The Water Magician

The Water Magician (1933) Japanese : Kenji Mizoguchi ♥♥♥♥

ปกติแล้วมนุษย์ชอบเล่นกับไฟ (ตัณหาราคะ ความต้องการเอาชนะครอบครอง) แต่หนังเรื่องนี้นางเอกเล่นกับน้ำ จิตใจสงบร่มเย็น ทำหลายสิ่งอย่างเสียสละให้ผู้อื่น แม้แต่ความตายของตนเองเพื่อคนรัก ก็ไม่มีสุขอื่นใดเอ่อล้นมากกว่านี้อีกแล้ว, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมน่าจะไม่เคยเสียน้ำตาให้หนังเงียบมาก่อนจนกระทั่งรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ประทับใจเอ่อล้นในความเสียสละของหญิงสาวที่สุดท้ายก็มิได้อะไรตอบแทนนอกจากความสุขสมหวังทางใจ คงเป็นความรู้สึกเฉกเช่นเดียวกับที่ผู้กำกับ Kenji Mizoguchi มีต่อพี่สาวแท้ๆ ที่ถูกพ่อขายให้กลายเป็นเกอิชา และได้ช่วยเหลือส่งเสียเลี้ยงดูแลจนตัวเขาเติบใหญ่เอาตัวรอดเองได้ในโลกกว้าง

The Water Magician คือหนึ่งในหนังเงียบไม่กี่เรื่องของ Mizoguchi หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ได้รับการยกย่องเป็นผลงานยอดเยี่ยมสุดของผู้กำกับในยุคแรกๆนั้น ปัจจุบันได้รับบูรณะเมื่อปี 2004 และให้เสียงโดย Benshi (นักพากย์หนังเงียบ) มีด้วยสองฉบับคือ
– Shunsui Matsuda (1925 -1987) ผู้เป็น The Last Benshi ของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น (เกิดทันเป็นนักพากย์ Banshi ยุคสมัยนั้นตั้งแต่เด็ก)
– Midori Sawato ลูกศิษย์เอกของ Matsuda ที่สมัยเด็กประทับใจการพากย์สด The Water Magician ของอาจารย์ เลยขอเป็นลูกศิษย์และสานอาชีพนี้ไม่ให้สูญหายไปจากญี่ปุ่น

สองฉบับนี้ต้องชมว่ายอดเยี่ยมไม่ด้อยกว่ากันเลย แต่ถ้าให้แนะนำขอเลือก Matsuda เพราะนี่คือหนังเรื่องโปรดของเขา ทุ่มเทตั้งใจสุดความสามารถขณะบันทึกเสียง ได้รับการยกย่องว่าคือผลงานพากย์ดีที่สุดในชีวิตเลยละ

Kenji Mizoguchi (1898-1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hongo, Tokyo มีพี่น้องสามคน ครอบครัวฐานะยากจน ทำให้พ่อต้องขายพี่สาวคนโต Suzuko ให้กลายเป็นเกอิชา นี่ทำให้ Mizoguchi ปฏิเสธต่อต้าน ก้าวร้าวขัดแย้งต่อการกระทำของพ่อตลอดชีวิต, เมื่อแม่เสียชีวิต  Suzu ให้การช่วยเหลือส่งเสียรับเลี้ยงดู เริ่มจากสอนตัดเย็บออกแบบ Kimonos, Yukata ส่งเสียเรียนวาดรูป ช่วยหางานจนได้ออกแบบสร้างฉากที่ Royal Theatre, Akasaka สู่วงการภาพยนตร์เป็นนักแสดงที่ Nikkatsu ตามด้วยผู้ช่วย และกำกับหนังเรื่องแรก Ai-ni yomigaeru hi (1923) [The Resurrection of Love] ฟีล์มสูญหายไปแล้ว

นับตั้งแต่เข้าวงการภาพยนตร์ ความสนใจของ Mizoguchi ล้วนคือความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพี่สาว สะท้อนผ่านหญิงสาวกับชายหนุ่มคนรัก แม้ต้องเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากลำบากกับการงาน แต่เต็มไปด้วยความรักเสียสละทุ่มเทกายใจมอบให้

สำหรับ The Water Magician หลายคนอาจมองไดเรคชั่นของหนังเรื่องยังห่างชั้นกับ The Life of Oharu (1952) ก็จริงอยู่ที่ ‘สไตล์ Mizoguchi’ ยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดสูงสุด แต่ก็เห็นเค้าโครงในการเล่าเรื่องและลีลาชั้นเชิงนำเสนอ ซึ่งส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้น่าจะอยู่ตำแหน่งใกล้หัวใจ Mizoguchi มากๆเลยละ

ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Giketsu kyoketsu (1894) เขียนโดย Kyōka Izumi ชื่อจริง Izumi Kyōtarō (1873 – 1939) ลงหนังสือพิมพ์ Yomiuri (1 ใน 5 หนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งปี 1874 ปัจจุบันยังตีพิมพ์อยู่ และมียอดขายรายวันเยอะสุดในโลกด้วย) เคยได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวที ตั้งชื่อว่า Taki no Shiraito (แปลตรงตัวว่า White Thread of the Waterfall)

สำหรับฉบับภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้เคยได้รับการสร้างมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1915 และถัดจากนี้ก็มีอีกหลายครั้ง หนังพูดครั้งแรกปี 1937 ตามด้วยปี 1946, 1952 และ 1956

เรื่องราวมีพื้นหลังยุคสมัย Meiji Era (1868 – 1912), เรื่องราวของ Taki no Shiraito (รับบทโดย Takako Irie) นักมายากลสาวที่สามารถเล่นกับน้ำตกให้ไหลในทิศทางต่างกันออกไปได้ เรียกเสียงปรับมือจากผู้ชมได้มากหลาย แต่รอยยิ้มของเธอเกิดจากความประทับใจในชายหนุ่ม Kinya Murakoshi (รับบทโดย Tokihiko Okada) ทั้งๆเป็นแค่คนขับรถแต่พกหนังสือวิชากฎหมาย ทำตัวไม่สมฐานะตนเองแม้แต่น้อย

วันหนึ่งหลังจากการแสดงเสร็จสิ้น Taki ออกเดินเรื่อยเปื่อยไปจนพบเจอ Kinya นอนหลับอยู่บนสะพาน แสงจันทราอาบส่องใบหน้าทำให้หญิงสาวตกหลุมรักโดยพลัน หลังจากพูดคุยรับรู้จักตัวตนของ Taki เธอก็ตัดสินใจอาสาช่วยเหลือสนับสนุนให้เขาเดินทางสู่ Tokyo เข้าเรียนกฎหมายอย่างไม่ต้องห่วงอะไร เพื่อจบออกมาจะได้มีหน้าตาทางสังคม สักวันหนึ่งทั้งสองจะได้ครองคู่อยู่ร่วมกัน

นำแสดงโดย Takako Irie (1911 – 1995) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo หลังเรียนจบจาก Bunka Gakuin เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของ Nikkatsu ขาประจำร่วมงานกับ Mizoguchi ในยุคหนังเงียบหลายเรื่อง อาทิ Tokyo March (1929), The Water Magician (1933), ทั้งยัง Akira Kurosawa เรื่อง The Most Beautiful (1944), Sanjuro (1962) [ตัวละครที่พูดบอกกับ Sanjuro ว่า ‘The best sword stays in it’s scabbard.’], ช่วงทศวรรษ 50s รับบทในภาพยนตร์ซีรีย์ Kaidan (เกี่ยวกับผี) เลยได้รับฉายา ‘Ghost Cat Actress’

รับบท Taki no Shiraito ก็ไม่รู้ชีวิตจับพลัดจับพลูอะไรถึงกลายมาเป็นนักแสดง The Water Magician แต่เมื่อได้พบเจอกับ Kinya ตกหลุมรักแรกพบในความแตกต่าง พร้อมเสียสละทุ่มเทกายใจให้ เหนียมอายเมื่อต้องพูดบอกความต้องการ หนักแน่นมั่นคงในความรู้สึก บางครั้งดูปากจัดพูดแรงกับใครอื่นไปบ้าง แต่ก็ยิ้มแย้มเริงร่าทุกครั้งเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น

แม้ใบหน้าของ Irie จะไม่ค่อยคมชัดนักในภาพยนตร์ แต่รอยยิ้มความสุขของเธอมันเอ่อล้นออกมามากเสียเหลือเกิน เวลาเหนียมอายชอบมักจะสะดีดสะดิ้งหลบมุมกล้อง หายเข้าไปในเฟอร์นิเจอร์ประกอบฉาก ตอนทุกข์โศกทรมาน ก้มหน้าก้มตาปรือบูดบึ้ง และขณะร่ำร้องไห้ทำเอาผู้ชมรู้สึกอึดอัดอั้นรวดร้าวใจร่วมไปกับตัวละครด้วย

Tokihiko Okada (1903 – 1934) นักแสดงยุคหนังเงียบสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เข้าวงการเซ็นสัญญากับสตูดิโอ Taikatsu ร่วมงานเป็นขาประจำของ Yasujirō Ozu และ Kenji Mizoguchi อาทิ Tokyo Chorus (1931), The Water Magician (1933) ฯ เสียดายอายุสั้นไปหน่อย เสียชีวิตด้วยวัณโรคตอนอายุเพียง 30 ปี

รับบท Kinya Murakoshi แม้จะมีอายุมากกว่า Taki แต่เรียกเธอเป็นพี่สาว ยินยอมรับความเสียสละที่มอบให้ ทุ่มเทตั้งใจร่ำเรียนวิชากฎหมายจนสำเร็จการศึกษา กลายเป็นผู้พิพากษามีหน้ามีตาในสังคม โชคชะตากลับเล่นตลกเมื่อต้องกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินคดีของหญิงคนรัก

Okada ไม่ได้ใช้การแสดงอะไรมากนักนอกจากหน้าตาอันหล่อเหลา หนุ่มในฝันของสาวๆ แค่ว่าภายในเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้นทุกข์ทรมานยากเข็น ชีวิตพบเจอแต่เรื่องร้ายๆโชคชะตาพลิกผัน วาดฝันด้วยอุดมการณ์ของลูกผู้ชาย สักวันต้องประสบความสำเร็จมีหน้ามีตาได้รับการยกย่องจากผู้คนในสังคม

ถ่ายภาพโดย Minoru Miki ขาประจำในยุคแรกๆของ Mizoguchi อาทิ Osaka Elegy (1936), Sisters of the Gion (1936), The Story of the Last Chrysanthemum (1939) ฯ

ลายเซ็นต์ของ Mizoguchi อาทิ Scrolling Shot (Tracking แบบเคลื่อนไปด้านข้าง) ก็ปรากฎเห็นตั้งแต่ฉากแรกๆของหนัง แนะนำคณะการแสดง ซึ่งจะมีช็อตหนึ่งกล้องพุ่งตรงเข้าไป แหวกฝ่าฝูงชน เปิดผ้าม่านเห็นเวทีการแสดง แล้วยังเคลื่อนข้ามหัวผู้ชมเข้าไปอีกหน่อย ดูตื่นตาตื่นใจมากทีเดียว

งานภาพรับอิทธิพลจาก German Expressionism มาเต็มๆ ทั้งการออกแบบฉาก จัดแสงเงา ฯ โดดเด่นมากกับการพบเจอกันของ Taki กับ Kinya บนสะพาน Utatsubashi (ข้ามแม่น้ำ Asano) ใต้แสงเสี้ยวจันทรา (ชวนให้นึกถึงหนังเรื่อง Sunrise ขึ้นมา)

หลังจาก Kinya เล่าความฝันของตนเองให้ Taki ช็อตนี้สังเกตว่าเธอยืนอยู่ตำแหน่งด้านหลังของเขา ใบหน้าหลบตรงหลังไม้รูปสามเหลี่ยม แต่วินาทีที่หญิงสาวตัดสินใจส่งเสริมสนับสนุนชายหนุ่ม จากเคยเป็นแค่ช้างเท้าหลังเปลี่ยนตำแหน่งมายืนด้านข้างหน้า

“You’ve got to go to Tokyo!”

ฉากน่ารักน่าชังที่สุดของหนัง, ถ้าเป็นสมัยนี้คงใช้การถ่าย Close-Up ใบหน้านักแสดงระยะใกล้ ให้เห็นไปเลยว่าแก้มแดงชมพูระเรื่อทำตายิ้มหวาน แต่สมัยก่อนโดยเฉพาะหนังเงียบ การแสดงออกภาษากายบิดตัวไปมา เป็น Expression มีงดงามกว่าเป็นไหนๆ

นี่เป็นช็อตที่ผมยิ้มแก้มปริ ชื่นชอบสุดในหนังด้วย, หลังจาก Kinya ถาม Taki ว่าต้องการอะไรตอบแทนบุญคุณนี้ เธอเคลื่อนตัวไปหลบด้านข้างประตู แล้วชะโงกหน้าออกมาพูดว่า ‘ขอให้ได้รับรักตอบแทน’ พูดจบก็หดหัวกลับเข้าไปไหม เห็นแล้วเขินอายแทนพวกเขาเลยละ

ภูเขา ลำธาร ท้องทุ่งหญ้า หลายครั้งที่หนังแทรกใส่ภาพธรรมชาติเหล่านี้เข้ามา เพื่อสร้างสัมผัสให้รับรู้ถึงเวลาเคลื่อนผ่าน และเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับการมีชีวิตของมนุษย์

สถานที่ Taki ถูกขโมยเงิน อยู่บริเวณตรงทางข้ามแม่น้ำเล็กๆ นี่สะท้อนกับตอนเธอพบกับ Kinya ที่บนสะพานสูง, นัยยะของสะพานข้ามแม่น้ำ คือสิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ (ระหว่างสองคน/สองริมฝั่ง) และในทางกลับกันคือสิ่งแบ่งแยกกั้นขวาง ให้สองคน/ริมฝั่ง แยกตัดขาดจากกัน

ไคล์แม็กซ์ของหนังในชั้นศาล จัดเต็มเรื่องทิศทาง มุมกล้องก้ม-เงย สายตาคู่สนทนา ซึ่งมีลักษณะสะท้อนสถานะทางสังคม (ผู้พิพากษาอยู่สูงมองลงมา, จำเลย/พยานอยู่ต่ำมองขึ้นไป) และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมา (ฉันไม่ได้ทำ ถ่ายจากด้านหลัง, รู้สึกผิดก้มหน้าถ่ายมุมเงย, ยินยอมรับผิด เงยหน้า ภาพระดับสายตา/มุมก้ม)

มีหลายครั้งทีเดียวที่ Taki เหลียวสายตาหันมอง Kinya นั่งอยู่ซ้ายสุดบนแท่นผู้พิพากษา มุมกล้องก็มักเลือกทิศทางให้เห็นพวกเขาเพียงสองคนสื่อสารกันทางความรู้สึก

มีเหตุผลมากมายที่ใครบางคนยินยอมเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น อาทิ ความคาดหวัง หน้าที่ หรือคาดหวังผลประโยชน์บางอย่างคืนสนอง อย่างน้อยที่สุดของการให้คือความรู้สึกพึงพอใจส่วนตน ถึงปากกล้ำกลืนพูดปฏิเสธเสียงขันแข็ง แต่ถ้าส่งมอบสิ่งที่ผู้รับต้องการ ก็ถือว่าเป็นความเต็มใจลักษณะหนึ่งเช่นกัน

สำหรับชาย-หญิง หนุ่ม-สาว การจะมีใครสักคนยินยอมทุ่มเทเสียสละเพื่ออีกฝ่าย มักมีได้เพียงเหตุผลเดียวเท่านั้นคือ ‘ความรัก’ พลังนุภาพอันสุดยิ่งใหญ่ คาดหวังคือขอให้ได้รับความรู้สึกนั้นตอบแทนคืนสนอง ไม่ว่าทางกายหรือใจย่อมสุขสมล้นเอ่อ จัดเป็นสิ่งงดงามที่สุดของการมีชีวิตเกิดมา

สิ่งหนึ่งที่เป็นความใคร่ฉงนของผมมากๆ ทำไม Kinya ถึงยินยอมรับการช่วยเหลือของ Taki ทั้งๆที่ยุคสมัยนั้นลูกผู้ชาย/ซามูไร ถือว่าเต็มไปด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี เย่อหยิ่งทะนงตนเสียนี่กระไร? อันนี้คงต้องมองที่ความตั้งใจของผู้เขียนนิยาย และผู้กำกับ มากกว่าความเต็มใจของตัวละครนะครับ เพราะมันคือเงื่อนไขทิศทางของเรื่องราว ชายหนุ่มยินยอมรับการช่วยเหลือของหญิงสาว คือถ้าเขาบอกปัดปฏิเสธ เหตุการณ์ต่างๆย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นตามมา

ในมุมของผู้กำกับ Mizoguchi เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเขาต้องการเปรียบเทียบตัวเองดั่ง Kinya และพี่สาวแท้ๆคือ Taki ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรอื่นนอกจากความรัก สายสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง เสียสละตนเองเพื่อผู้อื่นคือการกระทำยิ่งใหญ่ทรงคุณค่ามากที่สุด

ขณะที่ผู้เขียนนิยาย Izumi Kyōka คงเป็นวิสัยทัศน์ของเขาต่อโลกอนาคตยุคสมัยใหม่ ไม่จำเป็นว่าผู้ชายต้องคือช้างเท้าหน้าเดินนำครอบครัวอีกต่อไป ผู้หญิงย่อมสามารถมีบทบาทในการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน แม้เรื่องราวจะดูเหมือนก็ยังคงเป็นช้างเท้าหลัง แต่นั่นคือการยอมรับ ลดทิฐิมานะ เสมอภาคเท่าเทียมในครอบครัว

สาเหตุที่ฟีล์มหนังเรื่องนี้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา เพราะ Shunsui Matsuda หลังจากหมดยุคสมัยหนังเงียบของญี่ปุ่น และสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนรักกำลังค่อยลบเลือนลางหายไป ก่อตั้งบริษัท Matsuda Film Productions ดำรงตำแหน่งประธาน Friends of Silent Films Association เพื่อรวบรวมเก็บรักษาฟีล์มหนังเก่า และธำรงไว้ซึ่งอาชีพ Benshi ให้คนรุ่นหลังๆได้มีโอกาสรู้จัก

สิ่งที่โดยส่วนตัวเคลิบเคลิ้มหลงใหลหนังเรื่องนี้มากๆ คือรอยยิ้มของหญิงสาวที่ทุกครั้งเมื่อได้ช่วยเหลือใครสักคน มันจะมีความภาคภูมิใจ สุขล้นเกินพรรณา และเมื่อโชคชะตาพลิกผันเล่นตลก ก็พร้อมเสียสละเพื่อความถูกต้องยุติธรรม เลือกตัดสินโทษด้วยตนเอง ดีกว่าจะฝืนมีชีวิตให้คนรักต้องรู้สึกอับอายผิดหวัง

กระนั้นผมไม่ค่อยประทับใจในการ Double Suicide เสียเท่าไหร่ จริงอยู่มันเป็นโศกนาฎกรรมตอนจบที่สมเหตุสมผล ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ แต่ก็เท่ากับว่าทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น การทุ่มเทเสียสละ สิ้นสุดลงอย่างไร้คุณค่าความหมายโดยสิ้นเชิง

กระนั้นอีกแหละ หนังยังควรค่าแก่การ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความทุ่มเทเสียสละของหญิงสาว เป็นอะไรที่งดงามทรงคุณค่าจริงๆ ในชีวิตจริงสมัยนี้นอกจากคนในครอบครัวเครือญาติ ก็คงหาใครอื่นคนแปลกหน้าได้ยากยิ่งจริงๆ แต่ถ้าพบเจอตัวเป็นๆ พยายามหากาวตราช้างมาติดให้แน่นหนึบเลยนะ คงต้องสติปัญญาต่ำจริงๆถึงยอมปล่อยให้คนแบบนี้หลุดลอยไปจากตนเองได้

แนะนำกับคอหนังเงียบ รักโรแมนติก Melodrama, แฟนๆผู้กำกับ Kenji Mizoguchi ห้ามพลาดเลย

จัดเรต pg กับความชอกช้ำระกำรัก และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

TAGLINE | “The Water Magician คือมายากลของผู้กำกับ Kenji Mizoguchi งดงามทรงคุณค่า มหัศจรรย์ที่สุด”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: