าใจความอ่อนแอเปราะบางของร่างกายมนุษย์ และใช้เวลาค่อยๆพัฒนาขัดเกลาบทภาพยนตร์ของตนเองให้มีความกลมกล่อมลงตัวมากขึ้น, หลังออกจากโรงพยาบาล ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก เพราะโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสทั้งหลายต่างต้องหลบลี้หนีภัยออกจากประเทศ ยินยอมก้มหัวเพื่อเอาตัวรอด จากเขียนบทไต่เต้าขึ้นมากำกับ The Murderer Lives at Number 21 (1942) ตามมาด้วย Le Corbeau (1943)

เกร็ด: Clouzot คือหนึ่งในสามผู้กำกับ ที่ผลงานคว้าสามรางวัลใหญ่จากสามเทศกาลหนัง (อีกสองคือ Michelangelo Antonioni และ Robert Altman)
– Manon (1949) คว้า Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice,
– The Wages of Fear (1953) ควบคว้า Grand Prix (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และ Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน Le salaire de la peur (1950) แต่งโดย Georges Arnaud ชื่อจริง Charles Henri Georges Achille Girard (1917 – 1987) นักข่าว/นักเขียน สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montpellier ในครอบครัวชนชั้นสูง อดีตขุนนางเก่า

พ่อของ Arnaud ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำงานกระทรวงการต่างประเทศให้กับ Vichy France ด้วยเหตุนี้ทั้งตระกูลเลยถูกไล่ล่าฆ่าล้างจากกลุ่ม Free France ตัวเขารอดมาได้เพราะถูกจำคุกลืม 19 เดือน ขึ้นศาลไต่สวนไม่พบเจอหลักฐานกระทำผิดเลยปล่อยตัว (จริงๆคือเขาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวมีส่วนรู้เห็นอะไรกับพ่อ แต่ถูกผลพวงเพราะต้นตระกูลเดียวกัน)

ความสิ้นหวังถาโถมเข้ามาในชีวิต Arnaud ใช้จ่ายกองมรดกบริจาคให้การกุศลจนหมดตัว แล้วกลายเป็นหัวขโมย ออกเร่รอน อพยพหลบหนีสู่ South American เมื่อปี 1947 (ไม่ได้ระบุประเทศไหน) ช่วงเวลาดังกล่าวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หวนกลับฝรั่งเศส เขียนนวนิยายเรื่องแรก Le salaire de la peur ตีพิมพ์ปี 1950

ใช่ว่านวนิยายเล่มดังกล่าวจะประสบความสำเร็จขายดีแต่อย่างไร แค่บังเอิญมีเนื้อหาสาระตรงใจผู้กำกับ Clouzot ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ และร่วมงานว่าที่นักเขียนขาประจำ Jérome Geronimi (Les Diabolique, Les espions, La Vérité) ดัดแปลงบทภาพยนตร์


พื้นหลังคือ Las Piedras, Puerto Rico ดินแดนไกลปืนเที่ยงรายล้อมด้วยทะเลทราย ไม่ต่างอะไรจากคุก/ขุมนรก เข้ามาแล้วน้อยคนจะสามารถกลับออกไปได้ แต่เป็นสถานที่กบดานหลบภัยชั้นดีสำหรับอาชญากร

เรื่องราวของชายสี่คน กล้าท้าความตายเพื่อเงิน $2,000 เหรียญ แลกอิสรภาพออกจากนรกขุมนี้ ด้วยการขับรถบรรทุกไนโตรกลีเซอรีน เพื่อนำไปดับเพลิงไหม้แท่นขุดเจาะน้ำมันห่างไป 300 ไมล์
– Mario (รับบทโดย Yves Montand) ชายหนุ่มชาวฝรั่งเศส ผู้มีภาพลักษณ์เข้มแข็งแกร่ง เย่อหยิ่งทะนงตน แลดูหนักแน่นมั่นคง หาญกล้าทำทุกสิ่งอย่างแม้ทรยศหักหลัง เพื่อให้เดินทางถึงเป้าหมายเส้นชัย, แต่ลึกๆแล้วเป็นคนขาดความกล้าที่จะเริ่มต้นทำอะไรด้วยตนเอง โหยหาต้องการเพื่อนผู้คอยให้การสนับสนุนผลักดัน นั่นคือเหตุผลที่เขาต้องลากพา Jo ติดตามไปด้วยด้วยจนสิ้นสุดปลายทาง
– Jo (รับบทโดย Charles Vanel) ก็ไม่รู้เคยก่ออาชญากรรมใดมาถึงมีชื่อในหมายจับเข้าเมือง วางมาดเก่าเก๋าเกม อดีตนักเลงหัวไม้ แต่พอเริ่มออกเดินทางเท่านั้นละกลับขี้ตู่ปอดแหก มิอาจแบกรับความกดดันจนท้องไส้ปั่นป่วน ทานอะไรก็พรวดอาเจียนออกมา ท่วงท่าหมดเรี่ยวแรงไม่ต่างจากผีตายซาก ถูกบีบบังคับโดย Mario มาแล้วต้องร่วมหัวจมท้ายให้ถึงปลายฝั่ง ถึงกระนั้นไปไกลได้เท่านี้ก็เกินความคาดหมาย
– Luigi (รับบทโดย Folco Lulli) ชายชาวอิตาเลี่ยน เดิมทำงานกรรมกรก่อสร้าง หมอตรวจพบป่วยโรคปอดคงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เลยตัดสินใจเปลี่ยนงานหวังเงินก้อนโตเพื่อความสุขสบายบั้นปลาย, นิสัยพูดมากจนสร้างความรำคาญ แต่นั่นคือการระบายความเครียดคลั่งออกไป แม้ชีวิตจริงจะไม่หาญกล้าจับปืนเข่นฆ่าใคร แต่เมื่อเทียบการขับรถท้าความตาย หาใช่เรื่องน่าหวาดสะพรึงกลัวเลยสักนิด
– Bimba (รับบทโดย Peter van Eyck) ชายชาวเยอรมัน พ่อถูกนาซีประหารชีวิต ตัวเขาถูกส่งไปทำงานในเหมืองเกลือถึงสามปี ขับรถท้าความตายแค่นี้กระจิดริด!, แม้เริ่มต้นด้วยความตื่นตระหนกจนปล่อยแก้วตกแตก แต่เขาก็ไม่ใช่คนขาดเขลา แถมมากด้วยสติปัญญา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าดีเลิศ เสียอย่างเดียวไม่น่าปักธงความตายให้กับตนเองด้วยการโกนหนวดโกนเคราเสียเลย!

แม้มีชื่อเสียงในฐานะนักร้องเสียงหล่อ Yves Montand กลับยังไม่ประสบพบความสำเร็จใดๆในวงการภาพยนตร์ จนกระทั่ง Le Salaire de la peur (1953) ด้วยภาพลักษณ์ ‘Macho’ เรือนร่างกำยำบึกบึน ชอบพูดจากถากถางตรงไปตรงไปมา ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองกิเลสตัณหา ความต้องการพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น, ถือเป็นการพลิกบทบาทตรงกันข้ามกับตัวเอง ได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อยทีเดียว

แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับ Charles Vanel นี่คือผลงานได้รับการยกย่องสรรเสริญมากที่สุด จากเคยวางมาดเก่าเก๋าเกม พอเผชิญหน้าแบกรับความหวาดสะพรึงกลัวไม่ได้ หมดสิ้นสภาพกลายเป็นซากศพเดินได้  ปวกเปียก ป้อแป้ แสดงออกทางภาษากายโดดเด่นชัดมากๆ

เกร็ด: ทีแรกผู้กำกับ Clouzot ต้องการให้ Jean Gabin รับบท Jo แต่เจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธ เพราะไม่อยากพลิกบทบาทกลายเป็นคนขลาดเขลา กลัวว่าแฟนๆของเขาอาจยินยอมรับไม่ได้

แถมท้าย Véra Clouzot (ภรรยาผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot) รับบท Linda หญิงสาวตกหลุมรัก/ลักลอบเป็นชู้กับ Mario ไม่ต้องการให้เขาไปทำงานเสี่ยงตาย แต่ถูกปฏิบัติเยี่ยงอย่างสัตว์ ใช้กำลังรุนแรงตบตี ถีบให้ตกรถบรรทุก แต่เพราะรักเลยยินยอมให้อภัยทุกสิ่งอย่าง, เดิมนั้นตัวละครนี้ไม่มีในฉบับนวนิยาย เพิ่มเข้ามาเพื่อเป็นสีสันในหนังชายล้วน (คือถ้ามีแต่ผู้ชาย หนังมันดูเกรย์ไปเสียหน่อย) และสอดแทรกนัยยะถึง ผู้หญิงยังคงไม่มีพื้นที่ในโลกความเห็นแก่ของผู้ชาย


ถ่ายภาพโดย Armand Thirard (1899 – 1973) ตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Clouzot อาทิ The Murderer Lives at Number 21 (1942), The Wages of Fear (1953), Diabolique (1955) ฯ

ความตั้งใจของผู้กำกับ Clouzot ต้องการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ยังประเทศ Guatemala แต่ Yves Montand ผู้เคยไปงานคอนเสิร์ตยัง Rio de Janeiro ประกาศกร้าวไม่ขอไปดินแดนห่างไกลปืนเที่ยงขนาดนั้นอีก!, เป้าหมายถัดมาคือประเทศสเปน แต่ทศวรรษนั้นยังคงว้าวุ่นวายกับสงครามกลางเมือง, สุดท้ายเลยปักหลักแถวๆ Camargue ทางตอนใต้ฝรั่งเศส

แม้ไม่ใช่หนังนัวร์ แต่หลายๆฉากของหนังสะท้อนสภาวะทางจิตใจของตัวละครออกมา อาทิ แสง-เงา มุมกล้อง ตำแหน่งทิศทาง ฯ พบเห็นบ่อยคือเบื้องหน้า-เบื้องหลัง มักสะท้อนนัยยะบางสิ่งอย่างต่อกันและกัน

ช็อตแรกของหนัง, แมลง 4-5 ตัว ถูกจับมาผูกมัดรวมกัน นี่สะท้อนถึงโชคชะตากรรมของตัวละคร ต่างชาติต่างภาษา แต่กลับต้องมาปฏิบัติภารกิจร่วม เพื่อจุดประสงค์เอาตัวรอดของตนเอง!

สถานที่เสมือนว่าเป็นศูนย์กลางของเมือง คือบาร์แห่งนี้ ช่วงเวลากลางวันมักพบเห็นผู้คนนั่งหลบแดดตรงเฉลียง เงาหลังคาสาดส่องลงมาแลดูเหมือนซี่กรงขัง (คุก)

“It’s like prison here. Easy to get in. ‘Make yourself at home.’ But there’s no way out”.

Mario ระหว่างนำพา Jo ทัวร์เมือง Las Piedras มาถึงสถานที่แห่งนี้ พบเห็นพื้นหลังตึกสูงเหมือนกำลังก่อสร้างแต่กลับถูกทิ้งขว้างเหลือแต่โครง สะท้อนเข้ากับพวกเขาทั้งสอง ที่แทบไม่หลงเหลืออะไร ใช้ชีวิตเอาตัวรอดไปวันๆอย่างไร้อนาคตเป้าหมาย

นี่เช่นกันพยากรณ์ความตาย Mario นำพา Jo ติดตามขบวนแห่ศพ นั่นคือทิศทางที่พวกเขากำลังมุ่งหน้าดำเนินไป

บริษัทน้ำมัน Southern Oil Company แบ่งแยกตัวเองออกจากผืนแผ่นดินแดนนี้ด้วยกำแพงเหล็กกั้น ตรงกันข้ามกับชุมชนเมือง กำแพงอิฐที่ Luigi กำลังก่อร่างสร้าง เรื่องความเบาะบางคงแตกต่างกันมาก สะท้อนเล็กๆถึงความเห็นแก่ตัวของสหรัฐอเมริกา เข้ามาขุดน้ำมันสนแต่กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น

การประชุมของผู้บริหาร Southern Oil Company วางกล้องตำแหน่งห่างไกลสุดปลายโต๊ะ สะท้อนนัยยะถึงความไม่ใคร่สนใจในประเด็นหัวข้อที่พวกเขากำลังสนทนา

“The Hell with the Union! There’s plenty of tramps in town, all volunteers. I’m not worried. To get that bonus, they’ll carry the entire charge on their backs”.

– Bill O’Brien

แม้ว่า Mario & Jo จะได้ขับรถบรรทุกนำหน้าไปก่อน แต่เมื่อมาถึงดงไผ่ก็ยินยอมให้ Luigi & Bimba แซงหน้าไปได้, สถานที่แห่งนี้ในเชิงสัญลักษณะหมายถึงความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เพราะต้นไผ่เจริญเติบโตเร็วขึ้นไว ใครมีความอดทนเข้มแข็งแกร่งกว่า ย่อมสามารถแซงหน้าขึ้นนำก่อนได้

ทางช่วงที่สองของถนนมีคำเรียกว่า ‘washboard’ มีลักษณะลูกรังก้อนเล็กๆ ถ้าขับเร็วด้วยความเร็ว 30-40 ไมล์ต่อชั่วโมง จะแล่นฉิวไม่สั่นสะเทือนมาก แต่ถ้าน้อยกว่านี้มันจะมีแรงกระแทกที่รุนแรงเสี่ยงอันตราย กล่าวคือถ้าทำความเร็วไม่ได้ก็ต้องขับช้ากว่า 6 ไมล์ต่อชั่วโมงไปเลย

นัยยะของช่วงทางนี้ ผมมองว่าคือการแบ่งชนชั้นสูง-ต่ำ ด้วยมาตรฐาน/ข้อจำกัดของสิ่งที่มนุษย์ควรทำได้ แน่นอนเราสามารถเลือกความเร็วปลอดภัย ช้าๆแต่มีความมั่นคง หรือเลือกเผชิญหน้าท้าความเร็ว หนทางลัดสู่เป้าหมายปลายทาง

เลี้ยวโค้งบนภูเขาสูง นัยยะถึงการหักเห เบี่ยงเบน ปรับเปลี่ยนทิศทาง/วิธีการ บางครั้งจำเป็นต้องออกนอกลู่บ้าง เพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้ถึงเป้าหมายเส้นชัย

การลื่นไถล/ล้อฟรี นัยยะถึงความพยายามทำทุกสิ่งอย่างด้วยตัวตนเอง บางครั้งก็มิอาจสำเร็จลุล่วงลงได้ จำต้องมีผู้ช่วยหรือด้วยสติปัญญาแก้ปัญหาบางอย่าง
– กรณีของ Luigi & Bimba จากเหตุการณ์นี้ทำให้พวกเขากลายเป็นคู่หู เพื่อนสนิทกันเลย
– ตรงกันข้ามกับ Mario & Jo ตัวใครตัวมัน แค่เกาะไปด้วยกันเท่านั้นเอง

ก้อนหินขวางทาง นัยยะตรงๆเลยถึงอุปสรรคขวากหนามที่ต้องใช้สติปัญญา/การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากไม่สามารถหาทางเลี่ยงเบี่ยงเบน เลยต้องใช้ระเบิดจุดทำลาย เพื่อให้การเดินทางสามารถไปต่อได้

ผลงานประดิษฐ์ชิ้นนี้ ต้องตระเตรียมการทุกสิ่งอย่างไว้ให้พร้อมพรัก จากนั้นถึงค่อยจุดไฟแล้วปล่อยให้กลไกทำงาน … นี่สะท้อนเข้ากับเค้าโครงสร้างของหนัง บริษัทน้ำมันตระเตรียมการทุกสิ่งอย่างไว้พร้อม และปล่อยให้ชายสี่คนขนรถบรรทุกไนโตรกลีเซอรีน เดินทางไปให้ถึงเป้าหมาย

ผมละชื่นชอบช็อตนี้มากๆ นี่เป็นการปัสสาวะเพื่อแสดงถึงชัยชนะต่ออุปสรรคขวากหนาม ไม่ต่างอะไรกับสุนัขฉี่เรี่ยราด เพื่อสร้างอาณาบริเวณเขตแดนตนเอง

ใครก็ตามที่สวมเสื้อผ้า เข้าร้านตัดผม หรือกำลังโกนหนวด ล้วนคือการปักธงความตาย (Death Flag) ทั้งนั้น, อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าผู้ชมสมัยก่อนสามารถเข้าใจลางสังหรณ์เหล่านี้ได้หรือเปล่่า แต่ผู้ชมปัจจุบันน่าจะไม่มีปัญหากับความโจ่งแจ้งระดับนี้แน่

ให้ข้อสังเกตช็อตหน้ารถทั้งสองคัน
– Mario & Jo จะมีเหล็กกั้นกึ่งกลางระหว่างพวกเขา (แสดงถึงความแตกต่างตรงกันข้าม จะเอาตัวรอดต้องพึ่งพาตนเองเท่านั้น)
– ขณะที่ Luigi & Bimba จะไม่มีอะไรกั้นขวาง (แสดงถึงความคล้ายคลึงในนิสัยใจคอ เติมเต็มกันและกันได้อย่างดี)

อุปสรรค์สุดท้ายของการเดินทาง คือขับรถลุยบ่อน้ำมัน ไม่รู้เหมือนกันว่าเบื้องหน้าลึกเท่าไหร่ จะยังสามารถเคลื่อนต่อไปได้อีกไกลแค่ไหน?, แต่แม้มี Jo เดินนำช่วงแรกๆ แต่อุบัติเหตุทำให้ท้ายที่สุด Mario จำต้องช่วยเหลือตนเองให้สามารถข้ามไปถึงอีกฟากฝั่งหนึ่ง

ว่าไปทั้ง Sequence สะท้อนได้ทั้งการเดินทางของ Mario & Jo, เริ่มต้นด้วย Jo วางมาดกล้าหาญมาเป็นอย่างดี แต่สักพักกลับปอดแหกยินยอมแพ้ และ Mario นำพาทุกสิ่งอย่างไปจนถึงฟากฝั่งฝา

นี่ถ้าเทียบแทน Jo คือคนรุ่นเก่า และ Mario เป็นเด็กรุ่นใหม่ นัยยะของฉากนี้คือการส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น … ผู้ใหญ่บุกเบิกหนทางนำร่องไว้ แล้วปล่อยให้ลูกหลานสืบสานต่อจนถึงฝั่งฝา

เกร็ด: เพราะทั้งสองนักแสดงต้องลุยคลำในน้ำมันจริงๆ เห็นว่าถ่ายทำเสร็จตาแดงกล่ำเป็นวันๆ ดูอันตรายไม่น้อยทีเดียว

หลายๆคนน่าจะคาดเดา/ปักธงการกระทำอันบ้าบิ่นของ Mario ขับรถบรรทุกโยกไปโยกมาตามจังหวะเสียงเพลง ผมขอเรียกว่าอารัมบทโศกนาฎกรรม ทั้งรู้ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่จิตใจก็มักไม่ตระเตรียมพร้อมสักเท่าไหร่

ตั๋วรถไฟคือสัญลักษณ์ของเป้าหมาย ความเพ้อใฝ่ฝันที่ Mario ต้องการหวนกลับไป, ช็อตสุดท้ายของหนังพบเห็นซ้อนกับเปลวไฟ นั่นคืออุดมการณ์มอดไหม้ สิ้นสุดการเดินทางที่ไม่สมหวัง

ตัดต่อโดย Madeleine Gug, Etiennette Muse, Henri Rust สามารถแบ่งหนังออกได้เป็น
– ปฐมบท, ณ เมือง Las Piedras, Puerto Rico แนะนำตัวละคร คัดเลือกสี่คนเพื่อปฏิบัติภารกิจท้าความตาย
– การออกเดินทาง แบ่งออกได้เป็น 5 ช่วงขณะ
1) ขับนำ/แซงหน้า
2) ถนนขรุขระ ต้องเลือกระหว่างเร่งความเร็วหรือขับเชื่องช้า
3) เลี้ยวโค้งบนภูเขาสูง
4) ระเบิดก้อนหิน/อุปสรรคขวางกั้น
5) ข้ามผ่านบ่อน้ำมัน จนถึงเป้าหมาย
– ปัจฉิมบท, การเดินทางกลับที่แสนสั้น

แซว: ใครเคยรับชม The Treasure of the Sierra Madre (1948) ของผู้กำกับ John Huston น่าจะระลึกได้ถึงโครงสร้างดำเนินเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันนี้

‘สไตล์ Clouzot’ ในส่วนดำเนินเรื่อง โดดเด่นมากๆกับการสร้างบรรยากาศอันตึงเครียดเข้มข้น เริ่มต้นแม้เสียเวลาอารัมบทค่อนข้างมาก แต่เพื่อผลลัพท์ผู้ชมเกิดความลุ้นระทึก เกร็ง กดดัน รุนแรงอาจถึงขั้นขี่เยี่ยวเร็ดราดก็เป็นได้

แม้ทีมของ Mario & Jo จะได้เริ่มต้นออกเดินทางก่อน แต่เข้าอีหรอปนิทานอีสปกระต่ายกับเต่า สำนวนช้าๆได้พร้าเล่มงาม ปล่อยให้ Luigi & Bimba เผชิญหน้าอุปสรรคปัญหาเสียก่อน ซึ่งทั้งสามครั้งจะดำเนินไปในลักษณะ
– มาทีหลังเลยสูญเสียเปรียบ (ไม้ผุกลายเป็นอุปสรรค)
– ยังไงก็ต้องรอเหมือนกัน ลุ้นระทึกว่าจะระเบิดอุปสรรคขวางกั้นนั้นไปได้หรือเปล่า
– และเมื่อผู้มาก่อนผ่านไปไม่สำเร็จ โอกาสจึงตกทอดสู่คนหลังติดตามมา


ว่าไป Sound Effect เสียงไซเรนฉุกเฉิน เป็นอะไรที่เสียดแทง-บาดหูเสียจริง! ได้ยินทีไรจักทำให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่น สั่นสะพรึง จินตนาการถึงภยันตราย เหตุการณ์ร้ายๆกำลังจะบังเกิดขึ้น และขณะเดียวกันมันคือเสียงของการพลัดพราก ร่ำลาจาก (คนรัก) ซึ่งมักคือชั่วนิรันดร์

สำหรับเพลงประกอบ Main Theme แต่งโดย Georges Auric (1899 – 1983) ยอดฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส เป็นการอารัมบทสู่เรื่องราวด้วยกลิ่นอายของ Impressionism มอบสัมผัสความประทับใจต่อหายนะ ความตาย แลกมาด้วยโอกาสแห่งความสำเร็จ และแต่งแต้มด้วยเสียงรัวสายกีตาร์ ท่วงทำนองที่ผู้ชมล่วงรู้ได้ทันทีว่า พื้นหลังต้องคือละตินอเมริกาอย่างแน่นอน

ขณะที่ไฮไลท์ดังขึ้นนาทีสุดท้ายของหนัง บทเพลง An der schönen blauen Donau Op. 314 (1866) หรือที่ใครๆรู้จักในชื่อ The Blue Danube ผลงานประพันธ์ของ Johann Strauss II (1825 – 1899) คีตกวีสัญชาติ Austrian แต่งขึ้นเพื่อพรรณาความงดงามของแม่น้ำ Danube

ผู้ชมสมัยนี้อาจจดจำ The Blue Danube คือบทเพลงขณะกระสวยเข้าเทียบสถานีอวกาศใน 2001: A Space Odyssey (1968) แต่ก่อนหน้านั้น ถือว่าเป็น ‘Waltz of Death’ บทเพลงแห่งความตายของ The Wages of Fear (1953) ตัวแทนของการเดินทางของชีวิตที่เหมือนสายชีวิต ถ้าเราใช้มันอย่างเพลิดเพลิน หลงระเริง ย่อมมีโอกาสเผลอเรอพลาดพลั้ง บังเกิดโศกนาฎกรรมแบบไม่มีใครคาดคิดถึง

แม้ชื่อ The Wages of Fear จะสื่อถึงความหวาดสะพรึง ‘กลัว’ แต่เรื่องราวของหนังนำเสนอความ ‘กล้า’ ของคนบ้าๆกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้ตนเองสามารถดิ้นรนเอาตัวรอด กลับออกจากดินแดนไกลปืนเที่ยงเสมือนคุกกลางทะเลทรายแห่งนี้ แม้ต้องเสี่ยงอันตรายท้าความตาย แต่ถ้าสุดท้ายพ่ายแพ้ผลลัพท์ก็ไม่แทบแตกต่างกัน

มันเป็นสิ่งถูกผนวกรวมโลกทัศนคติมนุษย์ยุคสมัยนั้นนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ว่าการจะเอาตัวรอดในสังคม ‘เงิน’ คือสิ่งสำคัญสูงสุด! นี่ไม่ใช่เรื่องหลักการ อุดมการณ์ แต่กลายเป็นความเห็นแก่ตัวของผู้มีอำนาจ(ทางการเงิน) ชีวิตถูกนำมาตีตราเป็นตัวเลขมูลค่า ($2,000 เหรียญ) ใครมองว่าสูงพอก็รับคำท้า เป็น-ตายไม่ต่างจากหมูหมาตัวหนึ่ง

ถึงมุมมองส่วนตัวจะเห็นว่า คนที่กล้ารับคำท้าแบบนี้คือพวกโง่งี่เง่า ไร้สติสตางค์ ยินยอมให้ถูกหลอกใช้ แต่ก็มิอาจตัดสินการเลือกของพวกเขาได้ เพราะถ้าผมเองตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะดังกล่าว ระหว่างตายทั้งเป็น vs. ท้าความตาย เลือกแบบหลังแล้วชีวิตยังมีโอกาสและ ‘ความหวัง’ มากกว่า ก็ย่อมต้องขวนขวายให้ได้หนทางนั้นอย่างแน่นอน

บริษัทน้ำมัน Southern Oil Company ตกเป็นผู้ร้ายของหนัง ด้วยพฤติกรรมสนแต่ได้/กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้ถึงสหรัฐอเมริกา กลายเป็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้แฝงนัยยะ Anti-American อย่างตรงไปตรงมา! ถึงกระนั้นผมอยากให้มองมุมกว้างขึ้นอีกนิด ปัญหาแท้จริงของห่วงโซ่อาหารคือระบอบ ‘ทุนนิยม’ อำนาจของเงิน ได้กลายเป็นสิ่งกำหนดทิศทาง เป็น-ตาย ราคาชีวิตมนุษย์ไปแล้วหรือ?

โชคชะตากรรมของผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot แม้โดนขับไล่ออกจาก Continental Films หลังเสร็จสร้าง Le Corbeau (1943) แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดกลับถูกส่งตัวขึ้นศาล ได้รับการตัดสินห้ามยุ่งเกี่ยวสร้างภาพยนตร์ตลอดชีวิต (ข้อหาทรยศชาติ สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อในสังกัดนาซี) ผมว่าวินาทีนั้นคงทำให้ Clouzot เกิดอาการอ้ำอึ้ง ช็อค! หมดสิ้นหวังอาลัย ตกอยู่ในสภาพเวิ่งว้างว่างเปล่า ราวกับกำลังมอดไหม้ จมดิ่งตกเหว ตายทั้งเป็น หรือคือปฏิกิริยาผู้ชมที่จะบังเกิดขึ้น ณ ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้

โชคยังดีหลังจากนั้นไม่นาน เพื่อนๆศิลปิน/ผู้กำกับมากมาย Jean Cocteau, René Clair, Marcel Carné, Jean-Paul Sartre ฯ ต่างโวยวายออกมาร้องเรียกความยุติธรรม รับไม่ได้ต่อการตัดสินเว่อเกินจริงของศาล ทำให้ภายหลังลดโทษลงเหลือเพียงระยะเวลาสองปี นั่นทำให้ Clouzot มีโอกาสสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ระบายทุกสิ่งอย่างอึดอัดอั้นคั่งค้างคาใจออกมาจนหมดสิ้นสมบูรณ์


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes โดยมี Jean Cocteau คือประธานกรรมการปีนั้น มอบให้สองรางวัล
– Grand Prize of the Festival (ชื่อเดิมของ Palme d’Or)
– Special Mention แด่การแสดงของ Charles Vanel

สมัยนั้นยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันของเทศกาลหนังใหญ่ๆที่ว่า ภาพยนตร์เข้าฉายสายการประกวดหนึ่ง จะไม่มีสิทธิ์เข้าฉายอีกสายการประกวดอื่น เป็นเหตุให้โปรดิวเซอร์ส่ง The Wages of Fear เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin ร่วมด้วย และสามารถคว้าอีกรางวัลใหญ่ Golden Berlin Bear ครั้งแรกครั้งเดียวในประวัติศาสตร์

(ปัจจุบันข้อตกลงดังกล่าว ใช้กับเฉพาะเทศกาลหนังใหญ่ๆเพื่อกระจายรางวัลเท่านั้นนะครับ อาทิ Cannes, Venice, Berlin, Moscow ฯ)

ความสำเร็จของหนังไม่เพียงแค่กวาดรางวัล ในฝรั่งเศสยังได้รับความนิยมไม่น้อยทีเดียว ยอดจำหน่ายตั๋ว 6,944,306 ใบ สูงสุดอันดับ 4 ของปี, แต่เพราะเนื้อหาของหนังสอดแทรกใจความ Anti-American ทำให้ฉบับเข้าฉายสหรัฐอเมริกา ถูกตัดเล็มโน่นนี่นั่นออกไปมาก จากต้นฉบับ 153 นาที หลงเหลือเพียง 131 นาที สูญเสียความบันเทิงไปไม่น้อย!

ปัจจุบัน The Wages of Fear ได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K ในการควบคุมดูแลของตากล้อง Guillaume Schiffman สำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อปี 2017 หารับชมทาง DVD, Blu-ray ได้ที่ Criterion Collection

เกร็ด: หนังมีการสร้างใหม่สองครั้ง และอีกหนึ่ง Colorization
– Violent Road (1958) กำกับโดย Howard W. Kock
– Sorcerer (1977) กำกับโดย William Friedkin
– และฉบับภาพสี ออกฉายทางโทรทัศน์ปี 1996

การรับชมรอบนี้ ทำให้ผมมอง The Wages of Fear (1953) คือภาพยนตร์ที่เป็นขั้วตรงข้ามของ Seven Samurai (1954)
– ทำงานแลกเงิน <> แค่เพียงอาหารอิ่มท้อง
– เพื่อการเอาตัวรอดส่วนตน <> อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม

ครุ่นคิดแบบนี้ทำให้ส่วนตัวชื่นชอบคลั่งไคล้หนังมากๆ เพราะนำเสนอ ‘จิตวิญญาณ’ ของชาวตะวันตก เมื่อเงินคือทุกสิ่งอย่างของชีวิต นี่ไม่ใช่สิ่งถูก-ผิด แต่ผลกรรมแห่งความละโมบโลภ มักก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าโศกนาฎกรรม

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ลองครุ่นคิดถึงตนเองเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะคล้ายๆกันนั้น จะมีความกล้าบ้าบิ่นเพียงพอหรือเปล่าที่จะตัดสินใจนำชีวิตเข้าแลก แขวนบนเส้นด้าย เพราะอะไร? ทำไม? คุ้มค่าแค่ไหน?

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศอันตึงเครียด เฉียดใกล้ความตาย

คำโปรย | สิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัวสุดในชีวิตของ Henri-Georges Clouzot ได้รับการถ่ายทอดออกมาผ่าน Le Salaire de la peur เท่านี้ก็นอนตายตาหลับแล้ว!
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ตกหลุมรักคลั่งไคล้


The Wages of Fear

The Wages of Fear (1953) : French – Henri-Georges Clouzot

(24/4/2016) งานที่เงินดี ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป กับค่าจ้างที่มากพอถึงขั้นเอาไปตั้งตัว-เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ชาย 4 คนจึงขอเสี่ยงกับงานที่ถ้าพลาดก็ถึงตายได้ หนังสัญชาติ French กำกับโดย Henri-Georges Clouzot ที่จะพาคุณลุ้นระทึกถึงขั้นนั่งไม่ติดเก้าอี้ จะมีใครที่ทำงานนี้สำเร็จหรือไม่ การันตีด้วยรางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และอันดับ 9 จาก The 100 Best Films Of World Cinema ของนิตยสาร Empire

Henri-Georges Clouzot เชื่อว่าถ้าเขาได้มีโอกาสไปทำหนังใน Hollywood อาจได้รับการยกย่องเทียบเท่า Alfred Hitchcock ก็เป็นได้ เพราะความที่ Clouzot ชอบเล่นกับจิตวิทยาของตัวละคร บีบคั้นความรู้สึกไปให้ถึงที่สุด อย่างหนังเรื่อง Les Diaboliques ที่ว่ากันว่า Hitchcock แย่งซื้อลิขสิทธิ์ในการดัดแปลงหนังช้าไปไม่กี่ชั่วโมง Clouzot ได้สร้างออกมายอดเยี่ยมมากๆ ถึงขนาดกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Hitchcock สร้างหนังเรื่อง Psycho (1960), สำหรับ The Wages of Fear เป็นการตั้งคำถามท้าทายจิตใจของคนดู ว่าถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจะเลือกทำงานที่เสี่ยงตายเพื่อค่าแรงระดับนั้นหรือไม่ ซึ่งหนังนำเสนอการเปลี่ยนแปลงจิตใจของตัวละคร ต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานเสี่ยงตายนี้ และตอนจบที่สอนคนว่า อย่าชะล่าใจเพราะคิดว่าอันตรายหมดลงแล้ว เพราะบนโลกเรานี้ “อะไรๆก็เกิดขึ้นได้” นี่ทำให้ผมต้องจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ดัดแปลงมาจากนิยาย Le salaire de la peur (The Salary of Fear) เขียนโดย Georges Arnaud นักเขียนชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อปี 1950 เรื่องราวเกิดขึ้นใน Mexico เมื่อบริษัทขุดน้ำมันสัญชาติอเมริกาทำงานผิดพลาด ทำให้น้ำมันพุ่งออกมาจากพื้นดินเกิดไฟลุกโชติช่วง การจะดับไฟให้ได้ ทำให้ต้องจ้างคนงานชาวยุโรปเพื่อขับรถบรรทุกขนส่ง nitroglycerine ระยะทาง 300 ไมล์ ผ่านเส้นทางที่อันตราย เทือกเขาสูงชันและขรุขระ คงจะมีแต่คนที่ไม่มีอะไรจะเสียเท่านั้นถึงจะยอมเสี่ยงตายแลกกับเงิน $2,000

มีนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะนักวิจารณ์หนังจากอเมริกา บอกว่าหนังเรื่องนี้มีใจความ anti-American ตอนผมดูไม่ได้สังเกตประเด็นนี้ แต่ก็ใช่นะครับ เพราะหนังพูดถึงบริษัทสัญชาติอเมริกัน เลือกจ้างคนที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพแรงงาน ใช้ค่าแรงที่สูงมากดึงดูด ล่อใจคนที่ต้องการเงินโดยไม่กลัวความเสี่ยงที่อาจถึงแก่ชีวิต กระนั้นหนังไม่ได้บอกว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน (ในนิยายคือ Mexico จึงคิดว่าน่าจะ South America) แต่มันเป็นการเสียดสีที่ตรงมากๆ ว่าบริษัทอเมริกาจ้างแรงงานคนท้องถิ่นโดยไม่คำนึงถึงความเท่าเทียมและความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน เหตุนี้เวอร์ชั่นที่ฉายในอเมริกาจึงโดนตัดออกไปหลายฉากเลย

สำหรับ 4 ผู้โชคดีที่ได้รับโอกาสขับรถบรรทุกสายด่วนลงนรก ประกอบด้วย

Yves Montand รับบทเป็น Mario ชายหนุ่มผู้มีจิตใจแข็งแกร่ง เขาไม่ลังเลอะไรทั้งนั้นเมื่อได้ตัดสินใจไปแล้ว และเขาทำทุกอย่างเพื่อให้ไปถึงเส้นชัย ผมไม่มองว่าเขาเป็นคนทรยศเพื่อนนะครับ Jo ต่างหากที่เคยทรยศเขาก่อน ฉากในบ่อน้ำมันจึงมองเหมือนเป็นการเอาคืนก็ได้ แต่เขาก็เสียใจที่ทำแบบนั้นไปนะ ไม่งั้นคงไม่พา Jo ไปด้วยจนถึงเส้นชัยหรอก

Charles Vanel รับบทเป็น Jo ชายสูงวัยที่เก่งแต่ปาก ทีแรก Jo ไม่ได้เป็น 1 ใน 4 ที่ได้รับโอกาสให้ขับรถบรรทุก แต่เพราะ Jo ไปทำอะไรสักอย่างกับ 1 ในนั้น (อาจจะมอมเหล้า, น็อกให้สลบ, พูดกล่อม ฯ) ทำให้เขาได้รับสิทธิ์แทน แต่กลายเป็นว่าพอเริ่มภารกิจ หมอนี่กลับกลายเป็นคนขี้ขาด ตาขาว โอ้อวดอะไรไว้ พอทำจริงดัดปอดแหก ผ่านไปประมาณครึ่งทางจะเห็นว่าตัวละครนี้หมดสภาพแบบดูไม่ได้เลย ผมไม่เห็นใจตัวละครนี้นะครับ รู้สึกสมน้ำหน้า ทำตัวเองแท้ๆ แต่ชะตากรรมของเขาก็ถือว่าโหดร้ายไปเสียหน่อย

Folco Lulli รับบท Luigi นักแสดงชาวอิตาเลียน ผมชอบหมอนี่นะครับ ตอนแรกคิดว่าคงดีแต่ปาก แต่ที่ไหนได้ นี่แหละคนจริง ถึงไม่ใช่คนที่ฉลาดแต่มีประสบการณ์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง โดยเฉพาะตอนที่ล้อรถติดหล่ม (ไม้หัก) เขาสามารถแก้ปัญหาผ่านไปได้อย่างชาญฉลาด เป็นคนจริงใจไม่ทิ้งเพื่อน เทียบกับ Jo แล้ว เป็นเหรียญคนละด้านกันเลย

Peter van Eyck นักแสดงชาวเยอรมัน รับบท Bimba หมอนี่มีลับลมคมในเยอะมาก ตอน Luigi ถามว่าเขาอายุเท่าไหร่ หมอนี่ตอบ 100 ปี … เหตุที่เขาไม่กลัวตายเพราะภูมิหลังเคยได้เห็นความตายมาแล้ว (พ่อถูกประหาร) เขาเป็นตัวแทนของคนฉลาด ใช้ nitroglycerine ระเบิดหิน วิธีของเขายังไง Luigi หรือตัวละครอื่นๆก็คิดไม่ได้แน่นอน ถึงเราจะไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับตัวละครนี้ แต่ก็ไว้ใจ เชื่อใจได้แน่นอน

ทั้ง 4 มีประเด็นที่ทำให้ต้องการเงินต่างออกไป Mario กับ Jo ก็เพื่อหนีออกไปจากสถานที่ไกลปืนเที่ยงนี้ Luigi มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพราะเขาป่วยหนัก ใช้เงินรักษาตัวเอง ส่วน Bimba … ไม่รู้สิครับ (เหมือนหนังจะไม่ได้บอกว่าเขาต้องการเงินไปทำอะไร)

สำหรับตัวละครหญิงสาวหนึ่งเดียวในหนัง Véra Clouzot รับบทเป็น Linda ผู้หญิงที่ไม่มีความสำคัญอะไรต่อหนังเลย บทนี้ feminist คงด่ายับ เพราะวันๆเธอไม่ทำอะไรเลย นอกจากถูกพื้นและยั่วผู้ชาย ในบริบทของหนังจะเปรียบได้กับยุคที่ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า และผู้หญิงไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ชายแม้แต่น้อย

ถ่ายภาพโดย Armand Thirard ในยุค 50s การถ่ายภาพนักแสดงพูดคุยกันในรถ จะมี 2 วิธี คือใช้ฉากหลังที่หมุนได้ (พิมพ์ภาพหรือวาดภาพใส่ กระดาษ/ผ้า/ไวนิล แล้วใช้หมุนเอา) หรือใช้ rear projector ฉายภาพที่ถ่ายไว้ก่อนแล้วขึ้นไปบนฉากด้านหลัง ผมไม่แน่ใจหนังเรื่องนี้ใช้วิธีไหน (น่าจะ rare projector) หนังมีฉากที่ถ่ายตัวละครในรถบรรทุกคุยกันเยอะมาก ซึ่งจะตัดสลับกับภาพที่ถ่ายจากสถานที่จริง ตัดต่อโดย Madeleine Gug, Etiennette Muse และ Henri Rust ผมเห็นว่าหนังเรื่องนี้มีการเฟดและเคลื่อนภาพไปทางซ้ายขณะเปลี่ยนฉาก

ผมรู้สึกหนังยาวไปหน่อยนะครับ ความยาว 148 นาที เอาจริงๆตัดออกได้เยอะ ช่วงแรกที่เป็นการเกริ่น เห็นว่าเวอร์ชั่นที่ฉายอเมริกาตัดส่วนนี้ออกไป (โดยเฉพาะฉากที่มีการพูดถึงบริษัทอเมริกา) ช่วงหลังตั้งแต่เริ่มขับรถบรรทุก มีประเด็นเล็กๆน้อยๆเยอะมาก หลายอย่างตัดออกได้ แต่คงเพราะผู้กำกับต้องการให้คนดูสัมผัสกับบรรยากาศ ความตึงเครียดและความผ่อนคลายของตัวละครได้ไปพร้อมๆกัน จึงใส่รายละเอียดเล็กๆพวกนี้เข้ามา ซึ่งเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คนดูจะไม่ทันตั้งตัว ผมก็คนหนึ่งตอนฉากรถบรรทุกระเบิด มันมานิ่งๆ เงียบๆ ตู้ม! … เห้ย! จริงดิ! คิดภาพตามไม่ทัน ใจตอนนั้นยังไม่ทันเตรียมพร้อม ก็ตกวูบลงตาตุ่มเลย หนังไม่ให้เวลานึกทบทวนหรือคิดเสียใจแม้แต่น้อย เรื่องราวดำเนินต่อไปทันที ทิ้งความรู้สึกอันหนักอึ้งไว้ในใจ (นึกย้อนกลับไปจะพบ Death Flag ที่ชัดเจนมากๆ อยู่ซีนก่อนหน้านั้นนะครับ หาเจอหรือเปล่าเอ่ย)

เพลงประกอบโดย Georges Auric (La Belle et la Bête) เอาจริงๆผมแทบไม่ได้ยินเพลงประกอบของหนังเลยนะครับ ได้ยินแต่เสียงเครื่องยนต์ กระหึ่มมากๆ เพลงในหนังจะมีแค่ที่ตัวละครร้องออกมาและจากเสียงเพลงวิทยุเท่านั้น เพลง Waltz ตอนจบ The Blue Danube ของ Richard Struss เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมมากๆ หนัง Hollywood มักจะทำตอนจบแบบนี้ไม่ได้แน่นอน (มาถึงจุดนั้นแล้วพระเอกต้องรอดสิน่า) เพลงนี้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน หมดห่วง รู้สึกเหมือนนกราวกับบินได้ ภาพตัดสลับระหว่างการเต้นรำและการขับรถที่โยกไปมา สุดท้ายรถบรรทุกก็บินได้… จริงๆนะ

กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง เชื่อว่าหลายคนคงมีข้อสรุปประมาณว่า ‘กับงานที่เสี่ยงตาย ต่อให้เงินดีแค่ไหนมันก็ไม่คุ้ม’ เอาจริงๆมันก็ไม่แน่นะครับ เพราะคุณไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์หมาจนตรอกแบบในหนังจริงๆ จะไปคิดเผื่อมันไม่ได้แน่ ซึ่งถ้าชีวิตคุณจับพลัดจับพลูไปอยู่ในสถานที่แบบนั้น มีชีวิตไปวันๆแบบไม่มีเป้าหมาย ถ้ามี “โอกาส” เข้ามา ไม่ว่าความเสี่ยงจะมากแค่ไหน ผมเป็นคนประเภทเลือกเอาความเสี่ยงนะครับ เพราะมันทำให้รู้สึกเหมือนกำลังมีชีวิต ไม่ใช่ซอมบี้ … ขอเปรียบอีกแบบแล้วกัน สมมติว่าคุณถูกจับด้วยข้อหาอะไรสักอย่าง ต้องจำคุกตลอดชีพไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน วันดีคืนดีได้รับข้อเสนอว่า ให้ไปกอบกู้โลกเสี่ยงตายแลกกับอิสระภาพ คุณจะยอมทำหรือเปล่า? (พล็อตคล้ายๆ Suicide Squad)

ว่าไปมันก็มีหนังที่มีแนวคิดคล้ายๆ The Wages of Fear เกิดขึ้นเยอะมากเลยนะครับ remake ของ hollywood มี 2 เรื่อง Violent Road (1958) กับ Sorcerer (1977) ผมไม่เคยดูทั้งสองเรื่องเลยบอกไม่ได้ว่าดีแย่อย่างไร, หนังแนว Superhero แทบทั้งนั้นจะมีใจความประมาณ ออกไปเสี่ยงตายเพื่อกู้โลก พวกเขาไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆทั้งนั้น และการต่อสู้มันก็เป็น/ตาย จริงๆ มันคือบริบทเดียวกับ The Wages of Fear นะครับ เพียงแต่ประเด็นของหนัง Superhero ไม่ได้เล่นกับจิตวิทยาของตัวละครเลย เพราะฮีโร่พวกนี้จะต้องมีความเข้มแข็งทางจิตใจที่ไม่ว่ายังไงพวกเขาก็ไม่กลัว และความเสี่ยงก็เพื่ออุดมการณ์ เพื่อผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนที่ชอบดูหนังแนววิเคราะห์จิตวิทยาตัวละคร, แฝงข้อคิดดีๆ, บรรยากาศลุ้นระทึก, แฟนหนังของ Hitchcock ไม่ควรพลาด หนังยาวไปนิดแต่หยุดดูไม่ได้แน่นอน จัดเรต PG-13 เพราะมีการทรยศหักหลังของตัวละครที่ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง และชะตากรรมของตัวละครก็น่ารันทดไปเสียหน่อย

คำโปรย : “งานที่เงินดี ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป The Wages of Fear พาเราลงลึกไปถึงจิตใจของตัวละคร ต่องานเสี่ยงตายที่แลกมาด้วยเงินมหาศาล โดยผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot”
คุณภาพ : SUPERB 
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: