The Young Girls of Rochefort (1967) French : Jacques Demy ♥♥♥♥♡

(30/1/2022) สิ่งเลื่องชื่อ/สัญลักษณ์ของเมืองท่า Rochefort ประกอบด้วยดอก Begonias, นักเขียนนวนิยาย Pierre Loti และภาพยนตร์ The Young Girls of Rochefort (1967) เมื่อตอนออกฉายได้กลายเป็นความภาคภูมิใจ ชุบชีวิตสถานที่แห่งนี้ให้ถือกำเนิดขึ้นใหม่ ปัจจุบันก็ยังคงตราฝังอยู่ในความทรงจำของใครต่อใคร

คงไม่มีผู้กำกับคนไหน สร้างภาพยนตร์โดยมีส่วนร่วมกับชุมชนไปมากกว่า Jacques Demy หลังความสำเร็จล้นหลามของ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ที่ทำให้เมือง Cherbourg กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ (ได้รับความนิยมจากทั้งชาวฝรั่งเศสและต่างชาติ) ผลงานลำดับถัดไปเมื่อตัดสินใจเลือก Rochefort, Charente-Maritime ปลุกความกระตือลือร้นให้ชาวเมือง ร่วมมือร่วมแรงอย่างแข็งขัน ตลอดหน้าร้อนปี 1966 (พฤษภาคม-สิงหาคม) ทุกวันคาคั่งไปด้วยผู้คนมาสังเกตการณ์ คาดหวังได้รับเลือกเป็นตัวประกอบ แค่เดินผ่านหน้ากล้องก็จดจำจนวันตายแล้วละ

รับชม The Young Girls of Rochefort (1967) ไม่จำเป็นต้องมองหาพล็อตเรื่องราว เพราะหนังมีลักษณะ ‘styles over substance’ ต้องการให้ผู้ชมเพลิดเพลินไปกับสถานที่ ตัวละคร บทเพลงเพราะๆ ท่าเต้นมันส์ๆ พลันวันไปกับช่วงเวลาแห่งชีวิต ฟ้าลิขิตคู่แท้ของฉันอยู่แห่งหนไหน

The plot means nothing to me. It’s a general feeling, a moment in life, just moments of existence. Call it scenes from provincial life.

Jacques Demy

ก่อนหน้ารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ (หรือจะภายหลังก็ได้นะครับ) ผมอยากแนะนำ Lola (1961) ผลงานเรื่องแรกของ Jacques Demy ที่แม้ไม่ใช่แนว Musicial แต่แนวคิด ทิศทางดำเนินเรื่อง ไดเรคชั่นของหนัง มีความละม้ายคล้ายคลีงกันอย่างมาก ซี่งก็ได้แรงบันดาลใจจาก La Ronde (1950) ของผู้กำกับคนโปรด Max Ophüls


Jacques Demy (1931-90) ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pontchâteau, Loire-Atlantique เมืองท่าทางตะวันตกของฝรั่งเศส ครอบครัวเปิดกิจการร้านซ่อมรถ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ดินแดนแห่งนี้ถูกใช้เป็นจุดจอดท่าเรือรบ มีทหารพันธมิตรขึ้นฝั่งมากมาย ตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีทิ้งระเบิด แล้วทุกสิ่งอย่างก็ราบเรียบหน้ากลอง, ตั้งแต่เด็กๆ แม่ของ Demy มักพาลูกๆไปชมการแสดงโอเปร่า ทำให้เขามีความชื่นชอบในบทเพลง เสียงดนตรี, ช่วงหลังสงครามถูกส่งไปโรงเรียนมัธยมยังเมือง Nantes ค้นพบความหลงใหลในภาพยนตร์ (เพราะวันๆเอาแต่โดดเรียนไปดูหนัง) พออายุ 18 ออกเดินทางสู่กรุง Paris ได้เป็นลูกศิษย์ของ Georges Rouquier (ผู้กำกับสารคดี) และ Paul Grimault (นักทำอนิเมเตอร์ชื่อดัง), สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Dead Horizons (1951), ตามด้วยสารคดีขนาดสั้น The clog maker of the Loire Valley (1956), และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Lola (1961)

ความสำเร็จอันล้นหลามของ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ทำให้ผู้กำกับ Demy ได้รับโอกาสสรรค์สร้างผลงานลำดับถัดไปด้วยทุนสร้างสูงขึ้น ซึ่งเขาเลือกจะเติมเต็มความฝัน ด้วยภาพยนตร์ที่เป็นการเคารพคารวะ Hollywood Musical ในลักษณะดั้งเดิม (Tradition) นักแสดงร้อง-เล่น-เต้น สามารถพูดคุยสนทนาระหว่างบทเพลง แตกต่างเพียงไม่ได้ก่อสร้างฉากในสตูดิโอ มองหาเมืองที่สอดคล้องวิสัยทัศน์ แต่งแต้มทาสีให้ดูเหมือนโลกแฟนตาซี เหมือนฝัน เหนือจินตนาการ

บทร่างแรกของหนังตั้งชื่อว่า Boubou (ชื่อของน้องชายคนเล็กของฝาแฝด) โดยเนื้อคำร้องแต่งในลักษณะฉันทลักษณ์/บทร้อยกรอง (French Alexandrine) ลักษณะคล้ายๆกาพย์ วรรคละ 6 พยางค์ พร้อมสัมผัสนอก-ใน เคยได้รับความนิยม(ในฝรั่งเศส)ช่วงศตวรรษที่ 17-19

Je l’ai cherchée partout, j’ai fait le tour du monde
De Venise à Java, de Manille à Angkor
De Jeanne à Victoria, de Vénus en Joconde
Je ne l’ai pas trouvée et je la cherche encore

คำแปลภาษาอังกฤษจะเพียงสื่อความหมายเท่านั้นนะครับ ไม่เน้นพยางค์และสัมผัสแต่อย่างใด

I looked for her everywhere I went around the world
From Venice to Java from Manila to Angkor
From Joan to Victoria from Venus to Mona Lisa
I haven’t found her and I’m still looking for her

ส่วนของพล็อตหนัง ผู้กำกับ Demy หวนกลับไปหาแนวคิดของ Lola (1961) นำเสนอเรื่องราวในลักษณะวกไปวนมา ผู้คนพบเจอ-พลัดพรากจาก จับพลัดจับพลู เวียนวนอยู่ในเมืองแห่งหนึ่ง (ยังไม่ได้เลือกสถานที่) ช่วงระหว่างงานเทศกาลอะไรสักอย่าง ตั้งแต่คณะผู้จัดเดินทางมาถึง ตระเตรียมการ วันงาน และเก็บข้าวของร่ำลาจาก

การเลือกสถานที่ที่จะใช้ถ่ายทำนั้น ผู้กำกับ Demy และศรีภรรยา Agnès Varda ออกเดินทางไปสำรวจ Saumur, La Roche-sur-Yon เกือบจะเลือก Hyères เพราะชื่อหนังที่มีความไพเราะ The Young Girls of Hyres (ออกเสียงเหมือน Yesterday) แต่สุดท้ายตัดสินใจ Rochefort เพราะสถาปัตยกรรม และความกว้างใหญ่ของจตุรัสกลางเมืองที่สามารถรวบรวมผู้คน สร้างเวทีการแสดง จัดงานเทศกาลได้อย่างสบายๆ

(Jacques) loved Hollywood musicals. They fed his dreams. But he was after something much more French and classical, and Rochefort was just right for it. When we saw Colbert Square, we jumped for joy, because he saw a magnificent city that he could turn into a celebration.

Jacques chose Rochefort for its lovely and imposing military architecture.

Agnès Varda

เรื่องราวเริ่มต้นเช้าวันศุกร์ คาราวานรถบรรทุกเดินทางมาถึงเมือง Rochefort เพื่อเตรียมจัดงานเทศกาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ นำเสนอผ่านตัวละคร

  • สองเพื่อนสนิท Étienne (รับบทโดย George Chakiris) และ Bill (รับบทโดย Grover Dale) เป็นโปรโมเตอร์ขายมอเตอร์ไซด์ โดยมีสองสาวเชื้อสายเอเชีย เป็นนักแสดงประจำเวที
  • ฝาแฝด Delphine (รับบทโดย Catherine Deneuve) ชื่นชอบการเต้นบัลเล่ต์ หลงใหลงานศิลปะ, ขณะที่ Solange (รับบทโดย Françoise Dorléac) เล่นเปียโน มีความสามารถด้านการแต่งเพลง
  • Yvonne (รับบทโดย Danielle Darrieux) มารดาของฝาแฝด และลูกชายคนเล็ก Boubou เปิดคาเฟ่อยู่กลางจุตรัส เลยมักเป็นสถานที่พบสังสรรค์ของผู้คนมากมาย ในอดีตเคยตกหลุมรัก Simon Dame แต่ยินยอมรับนามสกุล (เพราะตนเองจะถูกเรียกว่า Madame Dame) ไม่ได้เลยหาข้ออ้างแต่งงานใหม่แล้วย้ายไปอยู่ Mexico
  • Maxence (รับบทโดย Jacques Perrin) กะลาสีเรือประจำการอยู่ฐานทัพในเมือง Rocheford วันว่างๆมักแวะเวียนมาร้านของ Yvonne พูดคุยถึงงานอดิเรก ชื่นชอบการวาดภาพ และกำลังติดตามหาหญิงสาวคนรักที่ปรากฎตัวในความฝัน
  • Simon Dame (รับบทโดย Michel Piccoli) เปิดร้านขายเครื่องดนตรี โดยมีขาประจำคือ Solange ที่เพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นนักประพันธ์เพลง เขาจึงอาสาแนะนำให้รู้จักเพื่อนเก่า/นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน Andy Miller (รับบทโดย Gene Kelly) ซึ่งบังเอิญกำลังเดินทางมาเยี่ยมเยือนในอีกวันสองวัน
  • Guillaume Lancien (รับบทโดย Jacques Riberolles) พ่อค้างานศิลปะ มีความหลงใหลคลั่งไคล้ Delphine ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ แต่เธอก็พยายามบอกปัดปฏิเสธ ต้องการบอกเลิกรากลับตื้อไม่เลิก พร้อมชอบพูดคำถากๆถางๆ หนึ่งในผลงานศิลปะที่จัดแสดงคือภาพวาดของ Maxence แต่เขาปฏิเสธจะบอกรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับจิตรกรคนนั้น (เพราะอิจฉาริษยา ไม่ต้องการให้เธอพบคู่แข่งของหัวใจ)

เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อสองสาวเชื้อสายเอเชีย ตัดสินใจทอดทิ้ง Étienne และ Bill ทำให้พวกเขาต้องการใครสักคนทำการแสดงแทน หลังขอคำปรึกษาจาก Yvonne เลยตัดสินใจชักชวนฝาแฝด Delphine และ Solange เล่นตัวอยู่สักพักก็ยินยอมขึ้นเวที ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม ถึงขนาดขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งหลังการแสดงเสร็จสิ้น พวกเธอก็ตัดสินใจร่วมออกเดินทางไป Paris เพื่อค้นหาและเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน


Catherine Deneuve ชื่อจริง Catherine Fabienne Dorléac (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, เป็นบุตรของนักแสดงละครเวทีชื่อดัง Maurice Dorléac และ Renée Simonot เลยไม่แปลกที่เธอจะมีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เริ่มจากตัวประกอบเล็กๆ Les Collégiennes (1957), ซึ่งการแสดงของเธอใน L’Homme à femmes (1960) ไปเข้าตาผู้กำกับ Jacques Demy เรียกตัวมาทดสอบหน้ากล้อง เลือกให้รับบทนำ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แจ้งเกิดโด่งดังในทันที!

รับบท Delphine แฝดผู้น้องคลอดช้ากว่าเพียง 12 นาที ผมสีบลอนด์ เป็นครูสอนเต้นบัลเล่ต์ หลงใหลในงานศิลปะ ถูกตามง้องอนโดยนักสะสม Guillaume Lancien แต่เธอโหยหาชีวิตอิสระ ไม่ต้องการผูกมัด หรือถูกควบคุมครอบงำโดยใคร จนกระทั่งพบเห็นภาพวาดของตนเอง ตกหลุมรักศิลปินคนนั้นแม้ยังไม่เคยพบเจอหน้า เลยตัดสินใจออกเดินทางติดตามหาชายในฝันของคนนั้น

Françoise Paulette Louise Dorléac (1942-67) นักแสดง โมเดลลิ่ง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นพี่สาวแท้ๆ(แต่ไม่ใช่ฝาแฝด)ของ Catherine Deneuve แต่เข้าสู่วงการภาพยนตร์ภายหลังเพราะไปร่ำเรียนการแสดง/เต้นรำยัง French National Academy of Dramatic Arts เริ่มมีผลงานจาก The Wolves in the Sheepfold (1960), The Dance (1962), โด่งดังกับ That Man from Rio (1964), The Soft Skin (1964), Cul-de-sac (1966) และ The Young Girls of Rochefort (1967)

รับบท Solange แฝดผู้พี่ คลอดก่อนเพียง 12 นาที ผมสีน้ำตาล (brunette) ชอบเล่นเปียโน มีความสามารถด้านการประพันธ์เพลง สนิทสนมกับเจ้าของร้านขายเครื่องดนตรี Simon Dame อาสาแนะนำให้รู้จักกับเพื่อนนักประพันธ์ชาวอเมริกัน Andy Miller แต่โดยไม่รู้ตัวทั้งคู่จับพลัดจับพลูบังเองพบเจอกัน แล้วต่างตกหลุมรักแรกพบ เพ้อใฝ่ฝันถึงกันและกัน

แม้ก่อนหน้านี้สองพี่น้องจะมีบทสมทบเล็กๆร่วมกันเรื่อง The Door Slams (1960) แต่ก็เทียบไม่ได้กับฝาแฝดใน The Young Girls of Rochefort (1967) ซึ่งทำให้พวกเธอกลับมาสนิทสนม สานสัมพันธ์ ใช้เวลาร่วมกันตั้งแต่ซักซ้อมท่าเต้นสามเดือนยัง London (โดยอาจารย์/นักออกแบบท่าเต้น Norman Maen) ขณะที่ Françoise ได้เปรียบเพราะเคยมีพื้นฐาน/ประสบการณ์มาก่อน แต่ Catherine ก็ไม่ยินยอมพ่ายแพ้ ซ้อมหนักกว่าใคร ต้องการแสดงออกมาให้สุดความสามารถ

ถ้าคุณไม่เคยรู้จัก Catherine Deneuve อาจเป็นไปได้ที่จะไม่สามารถแยะแยะกับพี่สาว Françoise เพราะรูปลักษณ์/ใบหน้าทั้งสองมีความละม้ายคล้ายคลึงกันมากๆ แต่เมื่อรับชมไปเรื่อยๆก็จะค่อยๆพบความแตกต่าง ตั้งแต่สีผม น้ำเสียง ลีลาคำพูด รวมถึงอุปนิสัย ความชื่นชอบ รสนิยมส่วนตัว แทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลยสักนิด ราวกับกระจกสะท้อนกันและกันเสียด้วยซ้ำ

และการแสดงของทั้งคู่ต้องชมเลยว่าเข้าขา เสมอภาคเท่าเทียม เต็มไปด้วยความสนุกสนานร่าเริง เพลิดเพลินไปกับชีวิตในแต่ละวัน ผมไม่เห็นว่าจะมีใครโดดเด่นกว่าใคร ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ (เพราะถ้าให้ใครคนหนึ่งโดดเด่นกว่า ก็ไม่รู้สร้างบทฝาแฝดมาทำไม) … แต่ลึกๆผมรู้สึกว่าพี่สาว Françoise แอบแย่งซีนช่วงท้าย เมื่อได้เต้นคู่กับ Gene Kelly (Françoise เต้นเก่งกว่า Catherine อย่างเห็นได้ชัด)

เกร็ด: Catherine เลือกใช้นามสกุลเดิมของแม่ก่อนแต่งงาน (maiden name) เป็นนามแฝงเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับพี่สาว แต่น่าเสียดายโชคชะตาของสองพี่น้อง เพียงสามเดือนหลังหนังฉาย Françoise Dorléac ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิต (ขณะกำลังเดินทางไปสนามบิน เพื่อโปรโมทหนังยังประเทศอังกฤษ) ขณะอายุเพียง 25 ปี

Danielle Yvonne Marie Antoinette Darrieux (1917 – 2017) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bordeaux ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนี่ง แล้วมาเติบโตขึ้นยัง Paris วัยเด็กมีความชื่นชอบในเชลโล่ ได้เข้าศีกษายัง Conservatoire de Musique, เมื่ออายุ 14 ได้รับเลือกแสดงหนังเพลง Le Bal (1931), โด่งดังกับ Mayerling (1936), หลังแต่งงานครั้งแรกกับ Henri Decoin มุ่งสู่อเมริกาเซ็นสัญญากับ Universal Studios แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่, หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เดินทางกลับฝรั่งเศส กลายเป็นขาประจำของ Max Ophüls ผลงานเด่นๆ อาทิ La Ronde (1950), House of Pleasure (1952), The Earrings of Madame De… (1953), เห็นว่าผู้กำกับ Jacques Demy อยากร่วมงานกับ Darrieux ตั้งแต่ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แต่ไม่มีเงินว่าจ้าง จนกระทั่ง The Young Girls of Rochefort (1967) และยังมีโอกาสร่วมงานอีกครั้ง Une chambre en ville (1982)

รับบท Yvonne Garnier มารดาของฝาแฝด (แต่ก็ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกันแล้ว) และบุตรชายคนเล็ก Boubou เปิดคาเฟ่ตู้ปลา ตั้งอยู่บริเวณจตุรัสกลางเมือง ซี่งเป็นสถานที่พบปะ ไปมาหาสู่ ผู้คนมากหน้าหลากตา เรียกได้ว่าคือจุดศูนย์กลางของ Rochefort

ในอดีตตอนยังสาว Yvonne ตกหลุมรักชายนักดนตรีหนุ่ม Simon Dame แต่มิอาจตัดสินใจแต่งงาน เปลี่ยนมาใช้นามสกุลเพราจะถูกเรียกขาน Madame Dame ขบขันเกินเยียวยา ถีงอย่างนั้นเมื่อกาลเวลาพานผ่านกลับทำให้เธอโหยหา คำนีงถีง ถ้ามีโอกาสพบเจออีกสักครั้ง จะไม่ปฏิเสธเสียเพรียกเรียกร้องของหัวใจ

ผมแอบรู้สีกว่าบทบาทของ Darrieux มีมากกว่าฝาแฝดสาวเสียอีกนะ แต่เธอมักยืนอยู่หลังเคาน์เตอร์ น้อมรับฟังเรื่องเล่าของลูกค้า นานๆครั้งถีงพีงรำพัน ย้อนอดีตความทรงจำ ขับขานความรู้สีกคำนีงหา ซี่งเธอบุคคลเดียวในหนังที่ใช้เสียงร้องของตนเอง ส่วนการแสดงต้องถือว่า ‘oldie but goldie’ เพลิดเพลินที่ได้รับชม


Jacques Daniel Michel Piccoli (1925 – 2020) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักไวโอลิน มารดาเล่นเปียโน แต่ความสนใจของเขากลับคือการแสดง ฝีกฝนยัง d’Andrée Bauer-Théraud จากนั้นได้งานภาพยนตร์ Le point du jour (1949), เริ่มมีชื่อเสียงจาก French Cancan (1955), โด่งดังจากการเป็นหนี่งในขาประจำ Luis Buñuel อาทิ Death in the Garden (1956), Diary of a Chambermaid (1964), Belle de jour (1967), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Contempt (1963), Topaz (1969), A Leap in the Dark (1980), Strange Affair (1981), La Belle Noiseuse (1991), We Have a Pope (2011) ฯ

รับบท Simon Dame เจ้าของร้านขายเครื่องดนตรีใน Rochefort แม้เพิ่งเปิดกิจการไม่นานแต่ก็มีลูกค้าประจำ Solange มักเข้ามาซื้อกระดาษเพลง (Sheet Music) เมื่อมีโอกาสรับฟังเธอบรรเลง ประทับใจในอัจฉริยภาพ อาสาติดต่อเพื่อนนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน Andy Miller อยากช่วยเหลือผลักดัน ให้มีโอกาสประสบความสำเร็จ

เหตุผลหนี่งอาจเพราะ Solange มีใบหน้าละม้ายคล้ายอดีตคนรัก Yvonne (ซี่งก็คือมารดาของ Solange นะแหละ) แต่เธอกลับทอดทิ้งเขา แต่งงานใหม่ แล้วย้ายไปอยู่ Mexico แม้กาลเวลาพานผ่านมานานหลายปี ก็ยังคงโหยหา คำนีงถีง ถ้ามีโอกาสก็อยากพบเจออีกสักครั้ง

Piccoli ช่วงทศวรรษ 60s ถือว่ามีชื่อเสียงระดับนานาชาติพอสมควร (แต่ยังไม่ถีงระดับตำนานเหมือน Danielle Darrieux) การแสดงอาจดูทั่วๆไป ไม่มีความน่าจดจำสักเท่าไหร่, แต่ปัจจุบันปู่แกถือว่าคือหนี่งในตำนานนักแสดงฝรั่งเศส (อาจจะยิ่งใหญ่กว่า Danielle Darrieux ไปแล้วด้วยนะ!) ผู้ชมจะรู้สีกก็ไม่เลวร้ายเท่าไหร่ เป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ช่วยสร้างสีสันให้หนัง ประชัน Gene Kelly ได้อย่างน่าประทับใจ และฉากเต้นรำกลางจตุรัสเมือง Rochefort น่ารักไปอีกแบบ


Jacques Perrin ชื่อจริง Jacques André Simonet (เกิดปี 1941) นักแสดง/โปรดิวเซอร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาทำงานผู้จัดการโรงละคร ส่วนมารดาก็เป็นนักแสดง(ประจำโรงละคร) แน่นอนว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เข้าฝีกฝนการแสดงยัง Conservatoire National Supérieur d’Art Dramatique, จากนั้นขี้นแสดงละครเวที, สมทบภาพยนตร์ Girl with a Suitcase (1960), โด่งดังกับ La busca (1966), Un uomo a metà (1966), The Young Girls of Rochefort (1967), แต่หลังจากนั้นก็เปิดสตูดิโอ กลายเป็นโปรดิวเซอร์หนังรางวัลอย่าง Z (1969), Home Sweet Home (1973), Black and White in Color (1976), Himalaya (1996) ฯ

รับบท Maxence กะลาสีหนุ่ม ขาประจำร้านของ Yvonne แวะเวียนมาทุกครั้งหลังเลิกงาน พูดคุยจนสนิทสนม รู้จักมักคุ้นใครต่อใครไปทั่ว ชอบชักชวนให้ไปเชยชมผลงานภาพวาดหญิงสาวในฝัน คาดหวังว่าสักวันจะมีโอกาสได้พบเจอตัวจริง … แต่ดันกลับบ้านที่ Nantes ตอนวันอาทิตย์อย่างน่าเสียดาย

Perrin อาจไม่ใช่นักแสดงที่มีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ แต่ได้รับการยกย่องโปรดิวเซอร์มือทอง สร้างภาพยนตร์ประสบความสำเร็จมากมาย ซี่งบทบาทในผลงานเรื่องนี้ต้องถือว่าคือ ภาพจำของเขา ชายหนุ่มหล่อ หน้าใส สวมใส่ชุดกะลาสีเรือ แบกปืน(ไปโบกตีก) วันๆเอาแต่โหยหาเพียงหญิงสาวในความฝัน ไม่รู้เหมือนกันจะมีโอกาสพบเจอเธอหรือไม่ (ตอนจบของหนังผมมองแค่ว่า คือปลายเปิดทิ้งไว้ให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการ)


ทิ้งท้ายกับ Gene Kelly ชื่อจริง Eugene Curran Kelly (1912-96) นักเต้น/นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania ครอบครัวมีเชื้อสาย Irish ผสม German, มารดาส่งเขาและพี่ชายไปเรียนการเต้นตั้งแต่อายุ 8 ขวบ แต่ตอนนั้นไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ กระทั่งเหตุการณ์ Wall Street Crash เมื่อปี 1929 ทำให้ต้องออกจากโรงเรียน ช่วยที่บ้านทำงานหาเงิน ร่วมกับพี่ชายกลายเป็นนักเต้นล่ารางวัล, ต่อมาสามารถสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ University of Pittsburgh แล้วได้เข้าร่วมชมรมการแสดง Cap and Gown Club, พอเรียนจบทำงานเป็นครูสอน ออกแบบท่าเต้น แล้วมุ่งสู่ New York City กลายเป็นนักแสดง Broadway พอเริ่มโด่งดังก็ถูกเรียกตัวจาก Hollywood เซ็นสัญญา David O. Selznick ภาพยนตร์เรื่องแรก For Me and My Gal (1942), ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ Cover Girl (1944), Anchors Aweigh (1945), On the Town (1949), An American in Paris (1951), Singin’ in the Rain (1952) ฯลฯ

รับบทนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน Andy Miller เพื่อนสนิทของ Simon Dame เคยร่ำเรียนดนตรีมาด้วยกัน แต่ Miller ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ ทำให้มีโอกาสออกทัวร์ไปทั่วโลก ซี่งช่วงขณะนั้นกำลังจะมีคอนเสิร์ตยังกรุง Paris แล้วจู่ๆครุ่นคิดอยากมาเยี่ยมเยียนเพื่อนเก่าถีง Rochefort และบังเอิญพบเจอ ตกหลุมรักแรกพบหญิงสาว ทอดทิ้ง(รองเท้าแก้ว)กระดาษเพลงไว้แผ่นหนี่ง ท่วงทำนองซาบซี้งกินใจ เธอเป็นใครมาจากไหนกัน?

เมื่อผู้กำกับ Demy สามารถติดต่อหา Kelly นอกจากมารับเชิญ ยังอยากให้มาเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น (choreographer) แต่เจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธ เพราะไม่อยากห่างไกลครอบครัว(ที่สหรัฐอเมริกา)เป็นเวลานานๆ ถีงอย่างนั้นแค่เพียง 3 สัปดาห์ ก็นำประสบการณ์จาก Hollywood มาสร้างสีสัน ให้คำแนะนำ เป็นกันเองกับทุกคน แถมยังเลือกตัวประกอบ(ชาวเมือง)มาร่วมร้องเล่นเต้น ดิ้นดั้นสดๆกันตรงนั้นๆ

แต่ผมจดจำบทบาทนี้ของ Kelly ได้เพียงรอยยิ้มปลอมๆ ใบหน้าโบท็อกซ์ เต็มไปด้วยริ้วรอยเหี่ยวย่น (ตอนนั้นอายุ 50+ แล้วนะ) แต่ลีลาท่าเต้นยังคงน่าประทับใจ โดยเฉพาะขณะเริงระบำกับ Danielle Darrieux ลองทางดูสิว่าอ้างอิงจากภาพยนตร์เรื่องไหน? (จะมีคำตอบย่อหน้าถัดๆไป)

เกร็ด: Gene Kelly สามารถพูดฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ชัดเจน แต่กลับไม่ได้ใช้น้ำเสียงหรือขับร้องใดๆในหนัง เพราะตารางงานที่แน่นเอียด เลยไม่สามารถบันทีกเสียงล่วงหน้า (pre-record) ก็เลยจำต้องใช้นักร้อง-พูดแทนทั้งหมด


ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet (1924-81) สัญชาติ Belgian เกิดที่ Antwerp, Belgium ย้ายมาเรียนต่อ Paris แล้วได้สัญชาติเมื่อปี 1940, เริ่มต้นถ่ายทำหนังสั้น มีชื่อเสียงจาก Le Trou (1960), Classe Tous Risques (1960), The Fire Within (1963), Au hasard Balthazar (1966), The Young Girls of Rochefort (1967), Mouchette (1967), Love and Death (1975), Tess (1979) ** คว้า Oscar: Best Cinematography

แม้ว่าหนังเลือกช่วงเวลาหน้าร้อนปี 1966 แต่การถ่ายทำภายนอกล้วนขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศ ฝนตกก็หมดสิทธิ์ เมฆครึ้มเกินไปก็ไม่ได้ ถึงอย่างนั้นทุกๆวันก็จะคาคั่งไปด้วยชาวเมืองที่เข้ามารายล้อมรอบ จับจ้องสังเกตการณ์ เผื่อว่าจะมีโอกาสเข้าตาแมวมอง ได้เป็นตัวประกอบ เดินผ่านหน้ากล้อง ค่าแรงก็แค่ค่าขนม ให้เล่นฟรีก็ยังได้

ผมแอบรู้สึกเสียดายที่ Jean Rabier ตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Demy ไม่มีเวลาว่าง 3-4 เดือน สำหรับเดินทางมา Rochefort แต่การได้ Ghislain Cloquet จากคำแนะนำของโปรดิวเซอร์ Mag Bodard ถือว่าโชคดีสุดๆ (แม้ช่วงแรกๆจะยังไม่มีใครมั่นใจนัก เพราะ Cloquet ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ถ่ายหนังฟีล์มสีมาก่อน)

สิ่งที่ผมทึ่งมากๆคือการเลือกใช้เลนส์ไวน์ (Wide Lens) ของ Cloquet สามารถทำให้ห้องแคบๆ (ของแฝดสาวที่ใช้สอนบัลเล่ต์) ดูมีพื้นที่ใช้สอยกว่าปกติ เฉกเช่นเดียวกับทิวทัศน์ ท้องถนน หรือแม้จัตุรัสกลางเมือง ดูกว้างขวาง รโหฐาน ราวกับหลุดเข้าไปยังโลกอีกใบ ถ้าใครเดินทางไปยังเมือง Rochefort อย่าแปลกใจนะครับว่าทำไมสถานที่จริงดูเหมือนจะคับแคบ แออัด เล็กกว่าปกติ

สำหรับสีสันของหนังนั้น ยังคงฉูดฉาดแต่ไม่จัดจ้านเหมือน The Umbrellas of Cherbourg (1964) ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ตึกรามบ้านช่อง (ต้องทาสีใหม่ทั้งหมด ทุกฉากที่ถ่ายทำ) แต่จะมีความเรียบง่าย สว่างสดใส ดูสบายตา ด้วยรองพื้นขาวหรือโทนสีเดียว แล้วแต่งแต้มสีสันอื่นๆผ่านรายละเอียดเล็กๆ บานหน้าต่าง ประตู หลังคา หรือขอบเสื้อผ้า เนคไทด์ สีผม ฯ

แทนที่จะเริ่มต้นภาพแรกของหนังด้วย Iris Shot (ย้ายไปอยู่ฉากสุดท้ายแทน) กลับเป็นภาพ Rochefort-Martrou Transporter Bridge หนึ่งในไม่ถึงสิบสะพานขนส่งที่ยังคงหลงเหลือและใช้งานได้ในฝรั่งเศส ก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1898-1900 ความสูง 66.5 เมตร ความยาว 175.5 เมตร ใช้เวลา 75 วินาที ข้ามแม่น้ำ Charente, ปัจจุบันถูกจัดเป็นอนุสรณ์สถาน (Historical Momument) และได้รับการบูรณะซ่อมแซม กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมือง Rochefort

สมัยก่อนถ้าจะเข้าเมือง Rochefort ยังไงก็ต้องข้ามสะพานนี้ แต่ปัจจุบันนี้มันไม่จำเป็นเท่าไหร่ (เสียเวลาอีกต่างหาก) นอกจากชาวบ้านระแวกนี้หรือนักท่องเที่ยว ซึ่งก็เพราะ The Young Girls of Rochefort (1967) เรื่องนี้แหละ ทำให้สะพานกลายเป็นสถานที่สำคัญของเมืองได้!

Rochefort หรือ Rochefort-sur-Mer, จังหวัด Charente-Maritime เมืองท่าเล็กๆทางตะวันตกของฝรั่งเศส ในอดีตถูกสร้างเป็นป้อมปราการทหารเรือ Arsenal de Rochefort (ค.ศ. 1665-1926) เคยถูกกองทัพอังกฤษโจมตีในช่วง Seven Years’ War (1756-63)

จากสะพาน Rochefort-Martrou Transporter Bridge ตรงมาประมาณ 2.6 กิโลเมตร ก็จะถึงจตุรัสกลางเมือง Place Colbert ที่กลายเป็นศูนย์กลางของเมือง Rochefort ส่วนคาเฟ่ของ Yvonne จริงๆเป็นฉากที่สร้างขึ้นสำหรับถ่ายทำหนัง เสร็จแล้วก็ถูกรื้อถอนออกไป แต่ปัจจุบันก็มีการก่อสร้างขึ้นใหม่ในชื่อ La Brasserie des Demoiselles

ขณะที่งานศิลปะใน Art Gallery มีแต่ภาพ Abstract ที่ไม่สามารถจับต้องได้ของ Guillaume Lancien (ชายผู้สนเพียงยิงเป้าหมาย น้ำแตก ต้องการได้เธอมาครอบครองโดยไม่สนอะไรอื่น) แต่ภาพเหมือนของ Delphine ผมมองว่ามีลักษณะ Impressionist จากจินตนาการของ Maxence ที่ได้พบเจอเธอคนนี้ในความฝัน จึงวาดออกมาตามความประทับใจนั้น สายตาดูเหงาหงอย เศร้าซึม โดดเดี่ยวอ้างว้าง เฝ้ารอคอยจะได้พบเจอใครสักคนเคียงข้าง

หลายคนอาจไม่รู้สึกว่าภาพดังกล่าวเหมือนตัวจริงสักเท่าไหร่ แต่เวลาดูงานศิลปะ แนะนำให้พยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไป เพราะอะไร ทำไมศิลปินถึงสรรค์สร้างผลงานชิ้นนี้ออกมา? ซึ่งหนังก็พูดบอกอยู่หลายครั้งว่าคือภาพที่ Maxence วาดจากความประทับใจหญิงสาวในฝันคนนั้น

ใครช่างสังเกตลองทายสิว่า Agnès Varda แอบมารับเชิญ Cameo เป็นแม่ชีคนไหน?

สำหรับผู้ชาย การได้เห็นสาวๆสวมกระโปรงสั้นๆ กระโดดโลดเต้น เริงระบำ แหกแข้งแหกขา มันช่างสร้างความคึกครื้น คึกคัก ไม่ได้สนใจรายละเอียดอื่นหรอกนอกจากจับจ้องมองหา … ผมรู้สึกว่านี่เทคนิคลีลา ลูกล่อลูกชนของผู้กำกับ Demy ให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลินกับความวับๆแวมๆ ล่อตาล่อใจ เป็นอีกสีสันที่ทำให้หนุ่มๆรู้สึกกระชุ่มกระชวย สดชื่น กระสันซ่าน

สำหรับผู้หญิง … ผมจะไปรู้ได้ยังไงละครับ! แต่คิดว่าภาพที่ออกมามันไม่ได้น่าเกลียด หื่นกระหายขนาดนั้น ดูบริสุทธิ์ เซ็กซี่ เป็นวิธียั่วเย้า ยียวนหนุ่มๆได้อย่างน่าสนใจ

ว่ากันว่าตอนจบดั้งเดิมที่ผู้กำกับ Demy ครุ่นคิดไว้ Maxence จะถูกรถชนตาย! ไม่ใช่โบกคาราวานแล้วได้ขึ้นรถ ค้นพบ’โอกาส’ได้เผชิญหน้า Delphine ในลักษณะปลายเปิด เกิดความหวัง หัวใจชุ่มฉ่ำ

แน่นอนว่าการจบแบบความหวังในหนังลักษณะนี้ ย่อมดีกว่าหวานขม หรือจมอยู่ในความทุกข์โศก ทำให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลาย ออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอมหฤทัย

ตัดต่อโดย Jean Hamon, ดำเนินเรื่องโดยใช้เมือง Rochefort เป็นจุดหมุน เริ่มจากคณะคาราวานข้ามสะพาน Rochefort-Martrou Transporter Bridge มุ่งสู่จตุรัส Place Colbert จากนั้นส่งต่อเรื่องราว พบเจอตัวละคร ความสัมพันธ์จับพลัดจับพลู เวียนวนรอบเมืองตั้งแต่ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ และสิ้นสุดวันจันทร์ เก็บข้าวขนของ ออกเดินทางกลับกรุง Paris

ไดเรคชั่นของหนังมีความละม้ายคล้าย Lola (1961) ใช้ลักษณะการส่งต่อไม้ผลัด เมื่อเรื่องราว/บทเพลงหนึ่งจบสิ้นลง ก็จะมีบางอย่างเชื่อมโยง ปะติดปะต่อ ดำเนินเข้าสู่เรื่องราว/บทเพลงต่อไป (คล้ายๆสัมผัสนอกของบทกวี) เป็นเช่นนั้นจนกว่าจะถึงเป้าหมายเส้นชัย

วิธีการดำเนินเรื่องดังกล่าว ทำให้เราไม่อาจแบ่งแยกหนังออกเป็นองก์ๆ แต่สามารถใช้ช่วงวันเวลาดำเนินไป มัดรวบเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกัน

  • วันศุกร์
    • คณะคาราวานเดินทางข้ามสะพาน มาถึงจตุรัสกลางเมือง
    • แฝดสาวในห้องพัก ร้อง-เล่น-เต้น
    • คาเฟ่ของ Yvonne รับฟังคำรำพันของ Etienne
    • Delphine ออกไปรับ Boubou ได้พบเจอสองหนุ่ม อาสานำพาเด็กชายไปส่งยังคาเฟ่ของ Yvonne 
    • Delphine พยายามบอกเลิกรา Guillaume Lancien และมีโอกาสพบเห็นภาพเหมือนของตนเอง (วาดโดย Etienne)
    • สองหนุ่มพา Yvonne มาส่งที่ร้าน จึงได้โอกาสแนะนำตัวสักที
  • วันเสาร์
    • Delphine ในชุดนอน รำพันถึงชายในฝันให้กับ Solange 
    • Solange เดินทางมายังร้านขายเครื่องดนตรี เล่นบทเพลงให้เจ้าของร้าน Simon Dame
    • Solange ออกมารับ Boubou ได้พบเจอสองหนุ่ม แล้วพุ่งชน Andy Miller
    • สองหนุ่ม กำลังจะสูญเสียสาวเอเชียสองคน ที่ตัดสินใจหนีตามกะลาสีเรือไป
    • Yvonne รำพันความหลังของตนเองให้กับ Etienne ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับบ้านวันอาทิตย์
    • สองหนุ่ม ตัดสินใจชักชวนแฝดสาวให้มาร่วมแสดงบนเวที
    • ท้องถนนแห่งการสวนทาง และในที่สุด Andy ก็หาร้านของ Simon พบเจอสักที
    • ยามค่ำคืน งานเลี้ยงที่คาเฟ่ของ Yvonne
  • วันอาทิตย์
    • ร้อยเรียงชุดการแสดงบนเวที
    • ไคลน์แม็กซ์คือการแสดงของแฝดสาว
    • ค่ำคืนนั้นภายหลังสิ้นสุดการแสดง แฝดสาวได้รับการเยี่ยมเยียนจากแขกคนสำคัญ
      • Delphine พยายามกีดกัน ไม่ได้อยากพบเจอ Guillaume Lancien
      • Solange ได้รับคำยืนยันจาก Simon ว่าเขียนจดหมายแนะนำเธอให้กับ Andy
  • วันจันทร์
    • เก็บข้าวของ ใกล้ถึงเวลาแยกย้าย
    • Simon มาที่ห้องของแฝดสาว แล้วบอกให้ Solange เดินทางไปหา Andy ที่ร้านของเขา
    • Yvonne เร่งรีบวิ่งออกไปรับ Boubou เพื่อจะได้พบเจอกับ Simon
    • Delphine ตัดสินใจร่วมออกเดินทางไปกับคณะคาราวาน และอาจได้พบเจอกับ …

เพื่อให้ได้ทุนสร้างเพิ่มขึ้น หนังจึงมีการถ่ายทำสองฉบับพูดฝรั่งเศสและอังกฤษ เคียงคู่กันไป แต่โชคร้ายที่ฉบับฉายสหรัฐอเมริกา เสียงตอบรับย่ำแย่ ขาดทุนย่อยยับ จึงถูกทอดทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใย แทบจะหารับมไม่ได้ในปัจจุบัน (มีเพียง VHS คุณภาพเสื่อมลงตามกาลเวลา)


เพลงประกอบโดย Michel Jean Legrand (1932-2019) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของนักแต่งเพลง/วาทยากรชื่อดัง Raymond Legrand มีอัจฉริยภาพด้านเปียโนตั้งแต่เด็ก พออายุ 10-11 ขวบ เข้าศึกษา Conservatoire de Paris ค้นพบความสนใจดนตรีแจ๊สและการประพันธ์เพลง จบออกร่วมทัวร์การแสดงของ Maurice Chevalier (เป็นนักเปียโน) จากนั้นออกอัลบัมแรก I Love Paris (1954) ได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง, สำหรับภาพยนตร์เริ่มต้นจาก Les Amants Du Tage (1954), โด่งดังกับ L’Amérique insolite (1958), A Woman Is a Woman (1960), ร่วมงานกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Jacques Demy ตั้งแต่ Lola (1961), The Umbrellas of Cherbourg (1964), The Young Girls of Rochefort (1966), กระทั่งคว้า Oscar: Best Score จาก Summer of ’42 (1971), The Thomas Crown Affair (1968) และ Yentl (1983)

แม้ว่า The Young Girls of Rochefort (1967) นักแสดงไม่ได้ต้องขับร้องทุกช็อตฉากแบบ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แต่ Legrand เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า กว่าจะได้สักบทเพลงที่ใช้ในหนังสาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่า! นั่นเพราะผู้กำกับ Demy เขียนคำร้องในลักษณะบทกวี มันจึงไม่ใช่แค่การแต่งท่วงทำนองให้สอดคล้อง แต่ยังต้องถ่ายทอดความรู้สึก ผสมผสานประสาน Main Theme ซึ่งไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที (Demy ยืนกรานว่าต้องแต่งครบทุกเพลงก่อน แล้วค่อยมาดูว่าท่วงทำนองไหนที่สร้าง ‘impact’ ต่อหนังมากกว่า ถึงค่อยเลือกเป็น Main Theme)

ลักษณะเพลงประกอบของ The Young Girls of Rochefort (1967) ถูกเขียนขึ้นในลักษณะ Character Song เพื่อสะท้อนบุคลิก อุปนิสัย แต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ถึงอย่างนั้นภายในจิตใจพวกเขาต่างโหยหา เพ้อใฝ่ฝัน ต้องการไขว่คว้าบางสิ่งอย่างคล้ายๆกัน จึงมักมีท่วงทำนอง ‘motif’ ที่จะได้ยินซ้ำๆ คำร้องก็ใกล้เคียงกัน แทรกแซมอยู่ในบทเพลงของตัวละคร … ช่วงกลางเรื่องจะมีฉาก Medley ที่นำทุกตัวละคร ทุกบทเพลง(ของตัวละคร) มาร้อยเรียง ปะติดปะติด ก่อนนำเข้าสู่เหตุการณ์สำคัญ


เริ่มต้นด้วย Le pont transbordeur (แปลว่า The Ferry Bridge หรือ The Transport Bridge) เป็นบทเพลงอารัมบท (Prologue) นำเข้าสู่เรื่องราวด้วยท่วงทำนอง Jazz เบาๆ เล่นลีลากับเปียโนให้ผู้ชมค่อยๆปรับตัวต่อไดเรคชั่นหนัง ซึ่งพอทุกอย่างเข้าทีทาง ใส่จังหวะ Main Theme พร้อมนักแสดงกระโดดโลดเต้น ครึกครื้นเครง อลเวง ให้ตระหนักว่านี่คือภาพยนตร์แนว Musical

เกร็ด: Sequence ดังกล่าวนี้ เป็นแรงบันดาลใจ Opening Scene ของ La La Land (2016) ซึ่งก็จะมีการกระโดดโลดเต้นบนสะพาน (มุ่งหน้าเข้าสู่ LA) ด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน ไม่สนว่าแดดเปรี้ยงปร้างขนาดไหน

เอาจริงๆผมไม่รู้ว่าบทเพลงไหนคือ Main Theme (เพราะไม่ได้ตั้งชื่อบอกตรงๆ) แต่ท่วงทำนองที่จะได้ยินจนติดหู แทรกซึมอยู่แทบทุกอณูของหนังคือ Arrivée des Camionneurs ballet (แปลว่า Arrival of Truckers Ballet หรือ Arrival Of The Draymen) เมื่อคาราวานขับเคลื่อนมาถึงจตุรัสกลางเมือง พวกเขากระโดดโลดเต้น โยกย้ายส่ายสะโพก ชักชวนใครต่อใคร กาละสี แม่ลูกอ่อน เพื่อแนะนำให้กับเมือง Rochefort

บทเพลงที่ผมถือเป็นไฮไลท์แรกของหนังคือ Chanson des jumelles (แปลว่า Twins’ Song หรือจะ A Pair of Twins) ขับร้องโดย Anne Germain (พากย์เสียง Delphine) และ Claude Parent (พากย์เสียง Solange) สามารถสร้างความประทับใจแรกตั้งแต่เสียงเป่าทรัมเป็ต ซึ่งต่อให้คุณไม่สามารถเข้าใจภาษาฝรั่งเศส ยังรู้สึกว่าคำร้องมีความลื่นไหล สอดคล้องจอง นั่นเป็นผลจากสัมผัสนอก(ของบทกวี) และไฮไลท์คือการละเล่นกับเสียงตัวโน๊ต มี ฟา ซอล ลา มี เร ชวนให้นึกถึงบทเพลง Do-Rei-Mi จากภาพยนตร์ Sound of Music (1965) อยู่เล็กๆ

ผมเลือกนำฉบับภาษาอังกฤษที่มีคนแปลงจาก VHS ขับร้องโดย Jackie Ward (Delphine) และ Sue Allen (Solange) แม้เนื้อคำร้องแปลออกมาได้สอดคล้องท่วงทำนอง ลื่นไหลมากๆ แต่มันขาดสัมผัส/ความงดงามของบทกวี (แปลคำร้องให้แค่สอดคล้องความหมายของบทเพลงเท่านั้นเอง) แล้วแต่คนชื่นชอบนะครับ (แต่ผมชอบฉบับภาษาฝรั่งเศสมากกว่า)

อีกหนึ่งไฮไลทฺ์ของหนังคือ Chanson de Maxence (แปลว่า Maxence’s Song หรือเรียกว่า You Must Believe in Spring) ขับร้องโดย Jacques Revaux เป็นบทเพลงรำพันการเดินทางของ Maxence จากเวนิสถึงเกาะชวา มะนิลาถึงนครวัต เพื่อติดตามหาหญิงสาวที่เขาตกหลุมรักแรกพบ เคยสบตาเห็นหน้าในความฝัน วาดภาพเธอออกมา ไม่รู้เมื่อไหร่จะมีโอกาสได้พบเจอตัวจริง

ด้วยท่วงทำนองอันโหยหวน ทำให้ผู้ชมรู้สึกสั่นไหว สงสารเห็นใจ ลุ้นระทึกให้เขาได้พบเจอหญิงสาวคนนั้นที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่จนแล้วจนรอด จนต่อโชคชะตา กลับเกิดเหตุให้แคล้วคลาดกันทุกที จะมีโอกาสไหมที่ทั้งสองจะได้พบเจอหน้า

Maxence’s Song ถือเป็นต้นแบบ/แม่พิมพ์ให้บทเพลงประจำตัวละครอื่นๆ Delphine’s Song, Simon’s Song, Yvonne’s Song, Solange’s Song และ Andy’s Song ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนลูกเล่นและเนื้อคำร้อง ให้สอดคล้องรายละเอียดตัวละครนั้นๆ

Nous voyageons de ville en ville (แปลว่า We Travel From City To City) เป็นบทเพลงคู่ของสองหนุ่ม Romuald (พากย์เสียง Etienne) และ José Bartel (พากย์เสียง Bill) ที่ล้อกับ Twins’ Song ของแฝดสาว แต่จะมีความสนุกสนาน กระโดดโลดเต้น เน้นแสดงออกทางกายภาพมากกว่า

แต่บทเพลงนี้ได้รับการจดจำน้อยว่า Twin’s Song นั่นเพราะหนุ่มๆดูจะเพลิดเพลินไปกับชีวิตมากไป ไม่ได้ยี่หร่า อ่อนไหวเรื่องความรักเหมือนสองสาว (ซี่งเพลงถัดๆไป พวกเขาก็จะถูกแฝดสาวตำหนิต่อว่าถึงความเห็นแก่ตัว จ้องแต่จะร่วมรักหลับนอน ไม่สนใจความรู้สึกของพวกตนบ้างเลยหรือไร)

Chanson de Solange (แปลว่า Solange’s Song) เป็นอีกบทเพลงในซีรีย์ Maxence’s Song ที่มีความละม้ายคล้ายคลึงในท่วงทำนอง แต่ลูกเล่นของบทเพลงนี้จะมีขณะที่ Solange เดี่ยวเปียโนที่เธอแต่งขึ้น นั่นสร้างรสสัมผัสความแตกต่างได้อย่างน่าสนใจ

De Hambourg à Rochefort (แปลว่า From Hamburg to Rochefort) นี่คือบทเพลง Medley ที่ทำการปะติดปะต่อ ร้องเรียงท่วงทำนองจากหลากหลายตัวละคร กำลังดำเนินเดินทางจาก Humburg ถึง Rochefort (จริงๆคือจากท้องถนน Rochefort มุ่งสู่จตุรัสกลางเมือง) ฟังดูอาจไม่มีความไพเราะ แต่ถือว่าน่าสนใจในความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นการประมวลเรื่องราวก่อนนำเข้าวันงาน/ไคลน์แมกซ์ของหนัง

แนวคิดของ The Fair – Ballet ก็คล้ายๆกับ From Hamburg to Rochefort แต่เปลี่ยนจากตัวละครบนท้องถนน มาเป็นการแสดงบนเวทีที่จะเคลื่อนเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

ผมรู้สึกว่าคอนเซ็ปงานมันคล้ายๆพวก Motor Show ที่แต่ละห้างต่างมีบูธ เวทีการแสดงของตนเอง ซึ่งโดยปกติจะแบ่งช่วงเวลาของใครของมัน ไม่ให้แก่งแย่งผู้ชมกัน แต่หนังกลับเฮโลพร้อมกับทุกเวที (แต่ก็มีผู้ชมแออัดเต็มตลอด) กระทั่งการมาถึงของแฝดสาว จับจิตจับใจจนแม้แต่นักแสดงบนเวทีอื่นต้องหันมาเชยชม

Chanson d’un jour d’été (แปลว่า Summer Day Song หรือ Summer’s Song) บทเพลงที่แฝดสาวร้อง-เล่น-เต้น ไคลน์แม็กซ์ก่อนสิ้นสุดงานเทศกาล สร้างแรงดึงดูดความสนใจ ไม่แค่ผู้ชมด้านล่าง แต่ยังนักแสดงบนเวทีอื่นๆยังต้องหันมาเหลียวแลมอง, ผมนำฉบับขับร้องภาษาอังกฤษมาให้รับฟังกันอีกคลิป ซึ่ง … ขับร้องพูดฝรั่งเศสทำออกมาได้ตราตรึง ทรงพลังกว่ามากๆ

เกร็ด: ชุดการแสดงนี้ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Gentlemen Prefer Blondes (1953) โดยเฉพาะชุดสีชมพูของ Marilyn Monroe ที่สวมถุงมือยาวคล้ายๆกัน

Toujours, jamais (แปลว่า Always, Never) เป็นบทเพลงน่าจะมีสาระสุดของหนัง! แฝดสาวตั้งคำถามกับสองหนุ่ม ทำไมสนแต่จะร่วมรักหลับนอน ไม่เคยจะพูดบอกคำว่ารัก หรือไล่ลำดับความสัมพันธ์จากสัมผัส โอบกอด จุมพิต รู้จักคำว่าโรแมนติกไหม จะเร่งรีบร้อนตอบสนองตัณหาราคะไปทำไม? … หลังจากสองสาวลาจากไป สองหนุ่มเดินขึ้นบนเวที ขับร้องตอบกลับพวกเธอ (ทีงี้กลับเหนียงอาย ไม่ยอมพูดบอกซึ่งๆหน้า) ฉันเป็นแบบนี้แล้วมันผิดตรงไหน??

นี่เป็นบทเพลงที่สะท้อนมุมมองความรักของชาย-หญิง ในลักษณะแตกต่างขั้วตรงข้าม แฝดสาวโหยหาในความโรแมนติก รักแท้ เติมเต็มเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ ขณะที่สองเพื่อนสนิทตัวแทบติดกัน สนเพียงตอบสนองตัณหาความใคร่ น้ำแตกแยกทาง สนองความสุขสบายทางกาย (ก็เหมือนการงานของพวกเขา จัดเทศกาลแล้วเสร็จก็จากไป)

Sequence ที่มีความน่าประทับใจสุดของหนัง คือการโลดเล่นเต้นระหว่าง Andy Miller & Solange Garnier (Gene Kelly & Françoise Dorléac) ซี่งผมหาเจอแล้วละว่าเป็นท่วงท่าเดียวกับภาพยนตร์ An American in Paris (1951) ที่ Gene Kelly เต้นกับ Leslie Caron บทเพลง Love Is Here to Stay ใต้สะพาน Pont Neuf ริมแม่น้ำ Seine River 

ผมถือว่านี่คือท่าเต้น Iconic อันดับสองของ Gene Kelly (รองจาก Sing’in in the Rain) แต่มีความโรแมนติกที่สุด ชาย-หญิงสื่อสารด้วยท่วงท่า ภาษากาย ทั้งยื้อยักเล่นตัว เอื้อมมือไขว่คว้า กว่าจะได้จุมพิต โอบกอดซบไหล่ ศิโรราบความรู้สึกของหัวใจ แล้วใช้ชีวิตก้าวเดินเคียงคู่ไปข้างหน้า ตารปัตรกับกล้องเคลื่อนถอยหลัง แต่พวกเขากำลังมุ่งสู่ความเป็นนิจนิรันดร์

Finale ถือเป็นอีก Medley Song ที่จงใจล้อกับ From Hamburg to Roc ปะติดปะต่อท่วงทำนอง ร้อยเรียงเรื่องราวจากหลากหลายตัวละคร แต่จะแตกต่างตรงบทเพลงนี้ไม่มีคำขับร้อง และภาพนำเสนอบทสรุปโชคชะตากรรมของพวกเขา มันจึงเอ่อล้นด้วยรอยยิ้ม อิ่มสุข เบิกบานหฤทัย แม้คนกลุ่มหนึ่งกำลังเดินทางจากไป ชาวเมืองที่เหลือก็ก้าวมากระโดดเล่นเต้นกลางจตุรัส ส่งผู้ชมออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยรอยยิ้มหวาน Happy Ending

แซว: Michel Legrand เหมือนจะจงใจจบ The Umbrellas of Cherbourg และ The Young Girls of Rochefort ด้วยวิธีการเดียวกันเปะๆเลยนะ

เรื่องราวของ The Young Girls of Rochefort (1967) อาจไม่ได้แฝงสาระ ข้อคิดที่เป็นประโยชน์อันใด แค่ต้องการมอบความสนุกสนาน พักผ่อนคลายให้ผู้ชม ราวกับได้ไปท่องเที่ยว ตากอากาศยัง Rochefort แม้ในโลกความจริงเมืองแห่งนี้อาจไม่ได้ครึกครื้น ผู้คนออกมากระโดดโลดเต้นบนท้องถนน แต่กลิ่นอาย สัมผัสบรรยากาศ ความทรงจำต่อภาพยนตร์ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น จะทำให้ใครก็ตามเมื่อมายังสถานที่แห่งนี้ บังเกิดรอยยิ้ม อิ่มสุข เบิกบานหฤทัย

อิทธิพลของสื่อภาพยนตร์ สามารถส่งผลกระทบต่อชุมชน สถานที่ที่ไปถ่ายทำ เพราะถ้าหนังเรื่องนั้นประสบความสำเร็จ ได้รับการพบเห็นจากผู้ชมวงกว้าง และผู้สร้างสามารถนำเสนอบรรยากาศ วิถีชีวิต สภาพสังคมเมือง ได้อย่างน่าหลงใหล ประทับใจ ย่อมก่อเกิดกระแสให้ใครต่อใครอยากมาท่องเที่ยว ถ่ายรูป กลายเป็นสถานที่ ‘check-in’ โดยปริยาย

ผมไม่รู้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับ ‘ภาพยนตร์โปรโมทการท่องเที่ยว’ เริ่มต้นตอนไหน? เมื่อไหร่? ใครเป็นคนแรกครุ่นคิด? แต่ลึกๆค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะแถวๆยุคสมัย French New Wave เพราะคือช่วงเวลาที่วงการภาพยนตร์ก้าวออกมาจากระบบสตูดิโอ ทุกแห่งหนบนโลกล้วนสามารถใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ (เอาจริงๆ แนวคิดดังกล่าวมันมีมานมนาน แต่การปักหมุดที่ยุคสมัยนี้เพราะผู้สร้างเหล่านั้น นิยมทำกันจนกลายเป็นความปกติทั่วไป)

ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของ Jacques Demy ล้วนถ่ายทำยังเมืองท่า ใกล้ท้องทะเล (สถานที่แห่งการพบเจอ-พลัดพรากจาก) ด้วยบรรยากาศสบายๆ พักผ่อนคลาย ชักชวนให้ผู้ชมมาท่องเที่ยว เคลิบเคลิ้มหลงใหล เพลิดเพลินไปกับวิถีชีวิต และทิวทัศน์สวยงามตา แม้กาลเวลาเคลื่อนพานผ่านมานานแล้ว แต่ก็ยังคงได้รับการจดจำ เป็นทั้งสัญลักษณ์ และประวัติศาสตร์ ความภาคภูมิใจของคนทั้งเมือง

The Young Girls of Rochefort (1967) คือความเพ้อฝันที่ได้รับการเติบเต็มของ Jacques Demy ในการสรรค์สร้างภาพยนตร์เพื่อเคารพคารวะ Hollywood Musical ทั้งยังมีโอกาสร่วมงานนักแสดงคนโปรดอย่าง Gene Kelly, Danielle Darrieux ได้เปิดโลกทัศน์ เรียนรู้อะไรๆใหม่ๆมากมาย และทุกวันในกองถ่ายล้วนรายล้อมด้วยความสุข โดยเฉพาะชาวเมืองที่พร้อมช่วยเหลือ สนับสนุน อยากมีส่วนร่วมใจจะขาด เป็นบรรยากาศที่พบเห็นได้ยากยิ่งในกองถ่ายทำ


ฉบับภาษาฝรั่งเศสเมื่อนำออกฉาย(ในประเทศ)ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม ประสบความสำเร็จทำเงินถล่มทลาย แต่ฉบับภาษาอังกฤษที่เข้าฉายสหรัฐอเมริกา กลับไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ถูกมองว่าเป็นการลอกเลียน Hollywood Musicial โดยไม่เข้าใจรากเหง้าของหนังแนวนี้อย่างแท้จริง

A movie like The Young Girls of Rochefort demonstrates how even a gifted Frenchman who adores American musicals misunderstands their conventions.

Pauline Kael เขียนลงในบทความ Trash, Art, and the Movies

แต่ถีงอย่างนั้น หนังยังได้เข้าชิง Oscar: Best Music, Score of a Musical Picture แต่พ่ายให้หนังเพลงอีกเรื่อง Oliver! (1968) [เรื่องนี้คว้า Oscar: Best Picture ด้วยนะครับ]

เกร็ด: ในปีเดียวกันนั้นเอง Michel Legrand ยังได้เข้าชิง Oscar อีกสองสาขาจากภาพยนตร์เรื่อง The Thomas Crown Affair (1968) และคว้ารางวัล Best Original Song จากบทเพลง The Windmills of Your Mind [ผมเพิ่งมีโอกาสรับฟังบทเพลงนี้ ไพเราะมากๆจนอยากจะลัดคิวเขียนถีงเร็วๆนี้]

เมื่อปี 1992, ชาวเมือง Rochefort ได้ร่วมกันจัดงานครบรอบ 25 ปี ของหนัง The Young Girls of Rochefort (1967) เพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของ Jacques Demy (เมื่อปี 1990) ซึ่งก็ได้เชิญนักแสดง/ทีมงานที่ยังมีชีวิตอยู่ Catherine Deneuve, Michel Legrand ฯ ในการนี้ Agnès Varda เลยสรรค์สร้างสารคดี The Young Girls Turn 25 (1993) เก็บภาพความเปลี่ยนแปลง สัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวข้อง รวมไปถีงชาวเมืองที่เคยเป็นตัวประกอบหนัง ความยาวเพียง 64 นาที (น่าจะหารับชมได้ใน Criterion Channel)

กาลเวลาทำให้คุณภาพสี Eastmancolor เสื่อมสภาพลงอย่างมาก แต่โชคดีที่ผู้กำกับ Demy เตรียมการเผื่ออนาคตไว้แบบเดียวกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) พิมพ์ฟีล์ม Negative แยกออกเป็นสามเฉด/ฟีล์มสามชุด เหลือง-แดง-น้ำเงิน (yellow, cyan, magenta) ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า ‘separation masters’ ซึ่งเชื่อว่าจะมีความยั่งยืนยาวนานกว่า ทำให้การบูรณะควบคุมดูแลโดย Agnès Varda ผลลัพท์ออกมาดูดี สีสันยังคงสดใส ตามด้วย Digital Restoration คุณภาพ 2K พร้อม 5.1ch surround (สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel)

เสียงตอบรับของหนังในปัจจุบันแทบจะกลายเป็น ‘universal acclaim’ ตั้งแต่เมื่อ Damien Chazelle สรรค์สร้าง La La Land (2016) ยกให้เป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจ (เคียงคู่กับ The Umbrellas of Cherbourg (1964)) ทำให้คนรุ่นใหม่ได้ขวนขวายหามารับชม เปรียบเทียบ และรู้สีกว่าทำไมมันคล้ายกันจังว่ะ!


หวนกลับมารับชม The Young Girls of Rochefort (1967) ทำให้ผมความหลงใหลคลั่งไคล้ยิ่งๆขี้นกว่าเก่า นอกจากความสนุกสนาน พักผ่อนคลาย ยังสามารถทำความเข้าใจอิทธิพล ความสำคัญของหนัง ที่มีต่อทั้งผู้ชม ชาวเมือง Rochenfort และแรงบันดาลใจต่อผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นหลังๆ

เป็นความท้าทายมากๆในการเลือกเพลงโปรดจากอัลบัมโปรด คือมันหลงใหลไปหมด ไพเราะแทบทุกเพลง (ไม่รู้เพราะผมฟัง Soundtrack จนมักคุ้นชินไปแล้วกระมัง) พยายามตัดออกจนเหลือ Top 3 ประกอบด้วย

  1. Twin Song สร้างความประทับใจแรก (First Impression) ตั้งแต่เสียงเป่าทรัมเป็ต โดดเด่นมากๆกับสัมผัสระหว่างคำ และท่อนฮุค ร้องละเล่นตัวโน๊ต มี ฟา ซอล ลา มี เร ผสมประโยคได้อย่างกลมกล่อม
  2. Maxence’s Song ถือเป็นบทเพลงรากเหง้าของความโหยหา จินตนาการถีงคนรักในฝัน เธออยู่แห่งหนไหนกันในโลกใบนี้ (จะได้ยินท่วงทำนองนี้อยู่หลายครั้ง แต่เปลี่ยนเนื้อหาไปตามผู้ขับร้อง)
  3. Concerto Ballet บทเพลงที่ตัวละครของ Gene Kelly เต้นระบำกับ Françoise Dorléac ไม่จำเป็นต้องมีคำร้อง พูดคุยสนทนาใดๆ ทั้งสองสื่อสารด้วยภาษากาย เข้าใจความหมาย ความต้องการของกันและกัน

แนะนำคอหนัง Musical แนว Romantic & Comedy เรื่องราวเกี่ยวกับความรักแบบจับพลัดจับพลู มีให้ลุ้นอยู่หลายคู่, หลงใหลดนตรี Jazz ของ Michel Legrand รวมไปท่าเต้นสุดสร้างสรรค์, นักออกแบบ สถาปนิก ดีไซเนอร์ ด้วยแฟชั่นสุดชิค ออกแนววินเทจนิดๆ, แฟนๆนักแสดง Catherine Deneuve, Danielle Darrieux, Michel Piccoli และ Gene Kelly ไม่ควรพลาดเลยละ

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | The Young Girls of Rochefort ได้เติมเต็มความฝันของ Jacques Demy สร้างความครึกครื้นเครงให้ชีวิต และกำเนิดใหม่เมือง Rochefort
คุณภาพ | รึรื้รง
ส่วนตัว | หลงใหลคลั่งไคล้


The Young Girls of Rochefort

The Young Girls of Rochefort (1967) French : Jacques Demy ♥♥♥♥♡

(22/1/2017) ณ เมืองติดทะเล Rochefort ตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ชายหญิง พบเจอ พลัดพราก พลาดโอกาส จับพลัดจับพลู ในหนึ่งสัปดาห์แห่งความสุขสันต์ ร้องเล่นเต้นอย่างเพลิดเพลิน เพื่อตามหารักแท้, หนังเพลงสุดสวยคุณภาพขึ้นหิ้งของ Jacques Demy ที่จะทำให้คุณตกหลุมรัก คลั่งไคล้ หลงใหล ทั้งอิ่มเอิบและเศร้าเสียใจ หลากหลายอารมณ์ในเรื่องเดียว

ถ้าคุณเพิ่งรับชม La La Land (2016) มาไม่นาน จะสัมผัสได้ถึงความละม้ายคล้ายคลึงในสไตล์เพลงและลีลาท่าเต้นกับหนังเรื่องนี้ (ก็แน่ละ นี่คือหนึ่งในเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ) ซึ่งนี่จะไม่ทำให้คุณชอบหนังทั้งสองเรื่องน้อยลงนะครับ มีแต่จะยิ่งหลงใหลคลั่งไคล้มากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้กำกับ Jacques Demy หนึ่งใน French New Wave หลังความสำเร็จของ The Umbrellas of Cherbourg ทำให้ได้รับโอกาสจากสตูดิโอทั้งหลายที่เคยบอกปัด สามารถหาทุนสร้างหนังเยอะขึ้นกว่าเดิม แถมได้นักแสดงระดับนานาชาติชื่อดังมาสมทบอย่าง Gene Kelly, George Chakiris ฯ ตอนแรกตั้งชื่อหนังว่า Boubou ชื่อน้องชายคนเล็กของสองแฝดสาว สุดท้ายจะเปลี่ยนเป็น Les Demoiselles de Rochefort ที่แปลว่า หญิงสาวในเมือง Rochefort

เมือง Rochefort, จังหวัด Charente-Maritime ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางของหนัง เพราะความสวยงามของสถาปัตยกรรม (military architecture, rigorous, beautiful,) ตัวเลือกเมืองอื่น อาทิ Saumur, La Roche-sur-Yon, Hyères ฯ, Bernard Evein ผู้เป็น Art Direction ได้ทาสีตึกรามบ้านช่องถนนหนทางใหม่ทั้งหมด ให้เข้ากับสีที่ผู้กำกับต้องการ รวมถึง Colbert Square (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจตุรัส Françoise Dorléac) ที่เป็นใจกลางของเมือง ศูนย์กลางของหนัง

นำแสดงโดย Catherine Deneuve หรือชื่อเต็มๆ Catherine Fabienne Dorléac (เคยร่วมงานกับ Demy มาใน The Umbrellas of Cherbourg) กับพี่สาวแท้ๆ Françoise Dorléac ทั้งสองรับบทเป็นแฝดสาว Delphine กับ Solange Garnier (แต่ตัวจริงทั้งคู่ไม่ใช่แฝดกันนะ เกิดห่างกันปีหนึ่ง), สองพี่น้องมีใบหน้าคล้ายกันมาก แถมเป็นนักแสดงเหมือนกันด้วย น่าเสียดายที่ Françoise อายุสั้นไปหน่อย เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อปี 1967 ตอนอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น (เสียชีวิตหลังหนังฉาย)

การแสดงของทั้งคู่ไม่ได้มีความโดดเด่นเท่าไหร่ แต่ใบหน้าตาที่สวยสะคราญทำให้ไม่ว่าทำอะไรออกมามีความน่ารักน่าชัง และการเล่นเต้นประสาน ทำได้อย่างพร้อมเพียงเคียงคู่กันสุดๆ, ซึ่งบทเพลง Chanson Des Jumelles (A Pair of Twins, Germini) ขับร้องโดย Anne Germain (Delphine) กับ Claude Parent (Solange) [ทั้งสองพากย์แทน Catherine กับ Françoise] มีความโดดเด่น ตราตรึง ติดหู อธิบายพื้นหลัง ตัวตน ความสัมพันธ์ของแฝดสาวได้ตรงตัวที่สุด

Delphine ชอบสีชมพู มีความสามารถด้านการเต้น ตกหลุมรักกับชายหนุ่มที่วาดรูปเหมือนของเธอในจินตนาการ (ทั้งเรื่องไม่ได้พบเจอกันเลย จนตอนจบ…) มีชายหนุ่มที่เป็นจิตรกรตามตื้ออย่างน่ารำคาญ (ที่ชอบยิงปืนใส่ถุงสี ทำภาพ Avant-Garde)

Solange ชอบสีเหลือง มีความสามารถด้านการเล่นดนตรี หลงใหลกับชายหนุ่มที่เป็นนักดนตรีมีชื่อเสียง (ได้พบเจอกับเขาโดยบังเอิญ ไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนาม) มีชายสูงวัยที่เปิดร้านดนตรีแอบหลงใหล ให้กำลังใจอยู่ห่างๆ

แฝดสาวมีความคล้ายแต่ก็แตกต่างกัน (แบบตรงข้าม) เพลงเริ่มจากเสียงทรัมเป็ต จากนั้นเริ่มต้นขับร้องประสานเสียง ครึ่งแรกเต้นคู่กันอย่างพร้อมเพียง ตอนนั่งไขว่ห้างสังเกตดีๆเหมือนรูปหัวใจ แต่หลังจากนั้นทั้งสองจะแยกจากกัน คนหนึ่งนั่งลงเล่นเปียโน อีกคนเดินไปที่กระจกยกขาขึ้นซ้อมบัลเล่ต์

ตอนเพลงนี้ดังขึ้น ผมเกิดความหลงใหลในหนังทันที (ก่อนหน้าที่เป็นการเต้นของหนุ่มๆ ยังไม่ตราตรึงเท่ากับวินาทีนี้) ถึงจะไม่รู้ว่าทั้งสองร้องอะไร แต่ถ้าตั้งใจฟังจะได้ยินคำร้อง มี ฟา ซอล ลา มี เร, เร มี ฟา ซอล ซอล ซอล เร โด่ (เสียงโน๊ตดนตรี) และคำว่า Gemini (ราศีเมถุน) ที่เป็นหนึ่งในจักรราศี แปลว่าหญิงคู่/ฝาแฝด

สำหรับหนุ่มๆมีหลายคนทีเดียว ขอเริ่มจากสองหนุ่มยิปซี (คนที่เดินทางพร้อมคณะแสดงทัวร์) Étienne รับบทโดย George Chakiris กับ Bill รับบทโดย Grover Dale ทั้งสองเป็นนักแสดงสมทบจากหนังเพลง hollywood เรื่อง West Side Story (1961), บทเพลงที่อธิบายเรื่องราวของคู่หนุ่มได้ดีที่สุดคือ Nous voyageons de ville en ville (แปลว่า We travel from city to city.)

สองหนุ่มเป็นนักเดินทางเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง ด้วยเรือ/รถ มีถนนเหมือนบ้าน ชีวิตอิสระไม่ยึดติดกับอะไร, Étienne ชอบสีแดงส้ม ส่วน Bill ชอบสีน้ำเงินฟ้า

เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่า Delphine กับ Solange คงได้คู่ Étienne กับ Bill แต่สุดท้ายจะเป็นเช่นนั้นไหมผมไม่ขอสปอย แค่บอกว่าชีวิตมันไม่จำเป็นต้องเหมือนดังฝัน

Gene Kelly รับบท Andy Miller นักดนตรีชาวอเมริกาที่ชีวิตประสบความสำเร็จแต่เหมือนยังขาดอะไรสักอย่าง วันหนึ่งเดินทางมาหาเพื่อนเก่าที่ Rochefort ได้พบหญิงสาว (Solange) เกิดตกหลุมรัก, การปรากฎตัวของ Kelly ทำให้ผมอมยิ้มตลอดทั้งเรื่อง เพราะเขามาด้วยรอยยิ้มและท่าเต้นที่ใครเป็นแฟนของเขาคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะตอนท้ายที่เมื่อตัวละคร Andy ได้พบ Solange อีกครั้ง การเต้นเกี้ยวพาราสีของทั้งคู่ ให้สัมผัสคล้ายๆกับ An American in Paris (1951), Singin’ in the Rain (1952) อย่างมาก

ผมชอบสีขาวโพลนของฉากนี้อย่างมาก ตัดกับสีไม้ (น้ำตาล) ของโต๊ะเก้าอี้และเครื่องดนตรีที่วางเป็นอุปกรณ์ฉาก ให้ความรู้สึกหรูหรา (Grande) เริ่มต้นจากหญิงสาวเดินเข้ามาในร้าน Andy กำลังเล่นเปียโนพลงที่ Solange แต่งขึ้นแล้วลืมทิ้งไว้ เมื่อทั้งสองเห็นหน้า จดจำกันและกันได้ Andy ลุกขึ้นจากเปียโน เสียงเพลงกลายเป็นออเครสต้า ทั้งสองออกลีลาเกี้ยวพาหยอกเย้า ยอมรับดีไหม … ยอมสิ, รักกันได้ไหม… รักสิ

คงมีหลายคนที่รู้สึก Kelly ดูผิดที่ผิดทาง ไม่ค่อยเข้ากับหนังยังไงชอบกล คือเขากลายเป็นชายวัยกลางคน เต็มไปด้วยริ้วรอยตีนกาเหี่ยวย่น แล้วจะให้ตกหลุมหลงรักหญิงสาวอายุ 20 ต้นๆ มันออกจะเกินไปเสียหน่อย และเสียงพากย์ (สำหรับคนฟังฉบับภาษาฝรั่งเศส) นั่นไม่ใช่เสียงของ Kelly นะครับ พากย์ทับโดย Donald Burke

นี่ถือเป็นหนังเรื่องท้ายๆของ Kelly แล้วนะครับ เพราะยุคทองของหนังเพลง hollywood ได้ถึงกาลสิ้นสุดลงแล้ว ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป ซึ่ง Kelly ก็ไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้ ทำให้ชื่อเสียงที่เคยมีค่อยๆเลือนลางและจางหายไป

สำหรับนักแสดงสมทบอื่นๆ อาทิ
– Danielle Darrieux นักแสดงในตำนานอมตะของฝรั่งเศส รับบท Yvonne แม่ของแฝดสาวและ Boubou เปิดร้านขายอาหารที่มีลักษณะเหมือนตู้ปลา (กระจกรอบด้าน) ตั้งอยู่ในจตุรัสของเมือง Rochefort, อดีตแฟนหนุ่มของเธอ Simon Dame รักกันมาก แต่เพราะนามสกุลของเขาทำให้เธอไม่อยากแต่งงานด้วย (เพราะจะกลายเป็น Madame Dame) เมื่อสิบปีก่อนจึงหาข้ออ้างแยกจาก แต่ปัจจุบันยังรักและคิดถึงอยู่เรื่อยมา
– Michel Piccoli อีกหนึ่งนักแสดงในตำนานอมตะของฝรั่งเศส รับบท Simon Dame ชายกลางคนเพื่อนของ Andy เปิดร้านขายเครื่องดนตรีอยู่ในเมือง Rochefort เขาถูกแฟนสาวชื่อ Yvonne ทิ้งไป มาลงเอยเมืองแห่งนี้ เพราะเป็นสถานที่ที่พบรักครั้งแรกกับเธอ
– Jacques Perrin รับบท Maxence ทหารเรือประจำการชั่วคราวอยู่เมือง Rochefort เป็นคนมีความเพ้อฝันและเป็นศิลปินวาดรูปเก่ง เขาสามารถวาดหญิงสาวในจินตาการออกมาเป็นภาพสุดสวยงาม ซึ่งรูปที่วาดดันไปคล้ายกับ Delphine แต่ทั้งสองจะมีโอกาสได้พบเจอกันไหม?
– สำหรับ Boubou รับบทโดย Patrick Jeantet ที่ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมาย แต่น่าฉงนไม่น้อยทำไมถึงเป็น Working Title แรกของหนัง

ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet ชาว Belgian-French เจ้าของรางวัล Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Tess (1979), หนังถ่ายทำ 2 ครั้ง เป็นฉบับพูด(ขยับปาก)ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ ผมได้รับชมฉบับภาษาฝรั่งเศส ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแตกต่างกันแค่ไหน

ความโดดเด่นของงานภาพ คือสีสันที่สดใสและมีความกลมกลืนเข้ากัน เน้นโทนสว่าง ขาวล้วน แดงเหลืองน้ำเงิน แทบจะไม่มีลูกเล่นลวดลายอะไร เป็นสีโทนธรรมดาเรียบง่าย เทรนด์แฟชั่นของโลกในยุค 50s-60s ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ฉากหลัง ให้กลิ่นอายเมืองริมทะเล แม้จะเห็นแค่แม่น้ำไม่ได้เห็นทะเลก็เถอะ

งานภาพลักษณะนี้ รับชมในปัจจุบันให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในความฝัน จินตนาการ แฟนตาซีที่สวยงามจับต้องได้เหนือกาลเวลา และการร้องเล่นเต้นของผู้คนตามท้องถนน มีชีวิตชีวาราวกับว่าที่นี่คือดินแดนสรวงสวรรค์ เต็มไปด้วยความสุขสนุกสนานสำเริงราญ

อีกสิ่งที่โดดเด่นคือ ลีลาการเคลื่อนกล้องและการจัดตำแหน่ง ต้องถือว่ามีการวางแผนตระเตรียมซักซ้อมไว้เป็นอย่างดี ทำให้หลายครั้งเห็นความสมมาตรที่ลงตัวระหว่างนักแสดง นักเต้น และฉากพื้นหลัง ที่มีความงดงามอย่างยิ่ง

ตัดต่อโดย Jean Hamon ช่วงแรกของหนังแทบจะไม่มีบทสนทนา ใช้ภาพและท่าเต้นเป็นภาษาเล่าเรื่อง, มุมมองของหนังคือเมือง Rochefort เริ่มต้นจากคณะแสดงทัวร์กลุ่มหนึ่งเดินทางข้ามแม่น้ำ ตรงเข้ามาที่จตุรัสใจกลางเมืองเพื่อเตรียมงานเทศกาล ตอนจบคือเมื่องานเลี้ยงเทศกาลเลิกรา 1 สัปดาห์ถัดไปจึงเดินทางออกนอกเมือง

ซึ่งศูนย์กลางความรักของหนังคือ แฝดสาว ที่มี
– ชายสองคนชอบ/แอบชอบ แต่พวกเธอไม่ชอบตอบ
– ชายสองคนที่เพิ่งเข้ามาในเมือง ชอบแบบมีข้อแลกเปลี่ยนไม่ได้ด้วยใจ
– ชายสองคนในฝัน ที่พวกเธอชอบตอบ
– มีอีกคู่หนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับแฝดสาว คือคู่ที่เคยรักกันแล้วแยกจาก

บทเพลง De Hambourg à Rochefort (From Hamburg to Rochefort) จะมีการตัดต่อที่นำเสนอครบทุกตัวละคร ใส่มาแวบๆให้เห็นว่าพวกเขากำลังคิดรู้สึก ทำอะไรอยู่, เพลงนี้จะอยู่กึ่งกลางหนังพอดี หลังจากแนะนำครบทุกตัวละคร ซึ่งเพลงที่ร้องจะทำการ replay ที่ตัวละครนั้นเคยร้อง (ประมาณว่าอารมณ์ค้างต่อเนื่องมา) ก่อนที่จะเริ่มครึ่งหลัง เหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป…

เพลงประกอบโดย Michel Legrand คำร้องโดย Jaques Demy ที่คราวนี้ประสบการณ์มากขึ้น จึงสามารถเขียนเพลงได้เร็วขึ้น เอาเวลาที่เหลือไปสร้างสรรค์กับท่าเต้น ออกแบบ Choreographer โดย Norman Maen เว้นท่าเต้นของ Gene Kelly นั่นเขาสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเองไม่ต้องพึ่งพาใคร

ส่วนตัวคิดว่าคำร้องของหนังเรื่องนี้โดดเด่นมาก (คงเพราะมีการแบ่งเป็นเพลงชัดเจน ไม่ได้ต่อเนื่องยาวไปเรื่อยๆ) แต่ทำนองเพลงของ The Umbrellas of Cherbourg ทรงพลังมากกว่า กระนั้นส่วนตัวไม่ได้ชื่นชอบฟังเพลงประเภทเศร้าๆโหยหวนบ่อยครั้งนัก คือชอบมากกว่ากับทำนองสนุกสนานติดหูแบบหนังเรื่องนี้ เปิดฟังซ้ำได้เรื่อยๆไม่เบื่อ

ผมเลือกอีกเพลงหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงขณะหนังฉาย คือ Chanson de Maxence (แปลว่า You Must Believe in Spring) ขับร้องโดย Jacques Revaux เป็นเพลงที่ชายหนุ่มวาดฝันถึงหญิงสาวในจินตนาการ เธออยู่แห่งหนไหน ฉันออกตามหาตั้งแต่เวนิส มะนิลา ยันอังกอร์วัด (นครวัด) ก็ยังหาไม่พบ แต่ฉันจะไม่ท้อแท้เพราะรู้ว่าเธอมีจริง

ผมไปเจอคลิปของ Joe Hisaishi ร่วมกับ New Japan Philharmonic World Dream Orchestra ที่เลือก Main Theme ของหนังเรื่องนี้มาเรียบเรียงบรรเลงในคอนเสิร์ตประจำปี ต้องบอกว่าไพเราะ อลังการ ยิ่งใหญ่มาก ลองคลิกฟังดูนะครับ

ใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของชายหญิง หนุ่มสาว สูงวัยกลางคน ที่ได้พบเจอ พลัดพราก พลาดโอกาส จับพลัดจับพลู ในหนึ่งสัปดาห์แห่งความพิศวงที่เมื่อง Rochefort เพื่อเติมเต็มจินตนาการ ความฝัน ค้นหาสิ่งที่ทุกคนเรียกว่ารักแท้

หนังดูค่อนข้างสับสน วุ่นวาย อลม่านพอสมควร ในเหตุการณ์จับพลัดจับพลู ผู้ชมจะลุ้นเอาใจช่วย ให้ทุกตัวละครที่มีความรัก ลงเอยตอนจบได้เข้าคู่สุขสมหวัง แต่ชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป นี่คือความแตกต่างของหนัง hollywood กับหนังส่วนอื่นของโลก ที่กล้าทำในสิ่งแตกต่าง เพื่อให้ผู้ชมตราตรึงกับผลลัพท์ จดจำเพราะมันไม่เหมือนสิ่งที่เคยเห็นมาก่อน

ตอนจบของหนัง ผมคงไม่สรุปให้ฟังว่าใครได้คู่กับใคร ให้ไปลุ้นเอาเองดีกว่า แต่ให้ข้อสังเกตว่า จะมีการสลับที่คิดแล้วก็มึนเหมือนกัน คนที่ตั้งใจจะไปปารีสกลับไม่ได้ไป คนที่ไม่ได้มีแววว่าจะไปกลับได้ไป เรียกว่ามีทั้งที่สร้างเซอร์ไพรส์ และคู่ที่เหมือนจะสมหวัง (แต่ไม่สมหวัง) เราก็จะผิดหวังแบบสุดๆ อาจถึงขั้นน้ำตาคลอเศร้าเสียใจ

มีนักวิจารณ์ฝรั่งเศสคนหนึ่ง Paul Vecchiali แสดงความเห็นว่า นี่เป็น ‘a tragic movie’

“The day of the premiere of Les Demoiselles de Rochefort , Jacques was so surrounded and I had just been able to make him a little wave. I phoned him a few days later to tell him how annoyed I was because everybody said, “Demy’s film is happiness.” I came out almost in tears and it was to tell him that I found his film shattering that I called him. Jacques then told me that in the first version of the film, Jacques Perrin was crushed by trucks fairground. This is the basis of James’ work. The showcase is sparkling, daring by its colors, but in the back shop hides a raw, tragic look on life and characters. “

– Paul Vecchiali, ตีพิมพ์บทความใน Cahiers du Cinema

ความเศร้าสลดที่ Vecchiali พูดถึงคือ ชีวิตมันไม่ได้สวยงามเหมือนในหนัง ซึ่งตอนจบในความตั้งใจแรกของ Demy วางแผนให้ตัวละครหนึ่งถูกรถบรรทุกชนตาย ถ้าจบเช่นนั้นผู้ชมจะตื่นขึ้นจากความฝันทันที (ซึ่งผมก็ชอบมากกว่า ถ้าจะจบแบบนี้นะ)

หนังถือว่าประสบความสำเร็จในฝรั่งเศส มียอดจำหน่ายตั๋ว 1.3 ล้านใบ (ไม่มีรายงานรายรับ) แต่นอกฝรั่งเศสถือว่าเงียบเหงา ไม่ได้รับการพูดถึงเท่าไหร่, เข้าชิง Oscar 1 สาขา Best Original Score แต่ไม่ได้รางวัล

ส่วนตัวชื่นชอบหลงใหลในหนังเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะบทเพลง Chanson Des Jumelles ที่ฟังซ้ำหลายรอบยังไม่เบื่อเลย และ Catherine Deneuve เฉิดฉายสดใสมาก (ใน The Umbrellas of Cherbourg ยังไม่เจิดจรัสเท่านี้ เพราะหนังค่อนข้างเศร้าๆหดหู่)

ระหว่าง The Umbrellas of Cherbourg กับ The Young Girls of Rochefort ผมยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะชอบเรื่องไหนมากกว่า แต่ชอบสองเรื่องนี้มากกว่า La La Land (2016) เป็นไหนๆ คือเรื่องนั้นนำอะไรๆจากสองเรื่องนี้ไปใช้มากเกินไปหน่อย จนรู้สึกขาดความเป็นตัวของตนเอง

แนะนำกับคอหนังเพลงร้องเล่นเต้น ชื่นชอบดนตรีแจ๊ส เรื่องราวรักโรแมนติกน่ารักจับพลัดจับพลู, แฟนหนัง Jacques Demy เพลงเพราะๆของ Michel Legrand และหลงใหลใน Catherine Deneuve,  Françoise Dorléac, Gene Kelly ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งบ้าน

TAGLINE | “The Young Girls of Rochefort จะทำให้คุณตกหลุมรัก คลั่งไคล้ หลงใหล ทั้งอิ่มเอิบและเศร้าเสียใจ หลากหลายอารมณ์ในเรื่องเดียว”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: