The White Balloon

The White Balloon (1995) Iranian : Jafar Panahi ♥♥♥♥

เด็กหญิงวัย 7 ขวบ ต้องการซื้อปลาทองตัวใหม่ แต่เงินที่กว่าจะออดอ้อนขอแม่มาได้ กลับมีเรื่องว้าวุ่นวายให้ถูกลักขโมย ทำตกหล่น สูญหายข้างทาง สุดท้ายแล้วเธอจะได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันนั้นหรือเปล่า, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผลงานแรกแจ้งเกิดผู้กำกับ Jafar Panahi ที่สร้างขึ้นจากบทภาพยนตร์ของ Abbas Kiarostami เปลือกนอกดูเป็นเรื่องราวใสบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กหญิง แต่แท้จริงแล้วสะท้อนเสียดสีสภาพสังคมประเทศอิหร่าน และต่อต้านระบบทุนนิยมออกมาได้อย่างตราตรึงทรงพลัง

ถึงผมจะรับชมภาพยนตร์จากประเทศฝั่งตะวันออกกลางมาไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็สามารถตระหนักเข้าถึงแนวคิด จิตวิญญาณ และทิศทางของผู้สร้างหนัง ซึ่งล้วนสะท้อนสภาพสังคม ปัญหาการเมือง ชนชั้นผู้นำที่เต็มไปด้วยความเข้มงวดกวดขัน คอรัปชั่นคดโกงกิน และมักเชื่อมโยงอ้างอิงความเชื่อศรัทธาศาสนาทางใดทางหนึ่ง

Jafar Panahi คือหนึ่งในผู้กำกับชาวอิหร่าน ที่ได้รับอิทธิพลความเข้มงวดกวดขันจากกองเซนเซอร์ The White Balloon เป็นผลงานแรกและเรื่องเดียวที่ได้เข้าฉายในประเทศ หลังจากนั้นแม้ไปกวาดรางวัล Golden Lion, Golden Bear กลับโดนแบนหมด แถมถูกยึดพาสปอร์ต ห้ามเดินทางออกนอกประเทศอีกต่างหาก!


Jafar Panahi (เกิดปี 1960) ผู้กำกับสัญชาติอิหร่าน เกิดที่ Mianeh, East Azerbaijan ในครอบครัวชนชั้นทำงาน เมื่ออายุ 12 ขวบ เริ่มทำงานหลังเลิกเรียนเพื่อเก็บเงินไปรับชมภาพยนตร์ เปิดมุมมองตนเองต่อโลกกว้าง พออายุ 20 ปี อาสาสมัครทหาร เข้าร่วมสงคราม Iran-Iraq War (1980-88) แต่รับหน้าที่เป็นตากล้องบันทึกภาพสารคดีการสู้รบ เมื่อปลดประจำการสมัครเข้าเรียน College of Cinema and TV ที่ Tehran จึงมีโอกาสรับชมภาพยนตร์ตะวันตกมากมาย สนิทสนมเพื่อนร่วมรุ่น Parviz Shahbazi และตากล้องขาประจำ Farzad Jodat จากนั้นได้เริ่มทำงานสารคดีฉายโทรทัศน์ หนังสั้น

เมื่อ Abbas Kiarostami มีโอกาสรับชมหนังสั้นของ Panaha ชื่นชมและยกย่องในความสามารถ เลยว่าจ้างให้มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Through the Olive Trees (1994)

“[Jafar Panahi have] extremely gifted and can be a promising figure in our cinema’s future”.

– Abbas Kiarostami

แรกเริ่ม Panahi พัฒนาบทภาพยนตร์ชื่อ Happy New Year ร่วมกับ Parviz Shahbazi ยื่นของบประมาณจาก IRIB’s Channel 1 (น่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ของอิหร่าน) ตั้งใจให้เป็นหนังสั้น แต่ข้อเสนอถูกปัดตกคงเพราะขาดความน่าสนใจ ระหว่างช่วยงานถ่ายทำ Through the Olive Trees จึงลองนำ Treatment ให้ Kiarostami วิพากย์วิจารณ์ ปรากฎว่าเกิดชื่นชอบ เลยให้ความช่วยเหลือ และแนะนำทำเป็นภาพยนตร์เลยจะดีกว่า

แต่ Kiarostami ก็ไม่ได้มีเวลาว่างเยอะแยะ วิธีการทำงาน/พัฒนาบทของพวกเขาก็คือ ระหว่างขับรถครุ่นคิดอะไรได้ก็พูดออกมา Panahi จะคอยบันทึกเทป จากนั้นนำไปประติดประต่อ พิมพ์ออกมากลายเป็นบทภาพยนตร์ (แต่ก็ยกเครดิตเขียนบทเดี่ยวๆให้ Kirostami เลยนะ)

นอกจากเรื่องบท Kiarostami ยังช่วยจัดหาทุนสร้างได้จาก IRIB’s Channel 2 ได้มาไม่เยอะเท่าไหร่แต่ก็เพียงพอให้สามารถถ่ายทำหนังเสร็จ

“I wanted to prove to myself that I can do the job, that I can finish a feature film successfully and get good acting out of my players. In a world where films are made with millions of dollars, we made a film about a little girl who wants to buy a fish for less than a dollar – this is what we’re trying to show”.

– Jafar Panahi

อีกประมาณชั่วโมงครึ่งจะถึงวันขึ้นปีใหม่ของชาวเปอร์เซีย เด็กหญิงอายุเจ็ดขวบ Razieh (Aida Mohammadkhani) พบเห็นปลาทองในโถแก้วสุดสวย ต้องการนำมาประดับบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ราคา 100 Toman ถือว่าค่อนข้างสูงสำหรับชนชั้นทำงาน ให้พี่ชาย Ali (รับบทโดย Mohsen Kalifi) ออดอ้อนขอแม่จนสำเร็จได้ธนบัตร 500 Toman รีบออกเดินทางไปซื้อปลาแต่ระหว่างทางพานพบอุปสรรคมากมาย
– การแสดงโชว์งู ที่อยู่ดีๆพิธีการก็นำเงินของเธอไป เพราะครุ่นคิดเข้าใจผิดว่าเธอต้องการบริจาคให้
– ธนบัตรใบนั้นปลิวหล่นหายไปไหนก็ไม่รู้
– พบเจอตกอยู่ในท่อ หน้าร้านที่วันนั้นปิดกิจการ ขอความช่วยเหลือเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าข้างๆ แต่เขาสนเพียงตนเองไม่ใคร่อยากให้ความช่วยเหลือ
– นายทหาร ชายแปลกหน้าเข้ามาพูดคุย
– และสุดท้ายคือเพื่อนเด็กขายลูกโป่ง ใช้ไม้ติดหมากฝรั่งติดเงินขึ้นมา

สำหรับนักแสดง ทั้งหมดคือมือสมัครเล่นผ่านการคัดเลือก หรือไม่ก็ชักชวนคนรู้จักมาร่วมงาน
– Aida Mohammadkhani ได้รับการค้นพบเจอตั้งแต่โรงเรียนแรกที่ทำการออดิชั่น ประทับใจในสายตาอันบริสุทธิ์สดใส สีหน้าท่าทางสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในอย่างตรงไปตรงมา รอยยิ้มเริงร่า บูดบึ้งซึมเศร้า ขยะแขยงจะร้องไห้ เต็มไปด้วยความน่าสงสารเห็นใจ สามารถเป็นตัวแทนชาวอิหร่านได้ทั้งประเทศเลยละ
– สำหรับบทพี่ชายหายากยิ่งกว่า ต้องคัดเลือกนักแสดงประมาณ 2,600 คน กว่าจะได้ Mohsen Kalifi (ผมรู้สึกหน้าตาคล้ายๆเด็กชายใน Bicycle Thieves) ที่ต้องคอยรองมือรองเท้า ให้ความช่วยเหลือทุกคนที่พานผ่านเข้ามาในชีวิต แต่เพราะรักครอบครัวและน้องสาว เลยไม่ปฏิเสธปัญหา ร่วมด้วยกันแก้ไขต่อสู้ฟันฝ่า


ถ่ายภาพโดย Farzad Jadat เพื่อนร่วมรุ่น ขาประจำผู้กำกับ Panahi

งานภาพมอบสัมผัสของ Neorealist นอกจากนักแสดงสมัครเล่น ยังถ่ายทำสถานที่จริง ไม่มีการจัดแสง (ใช้แสงธรรมชาติทั้งหมด) ระยะภาพใกล้ชิดตัวละคร ทำให้ผู้ชมราวกับเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราว/เหตุการณ์ พบเห็นความว้าวุ่นวาย และปฏิกิริยาอารมณ์ของเด็กสาว

ไม่ใช่แค่ชื่อหนัง The White Balloon องค์ประกอบและโทนสีสันของภาพ พบเห็นสีขาวเป็นหลัก โดดเด่นชัดมากกับผ้าคลุมศีรษะของเด็กหญิง สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ขาวสะอาด (ปลาทองที่มีสีขาวก็เฉกเช่นกัน!)

เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกตฉากแรกของหนัง เพราะผมมีความฉงนสงสัยเกี่ยวกับเด็กชายขายลูกโป่งจึงย้อนกลับไปดู เลยเห็นว่าทุกๆตัวละครที่พานพบเจอตลอดหนัง ล้วนอารัมบทปรากฎตัวในสี่แยกกลางตลาดนี้ก่อนแล้วทั้งนั้น คือเราไม่ได้สนใจเพราะยังมิได้รู้จักมักคุ้นพวกเขามาก่อน … ชีวิตก็มักพบเจอสวนทางกันแบบนี้ละนะ!

ผมมีความลุ่มหลงใหลในองค์ประกอบศิลป์ของช็อตนี้อย่างมาก ดูหรูหราไฮโซ แถมตำแหน่งสูงกว่า ราวกับตำหนักพระราชา ผู้นำปกครองประเทศชาติ ซึ่งตลอด Sequence นี้ จะไม่พบเห็นเด็กหญิงเข้าไปในบ้าง มีเพียงแม่ และการกระซิบซาบของพี่ชาย

กล่าวคือเราสามารถเปรียบเทียบมหภาคของหนัง พ่อ-แม่ ได้กับชนชั้นผู้นำ/ปกครองประเทศอิหร่าน และเด็กๆทั้งสองที่มีแววตาสดใสไร้เดียงสา ก็คือประชาชนชาวอิหร่าน ต้องคอยก้มหัวยินยอมปฏิบัติทำตามคำสั่งห้ามขัดขืน นอกเสียจากมีผลประโยชน์ได้เสียบางอย่างถึงค่อยยินยอมผ่อนปรน

เงินกับงู คือสิ่งชั่วร้ายอันตราย ถ้ามนุษย์หมกมุ่นลุ่มหลงใหลกับมันสักวันย่อมประสบพบภัย ตัดสลับกับปฏิกิริยาใบหน้าอันหวาดสะพรึงกลัว สั่นสะท้าน น้ำตาไหลพรากๆของเด็กหญิง ใครเห็นแล้วไม่รู้สึกอะไรนี่กามตายด้านหรือเปล่า!

Sequence การแสดงงู ชัดเจนเลยว่าเพื่อสร้างความชวนเชื่อให้ผู้ชม ไม่ให้ลุ่มหลงใหลยึดติดในอำนาจเงินตรา ระบอบทุนนิยม เพราะมันเป็นสิ่งล่อลวง ยั่ยยุ เต็มไปด้วยอันตราย ควรต้องรู้จักใช้อย่างมีสติระแวดระวังตนเอง ไม่เช่นนั้นอาจโดนย้อนแย้งแว้งกัด พิษไหลเข้ากระแสเลือดโดยไม่รู้ตัว

ปลาทอง สัตว์สวยงามที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรนอกจากความเพลิดเพลินเจริญตา แต่ถือว่ามีคุณค่าทางจิตใจต่อเด็กหญิง เพราะสามารถเติมเต็มความต้องการเพ้อใฝ่ฝัน

ขณะเดียวกันเราสามารถเปรียบปลาทอง ได้กับเด็กหญิง และประชาชนชาวอิหร่าน ต่างถูกกักขังอยู่ในโถแก้ว ได้รับการเลี้ยงดูแลจนอวบอิ่มหนำ มีความบริสุทธิ์สวยสง่างาม แต่ไม่สามารถดิ้นรนไปไหนมาไหน โหยหาอิสรภาพด้วยตนเอง

ใบหน้าอันทุกข์โศกของเด็กหญิง ย่อมทำให้บางคนรู้สึกสงสารเห็นใจ หญิงสูงวัยพยายามให้ความช่วยเหลือจนค้นพบเจอตกอยู่ในท่อระบายน้ำ ซึ่งเธอก็ส่งไม้ต่อให้กับชายสูงวัยเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าข้างๆ ซึ่งมีนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวไม่สนใจใคร

ความเห็นแก่ตัวของชายสูงวัยคนนี้นี่ระดับสูงสุดเลย เพิกเฉยต่อเด็กหญิงแล้วหันไปตำหนิต่อว่าลูกจ้าง/พนักงาน ทำผลงานออกมาไม่ได้เรื่องไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งคำด่ากราดดังกล่าวสะท้อนเข้าหาตัวเขาอย่างตรงไปตรงมา … นี่นะหรือคือสังคมประเทศอิหร่าน ไม่ใช่เรื่องของฉันก็ปฏิเสธหาเหาใส่หัว!

สำหรับลูกโป่งสีขาว พบเห็นช็อตสุดท้ายของหนัง คือสัญลักษณ์แห่งความหวังที่บริสุทธิ์สะอาด นั่นเพราะการกระทำของเด็กชายขายลูกโป่ง เขาไม่ได้รับอะไรค่าตอบแทนใดๆนอกเสียจากรอยยิ้ม ความพึงพอใจ และสามารถขายลูกโป่งได้เกือบหมด …แค่นั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับชีวิตคน

ตัดต่อโดย Jafar Panahi, ดำเนินเรื่องในมุมมองสายตาของ Razieh โดยเทียบกับระยะเวลาจริง นาทีต่อนาทีก่อนหน้าเวลา 6 โมงเย็น วันขึ้นปีใหม่ของประเทศอิหร่าน (หรือคือวันวสันตวิษุวัต ที่กลางวันเท่ากับกลางคืน ตรงกับประมาณ 20-21 มีนาคมของทุกปี)

เทคนิคที่พบเห็นบ่อยคือ การตัดต่อสลับไปมาระหว่าง Action-Reaction, ภาพที่พบเห็น-ปฏิกิริยาของเด็กสาว ผู้ชมจะสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเธอต่อทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา

นอกจาก Opening/Closing Credit จะไม่มีการแทรกใส่บทเพลงประกอบนอกเสียจาก Diegetic Music ได้ยินจากวิทยุซึ่งคอยบอกเวลาดำเนินไปด้วย (คนที่ฟังภาษาเปอร์เซียออก จะสามารถเข้าใจเสียงเพลง/สนทนาที่ดังมาจากวิทยุด้วย ไม่รู้มีการแทรกใส่อะไรไว้เพิ่มเติมหรือเปล่า)


The White Balloon คือการผจญภัยของเด็กหญิง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของสิ่งที่ตนเพ้อใฝ่ฝัน ระหว่างทางพานผ่านอุปสรรคขวางกั้น ได้รับความช่วยเหลือชี้ชักนำจนสามารถเอาตัวรอดก้าวข้ามพ้น กลายเป็นบทเรียนชีวิตอันทรงคุณค่ายิ่ง ตราประทับฝังลึกภายในจิตใจไม่รู้ลืม

เด็กหญิงวัย 7 ขวบ ถือว่ายังอ่อนวัยไร้เดียงสา ไม่รู้เท่าทันคนอื่นจึงมักถูกลวงล่อหลอกได้โดยง่าย แต่ขณะเดียวกันก็มีสีหน้าเศร้าโศกคราบน้ำตาเป็นอาวุธเรียกความสงสาร ทำให้ผู้ใหญ่แม้โฉดชั่วร้ายแค่ไหนยังยินยอมใจอ่อนข้อให้ (คือถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ทำอะไรผิดพลาดพลั้ง ย่อมมีแต่จะถูกตำหนิด่ากราดแบบพนักงานร้านขายเสื้อผ้า) ด้วยเหตุนี้ท้ายที่สุดหนังจึงจบลงแบบ Happy Ending เกิดความหวังรับวันขึ้นปีใหม่

แต่ผมว่าชาวอิหร่านทั่วไปคงไม่โชคดีเหมือนเด็กหญิงคนนี้ เพราะทุกสถาบันของสังคมต่างพยายามควบคุมครอบงำคนใต้สังกัด (พ่อออกคำสั่งลูก, หัวหน้าใช้งานลูกน้อง, ผู้นำปกครองประชาชน, และศาสนาคือรากฐานความเชื่อ) เงินทองพอหายากลำบากกพยายามทุกวิถีทาง ขูดรีดไถ/ยกแม่น้ำทั้งห้าสายเข้ามาอ้างโน่นนี่นั่น แถมทุกครั้งเวลามีปัญหา ถ้าไม่ใช่เรื่องของกรูก็ไม่ต้องการหาเหาใส่หัว 

แต่โลกใบนี้ก็มีทั้งคนดี-เลว ผสมปะปนเปใช่ว่าจะหมดสิ้นหวังเลยทีเดียว ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดติดตาม ทำไมเราถึงไม่พยายามแสดงออกต่อกันด้วยน้ำใจมิตรไมตรี ให้ความช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ มันอาจจะอุดมคติสักหน่อย แต่คงทำให้ประเทศของเราน่าอยู่ขึ้นมากทีเดียว

ขณะที่ผู้กำกับ Jafar Panahi มองปัญหาพื้นฐานของสังคม คือระบอบทุนนิยม ‘เงิน’ เปรียบเทียบกับอสรพิษที่พร้อมฉกกัดทำร้ายเจ้าของ แต่เนื่องจากวิถีของโลกคงไม่มีใครสามารถต้านทาน ดังนั้นเราจึงควรต้องเห็นคุณค่าของมัน แม้เพียง 100 Toman ก็มีมูลค่ามหาศาล (คือผมก็ไม่รู้มูลค่าจริงๆมันเท่าไหร่นะ)


หนังเข้าฉาย Directors’ Fortnight ในเทศกาลหนังเมือง Cannes และสามารถคว้ารางวัล Caméra d’Or (มอบให้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สำหรับผู้กำกับที่มีผลงานแรก)

นอกจากนี้ยังได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศ ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไปๆมาๆเมื่อรัฐบาลอิหร่านมีข้อพิพาทข้ดแย้งกับสหรัฐอเมริกา ส่งเรื่องร้องขอมิให้พิจารณาหนังเรื่องนี้เข้าร่วมประกาศรางวัล ซึ่งพอทาง Academy ไม่ยินยอม ก็ยึดพาสปอร์ตของ Jafar Panahi ไม่ให้เข้าร่วมเทศกาลหนังเมือง Sundances หรือโฟนอินสัมภาษณ์ใดๆ … กระนั้นหนังก็ไม่ได้ลุ้นเข้าชิงรางวัลใดๆอยู่ดี

ส่วนตัวชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก แม้เต็มไปด้วยความเครียด กดดัน โคตรจะสงสารเห็นใจเด็กหญิง และชาวอิหร่าน (ผู้กำกับ Panahi ด้วยนะ!) สังคมแบบนั้นทนอยู่กันไปได้อย่างไร หวนระลึกนึกถึงประเทศไทย บ้านเรานี่สรวงสวรรค์เลยนะ แม้มีรัฐบาลเฮงซวยแต่ประชาชนก็ยังมีเสรีภาพ ผู้คนเป็นมิตร ยิ้มแย้มมีไมตรีจิตต่อกัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กหญิง ไม่เพียงทำให้ผู้ชมสงสารรู้สึกเห็นใจ แต่อยากมีมิตรไมตรีจิตต่อบุคคลอื่น โกรธเกลียดพวกเห็นแก่ตัว สนเพียงเงินทอง ไร้สามัญสำนึกคุณธรรมประจำใจ และถ้ามีใครมาขอความช่วยเหลือก็พร้อมยินดีสนองให้ (แต่อย่าเรียกร้องให้มากเกินพอดีแบบ Funny Games เสียละ!)

จัดเรต 13+ คือหนังก็ไม่ได้เหมาะกับเด็กเล็กสักเท่าไหร่หรอกนะ แต่ควรรับชมเมื่อโตขึ้นมาสักหน่อย จะได้ไม่พบเห็นโลกในแง่ร้ายจนเกินไป

คำโปรย | The White Balloon คือความบริสุทธิ์ทางภาพยนตร์ ไร้เดียงสาในสามัญสำนึก และงดงามทรงคุณค่าระดับสากล
คุณภาพ | ริสุธิ์ดี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: