Three Colours: Blue (1993) , : Krzysztof Kieślowski ♥♥♥♥
หลังโศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นกับครอบครัว Juliette Binoche พยายามละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘เสรีภาพ’ แต่หลังจากใช้ชีวิตเพียงลำพังอยู่สักพักก็ตระหนักว่า ไม่มีทางที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ต้องแสวงหาใครสักคนแม้ต้องอดรนทนต่อความขื่นขม เพื่อแลกกับอุดมคติชาวตะวันตกที่เรียกว่าความรัก
มันคือความเข้าใจของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski แม้มนุษย์มีเสรีภาพในการครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก แต่ไม่มีทางจะดิ้นหลุดพ้นจากการว่ายเวียนวน เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ในวัฎฎะสังสารแห่งนี้! สิ่งสูงสุดสามารถบรรลุถึงก็คืออุดมคติความรัก แม้บางครั้งมันอาจสร้างความเจ็บปวดรวดร้าว ถูกคิดคดทรยศหักหลัง แต่ก็แลกมากับความสุขทางร่างกาย-จิตใจ เพศสัมพันธ์ทำให้มนุษย์(ราวกับ)ขึ้นสู่สรวงสวรรค์
Blue, Bleu (French), Niebieski (Polish) เรื่องแรกในไตรภาคสามสี Three Colours, Trois couleurs, Trzy kolory ได้รับคำชมล้นหลามถึงความจัดจ้านด้านลูกเล่นลีลา เทคนิคภาษาภาพยนตร์ ทั้งยังนำเสนอจิตวิเคราะห์สภาวะทางอารมณ์ ‘Anti-Tragedy’ เพื่อขบไขปริศนาคำถามอภิปรัชญา มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร? ซึ่งผู้กำกับ Kieślowski ทำการประมวลผลประสบการณ์(สร้างภาพยนตร์)ทั้งชีวิต ผสมผสานคลุกเคล้าทุกสิ่งอย่างไว้ในผลงานสามเรื่องสุดท้ายนี้ จนกลายเป็นยืนหนึ่งใน Best Movie of All-Time! … แต่ก็เพียงในโลกทัศน์ชาวตะวันตก นับถือศาสนาคริสต์ (เชื่อในพระเจ้า) ยึดมั่นในเสรีภาพและอุดมคติความรักคือทุกสิ่งอย่าง
โลกทัศน์ของผู้กำกับ Kieślowski แม้มีความกว้างไกลขึ้นเมื่อสามารถก้าวออกจากกำแพงอิฐ ภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ประเทศ Poland (ล่มสลายเมื่อปี 1989) แต่สุดขอบที่เขาสามารถไปถึงกลับแค่เพียงทวีปยุโรป/ชาติตะวันตก ยังห่างไกลความเป็นสากล ‘Universal Acclaim’ โดยเฉพาะฟากฝั่งตะวันออก และผมก็คนหนึ่งที่ส่ายหัวกับการยัดเยียดแนวความคิด “ความรักชนะทุกสิ่ง”
แต่ก็ต้องยอมรับ Three Colours: Blue (1993) เป็นภาพยนตร์ถ่ายทอดอารมณ์บลูออกมาได้สมบูรณ์แบบที่สุด! (feeling blue แปลว่าโศกเศร้า หมองหม่น) ทุกครั้งเมื่อ Juliette Binoche ครุ่นคิดถึงความสูญเสีย แสงสีฟ้า ท่วงทำนองออร์เคสตรา บางครั้งก็เฟดดำมืด (Fade-To-Black) สามารถแทนด้วยช่องว่าง/สุญญากาศทางอารมณ์ ลมหายใจขาดห้วง อยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง คิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถทำได้ การมีชีวิตอยู่มันช่างสุดแสนระทมทุกข์ทรมาน
Krzysztof Kieślowski (1941-96) ผู้กำกับชาว Polish เกิดที่ Warsaw ในช่วงที่ Nazi Germany เข้ายึดครอบครอง Poland ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาทำงานวิศวกรโยธา เลี้ยงดูบุตรชายตามแบบ Roman Catholic, พออายุ 16 ถูกส่งไปฝึกฝนอาชีพนักผจญเพลิง เพียงสามเดือนก็ตัดสินใจลาออก จากนั้นเข้าเรียน College for Theatre Technicians จบออกมาต้องการเป็นผู้กำกับละครเวที แต่เพราะไม่มีวุฒิปริญญาเลยไม่ได้รับการจ้างงาน เพื่อหลบหนีเกณฑ์ทหารจึงยื่นใบสมัครถึงสามรอบกว่าจะได้เข้าศึกษาต่อภาพยนตร์ยัง Łódź Film School
เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Krzysztof Kieślowski คือ Kes (1969) กำกับโดย Ken Loach
เริ่มต้นยุคแรก Early Work (1966-75), ด้วยการสรรค์สร้างสารคดี บันทึกภาพวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วๆไป The Office (1966), Tramway (1966), From the City of Łódź (1968), Factory (1970), จนกระทั่ง Workers ’71: Nothing About Us Without Us (1971) นำเสนอภาพการชุมนุมประท้วงหยุดงานเมื่อปี 1970 โดยไม่รู้ตัวเริ่มถูกทางการสั่งเซนเซอร์, Curriculum Vitae (1975) เลยแทรกใส่แนวคิดต่อต้านหน่วยงานรัฐ (Anti-Authoritarian) ทำให้โดนเพื่อนร่วมอาชีพตำหนิต่อว่า ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง
Polish Film Carrier (1975-88), ช่วงที่ Kieślowski เริ่มสรรค์สร้างผลงานที่ไม่ใช่สารคดี ภาพยนตร์เรื่องแรก Personnel (1975) ** คว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนัง Mannheim International Filmfestival (ที่ประเทศ Germany), ติดตามด้วย The Scar (1976), Camera Buff (1979), Blind Chance (1981), No End (1984) และผลงานชิ้นเอก Dekalog (1988) ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ความยาวสิบตอน ได้แรงบันดาลใจจากพระบัญญัติ 10 ประการ
International Film Carrier (1991-94), แม้ช่วงสุดท้ายในชีวิตและอาชีพการงานของ Kieślowski จะมีผลงานเพียง 4 เรื่อง แต่ล้วนประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ การันตีความเป็นตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ The Double Life of Veronique (1991), Blue (1993), White (1994), Red (1994)
ทนายความ/นักเขียน Krzysztof Piesiewicz (รับรู้จักผู้กำกับ Kieślowski มาตั้งแต่ผลงาน No End (1985)) ระหว่างกำลังสรรค์สร้าง The Double Life of Veronique (1991) เป็นผู้เสนอแนะแนวคิดเกี่ยวสรรค์สร้างภาพยนตร์ไตรภาค โดยอ้างอิงจากคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศส Liberté (Liberty), Égalité (Equality), Fraternité (Fraternity) เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ
The words [liberté, egalité, fraternité] are French because the money [to fund the films] is French. If the money had been of a different nationality we would have titled the films differently, or they might have had a different cultural connotation. But the films would probably have been the same.
Krzysztof Kieślowski
โดยความตั้งใจแรกเริ่มต้องการทำออกมาให้คล้ายๆ Dekalog (1988) ที่อ้างอิงพระบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandments) สรรค์สร้างสิบเรื่องราวที่มีสาสน์สาระอ้างอิงพระบัญญัติทั้งสิบข้อ แต่หลังจากเริ่มต้นพัฒนาบท Blue พวกเขาก็ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรเกี่ยวกับแนวคิดเสรีภาพ Liberté (Liberty) เลยสักนิด!
บทหนัง Blue ที่พัฒนาขึ้นในตอนแรก มีเรื่องราวเกี่ยวกับนักข่าวสาว (รับบทโดย Hélène Vincent) พยายามสืบค้นหาว่าใครกันคือผู้ประพันธ์บทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวของสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต/การเสียชีวิตของคีตกวีชื่อดัง Patrice de Courcy แต่ยังหลงเหลือภรรยา Julie (รับบทโดย Juliette Binoche) ซึ่งคาดกันว่าเธออาจเป็นผู้ประพันธ์บทเพลงนี้ที่แท้จริง!
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเนื้อหามาเป็น Blue ที่รับชมกันนี้ ตากล้อง Slawomir Idziak (เพิ่งมาเปิดเผยเมื่อปี 2018 นี้เองนะครับ) เกิดขึ้นในกระบวนการตัดต่อ ภายหลังถ่ายทำ (Post-Production) โดยปรับโครงสร้างทั้งหมด (re-structured) มานำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Julie หลังสูญเสียสามีและบุตรสาวจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
ใครเคยรับชม No End (1985) ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Kieślowski น่าจะมักคุ้นเคยเนื้อเรื่องราวที่แทบจะโคลนนิ่งมาเกินกว่าครึ่ง แต่บทสรุปนั้นมีความแตกต่างตามมุมมองโลกทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป
- No End (1985) สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ประเทศ Poland ประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง ไร้หนทางออก สูญเสียเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
- ความตายของสามี คือการสูญสิ้นสัญลักษณ์แห่งความหวังของชาว Polish
- เรื่องราวของหนังนำเสนอความพยายามปรับตัวต่อการสูญเสียอิสรภาพนั้น
- Three Colours: Blue (1993) สร้างขึ้นหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทั่วทั้งทวีปกำลังจะรวมตัวเป็นหนึ่งเรียกว่าสหภาพยุโรป
- ความตายของสามีและบุตรสาว สามารถเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
- เรื่องราวของหนังคือความต้องการเสรีภาพโดยไม่พึ่งพาใคร (สื่อถึงบรรดาประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต) แต่การจะอยู่รอดในทวีปยุโรป จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย’รวมกันเราอยู่’เป็นสหภาพยุโรป (เพิ่งปลดแอกจากคอมมิวนิสต์ก็ถูกบีบให้เลือกข้างประชาธิปไตย!)
หนังได้รับการสนับสนุน/รวบรวมทุนสร้างโดย Marin Karmitz (เกิดปี 1938) โปรดิวเซอร์ชาว Romanian-French ผู้ก่อตั้งบริษัท MK2 (สัญชาติฝรั่งเศส) เสนอตัวเข้ามาด้วยความกระตือร้นอยากร่วมงานผู้กำกับ Kieślowski ถึงขนาดเคยกล่าวว่า
Kristoff is the most beautiful adventure of my life.
โปรดิวเซอร์ Marin Karmitz
เรื่องราวของ Julie de Courcy (รับบทโดย Juliette Binoche) ภายหลังสูญเสียสามีและบุตรสาวจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เคยครุ่นคิดสั้นกินยาฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จ จากนั้นพยายามทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ประกาศขายบ้าน ขายเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงทำลายบทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) ที่(สามี)เคยประพันธ์ไว้ แล้วหลบหนีไปปักหลักอาศัยอยู่ยัง Rue Mouffetard ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังโดยไม่สนอะไรใครอีกต่อไป
แต่แล้วเพื่อนร่วมงาน Olivier Benôit (รับบทโดย Benoît Régent) เคยชื่นชอบตกหลุมรัก Julie ก็ติดตามมาจนพบเจอ รวมทั้งได้รับโน๊ตเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรปที่ยังแต่งไม่เสร็จ (มีคนคัทลอกเก็บไว้ แล้วแอบส่งไปให้ Olivier) นั่นทำให้อดีตที่เธอต้องการละทอดทิ้ง รวมถึงสิ่งต่างๆที่สามีเคยถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้ หวนย้อนกลับมาสร้างความว้าวุ่นวายใจ จนในที่สุดก็มิอาจดิ้นหลบหนีได้อีกต่อไป
Juliette Binoche (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, เป็นบุตรสาวนักแสดง/ผู้กำกับ Jean-Marie Binoche และ Monique Yvette Stalens หย่าร้างกันเมื่อตอนเธออายุเพียง 4 ขวบ เลยถูกส่งไปโรงเรียนประจำ แทบไม่เคยพบเจอบิดา-มารดาหลังจากนั้น, ค้นพบความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เข้าศึกษาต่อยัง Conservatoire National Supérieur d’Art Dramatique (CNSAD) แต่เพราะไม่ชอบวิชาเรียนเลยลาออกมา แล้วเข้าร่วมคณะการแสดงออกทัวร์ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ (ใช้ชื่อว่า Juliette Adrienne) จากนั้นเป็นตัวประกอบซีรีย์ สมทบภาพยนตร์ แจ้งเกิดจากผลงาน Hail Mary (1983), Family Life (195), Adieu Blaireau (1985), Rendez-vous (1985), The Unbearable Lightness of Being (1988), ก่อนหน้านี้เคยมาทดสอบหน้ากล้อง The Double Life of Véronique (1991) แต่เพราะติดพันโปรเจค Les Amants du Pont-Neuf (1991) เลยจำต้องถอนตัวออกไป ถึงอย่างนั้นก็ยังคงได้ความสนใจจากผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เลือกมาแสดงนำ Three Colours: Blue (1993)
ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The English Patient (1996)**คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Acress, Chocolat (2000), Certified Copy (2010) ฯลฯ
รับบท Julie de Courcy ภรรยาของคีตกวีชื่อดัง Patrice de Courcy บุคคลสำคัญที่ได้รับการยกย่องระดับนานาชาติ (ถึงขนาดพิธีศพยังมีถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์) เพราะเป็นบุคคลเดียวรอดตายจากอุบัติเหตุ จึงไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อสักเท่าไหร่ พยายามคิดสั้นฆ่าตัวตายแต่ก็ทำไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงพยายามหลบหนีไปให้ไกล ใช้ชีวิตตามลำพังโดยไม่พึงพาผู้อื่นใด ถึงอย่างนั้นความรู้สึกสูญเสียก็ยังคงฝังลึกทรวงใน มิอาจปล่อยละวางจากชายคนรัก และท่วงทำนองบทเพลงนั้นดังขึ้นทุกครั้งเมื่อมีใครพูดกล่าวถึงสามี
หลังจากอาศัยอยู่ตามลำพังมาสักพัก Julie ก็เริ่มรับเรียนรู้ เข้าใจหลายสิ่งต่างๆ ค้นพบความลับสามี เผชิญหน้าหญิงชู้ที่กำลังตั้งครรภ์ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอยินยอมหวนกลับหาเพื่อนร่วมงาน Olivier Benôit ต้องการประพันธ์บทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรปให้แล้วเสร็จสรรพ และตอบรับความรักของเขา แม้จิตใจจะเต็มไปด้วยความขืนขม รวดร้าวระทม แต่นั่นทำให้ชีวิตสามารถก้าวดำเนินต่อไป
เกร็ด: ดั้งเดิมนั้นบทบาทนี้ตกเป็นของ Isabelle Huppert แต่เสียตอบรับที่ย่ำแย่จากผลงาน Malina (1991) ทำให้ผู้กำกับ Kieślowski เปลี่ยนมาเลือก Juliette Binoche
ผู้กำกับ Kieślowski เริ่มให้ความสนใจในใบหน้านักแสดงมาตั้งแต่ The Double Life of Veronique (1991) (รับอิทธิพลจาก Ingmar Bergman เคยกล่าวไว้ว่า “human face is the great subject of the cinema”) ขณะที่ Irène Jacob เต็มไปด้วยความระริกระรี้ สดใสซื่อบริสุทธิ์, Juliette Binoche ดูเก็บกด เกรี้ยวกราด พยายามซ่อนเร้นความเจ็บปวดรวดร้าวไว้ภายใน
เพราะตัวละครมักไม่พูดบอก แสดงสิ่งซุกซ่อนเร้นออกมาตรงๆ ผู้ชมจึงต้องสังเกตอากัปกิริยา ปฏิกิริยาสีหน้า และลูกเล่นภาษา(กาย)ภาพยนตร์ ซึ่งก็ต้องชื่นชม Binoche ถ่ายทอดความสลับซับซ้อน ‘เสรีภาพทางอารมณ์’ ได้อย่างลุ่มลึกล้ำ เริ่มต้นสัมผัสถึงความอึดอัดอั้น คับข้องแค้น เกรี้ยวกราดที่ตนเองไม่ได้ตกตายพร้อมสามี ชีวิตอยู่ในสภาพสิ้นหวังสักพักใหญ่ๆ พอกาลเวลาเคลื่อนผ่าน เรื่องราวดำเนินต่อไป เธอจึงค่อยๆสามารถปรับเปลี่ยนตนเอง ปล่อยละวางความหมกมุ่นยึดติด แม้จิตใจยังเจ็บปวดรวดร้าว แต่มุมปากปรากฎรอยยิ้มบางๆสำหรับนับหนึ่งใหม่
นี่คือบทบาทการันตีความเจิดจรัสค้างฟ้าของ Binoche ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม สามารถคว้ารางวัล Volpi Cup for Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice, César Award: Best Actress (ครั้งแรก), อีกทั้งยังได้เข้าชิง Golden Globe Award: Best Actress น่าเสียดายถูกมองข้ามจากสถาบัน Academy Award
ถ่ายภาพโดย Sławomir Idziak (เกิดปี 1945) สัญชาติ Poland, สำเร็จการศึกษาจาก National Film School, Łódź ขาประจำร่วมงานผู้กำกับ Krzysztof Zanussi และ Krzysztof Kieślowski อาทิ The Scar (1976), The Constant Factor (1980), A Year of the Quiet Sun (1984), A Short Film About Killing (1988), The Double Life of Véronique (1991), Three Colors: Blue (1994) ผลงานเด่นอื่นๆ Gattaca (1997), Black Hawk Down (2001), King Arthur (2004), Harry Potter and the Order of the Phoenix (2007) ฯ
ในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Kieślowski งานภาพของ Blue (1994) ได้รับคำชื่นชมว่ามีความจัดจ้าน เต็มไปด้วยเทคนิค ลูกเล่นลีลา แถมประดิษฐ์ภาษาภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ด้วยซ้ำ โดดเด่นมากๆกับการใช้แสง-สี ความสว่าง-มืดมิด โดยเฉพาะเฉดน้ำเงิน นอกจากสีของสถานที่/วัตถุ (มักใช้เป็นสีสัญลักษณ์แทนสามีผู้ล่วงลับ) หลายครั้งถ่ายผ่านฟิลเลอร์ หรือมาเป็นแสงสว่างวูบๆวาบๆ มักปรากฎตอนตัวละครกำลังครุ่นคิดถึงชายคนรัก เพื่อสะท้อนสภาวะอารมณ์หมองหม่น เศร้าโศกเสียใจ ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสีย
ด้วยความที่เรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองชีวิตตัวละคร Julie กล้องเลยมักเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครไปไหนมาไหน บ่อยครั้งถ่ายช็อต Close-Up เพื่อจับจ้องปฏิกิริยาแสดงออกทางใบหน้า แต่ผมสังเกตว่ามุมกล้องจะเอนเอียงเล็กๆเพื่อไม่ให้เธอสบตาหน้ากล้อง ยกเว้นเพียงช็อตสุดท้ายของหนังที่ทำการ Breaking the Fourth Wall (หลายคนอาจเห็นไม่ชัดนักเพราะครึ่งหนึ่งของภาพปกคลุมด้วยความมืดมิด) ซึ่งกลับตารปัตรตรงกันข้ามภาพยนตร์ No End (1985) ที่จะมีการสบตาหน้ากล้องตั้งแต่ซีนแรกๆของหนัง
ดั้งเดิมนั้นหลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรม Julie จะอพยพหลบหนีจากกรุง Paris ไปอาศัยอยู่ยังชนบท ต่างจังหวัด สถานที่ห่างไกลผู้คน แต่สุดท้ายผู้กำกับ Kieślowski เปลี่ยนมาเป็น Rue Mouffetard เพื่อสะท้อนแนวคิด ‘die in the crowd’ ไร้ตัวตนท่ามกลางฝูงชน (สรุปคือหนังทั้งเรื่องถ่ายทำในกรุง Paris นะครับ)
ช็อตแรกของหนังพบเห็นล้อรถกำลังวิ่งอยู่บนท้องถนน จริงๆถ้าจะนำเสนอสัญลักษณ์ของการเดินทาง ถ่ายตำแหน่งไหนบนรถก็ได้ทั้งนั้น แต่การเลือกล้อรถสามารถตีความในเชิงคำถามอภิปรัชญา มนุษย์เกิดมาทำไม? มีเป้าหมายอะไร? กำลังดำเนินชีวิตไปไหน? ตอนจบของอารัมบทนี้ก็คือมุ่งสู่ความตาย
กระดาษฟรอยห่อลูกอมที่มีสองด้าน สองสี ผมมองนัยยะถึงมนุษย์ที่มีภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ การแสดงออก-ปกปิดซุกซ่อนเร้น ฯลฯ การนำมันขึ้นมาเล่นลมคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครสามารถต้านทานวิถีธรรมชาติ ต้องปล่อยให้ปลิดปลิวล่องลอยไป … มนุษย์มีความมุ่งมั่นที่เอาชนะ อยากได้โน่นนี่นั่น ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ก็เหมือนการเผชิญหน้าแรงลม ฝืนต่อต้านธรรมชาติชีวิต แต่สักวันหนึ่งเมื่อหมดสิ้นเรี่ยวแรง ทุกสิ่งอย่างก็จักปลิดปลิวไปตามครรลองของกฎแห่งกรรม
หลายคนอาจรู้จัก Kendama ของเล่นเด็กญี่ปุ่นที่ต้องโยนลูกบอลให้ตั้งอยู่บนค้อนไม้ แต่จุดเริ่มต้นมาจาก Bilboquet ปรากฎขึ้นครั้งแรกในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1534 ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในรัชสมัย King Henri II (ครองราชย์ 1573-89) ทรงมีความชื่นชอบละเล่นมากๆจนกลายเป็นแฟชั่นยุคสมัยนั้น
Bilboquet ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนโชคชะตาชีวิต อะไรก็สามารถบังเกิดขึ้นได้! ชายหนุ่มคนหนึ่งพยายามโยนเล่นถึงสามครั้งแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะหยุดพัก กล้องมีการปรับโฟกัสให้เห็นรถคันหนึ่งกำลังวิ่งผ่านหมอกควันเข้ามา เขาจึงยกมือขึ้นโบก (Hitchhiker) แต่ไม่หยุดจอด เลยตัดสินใจกลับมาโยนเล่น Bilboquet ปรากฎว่าครั้งนี้ลงล็อกพอดิบพอดีกับรถคันนั้นพุ่งชนต้นไม้
นี่คือลูกเล่นลีลา ชั้นเชิงในการนำเสนอของผู้กำกับ Kieślowski ให้ดูน่าตื่นเต้นประทับใจ มีลูกล่อลูกชน ไม่ใช่แค่ขับรถพุ่งตรงต้นไม้ เกิดเหตุโศกนาฎกรรมแล้วจบไป ซึ่งชายหนุ่มคนนี้ยังมีอีกบทบาทเล็กๆกลางเรื่อง คล้ายๆเส้นเชือกที่ผูกรัดระหว่างแท่นไม้กับลูกบอลของ Bilboquet เมื่อเกิดความสัมพันธ์ย่อมไม่อาจแคล้วคลาดจากกัน
แม้หนังไม่ได้ถ่ายให้เห็นวินาทีรถพุ่งชนต้นไม้ (ที่ก็ดันมีอยู่แค่ต้นเดียวบริเวณนั้นด้วยนะ) มันจะมีกวางน้อยวิ่งผ่านหน้าอย่างเร็วโคตรๆ นั่นน่าจะคือเหตุผลให้คนขับพยายามเบรค แต่เบรคแตก (จากมุมกล้องใต้ท้องรถที่มีน้ำหยดติ๋งๆ) หักเลี้ยวหลบไม่ทันก็เลย …
แต่ที่น่าขำกลิ้งไปกว่านั้นก็คือชายหนุ่มคนนี้ ถือสเก็ตบอร์ดไปด้วยทำไม? แล้วพอวิ่งไปได้สักพักคงตระหนักได้ว่าหนัก/ไม่จำเป็น ก็เลยเขวี้ยงขว้างมันทิ้ง! … จะว่าไปสามารถสื่อถึง Julie หลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรมนี้ยังไม่อาจปล่อยละวางความสูญเสีย แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ค่อยๆปรับตัว ยินยอมรับความจริง คลายความหมกมุ่นยึดติดลงได้
Julie ผู้รอดชีวิตหนึ่งเดียวจากอุบัติเหตุครั้งนี้ ระหว่างได้รับแจ้งข่าวการเสียชีวิตของสามีและบุตรสาว
- พบเห็นขนอะไรก็ไม่รู้ติดอยู่ที่เสื้อ สามารถมองเป็นสัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’ หรือคือชีวิตของเธอที่หมดสูญสิ้น ไม่หลงเหลือใคร สิ่งอื่นใด (ไม่มีอะไรเป็นพันธนาการเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป)
- ดวงตาของตัวละครนอกจากเห็นภาพหมอที่มาแจ้งข่าว ยังสะท้อนความมืดมิดภายในจิตใจ ตกอยู่สภาพหมองหม่น หมดสิ้นหวังอาลัย
กล้องทำตัวเหมือนกระจกระหว่างที่ Julie พยายามจะฆ่าตัวตายด้วยการกลืนกินยาเกินขนาด แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ ซึ่งพอเธอลืมตาขึ้นก็พบเห็นพยาบาลยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม จับจ้องมองอย่างเงียบงัน รับฟังคำสารภาพผิด และพร้อมยกโทษให้อภัยทุกสิ่งอย่างที่บังเกิดขึ้น
ผมแอบแปลกใจเล็กๆที่ Julie สามารถสารภาพความผิดต่อนางพยาบาลได้โดยทันที เพราะหลังจากนี้เธอกลับพยายามหลบหลีกหนี ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่สามารถยินยอมรับความจริงได้ซะงั้น! (เหมือนทำไปแค่เรียกร้องความสนใจ) แต่ท้ายสุดก็เรื่องราวก็วนกลับสู่จุดเริ่มต้น หลังพานผ่านเหตุการณ์บางอย่าง ตัวละครถึงมีพร้อมเผชิญหน้าทุกสรรพสิ่ง … หรือจะมองว่าเป็นฉากเกริ่นนำทิศทางของหนังก็ว่าได้
หลังอาการบาดเจ็บเริ่มทุเลา แพทย์จึงให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน แต่ระหว่างกำลังนอนหลับฝันหวาน พลันปรากฎแสงสว่างสีน้ำเงิน พร้อมออร์เคสตราที่ได้ยินในงานศพ Van den Budenmayer: Funeral Music (แต่ถ้าใครหาฟังในอัลบัม ขณะนี้จะใช้ชื่อเพลง Julie – Glimpses of Burial) นี่คือครั้งแรกที่ Julie หวนระลึกครุ่นคิดถึงสามี ราวกับอดีตติดตามมาหลอกหลอน ให้ไม่สามารถปล่อยละวางจากความสูญเสีย
แสงสีน้ำเงินยังมาในหลายหลายรูปแบบวิธี ตั้งแต่ฟิลเลอร์ (เห็นสีน้ำเงินทั้งภาพ) เงาสะท้อนผืนสระน้ำ เอาไฟฉาย/เลเซอร์ส่องเข้าที่ใบหน้า ฯลฯ และยังมีขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก น่าจะสื่อถึงระดับความครุ่นคิดถึงมาก-กลาง-น้อย แล้วแต่ช่วงเวลา สถานการณ์ … ลองไปสังเกตเอาเองนะครับ จะได้ไม่ต้องอธิบายซ้ำหลายรอบ
การใช้เฉดสีน้ำเงินก็อย่างที่อธิบายไป เพื่อสื่อถึงอารมณ์บลู (feeling blue แปลว่าโศกเศร้า หมองหม่น) แต่การแสดงออกของ Julie เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ไม่ต้องการพบเจอใคร ไม่ต้องการยินยอมรับความจริง ต้องการหลบหลีกหนี ทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่าง
โมบายคริสตัล (แซฟไฟร์) ผมครุ่นคิดว่าคือสิ่งที่ Julie ใช้เป็นของระลึกต่างหน้าสามี (น่าจะเป็นของขวัญที่เขาเคยมอบให้) เพราะขณะที่อะไรอย่างอื่นพร้อมขายทิ้งทั้งหมด เจ้าสิ่งนี้กลับคืออันหนึ่งเดียวที่เธอนำติดตัวไปด้วย ยังไม่สามารถปล่อยละวางจากความสูญเสีย
เมื่อตอนที่ Lucille บุกเข้ามาในห้อง จับจ้องมองโมบายอันนี้ เล่าให้ฟังถึงความเพ้อฝันเมื่อครั้งเป็นเด็ก ตัวยังเล็ก เลยไม่อาจเอื้อมมือสัมผัส พยายามกระโดดไขว่คว้าแต่ไม่เคยสำเร็จสักครา … นี่เป็นอีกเทคนิคการเล่าเรื่องที่แม้พูดบอกจากอีกตัวละคร แต่สามารถตีความว่าคือสิ่งเดียวที่เคยบังเกิดขึ้นกับ Julie และจะมีอีกฉาก (ตอนเพิ่งย้ายเข้าอพาร์ทเม้นท์หลังใหม่) ที่เธอเอื้อมมือไปหยิบจับ สัมผัส กำเจ้าคริสตัลโมบายอันนี้อย่างที่ Lucille พูดเล่าอย่างเปะๆ
หาได้ยากที่ภาพยนตร์จะนำเสนอโน๊ตเพลง หรือการบรรเลงเครื่องดนตรีต่างๆ (ที่มีถ่ายทำการแสดง) ให้ตรงกับเสียงที่ได้ยิน เพราะมันค่อนข้างยุ่งยาก และต้องใช้ความแม่นยำค่อนข้างมาก แต่ผู้กำกับ Kieślowski เป็นคนใส่ใจในรายละเอียดเปะๆระดับวินาทีตั้งแต่พัฒนาบทหนัง (คือเขียนอธิบายไว้เลยว่าฉากนี้ค้างภาพตรงไหน บทเพลงดังขึ้นนานเท่าไหร่ กี่วินาที)
ผมมองการนำเสนอลักษณะนี้คล้ายๆเทคนิค(ตัดต่อ) Montage แต่เปลี่ยนความเชื่อมโยงระหว่างภาพตัวโน๊ตและเสียงเพลงที่ได้ยิน สำหรับนักดนตรีหรือใครที่อ่าน(โน๊ตเพลง)ออก ก็น่าจะรู้สึกประทับใจหนังขึ้นอีกเล็กๆ … หรือจะมองว่า เสียงที่ได้ยินก็คือจินตนาการของตัวละคร (นักดนตรีเก่งๆสามารถเพียงอ่านโน๊ตแล้วจินตนาการเสียงได้เลยนะครับ)
เกร็ด: ผู้กำกับ Kieślowski มีหนังสั้นเรื่องโปรด Muzykanci (1960) หรือ The Musicians สรรค์สร้างโดยอาจารย์ Kazimierz Karabasz (1930-2018) ครูสอนภาพยนตร์(ของ Kieślowski) ขณะศึกษาอยู่ยัง Łódź Film School น่าจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลให้ความเปะๆ Perfectionist
Julie เดินทางมาหาเพื่อนร่วมงานที่เป็น Copyist (คนคัทลอกบทเพลงสำหรับเก็บรักษาในคลัง) จะมีช็อตถ่ายผ่านม้วนกระดาษขณะกำลังค้นหาโน๊ตเพลง Song for the Unification of Europe เหมือนการมองลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของตัวละคร เห็นเป็นรูรั่ว รวงผึ้ง เพราะหลังจากค้นพบเจอเธอก็นำไปโยนทิ้ง ถูกทำลายในรถขนขยะ (พร้อมเสียงเพลงที่ราวกับเทปยาน) ไม่ต้องการเก็บบันทึกบทเพลงนี้ไว้ให้รู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน
มันเป็นความ Ironic ของหนังด้วยเพราะชื่อบทเพลง Song for the Unification of Europe แต่กลับทำให้ครอบครัวผู้แต่งต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่สามารถ ‘Unification’ อาศัยอยู่ร่วมกันได้อีก!
นี่เป็นช็อตที่ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงความเกรี้ยวกราดของ Julie ผ่านการอากัปกิริยาแสดงออกและภาษาภาพยนตร์
- ลูกอมคือขนมหวาน ไม่ต่างจากรสรักหวานฉ่ำ (สัญลักษณ์ของความต้องการมี Sex) แต่เธอกลับกัดเคี้ยวอย่างรวดเร็ว ไม่ดื่มด่ำรับรู้สึก(ความรักต่อสามี)อีกต่อไป
- กองเพลิงในเตาผิง โดยปกติทั่วไปมักสื่อถึงไฟราคะ เร่าร้อน แรดร่าน แต่สถานการณ์ขณะนี้น่าจะคือสภาพจิตใจของหญิงสาวที่กำลังมอดไหม้ วอดวาย เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ต้องการกระทำบางสิ่งอย่าง
- โทรศัพท์ติดต่อหา Olivier เรียกตัวมาร่วมรักหลับนอน แต่ไม่ใช่ด้วยตัณหาหรือความรัก เพียงเพื่อระบายความลุ่มร้อนที่สุมแน่นอก ทำในสิ่งที่เป็นการทรยศหักหลังสามี (แต่มันกลับยิ่งทำให้จดจำ แถมยังรู้สึกผิดต่อเขาอีกต่างหาก)
- ในภาพยนตร์ No End (1985) การร่วมรักชายอื่นเหมือนจะคนละเหตุผล เพราะขณะนั้นหญิงสาวรับล่วงรู้แล้วว่าเขาเคยคบหาหญิงอื่น แสดงออกแบบนี้เพื่อเป็นประชดประชัน ต้องการเรียกร้องความสนใจ (จากสามีที่ตายไปแล้วเนี่ยนะ?)
ใครเคยรับชมผลงานอื่นๆของผู้กำกับ Kieślowski น่าจะรับรู้ว่า Sex Scene เป็นฉากที่ขาดไม่ได้! เพราะมันมีนัยยะในท่วงท่าการร่วมรักเคลือบแอบแฝงอยู่ แต่เรื่องนี้กลับตัดทิ้งไปเลย พบเห็นเพียงการจุมพิตช็อตนี้ แต่ก็มีหลายๆรายละเอียดที่น่าสนใจ
- ฝ่ายหญิงปกคลุมด้วยความเงามืด และอาบฉาบด้วยแสงสีเขียวแกมน้ำเงิน (Teal) สะท้อนสภาวะทางจิตใจที่มีความหมองหม่น จมปลักอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก ราวกับไม่ได้ตัวตน/จิตวิญญาณอยู่ในช่วงเวลานี้
- ฝ่ายชายอยู่ในสภาพเปียกปอน ชุ่มฉ่ำ ใบหน้าอาบฉาบแสงสว่าง เต็มไปด้วยความระริกรี้ เร่งรีบร้อน เพราะกำลังจะได้ทำในสิ่งที่เฝ้ารอคอย เพ้อใฝ่ฝันมาแสนนาน
ซึ่งการไม่ปรากฎฉาก Sex Scene น่าจะสื่อถึง Julie ไม่ได้อยากจดจำ ไม่มีเหตุผลใดๆให้ต้องตราประทับช่วงเวลานี้ไว้ ไร้ซึ่งอารมณ์ร่วม/ความรู้สึกใดๆต่อ Olivier (มันคงเป็นการร่วมรักที่มีเพียงฝ่ายชายสำเร็จสมหวัง) ก็เลยตัดข้ามไปยามเช้า นำกาแฟอุ่นๆมาเสิร์ฟ (สื่อความลุ่มร้อนภายในที่ได้บรรเทาลงไป) แล้วถึงร่ำลาจากไป
เดิมนั้นทีมงานเตรียมถุงมือปลอมเอาไว้ให้ Binoche สวมใส่ขณะกำหมัดลากไปตามกำแพงหิน แต่พอถ่ายทำออกมาดูไม่ค่อยสมจริง เธอเลยถอดออกแล้วใช้มือเปล่าๆลากไถไปตามกำแพง เลยได้รับค่อนข้างสาหัส ถ่ายทำจนเสร็จก็ยังรักษาไม่หาย หลายๆฉากจึงพบเห็นสวมถุงมือปกปิดบาดแผลเอาไว้ … กลายเป็นของที่ระลึกติดตัวจนวันตาย
การกำหมัดลากไปตามกำแพง สามารถมองเป็นการลงโทษ/ทำร้ายตนเอง แสดงความรู้สึกผิดต่อสามีผู้ล่วงรับ ฉันไม่ควรร่วมรักหลับนอนกับ Olivier กระทำสิ่งโง่ขลาดเขลาแบบนั้น!
วันๆของ Julie หมดไปกับการดื่มกาแฟ นั่งฟังเสียงขลุ่ยของนักดนตรีข้างถนน แต่ช็อตนี้ไม่ใช่ Time-Lapse นะครับ แค่เล่นกับทิศทางการฉายแสง ขยับเลื่อนให้ดูเหมือนกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไป
ว่ายน้ำ ได้กลายเป็นกิจกรรมยามว่างของ Julie แต่ดูยังไงก็ไม่เหมือนการออกกำลังกาย เพราะเธอพยายามใส่พลังให้สุดแรงเกิด เพื่อระบายความอึดอัด ตึงเครียด เผื่อว่าจักสามารถหลงลืม คลายความหมกมุ่นยึดติดต่อสามี แต่เพราะสถานที่แห่งนี้ใช้แสงสีน้ำเงิน (น่าจะด้วยฟิลเลอร์กระมัง) ผมเลยมองว่าคือการว่ายเวียนวนอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก หรือวัฎฎะสังสาร ไม่ยินยอมปล่อยละวางจากความสูญเสีย
บางคนเปรียบเทียบสถานที่แห่งนี้สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ หรือจิตใต้สำนึกของตัวละคร ซึ่งจะดังขึ้นพร้อมเสียงเพลงของสามี พบเห็นทั้งหมด 4 ครั้ง
- ยามค่ำคืนพอมีแสงสว่างโดยรอบ ได้ยินเสียงขลุ่ยบรรเลง ยังพออดรนทนกับหนทางชีวิตที่เลือกเดิน
- โดยรอบปกคลุมด้วยความมืดมิด ชีวิตอับจนหนทาง ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง และพอได้ยินออร์เคสตรา ทิ้งตัวลงไปกลั้นหายใจใต้น้ำ เริ่มมิอาจอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป (อาการค่อนข้างหนักทีเดียว)
- ยามกลางวันหลังพานผ่านช่วงเวลาอันมืดมิด ได้รับความช่วยเหลือจาก Lucille (ตรวจสอบหนูในห้องพักว่าถูกกำจัดแล้วหรือยัง) จากนั้นพบเห็นเด็กๆวิ่งกรูกระโดดลงสระ สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ส่งเสียงตะโกนโหวกเหวก แต่กลับสร้างพลังใจให้ชีวิต
- ครั้งสุดท้ายหลังพบเจอชู้รัก ท่ามกลางความมืดมิด (แบบรอบที่สอง) เธอดำดิ่งและสูญหายไปใต้ผิวน้ำ ราวกับทุกสิ่งอย่างได้พังทลายสูญสิ้น
เหมือนมีเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ลางบอกเหตุบางอย่าง หลังจาก Julie ตัดสินใจไม่เปิดประตูห้องให้ความช่วยเหลือใครบางคนถูกนักเลงรุมกระทำร้ายบนท้องถนน เป็นเหตุให้เธอโดนปิดประตูห้องพัก ไม่สามารถกลับเข้าห้อง จำต้องนั่งรออยู่ตรงบันได แล้วพบเห็นอีกเหตุการณ์ของเพื่อนสาวร่วมอพาร์ทเม้นท์ ทำเป็นไม่สนใจ … และขณะหลับตานอน สังเกตดีๆจะเห็นแสงสีน้ำเงินสองจุด แม้งโคตรหลอน!
ใครเคยรับชม No End (1985) อาจบังเกิดความครุ่นคิดที่ว่า สามี(และบุตรสาว)ของ Julie ยังคงเป็นวิญญาณล่องลอยอยู่เคียงชิดใกล้ ไม่เหินห่างไปไหน และฉากนี้เหมือนแอบให้ความช่วยเหลือ ลางสังหรณ์บอกเหตุอะไรสักอย่างไร … ซึ่งโชคชะตานำพาให้เธอพบเห็นพฤติกรรมของ Lucille แล้วมีโอกาสรับรู้จัก พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกัน (Lucille คือบุคคลสำคัญที่ช่วยให้ Julie สามารถปล่อยละวางจากอดีต)
เมื่อมีลูกบ้านคนหนึ่งกำลังรวบรวมลายเซ็นต์สำหรับขับไล่ผู้หญิงสำส่อน Lucille ออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ แต่ Julie กลับบอกปัดปฏิเสธ ไม่ต้องการส่วนร่วมรับรู้เห็นเรื่องส่วนบุคคลผู้อื่น นี่สะท้อนแนวคิด ‘เสรีภาพ’ มันผิดอะไรที่หญิงสาวจะทำงานโสเภณี ร่วมรักหลับนอนกับคนแปลกหน้า ขณะเดียวกันฉากนี้ยังชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ Blind Chance (1991) ตัวละครในไทม์ไลน์สามก็พูดประโยคเดียวกันนี้เปะๆ
ขณะที่ Julie พูดบอกปัดปฏิเสธ สังเกตว่าเธอกำลังจัดกระถาง ต้องการปลูกต้นไม้สีเขียว (ตอนได้ยินเสียงกริ่งดังก็พลั้งเผลอทำกระถางหล่นลงพื้น = จิตใจตกไปอยู่ตรงตาตุ่ม) น่าจะคือสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูจิตใจ พยายามสร้างรากฐานชีวิตขึ้นใหม่
คุณยายหลังค่อม เดินอย่างเชื่องช้า เพียงเพื่อนำเอาขวดน้ำใส่ลงในถังรีไซเคิลที่อยู่สูงกว่าตนเอง พยายามออกแรงผลักดัน จนแล้วจนรอดก็ยัดไม่เข้า … นี่คือจุดเชื่อมโยงระหว่าง Three Colours Trilogy พบเห็นคุณยายคนเดียวกันนี้ทั้งสามภาค โดยตัวละครหลักจะมีปฏิกิริยาบังเกิดขึ้นแตกต่างกัน
ในกรณีของ Julie เหมือนว่าเธอกำลังนั่งหลับตา ฟุ้งอยู่ในจินตนาการ/เพ้อฝัน เลยไม่ทันพบเห็นว่าคุณยายกำลังทำอะไร (มีแต่ผู้ชมที่พบเห็น) ซึ่งเราสามารถมองนัยยะถึง ‘เสรีภาพ’ คือการพึ่งพาตนเอง ไม่เข้าไปยุ่งวุ่นวายเรื่องของผู้อื่น ให้ความเคารพสิทธิในการพูดบอก-แสดงออก อยากทำอะไรก็ทำไป แบบเดียวกับที่เธอปฏิเสธให้ความช่วยเหลือชายหนุ่มที่ถูกนักเลงทำร้าย หรือลงชื่อขับไล่ Lucille
แซว: The Double Life of Veronique (1991) จะว่าไปก็มีคุณยายหลังค่อมปรากฎตัวถึงสองฉาก (แต่ไม่ได้ยัดขวดน้ำใส่ถังขยะนะครับ) ไม่รู้ว่าคนๆเดียวกันหรือเปล่านะ?
เมื่อตอนต้นเรื่องระหว่างชายหนุ่มกำลังโยนเล่น Bilboquet แล้วมีการปรับโฟกัสให้เห็นรถยนต์กำลังขับเคลื่อนเข้าผ่านเข้ามา = กลางเรื่องขณะนี้ชายหนุ่มคนเดียวกันถือจี้ไม้กางเขน (จะว่าไปรูปลักษณะของ Bilboquet ก็มีความละม้ายคล้ายไม้กางเขน!) แล้วมีการปรับโฟกัสให้เห็น Julie กำลังนั่งรอพูดคุยสนทนา
ไม้กางเขน คือสัญลักษณ์ความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า แต่สำหรับ Julie ผมมองว่าคือตัวแทนของความรักต่อสามี (เหมือนหนังจะพยายามสร้างแนวคิด พระเจ้า=สามี)
- เมื่อครั้น Julie ทำมันตกหล่นหาย ก็คือการสูญเสียสามี/ความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า
- แม้ได้รับกลับคืนมา แต่เธอก็มอบต่อให้กับชายหนุ่ม เรียกว่ายังไม่อาจยินยอมรับ/ทำใจกับการสูญเสีย หรือยังไม่ได้ความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้ากลับคืนมา
- จนกระทั่งมีโอกาสพบเห็นอีกครั้ง จี้อีกอันห้อยคอชู้รัก Sandrine โดยไม่รู้ตัวนั่นคือจุดเปลี่ยน ทำให้ Julie สามารถปรับตัว ยินยอมรับความจริง หรือคือความเชื่อศรัทธา(ต่อความรัก/พระเป็นเจ้า)หวนกลับคืนมาอีกครั้ง!
ภาพสะท้อนในช้อน (ห้อยต่อยแต่งอยู่ในขวดน้ำ) ก็คือภาพสะท้อนสภาพจิตใจขณะนี้ของ Julie ที่มีความบิดเบี้ยว บูดบึ้ง ไร้ซึ่งรูปลักษณ์ของตนเอง หลังจากใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังมาสักพักใหญ่ๆ แม้สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีประจำวัน แต่มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรใดๆ ภายในยังความเศร้าโศก มิอาจปล่อยละวางจากความสูญเสีย
ภาพช็อตนี้มี 3-4 องค์ประกอบที่ทำให้ Julie ต้องหวนระลึกนึกถึงอดีตที่ไม่ค่อยอยากจดจำ
- การติดตามมาถึงของ Olivier สร้างความหงุดหงิด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เพราะเธอต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง
- ช็อตนี้สังเกตว่า Olivier หันศีรษะไปมองด้านหลัง … หันมองย้อนอดีต
- นักดนตรีข้างถนนกำลังเป่าขลุ่ย ท่วงทำนองเดียวกับบทเพลง Song for the Unification of Europe ซึ่งถือเป็นทั้งความบังเอิญ ขณะเดียวกันก็เหมือนอดีตติดตามมาหลอกหลอน
- ฝั่งขวามือของภาพมีชายคนหนึ่งกำลังเดินลากกระเป๋า สามารถสื่อถึงการจากไปของสามีผู้ล่วงลับได้เช่นกัน
ผู้กำกับ Kieślowski มีความต้องการให้ก้อนน้ำตาลค่อยๆซึมน้ำ/กาแฟในเวลา 3-4 วินาทีอย่างเปะๆ (คงเพื่อให้ผู้ชมได้มีเวลาพบเห็น ทันสังเกต หนึ่งลมหายใจ) ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงทำต้องการทดลองหลายสิบยี่ห้อ (ไม่รู้เหมือนกันว่าได้ยี่ห้อไหน) จนกว่าจะได้ผลลัพท์ออกมาตามต้องการ
ก้อนน้ำตาลสีขาวสามารถแทนถึงความใสสะอาด จิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง (คล้ายๆผ้าขาวที่ใช้ในการบวช/รักษาศีล) แต่เมื่อจุ่มน้ำ/กาแฟมันจะค่อยๆดูดซึมซับ จนทั้งก้อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สัญลักษณ์ของความสกปรก แปดเปื้อน จิตใจที่ด่างพร้อย หมองหม่น
ในบริบทนี้น่าจะสื่อถึงสภาพจิตใจของ Julie ที่หลังจากได้รับความสงบสุขมาพักใหญ่ๆ (แม้ยังไม่สามารถปล่อยละวางแต่คงพอทำใจได้ระดับหนึ่ง) การติดตามมาถึงของ Olivier สร้างความหงุดหงิด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เหมือนทำให้ทุกสิ่งอย่าง(ที่อุตส่าห์หลบหนีมา)พังทลายลงตรงหน้า ก้อนน้ำตาลขาวได้ถูกทำให้แปดเปื้อนมลทิน
ทั้งๆเจ้าหนูน้อยสีชมพู ยังดูอ่อนแอไร้เดียงสา พึ่งพาตนเองยังไม่ได้ด้วยซ้ำ! แต่มันกลับเป็นสัญลักษณ์ของความโฉดชั่วร้าย ศัตรูที่ต้องกำจัดภัยพาล บาดแผลทางใจ ‘Trauma’ ที่ตราตรึง Julie ตั้งแต่เมื่อครั้นยังเด็ก แม้หลงลืมเลือนจดจำอะไรไม่ได้แล้ว แต่มันกลับฝังรากลึกอยู่ภายในจิตวิญญาณ สร้างความหวาดหวั่นกลัว ตัวสั่นสะท้าน สื่อถึงอดีตที่หวนกลับมาหลอกหลอน = Olivier ติดตามค้นหามาจนพบเจอ Julie
Julie ตัดสินใจเดินทางไปหามารดาป่วยโรคความจำเสื่อม Alzheimer จดจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเธอคือใคร ครุ่นคิดเข้าใจผิดว่าเป็นน้องสาว แต่ดันไม่หลงลืมเลือนว่าบุตรของตนเองเคยมีรอยบาดแผลในใจต่อเจ้าหนูน้อย โกรธ เกลียด หวาดกลัวตัวสั่น … ผมรู้สึกว่ามารดา เปรียบเหมือนกระจกที่มีความแตกต่างตรงกันข้ามกับ Julie หลงลืมในสิ่งที่ควรจดจำ และดันจดจำในสิ่งที่ควรลืมเลือน
และขณะเดินทางมาเยี่ยมเยือนครั้งนั้น รายการในโทรทัศน์กำลังฉายกิจกรรมบันจีจัมป์ (Bungy Jump) กระโดดจากจุดสูงสุด ทิ้งตัวลงสู่ภาคพื้นดิน ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพจิตใจขณะนั้นของ Julie กำลังตกต่ำ ดำดิ่ง ลงสู่ก้นเบื้องขุมนรก (เพราะมีความรังเกียจต่อต้านเจ้าหนูน้อยตัวนั้นอย่างสุดๆ)
หลังจาก Lucille กำจัดหนูให้กับ Julie ค่ำคืนดึกดื่นโทรศัพท์หา ร่ำร้องขอความช่วยเหลือให้เดินทางมายังไนท์คลับ/บาร์เปลือยแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าพบเห็นบิดาแท้ๆเข้ามาในร้านแห่งนี้ นั่นคือสิ่งที่เธอยินยอมรับไม่ได้ (คงไม่อยากให้บิดารับรู้ว่าตนเองทำงานแบบนี้) แต่ให้สังเกตวินาทีที่หญิงสาวพูดเล่า พร้อมลูบไล้อวัยวะเพศของนักแสดงชาย … ผมไม่อยากจะครุ่นคิดเลยว่ามันสื่อถึงอะไร
แต่จะมีช็อตที่ Lucille ยื่นใบหน้าเข้ามาใกล้ Julie ลองสังเกตแสงสีที่อาบฉาบใบหน้าของพวกเธอ
- Lucille เป็นแสงอบอุ่น ดูสดชื่น มีชีวิตชีวา คงสื่อถึงความบันเทิงเริงกาย-ใจ ที่ได้ทำงานยังสถานที่ตอบสนองตัณหาความใคร่แห่งนี้
- Julie เป็นแสงที่ทำให้ใบหน้าดูซีดเซียว แห้งแล้ง หยาบกระด้าง เหมือนซอมบี้ไร้จิตวิญญาณ (ก็ถูกปลุกตื่นขึ้นยามดึกนี่นะ) ยังไม่สามารถตื่นขึ้นจากความฝันร้าย
เมื่อหันไปพบเห็นรายการโทรทัศน์ที่กำลังฉายเกี่ยวกับสามี(และตนเอง) แม้ว่า Julie จะไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา แต่เฉดโทนสีพื้นหลัง (ตอนนั้นยังอยู่ในบาร์เปลือย) คือสีแดงฉานของเลือด (จะมองว่าเป็นการอ้างอิงถึง Red (1994) ก็ได้เช่นกัน) แฝงนัยยะถึงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง
เราสามารถเปรียบเทียบเรื่องราว/สภาวะทางอารมณ์ของ Lucille เมื่อบิดาเข้ามาในบาร์แห่งนี้ = การพบเห็นชู้รัก ภาพบาดตาบาดใจในโทรทัศน์ของ Julie ต่างเป็นสิ่งที่พวกเธอทั้งสองมิอาจอดรนทน ยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น!
ผมนึกอยู่ตั้งนานว่าสถานที่แห่งนี้เคยพบเห็นตอนไหน? ลองค้นหาข้อมูลก็พบเจอ Rue de l’Alboni หนึ่งในสถานที่ถ่ายทำ Inception (2010) (และยัง Last Tango in Paris (1972)) มันคือบันไดยืดได้ในฉากสถาปนิกแห่งความฝัน (ระหว่างที่ Leo เดินเล่นกับ Ellen Page ใช้ชื่อตอนยังเล่นหนังเรื่องนั้นอยู่นะครับ)
นี่คือฉากที่ Julie ออกวิ่งติดตามรถของ Olivier ขณะกำลังเคลื่อนแล่นออกไป ตะโกนร้องเรียกให้หยุดรถ และพูดโน้มน้าวให้หยุดแต่งต่อบทเพลง Song for the Unification of Europe แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถหยุดได้!
Olivier ชักชวน Julie ให้มาช่วยแต่งต่อบทเพลง Song for the Unification of Europe เพราะเธออาจคือผู้ประพันธ์ตัวจริง หรือไม่ก็ร่วมเขียนขึ้นกับสามีผู้ล่วงลับ เลยน่าจะเข้าใจความครุ่นคิด ที่มาที่ไป แม้หญิงสาวยังคงตอบปัดปฏิเสธ แต่ก็ได้ให้คำแนะนำบางอย่าง
การเดินเข้ามาด้านหลังของ Olivier ให้ความรู้สึกน่าหวาดสะพรึงทีเดียว (ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นฝ่ายหญิงคงโดนปล้ำ ข่มขืนแล้วละ!) แต่ในบริบทนี้สื่อถึงเขาเป็นได้เพียงผู้ติดตาม ถูกร่มเงาของเธอบดบังอยู่ด้านหลัง เพราะเรื่องการแต่งเพลงไม่ได้มีความสามารถระดับเดียว Julie หรือสามีผู้ล่วง Patrice
หนังพยายามสร้างความคลุมเคลือว่า Julie เป็นคน(ร่วม)ประพันธ์บทเพลงนี้หรือไม่? แต่นี่สะท้อนค่านิยมของคีตกวียุคสมัยก่อน ลองระลึกนึกดูนะครับว่ามีนักแต่งเพลงหญิงชื่อดังก้องโลกบ้างไหม? คำตอบคือไม่มีสักคนเดียว! โลกของการแต่งเพลงอิสตรีคือช้างเท้าหลัง ต้องคอยอยู่ภายใต้ร่มเงาบุรุษ แต่หลังจากเธอสูญเสียสามี/ชายคนรัก นี่คือ ‘เสรีภาพ’ ในการเลือกตัดสินใจว่าจะก้าวออกจากร่มเงา หรือยินยอมให้เงาก้าวขึ้นมาอยู่ในแสงสว่าง
ใครที่เคยรับชม Three Colours: White (1993) ก็น่าจะมักคุ้นเคยกับฉากนี้ตั้งแต่ต้นเรื่อง พบเห็นสองนักแสดงนำ Zbigniew Zamachowski และ Julie Delpy เป็นการสลับกัน Cameo เพื่อเชื่อมโยงถึงไตรภาคเดียวกัน (Binoche ก็มารับเชิญในฉากนี้)
what about equality? Is it because I don’t speak French that the court won’t hear my case?
Karol Karol
คำพูดประโยคนี้ถือเป็นใจความหลักของภาพยนตร์เรื่อง White (1993) แต่เมื่อ Jule แอบได้ยินใน Blue (1993) ระหว่างกำลังสอดแนมชู้รักของสามี สามารถตีความในลักษณะ ภรรยา=หญิงชู้ ทำไมมนุษย์ถึงมีหลายผัวหลายเมียไม่ได้?
การเป็นภาคต่อของ White (1993) สามารถมองเป็นอีกไทม์ไลน์ของ Blue (1993) ในกรณีที่ Julie จับได้ว่าสามีแอบคบชู้นอกใจ (เหตุผลจริงๆของ White จะกลับตารปัตรตรงกันข้าม คือสามีนกเขาไม่ขัน ตั้งแต่แต่งงานยังไม่เคยร่วมรักภรรยา) นี่น่าจะคือเหตุการณ์บนชั้นศาล ฟ้องหย่าร้าง ไม่ต้องการอาศัยอยู่ร่วมชายคา บังเกิดความโกรธเกลียด ต้องการแก้แค้นเอาคืนให้สาสม!
การเผชิญหน้าระหว่าง Julie กับชู้รักสามี Sandrine สถานที่คือในห้องน้ำสำหรับขับถ่าย ระบายของเสียออกจากร่างกาย หรือปลดเปลื้องความรู้สึกที่ภายในจิตใจออกมา
- ทางฝั่งของ Julie ด้านหลังปกคลุมด้วยความมืดมิด ความมืดอาบฉาบครึ่งหนึ่งของใบหน้า สะท้อนสภาวะทางจิตใจอันมืดหมองหม่น ไร้หนทางออก
- ฝั่งของ Sandrine จะมีแสงสว่าง อ่างล้างหน้า และประตูทางออก ลึกๆเธอคงเสียใจในสิ่งที่ทำลงไป ไม่ตั้งใจจะปล่อยตัวตั้งครรภ์ แต่หลังจากเขาประสบโศกนาฎกรรม นี่คือสิ่งทำให้ตนเองบังเกิดความหวังในการมีชีวิตต่อไป
หลังการเผชิญหน้ากับ Sandrine ต้องถือว่า Julie อยู่ในจุดตกต่ำที่สุด มืดมิดที่สุดของชีวิต ขณะอยู่ในสระว่ายน้ำ (ครั้งที่สี่/ครั้งสุดท้าย) ก็ดำดิ่งลงสู่ก้นเบื้องลึก แวบแรกเหมือนตั้งใจจะฆ่าตัวตาย
แต่หลังจากนั้นกล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนหมุนรอบตัวละคร 180 องศา พบเห็นพื้นหลังจากที่เคยมืดมิด ค่อยๆพบเห็นแสงสว่างจากอีกฟากฝั่งหนึ่ง และวินาทีนั้นเธอก็ลอยตัวกลับขึ้นมา โผล่ศีรษะขึ้นน้ำ ราวกับว่าต่อจากนี้ทุกสิ่งอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลง กลับตารปัตรขั้วตรงข้าม!
นี่ถือเป็นวินาทีจุดเปลี่ยนทัศนคติของ Julie จากเคยเก็บกด อัดอั้น ต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง (แต่ยังไม่สามารถปล่อยละวางความสูญเสีย) หลังจากได้เผชิญหน้า Sandrine ที่ถือเป็นจุดตกต่ำ/มืดมิดที่สุดของชีวิต ก็คงไม่มีอะไรย่ำแย่ไปกว่านี้ เลยถึงเวลาปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเอง สำหรับการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
หลังจากครุ่นคิดได้เช่นนั้น Julie ตั้งใจจะไปเยี่ยมเยียนมารดา แต่แค่เพียงจับจ้องมองอยู่ภายนอก (ไม่ได้เข้าไปหา) พบเห็นโทรทัศน์ฉายการแสดงเดินบนเส้นลวด (Man on Wire) เป็นกายกรรมที่ต้องใช้ความสมดุลถึงสามารถก้าวข้ามผ่านจากฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง
สะท้อนเข้ากับ Julie ที่ขณะนั้นได้ค้นพบสมดุลของตนเอง รับรู้แล้วว่าฉันไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียว ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เพราะสิ่งเคยสูญเสียมันยังคงตราฝังอยู่ในใจ แต่เรายังคงต้องก้าวดำเนินต่อไป เผชิญหน้าความจริง เรียนรู้จักการปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น
Julie เดินทางมาหา Olivier ครานี้ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ต้องการร่วมแต่งบทเพลง Song for the Unification of Europe ให้แล้วเสร็จสรรพ ไม่มีอะไรฉุดเหนี่ยวรั้ง หยุดยับยั้งได้อีก! ซึ่งระหว่างการทำงาน ลองผิดลองถูก ท่วงทำนองปรับเปลี่ยนตามคำพูด กล้องจะถูกตั้งทิ้งไว้เฉยๆ จากนั้นค่อยๆปรับให้เบลอหลุดโฟกัส แต่ชีวิต(และการทำงาน)ยังคงดำเนินต่อไป
ผมมองนัยยะการเบลอหลุดโฟกัส คล้ายๆกับตอน Fade-to-Black แต่ในบริบทนี้ช่วงเวลาของ Julie ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เป็น ‘lost in thought’ มัวแต่ครุ่นคิด/ทำงาน จนหลงลืมเวลา เคลื่อนพานผ่านไปโดยไม่ทันรู้ตัว
ก่อนที่ Julie จะเขียนบทเพลงท่อนสุดท้าย เธอหวนกลับมาที่คฤหาสถ์หลังเก่าเพื่อเปลี่ยนประตู/เปลี่ยนเจ้าของ ต้องการมอบบ้านหลังนี้ให้ Sandrine อาศัยอยู่ร่วมกับบุตรชาย แต่วินาทีนั้นเองเธอกลับได้รับเสียงหัวเราะ … นี่ล้อกับตอนกลางเรื่องที่ Julie หัวเราะเมื่อระลึกนึกถึงเรื่องเล่าของสามี ชอบพูดตบมุกตลกแบบเน้นๆย้ำๆ ซ้ำๆอยู่บ่อยครั้งจนหาความน่าเชื่อถือไม่ค่อยได้
Sandrine บังเกิดรอยยิ้มขึ้นมา ก็เพราะการที่ Patrice ชอบพูดย้ำๆซ้ำๆเกี่ยวกับ Julie ว่าดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ สามารถให้อภัยได้ทุกสิ่งอย่าง บ่อยครั้งจนไม่อยากจะเชื่อฟัง จนกระทั่งเมื่อพบเจอเผชิญหน้าถึงตระหนักรับรู้ว่าทั้งหมดเป็นความจริง!
Julie มุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากในการเขียนท่อนสุดท้ายของบทเพลง Song for the Unification of Europe เมื่อแล้วเสร็จสรรพก็โทรศัพท์ติดต่อหา Olivier แต่เขากลับพูดบอกว่าอยากจะแต่งตอนจบด้วยตนเอง (พบเห็นภาพสะท้อนใบหน้าบนเปียโน) แม้มันอาจไม่ไพเราะเพราะพริ้งเท่า แต่ก็สามารถใช้ชื่อตนเองเป็นผู้ประพันธ์โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ นั่นสร้างความผิดหวังต่อหญิงสาวอย่างรุนแรงถึงขนาดหันหลังให้กล้อง ถึงอย่างนั้นเธอยังสามารถอดรนทน ยินยอมรับ เผชิญหน้ากับความจริง ตระหนักว่าเสรีภาพที่เคยได้รับ ตอนนี้กลับสูญเสียมันไปอีกครั้ง!
นี่คือสิ่งที่ Julie ต้องแลกมากับความรัก ทำให้สูญเสีย’เสรีภาพ’ในการครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก ถูกควบคุมครอบงำ ไร้สิทธิ์เป็นเจ้าของบทประพันธ์ แต่สิ่งได้รับกลับมาคือการไม่ต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว ทนทุกข์ทรมานอยู่ตัวคนเดียว และการมีเพศสัมพันธ์ทำให้ล่องลอยสู่สรวงสวรรค์
Julie กับ Olivier เหมือนจะร่วมรักกันตรงกระจกใส ทำให้เห็นใบหน้า/เรือนร่างกายแนบติดกำแพงที่มองไม่เห็น นั่นสื่อถึงการสูญเสีย ‘เสรีภาพ’ ความรักทำให้มนุษย์ต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบความสัมพันธ์ เชื่อมยึดติดพวกเขาไว้ด้วยกัน แต่นั่นคือสิ่งที่จะทำให้มนุษย์สามารถล่องลอยโบยบินไปถึงจุดสูงสุดบนสรวงสวรรค์ ค่อยๆพบเห็นดวงดาวระยิบระยับ (แต่แลดูเหมือนแสงไฟจากตึกรามบ้านช่องเสียมากกว่า)
อีกสิ่งที่สร้างความฉงนให้ผมมากๆก็คือรากหญ้า/ฟาง ดูเหมือนรังนก นั่นควรจะอยู่ด้านล่างไม่ใช่หรือ? แต่ภาพช็อตนี้กลับพลิกตารปัตร ซึ่งสามารถสื่อถึงโลกทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนแปลงของตัวละคร สะท้อนถึง’เสรีภาพ’ที่สูญเสียไป เลยไม่สามารถโบกโบยบินสู่ท้องฟ้าไกล และกล้องเคลื่อนขึ้นสู่ความมืดมิด ดำสนิท หรือภายใต้จิตวิญญาณของมวลมนุษย์
ท่าทางการร่วมรัก Julie นอนแนบติดกับกระจก ส่วน Olivier เข้ามาจากด้านหลัง (แบบเดียวกับช็อตที่เขายืนด้านหลัง ภายใต้ร่มเงาของหญิงสาว) มีคำเรียกว่าท่าช้อน ‘spooning’ โดยที่ฝ่ายชายเป็นผู้ควบคุมเกมจากด้านหลัง (แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเข้าทางประตูหลังนะครับ)
กล้องค่อยๆแพนนิ่งพานผ่านตัวละครทั้งหลายที่ Julie ประสบพบเจอ มีปฏิสัมพันธ์ เชื่อมโยงใยถึงกัน ซึ่งแทบทั้งนั้นต่างกำลังจับต้อง/พบเห็นภาพสะท้อนบางสิ่งอย่าง
- ชายหนุ่มที่เคยให้ความช่วยเหลือ Julie และได้รับมอบจี้ไม้กางเขนตอบแทน ตื่นขึ้นยามดึกเหมือนสัมผัสได้ถึงความหนาวเหน็บ เลยเอื้อมมือจับต้องสร้อยคออันนั้น สามารถมอบความเชื่อมั่นศรัทธา ทำให้จิตใจเข้มแข็งแกร่ง ไม่หวาดกลัวเกรงต่อสิ่งใด
- มารดากำลัง
นั่งหลับระหว่างรับชมโทรทัศน์ พบเห็นภาพสะท้อนอีกตัวตนที่บิดเบี้ยว หรือคือความทรงจำอันเลือนลาง (จากการล้มป่วย Alzheimer) แต่แสงสว่างที่อาบฉาบใบหน้าของเธอช่างมีความอบอุ่น ไม่มีอะไรให้รู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา - Lucille ในบาร์เปลือยแห่งหนึ่ง พบเห็นเงามืดอาบฉาบครึ่งหนึ่งบนใบหน้า แสดงว่าความระริกระรี้ที่แสดงออกมา คนละอย่างกับธาตุแท้ตัวตน ฉันอยากเป็นคนดี ไม่ได้ต้องการทำอาชีพนี้ ขอแค่ใครสักคนให้การยินยอมรับ และแสงไฟ/ดาวดาราระยิบระยับ คือสัญลักษณ์ความหวังและศรัทธา สักวันหนึ่งฉันจักสามารถก้าวออกไปจากสถานที่แห่งนี้
- Sandrine กำลังทำการอัลตราซาวด์ จับจ้องมองจอมอนิเตอร์พบเห็นทารกน้อยในครรภ์ นั่นคือสัญลักษณ์ของความหวัง การถือกำเนิด เริ่มต้นชีวิตใหม่
- และภาพสุดท้าย(น่าจะ)ในดวงตาของ Julie พบเห็นตัวตนเองในสภาพเปลือยเปล่า นั่งหันหลังกอดเข่า ท่ามกลางความมืดมิด นั่นคือภาพสะท้อนอดีตอันสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ปัจจุบันมันก็ยังคงอยู่อย่างนั้น แต่หญิงสาวสามารถยินยอมรับ(ว่ามันคงไม่มีทางสูญหายไป) สามารถปรับตัว และเริ่มต้นชีวิตใหม่
แซว: ภาพสะท้อนในดวงตาที่พบเห็นตนเองในสภาพเปลือยเปล่า ชวนให้นึกถึงตอนจบภาพยนตร์ Camera Buff (1985) ที่ก็มีลักษณะตัวละครหันหน้ากล้องเข้าหาตนเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการครุ่นคิดทบทวนทุกสิ่งอย่าง ว่ามีความถูกต้องเหมาะสม ควรหรือไม่ควร (คือวินาทีที่ผู้กำกับกลายเป็นศิลปินภาพยนตร์)
นี่เป็นภาพที่ละม้ายคล้ายๆช็อตจบของ The Double Life of Veronique (1991) (ฉบับฉายยุโรป) ตัวละครนั่งอยู่ในรถ พบเห็นภาพสะท้อนบนกระจก(หน้ารถ) สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจ สภาวะทางอารมณ์ของหญิงสาว สังเกตว่าช่วงๆแรกยังปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่จักค่อยๆได้รับแสงสว่าง(สีน้ำเงิน)อันเลือนลาง เคลื่อนเลื่อนเข้ามาบดบังใบหน้าทีละนิด
Binoche จงใจแอบยิ้มมุมปากเล็กๆ (เหมือนจะไม่มีในบทหนัง) เพื่อสื่อว่าแม้ตัวละครยังคงต้องอดรนทนทุกข์ทรมานกับสิ่งต่างๆที่อยู่ภายในจิตใจ แต่หลังจากนี้เมื่อได้พบเจอความรัก/ศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า ชีวิตก็จักเอ่อล้นด้วยหนทางหวัง
ตัดต่อโดย Jacques Witta (เกิดปี 1934) สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำผู้กำกับ Claude Berri, Jean Becker แต่โด่งดังจากการร่วมงาน Krzysztof Kieślowski ตั้งแต่ The Double Life of Véronique (1991), Three Colors: Blue (1994) และ Three Colors: Red (1994)
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Julie de Courcy ตั้งแต่หลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีสภาพบอบช้ำทั้งร่างกาย-จิตใจ → เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านอาการบาดเจ็บเริ่มทุเลา แต่สภาพจิตใจยังเต็มไปด้วยความโศกเศร้า มิอาจปล่อยละวางความสูญเสีย จึงตัดสินใจละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง หลบหนีไปอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ → ถึงอย่างนั้นอดีตยังคงระราวี โดยเฉพาะหลังจากเพื่อนร่วมงาน Olivier Benôit ติดตามมาพบเจอ ทำให้ความลับของสามีค่อยๆได้รับการเปิดเผย → เลยจำใจต้องเผชิญหน้า ยินยอมรับความจริง จากนั้นทุกสิ่งอย่างก็เริ่มปรับเปลี่ยนแปลงไป
- อารัมบท, อุบัติเหตุทางรถยนต์
- องก์หนึ่ง, ปฏิกิริยาหลังการสูญเสีย
- Julie ต้องการคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่ไม่สามารถกล้ำกลืนได้ลง
- ช่วงการพักรักษาตัว รับชมถ่ายทอดสดพิธีศพ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์นักข่าว
- องก์สอง, ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง หลบหนีไปให้ไกล ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่
- ประกาศขายบ้าน ขายทุกสิ่งอย่าง รวมถึงพยายามทำลายผลงานชิ้นสุดท้ายของสามี
- ร่วมรักกับเพื่อนร่วมงาน Olivier Benôit (ที่แอบชื่นชอบมานาน) แต่กลับทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ลงกว่าเดิม
- หลบหนีมาอาศัยอยู่ยัง Rue Mouffetard
- องก์สาม, อดีตยังคงระราวี ความลับค่อยๆได้รับการเปิดเผย
- พบเจอชายหนุ่มที่ช่วยเหลือ Julie ให้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนั้น ต้องการมอบคืนจี้ไม้กางเขน แต่มันทำให้เธอหวนระลึกถึงอดีตเลยปฏิเสธยอมรับ
- พบเจอครอบครัวหนูในห้องเช่า กลับไปหามารดาป่วยโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) ค้นพบว่านั่นคือบาดแผลทางใจวัยเด็ก (Traumatic Childhood) เลยตัดสินใจขอยืมแมวของเพื่อนข้างห้องใช้กำจัดพวกมัน
- Olivier ติดตามมาพบเจอ Julie โน้มน้าวให้ร่วมทำเพลงสุดท้ายของสามีเธอให้เสร็จสรรพ
- ระหว่างกำลังปลอบใจ Lucille ยังไนท์คลับแห่งหนึ่ง Julie ค้นพบการมีตัวตนชู้รักของสามีจากสารคดีฉายทางโทรทัศน์ (รวมถึงฉบับคัทลอกบทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรปของสามี ตกอยู่ในมือของ Olivier)
- องก์สี่, เรียนรู้จักการเผชิญหน้า ยินยอมรับความจริง
- Julie เดินทางไปเผชิญหน้ากับชู้รัก แต่พอเห็นเธอตั้งครรภ์จึงมอบคฤหาสถ์ที่เคยตั้งใจประกาศขายให้
- หวนกลับไปหา Olivier ร่วมทำเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรปจนแล้วเสร็จ และยินยอมรับความรักของเขา
- ปัจฉิมบท, ทบทวนสิ่งต่างๆบังเกิดขึ้น แม้จิตใจยังเจ็บปวดรวดร้าว แต่มุมปากปรากฎรอยยิ้มบางๆ
เทคนิคที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของหนัง! เมื่อใครบางคนทำให้ Julie หวนระลึกถึงสามีผู้ล่วงลับ จะมีการ Fade-To-Black พร้อมเสียงเพลงท่อนแรกออร์เคสตรา(ที่ยังแต่งไม่เสร็จ) ผ่านไปประมาณ 3-4 วินาที ถึงค่อยเฟดกลับมาตำแหน่งเดิม นี่คือภาษาภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ Kieślowski ครุ่นคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยบอกว่าเป็นการหยุดเวลาชีวิต(ของ Julie) สื่อถึงอดีตที่ยังคงติดตามมาหลอกหลอน (ทั้งภาพและเสียง)
at a certain moment, time really does pass for Julie while at the same time, it stands still. Not only does her music come back to haunt her at a certain point, but time stands still for a moment.
Krzysztof Kieślowski
ผมครุ่นคิดว่าโครงสร้างเดิมของหนังที่นำเสนอผ่านมุมมองนักข่าว (ตัวละครที่เคยมาติดต่อขอสัมภาษณ์ Julie แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธ) แนวโน้มสูงมากๆจะมีลักษณะคล้าย Citizen Kane (1941) คือไปสัมภาษณ์ตัวละครอื่นๆเพื่อรวบรวมข้อมูลมาทำรายการข่าว (ที่ออกฉายผ่านโทรทัศน์) ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดของ Julie น่าจะมีลักษณะย้อนอดีต (จากเรื่องเล่าระหว่างการสัมภาษณ์) … โครงสร้างของหนังลักษณะนี้ น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อแทนมุมมองบุคคลนอก หรือคือผู้กำกับ Kieślowski ต่อสถานการณ์ทวีปยุโรป(หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย)เฉกเช่นไร?
การเปลี่ยนโครงสร้างดำเนินเรื่องจากนักข่าวสาวมาเป็น Julie หรือคือจากมุมมองบุคคลที่สาม (Third-Person) มาเป็นบุคคลที่หนึ่ง (First-Person) นี่ทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆในระยะประชิดใกล้ สามารถทำความเข้าใจปฏิกิริยาความรู้สึกของตัวละคร (ไม่ใช่แค่พบเห็นเรื่องราวผ่านๆแบบการนำเสนอมุมมองบุคคลที่สาม) ซึ่งยังสื่อถึงผู้กำกับ Kieślowski แสดงความคิดเห็นต่อ Poland (หรือประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต) ในการเข้าร่วมสหภาพยุโรป
เพลงประกอบโดย Zbigniew Preisner (เกิดปี 1955) นักแต่งเพลงสัญชาติ Polish เกิดที่ Bielsko-Biała วัยเด็กชื่นชอบกีตาร์กับเปียโน หัดเล่น-เขียนบทเพลงด้วยตนเอง (ไม่เคยเข้าศึกษาที่ไหน) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์และปรัชญา Jagiellonian University, Krakow จบออกมาทำงานยังโรงละคร Stary Theater, ระหว่างทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Prognoza pogody (1981) มีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เริ่มร่วมงานกันตั้งแต่ No End (1995) จนถึงเรื่องสุดท้าย Three Colours (Blue, White, Red)
ความที่หนังมีเรื่องราวเกี่ยวกับคีตกวี รวมถึงกระบวนการแต่งเพลง ถือเป็นความท้าทายของ Preisner ที่ต้องร่วมงานผู้กำกับ Kieślowski อย่างใกล้ชิดในทุกๆรายละเอียด และมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำเพลงให้เสร็จสรรพก่อนเริ่มต้นการถ่ายทำ (เพราะเพลงประกอบคือสิ่งกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของหนัง)
He said immediately what he needed. I wrote the music right away, and when he started shooting, he had everything, the theme, the songs, the concert … While making the film, he knew exactly what we were going to do and what emotions the music would create.
Zbigniew Preisner
ขอเริ่มต้นจาก Song for the Unification of Europe ผลงานชิ้นเอก Masterpiece ยอดเยี่ยมที่สุดของ Zbigniew Preisner! หลายคนคงเข้าใจว่าน่าจะมีทั้งสองฉบับของ Julie และ Olivier แต่ในอัลบัมเพลงประกอบกลับเป็นสองฉบับของ Julie และ Patrice (แล้วฉบับที่ควรเป็นของ Olivier หายไปไหนละเนี่ย??) เริ่มต้นเหมือนกันด้วยการประสานเสียงร้อง(คอรัส) เพื่อสื่อถึงการรวมตัวเป็นหนึ่ง จากนั้นความแตกต่างที่สังเกตได้ชัดคือฉบับของ Patrice เปลี่ยนมาขับร้องโดยศิลปินเดี่ยว และท่อนจบฉบับของ Julie จะมีอีกท่วงทำนองต่อท้าย
Patrice’s Version ขับร้องโดยศิลปิน …(ไม่มีระบุนาม)… มอบสัมผัสที่ฟังแล้วเหมือนจับต้องได้ อนาคตอันใกล้ เชื่อว่าอีกไม่นานมนุษย์ชาติจักสามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น (ประเทศในทวีปยุโรปกลายเป็นสหภาพยุโรป) ด้วยอุดมการณ์ที่เรียกว่าความรัก(ชนะทุกสิ่ง)
เนื้อคำร้องภาษากรีกโบราณ (อ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิ้ล 1 Corinthians 13:1-13 น่าจะเป็นภาษาแก่ที่สุดที่มนุษย์สามารถพูดคุยสื่อสาร) กล่าวถึงคำพยากรณ์อนาคต ต่อให้โลกล่มสลาย ขุนเขาพังทลาย แต่ศรัทธาในความรักไม่มีวันพ่ายแพ้ ยังคงเปร่งประกายความหวัง ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือสิ่งที่จะทำให้มนุษยชาติสามารถรวมตัวเป็นหนึ่ง
If I speak in the tongues of men and of angels,
but have not love, I am only a ringing gong or a clanging cymbal
– 1 Corinthians 13:1If I have the gift of prophecy and can fathom all mysteries and all knowledge,
and if I have absolute faith so as to move mountains,
but have not love, I am nothing.…
– 1 Corinthians 13:2Love is patient, love is kind.
It does not envy, it does not boast, it is not proud.
– 1 Corinthians 13:4It bears all things, believes all things,
hopes all things, endures all things.
– 1 Corinthians 13:7Love never fails. But where there are prophecies, they will cease;
where there are tongues, they will be restrained;
where there is knowledge, it will be dismissed.
– 1 Corinthians 13:8And now these three remain: faith, hope, and love;
but the greatest of these is love.
– 1 Corinthians 13:13
โดยส่วนตัวมีความชื่นชอบหลงใหล Julie’s Version >>> Patrice’s Version เพราะเสียงขับร้องโซปราโนของ Elżbieta Towarnicka มอบสัมผัสเหนือจริง ทำให้จิตวิญญาณล่องลอยไป เหมือนสิ่งนามธรรมจับต้องไม่ได้ ซึ่งสะท้อนทัศนคติของผมเองต่อเนื้อคำร้อง ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ มันไม่มีทางเป็นจริง เพียงอุดมคติลมๆแล้งๆของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น!
นี่เป็นบทเพลงที่สะท้อนจิตวิญญาณของ Julie ที่เริ่มต้นไม่ได้เชื่อเรื่องความรัก แต่หลังจากพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ จุดตกต่ำสุดของชีวิต จึงสามารถฟื้นคืนชีพ เริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยเหตุนี้ช่วงท้ายจึงมีปัจฉิมบทต่ออีกท่อน ประสานเสียงร้อง(คอรัส) แทนด้วยถึงการค้นพบศรัทธาแห่งรัก แม้ต้องแลกมาด้วยความรวดร้าวระทม ขื่นขม ยังคงเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน ก็ยังดีกว่าการอดรนทน อาศัยใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง
หนังเต็มไปด้วย Variation ของบทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) บางครั้งมาเป็นท่อนเล็กๆระหว่างอ่านตัวโน๊ต ขณะประพันธ์เพลง แต่น่าสนใจสุดก็คือเสียงขลุ่ยจากนักดนตรีข้างถนน ทั้งๆไม่เคยพบเจอ รับรู้จัก ไร้ความสัมพันธ์ใดๆ เพลงนั้นก็ยังแต่งไม่เสร็จ หมอนี่จะไปได้ยินจากไหน? ซึ่งเหตุผลดังกล่าวใครเคยรับชม The Double Life of Veronique (1991) น่าจะขนลุกขนพอง เข้าใจได้เองโดยอัตโนมัติ!
เรื่องราวของ The Double Life of Veronique (1991) คือหญิงสาวสองคนหน้าตาเหมือนเปี๊ยบ แค่เคยสวนทางกันครั้งเดียว แต่พอเธอคนหนึ่งพลันด่วนเสียชีวิต ทุกสิ่งอย่างได้ถูกส่งต่อ/ราวกับจิตสัมผัสไปให้หญิงสาวอีกคนหนึ่ง กลายเป็นบทเรียนฝังใจไม่ให้กระทำสิ่งใดๆผิดพลาดซ้ำสอง/ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม! … ผมอาจอธิบายเหตุผลได้ไม่ละเอียดนัก ถ้าอยากเข้าใจจริงๆแนะนำให้ไปหา The Double Life of Veronique (1991) มารับชมดูเองนะครับ
ใครเคยรับชม No End (1985) ครั้งที่แรกผู้กำกับ Kieślowski ร่วมงานนักแต่งเพลง Preisner น่าจะรู้สึกมักคุ้นเคย มีความละม้ายคล้าย Funeral Music ซึ่งแทบจะเป็น Main Theme ของภาพยนตร์เรื่องนั้น! ถือเป็นอีกจุดที่เชื่อมโยงถึงกัน มอบสัมผัสท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัย ไร้หนทางออก
ผมเพิ่งมาเห็นว่า Preisner สร้างอีกจุดเชื่อมโยง(ในจักรวาลภาพยนตร์ ‘Kieślowski Universe’) ด้วยการให้ผู้ประพันธ์บทเพลงงานศพนี้คือ Van den Budenmayer คีตกวีสมมติ (ไม่มีตัวตนอยู่จริง) เคยถูกกล่าวถึงครั้งแรกจากผลงาน The Double Life of Veronique (1991) และมีการพูดถึงอีกครั้งตอน Red (1994)
ซึ่งท่อนแรกของ Feneral Music กลายเป็นบทเพลงที่ Julie พอได้ยินแล้วจดจำตราฝังใจ (กลายเป็น Trauma เลยก็ว่าได้) ทุกครั้งเมื่อใครทำให้เธอหวนระลึกถึงสามี ท่วงทำนองนี้ก็จะดังขึ้นมาพร้อมการ Fade-to-Black จอดำไป 3-4 วินาทีแล้วค่อย Fade-In กลับเข้ามาใหม่ (ในอัลบัมใช้ชื่อ Julie – Glimpses of Burial, Ellipsis 1, Ellipsis 2, Ellipsis 3 และบทเพลง Funeral Music จะมีฉบับเครื่องลม Winds, ออร์แกน Organ และออร์เคสตราเต็มวง Full Orchestra)
สำหรับคนที่มองหา Song for the Unification of Europe ฉบับของ Olivier ผมครุ่นคิดว่า Preisner ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเป็น Olivier’s Theme ในอัลบัมพบเห็นอยู่สามบทเพลง Piano, Trial Composition และ Finale ดังขึ้นในช่วงเวลาที่เขาเพิ่งค้นพบ ร่วมประพันธ์/แก้ไขกับ Julie และตอนจบครุ่นคิดขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งมีความแตกต่างจากฉบับของ Julie และ Patrice โดยสิ้นเชิงเลยละ!
ผมเลือกนำเอา Trial Composition ที่บันทึกเสียงสนทนาของ Julie และ Olivier ระหว่างกำลังทำการปรับเปลี่ยนแก้ไข พร้อมทำนองออร์เคสตราที่เปลี่ยนแปลงไปโดยทันที ไม่รู้เหมือนกันว่าทำการบันทึกสดๆ (Live Record) หรืออัดเสียงล่วงหน้า (Pre Record) หรือไปผสมเสียงเอาภายหลัง (Sound Mixing) แต่ก็ต้องชมว่าเป็นการผสมผสานได้อย่างลงตัว พอดิบดี (ในบทหนังคงเขียนรายละเอียดส่วนนี้ไว้อย่างเปะๆทีเดียว!)
Song for the Unification of Europe ฉบับของ Olivier เป็นบทเพลงที่มีเพียงโครงสร้าง หยาบกระด้าง (ดังคำที่เจ้าตัวอธิบายไว้ “a little heavy and awkward”) ไร้ซึ่งจิตวิญญาณเมื่อเทียบกับ Julie หรือ Patrice นี่น่าจะคือเหตุผลที่ Preisner ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น Olivier’s Theme เพราะสะท้อนตัวตนของตัวละครออกมาได้ตรงกว่า
Blue (1993) นำเสนออารมณ์บลู ความเศร้าโศกจากการสูญเสีย เพราะยังมิอาจปล่อยปละละวาง เลยทำการหลบลี้หนีหน้า ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง แล้วอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ปฏิเสธพึ่งพักพิงผู้อื่นใด แต่อดีตกลับติดตามมาระราวี ความลับต่างๆค่อยๆได้รับการเปิดเผย เลยจำต้องยินยอมรับ เผชิญหน้ากับความจริง แม้จิตใจยังเจ็บปวดรวดร้าว แต่มุมปากปรากฎรอยยิ้มบางๆสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่
การหลบหนี ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง ใครๆก็น่าจะบอกได้ว่านั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง! แต่เราสามารถมองคือการถอยหลัง กลับไปตั้งหลักให้มั่นคง (ไม่ใช่ทุกคนจะมีความเข็มแข็งทั้งร่างกาย&จิตใจ) พร้อมเมื่อไหร่ค่อยหวนกลับมาเผชิญหน้า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” ยินยอมรับสิ่งผิดพลาดทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น นั่นถึงจะทำให้ชีวิตสามารถก้าวดำเนินต่อไป
ตั้งแต่สหภาพแรงงาน Solidarity ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 1989 นำไปสู่จุดจบรัฐบาลคอมมิวนิสต์ใน Poland แล้วกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการล่มสลายของกลุ่มตะวันออก (Eastern Bloc) และสหภาพโซเวียต (1989-91) มันช่างพอดิบพอดีในช่วงเวลาที่ผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ก้าวออกมาจากกำแพงอิฐ (ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศ Poland) เริ่มสรรค์สร้างภาพยนตร์ร่วมทุนนานาชาติ The Double Life of Veronique (1991) คือสัญลักษณ์ของการถือกำเนิดใหม่ อาจไม่ใช่ร่างกาย-จิตวิญญาณดั้งเดิม แต่บางสิ่งอย่างได้ถูกส่งต่อจาก Weronika มาเป็น Véronique
สำหรับ Blue (1993) เริ่มต้นที่การสูญเสียครอบครัว สามารถเปรียบเทียบถึงการล่มสลายของกลุ่มตะวันออกและสหภาพโซเวียต (ครอบครัวคอมมิวนิสต์) แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้เมื่อได้รับ ‘เสรีภาพ’ ย่อมต้องมีการพักฟื้น ก้าวถอยหลังไปตั้งหลักให้มั่นคง เสริมสร้างพละกำลังให้ปีกกล้าขาแข็งก่อนกลับมาสู่ประชาคมโลก
ปล. Poland คือสมาชิกประเทศกลุ่มตะวันออก (Eastern Bloc) สามารถแยกตัวจากสหภาพโซเวียตตั้งแต่ Polish October 1956 แค่ยังบริหารประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ (โดยมีสหภาพโซเวียตชักใยอยู่เบื้องหลัง) จนถึงปี 1989
บทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) ที่หนังพยายามเน้นย้ำนักย้ำหนา สามารถสื่อตรงๆถึงสหภาพยุโรป (European Union, EU) ขอเล่าที่มาที่ไปสักหน่อยก่อนก็แล้วกัน ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1952 ประกอบด้วย 6 ประเทศสมาชิก ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก เริ่มจากการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community – ECSC), แล้วต่อมาปี 1957 สมาชิก ECSE ก็มีการลงนามสนธิสัญญากรุงโรม (Treaty of Rome) ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community – EEC), จากนั้นหลายๆประเทศในยุโรปก็เริ่มตอบตกลงเข้าร่วม
- ค.ศ. 1973: สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และไอร์แลนด์
- ค.ศ. 1981: กรีซ
- ค.ศ. 1986: สเปน และโปรตุเกส
และเมื่อปี ค.ศ. 1992 มีการลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรป (Treaty of the European Union หรือ Maastricht Treaty) ทำให้มีคำเรียกใหม่ สหภาพยุโรป (European Union, EU) ด้วยสามจุดประสงค์หลัก
- เพื่อเป็นประชาคมของประเทศในทวีปยุโรป
- เสริมสร้างนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง(ในทวีปยุโรป)
- และความร่วมมือด้านกิจการยุติธรรม และกิจการภายใน
ผู้กำกับ Kieślowski น่าจะเล็งเห็นถึงอนาคต ความสำคัญของสหภาพยุโรป (EU) ที่จักเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำให้ทุกประเทศ(ในยุโรป)บังเกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกลายเป็นพันธมิตรสำหรับต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย (ที่อาจกลับมาเรืองอำนาจอีกในอนาคต) … ซึ่งหลังจากที่ Julie ยินยอมเผชิญหน้าชู้รักสามี รวมถึงร่วมประพันธ์บทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) จนสำเร็จเสร็จสรรพ สามารถสื่อคำพยากรณ์อนาคตที่ยุโรปจักสามารถรวมตัวกลายเป็นปึกแผ่น!
แซว: ผู้กำกับ Kieślowski เป็นชาว Polish ย่อมคาดหวังว่าประเทศ Poland จะสามารถเข้าร่วมสหภาพยุโรป แต่กว่าจะถึงตอนนั้นก็ต้องรอคอยเมื่อปี ค.ศ. 2004 น่าเสียดายไม่ทันมีชีวิตอยู่เห็น
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าผู้กำกับ Kieślowski รับรู้ว่ามีปัญหาโรคหัวใจตั้งแต่เมื่อไหร่ (คาดว่าตั้งแต่ก่อนสรรค์สร้าง The Double Life of Veronique (1991)) น่าจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่า หลังเสร็จจาก Three Colours Trilogy จะประกาศรีไทร์เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการรักษา (แต่โชคร้ายเสียชีวิตระหว่างกำลังผ่าตัดเปิดหัวใจ) ด้วยเหตุนี้เราสามารถมองเรื่องราวของ Blue (1993) คือปฏิกิริยาหลังรับรู้ว่าตนเองล้มป่วยโรคหัวใจ มีความเสี่ยงสูงในการเข้าผ่าตัด
ปฏิกิริยาของ Kieślowski อาจไม่สาหัสสากันเหมือนตัวละคร (แต่ก็ไม่แน่หรอกนะครับ เพราะผลงานของ ‘auteur’ มักมีความใกล้เคียงผู้สร้างมากๆๆ) คงทำให้เขาเริ่มครุ่นคิดทบทวนตนเอง ตั้งคำถามอภิปรัชญา ฉันเกิดมาเพื่ออะไร? จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่อยากกระทำ เผื่อถ้าพลันด่วนเสียชีวิตก็จักไม่รู้สึกสูญเสียใจเอาภายหลัง
ซึ่งสิ่งสำคัญสูงสุดที่ผู้กำกับ Kieślowski ได้ทำการค้นพบนั้นคือความรัก “the greatest of these is love” อ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิล 1 Corinthians 13:13 แม้เราอาจต้องเจ็บปวดรวดร้าว ทนทุกข์ทรมาน แต่ตราบเท่าที่ยังมีรัก ย่อมสามารถยินยอมรับ ยกโทษให้อภัย ก่อให้เกิดความสันติสุขทั่วทุกแห่งหน
และเป้าหมายชีวิตของเขาต่อจากนั้นก็คือ การเผยแพร่แนวคิด/หลักคำสอนดังกล่าว กลายมาเป็นภาพยนตร์ Blue (1993) ยัดเยียดให้หญิงสาวสามารถค้นพบเจออุดมคติแห่งความรัก คือสิ่งทำให้เธอเปี่ยมด้วยความหวัง กำลังใจ ก้าวข้ามผ่านการสูญเสีย ชีวิตสามารถดำเนินต่อไป … และสหภาพยุโรปรวมตัวกลายเป็นปึกแผ่น (สะท้อนความเพ้อฝัน อนาคตที่อยากให้บังเกิดขึ้น)
เมื่อตอนรับชม Three Colours: White (1993) ผมขำกลิ้งต่อความกลับกลอกปอกลอกของผู้กำกับ Kieślowski นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการแก้แค้น (Revenge Film) เอาคืนอดีตภรรยาอย่างสาสม! แล้วเรียกสิ่งนั้นว่าความเสมอภาคเท่าเทียม Égalité (Equality) มันช่างเป็นอุดมคติแห่งรักที่วิปริต บิดเบี้ยว คอรัปชั่น! แทนที่จะยกโทษให้อภัยไม่ว่าอีกฝั่งฝ่ายกระทำผิดเช่นไร หมดรักเมื่อไหร่ก็แสดงสันดานธาตุแท้ของมนุษย์ออกมา เช่นนั้นหรือ??
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice สามารถคว้ารางวัล Golden Lion เคียงคู่ Short Cuts (1993) ของผู้กำกับ Robert Altman นอกจากนี้ยังได้รางวัลอื่นอีกเยอะแยะไปหมด
- Golden Lion
- Volpi Cup for Best Actress (Juliette Binoche)
- Pasinetti Award: Best Actress (Juliette Binoche)
- Golden Osella: Best Cinematography
- Golden Ciak
- Little Golden Lion
- OCIC Award รางวัลของศาสนคาทอลิก
หนังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในฝรั่งเศส เพียงสัปดาห์แรกจำนวนผู้ชม 155,941 และมีรายงานตัวเลขยอดจำหน่ายตั๋วทั่วโลกเกินกว่า 5+ ล้านใบ (ไม่มีระบุประเทศไหนคนดูเท่าไหร่) ช่วงปลายปีเลยได้เข้าชิง/คว้ารางวัล César Award อยู่หลายสาขา
- César Award
- Best Film
- Best Director
- Best Actress (Juliette Binoche) ** คว้ารางวัล
- Most Promising Actress (Florence Pernel)
- Best Screenplay
- Best Cinematography
- Best Editing ** คว้ารางวัล
- Best Sound ** คว้ารางวัล
- Best Music
น่าเสียดายที่หนังไม่ได้เป็นตัวแทนฝรั่งเศสหรือโปแลนด์ลุ้นรางวัล Oscar (เพราะฝรั่งเศสมองว่าผู้กำกับ Kieślowski เป็นชาว Polish, ขณะที่โปแลนด์บอกว่าเป็นหนัง ‘too French’) แต่ยังได้เข้าชิง Golden Globe Award ถึงสามสาขา
- Golden Globe Award
- Best Foreign Language Film
- Best Actress – Drama (Juliette Binoche)
- Best Original Score
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ High-Definition คุณภาพเสียง 2.0 DTS-HD โดยรวมถือว่ายอดเยี่ยม สามารถหารับชมช่องทางออนไลน์ได้แทบจะทุกค่ายใหญ่ๆ แต่ถ้าต้องการซื้อแผ่น Blu-Ray เลือกได้ทั้งฉบับของ MK2 และ Criterion (สแกนได้ดีทั้งคู่แต่ Criterion จะมี Special Feature มากกว่าพอสมควร)
ส่วนฉบับบูรณะ 4K เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2022 เมืองไทยนำเข้าฉายกรกฎา-สิงหา-กันยา ไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกาเลยนะครับ ถ้าใครพลาดโอกาสนี้คงต้องรออีกพักใหญ่ๆก่อนสามารถหารับชมช่องทางอื่น
ระหว่างรับชมบอกเลยว่าผมชื่นชอบหนังอย่างมากๆ ประทับใจในลูกเล่นลีลา พัฒนาเทคนิคภาษาขึ้นใหม่ มีอะไรๆชวนให้ขบครุ่นคิดมากมาย แต่ทุกสิ่งอย่างก็พังทลายในห้านาทีสุดท้าย เมื่อเหตุผลของการหวนกลับไปของตัวละครเพื่อตอบสนองอุดมคติแห่งความรัก ยินยอมอดรนทนทุกข์ทรมานแม้ถูกทรยศหักหลัง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการมีเพศสัมพันธ์ ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ นั่นสร้างความหงุดหงิดน่ารำคาญใจอย่างโคตรๆๆๆรุนแรง!
คือมันก็ไม่ผิดอะไรที่ความรักจะสามารถทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นเสรีภาพที่ผู้กำกับ Kieślowski ต้องการนำเสนอออกมา แต่นั่นคือโลกทัศนคติชาติตะวันตกที่ขัดย้อนแย้งกับแนวคิดชาวตะวันออก ไม่เข้าใจแนวคิดที่แท้จริงของการปล่อยละวาง สนเพียงสิ่งสามารถตอบสนองความต้องการ เติมเต็มตัณหาราคะ แม้ต้องตกนรกทั้งเป็นก็อดรนทนไหว เชื่อว่าสรวงสวรรค์คือสิ่งสำคัญสูงสุด
แนะนำหนังกับคนที่กำลังมีอาการซึมเศร้า เพิ่งประสบเหตุการณ์สูญเสีย, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษาสภาวะทางจิตใจตัวละคร, นักแต่งเพลง วาทยากร ชื่อชอบบทเพลงคลาสสิก, ตากล้อง ช่างไฟ ทำงานเกี่ยวกับเฉดสีสัน, คนทำงานสายการแสดง และแฟนๆ Juliette Binoche ห้ามพลาดเชียวนะ!
จัดเรต 18+ กับโศกนาฎกรรม อารมณ์เก็บกด เกรี้ยวกราด
Leave a Reply