Thief (1981) : Michael Mann ♥♥♥♥
ในยุคสมัยที่การโจรกรรมพัฒนามาถึงระดับอุตสาหกรรม ตู้เซฟทำจากเหล็กหนากี่ชั้นก็ไม่รู้ แต่มิอาจรอดพ้นเงื้อมมือหัวขโมยมืออาชีพ อุปกรณ์เครื่องมือจัดเต็ม ไม่มีอะไรในโลกจะงัดเจาะปล้นไม่ได้ ด้วยงานภาพสวยล้ำสัมผัส Neo-Noir เพลงประกอบ Electronic แจ้งเกิดผู้กำกับ Michael Mann ขึ้นมาโดยทันที
การมาถึงของ Thief (1981) ในช่วงต้นทศวรรษ 80s ถือว่าพลิกโฉมหน้าภาพยนตร์แนวโจรกรรม เพราะทำการยกระดับความซับซ้อนด้านเทคนิคลีลาการปล้น จนบุคคลทั่วไปมิอาจสามารถลอกเลียนแบบทำตามได้อีกแล้ว จุดขายจึงคือความเว่อวังอลังการ วิจิตรตระการตา ขณะที่เนื้อเรื่องราว/ตัวละคร มักชอบหักเหลี่ยมเฉือนคม ไม่มีอะไรมั่นคงถาวรในโลกใบนี้
แค่เพียงช็อตแรกของหนังก็ทำให้ผมขนลุกขนพอง ตกหลุมรักในสัมผัสความงดงามของ Neo-Noir พื้นถนนเปียกปอนชุ่มฉ่ำ สะท้อนแสงสีจากหลอดไฟ ระยิบระยับเป็นประกายมันขลับ นี่คือโลกอาชญากรรม ‘dystopia’ ในมุมมองของผู้กำกับ Michael Mann สีสันสวยงามก็จริงแต่มีความโหดเหี้ยมอันตรายซ่อนเร้นอยู่ภายใน
แต่ที่ผมคิดว่าคือ Masterpiece ของหนังคือช็อตถัดมาเลย กล่องค่อยๆเคลื่อนแพนลงจากท้องฟ้ามืดมิดด้านบน ผ่านตรอกซอกระหว่างตึกสูงข้างหลังบันไดหนีไฟ พบเห็นแสงสว่างจ้ามัวๆของหลอดไฟดวงใหญ่ (คล้ายๆแสงจันทร์จำลองสาดส่อง) เลื่อนมาจนถึงพื้นดินเห็นอีกดวงไฟแสงสีเขียวแล้วหยุดนิ่ง (แสงเขียว มักคือสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย สีของธนบัตรที่ผู้คนสมัยนี้หลงใหลยึดติด)
ความหมายของช็อตนี้ สะท้อนทุกสิ่งอย่างที่อดีตเคยอยู่สูง ปัจจุบันค่อยๆคับแคบตกต่ำลง อาทิ จิตใจคน, สังคมเมือง, โลกยุคใหม่ ฯ
Michael Kenneth Mann (เกิดปี 1943) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดนที่ Chicago, Illinois ครอบครัวมีเชื้อสาย Russian Jewish โตขึ้นเข้าเรียน University of Wisconsin–Madison หลงใหลในประวัติศาสตร์ ปรัชญา และสถาปัตยกรรม ซึ่งพอดีกับได้มีโอกาสรับชม Dr. Stangelove (1964) คลั่งไคล้อย่างหนักจนเกิดความสนใจด้านนี้จริงจัง ย้ายไปเรียกกำกับภาพยนตร์ที่ London’s International Film Schooll ทำงานโฆษณาอยู่ประเทศอังกฤษถึง 7 ปี สนิทสนมกับ Alan Parker, Ridley Scott, Adrian Lyne กลับมาอเมริกามีโอกาสเขียนบท/กำกับซีรีย์หลายเรื่องหลายตอน อาทิ Hawaii Five-O (1968), Starsky and Hutch (1975-79), Police Story (1976-78) ฯ นำเอาประสบการณ์มาสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Thief (1981), ผลงานเด่น อาทิ Manhunter (1986), Heat (1995), The Insider (1999), Collateral (2004) ฯ
สไตล์ของ Mann ตัวละครหลักเป็นผู้ชายที่มีความโดดเด่นในสายอาชีพ ชอบอยู่ตัวคนเดียวหรือถ้ามีครอบครัวก็ร่อแร่ใกล้หย่าร้าง ภายในจิตใจเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ชอบหาหญิงสาวเติมเต็มความโรแมนติก มักมีศัตรูผู้อยู่ขั้วตรงข้ามให้ต้องต่อสู้ขัดแย้ง และลงเอยตอนจบด้วยโศกนาฎกรรมเสมอ
สำหรับ Thief ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Home Invaders: Confessions of a Cat Burglar (1975) แต่งโดย Frank Hohimer ตัวจริงคือนักปล้นเพชร John Allen Seybold (1923 – 2005) ซึ่งได้มาเป็นที่ปรึกษา Technical Advisor ให้กับหนังอีกด้วย
เกร็ด: Seybold ยังไม่ได้รีไทร์จากอาชีพนักปล้นเพชรนะครับ เมื่อปี 1995 ถูกจับติดคุก South Woods State Prison, New Jersey ปล่อยตัวปี 2001
เรื่องราวของ Frank (รับบทโดย James Cann) หัวขโมยเพชรมืออาชีพ ที่มีเบื้องหน้าเป็นนักธุรกิจเปิดบาร์ ขายรถ อยู่เมือง Chicago ต้องการเติมเต็มสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปในชีวิตคือครอบครัว ตกหลุมรัก Jessie (รับบทโดย Tuesday Weld) วาดฝันอนาคตสุขสม กำลังเก็บสะสมเงินทองใช้ชีวิตสุขสบายบั้นปลาย จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงานกับ Leo (รับบทโดย Robert Prosky) หัวหน้ากลุ่มมาเฟีย Chicago Outfit หลังโจรกรรมครั้งล่าสุดต้องการรีไทร์ แต่เรื่องอะไรมีเพชรอยู่ในกำมือจะยินยอมปล่อยไป
James Edmund Caan (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx, New York ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก Germany โตขึ้นเข้าเรียน Michigan State University ตามด้วย Hofstra University ร่วมชั้น Francis Ford Coppola และ Lainie Kazan ไม่ทันจบผันตัวสู่ Neighborhood Playhouse School of the Theatre ได้อาจารย์ Sanford Meisner เริ่มมีผลงาน Off-Broadway ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ Red Line 7000 (1965), El Dorado (1967), Countdown (1968), The Rain People (1969), ได้เพื่อนส่งให้กับ The Godfather (1972) ในบท Sonny Corleone เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Gambler (1974), Funny Lady (1975), A Bridge Too Far (1977), Thief (1981), Eraser (1996), Bottle Rocket (1966), Elf (2003) ฯ
รับบท Frank หัวขโมยเพชรที่เมื่อสมัยยังหนุ่มถูกจับเข้าคุก 11 ปี โทษฐานขโมยเงินเพียง 40 ดอลลาร์ ระหว่างนั้นได้ Okla/David (รับบทโดย Willie Nelson) เสี้ยมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้ทุกสิ่งอย่าง พ้นโทษออกมาสามารถเอาตัวรอดและกลายเป็นมืออาชีพในสายงาน, Frank เป็นคนนิสัยดื้อรั้น อารมณ์ร้อนฉุนเฉียว อยากได้อะไรต้องได้ ตรงไปตรงมา ไม่ชอบก้มหัวให้ใคร ใครผิดสัญญาต้องชดใช้ เลือดแลกด้วยเลือด
สำเนียงการพูดของตัวละคร สะท้อนว่าเป็นคนไม่ได้รับการศึกษา/ผู้ดีมีตระกูลสักเท่าไหร่ ท่าทางลุกรี้ลุกรน ขี้หงุดหงิดฉุนเฉียวเวลาใครทำอะไรไม่ได้ดั่งใจต้องการ เว้นเพียงแต่เรื่องอาชีพการงานเท่านั้น สุขุมเยือกเย็นสงบนิ่งไม่รีบร้อน
เห็นว่า Caan ต้องไปหัดเรียนใช้เครื่องมือต่างๆจนมีความชำนาญ รวมถึงเข้าคอร์สฝึกใช้อาวุธปืน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ‘มืออาชีพ’ ให้กับตัวละคร และแม้ตัวละคร Frank จะคือ John Seybold ผู้เป็นที่ปรึกษาให้กับหนังอย่างใกล้ชิด แต่เขาเลือกจะไม่เลียนแบบตาม เพราะมันจะดูเคอะเขินกันเกินไปในกองถ่าย
รองจาก The Godfather นี่เป็นบทบาทที่ Caan ให้สัมภาษณ์บอกว่าชื่นชอบสุดในผลงานของตนเอง โดยเฉพาะฉากทานอาหารกับ Tuesday Weld เกลี้ยกล่อมขอให้เธอมาอยู่กินร่วมชายคาเดียวกับเขา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพูดถึงตัวละครว่า
“I like to be emotionally available but this guy is available to nothing”.
Tuesday Weld ชื่อจริง Susan Ker Weld (เกิดปี 1943) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City หลังพ่อเสีย เธอก็เริ่มทำงานเป็นโมเดลลิ่งให้กับนิตยสาร Life ตอนอายุ 12 กลายเป็นนักแสดง ภาพยนตร์เรื่องแรก The Wrong Man (1956) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock แต่ชื่อเสียงมาพร้อมความกดดัน กินเหล้าตั้งแต่เด็ก เคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง โตขึ้นโด่งดังกับ The Cincinnati Kid (1965), Play It as It Lays (1972), Looking for Mr. Goodbar (1977), Thief (1981), Once Upon a Time in America (1984) ฯ
รับบท Jessie สาวเสิร์ฟประจำบาร์ของ Frank (แต่เหมือนเธอจะไม่รู้ตัว) อดีตที่ผ่านมาถูกครอบครัว/แฟนเก่า ใช้ความรุนแรงจนแทบไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยู่ไปวันๆอะไรจะเกิดก็เกิด เลิกคิดปักหลักปักฐานสร้างครอบครัว แต่เมื่อถูก Frank โน้นน้าวเล่าถึงตนเอง ชักชวนเกลี้ยกล่อมจนเธอยินยอมรับความเสี่ยง ชีวิตที่เหมือนกำลังจะดีขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็วนกลับไปสู่วังเวียนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยน
ใบหน้าแววตาของ Weld มองลึกเข้าไปจะพบเห็นบางสิ่งอย่างที่เจ็บปวดรวดร้าว รอยยิ้มภายนอกคือหน้ากากปกปิดตัวตนแท้จริงภายใน เต็มไปด้วยความคลุมเคลือ ซึ่งต้องถือว่ามีความเข้ากับตัวละครอย่างมาก (ชีวิตจริงของเธอก็ผ่านอะไรมามากเช่นกัน) ฉากทานอาหารกับ James Caan คาดเดาไม่ออกเลยว่าจะให้คำตอบอะไร แต่หลังจากนั้นก็จะอ่านง่ายแล้วละ เพราะบทบาทลดลงเหลือเพียงตัวประกอบ หาได้สุขสมหวังดั่งที่เคยสัญญากันไว้ไม่
Robert Prosky หรือ Robert Joseph Porzuczek (1930 – 2008) นักแสดงสัญชาติ Polish-American เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania, โตขึ้นเข้าเรียน American Theatre Wing ตามด้วย Temple University จบออกมาเป็นนักแสดงที่ Old Academy Players ไม่ได้คิดหวังว่าชีวิตจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ จนกระทั่ง Thief (1981) แจ้งเกิดโด่งดังขณะอายุ 50 ปี ทำให้มีผลงานตามมาอย่าง Christine (1983), The Natural (1984), Broadcast News (1987) ฯ
รับบท Leo หัวหน้ากลุ่มอาชญากร Chicago Outfit ผู้กำลังถูกตำรวจติดตามล่าตัวอย่างใกล้ชิด เกิดความประทับใจในผลงานการปล้นของ Frank ชักชวนเข้ามามีส่วนร่วมกับการโจรกรรมที่ใหญ่กว่านั้น พยายามทำโน่นนี่นั้นให้เสมือนคือพ่อบุญธรรม จะได้ทวงหนี้บุญคุณไม่ตีจากเมื่องานสำเร็จ ซึ่งสร้างความขัดแย้งไม่พอใจให้อย่างมาก จนต้องตามมาล้างแค้นทวงคืน
ถ้าไม่ใช่ว่าคือเจ้าพ่อมาเฟีย Prosky ก็แค่ชายสูงวัยธรรมดาทั่วๆไป ดูอบอุ่นพึ่งพาได้ เหมือนผู้พัน Kentucky (ที่ขายไก่ KFC) ใครกันจะไปคิดหมอนี่คือโคตรแห่งความชั่วร้าย นิสัยไม่ต่างอะไรกับตัวละคร Frank เรื่องงานสงบใจเย็น แต่อย่าให้ฉุนเฉียวในเรื่องไม่พึงพอใจ อยากได้อะไรต้องได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องมีคนตาย เลือดล้างด้วยเลือด
ถ่ายภาพโดย Donald E. Thorin (1934 – 2016) สัญชาติอเมริกัน จากเด็กส่งเอกสารของสตูดิโอ Fox ไต่เต้าขึ้นมายกกล้องใส่ฟีล์ม กลายเป็นผู้ช่วย และเริ่มต้นได้เครดิตจาก Thief (1981), ผลงานเด่น อาทิ Bad Boys (1983), Scent of Woman (1992) ฯ
แต่เกินครึ่งของหนัง ผู้กำกับ Mann จะคือคนควบคุมกล้อง (Operator Camera) ขณะที่ Thorin คือผู้จัดแสงสี ทำ Color Palette วางองค์ประกอบต่างๆให้เข้าที่ทาง
“I need that creative intimacy, and quite frankly, the control to execute my vision, on all my projects.”
– Michael Mann
ความโดดเด่นของการถ่ายภาพ คือแสงสีที่มีลักษณะเป็นดวงๆ ภาพสะท้อนมันเงาวาว บริเวณไหนความสว่างส่องไปไม่ถึงก็จะมืดมิดดำสนิท มอบสัมผัสอันอึมครึมของ Neo-Noir สวยงามแต่แฝงความอันตราย สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมา
ความระยิบระยับของแสง/หลอดไฟ มีลักษณะคล้ายดวงดาวบนท้องฟ้า ที่ใครๆต่างพยายามเอื้อมมือไขว่คว้า ซึ่งการที่แสงเหล่านั้นสะท้อนผืนน้ำ/พื้นผิวรถที่มันวาว ราวกับว่ามันเป็นสิ่งอยู่ใกล้เพียงเอื้อมมือ (นี่สะท้อนกับช็อตตอนต้นที่ผมอธิบายไป กล้องเคลื่อนจากท้องฟ้าเบื้องบนลงมาหยุดนิ่งภาคพื้น = ภาพสะท้อนของแสง/หลอดไฟระยิบระยับบนภาคพื้น)
แสงไฟเบลอๆที่พื้นหลัง สามารถอธิบายบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นได้เบื้องหน้า อย่างช็อตนี้ที่ Frank พยายามพูดจาโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมชักจูงให้ Jessie ยินยอมลงเอยครองคู่แต่งงานกันเขา ไฟดวงกลมๆด้านหลังของ Caan เรียงเป็นเส้นตรงเหมือนลูกศรชี้มาหา Weld ขณะที่ฝั่งของเธอมีเพียงไม่กี่ดวง ยังเต็มไปด้วยความลังเลไม่แน่ใจ
ฉากโจรกรรม เห็นว่าทีมงานลงทุนซื้อตู้เซฟจริงๆราคากว่า 10,000 เหรียญ เพื่อให้ทนทานใช้งานกับอุปกรณ์จริง Hydraulic Drill ต่อท่อ Oxygen Lance สามารถหลอมเหล็กให้ละลายเกิดเป็นประกายไฟ ถ่ายช็อต Close-Up งดงามนักแล
ลักษณะของแช่ภาพ Close-Up นำเสนอรายละเอียดยิบย่อยระหว่างการโจรกรรม อาทิ ไขควงสว่านเจาะตู้เซฟ, เปลวไฟหลอมละลายกลไก, ประกายเพลิงพุ่งทะลักออกมา ฯ เหล่านี้ถือว่าเป็นภาพ Abstraction สื่อความหมายในระดับนามธรรม สะท้อนความต้องการได้มาครอบครองเป็นเจ้าของบางสิ่งอย่างของตัวละคร
Sequence ในศาล เป็นอะไรที่สุดตรีนมากๆ ทีแรกผมก็โคตรสงสัย ทำไมทนายและผู้พิพากษาต่างต้องยกมือกุมหน้าท่าทางแปลกๆเช่นนั้น แต่ก็สามารถคาดเดาไม่ยากว่านั่นคือการต่อรองผ่อนผัน แสดงความคอรัปชั่นกันแบบไม่แคร์ธงชาติและภาพของ Abraham Lincoln ที่อยู่ด้านหลังเลย
ความเกรี้ยวกราดโกรธของราชสีห์ผมขาว เจ้าพ่อมาเฟีย Leo ถ่ายมุมเงยขึ้นติดแสงควันด้านหลัง สะท้อนความมีอำนาจบาดใหญ่ และอารมณ์ขุ่นมัวหมองไม่พึงพอใจ เป็นช็อตที่ทำให้หัวใจหวิวๆ หวาดสะพรึงกลัวแทนพระเอกขึ้นมาเลย (นึกว่าจะโดนเก็บไปอีกคน)
เมื่อความฝันที่เคยมีของ Frank ดับสิ้นสูญไป ช็อตนี้น่าสนใจมากทีเดียว เพราะหนังทั้งเรื่องพื้นมักต้องสะท้อนแสง/หลอดไฟ ระยิบระยับที่เสมือนดั่งดวงดาวบนฟากฟ้าอยู่เสมอ ครานี้แสงดาวยังอยู่แต่พื้นกลับไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้น ขยำทิ้งด้วยรูปภาพหนึ่งเดียวที่คือจิตวิญญาณของตนเอง
ตัดต่อโดย Dov Hoenig สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นอาทิ The Last of the Mohicans (1992), The Fugitive (1993) ฯ
หนังทั้งเรื่องใช้มุมมองของ Frank ตามติดปรากฎตัวในแทบทุกฉาก ซึ่งเรื่องราวจะมีการสลับไปมาระหว่างชีวิตครอบครัว – อาชีพโจรกรรม (วางแผน-ปฏิบัติการ-หลังจากนั้น) ซึ่งตัวละครจะเป็นจุดหมุนของ Jessie, Leo และตำรวจ
สำหรับเพลงประกอบ ตอนแรกต้องการใช้บริการวงดนตรีแจ๊ส Chicago Blues เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร และสัมผัสต่อสถานที่ออกมา แต่ภายหลังตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติ German ชื่อ Tangerine Dream ที่สร้างความกลืมกลืนโปร่งใสให้กับบรรยากาศเรื่องราวมากกว่า
“However, I felt that what the film was saying, thematically, and the facility with which the film might be able to have resonance with audience. I felt that to be so regionally specific in the music choice would make Frank’s experience specific only to Frank…So I wanted the kind of transparency, if you like, the formality of electronic music, and hence Tangerine Dream”.
ระหว่างรับชมผมก็เกิดความสงสัย นี่กำลังดู Blade Runner (1982) อยู่หรือยังไง ทำไมรสสัมผัสมันช่างคล้ายคลึงกันเหลือเกิน แถมว่างานภาพมีความตระการตาวิจิตร ต่างแค่ไม่ได้ใช้ Visual Effect เท่านั้นเอง
ช่วงต้นเรื่องจะมีบทเพลงคำร้องหนึ่งที่เนื้อหาตรงมากๆ Turning Point (1976) แต่งโดย Leo Graham ต้นฉบับขับร้องโดย Tyrone Davis ในหนัง Cover โดย Mighty Joe Young เป็นแนว R&B
เมื่อ Frank เดินทางไปหา Jessie พบเจอในไนท์คลับ ลากตัวมาร้านกาแฟเพื่อสาธยายพูดบอกทั้งชีวิตของตนเอง ขอมือเธอให้ได้อยู่ครองคู่เคียงข้างแต่งงาน บางสิ่งอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป ‘Turning Point’ สำหรับเขา
เห็นว่าผู้ชมสมัยนั้นเสียงแตกกับสไตล์บทเพลงของหนัง คงเพราะเป็นความไม่คุ้นเคย แล้วค่อนข้างจะ Avant-Garde ไปสักนิด ด้วยเหตุนี้เลยได้เข้าชิง Razzi Award: Worst Musical Score พ่ายให้กับ The Legend of the Lone Ranger ของ John Barry
แต่เชื่อว่ากาลเวลาน่าจะทำให้ผู้ชมสมัยใหม่มีทัศนคติที่ต่างออกไป ส่วนตัวผมนั้นคลั่งไคล้เพลงประกอบมากๆเลยละ เพราะมันสะท้อนเข้ากับบรรยากาศของหนังได้อย่างมืดหมองหม่น ความอันตรายแฝงอยู่ทุกฝีก้าว
โจร, โจร- โจน, โจระ-, โจนระ-/ คำนาม ผู้ที่ลักขโมย หรือปล้นเอาทรัพย์สินผู้อื่น.
โจรกรรม (ศัพท์ทางศาสนาเรียกว่า ไถยกรรม) หมายถึงการกระทำที่นำเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยเจตนา เพื่อยึดทรัพย์สินนั้นมาเป็นของตน ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินไม่ได้อนุญาตหรือยินยอม คำนี้สามารถเรียกแทนอาชญากรรมบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน อาทิ การลักทรัพย์ (ขโมย) การลักทรัพย์ในเคหสถาน (ย่องเบา/ยกเค้า) การลักทรัพย์ในร้านค้า การยักยอก การชิงทรัพย์ (ปล้น) การฉกชิงทรัพย์ (ปล้นสะดม) และการฉ้อโกง [1][2] ในบางเขตอำนาจศาล ‘โจรกรรม’ (Theft) มีความหมายเหมือนกับ ‘การลักทรัพย์’ (Larceny)
ในอดีตกฎหมายตราสามดวง มีการจัดแบ่งโจรออกเป็น 16 จำพวก ขณะที่ปัจจุบันตามประมวลกฎหมายอาญาไทย แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
- โจรลักทรัพย์ คือ ผู้บังอาจเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยการทุจริตและโดยเจ้าทรัพย์มิได้อนุญาตให้ การลักทรัพย์นั้นมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- เป็นการบังอาจเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป
- ทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์อันเคลื่อนที่ได้
- การนั้นกระทำไปโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าทรัพย์
- การนั้นกระทำไปโดยเจตนาทุจริต
- โจรวิ่งราวทรัพย์ คือ ผู้ลักทรัพย์โดยใช้กิริยาฉกฉวยทรัพย์พาหนีไปซึ่งหน้า
- โจรชิงทรัพย์ คือ ผู้ลักทรัพย์โดยใช้กิริยาทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายเพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- เพื่อประโยชน์ที่จะตระเตรียมการหรือให้เป็นความสะดวกในการที่จะลักทรัพย์
- เพื่อที่จะเอาทรัพย์หรือให้ผู้ใดส่งทรัพย์ให้
- เพื่อที่จะเอาผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ลักทรัพย์
- เพื่อจะปกปิดการกระทำผิด
- เพื่อจะหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาสำหรับความผิดนั้น
- การชิงทรัพย์มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- เป็นความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว
- โดยใช้กำลังกระทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะกระทำร้าย
- เพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังข้างต้นนั้น
- โจรปล้นทรัพย์คือ โจรตั้งแต่สามคนขึ้นไปมีศาสตราวุธจะกี่คนก็ตามในจำนวนนั้น ได้ไปลงมือกระทำการชืงทรัพย์
- โจรสลัด คือ โจรที่ประพฤติปล้นสะดมข่มเหงคนเดินทางนอกเขตความปกครองของประเทศใด ๆ โดยมากเป็นกลางทะเลหลวง ปัจจุบันมีกลางอากาศด้วย และโจรประเภทนี้มักมิได้อยู่ในอำนาจหรือรับคำสั่งของรัฐบาลอันมั่นคงแห่งเมืองใดเมืองหนึ่ง
ในทางพุทธศาสนา การยึดถือเอาวัตถุสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตให้ หรือที่เจ้าของหวงแหน ถือว่าผิดศีลข้อที่ ๒ “อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ” แต่ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
- ปรปริคฺคหิตํ วัตถุสิ่งของที่มีเจ้าของเก็บรักษาไว้
- ปรปริคฺคหิต สญฺยิตา รู้ว่าวัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของเก็บรักษาไว้
- เถยฺยจิตฺตํ มีจิตคิดจะลัก
- ปโยโค ทำความเพียรเพื่อลัก
- อวหาโร ได้สิ่งของนั้นมาด้วยความเพียรนั้น
เมื่อการกระทำครบองค์ทั้ง ๕ นี้แล้ว ก็เป็นอันว่าผู้นั้นได้ก้าวล่วงกรรมบถแล้ว ถ้าการกระทำไม่ครบองค์ ๕ ก็ไม่สำเร็จเป็นกรรมบถ ทั้งนี้ทั้งนั้นความพยายามในการลักทรัพย์ ประกอบด้วย
- สาหัตถิกะ ลักด้วยตนเอง
- อาณัตติกะ ใช้ให้คนอื่นลักโดยการใช้วาจาหรือเขียนหนังสือ
- นิสสัคคิยะ ลอบทิ้งวัตถุสิ่งของ เช่นลักลอบเอาสิ่งของที่ต้องเสียภาษี ทิ้งออกไปให้พ้นเขต
- ถาวระ สั่งพรรคพวกไว้ว่า ถ้ามีโอกาสเวลาใดให้พยายามลักเอาสิ่งนั้นๆมาให้สำเร็จ
- วิชชามยะ ใช้เวทมนต์คาถา ทำให้เจ้าของทรัพย์ หลงใหลงงงวยหยิบยื่นสิ่งของนั้นๆมาให้ตน หรือใช้คาถาสะกดทำให้เจ้าของทรัพย์หลับแล้วเข้าไปลักทรัพย์นั้นมา เป็นต้น
- อิทธิมยะ ใช้อิทธิฤทธิ์ต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับวิชชามยะ แต่ไม่กระทำอทินนาทานที่เป็นโทษในทางโลก ยกตัวอย่างเช่น สามเณรองค์หนึ่งได้สำเร็จอภิญญา มีความต้องการน้ำเพื่อใช้บริโภคไปขอต่อพระยานาคผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาสระโบกขรณี พระยานาคไม่ยินยอมให้ สามเณรนั้นจึงเหาะเหินขึ้นไปบนอากาศ แล้วก็ตักเอาน้ำนั้นไปจนได้
สำหรับผู้กำกับ Mann ให้คำนิยาม ‘Thief’ ว่า
“To me, it’s a left-extensionalist critique of corporate capitalism”.
บุคคลผู้ถูกทอดทิ้งในขบวนลัทธิทุนนิยม เนื่องจากไม่สามารถหาเงิน/สิ่งของ ประทังเลี้ยงชีพเอาตัวรอดได้ จึงตัดสินใจลักขโมยของผู้อื่นเพื่อนำมาครอบครองเป็นเจ้าของ เพื่อผลประโยชน์สุขของตนเองเพียงผู้เดียว
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือโจรกรรมในลักษณะรูปธรรม เพชรพลอย เงินทอง สิ่งของมีค่า ฯ ซึ่งหนังเรื่องนี้เหมือนจะมีลักษณะของนามธรรมปรากฎอยู่ด้วย (แต่ไม่ชัดเท่าไหร่นะ) อาทิ
– Frank พยายามครอบครองเป็นเจ้าของ Jessie แต่เพราะเธอยินยอมมอบหัวใจให้กับเขา สุดท้ายเลยไม่เข้าข่ายลักขโมย
– ขณะที่ Leo ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Frank เพื่อบีบบังคับให้ใช้กลายเป็นลูกมือใช้แรงงานเยี่ยงทาส ซึ่งกรณีนี้ถือว่าไม่สมยอม เลยสามารถพอมองว่าเป็นโจรกรรมในรูปนามธรรมพอได้อยู่
มนุษย์ลักทรัพย์เพื่ออะไร? เพราะความขาดแคลน อยากได้มาครอบครอง และสันชาติญาณโดยไม่รู้ตัว เหล่านี้มักเกิดบนโลกที่ขาดจิตสำนึกมโนธรรม ผู้คนไร้ซึ่งความเท่าเทียมเสมอภาค และกฎแห่งกรรมไม่ตอบสนองทันควัน
Thief เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเป้าหมายปลายทางของการเป็นโจร ตัวเขามีความใฝ่ฝันบางอย่าง ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของประสบความสำเร็จ เมื่อถึงจุดนั้นตั้งใจว่าจะเพียงพอเลิกรา ค่อยๆสาปสูญหายเลือนลางไปจากวงการ แต่ใครก็ตามหลวมตัวจมปลักเข้ามาในโลกแห่งอาชญากรรมใบนี้ หนทางออกเดียวเท่านั้นที่เป็นไปได้ ไม่ตายก็พิการ รอดคุกก็ต้องสูญเสียหมดตัว จุดเริ่มต้นทั้งหมดนี้แค่การขโมยเงินเพียง $40 ดอลลาร์ เหมือนจะไม่มีค่าอะไรแต่คือทุกสิ่งอย่าง
สำหรับผู้กำกับ Michael Mann เห็นว่าตัวเขาเติบโตขึ้นในชุมชนท้องถนน Chicago ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำเล็กๆ ทำให้พบเห็นอาชญากร อันธพาล มาเฟีย เดินกันเกลื่อนเต็มท้องถนน ใครอยากเอาตัวรอดก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนยินยอมทำทุกสิ่งอย่างไม่สนถูกผิดหรือข้อกำหนดกฎหมาย ผู้คนเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวไม่สนใจอะไรใครอื่น ด้วยเหตุนี้ผลงานภาพยนตร์แทบทั้งชีวิตของเขา จึงวนเวียนอยู่แต่เรื่องอาชญากรรม ตำรวจไล่จับผู้ร้าย หัวขโมยโจรกรรม และทุกครั้งจบลงด้วยชัยชนะของความถูกต้องทางศีลธรรม
ตอนรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes ใช้ชื่อว่า Violent Streets ก่อนมาเปลี่ยนเป็น Thief เมื่อฉายจริง (แต่ก็ยังมีบางฉบับฉายต่างประเทศ ที่ใช้ชื่อเดิมอยู่) ด้วยทุนสร้าง $5.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $11.5 ล้านเหรียญ กำไรไม่เยอะเท่าไหร่ แต่แจ้งเกิดผู้กำกับ Michael Mann ได้รับการจับตามองอย่างยิ่ง
ส่วนตัวหลงรักคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง ในสัมผัสบรรยากาศ Neo-Noir งานภาพสวยงามวิจิตร และเพลงประกอบที่ผมว่าเข้ากันมากๆ ถึงกระนั้นเรื่องราวยังขาดๆเกินๆไม่กลมกล่อมสักเท่าไหร่ แต่ก็พอกล้อมแกล้มเอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิดทีเดียว
แนะนำคอหนังอาชญากรรม แนวโจรกรรมเว่อๆระดับมืออาชีพ, ช่างภาพตากล้อง หลงใหลท้องถนนค่ำคืนเมือง Chicago, คลั่งไคล้เพลงประกอบ Electronic สัมผัสนัวร์ๆ, แฟนๆผู้กำกับ Michael Mann และนักแสดงนำ James Caan ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับการโจรกรรม บรรยากาศนัวร์ ฆ่าล้างแค้นความตาย
Leave a Reply