The Wife (2017) : Björn Runge ♥♥♥♡
ความสำเร็จของผู้ชาย มักมีเบื้องหลัง ‘ภรรยา’ คือคนคอยให้ความช่วยเหลือผลักดัน แต่มันจำต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ? ภาพยนตร์แนว Feminist ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีความกล้า อย่าขลาดหวาดกลัวต่อขนบวิถีดั้งเดิม แต่ผู้กำกับดันจมปลักอยู่กับ Bergmanesque
Wild Strawberries (1957), Scenes from a Marriage (1973) หลายๆผลงานของ Ingmar Bergman ถ้าใครเป็นแฟนเดนตาของปรามาจารย์ผู้กำกับสัญชาติ Swedish จะพบเห็นร่องรอย ความคล้ายคลึง ไม่ใช่ว่าผลลัพท์ออกมาย่ำแย่ แต่… แบบเดียวกับ Green Book (2018) ไม่มีอะไรแปลกใหม่ นอกเสียจากการแสดงของ Glenn Close และ Jonathan Pryce
หนังมีอีกปัญหาคือไคลน์แม็กซ์ไม่ทรงพลังสักเท่าไหร่ เพราะผู้ชมส่วนมากน่าจะคาดเดาได้อยู่แล้วว่า ข้อเท็จจริงคืออะไร? ซึ่งวินาทีแตกหักของสามี-ภรรยา มันเลยเหมือนทีเล่นทีจริง ทำไมเพิ่งมาครุ่นคิดได้ตอนนี้ และถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นั้นเธอจะสามารถก้าวออกจากกะลาคลอบได้จริงๆหรือ
Björn Lennart Runge (เกิดปี 1961) ผู้กำกับ/เขียนบท สัญชาติ Swedish เกิดที่ Lysekil, เรียนจบสาขาภาพยนตร์จาก Dramatiska Institutet ระหว่างนั้นเคยช่วยงานผู้กำกับ Roy Andersson กำกับหนังสั้นคว้ารางวัล Greger Olsson köper en bil (1991), ผลงานเด่นๆ Om jag vänder mig om (1993), Mun mot mun (2006), โกอินเตอร์กับ The Wife (2017)
ต้นฉบับ The Wife (2003) คือนวนิยายแต่งโดย Meg Wolitzer (เกิดปี 1959) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน และเธอยังเป็นอาจารย์สอน MFA program ที่ Stony Brook Southampton
ลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ของ The Wife ได้รับการติดต่อขอซื้อตั้งแต่ตอนนวนิยายวางขาย แต่จนแล้วจนรอด ผ่านมือผู้กำกับ/นักเขียนมากมาย ใช้เวลา 14 ปีเต็มๆกว่าจะได้เริ่มสร้าง โดยพัฒนาบทหนังโดย Jane Anderson (เกิดปี 1954) นักแสดง/นักเขียน/ผู้กำกับหญิง ฝั่งโทรทัศน์ สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นอาทิ The Positively True Adventures of the Alleged Texas Cheerleader-Murdering Mom (1993), The Baby Dance (1998), Normal (2003), Olive Kitteridge (2014) ฯ
เรื่องราวของ Joseph Castleman (รับบทโดย Jonathan Pryce) นักเขียนนวนิยายชื่อดัง กำลังจะได้รับรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม ออกเดินทางไป Stockholm ร่วมกับภรรยาสุดที่รัก Joan Castleman (รับบทโดย Glenn Close) แต่ถูกนักข่าว Nathaniel Bone (รับบทโดย Christian Slater) ติดตามตื้อไม่เลิก เพื่อขอลิขสิทธิ์เขียนหนังสือชีวประวัติ ซึ่งความละเอียดอ่อนของการค้นหาข้อมูล ทำให้เขาค้นพบสิ่งที่อาจเป็นข้อเท็จจริงบางอย่างของสามี-ภรรยาคู่นี้
นำแสดงโดย Glenn Close (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Greenwich, Connecticut เรียนจบสาขาการแสดง คณะมานุษยวิทยาจาก College of William & Mary จบออกมาเป็นนักแสดงละครเวที Broadway, ภาพยนตร์เรื่องแรก The World According to Garp (1982) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Big Chill (1983), The Natural (1984), Fatal Attraction (1987), Dangerous Liaisons (1988), โด่งดังสุดคือ Reversal of Fortune (1990), 101 Dalmatians (1996), Air Force One (1997)
รับบท Joan Castleman จากนักศึกษาหญิงตกหลุมรักครูสอนวิชาวรรณกรรม แก่งแย่งชิงเขาจากภรรยา รักมาถึงขนาดยินยอมเสียสละพรสวรรค์เขียนนิยายตนเอง ทุ่มเทเวลาให้เขาทุกสิ่งอย่าง ขณะที่ภายนอกพบเจอใครๆเอาแต่ยิ้มแย้ม แต่เบื้องลึกภายในเก็บกดสะสมความอึดอัดอั้น เพราะแท้จริงแล้ว
เดิมนั้นบทบาทนี้ Jane Anderson วาดภาพไว้คือ Frances McDormand แต่ความล่าช้าของโปรเจคทำให้เปลี่ยนมาเป็น Glenn Close ซึ่งเธอได้สร้างมิติให้ตัวละครอย่างลุ่มลึกล้ำ รอยยิ้มหลบซ่อนเร้นความรู้สึกแท้จริงภายใน เมื่อผู้ชมเริ่มตระหนักครุ่นคิดได้มันช่างมีความหลอกหลอน หวาดสะพรึง เพราะอะไร? ทำไม? ถึงดื้อรั้นดึงดัน อดรนฝืนทนอยู่ได้!
เกร็ด: Annie Starke นักแสดงที่รับบท Joan วัยสาว คือลูกจริงๆของ Glenn Close กับสามีนักธุรกิจ John Starke
Jonathan Pryce (เกิดปี 1947) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติ Welsh เกิดที่ Carmel, Flintshire ระหว่างเรียนมัธยม ครูที่โรงเรียนส่งเสริมสนับสนุนให้เอาดีด้านการแสดง สมัครเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art ถึงขนาดได้ทุนการศึกษา กลายเป็นนักแสดง ‘new wave’ รุ่นเดียวกับ Alan Rickman, Kenneth Branagh ฯ จากนั้นแสดงละครเวที เข้าร่วม Everyman Theatre Liverpool Company ต่อด้วย Royal Shakespeare Company, สำหรับภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆอาทิ Something Wicked this Way Comes (1983), Brazil (1985), Carrington (1995), Evita (1996), Regeneration / Behind the Lines (1997), G.I. Joe (2009, 2013), The Man Who Killed Don Quixote (2018) ฯ
รับบท Prof. Joseph Castleman นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ประสบความสำเร็จ กำลังได้รับการยกย่องด้วยรางวัล Nobel prize in Literature แม้ภายนอกจะยกย่องภรรยาคู่ชีวิต แต่ตัวตนแท้จริงกลับกลอกปอกลอก เสือผู้หญิง ชอบนอกใจเมีย เอ่อล้นด้วยอีโก้ ทำตัวหัวสูง ฝีปากเฉลียวฉลาด แต่แท้จริงแล้ว…
ภาพลักษณ์ตั้งแต่หนุ่มยันแก่ของ Pryce เป็นคนพึ่งพาไม่ค่อยได้ อ่อนแอ ปวกเปียก เปาะแปะ ซึ่งพี่แกก็มักรับบทบาทลักษณะนี้มาโดยตลอด สำหรับ The Wife คือสามีที่เต็มไปด้วยภาพลักษณ์ สังคมยินยอมรับนับถือ แต่ภายในกลับแค่ผู้ชายขี้แพ้ เอาแต่กลืนกินอีโก้ของตนเอง
ถ่ายภาพโดย Ulf Brantås สัญชาติ Swedish โดยสถานที่ถ่ายทำปักหลักอยู่ Glasgow, Edinburgh, และ Arbigland Estate ที่ Dumfries ในช่วงฤดูหนาวเหน็บ
งานภาพของหนังเต็มไปด้วยรายละเอียด สีสัน มุมกล้อง ไดเรคชั่นขยับเคลื่อนไหว ล้วนแฝงนัยยะความหมายซ่อนเร้น อย่างการใช้รางเลื่อน, Hand-Held มักสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร อาทิ
– เต็มไปด้วยความสงสัย ใคร่ฉงน อะไรจริง-เท็จ ใช้รางเลื่อนค่อยๆขยับเคลื่อนไหว
– ตอนที่ตัวละครทะเลาะกัน มักจะใช้กล้อง Hand-Held ให้ภาพสั่นๆคลอน
ฯลฯ
ฉากแรกของหนังเริ่มต้นด้วย Sex Scene ของชาย-หญิงสูงวัย ที่แม้มีไฟแต่ค่อนข้างจืดชืด เพราะโทนสีฟ้าอมเขียว (Teal) ให้สัมผัสอันแห้งแล้ง จืดชืด อยากทำอะไรก็เอาเถอะ แก่ปูนนี้แล้วมันจะรู้สึกอะไรได้
ช็อตนี้ลึกซึ้งมากๆ ไม่เพียงโทนสีหรือภาพใบหน้าสะท้อนกระจก แต่คือหน้าอกของ ‘The Wife’ สะท้อนผ่านกระจกอีกบาน หมายถึงหัวใจ/จิตวิญญาณของเธอ คือทุกสิ่งอย่างให้ชีวิตคู่นี้ดำเนินยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ลูกนัท คือสิ่งที่ Joseph Castleman นิยมใช้ในการล่อลวงหญิงสาวให้ตกหลุมรักคลั่งไคล้ ทำลายเปลือกนอกเป็นสัญลักษณ์เพื่อเปิดเผยตัวตนแท้จริงภายใน ซึ่งการที่ Joan หยิบเม็ดขึ้นมากิน ก็แปลว่าเธอยินยอมรับเขานั่นเอง
นอกจากนี้เรายังสามารถมองนัยยะของการบีบเปลือกลูกนัท กับการเสียความบริสุทธิ์ของหญิงสาวก็ได้นะ
ข้ออ้างเป็น Babysitter แต่หญิงสาวกลับเดินตรงไปยังตู้เสื้อผ้า เปิดประตูหัวใจ สัญลักษณ์ตัวตน ธาตุแท้ (ของ Joseph) ซึ่งเธอได้ค้นพบ ครอบครองเป็นเจ้าของ
การเดินทางไป Stockholm เพื่อรับรางวัลอะไรสักอย่าง นี่เป็นการเคารพคารวะหนังเรื่อง Wild Strawberries (1957) แบบเต็มๆเลย (เรื่องนั้นไม่ได้ขึ้นเครื่องบิน แต่เรื่องนี้ได้ขึ้น) ซึ่งช่วงเวลาขณะนั้นหิมะตกหนัก หนาวเหน็บศูนย์องคา ขนาดว่าระหว่างการเดินทาง ทำให้โทนสีน้ำเงิน มอบสัมผัสอันเย็นยะเยือก ทั้งอากาศ และความสัมพันธ์ตัวละคร
หลายคนคงชื่นชอบฉากนี้มากๆ หลังจากสามี-ภรรยา ทะเลาะขึ้นเสียงอย่างรุนแรง แต่เมื่อโทรศัพท์จากลูกสาวดังขึ้น นั่นทำให้พวกเขากลับมายิ้มแย้ม คืนดี เพราะกำลังจะได้เป็นปู่-ย่า มีหลานของตนเอง
ให้ลองสังเกตวินาทีที่พวกเขารับโทรศัพท์
– พื้นหลัง/ผนังกำแพงทางฝั่ง Joan จะมีสีส้มอบอุ่น
– ตรงกันข้ามกับฝั่งของ Joseph คือลวดลายสีฟ้าอ่อน เย็นๆแต่ยังไม่ถึงยะเยือก
แถมให้นิดกับตอนต้นเรื่อง ที่ก็มีการแยกรับโทรศัพท์เช่นกัน แต่ความแตกต่างคือ
– ฝั่ง Joan พื้นหลังคือหน้าต่าง แสงสว่างสาดส่อง มีความจ้าๆเบลอๆ เหมือนน้ำตากำลังจะไหลพราก
– ส่วน Joseph รับโทรศัพท์ในห้องนอน พื้นหลังสลัวๆ ปกคลุมด้วยความมืดครึ้ม
รอยยิ้มอย่างมีเลศนัยของ Glenn Close มันช่างหลบซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างไว้จริงๆ ซึ่งฉากนี้ยังมีอีกสองสิ่งหลบซ่อนไว้
– ชายผู้นั่งสูบบุหรี่อยู่ด้านหลัง
– ภาพถ่ายใครสักคนประดับพื้นหลัง
ลองครุ่นคิดกันดูเองบ้างนะครับ ว่าจะหมายถึงอะไรได้บ้าง!
Joseph Castleman กำลังเกี้ยวพาราสีตากล้องสาว Elaine Mozell,
ฉากนี้ถ่ายทำในห้องโถงขนาดกลาง พื้นผนังโทนสีแดง-ส้มช่วงดูมีเลือดเนื้อชีวิตชีวา รายล้อมบานประตูสีเขียว, ทั้งห้องนี้สามารถตีความถึงภายในจิตใจของชายชรา เต็มไปด้วยประตูทางเข้า-ออก (เจ้าชู้ประตูดิน) สามารถหลบหลีกหนี ใช้วลีลาหว่านล้อมเอาตัวรอด แต่กลับไม่มีใครค้นพบตัวตนแท้จริงของเขา (นอกจากภรรยา)
หลายคนอาจมองว่าช็อตนี้จงใจหลุดโฟกัส Joan แล้วแทนด้วย Nathaniel Bone กำลังจับจ้องมอง ก่อนปรับภาพชัดอีกไม่กี่วินาทีถัดมา … แต่ผมเห็นช็อตนี้ต่อเนื่องจาก Joseph Castleman ขณะกำลังรับเหรียญรางวัล ซึ่งภาพเบลอๆก็แปลว่า บุคคลตัวจริง(ที่สมควรได้รางวัล) กำลังถูกเพิกเฉยมองข้าม ไม่มีใครใคร่สนใจ
คำกล่าวสุนทรพจน์ของ Joseph Castleman แม้จะเต็มไปด้วยคำปั้นยอภรรยา ซึ่งคือตัวจริงของเขา แต่แสงสป็อตไลท์สีฟ้าสาดส่องลงมาบนศีรษะ สะท้อนความเย็นยะเย็น เจ็บปวดรวดร้าวภายในจิตใจของตัวละคร ทำไมไม่ใช่ฉันที่เกิดมามีพรสวรรค์ ต้องหลบๆซ่อนๆสร้างภาพ กลืนกิน Ego ของตนเองอยู่แบบนี้
ช็อตที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่ายอดเยี่ยมสุดในหนัง ระหว่าง Joan เร่งรีบร้อนเดินทางกลับ มีปากเสียงกับสามีบนรถ แล้วเขาตัดสินใจโยนทิ้งเหรียญรางวัล Nobel Prize ออกนอกหน้าต่าง … ทำเป็นปากดี! ก่อนตัดมาช็อตนี้ที่ต้องให้คนขับรถช่วยค้นหา และสังเกตว่างานภาพจะค่อยๆเคลื่อนขึ้นสูงขณะรถขับเคลื่อนจากไป นี่เรียกว่าเป็นการยกระดับเหตุการณ์ มุ่งเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์ความสัมพันธ์/ความรู้สึกอึดอัดอั้นตันใจ หรือมองว่าคืออาการโล่งอกที่ได้กระทำ/ระบายบางสิ่งอย่างออกมา
วินาทีแห่งการเสียชีวิตของ… สังเกตว่าหนังเลือกใช้ Ceiling Shot ราวกับว่าวิญญาณของตัวละคร ได้เคลื่อนสู่สรวงสวรรค์/โลกมิติสูงกว่า กำลังก้มลงจับจ้องมองมา พิจารณาสภาพสุดท้าย ความตายของตนเอง
มันมีความน่าฉงนเล็กๆของช็อตนี้ เพราะ Joan แม้ได้ยินเสียงพูดของแอร์โฮสเตส แต่กลับไม่ใครสนใจเงยมองหน้าสบตา มุมกล้องก็เช่นกันเห็นแค่นี้แหละ (คงเพราะว่า นั่นไม่ใช่เรื่องอยู่ในความใคร่สนใจของเธออีกต่อไป) ยกเว้นแต่ Nathaniel Bone ก้มลงมานั่งสนทนาข้างๆ ก่อนถูกตอกหน้าให้เลิกยุ่งวุ่นวายกับสิ่งที่เขาคาดคะเนนั้นเสียที (คงประมาณว่า ฉันเองนี่แหละจะเป็นคนเขียน The Wife เอง!)
ช็อตเกือบท้ายๆสุดของหนัง Joan เปิดสมุดจดบันทึก มาจนถึงหน้าถัดไปที่ว่างเปล่า นี่สามารถตีความได้ถึงอนาคตต่อไป เป็นสิ่งเขียนขึ้นด้วยลายมือ ลายเซ็นต์ ตัวอักษรของตนเอง ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร หรือจะแปลว่าอนาคตที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้
ตัดต่อโดย Lena Runge, หนังใช้มุมมองเล่าเรื่องของ Joan Castleman เริ่มต้นจากปีปัจจุบัน 1992 ร่วมกับสามีเดินทางไปรับรางวัล Nobel Prize แล้วค่อยๆหวนระลึกนึกย้อนถึงเรื่องราวในอดีตเมื่อครั้นยังสวยสาว
– 1958 ครั้งแรกที่ Joan พบเจอกับ Joseph
– หลังเรียนจบทำงาน ทำงานในสำนักพิมพ์ ตีพิมพ์ผลงานแรกในนามสามี The Walnut
– 1968 ทั้งสองอาศัยอยู่บ้านริมทะเลที่ Connecticut ระหว่างที่ Joan ทำงาน Joseph รับหน้าที่เลี้ยงดูลูก
หนังใช้วิธีเล่าเรื่องเช่นนี้ เพื่อค่อยๆเปิดเผยเบื้องหลัง/ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองปกปิดบังต่อสาธารณะ ซึ่งจะไม่มีการพูดเฉลยออกมาตรงๆ ผู้ชมต้องครุ่นคิดทำความเข้าใจด้วยตนเองจากรายละเอียดต่างๆที่นำเสนอผ่านการย้อนอดีต
การตัดต่อมัักสลับไปมาระหว่างสามี-ภรรยา, รับโทรศัพท์ก็คนละเครื่อง, ด้านล่าง-บนเวที, หรือขณะ Joan พูดคุยกับ Nathaniel Bone พร้อมๆกับ Joseph เกี้ยวพา Elaine Mozell ฯ ราวกับทั้งสองคือส่วนเติมเต็ม อีกด้านหนึ่งของกันและกัน
เพลงประกอบโดย Jocelyn Pook นักแต่งเพลงหญิง เล่นเปียโน และวิโอล่า สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Eyes Wide Shut (1999), Gangs of New York (2002) ฯ
ฉากปัจจุบันจะใช้ออเครสต้าเครื่องสาย วิโอล่า ไวโอลิน เชลโล่ ดับเบิ้ลเบส เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกภายในจิตใจของตัวละคร อันเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น หนาวเหน็บยะเยือก อยากที่จะคลุ้มคลั่ง กรีดร้อง แต่มิสามารถแสดงออกมาได้
ขณะที่ฉากย้อนอดีตจะพอได้ยินเสียงเปียโนบรรเลงแทรกตัวท่ามกลางออเครสต้าเครื่องสาย เพื่อสะท้อนโอกาส แสงสว่าง ความหวัง ยังพอพบเห็นอยู่ได้บ้างภายในจิตใจของตัวละคร
ในโลกยุคสมัยก่อนที่เพศชายเป็นใหญ่ โอกาสของผู้หญิงจะประสบความสำเร็จ ได้รับการยินยอมรับจากสังคม(ของผู้ชาย) แทบเป็นไปไม่ได้! The Wife คือภาพยนตร์ที่นำเสนอวิถีความเชื่อนั้น ปลูกฝังตราตรึงในจิตใจหญิงสาว เธอจึงตัดสินใจยินยอมก้มหัว อ่อนข้อ เดินตาม ช้างเท้าหลังบุรุษ โกหกหลอกลวงตนเองว่า แบบนี้คือหนทางเลือกดีที่สุด กาลเวลาผ่านไปจนแก่ชรา หวนระลึกนึกย้อนถึงค่อยตระหนักความโง่เขลาเบาปัญญา วินาทีนั้นจึงพยายามดิ้นรนออกจากรัง … โชคดีที่เกิดปาฏิหารย์
ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสร้างขึ้น 4-5 ทศวรรษก่อน เชื่อว่าคงสร้างกระแส ปลุกปั่นจิตสำนึกผู้คน โดยเฉพาะเพศหญิงให้สามารถตระหนัก ครุ่นคิดได้ กล้ากระทำในทุกสิ่งถูกกีดกั้นขวาง (โดยบุรุษ) … แต่ยุคสมัยปัจจุบันนี้ โลกทัศนคติเสมอภาคเท่าเทียม Feminist ทำให้ใจความลักษณะนี้ค่อนข้างเฉิ่มเชย พบเห็นทั่วไป และลึกๆสร้างความบาดหมางให้ผู้ชาย จะมีคนกล้ากลืนศักดิ์ศรีของตนเองได้ยาวนานขนาดนั้นจริงๆนะหรือ!
ขนาด Big Eye (2014) ยังแค่ไม่กี่ปีก็ถึงขั้นแตกหักกันเสียแล้ว!
แม้ทีมงานส่วนหนึ่งของหนังคือผู้หญิง นักเขียนบท, ทำเพลงประกอบ ฯ แต่การที่ผู้กำกับเป็นชาย ผมว่าทำให้หนังขาดสัมผัสอันนุ่มนวลอ่อนไหว -เรียกได้ว่า หนัง Feminist ในมุมบุรุษเพศ- ซึ่งประเด็นหนึ่งน่าหงุดหงิดมากๆ คือตัวละครลูกชายผู้โหยหาการยินยอมรับจากพ่อ ซึ่งพอรับรู้ข้อเท็จจริงก็แค่ปลวกจอมปลอม อนาคตของเขามันจะมี ‘ความเป็นชาย’ หลงเหลืออยู่สักเท่าไหร่!
คือผมมองว่า ถ้าในมุมมองของผู้กำกับหญิง จะไม่นำเสนอประเด็นลูกชายให้มีความรุนแรงก้าวร้าวขนาดนี้ และอาจเพิ่มเติมบทบาทของลูกสาว ไม่ใช่แค่กำลังตั้งครรภ์ใกล้คลอด แต่รวมถึงความสัมพันธ์ต่อพ่อ และการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อรับรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย!
นอกจากมุมมองทางเพศ หนัง/นวนิยายเรื่องนี้ ยังนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเหตุผลการเขียนนวนิยาย มันต้องออกมาจากแรงผลักดัน ความต้องการภายในเท่านั้นถึงจะออกมาดี
“A true writer does not write to be published. He writes because he has something urgent and personal he need to say”.
คนในวงการนี้คงสามารถเข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ถึงนัยยะความหมายดังกล่าว แต่มันไม่จำเป็นต้องนักเขียนอาชีพเดียวกันนะครับ จิตรกร นักออกแบบ โปรแกรมเมอร์ ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ ฯลฯ ใครก็ตามสามารถพัฒนาตนเองได้ถึงระดับ ‘ศิลปิน’ จะมีความเร่งรีบร้อน ต้องการนำเสนอถ่ายทอดผลงานผ่านสื่อ/ศิลปะที่ตนถนัด เพื่อเป็นการระบายความอึดอัดอั้น ความคิดสร้างสรรค์สะสมอยู่ในหัวสมอง เปรียบดั่งลมหายใจแห่งจิตวิญญาณ ขาดช่วงสักเล็กน้อยแทบจะขาดใจตาย … เวลาผมหยุดดูหนังไปหลายวัน ก็มักหงุดหงิดยังไงชอบกลเหมือนกัน!
และตัวละครน่าทึ่งสุดๆของหนังคือนักข่าว Nathaniel Bone ผู้ศึกษาเข้าใจผลงานวรรณกรรมอย่างถ่องแท้ จึงสามารถรับรู้เข้าใจ ถึงผู้ที่สมควรถูกยกย่องนับถือคือใคร! นี่เป็นบุคคลที่ต้องใช้จินตนาการ ทุ่มเทพยายาม ‘แฟนพันธุ์แท้’ ทั้งๆไม่ใช่คนสนิทสนมใกล้ชิด แต่ถ้าเคารพรักกันจริงก็มักพบเห็นบางสิ่งที่ตามองไม่เห็น เข้าใจสัจธรรมแม้จักถูกถูกบอกปัดปฏิเสธ ยืนกรานจากเจ้าตัวว่าไม่ถูกต้องก็ตาม
สิ่งหนึ่งที่ผมใคร่สงสัยในตัวผู้กำกับ Björn Runge ทำไมถึงรับอิทธิพลของปรมาจารย์ Ingmar Bergman มามากขนาดนี้? ผู้กำกับคนโปรดนะคงใช่แน่ ซึ่งถ้าใครเคยศึกษาชีวประวัติก็น่าจะรับรู้ว่า Bergman คือจอมเจ้าชู้ประตูดินคนหนึ่ง แต่งงานห้าครั้ง ชู้รักอีกไม่รู้เท่าไหร่ ชมชอบนำเสนอตัวตนเองผ่านผลงานภาพยนตร์ … ไม่แตกต่างจากหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ผู้หญิงคือปัจจัยที่ทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
โลกยุคสมัยนี้มันเปลี่ยนแปลงไปแล้วนะครับ ‘บุรุษไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างของอิสตรีอีกต่อไป’ เลิกที่จะครอบครอง ครอบงำ เดินนำเป็นช้างเท้าหน้าได้แล้ว เรียนรู้การ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ให้เกียรติ มอบสิทธิเสมอภาค นั่นจะทำให้ชีวิตมีคุณค่า ครองคู่อย่างยั่งยืน สงบสุข จนแก่เฒ่าสำเร็จ
หนังเข้าฉายเทศกาล Toronto International Film Festival (TIFF) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2017 ซึ่งพอได้ Sony Picture Classics เป็นผู้จัดจำหน่าย ตัดสินใจเลื่อนฉายหนึ่งปีเต็ม เพื่อผลักดัน Glenn Close มีลุ้นคว้ารางวัล Oscar ปีถัดไป … ซึ่งต้องถือว่าประสบความสำเร็จดั่งคาดหวังจริงๆ
ในงานประกาศรางวัล Golden Globe Award สีหน้าของ Close ตอนได้รับรางวัลช่างตราตรึงมากๆ และคำกล่าวสุนทรพจน์ได้รับการยืนปรบมือ
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจในการแสดงอันลุ่มลึกล้ำของทั้ง Glenn Close และ Jonathan Pryce ขณะที่ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Björn Runge โดยรวมถือว่ายอดเยี่ยม แต่ขาดความเป็นตัวของตนเองไปเสียหน่อย
แนะนำคอหนังครอบครัว ดราม่า Feminist ความรักของผู้สูงวัย, โดยเฉพาะนักเขียนหนังสือ นิยาย บทความ, แฟนๆนักแสดง Glenn Close และ Jonathan Pryce ไม่ควรพลาด!
จัดเรต 18+ กับความตึงเครียด กดดัน ขัดแย้ง รอยบาดหมางระหว่างสมาชิกในครอบครัว
Leave a Reply