Three Colours: Red

Three Colours: Red (1994) PolishFrench : Krzysztof Kieślowski ♥♥♥♥♡

แม้คนเราชอบแสดงออกอย่างเป็นมิตรกับคนที่ไม่รู้จัก แต่จิตใจมักเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ครุ่นคิดว่าเขาจะมาร้าย จนกว่าจะได้พูดคุย สานสัมพันธ์ ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ภารดรภาพที่แท้จริงถึงบังเกิดขึ้น

แม้ผมไม่ค่อยชอบตอบจนของ Blue (1993), อคติเกือบทั้งเรื่อง(ยกเว้นตอนจบ)ต่อ White (1994), แต่สำหรับ Red (1994) บอกเลยว่าเต็มไปด้วยความลุ่มหลงใหล เพราะผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ได้ทำการเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งอย่างใน Three Colours Trilogy ตั้งคำถามถึงเหตุผลที่เราควรช่วยเหลือกันและกัน ต่อให้เป็นคนแปลกหน้า หญิงชราหลังค่อม พบเห็นสิ่งไม่ถูกต้องก็ควรตักเตือน พูดห้ามปราม ถึงไม่สามารถหยุดยับยั้งโศกนาฎกรรม แต่บุญบารมีที่สะสมอาจทำให้อยู่รอดปลอดภัย

ในบรรดาไตรภาคสามสี Three Colours, Trois couleurs (French), Trzy kolory (Polish) เรื่องราวของ Red, Rouge, Czerwony มองผิวเผินเหมือนแทบไม่มีอะไร ตัวละครพบเจอ พูดคุย ถกเถียงคำถามอภิปรัชญา แต่ในแง่การครุ่นคิดวิเคราะห์ นัยยะซุกซ่อนเร้น สาสน์สาระที่แท้จริงของหนังนั้น ผมรู้สึกว่ามีความสลับซับซ้อน ปวดกระบาลศีรษะมากที่สุด!

เมื่อตอนออกฉายผู้ชม/นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็ดูหนังไม่เข้าใจ รวมถึง Clint Eastwood ประธานกรรมการเทศกาลหนังเมือง Cannes ยังไม่มอบรางวัลอะไรให้สักอย่าง! เว้นแต่ผู้กำกับ Quentin Tarantino กล่าวยกย่องสรรเสริญ Red (1994) ว่ามีความลุ่มลึกล้ำเหนือชั้นกว่าผลงานของตนเอง Pulp Fiction (1994) ที่ตัดหน้าคว้า Palme d’Or เสียอีก!

เช่นนั้นแล้วอะไรคือความยอดเยี่ยมของ Red (1994)? หนังพยายามนำเสนอในสิ่งที่เรียกว่า ‘สายสัมพันธ์’ แม้ตัวละครไม่เคยพบเจอรับรู้จัก แต่กลับมีบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงใยถึงกัน ยกตัวอย่างเรื่องราวของทนายหนุ่ม แฟนสาวแอบคบชู้นอกใจ จับได้คาหนังคาเขา โดยไม่รู้ตัวคือนั่นสิ่งเคยบังเกิดขึ้นกับทนายวัยเกษียณ (ไม่ได้รับรู้จักกันแต่อย่างใด) แถมยังพูดเล่าเหตุการณ์ต่อจากนั้น (ที่ไม่ได้นำเสนอในส่วนของทนายหนุ่ม) … ตลอดทั้งเรื่องจะหลายสิ่งอย่างที่แสดงถึงความเชื่อมโยงจากคน-สัตว์-สิ่งของ ไปยังอีกสิ่งของ-สัตว์-คน (เหมือนสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อการสื่อสาร) กล้องเคลื่อนจากอพาร์ทเมนท์หลังหนึ่งไปยังอีกห้องฟากฝั่งตรงข้ามถนน (ต่างไม่เคยรับรู้จักกัน) และที่ทำให้ผมสั่นสะท้านหัวใจมากสุดก็คือสองภาพนี้ โปสเตอร์ตอนถ่ายแบบและช็อตสุดท้ายของหนัง เห็นความละม้ายคล้ายกันไหมเอ่ย?

Krzysztof Kieślowski (1941-96) ผู้กำกับชาว Polish เกิดที่ Warsaw ในช่วงที่ Nazi Germany เข้ายึดครอบครอง Poland ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาทำงานวิศวกรโยธา เลี้ยงดูบุตรชายตามแบบ Roman Catholic, พออายุ 16 ถูกส่งไปฝึกฝนอาชีพนักผจญเพลิง เพียงสามเดือนก็ตัดสินใจลาออก จากนั้นเข้าเรียน College for Theatre Technicians จบออกมาต้องการเป็นผู้กำกับละครเวที แต่เพราะไม่มีวุฒิปริญญาเลยไม่ได้รับการจ้างงาน เพื่อหลบหนีเกณฑ์ทหารจึงยื่นใบสมัครถึงสามรอบกว่าจะได้เข้าศึกษาต่อภาพยนตร์ยัง Łódź Film School

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Krzysztof Kieślowski คือ Kes (1969) กำกับโดย Ken Loach

เริ่มต้นยุคแรก Early Work (1966-75), ด้วยการสรรค์สร้างสารคดี บันทึกภาพวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วๆไป The Office (1966), Tramway (1966), From the City of Łódź (1968), Factory (1970), จนกระทั่ง Workers ’71: Nothing About Us Without Us (1971) นำเสนอภาพการชุมนุมประท้วงหยุดงานเมื่อปี 1970 โดยไม่รู้ตัวเริ่มถูกทางการสั่งเซนเซอร์, Curriculum Vitae (1975) เลยแทรกใส่แนวคิดต่อต้านหน่วยงานรัฐ (Anti-Authoritarian) ทำให้โดนเพื่อนร่วมอาชีพตำหนิต่อว่า ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง

Polish Film Carrier (1975-88), ช่วงที่ Kieślowski เริ่มสรรค์สร้างผลงานที่ไม่ใช่สารคดี ภาพยนตร์เรื่องแรก Personnel (1975) ** คว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนัง Mannheim International Filmfestival (ที่ประเทศ Germany), ติดตามด้วย The Scar (1976), Camera Buff (1979), Blind Chance (1981), No End (1984) และผลงานชิ้นเอก Dekalog (1988) ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ความยาวสิบตอน ได้แรงบันดาลใจจากพระบัญญัติ 10 ประการ

International Film Carrier (1991-94), แม้ช่วงสุดท้ายในชีวิตและอาชีพการงานของ Kieślowski จะมีผลงานเพียง 4 เรื่อง แต่ล้วนประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ การันตีความเป็นตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ The Double Life of Veronique (1991), Blue (1993), White (1994), Red (1994)


ทนายความ/นักเขียน Krzysztof Piesiewicz (รับรู้จักผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski มาตั้งแต่ผลงาน No End (1985)) ระหว่างกำลังสรรค์สร้าง The Double Life of Veronique (1991) เป็นผู้เสนอแนะแนวคิดเกี่ยวสรรค์สร้างภาพยนตร์ไตรภาค โดยอ้างอิงจากคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศส Liberté (Liberty), Égalité (Equality), Fraternité (Fraternity) เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ

The words [liberté, egalité, fraternité] are French because the money [to fund the films] is French. If the money had been of a different nationality we would have titled the films differently, or they might have had a different cultural connotation. But the films would probably have been the same.

Krzysztof Kieślowski

โดยความตั้งใจแรกเริ่มต้องการทำออกมาให้คล้ายๆ Dekalog (1988) ที่อ้างอิงพระบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandments) สรรค์สร้างสิบเรื่องราวที่มีสาสน์สาระอ้างอิงพระบัญญัติทั้งสิบข้อ แต่หลังจากเริ่มต้นพัฒนาบท Blue พวกเขาก็ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรเกี่ยวกับแนวคิดเสรีภาพ Liberté (Liberty) เลยสักนิด!

ผู้กำกับ Kieślowski เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Red (1994) มีความยุ่งยากท้าทาย แนวคิดสลับซับซ้อนที่สุด เพราะต้องนำทุกสรรพสิ่งอย่างในชีวิต(ไม่ใช่แค่ Blue กับ White)มาผสมผสานคลุกเคล้า ค้นหาวิธีขมวดปมปริศนา เพื่อทำให้ผู้ชมตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของภารดรภาพ Fraternité (Fraternity)

สิ่งที่ผู้กำกับ Kieślowski ครุ่นคิดได้ก็คือการตั้งคำถามปรัชญา ทำไมคนเราถึงชอบช่วยเหลือผู้อื่น? เพื่อตอบสนองบางสิ่งอย่างภายใน? ต้องการเรียกร้องความสนใจ? เชื่อว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม? นั่นทำให้เกิดประเด็นต่อมา ถ้าเราทำในสิ่งที่เขาไม่อยากได้รับความช่วยเหลือ ก็เท่ากับการไปสอดรู้สอดเห็น เสือกเรื่องชาวบ้าน บางครั้งปล่อยปละละไว้ อาจไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา … เมื่อการถกเถียงระหว่างหญิงสาวผู้มีจิตใจเมตตา ชอบให้การช่วยเหลือผู้อื่นใด vs. ชายสูงวัยนิสัยเห็นแก่ตัวโคตรๆ วันๆเอาแต่สอดแนมเรื่องของชาวบ้าน โดยไม่รู้ตัวจิตสำนึกทางภารดรภาพจึงได้บังเกิดขึ้น!

There’s something beautiful in the fact that we can give something of ourselves. But if it turns out that, while giving of ourselves, we are doing so in order to have a better opinion of ourselves, then immediately there’s a blemish on this beauty. Is this beauty pure? Or is it always a little marred? That’s the question the film asks. We don’t know the answer, nor do we want to know it. We’re simply reflecting on the question once again.


ภราดรภาพ ภราตรภาพ ภราตฤภาพ (คำนาม) หมายถึง ความเป็นฉันพี่น้องกัน, ผมไปพบเจอในเว็บไซด์สถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้คำอธิบายเป็นภาษาไทยไว้อย่างน่าสนใจ

…มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันดั่งกล่าวแล้ว มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์คนอื่นก็รับทุกข์ด้วย จะเป็นโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้น เพียงแต่มนุษย์มีความอิสระและมีความเสมอภาค จึงยังไม่เพียงพอ คือจำต้องมีการช่วยเหลือกันฉันท์พี่น้องด้วย…

ความคิดเรื่องภราดรภาพนี้มิใช่ปรัชญา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นเพียงวาทกรรม หากหลักการนี้เชื่อมโยงกับธรรมชาติของมนุษย์เราอย่างแท้จริง จากการศึกษาจิตวิทยาด้านวิวัฒนาการในระยะหลังได้ค้นพบว่ามนุษย์เรามีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและผูกพันกับคนอื่น ในทางชีววิทยาเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับคนอื่น ออกซิโทซินซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขจะหลั่งออกมา ส่งผลให้เราวิตกกังวลน้อยลงและมีสมาธิดีขึ้น การพูดคุยกับคนอื่นส่งผลดีต่อร่างกายโดยตรงด้วยผลของฮอร์โมนนั้น

reference: https://pridi.or.th/th/content/2020/04/43


Valentine Dussaut (รับบทโดย Irène Jacob) นักศึกษา University of Geneva ชื่นชอบเต้นบัลเล่ต์ รับงานพาร์ทไทม์เป็นนางแบบ โมเดลลิ่ง บ่อยครั้งมักคุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่มอาศัยอยู่ที่ London แต่เขามักพยายามควบคุมครอบงำ ไม่ต้องการให้เธอทำโน่นนี่นั่น รวมถึงถ่ายแบบหมากฝรั่งยี่ห้อหนึ่ง, อพาร์ทเม้นท์ฝั่งตรงข้ามเป็นที่พักอาศัยของนักศึกษากฎหมาย Auguste (รับบทโดย Jean-Pierre Lorit) กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบนิติกร ครองรักกับแฟนสาว Karin (รับบทโดย Frederique Feder) ที่ชอบทำตัวลับๆล่อๆอย่างไม่ทราบสาเหตุ

วันหนึ่งระหว่างทางกลับอพาร์ทเม้นท์ Auguste ทำกองหนังสือตกหล่นกลางถนน ระหว่างก้มลงเก็บพบเห็นหน้าที่เปิดค้างอยู่ ท่องจดจำขึ้นใจ ปรากฎว่าออกเป็นข้อสอบ ตอบถูกต้อง เลยกำลังจะได้เป็นผู้พิพากษาสมใจ, ขณะที่ Valentine ขับรถพุ่งชนสุนัขชื่อ Rita ออกติดตามหาเจ้าของจนพบเจอผู้พิพากษาวัยเกษียณ Joseph Kern (รับบทโดย Jean-Louis Trintignant) ที่ดูไม่ยี่หร่ากับมันสักเท่าไหร่ เธอเลยตัดสินพาไปหาสัตวแพทย์ รับรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ ต้องการจะรับเลี้ยงดู แต่สุดท้ายมันวิ่งกลับไปเจ้าของที่แท้จริงอยู่ดี

การหวนกลับมาเยี่ยมเยี่ยน Joseph ทำให้รับรู้ถึงงานอดิเรกที่ชอบสอดแนม ดักฟังโทรศัพท์เพื่อนข้างบ้าง ทั้งรู้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่ Valentine ก็ไม่สามารถนำเรื่องราวดังกล่าวไปพูดบอกความจริง เพราะตระหนักว่ามันอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวนั้น แต่สุดท้ายเขากลับเขียนจดหมายรับสารภาพผิด เดินทางไปขึ้นศาลโดยมี Auguste เป็นผู้พิจารณาคดี ซึ่งหลังจากเสร็จงานวันนั้นพยายามโทรศัพท์หาแฟนสาว Karin แต่ไม่ยินยอมรับสาย เลยติดตามไปที่ห้องพักด้วยความเคลือบแคลงสงสัย แอบปีนป่ายขึ้นระเบียงหน้าตา และพบภาพบาดตาบาดใจ

หลังงานเดินแบบแฟชั่นโชว์ Valentine มีโอกาสพบเจอ Joseph ที่เหมือนจะกลับตัวกลับใจ เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวชีวิตในอดีต เคยตกหลุมรักแฟนสาวคนหนึ่งแล้วจับได้ว่าคบชู้คาหนังคาเขา, สอบผ่านผู้พิพากษาเพราะจดจำหน้าหนังสือที่ตกอยู่บนพื้นถนน ฯลฯ แทบทั้งหมดล้วนไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่ Auguste พานผ่านมา (แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับรู้จักกันนะครับ) นอกจากนี้ยังเล่าถึงเหตุการณ์ต่อจากนั้น บลา บลา บลา ก่อนอำนวยอวยพรให้เดินทางโดยเรือสำราญไปหาแฟนหนุ่มได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย


Irène Marie Jacob (เกิดปี 1966) นักแสดงสัญชาติ French-Swiss เกิดที่ Suresnes, Hauts-de-Seine ชานเมืองฝั่งตะวันตกของกรุง Paris บิดาเป็นนักฟิสิกส์ มารดาทำงานด้านจิตวิทยา, เมื่ออายุสามขวบติดตามครอบครัวอพยพย้ายมาปักหลักอยู่ Geneva, Switzerland (จนได้สัญชาติ Swiss) ค้นพบความชื่นชอบด้านดนตรี ศิลปะ และการแสดงจากภาพยนตร์ของ Charlie Chaplin

Charlie Chaplin took my heart. They made me laugh and cry, and that was exactly what I was waiting for in a film: to awaken me to my feelings.

Irène Jacob

ด้วยความที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา (ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน และอิตาลี) หลังจากร่ำเรียนดนตรียัง Geneva Conservatory of Music มุ่งสู่การแสดง Drama Studio, London ก่อนย้ายมา Rue Blanche, Paris จนได้รับโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Au revoir les enfants (1987) ของผู้กำกับ Louis Malle แม้เพียงบทครูสอนเปียโนเล็กๆ แต่ไปเข้าตาผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เลือกมารับบทนำ The Double Life of Veronique (1991) ติดตามด้วย Three Colours: Red (1994)

รับบท Valentine Dussaut นักศึกษาสาว อาศัยอยู่เพียงลำพังใน Geneva, Switzerland แม้โทรศัพท์หาแฟนหนุ่มทุกวี่วัน แต่ยังคงรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง โหยหาใครสักคนอยู่เคียงข้าง เลยทุ่มเทกายใจไปกับการซ้อมเต้นบัลเล่ต์ ทำงานพาร์ทไทม์ ถ่ายแบบ โมเดลลิ่ง จนกระทั่งวันหนึ่งขับรถชนสุนัขชื่อ Rita ออกติดตามหาเจ้าของจนพบเจออดีตผู้พิพากษา Joseph Kern ที่มีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้ามกับตนเองโดยสิ้นเชิง!

เกร็ด: ผู้กำกับ Kieślowski สอบถาม Jacob เมื่อวัยเด็กเคยอยากมีชื่อเรียกอื่นหรือเปล่า เธอตอบว่า Valentine ก็เลยกลายมาเป็นชื่อตัวละคร แต่ผู้ชมส่วนใหญ่มักตีความถึง Saint Valentine ซึ่งสอดคล้องกับ(กุหลาบ)สีแดง สัญลักษณ์ของความรัก

แม้ว่าบทบาท Valentine จะไม่ได้มีความเชื่อมโยงอะไรถึง Weronika หรือ Véronique จากเรื่อง The Double Life of Veronique (1991) แต่ผมก็ไม่อาจลบเลือกภาพจำดังกล่าวทิ้งไปได้ ยังคงเห็นความระริกระรี้ ร่าเริงสนุกสนาน ‘free spirit’ เบิกบานด้วยรอยยิ้ม ทำให้โลกสวยสดใส เพิ่มเติมคือจิตใจเมตตาปราณี ชื่นชอบช่วยเหลือผู้อื่น … นั่นอาจคือเหตุผลหนึ่งกระมัง ทำให้สามารถรอดชีวิตจากโศกนาฎกรรม

ตัวละครที่ดีดี้ดีเกินไปมันก็น่าเบื่อหน่าย จนกระทั่ง Valentine ได้พบเจอ Joseph ซึ่งถือเป็นคู่ปรับขั้วตรงข้าม (แนวคิดคล้ายๆกับ White (1994) การได้ถูกแก้ล้างแค้นในสิ่งเคยกระทำผู้อื่นไว้ ย่อมทำให้เรียนรู้ถึงความเสมอภาคเท่าเทียม) พูดคุยถกเถียง ตั้งคำถามปรัชญา คนเราช่วยเหลือผู้อื่นไปทำไม? นั่นสร้างความสับสน โล้เล้ลังใจ บังเกิดความขัดแย้งภายใน (นี่เป็นส่วนที่ Jacob แสดงออกมาได้น่าประทับใจมากๆ) ทั้งหมดที่เคยทำไปเป็นสิ่งถูกต้องหรือเปล่า? และท้ายสุดเธอก็สามารถค้นพบคำตอบของตนเอง (นั่นคือวินาทีที่เข้าไปช่วยเหลือหญิงชราหลังค่อม ยัดขวดแก้วใส่ถังขยะได้สำเร็จ!)

แม้ว่าบทบาท Valentine จะมีความลุ่มลึก สลับซับซ้อน ขัดย้อนแย้งภายใน แต่โดยส่วนตัวยังคงรักคลั่งไคล้ Weronika และ Véronique เพราะความบริสุทธิ์สดใส ใบหน้าละอ่อนเยาว์วัย ถือเป็นความประทับใจแรกพบ (First Impression) ที่ไม่สามารถลบภาพจำของผมไปได้ … มันอาจเพราะมุมกล้องถ่าย Close-Up ใบหน้าของ Jacob ใน The Double Life of Veronique (1991) บ่อยครั้งกว่า มันเลยตราฝังใจไม่รู้ลืมเลือน


Jean-Louis Xavier Trintignant (1930-2022) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Piolenc, Vaucluse บิดาเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง คาดหวังบุตรชายโตขึ้นกลายเป็นนักกฎหมาย แต่ภายหลังค้นพบความสนใจด้านการแสดง อพยพย้ายสู่ Paris เริ่มต้นมีผลงานละครเวที โด่งดังทันทีจากภาพยนตร์ And God Created Woman (1956), ผลงานเด่นๆ อาทิ Il Sorpasso (1962), A Man and a Woman (1966), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Great Silence (1966), The Man Who Lies (1968), Z (1969), My Night at Maud’s (1969), The Conformist (1970), Confidentially Yours (1983), Three Colors: Red (1994), Amour (2012) ฯลฯ

รับบทอดีตผู้พิพากษา Joseph Kern หลังเกษียณ(ล่วงหน้า)อาศัยอยู่แต่ในบ้านพัก สภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ชอบพบปะผู้คน เต็มไปด้วยความหวาดระแวง แต่ชื่นชอบดักฟังโทรศัพท์ผู้อื่น ล่วงรู้ความลับทุกสิ่งอย่าง (แต่ก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร) เลี้ยงสุนัขชื่อ Rita แบบไม่ได้ยี่หร่ากับมันสักเท่าไหร่

การได้พบเจอ Valentine ผ่านเจ้าสุนัข Rita แรกเริ่มเต็มไปด้วยความมาดร้าย ไม่พึงพอใจ อย่ามายุ่งวุ่นวาย/เสือกอะไรกับเรื่องของฉัน แต่หลังจากมีโอกาสพูดคุย โต้เถียงถึงงานอดิเรก (ดักฟังโทรศัพท์เพื่อนข้างบ้าน) เธอแสดงความรู้สึกสมเพศเวทนา นั่นทำให้เขาเริ่มครุ่นคิดทบทวนสิ่งต่างๆ บังเกิดความกล้ายินยอมรับความผิด และค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวจากอดีต ทำไมตนเองถึงกลายมามีสภาพเช่นนี้

ด้วยอายุก้าวผ่านหลัก 60+ ทำให้ Trintignant ค่อนข้างจะเลือกรับงานแสดงพอสมควร โดยพิจารณาจากบทหนังและผู้กำกับเป็นหลัก ซึ่งหลังอ่านบทก็เกิดความประทับใจอย่างมากๆ

I’m very impressive with the script. And then I met Kieślowski personally and gained enthusiasm.

Jean-Louis Trintignant

ผมมีภาพจดจำ Trintignant ในบทชายสูงวัย นิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่ใคร่ยี่หร่าอะไรใคร มากกว่าตอนสมัยหนุ่มๆหล่อเหลาเสียอีกนะ! มันอาจเพราะประสบการณ์ชีวิต พานผ่านอะไรๆมามาก จึงทำให้เขา(และตัวละคร)มีความเข้าใจสิ่งต่างๆในมุมของตนเอง ซึ่งบางครั้งมันอาจไม่ถูกต้อง แต่ใครละจะกล้าสอนสั่ง ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง … คนสูงวัยก็แบบนี้นะครับ มีความดื้อดึงดัน เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูก จนแทบไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไร แถมต่อว่าเด็กรุ่นใหม่มันจะไปรู้อะไร ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนตั้งหลายปี!

แต่แม้แต่คนแก่ก็สามารถครุ่นคิด ปรับเปลี่ยนตนเองในทิศทางถูกต้องเหมาะสม นี่ต้องชม Trintignant นำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่กลับตารปัตรตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง! จากเคยหน้านิ่วคิ้วขมวดมาเป็นสีหน้าผ่อนคลาย ท่าทางกระโผกระเผกมาเป็นกระฉับกระเฉง ก้าวเดินคล่องแคล่ว ดูมีชีวิตชีวา ทำให้ผู้ชมหลายคนครุ่นคิดจินตนาการว่า ถ้าผู้เฒ่าคนนี้ยังหนุ่มแน่น หล่อเหลา น่าจะเกี้ยวพาราสีตัวละครของ Irène Jacob อย่างแน่นอน!

ถึงผมไม่อยากจินตนาการ Old Man & Young Woman แต่ทิศทางดำเนินไปของเรื่องราวมันช่างโรแมนติก ดูมีชีวิตชีวา ต่างคนต่างสามารถเป็นพลังใจ เติมเต็มสิ่งขาดหายของกันและกัน ถ้านั่นไม่เรียกว่าความรัก ก็คงต้องจบด้วยการมีเพศสัมพันธ์ … ผู้ชมหลายคนอาจรู้สึกต่อต้านความสัมพันธ์/โรแมนติกระหว่างสองตัวละคร มีคำเรียกหนังลักษณะนี้ว่า Anti-Romance (ไม่อยากให้โรแมนติก แต่ก็สามารถดูออกว่าเป็นหนังรัก)


ถ่ายภาพโดย Piotr Sobociński (1958-2001) สัญชาติ Polish เป็นบุตรของ Witold Sobociński ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เข้าเรียนด้านการถ่ายภาพยัง National Film School, Łódź มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski สองครั้ง Dekalog (1988) และ Three Colours: Red (1994), ผลงานอื่นๆ อาทิ The Seventh Room (1995), Marvin’s Room (1996), Ransom (1996) ฯ

ผู้กำกับ Kieślowski จงใจเปลี่ยนตากล้องไม่ซ้ำหน้าใน Three Colours Trilogy เพื่อต้องการสัมผัสงานภาพที่แตกต่างออกไป แต่ผลลัพท์ก็ชัดเจนถึงศักยภาพ/ความถนัดของแต่ละบุคคล, งานภาพของ Red (1994) แม้ไม่ได้มีสีสันจัดจ้านเทียบเท่า Blue (1993) หรือดูมืด-สว่างแบบ White (1994), แต่เต็มไปด้วยลวดลีลา โดยเฉพาะการขยับเคลื่อนกล้อง (Camera Work) จากอพาร์ทเม้นท์หนึ่งไปยังอีกห้องหับหนึ่งที่อยู่คนละฝากฝั่งถนน, ตกจากชั้นบนลงสู่พื้นดิน, หรือแม้แต่ขณะการโต้ถกเถียงระหว่างตัวละคร ใครช่างสังเกตจะพบเห็นตำแหน่งสูง-ต่ำระหว่างคู่สนทนา จัดวางตำแหน่ง องค์ประกอบฉาก และการขาดหายไปของสีน้ำเงิน ล้วนซุกซ่อนเร้นนัยยะบางสิ่งอย่าง

ลีลาการขยับเคลื่อนกล้องไม่ได้แทนด้วยมุมมองตัวละครหนึ่งใด ให้ความรู้สึกเหมือนสิ่งลี้ลับ/เหนือธรรมชาติ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่ราวกับมีตัวตน ล่องลอยอยู่รอบตัวเรา คอยเชื่อมโยงความสัมพันธ์จากตัวละครหนึ่งไปสู่ใครอีกคนหนึ่ง ทั้งๆไม่เคยรับรู้จัก กลับมักอยู่เคียงข้าง สวนทางกันบ่อยครั้ง

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำที่ Canton de Genève ย่านที่อยู่อาศัยของชาวฝรั่งเศสในประเทศ Switzerland (เหตุผลหนึ่งเพราะได้รับงบประมาณก้อนใหญ่จากนายทุนชาว Swiss ก็เลยต้องถ่ายทำในประเทศ Switzerland)

  • อพาร์ทเม้นท์ของ Valentine และ Auguste ตั้งอยู่ที่ Rue des Sources ไม่ห่างไกลจาก University of Geneva
  • สามแยกที่ติดป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่ อยู่บริเวณ Place des Casemates
  • ภายนอกของสถานที่จัดแฟชั่นโชว์คือ Grand Théâtre de Genève, เปิดกิจการตั้งแต่ปี 1876
  • แต่ภายในแฟชั่นโชว์จัดยัง Opéra de Lausanne ตั้งอยู่ที่เมือง Lausanne, เปิดกิจการตั้งแต่ปี 1871

เผื่อใครสนใจไปตามรอยหนัง สถานที่ส่วนใหญ่ยังคงสภาพเดิม ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก
LINK: http://movie-tourist.blogspot.com/2016/08/three-colors-red-1994.html
LINK: http://www.romangerodimos.com/on-location/revisiting-trois-couleurs-rouge/


แม้พื้นหลังของหนังจะคือประเทศ Switzerland แต่สถานที่ถ่ายทำ Canton de Genève คือย่านที่ชาวฝรั่งเศสนิยมพำนักกอาศัย (มีประชากรชาวฝรั่งเศสกว่า 40% ที่อยู่ในเมืองนี้) นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้ไม่ใช่ผืนแผ่นดินแดนบ้านเกิด แต่เพราะถือกำเนิดสัญชาติ French สื่อสารภาษาเดียวกัน เลยมีความเป็นฉันท์พี่ฉันท์น้อง พวกพ้อง ภารดรภาพ

ปล. ลองสังเกตแผนที่จะเห็นว่า Genève, Geneva คือเมืองที่เป็นเหมือนแหลมยื่นเข้าไปในดินแดนฝรั่งเศส เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมมีชาวฝรั่งเศสอยู่เยอะ พร้อมทิวทัศน์สวยๆ จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตากอากาศ

หนังเริ่มต้นด้วยเครื่องโทรศัพท์ จากนั้นกล้องเคลื่อนเลื่อนไปตามสายไฟ เร่งความเร็ว (Fast Motion) ทำตัวราวกับคลื่นสัญญาณ ทะลุผ่านผนังกำแพง (มีคำเรียกว่า Celluloid Fire) ข้ามช่องแคบอังกฤษ ไปถึงยังโทรศัพท์อีกเครื่องที่ไม่มีใครรับสาย ก่อนปรากฎชื่อหนัง TROIS COULEURS ROUGE พร้อมไฟด้านหลังกระพริบติดๆดับๆ (เป็นการบอกไบ้ถึงการขาดความสัมพันธ์ฉันท์ภารดรภาพ)

โทรศัพท์คืออุปกรณ์สำหรับติดต่อสื่อสาร สัญลักษณ์ของสายสัมพันธ์ การเชื่อมโยงใย ทำให้มนุษย์ที่แม้อยู่ห่างไกลเพียงไหน ก็สามารถติดต่อสื่อสาร พูดคุยสนทนา ราวกับว่าอยู่เคียงชิดใกล้! ซึ่งวิธีการมันช่างมีความวุ่นวายจะคุย ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ ราวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่มนุษย์กลับสามารถสรรค์สร้างขึ้นมา

ในอพาร์ทเม้นท์ของ Auguste จะมีรูปภาพหญิงสาวเต้นบัลเล่ต์ โดยไม่รู้ตัวนั่นคืองานอดิเรกของ Valentine ซึ่งเราสามารถเชื่อมโยงใย เปรียบเทียบถึงหญิงสาว/แฟนสาวที่เขากำลังโทรศัพท์หา Karin พูดรายงานสภาพอากาศ เพียงได้ยินเสียงก็วางหูลงทันที (รับรู้ว่าเธอยังอยู่ที่ทำงานก็เพียงพอแล้วละ)

สำหรับคนที่ยังสับสน เบื้องต้นให้ทำความเข้าใจคร่าวๆไปก่อนเลยว่า

  • Valentine = Karin = แฟนสาวผู้ล่วงลับของ Joseph (สาวๆทั้งหมด)
  • แฟนหนุ่มที่อังกฤษของ Valentine = Auguste = Joseph (บุรุษทั้งหลาย)

แล้วหลังจากนี้ค่อยลองไปสังเกตหาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวละครนี้ดูนะครับ มันจะมีหลายสิ่งอย่างที่เชื่อมใยโยงถีงกัน จนสามารถมองทั้งหมดคือสรรพสิ่งเดียวกัน!

แซว: ทำไมใครๆถึงชอบสนใจรายงานสภาพอากาศเหลือเกิน? เพราะมันคือสิ่งที่สามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละครในแต่ละวันๆได้ยังไงละครับ

ทุกครั้งหลังออกจากบ้าน (แต่ก็เห็นแค่สองครั้งนะครับ) Valentine จะแวะเวียนมายัง Café Cher Joseph (เป็นชื่อที่ล้อกับตัวละคร Joseph) เพื่อเล่น Slot Machine วันไหนพ่ายแพ้แสดงว่าชีวิตจะดำเนินไปอย่างปกติสุข แต่ถ้าเกิดฟลุ๊คชนะ นั่นแปลว่าอาจมีเรื่องร้ายๆบังเกิดขึ้น ซะงั้น! … มุมมองคนทั่วไปชัยชนะ Slot Machine จะถือว่าเป็นความโชคดี! แต่ตัวละครกลับคิดเห็นตารปัตร เหมือนว่าโชคดังกล่าวได้ถูกใช้ไปแล้ว หลังจากนี้อาจประสบเหตุร้ายๆขึ้นมา

ทำไมต้องทำท่าเป่าหมากฝรั่ง? บนฉากผ้าใบที่พริวไหว? ถ้าตามคำอธิบายของหนังคือแทนคอนเซ็ป ‘breath of life’ แต่เราสามารถตีความไปได้ไกลกว่านั้น

  • ทั้งหมากฝรั่งและผ้าใบ สื่อถึงสัญลักษณ์ของชีวิต ‘breath of life’ ดูเหมือนการเติบโต (เป่าให้พอง) และตกตายไป (ระเบิดแตก) ขึ้นอยู่กับตัวเราเองจะใช้(ชีวิต)ให้คุ้มค่าแบบไหน
  • หมากฝรั่งคือสิ่งที่มีความยืดหยุ่น (สามารถเป่าให้โป่งพอง) ผ้าใบมีความพริ้วไหว สื่อถึงเรื่องของความสัมพันธ์ เราควรต้องยินยอมรับทั้งด้านดี-ชั่วของผู้อื่น เรียนรู้จักการช่วยเหลือ ไม่ใช่เห็นแก่ตัวเพียงอย่างเดียว
  • เวลาเป่ามีลักษณะกลมๆสีชมพู แลดูคล้ายลูกเชอรี่ = รับประทานโยเกิร์ตรสเชอรี่ = พบเห็นบน Slot Machine (สัญลักษณ์ของโชคชะตา)
  • หมากฝรั่งยังมีกล่าวถึงอีกครั้งเมื่อตอนติดในรูกุญแจ ทำให้ Valentine ไม่สามารถเข้าไปในห้อง ต้องขอความช่วยเหลือจากห้องข้างๆ (สัญลักษณ์ของความยึดติด ปกปิด ขณะเดียวกันทำให้เกิดการปะติดปะต่อ จำเป็นต้องสื่อสาร/สานสัมพันธ์กับผู้อื่น)

การซักซ้อมบัลเล่ต์ของ Valentine ไม่ได้จำเป็นว่าเธอใฝ่ฝันกลายเป็นนักบัลเล่ต์ แต่ดูจากความทุ่มเทพยายาม มันคือการขยับเคลื่อนไหวให้ร่างกายมีความยืดหยุ่น (เหมือนเป่าหมากฝรั่ง) ใช้เรี่ยวแรงจนสุดพละกำลังสามารถ จากนั้นฉากถัดมายกขวดน้ำขึ้นดื่ม สร้างความสดชื่น ดับกระหาย ราวกับการได้มีชีวิต

นี่สะท้อนทัศนะคติของผู้กำกับ Kieślowski หลังจากตรวจปัญหาโรคหัวใจ ตระหนักว่าตนเองอาจมีเวลาอยู่อีกไม่มาก ก็ควรใช้ชีวิตที่หลงเหลือให้คุ้มค่า อยากทำอะไรก็ทำ เติมเต็มความต้องการ ตอบสนองร่างกาย-จิตใจ เพื่อไม่ให้รู้สึกสูญเสียดายเมื่อตายจากไป

ผมรู้สึกเหมือนผู้กำกับ Kieślowski ต้องการเปรียบเทียบงานแฟชั่นโชว์ ไม่แตกต่างจากสื่อภาพยนตร์ มีเบื้องหน้า-เบื้องหลัง นางแบบ/นักแสดงเดินออกมานำเสนอบางสิ่งอย่างแก่ผู้ชม ในสถานที่โรงละคร อุปรากร หรือโรงหนังก็ได้เหมือนกัน เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงใยระหว่างสรรพสิ่ง (คล้ายๆภาพยนตร์ = ละครเวที แต่มันอาจจะเห็นภาพชัดเกินไปหน่อย)

แต่ถึงแม้ Valentine จะเลือกใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ สุดเหวี่ยง คุ้มค่าสักขนาดไหน แต่ระหว่างขับรถกลับอพาร์ทเม้นท์ เธอแสดงปฏิกิริยาสีหน้าอันเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย เหมือนบางสิ่งอย่างขาดหาย ทุกสิ่งกระทำมานี้แทบไม่ได้เติมเต็มความต้องการของจิตใจ

สังเกตภาพสะท้อนบนกระจกหน้ารถ มีวงกลมกับแท่งแหลมสามเหลี่ยม ให้ความรู้สึกเหมือนมันควรจะทิ่มแทงให้ตรงรู แต่ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวสามารถสื่อถึงชีวิตที่ดำเนินไปไม่ตรงตามเป้าหมาย ยังไม่ใช่อย่างที่ตนเองต้องการ

ก่อนที่ Valentine จะขับรถชนเจ้าสุนัข Rita พอดิบพอดีเกิดคลื่นแทรกซ้อนในวิทยุ แสงสีแดงจากภายนอกสาดส่องเข้ามา และรถคันหลังกำลังแซงหน้า (ไฟหน้าของคันหลังแลดูเหมือนดวงตา) ราวกับมีบางสิ่งอย่างลี้ลับ/เหนือธรรมชาติ ชักนำให้บังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติของผู้กำกับ Kłosiński เหมือนได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ Blind Chance (1981) ที่เกี่ยวกับโชคชะตา หนทางเลือก ก่อนจะเริ่มชัดเจนตอน No End (1985) ปรากฎภาพวิญญาณล่องลอย แอบให้ความช่วยเหลือภรรยาที่ยังมีชีวิต และเมื่อสรรค์สร้าง Dekalog (1988) อ้างอิงจากพระบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandment) แสดงถึงถึงความศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า สัมผัสถึงพลังลึกลับที่แม้มองไม่เห็นแต่รับรู้ว่ามีอยู่จริง

ทางไปบ้านของ Joseph Kern สังเกตว่าต้องขับรถเลี้ยวขึ้นเนิน ราวกับอาศัยอยู่เบื้องบน ชนชั้นสูง ซึ่งหลายๆการตีความจะมอง(อดีต)ผู้พิพากษานี้เหมือนพระเจ้า (Old Testament God) สามารถพยากรณ์ รับล่วงรู้อนาคต ตัดสินโชคชะตากรรมหลายๆตัวละคร (คล้ายๆพิจารณาคดีบนชั้นศาล) แถมชื่นชอบสอดแนมเพื่อนบ้าน (พระเจ้าอยู่รอบตัวเรา ล่วงรับรู้ทุกสิ่งอย่าง) แต่ก็ไม่เคยทำอะไรสักสิ่งอย่าง

นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบ Joseph กับตัวละคร Prospero จากบทละคร The Tempest (1610-11) ของ William Shakespeare เพราะเป็นบุคคลที่ราวกับมีเวทมนต์ สามารถดลบันดาลฟ้าฝน พายุลูกใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของหัวใจ … เนื่องจากผมขี้เกียจอธิบายพายุพิโรธ ลองไปหาเปรียบเทียบเอาเองนะครับ

สภาพบ้านของ Joseph มีสภาพปรักหักพัก ตามมีตามเกิด ไม่ได้รับการเหลียวดูแล สามารถสื่อถึงความเสื่อมศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าของคนยุคสมัยนั้น (หรือจะมองว่าศรัทธาต่อ Old Testament ก็ได้เช่นกัน) แต่ถึงใครต่อใครเลิกเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติกันหมดแล้ว แต่ความจริงก็ความจริง ยังมีอีกหลายสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจ

ปฏิกิริยาของ Joseph ดูไม่ได้ยี่หร่าอะไรต่อความเป็นความตายของเจ้าสุนัข Rita สังเกตช็อตนี้ถ่ายจากด้านข้าง (หันใบหน้าคนละทิศทางกับตอน Valentine เป่าหมากฝรั่ง ‘Breath of Life’) ฝั่งซ้ายคือโคมไฟสว่างไสว ฝั่งขวามือคือนอกหน้าต่างอันมืดมิด ราวกับว่าตัวละครนี้อยู่กึ่งกลางระหว่าง ชีวิต vs. ความตาย หรือในฐานะ(อดีต)ผู้พิพากษาตัดสินว่าใครสมควรอยู่หรือไป

ในมุมผู้กำกับ Kieślowski คงมองว่าพระเจ้าไม่ต่างจากชายแก่ผู้เห็นแก่ตัว รับรู้ความเป็นไปของทุกสรรพสิ่งอย่าง แต่ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือใดๆ ถึงอย่างนั้นเฉพาะกับบุคคลที่เข้าใจวิถีพระองค์ ก็จักบอกกล่าวคำพยากรณ์ ชี้แนะนำให้รู้จักสิ่งถูกต้อง ดำเนินชีวิตสู่ทิศทางอันเหมาะสม ไปตามผลแห่งโชคชะตากรรม

สัญญาณกันขโมยรถยนต์ของ Valentine ดังขึ้นระหว่างคุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่ม ตามด้วยป้าย STOP หลังรถจิ๊ปสีแดง (ของ Auguste) ขณะที่ Karin กำลังตรงมายังอพาร์ทเม้นท์ของ Auguste ล้วนเป็นการบอกใบ้ สัญญาณอันตราย ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาต้องไม่ดีแน่ มีบางสิ่งอย่างแอบซุกซ่อนเร้นไว้ สักวันความจริงทั้งหมดย่อมได้รับการเปิดเผยออกมา

เมื่อตอน Valentine ปล่อยเจ้า Rita ให้สามารถวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ แต่มันกลับตรงดิ่งไปยัง Eglise St-Antoine de Padoue ตั้งอยู่ Rue Schaub 17, Genève นี่ก็เป็นการบอกใบ้ว่าเจ้าสุนัขตัวนี้มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับศาสนา (สัตว์เลี้ยงของพระเจ้า?) ซึ่งวินาทีที่หญิงสาวกำลังก้าวเข้าไปในโบสถ์ จะพบเห็นภาพสะท้อนในกระจก นั่นคือร่างกายและจิตวิญญาณเดินทางไปพบพระเป็นเจ้า (พบเจอทั้งบาทหลวง แล้วไปต่อยังบ้านของ Joseph ที่ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์)

ปฏิกิริยาของ Valentine เมื่อรับรู้ว่า Joseph มีนิสัยชอบสอดแนม ดักฟังโทรศัพท์เพื่อนบ้าน คือปฏิเสธต่อต้าน ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือการสอดรู้สอดเห็นเรื่องของผู้อื่น … แล้วพระเป็นเจ้าละ? ล่องลอยอยู่ทุกแห่งหนบนโลกใบนี้ รับล่วงรู้ทุกสรรพสิ่งอย่าง กลับไม่มีใครหาญกล้าตำหนิต่อว่า เสือกเรื่องของผู้อื่นทำไมกัน?

แซว: ตรงพื้นโต๊ะมีลูกแอปเปิ้ลวางอยู่ ผลไม้จากสวนอีเดน ใครได้รับประทานจักสูญเสียจิตใจอันบริสุทธิ์ กระทำสิ่งขัดต่อประสงค์ของพระเป็นเจ้า

นี่น่าจะคือ Alexander Hamilton (1755/57-1804) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของประเทศ (มือขวาของ George Washington) ครุ่นคิดสร้างระบบธนาคารกลาง จัดเก็บภาษีเข้าสู่รัฐ … ใบหน้าของ Hamilton ปรากฎอยู่บนธนบัตร 10 ดอลลาร์ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่นำโลกก้าวเข้าสู่ระบอบทุนนิยม

Valentine ต้องการเปิดโปงพฤติกรรมของ Joseph ให้กับเพื่อนบ้านที่ถูกแอบดักฟังโทรศัพท์ แต่เธอก็ตระหนักว่านั่นอาจเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เกิดอาการอ้ำๆอึ้งๆ โล้เล้ลังเลใจ พูดไม่ออกบอกไม่ถูก เลยหวนกลับมาหา Joseph เปลี่ยนมาโน้มน้าวให้เขาเลิกการกระทำนี้แทน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ!

Joseph แสดงออกด้วยการเทน้ำออกจากกา (น่าจะตรงกับสำนวนไทย ‘น้ำเต็มแก้ว’ สื่อถึงการไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ) จากนั้นดึงเล่นสายรัดเสื้อ บอกว่าทำแล้วรู้สึกสนุก ชักชวนให้เธอมาลองแต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ (ล้อกับพฤติกรรมสอดแนม/ดักฟังโทรศัพท์ ทำไมฉันต้องสนุกสนานไปพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว)

สังเกตขณะนี้ Valentine นั่งลงกับพื้น (ผิดกับ Jeseph นั่งบนเก้าอี้) ราวกับผู้ต่ำต้อยกำลังน้อมรับฟังคำเทศนาสั่งสอน เคียงข้างรูปปั้นสุนัขรับใช้ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น โต้ถกเถียงตอบกลับแต่ประการใด

วินาทีนี้ราวกับ Joseph กำลังสำแดงปาฏิหารย์ รอคอยแสงสว่าง (รับล่วงรู้จากพยากรณ์อากาศ ได้ยินเสียงโทรศัพท์ของ Karin) พระอาทิตย์กำลังสาดส่องลงมาจากมุมหลังคา ทำให้อาณาบริเวณที่เคยปกคลุมด้วยความมืดมิด ได้รับความส่องสว่าง อาบฉาบลงบนใบหน้าตัวละครพอดิบดี!

หลายคนที่หัวชนฝาว่าการดักฟังโทรศัพท์เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เช่นนั้นแล้วสำหรับพวกพ่อค้ายาเสพติดละ? คนพวกนั้นพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้ตนเองถูกจับกุม บรรดาตำรวจจึงต้องสรรหาวิธีการสอดแนม ค้นหาหลักฐานสำหรับจับกุมคนชั่ว นั่นคือสิ่งถูกต้องหรือเปล่า? หนังเปิดประเด็นนี้ไว้เพื่อให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ตั้งคำถามถึงการสอดแนม สรุปแล้วมันถูกหรือผิด? กรณีไหนทำได้? ทำไม่ได้? สมควรทำเมื่อไหร่?

โบว์ลิ่ง เป็นเกมกีฬาที่ต้องใช้ความแม่นยำ โยนลูกบอลให้โดนพินล้มทั้งหมดถึงเรียกว่า Strike! แต่ในบริบทนี้เหมือนว่า Valentine (รวมถีง Auguste และ Joseph) ต่างเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย โล้เล้ลังเลใจ นอกจากทำให้พินล้มไม่หมด และเมื่อกล้องเคลื่อนเลื่อนมาอีกตำแหน่ง (น่าจะเป็นที่นั่งของ Auguste) พบเห็นแก้วแตก (=จิตใจอันแตกร้าว) บังเกิดความรู้สึกบางอย่างติดค้างคาใจ

โปสเตอร์ขนาดใหญ่ของ Valentine ตั้งตระหง่านอยู่ตรงสามแยก (ด้านหลังคือ Place des Casemates) สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงทางเลือกของชีวิต ใครพานผ่านย่อมบังเกิดความชื่นชอบหลงใหล ใคร่สงสัยว่าเธอพบเห็นอะไรถึงแสดงปฏิกิริยาใบหน้าเช่นนั้นออกมา ซี่งคำตอบของแต่ละคนก็จักแตกต่างออกไป (เหมือนทางแยกที่ต่างคนต่างมีทิศทางของตนเอง)

ผมมองไม่ออกว่ารูปปั้นที่อยู่ด้านหลัง Joseph คือใคร? แต่คาดว่าน่าจะคือบุคคลสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม หรืออาจเป็นผู้พิพากษาที่เคยได้ตัดสินคดีความสำคัญๆ (ไม่แน่ว่าอาจเป็น Joseph เองเลยก็ได้) ซึ่งการทำให้พื้นหลังเบลอๆราวกับต้องการสื่อถึงอดีตอันเลือนลาง เมื่อก่อนตอนเป็นผู้พิพากษาคงมีคนนับหน้าถือตาอยู่บ้าง (ก็ยังเห็นคนรู้จักเข้ามาคำนับทักทาย)

แต่ขณะนี้ Joseph เดินทางมาขึ้นศาลในฐานะผู้ต้องหากระทำความผิด หลังตัดสินใจเขียนจดหมายสารภาพว่าแอบดักฟังโทรศัพท์เพื่อนบ้าน นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่เขากล้าลุกขึ้นมาเผชิญหน้าความจริง พร้อมปรับปรุงตนเอง เปลี่ยนแปลงมุมมองโลกทัศน์ … นี่ไม่ใช่ว่าพระเจ้ารู้สำนึกผิดนะครับ แต่คือการยินยอมรับความเท่าเทียมกับมนุษย์

Valentine เมื่อทราบข่าวลงหนังสือพิมพ์ จึงรีบออกเดินทางมาหา ในช่วงเวลาบ่ายๆ พระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบภูเขา เพื่อบอกว่าตนเองไม่ได้เปิดปากโป้งกับใคร แต่เป็น Joseph เล่าว่าตนเองคือผู้เขียนจดหมายสารภาพความผิด เพียงเพราะไม่ต้องการให้เธอรู้สึกสมเพศเวทนาตนเอง

จะว่าไปพระอาทิตย์ก็ถือว่าเป็นสีแดง (อย่างดินแดนอาทิตย์อุทัย ธงญี่ปุ่นก็ใช้สีแดง) กำลังลาลับขอบฟ้า สามารถสื่อถึงอีโก้/ความเย่อหยิ่ง ทะนงตน เห็นแก่ตัวของ Joseph ที่ลดน้อยลง กำลังจะหมดสูญสิ้นไป

ผมขี้เกียจอธิบายรายละเอียด Mise-en-scène ระหว่างการสนทนาระหว่าง Joseph กับ Valentine เพียงให้ข้อสังเกตศีรษะของทั้งสองจะมีความสูง-ต่ำ ระดับไม่เท่ากันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถสื่อถึงทัศนคติ/ความคิดเห็นของทั้งคู่ที่ยังแตกต่าง หลายเรื่องไม่เห็นพ้องต้องกัน

การสนทนาดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงพลบค่ำ ทั้งสองต่างปกคลุมอยู่ในความมืดมิด (เหมือนดั่งหัวข้อสนทนาของพวกเขา) แต่แล้วขณะที่ Joseph กำลังเปิดโคมไฟบนโต๊ะ ปรากฎว่าหลอดขาด! เลยต้องนำหลอดอีกอันจากโคมไฟแขวนผนังมาใช้แทน และเมื่อเปิดติดจะพบเห็นลักษณะของแสงที่แตกต่างกัน

แสงจากหลอดไฟตรงๆ (แลดูคล้ายแสงอาทิตย์) มีความสว่างเจิดจร้าเกินกว่าจ้องมองด้วยตาเปล่าๆ จึงต้องมีโคมครอบหรือกฎกรอบข้อบังคับทางสังคม เป็นสิ่งชี้แนะนำให้มนุษย์/สรรพชีวิต ดำเนินไปตามครรลองคลองธรรม มองเห็นหนทางก้าวเดินอย่างชัดเจนแม้ในยามค่ำคืนมืดมิด

Auguste พยายามโทรศัพท์หาแฟนสาว Karin แต่เธอไม่ยอมรับสาย เริ่มรู้สึกเคลือบแคลงสงสัย โล้เล้ลังเลใจ เหมือนโคมไฟที่ติดดวง ไม่ติดอีกดวง และโคมที่ส่องสว่างมีบางส่วนถูกบดบังด้วยขอบหน้าต่าง

ผมละทึ่งในความทุ่มเทพยายามค้นหาความจริงของ Auguste ถึงขนาดปีนป่ายขี้นไปยังห้องชั้นสองของ Karin และวินาทีที่มาถึงค่อยๆหันหน้าออกสู่แสงสว่าง จนเมื่อมิอาจอดรนทนเห็นภาพบาดตาบาดใจ ก็หันควับกลับสู่ความมืด ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวังอย่างเร็วไว

ผ่านไปหนึ่งค่ำคืน Auguste ก็ยังมิอาจปล่อยละวางที่ถูกแฟนสาวทรยศหักหลัง แสร้งทำเป็นพบเห็นขณะ Karin นั่งรับประทานอาหารกับชู้รัก แล้วเขาก็หลบหนีสูญหายตัวอย่างลึกลับ แต่แท้จริงซ่อนอยู่เบื้องล่าง/ทางต่างระดับ (สูง-ต่ำ) ไม่สามารถเผชิญหน้ากับเธอด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมอีกต่อไป

นี่เป็นฉากสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวใจอย่างที่สุด Auguste ตัดสินใจทอดทิ้งสุนัขตัวโปรด (=แฟนสาว Karin) ผูกทิ้งไว้ริมทะเลสาป Geneva ปล่อยให้โชคชะตานำพา หวังว่าจะมีใครสักคนมารับเลี้ยงมันต่อไป

เห็นการจับมือระหว่างสองตัวละครทีไร มักทำให้ผมครุ่นคิดถึงภาพวาด Michelangelo: The Creation of Adam แถมการตีความ Joseph เทียบแทนพระเป็นเจ้า สัมผัสมือหญิงสาวชาวโลก Valentine ยิ่งทำให้มีความสอดคล้องยิ่งๆขึ้นอีก

แม้โดยปกติพระเจ้าต้องอยู่เบื้องบน แต่เราสามารถมองคุณธรรมอันสูงส่งของ Valentine ได้สอนบทเรียนชีวิตแก่ Joseph จนเขาสามารถยินยอมรับผิด ปรับเปลี่ยนตนเองเสียใหม่ การอยู่สูงกว่าและขอจับมือจึงคือสัญลักษณ์ของการให้เกียรติ ยินยอมรับ เสมอภาคเท่าเทียม เพื่อที่ต่อจากนี้จะเริ่มเปิดเผยเรื่องราวในอดีต เล่าความจริงหลายๆสิ่งอย่างให้เธอได้รับรู้

ลีลาการเคลื่อนเลื่อนกล้องที่ถือว่ามีความน่าอัศจรรย์สุดของหนัง! แทนด้วยมุมมองหนังสือ(กฎหมาย)ร่วงหล่นจากที่นั่งชั้นบนลงสู่พื้นชั้นล่าง กล้องจับจ้องตัวละครทั้งสอจากมุมสูงก้มลงมา กลายเป็นมุมต่ำเงยขึ้นฟ้า … นี่เป็นช็อตที่เปิดกว้างในการตีความอย่างมากๆ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับความสูง (ในเชิงรูปธรรม-นามธรรม) ความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง ฯลฯ แล้วถูกฉุดกระชาก หรือพลัดตกลงมาสู่เบื้องล่าง กลับตารปัตรจากวิถีดั้งเดิมที่เคยเป็นมา

มองใกล้ๆฉากนี้ที่สุดก็คือ Joseph Kern ตอนเริ่มต้นแสดงท่าทางเย่อหยิ่ง มาดร้าย ไม่ต้องการคบค้าสมาคมกับใคร แต่หลังจากได้พบเจอ รู้จักตัวตนของ Valentine ก็เกิดความเคารพ ให้การยินยอมรับ และปฏิบัติต่อเธอด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม

นี่ไงครับมุมกล้องถ่ายระดับสายตา Joseph กับ Valentine ความสูงเท่ากัน สื่อถึงการให้เกียรติ ยินยอมรับ และแสดงออกด้วยความเสมอภาค … แนวคิดเดียวกับ White (1994) เมื่อตัวละครได้รับเรียนรู้สิ่งตรงกันข้าม “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” ผลกรรมย้อนคืนสนองตนเอง เมื่อนั้นจึงสามารถตระหนักถึงความเท่าเทียม

การร่ำลาระหว่าง Valentine และ Joseph เธอวางมือบนกระจกแล้วเขาก็ยกมือขึ้นวางทาบตำแหน่งเดียวกัน แม้ไม่ได้สัมผัสแตะเนื้อต้องตัว ถูกกระจกบางๆขวางกั้น แต่ความรู้สึก/จิตวิญญา วินาทีนี้ถือว่าสามารถเชื่อมโยงใยถึงกัน แล้วรถก็แล่นออกไป ไม่ได้อยากร่ำลาจาก แต่เพราะนี่คือโชคชะตากรรมของพวกเขา

หลายคนมองฉากนี้ถึงไปไกลถึงความสัมพันธ์ฉันท์ชาย-หญิง Valentine เหมือนมีความรู้สึกบางอย่างให้กับ Joseph แต่กระจกที่กั้นขวางมันคือวัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ และปัญญาวุฒิ (วุฒิทั้ง ๔)

หลังผ่านการพูดคุย โต้ถกเถียง รับล่วงรู้ทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับ Joseph ในที่สุดก็มาถึงข้อสรุปของ Valentine ซึ่งยังเชื่อมโยงใย Three Colours Trilogy ทั้งสามภาคเข้าด้วยกัน! อย่าไปคิดมากว่าคุณยายหลังค่อมเดินทางจาก Paris มาอยู่ Geneva, Switzerland ได้อย่างไร? แต่การที่หญิงสาวเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ยัดขวดลงสู่ถังขยะ นี่คือคำตอบของทุกสรรพสิ่งอย่าง สิ่งที่เพื่อนมนุษย์สมควรกระทำ และถือเป็นความหมายแท้จริงของ ‘ภารดรภาพ’

ผมรู้สึกอัศจรรย์ในการนำเสนอ Auguste และ Valentine เดินสวนกันไปสวนกันมาในช็อตเดียวกัน (ขณะนี้คือระหว่างขึ้นเรือสำราญ กำลังมองหาชั้นที่นั่ง) แต่กลับไม่เคยเผชิญหน้า พูดคุยสนทนา ดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันก็คงมีโอกาสเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้ากำหนดจริงๆ … นี่ถือเป็นความรู้สึกของคู่แท้ (Soulmate) เลยนะ!

ฉากนี้ถ้าผู้ชมสัมผัสไม่ได้ถึง ‘Death Flag’ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วนะ! ระหว่างเรือสำราญกำลังเคลื่อนออกจากท่าเทียบ ประตูเทียบท่าก็กำลังเคลื่อนขึ้นมาบดบังทัศนียภาพ จนหลงเหลือเพียงช่องเล็กๆบางๆ สื่อตรงๆถึงหายนะกำลังจะบังเกิดขึ้นกับเรือลำนี้ในอีกไม่ช้านาน โอกาสรอดชีวิตมีเพียงน้อยนิด (เท่ากับช่องว่างลีบๆที่มองลอดผ่าน)

นอกจากนี้ยังมีลางบอกเหตุจากท้องฟ้ามืดครื้ม เหมือนพายุจะเข้า ลมพัดแรงจนแก้วน้ำวางอยู่กระเด็นกระดอน และภาพโปสเตอร์กลางสี่แยกของ Valentine กำลังถูกปลดลง ล้วนสื่อถึงหายนะ ภัยพิบัติ อาจถึงจุดจบ ความตาย

มีลูกสุนัขตัวหนึ่ง(จากทั้งหมด 7 ตัว)พยายามปีนป่ายออกมาจากคอก แสดงถึงความเฉลียวฉลาด โหยหาอิสรภาพ ซึ่งมันเป็นตัวเดียวที่(หนังนำเสนอ)พบเห็น Joseph อุ้มขึ้นมาโอบกอด มอบความรัก และสวมใส่ปลอกคอ ตีตราว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเอง (จะมองว่าเจ้าตัวนี้คืออวตารของ Valentine ก็ได้เช่นกัน)

นัยยะของฉากนี้คือการเติบโตจนปีกกล้าขาแข็ง สามารถครุ่นคิดกระทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง ซึ่งล้อกับการที่ Valentine ตัดสินใจออกเดินทางโดยสารเรือสำราญ เพื่อติดตามหาชายคนรักที่เธอครุ่นคิดว่าใช่ หรือจะมองว่าสุนัขทั้งเจ็ดคือตัวแทนผู้รอดชีวิตทั้งเจ็ดก็ได้เหมือนกัน

ฟุตเทจดังกล่าวนำจากภาพเหตุการณ์จริง! เรือสำราญสัญชาติอังกฤษ MS Herald of Free Enterprise บรรทุกผู้โดยสาร 459 คน พร้อมลูกเรืออีก 80 คน ออกเดินทางจากท่าเรือ Zeebrugge, Belgium เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำเนื่องจากน้ำไหลเข้าภายในเรือ ค่ำคืนวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1987 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 193 คน! … ถือเป็นเหตุการณ์อุบัติเหตุทางนํ้าครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากการล่มของเรือ Titanic

อ่านรายละเอียดเหตุการณ์นี้เพิ่มเติมเป็นภาษาไทยได้ที่ …
LINK: https://pantip.com/topic/31940969

ในรายงานข่าวมีผู้รอดชีวิตทั้งหมด 7 คน (เลข 7 เป็นสัญลักษณ์สำคัญในศาสนาคริสต์ ที่น่าจะคุ้นเคยสุดก็คือพระเจ้าสร้างโลกใน 6 วัน และวันที่ 7 สร้างมนุษย์ขึ้นมา!) แต่ถ้าไล่เรียงกันดีๆจะพบว่า

  • Blue (1993): Julie Vignon, Olivier Benoit
  • White (1994): Karol Karol, Dominique Vidal
  • Red (1994): Auguste Bruner, Valentine Dussaut

มันจะหลงเหลือบุคคลปริศนา Steven Killian (ไม่ถ่ายให้เห็นหน้าด้วยนะ!) พนักงานบาร์ สัญชาติอังกฤษ หมอนี่ใครกัน?? ไม่เคยมีการพูดกล่าวถึงมาก่อนเลยสักครั้ง?? ผมมองว่าเป็นตัวแทนของผู้บริสุทธิ์ (Innocence) ไม่เคยกระทำสิ่งเลวร้ายอะไร เลยประสบโชคดี เอาชีวิตรอดจากโศกนาฎกรรมครั้งนี้

ขณะที่ทั้งหกตัวละครที่เหลือต่างคือตัวแทนของ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ’ อุดมคติที่ผู้กำกับ Kieślowski เชื่อมโยงใยจาก Three Colours Trilogy เชื่อว่าบุคคลมีคำขวัญประจำใจดังกล่าว จักสามารถอยู่รอดปลอดภัยในอนาคต แม้ต้องประสบหายนะ ภัยพิบัติ หรือวันสิ้นโลก ย่อมได้รับคำพิพากษาให้เอาตัวรอดพ้น!

ภาพช็อตสุดท้าย/รองสุดท้ายของไตรภาค Three Colours Trilogy มักจับจ้องใบหน้าของนักแสดงหลัก

  • Blue (1993), ใบหน้าของ Juliette Binoche แม้อยู่ท่ามกลางความมืดมิดพร้อมริ้วรอยด่างพร้อย แต่เธอก็สามารถอบยิ้มเล็กๆ ค้นพบความสุขท่ามกลางชีวิตอันขมขื่น
  • White (1994), ใบหน้าของ Zbigniew Zamachowski เต็มไปด้วยคราบน้ำตาแห่งความสุข วาดฝันถึงอนาคตจักได้ครองรักอยู่เคียงข้าง Julie Delpy หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
  • Red (1994) ใบหน้าของ Jean-Louis Trintignant แม้จะดูแน่นิ่งเฉย เหมือนไม่ยี่หร่าอะไรใคร แต่ก็พบเห็นรอยยิ้มมุมปากเล็กๆ เหม่อมองผ่านเศษซากกระจก ต่อให้โลกล่มสลาย แต่เชื่อเถอะว่ามนุษย์ชาติจักยังธำรงอยู่สืบไป

ความเหมือนกันระหว่างช็อตสุดท้ายของหนัง และภาพโปสเตอร์ที่เคยถ่ายแบบไว้ ก็เพื่อสื่อถึงแนวคิด ‘Breath of Life’ เมื่อคนเราพานผ่านช่วงเวลาเฉียดเป็น ได้รับประสบการณ์เฉียดตาย ย่อมทำให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการยังมีชีวิตและลมหายใจ

และด้วยการตัดต่อกลับไปกลับมากับใบหน้า Joseph บางคนอาจมองว่าเขา(คือพระเป็นเจ้า)มีพลังอำนาจในการควบคุมสภาพอากาศ/ลมฟ้าฝน (แบบเดียวกับตัวละคร Prospero จากบทละคร The Tempest) กำหนดโชคชะตาให้ Valentine พบเจอกับชายหนุ่มที่อาจกลายเป็นรักแท้ Auguste … ทั้งๆอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ตรงข้าม สวนทางกันบ่อยครั้ง แต่กลับไม่เคยพูดคุย ทำความรู้จัก จนกระทั่งเหตุการณ์ครั้งนี้!

ตัดต่อโดย Jacques Witta (เกิดปี 1934) สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำผู้กำกับ Claude Berri, Jean Becker แต่โด่งดังจากการร่วมงาน Krzysztof Kieślowski ตั้งแต่ The Double Life of Véronique (1991), Three Colors: Blue (1994) และ Three Colors: Red (1994)

แม้เรื่องราวหลักๆจะเวียนวนอยู่กับ Valentine Dussaut แต่ก็พยายามดำเนินเคียงคู่ขนาน Auguste Bruner ที่แม้ไม่เคยรับรู้จัก กลับเหมือนมีความสัมพันธ์บางอย่างเชื่อมโยงถึงกัน (การตีความส่วนใหญ่จะมองว่า Auguste Bruner = Joseph Kern (เมื่อครั้นยังหนุ่ม) = แฟนหนุ่มที่อังกฤษของ Valentine)

ถ้าผมจำไม่ผิดมีทั้งหมดเพียง 4 ครั้งที่ Valentine ได้พูดคุยสนทนากับ Joseph ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาจะมีบางสิ่งอย่างของทั้งสองที่แตกต่างกันไป (ก็แยกหนังออกเป็น 4 องก์ ในช่วงเวลาที่ทั้งสองพบเจอกัน)

  • โชคชะตานำพาให้รู้จักกัน, Valentine หญิงสาวผู้มีเมตตา vs. Joseph ชายชราผู้เห็นแก่ตัว
    • แนะนำตัวละคร Valentine และ Auguste ที่แม้ไม่เคยรับรู้จัก แต่เหมือนมีบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงถึงกัน
    • Valentine ขับรถชนเจ้าสุนัข Rita พามันกลับไปหาเจ้าของ Joseph แต่เขากลับแสดงออกอย่างไม่สนใจใยดี
    • เธอจึงพาเจ้า Rita ไปรักษากับสัตวแพทย์ รับรู้ว่ามันกำลังตั้งครรภ์ ตั้งใจจะรับเลี้ยงดูแลหลังจากนั้น
  • พฤติกรรมสอดแนมของ Joseph vs. ความพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องของ Valentine
    • Joseph แอบส่งเงินค่ารักษาแก่ Valentine เธอจึงหวนกลับไปหาเขาที่บ้าน และได้รับล่วงรู้งานอดิเรกที่ชอบดักฟังโทรศัพท์ผู้อื่น
    • พยายามนำความดังกล่าวไปพูดบอกกับเพื่อนบ้าน แต่เธอก็ทำมันไม่สำเร็จ บังเกิดความสับสนขึ้นภายใน
    • หวนกลับมาหา Joseph พยายามโน้มน้าวให้เขาเลิกรางานอดิเรกดังกล่าว ก่อนแสดงความรู้สึกสมเพศเวทนา
  • ความสำนึกผิดของ Joseph vs. การให้อภัยของ Valentine
    • Auguste สอบผ่านนิติกร กำลังจะพิพากษาคดีความแรกระหว่าง Joseph กับเพื่อนบ้าน
    • Valentine เดินทางกลับมาหา Joseph เพื่อบอกกับว่าตนเองไม่ได้ปากโป้ง แต่เขาอธิบายว่าฉันเองนี่แหละเป็นคนเขียนจดหมายสารภาพความผิด นั่นทำให้เธอสามารถยินให้อภัยเขา
  • ความหลังของ Joseph เหตุผลที่กลายมาเป็นคนแบบนี้ vs. อนาคตของ Valentine ชีวิตจะดำเนินต่อไปเช่นไร
    • Auguste ติดตามหาแฟนสาวจนพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ
    • หลังงานแสดงแฟชั่นโชว์ ระหว่างรอพายุฝนสงบ Joseph เล่าให้ฟังถึงความหลัง เหตุใดตนเองถึงกลายมาเป็นคนแบบนี้ (ล้อกับเหตุการณ์ที่เพิ่งบังเกิดขึ้นกับ Auguste)
    • เช้าวันถัดมา Valentine ออกเดินทางโดยเรือสำราญเพื่อไปหาแฟนหนุ่ม แล้วบังเกิดเหตุโศกนาฎกรรม

สังเกตว่าหนังปล่อยเวลาไปกับการพูดคุยสนทนา โต้ถกเถียงระหว่าง Valentine กับ Joseph ให้มีความเยิ่นเย้อยืดยาว หญิงสาวไม่รีบร้อนกลับบ้านสักที! ผิดกับช่วงเวลาชีวิตอื่นๆ ซ้อมบัลเล่ต์ ถ่ายแบบ แฟชั่นโชว์ คุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่ม ฯ มักมีการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างเร่งรีบ รวบรัดตัดตอน (การนำเสนอเรื่องราวทางฝั่งของ Auguste ก็เฉกเช่นเดียวกัน) … นี่ทำให้ผมครุ่นคิดว่าหนังต้องการสร้างช่วงเวลาพิเศษ/แห่งความทรงจำให้ Valentine เพราะเธออาศัยอยู่ Genève อย่างโดดเดี่ยว ตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ จะมีก็แค่ Joseph ที่แม้เริ่มต้นด้วยความมาดร้าย ไม่ได้ชอบพอกันสักเท่าไหร่ แต่โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นเพื่อนคุย สนิทสนมคุ้นเคย สามารถให้อภัยพฤติกรรมของกันและกัน (ถ้า Joseph อายุน้อยกว่านั้นสัก 20-30 ปี ก็อาจได้สานสัมพันธ์โรแมนติก ร่วมรักหลับนอน …)


เพลงประกอบโดย Zbigniew Preisner (เกิดปี 1955) นักแต่งเพลงสัญชาติ Polish เกิดที่ Bielsko-Biała วัยเด็กชื่นชอบกีตาร์กับเปียโน หัดเล่น-เขียนบทเพลงด้วยตนเอง (ไม่เคยเข้าศึกษาที่ไหน) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์และปรัชญา Jagiellonian University, Krakow จบออกมาทำงานยังโรงละคร Stary Theater, ระหว่างทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Prognoza pogody (1981) มีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เริ่มร่วมงานกันตั้งแต่ No End (1995) จนถึงเรื่องสุดท้าย Three Colours (Blue, White, Red)

ขณะที่ Blue (1993) เน้นความฮึกเหิม อลังการงานสร้าง, White (1994) ชวนสร้างอารมณ์ขบขัน, Red (1994) มอบสัมผัสอันเวิ้งว่างเปล่า โหยหาใครสักคนสามารถเติมเต็มความต้องการของหัวใจ อาศัยอยู่เคียงชิดใกล้ มีกลิ่นอายโรแมนติกอยู่นิดๆ แต่ส่วนใหญ่ในฉากที่ตัวละครพูดคุยสนทนา โต้ถกเถียงคำถามปรัชญา เสียงเพลงจักคอยสร้างบรรยากาศ ทำลายความเงียบสงัด เหมือนบางสิ่งอย่างล่อยลอยอยู่รอบตัวเรา มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เพียงได้ยินอยู่เบาๆ (เบาโคตรๆเลยละ)

เกร็ด: ผมเพิ่งพบเจอยอดขายอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้งสามภาค

  • Blue (1993) ระดับ Platinum (ใน Poland คือยอดเกินกว่า 30,000 ก็อปปี้)
  • White (1994) ระดับ Gold (ยอดเกินกว่า 15,000 ก็อปปี้)
  • Red (1994) ระดับ Gold (ยอดเกินกว่า 15,000 ก็อปปี้)

นำบทเพลงที่ได้ยินซ้ำๆ ช่วงระหว่าง Valentine ประกอบกิจวัตรประจำวัน ซักซ้อมลีลาศ ถ่ายแบบ เดินแฟชั่นโชว์ ฯลฯ ซึ่งจะมีการนำเสนออย่างกระชับฉับไว ท่วงทำนองเพลงก็สื่อแทนเหตุการณ์เหล่านี้ เหมือนแค่ชีวิตดำเนินผ่านไป ไม่ได้มีความสลักสำคัญ/น่าจดจำประการใด

ลองเปิดลำโพงให้ดังๆเลยนะครับ แล้วตั้งใจเงี่ยหูฟัง Conversation at the Theatre ผมเลือกมาเพื่อเป็นตัวอย่างบทเพลงระหว่างการพูดคุยสนทนาระหว่าง Valentine กับ Joseph มันช่างมีความเบาโคตรๆ แต่ไม่ใช่เงียบสงัด มอบสัมผัสบางสิ่งอย่างหึ่งๆในแก้วหู เพียงบางท่อนเท่านั้นถึงดังขึ้นมา … จุดประสงค์ของบทเพลงลักษณะนี้คือทำลายความเงียบสงัด และมอบสัมผัสที่เหมือนมีบางสิ่งอย่างล่องลอย จับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ว่ามีตัวตน

เป็นอีกครั้งที่หนังมีการกล่าวอ้างถึงคีตกวีสมมติ Van den Budenmayer ซึ่งบทเพลงที่ตัวละครได้ยินระหว่างสวมหูฟังชื่อว่า Do Not Take Another Man’s Wife (ในอัลบัมจะมี I & II) ขับร้องโซปราโนโดย Elżbieta Towarnicka ที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมงาน The Double Life of Veronique (1991) แทนเสียงร้องของ Irène Jacob

น่าเสียดายที่ผมหาเนื้อคำเพลงโซปราโนไม่ได้ แต่ด้วยสัมผัสบทเพลงและเสียงร้อง มอบความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว ชอกช้ำทรวงใน ภรรยาถูกแก่งแย่งชิงไป โปรดเถอะอย่าทำแบบนี้ ชีวิตฉันไม่หลงเหลืออะไร หมดสูญสิ้นหวังอาลัย จิตใจมีเพียงความเวิ้งว้างเปล่า

ความหมายสากลของ Red คือสีของเลือด ชีวิต จิตวิญญาณ พบเห็นแล้วเกิดความชะงักงัน หวาดระแวด รู้สึกอันตราย รวมถึงความตาย, แต่ละประเทศทั่วโลกก็จะมีวิถีความเชื่อ(ต่อสีแดง)ที่แตกต่างออกไป

  • ชาวตะวันตกมักมองเป็นสัญลักษณ์ของความรัก (Love) ความบริสุทธิ์ (Virgin) ความต้องการ(ทางเพศ) (Passion)
  • ชาวจีนเชื่อว่าเป็นสีมงคล สัญลักษณ์แทนธาตุไฟ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ให้บังเกิดความโชคดี มีความสุข อายุยืนยาว สามารถใช้ได้ในทุกเทศกาลมงคล งานแต่งงาน รวมถึงซองอั่งเปาสำหรับมอบเป็นของขวัญ
  • ธงชาติไทย สีแดงแทนด้วยชาติ ความเป็นชนชาวไทย ผืนแผ่นดินไทย หรือคือเลือดที่สามารถยอมพลี เพื่อรักษาเอกราชของความเป็นไท
  • ธงชาติฝรั่งเศส คือสัญลักษณ์ของภารดรภาพ Fraternité (Fraternity) ความเป็นฉันพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน

มองอย่างผิวเผิน แนวคิดภารดรภาพใน Red (1994) ต้องการสื่อถึง ‘ความเป็นฝรั่งเศส’ แม้อาศัยอยู่ต่างประเทศ Genève, Switzerland ตราบยังคงมีสัญชาติ French สื่อสารภาษาเดียวกัน ก็จักค้นพบความฉันท์พี่ฉันท์น้อง พรรคพวกพ้อง บังเกิดสานสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน

คุณเคยไปเที่ยวต่างประเทศไหมเอ่ย? เวลาไปเมืองนอกแล้วเจอคนไทย พูดคุยภาษาไทย ทั้งๆไม่เคยรู้จักอีกฝั่งฝ่าย แต่กลับบังเกิดความผูกพันธ์ ฉันท์มิตร พร้อมช่วยเหลือให้คำแนะนำ มีความไว้เนื้อเชื่อใจมากเป็นพิเศษ นั่นสามารถเรียกว่า ‘ภารดรภาพ’ เพราะเห็นอีกฝั่งฝ่ายคือพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน!

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘ภารดรภาพ’ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความเป็นเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น แต่ยังสามารถเหมารวมถึงเพื่อนมนุษย์ สรรพชีวิต ทุกสิ่งอย่างในจักรวาลล้วนมีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงใยถึงกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยที่เราล่วงรับรู้หรือไม่ก็ตาม นั่นคือสิ่งลี้ลับ เหนือธรรมชาติ คงมีแต่พระเจ้าผู้สร้างถึงเข้าใจ

กลับมาที่ภารดรภาพซึ่งเป็นคำขวัญประเทศฝรั่งเศส แต่ให้ตายเถอะ! เฉกเช่นเดียวกับเสรีภาพ และเสมอภาค ในมุมมองผู้กำกับ Kieślowski ไม่เห็นว่าชาวฝรั่งเศสจะเข้าใจความหมายของคำขวัญนี้สักเท่าไหร่

  • Blue (1993) ให้ตัวละครเผชิญหน้าการสูญเสีย (ได้รับเสรีภาพชีวิต) จึงสามารถเข้าใจ(อุดมคติแห่งรัก)เหตุผลที่มนุษย์ต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบทางสังคม
  • White (1994) ถูกภรรยาฟ้องหย่าร้าง หลังจากสามีแก้แค้นเอาคืนได้สำเร็จ เธอถึงสามารถเข้าใจความเสมอภาคเท่าเทียม

สำหรับ Red (1994) ใช้การเผชิญหน้าระหว่าง Valentine หญิงสาวผู้มีเมตตา vs. Joseph ชายชราผู้เห็นแก่ตัว โต้ถกเถียงถึงเหตุผลที่คนเราชอบให้การช่วยเหลือผู้อื่น? เพื่อตอบสนองบางสิ่งอย่างภายใน? ต้องการเรียกร้องความสนใจ? เชื่อว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม? เพื่อให้ผู้ชมสามารถขบครุ่นคิด ไขปริศนา ค้นพบคำตอบด้วยตนเองว่า ฉันควรแสดงออก(ต่อผู้อื่น)เช่นไร? ภารดรภาพหมายถึงอะไร?

ไม่ผิดอะไรที่เราจะมีเมตตา ไม่ผิดอะไรที่เราจะเห็นแก่ตัว แต่ทุกการกระทำมันจักส่งผลย้อนกลับมาหาตัวเราในอนาคต ได้รับโชคลาภวาสนา หรือประสบเหตุร้าย ได้รับอันตราย ถึงแก่ความตาย หนังใช้คำอธิบายว่าคือโชคชะตา (Destiny) พระเจ้าดลบันดาล แต่เราชาวพุทธมีคำเรียก “กฎแห่งกรรม” ใครเคยกระทำอะไรไว้ ย่อมได้รับผลนั้นคืนตอบสนอง

การที่ตัวละครจากไตรภาคทั้งสามสี Three Colours Trilogy จับพลัดจับพลูอยู่บนเรือลำเดียวกัน แล้วสามารถเอาตัวรอดชีวิตจากโศกนาฎกรรม นั่นเพราะพวกเขาเหล่านั้นบังเกิดความรู้แจ้งในสามคำขวัญ เสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ คือสิ่งที่ผู้กำกับ Kieślowski มองว่าจักเป็นตัวแทนอนาคต อุดมคติที่ทำให้มนุษย์รอดพ้นจากวันโลกาวินาศ

ด้วยความตั้งใจให้เป็นผลงานเรื่องสุดท้าย สิ่งสูงสุดที่ผู้กำกับ Kieślowski ต้องการนำเสนอออกมาจากแนวคิดภารดรภาพ ก็คือความเป็นฉันท์พี่ฉันท์น้อง ไม่ใช่แค่โปแลนด์, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ยุโรปตะวันออก-ตะวันตก หรือสหภาพโซเวียต แต่คือทั่วทั้งโลกสามารถเป็นอันหนึ่งเดียว คน-สัตว์-สิ่งของ และภาพยนตร์เรื่องนี้จักกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบสันติสุข

All I want is peace. A life of peace and quiet.

Valentine Dussaut

จะว่าไปอาชีพผู้กำกับ (ไม่ต่างพระเจ้า) ต้องเป็นบุคคลที่สามารถติดต่อประสานงาน นำทุกองค์ประกอบมาผสมเข้าด้วยกัน พัฒนาบท มองหานายทุน คัดเลือกนักแสดง ออกแบบฉาก/ค้นหาโลเกชั่น เปิดกองถ่ายทำ ตัดต่อ มิกซ์เสียง ใส่เพลงประกอบ ฯลฯ หรือคือภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ Krzysztof Kieślowski พยายามเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน


หลังนำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ผู้กำกับ Kieślowski ประกาศว่า Three Colours: Red (1994) จักคือผลงานเรื่องสุดท้าย ต่อจากนี้จะเกษียณตัวออกจากวงการ นั่นสร้างความฮือฮา กลายเป็นข่าวใหญ่ ไม่มีใครรับรู้ว่าเพราะอะไร (บอกแค่ว่ารู้สึกเหน็ดเหนื่อย) จนกระทั่งสองปีให้หลัง เสียชีวิตระหว่างผ่าตัดโรคหัวใจ สิริอายุ 54 ปี!

แม้ป่าวประกาศไปแล้วว่าจะรีไทร์ นักเขียน/ทนายความ Krzysztof Piesiewicz ก็เล่าว่ายังได้ร่วมพัฒนาอีกไตรภาค Heaven, Hell และ Purgatory แล้วเสร็จบทหนัง Heaven ตั้งใจว่าหลังผ่าตัดจะมาเตรียมงานต่อ แต่เหมือนสวรรค์-นรกจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นโปรเจคนี้ก็ยังได้รับการสานต่อ

  • Heaven (2002) กำกับโดย Tom Tykwer, นำแสดงโดย Cate Blanchett และ Giovanni Ribisi
  • Piesiewicz พัฒนาต่อบท Hell จนกลายเป็นภาพยนตร์ L’enfer (2005) กำกับโดย Danis Tanovic, นำแสดงโดย Emmanuelle Béart

นอกจากนี้นักแต่งเพลง Zbigniew Preisner ยังประพันธ์บทเพลง Requiem for My Friend (1998) อุทิศให้กับเพื่อนรัก Krzysztof Kieślowski ประกอบด้วยสองส่วน Requiem และ Life (Beginning, Destiny, Apocalypse และ Postscriptum) ตั้งใจให้เป็นเพื่อนร่วมการเดินทางครั้งสุดท้าย

the Requiem had accompanied Krzysztof in his last journey.

Zbigniew Preisner

เกร็ด: บทเพลง Lacrimosa จาก Part II: Life (Apocalypse) ได้ถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ The Tree of Life (2011) กำกับโดย Terrence Malick

เมื่อตอนเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่เสียงตอบรับค่อนข้างจะแตกแยก โดยเฉพาะนักวิจารณ์จากฝรั่งเศส (ก็แน่ละ Three Colours Trilogy โจมตีคำขวัญฝรั่งเศสอย่างตรงไปตรงมา) ผลลัพท์เลยไม่ได้รางวัลอะไรสักอย่าง จนทำให้โปรดิวเซอร์ Marin Karmitz ปฏิเสธเข้าร่วมงานเลี้ยงปิดเทศกาล

แซว: ทีแรกผมคิดว่าน่าจะได้อย่างน้อย Palm Dog แต่พบว่าเพิ่งมีรางวัลนี้เมื่อปี 2001

ช่วงปลายปีหนังเป็นตัวแทน Switzerland (เพราะถือว่าถ่ายทำในประเทศ) ส่งลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ถูกคณะกรรมการบอกปัดปฏิเสธ อ้างว่าหนังมีการร่วมทุน France-Poland ด้วยเหตุนี้นำทีมโดย Quentin Tarantino โน้มน้าวให้ Harvey Weinstein ช่วยล่ารายชื่อ 56 คนดัง ยื่นประท้วงต่อสถาบัน Academy แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ ถึงอย่างนั้นหนังก็ได้รับโอกาสเข้าชิง Oscar สามสาขาอื่น (แต่ก็กลับบ้านมือเปล่า)

  • Best Director
  • Best Original Screenplay
  • Best Cinematography

นอกจากนี้หนังยังได้เข้าชิง Golden Globe Award, BAFTA Award และ César Awards อีกหลายสาขา ประกอบด้วย

  • Golden Globe Award
    • Best Foreign Language Film พ่ายให้กับ Farinelli (1994) จากประเทศ Belgium
  • BAFTA Award
    • Best Film not in the English Language
    • David Lean Award for Direction
    • Best Actress (Irène Jacob)
    • Best Screenplay
  • César Awards
    • Best Film
    • Best Actor (Jean-Louis Trintignant)
    • Best Actress (Irène Jacob)
    • Best Director
    • Best Screenplay
    • Best Music ** คว้ารางวัล
    • Best Sound

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ High-Definition คุณภาพเสียง 2.0 DTS-HD โดยรวมถือว่ายอดเยี่ยม สามารถหารับชมช่องทางออนไลน์ได้แทบจะทุกค่ายใหญ่ๆ แต่ถ้าต้องการซื้อแผ่น Blu-Ray เลือกได้ทั้งฉบับของ MK2 และ Criterion (สแกนได้ดีทั้งคู่แต่ Criterion จะมี Special Feature มากกว่าพอสมควร)

ส่วนฉบับบูรณะ 4K เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2022 เมืองไทยนำเข้าฉายกรกฎา-สิงหา-กันยา ไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกาเลยนะครับ ถ้าใครพลาดโอกาสนี้คงต้องรออีกพักใหญ่ๆก่อนสามารถหารับชมช่องทางอื่น

ในไตรภาคสามสี Three Colours Trilogy ไล่ลำดับความชื่นชอบส่วนตัว Red (1994) > Blue (1993) > White (1994) แต่ถ้าต้องเทียบกับ The Double Life of Veronique (1991) บอกเลยว่าเลือกไม่ถูก ประทับใจมากๆทั้งคู่ แต่ผมรักคลั่ง Irène Jacob จากบท Weronika และ Véronique มากยิ่งกว่า Valentine … จะว่าไปชื่อตัวละครก็คล้ายๆกันอยู่นะ

Three Colours: Red (1994) คือบทสรุปของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ทำการเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งอย่างในชีวิต ประติดประต่อจิ๊กซอว์/โมเสกเข้าหากัน และคือความคาดหวังว่าจะมีโอกาสรอดชีวิตหลังการผ่าตัดหัวใจ น่าเสียดาย … แต่ก็กลายเป็นตำนาน

แนะนำกับคนที่เชื่อในโชคชะตา รักแท้ แม้ไม่ใช่หนังโรแมนติกแต่ก็ให้ความรู้สึกโคตรโรแมนติก (Anti-Romance), ช่างภาพ ตากล้อง ทำงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพ มีอะไรๆให้สังเกตเรียนรู้มากมาย, โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียน นวนิยาย ศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเรื่องราว (สามารถเป็นแรงบันดาลใจ นำไปปรับใช้ได้เลยนะ), นางแบบ/นางแบบ แฟนคลับนักแสดง Irène Jacob และผู้เฒ่า Jean-Louis Trintignant ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศเครียดๆ พฤติกรรมสอดรู้สอดเห็น คบชู้นอกใจ

คำโปรย | Three Colours: Red สวอนซองของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ได้ทำการเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ภารดรภาพ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: