The Wind Will Carry Us

The Wind Will Carry Us (1999) Iranian : Abbas Kiarostami ♥♥♥♥♥

หนังรางวัล Grand Special Jury Prize (Silver Lion) ของผู้กำกับ Abbas Kiarostami ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศ Iran, คุณจะทึ่งไปกับวิธีการนำเสนอที่แสนเรียบง่ายแต่ทรงพลัง บรรยากาศเรื่อยเปื่อยดั่งสายลม สุดแล้วแต่หนังจะพาเราไป, หนังเรื่องนี้ ‘ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’

หลังจากที่เขียนรีวิว Taste of Cherry ไปเมื่อวาน รู้สึกว่าตนเองยังมองไม่เห็นเหตุผลที่ทำไม Abbas Kiarostami ถึงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้กำกับที่มีความยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งต่อวงการภาพยนตร์ ผมจึงตัดสินใจหาหนังของเขามาดูอีกเรื่อง, เลือก The Wind Will Carry Us หนังรางวัล Grand Special Jury Prize ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมลำดับที่ 2 ของเทศกาลหนังเมือง Berlin รางวัลนี้เปรียบได้กับ Grand Prix (ที่ 2) ของเทศกาลหนังเมือง Cannes, บอกเลยว่านี่เป็นหนังที่สร้างความประหลาดใจอย่างมาก และทำให้ผมเข้าใจเหตุผลความยิ่งใหญ่ของผู้กำกับ Abbas Kiarostami

ทีแรกคาดหวังไว้ว่าหนังอาจจะมีรสสัมผัสเหมือน Taste of Cherry จึงเตรียมพร้อมรับความผิดหวังไว้ ปรากฎว่า แม้กลิ่นอายบางอย่างของหนังทั้งสองเรื่องจะคล้ายคลึงกัน แต่แนวคิดและใจความของหนังกลับสร้างความประทับใจให้กับผมอย่างมาก ดูหนังผ่านไปแค่สักครึ่งชั่วโมงก็เริ่มรู้ตัวว่า นี่อาจกำลังเป็นการค้นพบหนังโปรดเรื่องถัดไปของผมเอง

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมระลึกถึงชะตากรรมตัวเองตอนเริ่มดูหนังแรกๆ ขณะเริ่มต้นค้นหาหนังดีๆจากทั่วโลก หนังเรื่องแรกที่ผมดูของ Akira Kurosawa คือ Rashômon, Federico Fellini คือ 8 1/2 และ Ingmar Bergman คือ Persona, หลังจากดูหนัง 3 เรื่องนี้จบผมก็หัวเสียอย่างมากเพราะดูไม่รู้เรื่อง เกิดอาการต่อต้าน ไม่เข้าใจว่าพวกเขายิ่งใหญ่ได้ยังไง ทำหนังอะไรบ้าออกมาก็ไม่รู้ จนแทบไม่อยากดูหนังเรื่องอื่นๆของพวกเขาอีก, จริงๆมันไม่ใช่ความผิดของหนังนะครับ มันเป็นความผิดของผมเองที่เลือก ‘ลำดับ’ หนังผิด เพราะหนัง 3 เรื่องนี้ ต้องใช้คนที่มีระดับความเข้าใจสูงมากๆ ถึงจะสามารถดูเข้าใจได้, กว่าผมจะเริ่มเข้าใจหนัง 3 เรื่องนี้ ก็อีกหลายปีเลยละ ต้องเก็บสะสมประสบการณ์การดูหนังอย่างมาก จนถึงวันหนึ่งก็จะสามารถเริ่มเข้าใจได้ด้วยตนเอง, Taste of Cherry ก็เช่นกัน ไม่ใช่หนังไม่ดีนะครับ แต่เป็นหนังที่ต้องอาศัยความคิด ความเข้าใจ และประสบการณ์การดูหนังที่ค่อนข้างสูง ตอนผมดู The Wind Will Carry Us เกิดความประหลาดใจอย่างมาก เพราะนี่เป็นหนังที่ดูง่าย เข้าใจง่าย ย่อยง่ายกว่ามากๆ, มันอาจไม่มีใครเขียนบอกไว้ แต่ผมคิดว่าลำดับหนังที่ดูของปรมาจารย์ผู้กำกับบางท่าน ถือว่ามีความสำคัญนะครับ ถ้าคุณดูหนังที่เข้าใจยากก่อน มันอาจสร้างภาพอคติต่อผู้กำกับคนนั้นไว้ ทำให้อาจพลาดผลงานดีๆ เข้าใจง่ายกว่าหรืออาจจะดีกว่าของผู้กำกับคนนั้นก็ได้ ไว้สักวันผมจะเขียนบทความแนะนำเทคนิค วิธีและลำดับการดูหนังที่เหมาะสมสำหรับนักดูหนังมือใหม่ไว้ให้นะครับ วันนี้จะขอแนะนำแค่

  • ถ้าจะเริ่มต้นดูหนังของ Akira Kurosawa อย่าเริ่มด้วย Rashômon ให้ดู Seven Samurai หรือ Yojimbo ก่อน
  • ถ้าจะเริ่มต้นดูหนังของ Federico Fellini อย่าเริ่มด้วย 8 1/2 หรือ La Dolce Vita ให้ดู Night of Cabiria, La Strada ก่อน
  • ถ้าจะเริ่มต้นดูหนังของ Ingmar Bergman อย่าเริ่มด้วย Persona ให้เริ่มที่ The Seventh Seal หรือ Wild Strawberries ก่อน
  • เช่นกันกับ Abbas Kiarostami อย่าเริ่มด้วย Taste of Cherry เป็นพอนะครับ

The Wind Will Carry Us ชื่อหนังเป็นประโยคหนึ่งในกลอนของ Forough Farrokhzad กวีชาว Iranian, Forough Farrokhzad (1935-1967) เป็นกวีผู้หญิงที่บทกลอนของเธอมีอิทธิพลมากๆในศตวรรษที่ 20 ของ Iran ได้รับการยกย่องว่าเป็น Modernist Poet และ Iconoclast น่าเสียดายเธออายุสั้นไปหน่อย

ผมไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Abbas Kiarostami เขาเป็นคนที่ชื่นชอบการอ่านกวีนิพนธ์มากๆ ขนาดว่าในห้องสมุดที่บ้านของเขา นิยายหรือหนังสือที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ มักจะมีสภาพดีเยี่ยมเพราะอ่านจบครั้งเดียวก็เก็บขึ้นชั้นไว้ แต่ถ้าเป็นหนังสือที่เป็นโคลงกลอนจะมีสภาพยับเยิน เพราะถูกเปิดอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก, Kiarostami เชื่อว่า หนังที่เหมือนบทกวี (poetic cinema) จะมีความร่วมสมัยที่ยาวนานกว่าเรื่องเล่าธรรมดา (storytelling) เพราะความคลุมเคลือและการตีความ ที่เมื่ออ่านแต่ละครั้ง อาจมีความเข้าใจหรือความรู้สึกไม่เหมือนครั้งก่อนที่อ่าน นี่ถือเป็นความพิศวงของบทกวี ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างหนังเรื่องนี้

reference: http://www.filmcomment.com/article/with-borrowed-eyes-an-interview-with-abbas-kiarostami/

เรื่องราวของ The Wind Will Carry Us จะพาเราไปเดินทางไปยัง Kurdish หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัด Kurdistan ของประเทศ Iran, ชาว Kurds เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีมากที่สุดในโลก (ว่ากันว่าอาจมีมากถึง 30 ล้านคน) ไม่ได้มีแค่ใน Iran นะครับ แต่ยังใน Turkey, Iraq และ Syria (ลักษณะก็คล้ายๆกระเหรี่ยง, ม้ง ฯ ชาวเขาชนกลุ่มน้อยบ้านเรา ที่พบได้ในไทย, พม่า, ลาว ฯ), หนังนำเสนอภาพของชาว Kurds ผ่านมุมมองของนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่มีใครรู้ว่าจุดประสงค์ของพวกเขาคืออะไร? มาทำไม? ต้องการอะไร? และจะอยู่นานแค่ไหน?

ดูหนังจบมาหาข้อมูลก็พบว่า แท้จริงแล้วกลุ่มนักท่องเที่ยวนี้ ตัวละครที่ในหนังเรียกเขาว่า วิศวกร (Engineer) แท้จริงแล้วเป็นนักข่าว (Journalist) มีจุดประสงค์เพื่อต้องการบันทึกภาพวัฒนธรรมหนึ่งของชาว Kurds คือ พิธีไว้ทุกข์ (mourning rituals) ในงานศพ, หญิงชราปริศนาที่ว่าอายุกว่าร้อยปีใกล้ตาย คือเป้าหมายของพวกเขา ไม่รู้กี่วันกี่สัปดาห์ พวกเขาต้องรอ… (ให้เธอเสียชีวิต) ผู้ชมก็รอชมเช่นกัน, ระหว่างที่รอนี้ ภาพวิถีชีวิตของผู้คนได้ถูกตีแผ่นำเสนอออกมา ผ่านเรื่องราววุ่นๆ ที่สะท้อนความแตกต่างระหว่างคนยุคใหม่ (ที่ต้องขับรถไปหาคลื่นโทรศัพท์ทุกครั้งที่มีสายเรียกเข้า) และคนสมัยก่อนที่ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย พึ่งพาตัวเองอย่างพอเพียง (พอเพียงยังไง! หญิงสาวมีลูกชาย 5 คน ลูกสาว 5 คน เนี่ยนะที่เรียกว่าพอเพียง!)

นักแสดงในหนังเป็นนักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด ถึงจะบอกว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่เราจะได้เห็นหน้าของนักแสดงแค่คนเดียวเท่านั้น, Behzad Dorani รับบท Engineer หน้าเขาเหมือนวิศวกรนะครับ ใส่แว่น หัวเถิก (ใกล้ล้าน) ดูเป็นคนสมัยใหม่ดี แต่ไม่ค่อยเหมือนนักข่าวเท่าไหร่

ถ่ายภาพโดย Mahmoud Kalari, ต้องบอกว่าภาพหนังเรื่องนี้สวยมากๆ โดยเฉพาะ long-shot วิวทิวทัศน์ ถ่ายภาพเนินเขาที่จะเห็นภูเขาสูงใหญ่เป็นภาพพื้นอยู่ด้านหลัง, นอกจากนี้หนังยังพาคุณไปสำรวจแทบจะทุกซอกทุกมุมของ Kurdish ใช้การแพนกล้องเป็นหลักจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง และแทนมุมมองตัวละครผ่านกระจก (ตัวละครมองกล้องขณะโกนหนวด) มีทั้งมุมก้ม, มุมเงยและระดับสายตา ฯ, กับฉากเปิดเรื่องผมก็ได้กลิ่นอายของ Taste of Cherry ลอยมาแต่ไกลเลย (ภาพยังกับภูเขาลูกเดียวกันที่เคยเห็น) แถมคำพูดยังกำกวมประมาณว่า ต้นไม้เดี่ยวๆต้นนั้น (ผมละนึกว่าต้นเดียวกัน), มีฉากหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นและ Capture มาให้ดู ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่า (คิดว่าน่าจะตั้งใจ) นักแสดงกำลังเดินเข้าไป เราจะเห็นชาวบ้านคนหนึ่งกำลังตากผ้าเห็นเป็นเงาอยู่ข้างๆ ต้องชมว่าเลือกเวลาถ่ายได้เปะมากเลย, ผมลองสังเกตดู พบว่ามีหลายฉากที่มีลักษณะคล้ายๆกันนี้ คือสองเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนานไม่ได้เกี่ยวเนื่องกัน เป็นการซ้อนอีกหนึ่งเรื่องราวที่เป็นธรรมชาติของผู้คนแฝงไว้กับการแสดง

Shadows Shot

ผมไม่ได้นับว่ากี่ครั้ง ที่พอพระเอกได้ยินเสียงโทรศัพท์ เขาจะรีบวิ่งไปขึ้นรถ ขับขึ้นเขาเพื่อตามหาสัญญาณ สักประมาณรอบที่ 3 ผมเริ่มหัวเราะลั่น นึกถึงเมื่อ 5-10 ปีก่อนที่เวลาไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด สัญญาณโทรศัพท์ยังไม่ครอบคลุมเหมือนปัจจุบัน เวลามีคนโทรเข้าสัญญาณ 1-2 ขีดเสียงจะขาดๆหายๆ ต้องเดินหาคลื่น อารมณ์นี้ Nostalgia มากๆ, หนังเรื่องนี้ทำแสบด้วยนะครับ สถานที่เดียวที่มีคลื่นโทรศัพท์ กลับเป็นสุสาน ที่เปรียบได้กับจุดจบของโลกยุคเก่า ผู้ใหญ่สมัยนั้นบางคนต่อต้านการเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย เพราะกลัวโลกจะถึงจุดสิ้นสุดเป็นแบบ Skynet, การที่ต้องวิ่งหาคลื่นโทรศัพท์ทุกครั้ง สะท้อนความยึดติดในเทคโนโลยีของคนยุคใหม่ หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นการพยากรณ์ต่อการติดเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ ต้องบอกว่าแม่นสุดๆเลย, คนที่เกิดในยุคนี้คงไม่ได้อารมณ์นี้แล้วนะครับ ขนาดหมู่บ้านกันดารในหุบเขาสมัยนี้ยังมี 3G, 4G เลย คงต้องคนอายุ 20+ ที่พอเห็นฉากนี้จะรู้สึกชอบโดนใจมากๆ

การตัดต่อของหนังเรื่องนี้ ไม่ได้ถ่ายภาพทั้งวันทั้งคืน (ไม่มีถ่ายกลางคืนสักฉาก) แต่จะเน้นที่ช่วงเช้าวันใหม่ ซึ่งแต่ละวันก็จะมีภารกิจหลัก เช่น กินข้าว, คุยกับ Farzad ถามอาการของหญิงชรา, ขับรถขึ้นไปคุยโทรศัพท์กับ Godarzi, คุยกับคนขุดหลุม ฯ ภารกิจรองที่แต่ละวันจะไม่เหมือนกัน, กับเหตุการณ์ที่ช็อคผมเลย คือวันก่อนพระเอกคุยกับหญิงสาวท้องแก่ที่อยู่บ้านหลังตรงข้าม วันถัดมาพระเอกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นน้องสาว แต่กลายเป็นว่าหญิงท้องแก่นั้นคลอดลูกเรียบร้อย นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันได้ตั้งตัว

หนึ่งในสไตล์ของ Kiarostami คือ การเกิดและการตาย, กับการเกิดที่ผมบอกไป กระพริบตาตามแทบไม่ทัน เกิดขึ้นรวดเร็วและง่ายดาย ส่วนการตายมันไม่ง่ายเหมือนการเกิด ช่วงไคลน์แม็กซ์ท้ายเรื่อง มีเหตุการณ์ดินถล่มกลบหลุมชายคนที่พระเอกคุยด้วยทุกวัน ตอนแรกผมสงสัยว่าทำไมเขาไม่เข้าไปช่วยนะครับ และคิดว่าเอาจริงๆ เขาแค่คนเดียวก็น่าจะช่วยได้ แต่กลับเลือกขับรถไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น (แล้วตัวเองหนีไปทำอย่างอื่น) ผมเชื่อว่าที่เขาทำแบบนี้ เพราะมีความประสงค์ตั้งใจให้ชายคนนั้นเสียชีวิตจริงๆ เพราะหญิงชราไม่ยอมตายสักที (ไปเร่งก็ไม่ได้ด้วย) ถ้าชายคนนี้ตาย พิธีศพก็จะเกิดขึ้น และเขาจะได้เสร็จงานกลับบ้านเสียที, แม้สุดท้ายจะไม่เป็นดังหวัง ชายคนนี้รอดตายแต่หญิงชราก็สิ้นลมพอดี ถือว่าไม่ได้ไม่เสีย

บทกลอน The Wind Will Carry Us เป็นโคลงที่มีการตีความได้ 3 ส่วนคือ ชีวิตvsความตาย, สมัยใหม่vsดั้งเดิม, ท้องถิ่นvsทั่งโลก (life vs death,  modern vs traditional, local vs global) มีทั้งหมด 6 บท (ฉันท์/บาท)

  1. In my small night, alas, The wind has an appointment with the trees, In my small night there is fear of devastation.
  2. Listen. Do you hear the dark wind whispering? I look upon this bliss with alien eyes I am addicted to my sorrow Listen. Do you hear the dark wind whispering?
  3. Now something is happening in the night The moon is red and agitated And the roof may cave in at any moment.
  4. The clouds have gathered like a bunch of mourners And seem to be waiting for the moment of rain.
  5. A moment And after it, nothing. Beyond this window the night trembles And the earth Will no longer turn. Beyond this window an enigma worries for you and for me.
  6. Oh you who are so verdant Place your hands like a burning memory in my hands. And leave your lips that are warm with life To the loving caresses of my lips. The wind will carry us away, The wind will carry us away.

ตอนที่พระเอกขับกวีบทนี้ ตอนนั้นไม่ใช่กลางคืนนะครับ (หนังไม่มีถ่ายกลางคืนเลยสักฉาก) แต่เป็นขณะที่เขาอยู่ใต้ดินของบ้านหลังหนึ่ง ขอให้หญิงสาวรีดนมวัวให้ ขณะนั้นมืดสนิท, การขับกวีนี้ให้เธอฟัง ไม่ได้มีใจความเพื่อเกี้ยวพาราสี แต่เหมือนชี้ให้เห็นทัศนคติ มุมมองของคนสมัยใหม่ กวีที่คนไม่ได้เรียนจบสูงๆก็แต่งได้ ถ้ามีความชอบ ตั้งใจหรือมีพรสวรรค์, กับสถานที่ที่มีความมืดมิดแห่งนี้ขณะขับกวี ผมมองเห็นถึงอนาคตของจารีตประเพณีดั้งเดิม ที่ค่อยๆจืดจางและสูญหายไป มันมืดมนมองไม่เห็นทางออก ถ้าไม่มีใครสักคนที่เป็นแสงสว่างนำทาง คงไม่มีทางที่สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่ต่อไปได้อีกนาน

ผมเปรียบสิ่งที่ลมพัดไปคือ ชีวิต ไม่มีทางรู้ว่าวันพรุ่งนี้ตื่นมาเราจะเจอกับอะไร (นี่ไงหนังถ่ายแต่กิจวัตรตอนเช้าเพราะเหตุผลนี้), เปรียบมนุษย์กับลมได้ 2 ประเภทคือ คนที่ลู่ตามลม กับคนที่ขวางทางลม หรือ คนที่ปล่อยชีวิตให้เป็นไป กับคนที่สร้างชีวิตขึ้นมาเอง, คุณเป็นประเภทไหนกัน?

มีใจความหนึ่งแฝงอยู่ในหนัง ที่ทำให้ผมจับทาง Abbas Kiarostami ได้ว่าเขาเป็นผู้กำกับที่แฝง ‘การเมือง’ ไว้ในหนัง, ตอน Taste of Cherry ผมไม่แน่ใจนัก ว่าอะไรคือสิ่งที่ซ่อนเอาไว้ แต่กับหนังเรื่องนี้ผมเห็นชัดเลยละ, อาชีพของพระเอกที่เป็นนักข่าว นี่เป็นอาชีพที่ใช้กล้องถ่ายภาพ ถ้าเราเปลี่ยนกล้องถ่ายรูปเป็นกล้องวีดิโอ ตัวละครนี้เปรียบได้เหมือนกับ Kiarostami เองเลยในฐานะผู้กำกับ, โทรศัพท์ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอก นี่น่าจะแทนด้วย ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาฉายใน Iran ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้รับรู้ เรียนรู้ ศึกษาเรื่องราว เทคนิค วิธีการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งการจะดูได้ก็ต้องไปยังโรงหนัง เหมือนการโทรศัพท์ที่ต้องไปหาคลื่นสัญญาณ, การรอที่แสนยาวนาน… เขารออะไร? มีตอนหนึ่งที่หญิงสาวร้านขายชา ขอเขาไม่ให้ถ่ายรูป ซึ่งพระเอกก็พยายามแอบถ่ายแต่เธอจับได้ เขาเลยอดถ่าย … นี่ไม่ใช่สิ่งที่ Kiarostami เป็นอยู่ ณ ขณะนั้นหรอกหรือ สร้างหนังเพื่อนำเสนอแนวคิดบางอย่างที่อาจเป็นสิ่งต้องห้าม และถูกจับได้ (กองเซ็นเซอร์แบนหนังของเขา) ทำให้เขาต้องรอจังหวะ รอวันเวลาเพื่อสักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสถ่ายทอด นำเสนอผลงานได้

สิ่งที่ผมชอบที่สุดในหนัง และคือเหตุผลที่อยากให้ทุกคนได้ดู ได้เห็น ได้เข้าใจก่อนตาย คือ จิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในหนัง, นี่อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจยากสักนิด แต่อยากให้ลองสังเกตสักหน่อยนะครับ, วิธีการที่หนังใช้ อาทิ การสนทนากับตัวละครที่เราไม่เคยเห็นหน้า หรือหญิงชราที่ไม่ได้เห็นหน้าเช่นกัน นี่เป็นสัญลักษณ์ที่แทนด้วยจิตวิญญาณของชีวิต การที่เรามองไม่เห็น ไม่ใช่เขาไม่มีตัวตน แต่เพราะเกิดจากการเลือก (ของผู้กำกับ) ที่จะให้มองไม่เห็นเอง, สถานที่แห่งนี้ มีความเก่าแก่ ดั้งเดิม ล้าสมัย ผู้คนใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ นี่คือจิตวิญญาณ วิถีชีวิตของพวกเขา ลองลักพาตัวใครสักคนไปทิ้งไว้ในเมืองใหญ่ เป็นไปไม่ได้หรอกที่เขาจะเอาตัวรอดได้ ตรงกันข้ามกับพระเอกที่เป็นคนอาศัยในเมืองใหญ่ เมื่อต้องมาอยู่ในสถานหลังเขาแห่งนี้ ก็ยังสามารถปรับตัว มีชีวิต เอาตัวรอดได้, นั่นเพราะจิตวิญญาณที่แท้จริงของมนุษย์อยู่ในสถานที่แบบในหนังนะแหละครับ เราไม่ได้ต้องต่อสู้แข่งขันกับใคร ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยี ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้, มนุษย์เมืองมักจะคิดไปเอง ถ้าฉันขาดเทคโนโลยี ขาดเพื่อน ขาดการสื่อสาร ฉันคงมีชีวิตอยู่ไม่ได้ นี่ไม่จริงเลยนะครับ ปัจจุบันผมก็มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือ Smartphone พกติดตัวนะครับ, ถ้าคุณสามารถเรียนรู้เข้าใจ ‘จิตวิญญาณ’ ของหนังเรื่องนี้ได้ ก็จะเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ นี่คือแก่นแท้ สาระสำคัญของหนังที่ผมมองเห็นเลยละ

การดูหนังเรื่องนี้ผมเหมือนได้ ‘ประสบการณ์ชีวิต’ เรียนรู้ มีชีวิต และได้ใช้ชีวิตร่วมไปกับพระเอก, ใครเคยออกค่ายอาสา หรือเคยขึ้นดอย เดินป่า ดูหนังเรื่องนี้ย่อมรู้สึกเหมือนได้เห็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แม้จะต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่เหลือเชื่อว่าสิ่งที่เหมือนกันคือ ‘จิตวิญญาณ’ และแนวคิดในการใช้ชีวิต, ผมดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว รู้สึกอยากกลับไปบนดอยอีกสักครั้ง นึกถึงประสบการณ์ดีๆสมัยไปออกค่าย ได้รู้จักผู้คน ได้ร่วมทุกข์สุขกับพวกเขา ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ สบายๆ ผ่อนคลาย

แนะนำกับคนที่ชอบหนังชีวิต แฝงแนวคิด, คนชอบท่องเที่ยว นี่ตรงข้ามกับ Taste of Cherry ที่เรื่องนั้นดูจบแล้วจะไม่อยากไป Iran แต่ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วจะอยากไปมากๆ

จัดเรต PG กับแนวคิด การกระทำบางอย่างและความตาย

TAGLINE | “The Wind Will Carry Us ของ Abbas Kiarostami คือประสบการณ์ชีวิต ที่คุณจะได้เรียนรู้ ซึมซาบวัฒนธรรม วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของโลกที่แท้จริง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORI 

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
40 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Oazkun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazkun
Guest
Oazkun

Taste of Cherry ดีกว่า

%d bloggers like this: