There Will Be Blood

There Will Be Blood (2007) hollywood : Paul Thomas Anderson ♥♥♥♥♡

Daniel Day-Lewis ทำการสูบเลือด/น้ำมัน/Milkshake ออกจากความเป็นมนุษย์/ผืนแผ่นดิน เพื่อสนองกิเลสตัณหา ยกย่องทุนนิยมเงินตรา ปฏิเสธต่อต้านศาสนาโดยสิ้นเชิง ผลลัพท์จึงกลายเป็นความบ้าคลั่งอันไร้ขอบเขต มนุษย์ผู้ปฏิเสธทุกสิ่งอย่างรวมทั้งตัวเขาเอง

ภาพยนตร์แห่งทศวรรษ 2000s ที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่ายอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ สวยงามทรงพลังที่สุด ก็คือ There Will Be Blood (2007) ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson ขณะนั้นอายุเพียง 37 ปี ได้รับการเปรียบเทียบเรื่องราวมีคล้ายคลึง Citizen Kane (1941) ที่แม้ไร้ซึ่ง Rosebud แต่ประโยคสุดท้ายของ Daniel Day-Lewis พูดว่า “I’m finish.” มันคือ …
– ธุระพูดคุยที่เสร็จสิ้น?
– ชีวิตตัวละครที่จบสิ้น?
– ภาพยนตร์ที่จบสิ้น?
– ชาวอเมริกันที่จบสิ้น?
– หรือมวลมนุษยชาติที่กำลังมุ่งสู่จุดจบสิ้นสุด?

There Will Be Blood คือภาพยนตร์วิพากย์สังคมที่รุนแรง และเห็นแก่ตัวมากๆ เรื่องทุนนิยมไม่ขอเถียง (เพราะเห็นด้วย) แต่ประเด็นศาสนาคาทอลิก vs โปรเตสแตนต์ (Anderson เป็น Catholic ปฏิเสธต่อต้านแนวคิดของ Protestant โดยสิ้นเชิง) เป็นคู่มวยที่แบบว่า เลือดอาบน่วมท่วมเวทีก็ไม่มีฝ่ายไหนยกธงขาวยอมแพ้ หรือลงไปนอนรอกรรมการนับสิบ ต้องจนกว่าจะมีฝั่งไหน ‘ตายห่า’ หมดสิ้นลมหายใจกันไปข้างหนึ่ง การต่อสู้สังเวียนนี้ถึงได้พบจุดจบสิ้น

เพราะผมเป็นชาวพุทธ เลยไม่รับรู้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองนิกาย คาทอลิก vs โปรเตสแตนต์ มันรุนแรงขนาดนั้นเลยหรือ! ค้นหาข้อมูลดูก็เลยพอเข้าใจนิดหน่อย, ศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ (Protestant, Protest แปลว่า ประท้วง, คัดค้าน) เป็นขบวนการศาสนาเสรีนิยม ที่คัดค้านหลักความเชื่ออนุรักษ์นิยมและการปฏิบัติแบบโรมันคาทอลิก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับความรอด การทำให้ชอบธรรม และคริสตจักรวิทยา ไม่เคารพนับถือพระ บาทหลวง หรือสันตะปาปา มีเพียงนักเทศน์ผู้เผยแพร่แนวคิดคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิ้ล ไม่จำเป็นต้องเข้าโบสถ์ฟังธรรม ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ปฏิบัติเห็นชอบ ศรัทธาเชื่อมั่นด้วยตัวของตนเอง

จิตนิยม/ความเชื่อทางศาสนา (นามธรรม) กับวัตถุนิยมเงินตรา (รูปธรรม) ถือเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่อยู่ขั้วฝั่งตรงข้ามกัน แต่ในทัศนะของผู้กำกับ Anderson สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แทรกแนวคิดต่อต้านนิกายโปรเตสแตนต์ บอกว่าไม่แตกต่างอะไรกับพวกระบอบทุนนิยม สะท้อนความชั่วร้ายในโลกที่ผู้คนเต็มไปด้วยหลงใหลยึดติด (เงินทอง + คลั่งศาสนา) ราวกับพวกเสียสติแตกไร้สามัญสำนึก อนาคต หรือความสงบสุขสันติ พระเจ้าย่อมไม่มีวันให้การช่วยเหลือคนพรรค์นี้พาขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน

นี่เป็นการแสดงโลกทัศนะของผู้กำกับที่รุนแรงสุดโต่ง บ้าเลือดมากๆ หาเรื่องขัดแย้งต่อยตีกับชาวโปรเตสแตนต์กว่า 900 ล้านคนในโลก (มีคนนับถือศาสนาคริสต์ประมาณ 2.1 พันล้านคน ในปี 2017) กับคนชื่นชอบคงหลงใหลคลั่งไคล้ ใครต่อต้านย่อมปฏิเสธหัวชนฝารับไม่ได้อย่างแน่นอน

ตอนที่ผมรับชม There Will Be Blood ในโรงภาพยนตร์ แค่เพียงนาทีแรกๆก็ถึงขั้นตะลึงงัน ขนลุกขนพองในความยิ่งใหญ่ หยิ่งผยอง ทรงพลัง เทียบแล้วแค่ Prologue คิดว่าไม่น่าด้อยกว่าภาพทะเลทรายแรกของ Lawrence of Arabia (1962) เลยนะ, แม้ตอนนั้นจะมิได้เข้าใจเรื่องราวใจความของหนังสักเท่าไหร่ แต่สามสิ่งที่สามารถสัมผัสรับรู้โดยทันที
1) การแสดงของ Daniel Day-Lewis บ้าคลั่งที่สุดในปฐพี,
2) ภาพถ่ายสวยงาม Special Effect ตราตรึง,
3) และบทเพลงประกอบ เสริมสร้างบรรยากาศได้อย่างทรงพลัง

Paul Thomas Anderson (เกิดปี 1970) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Studio City, California, มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ไม่สนิทกับแม่ ติดพ่อที่เป็นนักแสดง/จัดรายการโทรทัศน์ เลยมีความต้องการโตขึ้นอยากเป็นผู้กำกับ หัดสร้างหนังสั้นตั้งแต่อายุ 8 ขวบด้วยกล้อง Betamax (กล้องบันทึกเทป) โตขึ้นเริ่มทำงานเป็น Production Assistant ในรายการโทรทัศน์, Music Video ฯ เก็บหอมรอมริดเงิน $20,000 เหรียญ สร้างภาพยนตร์ขนาดสั้น Cigarettes & Coffee (1993) ส่งไปฉายเทศกาลหนัง Sundance ได้นายทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Hard Eight (1996), ตามด้วยผลงานสร้างชื่อ Boogie Nights (1997), Magnolia (1999), Punch-Drunk Love (2002) ฯ

หลังเสร็จจาก Punch-Drunk Love (2002) ภาพยนตร์เรื่องที่น่าจะดีสุดในชีวิตของ Adam Sandler ใช้เวลาค่อนข้างนานทีเดียวในการค้นหาโปรเจคถัดไป มีแนวคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างสองสิ่ง/สองครอบครัว แต่ก็ยังหาเรื่องราวที่เป็นพื้นหลังไม่ได้ จนกระทั่งมีโอกาสอ่านนิยายเรื่อง Oil! (1927) แต่งโดย Upton Sinclair Jr. (1878 – 1968) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ผู้มักวิพากย์สังคม เศรษฐกิจ ความยากจน และชนชั้นกรรมกรแรงงานในช่วงต้นศตวรรษ 20s ติดต่อตามหาลิขสิทธิ์ไปพบกับ Eric Schlosser ที่เพิ่งซื้อตัดหน้าไปไม่นานเท่าไหร่

เกร็ด: ผลงานเด่นๆของ Upton Sinclair อาทิ The Jungle (1906), King Coal (1917), Roman Holiday (1931), The Wet Parade (1931), The Coal War (1976) ฯ

แต่แทนที่ Anderson จะเลือกดัดแปลงตรงต่อนิยาย เขาเลือกมาเฉพาะ 150 หน้าแรก (จากทั้งหมด 528 หน้า) นำเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับอาชีพ Oilman แล้วมาแต่งเติมเสริมสร้างเรื่องราวเข้าไปเอง เพราะตัวเขาคิดว่า

“there’s not enough of the book to feel like it’s a proper adaptation”.

เกร็ด: ทุกค่ำคืนขณะเขียนบทหนัง Anderson บอกว่าต้องนั่งรับชม The Treasure of the Sierra Madre (1948) เพื่อซึมซับรับแนวคิดแรงบันดาลใจ

หนังแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา เริ่มต้นช่วงปี 1898-1902, Daniel Plainview (รับบทโดย Daniel Day-Lewis) นักสำรวจบุกเบิก ระหว่างกำลังขุดหาแร่เงินที่ New Mexico บังเอิญพบเจอบ่อน้ำมัน ทำให้ผันตัวมาก่อตั้งบริษัทขุดเจาะ (เหมือนทศวรรษนั้น น้ำมันจะมีค่ามากกว่าแร่เงิน/ทอง) ออกแสวงหาแหล่งน้ำมันจากทั่วประเทศ

ปี 1911, Daniel ได้รับการติดต่อจาก Paul Sunday (รับบทโดย Paul Dano) ชี้จุดที่คาดว่าจะเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ อยู่ใต้ผืนแผ่นดินครอบครัวของเขาที่ Little Boston, California เมื่อออกเดินทางไปสำรวจจึงค้นพบเจอ รีบกวาดซื้อที่ดินบริเวณโดยรอบอย่างทันด่วน แต่ติดที่ Eli Sunday แฝดของ Paul (รับบทโดย Paul Dano เช่นกัน) ต้องการให้บริจาคเงินเพื่อสร้างโบสถ์ของโปรเตสแตนต์ แรกๆก็ยื้อยักซื้อเวลาไม่ยอมจ่ายไปเรื่อยๆ แต่เพราะมีที่ดินบริเวณหนึ่ง เจ้าของจะขายก็ต่อเมื่อ Daniel ยอมเข้าพิธีจุ่มศีล (Baptism) เลยต้องยอมจ่ายพร้อมกับเล่นละครเข้าฉากอย่างสมจริง

ปี 1927, หลังจากประสบความสำเร็จร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐี มีบ้าน/คฤหาสถ์หลังใหญ่โตมโหฬาร วันๆไม่ได้ต้องทำอะไรอีกก็ได้ แต่ความโลภละโมบ บ้าเงิน บ้าอำนาจยังคงอยู่ จนถูกคนรอบข้างทอดทิ้งไม่เห็นหัว จนชีวิตไม่หลงเหลืออะไรทั้งสิ้น

Sir Daniel Michael Blake Day-Lewis (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Kensington, London ลูกของนักกวี Cecil Day-Lewis (1904 – 1972) กับแม่ที่เป็นนักแสดง Jill Balcon (1925 – 2009) ความสนใจในวัยเด็กมีสามอย่างคือ เกี่ยวกับงานไม้, การแสดง และตกปลา, ตัดสินใจเลือกเป็นนักแสดงละครเวทีที่ National Youth Theatre ฝึกหัดอยู่หลายปีจนได้รับโอกาสเข้าเรียน Bristol Old Vic ภายใต้ John Hartoch, ได้รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ Gandhi (1982), เสียงวิจารณ์ล้นหลามกับ My Beautiful Laundrette (1985), A Room with a View (1985), ครุ่นคิดแนวทาง Method Acting ของตนเอง สวมบทบาทเป็นตัวละครตลอดการถ่ายทำกับเรื่อง My Left Foot (1989) จนคว้า Oscar: Best Actor ได้เป็นครั้งแรก, โกอินเตอร์ข้ามมาฝั่ง Hollywood ในผลงาน The Last of the Mohicans (1992), The Age of Innocence (1993), Gangs of New York (2002) ฯ

รับบท Daniel Plainview ชายผู้มีความทะเยอทะยาน ละโมบโลภมาก สนแต่เงินๆทองๆ ทำทุกอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จโดยไม่สนวิธีการ ภายในเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเกรี้ยวกราด ชอบใช้ความรุนแรงในการโต้ตอบแก้ปัญหา แสดงถึงลึกๆแล้วจิตใจเต็มไปด้วยความอ่อนไหว ต้องการความรักห่วงใย แต่ล้วนพบเจอความผิดหวังทุกคราไป

ผมมองว่า Daniel มีความรักเอ็นดูต่อ H.W. Plainview อย่างมากเลยนะ มันไม่เหมือนการเสแสร้งแกล้งแสดงออกเลยสักนิด แต่เขาคงผิดหวังมากๆที่พอเติบโตขึ้น H.W. กลับปีกกล้าขาแข็ง ต้องการยืนด้วยลำแข้ง โบยบินเป็นอิสระลาจากตนเอง นี่สะท้อนถึงการมองโลกในแง่ร้ายแบบสุดโต่ง ไม่ใช่มิตรก็เป็นศัตรู รักมาเลยหึงหวง ฉากหลังจากนั้นก็เมามายอย่างบ้าคลั่งแทบกลายเป็นคนเสียสติ

Day-Lewis มีความสนใจในตัว Anderson ตั้งแต่รับชม Punch-Drunk Love (2002) [เห็นว่าชื่นชอบการแสดงของ Adam Sandler มากๆเลยละ] เมื่อได้รับการติดต่อ ส่งบทหนังที่เกือบจะเสร็จมาให้ ก็ตกลงแทบโดยทันที และยังพูดชมด้วยว่า ‘เป็นคนที่มีความเข้าใจเรื่องราว ไม่ใช่แค่สังเกตการณ์ แต่ยังเข้าไปสร้างทุกสิ่งอย่างในโลกใบนั้น’

“[Anderson]’s a writer. He’s a writer, simple as that. What interested me so much was the understanding that he had already entered into that world. He wasn’t observing it—he’d entered into it—and indeed he’d populated it with characters who I felt had a life of their own”.

เตรียมตัวรับบทนี้ ด้วยการศึกษาค้นคว้าจากรูปถ่าย อ่านหนังสือวิธีการขุดเจาะ เรียนรู้ธุรกิจน้ำมัน ฯ จากนั้นเริ่มต้นด้วยการสร้างน้ำเสียงของตัวละคร เปรียบเทียบใกล้เคียงสุดก็คือผู้กำกับ John Huston มีความลุ่มลึก เข้มกร้าน เหมือนเครื่องจักรที่ใช้น้ำมันหล่อลื่นส่งเสียงออกมา (ฟังแล้วเหมือนคนที่มีความทุ่มเทให้บางสิ่งอย่าง มากยิ่งจนไม่สนใจอะไรอื่น) เวลาเดินโน้มตัวไปข้างหน้านิดๆ ขาไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ (คงเพราะอุบัติเหตุตั้งแต่ครั้งแรกๆ)

สิ่งที่การันตี Oscar: Best Actor ของ Day-Lewis คือไคลน์แม็กซ์ช่วงสุดท้าย กับอธิบายวิธีการสูบน้ำมันเปรียบเทียบกับการดูด Milkshake (นมผสมไอศกรีม/นมปั่น)

“If you have a milkshake, and I have a milkshake, and I have a straw. There it is, that’s a straw, you see? Watch it. Now, my straw reaches acroooooooss the room and starts to drink your milkshake. I drink it up!”

นี่เป็นคำพูดจริงๆ อ้างอิงจากอดีตสมาชิกวุฒิสภา Albert Fall จาก New Mexico ของพรรค Republican ที่พูดให้การต่อหน้ารัฐสภา หลังถูกกล่าวหาว่าได้รับสินบทจากการสูบน้ำมัน Teapot Dome Scandal (1921-1922) อธิบายวิธีการขุดเจาะสูบน้ำมันที่ทำให้ใครๆสามารถเข้าใจได้โดยง่ายและเห็นภาพชัดเจน

เกร็ด: Teapot Dome Scandal คือเหตุคอรัปชั่นอื้อฉาวโด่งดังที่สุดของอเมริกัน ก่อนการมาถึงของ Watergate Scandal

ตอนขึ้นรับรางวัล Oscar จาก Helen Mirren ที่คว้า Oscar: Best Actress จากเรื่อง The Queen (206) เมื่อปีก่อน เขาคุกเข่าก้มหัว แล้วขุ่นแม่นำรูปปั้น Oscar แตะบ่าทั้งสองข้างก่อนมอบให้ คำสุนทรพจน์แรกที่ Day-Lewis เอ่ยขึ้นคือ

“That’s the closest I’ll come to ever getting a knighthood”.

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2014, Daniel Day-Lewis ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินจากเจ้าชาย William, Duke of Cambridge ที่ Buckingham Palace

Paul Franklin Dano (เกิดปี 1984) นักร้อง นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ด้วยความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก อายุ 12 แจ้งเกิดกับการแสดง Broadway ตามด้วยรายการ Sitcom ภาพยนตร์เรื่องแรก The Newcomers (2000), ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ Day-Lewis เรื่อง The Ballad of Jack and Rose (2005), โด่งดังแจ้งเกิดกับ Little Miss Sunshine (2006)

รับบท Paul Sunday คนพี่นำความในไปขายให้นายทุนน้ำมัน ได้เงินมาแล้วก็หายตัวไปเลย, ขณะที่คนน้อง Eli Sunday เป็นนักเทศน์ Third Revelation ของโปรเตสแตนต์ มีความต้องการสร้างโบสถ์ เพื่อให้กลายเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คน การได้เงินบริจาค $5,000 เหรียญจาก Daniel ทำให้เขาสามารถออกเดินทางไปเทศนาเผยแพร่คำสอนยังเมืองอื่น คงได้รับการยกย่องนับถือจากผู้คนมากมาย แต่หลายปีผ่านไปก็เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก คงจะติดหนี้ยืมสินใครมาเยอะ หาที่พึ่งอื่นไม่ได้เลยต้องย้อนกลับมา ยินยอมพูดทำทุกอย่างแต่ถูกกลั่นแกล้งจนแทบเสียสติแตก

ตัวตนของ Eli น่าจะชัดเจนอยู่ว่า ก็แค่คนธรรมดาๆทั่วไป ไม่ได้มีความพิเศษเลิศหรูหรือสามารถสดับฟังคำใดๆจากพระผู้เป็นเจ้า หนำซ้ำยังดูเป็นพวกขี้โอ้อวด โป้ปวด ชอบเล่นละครตบตาหลอกลวงผู้อื่น หาได้มีความจริงออกจากใจแม้แต่น้อย แค่บังเอิญโชคดีได้เงินก้อนมหาศาล ซื้อตั๋วนำโชคออกจากดินแดนไกลปืนเที่ยงขนาดนี้ แต่แล้วสักวันเมื่อหมดเนื้อหมดตัว ดิ้นรนเหมือนหมูเหมือนหมาจนตรอกกลับมา … กฎแห่งกรรมก็เลยตามมาทวงทัน

เกร็ด: อธิบายสั้นๆของวิวรณ์, Revelation หมายถึง การที่สิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เทวดา พระเป็นเจ้า ได้เปิดเผยความจริงหรือความรู้สำคัญบางประการแก่มนุษย์
– First Revelation คือตอนที่ Moses ได้นำบัญญัติ 10 ประการมาเผยแพร่แก่มนุษย์
– Second Revelation คือช่วงเวลาของพระเยซูคริสต์ ที่นำคำของพระเจ้ามาสั่งสอนมนุษย์
– Third Revelation คือแนวคิดของโปรเตสแตนต์ ใครก็ได้ที่สามารถนำคำสอนของพระเจ้ามาเทศน์สอนต่อมนุษย์ (ในบริบทนี้จะมองว่า Eli คือตัวแทนของพระเจ้าก็ได้)

ในตอนแรก Dano ได้รับบทเล็กๆคือ Paul Sunday ถ่ายทำวันเดียวเสร็จสิ้น คงสร้างความประทับใจให้ผู้กำกับมากๆ เลยยื่นข้อเสนอให้แสดง Eli เพิ่มอีกบท (เห็นว่านักแสดงที่คัดเลือกไว้เดิมคือ Kel O’Neill มิอาจเผชิญหน้าต่อกรกับ Day-Lewis ได้อย่างเทียบเคียง เลยถูกไล่ออก กำลังหาคนใหม่มาแทนอยู่) เปลี่ยนพื้นหลังให้พวกเขาเป็นแฝดเหมือน กระนั้น Dano มีเวลาเตรียมตัวเพียง 4 วันเท่านั้น

ค่อนข้างน่าทึ่งทีเดียวสำหรับ Dano ทั้งๆมีภาพลักษณ์อ่อนแอปวกเปียก (เหมือนตุ๊ด) แต่มิได้แสดงความขลาดหวาดเกรงกลัวต่อ Day-Lewis (เว้นแค่ช่วงท้ายตอนแต๋วแตก) หนำซ้ำยังสามารถถ่ายทอดความเพี้ยนบ้าคลั่งเสียสติแตกออกมาอย่างเทียบเคียง ซึ่งความคับค้องแค้นใจ เวลาพวกมองหน้าจ้องตา ราวกับจะจ้องเข่นฆ่าแกงกลืนกินกันและกัน

ถ่ายภาพโดย Robert Elswit ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Anderson ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Tomorrow Never Dies (1997), Good Night, and Good Luck (2005), Syriana (2005), Michael Clayton (2007) ฯ

หนังถ่ายทำด้วยกล้องฟีล์ม Panavision 35mm แลปสี DeLuxe, สถานที่ถ่ายทำปักหลักอยู่ Marfa, Texas ไม่ไกลจากกองถ่าย No Country for Old Men (2007) [สองเรื่องนี้คือคู่แข่งขับเคี่ยว Oscar ปีนั้นอย่างสูสี] เห็นว่าฉากไฟเผาน้ำมัน ควันดำโพยพุ่งเต็มท้องฟ้า ส่งผลกระทบวงกว้างไปทั่ว เป็นหนังเรื่องนั้นต้องหยุดกองถ่ายทำไปหลายวันทีเดียว

ความสวยงามของงานภาพอยู่ในระดับอึ้งทึ่งตราตะลึง เน้นอัตราส่วนถ่ายติดผืนแผ่นดิน-ภูเขา มากกว่าท้องฟ้าก้อนเมฆ (เพราะสิ่งที่ขุดพบเจออยู่ใต้ดิน เลยต้องถ่ายติดพื้นให้เยอะๆเข้าไว้) น่าเสียดายที่ตอนนั้นฟีล์ม 70mm ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่แล้ว และขาดอีกปีสองปี Christopher Nolan จะขายแนวคิด IMAX สร้างประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ที่หายากยิ่งได้สำเร็จ

ภาพแรกสุดของหนัง ทำไมต้องภูเขาสามลูก? ปั่นจั่นสามอัน? … คงคือสูตรสาม/ไตรลักษณ์ของหนัง อาทิ
– เรื่องราวแบ่งออกเป็นสามช่วงเวลา (ปี 1898, 1911, 1927),
– ศาสนาคริสต์แบ่งออกเป็น 3 นิกายหลักๆ (คาทอลิก, ออร์ทอดอกซ์, โปรเตสแตนต์),
– Third Revelation

แต่เห็นว่าแรงบันดาลใจ Prologue ลักษณะนี้ นำจาก The Shining (1980) เริ่มต้นให้ผู้ชมซึมซับรับสัมผัสของสถานที่และบทเพลงประกอบ เพื่อปรับอารมณ์ให้เข้ากับโทนบรรยากาศของหนัง

นั่นน้ำมันจริงๆที่โพยพุ่งออกมานะครับ สร้างโดย Steve Cremin นักออกแบบ Special-Effects Supervisor ที่เคยทำบ่อไฟให้ Jarhead (2005) กลายเป็นต้นแบบฉบับของหนังที่ต้องการเล่นกับไฟเลยละ

“We used petroleum products, diesel fuel and gasoline in different proportions depending on the shot. For day scenes, we used a mix that would create more smoke. Smoke doesn’t read at night, but if we wanted some night shots to be brighter, we just changed the mix.“

ซึ่งการจะได้ไฟที่พ่นสูงขนาดนั้น ต้องใช้ปั๊มที่มีแรงดันค่อนข้างมาก ติดตั้งเข้ากับ Hydraulic Motors เพื่อลดความเสี่ยงของสะเก็ดประกายไฟที่จะกระเด็นกระดอนไปทั่ว

ความ Masterpiece ของฉากนี้ ก็ตั้งแต่เริ่มต้นเลยละ เพราะเราจะเห็นตั้งแต่วินาทีน้ำมันโพยพุ่งขึ้น ไฟติด นักแสดง/ตัวประกอบ วิ่งพร่านไปมาโดยมีแท่งไฟนี้เป็นจุดหมุน ปั้นจั่นล้มลม จนกระทั่งใช้ระเบิดเพื่อให้ไฟกับ ซึ่งสิ่งที่เป็นไฮไลท์สุดๆคือเพลง Convergence ของ Johnny Greenwood ใช้เสียงเคาะก้องแก้ง (ผสมผสานเครื่องประกอบจังหวะหลายๆชิ้น) และไวโอลินกรีดกรายฟังไม่ได้สดับ สร้างความสับสนอลม่านวุ่นวายเป็นที่สุด

แสงสีแดงที่อาบหน้า Day-Lewis ช็อตนี้ มาจากแสงของแท่งไฟ ที่ยังคงลุกไหม้โชติช่วงชัชวาลย์ข้ามวันข้ามคืน ให้สัมผัสที่ ‘ดิบ’ มากๆเลยนะ

ในบรรดาฉากที่สร้างความพิศวงให้ผมมากสุด คือตอนที่สองพี่น้อง Plainview เดินสำรวจปักเสาส่งท่อไปจนถึงชายทะเล แต่คนเคร่งขรึมเครียดจริงจังมากๆอย่าง Daniel เนี่ยนะกระโดดลงเล่นน้ำทะเล

ยังมีสิ่งน่าพิศวงกว่านั้นอีก คือช็อตสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ท้องฟ้าสีน้ำเงินคงไม่แปลก แต่ใต้น้ำกลับเห็นเป็นแสงสีเขียว (สัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย) เทียบกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud มีเพียงส่วนหัวของ Daniel ที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ขณะที่ทั้งตัวจมอยู่ภายใต้

ซึ่งการสนทนาของพวกเขาฉากต่อจากนี้ ทำให้ Daniel เกิดข้อสงสัย และสามารถเค้นเอาจนรับรู้ความจริงบางอย่างได้ ก่อนสุดท้ายตัดสินใจ … คือถ้าไม่เปลือยกาย ไร้เสื้อผ้าปกปิด ก็คงอาจไม่รับรู้ตัวตนแท้จริงของกันและกัน

ไดเรคชั่นของฉากนี้ กล้องจะเคลื่อนไหลติดตามตัวละครไปทางขวา คู่ขนานกับท่อส่งน้ำมัน ซึ่งจะเป็นขณะที่ H.W. หวนกลับมาหา Daniel ภาพหยุดลงตรงตำแหน่งนี้ ระยะไกล (Long Shot) มองเห็นลางๆว่าพวกเขาสวมกอดกัน นี่คงเป็นการสะท้อนความ ‘ห่างไกล’ ในความสัมพันธ์ของพ่อ-ลูก

ซึ่งหลังจากพบเจอกัน ทั้งสองเดินข้ามท่อมาอีกฝากฝั่งหนึ่ง ราวกับว่านี่เป็นเส้นแบ่งของอะไรบางอย่าง (การมีความคิดอ่านของตนเอง?) กล้องก็จะเลื่อนหมุนติดตามต่อ และเมื่อถึงอีกคราที่พวกเขาหยุดนิ่งสวมกอดกันอีกครั้ง H.W. ใช้กำลังต่อสู้โต้ตอบขัดขืน นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหัวขบถ คิดเห็นต่างจากพ่อ(เลี้ยง)ของตนเอง

เมื่อชีวิตประสบพบเจอความสำเร็จ Daniel อาศัยอยู่ในบ้าน/คฤหาสถ์หลังใหญ่ นี่เป็นช่วงเวลาที่คัทลอกอิทธิพลมาจาก Citizen Kane (1941) สะท้อนถึงความโดดเดี่ยว อ้างว้าง ว่างเปล่า ซึ่งการใช้ความมืดปกคลุมอยู่ทั่วทุกหนแห่ง สะท้อนตัวตนของตัวละคร จิตใจของเขาเต็มไปด้วยความชั่วร้ายกาจ มีครบทุกอย่างนี้แล้วยังไม่คิดเพียงพอปล่อยวางอยู่อีก

ฉากนี้ในตอนแรก ผู้กำกับตั้งใจบูรณะปรับปรุงลานโยนโบว์ลิ่งที่ Greystone Mansion ด้วยการแค่ทาพื้นผนังให้กลายเป็นสีขาว และจัดวางองค์ประกอบให้มีความสมมาตร เหมือนหนังเรื่อง A Clockwork Orange (1971) แต่เมื่อเจ้าของตัดสินใจบอกไม่เอาแล้ว เลยถูกปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ ลองสังเกตดูให้ดีๆ มันเป็นไปได้ยังไงที่มิติลึกเข้าไป กลับเห็นแถบสีน้ำตาลดูเป็นเส้นตรงกึ่งกลางภาพพอดีเปะ

ความสมมาตรของฉากนี้ คือการสะท้อนทุกสิ่งอย่างที่เคยเกิดขึ้นผ่านมาแล้ว ได้หวนย้อนกลับตารปัตรคืนสู่ตนเอง ภาษาของฝั่งเราก็คือ ‘กฎแห่งกรรม’

ทำไมต้องเลือกจบยังลานโยนโบว์ลิ่ง? นี่เป็นกีฬาที่ผู้เล่นต้องโยนลูกโบว์ลิ่งออกไป ด้วยความคาดหวัง/คาดคะเน ให้มันกลิ้งไปกระแทกพินที่ปลายลานล้มลง ซึ่งก็จะมีครั้งที่ประสบความสำเร็จสไตรค์พินล้มหมดได้รับชัยชนะ และบางครั้งคำนวณผิดพลาดต้องคอยเก็บตกแก้ตัวครั้งสองสาม

สถานที่เปรียบได้กับบทสรุป เป้าหมายปลายทางของชีวิต หรือวันสุดท้ายของการพิพากษาตัดสิน ‘Judgement Day’
– Daniel (ทุนนิยม) นอนหมดสภาพอยู่กับพื้น สะท้อนถึงทุกสิ่งอย่างที่ทำมาเหลวเป๋วไปหมด
– Eli (โปรเตสแตนต์) เดินเข้ามาอย่างสง่างาม สุดท้ายหัวแตกนอนจมกองเลือด

พวกเขาต่างสะท้อนกันและกัน ตรงข้ามในทุกสิ่งอย่าง มันเลยไม่แปลกที่สองขั้วตรงข้ามจะต้องมีเรื่องทะเลาะขัดแย้ง อยากที่จะตัดสินโชคชะตาของแต่ละฝ่าย เข่นฆ่ายำแกงให้ต่างสิ้นสูญไป, ซึ่งการยังมีชีวิตอยู่ของ Daniel ไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น “I’m finish.” คนหนึ่งสิ้นสุดทางกาย อีกคนสิ้นสุดทางใจ

เกร็ด: ฉากนี้ Day-Lewis อยู่ในตัวละครแบบรุนแรงมากๆ เห็นว่าตอนโยนโบว์ลิ่งใส่ Dano เต็มไปด้วย ‘Killing Intend’ เขวี้ยงใส่สุดแรงเกิด ตั้งใจฆ่าเขาให้ตายจริงๆ ทีมงานถึงขนาดต้องช่วยกันฉุดรั้งหักห้ามไว้ ไม่งั้น Dano อาจได้ตายจริงๆ

ตัดต่อโดย Dylan Tichenor ขาประจำของผู้กำกับ Anderson ผลงานเด่น อาทิ Unbreakable (2000), Brokeback Mountain (2005), Zero Dark Thirty (2012) ฯ

ดำเนินเรื่องในมุมมองของ Daniel Plainview มีเพียง 2 ฉากเท่านั้นที่ตัวละครไม่ประกฎอยู่
– ฉากรับประทานอาหารของครอบครัว Sunday (ที่ Eli ยังเปลื้อนโคลนอยู่)
– การแต่งงานของ H.W. กับ Mary

หลายครั้งของหนังจะมีการใช้บทเพลงหรือเสียงบรรยาย ประกอบภาพ/เรื่องราวที่ดำเนินเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความกระชับรวบรัดต่อเนื่อง และสร้างสัมผัสบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ฉากที่ Daniel อธิบายเล่าถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากการเข้ามาถึงของธุรกิจขุดน้ำมัน ราวกับภาพแห่งความฝันที่ปรากฎฉากขึ้นพร้อมเสียงบรรยาย เริ่มต้นจากผู้คนอพยพพร้อมครอบครัวมาอยู่อาศัย, ถนนใหม่ๆตัดผ่าน, โรงเรียน, อาหาร(ขนมปัง) … ก่อนจบลงที่โบสถ์ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กึ่งกลางทุกสิ่งอย่าง

นอกจากสูตรสามแล้ว ทุกสิ่งอย่างของหนังจะมีความสมมาตร สะท้อนกันและกัน
– ต้นเรื่อง Daniel ขุดหลุมหาแร่อยู่กับธรรมชาติ ทำงานอย่างหนัก ตรงกันข้ามกับท้ายเรื่อง สุขสบายไม่ต้องทำอะไร อาศัยในคฤหาสถ์หลังใหญ่ (ฉากในห้องโยนโบว์ลิ่ง มีความคล้ายคลึงหลุมที่ขุดนั้นอยู่นะ)
– จับพลัดจับพลูรับภาระเลี้ยงดู H.W. ตรงกันข้ามกับตอนท้าย ขับไล่ไสส่งให้ออกจากบ้าน
– Daniel ถูกบีบบังคับให้ต้องตะโกนนับถือในพระเจ้า, Eli ถูกบีบบังคับให้ต้องตะโกนบอกว่าพระเจ้าไม่มีจริง
ฯลฯ

เพลงประกอบโดย Jonny Greenwood นักกีตาร์วง Radiohead แต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ ที่กลายเป็นขาประจำของ Anderson ตั้งแต่ร่วมงานกันในหนังเรื่องนี้

สิ่งตราตรึงของบทเพลง ไม่ใช่แค่ได้ยินแล้วจะจดจำติดหู แต่มันจะฝังลึกเข้าไปสัมผัสถึงจิตวิญญาณที่อยู่ภายใน ซึ่งแทบทั้งนั้นไม่เกิน 5-10 วินาที คุณจะสามารถจับรับรู้อารมณ์/โทน/บรรยากาศ ของหนังช่วงขณะนั้นได้ทั้งหมดโดยทันที

บทเพลงแรกของหนัง เมื่อภาพของภูเขาสามลูกปรากฎขึ้นมา เสียงแรกที่คุณจะได้ยินคือ บรรดาเครื่องสายทั้งหมดกรีดกรายประสานเสียงค่อยๆไล่ระดับเสียงขึ้นมา, เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง 2001: A Space Odyssey (1968) ทุกครั้งที่มวลมนุษยชาติค้นพบเจอวัตถุสีดำลึกลับ … จะมองว่านี่คือเสียงของการขุดพบเจอน้ำมัน (สีดำเหมือนกัน) หรือเปรียบเปรยตัวละคร Daniel Plainview ได้กับบางสิ่งอย่างที่เหมือนวัตถุสีดำลึกลับนั่น

[เดิมนั้นเพลงนี้ Greenwood เรียบเรียงดัดแปลงจากผลงานเก่าของตนเองชื่อ Popcorn Superhet Receiver ในอัลบัม From Here On Out (2010)]

Open Spaces เริ่มดังขึ้นตั้งแต่ Paul Sunday เดินทางมาขายข้อมูล ชี้แหล่งน้ำมันให้ Daniel, นี่คือบทเพลงแห่งโอกาส ความหวัง และการออกเดินทางค้นหา เริ่มจากเชลโล่ทุ่มต่ำเป็นพื้น ราวกับบางสิ่งอย่าง(น้ำมัน)หลบซ่อนอยู่ภายใต้ คล้องด้วยไวโอลิน/วิโอล่า สูงตรงกันข้าม ย่อมแทนด้วยมนุษย์/ตัวละครทั้งหลาย ที่อยู่บนภาคพื้นดิน

บทเพลง Convergence เดิมนั้น Johnny Greenwood แต่งรวมไว้ในอัลบัม Bodysong เป็นการทดลอง/Avant-Garde จับโน่นนี่นั่นมาผสมผสานปนเป ให้เกิดเสียงต่างๆ (นี่คือเหตุผลที่ผู้กำกับ Anderson เลือกขอให้ Greenwood มาทำเพลงประกอบให้แน่ๆ)

ฉบับที่ใช้ในหนังจะมีเสียงไวโอลินออเครสตร้าประสานอยู่ด้วย เพื่อเพิ่มความสับสนวุ่นวายอลังการในฉาก ไฟไหม้ปั่นจั่น แต่ผมขอเลือกเอาต้นฉบับ Convergence ที่มีแต่เสียงเครื่องกระทบมาให้รับฟังกัน ไม่ได้มีทำนองอะไรเลย แต่อารมณ์มันได้ อยากลุกขึ้นมาเต้นมั่วๆซั่วๆไปเรื่อยเปื่อย

สำหรับ Ending Credit เลือกใช้บทเพลงคลาสสิกของ Johannes Brahms: Violin Concerto in D Major, Op.77 – 3rd Movement ‘Allegro giocoso’, ‘Vivace ma non troppo’

บทเพลงนี้ Brahms ประพันธ์ขึ้นปี 1878 อุทิศให้เพื่อนสนิท Joseph Joachim นักไวโอลินชื่อดังแห่งยุค (เป็น Violin Concerto เดียวที่ Brahms ประพันธ์ขึ้น) ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 4 ของ Violin Concerti ยิ่งใหญ่สุดของประเทศ German ในยุค Romantic มีทั้งหมด 3 ท่อน

บทเพลงนี้นักเดี่ยวไวโอลินต้องใช้พลังอย่างมาก เล่นอย่าง Non-Stop ด้วยลีลาประสบการณ์เชี่ยวชาญอย่างสูง … ผมคิดว่าคงสะท้อนถึงตัวละครของ Daniel Plainview ได้อย่างตรงไปตรงมา แค่ในลักษณะกลับตารปัตร เพราะหนังทั้งเรื่องเต็มไปด้วยความซีเรียสเครียดจริงจัง แต่บทเพลงนี้มีความโรแมนติกผ่อนคลาย โลดโผนกระโดดแล่นไปมาไม่หยุดนิ่ง

There Will Be Blood คือเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตต่อสู้ดิ้นรน ด้วยหงาดเหงื่อเลือดแรงกาย ทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนอะไร เพื่อไขว่คว้าหาความสำเร็จในชีวิต ร่ำรวยเงินทอง มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งเมื่อสามารถก้าวไปได้ถึงจุดหมายปลายนั้น ก็ยังไม่รู้สึกว่าพึงเพียงพอ ความโลภละโมบทะเยอยานไม่รู้จักวันสิ้นสุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ค่อยๆสูญเสียทุกสิ่งอย่างในชีวิต ไม่หลงเหลือใครรอบกาย

มาพูดถึงเนื้อในใจความของหนังกันบ้าง เป็นการแสดงทัศนะความเห็น วิพากย์เปรียบเทียบระหว่างคนโคตรเห็นแก่เงิน Daniel (ตัวแทนของทุนนิยม) และนักเทศน์คำสอนของพระเจ้า Eli (ตัวแทนของโปรเตสแตนต์) แม้จะอยู่คนละขั้วตรงข้าม แต่กลับมีหลายสิ่งอย่างที่คล้ายคลึงเหมือนกัน,

เกร็ด: มีคนให้ข้อสังเกตชื่อของพวกเขาทั้งสอง เล่นสลับคำจะบังเอิญตรงกับคำว่า ‘Lie’ แปลว่าโกหก
– Daniel Plainview เรียงใหม่ได้ Lie and Plainview (คำโกหกในมุมมองทั่วๆไป)
– Eli Sunday คือ Lie Sunday (อาทิตย์ คือวันเข้าโบสถ์ของคริสต์ศาสนิกชน)

สำหรับ Eli ทั้งชีวิตแทบจะไม่มีอะไรดีน่ายกย่องให้พูดถึง การแสดงออกเต็มไปด้วยลับลวงหลอก ปั้นแต่งเสแสร้ง ดูยังไงก็ไม่ใช่คนจิตใจดีบริสุทธิ์ เป็นการสะท้อนเหมารวมถึงผู้นับถือนิกายนี้ไม่มีอะไรน่าเชื่อถือได้สักอย่าง

ขณะที่ Daniel ตัวแทนของแนวคิดทุนนิยม หรือจะมองว่าประเทศอเมริกาเลยก็ยังได้ มั่งมีร่ำรวยขึ้นได้จากการฉกฉวยครอบครองทรัพยากรจากประเทศอื่น จนอยู่กินอย่างสุขสบายในคฤหาสถ์หลังใหญ่

กระนั้นสำหรับ Daniel ยังมีความหวังเล็กๆอยู่ข้างกาย นั่นคือเด็กชาย H.W. (ที่ก็ไม่รู้ย่อมาจากอะไร) รักใคร่ทะนุถนอมเป็นห่วงเป็นใย ภายหลังหูหนวกไม่สามารถพูดคุยสนทนาได้ก็ส่งไปรักษาได้ล่ามมาแปลคำสนทนา โตขึ้นแต่งงานกับหญิงสาวชื่อ Mary พิจารณาจากเศษขนมปังเหล่านี้ น่าจะพอคาดเดาได้ว่า H.W. อาจเป็นตัวแทนของ ‘คาทอลิก’ จิตสำนึกอันดีที่ยังพอมีหลงเหลือติดตัวอยู่บ้าง ซึ่งเมื่อไหร่ลูกบุญธรรมสุดที่รักห่างหายตัวจากไป ก็มักเป็นอันให้ Daniel ต้องกระทำการอันบ้าคลั่งเสียสติแตก เข่นฆ่าใครบางคนให้สูญเสียชีวิต (เมื่อไม่มีศาสนา ก็ไม่มีอะไรให้เกิดการยับยั้งชั่งใจ)

โปรเตสแตนต์ ทำให้มนุษย์กลายเป็นพวกโกหกหลอกลวง, ขณะที่เหล่านายทุนนิยม เมื่อขาดศรัทธาความเชื่อถือในพระผู้เจ้า จักทำให้กลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติ, คาทอลิกเท่านั้นคือทางออกที่ทำให้มนุษย์มีจิตสำนึกอันดี … เออเว้ยเห้ย! ของสรุปนี้ของผู้กำกับ Anderson คงต้องเกิดจากเรื่องราวอะไรบางอย่างที่รุนแรงฝังใจมากแน่ๆ ถึงกล้านำเสนอเนื้อในใจ ปฏิเสธต่อต้านศาสนา/นิกาย ความเชื่ออื่นออกมาตรงๆแบบนี้

คือมันก็ไม่ผิดอะไรนะครับที่ผู้สร้างระดับ ‘ศิลปิน’ จะแสดงโลกทัศนคติ นำเสนอตัวตนจิตวิญญาณของตนเองใส่ลงในผลงานศิลปะ, แต่ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนสันดานนิยม ไร้สามัญสำนึกผิดชอบชั่วดี และยังแสดงบ้าคลั่งความรุนแรงอันน่าสะพรึงที่หลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson ออกมาด้วย

ไปเจอบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Anderson ที่พูดถึงความรุนแรงในจิตใจมนุษย์ แปลเป็นไทยได้ว่า

“เราทุกคนล้วนซุกซ่อนมันไว้ภายใน คงตลกสิ้นดีถ้าจะบอกว่าผมไม่เคยคิดอะไรที่ชั่วร้ายหรือไม่เคยคิดฆ่าใครเลย เราทุกคนเคยคิดทั้งนั้นแหละครับ เพียงแต่ว่าเราถูกขัดเกลาทางสังคม เราเลยไม่ทำตามสิ่งที่เราคิด”

ทั้งๆที่ Anderson สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้าถึงวิถี ‘กฎแห่งกรรม’ แล้วก็ตาม แต่เขาคงไม่รู้ตัวหรอก ว่าแม้กระทั่งความคิดอันชั่วร้ายก็สามารถย้อนศรใส่ตัวเราได้

“ความคิดที่อยากจะฆ่าคน ถึงบุคคลผู้นั่นจะไม่ได้ตายจริงๆ แต่มันจะกร่อนกัดกินผู้ครุ่นคิด ให้ค่อยๆลุ่มหลงเข้าใจผิด แปรสภาพจนสุดท้ายแล้ว เขานั่นแหละจะสูญเสียชีวิตจากความคิดของตนเอง”

ผมยังไม่เคยรับชม The Master (2011) ผลงานถัดไปของผู้กำกับ Anderson แต่ได้ยินมาว่าเนื้อในใจความ เอ่ยกล่าวถึงศาสนาได้บ้าคลั่งรุนแรงกว่าเรื่องนี้อีกนะ (ไว้ถ้ามีโอกาสจะเขียนถึงแน่นอน)

หนังออกฉายครั้งแรกในเทศกาล Fantastic Fest เข้าอเมริกาสิ้นปี ติดสายประกวดเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ามาได้สองรางวัล
– Silver Bear for Best Director
– Outstanding Artistic Contribution: Jonny Greenwood

ด้วยทุนสร้าง $25 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $40.2 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $76.2 ล้านเหรียญ พอทำกำไรได้นิดหน่อย

แซว: Day-Lewis พูดแซวผู้กำกับ Anderson คิดว่าตัวเองกำลังทำหนัง Blockbuster อยู่ แต่กว่าจะหาทุนสร้างได้สูงขนาดนี้เห็นว่าไม่มีสตูดิโอไหนกล้าเสี่ยง เสียเวลาไปเป็นปีๆกว่าจะหาทุนสร้างได้เต็ม

เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามาแค่ 2 รางวัล
– Best Motion Picture of the Year
– Best Directing
– Best Actor (Daniel Day-Lewis) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Adapted Screenplay
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction
– Best Sound Editing

ถือเป็นปีที่การแข่งขันล่ารางวัลมีความเข้มข้น สูสี ลุ้นระลึกจนวินาทีสุดท้าย ก่อนผู้ชนะรางวัลใหญ่จะตกเป็น No Country for Old Man ของสองพี่น้อง Ethan Coen กับ Joel Coen กวาดชัยไปแบบไร้ข้อกังขา

สิ่งที่ผมคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้มากๆ คือการแสดงของ Daniel Day-Lewis บ้าคลั่งสุดเท่าที่มนุษยชาติจะแสดงออกได้ (น่าจะคือบทบาทยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของเขาด้วย) แน่นอนว่าต้องคว้าครบทุกรางวัลสถาบันที่ได้เข้าชิงอย่างไร้ข้อกังขา, โปรดักชั่นไดเรคชั่น ถ่ายภาพ เพลงประกอบ สมบูรณ์แบบไร้ตำหนิที่ติมากๆ แถมเรื่องราวมีความมิติลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ท้าทายให้ครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความได้หลากหลาย

แต่ปัญหาเดียวจริงๆของหนังคือ การเหยียดโปรเตสแตนต์ของผู้กำกับ Anderson เพราะผมไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ นี่จึงเป็นประเด็นมองข้ามมิได้สนใจ แต่ก็ครุ่นคิดตามและรู้สึกได้เลยว่า มันสุดโต่งรุนแรงแบบไม่น่าให้อภัยจริงๆ คือถ้าไม่เพราะประเด็นนี้ หนังอาจกลายเป็นเรื่องโปรดของผมเลยนะ

แม้ส่วนตัวจะชื่นชอบคลั่งไคล้ There Will Be Blood มากกว่า No Country for Old Man แต่ถ้าให้ลงคะแนนโหวตรางวัล Oscar ผมจะเลือกเรื่องหลัง เพราะมันเข้าทางสถาบัน Academy มากกว่า ส่วนเรื่องนี้กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าและอิทธิพลต่อผู้สร้างภาพยนตร์คนรุ่นหลัง อันมีมากกว่าแน่ๆการันตีได้เลย

แนะนำกับคอหนัง Epic, Period, เรียนวิชาการสำรวจ, ภูมิศาสตร์, ปิโตรเคมี (เกี่ยวกับน้ำมัน), ชาวคริสเตียนรับชมด้วยวิจารณญาณ, ช่างภาพ/ตากล้อง ชื่นชอบงานภาพสวยๆ, แฟนๆวง Radiohead, คลั่งไคล้ผู้กำกับ Paul Thomas Anderson และโคตรนักแสดง Daniel Day-Lewis ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความรุนแรงบ้าคลั่งนานับประการ

TAGLINE | “There Will Be Blood ได้ทำให้ผู้กำกับ Paul Thomas Anderson เลือดท่วมเต็มจอ ด้วยความบ้าคลั่งไร้ขอบเขตของ Daniel Day-Lewis”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

4
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
3 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
Oazsarujณ.คอน ลับแล Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsaruj
Guest
Oazsaruj

There Will be Blood,The Tree of Life,Mulholland Drive,Moonlight แอดว่าเรื่องไหนคือหนังอเมริกาที่ดีที่สุดตั้งแต่เข้า ศตวรรษที่ 21 มา?

%d bloggers like this: