Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017) : Martin McDonagh ♥♥♥
สามป้ายประกาศเจ้าปัญหา สะท้อนถึงสามปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของชีวิตมนุษย์ อันก่อให้เกิดความเกรี้ยวกราดโกรธา จำต้องแสดงความรุนแรงแค้นคลั่งออกมา, Frances McDormand รับบทแม่ผู้มีลูกสาวถูกกระทำชำเรา, Sam Rockwell คือชายผู้ชื่นชอบการเหยียดหยาม (Racist) กระทำร้ายผู้อื่น และ Woody Harrelson ถึงไม่เคยไปกระทำชั่วร้ายกับใคร แต่โรคภัยร้ายแรงกลับกำลังถามหา
ทฤษฎีสามเป็นอะไรที่น่าสนใจเสมอ
1. บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำ
2. บุคคลนั้นถูกกระทำ
3. บุคคลนั้นมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำ แต่กลับได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นทางอ้อม
Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เป็นภาพยนตร์ที่เล่นกับทฤษฎีสามได้อย่างมีนัยยะสำคัญ แทบทุกสิ่งอย่างมักเกิดขึ้นพบเจอได้สามครั้งอยู่เสมอ (อย่างเต่าที่เป็นสัตว์เลี้ยงของตัวละคร Woody Harrelson ยังปรากฎตัวสามครั้งเลย!) มันทำให้ผมครุ่นคิดทำความเข้าใจหนังไปในทิศทางนั้น ว่าเป็นเรื่องราวของสามตัวละครที่มีจุดร่วมคือ พบเจอปัญหาบางอย่างรุนแรงจนแทบมิอาจแก้ไขอะไรได้ ก่อให้เกิดความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นคลั่ง จำต้องเลือกทางออกด้วยการใช้ความรุนแรงตอบโต้
บอกตามตรงเลยว่า ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก พยายามอย่างยิ่งจะไม่เปรียบเทียบไดเรคชั่นของ Martin McDonagh กับสองพี่น้อง Coens แต่ก็อดไม่ได้ เพราะหลายอย่างมีความละม้ายคล้ายคลึง ตัวละครบ้าๆบอๆ, ชอบใส่ความรุนแรงในจังหวะคาดไม่ถึง, หรือแทรก Comedy ขัดคั่นไม่ดูตาม้าตาเรือ ฯ และที่สำคัญคือ Frances McDormand ภรรยาของ Joel Coen ผู้เป็นตัวตายตัวแทนใน ‘หนังสไตล์ Fargo’ แต่เทียบแล้วยังห่างชั้นแม้กับผลงานระดับรองๆ ของสองพี่น้อง Coens แบบเทียบไม่ติดเลย
แต่สิ่งที่ผู้สื่อข่าวและนักวิจารณ์อเมริกันหลายสำนักต่างชื่นชอบหลงใหล ยกย่องกันถึงขนาดคว้า Golden Globe Award: Best Motion Picture – Drama ตัดหน้า The Shape in Water (2017) คงคือเรื่องราวตัวละครของ Sam Rockwell จากที่เคยเป็นคนเหยียดหยาม (Racist) ต่อต้านขัดแย้ง ใช้กำลังกับทุกสิ่ง กลับเสมือนระลึกได้และกระทำการไถ่โทษตัวเอง ‘Redemption’ นี่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน ครั้งหนึ่งขึ้นชื่อลือชาเรื่องการเหยียดสีผิว/ชนชาติอื่นต้อยต่ำกว่าตน แต่ปัจจุบันได้บรรเทาเบาบางลงมากแล้ว … แต่เราก็สามารถมองตรงกันข้าม เหมือนการสาปส่งแช่ง ‘Damnation’ แทนที่พอรับรู้แล้วว่าผู้ต้องสงสัยรายนั้นไม่ใช่คนกระทำความผิด กลับเลือกที่จะเดินทางไปแก้แค้นทวงคืน ในสิ่งที่อาจเป็นแค่เพียงลมปากเท่านั้นเนี่ยนะ!
แล้วหนังแม้งก็ค้างตอนจบเอาไว้แบบโคตรค้างคา คือถ้าคิดตามในทฤษฎีสาม เมื่อบุคคลจำพวก 1) และ 2) สามารถบรรลุถึงแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน มันก็สามารถจบสิ้นเรื่องราวลงได้ แต่ในแง่ความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ชมทั่วไป มันคือปลายเปิดที่คลุมเคลือมิได้รับการเติมเต็ม ชวนให้หงุดหงิดคับข้อง เกรี้ยวกราดโกรธากับหนังมากกว่าจะสามารถสะท้อนเรื่องราวเข้ากับชีวิตจริงได้
Martin Faranan McDonagh (เกิดปี 1970) นักเขียน ผู้กำกับสัญชาติ Irish เกิดที่ Camberwell, London ตั้งแต่เด็กนั่งดูโทรทัศน์ เกิดความหลงใหลในภาพยนตร์มีไอดอลคือ Al Pacino เริ่มทำงานจากเป็นนักเขียนบทละครจนประสบความสำเร็จ หันไปสร้างหนังสั้นเรื่อง Six Shooter (2004) คว้า Oscar: Best Short Film, Live-Action กรุยทางสู่กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก In Bruges (2008) ตามด้วย Seven Psychopaths (2012)
แรงบันดาลใจสำหรับผลงานลำดับที่สาม Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เกิดจากครั้งหนึ่งประมาณปี 2000 ผู้กำกับ McDonagh ที่เพิ่งเคยเดินทางไปอเมริกาครั้งแรกๆ ขึ้นรถโดยสารท่องเที่ยวทั่วประเทศ ก็ไม่รู้บริเวณไหนพบเจอสามป้ายประกาศเขียนข้อความ
ก็มีนักข่าวไปสืบค้นจนพบ ว่าผู้ติดป้ายประกาศนี้คือ James Fulton ซึ่งลูกสาว Kathy Page ถูกข่มขืนแล้วฆ่าบีบคอเสียชีวิตตั้งแต่ปี 1991 ที่ Vidor, Texas แต่ผ่านมาเป็นสิบๆปีก็ไม่สามารถสืบค้นหาตัวผู้ร้ายได้ ทั้งๆที่ก็รู้ๆกันอยู่ว่าใครน่าจะเป็นตัวการ แต่เหมือนว่าตำรวจจะรับสินบนทำให้คดีนี้ถูกลอยแพ
ผู้กำกับ McDonagh กล่าวถึงแรงบันดาลใจนี้ว่า
“The rage that put a bunch of billboards like that up was palpable and stayed with me”.
พัฒนาบทภาพยนตร์ขึ้นโดยมี Frances McDormand และ Sam Rockwell ไว้ในใจ สองตัวละครที่ตรงกันข้ามสุดขั้ว แต่มีความเจ็บแค้นเกรี้ยวกราดฝังรากลึกอยู่ภายในจิตใจ
ณ เมืองสมมติ Ebbing, Missouri, แม่ Mildred Hayes (รับบทโดย Frances McDormand) ยังคงมีความเศร้าโศกจากการสูญเสียลูกสาวสุดที่รักจากการถูกข่มขืนและฆ่าทิ้งเมื่อ 7 เดือนก่อนหน้านี้ วันหนึ่งขับรถผ่านป้ายประกาศบริเวณใกล้บ้าน เกิดความคิดบางอย่าง ติดต่อเจ้าของ Billboards ให้ขึ้นข้อความ
“Raped While Dying
And Still No Arrests?
How Come, Chief Willoughby?”
สามป้ายประกาศนี้สร้างความหงุดหงิดฉุนเฉียวให้กับชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง หลายคนเห็นใจ Chief Bill Willoughby (รับบทโดย Woody Harrelson) ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย กลับต้องแบกรับภาระความเครียดอันหนักอึ้งนี้ ขณะที่อีกนายตำรวจ Jason Dixon (รับบทโดย Sam Rockwell) พยายามใช้ความรุนแรงนานับประการ บีบบังคับกดดันให้ Mildred นำป้ายประกาศนี้ออก แต่จะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ หรือคดีนี้ได้รับการไขปริศนาออกเสียก่อน
Frances Louise McDormand ชื่อเดิม Cynthia Ann Smith (เกิดปี 1957) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เจ้าของ Triple Crown of Action (Oscar, Tony, Emmy) เกิดที่ Gibson City, Illinois, เติบโตขึ้นในครอบครัวบุญธรรมของบาทหลวง Vernon W. McDormand วัยเด็กออกติดตามพ่อไปหลายเมือง (บาทหลวงจะย้ายเมืองทุกๆ 2-3 ปี) ก่อนปักหลักเรียนจบจากวิจิตรศิลป์สาขาการแสดงละครจาก Bethany College แะปริญญาโทสาขาเดียวกันจาก Yale School of Drama เพื่อนร่วมห้อง Holly Hunter, เข้าสู่วงการจากแสดงหนังเรื่อง Blood Simple (1984) ตกหลุมรักแต่งงานกับผู้กำกับ Joel Coen ร่วมงานเป็นขาประจำกันเรื่อยมา ผลงานเด่น อาทิ Raising Arizona (1987), Fargo (1996), Mississippi Burning (1988), Almost Famous (2000), North Country (2005), Burn After Reading (2008) ฯ
รับบท Mildred Hayes แม่ผู้เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น ตลอดเวลาหน้านิ่วคิ้วขมวดไม่เคยเห็นยิ้ม ใครรุนแรงมาก็เลวตอบ ตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่สนผิดถูกกฎหมายเพราะไม่เชื่อถือในระบอบยุติธรรมตำรวจอีกต่อไป แต่ด้านอ่อนไหวก็พอมีนะ คือถ้ามาดีแบบยัดเยียดก็จะยินยอมรับไว้ ตอบแทนเพราะถือว่าเป็นบุญคุณ ไม่ใช่ด้วยความพิศวาสใดๆ
แม้ McDormand จะมีความสนใจในบทบาทนี้ แต่รู้สึกว่าตัวเองแก่เกินตัวละครไปแล้ว (ขณะนั้น McDormand อายุ 58 ปี) ซึ่งถ้าดูจากบริบทหนัง มันเหมือนว่าตัวละครนี้มีลูกคนแรกตอนอายุ 38 ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้เท่าไหร่ แต่หลังจากพูดคุยสนทนาโต้เถียงไปสักพัก สามีของเธอ Joel Coen พูดว่า
“Just shut up and do it”.
การแสดงของ McDormand ราวกับสัตว์ป่าที่ใช้สันชาติญาณในการดิ้นรนดำรงชีพ มีความดิบเถื่อนไร้อารยะธรรม เพื่อที่จะสนองความอยุติธรรม ระบายความเกรี้ยวกราดของตนเอง กระทำในสิ่งที่แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่กฎสังคม/มโนธรรมไม่ยินยอมรับสักเท่าไหร่, McDormand เคยให้สัมภาษณ์รับอิทธิพลตัวละครจากผลงานยุคหลังๆของ John Wayne ในลักษณะ Anti-Hero อาทิ The Searcher (1956), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ
ว่ากันตามตรง ผมชื่นชอบบทต๊องๆแต่โคตรอัจฉริยะของ McDormand กับเรื่อง Fargo (1996) ที่คว้า Oscar: Best Actress ตัวแรก กว่ามากๆ คงเพราะนั่นกลายเป็นตัวละครที่ตราติดตรึงใจผู้ชมไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่บทสัตว์ป่าในหนังเรื่องนี้มันไม่ได้มีความสดใหม่เสียทีเดียว และส่วนตัวรู้สึกว่ามันยังเกรี้ยวกราดได้ไม่สุดด้วย น่าจะบ้าคลั่งได้มากกว่านี้อีก
เกร็ด: ผ้าพันคอ/ศีรษะ (bandanna) ของตัวละคร เป็นการคารวะหนังเรื่อง The Deer Hunter (1978) ที่ผู้กำกับชื่นชอบมาก ผลงานก่อนหน้านี้ Seven Psychopaths ยังเคยได้ร่วมงานกับหนึ่งในนักแสดงคนโปรด Christopher Walken อีกด้วย
Woodrow Tracy Harrelson (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Midland, Texas โตขึ้นเข้าเรียนที่ Hanover College จบ Bachelor of Arts สาขาละครเวทีและภาษาอังกฤษ เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงซิทคอม ภาพยนตร์เรื่องแรก Wildcats (1986), เริ่มมีชื่อเสียงจาก White Men Can’t Jump (1992), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Indecent Proposal (1993), Natural Born Killers (1994), The People vs. Larry Flynt (1996), The Hunger Games Series, Now You See Me Series, War for the Planet of the Apes (2017) ฯ
รับบทหัวหน้าตำรวจ William ‘Bill’ Willoughby ไม่ใช่ว่าเขาต้องการจมคดีลูกสาวของ Mildred Hayes แต่เพราะบางครั้งหลักฐาน พยาน มันไม่มีอะไรสามารถบ่งชี้ย้อนกลับไปหาตัวผู้กระทำความผิดได้ ซึ่งตอนที่ป้ายประกาศขึ้นข้อความถามถึงเขา เจ้าตัวรู้สึกว่าเป็นแนวคิดที่มันเจ๋งเป้งไปเลย ทำให้เกิดความกระตือรือล้นเล็กๆอยากที่จะทำอะไรบางอย่าง
โชคชะตาเป็นสิ่งที่มักชอบเล่นตลกเสมอ กับคนดีแท้ๆอย่าง Willoughby ดูแล้วไม่น่าจะเคยคอรัปชั่นด้วยซ้ำ แต่กลับป่วยหนักร่อแร่ใกล้ตาย นี่สะท้อนถึงอะไรๆก็สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน, ซึ่งภาพลักษณ์ของ Harrelson ก็ไม่เชิงว่าดูเป็นคนดีสักเท่าไหร่นะ แต่คำพูดน้ำเสียงอันนุ่มนวลอ่อนโยน ถ้าหลับตาฟังก็น่าจะรู้สึกไปทางนั้นได้อยู่ (ถึงตายไปแล้วก็ยังได้ยินเสียงอ่านจดหมายล่องลอยตามมาอยู่เรื่อยๆ)
ถือเป็นเซอร์ไพรส์เล็กๆที่ Harrelson ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor (เป็นครั้งที่ 3 ของเจ้าตัว ยังไม่เคยได้) นี่นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง Bugsy (1991) ที่สาขานี้สองผู้เข้าชิงมาจากเรื่องเดียวกัน แต่เพราะการต้องมาแข่งกันเองกับตัวเต็งหนึ่ง Sam Rockwell คงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รางวัลอยู่แล้วละ
Sam Rockwell (เกิดปี 1968) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Daly City, California, ในครอบครัวนักแสดง แม่จับขึ้นเวทีตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โตขึ้นเข้าเรียน San Francisco School of the Arts รุ่นเดียวกับ Margaret Cho และ Aisha Tyler แต่เอาเวลาไปเที่ยวเล่นปาร์ตี้จนเกือบเรียนไม่จบ สู่วงการภาพยนตร์เรื่อง Clownhouse (1989), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Box of Moonlight (1996), Lawn Dogs (1997), สมทบ The Green Mile (1999), ตัวร้าย Charlie’s Angels (2000), Matchstick Men (2003), The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford (2007), Frost/Nixon (2008), Moon (2009), Iron Man 2 (2010) ฯ
รับบทนายตำรวจ Jason Dixon เป็นคนขี้เกียจคร้านเกือบเรียนตำรวจไม่จบ ทำงานยังสันหลังยาวเสียบหูฟังเพลงคลาสสิก ชอบใช้ความรุนแรงกับคนผิวสี (แต่ก็ไม่จำกัดแค่นั้นนะ) วางอำนาจบาดใหญ่ไปทั่ว อาศัยอยู่กับแม่จอมจุ้นจ้าน (ปม Oedipus) ที่ชอบชี้ชักนำพาไปในทางผิดๆ แต่เมื่อสูญเสียหัวหน้า Willoughby ก็ราวกับสูญเสียพ่อบุญธรรม ถูกเจ้านายใหม่เฉดหัวส่งแบบไม่สนใจ ชีวิตตกต่ำจนถึงขีดสุด
Rockwell อ้างอิงตัวละครนี้จากตัวละคร Liberty Valance ของ Lee Marvin เรื่อง The Man Who Shot Liberty Valance (1962) [คู่ปรับของ John Wayne] ยัดนวมเข้าไปในเสื้อผ้า ให้ดูอ้วนบวมขึ้น เวลาเดินต้วมเตี้ยมเชื่องช้า สะท้องถึงความคอรัปชั่นคดโกงกิน สีหน้าคำพูดจาเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด เวลาเมามายแทบเสียสติ ขณะมีสติก็บ้าคลั่ง เอาแน่เอานอนพึ่งพาอะไรไม่ได้สักอย่าง
สิ่งที่น่าจะทำให้ Rockwell คว้า Oscar: Best Supporting Actor คือช่วงเวลาที่ตัวละครราวกับเปลี่ยนไปเป็นคนละคน หลังจากถูกเผาไหม้ครึ่งตัวเหลือแต่ดวงตาและปาก พูดบอกขอโทษกับคนที่เขาเคยโยนทิ้งลงจากหน้าต่างชั้นสอง ร่างกายสั่นเทิ้ม เห็นหยาดน้ำตาเล็กๆไหลหลั่งรินออกมา ถือว่าเป็นสิ่งคาดไม่ถึงทีเดียวว่าจะออกมาจากตัวละครสุดตีนนี้
ถ่ายภาพโดย Ben Davis ตากล้องขาประจำของ Matthew Vaughn ผลงานเด่นๆ อาทิ Kick-Ass (2010), Hannibal Rising (2007) และยังถ่ายหนัง Marvel อย่าง Guardians of the Galaxy (2014), Avengers: Age of Ultron (2015), Doctor Strange (2016) ฯ
หนังถ่ายทำที่ Sylva เมืองภูเขาเล็กๆทางตะวันตกของรัฐ North Carolina (ไม่มีฉากไหนถ่ายทำยังรัฐ Missouri เลยนะ) ใช้เวลา 33 วัน ตลอดช่วงเวลาจะมีชาวบ้าน ผู้คนละแวกนั้นเข้ามาสังเกตการณ์อย่างตื่นตาตื่นใจ (คงไม่เคยมีกองถ่ายภาพยนตร์เดินทางมาก่อน) บรรดานักแสดงเวลาว่างๆก็มักเข้าไปถ่ายรูปแจกลายเซ็นต์ ขนาดว่า Harrelson เคยแบกกีตาร์ตัวโปรดไปเล่นเปิดหมวกริมถนน เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมากทีเดียว
กระต่ายกับกวาง ต่างเป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา (นี่จากภาพยนตร์สองเรื่อง The Rules of Game และ The Deer Hunter) เห็นว่าใช้กวางจริงๆชื่อ Becca พันธุ์หางขาว, แต่มันก็แปลกอย่างหนึ่งคือ Mildred Hayes ยิงกระต่ายตาย แต่กลับรักเอ็นดูกวาง นัยยะคงประมาณว่า หนึ่งคือการฆ่าความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาในตนเอง สองเพราะมองเห็นดวงตาอันบริสุทธิ์เหมือนลูกสาวตัวเอง
เกร็ด: ภาพยนตร์ที่ Dixon เอ่ยถึงนำแสดงโดย Donald Sutherland คือเรื่อง Don’t Look Now (1973) มีหลายอย่างทีเดียวที่หนังอ้างอิงถึง อาทิ เรื่องราวเกี่ยวกับพ่อ-แม่ ยังทำใจไม่ได้ที่ลูกสาวเสียชีวิต, สีแดงมีนัยยะสำคัญ อาทิ เป็นชื่อของเอเยนต์เจ้าของป้ายประกาศ, มีคนแคระ, บาทหลวงพึงพาไม่ได้, ตำรวจเลวๆ, ตัวละครตกจากชั้นสอง, มีดปักแขน, เด็กๆเล่นอยู่ริมน้ำ ฯ
ตัดต่อโดย Jon Gregory ที่เคยร่วมงานกับ McDonagh เรื่อง In Bruges (2008) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Mr. Turner (2014) ฯ
หนังไม่ได้ใช้การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่พยายามเกลี่ยเวลาให้เท่าๆกันระหว่างสามตัวละครหลัก เริ่มจาก Mildred Hayes (มีย้อนอดีต Flashback ถึงลูกสาวตนเองด้วยนิดนึง) ตามด้วย William Willoughby และตบท้ายที่ Jason Dixon ซึ่งแม้เมื่อ Willoughby เสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังตามมาหลอกหลอนด้วยเสียงอ่านจดหมาย
ตั้งแต่ Willoughby เสียชีวิตไป เหลือเพียงสองตัวละคร Hayes กับ Dixon หลายครั้งใช้การตัดสลับระหว่างกันและกัน
– ขณะที่ Hayes กำลังขว้างระเบิดขวด (Molotov Cocktail) ใส่สถานีตำรวจ ตัดสลับกับ Dixon ที่อยู่ภายในกำลังอ่านจดหมายของ William Willoughby เสียบหูฟังเพลงคลาสสิกไปด้วยแบบไม่รู้ไม่สนใจ รอดตายได้แบบหวุดหวิดโชคช่วยจริงๆ
– ตอนที่ Hayes กำลังทานข้าวเย็นกับคนแคระ James (รับบทโดย Peter Dinklage) สลับกับขณะ Dixon อยู่ในบาร์ แอบได้ยินชายสองคนพูดคุยกันเรื่องการข่มขืน, นัยยะของฉากนี้ราวกับว่า เป็นช่วงขณะที่พวกเขาทั้งสองกำลังทำสิ่งคล้ายๆกัน นอกเหนือบุคลิกนิสัยของตนเอง (Hayes ไม่มีวันไปทานข้าวกับ James แน่ถ้าไม่ติดหนี้บุญคุณ, Dixon ไม่มีวันเสียสละทำอะไรแบบนี้เหมือนตำรวจแน่)
ราวกับว่าตั้งแต่ Willoughby จากไป ก็สามารถทำให้ทั้ง Hayes และ Dixon จูนเข้าหากันจนติด เปรียบเทียบเว่อๆก็ตอนปธน. Abraham Lincoln หลังจากชนะสงครามกลางเมืองเหนือ-ใต้ ก็ใช่ว่าทั้งสองฝั่งจะสานสัมพันธ์กันติด แต่พอ Lincoln ถูกลอบสังหารเสียชีวิต ไม่ว่าฝั่งไหนต่างยกย่องสรรเสริญวีรบุรุษ หันหน้าเข้าหากันได้เฉยเลย
สำหรับเพลงประกอบ มีทั้งคลาสสิก, Country และแต่งขึ้นใหม่โดย Carter Burwell ขาประจำของพี่น้อง Coens ผลงานเด่นอาทิ Fargo (1996), The Man Who Wasn’t There (2001), Where the Wild Things Are (2009), Twilight Sega, True Grit (2010), Carol (2015) ฯ
นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่กลิ่นอาย ‘สไตล์ Fargo’ ติดมาเต็มๆ นุ่มๆแต่ลุ่มลึกทรงพลัง, Mildred Goes To War เริ่มต้นจินตนาการเห็นพระอาทิตย์กำลังอัสดงตกดิน ความมืดแผ่ปกคลุมไปทั่ว เสียงปรบมือและดีดกีตาร์/แบนโจ ความหนาวเหน็บเย็นยะเยือกกำลังคืนคลานเข้ามา จบลงด้วยลิบๆเห็นตะวันค่อยๆเคลื่อนลับล่นขอบฟ้า
ผมละทึ่งในรสนิยมของตัวละคร Dixon เสียจริง นี่มันรับอิทธิพลมาจาก A Clockwork Orange (1971) ที่พระเอกโคตรโฉดชั่ว Alex DeLarge (รับบทโดย Malcolm McDowell) ชื่นชอบฟังเพลงของ Beethoven แน่ๆ ซึ่งหนังเรื่องนี้เราจะได้ยิน Mozart บทเพลง Andante (Piano Sonata No.1 in C, K.279) กล่อมเกลาทำให้จากคนโคตรโฉดชั่ว กลับกลายเหมือนจะเป็นคนดี?
บทเพลง Buckskin Stallion Blues แต่งโดย Townes van Zandt ขับร้องโดย Amy Annelle, เพลงนี้ดังขึ้นฉากสุดท้ายของหนัง การออกเดินทางของ Hayes กับ Dixon สู่ Idaho สถานที่หลักพันไมล์จาก Missouri ตัดจบค้างคาไว้ปลายเปิด ให้ผู้ชมจินตนาการเอาเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกเขาพบหน้าชายคนที่…
Buckskin Stallion แปลว่า ม้าตัวผู้, ใจความบทเพลงนี้ประมาณว่า ถ้าฉันมีม้าตัวผู้ จะเลี้ยงให้เชื่องแล้วขี่มันออกไปให้สุดแสนไกล คงสื่อนัยยะถึงการออกจากวังวนความโกรธเกลียดเคียดแค้น
ในบรรดา 5 เรื่องที่เข้าชิง Best Original Score ปีนี้ เรียงตามลำดับความชื่นชอบ Phantom Thread > The Shape of Water > Dunkirk > Three Billboards > The Last Jedi
Three Billboards Outside Ebbing, Missouri คือการแสดงความเกรี้ยวกราดต่อวิถีของชีวิต และชาติอเมริกา ทำไมช่างเต็มไปด้วยความอยุติธรรมโหดร้ายเช่นนี้ โหยหาความเสมอภาคเท่าเทียม แต่มันจะหาได้พบเจอนะหรือ?
Mildred Hayes ทั้งๆที่ก็รับรู้อยู่ในใจว่า ตำรวจอาจไม่สามารถหาผู้ต้องสงสัยคดีข่มขืนฆ่าลูกสาวของตนเองได้ แต่ก็ยังดื้อรั้นเอาแต่ใจแบบหน้าด้านชาสุดๆ ซื้อป้ายประกาศนี้เพื่อเตือนสติเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเอง โดยไม่สนถูกผิดมโนธรรมใดๆ
Jason Dixon เพราะความที่สูญเสียพ่อ เติบโตมากับแม่ที่เสี้อมสั่งสอนเลี้ยงดูแลแบบชี้ชักนำเผด็จการ ทำให้สะสมความเกรี้ยวกราดรุนแรง ระบายออกกับสิ่งที่ตนมองว่าคือช่องโหว่ของกฎหมาย แสดงออกไร้ซึ่งความยุติธรรมเสมอภาคกับทุกผู้คน
William Willoughby เป็นหัวหน้าตำรวจที่ยึดถือเชื่อมั่นในความเสมอภาคของมนุษย์และกฎหมาย แต่ชีวิตของเขากลับได้รับความอยุติธรรมจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ทำไมคนดีๆอย่างนี้ถึงมีอายุสั้นเสียเหลือเกิน
ในความคิดของผู้กำกับ McDonagh คงมองว่าไม่มีอะไรในโลกที่เสมอภาคเท่าเทียมกันจริงๆ ทุกสิ่งเลยเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง อันเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเกรี้ยวกราดสะสมคลั่งอยู่ข้างในพร้อมปะทุระบายออก
“All this anger, man, it just begets greater anger.”
แต่ใครก็ตามที่เรียนรู้จักประโยคนี้ ต่างมีความต้องการพิสูจน์ว่า มันไม่ใช่เรื่องจำเป็นถูกต้องเสมอไป เพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่งหรือสูงสุดของความเกรี้ยวกราด มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น จนกระทั่งสักวันหนึ่งเราเกิดคำถามกับตนเอง ‘จะโกรธไปทำไม?’ เมื่อนั้นก็อาจคิดได้ว่ามันไร้สาระ และเสียเวลา ค่อยๆเริ่มปล่อยวางมิจฉาทิฐินี้ลงได้เอง
นักวิจารณ์สัญชาติอเมริกาทั้งหลาย มักเปรียบเทียบเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับสามตัวละครนี้ เข้ากับประเทศชาติของตนเอง มันคงเห็นเด่นชัดเจนมากๆ เพราะการที่ตัวละคร Dixon เหยียดคนต่างสีผิว เชื้อชาติขนาดนี้ ไม่มีทางมองเป็นใครอื่นไปได้ และการกลับตัวเปลี่ยนไปเป็นคนละคนช่วงท้าย สะท้อนสภาพของอเมริกันในปัจจุบันที่มีแตกต่างจากอดีตแทบพลิกฝ่ามือ กลายเป็นความภาคภูมิใจที่หนังนำเสนอการแก้ต่าง ‘Redemption’ ออกมาให้ดูดีน่ายกย่องสรรเสริญ
แต่ McDonagh เป็นชาว Irish เขาอาจไม่ใช้ผู้ยกย่องสรรเสริญชาติอเมริกันนัก เราจึงสามารถมองอีกมุมหนึ่ง การกระทำที่ถึงเปลี่ยนไปขั้วตรงข้ามของ Dixon ก็หาใช่สิ่งถูกต้องนัก แพ้แล้วพาลไม่ยอมให้มันจบแบบค้างคา ทำตัวเป็นศาลเตี้ย (เหมือนที่อเมริกากำลังเป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้) ออกเดินทางเพื่อสนองมิจฉาทิฐิของตนเอง
เชื่อว่าใครๆต่างต้องเคยประสบพบเจออารมณ์โกรธเกลียดไม่ชอบหน้า ปฏิเสธต่อต้าน ไม่เห็นด้วยขัดแย้งในความคิดอ่านของผู้อื่น โลกยุคสมัยนี้ความขัดแย้งกระทบกระทั่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยง่าย แต่ผมก็มีวิธีควบคุมความคิดเมื่อเกิดโทสะ ที่พระพุทธเจ้าทรงเคยตรัสไว้ใน วิตักกสัณฐานสูตร ทั้งหมด ๕ ข้อ ประกอบด้วย
๑. เปลี่ยนความคิด
๒. ให้พิจารณาโทษของความคิด
๓. ให้เลิกคิด
๔. ให้ใคร่ครวญหาเหตุผลที่ทำไมจึงคิด
และ ๕. ให้กัดฟันใช้ลิ้นกดเพดานให้แน่น (เป็นกุโศบายประการหนึ่ง)
การจักควบคุมความคิดของตนเอง จำต้องเริ่มจากสิ่งเล็กๆน้อยๆจนเกิดความเชี่ยวชำนาญ ถึงเป็นการป้องกันมิให้เกิดความคิดใหญ่ๆที่ไม่ถูกไม่ชอบ ค่อยๆฝึกทีละเล็กเช่นว่า มีคนตัดหน้าแซงคิวก็หายใจเข้าลึกๆอย่าไปถือสาเคืองโกรธ ชนเล็กชนน้อยพูดขอโทษไว้ก่อนถึงเราจะเป็นคนผิด ทอนเงินไม่ครบแทนที่จะโวยวายขึ้นเสียงลองเปลี่ยนเป็นยิ้มแย้มหัวเราะ ฯ ถ้าทำได้แบบนี้ โลกจะน่าอยู่ขึ้นกว่าชุมชนเมืองที่พบเจอในหนังเรื่องนี้อีกนะ
ทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลกมีความเท่าเทียมกัน แต่บุญบารมีเคราะห์กรรมวาสนาที่สะสมมาจนถึงตอนเกิด ทำให้เกิดความแตกต่างกันสุดขั้ว ในครอบครัวรวย-จน ร่างกายสมบูรณ์-บกพร่อง อายุสั้น-ยาว อโรคาพยาธิ ฯ เป็นสิ่งที่ใครก็มิสามารถเลือกได้ แต่ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ มันคือช่วงเวลาแห่งการเพิ่มพูนสะสมมโนทรัพย์ เพื่อไว้จับจ่ายใช้สอยในอนาคตกาลชาติข้างหน้า
ประเด็นคำถามคับข้องใจของหนังเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธโดยทั่วไปไม่ได้ใคร่สนใจนำมาถกเถียงเป็นภาระหนักสมองเสียเท่าไหร่ ทำไมชีวิตฉันถึงไม่เท่าเทียมกับผู้อื่น? ก็แน่ละ คนที่คิดว่าชีวิตเกิดมาครั้งเดียว ตายแล้วสูญหรือขึ้นสวรรค์อยู่กับพระเจ้า ย่อมไม่สามารถครุ่นคิดหาเหตุผลของความไม่เสมอภาคได้แน่ (อ้างด้วยคำกล่าว เป็นสิ่งพระเจ้าประทานมาให้) นี่ก่อให้เกิดความหมกมุ่นยึดติดจนเกรี้ยวกราดคับข้องแค้น ไม่พึงพอใจกับวิถีและชีวิตของตนเอง แต่ก็ปล่อยคนพวกนี้ไปเถอะครับ เถียงไปยังไงก็ไม่ชนะ ซ้ำร้ายถ้าไม่ใช่พวกตนเองก็จะมองว่าเป็นศัตรู
ทิ้งท้ายกับไอ้กฎไร้สาระที่อ้าง การเพิกเฉยมีค่าเท่ากับสมรู้ร่วมคิด ใครก็ตามที่มองโลกลักษณะนี้ถือว่าเป็น ผู้มองโลกด้านเดียว (ในแง่ร้าย) จริงอยู่โยนเหรียญมีหัวก้อย ซ้ายขวา หยินหยาง แต่ทุกสิ่งอย่างในโลกมีอีกตำแหน่งหนึ่งเสมอคือสมดุลกึ่งกลาง มันถึงสามารถเข้าทฤษฎีสาม ซ้าย-กลาง-ขวา และเป็นจุดเดียวเท่านั้นที่มีความเสมอภาค สามารถทำความเข้าใจวิถีของชีวิตและโลกในทุกๆด้าน
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Venice ไม่ได้รางวัลอะไรติดมือกลับมา แต่ในเทศกาล Toronto International Film Festival คว้ารางวัล People’s Choice Award
ด้วยทุนสร้าง $12 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลกเกิน $100 ล้านเหรียญไปแล้ว กำไรเน้นๆ, เข้าชิง Oscar 6 สาขา (7 ที่เข้าชิง) คว้ามา 2 รางวัล
– Best Motion Picture of the Year
– Best Actress (Frances McDormand) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Sam Rockwell) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Woody Harrelson)
– Best Original Score
– Best Original Screenplay
– Best Film Editing
เกร็ด: รางวัล Oscar ของ McDormand ในช่วงงานเลี้ยงหลังพิธีประกาศรางวัลจบสิ้น ถูกขโมยไปช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถูกไล่ล่าจับได้ทันควันเพราะหัวขโมยดันโพสคลิปของตัวเองลงเฟสบุ๊คประกาศว่า ‘This is mine. We got it tonight, baby!’
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะมองไม่เห็นสาระอะไรที่ประโยชน์ ประทับใจแค่การแสดงของสามประสาน Frances McDormand, Sam Rockwell, Woody Harrelson ก็ทำให้รู้สึกพอทนไหวขึ้นมาเล็กๆ และเพลงประกอบเพราะๆของ Carter Burwell ตราตรึงเสียเหลือเกิน
แนะนำคอหนัง Black Comedy, Drama, ชื่นชอบความรุนแรง, สนใจประเด็น Racism, แฟนๆนักแสดง Frances McDormand, Sam Rockwell, Woody Harrelson ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับคำหยาบคาย และความรุนแรง
Leave a Reply