The Wicker Man

The Wicker Man (1973) British : Robin Hardy ♥♥♥♥

นิตยสาร Cinefantastique ยกย่องหนังเรื่องนี้ว่า ‘The Citizen Kane of horror movies’ ทั้งๆที่ไม่ได้มีองค์ประกอบของความ Horror แม้แต่น้อย, นำพาทัวร์ Summerisle เมืองสมมติแถบหมู่เกาะ Hebridean, ประเทศ Scotland ที่มีความสวยงามเก่าแก่ ในวิถีชีวิต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี แต่คือนรกบนดินของชาว Christian, นำแสดงโดย Christopher Lee ทุ่มสุดตัวแบบไม่รับค่าจ้าง และเป็นหนังที่เจ้าตัวบอกว่าชื่นชอบโปรดปรานสุดในชีวิต

จะบอกว่าผมเคยรับชม The Wicker Man (2006) ฉบับ remake นำแสดงโดย Nicolas Cage ในโรงภาพยนตร์ (สมัยนั้นมีความชื่นชอบ Cage เป็นการส่วนตัว) ดูจบออกมาพึมพัมกับตัวเอง หนังเxยไรว่ะเนี่ย! น่าหงุดหงิดรำคาญใจอย่างมาก ไม่คิดหวนกลับไปหามาชมอีก, กับต้นฉบับ The Wicker Man (1973) เรื่องนี้ยังไม่เคยรับชมมาก่อน (เพราะทำใจไม่ได้กับฉบับของ Cage) แต่ก็ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความคลาสสิก เป็นหนึ่งในหนัง Horror สัญชาติอังกฤษเรื่องเยี่ยม ก็เลยลองเสี่ยงหามารับชมดูก็พบว่าไม่ผิดหวังเลยสักนิด หนังมีมนต์เสน่ห์ที่สวยงาม แฝงแนวคิดที่น่าสนใจ

แต่ผมมีความลังเลใจพอสมควร ที่จะเลือกหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หรือเปล่า? ถ้าเป็นชาวคริสต์แนะนำเลยว่าห้ามพลาด นี่เป็นหนังแนวพิสูจน์ศรัทธาความเชื่อที่ทรงพลังมากๆเรื่องหนึ่ง แต่กับคนไทยชาวพุทธ มันอาจมีความไม่ชัดเจนเสียเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องราวของ เดียรถีย์ vs คนนอกศาสนา เราเป็นเพียงคนนอกยืนมองผู้อื่นตบตีกัน ไม่ใช่เรื่องอย่าไปจุ้นเสือกเสียเท่าไหร่

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ มาจากความต้องการของ Christopher Lee หลังจากความสำเร็จอันล้นหลามจนน่าเบื่อหน่ายในการรับบท Count Dracula นับครั้งไม่ถ้วน คงถึงเวลาสักทีต้องสลัดภาพลักษณ์เดิม ย่างเท้าก้าวเดินต่อเสียที พบเจอกับนักเขียน Anthony Shaffer ผู้กำกับ Robin Hardy และโปรดิวเซอร์ Peter Snell ของสตูดิโอ British Lion ร่วมมือกันพัฒนาโปรเจคหนังเรื่องใหม่ให้กับ Lee โดยเฉพาะ มันคงเป็นความสนุกไม่น้อยที่จะนำความเชื่อเก่าๆ ‘old religion’ มีความเชยล้าหลัง มานำเสนอ สะท้อน ตีแผ่ ให้ผู้ชมยุคสมัยใหม่เกิดความหวาดหวั่นวิตก สั่นสะท้าน น่าสะพรึงกลัว

Shaffer พบเจอนิยายเรื่อง Ritual (1967) ของนักเขียนสัญชาติอังกฤษ David Pinner เรื่องราวของตำรวจหนุ่มคนหนึ่ง ผู้อุทิศตนให้กับศาสนาคริสต์ ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปยังหมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่ง เพื่อสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ฆาตกรรม อันเกิดจากพิธีกรรมบูชายัญ, เดิมนั้น Pinner ตั้งใจเขียนเรื่องราวนี้เป็น Treatment ให้กับผู้กำกับ Michael Winner สำหรับสร้างภาพยนตร์ วางนักแสดงนำคือ John Hurt แต่ Winner กลับบอกปัดปฏิเสธ ทำให้เปลี่ยนความสนใจมาพัฒนาเขียนนิยายแทน,

Shaffer และ Lee จ่ายค่าลิขสิทธิ์ £15,000 ปอนด์ ให้กับ Pinner ตั้งใจว่าจะดัดแปลงทั้งหมดตรงต่อต้นฉบับ แต่ผลลัพท์ออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เลยนำเฉพาะพล็อตคร่าวๆ เค้าโครงสร้างจากนิยายเท่านั้น เปลี่ยนแปลงชื่อตัวละคร/พื้นหลังดำเนินเรื่อง และเลือก ‘old religion’ จาก Celtic Paganism นำมาปรับใช้

ลัทธินอกศาสนาเซลต์ (Celtic Paganism) เป็นความเชื่อและวิถีปฏิบัติของผู้คนในยุค Iron Age แถบ Western Europe (ชาว Celts) ช่วงระหว่าง 500 B.C.E. ถึง 500 C.E. รับอิทธิพลเต็มๆในยุคสมัย Roman Era นับถือพระเจ้าหลายองค์ เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณ และพิธีบูชายัญ

A Wicker Man (มนุษย์จักสานขนาดใหญ่ ทำจากไม้ willow) เป็นความเชื่อหนึ่งของ Celtic Paganism ที่รับอิทธิพลมาจากโรมันตั้งแต่ยุคสมัยของ Cicero, Julius Caesar, Suetonius, Lucan มีลักษณะเหมือน propaganda ชวนเชื่อให้เหล่าประเทศเมืองขึ้นเหล่านี้ ยึดถือปฏิบัติบูชาพระผู้เป็นเจ้า แต่ไม่เคยมีหลักฐานในช่วงแรกๆว่ามีการนำมนุษย์บูชายัญใส่เข้าไปใน Wicker Man เลยนะครับ

ในหนังสือจดหมายเหตุ Commentarii de Bello Gallico (น่าจะช่วงประมาณ 58–49 B.C.E.) เขียนโดย Julius Caesar ขณะทำสงครามรุกรานฝรั่งเศส อ้างถึงชนเผ่าพื้นเมืองหนึ่ง เวลาประหารชีวิตนักโทษข้อหาหนักๆ จะจับใส่มนุษย์จักสารด้วยกิ่งไม้ขนาดยักษ์ แล้วเผาให้ตายทั้งเป็น … นี่ไม่เกี่ยวกับการบูชายัญเลยนะครับ

Robin St. Clair Rimington Hardy (1929 – 2016) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Surrey เดินทางไปศึกษางานศิลปะที่ Paris แล้วไปทำงานละครโทรทัศน์ที่อเมริกา กลับมาอังกฤษร่วมกับเพื่อนสนิท Anthony Shaffer ทำโฆษณาโทรทัศน์ หนังเรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก

Hardy เป็นผู้กำกับที่ไม่ได้มีความกระตือลือล้นมากในการสร้างภาพยนตร์มากนัก ทั้งชีวิตมีผลงานเพียง 3 เรื่อง ประกอบด้วย The Wicker Man (1973), The Fantasist (1986) และ The Wicker Tree (2011) [ภาคต่อ The Wicker Man] เคยมีความตั้งใจสร้าง The Wrath of the Gods เมื่อปี 2015 เพื่อปิดไตรภาค The Wicker Man ใช้การระดมทุนสร้าง (Crowdfunding) แต่ไม่ประสบความสำเร็จทำให้ต้องล้มเลิกความตั้งใจ และ Hardy เสียชีวิตในปีถัดมา

เรื่องราวของ Sergeant Howie (รับบทโดย Edward Woodward) นายตำรวจผู้เคร่งศาสนา เดินทางสู่ Summerisle หมู่เกาะ Hebridean ประเทศ Scotland เพื่อทำการสืบสวนค้นหาการหายตัวไปของเด็กหญิงสาว Rowan Morrison (รับบทโดย Gerry Cowper) แต่สิ่งที่เขาได้ค้นพบกลับคือ ความแปลกพิศดารในความเชื่อนอกรีตของชาวเมือง และประเพณีประจำปี พิธีบูชายัญสังเวยชีวิตต่อพระเจ้า มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า Rowan อาจกลายเป็นเครื่องสังเวย ให้กับความเชื่อนี้

Edward Albert Arthur Woodward (1930 – 2009) นักร้อง นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกับ Royal Academy of Dramatic เป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานเด่นๆมากมาย, ภาพยนตร์เรื่องแรก Where There’s a Will (1955) ได้รับการจดจำจาก The Wicker Man (1973) คว้า Golden Globe Award: Best Actor in a Television Series เรื่อง Drama The Equalizer (1985)

รับบท Sergeant Howie ผู้ยึดมั่นในศรัทธาคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัดแรงกล้า รักษาตัวให้บริสุทธิ์รอวันแต่งงานเท่านั้น อดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นความอนาจารทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเมืองแห่งนี้

สำหรับบทบาทนี้ ผู้กำกับ Hardy มีความต้องการ Michael York, นักเขียน Shaffer มีภาพ David Hemmings, Christopher Lee ติดต่อ Peter Cushing, ส่วนโปรดิวเซอร์ Snell กลับเลือก Woodward เพราะความชื่นชอบส่วนตัว,

การแสดงของ Woodward มีลักษณะของ Theatre Acting คล้ายการแสดงละครเวทีค่อนข้างมาก (ก็แน่ละ พี่แกถนัดฝั่งนั้นมากกว่า) ทุกถ้อยคำพูด ท่าทาง สีหน้า ปฏิกิริยา ล้วนมีความเข้มข้น สมจริงจัง วินาทีที่รับรู้โชคชะตากรรมของตนเอง ก็มิอาจทำใจยอมรับได้ ท่องคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิ้ลเพื่อกรุยทางสู่สรวงสวรรค์ (ที่ก็ไม่รู้มีจริงหรือเปล่า)

เกร็ด: เห็นว่า Woodward อยู่ใน Wicker Man จริงๆตอนกำลังเผาไหม้ และเพื่อถ่ายทำน้อยครั้งที่สุดป้องกันความผิดพลาด ผู้กำกับทำ Cue Card เขียนแปะไว้รอบด้าน เพราะในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นใครคงรีบร้อนรน อยากถ่ายทำให้เสร็จเร็วไว

Sir Christopher Frank Carandini Lee (1922 – 2015) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Belgravia, London เจ้าของบทบาท Count Dracula ให้กับ Hammer Film Productions (สตูดิโอฝั่งอังกฤษ), Francisco Scaramanga ตัวร้ายใน James Bond ภาค The Man with the Golden Gun (1974), พ่อมดขาว Saruman ในไตรภาค The Lord of the Rings กับ The Hobbit, และ Count Dooku ในภาค 2-3 Star Wars Prequel Trilogy

รับบท Lord Summerisle ผู้นำของชุมชนนอกรีตแห่งนี้ เป็นคนสุขุมเยือกเย็น ร้ายลึก รักพวกพ้อง และมีความเฉลียวฉลาดวางแผนการได้อย่างแยบยล สามารถลวงหลอกล่อ Sergeant Howie ให้มาติดกับได้อย่างแนบเนียน

การแสดงของ Lee ในภาพลักษณ์ที่แตกต่างจาก Count Dracula พอสมควร ความสงบนิ่งเยือกเย็น พูดจาภาษาวิปริตได้แบบไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ผิดกับตัวละคร Howie ที่พอได้ยินอะไรแสลงหูก็จะแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน, รอยยิ้มอันลุ่มลึก สงบนิ่ง คมคาย แต่แฝงความชั่วร้าย ราวกับ Wicked Man ก็ไม่ปาน

ก็ถือว่าทำสำเร็จนะครับ เพราะบทบาทนี้ทำให้ Lee ฉีกกระชากภาพลักษณ์ Count Dracula ของตัวเองออกได้ ทำให้ได้รับโอกาสทางการแสดงหลากหลายขึ้นต่อจากนี้

แซว: นักแสดงหนังเรื่องนี้ ไม่มีใครสัญชาติ Scottish เลยนะครับ

สำหรับคนที่เก่งภาษาอังกฤษ และมีความรู้เชี่ยวชาญด้านบทกวี ให้ลองสังเกตการพูดของตัวละครดูนะครับ หลายประโยคนำมาจากบทกวีชื่อดัง มีสัมผัสสอดคล้อง ไพเราะเพราะพริ้ง แฝงความหมายอันลึกซึ้ง อาทิ

“I think I could turn and live with animals, they are so placid and self-contain’d, I stand and look at them long and long.

They do not sweat and whine about their condition, They do not lie awake in the dark and weep for their sins, They do not make me sick discussing their duty to God, Not one is dissatisfied, not one is demented with the mania of owning things, Not one kneels to another, nor to his kind that lived thousands of years ago, Not one is respectable or unhappy over the whole earth.”

– Walt Whitman (1819 – 1892) จากหนังสือ Leaves of Grass: The Death-Bed Edition (1855)
(ส่วนที่ขีดกลาง คือที่ตัดออกไปในหนัง)

ถ่ายภาพโดย Harry Waxman ตากล้องมากฝีมือสัญชาติอังกฤษ, หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง ประเทศ Scotland อาทิ Gatehouse of Fleet, Newton Stewart, Kirkcudbright, Galloway, Creetown ที่ Dumfries, Plockton ที่ Ross-shire, Wookey Hole ใน Somerset, Burrow Head ฯ

Waxman ไม่ใช่ตัวเลือกของผู้กำกับ Hardy แต่เพราะโปรดิวเซอร์มีความวิตกกังวลในฉากสุดท้าย การเผาไหม้ Wicker Man จะไม่ได้ภาพเพียงพออย่างที่ต้องการ เลยต้องเลือกใช้บริการตากล้องประสบการณ์สูง ซึ่งในอังกฤษขณะนั้นเหลือเพียง Waxman สร้างความไม่พึงพอใจให้กับ Hardy อย่างมาก ทั้งสองมีเรื่องให้ขัดแย้งกันอยู่เรื่อยๆตลอดการถ่ายทำ

งานภาพมีความโดดเด่นเรื่องมุมกล้องก้ม-เงย ทิศทาง direction และองค์ประกอบที่เป็นพื้นหลัง สอดคล้องรับกับเรื่องราวและแฝงนัยยะสำคัญบางอย่าง, ไฮไลท์อยู่ช่วงท้าย การเผาไหม้ Wicker Man วินาทีที่ส่วนหัวพังทลายลงมา กล้องซูมเข้าไปที่พระอาทิตย์กำลังตกดินริมขอบฟ้าได้อย่างพอดิบพอดี แถมเครดิตที่ขึ้นมาจบตอนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าได้เปะๆเลยนะ เห็นแล้วชวนให้ขนลุกซู่ คำนวณประมาณการกันอย่างพอดิบพอดี

สำหรับ Wicker Man ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดชื่อ The Wicker Image ไม่รู้ใครวาด จัดแสดงในงาน Britannia Antiqua Illustrata (1676) รวบรวมโดย Aylett Sammes (มีชีวิตช่วงประมาณ 1636–1679) นักสะสมโบราณวัตถุ สัญชาติอังกฤษ

ตัดต่อโดย Eric Boyd-Perkins เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Sergeant Howie ผู้ชมจะคิดเห็นเข้าใจไปพร้อมๆกับตัวละคร และพอถึงช่วงท้ายเมื่อทุกสิ่งอย่างได้รับการเปิดเผย ก็จะทำให้คุณอึ้งทึ่งตกตะลึงช็อค หลอนระทึก คาดคิดไม่ถึงเลยทีเดียว

ว่าไปการเล่าเรื่องลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับ Citizen Kane (1941) อยู่พอสมควร ที่จะค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวของ Charles Foster Kane ออกทีละเล็กน้อย แบบการส่งไม้ผลัดต่อ และช่วงท้ายปริศนา Rosebud กับหนังเรื่องนี้ก็คือ Wicker Man เกือบจะเป็น MacGuffin ได้แล้วเชียว (ปกติ MacGuffin จะไม่เฉลยนะครับว่าคืออะไร แต่เพราะ Wicker Man ได้รับการเฉลยออกมา มันเลยมีสถานะกึ่งๆไม่ใช่เสียทีเดียว)

ว่ากันว่าฉบับตัดต่อแรกสุดของหนังความยาว 102 นาที แต่ถูกตัดทอนเหลือเพียง 87 นาที เพื่อจะได้ฉายควบกับหนังอีกเรื่อง ซึ่งฟุตเทจส่วนที่ตัดออกได้สูญหายไปตามกาลเวลา ก่อนมีการค้นพบ Uncut Version ที่ 99 นาที และ Final Cut 95 นาที ถ้าคุณได้รับชมฉบับนี้จะแทบรู้ได้ทันทีว่าฉากไหน เพราะคุณภาพจะแตกต่างเด่นชัดกว่าปกติพอสมควรเลย

เพลงประกอบ แต่งโดย Paul Giovanni บรรเลงโดยวง Magnet (ก่อตั้งวงเพื่อทำเพลงประกอบให้หนังเรื่องนี้โดยเฉพาะเลยนะ) มีลักษณะเป็น pre-record บันทึกเสียงตั้งแต่ก่อนการถ่ายทำ ผสมผสานคำร้อง ดนตรีพื้นบ้าน folk-song ของ Scottish มีทั้งหมด 13 เพลง เราสามารถมองหนังเรื่องนี้ว่าเป็น Musical ก็ยังได้ เพราะแทบทุกฉากจะต้องมีร้องเล่นเต้นโยกไปมา แถมเนื้อร้องยังสะท้อนกับเรื่องราวขณะนั้นอีกด้วย เติมเต็มสัมผัส Paradise ของหนังได้อย่างลงตัว

มีหลายบทเพลงเพราะๆที่อยากนำมาฝากกัน แต่ขอเลือกแค่ 2-3 เพลงที่น่าสนใจ Gently Johnny นี่คือตอนที่ชายหนุ่ม Johnny ได้รับโอกาสให้ขึ้นห้องของ Willow (ลูกสาวเจ้าของบ้าน) นี่เป็นบทเพลงที่แสนหวาน ลุ้นให้กำลังใจเชียร์ ค่ำคืนนี้ขอให้สุขสมหวังในรัก

Willow’s Song หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ The Wicker Man Song ขับร้องโดย Rachel Verney นี่เป็นบทเพลงที่หญิงสาวห้องข้างๆ พยายามใช้เวทย์มนต์คาถา (เสียงร้องและการดิ้นไปดิ้นมา) ชักจูง Howie ที่อยู่ห้องข้างๆให้เกิดกิเลส แต่เขากลับสามารถฝืนทนเอาชนะได้อย่างทุกข์ทรมาน

สำหรับบทเพลงสุดท้ายที่แทบทุกคนในหนังขับร้องกัน (ยกเว้น Howie) ชื่อเพลง Sumer Is Icumen In (แปลว่า Summer Canon, Cuckoo Song, Summer Has Come In, Summer Has Arrived, ฤดูร้อนกำลังมาถึง) เป็นบทเพลงในยุค Medieval ช่วงศตวรรษที่ 13 เป็นภาษา Wessex ของ Middle English ชาวอังกฤษอาจฟังออกนะครับ เหมือนภาษาเหนือ/อีสาน/ใต้ บ้านเรา

พิธีกรรมบูชายัญ The Wicker Man มีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลอง อธิษฐานขอพระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยเรื่องผลผลิต การเก็บเกี่ยว มีความอุดมสมบูรณ์ (ว่าไปก็คล้าย พืชมงคล) สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้คน จัดสืบต่อมาเป็นระยะเวลานาน ก็ประสบความสำเร็จร่ำไป แต่ปีล่าสุดเพราะความแห้งแล้งย่างกรายเข้ามา จึงมีความเชื่อว่าอาจต้องใช้ ‘มนุษย์’ เป็นเครื่องสังเวยตามแบบโบราณกาล … ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะสัมฤทธิ์ผลหรือเปล่า

คำว่า Wicker แปลว่า เครื่องจักสาน, ส่วนคำว่า Wicked แปลว่า ความชั่วร้าย … เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสับสนอย่างแน่นอน เพราะชื่อหนังเรื่องนี้ The Wicker Man เป็นการพูดถึง มนุษย์จักสานขนาดใหญ่ ที่ปรากฎตัวออกมาช่วงท้าย ไม่ได้มีนัยยะถึงตัวละคร Lord Summerisle ของ Christopher Lee ว่ามีความชั่วร้ายกาจ แต่พฤติกรรมการแสดงออกของเขามีความ Wicked Man อยู่พอสมควร

ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้ สร้างความหวาดสะพรึงกลัวให้กับผู้คน ก่อให้เกิดความคิดหลงเชื่อว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง เมื่อกระทำพิธีกรรมแบบนี้แล้วจะเป็นการตอบสนอง อยู่รอดปลอดภัยดี กินดีมีสุข พืชผลสุกง่อมสร้างรายได้ ได้ผลลัพท์ประสบความสำเร็จหลายครั้งกลายเป็นประเพณีสืบทอดปฏิบัติ ยึดถือมั่นในหลักการ ปิดกั้นไม่เปิดใจรับแนวคิดความเชื่อศรัทธาของผู้คนต่างถิ่น

ทุกศาสนา ทุกลัทธิบนโลก ต่างมีความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง ล้วนพูดว่าแนวคิดของฉันเป็นสิ่งถูกต้องที่สุด สัจธรรมจริงแท้ แต่มีเพียงหนึ่งศาสนาเดียวในโลกที่กล้าท้าให้คุณลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง, การรับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมมีทัศนะ มุมมองต่อการต่อสู้ของคนต่างศาสนามีความไร้สาระพอๆกัน ฝั่งหนึ่งคือชาวคริสต์ (ถือเป็นผู้นอกพุทธศาสนา) กับเดียรถีย์ (แปลว่า ผู้กระทำนอกเรื่องหรือนอกรีตนอกรอย ประพฤตินอกธรรมนอกพระวินัย) ความขัดแย้งของพวกเขาคือแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้า(องค์เดียว/หลายองค์), โลกหลังความตาย (ขึ้นสวรรค์เป็นส่วนหนึ่งกับพระเจ้าผู้สร้าง/เวียนว่ายตายเกิด), และพิธีกรรม (มิซซาต้นเรื่อง/Wicker Man ช่วงท้าย) ต่างไม่มีใครยอมใคร แต่ผู้ชนะในกรณีนี้คือเสียงข้างมาก คริสเตียนคนเดียวมีหรือจะดิ้นรนหนีพ้นทั้งหมู่บ้านที่นับถือ Celtic Paganism

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการนำเสนอความแตกต่างของคนมีศาสนาเป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีความหวาดเกรงกลัวต่อการกระทำบาป กับพวกเดียรถีย์ ใช้ชีวิตตามสันชาติญาณ ความต้องการ ไร้ความละอาย ไม่เกรงกลัวการกระทำผิด หรือบาปกรรม

“…การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้ตัว…”

– พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ รร.นายร้อยตำรวจฯ วันจันทร์ ๑๐ มี.ค. พ.ศ.๒๕๒๙

ในมุมของชาวคริสเตียน ผมเชื่อว่าพวกเขาคงลุ้นเชียร์ เป็นกำลังใจ Howie สามารถเอาตัวรอดกลับออกไปได้ปลอดภัย ยิ่งกับคนเคร่งมากๆ จะมองเห็นดินแดนแห่งนี้คือนรกบนดินชัดๆ เกิดความหลอนสะพรึง (Horror) ในช่วงท้ายของหนัง กับความพ่ายแพ้ของพระเอก, แต่กับคนต่างศาสนา ส่วนใหญ่น่าจะเป็นกำลังใจเชียร์ฝั่ง Celtic Paganism รู้สึกชื่นชอบ พิศวง หลงใหล กับโลกที่มัน … โอ้ พาราไดซ์

ไม่ขอปิดบังเหตุผลที่ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ เพราะมันดินแดน Paradise สรวงสวรรค์ชัดๆ เห็นแล้วอยากไปอยู่มากๆ, คิดว่าเมืองนี้คงไม่มีปัญหาเรื่องการข่มขืน หรือท้องก่อนวัยไม่มีพ่อ เช่นกันอาชญากรรมอื่นๆ ปล้นชิง ฉุดคร่า ฆ่าฟัน ฯ เพราะทุกคนต่างเอ่อล้นด้วยความสุขสำราญ พึงพอใจ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องหักห้ามใจ กระทำเรื่องร้ายต่างๆนานา

กระนั้นนี่เป็นดินแดนแห่งความเพ้อฝัน ภาพลวงตา ความสำราญที่เราเห็นอาจเป็นเพียงสิ่งฉาบหน้า หนังไม่ได้นำเสนอเบื้องหลัง มุมมืดมิดของสังคมเมืองนี้ที่ก็คงมีไม่ต่างจากที่อื่น, ใครชื่นชอบการครุ่นคิด ลองไปวิเคราะห์หามุมมืดของหนังเรื่องนี้เอาเองดูเลย (ที่ไม่ใช่เรื่องราวของ Howie) แท้จริงมีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้!

ด้วยทุนสร้างประมาณ £500,00 ปอนด์ ไม่มีรายงานรายรับ แต่คิดว่าคงจะทำเงินได้พอสมควรไม่ถึงขาดทุน ไม่เช่นนั้นจะมีนิยาย, ภาคต่อ, remake, ละครเวที ตามมาได้เช่นไร

รับชมหนังเรื่องนี้ ใช้วิจารณญาณครุ่นคิดตามให้มากๆ และอย่ามองหนังแค่ด้านเดียว รับชมครั้งแรกอาจติดตามเรื่องราวในมุมมองของหนัง ครั้งถัดไปค่อยเปลี่ยนไปในสายตาชาวเมืองแห่งนี้ และครั้งที่สามมองในมุมคนนอก/ต่างศาสนา แล้วทัศนคติต่อหนังเรื่องนี้ของคุณจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เหตุผลจริงๆที่ผมชื่นชอบหนังเรื่องนี้คือ กลิ่นอาย สัมผัส บรรยากาศของหนัง ภาพสวยเพลงเพราะ มีความเป็น Scottish ที่จับต้องได้ คล้ายกับ The Quite Man (1952) ของผู้กำกับ John Ford ที่สามารถถ่ายทอดบรรยากาศของชาว Irish ออกมาได้อย่างสวยงามหมดจรด

แนะนำกับคอหนัง Horror, Mystery, Suspense แฝงนัยยะการใช้ชีวิต พิสูจน์ศรัทธากับศาสนา(คริสต์), นักกวี จิตรกร นักดนตรี ผู้ชื่นชอบกลิ่นอายของดินแดน Scottish, แฟนๆนักแสดง Christopher Lee ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับการโกหกหลอกลวง ทำทองไม่รู้ร้อน ภาพโป๊เปลือย และการบูชายัญ

TAGLINE | “The Wicker Man คือดินแดนสรวงสวรรค์ Paradise ของ Christopher Lee แต่คือนรกบนดินของชาวคริสเตียน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: