Way of the Dragon

The Way of the Dragon (1972) Hong Kong : Bruce Lee ♥♥♥♡

ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง บุกกรุงโรม ครานี้บรูซ ลี ต้องต่อสู้กับผู้ท้าชิง Chuck Norris ขณะนั้นเป็นนักคาราเต้สายดำแชมป์โลกของอเมริกา ณ โคลอสเซียม สถานที่ซึ่งเหล่า Gladiator นักสู้ของชาวโรมัน ปะทะฝีมือเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

คงไม่มีสังเวียนการต่อสู้ Martial Arts แห่งไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่า โคลอสเซี่ยม (Colosseum) แห่งกรุงโรม แม้ปัจจุบันจะหลงเหลือเพียงแค่ซากปรักหักพัง แต่สถานที่แห่งนี้ยังคงกึงก้อง สิงสถิตย์ไปด้วยจิตวิญญาณของเหล่านักสู้ชาวโรมัน

เกร็ด: นี่คือหนังเรื่องสุดท้ายที่ได้ถ่ายทำในโคลอสเซี่ยม เพราะมีสภาพทรุดโทรมลงมาก ซึ่งการถ่ายทำต้องแอบๆหลบๆซ่อนๆ เลยได้เห็นคร่าวๆแค่นั้น

ต้องถือว่าการต่อสู้ระหว่างบรูซ ลี กับ Chuck Norris ในโคลอสเซี่ยมแห่งนี้ คือฉากการต่อสู้ที่สวยงาม ทรงพลัง ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาหนังของลีทั้งหมด แม้ต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมงกว่า Last Boss จะมาถึง แต่เป็นอะไรที่คุ้มค่าสมการรอคอย และอาจเป็นครั้งเดียว(จากหนังทุกเรื่อง)ที่ลีต้องเอาจริงจัง ล้มลุกคลุกคลานเสียเปรียบ กว่าจะสามารถเอาชนะคู่ปรับในตำนานผู้นี้ลงได้

เกร็ด: Norris เคยให้สัมภาษณ์หลังจากร่วมงาน บอกว่าถ้าท้าดวลต่อยตีกับบรูซ ลี ตัวเขาสู้ไม่ได้แน่นอน

Carlos Ray Norris (เกิดปี 1940) นักสู้/ครูมวย ต่อมาได้กลายเป็นนักแสดงผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา, เกิดที่ Ryan, Oklahoma มีวัยเด็กที่ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่ใช่นักกีฬา ขี้อาย และเรียนก็ไม่ค่อยเก่ง แต่พอได้สมัครเป็นทหารอากาศ United States Air Force ในตำแหน่ง Air Policeman (AP) ประจำการอยู่ที่เกาหลีใต้ มีโอกาสเข้าเรียน Tang Soo Do (ศิลปะการป้องกันตัวชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เทควันโดนะครับ) จนได้ชื่อเล่น Chuck ทำให้มีความสนใจในศิลปะการต่อสู้ ร่ำเรียนจนได้สายดำ ศึกษาต่อยอดเทควันโด คาราเต้ ยูโด ต่อมาได้พัฒนารูปแบบการต่อสู้ของตนเอง ตั้งชื่อใหม่ว่า Chun Kuk Do (แปลว่า Universal Way)

หลังปลดประจำการเมื่อปี 1962 ทำงานพร้อมกับเปิดโรงเรียนสอนคาราเต้/เทควันโด จนมีชื่อเสียงโด่งดัง รับลูกศิษย์มี อาทิ Steve McQueen, Chad McQueen, Bob Barker, Priscilla Presley, Donny Osmond, Marie Osmond ฯ
– เป็นเจ้าของแชมป์คาราเต้ All American Championship 7 สมัย
– ครองตำแหน่งแชมป์ Professional Middleweight Karate ตั้งแต่ปี 1968 ถึง 1974 (6 ปีต่อเนื่อง)
– ปี 1969 คว้าแชมป์ Karate Triple Crown ทำให้ได้รับรางวัล Fighter of the Year จากนิตยสาร Black Belt
– ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี 1990 ถือเป็นชาวตะวันตกคนแรกในประวัติศาสตร์เทควันโด ที่ได้รับสายดำระดับ 8 (Grandmaster)
– ปี 1999 เข้าสู่ Hall of Fame ของ Martial Arts History Museum
– ปี 2000 ได้รับรางวัล Golden Lifetime Achievement Award ของ World Karate Union Hall of Fame

ถือว่า Chuck Norris คือหนึ่งในนักสู้/ครูมวย Martial Arts ชาวอเมริกา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก และเป็นยอดฝีมือ

ชาวอเมริกาส่วนใหญ่มักจะรู้จัก Norris ในฐานะนักแสดง ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก เป็นตัวประกอบเล็กๆในหนังเรื่อง The Wrecking Crew (1968) และปี 1972 ที่งานจัดแสดง Martial Arts ที่ Long Beach, Norris ได้พบกับบรูซ ลี ที่ชักชวนให้มาต่อสู้ท้าประลองในภาพยนตร์เรื่องถัดไป The Way of the Dragon อันทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วเอเชียและระดับโลก

Norris ไม่ใช่นักแสดงที่เก่งอะไร (ก็เหมือนบรูซ ลี) แต่ทักษะการต่อสู้ ป้องกันตัวนั้นเป็นเลิศ ช่วง 2-3 ทศวรรษถัดมาเซ็นสัญญากับ MGM เล่นหนังก็สไตล์เดิมๆซ้ำๆ เกรด B โชว์ศิลปะการป้องกันตัว คงมีแต่แฟนพันธุ์แท้ที่ชื่นชอบเท่านั้นถึงติดตาม, จนกระทั่งปี 1993 ได้แสดงนำในละครโทรทัศน์เรื่อง Walker, Texas Ranger นี่ทำให้เขากลายเป็นตำนาน ออกฉายต่อเนื่องถึง 8 ซีซัน (ผมไม่เคยดูนะครับ เพิ่งเคยรู้จักก็ตอนนี้แหละ) ได้ยินว่าเป็นแนว Moralistic ที่สอนศีลธรรม จริยธรรมให้กับผู้ชม

ด้วยความที่ตัวตนของ Norris ตรงกับภาพลักษณ์ของเขาใน Walker, Texas Ranger ทำให้กลายเป็นที่รักและที่ชังของผู้ชม ด้วยความที่คุณธรรมสูงส่ง ทำอะไรไม่เคยผิด ปี 2005 ช่วงที่อินเตอร์เน็ตกำลังเติบโตเบิกบาน มีสิ่งที่เรียกว่า Meme (ภาษาไทยอ่านว่า มีม) โดยบุคคลแรกๆที่ถูกทำเป็น Internet Meme ก็คือชายผู้นี้ มีคำเรียกว่า ‘Chuck Norris Facts’

เกร็ด: อินเทอร์เน็ตมีม (Internet Meme) คือแนวกระแสที่เผยแพร่หลายไปทั่วอินเทอร์เน็ต จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง มีลักษณะเป็นประโยค คำพูด วลี ใช้การตัดต่อภาพ คลิป วีดิโอล้อเลียน ข่าวลือ เสียดสีบุคคลนั้นๆ

เกร็ด2: ว่ากันว่าสาเหตุที่ทำให้ Chuck Norris กลายเป็นกระแสโด่งดังขึ้นมา เพราะการเล่นล้อเลียนของ Conan O’Brien ผู้จัดรายการ Late Night with Conan O’Brien ใครอยากรู้เป็นยังไงค้นใน Youtube คำว่า ‘Conan Chuck Norris’ รับรองได้ฮากลิ้งหลายตลบ ผมดูไปหลายตอนแล้วติดงอมแงมเลยละ

อาจมีหลายคนทันรู้จัก Chuck Norris Facts อยู่บ้าง ผมขอ Quote ประโยคดังๆที่อ่านแล้วชวนคำให้เป็นที่รู้จักสักเล็กน้อย
– Chuck Norris was bitten by a cobra and after five days of excruciating pain… the cobra died.
– Chuck Norris doesn’t dial the wrong number. You answered the wrong phone.
– Chuck Norris can kill two stones with one bird. (ประโยคนี้อ่านดีๆนะครับ)
– Chuck Norris doesn’t cheat death. He wins fair and square.

เผื่อคนสนใจ: http://chucknorrisjokes.linkpress.info/top-100

เกร็ด: เมืองไทยก็ปรากฎมีมอยู่เยอะเหมือนกันนะครับ โด่งดังที่สุดจนถึงปัจจุบันผมคิดว่า … รมต.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

ตอนที่เมื่อบรูซ ลีได้ Chuck Norris ตบปากรับคำร่วมนำแสดง (ที่เลือก Norris เพราะเป็นไม่กี่คนที่มีความว่องไวตามทันเขาได้) ผู้กำกับหลอเว่ยได้เตรียมแผนที่จะสร้าง Huang mian lao hu (1974) แต่ลีที่ไม่พึงพอใจในตัวผู้กำกับแล้วตัดสินใจบอกปัด คิดที่จะสร้างภาพยนตร์เป็นผู้กำกับควบคุมงานสร้างทุกอย่างด้วยตนเอง ร่วมกับ Raymond Chow ก่อตั้งบริษัทชื่อ Concord Production Inc. ขึ้นตรงกับสตูดิโอ Golden Harvest

แต่ความที่ไม่เคยกำกับภาพยนตร์มาก่อน ลีได้ทำการซื้อหนังสือตำราจากชาติตะวันตก ศึกษาเรียนรู้วิธีการสร้างภาพยนตร์ด้วยตนเอง เลือกกรุงโรม ประเทศอิตาลีเป็นเป้าหมายปลายทาง พาทีมงานไปด้วยกันน้อยที่สุดด้วยวีซ่าท่องเที่ยว (สมัยนั้นการขอวีซ่าทำงานยุ่งยากมาก เลยขอแค่วีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งมีเวลาอยู่ในอิตาลีได้เพียง 3 สัปดาห์) ถือเป็นภาพยนตร์สัญชาติจีน/ฮ่องกง เรื่องแรกที่ถ่ายทำยังต่างแดนตะวันตก

ในตอนแรกตั้งชื่อหนังว่า Enter the Dragon แต่เพราะลีได้ข่าวแว่วๆจาก Warner Bros. ด้วยความสำเร็จของ The Big Boss (1971) กับ Fist of Fury (1972) ทำให้พวกเขาสนใจลงทุนหนังเรื่องต่อไป ลีจึงตัดสินใจเก็บคำว่า Enter ไว้ก่อน เพื่อใช้สำหรับเรื่องแรกที่กรุยทางสู่ Hollywood, สำหรับชื่อหนัง The Way of the Dragon ฉบับที่ฉายอเมริกาจะเปลี่ยนเป็น Return of the Dragon เพราะเข้าฉายหลัง Enter the Dragon (1973) แถมอ้างว่าเป็นภาคต่อ … (ก็พอมองเช่นนั้นได้อยู่)

เรื่องราวโดยย่อของหนัง ถังหลง (รับบทโดยบรูซ ลี) เดินทางไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อช่วยเหลือเพื่อนสาว อาซิง (รับบทโดย เหมียวเข่อซิ่ว) ที่ถูกคุกคามโดยแก๊งค์นักเลงเจ้าถิ่น ที่หวังฮุบกิจการภัตตาคารอาหารจีนของเธอ แต่เมื่อเหล่าอันธพาลได้พบกับก้างขวางคอชิ้นโต พวกเขาเลยต้องว่าจ้างแชมป์โลกคาราเต้ Colt (รับบทโดย Chuck Norris) จากประเทศอเมริกาเพื่อจัดการ

บรูซ ลีคงรู้ตัวเองดี ว่าไม่ใช่นักแสดงที่มีฝีมือเก่งกาจอะไรนอกจากการต่อสู้ ในการรับบทถังหลง เลยเลือกที่จะไม่ค่อยพูดมากเท่าไหร่ เน้นการกระทำผ่านกิริยาท่าทาง สีหน้า สายตา แสดงออกแทนคำพูดความรู้สึก, อย่างฉากแรกของหนัง เดินทางมาถึงสนามบิน ดินแดนต่างชาติที่พูดคุยภาษากับใครไม่รู้เรื่อง (จริงๆลีพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก เพราะอาศัยอยู่อเมริกาหลายปี) เขาเลยเลือกที่จะใช้สายตาสังเกต จ้องมอง มือชี้โน่นนี่ ทำหน้าตาเหรอหรา ราวกับบ้านนอกเข้ากรุง … เอะ นี่คือประสบการณ์ตรงของลีตอนไปอยู่อเมริกาใหม่ๆหรือเปล่าเนี่ย

สังเกตว่าตัวละครของบรูซ ลีกับ Chuck Norris ก็ไม่มีบทพูดสนทนาเลยสักประโยคนะครับ จ้องหน้ามองตา ใช้ภาษากาย ต่อสู้ แต่กลับเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี

เท่าที่ผมสังเกตคือ ลีสามารถแสดง Expression อารมณ์ของตัวเองผ่านศิลปะการต่อสู้ได้อย่างเด่นชัดเจน แต่ขณะการพูดคุยสนทนารูปแบบปกติ มีการปั้นแต่งคำพูดของตัวเองมากเกินไป (กล่าวคือ เป็นคนคิดก่อนพูดทุกครั้ง) นั่นถือเป็นตัวตนของบรูซ ลี ทำให้ไม่ว่าจะรับบทเป็นตัวละครใด เขาไม่สามารถสลัดภาพของตัวเองออกไปได้ (คือไม่สามารถโกหกตัวเอง สวมบทบาทกลายเป็นคนอื่นได้) นี่ไม่ใช่ลักษณะของนักแสดงที่ดี แต่มันก็หาใช่สาระสำคัญในหนังของบรูซ ลีไม่

งานถ่ายภาพ ลีเลือกใช้บริการของ Tadashi Nishimoto ตากล้องสัญชาติญี่ปุ่น เพราะเชื่อว่ามีฝีมือประสบการณ์สูงกว่าตากล้องสัญชาติจีนทั่วไป, Nishimoto เข้ามาทำงานอยู่ใน Hong Kong สักพักใหญ่แล้ว มีผลงานระดับตำนานอย่าง The Love Eterne (1963), Empress Wu (1963), Come Drink with Me (1966) ฯ และยังเป็นตากล้อง Game of Death (1978) ผลงานเรื่องสุดท้ายของลีที่ยังถ่ายทำไม่เสร็จอีกด้วย

มันอาจเป็นความไม่ได้ตั้งใจ แต่การถ่ายโคลอสเซี่ยมแบบลับๆล่อๆ ในมุมที่สลับเปลี่ยนไปมาจนเห็นเหมือนเขาวงกต ผลลัพท์ทำให้ผมขนลุกซู่ซ่า, สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ชมก็ไม่รู้เท่าไหร่ส่งเสียงเชียร์กึกก้องกังวาน นักสู้ Gladiator มากมายหลายร้อยพันหมื่นสิ้นชีพชีวีลง วิญญาณของพวกเขาเหล่านี้ยังคงว่ายวนเวียนไม่จากไปไหน แม้ปัจจุบันจะกลายเป็นแค่ซากปรักหักพัก แต่การถ่ายทำให้เห็นความว่างเปล่า ได้สร้างบรรยากาศมนต์ขลัง ราวกับพวกเขา(ที่เป็นวิญญาณ) ยังคงยืนมองดู เป็นผู้ชมที่เรามองไม่เห็นด้วยตา

สำหรับสถานที่ที่สู้กัน นั่นไม่ใช่ในคอลโลเซี่ยมแน่ๆ เป็นการจัดฉากขึ้นมา (พื้นหลังพอดูรู้ว่าเป็นภาพวาด) เห็นว่าใช้เวลาถ่ายทำถึง 45 ชั่วโมง (3 วันติด)

ตัดต่อโดย Peter Cheung คนที่ลีประทับใจการตัดต่อมาตั้งแต่ Fist of Fury (1972), ในวิสัยทัศน์ของลี ที่แตกต่างจากหลอเว่ยคือ เป้าหมายของการสร้างภาพยนตร์
– หนังของหลอเว่ย เน้นขายศิลปะภาพยนตร์ ใช้ภาษาภาพยนตร์สื่อสารเรื่องราวออกมา
– หนังของบรูซ ลี เน้นขายศิลปะการป้องกันตัว ใช้ภาษาทางการต่อสู้สื่อสารเรื่องราวออกมา

มันจึงไม่แปลกนะครับที่ผมจะมองว่า Fist of Fury เป็นหนังที่มีการใช้ภาษาของภาพยนตร์ออกมาได้ดีกว่า แต่หนังเรื่องนี้ก็มีดีตรงบรูซ ลีเนี่ยแหละ ที่ทำให้ผมเข้าใจจุดประสงค์ของการเลือกสื่อภาพยนตร์ในการเผยแพร่แนวคิด เป้าหมาย อุดมการณ์ของตัวเอง

แต่ลี ก็จำต้องเอาหลายๆเทคนิคภาพยนตร์ของหลอเว่ยมาปรับใช้ อาทิ ระหว่างต่อสู้กับ Chuck Norris ใช้การตัดสลับ Montage ของทั้งสองที่ผลัดกันต่อยเตะออกอาวุธ แต่ก็ได้มีเพิ่มเข้ามา ภาพเจ้าแมวหน้าตาบ้องแบ้ว นี่เป็นการช่วยสร้างสีสันได้มาก และถือเป็นการแทนด้วยสายตาของผู้ชม มุมมองบุคคลที่ 3

สำหรับปัญหาใหญ่ของหนัง ต้องถือว่าเป็นความด้อยประสบการณ์เองของบรูซ ลี, ในการดำเนินไปของเรื่องราว เพราะการปะทะซ้ำซากกับกลุ่มนักเลงชุดเดิมถึง 3 รอบจนจำหน้าตัวประกอบได้ (คือพวกลูกกระจ๊อกเนี่ย สู้กันรอบเดียวพอรู้ว่าเอาชนะไม่ได้ คงไม่มีใครฝืนตัวเองรอบสองสามบ่อยครั้งขนาดนั้นหรอก) แทนที่จะให้เรื่องหนังค่อยๆเพิ่มความตื่นเต้นกลับย่ำอยู่กับที่พักใหญ่ แล้วกลับเอายอดฝีมือทั้งหลายที่เชิญๆมา ไปกระจุกรวมอยู่ช่วงท้าย ถ้าใช้การกระจายๆค่อยๆเพิ่มความเก่งกาจขึ้น หนังจะดูสนุกตื่นเต้นขึ้นมากทีเดียว

เพลงประกอบโดย Joseph Koo ถือว่ามีความโดดเด่นใช้ได้ มีการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีตะวันตกกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีน มีลักษณะเป็น Impression ที่เน้น Expression เสริมเพิ่มความทรงพลังให้กับหนังมากขึ้น

เกร็ด: เห็นว่าลีเข้าไปมีส่วนร่วมในบทเพลง เป็นหนึ่งในนักดนตรี Percussion เองด้วย,

บทเพลง The Dragon Arrived in Rome ทำนองลักษณะนี้ผมเคยได้ยินบ่อยพอสมควร ในหนัง Hollywood มักใช้เป็นตัวแทนของชนชาติเอเชีย ไม่จำกัดแค่ประเทศจีนนะครับ ญี่ปุ่น, เกาหลี หรือแม้แต่ไทย (ในหนังเรื่อง The King and I) ก็ใช้เสียงเครื่องดนตรี Bells (เบลไลรา) คล้ายๆแบบนี้แหละ

สำหรับฉากต่อสู้ ไม่มุ่งเน้นเพลงประกอบ แต่ใช้ Sound Effect เป็นหลัก แทบจะทุกการครั้งที่มีการได้เปรียบเสียเปรียบหรือทำคู่ต่อสู้ล้ม จะมีเสียงเขย่ามาราคัส (Maracas) ให้สัมผัสคล้ายๆอสรพิษที่ฉกทำแต้มได้, หรือการหยอดมุกสร้างความขำขัน ทำท่าว่าจะชกหน้าแต่มืออีกข้างกลับต่อยท้อง ฯ นี่ถือว่ามีลูกเล่นพัฒนาขึ้นกว่า Fist of Fury มากทีเดียว

ถึงนี่จะเป็นหนังที่บรูซ ลี คิดเองกำกับนำแสดงในแนวทางของตนเอง มีความเป็นส่วนตัวศิลปินค่อนข้างสูง แต่ต้องบอกว่ายังขาดๆเกินๆ มีหลายสิ่งยอดเยี่ยมลึกล้ำ แต่หลายอย่างกลับผิดพลาดแบบปลาตายน้ำตื้น, สิ่งสำคัญหนึ่งที่หนังขาดหายไปอย่างชัดเจนคือ Moralistic เรื่องราวไม่ได้แฝงข้อคิดมีประโยชน์อะไรเลยแม้แต่น้อย ผู้ร้ายเลวมาข้าก็เลวตอบ ตัวละครที่เหมือนจะมีความคิดคุณธรรมสูงสุดกลับทรยศหักหลังเพื่อนฝูง เมื่อหาทางเอาชนะธรรมดาไม่ได้ก็ใช้ความรุนแรงที่มากคลั่งโต้ตอบ … สาระสำคัญของเรื่องราวคืออะไรกัน? มีเพียงแค่ฉากต่อสู้บู๊มันส์ๆแค่นั้นเองเหรอ

ในฉากการต่อสู้ไคลน์แม็กซ์ จะมีช่วงหนึ่งที่ Chuck Norris พ่ายแพ้อย่างหมดรูปแล้ว บรูซ ลีได้ส่งสัญญาณพอเถอะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะฝืน แต่ด้วยศักดิ์ศรีค้ำคอของชาตินักสู้ ฆ่าให้ตายดีกว่าพ่ายแพ้อับอายขายขี้หน้า ทำให้ลีต้องทนกล้ำกลืนฝืนยอมทำ ในสิ่งที่ใจไม่อยากทำ แล้วทำการเคารพยกย่องให้เกียรติคู่ต่อสู้, เราสามารถมองได้ว่านี่คือปรัชญาการต่อสู้ของลี ทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตนรักจนตัวตาย แต่มันคุ้มค่าแล้วหรือ?

ผมเคยพูดบอกไปใน Fist of Fury (1972) ผู้กำกับหล่อเว่ยได้สร้างหนังที่มีความสมบูรณ์แบบ แต่จุดเด่นจุดด้อยอยู่ที่บรูซ ลีคนเดียว, กับหนังเรื่องนี้ถือว่ายังยืนยันความเชื่อของผมนี้อยู่ คือลีเป็นคนที่เจ๋ง-เก่ง-จริงแต่ไม่ได้เป็นเลิศทุกสิ่ง กระนั้นถ้าเขาได้ค่อยๆเรียนรู้สะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ มีอายุยืนนานกว่านี้อีกอีกสักนิด เชื่อว่าผลงานลำดับต่อๆไป อาจมีความยอดเยี่ยมที่อาจถึงขั้นก้าวผ่านความสมบูรณ์แบบของ Fist of Fury ก็เป็นได้

กระนั้นหนังก็ทำเงินถล่มทลายใน Hong Kong นะครับ ทุบสถิติของ Fist of Fury ที่เพิ่งออกฉายเมื่อต้นปี ทำรายรับ HK$5,307,350.50 และหนังคว้ารางวัล Golden Horse Film Festival สาขา Best Edited ถือเป็นสองปีติดของ Peter Cheung ธรรมดาเสียที่ไหน

ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ส่วนที่ผมประทับใจสุดคือ เหมียวเข่อซิ่วที่ทำให้ใจละลายอีกแล้ว (แต่ผมชอบ ลุคผมสั้นมากกว่าผมยาวนะ) และการต่อสู้ครั้งสุดท้ายระหว่างบรูซ ลีกับ Chuck Norris ถือว่าเป็นฉากที่สมบูรณ์แบบดีเยี่ยมที่สุดของลีเลยละ

แนะนำกับคอหนังจีน ต่อสู้กำลังภายใน Martial Arts, อยากเห็นบรรยากาศของกรุงโรมยุค 70s และโคลอสเซียม, แฟนๆของบรูซ ลี กับ Chuck Norris ไม่ควรพลาดเด็ดขาด

จัดเรต 13+ กับความรุนแรงจากการต่อสู้ และความคิดล้างแค้นเอาคืน

TAGLINE | “The Way of the Dragon เป็นหนังที่มีความขาดๆเกินๆ แต่ฉากการต่อสู้ระหว่างบรูซ ลี กับ Chuck Norris ถือว่าสมบูรณ์แบบ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: