Things to Come

Things to Come (1936) British : William Cameron Menzies ♥♥♥♡

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นก่อนหน้าการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สามารถพยากรณ์อนาคตได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แถมยังจินตนาการล้ำต่อด้วยว่า ถ้าสงครามยืดเยื้อไปจนถึงปี 2036 มนุษย์โลกคงต้องอาศัยอยู่ใต้ดิน และสร้างจรวดเพื่อหนีความขัดแย้งมุ่งสู่ดวงจันทร์

“No film, not even Metropolis, has even slightly resembled it”.

– C. A. Lejeune นักวิจารณ์ของ Observer Magazine

เป็นอะไรที่คาดคิดไม่ถึง ตกตะลึงงัน ต่อความลึกล้ำ ‘Futuristic’ กับครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ ดำเนินเรื่องปี ค.ศ. 2036 อนาคตที่ปัจจุบันก็ยังไปไม่ถึง แต่มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงมาก เพราะตราบใดมนุษยชาติยังคงอวดอ้างทะนงตน ต้องการยิ่งใหญ่โตเหนือใคร พยายามใช้อิทธิพลควบคุมครอบงำ สร้างความขัดแย้งต่อเนื่องด้วยสงครามเย็น สงครามการค้า ความขัดแย้งไม่รู้จักจบสิ้น ‘Things to Come’ สักวันความล่มสลายทางอารยธรรมย่อมก้าวมาถึง

ถ้าไม่เพราะเมื่อวานก่อนเขียนถึง Frau im Mond (1929) เลยได้อ่านบทความหนึ่ง ชี้นิ้วต่อมายังภาพยนตร์ไซไฟเรื่องนี้ ทีแรกก็ไม่ได้ใคร่สนใจหรอก จนได้พบภาพประกอบหนึ่งที่สร้างความตกตะลึง เลยตัดสินใจรับชมทาง Youtube คุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วสักพักก็สะดุ้งโหย่ง เห้ย! เจ๋งว่ะ แอบรู้สึกผิดต่อตนเอง น่าจะหาหนังฉบับคุณภาพดีๆหน่อยมารับชม มีใน Criterion Collection แนะนำให้หาซื้อเก็บกันได้เลย

ภาพนี้นะครับ สถาปัตยกรรมแห่งอนาคตที่โคตรล้ำ และชุดของตัวละครนั่นมัน Obi-Wan Kenobi หรือเปล่านะ!

บุคคลที่ต้องยกเครดิตภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เต็มๆ คือผู้พัฒนาบท/ต้นฉบับหนังสือ The Shape of Things to Come (1933) อันมีจินตนาการล้ำยุคสมัย Herbert George Wells หรือ H. G. Wells (1866 – 1946) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่ง Sci-Fi’ เคียงคู่กับ Jules Verne และ Hugo Gernsback ผลงานชื่อก้องโลก อาทิ The Time Machine (1895), The Island of Doctor Moreau (1896), The Invisible Man (1897),The War of the Worlds (1898), The War in the Air (1907) ฯ เคยมีชื่อเข้าชิง Nobel Prize in Literature ถึง 4 ครั้ง แต่กลับไม่เคยได้ เป็นไปได้อย่างไร!

Wells เขียนหนังสือ The Shape of Things to Come ไม่ใช่ในลักษณะของนิยาย แต่เพื่อทำการพยากรณ์อนาคตของโลกตั้งแต่ 1933 จนถึงปี 2106 โดยแบ่งเรื่องราวออกเป็น 5 ช่วงเวลา
1. Today and Tomorrow: The Age of Frustration Dawns, ประมวลสรุปประวัติศาสตร์โลกมาจนถึงปี 1933
2. The Days After Tomorrow: The Age of Frustration, การเกิดขึ้นของสงครามโลกอันยืดเยื้อ ตั้งแต่ 1933 – 1960
3. The World Renaissance: The Birth of the Modern State, มนุษย์ชาติถือกำเนิดใหม่ 1960 – 1978
4. The Modern State Militant, รัฐยุคใหม่ที่ใช้อำนาจทางทหารเข้าควบคุมความสงบ โดยมี 1978 – 2059
5. The Modern State in Control of Life, เมื่อรัฐสามารถควบคุมครอบงำทุกสิ่งอย่างของประชาชนได้สำเร็จ 2059 – 2106

ถึงผมไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ก็สามารถคาดเดาความตั้งใจของผู้เขียน เพ้อฝันถึงโลกในอุดมคติ ‘Utopia’ นำเสนอแนวโน้ม/วิธีการ/ความเป็นไปได้ อันเริ่มจากการมาถึงของสงครามอันยืดเยื้อ จนเป็นเหตุให้อารยธรรมมนุษย์ถูกทำลายแทบสูญสิ้น แต่เพียงหนึ่งผู้นำที่รอดชีวิต จักสามารถกอบกู้โลก นำพาทุกคนมุ่งสู่ความเจริญรุดหน้าแบบก้าวกระโดด และไร้ขอบเขตฟากฟ้ากั้นแบ่งความทะเยอทะยาน

ว่ากันว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ Wells ต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะตัวเขาไม่ประทับใจใน Metropolis (1927) อย่างยิ่งยวด ขนาดว่าเรียกชื่อผู้กำกับ Fritz Lang ว่า Mr. Lange (จงใจอ่านออกเสียงผิดๆ เพื่อประชดประชัน) จึงได้ต่อยอดพัฒนา Treatment ส่งให้โปรดิวเซอร์ Alexander Korda ซึ่งก็เกิดความสนใจอย่างยิ่งยวด ตัดสินใจทุ่มไม่อั้น มอบหมายให้

William Cameron Menzies (1896 – 1957) ผู้กำกับ นักออกแบบ Production Design (Art Direction) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Haven, Connecticut ครอบครัวอพยพจาก Scotland สำเร็จการศึกษาจาก Yale, University of Edinburgh หลังกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เรียนต่อ Art Students League of New York จบออกมาได้งานออกแบบ ทำ Special Effect ที่ Famous Players-Lasky ต่อมากลายเปลี่ยนชื่อเป็น Paramount Picture ผลงานเด่นๆในยุคหนังเงียบ อาทิ The Thief of Bagdad (1924), The Bat (1926), The Dove (1927), Sadie Thompson (1928), Tempest (1928), กลายเป็นตำนาน Production Design เรื่อง Gone with the Wind (1939), Duel in the Sun (1946), สำหรับการกำกับภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ Always Goodbye (1931), ได้รับการจดจำสูงสุดจากสองผลงานไซไฟ Things to Come (1936), Invaders from Mars (1953)

เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็น 3-4 ช่วงเวลา ดำเนินเรื่อง ณ เมืองสมมติชื่อ Everytown ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ
– Pre-Apocalypse วันคริสต์มาส 1940, ข่าวคราวเกี่ยวกับสงครามแพร่สะพัดไปทั่ว แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาถึงเมืองแห่งนี้โดยเร็วไว ค่ำคืนนั้นพอดิบพอดี เป็นเหตุให้ John Cabal (รับบทโดย Raymond Massey) จากนักธุรกิจกลายเป็นคนขับเครื่องบิน Biplane ยิงเครื่องบินศัตรูที่กำลังจะปล่อยแก๊สพิษตกพื้น ตัดสินใจแล่นลงจอดให้ความช่วยเหลือศัตรูแต่ก็ถูกผลักไสให้เอาตัวรอดพร้อมเด็กหญิงคนหนึ่ง
– Apocalypse, สงครามดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษ 60s ผู้คนเริ่มหลงลืมเหตุผลของการต่อสู้ มนุษย์ชาติเริ่มเข้าสู่ Dark Age เกิดโรคประหลาดทางชีวภาพชื่อว่า ‘Wandering Sickness’ ใครพบเห็นว่าป่วยจะถูกยิงทิ้งโดยทันที,
– ยังคงในช่วง Apocalypse ต่อมาปี 1970, ถือกำเนิดผู้นำคนใหม่ Rudolf (รับบทโดย Ralph Richardson) ก้าวขึ้นมีอำนาจสูงสุด ตั้งกฎและวางแผนก่อสงครามครั้งใหม่กับ ‘Hill People’ ของ Floss Valley แย่งชิงถ่านหิน/หินดินดาน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินรบ, วันหนึ่งเครื่องบินรุ่นใหม่ลงจอดยัง Everytown คนขับชื่อ John Cabal (รับบทโดย Raymond Massey) อดีตวิศวกรที่เอาตัวรอดชีวิตผ่านสงครามโลก ขณะนั้นก่อตั้งฝูงบิน ‘Wings Over the World’ มีฐานบัญชาการยัง Basra, Iraq เตรียมฟื้นฟูสร้างอารยธรรมใหม่ให้กับโลก เข้ามาชักชวนให้ร่วมก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธพร้อมคุมขังเขาไว้ใช้แรงงาน ร่วมกับ Richard Gordon (รับบทโดย Derrick De Marney) ซ่อมแซมเครื่องบินรบสำเร็จลำหนึ่ง บินไปแจ้งข่าวต่อพรรคพวกของ Cabal นำพาฝูงบินแห่งอนาคตมาต่อกรเอาชนะเครื่องบินรบของ Rudolf
– Post-Apocalypse สู่อนาคต 2036, เมื่อมนุษยชาติต้องอาศัยอยู่เมืองใต้ดินเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ด้วยปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล เป็นเหตุให้ต้องรีบเร่งสร้างฐานยิงจรวด ‘Space Gun’ ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวิวัฒนาการ/อารยธรรมโลก มุ่งสู่จักรวาลอันไร้ขอบเขต ไม่ใช่อุดอู้คุดคู้ตกต่ำลงอยู่ใต้ดิน แต่ก็ถูกทัดทานโดย Theotocopulos (รับบทโดย Cedric Hardwicke) บอกว่าโลกมีความเจริญรุดหน้าเร็วเกินไป จึงปลุกปั้นม็อบให้รีบเร่งเข้าทำลายฐานยิงจรวดดังกล่าว

“All the universe or nothingness? Which shall it be, Passworthy? Which shall it be? …”

ถ่ายภาพโดย Georges Périnal (1897 – 1965) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่น อาทิ Sous les toits de Paris (1930), À nous la liberté (1931), The Private Life of Henry VIII (1933), The Four Feathers (1939), The Thief of Bagdad (1940), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A King in New York (1957) ฯ

งานภาพมีส่วนผสมของ การสร้างฉากขนาดใหญ่ขึ้นมาจริงๆ (มีสองฉากใหญ่ๆของเมือง Everytown คือซากปรักหักพักในช่วงสงคราม, และเมืองแห่งอนาคต), โมเดลจำลองขนาดย่อส่วน, ภาพพื้นหลังวาดลงบน Matte Painting ฯ

สำหรับผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม Art Deco ผสม Dadaist เมืองอนาคตของ Everytown คือ Vincent Korda น้องชายของโปรดิวเซอร์ Alexander Korda รับแรงบันดาลใจจาก
– ศิลปิน Fernand Leger ที่มีผลงาน Ballet Mécanique (1923-24)
– สถาปนิก Le Corbusier นำแบบอย่างจากหนังสือ Towards a New Architecture
– Laszlo Moholy-Nagy ซึ่งได้เข้ามาร่วมสร้าง Sequence ที่เต็มไปด้วยภาพ Abstraction ระหว่างเมืองกำลังพัฒนาสู่โลกอนาคต

เสื้อของชาวโลกอนาคต ส่วนของไหลมีลักษณะเหมือนปีก และผ้าคลุม ได้แรงบันดาลใจจากชุดของซามูไร ชื่อว่า Kata-ginu ออกแบบโดย John Armstrong, René Hubert และ Cathleen Mann

Space gun จุดเริ่มต้นจากแนวคิดของ Jules Verne ปรากฎครั้งแรกในนวนิยาย From the Earth to the Moon (1865) คือวิธีการส่งวัตถุ/สิ่งของออกสู่อวกาศ มีลักษณะคล้ายปืนขนาดใหญ่ ในภาพยนตร์พบเห็นครั้งแรกเรื่อง A Trip to the Moon (1902)

เกร็ด: เคยมี Project HARP ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พัฒนา Space Gun เพื่อใช้เป็นยิงตอบโต้ขีปนาวุธ แต่ไม่เคยมีการยิงวัตถุสิ่งของใดออกพ้นวงโครจรโลก

ตัดต่อโดย Francis D. Lyon และ Charles Crichton,

วิธีการดำเนินเรื่องของหนัง ไม่ได้มีจุดหมุนที่ตัวละคร ใช้การดำเนินเรื่องแบบก้าวกระโดด Time Skip นำเสนอเฉพาะช่วงเวลา/เหตุการณ์สำคัญๆ คั่นด้วยการเรียงร้อยภาพชุด Montage ย่นย่อระยะเวลาที่เกิดขึ้น

สังเกตว่าเรื่องราวในช่วงแรก (1940-70) รวมถึงนักแสดง จะเกิดขึ้นเวียนวนปรากฎตัวซ้ำรอยกับอนาคต (2036)
– Raymond Massey ในบท John Cabal/Oswald Cabal
– Edward Chapman ในบท Pippa Passworthy/Raymond Passworthy
– Margaretta Scott ในบท Roxana Black/Rowena Cabal
– ขณะที่ตัวร้าย Ralph Richardson รับบท Rudolf หรือ The Boss, ช่วงท้าย Cedric Hardwicke รับบทนักแกะสลัก Theotocopulos ต่างมีความเห็นขวางโลกเช่นกัน

ความโดดเด่นของการตัดต่ออยู่ระหว่างการเรียงร้อยภาพชุด Montage เข้าด้วยกัน ประกอบด้วยสามช่วงขณะ
– รถถังยิงปืนใหญ่ ตึกรามบ้านช่องระเบิดกระจุยกระจาย
– เครื่องบินทิ้งระเบิด แก๊สยาสลบ ผู้คนวิ่งหนีขวักไขว่ ก่อนค่อยๆทรุดล้มลง
– มุ่งสู่อนาคต ร้อยเรียงด้วยภาพ Abstraction อะไรก็ไม่รู้ที่สะท้อนถึงวิวัฒนาการ ตึงสูงกำลังได้รับการก่อสร้างขึ้น

เพลงประกอบโดย Sir Arthur Edward Drummond Bliss (1891 – 1975), ด้วยลักษณะของ Impressionist Song ช่วยเติมเต็มเหตุการณ์/เรื่องราว มักดังขึ้นในช่วงขณะเปลี่ยนผ่าน สร้างสัมผัสต่อเนื่องระหว่างช่วงเวลาให้กับหนัง

ช่วงของงานเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์ คือระหว่างเปลี่ยนผ่านจาก 1970 สู่อนาคต 2036 แม้จะมิได้มีสัมผัสของ Futuristic แต่สร้างความฮึกเหิม อยากรู้อยากเห็นด้วยจังหวะตื่นเต้นลุ้นระทึกขึ้นเรื่อยๆ และวินาทีสุดท้ายที่อนาคตสร้างเสร็จ ได้รับการเปิดเผย มันช่างตราตะลึง ยิ่งใหญ่อลังการเสียเหลือเกิน

อะไรคือสิ่งที่ทำให้อนาคตของ H. G. Wells ไม่เป็นจริงดังพยากรณ์? จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมมองว่าคือ ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ แสนยานุภาพของมันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครไหนในโลก(ยุคก่อนหน้านั้น)จินตนาการออกได้อย่างแน่นอน อาวุธที่สามารถใช้เป็นข้ออ้างต่อรอง หยุดยับยั้งสงคราม/ความขัดแย้ง ไม่มีชนชาติไหนอยากเกิดความสูญเสีย เมื่อพบเห็นบทเรียนอันมิอาจประเมินค่าได้

การมาถึงของ ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ ก่อให้เกิดยุคสมัยสงครามเย็น แข่งขันเพื่อเป็นมหาอำนาจแห่งโลก ก้าวกระโดดแห่งวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ไม่ต้องรั้งรอรีอีกหลายสิบร้อยปี มนุษย์ก็สามารถพัฒนาส่งจรวดขึ้นสู่ฟากฟ้า สร้างยานอวกาศไปถึงดวงจันทร์ และก้าวมาถึงอินเตอร์เน็ต/โลกอันไร้พรมแดนสื่อสาร

แม้วิวัฒนาการความเจริญทางด้านวัตถุ จะมีความใกล้เคียงคำพยากรณ์ของ H. G. Wells แต่ในด้านการเมือง/ปกครอง อุดมคติแห่งความเท่าเทียมเสมอภาค กลับช่างห่างร้าง ไกลความจริงเสียเหลือเกิน! สาเหตุหลักๆเกิดจากจิตใจของมนุษย์เราเองนี่แหละ ไม่มีใครโหยหาต้องการสังคมที่ทุกคนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแท้จริง เพราะต่างคนมักสนเพียง’ปัจเจก’สุขส่วนตนเอง ใครอื่นทุกข์ทรมานช่างหัวมัน หาใช่เรื่องของฉันแม้แต่น้อย!

ไม่มีทางที่โลกอุดมคติในความเชื่อของ H. G. Wells จะสำเร็จเกิดขึ้นได้ เพราะเขาไม่ได้นำเอาวิวัฒนาการทางจิตใจของมนุษย์มาครุ่นคิดเป็นปัจจัย (กล่าวคือ พี่แกมองแต่วิวัฒนาการภายนอก ความเจริญทางวัตถุเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง) นี่เป็นสิ่งที่มีแต่ตกต่ำลงเรื่อยๆ จากการถูกครอบงำโดยอำนาจแห่งทุนนิยมเงินตรา สามารถนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขายได้แทบทุกสิ่งอย่าง ผลลัพท์สุดท้ายจริงๆแล้วมันควรจะเป็นโลก Dystopia มากกว่า Utopia เสียอีกนะ

Things to Come เมื่อรับชมในยุคสมัยปัจจุบัน แปรสภาพหลงเหลือเป็นภาพยนตร์แห่งความเพ้อเจ้อ/เพ้อฝัน ‘Fiction’ สารคดีทำนายอนาคตที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง แต่ถึงจะดูไร้สาระก็ยังสามารถพบเห็นร่องรอย ความคิดอ่านของคนยุคสมัยนั้น ทำไมถึงวาดภาพโลกอนาคตออกมาลักษณะเช่นนี้? มีอะไรบ้างคือสิ่งแตกต่าง? สาเหตุผลให้มิอาจเกิดขึ้นกลายเป็นจริง? แม้จะตกยุคเฉิ่มเฉยล้าสมัยไปแล้ว แต่ก็ยังทรงคุณค่าเก็บฝังไว้ใน Time Capsule

แม้เสียงตอบรับโดยรวมจะค่อนข้างดี ไม่มีใครกล้าตำหนิในส่วนการออกแบบ งานศิลป์ หรือความล้ำหน้า ‘Futuristic’ สร้างความตื่นตระการตาให้ผู้ชม แต่ที่โดนติจนทำให้หนังราคา 300,000 ปอนด์ (ประมาณ $1.5 ล้านเหรียญ) ขาดทุนย่อยยับเยิน เพราะไร้ตัวละคร/เรื่องราวที่เป็นศูนย์กลาง (คือมันจะมีได้ยังไงละ! ระยะเวลาดำเนินเรื่อง 100 ปี ไม่มีใครช่วงชีวิตอยู่ได้ยาวนานขนาดนั้น)

เกร็ด: Stanley Kubrick เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ไม่ชอบหนังเรื่องนี้ ซะงั้น!

ชะตากรรมฟีล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ ช่างน่าเศร้าลดยิ่งนัก
– Rough-Cut ฉบับแรกสุดความยาว 130 นาที ได้สาบสูญหายไปแล้ว
– ฉบับที่ส่งกองเซนเซอร์ British Board of Film Censors ความยาว 117 นาที ก็ไม่รู้สูญหายไปไหนเช่นกัน
– ฉายรอบปฐมทัศน์ 108 นาที ก็ไร้ร่องรอย
– ฉบับที่หลงเหลือถึงปัจจุบันเป็น Public Domain ความยาวเพียง 92 นาที
– และ Criterion Collection ได้ค้นพบเพิ่มเติม ทำการ Remaster ได้ความยาว 96 นาที

ไม่เพียงแค่ความล้ำอนาคตในการออกแบบ งานศิลป์ สิ่งที่ผมยังชื่นชอบมากๆคือการเรียงร้อยตัดต่อ Montage เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง และเพลงประกอบเชื่อมความสัมพันธ์ได้อย่างลงตัว และล้ำอนาคต

แนะนำคอหนัง Sci-Fi ชื่นชอบแนว Futuristic อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต, คลั่งไคล้ในผลงานของ H. G. Wells, นักออกแบบ สถาปนิก หลงใหลในสถาปัตยกรรมล้ำๆ, แฟนๆผู้กำกับ William Cameron Menzies ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับการต่อสู้ ความรุนแรง สงคราม ฝูงม็อบ

TAGLINE | “ล้ำไปกับอนาคตของ Things to Come จากเรื่องราวของผู้เขียน H. G. Wells และไดเรคชั่นเหนือจินตนาการของผู้กำกับ William Cameron Menzies”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: