Those Magnificent Men in their Flying Machines

Those Magnificent Men in their Flying Machines (1965) British : Ken Annakin ♥♥♥♡

มนุษย์มีความต้องการบินได้เหมือนนกตั้งแต่สมัยยุคหิน แต่เพิ่งมาประสบความสำเร็จโดยสองพี่น้องไรต์ ปี ค.ศ. 1903 และทศวรรษถัดมา 1910s การแข่งขันขับเครื่องบินข้ามช่องแคบอังกฤษครั้งแรกของโลกได้เริ่มต้นขึ้น, ถึงหนังจะเป็นเรื่องแต่ง สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงสุขนาฏกรรม แต่ถ้าใครชื่นชอบและอยากเห็นเครื่องบินในยุคแรกๆ หนังสร้างเลียนแบบของจริงทั้งหมด

จากความสำเร็จของ Wings (1927) หนังเงียบรางวัล Oscar: Best Picture เรื่องแรกของโลก ได้จุดประกายภาพยนตร์แนว Aviator เกี่ยวกับการบิน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในทศวรรษ 30s และ 40s ก่อนเบาลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ไม่มีใครอยากเห็นหนังเกี่ยวกับเครื่องบินทิ้งระเบิด ถือเป็น Trauma ในยุคสงครามเย็น) จนกระทั่งการมาถึงของ Around the World in 80 Days (1956) อีกหนึ่งหนัง Oscar: Best Picture ที่ฉีกภาพกรอบการบินออกจากหนังสงคราม ทำให้หนังแนวนี้ค่อยๆกลับมาได้รับความสนใจในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น

ชื่อเต็มของหนังคือ Those Magnificent Men in their Flying Machines; Or, How I Flew from London to Paris in 25 Hours 11 Minutes หลายคนคงเดาว่าเลียนแบบมาจาก Dr. Strangelove or How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964) ท่อนหลังตั้งแต่ or How I นั้นอาจใช่อยู่ แต่ท่อนแรก Darryl F. Zanuck ผู้บริหารของสตูดิโอ Fox เลือกจากกลอน/คำร้อง ที่เขียนโดย Lorraine Williams ภรรยาของ Elmo Williams ที่ขณะนั้นเป็นผู้บริการสาขายุโรปของสตูดิโอ Fox

Those magnificent men in their flying machines,
They go up, Tiddley up, up,
They go down, Tiddley down, down.

สำหรับบทเพลง Those Magnificent Men in their Flying Machines แต่งคำร้องและทำนองโดย Ron Goodwin ที่เป็นผู้ทำเพลงประกอบให้กับหนังด้วย

หลายคนน่าจะคาดเดาได้หลังจากฟังบทเพลงนี้ ว่าหนังมีโทนสุขนาฎกรรม (Comedy) ที่จะทำให้คุณหัวเราะจนท้องแข็งกรามค้าง ขณะเดียวกันจะทำให้คุณเกิดความเคารพชื่นชมบรรดานักบุกเบิก (Pioneer) วิศวกรผู้สร้าง/ขับเครื่องบินทั้งหลาย มันโคตรเสี่ยงอันตรายเลยนะ ไม่ใช่แค่ใจรัก แต่ยังต้องบ้าบิ่นมากๆ

เกร็ด: ถ้าคุณชื่นชอบหนัง Comedy เกี่ยวกับการบิน แนะนำ Airplane! (1978) ชื่อไทย ‘บินเลอะมั่วแหลก’

Kenneth Cooper ‘Ken’ Annakin (1917 – 2009) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Beverley, East Riding of Yorkshire โตขึ้นสมัครเป็นทหารอากาศ สังกัด RAF Film Unit ได้ทำงานเป็นตากล้องถ่ายหนังชวนเชื่อ/สารคดี ปลดประจำการออกมาจึงมีโอกาสสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Holiday Camp (1947) ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี, ผลงานที่พอมีชื่อเสียง อาทิ Swiss Family Robinson (1960), The Longest Day (1962), The Informers (1963), Battle of the Bulge (1965) ฯ

Annakin มีความสนใจต้องการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการบินมาตั้งแต่ขณะอยู่ RAF หลังจากที่ Sir Alan Cobham พาเขาขึ้นขับ Biplane (เครื่องบินชนิดปีกสองชั้น) คงเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากการบินปกติมาก, หลังจากได้ร่วมงานกับ Zanuck เรื่อง The Longest Day (1962) เคยเปรยๆอยากสร้างภาพยนตร์ลักษณะนี้ ซึ่งหลังจากบทหนังพัฒนาเสร็จก็ได้มอบเงิน £100,000 เป็นทุนที่ค่อนข้างสูงทีเดียวสมัยนั้น

หนังสือพิมพ์ Pompous ของอังกฤษ โดย Lord Rawnsley (รับบทโดย Robert Morley) จัดแข่งขันขับเครื่องบิน จาก London ข้ามช่องแคบอังกฤษสู่กรุง Paris, France โดยผู้ชนะจะได้รับเงินสูงถึง £10,000 ปอนด์, ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 14 คน ประกอบด้วย
1. Richard Mays (รับบทโดย James Fox) สัญชาติอังกฤษ เครื่องบินชื่อ Antoinette IV
2. Sir Percy Ware-Armitage (รับบทโดย Terry-Thomas) สัญชาติอังกฤษ เครื่องบินชื่อ Avro Triplane IV
3. Orvil Newton (รับบทโดย Stuart Whitman) สัญชาติอเมริกา เครื่องบินชื่อ Bristol Boxkite ชื่อเล่น The Phoenix Flyer และ Curtiss
4. Lieutenant Parsons (รับบทโดย Jeremy Lloyd), เครื่องบินชื่อ Picaut Dubrieul ชื่อเล่น HMS Victory
5. Harry Popperwell (รับบทโดย Tony Hancock), เครื่องบินชื่อ Little Fiddler
6. Colonel Manfred von Holstein (รับบทโดย Gert Fröbe) กับ Captain Rumpelstoss (รับบทโดย Karl Michael Vogler) สัญชาติ Prussian เครื่องบินชื่อ Eardley Billing Tractor Biplane
7. Mr. Wallace
8. Charles Wade
9. Mr. Yamamoto (รับบทโดย Yujiro Ishihara) สัญชาติญี่ปุ่น เครื่องบินชื่อ Japanese Eardley Billing Tractor Biplane
10. Count Emilio Ponticelli (รับบทโดย Alberto Sordi) สัญชาติอิตาเลี่ยน เครื่องบินประกอบด้วย Philips Multiplane, Passat Ornithopter, Lee Richards Annular Biplane และ Vickers 22 Monoplane
11. Henri Monteux
12. Pierre Dubois (รับบทโดย Jean-Pierre Cassel) สัญชาติฝรั่งเศส เครื่องบินชื่อ Santos-Dumont Demoiselle
13. Mr. Mac Dougall เครื่องบินชื่อ Blackburn Monoplane ชื่อเล่น Wake up Scotland
14. Harry Walton

ใครเป็นผู้ชนะนั้นไม่สำคัญ (ไปลุ้นเอาเองในหนัง) แต่เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นตั้งแต่ได้รับจดหมายเชิญ เตรียมการ ซ้อมบิน งานเลี้ยงรับรอง และขณะแข่งขัน ต่างสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของประเทศนั้นๆในสายตาชาวโลกอย่างชัดเจน อาทิ
– ชาวอเมริกันมาแบบผู้ดี สูงส่ง หลงตัวเอง มั่นคงในขนบธรรมเนียมประเพณี
– ชาวอเมริกันมาแบบ Cowboy Yankee อิสระเสรี ชอบช่วยเหลือ/เสือกเรื่องของผู้อื่น
– ชาว Prussia/Germany ในเครื่องแบบเข้มงวดจริงจังตลอดเวลา ชอบตะเบะ และยึดมั่นในคู่มือ
– ชาวญี่ปุ่น อยู่ดีๆขอมีด ผมละยังนึกว่าจะทำ Hara-kiri คว้านท้องจริงๆ
– ชาวอิตาเลี่ยน ร่ำรวยเว่อยังกะมาเฟีย ลูกหลานเต็มไปหมด จับจ่ายใช้สอยซื้อเครื่องบินลำใหม่ราวกับโปรยทาน
– ชาวฝรั่งเศส รักชาติโคตรๆ แต่ก็ปากหวานเจ้าชู้โคตรๆเช่นกัน
ฯลฯ

สำหรับนางเอกรับบทโดย Patricia Rawnsley (รับบทโดย Sarah Miles) หญิงสาวที่ต่อหน้าพ่อ Lord Rawnsley พยายามทำตัวเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ แต่ตัวจริงกลับแก่นแก้วซุกซน หัวขบถ ชื่นชอบเครื่องยนต์กลไกทุกชนิด มีความฝันต้องการโบยบินอย่างอิสระเสรี เมื่อแฟนหนุ่มไม่ยอมพาเธอให้ขึ้นบิน เลยอ่อยเหยื่อให้หนุ่มอเมริกันพาขึ้นไป กลายเป็นรักสามเส้า สุดท้ายแล้วเธอก็เลือก …

หนึ่งในแก๊กของหนัง Irina Demick รับบทหญิงสาวที่ถูกเหล่โดยนักรักชาวฝรั่งเศส เธอรับบท Brigitte (French), Marlene (German), Ingrid (Swedish), Françoise (Belgian), Yvette (Bulgarian), และสุดท้าย Betty (British) นัยยะคือ ‘ความรักเป็นสากล’

ถ่ายภาพโดย Christopher Challis หลังจากทำงานเป็น Camera Operator ในหนังหลายเรื่องของ The Archers เลื่อนขั้นมาเป็นตากล้องในยุคหลังๆ ผลงานเด่นๆอาทิ A Shot in the Dark (1964), Arabesque (1966), Chitty Chitty Bang Bang (1968), Top Secret! (1984) ฯ

Martin Scorsese เคยพูดยกย่องถึง Challis ว่า

“It is not possible even to begin to take the full measure of the greatness of British filmmaking without thinking of Chris Challis, Challis brought a vibrancy to the celluloid palette that was entirely his own, and which helped make Britain a leader in that long, glorious period of classic world cinema.”

หนังถ่ายทำโดยใช้กล้อง Todd-AO ขนาด 65mm แลปสี DeLuxe ด้วยความยาวขนาดนี้ทำให้เห็นภาพเครื่องบินขณะทะยานตัวเต็มสองตา, หนังต้องใช้ความสร้างสรรค์ในการถ่ายทำอย่างมาก เพราะต้องออกแบบกล้องติดรถ เฮลิคอปเตอร์ บนเครื่องบิน รวมถึงเครนยกขึ้นลง เพื่อให้มีความสมจริงขณะทะยานตัวขึ้นบิน ออกแบบสร้างขึ้นโดย Dick Parker ใช้ในหนังเรื่องแรกคือ Strategic Air Command (1955)

เนื่องจากนักแสดงใช่ว่าจะขับเครื่องบินเป็น จึงต้องมีการสร้างฉากขนาดใหญ่ขึ้นที่ Pinewood Studio เพื่อรองรับการถ่ายทำ Bluescreen ซึ่งจะมีการสร้างเครนขนาดใหญ่ขึ้นมาด้วยเพื่อให้สามารถขยับโยก cockpit ไปมาได้อย่างสมจริง

เครื่องบินในทศวรรษ 1910s ประกอบด้วย Monoplanes, Biplanes, Triplane, และ Horaio Phillips 20 ปีก (multiplane) เนื่องจากผู้กำกับมีความต้องการให้ มองจากภายนอกมีความเหมือนกับต้นแบบมาก แต่ยอมให้เครื่องยนต์ภายในเป็นสมัยใหม่ (เพื่อความปลอดภัยของสตั๊นแมน) สร้างขึ้นทั้งหมด 20 แบบ ราคาลำละ £5,000 ปอนด์

ตัดต่อโดย Anne V. Coates นักตัดต่อสัญชาติอเมริกา ที่คว้า Oscar: Best Edited จาก Lawrence of Arabia (1962) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Becket (1963), Murder on the Orient Express (1974), The Elephant Man (1980), In the Line of Fire (1993), Out of Sight (1998) ฯ

หนังไม่ได้ใช้มุมมองการดำเนินเรื่องของใครเป็นพิเศษ พยายามไกล่เกลี่ยไปให้ถ้วนทั่วครบทุกสัญชาติ แต่แค่เรื่องราวหลักเป็นรักสามเส้าของ Patricia Rawnsley กับ Richard Mays (อังกฤษ) และ Orvil Newton (อเมริกัน)

ช่วง Prologue มีการนำเอา Stock Footage ที่บันทึกการทดลองขับเครื่องบินในยุคแรกๆ แทรกใส่การแสดงของตลกสัญชาติอเมริกัน Red Skelton ตามด้วยภาพวาดการ์ตูนอนิเมชั่นของ Ronald Searle, ส่วน Epilogue จะเห็นว่า Skelton หวนกลับมาอีกครั้ง ในแก๊กที่จงใจล้อกับชื่อเต็มๆของหนัง ในอดีตใช้เวลา 25 ชั่วโมงบินข้ามเกาะอังกฤษสู่ฝรั่งเศส ปัจจุบันถึงจะใช้เวลาบนเครื่องเจ็ตเพียง 7 นาที แต่ถ้าสถาพอากาศไม่ดีก็อาจนานเป็นวันๆ (นานกว่าเมื่อครั้นอดีตอีก)

เกร็ด: นี่เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Red Skelton ช็อตสุดท้ายตีปีกโบยบินแล้วถูก Morphing กลายเป็นภาพอนิเมชั่น, หลังจากนี้เขาจะรับเล่นแต่ภาพยนตร์โทรทัศน์/จัดรายการโชว์ของตนเอง

เพลงประกอบโดย Ron Goodwin นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ ผลงานดังอย่าง Where Eagles Dare (1968), Battle of Britain (1969), Frenzy (1972) ฯ ต้องชื่นชมเลยว่ามีความโดดเด่นอย่างมาก ทำนองสนุกสนาน ครึกครื้น ชวนให้ขบขัน หัวเราะท้องแข็ง เสริมสร้างบรรยากาศให้กับหนังมีความผ่อนคลายในทุกระดับ

มีการใส่เพลงชาติ La Marseillaise (ของฝรั่งเศส), Rule Britannia (เพลงชาติที่สองของอังฤษ), Deutschlandlied (ของ Prussia) [ไม่แน่ใจมีชาติอื่นอีกไหม] เพื่อสร้างความฮึกเหิมให้กับตัวแทนนักบินที่เข้าร่วมการแข่งขัน, แต่ตอนที่ชาว Prussia กำลังเชิญธงชาติขึ้นเสา ถูกขัดจังหวะด้วยบทเพลง Free Jacques โดยกลุ่มชาวฝรั่งเศส ผมมองว่าเป็นการล้อเลียนที่รุนแรงมาก ต่อให้เป็นชาติ Nazi ก็ตามเถอะ ไปหยามเกียจประเทศชาติเขาแบบนี้ไม่เหมาะสมแม้แต่น้อย

นอกจากนี้บทเพลง Classic อื่นที่ได้ยิน อาทิ Wagner: Ride of the Valyries, Offencack: Can Can ฯ

ความตั้งใจของ Lord Rawnsley ต้องการให้การแข่งขันครั้งนี้ นักบินจากประเทศอังกฤษของตนเองเป็นผู้ได้รับชนะ เพื่อประกาศศักดามหาอำนาจทางการบินที่ยังไม่มีใครได้ครอบครองในตอนนั้น จริงอยู่ในหนังนักขับจากอังกฤษได้รับชัยชนะ แต่ฮีโร่แท้จริงของการแข่งขันกลับเป็นอเมริกาที่ได้ช่วยเหลือชาติอื่น (ชาวอิตาลี) และเครื่องบินอีกลำที่มาถึง ‘ช้าๆแต่ได้พร้าเล่มงาม’ ของฝรั่งเศส จะถือว่าทั้ง 4 ประเทศดังกล่าว ต่อมาได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจของวงการบินอย่างแท้จริง (น่าเสียดายรัสเซียไม่ได้ส่งมา) ขณะที่
– ญี่ปุ่น ท่าดีทีเลว
– Prussia เครื่องพลิกกลับตารปัตร (จากเหมือนจะดีกลายเป็นชั่วสุดขีด) ก่อนพุ่งจมลงท้องทะเล
– ขณะที่เครื่องของอังกฤษอีกลำ (สงสัยจะเปรียบเทียบระหว่างอนุรักษ์นิยมกับสังคมนิยม) เสียค่าโง่กับควันรถไฟหัวจักร (ตัวแทนของความรุ่งเรืองในอดีต ยุคอุตสาหกรรมของอังกฤษ) ล้อติดแหงกอยู่ตรงตู้โบกี้ ถูกอุโมงค์รถไฟหักปีกแห่งความทะเยอทะยานทั้งสองข้าง

ในมุมกลับกัน บรรดานักบุกเบิกการบินทั้งหลาย เงินทองอาจเป็นปัจจัยสำคัญ แต่พวกเขามีทัศนะ ความต้องการแข่งขันครั้งนี้แตกต่างจากนักธุรกิจ Lord Rawnsley เป็นอย่างมาก
– อเมริกา เหมือนจะมาเพื่อเติมเต็มความฝัน (American Dream)
– อังกฤษ เพื่ออวดอ้าง/แอบอ้าง ว่าตัวเองยิ่งใหญ่
– Prussia เพื่อประกาศแสนยานุภาพของตนเอง
– อิตาเลี่ยน อวดร่ำอวดรวย โชว์ของเล่นใหม่ๆที่ซื้อมา
– ฝรั่งเศส เหมือนว่าจะสนให้จีบสาวติดอย่างเดียว

เครื่องบินเปรียบได้กับนก (นี่เป็นคำเปรียบเทียบสากลเลยนะครับ) การได้เป็นนักขับเครื่องบิน ให้สัมผัสเหมือนนกที่มีอิสระในชีวิต สามารถกระพือตีปีก ไปไหนมาไหนก็ได้ตามต้องการ แต่ชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีเสรีง่ายเช่นนั้น ก็ดูอย่าง Lord Rawnsley ผู้มีความขลาดกลัวไม่กล้าจะขึ้นเครื่องบิน แถมยังขังลูกสาวในกรง ไม่ต้องการให้เธอได้รับอิสระ แต่สุดท้ายก็แน่นอนว่าจะสามารถดิ้นรน แทรกตัวหนีออกไป พบเจอประสบการณ์การบินที่คงยอดเยี่ยมสุดในชีวิต, การได้ขึ้นบินครั้งแรกของ Patricia Rawnsley ถือว่าสะท้อน นำจากประสบการณ์ตรงของผู้กำกับ Ken Annakin ที่มีความต้องการสร้างหนังเรื่องนี้ หลังจากขึ้นบิน Biplane ครั้งแรกในชีวิต

ว่าไปมันไม่ใช่เรื่องตลกสักนิดสำหรับนักบุกเบิก ที่ทำการทดลองผิดพลาด เฉียดตายนับครั้งไม่ถ้วน แต่เมื่อไหร่ที่พบเจอความสำเร็จ หรือคนรุ่นใหม่มองย้อนกลับไป จะให้แสดงความเศร้าโศกทุกข์ใจก็คงไม่ถูก เราอาจหัวเราะขบขันกับสิ่งที่พบเห็น ขณะเดียวกันก็ขอให้ตระหนักรับรู้ เป็นไปได้ก็ชื่นชมเคารพคารวะ ในความตั้งใจทะเยอทะยานเสียสละ และขอบคุณที่ถ้าไม่ได้พวกคุณ โลกของการบินในยุคสมัยปัจจุบัน คงไม่เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นที่เข้าถึงของประชาชนทั่วไป ช่างมีความ ‘Magnificent’ เสียจริงๆ

ด้วยทุนสร้าง ตีเป็นค่าเงินดอลลาร์ $6.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ทั่วโลก $31.1 ล้านเหรียญ กำไรมหาศาลทีเดียว แถมยังได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Writing, Story and Screenplay – Written Directly for the Screen

ขณะที่ Golden Globe Award ได้เข้าชิง 3 สาขา ไม่ได้สักรางวัล ประกอบด้วย
– Best Motion Picture – Comedy or Musical
– Best Actor – Comedy or Musical (Alberto Sordi)
– Most Promising Newcomer – Male (James Fox)

ว่าไปหนังออกฉายช่วงสงครามเย็น ระหว่างที่สหรัฐอเมริกา กับสหภาพโซเวียต กำลังเริ่มต้นแข่งขันสำรวจอวกาศ หนังเรื่องนี้ถือว่าเข้ายุคกับตอนนั้นมากๆ เลยทำให้ประสบความสำเร็จล้นหลามอย่างคาดไม่ถึง

ความสนุกสนานของหนังเรื่อง ตั้งแต่เสียงเปิดโลโก้ Fox อันสุดแปร่ง ทำให้ผมอมยิ้ม และไม่สามารถลุกไปไหนเลยจนถึง Intermission (แต่ก็ไม่รู้จะแทรกใส่มาทำไมนะ หาได้จำเป็นแม้แต่น้อย) หัวเราะแบบเพลิดเพลินแทบจะตลอดเวลา มุกที่ผมขำแรงสุดคือตอน ‘Wake up Scotland’ บินยังไงหลงไปสก๊อตแลนด์ และตอนจบประโยค ‘but it can take longer.’

กาลเวลาไม่ทำให้คุณภาพของหนังเรื่องนี้ด้อยลดลงแม้แต่น้อย แก๊กต่างๆยังคงหัวเราะ ขำได้ ฮากระจาย เรียกว่าเหนือกาลเวลาไปแล้ว แม้คุณค่าในงานศิลปะอาจจะน้อยสักนิด แต่ความบันเทิงถือว่าจัดเต็ม

แนะนำกับคอหนัง Comedy ที่ต้องการผ่อนคลาย หัวเราะท้องแข็ง, ชื่นชอบการบิน อยากเห็นหน้าตาของเครื่องรุ่นบุกเบิก, ทิวทัศน์สวยๆบนท้องฟ้าของอังกฤษและฝรั่งเศส, บทเพลงเพราะๆกวนๆของ Ron Goodwin, แฟนๆนักแสดง Sarah Miles, Alberto Sordi, Jean-Pierre Cassel ไม่ควรพลาด

จัดเรตทั่วไป เด็กๆหัวเราะได้ไม่มีพิษภัยเท่าไหร่

TAGLINE | “หัวเราะท้องแข็งไปกับ Those Magnificent Men in their Flying Machines ที่จะทำให้คุณชื่นชอบหลงรัก’การบิน’มากขึ้น”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: