The Wild Bunch

The Wild Bunch (1969) hollywood : Sam Peckinpah ♥♥♥

ทศวรรษแห่ง New Hollywood เริ่มต้นที่ Bonnie and Clyde (1967) แล้วถึงจุดสูงสุดที่ The Wild Bunch (1969) เมื่อผู้กำกับขี้เมา Sam Peckinpah ใช้กระสุนปืนกว่า 90,000 นัด ผ่านการตัดต่อกว่า 3,500 คัท กราดยิงฝูงชนผู้บริสุทธิ์ตาดำๆ ตายเกลื่อนแทบยกเมือง แต่ใครจะไปคิดว่าฝูงอมนุษย์เดนคนพวกนี้ยังมีจิตสำนึกรับไม่ได้ต่อความไร้อายธรรมของพวกเม็กซิกัน

จุดสูงสุดที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถไปถึง คือการนำเสนอความรุนแรง บ้าคลั่งในระดับเสียสติแตก ตัวละครมีความอัปลักษณ์ทั้งภายนอกและภายใน กระทำสิ่งโหดโฉดชั่วร้ายไร้จิตสำนึก ใช้ชีวิตเพื่อสนองความพึงพอใจส่วนตน เหมือนสัตว์เดรัจฉานที่ทำทุกสิ่งอย่างด้วยสันชาติญาณ

ทั้งๆที่กลุ่มของ The Wild Bunch เลวร้ายระดับพวกเดนมนุษย์ แต่กลับยังมีเปรตเดินดินที่โหดโฉดชั่วยิ่งกว่า กับเหตุการณ์ในฉากไคลน์แม็กซ์ มุมหนึ่งอาจมองว่าพวกเขาสามารถกลับตัวกลับใจ แต่ผมคิดว่ามันคือบทพิสูจน์การมีตัวตน และค้นพบคุณค่าของความเป็น’มนุษย์’

ส่วนตัวเคยรับชม The Wild Bunch เมื่อประมาณชาติก่อนๆ จริงๆก็หลงลืมไปหมดแล้วว่าเคยคิดรู้สึกยังไงกับหนัง แต่แค่พอรับชมฉากแรกจบไปก็หวนระลึกนึกออกโดยทันที นี่มันหนังที่ผมโคตรเกลียดเลยนี่หว่า เต็มไปด้วยความรุนแรงที่ต้องอุทาน ‘เxย’ ออกมาเป็นสิบๆครั้ง จนกระทั่งถึงตอนจบก็มิอาจยินยอมรับให้อภัยพวกเขาได้

สำหรับการรับชมครั้งนี้ก็ยังคงไม่ค่อยชอบเหมือนเดิมนะแหละ แต่เมื่อวางตัวเป็นกลางมองหนังอย่างไร้อคติ ทำให้เกิดความเข้าใจอะไรๆหลายอย่าง พบเห็นภาษาและไดเรคชั่นที่ยังสดใหม่ในระดับปฏิวัติวงการ ชวนให้ขนลุกขนพองอย่างยิ่งทีเดียว

ความสวยงามของสิ่งอัปลักษณ์ ไม่ได้ปรากฎเป็นภาพหรือสิ่งที่เรามองเห็นเบื้องหน้า แต่ต้องใช้อารมณ์ความรู้สึกสัมผัสรับรู้ เกิดความเข้าใจสิ่งที่อยู่ส่วนลึกภายใน พบเห็นจุดสว่างเล็กๆที่ส่องนำทางพวกเขาอยู่ นั่นเรียกว่าประกายแสงแห่งความหวัง งดงามมีคุณค่ายิ่งกว่าเพชรแสนกะรัตเสียอีก

David Samuel Peckinpah (1925 – 1984) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เจ้าของฉายา ‘Bloody Sam’ เกิดที่ Fresno, California, ครอบครัวอพยพจาก Frisian Islands (ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป) สู่ American West ด้วยรถลาก สมัยเด็กวันๆเอาแต่โดดเรียน คบหากับคาวบอยที่ทำงานอยู่แถวฟาร์มปศุสัตว์ของปู่ ชื่นชอบการเล่นฟุตบอล แต่เก่งเรื่องทะเลาะวิวาทต่อยตี ช่วงสงครามโลกสมัครเป็นทหารเรือ ประจำการอยู่ปักกิ่ง พบเห็นความขัดแย้งสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น แต่ไม่เคยได้รับคำสั่งให้ช่วยเหลือตอบโต้ใดๆ สัปดาห์ก่อนหน้าปลดประจำการต้องการปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น แต่งงานกับสาว/โสเภณีท้องถิ่น แต่กลับถูกบอกเลิกปฏิเสธ หวนกลับมา Los Angeles กลายเป็นนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ California State University แต่งงานกับภรรยาคนแรกที่เป็นนักเรียนสาขาการแสดง ทำให้เริ่มมีความสนใจด้านนี้ กลายเป็นผู้กำกับละครเวที ตามด้วยสู่วงการภาพยนตร์เริ่มจากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Don Siegel, กลายเป็นนักเขียนซีรีย์ Western กำกับตอน Pilot ซีรีย์ The Westerner (1960), ภาพยนตร์เรื่องแรก The Deadly Companions (1961) นำแสดงโดย Maureen O’Hara, โด่งดังกลายเป็นตำนานกับ The Wild Bunch (1969), Straw Dogs (1971) ฯ

Peckinpah เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่สุดเหวี่ยง ดื่มเหล้าแทนน้ำ เล่นยา มีปากเสียงทะเลาะวิวาทกับเหล่าโปรดิวเซอร์และเพื่อนร่วมงานบ่อยครั้ง (ชีวิตจริงแทบไม่ต่างอะไรกับกลุ่ม The Wild Bunch) ว่ากันว่าเหตุผลที่ทำให้เขากลายเป็นแบบนี้ เพราะภาพติดตาจากการไปประจำการที่ปักกิ่ง จึงชื่นชอบนำเสนอภาพความรุนแรง คอรัปชั่น โหดโฉดชั่วร้ายในจิตใจมนุษย์และสังคม ถ่ายทอดลงไปในผลงานภาพยนตร์

“Pouring new wine into the bottle of the Western, Peckinpah explodes the bottle”

– นักวิจารณ์ชื่อดัง Pauline Kael ให้คำนิยามผู้กำกับ Sam Peckinpath

ประมาณปี 1967 เมื่อสตูดิโอ Fox คว้าลิขสิทธิ์ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969) ด้วยจำนวนเงินมหาศาล สตูดิโอ Warner Bros.-Seven Arts เลยต้องการสร้างภาพยนตร์ที่มีลักษณะคล้ายๆกันเพื่อเกาะกระแส ขณะนั้นมีบทหนังเรื่อง The Wild Bunch เขียนโดย Roy Sickner กับ Walon Green ว่างอยู่ โปรดิวเซอร์จึงส่งมอบให้ Sam Peckinpah ทำการแก้ไขปรับปรุงพัฒนา

“thinking that I would like to see a western that was as mean and ugly and brutal as the times, and the only nobility in men was their dedication to each other.”

– Walon Green

หลังจาก Peckinpah รับชม Bonnie and Clyde (1967) ประกาศท้าทายจะสร้างภาพยนตร์ที่นำเสนอความรุนแรงยิ่งกว่า เมื่อได้อ่านเรื่องราวของ The Wild Bunch ก็ค้นพบความปรารถนานี้ ตบปากรับคำโปรดิวเซอร์โดยทันที แถมนำอิทธิพลเพิ่มเติมจากการที่อเมริกาเสนอหน้าไปเข้าร่วมสงครามเวียดนาม (ตั้งแต่ปี 1965) ภาพข่าวที่นำเสนอในโทรทัศน์ แทบไม่เคยมีการเซนเซอร์ปกปิดบังอะไรเลย ท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คนนอนตายเกลื่อนกราด เด็กๆนั่งดูจดจำติดตา เช่นนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นกับคนรุ่นถัดไป

พื้นหลัง Texas ปี 1913, Pike Bishop (รับบทโดย William Holden) หัวหน้ากลุ่มนอกกฎหมาย The Wild Bunch และพรรคพวก ควบม้าเดินทางสำนักงานการรถไฟเพื่อปล้นเงินจำนวนมหาศาล กำลังถูกซุ่มดักรอโดย Deke Thornton (รับบทโดย Robert Ryan) และเหล่านักล่าค่าหัวเงินรางวัล แต่ขณะนั้นดันมีขบวนพาเรดชุมชนกำลังเดินผ่านหน้า Pike ใช้ผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นเป็นที่กำบัง ส่วน Deke กลับไม่สามารถควบคุมลูกน้องในสังกัดได้ การต่อสู้ดำเนินขึ้นพร้อมผู้บริสุทธิ์ตายเป็นเบือ ขณะที่สมาชิกหัวโจ๊กของ The Wild Bunch สามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้ถึง 5 คน

ความล้มเหลวจากการปล้นครั้งนี้ ทำให้ Pike และ The Wild Bunch ตัดสินใจข้าม Rio Grande ไปฝั่งประเทศ Mexico สู่เมืองที่นำโดย General Mapache (รับบทโดย Emilio Fernández) เจ้าหน้าที่คอรัปชั่นของ Mexican Federal Army ว่าจ้างให้พวกเขาปล้นรถไฟ ขโมยอาวุธแลกกับเหรียญทองคำจำนวนมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่า Deke ย่อมต้องดักรอคอยพวกเขาอยู่ และติดตามสะกดรอยข้ามเขตแดน

แม้การแลกเปลี่ยนอาวุธกับทองคำจะเป็นไปด้วยดี แต่ความโฉดชั่วร้ายของ General Mapache ทำให้ Pike และ The Wild Bunch มิอาจอดรนทนต่อไปได้ เลือกต่อสู้เผชิญหน้าแบบลูกผู้ชายแทนที่จะวิ่งหนีหางจุกตูด เข่นฆ่าล้างบางทหารเม็กซิกัน จนถูกปลิดชีพด้วยกระสุนที่มาจากเด็กชายคนหนึ่ง

William Holden ชื่อเดิม William Franklin Beedle, Jr. (1918 – 1981) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ O’Fallon, Illinois ในครอบครัวฐานะร่ำรวย ขณะเข้าเรียน Pasadena Junior College ให้เสียงพากย์ละครวิทยุ คงไปเข้าตาแมวมองจับเซ็นสัญญากับ Paramount บทนำเรื่องแรก Golden Boy (1939) ประกบ Barbara Stanwyck ซึ่งเธอมีความชื่นชอบ Holden เป็นอย่างมาก (คงในฐานะพี่น้อง) จึงช่วยเหลือผลักดันจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง, หลังกลับจากสงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นตำนานกับ Sunset Boulevard (1950), Stalag 17 (1953) ** คว้า Oscar: Best Actor, Sabrina (1954), The Bridge on the River Kwai (1957) แต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ กำลังที่จะจืดจางหายไปจนกระทั่ง Comeback กับ The Wild Bunch (1969), The Towering Inferno (1974), Network (1976) ฯ

รับบท Pike Bishop ผู้นำกลุ่ม The Wild Bunch ด้วยความสูงวัย เป็นอาชญากรมาก็แสนนานจึงเริ่มคิดเกษียนตัวเอง ต้องการออกปล้นครั้งสุดท้ายนี้เพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขสงบ แต่เพราะครั้งหนึ่งปล่อยให้เพื่อนสนิท Deke Thornton ถูกจับ อดีตจึงค่อยๆตามมาหลอกหลอนติดตาม และเมื่อได้พบเห็นความโหดโฉดชั่วร้ายเกินมนุษย์ของพวกเม็กซิกัน เลยตัดสินใจลากเปรตพวกนี้ลงนรกไปด้วย

“Let’s Go”

ไม่ต้องมีคำพูดบรรยายอธิบายใดๆ สมาชิกที่เหลือของ The Wild Bunch ต่างรับทราบคำสั่งนี้โดยทันที และรู้ตัวว่าคือสิ่งสุดท้ายในชีวิต หลีกเลี่ยงหนีไม่ได้อีกต่อไป

ตัวเลือกของ Peckinpah ก่อนหน้านี้ อาทิ Richard Boone, Sterling Hayden, Charlton Heston, Burt Lancaster, Lee Marvin, Robert Mitchum, Gregory Peck, James Stewart ฯ เห็นว่า Marvin ตบปากรับคำแล้ว แต่ถูกดึงตัวไปเล่นหนังเรื่อง Paint Your Wagon (1969) เพราะได้ค่าตัวสูงกว่า

จากหนุ่มสุดหล่อสมัยวัยรุ่น แปรสภาพกลายมาเป็นโคตรคนโหดโฉดชั่ว สนใจแต่เรื่องของตนเอง นี่เป็นภาพลักษณ์ของ Holden ที่แทบจะตรงกันข้ามจากแต่ก่อน เหมือนการพลิกบทบาทแต่นั่นคือสถานภาพของเขาจริงๆขณะนั้น หลังจากเคยประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ ค่อยๆตกต่ำลงจนเกือบเลือนหาย นี่คือผลงาน Comeback ถ่ายทอดความรู้สึกอัดอั้น เจ็บปวด ทุกข์ทรมานของตนเอง ผ่านตัวละครได้อย่างสมบูรณ์แบบ, นักวิจารณ์หลายคนยกย่องว่า นี่เป็นการแสดงยอดเยี่ยมกว่าเรื่องที่ Holden คว้า Oscar: Best Actor เสียอีกนะ

เกร็ด: Holden ได้รับบาดเจ็บระหว่างการถ่ายทำ จากการถูกประทัด (Squib) กระเด็นกระดอนถูกมือไหม้แขน

Ernest Borgnine (1917 – 2012) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hamden, Connecticut พ่อแม่เป็นผู้อพยพจากอิตาลี ตอนเด็กไม่มีความสนใจการแสดงแม้แต่น้อย สมัครเป็นทหารเรือ ได้ประจำการเรือดำน้ำ USS Lamberton ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประจำ USS Sylph (PY-12) ปลดประจำการด้วยยศ Gunner’s Mate 1st Class กลับจากสงคราม ชีวิตของ Borgnine เกิดความเคว้งโดยทันที กลับไปอยู่อาศัยกับครอบครัวไม่มีการงานทำ เป็นแม่ของเขาที่ให้กำลังใจ แนะนำจากบุคลิกภาพลักษณ์ ท้าให้ไปสมัครเป็นนักแสดง เดินทางไป Virginia, Tennessee, New York ได้มีโอกาสแสดงใน Broadway จับพลัดพลูเป็นตัวร้ายในละครโทรทัศน์เรื่อง Captain Video and His Video Rangers (1949 – 1955) ได้เป็นตัวประกอบ The Whistle at Eaton Falls (1951) ตามมาด้วย From Here to Eternity (1953), Johnny Guitar (1954), Bad Day at Black Rock (1955), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง Marty (1955)

รับบท Dutch Engstrom มือขวาของ Pike ที่มักให้การช่วยเหลือ สนับสนุน เข้าข้างอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนิสัย พฤติกรรม ความสนใจของพวกเขาก็คล้ายๆกันด้วย, เพราะ Dutch เป็นคนเห็น Angel ถูก General Mapache จับตัวไปต่อหน้าต่อตา แม้อาจดูเขาต้องการหนีเอาตัวรอด แต่ลึกๆสีหน้าที่แสดงออกมา มีความขยะแขยงต่อการกระทำนั้นขั้นรุนแรง สุดท้ายยินยอมพร้อมเสี่ยงตายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนเดนตาย

ตัวเต็งบทบาทนี้ประกอบด้วย Charles Bronson, Jim Brown, Alex Cord, Robert Culp, Sammy Davis Jr., Richard Jaeckel, Steve McQueen, George Peppard ขณะที่ Ernest Borgnine ได้รับเลือกจากการแสดงเรื่อง The Dirty Dozen (1967)

Borgnine เป็นนักแสดงอีกคนที่หลังจากประสบความสำเร็จล้นหลาม ค่อยๆเลือนลางจางหายไปจนกลายเป็น Typecast เพราะความที่เป็นชายหนุ่มจิตใจดีงาม (จากเรื่อง Marty) กลับตารปัตรเป็นโหดโฉดชั่วร้าย พลิกบทบาทตัวเอง ผู้ชมคงคาดหวังให้มันต้องมีอะไรดีอยู่บ้างน่า จนถึงตอนจบถึงค่อยพบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ

มีนักข่าวถามถึง Borgnine กับบทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีดีเช่นไร

“I did [think it was a moral film]. Because to me, every picture should have some kind of a moral to it. I feel that when we used to watch old pictures, as we still do I’m sure, the bad guys always got it in the end and the good guys always won out. Today it’s a little different. Today it seems that the bad guys are getting the good end of it. There was always a moral in our story.”

Robert Bushnell Ryan (1909 – 1973) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Chicago, Illinois ระหว่างเรียนเป็นนักมวยรุ่น Heavyweight จบออกมาพยายามผลักดันตัวเองเข้าสู่วงการบันเทิง เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ปี 1944 เซ็นสัญญากับ RKO เริ่มมีชื่อเสียงจาก Crossfire (1947) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่น อาทิ King of Kings (1961), The Longest Day (1962), The Dirty Dozen (1966), The Wild Bunch (1969) ฯ

รับบท Deke Thornton อดีตเพื่อนสนิทร่วมก๊วนของ Pike วันหนึ่งโชคร้ายถูกจับติดคุก ทรมานแสนสาหัส เพราะไม่ต้องการหวนกลับเข้าไปในนั้นอีก ตอบรับงานเป็นผู้นำกองกำลังชุดติดตามพิเศษ ไล่ล่าจับตายสมาชิกกลุ่ม The Wild Bunch โดยมีเหล่าลูกน้องขี้เมา นักล่าค่าหัวเงินรางวัลที่พึ่งพาอะไรไม่สักเท่าไหร่

แม้มีความเฉลียวฉลาดอ่านเกมของเพื่อนเก่าออกทั้งหมด แต่ก็มิอาจทำอะไรได้มากนักจนกระทั่งสุดท้าย เมื่อพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา นั่งหมดสิ้นอาลัยตายอยากดูพระอาทิตย์ตกดิน ฟังเสียงปืนลั่นไม่ไกลจากตรงนั้นนัก ก่อนได้รับการชักชวนจากอีกหนึ่งเพื่อนเก่า ตราบใดยังมีชีวิตก็ต้องดิ้นรนต่อไป

ตัวเลือกของบทบาทนี้ ประกอบด้วย Richard Harris, Brian Keith (บอกปัดปฏิเสธ), Henry Fonda, Glenn Ford, Van Heflin, Ben Johnson, Arthur Kennedy ก่อนมาลงเอย Robert Ryan ที่ยอมถอนตัวจาก Once Upon a Time in the West (1968) เพราะได้รับบทเยอะกว่า

สีหน้า สายตาของ Ryan เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต เพราะความไม่ต้องการทนทุกข์ทรมานยามแก่ รับงานที่รู้ตัวว่าคงไม่มีทางทำสำเร็จแน่ แต่เมื่อโชคเข้าข้างก็เกิดความสิ้นหวัง  ละเหี่ยใจ นั่งเหม่อลอยมองออกไปไม่รู้จะทำอะไรกับชีวิตต่อดี, ผมไม่เคยรับชม Crossfire (1947) แต่คิดว่าบทบาทในหนังเรื่องนี้ น่าจะยอดเยี่ยมสุดในชีวิตของ Ryan แล้ว

Emilio ‘El Indio’ Fernández (1904 – 1986) ผู้กำกับชื่อดังในตำนานของประเทศ Mexico ที่มีผลงาน Maria Candelaria (1944) คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, เพราะความที่วงการภาพยนตร์พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก ประกอบกับอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้ เลยผันตัวมาเป็นนักแสดง ร่วมงานกับ Peckinpah ถึงสามเรื่อง The Wild Bunch (1969), Pat Garrett and Billy the Kid (1973), Bring Me the Head of Alfredo Garcia (1974)

รับบท General Mapache เจ้าหน้าที่คอรัปชั่นของ Mexican Federal Army มีความต้องการอาวุธปืนเพื่อนำไปใช้ในการสงคราม Mexican Revolution (1910–1920) ต่อสู้กับพรรคปฏิวัติแห่งชาติ, มีความเคียดแค้นส่วนตัวกับ Angel เพราะเป็นคนฆ่าหนึ่งในภรรยาน้อยของตน และความที่เป็นคนของกลุ่มปฏิวัติ จึงถูกปฏิบัติเหมือนหมูเหมือนหมา เป็นที่ตำตาทรมานใจต่อพรรคพวกกลุ่ม The Wild Bunch เป็นอย่างยิ่ง

ใบหน้าของ Fernández โอ้โห! โคตรแห่งความโฉดชั่วอัปลักษณ์ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ส่วนเรื่องการแสดงมีความมึนเมาแทบจะตลอดเวลา (ดูแล้วก็เหมือนคนกำลังเมาจริงๆนะแหละ)

เกร็ด: ว่ากันว่า Fernández คือคนที่เป็นโมเดลให้กับรูปปั้น Oscar ออกแบบโดย Cedric Gibbons เมื่อปี 1928

สำหรับตัวประกอบ ว่าจ้างจากทหารม้าชาวเม็กซิกันที่ประจำการอยู่ใกล้ๆสถานที่ถ่ายทำ วางแผนเตรียมชุดไว้ 350 ตัว แต่เอาเข้าจริงเหมือนจะไม่พอ, ส่วนตัวประกอบหญิงที่ถูกกลุ่ม The Wide Bunch ทั้งหลายลวนลาม เห็นว่าพวกเธอเป็นโสเภณีที่ว่าจ้างมาจึงกล้าทำอะไรบ้าๆแบบนั้นต่อหน้ากล้อง

ถ่ายภาพโดย Lucien Ballard ตากล้องสัญชาติอเมริกา ขาประจำของ Peckinpah ร่วมงานกันตั้งแต่ The Westerner (1960)

ถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมดยังประเทศ Mexico อาทิ Rio Nazas, Hacienda Ciénaga del Carmen (ลึกเข้าไปในทะเลทราย อยู่ระหว่างเมือง Torreón กับ Saltillo, Coahuila)

ถ่ายทำด้วยระบบ Panavision (Anamorphic) แลปสี Technicolor เน้นโทนน้ำตาลรับกับทะเลทราย บ้านดิน และเสื้อผ้าของตัวละคร

ถึงผู้กำกับ Peckinpah จะชื่นชอบความรุนแรงมากแค่ไหน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขามิอาจนำเสนอออกมาได้ นั่นคือ การทำให้เด็กถูกยิงเสียชีวิต

“Because I’m constitutionally unable to show a child in jeopardy.”

แต่สิ่งที่เขาสามารถทำได้ คือการสะท้อนภาพให้เห็นว่า เด็กๆเหล่านี้ต่างได้รับการปลูกฝังความรุนแรงมาตั้งแต่เล็ก, ในช็อตเปิดเรื่อง พวกเขาจับจ้องมองแมงป่อง กำลังถูกฝูงมดจำนวนมหาศาลรุมกัดทำร้าย แน่นอนว่าจนเสียชีวิต แทนที่พวกเขาจะให้การช่วยเหลือกลับเขี่ยๆ หัวเราะ ยิ้มแย้ม ต้องการให้พวกมันตายไวๆ เห็นแล้วน่าอนาถใจสิ้นดี

นัยยะของฉากนี้ ต่อให้แมงป่องที่ว่าพิษร้ายแรง ตัวใหญ่ขนาดไหน แต่เมื่อพบเจอกับฝูงมดที่มีจำนวนมากกว่า ก็คงดิ้นรนอยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายแล้วก็ย่อมต้องพ่ายแพ้สูญสิ้นชีวิตในที่สุด

ฉากที่ท้าทายอันตรายสุดของหนัง คือการระเบิดสะพาน นั่นม้าและคนจริงๆที่ยืนอยู่ นี่ถ้ามีอะไรผิดพลาดสตั๊นแมนเหล่านั้นก็อาจถึงตายได้เลย ค่าตัว $2,000 เหรียญไม่คุ้มแน่ ต้องใช้การวางแผนเตรียมการมาเป็นอย่างดีจริงๆ เทคเดียว กล้อง 6 ตัว (มีตัวหนึ่งตกลงไปในแม่น้ำแล้วสูญหายไปเลย)

ไดเรคชั่นที่พบบ่อยในหนังคือการซูมเข้า-ออก เคลื่อนแพนกล้อง ถ่ายจากระยะไกลๆโดยใช้เลนส์ Telephoto เพื่อให้ได้ภาพสัมผัสระยะใกล้ๆ ‘depth-of-field’ พื้นหลังด้านข้างจะถูกบีบให้อยู่ในกรอบ สร้างอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างให้เกิดขึ้น

ซีนที่โดดเด่นมากๆของไดเรคชั่นนี้ คือการเดินสวนสนามสู่ความตายของเหล่า The Wild Bunch มีชื่อเรียกว่า ‘Last Walk’ ตั้งกล้องถ่ายจากระยะไกล พบเห็นตัวละครเดินตรงเข้าหาหรือออกห่าง กล้องจะค่อยๆซูมเข้า/ออก ตัดต่อสลับเคลื่อนไหลเปลี่ยนทิศทางไปเรื่อยๆ ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง เกิดสัมผัสอารมณ์ที่เรียกว่า ‘Heroism’

ฉากไคลน์แม็กซ์ ถ่ายทำทั้งหมด 19 วัน ใช้ปืน 239 กระบอก กระสุนเปล่าหมดไปกว่า 90,000 นัด นี่มากกว่าที่ใช้ยิงกันใน Mexican Revolution เสียอีกนะ (เพราะตอนปฏิวัตินี้ ชาวเม็กซิกันส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใช้ปืน ซึ่งใครมีถือว่าได้เปรียบมากๆ)

ล้อกับสำนวน ‘gun down’ ที่แปลว่ากราดยิง การตายของ Pike มือข้างหนึ่งยังคงจับปืนชี้ขึ้นท้องฟ้า ราวกับจะยิงไปให้ถึงสรวงสวรรค์, ผมตีความฉากนี้ ‘ปืนคือพระเจ้า’ มนุษย์ 4-5 คนไม่มีทางต่อสู้เอาชนะผู้คนหลักสิบหลักร้อยได้แน่ แต่เมื่อครอบครองถืออาวุธปืน แม้แต่เด็กชายยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมยังสามารถยิงคนตายได้

เกร็ด: Body Count: 145 คน (ฉากเปิดเรื่อง 22 ศพ และไคลน์แม็กซ์อีก 112 ศพ)

ลักษณะการถ่ายทำของหนัง จะมีการตั้งกล้อง 6 ตัวจากหลายมุมมอง เพื่อบันทึกภาพฉากเดียวไปพร้อมๆกัน (รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากหนังของ Akira Kurosawa) โดยในฉากไคลน์แม็กซ์ มีการกำหนดความเร็วของภาพที่ 24 fps, 30 fps, 60 fps, 90 fps และ 120 fps แล้วค่อยไปว่ากันตอนตัดต่อจะเลือกใช้อะไร

ประมาณการรวมฟุตเทจความยาวฟีล์ม 333,000 ฟุต (ประมาณ 101,000 เมตร) จากการตั้งกล้องทั้งหมด 1,288 ครั้ง

ตัดต่อโดย Lou Lombardo ด้วยความที่ยังหนุ่มแน่น เพิ่งได้มีโอกาสร่วมงานกับ Peckinpah ในภาพยนตร์ฉายโทรทัศน์เรื่อง Noon Wine ถูกดึงตัวให้ไปร่วมงานกันถึง Mexico (ถ่ายทำไปตัดต่อไป) ใช้เวลายาวนานถึง 6 เดือนเต็มกว่าจะเสร็จสิ้น

มุมมองการเล่าเรื่อง มักตัดสลับไปมาระหว่างกลุ่ม The Wild Bunch กับพวกผู้ไล่ล่าติดตามของ Deke Thornton หลายครั้งมีการแทรกใส่ภาพย้อนอดีต Flashback เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของตัวละคร (ทั้งหมดเป็นของ Pike กับ Deke)

จุดเริ่มต้นของ Slow-Motion Dead Shot เกิดขึ้นครั้งแรกโดย Lombardo ในตอนหนึ่งของซีรีย์ Felony Squad (1967) ชื่อ My Mommy Got Lost ผู้ร้ายถูกยิงโดยตำรวจ แต่แทนที่จะล้มลงโดยทันทีกลับเป็นภาพสโลโมชั่น อันเป็นส่วนผสมของภาพ 24 fps กับ 72 fps นี่เป็นสร้างสัมผัสเน้นย้ำให้กับผู้ชม ได้รับรู้พบเห็นอย่างชัดๆว่า กำลังมีการตายเกิดขึ้น

“Let’s try some of that when we get down to Mexico!”

สิ่งที่เกิดขึ้นในฉากไคลน์แม็กซ์ของหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับ Martin Scorsese เรียกว่า ‘savage poetry’ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน เทรนด์ของภาพยนตร์ Action/Thriller แทบทุกเรื่องของยุคสมัยนี้ ที่มีการสลับไปมาระหว่างเร่งความเร็วกับสโลโมชั่น เพื่อโชว์ของ เน้นย้ำการต่อสู้/ความตาย ให้ผู้ชมเกิดสัมผัสอรรถรถ รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน รุนแรง เต็มอิ่มหนำที่สุด

ต้นฉบับของหนังความยาว 143-145 นาที แม้ขณะนั้นจะมีระบบเรตติ้งเกิดขึ้นแล้ว แต่เพราะผู้สร้างต้องการให้หนังได้เรต R ไม่ใช่ X และเพิ่มรอบฉายต่อวันได้ด้วย จึงมีการเล็มโน่นนี่นั่นออกไปประมาณ 10 นาที เหลือความยาวขณะออกฉาย 135 นาที (ฉากที่หายไป ส่วนใหญ่เป็นการย้อนอดีต)

เมื่อปี 1993 สตูดิโอ Warner Bros. ได้ทำออกฉายฉบับ Restoration โดยนำเอา 10 นาทีที่ถูกตัดทิ้งไปนำกลับมาใส่ใหม่ กลายเป็น Director’s Cut แต่กลับได้เรต NC-17 แบบมึนๆ ทั้งๆที่ฉากเพิ่มมาไม่ได้มีความรุนแรงแม้แต่น้อย อุทธรณ์ทิ้งไว้สองปีถึงค่อยได้เรต R

ประมาณการ 143 นาทีของหนัง มีการตัดต่อ 3,643 ครั้ง ซึ่งแค่ Sequence ไคลน์แม็กซ์ ในระยะเวลา 5 นาที มีถึง 325 ช็อต คำนวณแล้ว AVL (Average Shot Length) น้อยกว่า 1 วินาทีเสียอีก

Lombardo ที่อยู่ในกองถ่ายด้วยแทบตลอดเวลา เคยให้สัมภาษณ์ถึงการถ่ายทำหนังเรื่องนี้

“Over time, we became the Wild Bunch. I saw what Holden was doing. He was playing Sam. He was running the bunch like Sam ran the crew.”

เพลงประกอบโดย Jerry Fielding นักแต่งเพลง Jazz สัญชาติอเมริกา ที่มีผลงานดังอย่าง The Wild Bunch (1969), Straw Dogs (1971), The Outlaw Josey Wales (1976) ฯ

“The Wild Bunch gave me a chance to illustrate to the public, and the entertainment industry, that if a composer is given real freedom to create, he can produce a score that is unlike any other ever written,”

บทเพลง Main Title ให้สัมผัสของการกรีฑาเดินทัพเข้าสู่สมรภูมิรบ เสียงรัวกลอง Marching เพิ่มความฮึกเหิม กำลังใจ จนกระทั่งตอนจบของบทเพลง ทุกเสียงกระหึ่มดังขึ้น การเตรียมการสิ้นสุดลงแล้ว

La golondrina (แปลว่า The Swallow, นกนางแอ่น) บทเพลง Folk Song พื้นบ้านเม็กซิกัน แต่งโดย Narciso Serradell Sevilla (1843-1910) นักฟิสิกส์สัญชาติเม็กซิกัน เมื่อปี 1883 ถูกขับไล่ออกนอกประเทศในช่วง Franco-Mexican War (1861 – 1867) คำร้องเป็นการแทนภาพฝูงนกนางแอ่นขณะกำลังต้องย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล หวนระลึกคิดถึงบ้านเกิดที่กำลังจะจากไป

นี่เป็นบทเพลงแห่งการคร่ำครวญโหยหา จากลา ไม่อยากให้จากไปแต่ก็ได้แค่กล้ำกลืนฝืนอดทนไว้

Sound Effect เสียงปืนที่ได้ยินในหนัง ได้รับการปฏิวัติครั้งใหญ่กับหนังเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ราวกับ Typecast ไม่ว่ารุ่นไหน ยี่ห้อใดๆ ก็เป็นเสียงเดียวกันหมด Peckinpah ยืนกราน ด่าทอ หัวเสีย เห็นปืนกระบอกหนึ่งวางอยู่ข้างๆ ยิงกระสุนเปล่ากราดใส่ทีมงาน ทำให้ไม่มีใครกล้าหือ ยินยอมบันทึกเสียงปืนแยกแต่ละชนิด หลับตาก็สามารถฟังออกว่านั่นปืนสั้น ไรเฟิล ลูกซอง หรือปืนกล

เหนือก้อนเมฆยังมีท้องฟ้า เลวกว่าเดนมนุษย์ยังมีเปรตอสูรกาย The Wild Bunch โคตรคนเลวกลุ่มนี้ เมื่อได้พบเจอคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อ การกระทำของพวกเขาจึงดูเหมือนมี ‘มนุษยธรรม’ ขึ้นมาโดยทันที

มันไม่ใช่ว่าเมื่อ The Wild Bunch พบเห็นความเลวชั่วร้ายกว่าของทหารเม็กซิกัน แล้วพวกเขาสามารถกลับตัวกลับใจเปลี่ยนเป็นคนดี แต่มันคือการปฏิเสธไม่ยินยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ใช้บรรทัดฐานของตนเองเป็นที่ตั้ง อย่างน้อยคนอย่างพวกฉันก็ยังมีจิตสำนึกดีเป็นที่ตั้ง ไม่ได้หยอกล้อเล่นกับชีวิตผู้อื่น รับรู้ตัวว่าไม่ใช่คนดี แต่ถ้าพบเจอคนที่เลวร้ายยิ่งกว่า อย่างน้อยเอาชีวิตของฉันเข้าแลก เข่นฆ่าทำลายล้างพวกเปรตเดินดินเหล่านี้ โลกคงพบเจอความสงบสุขขึ้นมาบ้าง

ในมุมหนึ่ง เราอาจมองความตั้งใจของ The Wild Bunch มีเพียงมิตรภาพ ต้องการช่วยเหลือสหายที่ตกทุกข์ได้ยาก แม้อดีตจะเคยทะเลาะเบาะแว้ง เห่าขู่ ท้าดวล เกลียดขี้หน้า แต่เมื่อได้ผ่านพบประสบการณ์ต่างๆร่วมกันมา มันกลายเป็นความสัมพันธ์สนิทชิดเชื้อที่แนบแน่น อดรนทนไม่ไหวที่เห็นพรรคพวกเพื่อนพ้องของตนเอง ต้องถูกทรมานแสนสาหัสเช่นนั้น ชีวิตคงไม่มีคุณค่าอะไรถ้ามิอาจทำตัวให้สมศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย

เพราะหนังไม่มีพระเอก ถือว่าทุกคนเป็นตัวร้ายทั้งหมด การที่ผู้ชมได้เรียนรู้จัก อยู่ร่วมกับเหล่า The Wild Bunch มากว่าสองชั่วโมง เพราะมันไม่มีใครให้ฉันอยากเชียร์ พอเห็นพวกเขากระทำการในสิ่งที่เรียกว่า ‘Heroism’ ก็เอาว่ะ สู้ตาย! ยังไงมันก็ไม่ใช่การเสียชีวิตที่น่ายกย่อง แค่รู้ดีที่คนเลวสามารถเอาชนะคนเลวกว่าได้สำเร็จ

ฉากสุดท้ายของหนัง เป็นภาพซ้อนขายหัวเราะของเหล่า The Wild Bunch ที่เสียชีวิตจากไปจากการดวลปืนไคลน์แมกซ์ สามารถมองได้ 2 นัยยะ
– พวกเขาคงจะสิงสถิตอยู่ในความทรงจำของตัวละคร/ผู้ชมตลอดไป
– หรือราวกับว่าพวกเขาหมดสิ้นเคราะห์กรรม กำลังได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ (เพราะกล้องจะเลื่อนขึ้นเห็นภาพในมุมกว้าง)

บุคคลที่จะสร้างภาพยนตร์ลักษณะนี้ได้ ย่อมต้องมีความเพี้ยน บ้าบอคอแตก คลั่งพอๆกัน ซึ่งคงไม่ผิดอะไรถ้าคุณได้อ่านชีวประวัติของผู้กำกับ Sam Peckinpah จะพบว่าเขาก็เป็นคนเช่นนั้นนะแหละ ขี้เหล้าเมายา ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงเต็มพิกัด ชื่นชอบถ่ายทำภาพยนตร์ยังเม็กซิโก ดินแดนที่มีความป่าเถื่อน โหดเหี้ยม เข้ากับวิสัยทัศน์ของตนเองดี (ภรรยาคนที่ 2 ก็เป็นนักแสดงสัญชาติเม็กซิกัน)

ประเด็นเหยียดชาวพื้นเมืองเม็กซิกัน ไม่เคยถูกเอ่ยกล่าวถึงในบทความวิจารณ์ใดๆเท่าที่ผมติดตามอ่านมาเลย นั่นเพราะในทัศนะของคนสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน Mexico ยังคงเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ถูกมองว่าป่าเถื่อน ล้าหลัง เต็มไปด้วยความรุนแรง ซึ่งชาวเม็กซิกันเองก็อาจยินยอมรับความจริงนี้ (มันเลยไม่ค่อยมีการถกเถียงตำหนิต่อว่ากล่าวสักเท่าไหร่)

ในทัศนะของผู้กำกับ Peckinpah คงมีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ทำไมในดินแดนอันสุดสวยงามแห่งนี้ กลับเต็มไปด้วยผู้คนโฉดชั่วร้ายคอรัปชั่น? เขาอาจไม่ได้มีทัศนะคติเหยียดหยามชาวเม็กซิกัน แต่แค่นำเสนอข้อเท็จจริงที่น่าสะพรึงกลัวออกมา

ในองค์ความรู้ของผมเกี่ยวกับประเทศเม็กซิกัน ค่อนข้างจะน้อยนิดทีเดียว ล้วนมาจากภาพยนตร์ที่เคยเอ่ยถึง เดินทางไปถ่ายทำ หรือผลงานดังๆคว้ารางวัลนานาชาติ ทำให้มีทัศนะมองว่า ประเทศนี้ราวกับเป็นสถานที่ทิ้งขยะของอเมริกา ใครที่เป็นคนชั่วถูกล่าหมายหัว ถ้าสามารถข้ามผ่านแดนไปได้ก็มีโอกาสรอดพ้นปลอดภัย กลายเป็นสูญรวมเดนมนุษย์ หาคนดีมีคุณธรรมอยู่ไม่ได้สักเท่าไหร่

ก็ไม่รู้ผู้คนสมัยนี้ยังคงเป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่า แต่ภาพลักษณ์จากอดีตที่ถูกนำเสนอมา ปลูกฝังต่อชาวโลก ไม่ได้ทำให้ประเทศนี้มีคุณค่า น่าไปท่องเที่ยวอาศัยอยู่แม้แต่น้อย ว่าไปค่อนข้างน่าเห็นใจทีเดียว อะไรกันที่ทำให้ชาวอเมริกันแค้นฝังหุ่นชาวเม็กซิกันขนาดนี้

The Wild Bunch ว่ากันตามตรงเป็นภาพยนตร์ที่หาสาระอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ เต็มไปด้วยรุนแรง สะท้อนความโหดโฉดชั่วร้าย อัปลักษณ์พิศดาร ด้านมืดของจิตใจมนุษย์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นบทเรียนสำหรับผู้ใหญ่ หลายๆครั้งหนังแทรกใส่ภาพของเหล่าเด็กๆ จับจ้องเฝ้ามองดู พวกเขารับเรียนรู้จัก ‘ความรุนแรง’ ล้วนถ่ายทอดมาจากการกระทำเป็นแบบอย่างของพวกผู้ใหญ่ทั้งนั้น นี่ถ้าคนบรรลุนิติภาวะแล้วทั้งหลายยังคงมองข้ามไม่สนใจ ไม่รับภาระรับผิดชอบใดๆ สักวันเด็กๆเหล่านั้นอาจหยิบปืนขึ้นมา มิได้รู้จักเหตุผลคุณค่า ใช้มันย้อนแย้งใส่เรา ก็ถึงคราโลกาวินาศกันพอดี

นี่มองได้เป็นการเสียดสีรัฐบาลอเมริกัน ที่ทศวรรษนั้นพยายามเสนอหน้าเข้าร่วมสงครามเวียดนาม ทั้งๆที่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลยแม้แต่น้อย โดยสิ่งที่ผู้กำกับ Peckinpah ต้องการสื่อสะท้อนออกมา คือการนำเสนอเรื่องราวของสงครามผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เด็กๆที่จับจ้องนั่งมองอยู่ที่บ้าน ใช่ว่าตลอดเวลาจะมีผู้ปกครองเฝ้าอบรมสั่งสอน เหล่านี้ย่อมกลายจะเป็นภาพจดจำติดตาตรึง เมื่อพวกเขาเติบใหญ่ขึ้น โอ้! โลกมันจะกลายเป็นเช่นไรเนี่ย

ด้วยทุนสร้างสูงถึง $6 ล้านเหรียญ ออกฉายก่อนหน้า Butch Cassidy and the Sundance Kid แต่ทำเงินได้เพียง $10.5 ล้านเหรียญ ค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว ขณะที่เรื่องนั้นฮิตถล่มทลายเกิน $100 ล้านเหรียญสูงสุดแห่งปี,

ได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา แถมยังพ่ายให้กับ Butch Cassidy and the Sundance Kid ทั้งหมดเลยนะ
– Best Writing, Story and Screenplay Based on Material Not Previously Published or Produced
– Best Music, Original Score for a Motion Picture (not a Musical)

เสียงตอบรับของนักวิจารณ์ตอนออกฉาย ค่อนข้างแตก หลายคนไม่เข้าใจว่าสร้างหนังที่เต็มไปด้วยความรุนแรงเรื่องนี้ขึ้นมาทำไม แต่ก็มีหลายคน Roger Ebert, Pauline Kael รับรู้เข้าใจ และเรียกโดยทันทีว่าคือ Masterpiece

“The Wild Bunch is one of the great defining moments of modern movies.”

– Roger Ebert

ส่วนตัวไม่ค่อยชื่นชอบความรุนแรงที่อยู่ในหนังสักเท่าไหร่ แม้เป้าหมายปลายทางจะคือการค้นพบคุณค่าชีวิตของตนเอง แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ก็เหมือนนักวิจารณ์สมัยนั้น แรกสุดเลยย่อมมองไม่เห็นความตั้งใจของหนังนั้น จนกว่าจะได้ศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจ นี่สะท้อนกับที่ผมเคยพูดไปใน Bonnie and Clyde ‘คุณค่าของงานศิลปะกำลังถูกยกระดับให้สูงขึ้น แต่จริิยธรรมสามัญสำนึกของผู้คนก็ค่อยๆตกต่ำลงถึงขีดสุดเช่นกัน’

แนะนำกับคอหนัง Cowboy Western แนวปล้นฆ่า ชื่นชอบความรุนแรง, นักเรียน/ผู้สร้างภาพยนตร์ มีอะไรให้ศึกษาเยอะแยะเต็มไปหมด, แฟนๆผู้กำกับ Sam Peckinpah นักแสดงนำ William Holden, Ernest Borgnine, Robert Ryan ไม่ควรพลาด

น่าจะลองนำหนังเรื่องนี้ไปเปิดให้นักโทษ อาชญากร ที่เคยกระทำความผิดติดคุกทั้งหลายรับชมดู ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจมองเห็นบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นตอนจบได้เด่นชัดกว่า คนปกติทั่วไปอย่างเราๆ

จัดเรต 18+ กับความรุนแรง โหดโฉดชั่วร้าย และความตายเลือดอาบ

TAGLINE | “The Wild Bunch นำโดยหัวโจ๊ก Sam Peckinpah บรรจงนำเสนอความรุนแรงออกมาในระดับที่อาจยินยอมรับไม่ได้ แต่ในความอัปลักษณ์เลือดท่วมนั้นมีความสวยงามสมบูรณ์แบบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: